ตำแหน่งงานที่มีการประกาศรับสมัครงานออนไลน์ส่วนใหญ่ เป็น ‘ระดับ junior’ (กลุ่มที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี) มีจำนวนมากถึง 84,669 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 38.3% รองลงมา คือ ตำแหน่งงานที่ต้องการ ‘ประสบการณ์ 3 ปีขึ้นไป’ จำนวน 54,877 ตำแหน่ง คิดเป็น 24.8%
ส่วนตำแหน่งงานระดับ entry-level ที่ไม่ต้องการประสบการณ์ 49,366 ตำแหน่ง คิดเป็น 22.3% รวมถึงยังมีตำแหน่งงานประกาศที่ไม่ระบุความต้องการประสบการณ์อีกจำนวน 32,427 ตำแหน่ง คิดเป็น 14.7%
จากรายงานดังกล่าวยังระบุ ตำแหน่งงานส่วนใหญ่ต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงาน โดยมีตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ทำงานถึง 139,546 ตำแหน่ง คิดเป็น 63.1% นอกจากนี้ ประสบการณ์ที่นายจ้างมีแบบแผนในการต้องการประสบการณ์ของผู้สมัครงาน ได้แก่
1.ด้านระดับการศึกษา พบว่า ตำแหน่งงานที่ต้องการ ‘ผู้มีระดับการศึกษาสูง’ มีแนวโน้มต้องการ ‘ประสบการณ์ทำงานสูง’ ขึ้นด้วย อย่าง ‘ระดับปริญญาตรี’ ตำแหน่งงานส่วนใหญ่กว่า 78.6% ต้องการคนมีประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี รองลงมา 38.6% ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไป และมีเพียง 16% บอกไม่ต้องการประสบการณ์
2.ตำแหน่งงานวิชาชีพและมีเส้นทางอาชีพ (career path) ที่ดี เช่น งานด้านการเงิน คอมพิวเตอร์ วิศวกรรม และอาจจะรวมถึงงานด้านกฎหมาย มักต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงานมาบ้าง และมีตำแหน่งงานสำหรับผู้เริ่มอาชีพไม่มากนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เนื่องจากมีความต้องการรับผู้สมัครงานที่สำเร็จการศึกษาใหม่ไม่มาก และเมื่อผู้สมัครงานไม่มีโอกาสในการทำงาน ก็จะไม่มีประสบการณ์ไปสมัครงาน
ส่วนงานที่มีสัดส่วนการรับผู้ไม่มีประสบการณ์นั้นมักเป็นงานพื้นฐาน หรือเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะความรู้สูงมากนัก เช่น งานด้านการขาย งานการผลิต และงานบริการต่างๆ
นอกจากจะเผยถึงตลาดแรงงานและโอกาสของเด็กจบใหม่แล้ว รายงานดังกล่าวยังมีข้อเสนอแนะ เพื่อลดปัญหาช่องว่างระหว่างผู้ที่สำเร็จการศึกษาแต่ยังขาดประสบการณ์การทำงาน กับความต้องการของนายจ้าง โดยรัฐบาลควรพิจารณาส่งเสริมการฝึกงานสำหรับผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน (internship หรือ traineeship) ที่อาจศึกษาแนวทางในต่างประเทศ และร่วมหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้สามารถออกแบบมาตรการที่สามารถใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ รัฐบาลควรส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคีหรือสหกิจศึกษามากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ทำงานอย่างเข้มข้นในสาขาอาชีพที่เรียนมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหางาน และช่วยให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกของการทำงานได้ราบรื่นมากขึ้นนั่นเอง
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ : https://tdri.or.th/2025/02/online-job-post-bigdata-q4-2024/
]]>Resume Builder สำรวจตลาดแรงงานสหรัฐฯ ด้วยการสอบถามผู้จัดการแผนกบุคคล 649 คน พบว่า 39% ของบริษัทที่สำรวจบอกว่าบริษัทของตนมีนโยบายลงประกาศ “รับสมัครงานที่ไม่มีอยู่จริง” (Fake Job Listings) มาตั้งแต่ปีก่อน
ตำแหน่งงานปลอมที่นำไปประกาศหาคนนั้นมีตั้งแต่ตำแหน่งพนักงานระดับล่างไปจนถึงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง
โดยบริษัทบอกเหตุผลที่ทำให้เกิดการลงรับสมัครงานที่ไม่มีจริงมากมาย แต่ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อ “หลอก” พนักงานชุดปัจจุบันของตนเอง ดังนี้
แต่ที่ยิ่งน่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้นคือ บริษัทที่ระบุว่าตัวเองมีการลงรับสมัครงานปลอมๆ 85% ในกลุ่มนี้มีการเรียกผู้สมัครมาสัมภาษณ์แบบปลอมๆ ด้วย!
“เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล โดยเฉพาะเมื่อการลงรับสมัครงานที่ทำให้เข้าใจผิดพวกนี้มาจากแผนกบุคคล (HR) โดยตรง เพราะแผนกบุคคลควรจะเป็นคนที่สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของพนักงานต่อองค์กร” สเตซี่ ฮอลเลอร์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านอาชีพจาก Resume Builder กล่าว
“ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเรื่องการสร้างภาพมายาว่าบริษัทกำลังขยายตัวดี หรือการสร้างความรู้สึกในหมู่พนักงานว่าตนเองถูกทดแทนได้ง่ายๆ ทั้งหมดก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้วิธีปฏิบัติแบบนี้ยอมรับได้” เธอกล่าวเสริม
ฮอลเลอร์มองว่า พนักงานควรจะได้รับการสื่อสารที่โปร่งใสตรงไปตรงมาจากบริษัทที่ตนอุทิศเวลาให้ มากกว่าที่จะถูกหลอกลวงในรูปแบบนี้
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ดูเหมือนจะยังคงอยู่ต่อไป เพราะ 70% ของบริษัทที่มีการลงรับสมัครงานปลอม บอกกับ Resume Builder ว่าวิธีนี้ได้ผลจริง เพราะทำให้พนักงานมีทัศนคติและกำลังใจในการทำงานที่ดีขึ้น
กระนั้นก็ตาม ฮอลเลอร์ก็ไม่แนะนำให้ใครทำตาม เพราะบริษัทที่ใช้วิธีนี้จะทำลายชื่อเสียงบริษัทในระยะยาว เพราะการใช้วิธีหลอกลวงพนักงานจะทำให้พนักงานไม่เชื่อใจ และผู้สมัครในอนาคตจะพิจารณาว่าบริษัทเหล่านี้เชื่อถือไม่ได้
]]>รายงาน Future of Work ของ LinkedIn เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับ “ChatGPT” พบว่า ประกาศรับสมัครงานที่เอ่ยถึงการใช้งาน ChatGPT เพิ่มขึ้นถึง 21 เท่า นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่ OpenAI เปิดตัวแชตบอตนี้เป็นครั้งแรก
“เราเห็นพัฒนาการของตำแหน่งงานที่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่เคยเป็นมา” คาริน คิมโบรห์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ LinkedIn กล่าว
ตำแหน่งงานใหม่ๆ เต็มไปด้วยตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับ AI ไม่ว่าจะเป็นพนักงานทั่วไป, วิศวกร AI, หัวหน้าฝ่าย AI, นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล, ที่ปรึกษาด้าน AI หรือผู้เชี่ยวชาญด้าน AI เฉพาะในตลาดงานสหรัฐฯ บริษัทที่มีตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย AI เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
แพลตฟอร์มหางานอื่นๆ ก็มีแนวโน้มแบบเดียวกัน เช่น Indeed พบว่ามีตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับ Generative AI ในอัตราส่วน 529 ประกาศต่อ 1 ล้านประกาศ เทียบกับเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อนมีสัดส่วนเพียง 104 ประกาศต่อ 1 ล้านประกาศ
โครี สตาห์เล นักเศรษฐศาสตร์ของ Indeed ระบุด้วยว่า แม้ตลาดงานในภาพรวมจะชะลอตัวลง แต่ดีมานด์คนในสายงาน AI ยังคงสูงพอสมควร “เราเหมือนเปลี่ยนจากยุคหม้อน้ำเดือดพล่านมาเป็นยุคหม้อยังอุ่นๆ อยู่ตอนนี้”
อีกแพลตฟอร์มหางานคือ ZipRecruiter พบว่าตำแหน่งงานเกี่ยวกับ Generative AI เพิ่มเป็น 1,309 ประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2022 มีแค่ 21 ประกาศเท่านั้น
ในอีกแง่มุมหนึ่ง เรายังไม่รู้ว่า AI จะทำให้ตำแหน่งงานอื่นๆ ลดลงไปมากเท่าไหร่แน่ แต่รายงานชิ้นนี้ของ LinkedIn มีการรวบรวมการคาดการณ์จากหลายแหล่ง โดย Goldman Sachs มองว่า AI จะมาชดเชยตำแหน่งงานประจำไปถึง 300 ล้านตำแหน่ง
ขณะที่ World Economic Forum สำรวจฝั่งผู้จ้างงานและคาดการณ์ว่า AI จะทำให้ตำแหน่งงานเดิมลดลง 83 ล้านตำแหน่งภายในปี 2027 แต่ก็จะทำให้เกิดตำแหน่งงานใหม่เพิ่ม 69 ล้านตำแหน่ง เมื่อหักลบกันแล้วเท่ากับว่าตำแหน่งงานจะหายไป 14 ล้านตำแหน่ง
แน่นอนว่าตำแหน่งงานเกิดขึ้นใหม่เหล่านี้จะเกี่ยวกับ AI โดยตรง เช่น ตำแหน่งที่ทำหน้าที่ประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) หรือฝั่งผู้ใช้งานจะมีตำแหน่งของคนที่สามารถป้อนคำสั่ง (prompt) ให้กับ AI ได้ดีที่สุดเพื่อให้บริษัทได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
อีกสายตำแหน่งงานที่คาดการณ์กันว่าจะเกิดขึ้นใหม่เพราะมี AI เข้ามาใช้งาน คือกลุ่มสายงาน “นักจริยธรรม” และ “ประธานเจ้าหน้าที่ด้านความเชื่อมั่น” เพราะบริษัทจะต้องสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้าให้ได้ว่า พวกเขาได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำได้แล้วเพื่อให้ระบบ AI ที่สร้างขึ้นไม่มีอคติต่อตัวบุคคล
LinkedIn ระบุด้วยว่า ก่อนที่จะมีการเปิดตัว ChatGPT การเติบโตของตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับแชตบอตแบบนี้เติบโตประมาณ 7.7% แต่ปัจจุบันอัตราการเติบโตสูงขึ้นเป็น 13% ถือเป็นตำแหน่งที่มีความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
]]>เปิดผลสำรวจจาก JobsDB เกี่ยวกับตลาดงานปี 2565 โดย “ดวงพร พรหมอ่อน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์การจ้างงานในช่วง COVID-19 ปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นมาก หลังจากเคยมีอัตราการว่างงานเพิ่มสูงสุดในช่วงไตรมาส 3/63 จากนั้นอัตราว่างงานไต่ขึ้นลงมาตลอด ค่าเฉลี่ยอัตราว่างงานจะอยู่ที่ 2%
จนกระทั่งนายจ้างเริ่มมั่นใจว่าสถานการณ์การระบาดจะส่งผลกระทบต่ำหลังการฉีดวัคซีน ทำให้เมื่อต้นปี 2565 จึงมีการกลับมาประกาศรับสมัครงานเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แน่นอนว่า ตลาดงานจะมีธุรกิจและอาชีพที่มีตำแหน่งงานว่างมากกว่าตลาด โดยมีรายละเอียดดังนี้
นอกจากนี้ จะมีบางธุรกิจที่ถือว่าเติบโตร้อนแรงมากในช่วงหลังเกิด COVID-19 และมีผลต่อการจ้างงานบางประเภท บางพื้นที่ เป็นพิเศษ ดังนี้
เห็นได้ชัดว่าสายงานไอทีติดทุกผลการสำรวจไม่ว่าจะในแง่มุมใด โดยถ้าแยกย่อยออกมา กลุ่มงานดิจิทัลที่ต้องการตัวกันมากที่สุด เช่น โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักวิทยาศาสตร์/วิเคราะห์ดาต้า ไอทีอินฟราสตรักเจอร์ ความปลอดภัยไซเบอร์ เป็นต้น
คนทำงานสายนี้เป็นที่ต้องการสูงมาก ทำให้มีโอกาสเปลี่ยนงานสูงกว่าสายอื่น โดยเฉลี่ยสายงานอื่นมักจะเปลี่ยนงานทุกๆ 2-3 ปี แต่ไอทีจะเปลี่ยนงานทุกๆ 1-2 ปี
ไม่เพียงแต่ในไทยเท่านั้น แต่ตลาดต่างประเทศก็ต้องการตัวสายดิจิทัล ซึ่งทำให้ถ้าหากคนดิจิทัลคนนั้นมีทักษะด้านภาษาสูงก็สามารถหางานได้กว้างกว่าเดิม
ยิ่งในยุคหลัง COVID-19 ซึ่งการทำงานแบบไฮบริดหรือทำงานทางไกล (remote work) สามารถทำได้และได้รับการยอมรับ ก็ยิ่งทำให้คนสายงานดิจิทัลหางานต่างประเทศได้มากขึ้น เพราะสำหรับคนที่กังวลเรื่องการย้ายถิ่นที่อยู่ก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป ในกรณีคนดิจิทัลไทยนั้น มีนายจ้างต่างประเทศสนใจจ้างข้ามแดนจากหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย รัสเซีย จีน อินโดนีเซีย
ดังนั้น JobsDB จึงแนะนำนายจ้างไทยที่ต้องการให้มนุษย์ไอทีต้องการทำงานกับองค์กรได้นาน หรือดึงดูดคนดิจิทัลใหม่ๆ เข้ามา ต้องเข้าใจอินไซต์ของคนในสายอาชีพนี้ว่า นอกจากผลตอบแทนที่เหมาะสมแล้ว พวกเขายังมีสิ่งที่ต้องการหลักๆ ดังนี้
โดยสรุปแล้ว คนสายงานดิจิทัลไม่ได้พิจารณาการทำงานจากค่าตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการสมดุลชีวิตที่ดี การทำงานยืดหยุ่น และอยู่ในองค์กรที่ส่งเสริมตนเอง มีวัฒนธรรมองค์กรที่ทันสมัยด้วย
ส่วนคนทำงานสายอาชีพอื่นก็ต้องเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้กับตนเอง มีการ Upskill/Reskill เพราะหากอาชีพถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรหรือซอฟต์แวร์ได้ และไม่สามารถปรับตัวไปเป็นผู้ควบคุมดูแลเครื่องจักรหรือใช้ซอฟต์แวร์นั้นๆ ได้ ก็จะเสี่ยงเป็นอาชีพที่ตกงานในอนาคต (JobsDB มีคอร์สเรียนฟรีเพื่อเสริมทักษะคนทำงานด้านต่างๆ เช่น ความรู้พื้นฐานดิจิทัล ภาษาอังกฤษธุรกิจ ในชื่อโครงการ UpLevel คลิกที่นี่)
]]>หากแบ่งการสำรวจตามประเภทการจ้างงาน คือ พนักงานประจำ กับ พนักงานพาร์ตไทม์ พบว่าตำแหน่งงานของพนักงานพาร์ตไทม์ที่รับสมัครใหม่ลดน้อยลงมากกว่าตำแหน่งของพนักงานประจำ โดยตำแหน่งพาร์ตไทม์ที่รับสมัครใหม่ลดลงไปถึง 55.4% หรือมากกว่าครึ่งหนึ่ง และลดมากกว่าค่าเฉลี่ย 37.4% ดังกล่าวข้างต้น (ทั้งนี้ ตำแหน่งงานพาร์ตไทม์คิดเป็นเพียง 0.8% ของตำแหน่งงานทั้งหมดใน JobsDB)
ถ้าแบ่งการสำรวจตามอัตราเงินเดือน พบว่า ยิ่งอัตราเงินเดือนอยู่ในระดับต่ำจะยิ่งมีประกาศรับสมัครงานลดลงมาก กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด คือกลุ่มอัตราเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ตำแหน่งรับสมัครงานลดลงไป 50.9% และกลุ่มอัตราเงินเดือน 15,000-30,000 บาท ตำแหน่งรับสมัครงานลดลง 44.1% ส่วนกลุ่มที่กระทบน้อยที่สุดคือตำแหน่งที่มีอัตราเงินเดือนมากกว่า 100,000 บาท จำนวนตำแหน่งงานรับสมัครลดลง 26.8%
SCB EIC วิเคราะห์ว่า เนื่องจากกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ค้าปลีก-ค้าส่ง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงจากไวรัสระบาด และธุรกิจเหล่านี้มีการจ้างงานพนักงานในระดับเงินเดือนไม่สูงจำนวนมาก ทำให้กลุ่มนี้เป็นผู้ได้รับผลกระทบ
ถัดมาเป็นการประเมินจากภาคธุรกิจที่รับสมัครงานน้อยลงหนักที่สุด โดย SCB EIC ระบุว่างานในสาขาธุรกิจต่างๆ ส่วนใหญ่ลดการรับสมัครงานใหม่ลงเกิน 20% ยกเว้นองค์กรภาครัฐ/องค์กรอิสระที่ยังมีการประกาศรับเพิ่มขึ้น 25%
10 ภาคธุรกิจที่รับสมัครงานลดลงมากที่สุด ณ เดือนเมษายน’63
SCB EIC สรุปภาวะการจ้างงานใหม่ที่ลดลงอย่างรุนแรงภายในเวลาอันสั้นเพียง 1 เดือน ถือเป็นสัญญาณสะท้อนภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ และยังประเมินด้วยว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะฟื้นตัวช้า ทำให้ตลาดแรงงานน่าจะยังซบเซาต่อไปอีกระยะหนึ่ง สำหรับแรงงานที่ว่างงานขณะนี้และบัณฑิตจบใหม่จะกระทบมากที่สุด และการปรับขึ้นเงินเดือนระยะต่อไปจะมีข้อจำกัด
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ Positioning รายงานข้อมูลตำแหน่งงานรับสมัครใหม่จาก JobThai อีกหนึ่งเว็บไซต์ประกาศรับสมัครงาน โดยเป็นข้อมูลเดือนมีนาคม 2563 พบว่าตำแหน่งงานใหม่ลดลงเกือบ 10% จากเดือนก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ตลาดแรงงานเริ่มซบเซาตั้งแต่เดือนมีนาคมและเข้าสู่วิกฤตในเดือนเมษายน เป็นไปตามภาวะโรคระบาดซึ่งเดือนเมษายนเป็นช่วงที่เริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศแล้ว
]]>Positioning สอบถามข้อมูลจาก JobThai เว็บไซต์ประกาศรับสมัครงาน ถึงสถานการณ์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 พบว่า การประกาศรับสมัครงานของบริษัท/องค์กรต่างๆ ในเดือนมีนาคม 2563 ลดลง
โดยการ “รับสมัครงาน” ใน JobThai ตั้งแต่ต้นปี 2563 หาก เทียบการเติบโตจากเดือนก่อนหน้า (MoM) เดือนมกราคมมีตำแหน่งงานที่รับสมัครเพิ่มขึ้น 8.7% จากเดือนธันวาคม 2562 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ มีการรับสมัครงานเพิ่มขึ้น 4.6% จากเดือนก่อนหน้า แต่เมื่อถึงเดือนมีนาคม มีการรับสมัครงานลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ -9.96% สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้ธุรกิจหลายอุตสาหกรรมหยุดชะงัก
อย่างไรก็ตาม หาก เทียบการเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีการรับสมัครงานลดลงที่ -10.63% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนมีนาคม 2563 มีการรับสมัครงานลดลงที่ -19.10%
เมื่อมองภาพรวมทั้งการเติบโตแบบ MoM และ YoY อาจจะสรุปได้ว่า ปีนี้ตลาดแรงงานหดตัวลงจากปีก่อนอยู่แล้ว แต่กำลังกลับมาอยู่ในเทรนด์ฟื้นตัว ก่อนที่จะถูกพิษเศรษฐกิจ COVID-19 ทำให้สะดุดลง
ฟาก “ผู้สมัครงาน” ใน JobThai หากวัดแบบ MoM พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีการสมัครงาน 1.297 ล้านครั้ง ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ -11.96% ส่วนเดือนมีนาคม 2563 มีการสมัครงานลดลงอีกที่ -3.68% เหลือจำนวนการสมัครงานอยู่ที่ 1.25 ล้านครั้ง
แต่ถ้าหากเปรียบเทียบแบบ YoY พบมีการสมัครงานสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนอย่างมาก โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีการเติบโตจากปีก่อนถึง 36.68% และเดือนมีนาคมเติบโต 30.58%
มาดู Top 5 สายงานรุ่งและร่วงในช่วง COVID-19 กันบ้าง โดยเป็นการเติบโตของตำแหน่งการรับสมัครงานในช่วงไตรมาส 1/63 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
Top 5 อาชีพที่รับสมัครงานเพิ่มขึ้นสูงสุด
1) โรงงาน: งานผลิต ควบคุมคุณภาพ +308%
2) สื่อมวลชน: นักข่าว คอนเทนต์ออนไลน์ +164%
3) สายงานออกแบบ UX/UI +114%
4) Data Scientist นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล +86%
5) ออกแบบ กราฟิก ช่างภาพ +64%
ทั้งนี้ สายงานไอที เป็นสายงานที่มาแรงแม้จะมีการระบาดของ COVID-19 โดยนอกจากอาชีพดังกล่าวข้างต้น ยังมีงานเกี่ยวกับแอปพลิเคชันที่รับสมัครเพิ่มขึ้น 56% งานวิศวกรคอมพิวเตอร์ เพิ่มขึ้น 54% และงาน Tester เพิ่มขึ้น 33%
Top 5 อาชีพที่รับสมัครงานน้อยลงมากที่สุด
1) ก่อสร้าง: โยธา สถาปัตย์ -94%
2) การเงิน ธนาคาร -87%
3) ท่องเที่ยว: ล่าม ไกด์ เอเจนซี่ทัวร์ -62%
4) ผู้บริหาร ผู้จัดการ -39%
5) ทรัพยากรบุคคล -39%
“แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ JobThai ให้ความเห็นว่า งานที่เปิดรับสมัครช่วงนี้สะท้อนให้เห็นว่าบางอุตสาหกรรมยังดำเนินงานอยู่และต้องการคนเพิ่ม เช่น ค้าปลีก ซึ่งต้องการพนักงานมาเสริมในส่วนจัดเรียงสินค้า บรรจุสินค้า และเดลิเวอรี รวมถึงโรงงานอาหารและเครื่องดื่ม ที่ยังต้องการคนอยู่
นอกจากนี้ การปรับตัวมาขายสินค้าและโฆษณาออนไลน์มากขึ้น ทำให้อาชีพที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลมีความต้องการ เช่น นักออกแบบ UX/UI ที่จะช่วยปรับให้การใช้งานบนเว็บไซต์/แอปฯ ต่างๆ น่าใช้มากขึ้น หรือผู้ผลิตคอนเทนต์/กราฟิกออนไลน์ ก็เป็นที่ต้องการตัวมากขึ้น เมื่อคนหันมาเสพสื่อออนไลน์สูงขึ้นระหว่างอยู่บ้าน
ส่วนสายอาชีพที่ลดการรับสมัครงานก็เป็นไปตามสภาวะในตลาด อุตสาหกรรมที่ชะลอตัวส่วนใหญ่คือภาคก่อสร้าง การเงิน ท่องเที่ยว จนถึงภาคบริการ เช่น ฟิตเนส สปา ต่างลดการรับคน ขณะที่ตำแหน่งงานระดับบริหารก็ลดลงเช่นกันเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าองค์กรจะลดการรับคนไปตลอด เพราะพบว่าหลายองค์กรที่ยังไม่พร้อมรับพนักงานเข้าทำงานในตอนนี้ ก็ยังคงคัดประวัติสมัครงานไว้ก่อนเพื่อรอเรียกสัมภาษณ์งานเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ส่วนองค์กรที่พร้อมรับเข้าทำงานได้ทันที บางแห่งมีการปรับรูปแบบการสัมภาษณ์งานและทำงานมาบนระบบออนไลน์แทน
ดังนั้น ผู้สมัครงานควรจะต้องเตรียมพร้อมเรียนรู้เครื่องมือในการสัมภาษณ์งานและทำงานออนไลน์ เพื่อโอกาสที่มากกว่าในการได้งานในระยะนี้
]]>แต่ประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับโฆษณาตัวนี้ของเวอไรซอน ก็คือ มีการจำกัดกลุ่มผู้ชมเอาไว้ที่อายุระหว่าง 25-36 ปีเท่านั้น และต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดด้วย ซึ่งเท่ากับว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอีกนับร้อยล้านคนจะไม่ได้เห็นโฆษณาตัวนี้ปรากฏแก่สายตา
แต่ไม่ใช่เฉพาะเวอไรซอนที่ใช้วิธีดังกล่าวรับสมัครงาน เนื่องจากมีบริษัทชั้นนำอีกมากที่ใช้วิธีนี้ ไม่ว่าจะเป็น แอมะซอน โกลด์แมนแซคส์ ทาร์เก็ต หรือกระทั่งตัวเฟซบุ๊กเอง ซึ่งการลงประกาศรับสมัครงานโดยจำกัดกลุ่มเป้าหมายนี้ถูกเปิดเผยโดยค่ายโปรพับลิกก้า และนิวยอร์กไทม์
แม้ว่าความสามารถในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะสื่อสารไปถึงนั้นเป็นความสามารถของแพลตฟอร์มโฆษณาที่ตอบโจทย์ธุรกิจ แต่การใช้ความสามารถนั้นไปกับการประกาศรับสมัครงานในกลุ่มอายุบางกลุ่มเป็นการเฉพาะ ก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน รวมถึงได้มีการตั้งคำถามว่า กรณีเช่นนี้จะเป็นการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มอายุอื่น ๆ หรือไม่ด้วย
การตั้งคำถามเหล่านี้ถือว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากยังมีความสามารถของบริษัทเทคโนโลยีอีกมากที่หน่วยงานภาครัฐเข้าไปควบคุมไม่ถึง
ที่ผ่านมา การเข้ามาของเฟซบุ๊กในตลาดจัดหางานถือเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่บริษัทต่าง ๆ แถมยังมีการปรับใช้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเฟซบุ๊กสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายได้ตามที่บริษัทจัดหางานต้องการให้เห็น แต่ก็ทำให้สื่อที่เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลการจัดหางานในอดีตอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อทีวี ตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นว่าจะถูกเลิกใช้ในอนาคตอันใกล้
แต่นอกจากเฟซบุ๊กแล้ว โปรพับลิกก้า ยังได้ทดลองซื้อโฆษณาประกาศรับสมัครงานกับบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน นั่นคือ กูเกิล (Google) และลิงก์อิน (LinkedIn) แต่กูเกิล บอกว่า บริษัทไม่สามารถจำกัดการเห็นโฆษณาตามอายุของผู้ใช้งานได้ ส่วนลิงก์อินนั้น เมื่อมีการติดต่อจากโปรพับลิกก้า ทางบริษัทได้มีการเปลี่ยนระบบเพื่อป้องกันการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการจ้างงาน
ด้านบริษัททาร์เก็ต สเตทฟาร์ม และยูพีเอส ออกมาชี้แจงว่า การใช้เฟซบุ๊กเพื่อลงโฆษณาหางานแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมายนั้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการประกาศรับสมัครงานที่บริษัทประกาศออกไปในกลุ่มอายุทั้งหมด 25-60 ปี ไม่ใช่จะจำกัดแค่กลุ่มมิลเลนเนียล แต่เพียงอย่างเดียว
ส่วนบริษัทอื่น ๆ เช่น แอมะซอน หรือนอร์ธเวสเทิร์น มูชวล ต่างบอกว่า บริษัทของตนเองได้เปลี่ยนกลยุทธ์ในการรับสมัครงานบนเฟซบุ๊กแล้วเช่นกัน
]]>