ผู้สูงอายุ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 18 Apr 2022 10:51:37 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “เชียงใหม่” จุดหมายยอดฮิตซื้อบ้านหลัง “เกษียณ” แต่ยังมีอุปสรรคสำคัญคือ “ราคาสูง” เกินเอื้อม https://positioningmag.com/1381681 Mon, 18 Apr 2022 09:25:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1381681 DDproperty จัดสำรวจผู้บริโภคชาวไทย พบว่าคนไทยสนใจซื้อบ้านเพื่อ “เกษียณ” มากขึ้น และจุดหมายที่ฮิตที่สุดคือ “เชียงใหม่” เพราะได้ใกล้ชิดธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่ทำให้หลายคนยังไม่ตัดสินใจซื้อบ้านพักวัยเกษียณคือ “ราคาสูง” เกินไป

DDproperty แพลตฟอร์มซื้อขายที่พักอาศัย จัดทำสำรวจ Thailand Consumer Sentiment Study ประจำรอบครึ่งปีแรกปี 2565 โดยสำรวจผ่านทางออนไลน์ มีผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถาม 936 คน ช่วงอายุ 22-69 ปี

การสำรวจครั้งนี้พบประเด็นที่น่าสนใจคือ คนไทย 3 ใน 4 คนมีการวางแผนที่จะซื้อบ้านหลังที่สองโดยไม่ได้ขายบ้านหลังแรก และเหตุผลอันดับ 1 ที่จะซื้อบ้านหลังที่สอง คือ “ซื้อเพื่อการเกษียณ” (31% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) ส่วนเหตุผลรองๆ ลงมา คือ ซื้อให้ญาติ/พี่น้อง (28%) ซื้อเพื่อปล่อยเช่า (26%) ซื้อเพื่อการลงทุน (25%) และซื้อให้ลูก (25%)

จากกลุ่มที่วางแผนซื้อบ้านหลังเกษียณ ตอบว่า จุดหมายอันดับ 1 ที่สนใจคือ “เชียงใหม่” (24%) รองมาคือ “เชียงราย” (10%) และ “ชลบุรี” (8%) เหตุผลสำคัญที่ทำให้สถานที่เหล่านี้เป็นจุดหมายในใจคือ จะได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวมากขึ้น รวมถึงยังได้อยู่ใกล้สถานพยาบาลที่สะดวก และมีระบบขนส่งมวลชนเพื่อเดินทางไปที่ต่างๆ ได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มที่ยังไม่คิดว่าจะซื้อบ้านหลังเกษียณ เนื่องจากยังมีอุปสรรคสำคัญ ข้อแรกคือ ราคาสูงเกินไป (45%) ตามด้วย ยังอยากอยู่ใกล้ครอบครัว (44%) และ ชอบที่อยู่ปัจจุบัน (41%)

แต่ถ้าหากวัดเฉพาะคำตอบจากคนวัย 60 ปีขึ้นไปซึ่งอยู่ในวัยเกษียณแล้ว เหตุผลหลักจะไม่ใช่เรื่องราคา แต่ผู้สูงอายุ 52% ต้องการอยู่บ้านเดิมของตนมากกว่าย้ายไปยังบ้านพักวัยเกษียณ และ 51% ต้องการอยู่กับครอบครัว

ทั้งนี้ DDproperty มีการสรุปรูปแบบบ้านพักวัยเกษียณที่มีในปัจจุบันออกเป็น 2 แบบ คือ

1.บ้านพักคนชรา – โครงการที่พักอาศัยที่มีพยาบาลวิชาชีพดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มีหลายระดับตั้งแต่แบบห้องพักรวม ห้องพักเดี่ยว หรือแยกบ้านเป็นหลังๆ ในโครงการ คิดค่าบริการเป็นรายเดือน พร้อมอาหาร 3 มื้อ อุปกรณ์ดูแล กิจกรรมพิเศษ ฯลฯ เหมาะสมกับคนชราที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษซึ่งอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ราคาจะเริ่มตั้งแต่หลักพันบาทต่อเดือน แต่บ้านพักคนชราในไทยที่ราคาไม่สูงค่อนข้างจะมีจำกัด

2.บ้าน/คอนโดผู้สูงอายุ – โครงการที่พักอาศัยที่ออกแบบมาเพื่อให้วัยเกษียณใช้ชีวิตได้สะดวกและปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง มีกิจกรรมที่จัดขึ้นบ่อยๆ เพื่อให้วัยเกษียณมีสังคมและไม่เหงา โครงการประเภทนี้มักจะขายขาด หรือทำสัญญาเช่ายาว 30 ปี โดยราคาไม่รวมค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และบำรุงรักษาที่อยู่อาศัย ดังนั้น โครงการจึงเหมาะกับผู้สูงอายุที่ยังดูแลตนเองได้ และมีการบริหารการเงินเพียงพอที่จะดูแลค่าใช้จ่ายทุกด้านได้

น่าสนใจว่า หลังจากประเทศไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสูงอายุ และปี 2564 ที่ผ่านมายังเป็นปีแรกที่มีจำนวนประชากรเกิดใหม่น้อยกว่าการตาย ซึ่งน่าจะเป็นแนวโน้มสำคัญที่ทำให้คนในสังคมจะมีประชากรที่ไม่มีบุตรหลานมากขึ้น จึงคิดถึงการวางแผนการอยู่อาศัยในช่วงเกษียณสูงขึ้น และอาจจะส่งผลให้โครงการสำหรับผู้สูงอายุเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอนาคตด้วย

]]>
1381681
ซื้อสิทธิ “บ้านผู้สูงวัย” พ่วง “ประกัน”! “ดิ แอสเพน ทรี” ดึงเมืองไทยประกันชีวิตเป็นพันธมิตร https://positioningmag.com/1322456 Mon, 08 Mar 2021 11:47:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1322456 “ดิ แอสเพน ทรี” บ้านพักผู้สูงวัยในโครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์โดย MQDC ประกาศจับมือ “เมืองไทยประกันชีวิต” จัดแพ็กเกจสิทธิอยู่อาศัยในโครงการพ่วงประกันสุขภาพ “อีลิท เฮลท์” ทุนประกัน 20-40 ล้านบาท ตอบรับสังคมสูงอายุ เป้าหมายหลักกลุ่ม “ผู้สูงวัยไร้บุตร” ราคาเริ่มต้น 35 ล้านบาทสำหรับแพ็กเกจอยู่อาศัยได้ตลอดชีพพร้อมบริการ-กิจกรรมครบ

“วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ร่วมกับ “สาระ ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต แถลงความร่วมมือในโครงการ “ดิ แอสเพน ทรี” ที่พักผู้สูงวัยภายในโครงการมิกซ์ยูส “เดอะ ฟอเรสเทียส์” ริมถนนบางนา-ตราด ซึ่งจะมีกรมธรรม์ประกันสุขภาพ “อีลิท เฮลท์” ของเมืองไทยประกันชีวิตเป็นพันธมิตรส่วนหนึ่งในแพ็กเกจการเข้าพัก

รายละเอียดเบื้องต้นของโครงการ ดิ แอสเพน ทรี MQDC ให้รายละเอียดว่าจะเป็นโครงการเนื้อที่ 23 ไร่ ประกอบด้วยคอนโดมิเนียมและสกายวิลล่า พร้อมเวลเนส เซ็นเตอร์ และศูนย์สุขภาพและสมอง พื้นที่ส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 6,000 ตร.ม. เฟสแรกเปิดขาย 290 ยูนิต ไซซ์ห้อง 83-200 ตร.ม. ราคาตั้งแต่ 35-70 ล้านบาทต่อห้อง พักอาศัยได้ห้องละ 2-3 คน

“สาระ ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต และ “วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC

แม้จะเป็นการขาย แต่ไม่ใช่สิทธิขายขาด เพราะ ดิ แอสเพน ทรี มีคอนเซ็ปต์เป็น “บ้านพักผู้สูงอายุ” ซึ่งกำหนดให้ผู้เข้าพักต้องมีอายุขั้นต่ำ 50 ปี ดังนั้น และจะขายเป็นสิทธิการเช่าตลอดชีวิต (*กฎหมายกำหนดสัญญาเช่าสูงสุด 30 ปี แต่โดยคอนเซ็ปต์โครงการจะให้สิทธิตลอดชีพ) หลังจากผู้สูงวัยจากไปเนื่องจากเสียชีวิตหรือต้องการย้ายออก สิทธิในที่พักอาศัยจะคืนแก่โครงการ แต่ถ้ายังอาศัยไม่ครบสัญญา 30 ปี โครงการจะเฉลี่ยเป็นเงินคืนให้ลูกหลานหรือผู้รับสิทธิตามระยะเวลาที่เหลือ

 

เติมเต็มแพ็กเกจคุ้มครองสุขภาพให้ผู้สูงวัย

แล้วเมืองไทยประกันชีวิตมีส่วนในแพ็กเกจอย่างไร? เนื่องจากการขายสิทธิของ ดิ แอสเพน ทรี ไม่ใช่การขายเฉพาะที่พักอาศัย แต่เป็นราคาที่รวมบริการและกิจกรรมของผู้สูงวัยในโครงการไว้แล้ว ทำให้ประกันสุขภาพ “อีลิท เฮลท์” มาเติมจิ๊กซอว์ในส่วนการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในโครงการได้แบบรวมครบจบในแพ็กเกจเดียว จ่ายก้อนเดียวใช้ได้ตลอดชีพ ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายหรือจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มเติมอีก

“ความร่วมมือกับเมืองไทยประกันชีวิตซึ่งให้กรมธรรม์ทุนคุ้มครองมูลค่าสูง จะทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในโครงการเรามากขึ้น” วิสิษฐ์กล่าว

ภาพตัวอย่าง ดิ แอสเพน ทรี บางนา-ตราด

ประกัน “อีลิท เฮลท์” ที่มารวมในแพ็กเกจของ ดิ แอสเพน ทรี จะแบ่งเป็น 2 ขั้น ขั้นแรก คือ ความคุ้มครองการเจ็บป่วยโรคร้ายแรง โรคทั่วไป โรคระบาด และอุบัติเหตุ คุ้มครองสูงสุด 20 ล้านบาทต่อปีตั้งแต่หลังเซ็นสัญญาจองโครงการ และ ขั้นสอง คือ ความคุ้มครองลักษณะเดียวกันจะเพิ่มความคุ้มครองเป็น 40 ล้านบาทต่อปีเมื่อโอนกรรมสิทธิ์เสร็จสิ้น โดยความคุ้มครองยาวนานถึงอายุ 99 ปี ทั้งนี้ โครงการดิ แอสเพน ทรียังอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่ในปี 2566

สาระกล่าวว่า อีลิท เฮลท์ เป็นโปรแกรมที่มีในตลาดมา 2-3 ปีแล้วและได้รับความนิยมสูงในหมู่ลูกค้าระดับกลางบนถึงไฮเอนด์ แต่ความร่วมมือครั้งนี้มีความพิเศษที่จะเป็นการจับกลุ่มเป้าหมายวัย 50 ปีขึ้นไป จากปกติที่ประกันสุขภาพมักจะเจาะกลุ่มคนวัย 35-45 ปี ทำให้บริษัทมีฐานตลาดเพิ่มขึ้น โดยเซ็กเมนต์สอดคล้องกัน เนื่องจากผู้ซื้อสิทธิในดิ แอสเพน ทรี จะเป็นกลุ่มลูกค้าระดับบนเช่นเดียวกัน

ค่าเบี้ยประกันปกติของอีลิท เฮลท์ จะเริ่มที่ 50,000 บาทต่อปีสำหรับคนวัย 50 ปี ทุนประกัน 20 ล้านบาท และเริ่มที่ 80,000 บาทต่อปีเมื่อทุนประกันเพิ่มเป็น 40 ล้านบาท ดังนั้น จึงนับได้ว่าเป็นแพ็กเกจมูลค่าหลักล้านบาทที่รวมไว้แล้วในการซื้อสิทธิเข้าพัก

 

เป้าหมายหลัก “ผู้สูงวัยไร้บุตร”

ดิ แอสเพน ทรี จะเปิดขายอย่างเป็นทางการเดือนพฤษภาคม 2564 ระหว่างนี้มีการเสนอแพ็กเกจให้ลูกค้ากลุ่มที่ได้รับเชิญแล้วบ้าง แต่ยังไม่เปิดจอง อย่างไรก็ตาม พบว่าลูกค้ามีความสนใจ ไม่เฉพาะคนไทยแต่ยังรวมถึงลูกค้าต่างชาติที่เป็น expat ในไทยอยู่แล้ว เช่น ชาวจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และโซนยุโรปเหนือ

ภาพตัวอย่าง ดิ แอสเพน ทรี บางนา-ตราด

ด้าน “เฮ จูน พาร์ค” ประธานผู้อำนวยการ โครงการ ดิ แอสเพน ทรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลุ่มเป้าหมายขณะนี้คือ “ผู้สูงวัยไร้บุตร” ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัยที่ครองตนเป็นโสด หรือที่มีคู่สมรสแต่ไม่มีบุตร เป็นกลุ่มสำคัญที่สนใจโครงการ

พาร์คมองว่า ความท้าทายของโครงการบ้านพักผู้สูงอายุคือการเปลี่ยนมุมมองเดิมๆ ว่าที่พักแบบนี้เป็นโครงการที่น่าเบื่อ ไม่มีกิจกรรมให้ทำ โดยดิ แอสเพน ทรีแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ และมีชุมชนทั้งคนวัยเดียวกัน รวมไปถึงคนต่างวัยซึ่งอาศัยในโครงการอื่นๆ ภายในเดอะ ฟอเรสเทียส์

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โครงการบ้านพักผู้สูงอายุเป็นโครงการที่เริ่มมีผู้เล่นในตลาดสูงขึ้น แต่ละโครงการจับกลุ่มราคาแตกต่างกัน และมีทั้งโครงการแบบขายขาด หรือโครงการขายสิทธิการเช่า ต้องจับตาดูต่อไปว่าหลังสร้างเสร็จและมีผู้พักอาศัยจริง ใครจะเป็นผู้ชนะในตลาดนี้ (อ่านเพิ่มเติม : จับตา “เศรษฐกิจสูงวัย” อำนาจเปลี่ยนขั้วจากมิลเลนเนียมสู่ผู้สูงอายุ ภายในปี 2050)

]]>
1322456
ฝรั่งเศส ประกาศฉีดวัคซีนโควิด AstraZeneca ให้กับกลุ่ม ‘ผู้สูงอายุ’ ตั้งเเต่ 65-74 ปีได้แล้ว https://positioningmag.com/1321467 Tue, 02 Mar 2021 06:40:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1321467 ทางการฝรั่งเศส อนุญาตให้ใช้วัคซีนต้าน COVID-19 ของ AstraZeneca กับกลุ่มผู้สูงอายุตั้งเเต่ 65-74 ปี ได้เเล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ให้ใช้วัคซีนดังกล่าวกับประชาชนที่อายุน้อยกว่า 65 ปีเท่านั้น เนื่องจากมีข้อกังวลด้านประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนอายุ 75 ปีขึ้นไป รัฐบาลฝรั่งเศสยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีนของบริษัท Pfizer – Biontech ได้ตามปกติที่ศูนย์รับวัคซีนทั่วประเทศ  

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมามานูเอล มาครงประธานาธิบดีฝรั่งเศส เผยถึงของข้อกังวลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน AstraZeneca ในการใช้กับกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น ยังไม่เพียงพอ ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดให้ใช้ได้กับประชาชนที่อายุน้อยกว่า 65 ปีก่อน

ด้านสหราชอาณาจักร เริ่มใช้วัคซีน AstraZeneca ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กับประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ โดยรัฐบาลยืนยันว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเท่ากับวัคซีนชนิดอื่น

โดยหลังจากที่ได้รับข้อมูลและมีผลการวิจัยเพียงพอ ทางการฝรั่งเศสจึงประกาศว่าวัคซีน AstraZeneca จากอังกฤษ ใช้ได้ผลกับกลุ่มผู้สูงอายุตั้งเเต่ 65-74 ปี เเละมีโรคประจำตัวมาก่อนได้ ซึ่งประชาชนสามารถฉีดวัคซีนนี้ได้ตามโรงพยาบาล หรือร้านขายยา

Photo : Shutterstock

ท่ามกลางความพยายามสร้างความเชื่อมั่น ฝรั่งเศสฉีดวัคซีนของ AstraZeneca ให้กับประชาชนเพียง 273,000 โดส จากจำนวน 1.7 ล้านโดสที่ได้รับภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์

ล่าสุดสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) เผยแพร่รายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 มี..) เกี่ยวกับการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาของ Pfizer – Biontech ว่า หากฉีดเพียงเข็มเดียวจะมีประสิทธิผล 57-61% สำหรับป้องกันการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการในบุคคลอายุตั้งแต่ 70 ปี

ส่วนการฉีดวัคซีน AstraZeneca เเบบเข็มเดียว จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการของกลุ่มคนอายุ 70 ปีขึ้นไป ในอัตราระหว่าง 60-73% หลังรับวัคซีนโดสแรก 4 สัปดาห์

ผลวิจัยระบุว่า การฉีดวัคซีนยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งตั้งแต่เข็มแรก จะสามารถลดอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ด้วยอาการหนักจาก COVID-19 ในกลุ่มผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ได้มากถึง 80% อย่างไรก็ตาม วัคซีนของทั้ง Pfizer – Biontech เเละ AstraZeneca จะต้องฉีด 2 เข็ม โดยทิ้งระยะห่างกันประมาณ 4 สัปดาห์ เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสที่มากกว่า

 

ด้านทางการสหรัฐฯ เพิ่งอนุมัติใช้วัคซีนป้องกัน COVID-19 เเบบฉีด ‘เข็มเดียว’ ของบริษัท Johnson & Johnson (J&J) อย่างเป็นทางการเเล้ว นับเป็นวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา ชนิดที่ 3 ที่ผ่านการรับรองให้ใช้ได้ในอเมริกา เป็นกรณีฉุกเฉินสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ต่อจาก Pfizer-Biontech เเละ Moderna 

 

ที่มา : BBC (1)(2) , Reuters 

]]>
1321467
ค้าปลีกในญี่ปุ่น เริ่มขยายเวลาเกษียณอายุการทำงานจาก 65 ปี เป็น 80 ปี รับวิกฤตสังคมสูงวัย https://positioningmag.com/1289697 Mon, 27 Jul 2020 12:15:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1289697 ร้านค้าปลีกในญี่ปุ่น เริ่มขยายอายุขยายระยะเวลาทำงาน หรือขยายเวลาเกษียณอายุให้กับพนักงานไปจนถึงอายุ 80 ปี (ตามความสมัครใจ) จากเดิมที่บริษัทมีภาระผูกพันที่จะต้องให้พนักงานทำงานจนถึงอายุ 65 ปี

การเป็นสังคมสูงวัยเต็มขั้นของญี่ปุ่น กำลังสร้างความกังวลให้กับการพัฒนาประเทศชาติ เพราะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โครงสร้างงบประมาณประกันสังคม อีกทั้งยังขาดเเคลนเเรงงานเเละมีอัตราการเกิดต่ำ

ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า บรรดาบริษัทเอกชนในญี่ปุ่น จะต้องขยายอายุการจ้างงานพนักงานไปจนถึงอายุ 70 ปี ตามนโยบายรัฐบาล เเต่ตอนนี้ร้านค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่อย่าง Nojima ไปไกลกว่านั้น ด้วยการขยายไปจนถึง 80 ปี ครอบคลุมพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ในโยโกฮาม่าราว 3,000 คน

ในปัจจุบัน Nojima ไม่ได้พึ่งพายอดขายจากร้านค้าตัวเเทนอย่างเดียว เเต่เน้นไปที่การให้บริการลูกค้าที่ให้ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ในช่องทางต่างๆ ทั้งออฟไลน์เเละออนไลน์ ดังนั้นพนักงานที่มีทักษะการบริการลูกค้าจึงเป็นทรัพยากรที่มีค่า

Yoshiyuki Tanaka ผู้บริหารของ Nojima กล่าวว่า บริษัทต้องการจะเห็นพนักงานอาวุโสเหล่านี้มีบทบาทในอาชีพการงานต่อไป โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องสถานที่มากนัก อย่างไรก็ตาม การต่ออายุการทำงานจนถึง 80 ปีครั้งนี้จะมีการต่อสัญญาเป็นรายปี ซึ่งรายละเอียดจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการทำงานของแต่ละบุคคล

โดยการขยายอายุการทำงานครั้งนี้ มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจค้าปลีกรายอื่นๆ ให้หันมาสนใจลงทุนในทรัพยากรบุคคลมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาสังคมสูงวัยในประเทศ ที่ผู้สูงอายุต้องเกษียณออกมาอยู่ตามลำพังอย่างเดียวดาย เเละช่วยลดการขาดเเคลนเเรงงาน ที่กำลังเป็นวิกฤตใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น

 

ที่มา : Nikkei Asian Review

]]>
1289697
จับตา “กลุ่ม Perennials” ประชากรสูงวัยที่กำลังเป็นใหญ่เหนือกลุ่ม Millennial https://positioningmag.com/1264149 Wed, 12 Feb 2020 16:06:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1264149 วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยเทรนด์ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้ คือ เศรษฐกิจอายุยืน (Longevity Economy) พร้อมปรับการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ชี้โอกาสทางธุรกิจ 6 ด้านในสังคมอายุยืนสำหรับผู้ประกอบการ

สังคมอายุยืน จุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจใหม่

1 ใน 6 ของประชากรไทยได้เป็น “ผู้สูงอายุ” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกลุ่มผู้สูงอายุกำลังจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญของโลก ในรายงาน The Perennials : Future of Aging โดย Ipsos กล่าวว่า ผู้สูงอายุในสมัยปัจจุบัน แตกต่างไปจากในอดีตมาก ผู้สูงอายุสมัยใหม่ยังคงที่ชื่นชอบในการทำงาน มีการวางแผนการเงินที่รอบคอบมากขึ้น และมีไลฟสไตล์การใช้ชีวิตที่ Active

โดย Ipsos ได้ทำการบัญญัติศัพท์ใหม่ เพื่ออธิบายถึงกลุ่มผู้สูงอายุสมัยใหม่ว่า “The Perennials” (เดอะ เพอะเรนเนียลส์) จากศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้อธิบายถึงต้นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืน กลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคสมัย ซึ่งกำลังจะมีอิทธิพลเหนือกลุ่มมิลเลนเนียลส์ (Millennials) จึงเป็นความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องหันมาทำความเข้าใจกลุ่มสูงวัยชาวเพอะเรนเนียลส์ และสร้างสินค้า หรือ บริการ ที่ตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด

 จาก “เบบี้ บูมเมอร์” สู่ “เดอะ เพอะเรนเนียลส์”

ก่อนที่จะลงลึกถึงโอกาสทางธุรกิจจากสังคมอายุยืน จำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า ผู้สูงอายุในปัจจุบันเป็นใคร มาจากไหน? หากย้อนดูตามทฤษฎี Generation หรือการแบ่งลักษณะของประชากรตามปีที่เกิด ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น

  1. Baby Boomer: เกิดปี ค.ศ. 1944 – 1964
  2. Gen x: เกิดปี ค.ศ. 1965 – 1979
  3. Millennial: เกิดปี เกิดปี ค.ศ. 1980 – 1994
  4. Gen Z: เกิดปี ค.ศ. 1995 – 2015
Photo : Shutterstock

จะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่กำลังจะเป็นผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มประชากรที่มาจาก Baby Boomer ซึ่งปัจจุบันจะมีอายุประมาณ 56-76 ปี (ปีที่เขียนบทความนี้ คือปี ค.ศ. 2020)  เบบี้ บูมเมอร์ เป็นประชากรที่เกิดและเติบโตในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เบบี้ บูมเมอร์ จึงเป็นประชากรที่มีความทุ่มเทในการทำงาน ขยัน มีการวางแผนการเงิน จุดเด่นของประชากรกลุ่มนี้ คือ มีความอดทนสูง

สำหรับในประเทศไทย เบบี้ บูมเมอร์ กลุ่มใหญ่ในประเทศกำลังเป็นผู้บริหารในองค์กร ผู้ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงาน และยังคงเป็นกลุ่มบุคคลที่มีคำถามในใจว่า หากจะต้องเกษียณการทำงาน จะใช้ช่วงชีวิตที่ยืนยาวนั้นอย่างไรให้มีคุณค่า และมีความสุขมากที่สุด จาก “เบบี้ บูมเมอร์” ผู้ต่อสู้กับสภาวะทางเศรษฐกิจในอดีต จึงกลายเป็น “เดอะ เพอะเรนเนียลส์” ผู้บริโภคสูงวัยที่กำลังจะมีช่วงชีวิตที่ยาวนานขึ้น

มหิดลเปิดหลักสูตรเจาะลึก 6 โอกาสทางธุรกิจในสังคมอายุยืน

ผศ.ดร.ธนพล วีราสา รองคณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงโครงการ NEO (New Education for Opportunity) ที่ออกแบบมาเพื่อปรับรูปแบบการศึกษาให้ทันต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยเริ่มจากหลักสูตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจในสังคมอายุยืน (Business Opportunity Creation in Longevity Society) หลักสูตรระยะสั้น 8 สัปดาห์ สำหรับผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปที่ต้องการสร้างธุรกิจใหม่ แตกไลน์ธุรกิจเดิมให้รองรับคนสูงวัยมากขึ้น เน้นการรวบรวมองค์ความรู้และงานวิจัยของมหิดลมานำเสนอให้ผู้ประกอบการได้เห็นโอกาสและนำไปต่อยอดใน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ ด้านอาหารและเครื่องดื่ม ด้านธุรกิจที่พักอาศัย ด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ ด้านการเงินและประกันภัย ด้านการจ้างงานของผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเรียนเชิญ นักธุรกิจและผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมงาน NEO OPEN HOUSE เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างโอกาส และแนวคิดทางธุรกิจใหม่ๆ ในวันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.00 – 11.00 น. ที่ห้องประชุมชั้นสอง วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนน วิภาวดีรังสิต ลงทะเบียนฟรี พร้อมรับสิทธิพิเศษ Voucher ส่วนลดค่าลงทะเบียนหลักสูตรมูลค่า 2,500 บาท สำหรับหลักสูตรของ NEO ACADEMY

ลงทะเบียนฟรีที่นี่ https://www.neobycmmu.com/open-house

]]>
1264149
วิกฤตประชากรญี่ปุ่น : ขยายเวลาเกษียณอายุการทำงานเป็น 70 ปี แก้ปัญหาขาดเเรงงาน https://positioningmag.com/1263684 Fri, 07 Feb 2020 19:04:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1263684 การเป็นสังคมสูงวัยเต็มขั้นของญี่ปุ่น กำลังสร้างความกังวลให้กับการพัฒนาประเทศชาติ เพราะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โครงสร้างงบประมาณประกันสังคม อีกทั้งยังขาดเเคลนเเรงงานเเละมีอัตราการเกิดต่ำ

ล่าสุดกับความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการผลักดันกฎหมายให้ภาคเอกชนขยายระยะเวลาทำงานหรือ “ขยายเวลาเกษียณอายุ” ให้กับลูกจ้างไปจนถึงอายุ 70 ปี จากเดิมที่บริษัทญี่ปุ่นมีภาระผูกพันที่จะต้องให้พนักงานทำงานจนถึงอายุ 65 ปี

เเม้ในขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะยังไม่ได้บังคับให้ทุกบริษัทต้องรักษาสภาพพนักงานไปจนถึงอายุ 70 ปี
เเต่ก็ให้เป็นตัวเลือกมาลองใช้ 5 เเบบ ได้เเก่ การขยายเวลาเกษียณอายุ การปลดลูกจ้างต่อเมื่อไม่สามารถทำงานได้
เเละการอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานเกินอายุที่กำหนด

มีตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการทำงานยุคใหม่อีก 2 เเบบคือ การให้บริษัทจ้างงานลูกจ้างที่เกษียณอายุแล้วในรูปแบบ “ฟรีแลนซ์” เเละให้จ้างงานลูกจ้างให้ทำงานเป็นการกุศลของบริษัท

โดยจะมีผลักดันร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภานิติบัญญัติ และคาดว่าจะบังคับใช้ให้ได้ภายในเดือนเมษายนปี 2021

ต่อจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนจะทำให้การขยายเวลาเกษียณอายุงานไปถึง 70 ปีกลายเป็นพันธะผูกพันในอนาคต ซึ่งหากมองอีกมุมก็สร้างความกังวลให้กับคนรุ่นใหม่ไม่น้อย เพราะการทำงานตลอดชีวิตของพวกเขาจะต้องยืดไปอีก 5 ปีนั่นเอง

วิกฤตประชากรญี่ปุ่น อีกด้านที่น่าวิตกคือมีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก โดยในปี 2019 มีเด็กเกิดใหม่ลงต่ำกว่า 900,000 คน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมาในรอบ 120 ปี

อัตราการเกิดที่ลดลงจนน่ากังวลเช่นนี้ จะนำไปสู่การขาดเเคลนวัยเเรงงานซึ่งเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเเละเป็นกลุ่มคนจ่ายภาษี ซึ่งจะมีผลกระทบด้านสวัสดิการมากขี้น เนื่องจากรัฐต้องใช้เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุจำนวนมากในประเทศ

ที่ผ่านมาทางการญี่ปุ่นพยายามอย่างหนักที่จะเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ (Fertility Rate) ให้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ที่ 1.8 ภายในสิ้นปี 2025 โดยออกมาตรการสนับสนุนการเลี้ยงเด็กและการจ้างงานคนรุ่นใหม่ เพื่อจูงใจให้ประชาชนมีบุตรกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัตราการเจริญพันธุ์ที่เป็นค่าเฉลี่ยการให้กำเนิดบุตรต่อประชากรของผู้หญิงในญี่ปุ่น เมื่อปรับตามรายอายุและหมวดอายุของสตรีแล้ว ยังอยู่ที่ 1.42 ในปี 2018

นอกจากนี้ จำนวนคู่รักที่แต่งงานใหม่ในปี 2019 ลดลงกว่า 3,000 คู่ เเละต่ำกว่า 583,000 คู่ เป็นครั้งแรกนับตั้งเเต่หลังสงครามโลก ขณะเดียวกันคู่แต่งงานที่มีการหย่าร้างในปี 2019 ก็เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 คู่ โดยอยู่ที่ 210,000 คู่

อ่านเพิ่มเติม : วิกฤตประชากรญี่ปุ่น : จำนวนเด็กเกิดใหม่ปีนี้ ต่ำสุดในรอบ120 ปี เเต่งงานน้อย-หย่าร้างเพิ่ม

 

ที่มา : japantoday , scmp

]]>
1263684
รถใหม่ในญี่ปุ่นต้องมี “เบรกอัตโนมัติ” เริ่มปี 2021 หลังเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น https://positioningmag.com/1257789 Fri, 20 Dec 2019 03:00:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1257789 Photo : REUTERS/Kim Kyung-Hoon

ญี่ปุ่น เตรียมออกกฎหมายใหม่ให้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศ เฉพาะรถรุ่นใหม่ต้องติดตั้งระบบเบรกอัตโนมัติ โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งเเต่เดือน พ.ย. 2021 หลังมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 

โดยกระทรวงคมนาคมญี่ปุ่น จะทำตามมาตรฐานนานาชาติขององค์การสหประชาชาติที่กำลังจะเริ่มใช้เดือนหน้า โดยรถที่แล่นไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะต้องเบรกเองได้เมื่อเจอรถคันอื่นที่หยุดนิ่ง หรือรถที่เคลื่อนที่ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ต้องเบรกเองเพื่อป้องกันการชนคนข้ามถนน

“อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากคนขับรถสูงอายุ เป็นปัญหาเร่งด่วนที่จำเป็นต้องเเก้ไข เราจะใช้ทุกมาตรการที่เป็นไปได้เพื่อจัดการเรื่องนี้” Kazuyoshi Akaba รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นระบุ

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เตือนว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการที่คนขับเชื่อใจระบบเบรกอัตโนมัติมากไปเช่นกัน โดยมีอุบัติเหตุลักษณะนี้ราว 80 ครั้ง ซึ่งมี 18 คนได้รับบาดเจ็บเเละเสียชีวิต นับตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

กฎหมายใหม่นี้ จะกำหนดให้รถยนต์รุ่นใหม่ที่จะผลิตในญี่ปุ่นต้องติดตั้งระบบเบรคอัตโนมัติ นับตั้งเเต่เดือน พ.ย. 2021 เป็นต้นไป ส่วนรุ่นที่มีอยู่เเล้วในตลาดจะต้องติดระบบเบรกอัตโนมัติให้ได้ภายในเดือน ธ.ค. ปี 2025

นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึง “รถที่นำเข้าจากต่างประเทศ” โดยหากเป็นรถรุ่นใหม่จะผ่อนผันให้ถึงเดือน มิ.ย. ปี 2024 และ หากเป็นรถรุ่นปัจจุบัน ผ่อนผันให้ถึงเดือน มิ.ย. ปี 2026

สำหรับระบบ “เบรกอัตโนมัติ” จะใช้ระบบเรดาร์ในการตรวจจับและตรวจสอบยานพาหนะและวัตถุอื่นๆ ล่วงหน้า ให้สามารถแจ้งเตือนผู้ขับขี่ถึงอันตรายจากการชนก่อนที่จะใช้เบรกโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม ระบบเบรคอัตโนมัติจะไม่ทำงาน หากกล้องที่ติดตั้งในรถไม่สามารถรับรู้ถึงวัตถุในที่มืดมาก หรือในกรณีมีคนเดินเท้าหรือมีรถคันอื่นโผล่ขึ้นมากะทันหัน เป็นต้น

ที่มา : japantoday
ภาพ : Reuters

]]>
1257789
จับตา “เศรษฐกิจสูงวัย” อำนาจเปลี่ยนขั้วจากมิลเลนเนียมสู่ผู้สูงอายุ ภายในปี 2050 https://positioningmag.com/1250572 Tue, 22 Oct 2019 07:59:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1250572 ปรากฏการณ์ใหม่ของโลกที่กลุ่มผู้สูงอายุจะครองเมืองในทุกพื้นที่ของโลกเป็นครั้งแรก ในปี 2593 (2050) และกลายเป็นตัวขับเคลื่อน สู่เศรษฐกิจสูงวัย (Silver economy) และเศรษฐกิจอายุวัฒน์ (Longevity economy)

ส่วนไทย จะมีประชากรสูงอายุถึง 30% ในปี 2578 ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโดยรวมของประเทศ ในหลายด้านที่รอการปรับตัว

ผู้สูงวัยจะครองเมือง

อิปซอสส์ บริษัทด้านวิจัย และการตลาดได้เผยรายงานผลวิจัยชุดล่าสุด “Getting Older–Our Aging world” เพื่อเปลี่ยนมุมมอง สร้างความเข้าใจ และอธิบายผลกระทบของสังคมผู้สูงวัยให้กับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจ

เป็นที่คาดการณ์ว่า ระหว่างปี 1980 – 2050 (พ.ศ. 2523 – 2593) จำนวนผู้สูงวัยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยหนึ่งเท่าตัว โดยในปี 2050 (พ.ศ. 2593) โลกจะมีจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 2,100 ล้านคน ส่งผลให้ในอีกราว 30 ปีต่อจากนี้จะเป็นครั้งแรกที่โลกมีจำนวนคนแก่มากกว่าคนหนุ่มสาว โดย 1 ใน 5 ของประชากรโลกในปี 2050 (พ.ศ. 2593) จะเป็นผู้สูงวัย ซึ่งสถิติดังกล่าวได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้สูงอายุจะครองเมืองในทุกพื้นที่ของโลก

จากการขยายตัวของกลุ่มคนสูงอายุอย่างกว้างขวางทั่วโลก จนเป็นที่แน่ชัดว่าเจนเนอเรชั่นทรงอิทธิพลจะมีการเปลี่ยนขั้ว จากกลุ่มมิลเลนเนียลส์ Millennial ที่เป็นความเชื่อเดิมๆ มาเป็น “กลุ่มผู้สูงอายุ” ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่คุมอำนาจทางการเงินและการเมือง เป็นกลุ่มที่มีเงินเหลือเพื่อการใช้จ่าย (Disposable Incomes) มากกว่าคนทุกกลุ่ม

กลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก สู่ เศรษฐกิจสูงวัย หรือ Silver Economy และ เศรษฐกิจอายุวัฒน์ (Longevity Economy) ผลักดันให้กลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งทั่วโลกกำลังจับตาและศึกษาแนวโน้มกันอย่างกว้างขวาง

สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลจากการศึกษาของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส  ได้ระบุว่า หลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society) ตั้งแต่ปี 2543 ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ใน 10%

และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ในปี 2564 ซึ่งจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากนั้นในปี 2578 ก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Super  Aged  Society) โดยมีประชากรสูงอายุถึง 30% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโดยรวมของประเทศในหลายด้าน ทำให้หลายฝ่ายต้องเริ่มตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับการเตรียมการรองรับไว้ล่วงหน้าเช่นเดียวกับความกังวลของนานาประเทศในขณะนี้

ทำความรู้จักผู้สูงวัยชาวโลกที่แท้จริง

มารู้จักผู้สูงวัยชาวโลก และผู้สูงอายุคนไทย กับการจับโอกาสมหาศาล ลดความเสี่ยง เริ่มจากการสร้างมุมมองใหม่ ออกจากปัญหาและการติดกับความเชื่อและภาพจำเดิมๆ เช่น การกำหนดผู้สูงวัยจาก ตัวเลขอายุและภาพจำเดิมๆ ที่ว่า ผู้สูงวัยไม่สนใจเทคโนโลยี ไม่ชอบเรียนรู้ และไม่ชอบสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักการตลาดกว่า 79% ยังใช้ อายุเป็นตัวชี้วัดในการกำหนดตัวตนของผู้สูงวัย แทนที่จะศึกษาจากความชอบ ไลฟ์สไตล์ หรือความต้องการที่แท้จริง ความเข้าใจผิดเหล่านี้ ทำให้เราไม่รู้จักผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง ไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงความรู้สึกนึกคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้เราประเมินสถานการณ์ผิดพลาดและวางแผนต่างๆ ไม่ถูกทิศทาง

สำหรับประเทศไทยกว่า 75% ของผู้สูงวัยคนไทยมีความสนใจและต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และ กว่า 1.2 ล้านของผู้สูงวัยชาวไทยที่มีอายุเกิน 60 ปี เข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ต ดังนั้นความเชื่อที่ว่าผู้สูงวัยไม่ยอมปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องอีกต่อไป

ความชอบ ความต้องการ พฤติกรรม และไลฟ์สไตล์ ของผู้สูงอายุทั้งที่เป็นภาพรวมของโลกและกลุ่มผู้สูงวัยชาวไทย ต่างก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเช่นเดียวกับเจนเนอเรชั่นกลุ่มอื่นๆ

จากความเชื่อเดิมๆ ที่ฝังใจกันทั่วไปว่า ผู้สูงอายุไม่สนใจเรื่องเทคโนโลยีและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นวิวัฒนาการของโลกนั้น อาจต้องมีการทบทวนใหม่ เพียงแต่ผู้สูงอายุอาจจะมีข้อจำกัดบ้างในบางจุดเพื่อการปรับตัวให้เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าว ซึ่งอาจต้องใช้เวลากับสิ่งเหล่านั้นมากเป็นพิเศษ อีกทั้งอาจต้องใช้ความพยายามมากกว่าในการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้น   

โดยสิ่งที่ผู้สูงอายุทั่วโลกวิตกกังวลมากที่สุด คือ เรื่องเงินและสุขภาพ (Top Worries – Money & Health) และสิ่งที่ผู้สูงอายุชาวไทยมีความกังวลใจซึ่งก็มีความใกล้เคียงกัน โดยสามารถเรียงลำดับตามความวิตกกังวลของกลุ่มผู้สูงวัยของโลก คือ

  • 30% กลัวมีเงินไม่พอต่อการดำรงชีวิต
  • 25% กลัวมีปัญหาการเคลื่อนไหวทางร่างกาย
  • 24% เสียความทรงจำ
  • 22% ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้
  • 20% การจากไปของคนในครอบครัว ญาติ และเพื่อนฝูง   
  • 20% ความเจ็บป่วย
  • 19% ถูกทิ้งให้เปล่าเปลี่ยว เหงา เศร้า
  • 18% ไม่มีอิสระ
  • 16% ตาย   
  • 13% หูตึง / ตามองไม่เห็น

ส่วนความกังวลใจของผู้สูงอายุคนไทยเมื่อถึงวัยชรา เรียงตามลำดับได้ดังนี้    

  • 51% ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้
  • 41% เจ็บป่วย
  • 34% ความเคลื่อนไหวทางร่างกาย
  • 32% มีเงินไม่พอต่อการดำรงชีวิต
  • 27% เสียความทรงจำ
  • 20% ญาติและเพื่อนฝูงค่อยๆ จากไป
  • 15% สูญเสียสายตาและ การได้ยิน
  • 10% ถูกทิ้งให้ล้าหลังทางเทคโนโลยี
  • 10% ผมหงอกและศีรษะล้าน
  • 10% เบื่อหน่าย ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว
  • 7% ไมได้รับการดูแลเอาใจ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบัน ผู้สูงอายุคนไทยมีประกันภัยด้านสุขภาพถึง 50% และอีก 18% เป็นการทำประกันในลักษณะ Endownment Life insurance

เจาะไลฟ์สไตล์คนสูงวัย มีอำนาจทางการเงินสูง

ในการนี้ เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุคนไทยให้มากยิ่งๆ ขึ้น อิปซอสส์ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงไลฟ์สไตล์ กิจกรรมที่ทำ ตลอดจนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

กิจกรรมยอดฮิตติดอันดับที่ผู้สูงอายุชาวไทยชื่นชอบตามลำดับ คือ

  • 56% การออกกำลังกาย
  • 49% เดินทางท่องเที่ยว
  • 34% การเพาะปลูก
  • 27% ชอบสังคมเยี่ยมญาติ / เพื่อนสนิทมิตรสหาย
  • 27% การเดินออกกำลังกาย
  • 22% ร่วมกิจกรรมชุมชน

ส่วนพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้สูงอายุชาวไทยนั้น ผลสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุชาวไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้จ่ายเงินในเรื่องต่างๆ ดังนี้

  • 95% การใช้จ่ายเพื่ออาหาร
  • 78% การออกไปทานอาหารนอกบ้านในโอกาสพิเศษ
  • 78% ใช้เงินกับซื้อเครื่องไฟฟ้าในบ้าน
  • 73% ใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้า
  • 73% ใช้เงินเพื่อการผ่อนคลาย
  • 71% การท่องเที่ยว

กลายเป็นว่านักการตลาดที่ต้องการสื่อสารกับผู้สูงอายุต้องมองในมุมมองใหม่ เพราะผู้สูงอายุในยุคนี้มีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป และมีอำนาจทางการเงินสูง ไม่ได้เป็นผู้สูงอายุเหมือนเดิมอีกต่อไป.

]]>
1250572
ประเทศไทยกับสังคมผู้สูงอายุ https://positioningmag.com/1189434 Tue, 25 Sep 2018 10:00:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1189434 เรื่อง : อิษณาติ วุฒิธนากุล

หลายท่านคงทราบกันดีนะครับว่าในอีกราวๆ เพียงยี่สิบปีต่อจากนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยในปี 2040 กว่า 1 ใน 4 ของประชากรในประเทศไทยจะเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากอัตราการเกิด 6 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคนในปี 1960 มาอยู่ที่ราวๆ 1.5 ในปัจจุบัน และยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น อัตราการเกิดไม่ถึง 2 แปลได้ตรงตัวนะครับ ว่าประชากรของไทยจะหดตัวลงในอนาคตอันใกล้นี้ หากมองอย่างผิวเผินหรือไม่ได้คิดถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง เราคงไม่ได้รู้สึกอะไรกันมากกับคำว่าสังคมสูงอายุ ก็ถ้าแก่ตัวก็ดูแลกันไปเหมือนที่ผ่านมาๆ แต่หากมองลึกลงไปเราจะพบว่าปัญหาที่ประเทศหรือกระทั่งตัวเราเองกำลังเผชิญ ณ ตอนที่ไทยเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในขณะที่อัตราการเกิดลดต่ำลงนั้น เป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่สามารถตัดสินได้ว่าประเทศเราจะรุ่งเรืองหรือถดถอยเลยทีเดียว

จริงๆ แล้วประเด็นนี้ได้ถูกหลายสำนัก หลายองค์กรพูดถึงและถกเถียงกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจากปัจจัยเรื่องธุรกิจและผลกำไรในอนาคต ภาคเอกชนดูเหมือนจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ปรับตัวและกระตือรือร้นในการคิดค้นธุรกิจใหม่ๆ เพื่อมารองรับผู้บริโภคสูงวัยในอนาคตอย่างชัดเจนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่เห็นนโยบายหรือความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐ ซึ่งจุดตรงนี้แหละครับที่ทำให้ผมอดกังวลไม่ได้

อย่างที่เรารู้กันนะครับครับว่าโรคภัยไข้เจ็บเป็นของคู่กายกับผู้สูงวัย ไม่เพียงตัวเราเองที่จะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นเมื่อเรามีอายุมากขึ้น ในมุมของประเทศ ประเทศเราเองก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามจำนวนของประชากรสูงวัยที่มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน คำถามคือเมื่อประเทศเรากลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ประเทศเราจะมีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าดูแลผู้สูงวัยไหวหรือไม่?

จริงๆ แล้วนะครับเราแทบยังไม่ต้องคิดถึงในอนาคตอีกยี่สิบปีข้างหน้า แค่ทุกวันนี้ข่าวที่ว่าโรงพยาบาลได้รับเงินอุดหนุนไม่พอ เตียงคนไข้ไม่พอ บุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ กระทั่งว่ายารักษาโรคไม่พอปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นนิจ การให้นักร้องชื่อดังมาวิ่งขอเงินบริจาค หรือการปรับเงินแพทย์ฝึกหัดเพิ่มขึ้นหากออกก่อนกำหนด ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาระยะยาว หากเรายังจัดการกับปัญหาตอนนี้ ในตอนที่จำนวนผู้สูงอายุเกิน 65 ปีมีราวๆ 11% ไม่ได้ ลองคิดเล่นๆ กันดูมั้ยครับว่า ในวันที่ประชากรสูงวัยมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งหมด ณ ตอนนั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศ หรือกระทั่งตัวของเรา?

แน่นอนครับวิธีแก้ปัญหาที่ดูเหมือนจะง่ายที่สุดคือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบสาธารณสุขของประเทศ หากมีเงินจะสร้างโรงพยาบาล ซื้อยา หรือจ้างบุคลากรดูแลผู้สูงวัยเพิ่มก็คงไม่ใช่เรื่องยาก โดยถ้าอ้างอิงข้อมูลจาก World Bank จะพบว่าประเทศเรามีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายกับระบบสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 3.19% ในปี 2000 มาเป็น 3.77% ของจีดีพีในปี 2015 แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศที่ใช้จ่ายกับด้านสุขภาพเป็นสัดส่วนมากกว่า 10% ขึ้นไป

จริงอยู่ครับว่าการเพิ่มงบตรงนี้อาจสามารถช่วยแก้ปัญหาบางส่วนได้ แต่อย่าลืมนะครับว่าประเทศเราไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย ถ้าคิดง่ายๆ ก็คือ งบที่ประเทศเรามีมันคือเงินก้อนเดียว หากจะเพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพก็แปลว่าต้องดึงงบจากส่วนอื่นมา ถ้าไม่อยากดึงงบประมาณจากส่วนอื่นมาก็แปลว่ารัฐบาลต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งหนึ่งรายได้หลักของรัฐบาลก็คือเงินภาษีที่เราทุกคนจ่ายอยู่ทุกๆ ปี

หากรัฐไม่มีนโยบายหรือเทคโนโลยีที่สามารถปฏิรูปให้ระบบสาธาณสุขของไทยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกับเงินเท่าเดิม การมีรายได้มากขึ้นจะกลายมาเป็นหนทางเดียวที่รัฐบาลต้องทำเพื่อสู้กับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ความเป็นไปได้คือภาษีต่างๆ ที่รัฐบาลเรียกเก็บรวมถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ตรงนี้แหละครับที่จะทำให้เราเห็นถึงปัญหาจากสังคมผู้สูงวัยกับอัตราเกิดที่ลดลงเพิ่มขึ้นอีก ปัจจุบันไทยเรามีประชากรวัยทำงานที่จ่ายภาษีให้กับรัฐบาลอยู่ที่ราว 38 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเกือบ 60% ของประชากรทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนเกิดที่ลดลงและจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น ในปี 2040 เราจะมีประชาวัยทำงานเหลืออยู่เพียงราว 29 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นราวๆ สี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น

หมายความว่าในอนาคตคนวัยทำงานเพียง 40% จะต้องแบกค่าใช้จ่ายของคนอื่นๆทั้งประเทศ และเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่รู้จะมากกว่าปัจจุบันอีกกี่เท่าตัว อันเนื่องมาจากรายจ่ายด้านสุขภาพจำนวนมหาศาลที่จะมาพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุกว่า 17 ล้านคน ความกดดัน ความไม่พอใจ และความเครียดนี้ไม่เพียงจะเกิดขึ้นกับคนวัยทำงานที่ต้องแบกรับภาระด้านภาษีและรายจ่ายที่ต้องดูแลผู้สูงวัยของครอบครัวและประเทศเท่านั้น แต่ยังจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่จะรู้สึกและอาจมองว่าตัวเองเป็นภาระให้กับลูกหลานและประเทศ หากวันหนึ่งเรากลายเป็นคนแก่ที่ไม่มีงานทำ เจ็บป่วย และยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวถ่วงให้กับคนในครอบครัว เราจะทำอย่างไร? ทางออกที่เราจะเลือกให้กับครอบครัว ให้กับชีวิตตัวเองคืออะไร? ในอีกมุมหนึ่งหากเราเป็นคนวัยทำงานที่รายรับแทบไม่พอกับรายจ่าย ไม่เพียงต้องคอยปฐมพยาบาลแต่ยังต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าเลี้ยงดูให้กับผู้สูงวัยในครอบครัว เราจะทำอย่างไร? ยิ่งหากเรามีลูกของตัวเองที่ต้องดูและต้องส่งเสีย เราจะทำเช่นไร? เพราะฉะนั้นนะครับ ไม่เพียงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ปัญหาทางสังคมและจิตใจก็จะเกิดตามมาเช่นกัน

มีการถกเถียงถึงแม้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ในอดีตสมัยเอโดะของญี่ปุ่นยุคหนึ่งได้เกิดภัยแล้งขึ้น ครอบครัวยากจนที่ไม่มีความสามารถดูแลผู้สูงอายุได้แบกผู้สูงวัยของครอบครัวตัวเองไปทิ้งบนภูเขา (Ubasute) จริงๆ แล้วนะครับตำนานในลักษณะนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นแต่ในญี่ปุ่น หลากหลายวัฒนธรรมในอดีตเช่นไอนุที่มีการทิ้งคนแก่ไว้ท่ามกลางน้ำแข็ง หรือสวีเดนที่ให้คนแก่กระโดดหรือถูกโยนลงจากหน้าผา (Attestupa) ก็มีตำนานในลักษณะนี้ไม่ต่างกัน จนทำให้เกิดศัพท์คำว่า “senicide” ขึ้นในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า การทอดทิ้งผู้สูงวัยให้ตาย การฆ่าตัวตาย หรือการสังหารผู้สูงอายุ ถึงแม้ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันที่ชัดเจนว่าเรื่องเล่านี้เคยเกิดขึ้นจริง แต่ตำนานเหล่านี้ก็ชี้ให้เห็นถึงความกดดันของสังคมที่ต้องเลือกระหว่างการเอาตัวรอดกับความถูกต้องและศีลธรรมได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ทั้งนั้นผมเชื่อว่าการกระทำในลักษณะ “senicide” จะไม่เกิดขึ้นกับประเทศของเรา หรือประเทศใดๆ ในโลกยุคปัจจุบัน สิ่งที่ใกล้เคียงที่จะเกิดขึ้นมากที่สุดคือการปล่อยคนแก่ไว้ที่บ้านตามมีตามเกิด หรือทิ้งผู้สูงวัยตามโรงพยาบาลหรือสถานสงเคราะห์ต่างๆ ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น และผมคงไม่แปลกใจหากวันหนึ่งจะเกิดการกระทำลักษณะนี้ในประเทศไทยของเราในอนาคตหากยังไม่มีระบบ Social Safety Net สำหรับผู้สูงวัยที่ดีกว่านี้

อย่างที่เรียนไปเบื้องต้นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะเพิ่มภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้มารองรับกับค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงวัยในอนาคต อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีต่อประชาชนคงไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลอยากทำ เพราะหากมีรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งต้องการขึ้นภาษีรัฐบาลนั้นคงหมดความนิยมกับคนหมู่มากอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหลายๆ รัฐบาลกระทั่งรัฐบาลที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียงโหวตอย่างรัฐบาลปัจจุบันมักจะออกนโยบายประชานิยมแทนที่จะออกนโยบายที่ดีกับสังคมและประเทศชาติในอนาคตมากกว่าอยู่เสมอ แต่หากจะไม่ขึ้นภาษีไม่ว่าภาษีรูปแบบใดๆ ก็ตาม วิธีเดียวที่รัฐบาลจะทำได้คือการกู้ยืมเงินเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอนาคต ซึ่งหากรัฐบาลกู้ยืมก็จะทำให้ประเทศมีหนี้สินเพิ่มขึ้น และย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

หากให้สรุปอย่างสั้นๆ คือ ในอนาคตประเทศเราจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในทางกลับกันจำนวนประชากรที่สามารถทำงานและสร้างรายได้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนอกเหนือจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาทางด้านสังคมก็จะตามมาเป็นเงาตามตัว อย่างไรก็ตาม การแก้ไขหรือการปฏิรูปต่างๆ ที่ควรจะเริ่มทำตั้งแต่วันนี้จะเกิดขึ้นได้ยากเพราะรัฐบาลทั่วไปคงไม่อยากทำโครงการใดๆ ที่เสี่ยงกับการสูญเสียเสียงโหวตให้กับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอีกยี่สิบปีข้างหน้าโดยที่ไม่มีอะไรการันตีว่าตัวเองจะได้เป็นรัฐบาลในอนาคตตอนนั้นมั้ย

จริงๆ แล้วผมอยากเขียนถึงสิ่งที่ประเทศเราสามารถทำได้ต่อ แต่พึ่งเห็นว่าตัวเองเขียนมาราวสามหน้าแล้ว ควรจะหยุดก่อนที่ทุกท่านจะเบื่อ ^^” ผู้อ่านทุกท่านล่ะครับ คิดว่าสิ่งใดที่ประเทศเราสามารถทำได้? ทางออกหรือนโยบายใดที่จะทำให้ไทยเราสามารถกลายมาเป็นประเทศผู้สูงอายุที่ประสบความสำเร็จทั้งทางด้านเศษฐกิจและสังคมได้บ้างครับ?

ที่มา :

]]>
1189434
ชอปได้ง่ายขึ้น ! อาลีบาบา เปิดแอปพลิเคชันหน้าจอใหญ่ จับกลุ่มคนชราโดยเฉพาะ https://positioningmag.com/1155437 Fri, 02 Feb 2018 04:59:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1155437 มีรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ประเทศจีนกลายเป็นประเทศที่สามารถฝึกให้ผู้สูงอายุที่หลายคนอายุเกือบเข้าสู่วัย 70 ปีแล้ว สามารถใช้งานสมาร์ทโฟนได้อย่างคล่องแคล่ว รวมถึงใช้แอปพลิเคชันอีวอลเล็ต (e-Wallet) ซื้อของได้อย่างที่คนชราในอีกหลาย ๆ ประเทศไม่สามารถทำได้

คนชราในประเทศจีนที่มีอายุประมาณ 70 ปี ในปัจจุบันนั้น หลายคนมีชีวิตอยู่โดยที่ไม่มีแม้บัญชีเงินฝากธนาคาร แต่การมีสมาร์ทโฟน และมีอีวอลเล็ต หรือกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในจีนแผ่นดินใหญ่ ก็สามารถทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกขึ้น แต่นั่นยังไม่พอสำหรับจีน เพราะอาลีบาบา (Alibaba) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันชอปปิ้ง เถาเป่า (Taobao) เวอร์ชันใหม่ที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุออกมาแล้วอีกหนึ่งเวอร์ชัน

นักวิเคราะห์จากไชน่า มาร์เก็ต รีเสิร์ช กรุ๊ป ระบุว่า เหตุที่อาลีบาบาเปิดตัวแอปพลิเคชันขึ้นมาใหม่เพื่อจับกลุ่มผู้สูงอายุนั้น เป็นเพราะการเติบโตของรายได้ในปีที่ผ่านมานั้นค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับคนชราของอาลีบาบา จึงเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะเจาะ เพราะหากคนชราได้มีแอปพลิเคชันที่ปุ่มใหญ่ขึ้น มองเห็นชัดขึ้น รวมถึงสามารถเชื่อมต่อกับบัญชีของลูกหลานได้ ก็อาจหมายถึงการซื้อหาสินค้าบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบา ที่มากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนั้น ยังพบว่าในร้านค้าแบบ Brick-and-mortar อย่างเหอหม่าซูเปอร์มาร์เก็ต (Hema Supermarket) ของอาลีบาบานั้น เป็นสถานที่หนึ่งที่พบผู้สูงอายุได้บ่อยมากเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อาลีบาบารู้ดีว่า การจะโน้มน้าวใจให้ผู้สูงอายุใช้จ่ายเงินบนแอปพลิเคชันเถาเป่าในปริมาณมาก ๆ เหมือนกลุ่มมิลเลนเนียลนั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะในปัจจุบัน ผู้ใช้งานเถาเป่า ที่มีประมาณ 468 ล้านรายนั้น ก็มีคนชรา (อายุระหว่าง 60-69 ปี) เพียง 6 ล้านคนเท่านั้นเอง แต่อย่างน้อย การสามารถดึงผู้ใช้งานเข้ามาแพลตฟอร์มเพิ่ม ก็จะช่วยในด้านโฆษณาว่าสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้หลายกลุ่มด้วยนั่นเอง

ปัจจุบัน จีนมีประชากรอินเทอร์เน็ตที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ราว 230 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ของประชากรอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ซึ่งคาดว่า ภายในปี 2050 ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 33 เปอร์เซ็นต์

สนับสนุนข่าวโดย : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000010842

]]>
1155437