สุขภัณฑ์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 23 Apr 2024 12:18:35 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 SCGD ตั้งเป้าโต 2 เท่าภายใน 6 ปี! โหมตลาดกระเบื้อง-สุขภัณฑ์ใน “เวียดนาม” ลุยสร้างโรงงานเพิ่ม https://positioningmag.com/1470826 Tue, 23 Apr 2024 10:05:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470826
  • ผลการดำเนินงาน SCGD ไตรมาส 1/67 รายได้หด -6.1% แต่กำไรเติบโต 28.4% จากการควบคุมต้นทุน และการขายสินค้ากลุ่มกำไรสูงได้มากขึ้น
  • ปี 2567 เคาะลงทุนไลน์ผลิตกระเบื้องเพิ่มที่โรงงานหนองแค จ.สระบุรี และลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มเพื่อลดต้นทุนลงอีก
  • แผนระยะยาวต้องการทำรายได้โต 2 เท่า ภายในปี 2573 โดยจะเร่งยอดขายกระเบื้องและสุขภัณฑ์ในอาเซียน โดยเฉพาะ “เวียดนาม” ที่มีแผนจะสร้างโรงงานเพิ่ม
  • “นำพล มลิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 ของ SCGD ว่า บริษัทมีรายได้จากการขาย 6,784 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทำกำไรได้ 258 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (หากไม่รวมผลกระทบจากการปรับโครงสร้าง และรายการ Non-Recurring อื่นๆ ในปีก่อนหน้า)

    เป็นผลมาจากบริษัทสามารถยืนราคาขายสินค้ากระเบื้องและสุขภัณฑ์ไว้ได้ และยังขายสินค้ากลุ่มที่มีกำไรสูงได้มากขึ้น ประกอบกับมีการลดต้นทุนค่าพลังงานด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์และโครงการ Hot Air Generator รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตมาก่อนหน้านี้ ทำให้มีต้นทุนที่ลดลงในไตรมาสที่ผ่านมา

    “นำพล มลิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD

    เมื่อคำนึงถึงสภาวะตลาดรวมของกระเบื้อง วัสดุปิดผิว และสุขภัณฑ์ ทั้งในไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดหลักของ SCGD มีสภาวะที่ยังอยู่ในระยะติดลบ ยังไม่ฟื้นตัว แต่บริษัทสามารถทำกำไรสวนตลาดได้จึงถือเป็นผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ

    สำหรับเหตุการณ์ที่น่าจับตาในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้คือเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งนำพลระบุว่ามีผลกระทบต่อยอดขายของ SCGD ที่ส่งออกไปเมียนมาอยู่บ้างแต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากช่องทางการกระจายสินค้าผ่านทางเมียวดีและแม่สอดถูกปิด ทำให้บริษัทต้องหาทางกระจายสินค้าผ่านด่านอื่นทดแทน

     

    อนุมัติลงทุนโซลาร์เซลล์-ไลน์ผลิตกระเบื้อง

    ด้านความคืบหน้าการลงทุนที่ได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้ของ SCGD และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ทั้งหมด ได้แก่

    1.โครงการติดตั้ง Hot Air Generator เพื่อลดต้นทุนพลังงานที่โรงงานในประเทศไทยอีก 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้

    2.โครงการปรับปรุงสายการผลิตกระเบื้องไวนิล SPC (กระเบื้องยางลายไม้) โดยจะเริ่มผลิตกระเบื้องไวนิล SPC สำหรับป้อนตลาดในประเทศไทยได้ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ด้วยกำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี

    3.โครงการไลน์ผลิตสินค้ากลุ่มกระเบื้องพอร์ซเลน และ กระเบื้องขนาดใหญ่ อีก 2.2 ล้านตารางเมตรต่อปี ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศเวียดนาม

    4.โครงการการผลิตกระเบื้องพอร์ซเลน 9.1 ล้านตารางเมตรต่อปี ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในช่วงปลายปี 2567

    SCGD
    ตัวอย่างสินค้ากลุ่มกระเบื้องพอร์ซเลนจาก COTTO

    นำพลกล่าวต่อว่า เมื่อไตรมาสที่ 1 ทางบริษัท SCGD มีการอนุมัติการลงทุนมูลค่ารวม 290 ล้านบาท ใน 3 โครงการ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ดังนี้

    1.โครงการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ 5.5 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 140 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568

    2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารคลังสินค้า เงินลงทุน 70 ล้านบาท โดยการติดตั้งระบบบริหารคลังสินค้าและรถยกระบบอัตโนมัติ

    3.โครงการไลน์การผลิตกระเบื้องขนาดใหญ่ที่หนองแค เงินลงทุน 80 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ภายในสิ้นปี 2567

     

    แผนระยะยาว ปี 2573 ตั้งเป้ารายได้โต 2 เท่า

    นำพลประเมินตลาดกระเบื้องและสุขภัณฑ์ในอาเซียนว่า ถึงแม้เมื่อไตรมาสที่ 1 จะยังอยู่ในช่วงซบเซา แต่มองว่าในอนาคตภูมิภาคนี้จะมีเศรษฐกิจที่เติบโตแน่นอน และจะทำให้ตลาดกระเบื้องและสุขภัณฑ์โตได้ปีละ 4-5%

    SCGD จึงตั้งเป้าว่าภายในปี 2573 บริษัทจะทำรายได้โต 2 เท่า หรือขึ้นไปแตะปีละ 60,000 ล้านบาท และจะเติบโตด้วย 4 กลยุทธ์ ดังนี้

    1.ธุรกิจกระเบื้องและวัสดุปูพื้นและผนัง

    – เตรียมขยายการลงทุนโรงงานในพื้นที่ภาคใต้ของเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่สูงนัก

    – เพิ่มสินค้าประเภทกำไรสูงและมีนวัตกรรมให้มากขึ้น เช่น กระเบื้องยางลายไม้ (SPC), กระเบื้องพอร์ซเลน, กระเบื้องทนแรงขูดขีด (X-Strong), กระเบื้องที่เหมาะกับสัตว์เลี้ยง ลดการเสื่อมของข้อเท้าและการลื่นล้ม (Paw & Play)

    – เพิ่มสินค้าวัสดุตกแต่งพื้นและผนังให้มากขึ้น เช่น วัสดุปิดผิวบันได วัสดุตกแต่งผนัง

    – ขยายเครือข่ายช่องทางจัดจำหน่าย

    สินค้าเก็บงานให้ครบวงจร เช่น คิ้วกระเบื้อง จมูกบันได

    2.ธุรกิจสุขภัณฑ์

    – ตั้งเป้ารายได้ที่มาจากธุรกิจสุขภัณฑ์เติบโต 2 เท่าเป็นปีละ 10,000 ล้านบาท

    – เพิ่มตัวแทนจำหน่ายสุขภัณฑ์ในต่างประเทศ ต่อยอดช่องทางจัดจำหน่าย โดยในเวียดนามจากเดิม 17 รายเป็น 39 ราย ฟิลิปปินส์จากเดิม 78 รายเป็น 85 ราย และอินโดนีเซียจากเดิม 28 ราย เป็น 37 ราย

    SCGD
    QUIL by COTTO แบรนด์สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ห้องน้ำระดับพรีเมียม

    3.ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง

    SCGD มีการขายสินค้าที่เกี่ยวเนื่องเพื่อตอบโจทย์ให้ครบวงจร เช่น กาวและยาแนว ประตู หน้าต่าง ชุดเฟอร์นิเจอร์ครัว และอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันสินค้ากลุ่มนี้สามารถทำยอดขายได้มากกว่าปีละ 300 ล้านบาทแล้ว

    4.M&P (Merger & Partnership) ควบรวมกิจการและสร้างความร่วมมือ

    SCGP มีแนวทางธุรกิจที่จะควบรวมกิจการ หรือสร้างความร่วมมือกับเจ้าของกิจการเดิม ในธุรกิจตกแต่งพื้นผิว ธุรกิจสุขภัณฑ์ และธุรกิจผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศ

    อัตราการทำกำไรของ SCGP เป็นประเด็นที่นักลงทุนจับตา เพราะในปี 2566 อัตรากำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 1.64% เท่านั้น แต่จากการลงทุนเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานและปรับปรุงประสิทธิภาพทั้งหมด ทำให้เมื่อไตรมาส 1/67 บริษัทสามารถทำอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 3.80% ได้แล้ว และนำพลเชื่อว่าจากโครงการลดต้นทุนที่ยังมีต่อเนื่องจะทำให้บริษัทลดต้นทุนได้มากกว่านี้ในอนาคต

    ]]>
    1470826
    ขึ้นอีก! “กระเบื้อง-สุขภัณฑ์” จะปรับราคาเพิ่มอีก 5% ‘COTTO’ อ่วมต้นทุนค่าไฟ กำไรปี’65 หดแรง https://positioningmag.com/1416603 Wed, 25 Jan 2023 07:08:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1416603
  • COTTO รายงานผลประกอบการปี 2565 รายได้เติบโต 17% แต่บรรทัดสุดท้ายขาดทุน 228 ล้านบาท จากการต้องหยุดสายการผลิตแผ่นหินประดิษฐ์ขนาดใหญ่เพราะขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนค่าไฟฟ้า-ก๊าซยังสูงขึ้นต่อเนื่อง
  • คาดว่าปี 2566 จะยังต้องปรับราคาสินค้า “กระเบื้อง-สุขภัณฑ์” อีก 5% เพื่อให้สะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้า
  • ขณะที่ภาพรวมตลาดสัญญาณไม่ดี ยังทรงๆ ทั้งภายในประเทศและตลาดส่งออก
  • ปี 2565 ถือเป็นปีแห่งความผันผวนของ บมจ.เอสซีจี เซรามิกส์ หรือ COTTO จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนมีผลโดยอ้อมแต่กระทบเต็มๆ กับการผลิตสินค้ากลุ่มกระเบื้อง-สุขภัณฑ์ เริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีก่อน และหนักที่สุดในช่วงไตรมาส 4

    “นำพล มลิชัย” กรรมการผู้จัดการ COTTO สรุปผลประกอบการปี 2565 ของบริษัท ทำรายได้รวม 13,157 ล้านบาท เติบโต 17% จากปีก่อนหน้า แต่บริษัทขาดทุน 228 ล้านบาท ลดลง -139% เทียบกับปีก่อนหน้า

    “นำพล มลิชัย” กรรมการผู้จัดการ COTTO

    เหตุที่ขาดทุนหนักมาจากไตรมาสสุดท้ายซึ่งบริษัทต้องหยุดสายการผลิตแผ่นหินประดิษฐ์ขนาดใหญ่ เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้นำเข้าวัตถุดิบมาผลิตไม่ได้ จึงเป็นการขาดทุนทางบัญชี แต่กระแสเงินสดยังคงปกติ

    ถึงแม้ว่าจะหักรายการสำคัญ (Key Items) ดังกล่าวออก กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทยังลดลง -13% จากปีก่อนหน้า เหลือ 469 ล้านบาท เพราะต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงจากการขึ้นค่าไฟฟ้าและค่าก๊าซธรรมชาติ กระทบหนักที่สุดในช่วงไตรมาส 4/2565

    ช่วงไตรมาสสุดท้ายเองยังเห็นสัญญาณการชะลอตัวของตลาดด้วย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่กำลังซื้อเริ่มลดลง รวมถึงตลาดส่งออกหลักของบริษัท คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา (CLM) ชะลอการนำเข้าสินค้าเนื่องจากความผันผวนของค่าเงินแลกเปลี่ยน

    กำไรของ บมจ.เอสซีจี เซรามิกส์ ปี 2565

    ปรับราคาขึ้นอีก 5% ตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้

    นำพลกล่าวต่อว่า จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น บริษัทมีการดำเนินงานหลายประการเพื่อรับมือวิกฤตไปแล้ว เช่น

    • เริ่มปรับปรุงสายการผลิตและเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อลดการใช้พลังงาน
    • มีการติดตั้งแหล่งพลังงานโซลาร์ในโรงงานเพื่อลดค่าไฟฟ้า
    • ปรับราคาขึ้น โดยปรับขึ้นไปแล้วเฉลี่ย 10% ในช่วงปี 2565 ทั้งนี้ ยังไม่สามารถปรับราคาได้ทุกรายการ เพราะราคายังต้องแข่งขันได้กับสินค้าที่มีผู้นำเข้า
    • ผลักดันกลุ่มสินค้านวัตกรรม เพื่อหนีจากการแข่งขันกับตลาดผู้นำเข้า
    COTTO
    สินค้ารักษ์โลก Eco Collection ใช้ทรัพยากรรีไซเคิล 80% ของวัสดุที่ใช้ผลิต

    ปี 2566 ก็จะยังเห็น COTTO ต่อสู้กับวิกฤตค่าพลังงาน เพราะเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีแรกนี้ค่าไฟฟ้าจะยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง และค่าก๊าซธรรมชาติจะยังทรงตัวในระดับสูง ต้องรอดูครึ่งปีหลังว่าค่าพลังงานจะมีทีท่าปรับลดหรือไม่

    บริษัทจึงมีการตั้งงบลงทุน 400-450 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทุนในโครงการลดพลังงาน เช่น การติดตั้งโซลาร์เพิ่มเติม และปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อลดการใช้พลังงานเพิ่มอีก

    ส่วนการปรับราคาสินค้าขึ้นนั้น เนื่องจากต้นทุนพลังงานทั้งหมดที่ขึ้นมาจนถึงขณะนี้คิดเป็นประมาณ 15% ทำให้ราคาที่ปรับขึ้นมา 10% เมื่อปีก่อนยังไม่สะท้อนต้นทุนทั้งหมด จึงจะมีการทยอยปรับราคาขึ้นอีกประมาณ 5% เริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้

     

    สัญญาณตลาดไม่ดี ปี’66 ยังเหนื่อย

    ด้านภาพรวมตลาดปี 2566 นำพลมองว่า ตลาดรวมปีนี้น่าจะ ‘ไม่โต’ หรือโตน้อย เพราะถึงแม้ว่ากลุ่มดีเวลอปเปอร์จะมีการพัฒนาโครงการใหม่ แต่ตลาดรายย่อย กลุ่มสร้างบ้านหรือซ่อมแซมบ้านจะหดตัวลง (ยกเว้นในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ที่น่าจะมีการปรับปรุงโรงแรมเพื่อตอบรับการท่องเที่ยว) เมื่อถัวเฉลี่ยกันแล้วจึงทำให้ตลาดไม่เติบโตมากนักในแง่ปริมาณการขาย

    ส่วนภาคการส่งออก เชื่อว่าครึ่งปีแรกจะยังมีปัญหาเดิมต่อเนื่องคือประเทศ CLM ชะลอนำเข้าจากค่าเงินที่ผันผวน ต้องรอติดตามครึ่งปีหลังอีกครั้ง

    สำหรับ COTTO ปี 2566 จึงมองว่าปริมาณการขายไม่น่าจะเติบโตมากนัก แต่ตัวเลขรายได้น่าจะโต 5% จากการปรับขึ้นราคา ส่วนกำไรจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการลดต้นทุน ซึ่งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถฝ่าวิกฤตพลังงานไปได้

    ]]>
    1416603
    ต้นทุนพลังงานบีบ COTTO ขึ้นราคา “กระเบื้อง-สุขภัณฑ์” ครึ่งปีหลัง’65 อาจปรับอีก 1-2% https://positioningmag.com/1394143 Wed, 27 Jul 2022 07:10:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1394143 กำไรของ COTTO รายใหญ่ “กระเบื้อง-สุขภัณฑ์” ช่วงไตรมาส 2/65 มีสะดุดลดลง 6% YoY หลังจากเจอต้นทุนพลังงานพุ่ง แม้จะปรับราคาขึ้นมาแล้ว 3-4% ในช่วงครึ่งปีแรก ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าอาจจะปรับราคาขึ้นอีก 1-2% เพื่อให้ทันต้นทุน อย่างไรก็ตาม ยอดขายเติบโตดีเพราะดีเวลอปเปอร์เร่งการก่อสร้างหนีต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงยอดขายประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้น

    ต้นทุนพลังงานมีผลกับทุกอุตสาหกรรมรวมถึงการผลิตวัสดุก่อสร้าง “นำพล มลิชัย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2/65 บริษัทมีรายได้จากการขาย 3,376 ล้านบาท เติบโต 19% YoY ทำกำไรสุทธิ 167 ล้านบาท ซึ่งลดลง 6% YoY

    สาเหตุจากต้นทุนพลังงานปรับตัวสูงขึ้น โดยต้นทุนพลังงานในไตรมาส 2/65 ปรับขึ้นถึง 30% เทียบกับไตรมาสแรก ทำให้การปรับราคาขึ้นไม่ทันต่อต้นทุน

    อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมครึ่งปีแรก 2565 บริษัทยังสร้างผลการดำเนินงานได้ดี มียอดขายรวม 6,606 ล้านบาท เติบโต 17% YoY ทำกำไรสุทธิ 378 ล้านบาท เติบโต 4% YoY

    “นำพล มะลิชัย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน)

    เห็นได้ว่ายอดขายที่เติบโตสูงเทียบกับปีก่อน ทำให้บริษัทยังทำกำไรเติบโตได้ แม้จะเผชิญกับอุปสรรคด้านต้นทุนพลังงาน โดยครึ่งปีแรกนี้สัดส่วนยอดขาย 80% มาจากตลาดในประเทศ และ 20% มาจากต่างประเทศ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา

    โดยเฉพาะเมียนมามีตลาดที่สดใสขึ้นมากหลังสถานการณ์การเมืองและ COVID-19 เริ่มมีเสถียรภาพ ทำให้ดีมานด์ที่ชะลอไปในช่วงปีก่อนกลับมาใหม่ในปีนี้ รวมถึงคู่แข่งสำคัญคือกระเบื้องจากจีนเริ่มต้องปรับราคาขึ้นเช่นกันเพราะต้นทุนที่สูงขึ้น กระเบื้องจากไทยจึงสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น

     

    ราคาวัสดุเซรามิกส์ขึ้นตามค่าพลังงาน

    นำพลกล่าวว่า การขึ้นราคาวัสดุเซรามิกส์ปีนี้ COTTO ปรับขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในเดือนเมษายนปรับขึ้นมา 2% และปรับอีกครั้งเดือนมิถุนายนอีก 1-2% คาดว่าครึ่งปีหลังอาจจะยังต้องปรับอีก 1-2% เพื่อให้ทันต่อราคาต้นทุนพลังงาน แต่บริษัทจะระมัดระวังราคาให้สอดคล้องกับคู่แข่งทั้งในประเทศและจากต่างประเทศด้วย

    ในอีกแง่หนึ่ง การทยอยปรับขึ้นราคาก็มีผลต่อกลุ่มผู้พัฒนาโครงการด้วย จะเห็นได้ว่าดีเวลอปเปอร์ต่างเร่งการก่อสร้างอย่างหนักในไตรมาส 2 เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มอีกในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ปริมาณการขายของบริษัทดีขึ้น โดยครึ่งปีแรกมีการขายกระเบื้องไป 39.7 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้นถึง 14% YoY

    ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ COTTO กระเบื้อง Eco Collection นำเศษวัสดุ (waste) กลับมาใช้ใหม่ในการผลิต

     

    ภาพรวมดีขึ้นจากปี’64

    แม้จะเผชิญปัญหาต้นทุนพลังงานและเงินเฟ้อ แต่นำพลมองว่า ปี 2565 นี้น่าจะยังดีกว่าปี 2564 เพราะปีก่อนตลาดชะลอไปมากช่วงครึ่งปีหลังที่มีการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ขณะที่ปีนี้มีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งทำให้ดีมานด์การรีโนเวตโรงแรมห้องพักตามหัวเมืองท่องเที่ยวมีสูงขึ้น ช่วยชดเชยตลาดรีโนเวตบ้านเก่าที่อาจจะชะลอตัวไปบ้างโดยเฉพาะในกลุ่มตลาดกลางถึงล่างที่อ่อนไหวต่อค่าครองชีพ

    ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทจะยังคงมีการลงทุนต่อเนื่อง โดยมีงบลงทุน 350-400 ล้านบาท ส่วนใหญ่นำไปใช้ปรับปรุงการผลิตเพื่อลดต้นทุน และการขยายสาขา “คลังเซรามิก” ร่วมกับพาร์ทเนอร์ (ขณะนี้มี 83 สาขา และมีเป้าหมายจะครบ 100 สาขาในปี 2566) อีกส่วนหนึ่งจะลงทุนร่วมกับจอยต์เวนเจอร์ในกัมพูชา เปิดร้านค้าปลีกของ COTTO เป็นแห่งแรกของกัมพูชาที่เมืองปอยเปต ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายได้ในปีหน้า

    โดยสรุปแล้ว นำพลกล่าวถึงการคาดการณ์เมื่อช่วงต้นปีบริษัทคาดว่าปี 2565 จะทำกำไรเติบโตจากปีก่อนได้ 5% แต่ถ้าหากสถานการณ์ค่าพลังงานยังผันผวนต่อเนื่อง เชื่อว่าโดยรวมทั้งปีการเติบโตก็น่าจะใกล้เคียงกับการเติบโตของครึ่งปีแรก

    ]]>
    1394143
    TOTO บุกเดอะมอลล์! จับมือยาวรีโนเวต 4 โครงการ “ห้องน้ำ” คอนเทนต์ใหม่ของลูกค้าห้างฯ https://positioningmag.com/1366179 Thu, 09 Dec 2021 07:48:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1366179 TOTO (โตโต้) คว้าโปรเจกต์รีโนเวตห้างฯ 4 แห่งในเครือเดอะมอลล์ ประเดิมด้วย “เดอะมอลล์ ท่าพระ” ใช้สุขภัณฑ์แบบเซ็นเซอร์อัตโนมัติ เข้ายุคไร้สัมผัส โดยเดอะมอลล์มองความสำคัญของ “ห้องน้ำ” ในห้างฯ นอกจากความสะอาดแล้ว ความสวยงามยังดึงดูดให้ลูกค้าใช้เป็นจุดถ่ายรูป เช็กอิน ช่วยประชาสัมพันธ์

    “เมธินี สุวรรณะบุณย์” ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส เดอะมอลล์ กรุ๊ป เปิดเผยถึงการรีโนเวตใหญ่ศูนย์การค้า “เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ ท่าพระ” ใช้งบลงทุนไปกว่า 3,000 ล้านบาท และเพิ่งเปิดบริการเต็มรูปแบบวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ภายในศูนย์การค้าพื้นที่ 150,000 ตร.ม. มีการตกแต่งใหม่ทั้งหมด เปลี่ยนสวนน้ำชั้นบนเป็นเพลย์กราวด์สำหรับเด็ก เน้นเพิ่มโซนร้านอาหาร และเพิ่มที่จอดรถจาก 1,000 กว่าคันเป็นมากกว่า 2,000 คัน

    อีกส่วนหนึ่งที่มีการรีโนเวตใหม่คือ “ห้องน้ำ” ซึ่งมี 3-4 จุดต่อชั้น และเป็นส่วนที่ศูนย์ฯ ให้ความสำคัญ เพราะในยุค COVID-19 เรื่องความสะอาดในพื้นที่ที่ใช้ร่วมกับคนอื่นเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

    เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ ท่าพระ หลังการรีโนเวต

    บริษัทเลือกใช้สุขภัณฑ์ของ TOTO (โตโต้) ในการรีโนเวตห้องน้ำเดอะมอลล์ ท่าพระ เพราะมองว่าตอบโจทย์ด้านการลดสัมผัสด้วยระบบอัตโนมัติ โดยสุขภัณฑ์ที่ใช้ประกอบด้วยโถสุขภัณฑ์แบบตั้งพื้น, โถปัสสาวะชายแบบแขวนผนัง และก๊อกน้ำ ทั้งหมดใช้ระบบเซ็นเซอร์ ทำให้ไม่ต้องสัมผัสกับก้านโยกหรือปุ่มใดๆ เพิ่มสุขอนามัยให้กับผู้ใช้งาน

    ทั้งนี้ เมธินีกล่าวด้วยว่าการจับมือกับ TOTO จะเป็นโครงการระยะยาว เนื่องจากบริษัทมีแผนรีโนเวตศูนย์การค้าต่อเนื่อง และโปรเจกต์ที่จะรีโนเวต 3 แห่งต่อจากนี้ที่จะใช้สุขภัณฑ์ของ TOTO ได้แก่ เอ็มโพเรียม (เริ่มรีโนเวตปี 2565), เดอะมอลล์ บางแค (เริ่มรีโนเวตปี 2566) และ เดอะมอลล์ บางกะปิ (เริ่มรีโนเวตปี 2567)

    ห้องน้ำในเดอะมอลล์ ท่าพระ ปรับปรุงใหม่ ใช้สุขภัณฑ์จาก TOTO

    เมธินีมองว่า ห้องน้ำยังเป็นส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับศูนย์การค้า โดยดูจากการรีโนเวตศูนย์ฯ แรกคือ เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน พบว่าลูกค้าชื่นชอบห้องน้ำที่สวยงาม มีการถ่ายรูป เช็กอิน ลงรูปถ่ายในโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้ศูนยฯ ได้รับการประชาสัมพันธ์ไปในตัว

    หลังจากการรีโนเวตเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ ท่าพระ ศูนย์ฯ ตั้งเป้าเพิ่มผู้ใช้บริการ 30% เทียบกับก่อนรีโนเวต โดยจะมีทราฟฟิกเข้าศูนย์ฯ เพิ่มเป็น 15 ล้านคนต่อปี และทำให้ลูกค้าใช้เวลานานขึ้นเป็น 90 นาทีต่อครั้งในวันธรรมดา และ 2-3 ชั่วโมงในวันหยุด

    ด้าน “ทาคายะสุ ชิมาดะ” ประธาน บริษัท โตโต้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เดอะมอลล์ ท่าพระเป็นศูนย์การค้าที่มีชื่อเสียงยาวนาน โดยหลังการรีโนเวต TOTO จะเป็นสุขภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีเข้าไปช่วยตอบโจทย์ด้านความสะอาดและสะดวกสบายให้ผู้ใช้งาน และยังมีระบบลดการใช้น้ำ เหมาะกับนโยบายของเดอะมอลล์ที่คำนึงถึงการลดใช้ทรัพยากร

    โถปัสสาวะชาย ดีไซน์ชนะรางวัล iF Design Awards 2021

    นอกจากระบบเซ็นเซอร์อัตโนมัติแล้ว สุขภัณฑ์ของบริษัทยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ อีก เช่น โถสุขภัณฑ์ตั้งพื้นรุ่น CWT763FVPB ที่ศูนย์ฯ เลือกใช้ มีสารเคลือบ Cefiontect ที่ทำให้เซรามิกเรียบลื่น สิ่งสกปรกเกาะติดยาก ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น หรือในด้านการดีไซน์ โถปัสสาวะชายแบบแขวนรุ่น USWN900AE ได้รับรางวัล iF Design Awards 2021 เพราะดีไซน์ให้ขอบโค้งป้องกันการกระเซ็น และเหมาะกับการใช้งานของเด็กด้วย

    ชิมาดะกล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการแบบ B2B ที่ผ่านมาบริษัทมักจะเน้นงานโครงการคอนโดมิเนียมและโรงแรมเป็นหลัก แต่นับจากนี้จะเน้นลุยงานที่เป็นพื้นที่สาธารณะ มีคนใช้งานจำนวนมาก อย่างเช่นศูนย์การค้า ให้มากขึ้น ประเดิมจากเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ ท่าพระที่เพิ่งเปิดบริการ

    ]]>
    1366179
    ส่อง 5 เทรนด์ดีไซน์ “ห้องน้ำ” จาก COTTO พร้อมลุยตลาดปี’65 สุขภัณฑ์-ก๊อกน้ำกลับมาโต 2% https://positioningmag.com/1357938 Thu, 21 Oct 2021 13:50:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1357938 COTTO (คอตโต้) เปิดเทรนด์ “ห้องน้ำ” ยุคใหม่ 5 ดีไซน์ ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคหลัง COVID-19 พัฒนา Virtual Showroom ตอบรับผู้บริโภคยุคดิจิทัล-ระวังสุขอนามัย คาดการณ์ตลาดปี 2565 สุขภัณฑ์-ก๊อกน้ำกลับมาโต 2% แต่แบรนด์ขอโต 10% จากการโหมบุกตลาดอาเซียน และหมัดเด็ดสินค้ากลุ่ม “Smart & Hygiene”

    ปี 2564 ตลาดสุขภัณฑ์-ก๊อกน้ำอาจจะแผ่วลงไป แต่หลังข่าวการเปิดประเทศและทยอยคลายล็อกดาวน์ทำให้ทุกธุรกิจต่างมีความหวังในการฟื้นตัว รวมถึง “COTTO” (คอตโต้) แบรนด์รายใหญ่ของตลาด

    “อนุวัตร เฉลิมไชย” Head of Ceramics Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยว่า ปีนี้ COTTO มีการศึกษาวิจัยและจัดทำ Design Trend 2022 สำหรับ “ห้องน้ำ” ซึ่งเทรนด์เหล่านี้เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงในชีวิตผู้บริโภคหลังผ่านช่วง COVID-19 ทำให้มีความต้องการที่เปลี่ยนไป และห้องน้ำกลายเป็นมากกว่าฟังก์ชันการใช้งาน แต่ส่งผลในด้านอารมณ์ความรู้สึกของการอยู่อาศัยด้วย

    จากการวิจัยของแบรนด์ ปัจจัย 4 ประการที่มีผลต่อการออกแบบห้องน้ำในยุคต่อไป คือ

    1.ความไม่แน่นอน (uncertain) จากวิกฤตโรคระบาดทำให้ผู้คนสัมผัสถึงความไม่แน่นอนในชีวิต
    2.ดิจิทัล (digital) ผู้คนเคยชินกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เช่น การทำงานออนไลน์
    3.จิตใจ (mind) ความเครียดมากขึ้นจากการล็อกดาวน์ พบปะเพื่อนฝูงน้อยลง
    4.สังคม (society) ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเป็นประเทศอันดับ 17 ของโลกที่มีคนสูงอายุมากที่สุด และทำให้สังคมเป็น multigeneration ครอบครัวอยู่ร่วมกันหลายวัย

    ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ COTTO นำมาจับคู่และผสมผสานออกมาเป็นดีไซน์ที่มองว่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่สำหรับพื้นที่ “ห้องน้ำ” ภายในบ้าน ดังนี้

    1.RE-VITAL เทรนด์ที่ผสานระหว่างเทคโนโลยีกับความเรียบง่าย ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เน้นดีไซน์ที่เป็นมิตร ลบเหลี่ยมมุมให้ปลอดภัย เหมาะกับทุกคนในครอบครัว

    สินค้าแนะนำ เช่น สุขภัณฑ์ VERZO ที่มีนวัตกรรม ULTRA CLEAN+ ยับยั้งแบคทีเรียได้เอง 99% ใน 24 ชั่วโมง

    Re-Vital

    2.RE-BALANCE เทรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างการใช้งานของมนุษย์ เทคโนโลยี และธรรมชาติ การดึงสีเขียวและต้นไม้มาเป็นส่วนหนึ่งของจุดสนใจในห้อง เพราะพลังของสีเขียวทำให้ประสาทตาผ่อนคลายและความดันโลหิตลดลง

    สินค้าแนะนำ เช่น อ่างล้างหน้าเฉดสีเขียว เฉดสีใหม่ที่ COTTO ออกแบบมาเพื่อตกแต่งห้องน้ำให้ดูกลมกลืนกับธรรมชาติ

    Re-Balance

    3.RE-VIBE เทรนด์แห่งความเป็นอิสระในตัวเอง ฟุ้งฝัน และสร้างสรรค์ หลุดออกจากกรอบเดิมๆ มิกซ์แอนด์แมทช์ของสะสมหรือรสนิยมความชอบส่วนตัว ที่ ‘ต้องเลือกเอง’ เท่านั้น

    สินค้าแนะนำ เช่น ก๊อกน้ำ Geo Series ซีรีส์ใหม่ สามารถ Mix & Match ส่วนประกอบต่างๆ ให้เป็นสไตล์เฉพาะของตัวเอง

    Re-Vibe

    4.RE-CO เทรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ใส่ใจโลก แต่ยังดูดี ดูเท่ ตามนิยาม Black is a New Green

    สินค้าแนะนำ เช่น สินค้าที่ประหยัดน้ำแต่ยังมีดีไซน์อย่างสุขภัณฑ์ Simply Modish สีดำด้าน

    Re-Co

    5.RE-WILD เทรนด์แห่งการอยู่ร่วมสมัยกันระหว่างวัย ทำให้งานดีไซน์จะเน้นยุคที่มีจุดร่วมกันอย่าง Art Deo แต่ปรับให้ทันสมัยขึ้น ใช้รูปทรงอย่างทรงวงรีของอ่างอาบน้ำ หรือสุขภัณฑ์รุ่นฟรีเกทที่มีรูปทรงโค้ง และดูเป็นมิตร

    สินค้าแนะนำ เช่น สุขภัณฑ์ตัวใหม่รุ่น Simply Modish – Waving Sensor ในกลุ่ม Touchless พร้อมฝารองนั่ง Slim Design ที่เพิ่มเรื่อง Comfort seat ช่วยให้นั่งสบายเหมาะกับหลากหลายสรีระ

    Re-Wild

    COTTO ยังออกแคมเปญดึงตัวแทนคนรุ่นใหม่ 5 คนเพื่อมาเป็นตัวแทนให้กับเทรนด์ห้องน้ำทั้ง 5 แบบ ได้แก่ นับเงิน ฉัตร์นลิน เจ้าของช่อง NUBNUBB channel เป็นตัวแทนเทรนด์ RE-VITAL, พลอย และเดย์ จาก THINKK STUDIO เป็นตัวแทนเทรนด์ RE-BALANCE, โบกี้ BOWKYLION ศิลปินไทยชื่อดัง เป็นตัวแทนเทรนด์ RE-VIBE, แก๊ป ธนเวทย์ ดีไซเนอร์ นักแสดง และ Content Creator เป็นตัวแทนเทรนด์ RE-CO และ แอร์ ภัณฑิลา นักแสดง และเจ้าของธุรกิจ เป็นตัวแทนเทรนด์ RE-WILD

    “กิตติพงษ์ โพธิ์ธรานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด กล่าวต่อว่า การเปิดตัวเทรนด์ใหม่ครั้งนี้มาพร้อมกับ Virtual Showroom ที่จะตอบโจทย์ลูกค้าเรื่องสุขอนามัย และยังสะดวกมากขึ้น สามารถเลือกดูจากที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ ฝั่งบริษัทเองก็อัปเดตสินค้าใหม่ได้ง่ายขึ้นบนดิจิทัล

     

    ปี 2565 เชื่อตลาดกลับมาโต 2%

    ด้านเทรนด์ตลาดสุขภัณฑ์และก๊อกน้ำในไทย กิตติพงษ์ยอมรับว่าปีนี้ไม่ใช่ปีที่ดี ตลาดหดตัวลงมาเหลือมูลค่า 10,000 ล้านบาท แต่คาดว่าปี 2565 น่าจะกระเตื้องขึ้น เชื่อว่าจะกลับมาโต 2% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจหลังจากผ่านสองปีที่สาหัสมากมาแล้ว

    สำหรับ COTTO เฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์และก๊อกน้ำ คาดว่าปี 2564 จะทำยอดขายได้ 4,000 กว่าล้านบาท ซึ่งอาจจะโตขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย แต่หวังว่าปี 2565 จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10%

    เนื่องจากบริษัทจะกลับไปโหมบุกตลาดอาเซียนอย่างเต็มที่ จากก่อนหน้า COVID-19 เริ่มเข้าตลาดไปแล้วแต่เพราะโรคระบาดทำให้ตลาดสะดุด มีประเทศที่ให้การตอบรับดีและมีการเติบโตสูง เช่น อินโดนีเซีย

    (ซ้าย) “กิตติพงษ์ โพธิ์ธรานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด และ (ขวา) “อนุวัตร เฉลิมไชย” Head of Ceramics Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี

    รวมถึงสินค้ากลุ่ม Smart & Hygiene ปีหน้าเชื่อว่าจะโตถึง 20% สินค้ากลุ่มนี้มีการใช้เทคโนโลยีสร้างความสะดวกและลดการสัมผัส เช่น ก๊อกน้ำระบบเซ็นเซอร์ ฝารองนั่งอัตโนมัติ สุขภัณฑ์ระบบ waving sensor เป็นต้น และ COTTO เป็นผู้นำตลาด มีมาร์เก็ตแชร์ถึง 40%

    ปัจจุบันสินค้ากลุ่ม Smart & Hygiene มีสัดส่วน 7-8% ในยอดขายของ COTTO และคาดว่าปีหน้าจะไต่ขึ้นไปถึงสัดส่วน 10% ได้ จากความต้องการผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    “ลูกค้ากลุ่มรีโนเวตเติบโตในช่วงหลัง COVID-19 และห้องที่ลูกค้ามักจะรีโนเวตก่อนคือ ห้องทำงานหรือมุมทำงาน เพราะมีความจำเป็นต้องใช้ รองลงมาคือ ห้องน้ำ เพราะปรากฏว่ากลายเป็นจุดที่ต้องใช้กันทั้งบ้านและทั้งวัน เมื่ออยู่บ้านกันมากขึ้น” อนุวัตรกล่าว

    คลิกชมคอลเล็กชัน Design Trend ห้องน้ำของ COTTO ได้ที่นี่

    ]]>
    1357938
    สุขภัณฑ์อัตโนมัติขายดีขึ้นหลังโรคระบาด TOTO ลดราคา 13% เจาะตลาดกลางเพิ่ม https://positioningmag.com/1309048 Thu, 03 Dec 2020 16:05:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1309048 TOTO (โตโต้) แบรนด์สุขภัณฑ์จากญี่ปุ่น เปิดเทรนด์หลัง COVID-19 ทำให้ทั่วโลกมีดีมานด์สุขภัณฑ์อัตโนมัติเพิ่มขึ้นสูง รวมถึงในไทย โดยตลาดปีนี้หันมาเติบโตในกลุ่ม B2C มากกว่าเดิม เนื่องจากโครงการ B2B ระดับบนชะลอการเปิดตัวใหม่ กลุ่มสินค้าเกรดเอราคา 1 แสนบาทขึ้นไปยังขายดีที่สุด ขณะที่ตลาดกลางราคาไม่เกิน 3 หมื่นบาท บริษัทมีการลดราคารุ่นเริ่มต้นลงมา 13% เหลือ 15,900 บาทเพื่อให้เข้าถึงง่ายขึ้น

    กระแสสุขภัณฑ์อัตโนมัติเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นช่วงหลัง COVID-19 เพราะผู้ใช้กังวลเรื่องการสัมผัสและความสะอาดทำให้โถสุขภัณฑ์ที่มีสายชำระในตัวดูปลอดภัยกว่า เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจาก “ทาคายะสุ ชิมาดะ” ประธาน บริษัท โตโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตสินค้าสุขภัณฑ์ TOTO จากญี่ปุ่นว่า กลุ่มสุขภัณฑ์อัตโนมัติมียอดขายเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงในไทยด้วย แม้ว่าจะไม่สามารถระบุตัวเลขที่ชัดเจนได้ แต่เป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับกลุ่มลิกซิลที่ระบุก่อนหน้านี้ว่า COVID-19 ทำให้สุขภัณฑ์อัตโนมัติขายดีขึ้น 100% ทั่วโลก

    สำหรับแบรนด์ TOTO นั้นเข้ามาตั้งโรงงานผลิตสุขภัณฑ์แห่งแรกในไทยเมื่อปี 2552 ยุคนั้นยังร่วมกับเอสซีจีเป็นผู้จัดจำหน่าย ก่อนจะแยกตัวออกมาทำการตลาดและจำหน่ายเองในปี 2556 จากนั้นจึงตั้งโรงงานผลิตสุขภัณฑ์แห่งที่สองในปี 2562 ตามด้วยโรงงานผลิตฝารองนั่งอัตโนมัติ (Washlet) ในปี 2563 ทั้งหมดตั้งอยู่ที่ อ.หนองแค จ.สระบุรี

    โรงงานผลิตฝารองนั่งอัตโนมัติ (Washlet) ของ TOTO อ.หนองแค จ.สระบุรี

    ปัจจุบันมีกำลังผลิตโถสุขภัณฑ์รวมสองโรงงาน 960,000 ชิ้นต่อปี และกำลังผลิตฝารองนั่งอัตโนมัติ 450,000 ชิ้นต่อปี สินค้าที่ผลิต 60% ส่งออกต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ประเทศกลุ่มอาเซียน และสหรัฐอเมริกา ส่วนอีก 40% สำหรับจำหน่ายในไทย

    เมื่อปี 2562 ตลาดในไทยของ TOTO จะแบ่งเป็นกลุ่มลูกค้า B2B และ B2C ในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน 50:50 แต่ปี 2563 ชิมาดะกล่าวว่า อัตราส่วนกลุ่ม B2B ลดลงเหลือ 40% ส่วน B2C ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 60% เนื่องจากโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับบนมีการเปิดโครงการใหม่น้อยลง ทำให้ TOTO มีโอกาสขายน้อยลงไปด้วย แต่กลุ่ม B2C มีความนิยมสูงขึ้นตามเทรนด์ใส่ใจความสะอาดดังกล่าว

     

    แสนอัพยังขายดี ลดราคากลุ่มกลางตีตลาดเพิ่ม

    สินค้าของ TOTO จะตีตลาดกลางถึงไฮเอนด์เป็นหลัก แบ่งเป็นกลุ่ม B ราคาไม่เกิน 30,000 บาท กลุ่ม B+ ราคา 30,000-99,999 บาท และกลุ่ม A คือราคา 100,000 บาทขึ้นไป ชิมาดะเปิดเผยว่า กลุ่มที่มีสัดส่วนสูงที่สุดในยอดขายและยังคงเติบโตดีที่สุดในเศรษฐกิจเช่นนี้ คือกลุ่มตลาดไฮเอนด์เกรด A

    TOTO เป็นเจ้าแรกในไทยที่นำฝารองนั่งอัตโนมัติเข้ามาจำหน่าย และมีจุดยืนทางการตลาดของตัวเองที่เน้นด้านเทคโนโลยีมาตลอด เช่น Tornado Flush ชำระล้างสิ่งสกปรกได้หมดจดโดยใช้น้ำเพียง 3.8 ลิตร Cefiontect เคลือบสารพิเศษบนผิวเซรามิก ทำให้สิ่งสกปรกเกาะสะสมยาก ดังนั้น การทำตลาดจะเน้น “คุณภาพ” มาคู่กับ “แบรนด์” ชูประเด็นความคงทนของสินค้า ใช้ได้นานกว่าสิบปี และในกลุ่มเกรด A ซึ่งมีดีไซน์สวยงาม เหมาะกับการแสดงสถานะในบ้านหรูของลูกค้า

    (ซ้าย) ฮิโรกิ ฟูจิมูระ ผู้จัดการโรงงาน และผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นสินค้า WASHLET อธิบายคุณสมบัติของสุขภัณฑ์

    ด้านสินค้ากลุ่ม B บริษัทก็ให้ความสนใจมากขึ้นเช่นกัน โดยชิมาดะกล่าวว่า ลูกค้าหลายรายเข้ามาดูสินค้าจริงที่โชว์รูมแล้วพึงพอใจ แต่ราคายังสูงเกินไป ทำให้ฝารองนั่งอัตโนมัติรุ่นใหม่ที่บริษัทจะออกจำหน่ายวันที่ 14 ธันวาคมนี้ จะปรับลดราคาลงมาเริ่มต้นที่ 15,900 บาท ลดลงจากรุ่นที่ถูกที่สุดรุ่นเดิม 13% และหากซื้อพร้อมกับตัวโถสุขภัณฑ์จะเริ่มต้นที่ 17,700 บาท ซึ่งน่าจะทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น

    ก่อนหน้านี้ TOTO อาจจะเป็นเจ้าเดียวที่นำฝารองนั่งอัตโนมัติเข้ามาจำหน่าย แต่เมื่อสินค้าเริ่มมีดีมานด์ แบรนด์อื่นก็มีจำหน่ายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น COTTO, Kohler, American Standard ซึ่งกลุ่มนี้เจาะตลาดกลางถึงไฮเอนด์ รวมถึงมียี่ห้อที่เจาะราคาย่อมเยาลงมาคือเสนอราคาไม่ถึง 10,000 บาท เริ่มเข้ามาบุกตลาดเช่นกัน เช่น Bebe, Xiaomi

     

    เน้น “ประสบการณ์ผู้ซื้อ” สร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์

    เมื่อมีผู้เล่นในตลาดมากขึ้น แต่ทางชิมาดะยืนยันว่า TOTO จะไม่ลงไปเล่นสงครามราคาแน่นอน แต่จะเน้นสื่อสารออนไลน์ให้ลูกค้ารู้จักและเข้าใจคุณภาพ และเมื่อสนใจสินค้าก็จะแนะนำให้มาทดลองสัมผัสสินค้าที่โชว์รูม (ปัจจุบันมี 62 แห่งทั่วประเทศ)

    “ทาคายะสุ ชิมาดะ” ประธานบริษัท โตโต้ (ประเทศไทย) จำกัด

    จุดสำคัญและได้เปรียบอย่างหนึ่งของ TOTO คือเรื่องของ “ประสบการณ์” ลูกค้า ชิมาดะกล่าวว่า ลูกค้าหลายรายที่ตัดสินใจซื้อเพราะรู้จักและเคยใช้ TOTO จากสถานที่สาธารณะ เช่น โรงแรม ศูนย์การค้า โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งบริษัทเป็นเจ้าตลาด ทำให้เข้าห้องน้ำในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะต้องเจอแบรนด์นี้ ส่วนในไทยก็มีติดตั้งในสถานที่สาธารณะ เช่น เซ็นทรัล เอ็มบาสซี, โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ, โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เป็นต้น

    “เวลาไปที่ร้านสุขภัณฑ์ในไทย เซลส์มักจะเน้นแต่เรื่องความสวยงามและราคา แต่ TOTO ไม่ต้องการให้มองอย่างนั้น เราอยากให้เน้นที่เรื่องคุณภาพ ต้องใช้ได้ดีและใช้ได้นาน” ชิมาดะกล่าว “โจทย์สำคัญในไทยตอนนี้คือต้อง educate ตลาดให้เข้าใจความสำคัญของการเลือกสุขภัณฑ์คุณภาพ ซึ่งเชื่อว่าตลาดไทยมีศักยภาพในเรื่องนี้ เพราะปกติคนไทยเป็นคนรักความสะอาดไม่ต่างจากคนญี่ปุ่น เพียงแต่ต้องทำอย่างไรให้เลือกสุขภัณฑ์ได้ถูกต้องเท่านั้น”

    ]]>
    1309048
    จุดจบสายอู้! สตาร์ทอัพอังกฤษออกแบบ “โถสุขภัณฑ์เอียง 13 องศา” ป้องกันพนักงานนั่งแช่ในห้องน้ำ https://positioningmag.com/1257979 Fri, 20 Dec 2019 13:34:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1257979 รู้นะว่าหลายคนเคยนั่งเล่นโทรศัพท์เพลินๆ ระหว่างทำธุระในห้องน้ำ ช่วงเวลาสุขสงบในที่ทำงานแบบนั้นกำลังจะจบลงแล้ว เพราะสตาร์ทอัพอังกฤษ StandardToilet ได้ออกแบบโถสุขภัณฑ์แบบใหม่ มีความลาดเอียง 13 องศา ทำให้ผู้ใช้งานเริ่มรู้สึกเมื่อยขาเมื่อนั่งนานกว่า 5 นาที

    StandardToilet สตาร์ทอัพอังกฤษเพิ่งคิดค้นผลิตภัณฑ์ในชื่อเดียวกับบริษัท โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมห้องน้ำแห่งอังกฤษ (BTA) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีขึ้นในห้องน้ำออฟฟิศและพื้นที่สาธารณะ

    Mahabir Gill จากบริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้อธิบายถึงหลักการของที่นั่งของสุขภัณฑ์ชิ้นดังกล่าวว่า จะเอียงลงด้านหน้า 13 องศา ซึ่งช่วยเพิ่มความตึงตัวที่ขาคล้ายๆ กับเวลาเราออกกำลังกายท่าสควอชแบบเบาๆ

    โถสุขภัณฑ์เอียงลาด เมื่อนั่งนานเกิน 5 นาทีจะเริ่มเมื่อยขา (photo: StandardToilet )

    บริษัทยังเปิดเผยด้วยว่า StandardToilet ได้รับความสนใจจากที่ทำการสภาท้องถิ่นและศูนย์บริการทางหลวงหลายแห่งเพื่อจะนำสุขภัณฑ์นี้ไปติดตั้งด้วยมูลค่าชิ้นละ 150-500 ปอนด์ (ประมาณ 5,900-19,700 บาท)

    ปัญหาการใช้ห้องน้ำนานเริ่มพบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน โดยแบบสอบถามของ Protecting.co.uk ที่สำรวจทั่ว 8 เมืองในสหราชอาณาจักรพบว่า มีกลุ่มคนบางกลุ่มใช้เวลาสูงถึง 28-35 นาทีในห้องน้ำที่ทำงาน แปลว่าบริษัทจะเสียชั่วโมงทำงานของพนักงานรายนั้นๆ ไปสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงครึ่ง

    “มีการประเมินว่า แค่เพียงในสหราชอาณาจักร พนักงานที่พักเบรกนานเกินไปนั้นสร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมและการค้าสูงถึง 4 พันล้านปอนด์ต่อปี (ประมาณ 1.57 แสนล้านบาท)” Gill กล่าว

    (photo: StandardToilet)

    ดังนั้น โมเดลสุขภัณฑ์เอียง 13 องศานี้จะช่วยแก้ปัญหา มุ่งเป้าหลักไปที่ออฟฟิศที่ต้องการลดเวลาการพักเบรกในห้องน้ำของพนักงานลงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้น

    บริษัทยังรายงานด้วยว่า โมเดลนี้ไม่ได้มีประโยชน์ลดเวลาใช้ห้องน้ำของพนักงานอย่างเดียว แต่ยังช่วยปรับท่านั่งทำธุระของเราให้เหมาะสม ลดการเกิด โรคริดสีดวง และลดภาวะ กล้ามเนื้ออุ้มเชิงกรานอ่อนแรง และยืนยันว่าความเอียงลาด 13 องศาเป็นการออกแบบให้พอดีที่สุด เพราะจะไม่ทำให้เกิดอันตรายกับคน แค่ทำให้เมื่อยขาเมื่อใช้นานเกินไปเท่านั้น

    Gill ซึ่งเป็นวิศวกรอาชีพเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นี้ หลังจากพบว่าคนงานชอบไปแอบหลับในห้องสุขา หรือการที่เขาต้องต่อคิวยาวเหยียดในห้องน้ำสาธารณะ

    แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับการลดเวลาพักเบรกในห้องน้ำที่ทำงาน Charlotte Jones นักเขียนร่วมของโครงการ Around the Toilet กล่าวว่า มุมมองที่ว่า การเข้าห้องน้ำนานในที่ทำงานเป็นภัยคุกคามต่อบริษัทนั้นคือมุมมองที่ไม่ถูกต้อง

    “ฉันคิดว่าความสำคัญของห้องน้ำในฐานะที่หลบภัยระหว่างวันทำงานสะท้อนให้เห็นว่า การออกแบบที่ทำงานนั้นไม่เหมาะสม งานหนักเกินไป และบริษัทสร้างทีมงานที่ไม่ส่งเสริมสนับสนุนพนักงาน มากกว่าที่จะบอกเรื่องพฤติกรรมของตัวพนักงานเท่านั้น”

    Source

    ]]>
    1257979