อาหารทะเล – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 26 Feb 2024 09:57:23 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “หอยเชลล์” ญี่ปุ่นทะลักเข้าไทยเพิ่มขึ้น 4.6 เท่าเมื่อไตรมาสก่อน ตลาดทดแทนหลังถูก “จีน” แบนนำเข้า https://positioningmag.com/1463937 Mon, 26 Feb 2024 09:57:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1463937 บริษัทจัดจำหน่ายอาหารทะเลจากญี่ปุ่นต้องดิ้นรนเพื่อแก้ปัญหาการแบนของ “จีน” ตั้งแต่ปีก่อน โดยตลาดที่ญี่ปุ่นเบนเข็มมาหาคือกลุ่มประเทศตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ “ไทย” ที่นำเข้า “หอยเชลล์” ฮอกไกโดเพิ่มขึ้นถึง 4.6 เท่า ขณะที่ “เวียดนาม” กลายเป็นฐานผลิตแห่งใหม่แทนจีน

“จีน” เริ่มแบนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2023 หลังจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิเริ่มปล่อยน้ำเสียหลังการบำบัดลงสู่ทะเล จนถึงขณะนี้มีการปล่อยน้ำหลังการบำบัดลงทะเลไปแล้ว 3 รอบ และยังไม่พบสัญญาณว่ามีรังสีนิวเคลียร์มากผิดปกติทั้งในน้ำและในสัตว์น้ำที่จับได้ตามแนวชายฝั่งฟุกุชิมะ แต่ทางการจีนก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะปลดล็อกอนุญาตให้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นได้

สินค้าสำคัญที่ถือว่าเป็นปัญหามากจากการแบนครั้งนี้คือ “หอยเชลล์” เนื่องจากตลาดรับซื้อ 70% ของหอยเชลล์ญี่ปุ่นคือจีน เมื่อจีนแบนนำเข้าทำให้หอยเชลล์จำนวนมหาศาลจะกลายเป็นซัพพลายเกินขนาด

รวมถึงในอดีต จีนเป็นแหล่งโรงงานผลิตหอยเชลล์ หอยสดใหม่ที่จับจากทะเลญี่ปุ่นจะถูกส่งไปผลิตที่จีนก่อนส่งออกต่อไปยังทวีปอเมริกาเหนือ แต่เมื่อจีนแบนอาหารทะเลทั้งหมด ซัพพลายเชนส่วนนี้ก็ขาดหายไปเช่นกัน

Foodison Inc. บริษัทจัดจำหน่ายอาหารทะเลของญี่ปุ่น จึงต้องหาทางออกให้กับปัญหาทั้งสองเรื่อง โดยเรื่องซัพพลายเชนการผลิต ในที่สุดบริษัทได้ข้อตกลงเปลี่ยนไปใช้โรงงานผลิตใน “เวียดนาม” ทดแทน ส่งตรงหอยเชลล์จากทางเหนือของเกาะฮอกไกโดไปผลิตที่เวียดนามก่อนจะส่งกลับมาขายในญี่ปุ่น หลังจากเซ็นดีลไปเมื่อเดือนมกราคม 2024 หอยเชลล์ลอตแรก 23 ตันจะถูกส่งไปเวียดนามช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

ส่วนปัญหาตลาดรับซื้อ ทางบริษัทจัดจำหน่ายต่างๆ ล้วนมุ่งตรงมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตัวเลขจากกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นพบว่า การส่งออกหอยเชลล์เมื่อไตรมาสที่ผ่านมา (กันยายน-ธันวาคม 2023) ส่งไปประเทศ “ไทย” เพิ่มขึ้นถึง 4.6 เท่า และส่งไปประเทศ “เวียดนาม” เพิ่มขึ้น 3.3 เท่า

อย่างไรก็ตาม ไตรมาสก่อนการส่งออกหอยเชลล์ญี่ปุ่นมีการส่งออกเพียงแค่ 13,019 ตันเท่านั้น คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของที่เคยส่งออกได้เมื่อไตรมาสเดียวกันของปี 2022

ทางการญี่ปุ่นระบุว่าบริษัทต่างๆ กำลังหาทางส่งออกหอยเชลล์จากการผลิตในโรงงานแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังทวีปอเมริกาเหนือให้ได้ ก่อนที่ดีมานด์หรือตลาดจะถูกแย่งชิงไปหมด

ด้านการชดเชยให้กับบริษัทด้านอาหารทะเลและเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบเนื่องมาจากชื่อเสียงที่ไม่ดีของการปล่อยน้ำหลังการบำบัดจากโรงงานไฟฟ้า TEPCO บริษัทผู้รับผิดชอบโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ มีการจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทเหล่านี้ไปแล้ว 4,200 ล้านเยน (ประมาณ 1,000 ล้านบาท)

ส่วนทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็มีเงินกองทุนสนับสนุนเตรียมไว้อีก 8 หมื่นล้านเยน (ประมาณ 19,000 ล้านบาท) ซึ่งปัจจุบันเงินกองทุนนี้มีการจ่ายจริงไปแล้ว 7,900 ล้านเยน (ประมาณ 1,880 ล้านบาท) เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้หาตลาดใหม่ได้ และจ่ายอีก 5,500 ล้านเยน (ประมาณ 1,300 ล้านบาท) เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง

TEPCO ยังเตรียมจะปล่อยน้ำหลังการบำบัดจากโรงไฟฟ้าอีกเป็นรอบที่ 4 ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยรอบนี้จะปล่อยน้ำออกมาอีก 7,800 ตัน และปล่อยในทะเลห่างจากชายฝั่งไปประมาณ 1 กิโลเมตร

Source

]]>
1463937
กองทัพสหรัฐฯ ช่วยญี่ปุ่นซื้ออาหารทะเล หลังจีนประกาศงดนำเข้า ประท้วงกรณีปล่อยน้ำเสียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ https://positioningmag.com/1450161 Wed, 01 Nov 2023 04:28:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1450161 กองทัพสหรัฐอเมริกาในญี่ปุ่น ได้ประกาศซื้ออาหารทะเลจากญี่ปุ่น เพื่อช่วยเหลือ โดยเริ่มต้นที่หอยเชลล์จำนวน 1 ตัน และส่งสัญญาณว่าจะมีการซื้อเพิ่มมากกว่านี้ นอกจากนี้ทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่นยังกล่าวว่าอาจหามาตรการตอบโต้กรณีที่จีนแบนนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่นด้วย

Reuters และ BBC ได้รายงานข่าวว่า กองทัพสหรัฐอเมริกาที่ประจำการในประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มซื้ออาหารทะเลจำนวนมาก เพื่อที่จะชดเชยหลังจากที่จีนได้สั่งแบนการนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่น เพื่อประท้วงกรณีการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ และส่งสัญญาณว่าจะมีการซื้อสินค้าประเภทดังกล่าวเพิ่มขึ้นหลังจากนี้

อาหารทะเลที่กองทัพสหรัฐจะซื้อเป็นการเริ่มต้นคือ หอยเชลล์เป็นจำนวน 1 ตัน เพื่อนำไปเลี้ยงทหารทั้งในฐานทัพและบนกองเรือรบ รวมถึงร้านค้าในฐานทัพ และจะมีการนำเข้าอาหารทะเลเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังเตรียมที่จะเจรจาในการส่งออกหอยเชลล์เข้าไปแปรรูปในสหรัฐอเมริกาด้วย

ญี่ปุ่นได้ส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวนี้ไปยังจีนหรือแม้แต่ฮ่องกงเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้ง 2 แหล่งดังกล่าวเป็นปลายทางส่งออกอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่น หอยเชลล์ ในปีที่ผ่านมาจีนได้นำเข้ามากถึง 100,000 ตัน

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรมศุลกากรของจีน ได้ออกแถลงการณ์ว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางอาหาร จากการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสี และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคชาวจีน ทำให้จีนระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม เป็นต้นไป

ผลที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเตรียมเงินหลักแสนล้านเยนเพื่อช่วยเหลือชาวประมงที่ได้ผลกระทบจากผลดังกล่าว ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีทั้งการพัฒนาให้ชาวประมงหาตลาดอาหารทะเลในประเทศอื่น และเก็บปลาส่วนเกินแช่แข็งจนกว่าจะขายได้เมื่อมีความต้องการฟื้นตัว

Rahm Emanuel เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น ได้กล่าวว่า สหรัฐฯ อาจพิจารณานำเข้าปลาจากญี่ปุ่นและจีนด้วย โดยก่อนหน้านี้ กองทัพสหรัฐฯ ไม่เคยซื้ออาหารทะเลที่จับได้ในทะเลญี่ปุ่นด้วยซ้ำ

นอกจากนี้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น ได้กล่าวว่าสหรัฐฯ กำลังพิจารณาหาวิธีตอบโต้ที่จีนได้สั่งแบนการนำเข้าอาหารทะเล โดยมองว่ามาตรการดังกล่าวของจีนนั้นถือว่าเป็นสงครามทางเศรษฐกิจ

ที่มา – Reuters, BBC

]]>
1450161
“หอยเชลล์” ฮอกไกโดเตรียมขึ้นเชลฟ์ “ดองกิ” ในไทย หลังจีนแบนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น https://positioningmag.com/1447500 Tue, 10 Oct 2023 05:47:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1447500 หลังจีนประกาศแบนนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น เนื่องจากการปล่อยน้ำจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทร ทำให้ประมงญี่ปุ่นต้องหาทางส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นแทน หนึ่งในเป้าหมายนั้นคือ Don Quijote หรือ “ดองกิ” เชนดิสเคานต์สโตร์ที่ขยายไป 38 สาขาทั่วเอเชีย (รวมไทย) จะรับ “หอยเชลล์” จากฮอกไกโดเข้ามาจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายนนี้

Pan Pacific International Holdings (PPIH) บริษัทผู้บริหารกิจการ Don Quijote หรือ “ดอง ดอง ดองกิ” ที่คนไทยรู้จัก เตรียมนำ “หอยเชลล์” จากฮอกไกโด และอาหารทะเลจากญี่ปุ่นอื่นๆ เข้ามาจำหน่ายเพิ่มในดองกิ 38 สาขาทั่วเอเชีย นำร่องในสาขาประเทศไทยและมาเลเซีย รวมถึงจะใช้ในการทำซูชิหน้าหอยเชลล์ในร้าน Sen Sen Sushi ที่ตั้งอยู่ในดองกิด้วย

ปัจจุบันดอง ดอง ดองกิมีจำหน่ายในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ใน 6 เขตปกครอง ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊า

ที่ผ่านมาร้านอาหารและค้าปลีกญี่ปุ่นต่างพยายามกระตุ้นการบริโภคอาหารทะเลภายในประเทศ เพื่อแก้ปัญหาหลังจีนแบนอาหารทะเลญี่ปุ่นไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2023

โดยบริษัท PPIH เป็นหนึ่งในบริษัทที่หาทางออกเพิ่มเติม นั่นคือการช่วยส่งออกอาหารทะเลไปยังประเทศอื่น เพราะ PPIH เป็นผู้ก่อตั้งสมาคม Pan Pacific International Club สมาคมที่รวมสมาชิกเกษตรกรประมงและผู้ผลิตอาหารทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนการส่งออกอาหารทะเลญี่ปุ่น เป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายการส่งออกอาหารทะเลสดไปยังตลาดเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านระบบท่าเรือและสนามบินต่างๆ

เมื่อเร็วๆ นี้ PPIH เริ่มโครงการช่วยระบายสต็อกหอยเชลล์จากจังหวัดมิยางิแล้วในมาเลเซีย โดยการจัดอีเวนต์ขายหอยเชลล์ 3 วันในดองกิ มาเลเซีย

“เราจะช่วยขยายการส่งออกอาหารทะเลด้วยการจัดอีเวนต์ไปทุกที่ สร้างการรับรู้ในสินค้าของเรา” อิชิโระ มิยาชิตะ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นกล่าว

donki
ปัจจุบัน ดอง ดอง ดองกิ ในไทยมีทั้งหมด 6 สาขา คือ ทองหล่อ, ซีคอน ศรีนครินทร์, MBK Center, ซีคอน บางแค, เจพาร์ค ศรีราชา และธนิยะ สีลม นอกจากนี้ยังมีอีก 2 สาขาที่กำลังจะเปิดบริการ คือ แฟชั่นไอส์แลนด์ และ เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ

จีนเริ่มแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่น เพื่อตอบโต้ที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำหลังการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิลงสู่ทะเล จากข้อมูลการส่งออกของญี่ปุ่น การส่งออกอาหารทะเลสดของญี่ปุ่นไปยังประเทศจีนมูลค่าตกลง 75.7% ทันทีในเดือนสิงหาคม 2023 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า

คาดว่าการปล่อยน้ำหลังบำบัดจากโรงไฟฟ้ารอบที่สองจะเริ่มขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ และจะใช้เวลาปล่อยน้ำทั้งหมด 17 วัน

สำหรับการกระตุ้นการขายอาหารทะเลในประเทศของญี่ปุ่น มีการร่วมแรงร่วมใจจากเอกชนหลายบริษัท เช่น Aeon และ Seven-Eleven ค้าปลีกที่เพิ่มปริมาณรับซื้อหอยเชลล์เข้าไปขายในร้านและช่วยโปรโมตให้ รวมถึงภาคธุรกิจร้านอาหาร เช่น Watami เจ้าของร้านอิซากายะ และ Kura Sushi ร้านซูชิจานเวียน ที่นำหอยเชลล์ฮอกไกโดเข้าไปจำหน่ายมากขึ้น

Source

]]>
1447500
รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวประมง มูลค่านับแสนล้านเยน หลังจีนประกาศแบนอาหารทะเล https://positioningmag.com/1443320 Mon, 04 Sep 2023 12:43:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1443320 รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งกองทุนช่วยเหลือเหลือชาวประมง หลังจีนประกาศแบนอาหารทะเล ตอบโต้กรณีญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะซึ่งมีกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อน โดยงบดังกล่าวมีมูลค่ามากถึง 1 แสนล้านเยนแล้ว และสามารถขยายกองทุนเพิ่มเติมได้

รัฐบาลญี่ปุ่นได้เตรียมเงินเพื่อช่วยเหลือชาวประมงที่ได้ผลกระทบจากประเทศจีนได้ประกาศแบนอาหารทะเลในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีออกมาเป็นระยะหลังจากปริมาณส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบ

จีนได้แบนอาหารทะเลญี่ปุ่นตามหลังที่ Tepco ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวลงสู่ทะเลเป็นครั้งแรกถึง 1.3 ล้านตัน เมื่อตอนบ่ายของวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยกรมศุลกากรของจีน ได้ออกแถลงการณ์ว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางอาหาร

อย่างไรก็ดีทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศยืนยันถึงความปลอดภัย รวมถึงสหประชาชาติเองก็ออกมาไฟเขียวในเรื่องดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ดีประชาชนหลายประเทศรอบญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลีใต้ กลับไม่เห็นด้วยกับวิธีการปล่อยน้ำเสียเท่าไหร่นัก

ในปี 2022 ที่ผ่านมา จีนเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่อันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น โดยอาหารทะเลหลายชนิดที่นำเข้าไปนอกจากจะบริโภคแล้ว จีนยังเป็นแหล่งแปรรูปอาหารทะเลรายใหญ่ก่อนที่จะส่งออกไปยังประเทศอื่น

เมื่อไม่มานานมานี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งกองทุนมูลค่ารวมถึง 80,000 ล้านเยนเพื่อช่วยพัฒนาให้ชาวประมงหาตลาดทะเลในประเทศอื่น และเก็บปลาส่วนเกินแช่แข็งจนกว่าจะขายได้เมื่อมีความต้องการฟื้นตัว หรือแม้แต่สนับสนุนในการแปรรูปอาหารทะเลโดยไม่ต้องพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่ง

ถ้าหากรวมกันกับงบช่วยเหลือล่าสุดแล้วจะทำให้งบประมาณที่รัฐบาลได้ช่วยเหลือชาวประมงของญี่ปุ่นมีมากถึง 100,700 ล้านเยน คิดเป็นเงินไทยราวๆ 24,218 ล้านบาท หรือเกือบเท่ามูลค่าที่ประเทศจีนนำเข้าอาหารทะเลในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา และรัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมที่จะขยายเม็ดเงินกองทุนดังกล่าวด้วย

ก่อนหน้านี้สื่อญี่ปุ่นอย่าง Japan Times ได้รายงานข่าวว่าผู้แทนของสภาญี่ปุ่นบางรายได้ส่งสัญญาณให้รัฐบาลฟ้องร้ององค์การการค้าโลก (WTO)  ในกรณีการแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่นด้วย ถ้าหากใช้ช่องทางในการเจรจาทางการทูตแล้วไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ดีรัฐบาลญี่ปุ่นยังคงระมัดระวังท่าทีในการฟ้องร้องต่อ WTO และจะใช้วิถีทางการทูตแบบปกติ และต้องการให้จีนยกเลิกมาตรการแบนอาหารทะเล

ที่มา – Reuters, Asahi

]]>
1443320
จีนแบนนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่น ประท้วงกรณีปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ https://positioningmag.com/1442334 Thu, 24 Aug 2023 11:11:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1442334 จีนแบนนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่น โดยมาตรการดังกล่าวตอบโต้กรณีที่ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะซึ่งมีกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อน ซึ่งจีนถือเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท

กรมศุลกากรของจีน ได้ออกแถลงการณ์ว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางอาหาร จากการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสี และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคชาวจีน ทำให้จีนระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม เป็นต้นไป

มาตรการดังกล่าวตามหลังมาจาก Tepco ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวลงสู่ทะเลเป็นครั้งแรกถึง 1.3 ล้านตัน เมื่อตอนบ่ายของวันนี้ (24 สิงหาคม)

สำหรับน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะมาจากการนำน้ำเข้าไปหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในปี 2011 ซึ่งพื้นที่ในการจัดเก็บน้ำเสียดังกล่าวลดลงเรื่อยๆ ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจต้องทิ้งน้ำเสียดังกล่าว แม้ว่าจะมีการบำบัดน้ำเสียเพื่อขจัดสารกัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่แล้วก็ตาม และมีการเจือจางด้วยน้ำทะเลอีกรอบ

การปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่นครั้งนี้ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศยืนยันถึงความปลอดภัย รวมถึง UN ก็ออกมาไฟเขียวในเรื่องดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย คาดว่าน้ำเสียปริมาณทั้งหมดจะต้องใช้เวลาปล่อยลงสู่ทะเลยาวนานถึง 30 ปีด้วยกัน

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จีนได้จำกัดการนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงฟุกุชิมะและโตเกียว ก่อนที่ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวข้างต้น ในปี 2022 ที่ผ่านมาจีนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นคิดเป็นเงินไทยมากกว่า 20,000 ล้านบาท

แถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัวของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมหาสมุทรเป็นทรัพย์สินส่วนรวมของมนุษยชาติ การกระทำของญี่ปุ่นถือว่าขาดความรับผิดชอบ และไม่สนใจผลประโยชน์สาธารณะระหว่างประเทศ

แผนการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะได้รับแรงต่อต้านอย่างหนักจากทั้งประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลีใต้ ไปจนถึงกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกังวลถึงความปลอดภัยจากกัมมันตภาพรังสี ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล รวมถึงอาหารทะเลที่มีผู้บริโภคทั่วโลกรวมอยู่ด้วย

ที่มา – CNN, NBC News

]]>
1442334
“นอติลุส Xten” แตกไลน์ “โอ๊ตมีล” แซลมอน รุกตลาด “อาหารสุขภาพ” จับเทรนด์คนรุ่นใหม่ https://positioningmag.com/1345167 Wed, 04 Aug 2021 08:14:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1345167 “พัทยาฟู้ด กรุ๊ป” แตกแบรนด์ใหม่ “นอติลุส Xten” อาหารพร้อมทานแบบ “โอ๊ตมีล” ผสมเนื้อสัตว์-ผลไม้ ลุยตลาดอาหารสุขภาพจับกระแสคนรุ่นใหม่ ตั้งเป้า 10 ล้านถ้วยใน 3 ปี รวมทั้งตลาดไทยและส่งออกในเอเชีย

“สุดาทิพ เกียรติศรีชาติ” กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท พัทยาฟู้ด กรุ๊ป จำกัด เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท “นอติลุส Xten” อาหารพร้อมทานที่ผลิตจากซูเปอร์ฟู้ด เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง มัลติเกรน ผสมกับเนื้อสัตว์จริงหรือผลไม้แท้ ลดโซเดียม ลดน้ำตาล ไม่ใส่ผงชูรส ชงด้วยน้ำร้อน 2 นาที พร้อมรับประทานได้ เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แต่ต้องการความสะดวก ประหยัดเวลาด้วย

โดยสินค้าใหม่ นอติลุส Xten จะจำหน่าย 4 สูตร คือ Wild Red Salmon (แซลมอน), Triple Mushroom (เห็ด), Dark Choc & Almonds (ช็อกโกแลตและอัลมอนด์) และ Mixed Berries (มิกซ์เบอร์รีส์) กลุ่มอาหารคาวจำหน่ายราคา 45 บาท อาหารหวานราคา 35 บาท

เบื้องต้นวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น ท็อปส์, กูร์เมต์ มาร์เก็ต, วิลล่า มาร์เก็ท, เลมอน ฟาร์ม ฯลฯ และช่องทางออนไลน์ เช่น ช้อปปี้, ลาซาด้า คาดว่าปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าจะสามารถวางขายในร้านสะดวกซื้อและไฮเปอร์มาร์เก็ตได้

 

ตั้งเป้า 10 ล้านถ้วย

สุดาทิพระบุว่า การรุกตลาดอาหารสุขภาพเกิดจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของเครือ ต้องการเปิดตลาดอาหารอื่นๆ นอกจากอาหารทะเลและปลากระป๋อง ทำให้เมื่อปี 2563 บริษัทเปิดแบรนด์ร้านอาหาร “ม่อนชะเมา” ขึ้นมาจับตลาดอาหารสุขภาพ โดยเลือกตลาดนี้เพราะเป็นเทรนด์อนาคต

ต่อยอดมาถึงปี 2564 นี้จึงมีแบรนด์ นอติลุส Xten ออกมา คาดหวังยอดขาย 10 ล้านถ้วยภายใน 3 ปี โดยไม่ได้มองเฉพาะตลาดไทย แต่กำลังเจรจาวางขายในต่างประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งมีวัฒนธรรมการทานอาหารคล้ายกัน

“สุดาทิพ เกียรติศรีชาติ” กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท พัทยาฟู้ด กรุ๊ป จำกัด

Positioning สำรวจตลาดพบว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่มโอ๊ตมีลหรือโจ๊กธัญพืชแบบสำเร็จ ใส่น้ำร้อนชงพร้อมทาน มีแบรนด์ในตลาดอยู่บ้างแล้ว เช่น ไดมอนด์เกรน จำหน่ายราคา 32 บาท เกรนเน่ย์ จำหน่ายราคา 20 บาท เห็นได้ว่านอติลุสจะจับตลาดที่พรีเมียมมากขึ้น

 

ปีนี้คนเลิก “กักตุน” เครื่องกระป๋อง

กลุ่มพัทยาฟู้ด กรุ๊ปนั้นก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2514 ผลิตและส่งออกอาหารทะเลหลายชนิด โดยมีแบรนด์ปลากระป๋องของตนเองคือ นอติลุส, ซีคราวน์ และ มงกุฎทะเล รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยงแบรนด์ รีกาลอส

สุดาทิพเปิดเผยว่า ปี 2564 กลุ่มบริษัทน่าจะทำรายได้ประมาณ 8,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 5% โดยแบ่งสัดส่วนรายได้จากการรับจ้างผลิต 80% และมาจากแบรนด์ตนเอง (own brand) 20% คาดว่าในอนาคต อาหารสุขภาพซึ่งเป็นสินค้าใหม่จะทำรายได้สัดส่วน 30% ในกลุ่มธุรกิจ own brand

ผลิตภัณฑ์แบรนด์นอติลุส

สำหรับตลาดอาหารกระป๋องในไทยปีนี้ สุดาทิพกล่าวว่ายอดขายมีผลกระทบเล็กน้อยช่วงต้นปีจากเหตุการณ์การระบาด แต่หลังจากนั้นปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันถือว่าทรงตัว ไม่เติบโต เพราะปีนี้แม้ว่าจะมีการระบาดซ้ำอีกแต่พฤติกรรมผู้บริโภคไม่เหมือนปี 2563 ไม่มีการกักตุนสินค้า อาจเกิดจากผู้บริโภคหันไปใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่มากขึ้น และบางส่วนระมัดระวังการใช้เงิน จึงไม่กักตุนอาหาร

]]>
1345167
“ไทยยูเนี่ยน” ตรวจ COVID-19 พนักงานกว่า 27,000 คน ตรวจแล้ว 85% พบติดเชื้อ 69 คน https://positioningmag.com/1313034 Wed, 06 Jan 2021 04:20:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1313034 ไทยยูเนี่ยน ลงทุนตรวจหาเชื้อ COVID-19 ให้กับพนักงานทุกคนที่อยู่ใน จ.สมุทรสาคร จำนวนกว่า 27,000 คน ตรวจแล้ว 85% ของพนักงานทั้งหมด พบติดเชื้อ 69 คน หรือคิดเป็น 0.29% คาดตรวจครบภายในสัปดาห์หน้า ยืนยันเปิดโรงงานตามปกติ

ข่าวจาก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แจ้งการดำเนินงานภายในบริษัท บริษัทได้เร่งตรวจหาเชื้อโรคระบาด COVID-19 ให้กับพนักงานไทยยูเนี่ยนทุกคนในจังหวัดสมุทรสาคร รวม 27,522 คน

ณ วันที่ 5 มกราคม 2564 พนักงานไทยยูเนี่ยนจำนวน 23,630 คน หรือมากกว่า 85% ได้รับการตรวจหาเชื้อโรคระบาด COVID-19 แล้ว โดยจำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงานในจังหวัดสมุทรสาครมีทั้งสิ้น 27,552 คน โดยใช้วิธีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR พบมีพนักงานติดเชื้อ 69 คน หรือคิดเป็น 0.29% บริษัทได้ทำการแยกพนักงานกลุ่มดังกล่าวเพื่อกักตัวและส่งรักษากับทางภาครัฐต่อไป ทั้งนี้การตรวจทั้งหมดจะแล้วเสร็จในช่วงสัปดาห์หน้า

“ผมขอย้ำตรงนี้ว่าพนักงานของเราทุกคนจะได้รับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานของเราทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างดี โดยไม่จำกัด อายุ เพศ หรือเชื้อชาติ เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่าการผลิตของไทยยูเนี่ยนจะดำเนินอย่างต่อเนื่อง” ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว

บรรยากาศการตรวจหาเชื้อ COVID-19 โรงงานไทยยูเนี่ยน ใน จ.สมุทรสาคร

ไทยยูเนี่ยนได้ปฏิบัติตามระเบียบวิธีและแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข มีการกักตัวและดูแลพนักงานที่ติดเชื้อ ระบุผู้ใกล้ชิดผู้ที่ติดเชื้อ และมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ big cleaning บริเวณต่างๆ

ธีรพงศ์ย้ำว่า โรงงานของไทยยูเนี่ยนทุกโรงยังคงเปิดดำเนินการตามปกติ เนื่องจากจำนวนพนักงานที่ได้รับผลกระทบมีอัตราและจำนวนที่น้อยมาก

นอกจากนี้ บริษัทมีการเพิ่มมาตรการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คัดกรองผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานที่โรงงาน งดการประชุมติดต่อซึ่งครอบคลุมทั้งพนักงานบริษัทและผู้ที่มาติดต่อ ยกเว้นธุรกรรมที่จำเป็นเท่านั้น และต้องได้รับอนุญาตจากคณะผู้บริหารของบริษัท รวมถึงสนับสนุนให้พนักงานทำงานจากบ้านหากเป็นไปได้ และให้พนักงานปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านสุขภาพอย่างเคร่งครัด

ไทยยูเนี่ยนยังอ้างอิงรายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ไม่มีความเสี่ยงที่เกิดการแพร่เชื้อ COVID-19 ผ่านผลิตภัณฑ์อาหารหรือบรรจุภัณฑ์อาหาร

]]>
1313034