เทรนด์ออกแบบ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sat, 02 Apr 2022 02:15:42 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ตลาดฟื้น! Under Armour ไตรมาสแรกโต 20-25% แต่จะโตเต็มที่ต้องรอ “นักท่องเที่ยว” กลับมา https://positioningmag.com/1380140 Fri, 01 Apr 2022 14:30:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1380140 Under Armour มองภาพปี 2565 สดใสกว่าช่วงสองปีที่ผ่านมา ไตรมาสแรกยอดขายเติบโต 20-25% เตรียมดันกิจกรรมการตลาดตลอดปี เพราะผู้บริโภคกลับมาออกกำลังกาย-เล่นกีฬาหลัง COVID-19 คลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ยังขาดกำลังซื้อ “นักท่องเที่ยว” ที่จะทำให้ยอดขายกลับมาเป็นปกติ

“ปริศนา ศิริสมถะ” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูเอ สปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารแบรนด์เครื่องกีฬาสายเพอร์ฟอร์มานซ์ “Under Armour” (อันเดอร์ อาเมอร์) กล่าวถึงตลาดเสื้อผ้ารองเท้ากีฬาปี 2565 ว่า เห็นแนวโน้มที่จะดีขึ้นกว่าปีก่อน เพราะถึงแม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อต่อวันยังสูง แต่ความรุนแรงของโรคไม่เท่ากับที่ผ่านมา ทำให้คนรู้สึกมั่นใจในการกลับมาใช้ชีวิต สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้

แนวโน้มนี้เห็นชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีซึ่งทั้งทราฟฟิกเข้าร้านและยอดขายของ Under Armour กลับมาโต 20-25% เทียบกับไตรมาสแรกปีก่อน

(ซ้าย) “ปริศนา ศิริสมถะ” ผู้จัดการทั่วไป และ (ขวา) “เทพฤทธิ์ ไรวินท์” ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท ยูเอ สปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ด้านหน้าผลงานศิลปะสไตล์ไทยใน Under Armour Brand House สยามเซ็นเตอร์

สินค้าของ Under Armour นั้นเป็นหมวดเพอร์ฟอร์มานซ์ที่เน้นการออกกำลังกายและเล่นกีฬาถึง 85-90%

หากแบ่งตามประเภทกีฬาในไทย ส่วนใหญ่ 60% จะเป็นสินค้าสำหรับเทรนนิ่ง ใส่ในการฝึกซ้อมฟิตเนส อีก 15-20% เป็นหมวดกีฬาวิ่ง และที่เหลือ 20-25% เป็นสินค้ากีฬาต่างๆ เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล กอล์ฟ และเสื้อผ้าไลฟ์สไตล์

ทำให้ยอดขายขึ้นอยู่กับโอกาสการออกกำลังกายของลูกค้า ซึ่งที่ผ่านมาในช่วง COVID-19 ถือว่าแบรนด์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แต่ปริศนาเชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่ฟื้นตัวพ้นจุดต่ำสุดแล้ว

 

ปรับโฉมร้านให้เป็นมิตรมากขึ้น

เพื่อตอบรับการกลับมาของตลาด ปริศนากล่าวว่า ปีนี้แบรนด์ได้ปรับโฉม Under Armour Brand House เริ่มสองสาขาแรกที่เมกา บางนา และ สยามเซ็นเตอร์ โดยเป็นการปรับตามคอนเซ็ปต์ “City Concept Store” ตามนโยบายระดับโลกของแบรนด์

Under Armour
ภายใน Under Armour สาขาสยามเซ็นเตอร์ หลังปรับโฉมใหม่

การปรับปรุงครั้งนี้จะทำให้ลุคของร้านมีความเป็นมิตรมากขึ้น และมีการ localize การตกแต่ง ยกตัวอย่างสาขาสยามเซ็นเตอร์ จะสื่อสารผ่านฟีเจอร์วอลล์ในห้องลองชุดที่ออกแบบโดย อัครพงษ์ “โอ๊ต” เพ็ชผล ศิลปินชาวไทย มีภาพของยักษ์ เสาชิงช้า ภูเขาทอง ฯลฯ สื่อถึงที่ตั้งร้านซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ

“ลุคเดิมของร้าน Under Armour จะมีความเป็นชายสูง ดูเป็นนักกีฬาอาชีพ ทำให้ลูกค้าอาจจะไม่กล้าเข้ามาชม แต่ลุคใหม่จะให้ความละมุนมากขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น” ปริศนากล่าว

 

โหมกิจกรรมการตลาดตลอดปี

ด้าน “เทพฤทธิ์ ไรวินท์” ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท ยูเอ สปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงกลยุทธ์การตลาดของแบรนด์ในปีนี้ จะมาในแคมเปญ Access to Sports, Gift of the Game เน้นเรื่องการเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงกีฬามากขึ้น สร้างแรงบันดาลใจให้คนเล่นกีฬาได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกาย ก้าวข้ามความรู้สึกของตัวเอง

ตัวอย่าง 3 กิจกรรมหลักที่มีในปีนี้ ได้แก่

  • Curry 3 ON 3 Thailand 2022 เปิดโอกาสให้เยาวชนวัย 15-18 ปี ตั้งทีมเข้ามาแข่งบาสเกตบอล โดยมี 68 ทีมทั่วประเทศสมัครเข้ามาแข่งขัน และได้ผู้ชนะรับทุนการศึกษาไปแล้วเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ เมกา บางนา
  • All Out Mile โปรแกรมฝึกวิ่งในระยะ 1 ไมล์ (ประมาณ 6 กม.) ให้เร็วที่สุด โดยจะจัดให้มีการวิ่งสองรอบ รอบแรกเป็นการทดสอบตัวเองว่าเราใช้เวลาเท่าไหร่ในการวิ่ง 1 ไมล์ จากนั้น Under Armour จะมีโปรแกรมช่วยโค้ชให้วิ่งเร็วขึ้นภายใน 30 วัน และจะทดสอบรอบสองเพื่อดูว่าคุณวิ่งเร็วขึ้นเท่าไหร่จากการโค้ชนี้
ไอเทม NFT ของ Under Armour ในแพลตฟอร์ม WIRTUAL
  • จับมือกับ WIRTUAL แพลตฟอร์ม Exercise to earn และ Jet Fitness แอปฯ นี้ เป็นแอปฯ ที่เชื่อมต่อข้อมูลการออกกำลังกายกับอุปกรณ์วัดผลต่างๆ เช่น Garmin, Fitbit, Apple และทุกการขยับร่างกายจะเป็นการ ‘ขุดเหรียญ’ โทเคนเฉพาะของแพลตฟอร์มคือ “WIRTUAL Token” โทเคนนี้สามารถแลกเป็นเงินเฟียตและใช้จ่ายในแอปฯ ได้ โดยทาง Under Armour มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เสื้อผ้าให้กับอวาตาร์ในแอปฯ เป็นลักษณะ NFT ผู้ที่ต้องการจะต้องร่วมอีเวนต์ของแบรนด์เพื่อนำไปแลก NFT มาสวมใส่ให้อวาตาร์ และเมื่อสวมใส่แล้วจะทำให้อัตราความเร็วในการขุดเหรียญไวยิ่งขึ้น

ขณะที่การโปรโมตแบรนด์ปีนี้ก็ยังมีต่อเนื่องผ่านนักกีฬาและอินฟลูเอนเซอร์ โดยนักกีฬาคีย์หลัก 2 ท่านของปีนี้จะเป็น “ซาร่านุสรา ต้อมคำ” นักวอลเลย์บอลไทยที่ไปสู่ระดับโลก และ “ซุปเปอร์บอน” นักมวยไทยชื่อดังจากรายการ One Championship

 

ฟื้นแล้ว…แต่ยังไม่เต็มที่หากไม่มี “นักท่องเที่ยว”

เมื่อถามถึงการขยายสาขาปี 2565 ปริศนาระบุว่า แม้ช่วงก่อนหน้านี้แบรนด์มักจะเปิด Brand House ใหม่ปีละ 1 สาขา แต่ปีนี้จะยังไม่มีการเพิ่มสาขา เช่นเดียวกับสองปีที่เผชิญ COVID-19 เพราะยอดขายที่ฟื้นตัวแล้วก็ยังไม่เท่ากับก่อนเกิดโรคระบาด จึงต้องการจะมุ่งเน้นทำยอดขายในสาขาที่มีให้กลับมาเป็นปกติก่อน

Under Armour
มุมคนเล่นกอล์ฟ ตอบโจทย์คนไทยที่หันมาตีกอล์ฟกันมากขึ้น

เหตุที่การฟื้นตัวยังไม่ 100% เกิดจากยอดขายของ Under Armour เกินครึ่งหนึ่งมาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยหน้าสาขาที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ถ้าหากต่างชาติยังไม่เข้าประเทศไทยมากเหมือนในอดีต แบรนด์ก็ยังได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม แบรนด์มีการปรับเข้าหาคนไทยมากขึ้น เช่น ปรับหน้าเว็บไซต์ให้มีภาษาไทย เพิ่มสินค้าที่เป็นเทรนด์ของคนไทยมากขึ้น อย่างรองเท้าวิ่ง และเสื้อผ้ากีฬากอล์ฟที่กลับมาฮิตอีกครั้ง

ด้านการแข่งขันในตลาด Under Armour จะยังคงเน้นความเป็นสินค้าที่ขายเทคโนโลยีล้ำสมัย ช่วยให้การออกกำลังกายของลูกค้าดีขึ้น ทำให้แบรนด์มีการจัดโปรโมชันไม่บ่อยครั้งเท่าแบรนด์อื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าลูกค้าที่เป็นเป้าหมายยังคงตอบรับ ยกตัวอย่างไตรมาสแรกปีนี้นับว่ามีการลดราคาน้อยกว่าปีก่อน แต่กลับได้ยอดขายมากกว่าเดิม

]]>
1380140
4 รูปแบบ “ออฟฟิศ” ในยุคการทำงานแบบ “ไฮบริด” ที่เราจะได้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ https://positioningmag.com/1365866 Wed, 08 Dec 2021 09:46:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1365866 “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” มองภาพอนาคตอันใกล้ของ “ออฟฟิศ” ในโลกยุคหลัง COVID-19 ที่คนจะทำงานแบบ “ไฮบริด” มากขึ้น ทำให้การดีไซน์ออฟฟิศและการร่วมงานกันเปลี่ยนแปลงไปเป็น 4 รูปแบบเหล่านี้

ดร.ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ในเครือ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวในงานสัมมนา “Present (?) Perfect (?) Continuous (?)” จัดโดย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้

หัวข้อหนึ่งที่ ดร.ภัณณินกล่าวถึงและน่าสนใจ คือการจัดการ “ออฟฟิศ” รูปแบบใหม่หลังผ่านโรคระบาด COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา การระบาดของโรคบีบให้การทำงานต้องจัดเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานออนไลน์ 100% หรือแบบ “ไฮบริด” มีทั้งออนไซต์และออนไลน์ เพื่อให้คนพบปะกันให้น้อยที่สุด

ถึงแม้ว่าโรคระบาดจะคลี่คลายลงแล้ว แต่บริษัท 51% พบว่าการทำงานแบบออนไลน์หรือไฮบริดในช่วงก่อนนี้ ไม่ได้ลดประสิทธิภาพของงานลง ซึ่งทำให้เป็นไปได้ว่าหลายบริษัทจะเปลี่ยนมาทำงานแบบออนไลน์หรือไฮบริดถาวร

ข้อมูลที่ดร.ภัณณินรวบรวมจาก การ์ทเนอร์ และ Boston Consulting Group สรุปข้อมูลรูปแบบ “ออฟฟิศ” ยุคใหม่เป็น 4 แบบ ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ดังนี้

1.Clubhouse
(Photo: Shutterstock)

รูปแบบออฟฟิศสำหรับการทำงานแบบไฮบริด พนักงานสามารถไปที่ออฟฟิศเฉพาะเมื่อต้องการการทำงานร่วมกันเป็นทีม ส่วนงานที่ทำคนเดียวได้สามารถอยู่ทำได้ที่บ้าน

ทำให้ออฟฟิศจะออกแบบใหม่ให้เป็นเหมือน ‘social hub’ เน้นส่งเสริมการทำงานเป็นทีม พูดคุย สานสัมพันธ์กัน แต่ละออฟฟิศมีความเป็นตัวเองสูงขึ้น เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกหรือฟังก์ชันจะแสดงออกถึงวัฒนธรรมขององค์กร

2.Activity-based Working

รูปแบบออฟฟิศที่ยังเน้นคนทำงานแบบเข้าออฟฟิศเป็นส่วนมาก แต่จะจัดออฟฟิศสมัยใหม่คือไม่มีที่นั่งตายตัว ทุกที่นั่งเป็น hot-desk นั่งตรงไหนก็ได้ และแยกโซนตามกิจกรรมที่ต้องทำในออฟฟิศ เช่น โซนที่นั่งทำงาน โซนห้องคุยโทรศัพท์ โซนห้องประชุม โซนนั่งเล่นพักผ่อน

การดีไซน์แบบนี้จะทำให้ออฟฟิศลดพื้นที่โต๊ะทำงานลง พนักงาน 10 คนอาจจะมีโต๊ะเพียงแค่ 5 ตัวก็พอ (เพราะระหว่างนั้นพนักงานคนอื่นก็หมุนเวียนไปอยู่ในจุดอื่น เช่น ห้องประชุม) ทำให้ต้นทุนการเช่าลดลง

3.Hub and Spoke
(Photo: Shutterstock)

คนตั้งคำถามมากที่สุดเกี่ยวกับ “ทำเล” ของออฟฟิศยุคใหม่ว่ายังจำเป็นไหมที่ออฟฟิศควรตั้งอยู่กลางซีบีดี ซึ่งแนวคิด ณ ตอนนี้มองว่าอาจจะยังมีอยู่บ้างเพราะคนรุ่นใหม่ก็ยังต้องการไปพื้นที่กลางเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ มีแหล่งแฮงเอาต์ไว้ไปต่อกับเพื่อนๆ แต่ไม่จำเป็นต้องไปทุกวันเพราะทำงานออนไลน์ได้แล้ว

ทำให้เกิดแนวคิดการกระจายออฟฟิศไว้หลายจุด มีออฟฟิศเล็กๆ ตามชานเมืองคู่กับออฟฟิศกลางเมืองด้วย ไว้สำหรับการนัดประชุมแบบเจอหน้ากันที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปถึงกลางเมือง

4.Fully Virtual

รูปแบบนี้คือการทำงานแบบออนไลน์ 100% พนักงานทุกคนทำงานจากบ้านได้ ไม่มีออฟฟิศถาวร ซึ่งทำให้บริษัทลดต้นทุนค่าเช่าออฟฟิศได้ทั้งหมด

บริษัทแต่ละแห่งมีวัฒนธรรมและวิธีทำงานที่เหมาะกับรูปแบบออฟฟิศแต่ละแบบแตกต่างกันไป รวมถึงการเลือกแบบออฟฟิศก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันด้วย

ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจาก Beaux-Arts Group บริษัทสถาปนิกจากแทมปา ฟลอริดา พูดถึงการออกแบบสไตล์ Clubhouse ว่า ข้อดีคือทำให้ออฟฟิศมักจะเป็นแบบ open-plan เปิดโล่งสว่างไสว ทำให้พนักงานรู้สึกดี และทำให้เกิดการร่วมมือกันทำงาน ลดความต่างด้านยศตำแหน่งได้จริง แต่ข้อเสียคือกลายเป็นว่าประสิทธิภาพการทำงานลดลง 15-28% และการพูดคุยแบบตัวต่อตัวยากขึ้นจนต้องคุยผ่านอีเมลแทน

รูปแบบออฟฟิศสมัยใหม่จะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน ต้องจับตามองจากนี้!

]]>
1365866
ส่อง 5 เทรนด์ดีไซน์ “ห้องน้ำ” จาก COTTO พร้อมลุยตลาดปี’65 สุขภัณฑ์-ก๊อกน้ำกลับมาโต 2% https://positioningmag.com/1357938 Thu, 21 Oct 2021 13:50:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1357938 COTTO (คอตโต้) เปิดเทรนด์ “ห้องน้ำ” ยุคใหม่ 5 ดีไซน์ ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคหลัง COVID-19 พัฒนา Virtual Showroom ตอบรับผู้บริโภคยุคดิจิทัล-ระวังสุขอนามัย คาดการณ์ตลาดปี 2565 สุขภัณฑ์-ก๊อกน้ำกลับมาโต 2% แต่แบรนด์ขอโต 10% จากการโหมบุกตลาดอาเซียน และหมัดเด็ดสินค้ากลุ่ม “Smart & Hygiene”

ปี 2564 ตลาดสุขภัณฑ์-ก๊อกน้ำอาจจะแผ่วลงไป แต่หลังข่าวการเปิดประเทศและทยอยคลายล็อกดาวน์ทำให้ทุกธุรกิจต่างมีความหวังในการฟื้นตัว รวมถึง “COTTO” (คอตโต้) แบรนด์รายใหญ่ของตลาด

“อนุวัตร เฉลิมไชย” Head of Ceramics Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยว่า ปีนี้ COTTO มีการศึกษาวิจัยและจัดทำ Design Trend 2022 สำหรับ “ห้องน้ำ” ซึ่งเทรนด์เหล่านี้เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงในชีวิตผู้บริโภคหลังผ่านช่วง COVID-19 ทำให้มีความต้องการที่เปลี่ยนไป และห้องน้ำกลายเป็นมากกว่าฟังก์ชันการใช้งาน แต่ส่งผลในด้านอารมณ์ความรู้สึกของการอยู่อาศัยด้วย

จากการวิจัยของแบรนด์ ปัจจัย 4 ประการที่มีผลต่อการออกแบบห้องน้ำในยุคต่อไป คือ

1.ความไม่แน่นอน (uncertain) จากวิกฤตโรคระบาดทำให้ผู้คนสัมผัสถึงความไม่แน่นอนในชีวิต
2.ดิจิทัล (digital) ผู้คนเคยชินกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เช่น การทำงานออนไลน์
3.จิตใจ (mind) ความเครียดมากขึ้นจากการล็อกดาวน์ พบปะเพื่อนฝูงน้อยลง
4.สังคม (society) ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเป็นประเทศอันดับ 17 ของโลกที่มีคนสูงอายุมากที่สุด และทำให้สังคมเป็น multigeneration ครอบครัวอยู่ร่วมกันหลายวัย

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ COTTO นำมาจับคู่และผสมผสานออกมาเป็นดีไซน์ที่มองว่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่สำหรับพื้นที่ “ห้องน้ำ” ภายในบ้าน ดังนี้

1.RE-VITAL เทรนด์ที่ผสานระหว่างเทคโนโลยีกับความเรียบง่าย ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เน้นดีไซน์ที่เป็นมิตร ลบเหลี่ยมมุมให้ปลอดภัย เหมาะกับทุกคนในครอบครัว

สินค้าแนะนำ เช่น สุขภัณฑ์ VERZO ที่มีนวัตกรรม ULTRA CLEAN+ ยับยั้งแบคทีเรียได้เอง 99% ใน 24 ชั่วโมง

Re-Vital

2.RE-BALANCE เทรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างการใช้งานของมนุษย์ เทคโนโลยี และธรรมชาติ การดึงสีเขียวและต้นไม้มาเป็นส่วนหนึ่งของจุดสนใจในห้อง เพราะพลังของสีเขียวทำให้ประสาทตาผ่อนคลายและความดันโลหิตลดลง

สินค้าแนะนำ เช่น อ่างล้างหน้าเฉดสีเขียว เฉดสีใหม่ที่ COTTO ออกแบบมาเพื่อตกแต่งห้องน้ำให้ดูกลมกลืนกับธรรมชาติ

Re-Balance

3.RE-VIBE เทรนด์แห่งความเป็นอิสระในตัวเอง ฟุ้งฝัน และสร้างสรรค์ หลุดออกจากกรอบเดิมๆ มิกซ์แอนด์แมทช์ของสะสมหรือรสนิยมความชอบส่วนตัว ที่ ‘ต้องเลือกเอง’ เท่านั้น

สินค้าแนะนำ เช่น ก๊อกน้ำ Geo Series ซีรีส์ใหม่ สามารถ Mix & Match ส่วนประกอบต่างๆ ให้เป็นสไตล์เฉพาะของตัวเอง

Re-Vibe

4.RE-CO เทรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ใส่ใจโลก แต่ยังดูดี ดูเท่ ตามนิยาม Black is a New Green

สินค้าแนะนำ เช่น สินค้าที่ประหยัดน้ำแต่ยังมีดีไซน์อย่างสุขภัณฑ์ Simply Modish สีดำด้าน

Re-Co

5.RE-WILD เทรนด์แห่งการอยู่ร่วมสมัยกันระหว่างวัย ทำให้งานดีไซน์จะเน้นยุคที่มีจุดร่วมกันอย่าง Art Deo แต่ปรับให้ทันสมัยขึ้น ใช้รูปทรงอย่างทรงวงรีของอ่างอาบน้ำ หรือสุขภัณฑ์รุ่นฟรีเกทที่มีรูปทรงโค้ง และดูเป็นมิตร

สินค้าแนะนำ เช่น สุขภัณฑ์ตัวใหม่รุ่น Simply Modish – Waving Sensor ในกลุ่ม Touchless พร้อมฝารองนั่ง Slim Design ที่เพิ่มเรื่อง Comfort seat ช่วยให้นั่งสบายเหมาะกับหลากหลายสรีระ

Re-Wild

COTTO ยังออกแคมเปญดึงตัวแทนคนรุ่นใหม่ 5 คนเพื่อมาเป็นตัวแทนให้กับเทรนด์ห้องน้ำทั้ง 5 แบบ ได้แก่ นับเงิน ฉัตร์นลิน เจ้าของช่อง NUBNUBB channel เป็นตัวแทนเทรนด์ RE-VITAL, พลอย และเดย์ จาก THINKK STUDIO เป็นตัวแทนเทรนด์ RE-BALANCE, โบกี้ BOWKYLION ศิลปินไทยชื่อดัง เป็นตัวแทนเทรนด์ RE-VIBE, แก๊ป ธนเวทย์ ดีไซเนอร์ นักแสดง และ Content Creator เป็นตัวแทนเทรนด์ RE-CO และ แอร์ ภัณฑิลา นักแสดง และเจ้าของธุรกิจ เป็นตัวแทนเทรนด์ RE-WILD

“กิตติพงษ์ โพธิ์ธรานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด กล่าวต่อว่า การเปิดตัวเทรนด์ใหม่ครั้งนี้มาพร้อมกับ Virtual Showroom ที่จะตอบโจทย์ลูกค้าเรื่องสุขอนามัย และยังสะดวกมากขึ้น สามารถเลือกดูจากที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ ฝั่งบริษัทเองก็อัปเดตสินค้าใหม่ได้ง่ายขึ้นบนดิจิทัล

 

ปี 2565 เชื่อตลาดกลับมาโต 2%

ด้านเทรนด์ตลาดสุขภัณฑ์และก๊อกน้ำในไทย กิตติพงษ์ยอมรับว่าปีนี้ไม่ใช่ปีที่ดี ตลาดหดตัวลงมาเหลือมูลค่า 10,000 ล้านบาท แต่คาดว่าปี 2565 น่าจะกระเตื้องขึ้น เชื่อว่าจะกลับมาโต 2% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจหลังจากผ่านสองปีที่สาหัสมากมาแล้ว

สำหรับ COTTO เฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์และก๊อกน้ำ คาดว่าปี 2564 จะทำยอดขายได้ 4,000 กว่าล้านบาท ซึ่งอาจจะโตขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย แต่หวังว่าปี 2565 จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10%

เนื่องจากบริษัทจะกลับไปโหมบุกตลาดอาเซียนอย่างเต็มที่ จากก่อนหน้า COVID-19 เริ่มเข้าตลาดไปแล้วแต่เพราะโรคระบาดทำให้ตลาดสะดุด มีประเทศที่ให้การตอบรับดีและมีการเติบโตสูง เช่น อินโดนีเซีย

(ซ้าย) “กิตติพงษ์ โพธิ์ธรานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด และ (ขวา) “อนุวัตร เฉลิมไชย” Head of Ceramics Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี

รวมถึงสินค้ากลุ่ม Smart & Hygiene ปีหน้าเชื่อว่าจะโตถึง 20% สินค้ากลุ่มนี้มีการใช้เทคโนโลยีสร้างความสะดวกและลดการสัมผัส เช่น ก๊อกน้ำระบบเซ็นเซอร์ ฝารองนั่งอัตโนมัติ สุขภัณฑ์ระบบ waving sensor เป็นต้น และ COTTO เป็นผู้นำตลาด มีมาร์เก็ตแชร์ถึง 40%

ปัจจุบันสินค้ากลุ่ม Smart & Hygiene มีสัดส่วน 7-8% ในยอดขายของ COTTO และคาดว่าปีหน้าจะไต่ขึ้นไปถึงสัดส่วน 10% ได้ จากความต้องการผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ลูกค้ากลุ่มรีโนเวตเติบโตในช่วงหลัง COVID-19 และห้องที่ลูกค้ามักจะรีโนเวตก่อนคือ ห้องทำงานหรือมุมทำงาน เพราะมีความจำเป็นต้องใช้ รองลงมาคือ ห้องน้ำ เพราะปรากฏว่ากลายเป็นจุดที่ต้องใช้กันทั้งบ้านและทั้งวัน เมื่ออยู่บ้านกันมากขึ้น” อนุวัตรกล่าว

คลิกชมคอลเล็กชัน Design Trend ห้องน้ำของ COTTO ได้ที่นี่

]]>
1357938
ไปให้สุดขั้วจินตนาการ Rolls-Royce เปิดให้คุณ “ออกแบบรถ” เองได้แล้ว https://positioningmag.com/1335101 Wed, 02 Jun 2021 10:46:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1335101 Rolls-Royce แบรนด์รถหรูอังกฤษเปิดให้ลูกค้า “ออกแบบรถ” เองได้ หากผ่านความเห็นชอบจากผู้บริหาร (และถ้าคุณพร้อมจ่าย) คุณจะได้เห็นรถในฝันของตัวเองเป็นจริง

แบรนด์รถยนต์ Rolls-Royce เป็นแบรนด์รถหรูล่าสุดที่เปิดให้ลูกค้าเศรษฐีออกแบบปรับแต่งรถยนต์พิเศษของตัวเองได้ ก่อนหน้านี้มีสองแบรนด์ที่เปิดโอกาสนี้แล้วคือ Bentley กับ Porsche (ทั้งสองแบรนด์ดังกล่าวอยู่ในเครือ Volkswagen ส่วนแบรนด์ Rolls-Royce อยู่ในเครือ BMW)

บริการพัฒนารถตามแบบที่ลูกค้าต้องการอยู่ภายใต้โครงการ Rolls-Royce Coachbuild แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ต้องการจะได้รับการตอบรับ เพราะบอร์ดบริหารของแบรนด์จะเลือกรถในฝันของลูกค้าเพียงหนึ่งคันในช่วง 2-3 ปี โดยแบรนด์ไม่ได้ระบุราคาที่ชัดเจน แต่แน่นอนว่ารถแบบนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายหลักล้านดอลลาร์สหรัฐหรือหลายสิบถึงหลายร้อยล้านบาท

“ลูกค้าของ Rolls-Royce Coachbuild จะได้ร่วมพัฒนาอย่างใกล้ชิดด้วยตนเองตลอดทุกขั้นตอนของการออกแบบดีไซน์และงานวิศวกรรม” ทอร์สเทน มุลเลอร์-ออตวอส ซีอีโอของ Rolls-Royce กล่าว

ด้านท้ายของรถรุ่น Boat Tail เป็นจุดเก็บอุปกรณ์ปิคนิค

เพื่อเป็นการเปิดตัวโครงการนี้ ทางแบรนด์จึงออกรถรุ่นใหม่ชื่อ Boat Tail ซึ่งจะผลิตขึ้นเพียง 3 คันสำหรับลูกค้า 3 คนเท่านั้น (บริษัทไม่เปิดเผยชื่อผู้ซื้อ) รถรุ่นนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการแล่นเรือและต้องการให้รถมีความรู้สึกใกล้เคียงกับพาหนะทางทะเล แบรนด์ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่ารถรุ่นนี้สนนราคาเท่าใด แต่มีผู้ประเมินราคว่าน่าจะสูงถึง 25 ล้านบาทต่อคัน (ประมาณ 779 ล้านบาท)

รถรุ่น Boat Tail ออกแบบคล้ายกับรถคลาสสิกยุค 1920-30s ยุคนั้นรถหรูมักจะดีไซน์ให้ท้ายรถเรียวลู่เหมือนกับหางเรือ ซึ่งช่วยให้รถวิ่งได้เร็วขึ้น และได้ลุคเพรียวลม รถรุ่นนี้ยังออกแบบให้หลังคาสามารถถอดออกได้เลย ไม่ใช่แค่เปิดประทุนแล้วนำหลังคาไปไว้ด้านหลัง ทำให้พื้นที่ด้านหลังกลายเป็นที่เก็บของได้ ซึ่งในรถรุ่นนี้ถูกออกแบบให้เก็บอุปกรณ์ปิกนิก เช่น ร่ม เก้าอี้ โต๊ะ กล่องไวน์และแก้วไวน์ ทั้งหมดสามารถเลือกสีและสไตล์ให้ตรงกับแชมเปญที่ลูกค้าโปรดปรานได้

 

ออกแบบเองได้เหมือนกับยุคก่อนสงครามโลก

ที่จริงแล้ว การออกแบบรถพิเศษเฉพาะตัวไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปในยุคแรกเริ่มของรถยนต์ ผู้ซื้อที่ต้องการรถยนต์ จะจ้างการผลิตแยกกัน โดยแยกเป็นฝั่งผู้พัฒนาเครื่องยนต์ เช่น แบรนด์ Rolls-Royce, Hispano-Suiza หรือ Duesenberg และอีกฝั่งคือการจ้างพัฒนาตัวถังรถ ซึ่งมักจะเป็นบริษัทเดียวกับที่ผลิตตู้รถม้ามาก่อน บริษัทตัวถังรถออกแบบเฉพาะเหล่านี้ยังคงมีชื่อเสียงในกลุ่มนักสะสมรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ LeBaron ในสหรัฐฯ Touring จากอิตาลี Figoni et Falaschi และ Saoutchik จากฝรั่งเศส ฯลฯ

รถคลาสสิกออกแบบเฉพาะ 1934 Rolls-Royce Phantom II Continental Drophead Coupé (Photo : Rolls-Royce / CNN)

ในที่สุด บริษัทเครื่องยนต์รถก็เป็นฝ่ายซื้อกิจการบริษัททำตัวถังให้เข้ามาทำงานภายในบริษัท สำหรับ Rolls-Royce ยังคงให้บริการรถออกแบบเฉพาะต่อไปจนกระทั่งถึงยุค 1960s เป็นต้นมาที่เลิกมีบริการนี้ ยกเว้นส่วนประกอบเล็กๆ น้อยๆ ในรถหรือสีของรถที่เลือกได้ (ในปี 2017 บริษัทเคยมีข่าวว่าพัฒนารถพิเศษให้เศรษฐีรายหนึ่ง บริษัทไม่เคยปฏิเสธแต่ก็ไม่เคยยืนยันข่าวนี้เลย)

เหตุที่การผลิตรถเฉพาะบุคคลยากขึ้น เพราะกฎระเบียบด้านความปลอดภัย แม้แต่การออกแบบรถสำหรับผลิตระดับแมสก็ยังยากที่จะออกแบบให้ถูกต้อง

มุตเลอร์-ออตวอสระบุว่า โครงการนี้จะทำกำไรให้บริษัท และไม่เหมือนกับการออกแบบคอนเซ็ปต์คาร์ เพราะไม่ได้เป็นการทำรถเพื่อโชว์เท่านั้น

Source

]]>
1335101
ชิงปรับก่อนดราม่า! Amazon เปลี่ยนไอคอนแอปฯ ใหม่ หลังแบบเดิมดูคล้าย “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” https://positioningmag.com/1321772 Wed, 03 Mar 2021 11:35:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1321772 Amazon เพิ่งปรับไอคอนแอปฯ โฉมใหม่ไปเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา แต่เสียงตอบรับจากลูกค้ามองว่าโลโก้ใหม่ดูคล้าย “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” ทำให้บริษัทเลือกชิงปรับแบบโลโก้ใหม่อย่างเงียบๆ ก่อนจะก่อดราม่า แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจให้เหมือนก็ตาม

แค่คล้ายๆ ก็อาจจะดราม่าได้ ทำให้บริษัทต้องรีบปรับใหม่ด่วน! สำนักข่าว CNN รายงานว่า Amazon มีการปรับเปลี่ยนไอคอนแอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซของบริษัทใหม่เล็กน้อย หลังจากเสียงตอบรับผู้บริโภคมองว่าไอคอนดูคล้ายกับ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” เผด็จการนาซีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

ไอคอนแอปฯ Amazon แบบดั้งเดิมนั้นเป็นรูปรถเข็นสีฟ้าบนพื้นหลังสีขาว และมีโลโก้บริษัทรูปลูกศรหน้ายิ้มกำกับ กระทั่งวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา บริษัทมีการเปลี่ยนไอคอนใหม่เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 5 ปี โดยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเพื่อสื่อถึง “กล่องพัสดุ” มีโลโก้ลูกศรหน้ายิ้มตรงกลาง ส่วนด้านบนกล่องเป็นเทปกาวสีฟ้าที่ถูกฉีกเป็นรอยหยัก

พัฒนาการไอคอนแอปฯ Amazon

เทปกาวรอยหยักที่มาคู่กับลูกศรหน้ายิ้มนี่เองที่ทำให้หลายคนมองเห็นเป็นไอคอนของ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” เพราะดันไปดูเหมือนกับหนวดทรงแปรงสีฟันที่กลายเป็นสัญลักษณ์ถึงฮิตเลอร์ไปแล้ว

ไอคอนแบบใหม่จึงจัดการเปลี่ยนเทปกาวมีรอยหยัก เป็นเทปกาวตัดตรงพับมุมเล็กน้อย เหมือนกับว่ากำลังจะแกะเทปกาวออกหลังรับพัสดุ และเป็นดีไซน์ใหม่เพื่อไม่ให้เหมือนกับฮิตเลอร์อีกต่อไป

ไอคอนแบบฮิตเลอร์เพิ่งเริ่มทยอยเปลี่ยนในกลุ่มผู้ใช้ iOS 4 ประเทศ คือ สหราชอาณาจักร สเปน อิตาลี และเนเธอร์แลนด์เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน และปรับใน iOS ทั่วโลกได้เพียงสัปดาห์เดียว ส่วนผู้ใช้ Android จะได้ปรับใหม่สัปดาห์นี้ ดังนั้น ผู้ใช้ Android จะข้ามขั้นไปเห็นไอคอนเป็นแบบที่ปรับมาแล้วทีเดียวเลย

ประเด็นเกี่ยวกับ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” และ “นาซี” เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก ฮิตเลอร์เป็นผู้ก่อสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวไปกว่า 6 ล้านคนในยุคที่เขาเรืองอำนาจ และยังฝากบาดแผลให้กับสังคมจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นแม้จะเป็นไอคอนที่ “คล้ายๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ” แต่การปรับไว้ก่อนน่าจะเป็นทางที่ดีกว่า

Source

]]>
1321772
“อิตาลี” เตรียมสร้างพาวิลเลียนจุดรับวัคซีน COVID-19 ปูพรม 1,500 แห่งทั่วประเทศ https://positioningmag.com/1310820 Thu, 17 Dec 2020 05:51:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1310820 วัคซีนแห่งความหวังของมนุษยชาติวิจัยสำเร็จ ขั้นตอนต่อไปคือการระดมฉีดให้กับประชาชน ทำให้ “อิตาลี” ออกแบบพาวิลเลียนชั่วคราวขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เตรียมติดตั้ง 1,500 แห่งทั่วประเทศ เริ่มเดือนมกราคม 2021 สร้างแรงกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน COVID-19

สเตฟาโน โบเอรี สถาปนิกโครงการพร้อมทีมที่ปรึกษา แถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ทีมงานได้ออกแบบภาพเบื้องต้นและโลโก้ของพาวิลเลียนชั่วคราวที่จะใช้เป็นจุดรับวัคซีนป้องกัน COVID-19 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยพาวิลเลียนดังกล่าวจะก่อสร้างทั้งหมด 1,500 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะตั้งในจัตุรัสใจกลางเมืองต่างๆ

พาวิลเลียนนี้ออกแบบเป็นรูปวงกลม โดยใช้ไม้และผ้าเป็นส่วนประกอบหลัก ใช้โลโก้รูปดอกพริมโรสสีชมพูสดใส ซึ่งทางสถาปนิกอธิบายว่า คอนเซ็ปต์ของงานจะให้ความรู้สึก “เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยและความสงบสุข”

การมารับวัคซีนจะเป็นการทำเพื่อสังคม เพื่อความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และเพื่อการค้นพบชีวิตใหม่ ไวรัสนี้ทำให้เราถูกล็อกดาวน์อยู่กับบ้านหรือโรงพยาบาล แต่วัคซีนได้ช่วยให้เราได้กลับสู่ชีวิตและธรรมชาติรอบตัวเราอีกครั้ง” โบเอรีกล่าว

(Photo : Stefano Boeri Architetti)

โบเอรีเป็นหนึ่งในสถาปนิกชื่อก้องของอิตาลี มีผลงานที่โดดเด่นที่สุดชื่อ “อิล บอสโก เวอร์ติคาเล” หรือ “ป่าแนวตั้ง” ซึ่งเป็นอาคารที่มี facade ภายนอกเป็นต้นไม้และพื้นที่สีเขียวทั้งหมด เขายังเคยได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรในงานสัมมนา ACT Forum 2019 ที่ประเทศไทยด้วย

สำหรับงานครั้งนี้ โบเอรีและทีมอุทิศผลงานให้กับภาครัฐฟรี เพื่อช่วยเหลือประเทศ โดยอิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกไวรัสโคโรนาคุกคามหนักที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยสถิติผู้เสียชีวิตมากถึง 65,000 คน (ข้อมูลจากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins) ซึ่งมากที่สุดในทวีปยุโรป

การรณรงค์และสร้างแรงกระตุ้นให้ประชาชนอิตาลีเข้ารับวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอิตาลีมีกระแสความไม่เชื่อมั่นต่อวัคซีนป้องกันโรคมาแล้วหลายปี แม้ว่าจะเป็นกระแสในกลุ่มเล็กๆ ก็ตาม นอกจากนี้ รัฐบาลอิตาลียังประกาศยกเลิกการบังคับฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนไปเมื่อปี 2018

กระแสต่อต้านวัคซีนในบางประเทศเป็นสิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าจะทำให้โรคระบาด COVID-19 ถูกควบคุมได้ช้ากว่าที่คาด โดยประเทศที่มีกลุ่มต่อต้านวัคซีนอย่างชัดเจน เช่น สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร (พื้นที่เวลส์เป็นหลัก), โรมาเนีย แต่ละกลุ่มย่อยมีเหตุผลต่างกันไป ตั้งแต่ความไม่เชื่อมั่นในการพัฒนาวัคซีนว่าจะไม่มีผลข้างเคียง ประสบการณ์เลวร้ายจากการฉีดวัคซีน จนถึงเหตุผลด้านศาสนา

Source

]]>
1310820
น่ารักเวอร์! แคมเปญจาก Häagen-Dazs ญี่ปุ่น ให้คุณออกแบบลายถ้วยไอศกรีมเองได้! https://positioningmag.com/1310373 Tue, 15 Dec 2020 07:23:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1310373 Häagen-Dazs ญี่ปุ่นออกแคมเปญการตลาดสนุกๆ ให้คุณอัปโหลดภาพทำเป็นลายถ้วยไอศกรีมเองได้! กลายเป็นไวรัลบนอินเทอร์เน็ต ช่วยให้แบรนด์อยู่ในใจผู้บริโภค

Häagen-Dazs ประเทศญี่ปุ่น จัดทำแคมเปญการตลาดสนุกๆ บนโลกออนไลน์ “Digital Häagen Cup” ให้คุณอัปโหลดภาพใดๆ ก็ได้เพื่อสร้างลายถ้วยไอศกรีม และระบุชื่อรสชาติเองได้

จากนั้นระบบจะประมวลผลออกมาเป็นถ้วยไอศกรีมแบบ 3 มิติ เห็นลายได้รอบด้าน และมีแบ็กกราวนด์อัตโนมัติ 24 แบบให้เลือกดาวน์โหลดไปส่งต่อบนโซเชียลมีเดียได้เลย

ออกแบบเสร็จแล้ว ระบบจะทำภาพอัตโนมัติมาให้ 24 แบบเลย

แม้จะไม่สามารถผลิตออกมาเป็นลายถ้วยของจริง แต่แค่ออกแบบออนไลน์ก็สนุกน่ารักจนชาวญี่ปุ่นลามมาถึงเมืองไทยเข้าไปอัปโหลดภาพกันจำนวนมาก เพราะจะใส่ภาพอนิเมะหรือดาราที่ชอบก็ได้ กลายเป็นไวรัลเล็กๆ บนโซเชียลมีเดียที่ช่วยย้ำ Brand Awareness พร้อมกับได้การมีส่วนร่วมจากผู้บริโภค ดังตัวอย่างด้านล่าง

ใครที่สนใจเข้าไปเล่นกันได้ที่ >> https://www.haagen-dazs.co.jp/haagenhomeproject/digitalhaagencup/edit/step1/

หน้าเว็บไซต์เป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด แต่เข้าใจได้ไม่ยาก เพียงแค่อัปโหลดภาพ ย่อ-ขยายรูปภาพให้พอดีตามต้องการ และตั้งชื่อรสชาติ จากนั้นก็รอชมผลงานได้เลย!

สนุกง่ายๆ กับ Haagen-Dazs
]]>
1310373
บอกลาห้องชุดจิ๋ว 21 ตร.ม. เทรนด์ “คอนโดฯ” ยุคใหม่กลับมาใหญ่ขึ้น – มีห้องทำงาน https://positioningmag.com/1303448 Wed, 28 Oct 2020 10:37:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1303448 สถานการณ์ COVID-19 เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอยู่อาศัยของคน ต้องการพื้นที่ในห้องมากขึ้นโดยเฉพาะ “ครัว” และ “ห้องทำงาน” ทำให้ห้องชุดต้องมีพื้นที่เริ่มต้น 27-28 ตร.ม. จึงจะเพียงพอ พร้อมปรับพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นส่วนตัวขึ้น มีจุดรับเดลิเวอรี่-พัสดุเพื่อป้องกันด้านสุขอนามัย

“ไพทยา บัญชากิติคุณ” ผู้ก่อตั้ง ATOM Design บริษัทสถาปนิกที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบที่อยู่อาศัย เปิดเผยถึงเทรนด์สำคัญที่เกิดขึ้นหลังประเทศไทยผ่านสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 พบว่าความต้องการของผู้อยู่อาศัยเปลี่ยนไป ต้องการห้องชุดคอนโดมิเนียมที่ใหญ่ขึ้น มีฟังก์ชันครบ

โดยเฉพาะจุดที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือ “ครัว” และ “ห้องทำงาน” เพราะช่วงล็อกดาวน์อยู่กับบ้านทำให้ผู้อยู่อาศัยหันมาทำอาหารทานเอง และเมื่อมีการ Work from Home การใช้โต๊ะกินข้าวหรือโต๊ะกาแฟหน้าโซฟาทำงานจึงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ควรจะมีมุมทำงานหรือห้องทำงานเป็นสัดส่วน

ห้องครัวในคอนโดฯ เทรนด์ใหม่จะกลับมาสู่ชุดครัวที่ทำอาหารได้จริง (ภาพจากโครงการศุภาลัย พรีเมียร์ สี่พระยา-สามย่าน)

ย้อนกลับไปในอดีต ห้องชุดในคอนโดฯ มีแนวโน้มจะเล็กลงเรื่อยๆ ตามราคาที่ดินกรุงเทพฯ ที่พุ่งสูงขึ้น โดยกฎหมาย กำหนดไว้ว่าห้องชุดต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่ต่ำกว่า 21 ตร.ม. โดยสถาปนิกพบว่าห้องชุดขนาดที่นิยมจะมีพื้นที่ใช้สอยไม่ต่ำกว่า 24 ตร.ม. และเทรนด์การออกแบบห้องเล็กขนาดนี้จะพยายามตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก เช่น ครัวที่เล็กลงเรื่อยๆ

แต่เมื่อเกิดจุดเปลี่ยน COVID-19 ในปีนี้ดังที่กล่าวข้างต้น การออกแบบปัจจุบันทำให้ห้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่ต่ำกว่า 27-28 ตร.ม. เพื่อให้ครัวกลับมาใช้ทำอาหารได้ ไม่ใช่เป็นครัวอุ่นอาหารเท่านั้น และห้องแบบ 1 ห้องนอนพลัส คือมีห้องย่อยไว้เป็นห้องทำงาน เริ่มเป็นที่นิยมสูงขึ้น

 

ห้องใหญ่ขึ้นแต่ราคาต้องเท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม เมื่อห้องปรับใหญ่ขึ้นจาก 24 ตร.ม. เป็น 28 ตร.ม. โดยปกติราคาต้องเพิ่มขึ้นตามประมาณ 20% หากคิดราคาต่อตร.ม.เท่าเดิม แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ผู้ซื้อไม่สามารถจ่ายแพงขึ้นอีก 20% ได้ กลายเป็นโจทย์ของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จะกดราคาลงมาให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมกับตลาด ทำให้ผู้ซื้อจ่ายเท่าเดิมแต่ได้ห้องใหญ่ขึ้นให้ได้

ไพทยาให้ความเห็นว่า ต้นทุนที่ผู้ประกอบการสามารถต่อรองได้ในสภาวะนี้คือ “ที่ดิน” ซึ่งบางแปลงปัจจุบันสามารถต่อราคาลงได้ 20-30% เพราะเจ้าของที่ดินอาจมีความจำเป็นต้องเร่งขายเพื่อนำเงินสดไปหมุนธุรกิจ

ยุคเศรษฐกิจฝืด ที่ดินบางแปลงยอมลดราคา 20-30% ขึ้นอยู่กับการเจรจา และความจำเป็นขายของเจ้าของที่ดิน

อีกส่วนหนึ่งคือ “ค่ารับเหมาก่อสร้าง” เนื่องจากสภาวะนี้ทำให้ผู้รับเหมาแข่งขันกันลดราคาสูงมาก จนล่าสุดมีโครงการที่มีผู้รับเหมาประมูลงานได้ในราคาที่ถูกที่สุดในรอบ 5 ปี

สำหรับผู้ประกอบการที่ดัมพ์ราคาเปิดขายให้ต่ำกว่าตลาด 20% ขึ้นไปเริ่มมีให้เห็นแล้วในปีนี้ และราคาที่ถูกลงส่งผลให้ยอดขายดี ยกตัวอย่างโครงการที่ขายดีจน Sold Out ปิดการขายทั้งโครงการได้ท่ามกลางเศรษฐกิจฝืด เช่น ศุภาลัย พรีเมียร์ สี่พระยา-สามย่าน, ดิ ออริจิ้น อ่อนนุช, โมดิซ ลอนช์ ทียู รังสิต เป็นต้น

 

พื้นที่ส่วนกลางไม่เพิ่ม แต่ต้องเป็นส่วนตัว

ด้าน “พื้นที่ส่วนกลาง” ที่เป็นอีกข้อกังวลของคนอยู่คอนโดฯ ในช่วง COVID-19 ไพทยามองว่าโครงการไม่สามารถเพิ่มพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเว้นระยะห่างจากกันได้ เพราะจะมีผลกับราคาขาย แต่ในพื้นที่ส่วนกลางขนาดเท่าเดิม ต้องมีการจัดแบ่งใหม่ให้เหมาะกับวิถีชีวิต New Normal

วิถีชีวิตใหม่ต้องการที่ทำงานในบ้าน อย่างน้อยควรมีมุมตั้งโต๊ะทำงานแยกจากโต๊ะทานอาหาร (ภาพจากโครงการ โมดิซ ไรห์ม รามคำแหง)

ยกตัวอย่างเช่น คอนโดฯ บางแห่งที่จะจัดให้มี Co-working Space ในโครงการ จากเดิมอาจจะวางโต๊ะยาวนั่งรวมกัน ก็ต้องพิจารณาปรับมาเลือกเป็นโต๊ะเก้าอี้แบบ Private Booth มีที่กั้นเป็นสัดส่วนมากขึ้น เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบายใจ

นอกจากนี้ ยังต้องจัด ส่วนรับสินค้าเดลิเวอรี่และพัสดุ ต่างหาก เพื่อป้องกันไม่ให้คนนอกเข้ามาในพื้นที่ส่วนกลางมากเกินไป และเฝ้าระวังทำความสะอาดได้ง่าย จุดนี้ถือเป็นส่วนสำคัญมากสำหรับโลกยุคใหม่ เพราะจากการเก็บสถิติพบว่า โครงการที่มีจำนวนห้องชุด 300 ห้อง จะมีการรับพัสดุและเดลิเวอรี่เฉลี่ยวันละถึง 100 ชิ้น

สำหรับเทรนด์การออกแบบเหล่านี้และการออกแบบในประเด็นอื่นๆ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้จากงานสัมมนาและเอ็กซ์โป ACT Forum’20 Design + Built ระหว่างวันที่ 18-22 พ.ย. 63 ที่ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ เช่น การออกแบบโรงแรมและคอนโดฯ ในยุค COVID-19, การปลูกป่ากลางเมืองเรื่องที่ทำได้จริง, คุณภาพชีวิตใหม่ในบ้านพักคนงาน, Circular Economy in Architecture เป็นต้น

]]>
1303448
IKEA x Lego ดีไซน์ “กล่องเก็บของ” สำหรับต่อเลโก้ หมดปัญหาตัวต่อกระจายเต็มพื้น https://positioningmag.com/1294458 Fri, 28 Aug 2020 07:26:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1294458 เลโก้ ของเล่นยอดฮิตของเด็ก (และผู้ใหญ่) ที่ช่วยสร้างเสริมจินตนาการ แต่ปัญหาก็คือ ตัวต่อจำนวนมากมักจะกระจายเต็มพื้นบ้านระหว่างลูกๆ สร้างสรรค์ผลงาน และเจ็บปวดเท้าทุกครั้งที่เหยียบโดน ทำให้พ่อแม่ไม่ปลื้มเท่าไหร่ บริษัท Lego จึงเลือก collab “กล่องเก็บของ” สำหรับเลโก้โดยเฉพาะกับ IKEA บริษัทเฟอร์นิเจอร์จากสวีเดน

กล่องเก็บของนี้ใช้ชื่อว่า Bygglek ออกแบบมาอย่างเรียบง่าย แบ่งออกเป็น 4 ขนาด และสามารถเก็บตัวต่อเลโก้ได้หลายร้อยตัว จุดไฮไลต์ของกล่องนี้คือภายในกล่องและฝาปิดกล่องจะเป็นปุ่มแบบตัวต่อเลโก้ ทำให้กล่องซ้อนกันเป็นชั้นๆ ได้เหมือนตัวต่อเลโก้นั่นเอง รวมถึงเวลาเด็กๆ เล่นตัวต่อเลโก้ก็สามารถใช้กล่องเป็นฐานได้เลย ทำให้การเคลื่อนย้ายจัดเก็บสะดวกขึ้น

ฝากล่องมีปุ่มต่อเลโก้ ใช้เป็นฐานในการสร้างงานขึ้นได้ (Photo : IKEA)

“ตัวกล่องเองสามารถออกแบบให้เป็นบ้าน เป็นสระว่ายน้ำ เป็นสนามกีฬาก็ได้ ไม่มีถูกไม่มีผิดเลย” ราสมุส บุช ล็อกสตราป ดีไซเนอร์ของ Lego หัวหน้าทีมออกแบบกล่องกล่าว

ล็อกสตราปชื่นชอบเลโก้มาตั้งแต่เด็ก และยังคงเก็บตัวต่อเลโก้ของเขาจากยุค 1970s ไว้ เขามองว่า เมื่อก่อนนี้การเล่นตัวต่อเลโก้มักจะต้องรอให้ถึงวันหยุดก่อน เพราะมันมักจะทำให้บ้านรกมาก “ตอนผมยังเด็ก เรามักจะเก็บตัวต่อไว้ในผ้าห่มผืนใหญ่ เมื่อมาดีไซน์กล่อง Bygglek เราจึงคุยกันถึงเรื่อง ทำอย่างไรให้เราสามารถเล่นตัวต่อและหยุดกลางคันได้โดยไม่ต้องมีตัวต่อกระจายคาเต็มพื้น” ล็อกสตราปกล่าว

(Photo : IKEA)

ทีมดีไซน์ยังคุยกับนักจิตวิทยาเด็กด้วย และพบว่าในมุมมองของเด็กมักเห็นว่ากองตัวต่อเต็มพื้นไม่ใช่ความรกรุงรัง แต่เป็นสภาพแวดล้อมของความคิดสร้างสรรค์ระหว่างที่งานศิลปะของพวกเขากำลังก่อร่างขึ้น อย่างไรก็ตาม มุมมองนี้ย่อมปะทะกับความต้องการของพ่อแม่ที่อยากให้บ้านเป็นระเบียบ

ดังนั้น ทีมของล็อกสตราปจึงมีเป้าหมายการหาทางออกให้กับทั้งพ่อแม่และเด็กๆ “ถ้าเราสามารถสร้างกล่องเก็บของที่เป็นได้ทั้งส่วนหนึ่งของตัวของเล่น และเป็นที่เก็บของด้วย นั่นคือความสำเร็จ” ล็อกสตราปกล่าวในงานแถลงข่าว

(Photo : IKEA)

กล่องเก็บของ IKEA x Lego นี้จะมาในแพ็กเกจกล่องแบนให้นำไปประกอบขึ้นรูปเองตามสไตล์ของ IKEA แต่รับรองว่าจะประกอบง่ายจนแม้แต่เด็ก 5 ขวบก็ทำได้ กล่องดังกล่าวจะเริ่มวางขายที่สหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคมนี้ ราคาจำหน่าย 9.99 เหรียญสหรัฐ สำหรับเซตกล่อง 3 ใบ และมีขายกล่องขนาดใหญ่ที่สุด 1 ใบราคา 14.99 เหรียญสหรัฐ โดยรุ่นนี้จะมาพร้อมตัวต่อเลโก้จำนวน 201 ชิ้นด้วย

เลโก้ที่จะมาพร้อมกล่องที่ขายใน IKEA จะเป็นตัวต่อแบบเรียบง่ายที่เด็กเล็กก็เล่นได้ พร้อมมีกิมมิกเกี่ยวกับบ้านด้วยตัวต่อรูปกล้วยกับฮอตด็อก สมกับที่ขายในร้านเฟอร์นิเจอร์

Source

]]>
1294458
ออกแบบ “ออฟฟิศ” หลัง COVID-19 : 4 สิ่งที่ควรปรับด่วน และ 4 สิ่งที่ควรเปลี่ยนในระยะยาว https://positioningmag.com/1280527 Mon, 25 May 2020 12:47:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1280527 หลายบริษัทเริ่มให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแล้ว หรือแบ่งทีมกันทยอยกลับไปใช้ชีวิต (เกือบ) ปกติในที่ทำงาน แต่ไวรัส COVID-19 ยังไม่สามารถรักษาหรือป้องกันได้ 100% ทำให้การออกแบบออฟฟิศควรปรับใหม่เพื่อรับมือกับโรคระบาด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

Gensler บริษัทที่ปรึกษาและออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลก ศึกษาวิจัยการปรับการดีไซน์ “ออฟฟิศ” เมื่อเรายังคงต้องรับมือกับไวรัส COVID-19 และต้องคำนึงถึงอนาคตที่โลกอาจเกิดโรคระบาดใหม่ขึ้นอีก

โดยบริษัทให้คอนเซ็ปต์คร่าวๆ ว่า การออกแบบออฟฟิศหลังจากนี้จะต้องคำนึงถึง “สุขภาพส่วนบุคคล” เป็นหลัก และต้องปรับเปลี่ยนได้ง่าย เพราะการค้นพบทางการแพทย์อาจจะเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้แพทย์แนะนำให้คนเราอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1.8 เมตรเพื่อป้องกันโรค ถ้าหากอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงระยะดังกล่าว ออฟฟิศก็จะต้องเปลี่ยนตาม

ที่ผ่านมามีหน่วยงานให้การรับรองอาคารที่ตรวจสอบแล้วว่ามีระบบสร้างความปลอดภัยแก่สุขภาพมนุษย์ คือ มาตรฐานอาคาร WELL เป็นสถาบันตรวจสอบและให้คะแนนเกี่ยวกับระบบน้ำ อากาศ แสง ฯลฯ แต่เมื่อพบกับโรคระบาด Gensler จึงแนะนำการปรับปรุงอาคารสำนักงานดังต่อไปนี้ เพื่อทำให้ผู้ใช้อาคารเกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น

 

“4 สิ่งที่ควรปรับในระยะสั้น”

1.เปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่พบปะของผู้คน

คงไม่ใช่เรื่องที่ดีนักหากจะให้คนเข้าไปแออัดกันในห้องประชุมที่ระบบถ่ายเทอากาศไม่ดีพอ หลังจากนี้เจ้าของออฟฟิศหรืออาคารควรลดอัตราจำนวนคนที่จุได้ในห้องประชุมลงครึ่งหนึ่ง ส่วนคนที่เหลือที่เข้ามาไม่ได้ ควรเข้าร่วมประชุมแบบเสมือนจริงแทน

2.ออกแนวทางปฏิบัติการทำความสะอาดแบบลงดีเทล

แม้จะมีเครื่องจ่ายเจลล้างมือ น้ำยาล้างมือในห้องน้ำ และการเช็ดทำความสะอาดเปลี่ยนมาใช้น้ำยาฆ่าเชื้อแล้ว แต่ผู้ใช้อาคารก็ยังต้องการความอุ่นใจมากกว่านั้น

Gensler พบว่าพื้นที่ที่คนให้ความสนใจเรื่องความสะอาดมากที่สุดคือ “โต๊ะทำงานแบบใช้ร่วมกัน” ดังนั้นเจ้าของอาคารควรออกแนวทางปฏิบัติเน้นย้ำการทำความสะอาดสำหรับโต๊ะทำงานแบบใช้ร่วมกัน รวมถึงพื้นที่ใช้ร่วมกันอื่นๆ เช่น ห้องประชุม โต๊ะประชาสัมพันธ์ พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และควรจะใช้มาตรฐานกลางจากองค์กรภายนอกเพื่อให้ผู้ใช้อาคารมั่นใจว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม

(Photo: Marley Clovelly)

3.เน้นเรื่องคุณภาพอากาศในอาคาร

เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญยิ่งในการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับการใช้อาคาร สำหรับอาคารที่ก่อสร้างเสร็จไปแล้ว อาจจะหาเทคโนโลยีช่วยกรองและทำลายไวรัส/แบคทีเรียภายในอาคาร เช่น การติดตั้งระบบแสงยูวีฆ่าเชื้อ

4.แสดงระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับสุขอนามัย สร้างความมั่นใจ

เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้อาคาร เจ้าของอาคารควรแสดงผลการทำความสะอาดและระเบียบปฏิบัติตามจุดต่างๆ ในอาคารที่คนส่วนใหญ่จะรับข้อมูลได้ เช่น ล็อบบี้ ลิฟต์ หรือส่งข้อมูลผ่านทางแอปพลิเคชัน ในอนาคต อาคารสำนักงานอาจจะมีการวัดเกรดความสะอาดเหมือนกับที่ร้านอาหารมีก็ได้

 

“4 สิ่งที่ควรปรับในระยะยาว”

ต่อไปนี้คือการปรับการออกแบบออฟฟิศในอนาคต โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าผู้ใช้อาคารจะยังเน้นเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญก่อนเลือกเช่าออฟฟิศ

1.เปลี่ยนแนวคิดด้านระบบถ่ายเทอากาศ

ใช้หน้าต่างที่สามารถเปิดปิดได้ หน้าต่างแบบนี้น่าจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งเพราะสามารถเปิดเพื่อช่วยถ่ายเทอากาศในอาคารได้ง่าย และยังทำให้ผู้เช่ารู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมอาคารในส่วนที่ตนเองเช่าอยู่ได้มากขึ้น

(Photo: Andrea Piacquadio)

2.เพิ่มพื้นที่กลางแจ้ง

ก่อนหน้านี้ เทรนด์การออกแบบอาคารสำนักงานเริ่มให้ความสำคัญกับพื้นที่กลางแจ้งมากขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้พื้นที่รูฟท็อปหรือระเบียงกลางแจ้งขนาดใหญ่ เมื่อพบกับโรคระบาด เจ้าของโครงการน่าจะให้ความสำคัญมากขึ้นกับการเพิ่มการใช้งานรูฟท็อปทั้งในโครงการใหม่หรือการรีโนเวตตึกเก่า เพื่อให้เป็นพื้นที่รับอากาศบริสุทธิ์ของผู้ใช้อาคาร

3.องค์ประกอบ “ต้นไม้” ภายในอาคาร

การออกแบบโดยผสมผสานธรรมชาติไว้ในอาคาร (biophilic design) จะได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะการนำต้นไม้และการจำลองธรรมชาติมาไว้ในออฟฟิศช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ลดความเครียด ช่วยให้มนุษย์ฟื้นจากความเจ็บป่วยได้เร็วขึ้น

(Photo: Marc Mueller)

4.เปลี่ยน floor-plan

หลายอย่างในการออกแบบ floor-plan และองค์ประกอบในอาคารจะเปลี่ยนไป เช่น ขณะนี้หลายอาคารพยายามลดความหนาแน่นของจำนวนคนภายในอาคารโดยคิดภาพเพียงระยะสั้น แต่การลดความหนาแน่นเหล่านี้อาจจะต้องคิดต่อให้เป็นภาพระยะยาว

จุดสำคัญยิ่งอีกจุดหนึ่งในอาคารคือการออกแบบ “ห้องน้ำ” ซึ่งเป็นจุดใช้งานร่วมกันหลายคน ออฟฟิศควรดีไซน์ห้องน้ำไร้ประตู เหมือนที่ใช้งานตามสนามบิน เพื่อลดการสัมผัสมือจับประตูอันเป็นจุดเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หรืออาจจะเปลี่ยนประตูเป็นแบบใช้เท้าเปิดปิด ใช้ประตูอัตโนมัติ ประตูสั่งการด้วยเสียง หรือสั่งการด้วยการเคลื่อนไหวมือ (hand gesture)

Gensler ย้ำว่า การดีไซน์อาคารเพื่อรับมือโรคระบาดยังเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาต่อเนื่อง เพื่อหาโซลูชันที่ดีที่สุดในการปกป้องผู้ใช้อาคารทุกคน

]]>
1280527