เยอรมนี – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 24 Oct 2023 12:00:42 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘เยอรมนี’ จ่อแซง ‘ญี่ปุ่น’ ขึ้นแท่นประเทศที่มี GDP สูงอันดับ 3 ของโลก หลังครองตำแหน่งมานานนับสิบปี https://positioningmag.com/1449043 Tue, 24 Oct 2023 07:55:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1449043 IMF คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของ ญี่ปุ่น ในปี 2566 นี้ จะร่วงลงไปอยู่อันดับ 4 ของโลก โดยจะถูกประเทศ เยอรมนี ขึ้นแซง เนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง

ในปี 2022 ที่ผ่านมา มูลค่า GDP ของ ประเทศญี่ปุ่น อยู่ที่ประมาณ 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้น 1.1% ส่วน GDP ของ เยอรมนี อยู่ที่ 4.07 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1 GDP ของญี่ปุ่นจะสามารถเติบโตได้ ถึง 1.6% และไตรมาส 2 สามารถเติบโตได้ 6% ซึ่งสูงสุดในรอบ 2 ปี

แต่เนื่องจากเงินเยนที่อ่อนค่าลง และผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น ส่งผลให้การบริโภคของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 2 ถดถอย 2% ซึ่งปัจจุบันตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของ GDP ญี่ปุ่น

ส่งผลให้ IMF คาดว่า GDP ของเยอรมนีในปี 2023 จะแซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 หลังจากที่ญี่ปุ่นครองตำแหน่งนี้มานานกว่าสิบปี และ IMF ยังคาดอีกว่า GDP อินเดียจะซึ่งแซงหน้าญี่ปุ่น ภายในปี 2026 และเป็นไปได้ว่าอินเดียจะขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ภายในปี 2027

ย้อนไปปี 1968 ญี่ปุ่นได้แซงเยอรมนีตะวันตกในแง่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือที่เรียกว่า GNP ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้หลักในขณะนั้น และกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และตำแหน่งนั้นก็ถูก จีน แซงในปี 2013

Source

]]>
1449043
ส่องแผนรับมือสังคมสูงวัยใน “เยอรมนี” หันมาใช้ “หุ่นยนต์” ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น https://positioningmag.com/1429137 Mon, 01 May 2023 10:02:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1429137 “เยอรมนี” เป็นประเทศที่มีอัตราผู้สูงวัยสูงที่สุดในสหภาพยุโรป ทำให้ต้องเริ่มนำ “หุ่นยนต์” เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น โดยมีการศึกษาพบว่าคนเยอรมัน “ไม่หวั่น” กับการนำหุ่นยนต์มาช่วยงาน และภาคธุรกิจมองว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาช่วยในลักษณะ “ไฮบริด” มากกว่าทดแทนคนได้ 100%

เมื่อไตรมาส 4 ปี 2022 สำนักงานสถิติรัฐบาลกลางเยอรมนี พบว่ามีแรงงานในระบบอยู่ 45.9 ล้านคน แต่ถึงแม้ว่าตัวเลขคนมีงานทำจะสูงที่สุดที่เคยมีมา แต่หอการค้าเยอรมนีก็ยังพบว่า บริษัทเยอรมันกว่าครึ่งหนึ่งยังหาแรงงานทักษะเข้ามาทำงานได้ยากมาก

“โอลาฟ ชอลซ์” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021 เคยประกาศแผน “Daring More Progress” ไว้แก้ปัญหานี้ โดยเป็นแผนที่จะมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งานในโลกธุรกิจให้มากขึ้น

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของเยอรมนีนั้นไม่น่าแปลกใจ เพราะเยอรมนีเป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยมากที่สุดในยุโรป ทำให้ทางออกของปัญหาก็จะเหมือนกับญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ คือ ต้องนำหุ่นยนต์และการสร้างระบบดิจิทัลเข้ามาทดแทนแรงงานและทำให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์เก็บถาดอาหาร เครื่องชำระเงินด้วยตนเองในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาใช้พูดคุยในการทำงาน ทุกอย่างจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในเยอรมนี

 

คนเยอรมันไม่หวั่น “หุ่นยนต์” แย่งงาน

แล้วการใช้หุ่นยนต์มากขึ้น ทำให้แรงงานเยอรมันกังวลมากแค่ไหน?

มีผลการศึกษาจาก Gallup เมื่อปี 2018 พบว่าคนเยอรมัน 37% เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีจะทำให้ประสิทธิผลในการทำงานเพิ่มขึ้น 62% มองว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีเพียง 1% ที่คิดว่าเทคโนโลยีจะทำให้การทำงานยิ่งแย่ลง

คนเยอรมัน 6% มองว่าการใช้เทคโนโลยีจะทำให้โอกาสการตกงานน้อยลง ในทางตรงข้าม คนเยอรมัน 10% คิดว่าเทคโนโลยีจะส่งผลให้พวกเขาเสี่ยงตกงานมากขึ้น ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่คิดว่าการใช้เทคโนโลยีจะ ‘ไม่มีผลอะไร’ ต่อความเสี่ยงตกงาน เห็นได้ว่าคนเยอรมันไม่ได้หวั่นกลัวเท่าไหร่นักว่า “หุ่นยนต์” จะมาแย่งงานทำ

ความจริงแล้วเยอรมนีเริ่มการใช้หุ่นยนต์มาไม่น้อยแล้ว โดยสต็อกหุ่นยนต์ที่มีในสหภาพยุโรปนั้นประมาณครึ่งหนึ่งนำมาใช้งานอยู่ในเยอรมนีนี่เอง และส่วนใหญ่ถูกใช้งานในภาคอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ แต่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม และผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็มีการใช้งานหุ่นยนต์สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน (ข้อมูลจากรายงานโดย คณะกรรมาธิการยุโรป)

 

นำมาใช้แบบ “ไฮบริด” ไม่ได้แย่งงานคนโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ภาพการทำงานในอนาคตคงไม่ใช่การปล่อยงานให้หุ่นยนต์หรือระบบดิจิทัลทำแบบ 100% เพราะหลายสายงาน ‘ลูกค้า’ ไม่มั่นใจที่จะให้เป็นเช่นนั้น

“ไม่มีใครยอมปล่อยให้หุ่นยนต์ตัวเดียวดูแลคุณย่าแน่นอน” นอร์มา สเตลเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์จาก German Bionic กล่าวกับสำนักข่าว CNBC โดยบริษัทนี้เป็นผู้ผลิตเครื่องมือถ่วงน้ำหนักให้กับแรงงานที่ต้องใช้แรงงานหนัก เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาบาดเจ็บจากการทำงาน

สเตลเลอร์กล่าวว่า ภาคบริการดูแลผู้สูงอายุจะได้ประโยชน์จากการนำหุ่นยนต์มาช่วยงาน เพราะปัจจุบันแรงงานคนในภาคธุรกิจนี้ขาดแคลนอย่างมาก

“เราจะเชื่อมสะพานที่ขาดหายด้วยการนำหุ่นยนต์มาใช้งานร่วมกับมนุษย์ แนวคิดของเราคือมนุษย์จะยังได้ใช้ทักษะของคนในด้านอารมณ์ความรู้สึกเพื่อดูแลผู้สูงวัย” สเตลเลอร์กล่าว

การใช้งานที่ยังต้องมีทั้งหุ่นยนต์และมนุษย์ทำงานร่วมกัน เป็นเพราะฝั่งผู้รับบริการหรือลูกค้าก็ยังไม่มั่นใจในหุ่นยนต์ โดยผลการสำรวจของ Gallup ถามความเห็นจากคนเยอรมัน 1,000 คน พบว่า คนส่วนใหญ่ 70% รู้สึกยังไม่ปลอดภัยที่จะนั่งในรถยนต์ไร้คนขับ

Amazon หุ่นยนต์เดินได้

ขณะที่ “คากรี เปลิแวน” ซีอีโอบริษัทให้บริการหุ่นยนต์ Robot4Work มองว่า การใช้หุ่นยนต์ทำงานจะทำให้มนุษย์มีเวลาไปทำงานที่ซับซ้อนมากกว่าได้

ที่สำคัญคือ หุ่นยนต์จะถูกใช้ทดแทนในตำแหน่งที่ใช้แรงกายหนัก ทำให้พนักงานที่อายุมากหน่อยยังสามารถทำงานต่อได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีระบุว่า ชาวเยอรมันอายุ 55-64 ปีที่ยังทำงานอยู่นั้นมีสัดส่วนถึง 71% ในปี 2021 และประเทศนี้กำลังจะเริ่มขยับอายุรับเงินเกษียณจาก 65 ปี เป็น 67 ปี ในเร็วๆ นี้ ทำให้อายุคนทำงานโดยเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน

“ในท้ายที่สุดแล้ว การนำหุ่นยนต์มาใช้งานในที่ทำงานคือการเพิ่มพูนประสิทธิภาพให้มนุษย์ ไม่ใช่มาแทนที่มนุษย์” เปลิแวนกล่าว

Source

]]>
1429137
เริ่มแล้ว! พนักงานธุรกิจขนส่งมวลชนทั่ว “เยอรมนี” รวมพลัง “สไตรค์” ขอขึ้นค่าแรงสู้เงินเฟ้อ https://positioningmag.com/1424897 Mon, 27 Mar 2023 03:43:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1424897 พนักงานธุรกิจ “ขนส่งมวลชน” ทั่วประเทศ “เยอรมนี” ไม่ว่าจะเป็นในสนามบิน รถไฟ รถบัส จะร่วมกัน “สไตรค์” นัดหยุดงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงอย่างน้อย 10.5% สู้กับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงมาตั้งแต่ปีก่อน

หลังเข็มนาฬิกาล่วงเลยเข้าสู่เวลา 00:01 น. วันที่ 27 มีนาคม 2023 ในเยอรมนี การนัดหยุดงานของพนักงาน “ขนส่งมวลชน” เมืองเบียร์ก็เริ่มขึ้น โดยถือเป็นการสไตรค์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

การนัดหยุดงาน 1 วันเต็มในวันนี้ เป็นความร่วมมือของพนักงานขนส่งมวลชนรวมหลายแสนคน ภายใต้สหภาพแรงงานหลายแห่ง ซึ่งจะกระทบการขนส่งมวลชนหลายประเภท สนามบินทุกแห่งยกเว้นในเบอร์ลินจะไม่มีคนทำงานกราวด์และรักษาความปลอดภัย กระทบเที่ยวบินประมาณ 1,500 เที่ยวบิน ไปจนถึงพนักงานขนส่งมวลชนท้องถิ่นทั้ง 16 รัฐของเยอรมนี พนักงานบนทางด่วน พนักงานท่าเรือชายฝั่ง กระทั่งพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถไฟทั่วประเทศ จะหยุดงานทั้งหมดในวันนี้

ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม สหภาพแรงงาน Ver.di ซึ่งเป็นตัวแทนหลักของพนักงานด้านการบิน ยื่นข้อเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงอย่างน้อย 10.5% หรือประมาณ 500 ยูโรต่อเดือน ขณะที่ EVG ซึ่งเป็นสหภาพพนักงานการรถไฟ ยื่นข้อเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรง 12% หรือประมาณ 650 ยูโรต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คำตอบของนายจ้างด้านธุรกิจการบินต้องการจะขึ้นค่าแรงให้ 5% เท่านั้น บวกกับโบนัสจ่ายครั้งเดียวอีก 2,500 ยูโร เช่นเดียวกันในกลุ่มนายจ้างธุรกิจรถไฟ ตอบว่าจะขึ้นค่าแรงให้ 5% และไม่มีโบนัสเพิ่มเติม

(Photo by FG/Bauer-Griffin/GC Images)

เมื่อการเจรจาไม่ได้ตามเป้าทำให้นำมาสู่การนัดหยุดงานพร้อมกันทั่วประเทศวันนี้ จากที่ก่อนหน้านี้พนักงานด้านขนส่งมวลชนมีการนัดสไตรค์กันมาเนืองๆ แต่ไม่เคยรวมตัวกันทั้งประเทศพร้อมกัน

เหตุที่พนักงานทนไม่ไหวต้องนัดหยุดงานประท้วง เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2022 จนปัจจุบันก็ยังไม่หยุด ยกตัวอย่างเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับขึ้นมาแล้ว 9.3% เทียบกับปีก่อน แม้ว่าธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB จะพยายามสกัดด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้วหลายครั้ง

เยอรมนีเป็นประเทศที่เคยพึ่งพิงแก๊สจากรัสเซียอย่างมาก ก่อนที่จะเกิดสงครามยูเครนขึ้น ทำให้เยอรมนีได้รับผลกระทบหนักเพราะต้องดิ้นรนหาแหล่งพลังงานใหม่ ในระหว่างนั้นอัตราเงินเฟ้อจึงพุ่งขึ้นสูงมากกว่าค่าเฉลี่ยในยุโรป

ผลร้ายจึงมาตกกับพนักงานทั่วไปที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทุกอย่างตั้งแต่ราคาเนยจนถึงค่าเช่าบ้าน ค่าครองชีพที่พุ่งสูงทำให้ทางสหภาพแรงงานมองว่าการขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องของ “การเอาชีวิตรอด” ของพนักงาน

อย่างไรก็ตาม ฝั่งนายจ้าง เช่น Deutsche Bahn บริษัทผู้รับสัมปทานเดินรถไฟ ออกมาตอบโต้เมื่อวานนี้ว่า การนัดหยุดงานเป็นเรื่องที่ “เกินเหตุ ไม่มีเหตุผล และไม่จำเป็น” แถมเหล่านายจ้างทั้งหลายยังเตือนด้วยว่า หากขึ้นค่าแรงให้พนักงานขนส่งมวลชน บริษัทจะปรับค่าโดยสารและภาษีที่เก็บกับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยกับต้นทุนที่จ่ายค่าแรงเพิ่ม

ไม่เฉพาะในเยอรมนีที่พนักงานมีการประท้วง ในยุโรปอีกหลายประเทศก็มีการประท้วงเนืองๆ เช่น ฝรั่งเศส ที่ประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาล จากการออกนโยบายยืดอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี เพราะรัฐต้องการจะลดภาระการจ่ายเงินบำนาญ ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่พอใจเป็นอย่างมาก

ที่มา: Reuters, AP

]]>
1424897
“เยอรมนี” กลับลำ! ยังไม่ยกเลิก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” เก็บเป็นแผนสำรองหลังรัสเซียลดส่งก๊าซ https://positioningmag.com/1399246 Wed, 07 Sep 2022 10:09:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1399246 “เยอรมนี” เปลี่ยนแผน “ไม่ยกเลิก” ใช้งาน “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” 2 แห่ง จากเดิมวางเป้าปิดตัวภายในสิ้นปี 2022 เพราะจำเป็นต้องเก็บไว้เป็นแผนสำรองหากเกิดวิกฤตก๊าซธรรมชาติ หลังจากรัสเซียลดการส่งก๊าซให้ยุโรป

เยอรมนีประกาศว่าจะเก็บโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ก่อน เตรียมพร้อมเป็นแผนสำรองหากเกิดวิกฤตพลังงานขึ้น ถือเป็นการกลับลำเปลี่ยนนโยบายจากเดิมที่จะทยอยลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ไปจนหมดในช่วงสิ้นปี 2022

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่งนั้น แห่งหนึ่งตั้งอยู่ในบาเดิน เวิร์ทเทอมแบร์ก รัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ และอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในรัฐบาวาเรียทางตะวันออกเฉียงใต้ จากนโยบายล่าสุด รัฐบาลจะเปลี่ยนมาเปิดทำการต่อไปจนถึงกลางเดือนเมษายน 2023

โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี กล่าวว่า “ประเทศนี้มีความมั่นคงด้านซัพพลายพลังงานไฟฟ้าสูงมาก” แต่ก็กล่าวด้วยว่า “ปีนี้เป็นปีที่พิเศษสำหรับทั่วทั้งยุโรป”

“การที่รัสเซียเข้าโจมตียูเครนได้สร้างสถานการณ์กดดันต่อตลาดพลังงาน และเรากำลังทำทุกทางที่ทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาก๊าซขาดแคลน” ฮาเบคกล่าว

เยอรมนีนั้นพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียคิดเป็น 35% ของการนำเข้าเชื้อเพลิงทั้งหมดของประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเยอรมนีกำลังเผชิญแนวโน้มการขาดแคลนพลังงานในฤดูหนาว หากรัสเซียจะปิดท่อส่งก๊าซมายังเยอรมนี

“ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะมีสถานการณ์วิกฤตหรือกรณีรุนแรงสุดขั้ว” ฮาเบคกล่าว “แต่ในฐานะรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบด้านความมั่นคงของซัพพลายพลังงาน ผมจะทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อรับประกันความมั่นคงนั้นไว้”

ฮาเบคเสริมด้วยว่า เยอรมนีจะยังค่อยๆ ลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ต่อไป โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งสองแห่งนั้นจะถูกใช้งานก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น

กระแสการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเยอรมนีเกิดขึ้นขนานใหญ่ หลังจากเกิดกรณีหายนะโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2011 เป็นประเด็นที่ทำให้กระแสปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จุดติดในประเทศ หลังจากกลุ่มต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์เรียกร้องกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970s แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความไม่แน่นอนเรื่องวิกฤตพลังงาน แม้แต่พรรคกรีนซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตั้งแต่ต้นก็ยังต้องคิดใหม่ โดยฮาเบคนั้นเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคกรีนด้วย

“เราต้องเตรียมตัวรับกรณีที่เลวร้ายที่สุด” ฮาเบคกล่าว “โรงไฟฟ้านั้นจะเปิดทำการก็ต่อเมื่อเราจำเป็นต้องมีพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเท่านั้น”

Source

]]>
1399246
‘เยอรมนี’–‘เดนมาร์ก’ ทุ่ม 9 พันล้านลงทุน ‘ไฟฟ้าพลังงานลม’ แทนการนำเข้าก๊าซ ‘รัสเซีย’ https://positioningmag.com/1398346 Wed, 31 Aug 2022 02:41:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1398346 หลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทาง สหภาพยุโรป (EU) ก็ออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย รวมถึงการนำเข้า พลังงาน ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซ น้ำมัน และ ถ่านหิน แน่นอนว่าการคว่ำบาตรดังกล่าวนั้น ส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิก ล่าสุด เยอรมนีและเดนมาร์กก็หันไปหาพลังงานสะอาดเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว

เยอรมนีและเดนมาร์ก ได้มีข้อตกลงร่วมกันมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้า พลังงานลม นอกชายฝั่งในทะเลบอลติก ซึ่งทางการระบุว่าจะช่วยให้สามารถจ่ายไฟฟ้าให้เพียงพอสำหรับครัวเรือน 4.5 ล้านครัวเรือน ภายในปี 2573

โดยข้อตกลงนี้ เดนมาร์กต้องการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมตามแผนที่วางไว้บนเกาะพลังงานบอร์นโฮล์มจาก 2 เป็น 3 กิกะวัตต์ และข้อตกลงดังกล่าวยังรวมถึงสายเคเบิลใต้น้ำ 292 ไมล์ที่เชื่อมโยงกังหันลมของบอร์นโฮล์มกับกริดของเยอรมนี เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซและน้ำมันของรัสเซีย

ปัจจุบัน เดนมาร์กและเยอรมนีมีความสามารถด้านพลังงานลมนอกชายฝั่ง 1.5 กิกะวัตต์ และ 1 กิกะวัตต์ ในทะเลบอลติกตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของพลังงานลมในยุโรป

Robert Habeck รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพอากาศของเยอรมนี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการ ระดับเรือธง ซึ่งจะช่วยให้ยุโรปบรรลุ ความมั่นคงด้านพลังงานและความเป็นกลางของสภาพภูมิอากาศ

“พลังงานลมจากทะเลบอลติกจะช่วยเราต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และนี่คือการลงทุนในความมั่นคงของเรา มันจะช่วยให้เราพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียน้อยลง” Annalena Baerbock รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมัน กล่าวเสริม

ความจุพลังงานลมทั้งหมดของโลก ทั้งบนบกและนอกชายฝั่ง ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 837 กิกะวัตต์ ตามรายงานของสภาพลังงานลมโลก จีนถือหุ้นใหญ่ที่สุดในตลาดพลังงานลมนอกชายฝั่งของโลก โดยได้เพิ่มกำลังการผลิตลมนอกชายฝั่งเป็น 27.7 กิกะวัตต์ในปี 2564

คณะกรรมาธิการยุโรปตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมทั้งหมดของประเทศเป็น 300 กิกะวัตต์ภายในปี 2593 เพิ่มขึ้นจาก 16 กิกะวัตต์ที่ติดตั้งในเดือนพฤษภาคม

Source

]]>
1398346
เยอรมนี ต้องการ ‘แรงงานมีทักษะ’ จากต่างประเทศ ‘4 เเสนคนต่อปี’ เเก้ปัญหาสังคมสูงวัย https://positioningmag.com/1371134 Fri, 21 Jan 2022 08:40:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371134 รัฐบาลผสมชุดใหม่ของเยอรมนี มีความต้องการที่จะดึงดูดเเรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ ปีละกว่า 4 เเสนคน เพื่อจัดการกับความไม่สมดุลทางประชากรเเละการขาดเเคลนเเรงงานในภาคธุรกิจสำคัญ ซึ่งเสี่ยงบั่นทอนการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด

ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ทวีความรุนเเรงมากขึ้นในขณะนี้ ทำให้ชะลอเศรษฐกิจเยอรมนีลงอย่างรวดเร็ว” Christian Duerr ผู้นำพรรคร่วมรัฐบาล Free Democrats (FDP) กล่าวกับนิตยสารธุรกิจ WirtschaftsWoche

เราสามารถแก้ปัญหาแรงงานสูงวัยได้ โดยใช้นโยบายเข้าเมืองยุคใหม่ ที่จะนำแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ 400,000 คนเข้ามาให้ได้โดยเร็วที่สุด

รัฐบาลผสมชุดใหม่ของเยอรมนี ที่นำโดยพรรคโซเชียลเดโมแครตของนายกรัฐมนตรี Olaf Scholz เเละพรรค FDP รวมถึงพรรคกรีน มีความเห็นชอบร่วมกันในหลายประเด็นใหญ่ๆ อย่างการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากประเทศที่อยู่นอกสหภาพยุโรป และเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นชั่วโมงละ 12 ยูโร (ราว 450 บาท) เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาทำงานในเยอรมนี

ด้านสถาบันเศรษฐศาสตร์เยอรมนี ประเมินว่า ในปีนี้กำลังแรงงานจะลดลงมากกว่า 300,000 คน เนื่องจากเเรงงานในวัยเกษียณมีมากกว่าเเรงงานอายุน้อยที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

เป็นเรื่องน่ากังวลเมื่อช่องว่างนี้ อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 650,000 คนในปี 2029 เเละจะส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนคนวัยทำงานในปี 2030 มีจำนวนถึง 5 ล้านคน โดยจำนวนการจ้างงานชาวเยอรมัน เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 45 ล้านคนในปีที่แล้ว แม้จะมีการระบาดของโควิด-19

หลังจากมีอัตราการเกิดต่ำมายาวนานหลายทศวรรษและการย้ายถิ่นฐานที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้กำลังแรงงานหดตัวลงเรื่อยๆ กลายเป็น ‘ระเบิดเวลาของระบบบำเหน็จบำนาญในเยอรมนี เมื่อพนักงานหนุ่มสาวมีจำนวนลดน้อยลง เเต่ต้องแบกรับภาระในการจัดหาเงินบำนาญให้กับผู้เกษียณอายุที่มีจำนวนมากขึ้น เเละเเนวโน้มว่าจะมีอายุยืนยาวมากขึ้นด้วย 

 

ที่มา : Reuters 

]]>
1371134
ลดโลกร้อน! “เบอร์ลิน” ผลักดันเปลี่ยนใจกลางเมืองเป็น Car-free Zone ที่ใหญ่ที่สุดในโลก https://positioningmag.com/1370408 Fri, 14 Jan 2022 04:50:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1370408 “เบอร์ลิน” กำลังรณรงค์ออกกฎหมายเปลี่ยนพื้นที่ใจกลางเมืองขนาด 88 ตร.กม. ให้เป็น Car-free Zone พื้นที่ห้ามนำรถยนต์ส่วนตัวเข้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่เทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ชั้นใน เพื่อแก้ปัญหามลพิษ โลกร้อน อุบัติเหตุ มีพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ประชาชนใช้รถสาธารณะ จักรยาน หรือเดินเท้าแทน

แคมเปญนี้เริ่มรณรงค์กันมาตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2021 โดยกลุ่มนักกิจกรรมใช้ชื่อแคมเปญว่า “Car-free Berlin” รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายแก้ไขให้พื้นที่ใจกลางเมือง “เบอร์ลิน” เป็นพื้นที่ Car-free Zone ห้ามนำรถยนต์ส่วนตัวเข้าพื้นที่ และพวกเขาทำสำเร็จในขั้นต้นไปแล้ว เพราะรวบรวมรายชื่อได้ 50,000 รายชื่อเมื่อเดือนตุลาคม 2021 ขั้นต่อไปจะมีการลงประชามติในปี 2023

ความฝันของกลุ่มนักกิจกรรม มีจุดประสงค์เพื่อลดมลพิษและภาวะโลกร้อน โดยจะเปลี่ยนพื้นที่ใจกลางเมืองเบอร์ลินขนาด 88 ตร.กม. ให้เป็น Car-free Zone

พื้นที่นี้นับเฉพาะวงด้านในของรถไฟสาย S-Bahn Ring ซึ่งวิ่งรอบเมืองเป็นวงกลม ขนาดพื้นที่นี้ใหญ่มาก หากทำสำเร็จจะกลายเป็น Car-free Zone ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ชั้นใน ตั้งแต่พระนครไล่เรื่อยไปถึงสาทร ปทุมวัน จนถึงสุขุมวิทโซนทองหล่อเลยทีเดียว

เบอร์ลิน Car-free Zone
วงแหวนรถไฟสาย S-Bahn Ring ด้านในของวงแหวนนี้ถูกเสนอให้เป็น Car-free Zone ของ “เบอร์ลิน”

แน่นอนว่าการจำกัดรถยนต์เข้าออกจะมีข้อยกเว้นให้กับรถ 6 กลุ่ม ได้แก่ รถเมล์, รถแท็กซี่, รถขนส่ง, รถตำรวจ, รถดับเพลิง และรถที่ผู้ใช้งานมีความจำเป็นด้านร่างกาย ทั้งนี้ จะมีข้อยกเว้นให้นำรถยนต์ส่วนตัวเข้าเขตได้ 12 ครั้งต่อปี เพราะบางครั้งประชาชนก็อาจมีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องใช้รถเข้าพื้นที่ เช่น การย้ายบ้าน

นอกเหนือจากนั้นจะไม่สามารถเข้าได้ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนใช้รถสาธารณะ เดินเท้า ขี่จักรยาน ทำให้พื้นที่ผิวถนนจะถูกนำมาใช้ประโยชน์อื่นเพิ่ม เช่น พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว แก้ปัญหามลพิษ ภาวะโลกร้อน และลดอุบัติเหตุ

บรรยากาศลานเบียร์ในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี วันที่ 5 มิ.ย. 2021 (Photo by Stefan Zeitz/Xinhua)

ในขณะที่ประเทศอื่นหรือเมืองอื่นอาจมองข้ามช็อตไปที่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่เบอร์ลินยังคงเรียกร้องที่จะเป็น Car-free Zone โดยสิ้นเชิง ต่อประเด็นนี้ Nik Kaestner หนึ่งในนักกิจกรรมที่ผลักดันแคมเปญ กล่าวกับสำนักข่าว The Guardian ว่า เป็นเพราะถ้าหากเบอร์ลินจะลดการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางได้ตามเป้าหมาย คนในเบอร์ลินต้องเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 50%

แต่ปัจจุบันเบอร์ลินมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแค่ 1.3% เท่านั้น ดังนั้นการรอรถยนต์ไฟฟ้าคงจะไม่ทันการ และการห้ามรถยนต์เข้าไปเลยก็มีประโยชน์อื่นดังที่กล่าวไปข้างต้นด้วย

แคมเปญนี้เป็นไปได้แค่ไหน? ในเมืองหลักของเยอรมนีนั้นมีค่าเฉลี่ยครอบครองรถยนต์ส่วนตัวประมาณ 1 คันต่อประชากร 2 คน กล่าวคือในประชากร 1,000 คน มีรถยนต์อยู่ประมาณ 450 คัน แต่ผู้เชี่ยวชาญพบว่าส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ใช้งานตลอดเวลา มักจะจอดทิ้งไว้ในที่จอดรถ มีรถยนต์เพียง 150 คันที่ถูกนำมาใช้เป็นประจำ เมื่อประชากรใช้รถน้อยอยู่แล้ว ก็เป็นไปได้ที่คนจะเห็นด้วยกับการมี Car-free Zone

เบอร์ลินไม่ใช่เมืองแรกของยุโรปหรือของโลกที่จะมี Car-free Zone หลายเมืองในยุโรปเริ่มทำไปก่อนแล้ว (แม้จะไม่ใหญ่ขนาดนี้) เช่น สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ใจกลางเมืองจะปิดไม่ให้รถเข้าในช่วงหน้าร้อนระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน และเมืองอื่นๆ ก็กำลังออกแบบและเสนอกฎหมายห้ามรถเข้ากลางเมืองเช่นกัน เช่น เวียนนา ประเทศออสเตรีย, ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

Source: Timeout, Ampler Bikes

]]>
1370408
‘เยอรมนี’ เล็ง ‘บังคับฉีดวัคซีน’ พ่วงล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ หลังผู้ติดเชื้อพุ่ง https://positioningmag.com/1363887 Wed, 24 Nov 2021 15:52:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1363887 เยอรมนีเตรียมตัดสินใจเกี่ยวกับข้อจำกัดด้าน COVID-19 ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และอาจถึงขั้นปิดเมืองแบบเต็มรูปแบบ นอกจากนี้อาจจะ บังคับให้ประชาชนฉีดวัคซีน เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อรายวันทะลุ 66,884 ราย และซึ่งส่งผลต่อเตียงโรงพยาบาลที่อาจไม่เพียงพอ

เยนส์ สปาห์น รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของประเทศ ได้ออกคำเตือนต่อชาวเยอรมันว่า อาจจะจำกัดพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น เช่น บาร์ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และพิพิธภัณฑ์ โดยจะจำกัดการเข้าถึงเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลอาจไม่มีกำลังมากพอในการรับผู้ป่วย เพราะห้องไอซียูเต็ม และนั่นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย COVID-19 เท่านั้น

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เยอรมนีมีผู้ป่วยรายใหม่ 66,884 ราย จากเมื่อวันอังคารมีผู้ป่วยรายใหม่ 45,326 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 100,000 ราย  

นอกจากนี้ รัฐบาลของเยอรมนีกำลังพิจารณา บังคับฉีดวัคซีน โดยได้ขอร้องให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจุบันเยอรมนีมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่าหลายประเทศในยุโรปตะวันตก โดยมีเพียง 68% ของประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน

เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป เยอรมนีพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะส่งเสริมการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เนื่องจากการแพร่กระจายของโควิดสายพันธุ์เดลตาที่แพร่เชื้อได้สูง และรุนแรงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้ามาก อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องการฉีดวัคซีนบังคับเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกันในยุโรป แต่เจ้าหน้าที่บางคนเชื่อว่าการให้วัคซีน เป็นวิธีเดียวที่จะหยุดไวรัสได้

ทั้งนี้ วัคซีนโควิดช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อรุนแรง การรักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากไวรัสได้อย่างมาก แต่ภูมิคุ้มกันของวัคซีนจะลดลงหลังจากผ่านไปประมาณ 6 เดือน และไม่ได้ผล 100% ในการลดการแพร่กระจาย

Source

]]>
1363887
นักวิทย์เยอรมนีรู้ทางแก้ปัญหา “ลิ่มเลือดอุดตัน” หลังฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ และ J&J https://positioningmag.com/1334271 Fri, 28 May 2021 04:59:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1334271 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เยอรมนี อ้างว่าพบต้นตอของภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นน้อยมาก อันเกี่ยวข้องกับวัคซีน COVID-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ากับจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ระบุสามารถปรับแก้วัคซีนเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวได้

งานวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์โรล์ฟ มาร์สชาเลค จากมหาวิทยาลัยเกอเธ่ ในแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ 26 พ.ค. ชี้ว่าปัญหาอยู่ที่ เทคโนโลยีใช้อะดิโนไวรัสเป็นตัวนำพา (Adenovirus Vector) ที่วัคซีนทั้งสองตัวเลือกใช้ โดยวัคซีนไวรัสเวคเตอร์จะใช้ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ มาดัดแปลงเป็นพาหะนำคำสั่งที่สำคัญเข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ในร่างกายผู้ได้รับวัคซีน เพื่อผลิตโปรตีนหนาม (spike protein) และกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกันในร่างกาย

ศาสตราจารย์มาร์สชาเลค และคณะทำงานของพวกเขาเชื่อว่าบางส่วนของโปรตีนหนามหลุดออกจากกัน และส่งผลให้โปรตีนเหล่านั้นเกิดการกลายพันธุ์ จากนั้นโปรตีนดังกล่าวก็จะเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งในเอกสารให้คำจำกัดความว่า “Vaccine-Induced Covid-19 Mimicry” syndrome

และผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่าพวกผู้ผลิตวัคซีนสามารถแก้ไขด้วยการนำวัคซีนไปปรับแต่งสารพันธุกรรม เพื่อป้องกันไม่ให้สไปค์โปรตีนแตกตัวโดยไม่ตั้งใจเมื่อเข้าสู่เซลล์ร่างกาย และเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

“ด้วยข้อมูลที่เรามีอยู่ในมือ เราสามารถบอกบริษัทต่างๆ ถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงลำดับพันธุกรรม รหัสของสไปค์โปรตีน ในแนวทางที่ป้องกันเกิดปฏิกิริยาที่ไม่ตั้งใจ” มาร์สชาเลคกล่าว

vaccine Johnson
Photo : Shutterstock

พวกนักวิจัยบ่งชี้ต่อว่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ทั้งหมด รวมถึงที่พัฒนาโดยไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา “น่าจะเป็นตัวแทนของผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย” เพราะใช้เทคโนโลยีต่างออกไป โดย mRNA ไม่ได้ใช้ไวรัสอ่อนแอ หรือไวรัสเชื้อตายใส่เข้าไปในเซลล์ แต่วัคซีน mRNA เป็นการสอนพวกมันให้เรียนรู้ถึงการสร้างโปรตีนโดยที่ไม่ได้เข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์

เอกสารนี้ถูกเผยแพร่ก่อนตีพิมพ์บนเว็บไซต์ Research Square แต่การศึกษาดังกล่าวที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบทบทวนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มีความเกี่ยวข้องกับอาการลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นน้อยมากๆ แต่รุนแรง และในบางรายถึงขั้นเสียชีวิต

ผู้เสียชีวิตรายแรกในอียูที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เกิดขึ้นในเบลเยีม เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นผู้หญิงวัย 37 ปี ส่งผลให้ประเทศแห่งระงับใช้วัคซีนกับบุคคลอายุต่ำกว่า 41 ปี

ส่วนวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า พบผู้มีอาการลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดแล้วมากกว่า 140 รายในเขตเศรษฐกิจยุโรป ขณะที่ในสหราชอาณาจักรพบ 300 ราย ในนั้นเสียชีวิต 56 คน

Astrazeneca vaccine
Photo : Shutterstock

หลายประเทศทั่วโลกระงับใช้วีคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ส่วนประเทศอื่นๆ จำกัดการใช้เฉพาะกับผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ก็พบประเด็นปัญหาในวัคซีนเทคโนโลยี mRNA เช่นกัน โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี) แถลงในช่วงกลางเดือนว่า กำลังสืบสวนรายงานเกี่ยวกับประเด็นการอักเสบของหัวใจในคนหนุ่มสาว ส่วนใหญ่เกิดกับเพศชายที่ได้รับวัคซีนของโมเดอร์นา และไฟเซอร์

นอกจากนี้แล้วยังมีรายงานโรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) หรือ “โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก” 3 เคส ในบรรดาผู้รับวัคซีนของไฟเซอร์ และไบโอเอ็นเทคในฝรั่งเศส

คนที่มีอาการฮีโมฟีเลีย จะมีโปรตีนตัวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดหายไป หรือมีไม่เพียงพอ เฉพาะฉะนั้นผู้ป่วยฮีโมฟีเลียจึงมีเลือดออกเป็นระยะเวลานานกว่าคนปกติ หลังจากถูกของมีคมบาดหรือมีเลือดออกภายใน การมีเลือดออกภายในมักเกิดขึ้นในข้อต่อและกล้ามเนื้อ แต่อาจเกิดขึ้นได้ที่สมองหรืออวัยวะอื่นๆ

Source

]]>
1334271
‘เยอรมัน’ ประกาศล็อกดาวน์ยาวถึงมิ.ย. หวังชะลอการระบาดระลอก 3 https://positioningmag.com/1329521 Tue, 27 Apr 2021 07:13:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1329521 เยอรมนีได้ประกาศล็อกดาวน์รอบใหม่เพื่อลดการติดเชื้อระลอกที่สาม โดยมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะมีผลจนถึงเดือนมิถุนายน ส่งผลให้เกิดการประท้วงเกิดขึ้นในหลายเมือง

เยอรมนีได้ออกมาตรการเคอร์ฟิวเพื่อชะลอการระบาดในระลอกที่สาม ซึ่งการออกมาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากในช่วง 7 วันที่ผ่านมา อัตราการติดเชื้อทั่วประเทศอยู่ที่สัดส่วน 161 คนต่อประชากร 100,000 คน ทั้งนี้ การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการแพร่กระจายของสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น

มาตรการดังกล่าวจะเน้นภูมิภาคที่มีอัตราผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 คนจากประชากรทั้งหมด 100,000 คน ซึ่งมีถึง 16 รัฐ ที่มีผู้ติดเชื้อสูงเกินเกณฑ์ นอกจากนี้ยังออกมาตรการเคอร์ฟิว ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 22.00 น. ถึงตี 5 โดยจะอนุญาตให้ออกจากบ้านได้เฉพาะในกรณีที่ต้องไปหรือกลับจากที่ทำงาน, ไปขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือพาสุนัขไปเดินเล่น

อย่างไรก็ตาม มีประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจกับมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้มีการเดินขบวนเล็ก ๆ เกิดขึ้นในหลายเมือง อาทิ แฟรงก์เฟิร์ตและฮันโนเวอร์ แม้ว่าจะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็ตาม

ภาพจาก CNBC

Olaf Scholz รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า เขาไม่คิดว่ามาตรการต่าง ๆ จะคลี่คลายลงก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคม ขณะที่ Jens Spahn รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า

“สถานการณ์ร้ายแรง และไม่ได้มีแค่การฉีดวัคซีนที่ลดการแพร่ระบาดได้ แต่ต้องลดการสัมผัสและลดการแพร่เชื้อเท่านั้น ถึงจะสามารถยับยั้งการระบาดรอบที่สามได้”

ทั้งนี้ มีชาวเยอรมันได้รับวัคซีนแล้ว 606,000 คน และภายในต้นเดือนพฤษภาคม รัฐบาลตั้งเป้าจำนวนผู้ได้รับวัคซีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด และภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม คาดหวังว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 1 ใน 3

Source

]]>
1329521