ความเหลื่อมล้ำ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sat, 04 Mar 2023 13:48:38 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ภารกิจใหม่ “เสนาฯ” ขอช่วยแก้ปัญหาสังคม เปิด 10 ธุรกิจใหม่ตั้งแต่ “ปล่อยกู้” จนถึง “บ้านมือสอง” https://positioningmag.com/1421905 Sat, 04 Mar 2023 13:06:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1421905 “ดร.ยุ้ย-เกษรา” เปิดการแถลงข่าวด้วยสปีชที่เล่าถึงแรงบันดาลใจยุคใหม่ “เสนาฯ” หลังร่วมทีม “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” มากว่า 1 ปี เผชิญปัญหาสังคมมหาศาลและต้องการสะท้อนกลับมาที่การทำธุรกิจของบริษัท ขอเป็นผู้ช่วยแก้ปัญหาคนเมือง ลดความเหลื่อมล้ำและดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านการเปิด 10 ธุรกิจใหม่ไล่ตั้งแต่ปล่อยกู้เช่าซื้อ รีโนเวตบ้านมือสอง จนถึงบ้านพักผู้สูงอายุ

“เราเห็นทั้งปัญหาที่เยอะขึ้นและโอกาสที่เยอะขึ้นด้วย เรามีแพสชันจากประสบการณ์ที่ผ่านมาใน 1 ปีที่เป็นทีมชัชชาติ ยิ่งลงพื้นที่มาก หาเสียงมาก สิ่งที่เราพบคือ ‘กลัว กลัว กลัว’ กลัวเพราะเราพบว่า กทม. มีพื้นที่ที่ไม่มีน้ำไฟใช้ในชุมชน มีที่ที่คนไม่สามารถเข้าถึงสาธารณสุขได้ทั้งที่อยู่ในเมืองใหญ่” ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดสปีชถึงแรงบันดาลใจที่จะกำหนดทิศทางไปต่อของเสนาฯ

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

หนึ่งในเรื่องเล่าจาก “ดร.ยุ้ย” หนึ่งในทีมที่ปรึกษาเบื้องหลังการวางแผนงานของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ทำให้รู้สึกสะท้อนใจคือการลงพื้นที่ชุมชนแออัดหลังแฟลตตำรวจ สน.ทองหล่อ

“ทุกคนจะทราบว่าราคาที่ดินทองหล่อแพงมาก ตรง สน.ทองหล่อ ราคาคงไปถึง 2 ล้านบาทต่อตร.ว.แล้ว แล้วชุมชนแออัดอยู่ห่างจากที่ดิน 2 ล้านบาทไปแค่ 20 ก้าวเดิน บ้านของเขาคือการเอาป้ายขายคอนโดฯ แถวนั้นแหละมามุงเป็นบ้าน ความเหลื่อมล้ำมันชัดเจนมากในกรุงเทพฯ” ดร.เกษรากล่าว

นั่นคือที่มาในการกำหนด “Vision 2023” ของเสนาฯ ที่จะหันมาทำธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมในมิติต่างๆ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, ปัญหาการเข้าถึงสาธารณสุขไม่เพียงพอ, การรับมือสังคมผู้สูงอายุ, ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการเปลี่ยนสู่สังคมเมือง (Urbanization) ที่ดีขึ้น

โดยวางภารกิจใหม่ไว้ภายใต้กรอบของ “Growing sustainable business, using social challenges & mega trends” นั่นคือจากนี้เสนาฯ จะสร้างธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยตอบโจทย์ความท้าทายทางสังคมและเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้น

“เราไม่อยากแค่มาบอกว่าเราเปิดกี่โครงการแล้ว ปีนี้เราอยากมาบอกว่า เราจะมาทำอะไรบ้างที่สอดคล้องกับภารกิจใหม่” ดร.เกษรากล่าว

 

10 ธุรกิจใหม่ “เสนาฯ” เพื่อสังคม

ปี 2566 เสนาฯ จึงมีการเปิดธุรกิจใหม่รวดเดียวถึง 10 บริษัท บางบริษัทเริ่มต้นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว และบางบริษัทเพิ่งเริ่มต้นการวางแผน แบ่งออกเป็นสองกลุ่มธุรกิจตามเป้าหมายการทำงาน

กลุ่มหนึ่ง – ธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายทางสังคม

  1. Nursing Home บ้านพักผู้สูงอายุ – ภายใต้ชื่อธุรกิจ “SJ Healthcare” โดยต้องการจะพัฒนาบ้านพักผู้สูงอายุสำหรับคนระดับกลางให้มากขึ้น ตอบรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย
  2. ธุรกิจบริการทางการเงิน – ภายใต้ชื่อธุรกิจ “เงินสดใจดี” ปล่อยกู้สินเชื่อเช่าซื้อเพื่อให้ลูกค้าซื้อบ้าน/คอนโดฯ ได้ง่ายขึ้น
  3. ธุรกิจบ้านมือสอง – ภายใต้ชื่อธุรกิจ “SENA SURE” แนวคิดเป็น “เตนท์บ้านมือสอง” คัดทรัพย์บ้านเก่าที่มีคุณภาพมารีโนเวตขาย เพื่อให้คนได้เข้าถึงบ้านในทำเลที่ดี ไม่ต้องออกไปอาศัยในทำเลไกลเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ
  4. ธุรกิจ EV Charging Station – เป้าหมายสร้างสถานีชาร์จรถอีวีที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และสร้างความสะดวกในการชาร์จมากขึ้น
  5. SMARTIFY – ร่วมกับ บริษัท เอ็นอีซี คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้าน
  6. โบรกเกอร์ซื้อ ขาย เช่า – ภายใต้ชื่อ Acute Realty ต้องการให้การย้ายที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคสะดวกขึ้น และการปล่อยเช่าง่ายทำให้สร้างประโยชน์จากการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ได้

SENA SURE

กลุ่มสอง – ธุรกิจเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้พื้นฐานธุรกิจ

  1. ธุรกิจบ้านพรีเมียม – ภายใต้ชื่อ Sen X Property ที่จะพัฒนาบ้านเดี่ยวในกลุ่มราคา 8-20 ล้านบาท เป็นกลุ่มพรีเมียมที่เสนาฯ มีการพัฒนาไม่มากนัก
  2. ธุรกิจรับบริหารโครงการ – โดยก่อตั้งบริษัทเพิ่มในชื่อ ACRM เพิ่มจากเดิมที่เสนาฯ มีบริษัท Victory อยู่แล้ว
  3. ธุรกิจคลังสินค้า – ภายใต้ชื่อ Metrobox โดยร่วมกับพันธมิตร Leo Global Logistics
  4. ธุรกิจโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์

ทั้งนี้ เสนาฯ ยังมีการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 บริษัทในลักษณะโฮลดิ้งเพื่อจะกระจายการดูแลธุรกิจ ได้แก่ เสนาฯ , SENA Green Energy และ Sen X Property

เสนาฯ
การแบ่งโครงสร้างองค์กรใหม่ภายใต้ 3 บริษัทโฮลดิ้งของเสนาฯ

 

“เงินสดใจดี” ความพยายามให้คนไทยมีบ้าน

หนึ่งในปัญหาที่เสนาฯ เผชิญจากการพัฒนาบ้านและคอนโดฯ ระดับกลางล่าง คือ ในระดับราคานี้ผู้ซื้อจะมีปัญหาอัตราถูกปฏิเสธสินเชื่อบ้าน (reject rate) สูงมาก ดร.ยุ้ยยกตัวอย่างกลุ่มคอนโดฯ เสนา คิทท์ ซึ่งทำราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ลูกค้ากู้สินเชื่อบ้านไม่ผ่านถึง 50-60% ดังนั้น หากจะช่วยให้ลูกค้ากู้ผ่าน ต้องช่วยลดวงเงินกู้ลงมา

“สุธรรม โอฬารกิจอนันต์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เงินสดใจดี จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทมีการจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินอย่างถูกต้อง และเริ่มการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อตั้งแต่ต้นปีนี้มีลูกค้าแล้วร่วม 40 ราย

ทีมงานผู้บริหารเสนาฯ หลังเปิดธุรกิจใหม่รวด 10 บริษัท

ลักษณะโมเดลธุรกิจคือ ลูกค้าที่มีแนวโน้มอาจกู้สินเชื่อบ้านไม่ผ่าน สามารถกู้เป็นสินเชื่อเช่าซื้อกับบริษัทแทนได้ และสามารถเข้าอยู่ในบ้าน/คอนโดฯ ได้ทันที จากนั้นทยอยผ่อนชำระเงินกู้ซึ่งจะหักเงินต้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดที่เงินต้นลดมาอยู่ในระดับที่ลูกค้าน่าจะสามารถกู้สินเชื่อบ้านได้ จะมีการส่งต่อลูกค้าให้กู้สินเชื่อบ้านจากธนาคารแทน เข้าสู่ระบบผ่อนบ้านปกติ

วิธีการให้กู้สินเชื่อเช่าซื้อก่อนจึงเป็นเหมือนการช่วยต่อเวลาผ่อนดาวน์ของลูกค้าออกไป แต่มีดอกเบี้ยและลูกค้าเข้าอยู่ได้เลย

เสนา คิทท์ เทพารักษ์-บางบ่อ เปิดเมื่อปี 2563 ปัจจุบันขายหมด 100% ทำเลเจาะแหล่งงานนิคมบางพลี

เงื่อนไขคือราคาบ้าน/คอนโดฯ เสนาฯ ที่จะขอสินเชื่อนี้ได้ต้องไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อยูนิต โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 4.5% ต่อปีเท่ากันทุกรายทุกหลัง และลูกค้ามีระยะเวลาการกู้สูงสุด 3 ปี หากครบกำหนด 3 ปีลูกค้ายังไม่สามารถเปลี่ยนมากู้สินเชื่อบ้านได้ จะต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัย โดยการชำระที่ผ่านมาทั้งหมดจะถือเป็นค่าเช่า

สุธรรมตั้งเป้าผลักดันให้ปีนี้เงินสดใจดีสามารถปล่อยกู้ได้ไม่ต่ำกว่า 200 ราย และยังมีแผนการออกสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพเพิ่มเติมด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ปี’66 เปิดตัว 26 โครงการ 24,000 ล้าน

ในแง่แผนงานตัวเลขของธุรกิจหลัก ธุรกิจพัฒนาที่พักอาศัย เสนาฯ เปิดผลการดำเนินงานปี 2565 เปิดตัวโครงการได้ต่ำกว่าเป้ามาก โดยเปิดได้เพียง 11 โครงการ มูลค่ารวม 8,900 ล้านบาท แต่ยังทำยอดขายได้แตะ 12,000 ล้านบาท รับรู้รายได้ 10,000 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิ 1,000 ล้านบาท

สำหรับปี 2566 มีเป้าหมายกลับมาอัดเปิดโครงการถึง 26 โครงการ มูลค่ารวม 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 9 โครงการ มูลค่าเกือบ 7,500 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 17 โครงการ มูลค่ารวม 16,500 ล้านบาท

เสนาฯ

ดร.เกษราแจกแจงว่า ปีนี้แนวราบจะจับกลุ่มราคา 3-6 ล้านบาทเป็นหลัก ส่วนคอนโดฯ จะเป็นแบรนด์เสนา คิทท์และเฟล็กซีถึง 16 โครงการ ซึ่งเป็นแบรนด์ในกลุ่มราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อยูนิต มีเพียงทำเลเดียวที่จะเปิดในกลุ่มราคา 2-4 ล้านบาทต่อยูนิต คือ “นิช โมโน บางโพ”

ปีนี้เสนาฯ ตั้งเป้ายอดขาย 18,200 ล้านบาท และเป้ายอดโอน 16,500 ล้านบาท รวมถึงมีงบลงทุน 9,000 ล้านบาทสำหรับธุรกิจใหม่ 10 ธุรกิจดังกล่าว

ต้องติดตามในระยะยาวว่าความตั้งใจของ “ดร.ยุ้ย” จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้มากน้อยเพียงใด!

]]>
1421905
COVID-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างออกทั่วโลก “คนรวย” เพิ่มจำนวน “คนจน” ก็เช่นกัน https://positioningmag.com/1386234 Mon, 23 May 2022 08:41:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1386234 Oxfam รายงานว่า “คนรวย” ทั่วโลกเพิ่มจำนวนขึ้น 573 คนหลัง COVID-19 โดยกลุ่มมหาเศรษฐีมีสินทรัพย์รวมกันกว่า 12.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 14% ของจีดีพีโลก ขณะที่คน 263 ล้านคนเสี่ยงที่จะเข้าสู่ระดับ “ยากจนสุดขีด” ภายในปีนี้ แนะเก็บ “ภาษี” เศรษฐีเพิ่มและนำไปช่วยบรรเทาค่าครองชีพคนจน

วันแรกของการประชุม World Economic Forum ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ องค์กรไม่แสวงหากำไร “Oxfam” รายงานสถิติพบว่า หลังจากโลกเผชิญโรคระบาด COVID-19 ทุกๆ 30 ชั่วโมงจะมี “มหาเศรษฐีพันล้าน” เพิ่มขึ้น 1 คน ในขณะที่มี “คนจน” เกือบ 1 ล้านคนเสี่ยงเข้าสู่ภาวะยากจนสุดขีดในช่วงเวลาเดียวกัน

หรือเท่ากับมีคนรวยเพิ่มขึ้น 573 คนนับตั้งแต่เกิด COVID-19 (ข้อมูลเก็บสถิติเมื่อเดือนมีนาคม 2022) ขณะที่มีคน 263 ล้านคนกำลังจะยากจนสุดขีด

ณ เดือนมีนาคม 2021 (หลังผ่านโรคระบาดมาแล้ว 1 ปี) มหาเศรษฐีทั่วโลกมีสินทรัพย์รวมกันกว่า 12.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 14% ของจีดีพีโลก

สาเหตุเป็นเพราะเศรษฐกิจตกต่ำหลังจากเผชิญโรคระบาด ซ้ำร้ายยังมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาอาหารพุ่งสูง ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างออก

Photo : Shutterstock

กาเบรียลล่า บูเชอร์ ผู้อำนวยการบริหาร Oxfam International กล่าวว่า เศรษฐีทั่วโลกมารวมกันที่ดาวอสเพื่อ “เฉลิมฉลองให้กับสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ของตนเอง”

“โรคระบาด และราคาพลังงาน-อาหารที่พุ่งสูงขึ้นกลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์สำหรับพวกเขา” บูเชอร์กล่าว “ขณะที่หลายทศวรรษแห่งความพยายามที่จะกำจัดความยากจนสุดขีดกลับเดินถอยหลัง และกำลังเผชิญค่าครองชีพที่พุ่งสูงจนแทบเป็นไปไม่ได้แม้เพียงแค่จะมีชีวิตรอด”

 

บุญหล่นทับจากโรคระบาด

Oxfam กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์มากที่สุดคือกลุ่มอาหาร พลังงาน และยา มหาเศรษฐีในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 4.53 แสนล้านเหรียญในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา หรือเท่ากับมีสินทรัพย์เพิ่ม 1 พันล้านเหรียญทุกๆ 2 วัน

ตัวอย่างเช่น Cargill ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมอาหาร เป็น 1 ใน 4 บริษัทที่ควบคุมตลาดเกษตรกรรมทั่วโลกมากกว่า 70% บริษัทนี้ยังบริหารโดยครอบครัว Cargill สามารถทำกำไรสุทธิเกือบ 5 พันล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว เป็นกำไรที่สูงที่สุดในประวัติการณ์ ทำให้ครอบครัว Cargill มีมหาเศรษฐีพันแล้วถึง 12 คน เพิ่มจากจำนวน 8 คนเมื่อก่อนเกิดโรคระบาด

Cargill Food

ส่วนอุตสาหกรรมยา มีมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้น 40 คน เพราะเป็นผู้ควบคุมผูกขาดการผลิตวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อจากบริษัทของตัวเอง

เพื่อป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำมากไปกว่านี้ Oxfam แนะนำให้รัฐบาลแต่ละประเทศเก็บภาษีเพิ่มจากกำไรที่ได้เพิ่มพิเศษเพราะโรคระบาด และนำไปช่วยเหลือคนจนที่ต้องประสบปัญหาค่าครองชีพสูงทั้งจากค่าพลังงานและอาหาร

 

จุดจบการทำกำไรจากวิกฤต?

องค์กรไม่แสวงหากำไรรายนี้ยังแนะให้รัฐบาล “หยุดการทำกำไรจากวิกฤต” โดยให้เก็บภาษีกำไรส่วนเกินที่ได้มาเพราะวิกฤต COVID-19 เป็นการชั่วคราว โดยเน้นเก็บกับองค์กรขนาดใหญ่ทุกอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์

ส่วนกรณีมหาเศรษฐี ผู้กุมอำนาจผูกขาดคลาด และกลุ่มคนรวยที่ปล่อยคาร์บอนสูง แนะนำให้เก็ฐภาษีเพิ่มแบบถาวร

องค์กรระบุว่าการเก็บภาษีคนรวยโดยเริ่มต้นเพียง 2% สำหรับกลุ่มเศรษฐีร้อยล้าน (สินทรัพย์ประมาณ 3 พันล้านบาท) และ 5% สำหรับกลุ่มเศรษฐีพันล้าน (สินทรัพย์ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) จะทำให้โลกนี้เก็บภาษีคนรวยเพิ่มได้ 2.52 ล้านล้านเหรียญต่อปี

เมื่อนำภาษีไปช่วยคนจน จะทำให้คน 2.3 พันล้านคนทั่วโลกพ้นขีดความยากจน สามารถแจกจ่ายวัคซีนได้เพียงพอแก่คนทั้งโลก และสร้างระบบสาธารณสุขให้กับคนที่อาศัยในประเทศยากจนและประเทศระดับกลางล่างได้ทั้งหมด

Source

]]>
1386234
กลุ่มประเทศร่ำรวย แห่ดึงตัว ‘พยาบาล’ จากประเทศยากจนในวิกฤตโควิด ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ https://positioningmag.com/1372265 Sun, 30 Jan 2022 07:49:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1372265 กลุ่มประเทศร่ำรวย มีความพยายามจะจ้างงาน ‘พยาบาล’ จากกลุ่มประเทศยากจนมากขึ้น ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เเพร่กระจายไปทั่วโลก สะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำเเละการขาดเเคลนบุคลากรทางการเเพทย์ที่รุนเเรงมากขึ้น 

Reuters รายงานจากคำกล่าวของ Howard Catton ซีอีโอของสภาพยาบาลนานาชาติ (ICN) ที่มีเครือข่ายกว่า 27 ล้านคนว่า

ความเสี่ยง ความเหน็ดเหนื่อยเเละการเจ็บป่วยจากการทำงานที่หนักเกินปกติ ส่งผลให้เกิดการลาออกของเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ท่ามกลางยอดผู้ป่วยจากสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปัญหาการขาดเเคลนบุคลากรทางการเเพทย์อยู่ในระดับสูง

เหล่าประเทศตะวันตก อย่าง สหราชอาณาจักร เยอรมนี แคนาดา และสหรัฐฯ กำลังพยายามเเก้ไขปัญหานี้ ผ่านการเพิ่มการจ้างงานพยาบาลจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เเนวโน้มของความไม่เท่าเทียมกันทางด้านสุขภาพเเละสาธารณสุขแย่ลงไปอีก

“ผมเกรงว่าวิธีแก้ปัญหาเช่นนี้ จะคล้ายกับกรณีที่กลุ่มประเทศร่ำรวยได้อาศัยอำนาจทางเศรษฐกิจ เพื่อซื้อและกักตุนอุปกรณ์ป้องกันโรคอย่างชุด PPE เเละวัคซีน”

จากข้อมูลของ ICN ระบุว่า ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ ก็มีปัญหาการขาดแคลนพยาบาลทั่วโลกอยู่เเล้วถึง 6 ล้านคน โดยเกือบ 90% ของการขาดแคลนมักจะอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง

การจ้างงานพยาบาลจากต่างประเทศ บางส่วนมาจากภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (sub-Saharan Africa) รวมถึงไนจีเรีย และบางส่วนของแคริบเบียน

โดยเหล่าพยาบาลจะได้รับแรงจูงใจด้วยข้อเสนอเงินเดือนที่สูงขึ้น สวัสดิการเเละเงื่อนไขที่ดีกว่าประเทศบ้านเกิด รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐาน

“หลายคนอาจจะมองว่านี่เป็นการที่ประเทศร่ำรวย หาทางลดค่าใช้จ่ายในการให้การศึกษาแก่พยาบาลใหม่และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข”

Howard Catton เรียกร้องให้มีการวางเเผนเพื่อเสริมกำลังเเรงงานอย่างจริงจังในระยะ 10 ปี เเละขอให้มีความร่วมมือกันในระดับโลก เพื่อให้มีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเเละได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูเท่านั้น

 

ที่มา : Reuters

]]>
1372265
พิษโควิด 2 ปีทำ ‘คนจน’ ทั่วโลกพุ่งแตะ 100 ล้านคน เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 ปี https://positioningmag.com/1368872 Mon, 27 Dec 2021 06:41:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1368872 ธนาคารโลกประมาณการว่าประชากรกว่า 97 ล้านคนทั่วโลกตกอยู่ในความยากจนอันเนื่องมาจากการระบาดใหญ่ในปี 2020 โดยมีรายได้ไม่ถึง 2 ดอลลาร์หรือราว 70 บาทต่อวัน โดยถือเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ขณะที่เหล่ามหาเศรษฐียิ่งทวีความร่ำรวย

ตั้งแต่ทั่วโลกได้เผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ความยากจนก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการระบาดยังคงอยู่ โดยในปี 2564 นี้มีจำนวนประชากรถึง 97 ล้านคน โดยมีจำนวนคนจนที่สุดในโลกเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปีตามการระบุของธนาคารโลก

Carolina Sánchez-Páramo ผู้อำนวยการระดับโลกด้านความยากจนและความเสมอภาคของ World Bank เปรียบว่าโรคระบาดใหญ่กับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วกว่าสึนามิที่มีศูนย์กลางในเอเชียตะวันออก ส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมกันยิ่งเพิ่มขึ้น

ในขณะที่ผู้คนหลายสิบล้านกำลังตกต่ำลง คนรวยมากก็ร่ำรวยขึ้น โดยเหล่าเศรษฐีกว่า 1,000 คน ใช้เวลาเพียง 9 เดือนในการฟื้นคืนความมั่งคั่งในช่วงการระบาดใหญ่ แต่กับคนจน พวกเขาอาจต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีเพื่อฟื้นตัว ตามรายงานความไม่เท่าเทียมกันประจำปีของ Oxfam International ที่เผยแพร่ในเดือนมกราคม

ชาเมรัน อาเบด กรรมการบริหารของ BRAC International ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานเพื่อบรรเทาความยากจนทั่วทั้งเอเชียและแอฟริกา ชี้ให้เห็นถึงช่องว่างความมั่งคั่งที่กว้างขึ้น โดยกล่าวว่า

“คนที่ร่ำรวยที่สุด 3 คนของโลก อาจยุติความยากจนข้นแค้นบนโลกได้”

“แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของพวกเขาอย่างเดียว แต่แค่บอกว่าพวกเขามีทรัพยากรเพียงพอในการจัดการกับปัญหา”

Carolina Sánchez-Páramo กล่าวต่อว่า หนึ่งในทางที่จะช่วยได้ก็คือ ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงวัคซีนหรือการรักษาบางอย่างสำหรับการระบาดใหญ่ได้อย่างเท่าเทียม เพราะจนกว่าคุณจะควบคุมการระบาดได้ มันยากมากที่จะคิดถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความไม่เท่าเทียมกันของวัคซีนได้กลายเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกหลายแห่งได้กักตุนซื้อปริมาณมากพอที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชากรของพวกเขาหลายครั้ง

นอกจากนี้ เหล่ามหาเศรษฐีที่มี 1% อยู่ภายใต้แรงกดดันในประเด็นด้านมนุษยธรรม โดยในเดือนพฤศจิกายน ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลกขององค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 2 คนคือ เจฟฟ์ เบซอส และ อีลอน มัสก์ ตระหนักถึงปัญหา โดยกล่าวว่า การให้เงิน 6 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 2% ของมูลค่าสุทธิของ อีลอน มัสก์ สามารถช่วยแก้ปัญหาความหิวโหยของโลกได้

“6 พันล้านเพื่อช่วย 42 ล้านคนที่จะตายอย่างแท้จริง”

โดยการเรียกร้องดังกล่าวได้รับการตอบสนองโดยตรงจาก อีลอน มัสก์ ซึ่งเขาทวิตบน Twitter ว่า “หากองค์กรสามารถจัดวางวิธีการที่เงินทุนจะแก้ปัญหาได้ เขาจะขายหุ้นของ Tesla ทันทีเพื่อช่วยเหลือ”

Source

]]>
1368872
โควิดทำ ‘คนจนอินเดีย’ เพิ่ม 75 ล้านคน ส่วนมหาเศรษฐีเกิดเพิ่มเป็น 140 คน ทรัพย์สินรวม 5.96 แสนล้านดอลลาร์ https://positioningmag.com/1341305 Thu, 08 Jul 2021 06:24:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1341305 ด้วยข้อจำกัดที่รุนแรงในการเดินทางและกิจกรรมทางธุรกิจเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของ COVID-19 ในอินเดีย ส่งผลให้อินเดียเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างมากในปีที่แล้ว หลังจากการล็อกดาวน์ที่กินเวลาเกือบ 4 เดือน ตัวเลขการว่างงานแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะที่จำนวนผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างมาก

จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มขึ้นจาก 74.7นปี 2543 เป็น 82.3 ในปี 2563 ที่ผ่านมา โดยยิ่งตัวเลขสูงความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้น รายได้ก็ยิ่งไม่เท่ากัน จากการวิเคราะห์โดย Pew Research Center ในปีที่ผ่านมาพบว่า ชนชั้นกลางของอินเดีย ลดลง 32 ล้านคน

ในขณะเดียวกัน จำนวนคนยากจนในอินเดีย (ที่มีรายได้ 2 เหรียญหรือราว 60 บาทต่อวัน) คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 75 ล้านคน เนื่องจากภาวะถดถอย โดย Rakesh Kochhar นักวิจัยอาวุโสของ Pew เสริมว่า จำนวนดังกล่าวคิดเป็นเกือบ 60% ของความยากจนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมผลกระทบจาก COVID-19 ระลอกสอง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Azim Premji ในรัฐกรณาฏกะของอินเดียระบุว่า 90% รายงานว่าครอบครัวได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ หลายครัวเรือนรับมือกับการสูญเสียรายได้ในปีที่แล้วด้วยการลดการบริโภคอาหาร การขายทรัพย์สิน และการกู้ยืมเงิน จากเพื่อน ญาติ และผู้ให้กู้เงิน นักวิจัยคาดการณ์ว่าชาวอินเดียประมาณ 230 ล้านคนตกอยู่ในความยากจน ซึ่งพวกเขากำหนดให้มีรายได้น้อยกว่า 5 ดอลลาร์ต่อวัน เนื่องจากการระบาดใหญ่

‘มูเกช อัมบานิ’ ผู้บริหารรีไลอันซ์ อินดัสตรีส์ กลุ่มบริษัทโทรคมนาคมและพลังงานของอินเดีย

ในขณะที่ 99% ของประชากรอินเดียจะถูกผลกระทบจาก COVID-19 จนมีรายได้ลดลง แต่ประชากร 1% ที่อยู่ในระดับมหาเศรษฐีนั้นกลับร่ำรวยยิ่งขึ้นและมีอิทธิพลมากขึ้น เนื่องจากความมั่งคั่งรวมกันของพวกเขาได้เพิ่มสูงขึ้นหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 102 คน เป็น 140 คน ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกันกว่า 5.96 แสนล้านดอลลาร์

โดย ‘มูเกช อัมบานิ’ ผู้บริหารรีไลอันซ์ อินดัสตรีส์ กลุ่มบริษัทโทรคมนาคมและพลังงานของอินเดียและถือเป็นนักธุรกิจที่มั่งคั่งที่สุดในเอเชีย มีสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้น 11% ในปีนี้เป็น 85,100 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วย ‘กัวตัม อะดานิ’ ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทอะดานิ กรุ๊ป เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากต้นปี 2564 จากที่มีทรัพย์สิน 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์เป็น 6.59 หมื่นล้านดอลลาร์

Source

]]>
1341305
“ปากีสถาน” เปิดให้เอกชนขายวัคซีน ราคาพุ่ง 4 เท่า การเข้าถึงสะท้อนความเหลื่อมล้ำ https://positioningmag.com/1327737 Mon, 12 Apr 2021 09:22:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1327737 “ปากีสถาน” กำลังรับมือการระบาดรอบ 3 และรัฐบาลไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้เร็วพอ ทำให้ปากีสถานเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ตัดสินใจปลดล็อกให้เอกชนนำเข้าและจำหน่ายวัคซีนป้องกัน COVID-19 เองได้ ผลคือราคาที่สูงกว่าตลาด 4 เท่า และปัญหาการเข้าถึงวัคซีนที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม

สำนักข่าว CNN รายงานว่า เมื่อเดือนก่อนปากีสถานตัดสินใจปลดล็อกให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีน COVID-19 เองได้ และวัคซีนของเอกชนเริ่มเข้ามาแล้วล็อตแรกช่วงสุดสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน โดยเป็นวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย

ทันทีที่วัคซีนล็อตเอกชนเข้าสู่ประเทศ โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกที่มีจำหน่ายวัคซีนมีประชาชนแห่ต่อคิวยาวนานหลายชั่วโมงเพื่อรอรับการฉีด หลายแห่งมีการจองหมดภายในไม่กี่วัน และหลายแห่งต้องเปลี่ยนระบบจากการวอล์กอินมาต่อคิว เป็นการจองคิวออนไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงการชุมนุมชน หลังจากนั้นแม้แต่คิวออนไลน์ก็ยังต้องปิดชั่วคราว

โดยบริษัทเอกชนที่นำเข้าวัคซีนมาได้มากที่สุดคือ AGP Pharma ผู้นำเข้าวัคซีน Sputnik V มา 50,000 โดส ส่วนบริษัทเอกชนและโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ กำลังอยู่ระหว่างจองซื้อและนำเข้าเช่นกัน

ความต้องการวัคซีนของปากีฯ มีสูงมาก จากจำนวนเคสติดเชื้อสะสมที่พุ่งไปถึง 721,000 เคส และผู้เสียชีวิตมากกว่า 15,000 ราย รวมถึงยังอยู่ระหว่างการระบาดรอบ 3 ขณะนี้

 

ราคาสูง-มีเฉพาะในเมืองใหญ่ สะท้อนความเหลื่อมล้ำ

สำหรับการนำเข้าวัคซีนของรัฐบาลปากีสถาน มีการนำเข้ามาแล้ว 2.56 ล้านโดส ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนของจีน และมีการฉีดให้ประชาชนไปแล้ว 1 ล้านคนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วมักจะเป็นบุคลากรการแพทย์และกลุ่มผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ประเทศนี้มีประชากรถึง 238 ล้านคน ดังนั้น วัคซีนของรัฐบาลที่เข้ามาแล้วจึงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

ปากีสถานเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 แต่จำนวนวัคซีนล่าช้าและไม่เพียงพอ จึงเปิดให้เอกชนนำเข้าเองได้ (Photo : Shutterstock)

เมื่อรัฐบาลเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนเอง จึงเป็นการเปิดกว้างให้ทุกกลุ่มอายุสามารถเข้าถึงวัคซีนด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอต่อคิวที่รัฐจัดการให้

อย่างไรก็ตาม การขายวัคซีนของเอกชนทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับราคาขายและการเข้าถึงวัคซีน และสะท้อนชัดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่หยั่งลึกในประเทศ เพราะการขายของเอกชนส่วนใหญ่จะมีเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น กรุงการาจี เมืองอิสลามาบัด ส่วนประชาชนในเขตชนบทไม่สามารถเข้าถึงได้

รวมถึง “ราคา” ก็สูงเกินกว่ารายได้ประชาชนส่วนใหญ่ของปากีสถานจะเข้าถึงได้อย่างสะดวก

ขณะนี้ราคาขายวัคซีน Sputnik V แบบ 2 โดสเปิดขายราคา 12,000 รูปีปากีสถาน (ประมาณ 2,480 บาท) ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดสากลซึ่งคิดราคา 20 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 630 บาท) แปลว่าเอกชนปากีสถานบวกราคาสูงขึ้นถึง 4 เท่า

รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของชาวปากีฯ ยังอยู่ที่เพียง 41,545 รูปีปากีสถานต่อเดือน (ประมาณ 8,590 บาท) เท่ากับว่า การฉีดวัคซีนเอกชนครบ 2 โดสจะคิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของรายได้ต่อเดือน

 

เอกชนนำเข้าทำให้ “คนรวย” ได้ลัดคิว?

การตัดสินใจของปากีสถานให้เอกชนนำเข้าวัคซีนเองได้ ทำให้เกิดข้อถกเถียงถึงจริยธรรมในการจำหน่ายวัคซีนระหว่างการระบาด และการต่อสู้ระหว่างบริษัท AGP กับรัฐบาลเกี่ยวกับการกำหนดราคา เพราะแต่เดิมรัฐบาลไม่มีข้อกำหนดเรื่องเพดานราคาวัคซีนเอกชน ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าบริษัทเอกชนอาจจะกำลังค้ากำไรในช่วงที่คนไม่มีทางเลือก

Photo : Shutterstock

เมื่อเดือนก่อน องค์กร NGO ชื่อ “Transparency International Pakistan” เรียกร้องให้ Imran Khan นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ยับยั้งการนำเข้าและจำหน่ายวัคซีนของเอกชน เพราะมองว่าการค้าวัคซีนจะทำให้กลุ่มคนรวยได้โอกาสลัดคิว และยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำมีผลกับสังคมมากขึ้นไปอีก

เวลาต่อมา รัฐบาลจึงตัดสินใจกลับคำสั่งที่ไม่มีการกำหนดเพดานราคาวัคซีนนำเข้าของเอกชน บริษัท AGP จึงฟ้องร้องรัฐบาล เพราะวัคซีน Sputnik V มีการนำเข้ามาแล้ว 50,000 โดสดังกล่าว สุดท้ายบริษัทจึงได้ขายวัคซีนล็อตนี้ในราคาเดิม จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นสิ้นสุดว่าต้องกำหนดเพดานราคาเท่าไหร่

ฟากบริษัท AGP ตอบโต้ว่าราคานี้เป็นราคาที่เหมาะสม เพราะการนำเข้าจนถึงการฉีดวัคซีนต้องเสียค่าใช้จ่ายตลอดทาง ทั้งค่าขนส่ง ภาษี ค่าพิธีศุลกากร โกดังเก็บสินค้า ซัพพลายเชนการขนส่งในประเทศ ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ต้องเก็บในอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียสด้วย อย่างไรก็ตาม สังคมก็ยังคงวิจารณ์ว่าราคา 12,000 รูปีปากีฯ สูงเกินไป

ที่ผ่านมา มีไม่กี่ประเทศในโลกที่อนุญาตให้เอกชนขายวัคซีนเอง เช่น
“อินเดีย” อนุญาตให้เอกชนบางรายเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดราคา
“โคลัมเบีย” อนุญาตให้เอกชนช่วยนำเข้าวัคซีนได้แต่ต้องฉีดให้ประชาชนฟรี
“อินโดนีเซีย” เปิดโครงการให้บริษัทเอกชนซื้อต่อวัคซีนของภาครัฐเพื่อฉีดให้พนักงานของตน
“เคนยา” เปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนอยู่ระยะหนึ่งแต่ระงับไปเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา เพราะหวั่นเกรงปัญหาวัคซีนปลอมอาจเข้ามาในตลาดได้

ขณะที่รัฐบาลไทยเริ่มหารือกับเอกชนแล้วเรื่องการเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีน แต่จะต้องนำเข้าวัคซีนที่ไม่ใช่ Sinovac และ AstraZeneca ที่รัฐบาลมีสัญญา เบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบในหลักการ แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไร มีการกำหนดราคาหรือไม่ และจะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยหรือไม่ ต้องรอติดตาม

Source

]]>
1327737
IMF เเนะประเทศร่ำรวย ปรับ ‘ขึ้นภาษี’ เพื่อลดปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ จากวิกฤต COVID-19 https://positioningmag.com/1326430 Fri, 02 Apr 2021 11:59:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1326430 IMF เเนะประเทศร่ำรวยขึ้นภาษี’ นำงบมาพัฒนาสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ’ ที่รุนเเรงขึ้นจากวิกฤต COVID-19

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุถึงรายงานของ Fiscal Monitor เผยเเพร่ในเดือนเมษายน 2021 ที่ชี้ให้เห็นว่า การเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่ลุกลามไปทั่วโลกนั้น ทำให้ความไม่เท่าเทียมในสังคม ทวีความรุนเเรงขึ้น

โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการดูเเลสุขภาพ การศึกษา เเละโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างรายได้ ที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นรัฐบาลในประเทศต่างๆ จึงต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อนำมาพัฒนาในด้านต่างๆ เหล่านี้ หลังผ่านพ้นวิกฤตไปเเล้ว

IMF เเนะนำว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือประเทศร่ำรวย อาจจะต้องใช้มาตรการปรับเพิ่มอัตราภาษีก้าวหน้าของเงินได้เพิ่มการเก็บภาษีมรดกให้สูงขึ้นรวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย

ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) นั้น ควรเพิ่มงบประมาณในการพัฒนาด้านสังคม เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้ประชาชนมีความสามารถจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น

Photo : Getty Images

ด้านมูลนิธิ Oxfam ระบุว่า ในช่วงเดือนมี.. – .. 2020 มหาเศรษฐีทั่วโลกมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่คนจนมีรายได้ลดลงต่อเนื่อง สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวขึ้น

โดยเมื่อนำสินทรัพย์ของเหล่ามหาเศรษฐีรวยที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ COVID-19 เริ่มระบาดมารวมกัน จะพบว่ามีมูลค่าสูงกว่าประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะมีระบบเศรษฐกิจเอื้อให้กลุ่มคนร่ำรวย สามารถรักษาความร่ำรวยไว้ได้ ท่ามกลางภาวะวิกฤตทางอันเลวร้าย

อ่านเพิ่มเติม : COVID-19 เร่ง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ให้ร้าวลึก เศรษฐีรวยเเล้วรวยอีก คนจนยิ่งจนลง

ขณะที่กลุ่มมหาเศรษฐี 1,000 อันดับเเรกของโลก กลับมามีสภาพคล่องทางการเงินเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดได้ (Pre-pandemic) เร็วภายใน 9 เดือน ส่วนคนยากจนต้องใช้เวลามากกว่านั้นถึง 14 เท่า หรือคิดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวยจำนวนนี้ ที่เป็นผู้ชายผิวขาว (White Male) จะกลับมาฟื้นตัวทางการเงินได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ ด้วย

Oxfam ให้ความเห็นว่า ทั้ง IMF และรัฐบาลประเทศต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงดำเนินนโยบายทางการเงินที่จะซ้ำรอยกับวิกฤตการเงินปี 2008-2009 ด้วยการผลักภาระภาษีจากคนรวยและบริษัทยักษ์ใหญ่ไปสู่ครัวเรือน

 

ที่มา : Reuters , IMF

]]>
1326430
COVID-19 เร่ง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ให้ร้าวลึก เศรษฐีรวยเเล้วรวยอีก คนจนยิ่งจนลง https://positioningmag.com/1316290 Mon, 25 Jan 2021 10:53:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1316290 โรคระบาดเป็นตัวเร่งทำให้ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในสังคมร้าวลึกมากขึ้น คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งจนลง โดยมหาเศรษฐี TOP 10 ของโลกมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกันกว่า ‘5 เเสนล้านดอลลาร์สหรัฐ’ ในช่วงวิกฤต COVID-19 ขณะที่ผู้คนหลายร้อยล้านคนมีรายได้ลดลง หนี้สินเพิ่มขึ้นเเละต้อง ‘ตกงาน’

จากรายงานขององค์การ Oxfam ระบุว่า เกือบทุกประเทศในโลก มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

เมื่อนำสินทรัพย์ของเหล่ามหาเศรษฐีรวยที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ COVID-19 เริ่มระบาด พบว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีระบบเศรษฐกิจเอื้อให้กลุ่มคนร่ำรวย สามารถรักษาความร่ำรวยไว้ได้ ท่ามกลางภาวะวิกฤตทางอันเลวร้าย

ขณะที่กลุ่มมหาเศรษฐี 1,000 อันดับเเรกของโลก กลับมามีสภาพคล่องทางการเงิน ‘เทียบเท่า’ ช่วงก่อนเกิดโรคระบาดได้ (Pre-pandemic) เร็วภายใน 9 เดือน ส่วนคนยากจนต้องใช้เวลามากกว่านั้นถึง 14 เท่า หรือคิดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวยจำนวนนี้ ที่เป็นผู้ชายผิวขาว (White Male) จะกลับมามีฟื้นตัวทางการเงินได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ ด้วย

ผลการสำรวจขององค์การ Oxfam ครั้งนี้ จัดทำขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ 295 คนจาก 79 ประเทศทั่วโลก พบว่า 87% ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศของตน ‘เพิ่มขึ้น’ หรือ ‘เพิ่มขึ้น อย่างมาก’ อันเป็นผลมาจาก COVID-19

โดยวิกฤตนี้ ทำให้เกิดปัญหาการจ้างงานที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 90 ปี ส่งผลให้ประชาชน ‘หลายร้อยล้านคน’ ทั่วโลกต้องตกอยู่ในภาวะไม่มีงานทำ เวลาทำงานลดลงและตกงาน ส่วนผู้คนอีก ‘หลายพันล้านคน’ เเละผู้ที่อยู่แนวหน้าในการเผชิญกับโรคระบาด อย่าง พนักงานร้านค้า ผู้ค้าขายในตลาด เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อชีวิตเเละรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ด้านปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศก็ยังมีเพิ่มขึ้นต่อไป โดยผู้หญิง เป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุด เพราะได้ค่าจ้างต่ำกว่าที่จะเป็น เเละยังต้องตกงานในช่วงล็อกดาวน์มากกว่าผู้ชาย

Oxfam ระบุอีกว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังเเสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติอีกด้วย โดยกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบ มีแนวโน้มที่จะถูกผลักให้ต้องเผชิญกับความยากจนมากขึ้น และถูกกีดกันออกจากระบบทางสาธารณสุข

Gabriela Bucher ผู้อำนวยการ Oxfam International เเนะว่า การต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำเป็นหัวใจสำคัญของการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องจัดการเเละดูแลให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเงินช่วยเหลือ สวัสดิการต่างๆ รวมถึงวัคซีน โดยควรมีการ ‘จัดเก็บภาษี’ อย่างยุติธรรมเพื่อประโยชน์ของทุกคนไม่ใช่แค่เฉพาะผู้มีสิทธิพิเศษเพียงไม่กี่คนโลกเท่านั้น

 

ที่มา : Oxfam , aljazeera

]]>
1316290
“สี จิ้นผิง” ประกาศชัยชนะคนจีน “เลิกจน” 100 ล้านคน แต่ยอมรับยังต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำ https://positioningmag.com/1309264 Fri, 04 Dec 2020 15:19:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1309264 สี จิ้นผิง ประกาศชัยชนะต่อความยากจน คนจีนพ้นขีดความยากจน 100 ล้านคน นับตั้งแต่เริ่มวางนโยบายลดความยากจนในปี 2013 อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำในจีนยังสูงมากระหว่างมณฑลแถบตะวันออกติดทะเลกับมณฑลตะวันตกลึกไปในแผ่นดิน

“สี จิ้นผิง” ผู้นำสูงสุดแห่งแดนมังกร ประกาศชัยชนะต่อความยากจน หลังจากคนจีน 100 ล้านคนพ้นขีดความยากจนขั้นร้ายแรงในช่วง 7 ปีที่มีการวางนโยบายเพื่อต่อสู้กับความยากจน

“เราได้ทำหน้าที่บรรเทาความยากจนในโลกยุคใหม่ได้เสร็จสมบูรณ์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้” ประธานาธิบดีแห่งเมืองจีนกล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2020 “ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ในปัจจุบัน คนยากจนทั้งหมดในชนบทได้พ้นขีดความยากจนแล้ว และมณฑลยากจนทั้งหลายได้หมดสิ้นไป ความยากจนถึงขีดสุดและความยากจนทั้งภูมิภาคที่เคยมีได้ถูกกำจัดแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสีกล่าวต่อว่า ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ โดยชี้ให้เห็นถึงอันตรายของความไม่เท่าเทียมกันในประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก

“ปัญหาของความไม่เท่าเทียมและการพัฒนาที่ไม่มีประสิทธิภาพของประเทศนั้นยังเห็นได้เด่นชัด และการกระจายความเจริญ รวมถึงขยายผลการบรรเทาความยากจนให้กว้างขวางนั้นยังเป็นงานที่ยากลำบาก” สี จิ้นผิงกล่าว

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า แนวทางหลักที่จีนจะปฏิบัติเพื่อกระจายความเจริญ คือการสร้างเสถียรภาพในตลาดแรงงาน ส่งเสริมการฝึกทักษะอาชีพและสร้างความเป็นปึกแผ่นและร่วมมือกันในตลาดงาน ระหว่างมณฑลทางตะวันออกอันเกรียงไกรกับมณฑลตะวันตกซึ่งไม่ติดทะเล สิ่งเหล่านี้จำเป็นเพื่อดูแลไม่ให้คนจีนกลับไปสู่ความยากจนอีกครั้ง

สี จิ้นผิง อ่านคำอำนวยพรปีใหม่ 2020 และยังคงย้ำเรื่องการกำจัดความยากจน

นโยบายกำจัดความยากจนนั้นเป็นสิ่งที่จีนตั้งเป้าหมายไว้เมื่อปี 2013 โดยต้องการกำจัดความยากจนถึงขีดสุดในเขตชนบทให้หมดไปภายในสิ้นปี 2020 เป็นเป้าหมายของประธานาธิบดีสีที่จะสร้าง “สังคมที่คนมีความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง” ก่อนจะถึงกำหนดครบรอบ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2021

เฉพาะปี 2016-2019 ประเทศจีนใช้เงินไปกว่า 3.84 แสนล้านหยวนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และเพิ่มอีก 1.46 แสนล้านหยวนภายในปี 2020 ปีเดียว เนื่องจากชุมชนที่ยากจนนั้นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาด COVID-19

สำหรับเส้นความยากจนที่จีนกำหนดนั้น กำหนดให้บุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 4,000 หยวนต่อปีคือคนยากจนถึงขีดสุดเทียบแล้วเท่ากับเป็นคนที่มีรายได้ไม่เกิน 2.2 เหรียญสหรัฐต่อวัน (ประมาณ 66 บาทต่อวัน) ซึ่งสูงกว่าเส้นความยากจนที่ธนาคารโลกกำหนดเล็กน้อย โดยปกติธนาคารโลกกำหนดให้คนยากจนอย่างรุนแรงคือคนที่มีรายได้น้อยกว่า 1.9 เหรียญสหรัฐต่อวัน (ประมาณ 57 บาทต่อวัน)

แม้ว่าจะมีคนจนน้อยลง แต่ผู้สังเกตการณ์ต่างตั้งคำถามถึงความยั่งยืนของโครงการกำจัดความจนของประเทศจีนเพราะโครงการนั้นขึ้นอยู่กับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลส่วนกลาง ทำให้คนเคยจนเหล่านี้เสี่ยงที่จะกลับไปจนอีกถ้าหากรัฐบาลหมดแรงอุดหนุน

นอกจากนี้ การกำจัดความยากจนของภาครัฐยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ได้ และคนที่เสี่ยงจะกลับไปสู่ความยากจนที่สุดคือกลุ่มคนชราในชนบท ซึ่งมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะประเทศจีนเริ่มไปสู่การเป็นสังคมสูงวัย และกลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มที่ประเทศจีนควรมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือด้วยรัฐสวัสดิการที่ดูแลทั้งการเงิน สุขภาพกาย สุขภายพใจ และคุณภาพชีวิตโดยรวมมากที่สุด

Source

]]>
1309264
คนไทยจนน้อยลง! เหลือ 4.3 ล้านคน แต่ยังเหลื่อมล้ำเพียบ “ปัตตานี” คนจนสูงสุด https://positioningmag.com/1304704 Thu, 05 Nov 2020 16:56:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1304704 สภาพัฒน์เปิดตัวเลข “คนจนลดลง” ต่อเนื่อง ตลอด 20 ปี จาก 25.8 ล้านคน ในปี 2541 ลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน ในปี 2562 ส่วนคนปัตตานีมีสัดส่วนคนจนหนาแน่นสูงที่สุด แต่ความเหลื่อมล้ำ-ความไม่เสมอภาคในการถือครองทรัพย์สินยังมีเพียบ!

คนจนลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ จัดทำรายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เพื่อนำเสนอสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านความยากจน และความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งการวิเคราะห์ลักษณะของปัญหา และนโยบายหรือโครงการสำคัญของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

รายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำในปี 2562 ซึ่งเป็นการรายงานสถานการณ์ล่าสุดของ สศช. พบว่า สัดส่วนคนยากจนลดลงจาก 9.85% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 6.24% ในปี 2562 หรือมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคนในปีก่อนหน้า

เมื่อพิจารณาแนวโน้มของความยากจนในระหว่างปี 2541 ถึงปัจจุบัน สัดส่วน และจำนวนคนจนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนคนยากจน 25.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 38.63% ในปี 2541 ลดลงเหลือ 11.6 ล้านคน หรือ 17.88% ในปี 2552 และลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน หรือ 6.24% ในปี 2562

สถานการณ์ความยากจนในระยะ 5 ปีหลัง (ปี 2558-2562) พบว่า สัดส่วนคนจนอยู่ในระดับต่ำ โดยมีสัดส่วนไม่เกิน 10% และมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง คือ ปี 2559 และ 2561 โดยสัดส่วนคนยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 เกิดจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง

ขณะที่ในปี 2561 เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ เงินบาทแข็งค่า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ส่งผลสืบเนื่องต่อผู้มีรายได้น้อยซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของธนาคารโลก (World Bank, 2019. “Taking The Pulse of Poverty and Inequality in Thailand”)

สถานะยากจนเรื้อรัง

การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ความยากจนในระยะหลัง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และธนาคารโลก ระบุว่า อาจเกิดจากความยากจนของไทยลดลงมากจากอดีตที่ผ่านมา จนทำให้ครัวเรือนที่มีสถานะยากจนอยู่ในปัจจุบันเป็นครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง หรืออยู่ในกับดักของความยากจน ซึ่งต้องมีนโยบายแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด

จากการวิเคราะห์กลุ่มคนยากจนในระยะหลัง พบว่า ครัวเรือนยากจน 1 ใน 3 เป็นผู้ไม่ปฏิบัติงานในเชิงเศรษฐกิจ (Economically Inactive Household) มีการพึ่งพิงสูงโดยมีเด็ก และผู้สูงอายุจำนวนมาก ในครัวเรือน และจบการศึกษาในระดับประถมศึกษา และต่ำกว่า (คนจน 79.18% จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า) อีกทั้งผู้มีงานทำที่ยากจนส่วนใหญ่ทำงานในภาคการเกษตรซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีรายได้น้อย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยากจนมีความสามารถในการสร้างรายได้ได้น้อย

“การปรับตัวลดลงของคนจนในปี 2562 สาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายความครอบคลุมมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในปี 2562 โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยโดยตรง”

โดยในปี 2562 มีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนทั้งหมด 14.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาจากปี 2561 ที่มี 11.4 ล้านคน จากการที่รัฐบาลได้เปิดการลงทะเบียนรอบพิเศษ (ในระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2561) สำหรับกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียน ในรอบก่อนหน้า

โดยผู้ที่มีบัตรฯ จะได้รับการช่วยเหลือด้านภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรายเดือน ได้แก่ วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 200-300 บาท/เดือน ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะวงเงินรวมสูงสุด 1,500 บาท/เดือน และค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน อีกทั้ง คนยากจนบางส่วนยังได้รับการเงินช่วยเหลือจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการ และเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

(Photo by Allison Joyce/Getty Images)

แม้สัดส่วนคนจนในปี 2562 จะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นวงกว้าง และยังมีความไม่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความยากจนในปี 2563 กลับไปแย่ลงอีกครั้ง

ปัตตานีคนจนสูงสุด นนทบุรีน้อยสุด

สัดส่วนความยากจนลดลงเกือบทุกจังหวัด และภาพรวมสัดส่วนคนจนมีแนวโน้มลดลงในทุกภูมิภาค โดยในปี 2562 จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนน้อยที่สุด ได้แก่

  • นนทบุรี 0.24%
  • ปทุมธานี 0.24%
  • ภูเก็ต 0.40%
  • สมุทรปราการ 0.56%
  • กทม. 0.59%

ส่วน 10 จังหวัดที่มีคนจนหนาแน่นที่สุด ได้แก่

  • ปัตตานี 29.72%
  • นราธิวาส 25.53%
  • แม่ฮ่องสอน 25.26%
  • ตาก 21.13%
  • กาฬสินธ์ุ 20.21%
  • สระแก้ว 18.74%
  • พัทลุง 18.67%
  • ชัยนาท 17.89%
  • อ่างทอง 17.32
  • ระนอง 16.43%

ความเหลื่อมล้ำยังมีให้เห็นอีกเพียบ!

อย่างไรก็ตาม ด้านความไม่เสมอภาคในการถือครองทรัพย์สินสุทธิลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับสูง มูลค่าทรัพย์สินรวมสุทธิเป็นมูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งหมดหักด้วยมูลค่าหนี้สินทั้งหมด (ในระบบ และนอกระบบ) โดยในปี 2562 มีค่าเท่ากับ 0.6442 ปรับตัวลดลงจาก 0.6453 และ 0.6651 ในปี 2560 และปี 2558 ตามลำดับ เป็นผลจากการที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงเพียงแหล่งเงินทุนนอกระบบ ซึ่งมีความเสี่ยง ภาระและต้นทุนการชำระหนี้ที่มากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้สูง

เช่นเดียวกับส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้สูงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์จีนี หลังปรับปรุงตั้งแต่ ปี 2552-2560 เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอย่างชัดเจน โดยในปี 2560 ค่าสัมประสิทธิ์ฯ หลังปรับปรุงอยู่ที่ 0.5221 สูงกว่าค่าเดิมที่ได้จากข้อมูลสำรวจที่ 0.4528 สะท้อนว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง

โดยข้อมูลภาษีมาใช้ในการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างภาษี พบว่า มาตรการการหักค่าใช้จ่ายและการหักค่าลดหย่อน/บริจาคส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของผู้ยื่นแบบภาษีฯ ในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในปี 2560-2561 ที่ค่าลดหย่อนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากจากปี 2559 (การปรับโครงสร้างภาษี) ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า

กลไกหรือมาตรการรายจ่ายภาษียังคงไม่สามารถทำหน้าที่ในการกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ได้อย่างที่ควรจะเป็น

Source

]]>
1304704