ตลาดรถยนต์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 28 Sep 2023 13:48:11 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “Nio” สตาร์ทอัพรถจีนเทียบเชิญ “Mercedes-Benz” ร่วมลงทุน เสนอแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี “รถอีวี” https://positioningmag.com/1446066 Thu, 28 Sep 2023 12:34:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1446066 ลือหึ่ง! “Nio” สตาร์ทอัพรถจีนกำลังเชิญชวนให้ “Mercedes-Benz” เข้ามาลงทุน เพื่อต่อสายป่านเงินทุน แลกกับการเปิดข้อมูลเทคโนโลยี “รถอีวี” แลกเปลี่ยนให้กับยักษ์รถยนต์เยอรมัน

Reuters รายงานข้อมูลจากแหล่งข่าววงในรายหนึ่งว่า William Li ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Nio ได้เข้าพบและพูดคุยกับ Ola Kaellenius ซีอีโอ Mercedes ถึงความเป็นไปได้ที่ Mercedes จะมาร่วมลงทุนกับ Nio โดยฝ่ายบริษัทจีนเสนอจะแบ่งปันข้อมูลการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ากับทางค่ายเยอรมันเป็นการแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ แหล่งข่าวแจ้งว่าการเจรจายังไม่ถึงจุดที่ลงรายละเอียดการถ่ายโอนเทคโนโลยีและเม็ดเงินการลงทุนระหว่างกัน

แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งกล่าวว่า ฝ่าย Nio เป็นผู้ยื่นข้อเสนอให้กับ Mercedes เอง แต่ก็มีความกังวลอยู่ว่าทางฝั่งเยอรมันจะมีแรงต่อต้านจากภายในบริษัท เป็นไปได้ว่าฝั่งเยอรมันอาจจะไม่รับข้อเสนอ

ยังไม่แน่ชัดว่าการตัดสินใจของการร่วมทุนครั้งนี้จะสัมฤทธิ์ผลเมื่อใด

อย่างไรก็ตาม จากการติดต่ออย่างเป็นทางการโดย Reuters บริษัท Nio ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการติดต่อเรื่องร่วมทุนกับ Mercedes แจ้งเพียงว่า “ไม่เป็นความจริง” ขณะที่ฝั่ง Mercedes ตอบกลับเช่นกันว่าไม่ได้มีแผนการร่วมงานกับ Nio ในตอนนี้

ข่าวเรื่องการเจรจาเพื่อหาทางร่วมทุนกันระหว่าง Nio กับ Mercedes ถือเป็นภาพหนึ่งในเทรนด์ปัจจุบันของวงการรถยนต์ โดยค่ายรถยนต์กลุ่มสตาร์ทอัพในฝั่งจีนจะพยายามหาการร่วมทุนจากค่ายรถยนต์ดั้งเดิม โดยยื่นข้อเสนอเรื่องนวัตกรรมที่พวกเขามี แลกกับเงินลงทุนเพื่อต่อสายป่านให้ยาวขึ้น ใช้ในการต่อสู้กับการแข่งขันในจีนที่สูงมาก รวมถึงค่ายรถจีนจะได้ประโยชน์ในการทะลวงกำแพงทางการค้าของฝั่งตะวันตกได้ง่ายขึ้นด้วย

ขณะที่ฝั่งค่ายรถดั้งเดิมก็ต้องหาทางตามให้ทันเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า เพราะต้องแข่งขันกับ Tesla ที่เป็นเจ้าตลาดฝี่งตะวันตก และกับแบรนด์รถอีวีจีนเองที่กำลังเร่งเข้าสู่ตลาดโลกอยู่ขณะนี้

ในเทรนด์การรวมตัวเพื่อต่อสู้ในลักษณะนี้ Volkswagen คือเจ้าแรกที่เริ่มเดินหน้าก่อน โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทเซ็นสัญญากับ Xpeng เพื่อร่วมพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่สำหรับตลาดจีนโดยเฉพาะ วางกรอบไว้ว่าจะเป็นการพัฒนารถอีวีขนาดกลาง 2 รุ่น ภายใต้แบรนด์ Volkswagen คาดจะออกจำหน่ายปี 2026

สำหรับ Nio บริษัทที่มียอดขายเป็นอันดับ 9 ในตลาดรถจีน เป็นสตาร์ทอัพที่มีแบ็กอัพนักลงทุนรายใหญ่คือ Tencent Holdings ยักษ์ไอทีจีน ปัจจุบันบริษัทนี้ยังไม่เคยมีดีลร่วมงานกับแบรนด์รถยนต์ดั้งเดิมเลย และพวกเขาเปิดเผยชัดเจนว่าต้องการจะมีดีลลักษณะนี้อย่างยิ่ง

“(แบรนด์รถยนต์ดั้งเดิม) พวกเขาประสบความสำเร็จมากเสียจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วในโลกของการพัฒนารถอีวี นี่เป็นความท้าทายของซีอีโอคนใดก็ตามที่ต้องมาบริหารบริษัทซึ่งมีพนักงานหลายแสนคน” William Li ผู้ก่อตั้ง Nio กล่าวกับผู้สื่อข่าวในงานอีเวนต์หนึ่งในเดือนกันยายนนี้เอง ในงานนั้น Nio เข้าไปจัดแสดงเทคโนโลยีแบตเตอรี ชิปเซ็ต ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และการผลิตอัจฉริยะที่บริษัทคิดค้นขึ้นเอง

“แทนที่จะลงทุนเงินและเวลาด้วยตนเอง ไม่ดีกว่าหรือถ้าจะมาพาร์ทเนอร์กับสตาร์ทอัพรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประโยชน์แบบ วินวิน” Li กล่าว

Source

]]>
1446066
‘ฮุนได’ หวนคืนตลาดญี่ปุ่น ในรอบ 12 ปี คว้าโอกาสปั้นยอดขาย ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ https://positioningmag.com/1373226 Tue, 08 Feb 2022 11:16:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1373226 ‘ฮุนได’ (Hyundai) เเบรนด์รถยนต์เกาหลีใต้ หวนคืนสู่ตลาดญี่ปุ่นอีกครั้ง หลังถอนตัวไปนานกว่า 12 ปี เพราะทำยอดขายได้ไม่ดีนัก เเต่ในวันนี้จะกลับมาด้วยกระเเสความนิยมของ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นการเจาะ ‘ตลาดใหม่’ ในตลาดเดิมที่ ‘โตโยต้า’ ครองส่วนเเบ่งอยู่ถึง 40% 

โดยฮุนไดจะประเดิมจำหน่ายรถยนต์ SUV ไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนรุ่น Nexo และรถยนต์ไฟฟ้าครอสโอเวอร์ ขนาดกลางรุ่น Ioniq 5 ในญี่ปุ่น ตามเป้าหมายที่จะครองส่วนเเบ่ง 10% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกให้ได้ภายในปี 2025

“ตอนนี้เรายังไม่ได้ตั้งเป้าหมายยอดขาย (ในญี่ปุ่น) แต่บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม หลังเริ่มเปิดรับคำสั่งซื้อทางออนไลน์ในเดือนพ.ค.นี้” Shigeaki Kato ประธาน Hyundai Mobility Japan กล่าวในงานเปิดตัวที่กรุงโตเกียว

โดยครั้งนี้ ฮุนไดจะมุ่งเน้นไปที่การทำตลาดเพื่อขายออนไลน์ และกำลังร่วมมือกับบริการ ‘car sharing’ ที่ดำเนินการโดย DeNA บริษัทเกมออนไลน์ และบริษัทประกันภัย Sompo Holdings

‘ฮุนได’ เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ที่มีเเบรนด์ในเครืออย่าง Kia ครองส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ในเกาหลีใต้มากที่สุด เคยเข้ามาทำธุรกิจในญี่ปุ่น เมื่อปี 2001 แต่ทว่าสามารถทำยอดขายได้เพียง 15,000 คันเท่านั้น จึงตัดสินใจถอนธุรกิจออกไปในปี 2009 ทั้งนี้ ปัจจุบันมีรถยนต์ยี่ห้อฮุนไดเพียง 600 คันที่ยังคงขับอยู่ในญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมียอดขายรถยนต์ใหม่ราว 5 ล้านคันต่อปี เเละในจำนวนนี้ประมาณ 9 ใน 10 เป็นแบรนด์ญี่ปุ่น โดยแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ ‘โตโยต้า’ ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่มากถึง 40%

อย่างไรก็ตาม กระแสความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ได้เปิดโอกาสให้เเบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาดได้อย่าง Tesla รวมไปถึงผู้ผลิตรถยนต์เก่าเเก่อย่าง Volkswagen เเละ Stellantis (เเบรนด์ Peugeot) ด้วย

แม้ว่าในปีที่แล้ว ญี่ปุ่นจะมียอดขายรถยนต์ EV เพียง 20,000 คัน แต่กลุ่มนี้ก็เติบโตขึ้นเกือบครึ่งจากปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดขายรถยนต์โดยรวมจะลดลง ตามสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลก เเต่สมาคมผู้นำเข้ารถยนต์แห่งญี่ปุ่น (JAIA) เปิดเผยว่า การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ากลับพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์เกือบ 3 เท่า เป็น 8,610 คันทีเดียว

 

ที่มา : Reuters , NHK 

]]>
1373226
Volvo ชิงเกมด้วยลุค ‘รถยนต์ไฟฟ้าพรีเมียม’ เปิดตลาด ‘มือสอง’ ขยายฐานลูกค้าให้เข้าถึงง่าย https://positioningmag.com/1365083 Thu, 02 Dec 2021 12:53:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1365083 หลังวางโพสิชั่นสู้ตลาดด้วยมาด ‘รถไฟฟ้าระดับพรีเมียม’ ตามเทรนด์ความนิยมโลก เเบรนด์ยานยนต์จากสวีเดนอย่าง ‘Volvo’ (วอลโว่) ได้เวลา ‘เร่งเกียร์เร็ว’ เอาใจลูกค้าคนไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการงัดกลยุทธ์ใหม่ ทั้งการมุ่งหน้าสู่ระบบดิจิทัล ขยายบริการซ่อมบำรุง เเละการอำนวยความสะดวกเรื่องการชาร์จ

วันนี้ ‘คริส เวลส์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด จะมาเปิดเผยถึงกลยุทธ์ธุรกิจในปี 2565 กับเป้าหมายเติบโตให้ได้ 20 % พร้อมฉายภาพโอกาสของยานยนต์พลังงานสะอาดเต็มรูปแบบในไทย

คนไทยเปิดใจรับ ‘รถยนต์ไฟฟ้าล้วน’ 

คริส เวลส์ เล่าว่า ‘ปีนี้เป็นปีที่ยากจะคาดเดา’ ทั้งจากวิกฤตโควิดเเละปัญหาการขาดเเคลนเซมิคอนดักเตอร์ต่างๆ ที่สะเทือนหลายวงการ รวมไปถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนเเปลง ใส่ใจสิ่งเเวดล้อมเเละความยั่งยืนมากขึ้น เเละเริ่มคุ้นชินกับการสื่อสารเเละซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ยังสามารถทำยอดขายได้ดี เเม้ในช่วงล็อกดาวน์

“อุตฯ รถยนต์ในไทยไม่ได้เปลี่ยนไปมากถึงระดับก้าวกระโดด ส่วนใหญ่คือการพัฒนาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เเละเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เเต่สิ่งที่เปลี่ยนไปเร็วมากๆ คือความคาดหวังของลูกค้า คาดหวังสิ่งที่เหนือกว่าที่พวกเขาจะได้รับ นี่คือโจทย์ใหญ่ของเเบรนด์รถยนต์”

กลุ่มลูกค้าของ Volvo ถือว่าอยู่ในกว้างมาก ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานอายุตั้งเเต่ 20 ปลายๆ ไปจนถึง 60 กว่าปี มีทั้งผู้ที่ชื่นชอบในเเบรนด์ คนที่สนใจด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงกลุ่มบริษัทชั้นนำต่างๆ

Volvo ออกนโยบายยกเลิกการจัดจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป มาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีการนำเสนอรถยนต์แบบ Recharge Plug in Hybrid และ Recharge Pure Electric ตามแผนธุรกิจระยะ 10 ปี เเละในปีนี้ก็มีการเปิดตัว Volvo XC40 Recharge Pure Electric รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% เป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีเพิ่มขึ้นจากผู้ใช้งานทั้งในไทยและต่างประเทศ

สำหรับรุ่นที่ ‘ขายดีที่สุด’ ในปีที่ผ่านมา ได้แก่รุ่น Volvo X60 Recharge Plug-in Hybrid คิดเป็น 23% ของยอดจำหน่ายรวมทั้งหมด ตามมาด้วยอันดับสองอย่างรุ่น Volvo XC40 Recharge Plug-in Hybrid คิดเป็น 20% และอันดับสามคือรุ่น Volvo V60 Recharge Plug-in Hybrid คิดเป็น 17%

ส่วนรถยนต์รุ่นแรกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแบบ 100% อย่าง Volvo XC40 Recharge Pure Electric สามารถสร้างยอดขายได้เป็นอันดับที่ 5 ในสัดส่วนสูงถึง 13% หลังจากเปิดตัวเป็นครั้งแรก สะท้อนให้เห็นการเปิดใจรับของผู้บริโภคชาวไทย ที่มองหา ‘รถยนต์ไฟฟ้าล้วน’ หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) มากขึ้น

– Volvo XC40 Recharge Pure Electric

ด้านการขยาย ‘ศูนย์บริการ’ ตามมาตรฐาน Volvo Retail Experience (VRE) ในปีนี้ได้มีเครือข่ายโชว์รูมพันธมิตรเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ในกรุงเทพฯ และพัทยาพร้อมการเปิดตัว “Volvo Certified Damage Repair Centre (VCDR)” ศูนย์บริการซ่อมตัวถังและสีมาตรฐานเพิ่มขึ้นอีก 2 ที่ในกรุงเทพฯ

“เรามีการเปิดศูนย์บริการลูกค้าด้วยระบบดิจิทัล มีช่างเทคนิคบริการให้แก่ลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง 365 วัน โดยไม่มีวันหยุด เข้าหาลูกค้าให้ทั่วถึงมากขึ้นในพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์ฯ ที่ตั้ง ต่อไปนี้ช่างจะเดินทางไปหาลูกค้า
โดยพกเเค่ซอฟท์เเวร์ ไม่ต้องใช้เครื่องมือหนักๆ ที่ต้องทำในอู่ซ่อมเหมือนรถยนต์รุ่นเก่าๆ”

ตั้งเป้าโต 20% พร้อมโมเดลโชว์รูมเคลื่อนที่ 

สำหรับกลยุทธ์ธุรกิจในปี 2565 Volvo จะผลักดันการขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ พร้อมกับการสร้าง Customer Touch Point ‘โชว์รูมเคลื่อนที่’ ที่เข้าถึงลูกค้าได้ในระดับตำบล หมู่บ้าน พร้อมต่อยอดบริการด้วยระบบ Volvo Personal Service (VPS) โดยลูกค้าสามารถเข้ารับบริการจากช่างเทคนิคส่วนบุคคล ที่รู้จักประวัติรถยนต์วอลโว่ของลูกค้า เพื่อให้การซ่อมบำรุงเป็นไปได้อย่างถูกต้องและประหยัดเวลาในการทำงาน เเละนำเสนอรูปแบบการให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ

ขณะเดียวกัน ก็จะยังคงยึดถือ ‘แผนเติบโตอย่างยั่งยืน’ มุ่งทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเช่นเดิม เพื่อปูทางนโยบายระดับโลกที่ภายในปี 2030 จะจำหน่ายเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าล้วนเท่านั้น

Volvo ประเทศไทย ตั้งเป้ายอดขายในสิ้นปีนี้ เติบโตที่ 10% เเละเป้าหมายในปีหน้าด้วยความหวังว่าจะเติบโตถึง 20% จากเเรงหนุนของรุ่นยนต์รุ่นใหม่อย่าง All New Volvo C40 Recharge ที่กำลังจะเปิดตัว พร้อมส่งมอบช่วงกลางปี 

– All New Volvo C40 Recharge

เปิดตลาด ‘มือสองพรีเมียม’ ขยายฐานลูกค้า 

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ Volvo กำลัง วางแผนเดินหน้าการส่งมอบรถยนต์ ‘Premium Used Car’ หรือรถมือสอง จาก Volvo SELEKT ที่ทุกคนจะมีการรคัดสรรเเละตรวจสอบปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัท เพื่อขยายฐานลูกค้าให้เข้าถึงคนทั่วไป ที่มีกำลังทรัพย์ไม่มากนักเพิ่มขึ้น ใน ‘ราคาพิเศษ’ ซึ่งจะมีการเปิดเผยรายละเอียดในเร็วๆ นี้

เมื่อถามถึงสิ่งที่ Volvo อยากให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุน เวลส์บอกว่า หลักๆ เป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการรองรับรถยนต์ไฟฟ้า เเละตอนนี้รัฐให้การสนับสนุนในฝั่งผู้ผลิต เเต่ยังจูงใจคนซื้อไม่ได้มากนัก ควรจะมีการออกนโยบายเเยกระหว่างฝั่งการผลิตกับนโยบาย ฝั่งผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าล้วน

ก่อนหน้านี้ Volvo ประเทศไทย มีการมอบอตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้กับผู้ซื้อรถยนต์ของ Volvo ไปติดตั้งที่บ้านหรือที่ทำงาน เพื่อำนวยความสะดวกในการใช้งาน จับมือเป็นพันธมิตรกับ EA Anywhere ผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ระบบไฟฟ้า ซึ่งมีสถานีชาร์จไฟกว่า 1,000 จุดทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด พร้อมร่วมมือกับโรงเรียนสายอาชีพเพื่อปั้น ‘ช่างที่เชี่ยวชาญรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ’ เพื่อรองรับตลาดในอนาคต

โดยผู้บริหาร Volvo บอกว่า ไม่ได้มองถึงการเเข่งเป็นที่ 1 หรือที่ 2 ในตลาดรถไฟฟ้าเเบรนด์หรู เพราะต้องการแข่งกับตัวเองมากกว่า จึงเน้นการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งในแง่ยอดขาย งานบริการ และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ 

]]>
1365083
พิษเศรษฐกิจ ฉุดกำลังซื้อ เเนวโน้ม ‘ยอดขายรถยนต์’ ปี 64 ซบเซาต่อเนื่อง เหลือ 7.35 แสนคัน https://positioningmag.com/1345601 Fri, 06 Aug 2021 07:19:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1345601 ตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ยังหดตัวต่อเนื่องจากพิษโรคระบาด คาดยอดขายตลอดปีนี้ ลดลงจากปีก่อน 7.1% เหลือ 7.35 แสนคัน กำลังซื้อของผู้บริโภคเปราะบางรถยนต์ส่วนบุคคลกระทบหนักสุด ลุ้นปี 65 กระจายวัคซีนทั่วถึง เศรษฐกิจดีขึ้นอาจกลับมาขายได้ 8.6 แสนคัน

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ที่ลากยาวเเละรุนเเรงกว่าที่คาดทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมรวมกว่าเเล้ว 6.64 แสนคน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2564) ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศให้ชะลอตัวลง รวมไปถึงกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงเรื่อยๆ

เเม้ว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศ ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จะทำยอดขายได้กว่า 373,191 คัน เเละขยายตัว 13.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นที่มาจากฐานที่ต่ำในปี 2563 ที่หดตัวลงถึง 37.3% เป็นผลมาจากกำลังซื้อที่หายไปจากการล็อกดาวน์ติดต่อกัน 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระลอกแรก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินยอดขายรถยนต์ในไทยจะอยู่ที่ 7.35 แสนคันในปี 2564 ลดลง 7.1% จากปีก่อน โดยมีปัจจัยฉุดรั้งต่างๆ เช่น การระบาดของโควิด-19 และกำลังซื้อที่เปราะบางแม้จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นมาช่วยก็ตาม

โดยยอดขายจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาส 3’ อันเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์และกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง

จากนั้นคาดว่าในไตรมาสที่ 4’ ยอดขายจะเริ่มทยอยฟื้น จากอานิสงส์จากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมกว่า 70% ของประชากรรวมในประเทศ หากเป็นไปตามแผนของภาครัฐ ผนวกกับได้แรงพยุงจากการส่งออกที่ฟื้นตัว และรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้นจากราคาและผลผลิตที่ดีขึ้น

ยอดขาย ‘รถยนต์นั่งส่วนบุคคล’ ลดฮวบ

เมื่อเเบ่งเป็นประเภทรถยนต์ จะพบว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลได้รับผลกระทบหนักกว่ารถยนต์เชิงพาณิชย์คาดว่าปีนี้ ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะหดตัว 11.1% ขณะที่รถยนต์เชิงพาณิชย์จะหดตัว 4.1% 

สาเหตุหลักๆ มาจากโรคระบาดจะบั่นทอนกำลังซื้อและความเชื่อมั่นให้ลดลง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งมีความต้องการรถยนต์นั่งส่วนบุคคลสูงกว่ารถยนต์เชิงพาณิชย์

จากสถิติกรมขนส่งทางบก ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ป้ายแดงขยายตัว 4.2% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่หดตัว 24.1% โดยพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังหดตัวต่อเนื่องที่ 1.9%

ขณะที่พื้นที่เศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคธุรกิจการส่งออกและภาคเกษตร ได้แก่ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ เริ่มกลับมาขยายตัวได้ 12.2% 12.1% และ 11.8% ตามลำดับ

หากการแพร่ระบาดบรรเทาลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ พื้นที่เศรษฐกิจที่พึ่งพิงภาคธุรกิจการส่งออกและภาคเกษตร คาดว่าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่า ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวผู้บริโภคส่วนใหญ่ มีความต้องการรถยนต์เชิงพาณิชย์มากกว่า ทำให้ยอดขายจะกลับมาฟื้นได้ก่อนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล

ปัจจัยเสี่ยง-ปัยจัยหนุน ตลาดรถยนต์ในไทย มีอะไรบ้าง ?

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในตลาดรถยนต์ในไทย หลักๆ มาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหากไม่คลี่คลายภายในไตรมาส 3 จะส่งผลต่อให้ยอดขายลดลงได้อีก

ตามมาด้วยกำลังซื้อที่เปราะบางและความเชื่อมั่นด้านสถานะการเงินของผู้บริโภค นอกจาดนี้ยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เเละหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 93% ต่อจีดีพี

อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องจับตามอง ก็คือปัญหาชิปขาดแคลนที่ส่งผลต่อการผลิตรถยนต์ ซึ่งคาดกว่าจะเริ่มผ่อนคลายลงในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 ตามอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตชิปทั่วโลกกลับมาผลิตได้ปกติอีกครั้ง ประกอบกับความต้องการชิปสำหรับอุปกรณ์การทำงานที่บ้าน (Work from home) ทั้งคอมพิวเตอร์ ระบบคลาวด์ลดลง ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์มีชิปสำหรับผลิตรถยนต์ได้เพียงพอ

ด้านปัจจัยบวกขั้นพื้นฐานที่ยังสนับสนุนเป็นแรงส่งให้ยอดขายรถยนต์กลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี ได้แก่
การส่งออกฟื้นตัว รายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น การทำโปรโมชันส่งเสริมการขายจากดีลเลอร์ เเละดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ

Photo : Shutterstock

ส่วนประเด็น ‘อายุรถยนต์’ เฉลี่ยบนท้องถนนที่มากขึ้น (รถยนต์นั่งส่วนบุคคลอายุเฉลี่ย 9.7 ปี รถยนต์เชิงพาณิชย์อายุเฉลี่ย 12.3 ปี) ก็ทำให้เกิดความต้องการเปลี่ยนรถใหม่ รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ของรถยนต์ที่จูงใจผู้ซื้อด้วย

โดยปัจจัยเหล่านี้จะช่วยประคองให้ยอดขายรถยนต์ฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เป็นต้นไป

ttb analytics เสนอเเนะว่า ภาครัฐและภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ควรเตรียมพร้อมด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้แรงงาน และร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาดด้วยการทำ ‘Bubble and Seal’ อย่างเป็นระบบ เพื่อรักษาซัพพลายเชนการผลิตไม่ให้หยุดชะงัก ซึ่งหากสามารถจัดการได้ ผนวกกับปัจจัยบวกพื้นฐานของกำลังซื้อรถยนต์ในประเทศ

ถ้าทำได้ คาดว่ามีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์จะสามารถกลับเข้าสู่ระดับปกติ 8.6 แสนคันได้ในปี 2565”

 

]]>
1345601
‘Nissan’ อาจยุติการพัฒนา ‘Skyline’ รถเเรงขวัญใจวัยรุ่นยุค 70s ไปทุ่มลงทุน ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ เเทน https://positioningmag.com/1337925 Mon, 21 Jun 2021 07:35:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1337925 เกิดกระเเสข่าวว่า ‘Skyline’ รถซีดานยอดฮิตครองใจวัยรุ่นยุค 70s ที่สร้างชื่อเสียงให้เเบรนด์ ‘Nissan’ มายาวนาน กำลังจะปิดฉากลง เมื่อเทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป ความนิยมลดลง บริษัทจึงอาจตัดสินใจขยับไปมุ่ง SUV เเละรถยนต์ไฟฟ้าเเทน

Skyline รถยนต์ไฮเอนด์ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของเเดนอาทิตย์อุทัย ในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 เมื่อผู้คนหันมาเป็นเจ้าของรถส่วนตัวกันมากขึ้น เปลี่ยนรูปแบบทางสังคม การใช้ชีวิตประจำวัน เเละวัตนธรรมของชาวญี่ปุ่น

Nissan Skyline เปิดตัวครั้งแรกในปี 1957 เป็นช่วงเดียวกันที่รัฐบาลญี่ปุ่นขยายเครือข่ายทางหลวง ทำให้ความต้องการรถยนต์ความเร็วสูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ความมีสไตล์ ความเเรงของเครื่องยนต์ ภาพลักษณ์เเตกต่างที่ปรากฎอยู่ในสื่อภาพยนตร์เเละโฆษณาต่างๆ ทำให้รถรุ่น Skyline เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่คนหนุ่มสาวสมัยนั้น

หนึ่งในรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คือโมเดลรุ่นที่ 4’ ซึ่งเปิดตัวในปี 1972 ได้รับฉายาว่า ‘Kenmeri’ จากเเคมเปญโฆษณาทางโทรทัศน์ที่มีคู่สามีภรรยาชาวตะวันตกชื่อเคนและแมรี่แสดงนำ

โดย ‘Skyline Kenmeri’ นี้ มียอดขายรวมกว่า 6.6 แสนคัน นับเป็นรุ่นที่มียอดขายสูงที่สุดของ Nissan Skyline กลายเป็นไอค่อนของวัยรุ่นญี่ปุ่นยุค 70s

ช่วงทศวรรษ 70s รถยนต์ Nissan Skyline มียอดจำหน่ายเฉลี่ย 1.5 แสนคันต่อปี เเต่กาลเวลาเปลี่ยน เทรนด์โลกเปลี่ยน ทำให้ในปี 2020 มียอดขายเพียง 3,900 คันเท่านั้น ความนิยมลดลงเรื่อยๆ เมื่อผู้บริโภคยุคใหม่หันไปใช้รถ SUV

Nikkei Asia รายงานว่า Nissan จะหยุดพัฒนารถยนต์รุ่น Skyline ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างองค์กร ไปมุ่งรุกตลาดรถยนต์ SUV เเละรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตในปัจจุบัน

ผู้บริหาร Nissan ระบุว่า การตัดสินใจยุติพัฒนารถซีดานในตำนานอย่าง ‘Skyline’ เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ก็มีความจำเป็นเพื่อการดำเนินธุรกิจต่อไปในระยะยาวต่อไป ซึ่งบริษัทกำลังทุ่มงบ R&D ไปที่การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) เเทน โดยนอกจากรุ่น Skyline แล้ว Nissan ยังจะยุติการพัฒนารถซีดานทั้งหมดใน ตลาดญี่ปุ่น รวมถึงรถรุ่น Fuga และ Cima ที่อยู่ในกลุ่มลักชัวรีด้วย

ทั้งนี้ Nissan เพิ่งเปิดตัว Ariya รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุด ที่วิ่งระยะทางได้ไกลสุดถึง 610 กิโลเมตร และมีกำลังสูง 290 กิโลวัตต์ พร้อมวางจำหน่ายในราคาราว 1.5 ล้านบาทในญี่ปุ่น ช่วงกลางปี 2021

ต้องจับตาว่า ‘ตลาดรถมือสอง’ ของ Nissan Skyline พุ่งขึ้นหรือไม่…

 

ที่มา : Nikkei (1) , (2)

 

]]>
1337925
ตลาดรถยนต์ไตรมาสแรกโต ‘9%’ แม้จะขาดแคลนชิปสำหรับผลิต https://positioningmag.com/1326452 Fri, 02 Apr 2021 12:53:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1326452 Automakers ได้มีการรายงานยอดขายรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ท่ามกลางตลาดที่ประสบปัญหามากมาย ทั้งเรื่องการขาดแคลนชิปสำหรับการผลิตจนต้องหยุดไลน์ผลิตบางแห่ง หรือแม้แต่ปัญหาด้านการขนส่ง

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 8-9% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2020 ซึ่ง COVID-19 ได้ระบาดหนักในช่วงเดือนมีนาคมจนทำให้ตัวแทนจำหน่ายและโรงงานผลิตรถยนต์ต้องปิดตัว โดยยอดขาย Volkswagen เติบโตขึ้น 21%, Toyota เพิ่มขึ้น 21.6%, Hyundai เพิ่มขึ้น 28%, Kia เพิ่มขึ้น 22.8%, Ford เพิ่มขึ้น 1% ส่วนยอดขายของ General motors (gm) เพิ่มขึ้น 3.9%

“เราเห็นการเติบโตขึ้นเล็กน้อย ดูเหมือนว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่หยุดผลิตรถยนต์เนื่องจากทรัพยากรที่จำกัด” เจสสิก้า คาลด์เวลล์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายข้อมูลเชิงลึกของ Edmunds.com กล่าว

GM กล่าวว่า ยอดขายในส่วนของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 19% ในไตรมาสแรก ขณะที่ยาดขายลูกค้าองค์กรและภาครัฐลดลง 35% จากปีก่อนหน้า GM คาดว่าความต้องการของผู้บริโภคจะยังคงฟื้นตัวได้ตลอดทั้งปีนี้

“ความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นและการกลับมาเติบโตอีกครั้งของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง” อีเลน บัคเบิร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ GM กล่าว

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา แบรนด์รถยนต์และซัพพลายเออร์เริ่มเตือนของการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งสวนทางกับความต้องการสำหรับยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ โดยชิปเซ็ตถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งของยานยนต์รุ่นใหม่สำหรับระบบต่าง ๆ โดยในรถ 1 คันจำเป็นต้องมีชิปจำนวนมาก อย่าง Ford ประกาศแผนการลดกำลังการผลิตที่โรงงาน 6 แห่งในอเมริกาเหนือเนื่องจากปัญหานี้

“ปัญหาการขาดแคลนชิปนี้ส่งผลกระทบต่อทุกคน เราหวังว่าหากในอีก 4-5 เดือนข้างหน้าสถานการณ์จะดีขึ้นบางที Q3, Q4 น่าจะฟื้นตัว” Jose Munoz ซีอีโอของ Hyundai North America กล่าว

บริษัทที่ปรึกษา AlixPartners ประเมินว่าการขาดแคลนชิปจะลดรายได้อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกในปีนี้ถึง 60.6 พันล้านดอลลาร์ การลดการผลิตจากปัญหาการขาดแคลนชิปทำให้ยานพาหนะลดลง ทำให้รถรุ่นยอดนิยมอาจมีจำนวนที่ จำกัด โดย Edmunds ประเมินว่าจำนวนคลังรถใหม่ในตัวแทนจำหน่ายทั่วอเมริกาจะลดลง 36% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

“ปัญหาสินค้าคงคลังดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ว ๆ นี้ และทุกอย่างจะส่งผลต่อยอดขายในปลายปีนี้” คาลด์เวลล์ กล่าว

Source

]]>
1326452
ตลาดเศรษฐีเฟื่องฟู รถหรู ‘Lamborghini’ ทำกำไรสูงสุดในประวัติศาสตร์ เเม้เจอวิกฤตเศรษฐกิจ https://positioningmag.com/1324406 Mon, 22 Mar 2021 07:11:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1324406 เเม้การเเพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์เเต่ตลาดมหาเศรษฐีกลับไม่สะเทือน ค่ายรถสุดหรูอย่าง ‘Lamborghini’ ทำกำไรสูงสุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก

‘เรารู้สึกประหลาดใจมาก Stephan Winkelmann ซีอีโอของ Lamborghini ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg เเละบอกว่า จากการผสมผสานที่ลงตัวเเละการปรับปรุงสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น มีส่วนช่วยผลักดันให้ผลกำไรของพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดได้

โดยรถหรูของ Lamborghini ที่ขายดีที่สุด เติมพอร์ตรายได้ในช่วงวิกฤต นั้นก็คือ ‘Urus SUV’ รวมไปถึงซูเปอร์คาร์รุ่นพิเศษอย่าง ‘Sian’ ที่เเม้จะมีราคาสูงถึง 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 100 ล้านบาท) เเต่ก็ขายดีจนหมดสต๊อก

สำหรับในปี 2020 Lamborghini ส่งมอบรถยนต์ทั้งหมด 7,430 คันทั่วโลก น้อยกว่าปี 2019 ที่ส่งมอบถึง 8,250 คัน  

เเม้ยอดส่งมอบรถยนต์จะลดลง เเต่การที่ Lamborghini ทำกำไรสูงขึ้น เป็นผลมาจากปัจจัยหลักๆ อย่าง ราคารถยนต์ต่อคันที่แพงขึ้น รถ SUV ที่ได้รับความนิยม เเละรายได้จากการปรับเเต่งรถยนต์ให้ลูกค้าเฉพาะบุคคล สะท้อนให้เห็นว่า เหล่าบรรดามหาเศรษฐียังมีการใช้เงินเพื่อความบันเทิงอย่างต่อเนื่อง เเละไม่ได้รับผล
กระทบจาก COVID-19 มากนัก

Lamborghini ปฏิเสธที่จะเปิดเผยอัตรากำไรจากการดำเนินงานหรือเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ว่ามีมากเท่าใด เเต่บอกเพียงว่า มีมูลค่าการซื้อขายที่ 1,610 ล้านยูโร (ราว 5.9 หมื่นล้านบาท) ลดลง 11% จากปี 2019 โดยการลดลงดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่ต้องสั่งหยุดการผลิต 70 วันในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว

ขณะที่ผลกำไรสุทธิของคู่แข่งเจ้าใหญ่อย่าง ‘Ferrari’ ก็ลดลงเกือบ 13% ในปี 2020

สหรัฐอเมริกายังเป็น Top Market ของ Lamborghini ด้วยยอดการส่งมอบรถยนต์ 2,224 คัน ตามมาด้วยอันดับ 2 อย่างเยอรมนี ที่มียอดขาย 607 คัน และอันดับ 3 เป็นของจีน ด้วยยอดขาย 604 คัน

โดยรายได้ที่ลดลงของ Lamborghini ในปี 2020 ส่วนใหญ่มาจากตลาดในยุโรป ส่วนตลาดที่ฟื้นตัวเร็วที่สุดคือจีนซึ่งมีรายได้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเเละมียอดขายแข็งแกร่งขึ้นทุกปี

Winkelmann คาดว่า จีนจะขยับขึ้นเป็นตลาดเบอร์ 2 ของ Lamborghini ได้ภายในปีนี้

-Lamborghini Urus

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีกหนึ่งเทรนด์ใหม่ของลูกค้าเศรษฐีชาวจีนที่น่าจับตามอง คือการหันมาสนใจรถ ’SUV สุดหรู กันมากขึ้น ทั้งจากเเบรนด์  Rolls-Royce, Bentley และ Lamborghini (ส่วน Ferrari มีแผนจะเปิดตัวรถ SUV ในปี 2022)

โดยในตลาดจีน พบว่า ยอดขายรถ SUV สมรรถนะสูงเเละราคาเเพง จะขายดีกว่ารถซีดานและรถสปอร์ต ซึ่งปีที่แล้ว ‘Urus SUV’ มียอดขายคิดเป็นถึง 59% ของยอดขาย Lamborghini ทั่วโลกเลยทีเดียว เเละกำลังจะมีความคืบหน้าของรถไฮบริด Urus ในเร็วๆนี้

ล่าสุด Lamborghini มียอดสั่งซื้อและการส่งมอบรถยนต์ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของปี 2021 มากกว่าที่เคยทำในช่วงสองเดือนแรกของปี 2020 ก่อนวิกฤตโรคระบาดจะรุนเเรง โดยตอนนี้มียอดสั่งซื้อครอบคลุม 9 เดือนของปีนี้แล้ว ซึ่งผู้บริหารมองว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีเเละมีทิศทาง ‘เป็นบวก’

สำหรับเเผนปีหน้าของ Lamborghini จะมุ่งเน้นไปที่การเปิดตัว ‘Huracan STO’ และรถยนต์อีกสองรุ่นที่อิงกับรุ่น V12 เเต่ตอนนี้ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใด ๆ เพิ่มเติม

 

ที่มา : Bloomberg , BBC 

]]>
1324406
จับตา ‘BMW’ กับการรักษาแชมป์ตลาดรถหรูปี 2021 ที่เปิดก่อนด้วย 5 รุ่นใหม่ https://positioningmag.com/1319537 Tue, 16 Feb 2021 07:05:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319537 หลังจากที่ไม่สามารถขึ้นเป็น ‘เบอร์ 1’ ในตลาดรถยนต์พรีเมียมได้สักที เพราะมี ‘ก้าง’ ชิ้นใหญ่อย่าง ‘Mercedes-Benz’ ขวางอยู่ แต่ในปี 2020 ‘BMW’ ก็สามารถแซงและขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งตลาดรถหรู พร้อมครองส่วนแบ่งตลาดที่ 51.2% อย่างไรก็ตาม การครองแชมป์ว่ายากแล้ว แต่การรักษาแชมป์นั้นยากยิ่งกว่า แต่ BMW ก็ประกาศชัดว่าในปี 2021 จะยังคงรักษาตำแหน่งให้ได้

เบอร์ 1 ด้วยส่วนแบ่ง 51.2%

ภาพรวมตลาดรถนั่งปี 2020 ลดลงถึง 31% ขณะที่ตลาดรถหรูมีจำนวนทั้งสิ้น 24,263 คัน ลดลง 17.7% ซึ่งจะเห็นว่าตลาดรถหรูได้รับผลกระทบจาก COVID-19 น้อยกว่าตลาดทั่วไป ขณะที่ BMW Group (นับรวมยอดขายรถ MINI) มียอดส่งมอบรวมทั้งหมด 12,426 คัน ทำให้แบรนด์สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มรถยนต์พรีเมียมที่ 51.2% จากในปี 2019 มีส่วนแบ่งตลาด 43.9% ทั้งนี้ แบรนด์ BMW ส่งมอบรถยนต์รวม 11,242 คัน ลดลง 4.3% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ MINI มียอดการส่งมอบ 1,184 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 1.7% ด้าน BMW Motorrad ที่เป็นแบรนด์รถจักรยานยนต์มีการส่งมอบที่ 1,224 คัน

ที่น่าสนใจคือ กลุ่ม BMW M หรือรถยนต์สมรรถนะสูง มียอดขายเติบโต 40% จากปี 2019, Plug-in Hybrid มียอดขายเติบโต 33.8% และรถยนต์มือสองเติบโต 43.4%

ส่งออกยังไปได้สวย

ส่วนด้านการผลิต บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย มียอดการประกอบรถยนต์และมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยูรวมกว่า 32,052 คัน เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นยอดการประกอบรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู 23,177 คัน ลดลง 10% และยอดประกอบมอเตอร์ไซค์ BMW Motorrad ที่ 8,875 คัน เพิ่มขึ้น 43%

ส่วนในด้านการส่งออกนั้น มีการส่งออกรถยนต์และมอเตอร์ไซค์รวม 23,143 คัน เพิ่มขึ้นถึง 24% โดยแบ่งเป็นรถยนต์ BMW กว่า 15,079 คัน เพิ่มขึ้น 3% และมีการส่งออกมอเตอร์ไซค์กว่า 8,064 คัน เพิ่มขึ้นถึง 97%

ช่องทางดิจิทัลที่เน้นยิ่งขึ้น

BMW Group Thailand ในปีที่ผ่านมามีการปรับปรุงกลยุทธ์ในหลายด้าน ทั้งผลิตภัณฑ์ยานยนต์รุ่นใหม่, การดูแลลูกค้าหลังการขาย การปรับตัวด้านดิจิทัลเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนที่มีความสนใจ โดยการนำระบบ Augmented Reality มาใช้เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสรถยนต์ รวมถึงการนำเสนอบริการผ่านช่องทางออนไลน์ในงานมอเตอร์โชว์และมอเตอร์ เอ็กซ์โป กับบีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย

“เมื่อชีวิตประจำวันในหลายด้านต้องหยุดชะงักลงชั่วขณะ เราจึงขยายการทำตลาดผ่านช่องทางดิจิทัลให้กว้างขวางขึ้นจากปีก่อน ๆ โดยรวมไปถึงการสร้างประสบการณ์ดิจิทัลในสองงานใหญ่ประจำปี ทั้งบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2020 และมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 37 ควบคู่ไปกับการจัดแสดงรถยนต์หน้างานจริง” อเล็กซานเดอร์ บารากา ประธาน BMW Thailand กล่าว

อเล็กซานเดอร์ บารากา ประธาน BMW Thailand

เปิด 5 รุ่นใหม่รักษาแชมป์

สำหรับปีนี้ BMW Group ได้เตรียมเปิดผลิตภัณฑ์ยานยนต์ใหม่เพื่อรักษาแชมป์ในปี 2021 โดยในส่วนของแบรนด์ BMW มี 2 รุ่น ได้แก่ X7 xDrive30d M Sport ราคา 5.999 ล้านบาท ประกอบในประเทศโดยจะถูกกว่ารุ่นนำเข้าเมื่อปี 2019 ที่มีราคา 8.999 ล้านบาท โดยได้เครื่องยนต์เล็กกว่า ซึ่งราคาที่ถูกลงนั้นมั่นใจว่าจะช่วยในการดึงดูดลูกค้ามากขึ้น และอีกรุ่นคือ 330Li M Sport ราคา 2.899 ล้านบาท

ในส่วนของแบรนด์ MINI ก็เตรียมเปิดตัว มินิ คูเปอร์ เอส คันทรีแมน เอนทรี ราคา 1.999 ล้านบาท, มินิ คูเปอร์ เอส คันทรีแมน ไฮทริม ราคา 2.529 ล้านบาทและ มินิ จอห์น คูเปอร์ เวิร์กส์ GP Inspired Edition ราคา 3.448 ล้านบาท รวมถึงจักรยานยนต์ บีเอ็มดับเบิลยู R 18 Classic First Edition ในตระกูลครูสเซอร์ ราคา 1.250 ล้านบาท

ด้านนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้ายังคงเดินหน้าต่อไป โดยที่ผ่านมาเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบอย่าง มินิ คูเปอร์ เอสอี พร้อมด้วยรถยนต์ PHEV อีกสี่รุ่นในตระกูลซีรีส์ 3 ซีรีส์ 7 X3 และ X5 ซึ่งมีสัดส่วนการขายมากกว่า 30% โดยในปีนี้จะยังคงมีแผนการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ ChargeNow มีจำนวนหัวจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 111 หัวจ่ายใน 67 จุดบริการทั่วประเทศ

มินิ คูเปอร์ เอส คันทรีแมน

ที่น่าจับตาในปีนี้คงไม่ใช่แค่ BMW จะสามารถรักษาแชมป์ได้หรือไม่ แต่ Mercedes-Benz ที่เสียแชมป์ไปก็เป็นอีกแบรนด์ที่น่าจับตาว่าจะสามารถทวงตำแหน่งของตัวเองที่เคยทำสถิติเป็นเบอร์ 1 นานนับสิบปีได้อย่างไร

]]>
1319537
วิกฤต ‘ชิป’ ขาดตลาดพ่นพิษ ‘ตลาดรถยนต์’ คาดแบรนด์ใหญ่สูญเสียการผลิต 100,000 คันในไตรมาสแรก https://positioningmag.com/1314931 Tue, 19 Jan 2021 06:53:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1314931 ‘ฟอร์ด (Ford)’ แบรนด์รถยนต์สัญชาติอเมริกันได้สั่งหยุดการผลิตรถยนต์ในโรงงานที่ตั้ง ณ ซาร์หลุยส์ เยอรมนีเป็นเวลาหนึ่งเดือน เนื่องจากขาดแคลนชิปที่จำเป็น ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ก่อนหน้านี้ ฟอร์ด ต้องปิดโรงงานผลิตรถ SUV ใน Louisville รัฐ Kentucky เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเนื่องจากขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ล่าสุด ได้สั่งปิดการทำงานของโรงงานตั้งแต่วันที่ 19 มกราคมถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิปและความต้องการรถที่ลดลง โดยโรงงานแห่งนี้มีพนักงานประมาณ 5,000 คน โดยรถยนต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของ Ford ในยุโรปคือ Ford Focus

“เรากำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและปรับตารางการผลิตเพื่อลดผลกระทบต่อพนักงาน ซัพพลายเออร์ ลูกค้าและตัวแทนจำหน่ายทั่วยุโรป อย่างไรก็ตาม เรายังไม่มีแผนที่จะหยุดการผลิตในโรงงานอื่น ๆ ในยุโรปของเรา” โฆษกของฟอร์ดกล่าว

การปิดตัวลงของโรงงานฟอร์ดในเยอรมนีชี้ให้เห็นว่าปัญหาขาดแคลนชิปกำลังส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก อย่าง Volkswagen กล่าวในแถลงการณ์เมื่อเดือนที่แล้วว่า จะต้องปรับการผลิตที่โรงงานในจีน, อเมริกาเหนือ และยุโรปในไตรมาสนี้ และ Audi ได้ปลดพนักงาน 10,000 คนเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิป โดยต้องเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับผลกระทบที่โรงงานในเยอรมนีและเม็กซิโก นอกจากนี้แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota, Nissan, Honda ต่างก็กำลังปรับการผลิตเพื่อตอบสนองต่อปัญหาการขาดแคลน รวมถึงแบรนด์อย่าง Hyundai ก็มีการปรับด้วย

การขาดแคลนชิปในช่วงนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ เนื่องจากบริษัทวิจัย Bernstein ประเมินว่ายอดขายรถยนต์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 9% ในปี 2564 หลังจากที่คาดว่าจะลดลง 15% ในปีที่แล้ว แต่ปัญหาการขาดแคลนชิปทำให้การฟื้นตัวมีความเสี่ยง ตามที่นักวิเคราะห์ของ UBS ระบุว่าผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกอาจสูญเสียการผลิต 100,000 คันในช่วง 3 เดือนแรกของปีหรือประมาณ 4% ของผลผลิตรายไตรมาสทั่วโลกอันเป็นผลมาจากการขาดแคลนส่วนประกอบ

ปัจจุบันรถ 1 คันจะต้องใช้ชิปประมาณ 50-150 ชิ้น เนื่องจากแอปพลิเคชันที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ และการควบคุมการนำทาง

Source

]]>
1314931
GM ปรับสู่ “รถไฟฟ้า-รถยนต์ไร้คนขับ” จริงจัง ทุ่ม 8.2 แสนล้าน มุ่งผลิต EV ให้ได้ 40% ในปี 2025 https://positioningmag.com/1306981 Fri, 20 Nov 2020 07:30:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306981 ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ General Motors (GM) ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นถึงการปรับกลยุทธ์มุ่งหารถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มสูบ

โดย GM ประกาศเเผนใหม่ว่า จะทุ่มเงินลงทุนกว่า 2.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.2 แสนล้านบาท) เพื่อพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับ วางเป้าหมายจะบรรลุผลสำเร็จให้ได้ภายในปี 2025

หนึ่งในนั้นคือ GM ตั้งเป้าจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนมากกว่า 40% เเละจะเร่งเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ให้ได้มากกว่า 30 โมเดลในตลาดทั่วโลกภายในปี 2025 นี้เช่นกัน

Mary Barra ซีอีโอของ GM กล่าวว่าปัญหาโลกร้อนเเละการเปลี่ยนเเปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง บริษัทต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการเเก้ปัญหานี้ โดยการมุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่มั่นคง ไปสู่การเปลี่ยนพอร์ตฯ รถยนต์ของ GM ให้เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว

ซีอีโอ GM ยังระบุถึงความได้เปรียบในการพัฒนารถยนต์ EV ว่า บริษัทมีความสามารถในการเเข่งขันด้านเเบตเตอรี่ ซอฟต์เเวร์ การประยุกต์ใช้ฟังก์ชันต่างๆ ของรถยนต์ มีโรงงานการผลิต เเละความเข้าใจในประสบการณ์ของผู้ใช้ที่สั่งสมมายาวนาน

ก่อนหน้านี้ GM ประกาศว่าจะใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเงินทุนกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัท จะทุ่มให้กับโครงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเเละรถยนต์ไร้คนขับ โดยได้จับมือกับพันธมิตรวงการยานยนต์อย่าง Honda ร่วมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่นเพื่อทำตลาดในปี 2024 

ขณะเดียวกัน GM เริ่มมีการปรับโรงงานผลิตรถยนต์ใหม่ ให้เป็น  Factory Zero เพื่อมุ่งสร้างรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ ซึ่งจะเริ่มต้นที่รถกระบะรุ่น Hummer ที่คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาราว 1 ปี

โรงงาน Factory Zero ของ GM

GM ขยับมาร่วมมือกับธุรกิจค้าปลีกอย่าง Walmart ด้วยการนำรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับของ Cruise (บริษัทลูกของ GM) มาเป็นเครื่องมือเดลิเวอรี่ส่งสินค้าอุปโภคบริโภค จะเริ่มต้นทดลองในช่วงต้นปี 2021

สำหรับเรื่องเเบตเตอรี่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เพราะทำให้ EV  มีราคาสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ดังนั้นการเร่งพัฒนาเเบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพเเละราคาถูกลง จะช่วยพลิกรูปแบบการใช้รถใช้ถนนของคนทั่วโลก ให้ขยับไปใช้พลังงานสะอาดเร็วขึ้น

โดย GM เป็นอีกหนึ่งบริษัทใหญ่ที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่รูปแบบใหม่ของตัวเอง ที่มีชื่อว่า The New Ultium Battery System ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดสอบ ซึ่งหากประสบความสำเร็จด้วยดี จะทำให้ต่อไป ราคารถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์ใช้น้ำมันจากค่าย GM ใกล้เคียงกันมากขึ้น

ด้านดาวรุ่งเเห่งรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ก็กำลังตามหาเเหล่งขุมทรัพย์ “เเบตเตอรี่” เช่นกัน โดยได้เจรจาลงทุนกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ประเทศผู้ผลิต “แร่นิกเกิล” มากที่สุดในโลก เเละมีกระเเสข่าวว่าได้เจราจากับทางการไทยด้วย จากกลยุทธ์การขยายโรงงานในเอเชียเพิ่มเติมนอกจากที่ประเทศจีน

 

ที่มา : CNN , Autonews

]]> 1306981