ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sun, 19 Nov 2023 03:54:44 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “SCB” เร่งยกเครื่อง “Core Banking” ของธนาคาร หลังพบระบบดิจิทัลบางอย่างใช้มานาน 20 ปีไม่เคยอัปเดต https://positioningmag.com/1452373 Sat, 18 Nov 2023 07:34:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1452373 หลังธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศก้าวสู่การเป็น “Digital Bank with Human Touch” สิ่งที่ต้องทำคือการรื้อ “หลังบ้าน” ของตนเองให้สอดคล้องกับนโยบายใหม่ ตั้งแต่ปีนี้ธนาคารจึงเริ่ม “ยกเครื่อง” เตรียมเปลี่ยน “Core Banking” ให้ทันสมัย ลดจำนวนระบบเกี่ยวเนื่องให้ไม่ซ้ำซ้อน และอัปเดตให้ทันโลกหลังบางระบบใช้มานาน 20 ปี จัดบ้านให้พร้อมรับเทคโนโลยี AI ที่จะมาช่วยให้ธนาคารบริการลูกค้าได้แม่นยำ เรียลไทม์ และทำงานเชิงรุกได้ดีขึ้น

“Core Banking เรายังใช้ภาษาโคบอลต์อยู่เลย วันนี้ภาษานี้ไม่มีเรียนในสถาบันการศึกษาแล้วด้วยซ้ำ แล้วยังระบบต่าง ๆ ที่แยกย่อยออกไปอีก มีทำงานอยู่ถึง 764 ระบบ ในจำนวนนี้มากกว่า 50 ระบบมีอายุมากกว่า 20 ปี ลองนึกดูว่าเทคโนโลยีเมื่อ 20 ปีที่แล้วคืออะไร หลายคนอาจจะไม่รู้จัก”

“อรพงศ์ เทียนเงิน” ผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Technology ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึง ‘งานช้าง’ ที่รออยู่ข้างหน้า เมื่อธนาคารตัดสินใจจะต้องเร่งเครื่องเรื่อง “ดิจิทัล”

หนึ่งในเป้าหมายของ SCB ในยุคซีอีโอ “กฤษณ์ จันทโนทก” คือ การเพิ่มรายได้จากดิจิทัล (Digital Revenue) ขึ้นเป็น 25% ของรายได้รวม ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายใหญ่มากเพราะปัจจุบันยังมีสัดส่วนเพียง 7% เท่านั้น ดังนั้น การจะไปให้ถึงฝันต้องกลับมาดูความพร้อมในบ้านก่อน

SCB Core Banking

เป็นที่มาของแผนการ “ยกเครื่อง” Core Banking ของธนาคารและระบบแวดล้อมทั้งหมด โดยอรพงศ์วางงบไว้ในกรอบ 4 ปี (2567-70) ปีละ 8,000 ล้านบาท หรือใช้งบรวมทั้งหมดเพื่อรื้อระบบราว 32,000 ล้านบาท

สิ่งที่ต้องการจะทำคือการเปลี่ยน Core Banking ซึ่งเปรียบเหมือน ‘หัวใจ’ ของธนาคารให้ทันสมัย และลดจำนวนระบบแยกย่อยที่มี 764 ระบบ ให้ระบบที่เหมือน ‘เส้นเลือด’ เหล่านี้เหลือตัวเลขที่ 100 ต้น ๆ ก็พอ

การรื้อบ้านครั้งใหญ่ครั้งนี้ อรพงศ์คาดจะใช้เวลา 4 ปีตามกรอบงบประมาณจึงจะเสร็จสมบูรณ์ แต่จะพยายามทำให้ระหว่างทางเกิดประโยชน์กับธนาคารได้ทันทีโดยไม่ต้องรอทุกระบบพร้อมหมด

AI ช่วยสร้าง “Customer Centric” ให้เกิดขึ้นจริง

โจทย์ของการยกเครื่องหลังบ้านครั้งนี้คือ การเตรียมฐานให้พร้อมเพื่อนำเทคโนโลยี AI มาใช้งาน ซึ่งจะทำให้การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง “Customer Centric” เกิดขึ้นได้จริง เพราะสามารถมองเห็นดาต้าของลูกค้าเป็นรายบุคคลและเป็นดาต้าเรียลไทม์

อรพงศ์อธิบายว่า ทุกวันนี้ธนาคารยังมีลักษณะเป็น “Product Centric” คือ มองลูกค้าแยกตามผลิตภัณฑ์ที่ใช้ เช่น วันนี้ลูกค้าใช้สินเชื่อบ้านก็เป็นลูกค้ากู้บ้าน เมื่อไปใช้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ก็เป็นลูกค้าของกลุ่มสินเชื่อรถ

การมองเป็นรายผลิตภัณฑ์แบบนี้ทำให้ธนาคารต่อยอดยากเพราะต้องเป็นฝ่ายตั้งรับ รอให้ลูกค้ามีความต้องการและแวะเข้ามาหาธนาคารเอง

SCB Core Banking

แต่หาก AI สามารถวิเคราะห์ให้ได้ว่าลูกค้าคนนี้มีศักยภาพอย่างไร เช่น เป็นลูกค้าสินเชื่อบ้านราคา 5 ล้านบาท ผ่อนตรงเวลาทั้งหมด ด้วยโปรไฟล์ที่สามารถกู้บ้านในราคานี้ได้ มีความรับผิดชอบในการผ่อน และมีเงินในบัญชี ธนาคารอาจเชิญชวนให้เป็นลูกค้าบริการจัดการความมั่งคั่ง (Wealth Management)

ข้อมูลเหล่านี้ที่ AI วิเคราะห์ลูกค้าได้ สามารถส่งต่อให้ “มนุษย์” หรือพนักงานที่ดูแลลูกค้า เช่น Relation Manager (RM), Call Center ทราบ เพื่อดูแลลูกค้าต่อได้ตรงจุด ไม่นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าไม่น่าจะสนใจ ช่วยพนักงานให้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปได้มากกว่า ซึ่งฝั่งลูกค้าเองจะลดความรู้สึก ‘รำคาญใจ’ ที่ต้องรับฟังผลิตภัณฑ์ที่ ‘ไม่โดน’ ด้วยเหมือนกัน

สร้างผลิตภัณฑ์การเงินเฉพาะบุคคล

อีกส่วนหนึ่งที่ SCB จะต่อยอดได้จากความสามารถในการวิเคราะห์ลูกค้าเป็นรายบุคคล คือ “การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ดิจิทัล”

ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันการออกโปรโมชันสินเชื่อต่าง ๆ จะออกเป็นแคมเปญใหญ่ที่ทุกคนสามารถสมัครยื่นขอสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยเดียวกันตามแคมเปญ ทั้งที่จริงแล้วลูกค้าแต่ละรายมีศักยภาพและความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน

ในอนาคตหาก AI สามารถวิเคราะห์ดาต้ารายคนได้ จะทำให้ธนาคารสามารถเสนอสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แยกย่อยได้ตามโปรไฟล์รายบุคคล ลูกค้าความเสี่ยงต่ำก็อาจจะได้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ทำให้ธนาคารทราบว่าควรแข่งขันในลูกค้ารายใด และรายใดที่ไม่ควรแข่งขัน

พลิกกลับด้าน…ใช้คน SCB ดูแลไอทีเอง

จากการปรับใหญ่ในครั้งนี้ อรพงศ์กล่าวว่าที่ขาดไม่ได้คือ “การลงทุนบุคลากร” จะต้องปรับมาใช้บุคลากรภายในของธนาคารไทยพาณิชย์เองในการดูแลระบบดิจิทัล แทนที่การใช้ผู้ให้บริการจากภายนอก (vendor)

ทำให้ในปี 2567 ธนาคารไทยพาณิชย์จะรับสมัครพนักงานไอทีเพิ่ม 300 ตำแหน่ง โดยไม่ได้เป็นการเพิ่มจำนวนพนักงาน (headcount) ขององค์กร เพราะจะเป็นการทดแทนพนักงานดั้งเดิมที่เกษียณอายุหรือลาออก

“ต้องสร้างคนมาคู่กับการสร้างเทคโนโลยี วันนี้เรายังพึ่งพิง vendor อยู่ 71% ต่อไปเราต้องพึ่ง vendor ให้น้อยลง ต้องสลับมาดูแลเองให้ได้ 80% เพราะเมื่ออนาคตมีปริมาณงานเพิ่มขึ้น เราต้องดูแลเองได้ คนของเราต้องเติบโตไปพร้อมกัน ต่อจากนี้เราไม่ได้เน้นความเร็วมาก ๆ แต่ต้องโตอย่างยั่งยืน” อรพงศ์กล่าวปิดท้าย

]]>
1452373
“ดาวเหนือ” ดวงใหม่ของ “SCB” กับทฤษฎี “เก้าอี้ 3 ขา” ภายใต้ยุคซีอีโอ “กฤษณ์​ จันทโนทก” https://positioningmag.com/1451316 Thu, 09 Nov 2023 13:57:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1451316
  • กลยุทธ์ใหม่ภายใต้ยุคซีอีโอ “กฤษณ์ จันทโนทก” ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มุ่งสร้างชื่อเป็นเบอร์ 1 เรื่องการจัดการ “ความมั่งคั่ง” (Wealth Management) และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จาก “ดิจิทัล” (Digital Revenue) เป็น 25% ของรายได้รวม
  • “Digital Bank with Human Touch” สโลแกนใหม่ในการให้บริการ เมื่อ “คน” ยังเป็นจุดแข็งของธนาคาร แต่ปรับการบริหารภายในด้วยทฤษฎี “เก้าอี้ 3 ขา” พร้อมยกเครื่อง “เทคโนโลยี” ใหม่หมดให้ทุกอย่างสะดวกขึ้น
  • “เราประชุมกันแล้วพบว่าคู่แข่งแบงก์อื่นเขามีภาพที่ชัดมากว่าเขาจับกลุ่มเป้าหมายแบบไหน แล้วเราล่ะ? พอถามไปในที่ประชุมก็พบว่า SCB เราไม่ชัดเจนว่าเป้าหมายเราคือใคร” กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวย้อนถึงช่วงแรกหลังเข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2565 อยู่ในช่วงวางกลยุทธ์-เป้าหมายของธนาคาร และพบว่า SCB ต้องการเป้าหมายที่ชัดว่าจะมุ่งไปทางไหน

    ภาพที่เห็นนี้ไม่ใช่เป็นเพราะว่าธนาคารไทยพาณิชย์ไม่เข้มแข็ง แต่เป็นเพราะธนาคารมีผลิตภัณฑ์และกลุ่มเป้าหมายหลากหลายมากจนไม่ได้มีภาพชัดเจนในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ

    “แต่ระหว่างประชุม เราพบว่าเรามีลูกค้า wealth (กลุ่มบริหารจัดการความมั่งคั่ง) สูงเป็นอันดับต้นๆ ของไทย และเรามีการลงทุน offshore (การลงทุนในต่างประเทศ) เยอะมาก เราจึงมองเรื่องนี้ว่าสามารถเป็น ‘ดาวเหนือ’ ดวงใหม่ของธนาคารได้” กฤษณ์กล่าว

    SCB กฤษณ์ จันทโนทก
    กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

    ปัจจุบัน SCB จึงมีกลยุทธ์สำคัญ 2 กลยุทธ์ที่วางไว้เป็นเป้าหมายในปี 2568 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า ได้แก่

    1) ขึ้นสู่ “เบอร์ 1” ด้านการจัดการ “ความมั่งคั่ง” (Wealth Management)

    การเป็นเบอร์ 1 วัดจากหลายด้านทั้งด้านสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM), การเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า และสามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับพอร์ตลูกค้าได้

    แนวโน้มความเป็นไปได้นั้นมีสูง เพราะ SCB หันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจจัดการความมั่งคั่งมาตั้งแต่ 5 ปีก่อน โดยแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่มีสินทรัพย์ 2-100 ล้านบาท และ กลุ่มที่มีสินทรัพย์มากกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มหลังจะบริหารด้วยบริษัทร่วมทุน “SCB Julius Baer”

    ทิศทางการเติบโตจากปี 2560 กลุ่มธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่งทำรายได้คิดเป็นสัดส่วน 7% ของรายได้รวม แต่ในปีนี้พุ่งขึ้นมาเป็น 20% ของรายได้รวม จึงเป็นธุรกิจที่กลายเป็นคีย์สำคัญของแบงก์

    เราพบว่าเรามีลูกค้า wealth สูงเป็นอันดับต้นๆ ของไทย และเรามีการลงทุน offshore เยอะมาก เราจึงมองเรื่องนี้ว่าสามารถเป็น ‘ดาวเหนือ’ ดวงใหม่ของธนาคารได้

    2) เพิ่มสัดส่วนรายได้จากดิจิทัล (Digital Revenue) ขึ้นเป็น 25%

    เนื่องจากผู้บริหารและพนักงาน SCB ทุกคนเห็นตรงกันว่า “ดิจิทัล” คือโจทย์ใหม่ทางธุรกิจในอนาคต และต้องทำเพื่อให้ธนาคารออกตัวนำหน้าดิจิทัลแบงก์รายใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดอย่างน้อย 5-10 ปี

    เป้าสร้างรายได้จากดิจิทัลที่จะเพิ่มให้เป็น 1 ใน 4 ของรายได้รวมนี้ถือเป็นเป้าที่ท้าทายมาก เพราะเมื่อปีก่อนในช่วงซีอีโอกฤษณ์รับตำแหน่ง รายได้จากดิจิทัลยังมีสัดส่วนเพียง 3-4% ของรายได้รวมเท่านั้น

    กฤษณ์ระบุว่า รายได้ดิจิทัลของธนาคารนิยามแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ “กลุ่มรายได้ทางตรง” เป็นการนำโปรดักส์ที่เคยต้องขายผ่านสาขาหรือผ่านพนักงาน เช่น กองทุน ประกัน ไปขายผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น SCB Easy ได้สำเร็จ และอีกกลุ่มคือ “กลุ่มรายได้ทางอ้อม” หมายถึงรายได้นั้นเกิดจากการที่พนักงานใช้เครื่องมือ AI ของธนาคารช่วยในการเปิดการขายและขายได้สำเร็จ ถือว่าดิจิทัลมีส่วนช่วยให้พนักงานทราบความต้องการของลูกค้า

     

    เรื่อง “คน” ยังเป็นจุดแข็ง…แต่ต้องยกเครื่อง “เทคโนโลยี”

    เป้าหมายวางไว้เรียบร้อย แต่การจะไปให้ถึง ‘ดาวเหนือ’ ต้องมาดูสิ่งที่มีในองค์กร และจะปรับอย่างไรให้ร่วมสมัยโดยไม่ต้องละทิ้งสิ่งเดิม

    กฤษณ์มองว่า จุดแข็งของธนาคารไทยพาณิชย์คือเรื่อง “คน”

    “พนักงานที่นี่มีมากกว่า 20,000 คน และผมพบว่าคนไทยพาณิชย์รักองค์กรมาก บางคนอยู่ที่นี่มานานกว่า 20 ปี” กฤษณ์กล่าว

    SCB กฤษณ์ จันทโนทก

    ขณะที่สิ่งใหม่ที่จะต้องนำมาผสมผสานคือ “เทคโนโลยี” ให้การบริการเป็นเนื้อเดียวกัน จึงเกิดเป็นสโลแกน “Digital Bank with Human Touch” คือ การบริการที่ SCB จะยังมี “คน” ทำหน้าที่สร้างความเชื่อใจกับลูกค้า แต่มี “เทคโนโลยี” มาเสริมทัพเพื่อสร้างความสะดวกสบาย และทำให้คนรู้ใจลูกค้าได้ดีขึ้น

    แนวทางการบริหารของกฤษณ์จึงวางไว้ด้วยทฤษฎี “เก้าอี้ 3 ขา” คือ

    ขาแรก“ลูกค้า” ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการทำงาน ลูกค้าต้องมีความสุขในการใช้บริการ

    ขาที่สอง“พนักงาน” พนักงานจะต้อง ‘สนุก สามัคคี สำเร็จ’ สร้างความเชื่อมั่นว่าแบงก์จะยังคงอยู่และไปต่อ ให้ทุกคนสนุกและสามัคคีกันในการทำงาน เพื่อสร้างความสำเร็จ

    ขาที่สาม“ผู้ถือหุ้น” เมื่อพนักงานมีความสุข และลูกค้ามีความสุข ผู้ถือหุ้นจะได้กำไรคืนกลับไปอย่างแน่นอน

    ในส่วน “เทคโนโลยี” เป็นอีกกุญแจสำคัญที่ SCB จะยกเครื่องครั้งใหญ่ โดยวางงบไว้ปีละ 8,000 ล้านบาทในช่วง 4 ปีข้างหน้า (2567-70) เพื่อปรับระบบภายในให้สอดรับกับการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ธนาคารจะต้องใช้ดาต้าและ AI ได้เต็มประสิทธิภาพ

     

    3Q แรกกำไรพุ่ง 21% จากการคุมต้นทุน

    หลังเข้ามาคุมทัพ SCB ได้ 1 ปีกว่า กฤษณ์ประกาศผลประกอบการล่าสุดของธนาคารไทยพาณิชย์ช่วง 3 ไตรมาสแรก ปี 2566 ทำกำไรสุทธิ 3.66 หมื่นล้านบาท เติบโต 21% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

    แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากรายได้ที่เติบโตขึ้นทั้งตลาด หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

    แต่อีกส่วนหนึ่งมาจาก “การควบคุมค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income)” ได้สำเร็จ ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 41% ปีนี้เหลือ 37.4% ซึ่งทำได้เพราะมีการปรับการทำงานให้เป็นดิจิทัล (digitize) ในองค์กร ตามปรัชญา ‘ทำงาน 20% แต่ได้ผลลัพธ์ 80%’ รวมถึงมีการลดลำดับชั้นบริหารในองค์กร เพื่อให้การทำงานเข้าใจเป้าหมายเดียวกันได้ดีขึ้น และคล่องตัวกว่าในการทำงาน

    การปรับเปลี่ยนของไทยพาณิชย์จะยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นในปี 2567 เมื่อกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อนั้นเราน่าจะได้เห็นเส้นทางที่ชัดขึ้นว่า SCB จะไปสู่ดาวเหนืออย่างไร!

    ]]>
    1451316
    รู้จัก FINNIX เเอปเงินกู้ เเก้ปมผู้มีรายได้น้อย เข้าไม่ถึงแบงก์ หวังดึงคนออกจากหนี้นอกระบบ https://positioningmag.com/1349907 Fri, 03 Sep 2021 04:00:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1349907 Finnix (ฟินนิกซ์) นาโนไฟเเนนซ์น้องใหม่ในไทย ที่เปิดตัวมาด้วยสโลเเกนแอปเงินกู้คู่คนทำมาหากินเจาะใจคนรายได้น้อย กับความมุ่งหมายเเก้ปัญหาหนี้นอกระบบ 

    ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ คนดิ้นรนหาเงินกู้เงินด่วนมาใช้ต่อลมหายใจธุรกิจ ใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ตลาดนาโนไฟแนนซ์ในไทยมูลค่า 2 เเสนล้านบาท (ผู้เล่นที่ลงทะเบียนถูกกฎหมายราว 7 หมื่นล้านบาท) เเข่งขันกันดุเดือดขึ้น

    สอดคล้องกับหนี้ครัวเรือนของคนไทยที่สูงขึ้นมากในช่วงโควิด-19 ไตรมาสปีนี้พุ่งสูงกว่า 90% ต่อ GDP สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างมาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย หรือไม่มีเอกสารยืนยันบัญชีการเงิน ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการของสถาบันการเงินได้ เป็นโอกาสของธุรกิจนาโนไฟเเนนซ์ที่จะเข้ามาอุดช่องโหว่นี้

    หลังเปิดตัวมาได้ 14 เดือน Finnix มียอดดาวน์โหลดถึง 3.5 ล้านครั้ง ในส่วนนี้ได้กลายมาเป็นลูกค้าปัจจุบัน 2.5 เเสนราย เเละปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาท ตั้งเป้าปิดยอดได้ 5 พันล้าน พร้อมปั๊มยอดลูกค้าเพิ่มเป็น 3 เเสนราย ภายในสิ้นปี 2564

    Finnix เป็นแอปฯ เงินกู้ดิจิทัลของมันนิกซ์’ (MONIX) บริษัทฟินเทคสตาร์ทอัพร่วมทุนระหว่างประเทศของ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ AbakusGroup ฟินเทคยูนิคอร์นจากประเทศจีน

    โดยรีแบรนด์จากเเอปฯ ห้าให้มันนี่ มาเป็นชื่อ Finnix เมื่อช่วงเดือนเม..ที่ผ่านมา ยังคงกลุ่มเป้าหมายเดิม คือผู้มีรายได้น้อย ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน

    คนไทย 36 ล้านคน มีปัญหาการขอสินเชื่อ

    ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ จำกัด เล่าว่า ปัจจุบัน มีคนไทยกว่า 36 ล้านคนที่ประสบปัญหาการขอสินเชื่อ เเบ่งเป็น ผู้มีรายได้ไม่ถึง 20,000 บาท ราว 8 ล้านคน และไม่มีสลิปเงินเดือนให้ยื่นกู้กับสถาบันการเงินทั่วไปได้อีก 28 ล้านคน

    เหล่านี้ เป็นโอกาสที่มันนิกซ์จะเข้ามาในตลาดนี้ และตัดสินใจว่าจะทำผลิตภัณฑ์แรกในรูปแบบสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยตั้งเป้าช่วยเหลือคนทำมาหากินให้ได้ อย่างน้อยราว 20% หรือ 7.2 ล้านคน ในช่วงเริ่มต้น

    โดยจับจุด ‘Pain Point’  ของคนที่มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงการกู้เงิน คือ โอกาสได้รับอนุมัติน้อย , รอผลอนุมัตินาน , ใช้เอกสารเยอะ , วิธีการสมัครยาก เเละอัตราดอกเบี้ยสูง

    Finnix จึงเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ ภายในเเอปฯ อย่างการกำหนดวงเงินกู้ตั้งแต่ 2,000 – 100,000 บาทเพื่อตอบโจทย์คนหลายกลุ่ม ทั้งคนที่เเค่อยากหมุนเงินเล็กๆ น้อยๆ หลักพัน ไปจนถึงพยุงธุรกิจด้วยเงินหลักเเสน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 33% ต่อปี หรือ 2.75% ต่อเดือน  

    ชำระเฉพาะดอกเบี้ย เพื่อรักษาเครดิตได้ เเต่หากผิดนัดชำระเกิน 30 วัน บริษัทจำเป็นต้องรายงานต่อบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เเละหากผิดนัดชำระเกิน 180 วัน ต้องบอกเลิกสัญญาและดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

    พิจารณาให้สินเชื่อด้วย ‘Alternative Data’

    สำหรับการสมัครของสินเชื่อ หลังโหลดเเอปพลิเคชัน หากเป็น ลูกค้าเดิมของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือมีแอปพลิเคชัน SCB Easy ก็สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียว ในการยืนยันตัวตนได้เลย โดยไม่ต้องเเนบ statement ย้อนหลัง

    เเต่ถ้าหากไม่ได้เป็นลูกค้า SCB Easy มาก่อน จำเป็นต้องส่งไฟล์ statement ของธนาคารอื่นๆมาให้ทางแอปฯพิจารณา

    เมื่อถามว่าหากมีการใช้เเค่บัตรประชาชนใบเดียวในการกู้เงินทางเเอปฯ มีการประเมินความเสี่ยงอย่างไร ?

    ถิรนันท์ ตอบว่า Finnix จะเน้นไปที่การดู Alternative Data ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินอื่นๆ อย่างการขอสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลรายชื่อในโทรศัพท์มือถือของผู้กู้ 

    เราจะนำเอา Alternative Data ตรงนี้ ไปใช้ในการประมวลผล การพิจารณาสินเชื่อ ไม่ได้เอาข้อมูลไปการันตี หรือทำอันตรายใด ๆ เป็นทางเเก้กรณีที่ลูกค้าไม่ได้มีการเดินบัญชีในธนาคาร หรือใช้ชีวิตด้วยเงินสด

    โดยจุดเด่นของ Finnix ที่จะทำให้เเข่งในตลาดนี้ได้ เธอบอกว่า คืออนุมัติสินเชื่อภายใน 5 นาที เเละรูปแบบการผ่อนชำระที่ยืดหยุ่นที่เหมาะสมกับลูกค้า เช่น เปิดให้ชำระชั้นต่ำ หรือชำระดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวได้ เพื่อรักษาประวัติทางการเงิน หรือเเบ่งชำระตามกระแสเงินสดของลูกค้า เช่น เลือกชำระแบบงวด 3, 6 และ 12 เดือน

    ถ้ามีวินัยทางการเงิน จ่ายค่างวดตรงเวลา จะมีเกมล่าดาวให้ร่วมสนุก เพื่อรักษาเครดิตตามเงื่อนไข ถ้าชำระสินเชื่อภายใน 3 วันก่อนถึงครบกำหนดชำระหรือในวันครบกำหนดชำระ ก็จะได้รับดาว 1 ดวง เมื่อสะสมดาวครบ 3 ดวง จะได้รับกล่องสมบัติไปเปิดลุ้นรับรางวัลได้ทันที (เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด)

    การใช้เทคโนโลยี AI และ Machine Learning ทำให้ประเมินความเสี่ยงของลูกค้าได้รวดเร็วแม่นยำ และเราเป็นแพลตฟอร์มสินเชื่อในรูปแบบออนไลน์ 100% เข้าถึงได้ทุกพื้นที่ แค่ลูกค้ามีสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

    ดึงคนออกจาก ‘หนี้นอกระบบ’ 

    ปัจจุบัน รายได้เฉลี่ยของผู้กู้อยู่ที่ 7,000 – 12,000 บาทต่อเดือน เเละ Finnix มีวงเงินที่อนุมัติเฉลี่ย อยู่ระหว่าง 10,000 – 15,000 บาท เรตในการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) อยู่ที่ 25%

    ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) พบว่าในช่วงโควิด-19 ระลอก 3 ลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง โดยบริษัทพยายามจะคุม NPLให้อยู่ในกรอบ 1 ดิจิต

    ผู้บริหาร Finnix ประเมินตลาดนาโนไฟแนนซ์ในไทย ยังมีโอกาสขยายตัวได้ดี เเม้จะมีคู่เเข่งขึ้นมาหลายเจ้า เเต่ยังไม่มากเท่าตลาดอื่นนัก ส่วนตลาดเพื่อนบ้านในอาเซียนก็มีความน่าสนใจมาก อย่างอินโดนีเซีย ที่มีพฤติกรรมใช้เงินไม่มาก แต่ใช้บ่อยมีการใช้จ่ายก้อนใหญ่ในเเต่ละปี ซึ่งจะมีการขยายสู่ระดับภูมิภาคต่อไป

    เป้าหมายของเราคือการดึงคนรายได้น้อย ออกจากปัญหาหนี้นอกระบบที่เสี่ยงอันตราย ด้วยแอปฯ กู้เงินที่ถูกกฎหมาย นอกจากนี้ยังเป็นการให้โอกาสคนมีวินัย เเต่รายได้น้อย ให้มีการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ให้ความรู้ในการจัดการการเงินในระยะยาว

     

    ]]>
    1349907
    SCB เปิด ‘PayZave’ ทลายกำแพงเครดิตเทอม ช่วยรายย่อยหมุน “กระแสเงินสด” ฝ่าวิกฤต https://positioningmag.com/1344685 Fri, 30 Jul 2021 09:03:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1344685 SCB และ ดิจิทัล เวนเจอร์ส เปิดแพลตฟอร์มใหม่ ‘PayZave’ ตัวเชื่อมระหว่างซัพพลายเออร์กับบายเยอร์ต่อรอง “ส่วนลด” แลกกับการทลายเครดิตเทอม ให้ซัพพลายเออร์ “รายย่อย” ได้รับชำระทันที เป็น “กระแสเงินสด” เสริมสภาพคล่อง ลดการกู้นอกระบบ แก้ปัญหาเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ยาก

    “ธนวัฒน์ กิตติสุวรรณ” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน GTS and Ecosystems ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ “อรพงศ์ เทียนเงิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (DV) ร่วมเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ “PayZave” หวังแก้ปัญหารายย่อยขาดสภาพคล่อง

    ธนวัฒน์อธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก่อนว่า ปกติแล้วรายใหญ่ซึ่งเป็น “บายเยอร์” มักจะมี “ซัพพลายเออร์” รายย่อยหลายรายที่เป็นคู่ค้ากัน ซึ่งการซื้อขายนั้นรายย่อยมักจะต้องรอเครดิตเทอมหลังวางบิลประมาณ 45-60 วัน แต่ในภาวะวิกฤตนี้ หลายรายมีรายได้ลดลง การรอเครดิตเทอมทำให้กระแสเงินสดขาดสภาพคล่อง จนบางรายต้องปิดกิจการไปแล้ว

    (Photo : Shutterstock)

    แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายซอฟต์โลนเพื่อแบ่งเบาภาระ แต่รายย่อยจำนวนมากเข้าถึงสินเชื่อธนาคารยากอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤต โดยอรพงศ์แจกแจงให้เห็นภาพว่า แหล่งเงินทุนของรายย่อยกรณีสามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ ดอกเบี้ยยังสูงถึง 10-20% หรือถ้าใช้แหล่งเงินกู้นอกระบบ ดอกเบี้ยอาจสูงถึง 30-60%

    “ธนาคารจริงๆ แล้วไม่ได้รู้จักผู้ประกอบการดี เพราะธนาคารดูเฉพาะบัญชีการเงินเป็นหลัก ทำให้มองว่า SMEs ไม่แข็งแรง” อรพงศ์กล่าว “แต่คนที่รู้จักซัพพลายเออร์รายย่อยดีที่สุดก็คือบายเยอร์ต่างหาก”

     

    บายเยอร์ได้ลด ซัพพลายเออร์ได้เติมสภาพคล่อง

    เมื่อเป็นเช่นนี้ SCB และ DV จึงหาโซลูชันที่จะช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยออกแบบเป็นแพลตฟอร์ม PayZave ให้บายเยอร์ตั้งเรื่อง “ขอส่วนลด” แลกกับการ “ชำระเงินให้ทันที” ซัพพลายเออร์จะได้เงินเลย ไม่ต้องรอครบกำหนดชำระ

    “ยกตัวอย่างเช่น ผมเป็นโรงพิมพ์แห่งหนึ่งที่ต้องจัดซื้อกระดาษเข้ามา หลังซัพพลายเออร์วางบิล ผมสามารถกดขอส่วนลด 5% จากบิลนั้น แลกกับการชำระเงินให้ซัพพลายเออร์ทันที หากซัพพลายเออร์กดยอมรับดีล ซัพพลายเออร์จะได้เงินเลย ไม่ต้องรออีก 30 วันหรือเวลาตามเครดิตเทอม” อรพงศ์กล่าว โดยเป็นระบบ ‘วิน-วิน’ บายเยอร์ได้ลดต้นทุน และซัพพลายเออร์ได้กระแสเงินสดไปหมุนเวียน

    อรพงศ์ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้รายย่อยอยู่ในภาวะลำบาก ขณะที่รายใหญ่หรือฝั่งบายเยอร์ที่จริงแล้วมีสภาพคล่องเหลือ สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ และเชื่อว่าหลายๆ รายต้องการช่วยให้ซัพพลายเชนอยู่ได้ คนในอุตสาหกรรมไม่ล้มไปตามๆ กัน

    ทั้งนี้ ถ้าหากบายเยอร์ไม่ใช้กระแสเงินสดของตัวเอง ต้องการจะเปิดวงเงินสินเชื่อ OD เพื่อจ่ายให้ซัพพลายเออร์ผ่าน Payzave ก็สามารถทำได้ โดย SCB จะให้วงเงิน OD ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ

     

    ตั้งเป้า 80,000 รายเข้าระบบในสิ้นปี

    ธนวัฒน์กล่าวว่า หลังเปิดตัว 1 เดือน ปัจจุบัน PayZave มีผู้ใช้งานฝั่งบายเยอร์แล้ว 50 ราย และฝั่งซัพพลายเออร์ 5,000 ราย มุ่งเป้าสิ้นปีนี้จะมีซัพพลายเออร์เข้าระบบ 80,000 ราย โดยเน้นหนักการเชิญบายเยอร์รายใหญ่ เพราะจะทำให้มีซัพพลายเออร์ตามเข้ามาอัตโนมัติ ส่วนวงเงิน OD ธนาคารไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ เพราะเฟสแรกเน้นบายเยอร์ที่มีกระแสเงินสดของตัวเองมากกว่า

    ด้านผู้ใช้จริง 2 รายให้ความเห็นว่าการใช้งาน PayZave ว่าช่วยซัพพลายเออร์ได้มาก “สุภาพ จรัลพัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ที.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง (2004) จำกัด ซึ่งเป็นต้นธารไอเดียการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ด้วย เปิดเผยว่า บริษัทรับเหมาก่อสร้างของเขามีซัพพลายเออร์รายย่อยหลักพันราย ขณะนี้เข้ามาใช้ PayZave กันแล้วประมาณ 100 ราย

    (จากซ้ายบน วนตามเข็มนาฬิกา) “ธนวัฒน์ กิตติสุวรรณ” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน GTS and Ecosystems ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), “อรพงศ์ เทียนเงิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (DV), “วาริช ภูสนาคม” กรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด และ “สุภาพ จรัลพัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ที.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง (2004) จำกัด

    สุภาพมองว่าการให้ส่วนลดเพื่อรับชำระเงินทันที ทำให้ SMEs อยู่รอดกันได้ เพราะวิกฤตนี้สภาพคล่องสำคัญที่สุด ส่วนรายใหญ่ได้ประโยชน์อย่างไร อาจมองได้หลายมุม บางบริษัทเพียงต้องการช่วยคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรืออาจจะมองว่าช่วยลดต้นทุนให้ตนเองด้วยก็ได้

    ด้าน “วาริช ภูสนาคม” กรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด กล่าวว่าบริษัทมีซัพพลายเออร์ประมาณ 1,000 ราย และมีรายย่อยจำนวนมาก บางบริษัทเป็นหน้าใหม่แล้วต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจทันที ทำให้ Payzave ช่วยได้ในกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อธนาคาร

    อรพงศ์ระบุว่า แพลตฟอร์มจะให้ใช้ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายไปจนถึง 31 ธ.ค. 2564 เพื่อช่วยเหลือในสถานการณ์วิกฤต ส่วนหลังจากนั้น DV จะมีการเก็บค่าธรรมเนียม แต่จะเป็นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับดาต้าและสถานการณ์ในช่วงนั้นอีกครั้งหนึ่ง

    ]]>
    1344685
    ตลาด Wealth โตพุ่ง SCB ปั้น Private Banking สู่เป้าพอร์ต 1 ล้านล้านบาท โอกาสทองจับ ‘เศรษฐีไทย’  https://positioningmag.com/1321958 Fri, 05 Mar 2021 13:10:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1321958 สถาบันการเงิน เร่งเครื่องดันธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง เเย่งลูกค้าเศรษฐีกันดุเดือด ด้วยความที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าการออกสินเชื่อ เเถมยังมีการเติบโตสูง สร้างรายได้ดี เเม้จะเจอวิกฤตเศรษฐกิจ

    SCB เป็นอีกหนึ่งเจ้าใหญ่ในไทยที่ประกาศจะขึ้นเป็นผู้นำในตลาด Private Banking โดยตั้งเป้าภายใน 3 ปีจะมี AUM สู่ระดับ 1 ล้านล้านบาทให้ได้

    สารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธุรกิจ Wealth Management ดูเเลพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้าผู้มั่งคั่งเติบโตขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาท่ามกลางโรคระบาด

    ด้วยสภาพคล่องที่ล้นตลาดทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก การออมเงินฝากหรือพันธบัตร ไม่ได้ให้ผลตอบเเทนที่ดีมากนัก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต้องหาทางลงทุนอื่นๆ ที่ได้ผลตอบเเทนมากขึ้น เเม้จะความผันผวนในตลาดสูง

    โดยกลุ่มผู้มีสินทรัพย์สูง หรือ HNWIs (มีสินทรัพย์ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป) มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้คำเเนะนำการดูเเลพอร์ตมากขึ้น ทำให้ธุรกิจ Private Banking ขยายตัวตามไปด้วย

    ตลาด Wealth โตพุ่ง โอกาสจับ ‘เศรษฐีไทย’ 

    SCB ประเมินว่า ภาพรวม Wealth ทั่วโลกในปี 2024 จะเติบโต 7% เมื่อเทียบกับปี 2018 โดยจะขยายตัวมากที่สุดในจีน เเละเอเชียแปซิฟิก

    สำหรับตลาด Wealth ในประเทศไทย คาดว่าจะเติบโต 5% สูงกว่า GDP ไทยถึง 2 เท่า โดยจำนวนลูกค้า Wealth ทั้งหมดในไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 8.86 แสนคน เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2018 ที่อยู่ราว 7.1 แสนคน

    ประชากร 1% ของคนไทย ถือครองทรัพย์สิน 80% ของทั้งประเทศ

    ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-10 ‘เศรษฐีหลายราย ต้องการพึ่งพาที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ เพราะการเดินทางยังลำบาก เราจึงได้เห็นสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่งเริ่มมาเปิดธุรกิจบริหารความมั่งคั่งร่วมกับสถาบันการเงินท้องถิ่นมากขึ้น

    ไม่ว่าจะเป็น Credit Suisse ที่เปิดตัวในปี 2016 ต่อมาในปี 2018 กลุ่มธุรกิจบริการ Private Banking รายใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์อย่าง Julius Baer ได้เปิดตัวธุรกิจกับพันธมิตรอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB ถือหุ้นใหญ่ 60% ส่วน Julius Baer ถือหุ้น 40%) เเละในปี 2019 สถาบันการเงินจากลิกเตนสไตน์อย่าง LGT ก็ได้มาเปิดสำนักงานในไทย เเละล่าสุด HSBC จากอังกฤษ ก็เตรียมตั้งธุรกิจ Private Banking ในไทย

    ข้อมูลจาก HSBC ระบุว่า สินทรัพย์ที่นักลงทุนกลุ่ม High Net Worth (HNW) ในเอเชียถือครอง จะเพิ่มขึ้นไปสู่ 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ภายในปี 2025 ถือว่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2017

    นี่จึงเป็นโอกาสทอง เเละการเเข่งขันที่สูงมากเช่นนี้ ทำให้ธุรกิจ Private Banking ต้องงัดหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาเพื่อครองใจลูกค้าให้ได้มากที่สุด

    บริหารความมั่งคั่ง คือ New S-Curve 

    ปัจจุบันธุรกิจ Wealth ของไทยพาณิชย์ มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่อยู่ภายใต้การบริหาร (AUM) ราว 8.5 แสนล้านบาท เเละในปี 2024 ตั้งเป้าจะมี AUM สู่ระดับ 1 ล้านล้านบาท ภายใต้แนวคิด BEAT THE BENCHMARK

    โดยมีฐานลูกค้า Wealth จำนวนกว่า 3 เเสนราย (จากราว 7 เเสนรายทั้งประเทศ) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

    • ลูกค้า SCB Prime มีสินทรัพย์ 2-10 ล้านบาท
    • ลูกค้า SCB First มีสินทรัพย์ 10-50 ล้านบาท
    • ลูกค้า SCB Private Banking มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป

    ธนาคารได้เริ่มแผน Wealth Transformation มาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งปีนั้นสร้างรายได้ให้ธนาคารคิดเป็น 7% ของรายได้รวม และ 31% ของรายได้ค่าธรรมเนียม จากนั้นก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2020 สามารถทำรายได้ถึง 15% ของรายได้รวม และ 56% ของรายได้ค่าธรรมเนียม

    ธุรกิจ Wealth Management จึงกลายมาเป็น New S Curve ของไทยพาณิชย์

    โดยคาดว่า AUM ลูกค้ากลุ่ม Wealth ของไทยพาณิชย์จะโตเฉลี่ยปีละ 10-12% และปี 2566 คาดว่าจะมี AUM 1 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมคาดว่าจะเติบโตได้ในอัตราสองหลัก 

    ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมารายได้จากธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของธนาคาร เติบโตกว่า 25% แม้จะเผชิญกับสถานการณ์วิกฤต COVID-19

    ณรงค์ ศรีจักรินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เล่าว่า เมื่อ 4 ปีก่อน ธนาคารได้เฟ้นหาพนักงานหัวกะทิที่โดดเด่นที่สุดของสาขา 1,100 คน มาร่วมทีม Wealth Management โดยมีการจัดเทรนนิ่งอย่างเข้มข้น จนตอนนี้ธนาคารมี RM (Relationship Manager) ที่มีใบรับรองมากที่สุดในไทย

    หลักๆ จะเน้นการสร้างขีดความสามารถในการให้คำปรึกษา (Advisory Capability) ควบคู่ไปกับการปรับ ‘Operating Model’ พัฒนาโซลูชันด้านการลงทุนเเบบ Open Architecture คือการมีผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าเลือกลงทุนจากบริษัทพันธมิตรเเละประกัน (ตอนนี้มีอยู่ 35 แห่ง) ไม่ได้มีเเค่ผลิตภัณฑ์ของ SCB เท่านั้น รวมทั้งมีการนำระบบ AI เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการพอร์ต สร้างเเพลตฟอร์มเฉพาะมาบริการเพื่อช่วยให้ลูกค้าเห็นการลงทุนของตัวเองชัดเจนขึ้น

    โดยทิศทางของกลุ่มธุรกิจ SCB Wealth ในปี 2021 จะโฟกัสและมุ่งเน้นการเติบโตของเซ็กเมนต์ Private Banking เพื่อจับลูกค้าใหม่ที่มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป

    เมธินี จงสฤษดิ์หวัง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Private Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า กลุ่มลูกค้า Wealth ของไทยพาณิชย์ เมื่อดู Investment AUM (ไม่รวมเงินฝาก) จะมีสินทรัพย์อยู่ประมาณ 5.7 แสนล้านบาท จาก AUM ทั้งหมดที่ 8.5 แสนบาท สามารถสร้างผลตอบแทนจากการบริหารพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้าได้ 14.9% ในระยะเวลา 1 ปี (1 .. – 31 .. 2020) 

    มธินี จงสฤษดิ์หวัง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Private Banking ธนาคารไทยพาณิชย์

    โดยในปี 2021 นี้ SCB Private Banking จะดำเนินธุรกิจ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ดังนี้

    • Investment Solutions for Wealth Preservation ต่อยอดความมั่งคั่งให้ลูกค้า โดยจะมีลงทุนทั้งในและต่างประเทศในสินทรัพย์ที่หลากหลายประเภท กว่า 10,000 หลักทรัพย์และกองทุน ทั้ง Public assets หรือ Private assets
    • Business Solutions for Wealth Creation บริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจอย่างรอบด้าน เปิดโอกาสการลงทุนแบบใหม่ๆ เช่น สินเชื่อ SCB Property Backed Loan ที่เปิดตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ให้ลูกค้านำไปเพิ่มกระแสเงินสด
    • SCB Financial Business Group ประสานกับธุรกิจส่วนต่างๆ ทั้งหมดในธนาคารไทยพาณิชย์ให้ครบวงจรเพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้า

    สำหรับข้อเเนะนำในการลงทุนในปีนี้ ผู้บริหาร SCB บอกว่า ควรจะกระจายความเสี่ยงในต่างประเทศ โดยเน้นธุรกิจที่เติบโตในยุค New Normal อย่าง อีคอมเมิร์ซ การขนส่งเเละธุรกิจคลาวด์

    นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการลงุทนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม พลังงานหมุนเวียน ตามที่จะเห็นรัฐบาลใหญ่ๆ ของโลกทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ต่างออกนโนบายเพื่อขับเคลื่อนสิ่งนี้

    ขณะเดียวกันภาวะดอกเบี้ยต่ำที่จะดำเนินต่อเนื่องผู้ลงทุนก็ต้องมองหาผลตอบแทนที่มากกว่า เช่น ตราสารหนี้ , หุ้น เป็นต้น

    โดยในปีนี้เเนะนำแบ่งพอร์ตการลงทุนเป็น 60% ลงทุนในหุ้น และ 40% ลงทุนในตราสารหนี้ เเละช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง ให้ปรับตราสารหนี้เป็น 50-60% เเละเมื่อการกระจายวัคซีนได้ผลดีจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ได้เเล้ว เเนะให้ถือตราสารหนี้ลดลงเหลือ 30% พร้อมกับการติดตามข่าวสารเเละนโนบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด

     

     

    ]]>
    1321958
    บทเรียนก้าวเเรกของ ‘Robinhood’ ได้ใจร้านเล็ก กับเส้นทางอนาคต เมื่อจะไม่เก็บค่า GP ‘ตลอดไป’ https://positioningmag.com/1319725 Fri, 19 Feb 2021 08:20:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319725 เป็นเวลาร่วม 3 เดือนกว่าเเล้วที่ ‘Robinhood’ น้องใหม่ฟู้ดเดลิเวอรี่ฝีมือคนไทยจากค่ายเเบงก์ SCB เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ท่ามกลางความลุ้นระทึกว่าจะ ‘รอด’ หรือจะ ‘ร่วง’ 

    จากเป้าหมายเล็กๆ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส หวังจะช่วยร้านอาหารไทยที่กำลังประสบปัญหาอ่วมค่า GP’ ให้เหลือรายได้เพิ่มขึ้น จนมาถึงวันนี้ที่ Robinhood ‘สอบผ่าน’ มีกระเเสตอบรับอย่างดี เเละพร้อมประกาศจะไม่เก็บค่า GP ตลอดไป

    อะไรคือสิ่งที่ ‘Robinhood’ ได้เรียนรู้ เป้าหมายที่เเท้จริงเเละเส้นทางธุรกิจต่อไปจะเป็นเช่นไร จะมีฟีเจอร์ใหม่ๆ เเบบไหนที่กำลังจะปล่อยออกมาลองของในตลาดอีกบ้าง Positioning จะพามาหาคำตอบกัน

    อินไซต์น่าสนใจของ Robinhood

    ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการอัปเดตตัวเลขสถิติผู้ใช้เเอปพลิเคชัน Robinhood ออกมาให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยรวมถือว่าเกินคาดจากเป้าหมายที่ทีมงานวางไว้

    • มีลูกค้าทะเบียนในระบบกว่า 580,000 ราย
    • ร้านอาหารในระบบกว่า 55,000 ร้านค้า
    • ไรเดอร์ที่พร้อมให้บริการกว่า 11,500 ราย
    • ยอดสั่งอาหารออเดอร์เดียวสูงสุด 3,528 บาท
    • ลูกค้าสั่งอาหารไกลที่สุด 45 กิโลเมตร
    • มีลูกค้าคนเดิมสั่งอาหารสูงสุดถึง 18 ออเดอร์ใน 1 สัปดาห์
    • รายการอาหารทั้งหมดในระบบ 1.6 ล้านรายการ
    • มีร้านอาหารกว่า 8,200 ร้าน เข้าร่วม LS ที่ให้ส่วนลดกับลูกค้า
    • มีปลาแซลมอนรวมกว่า 5 ตันถูกสั่งจากเเอป Robinhood
    • ไรเดอร์คนหนึ่งเคยรับงานสูงสุดถึง 44 งานต่อวัน
    • 74% ของไรเดอร์ เลือกทำ Robinhood เป็นงานเสริม
    10 ร้านอาหารยอดนิยมบน Robinhood 
    • มนต์นมสด (สาขา เสาชิงช้า)
    • รุ่งเรืองตั๋ง ก๋วยเตี๋ยวหมูสุขุมวิท 26 (เจ้าเก่า) ห้องหัวมุม
    • Oba San 168
    • หน่องริมคลอง
    • ไก่ทอดเจ๊กี (โปโล)
    • โจ๊กสามย่าน บรรทัดทอง
    • ข้าวหมูแดงสีมรกต
    • ประจักษ์เป็ดย่าง
    • ซ้งเป็ดพะโล้
    • ไข่หวานบ้านซูชิ จามจุรีแสควร์

    คำค้นหายอดนิยมสูงสุด ได้เเก่ แซลมอน, โจ๊ก, ก๋วยเตี๋ยว, ข้าวมันไก่เเละส้มตำ

    พื้นที่ที่มีการสั่งออเดอร์เยอะที่สุด ได้เเก่ จตุจักร, ห้วยขวาง คลองเตย

    โดยไรเดอร์มีช่วงเวลาในการรับงานเฉลี่ย 12 วินาทีต่อการสั่ง เเละมีรายได้จากการให้บริการรับส่งอาหารเฉลี่ยรอบละ 40-50 บาท 

    ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

    ‘ไม่มีคนชมว่าเราถูก เเต่ก็ไม่มีใครด่าว่าเราแพง’ 

    คำกล่าวของ โจ้-ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทลูกของ SCB ที่พัฒนา Robinhood ขึ้นมาเป็นหนึ่ง CSR Project ของธนาคาร ที่ได้รับเงินทุนเพื่อช่วยสังคมราว 150 ล้านบาทต่อปี

    การฉีกเเนวธุรกิจเเบงก์ มาลงทุนในศึกฟู้ดเดลิเวอรี่’ เมืองไทยของ SCB ครั้งนี้ สั่นสะเทือนวงการไม่น้อย จี้จุด Pain Point อย่างการไม่คิด GP ไม่คิดค่าสมัคร โอนเงินไวใน 1 ชั่วโมง

    ท่ามกลางศึกฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เเข่งขันกันดุเดือดเลือดพล่าน ‘เผาเงิน’ เเจกโปรโมชันกันเป็นว่าเล่น เเม้ตอนเเรก Robinhood บอกว่าจะไม่ทุ่มงบการตลาดเเบบเจ้าอื่น เพราะในงบร้อยกว่าล้านต่อปีนั้น เป็นงบที่รวมทุกอย่าง’ ทั้งการจัดการ พนักงาน ระบบหลังบ้านและเครือข่าย ซึ่งจะมีงบด้านการตลาดเหลืออยู่ไม่ถึง 20 ล้านบาท จึงเลือกจะไม่นำไปใช้เพื่ออัดโปรโมชัน

    เเต่ตอนนี้หลังได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากๆ ก็จำเป็นต้อง ‘ขอทุนเพิ่ม’ จากบอร์ดบริหารเพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโต

    ปัจจุบัน Robinhood รั้งอันดับ 4 ในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เมืองไทย (ไม่ได้เป็นตัวเลขทางการ) เเต่ทางทีมประมาณการจากสถิติการสั่งออเดอร์ โดยอันดับ 1 เป็นของเจ้าใหญ่อย่าง GrabFood รองลงมาคือ FoodPanda ส่วนอันดับ 3 เป็นของ LINE MAN เเละตามมาด้วย Robinhood

    LS is Key : เพราะไม่มีค่า GP จึงมีส่วนลดจาก ‘ร้านค้า’ 

    กลยุทธ์การตลาดหลักๆ ที่ Robinhood จะนำมาทำโปรโมชันคือ LS ส่วนลดจากร้านค้าเอง ซึ่งเกิดจากการที่ทีมงานได้เข้าไปพูดคุยกับร้านค้าว่า เมื่อไม่เสียค่า GP ราว 30-35% (คอมมิชชันที่ต้องจ่ายให้เเพลตฟอร์ม) เเล้ว พอจะให้ ‘ส่วนลดเพิ่มเติม’ กับลูกค้าได้หรือไม่ ซึ่งร้านค้าจำนวนมากก็มีความสนใจเเละให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

    ปัจจุบันมีร้านค้าเลือกให้ส่วนลดกับผู้ใช้ราว 15% จากจำนวนร้านค้าทั้งหมด มีโปรโมชันส่วนลดเฉลี่ยราว 8-20% ต่อรายการ นอกจากนี้ยังถือเป็นการโปรโมตร้านขึ้นบนหน้าเเอปฯ ให้เห็นได้ง่ายไปในตัวด้วย

    ก้าวเเรกเเละสิ่งที่ได้เรียนรู้ 

    ธนา เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้หลังเปิดให้บริการ Robinhood มาได้ 3 เดือนกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเเก้ไขเเละนำไปพัฒนาต่อไป หลักๆ ได้เเก่

    • ‘ออเดอร์หลอก’ ของร้านค้าและไรเดอร์ 

    ในช่วงการเปิดตัวของ Robinhood บริษัทได้เเจก ‘โค้ดส่วนลดโดยไม่จำกัดการซื้อ’ ทำให้ร้านค้าและไรเดอร์ จำนวน 4 ร้านร่วมมือกับไรเดอร์ไม่กี่คน สั่งออเดอร์โดยใช้โค้ดส่วนลดผ่านระบบ และให้ไรเดอร์ที่ร่วมมือซึ่งอยู่ใกล้ร้านที่สุดเป็นคนกดรับออเดอร์ ร้านค้าจึงได้รับเงินจากโค้ดส่วนลด และไรเดอร์ได้รับค่าส่ง เเม้ไม่มีการซื้อขายจริงเกิดขึ้น ซึ่งทางทีมงานเห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้น เพราะมีการมอนิเตอร์ข้อมูลตลอด

    กรณีนี้ทำให้ Robinhood เสียหายราว 1 เเสนบาท จากนั้นทีมงานจึงเเก้ไขด้วยการมียอดซื้อขั้นต่ำก่อนใช้ส่วนลด

    • ต้องมัดใจร้านค้าเล็กๆ ให้ได้ก่อนเชนใหญ่

    จากการประสานงานต่างๆ พบว่า ร้านค้าเชนใหญ่ เเม้จะเป็นเป้าหมายที่สร้างรายได้กว่าครึ่งหนึ่งบนฟู้ดเดลิเวอรี่ทั่วไป เเต่การติดต่อเพื่อให้เข้ามาในระบะมีความยากลำบากมาก เเละมี ‘ต้นทุน’ ที่ต้องเสียเยอะ จึงหันไปหา ‘ร้านเล็ก’ ให้ได้มากที่สุด เรียกได้ว่ามากกว่า 90% ของเเพลตฟอร์ม

    เมื่อมีเสียงตอบรับดี กลายเป็นว่าร้านอาหารเชนใหญ่ มองเห็นโอกาสลูกค้าเเละเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรเองมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็มีร้านดังในเครือไมเนอร์ , CRC , The Mall และสยามพิวรรธน์

    • เเอปพลิเคชั่น SCB ระบบล่ม

    โดยเฉพาะในช่วงวันเงินเดือนออก ส่งผลให้การสั่งซื้ออาหารผ่าน Robinhood ก็ล่มตามไปด้วย เพราะมีช่องทางการชำระเงินผ่านระบบ SCB Easy และบัตรเครดิต ซึ่งจะมีการประสานงานระบบหลังบ้านกันต่อไป พร้อมขยายช่องทางชำระเงินอื่นๆ

    • มารยาทดี คือจุดขาย 

    หลังจากเปิดตัวมาได้สักพัก ฟีดเเบ็กที่ได้รับมากที่สุดคือการบอกว่าไรเดอร์ ‘มารยาทดี’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรียนรู้ว่าลูกค้าให้ความสำคัญกับการบริการมาก อย่างการ ‘พูดเพราะ-ยกมือไหว้’ ก็เป็นสิ่งเล็กๆ ที่ลูกค้าประทับใจ โดยทางธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้จัด ‘อบรมไรเดอร์’ เอง หลังจับมือกับ Skootar สตาร์ทอัพไทยที่ให้บริการส่งเอกสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีคนขับในสังกัดประมาณ 10,000 ราย

    Robinhood จะทำอะไรต่อไป ?

    สำหรับเเผนในปี 2564 ของ Robinhood ตั้งเป้ามีจำนวนผู้ใช้งาน 1 ล้านราย เพิ่มจำนวนร้านค้าให้ได้ 150,000 ร้าน มีไรเดอร์ 20,000 ราย จำนวนออเดอร์มากกว่า 25,000 รายการต่อวัน และมียอดธุรกรรมที่เกิดขึ้นราว 1.6 พันล้านบาท

    พร้อมขยายบริการไป ‘ต่างจังหวัด’ เบื้องต้นที่วางไว้มี 5 จังหวัดคือ เชียงใหม่, ภูเก็ต, พัทยา, นครราชสีมา และขอนแก่น เเต่เนื่องจากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้ต้องเลื่อนเมืองท่องเที่ยวออกไป เเละเริ่มที่นครราชสีมา และ ขอนแก่น ก่อน

    สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการของ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส บอกว่า กลยุทธืการเพิ่มจำนวนร้านอาหารในเเพลตฟอร์ม ทำควบคู่กันไปทั้ง ‘ออนไลน์-ออฟไลน์’ มีการโปรโมททางโซเชียลมีเดีย เเละให้พนักงานตามสาขาของธนาคารออกไปหาร้านค้าที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียง เข้าไปช่วยทั้งการดาวน์โหลด ถ่ายรูปภาพอาหาร เเละให้คำเเนะนำต่างๆ รวมถึงนำเสนอเเอปฯ กับผู้ที่มาใช้บริการในสาขาด้วย

    โดยปีนี้จะเริ่มเปิดรับร้านอาหาร ‘แบรนด์ดัง’ ต่างๆ เข้ามาเพื่อขยายฐานผู้ใช้ให้กว้างขึ้น มีเเคมเปญการตลาดกระตุ้นการใช้จ่าย ไปพร้อมๆ กับการออก ‘ฟีเจอร์’ ใหม่ พัฒนาเเอปพลิเคชั่นให้เท่าทันตลาด เช่น

    • มีระบบแผนที่ ติดตามตำแหน่งของไรเดอร์
    • ระบบการจ่ายเงินผ่านบริการเงินดิจิทัลอื่น ๆ นอกเหนือจาก SCB
    • สามารถสั่งอาหารหลายออเดอร์พร้อมกันได้
    • บันทึกร้านที่ลูกค้าชื่นชอบ
    • ระบบรีวิวร้านค้า-ไรเดอร์
    • นำแต้มบัตรเครดิตมาจ่ายโดยตรงได้
    • จัด ‘เพลย์ลิสต์’ ร้านอาหารตามสไตล์ของผู้ใช้ อารมณ์เหมือนเพลย์ลิสต์ในเเอปฯ ฟังเพลง
    • ส่วนร้านค้าจะมีระบบจัดการร้านเเละสาขาง่ายขึ้น ล็อกอินพร้อมกันได้หลายเครื่องเเละใช้งานร่วมกับ POS ได้

    นอกจากนี้ Robinhood จะเปิดให้บริการ ‘ซื้อสินค้าในตลาดสด’ โดยจะนำร่องที่ตลาดเสนีย์ ฟู้ดมาร์เก็ต, ตลาดมีนบุรี , ตลาดถนอมมิตรเเละตลาดบางใหญ่ ก่อนจะขยายให้ครบ 9 ตลาด ตามข้อตกลงกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

    -สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการของ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส

    เปิดให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์ EV ร้อยกว่าบาทต่อวัน

    ในส่วนของ ‘ไรเดอร์’ Robinhood โปรเจ็กต์ใหม่ที่น่าสนใจมาก นั่นก็คือการ ให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารายวัน เริ่มเเรกจะทดลองราว 200-400 คัน ส่วนราคานั้นประมาณไว้อยู่หลัก ‘ร้อยกว่าบาท’ เพื่อให้คนขับมีรายได้เหลือในการทำงาน หรือชาร์จไฟเองที่บ้านได้

    โดยวางเเผนจะมีจุดชาร์จแบตเตอรี่ประมาณ 500 จุดทั่วกรุงเทพฯ เน้นใช้พื้นที่ใน ‘ตึกสาขา’ ของไทยพาณิชย์ที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างดี หรือจะชาร์จไฟเองที่บ้านก็ได้ คาดว่าจะเริ่มเปิดตัวได้ในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้ หลังจากทำข้อตกลงกับพาร์ทเนอร์เรียบร้อย

    เป้าหมายรายได้ที่เเท้จริงคือ B2B

    ธนา ย้ำว่าจุดมุ่งหมายของ Robinhood ยังคงเป็นการช่วยเหลือ ‘คนตัวเล็ก’ ฉะนั้นการไม่เรียกเก็บ ‘ค่า GP’ จะคงอยู่ตลอดไป

    เเต่เมื่อลงมือทำธุรกิจก็ต้องมีรายได้เป็นธรรมดา ซึ่งในปี 2565 เเอปฯ จะเริ่มสร้างรายได้ด้วยการเป็น B2B Platform ที่มีข้อได้เปรียบจากการมีฐาน ‘ร้านอาหาร SMEs’ หลายเเสนร้านในระบบ 

    “ฟู้ดเดลิเวอรี่ส่วนใหญ่อยากโตไปเป็นเเบงก์ อยากโตเเล้วปล่อยกู้ เเต่เรามีเเต้มต่อคือเป็นเราเเบงก์อยู่เเล้ว”

    เเละการเข้ามาเเบบ Late Comer ยิ่งต้องกลับหัวตีลังกา กลยุทธ์ไม่เรียกเก็บค่า GP สวนทางกับเจ้าอื่น เป็นหัวใจหลักที่ทำให้ Robinhood ได้ใจร้านค้า พอ ‘ได้ใจ’ กันเเล้วก็ไปต่อยอดทำธุรกิจอื่นได้ง่าย

    โดยสเต็ปต่อไปจะเป็นการเข้าไปช่วยจัดการ Financial Service ช่วยการจัดการต่าง ๆ ทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบ เป็นตัวกลางระหว่างร้านค้ากับซัพพลายเออร์ เเละจะเข้าไปช่วยในด้าน Business Service พร้อมๆ กับการช่วยทำมาร์เก็ตติ้ง จากข้อมูลดาต้าผู้ใช้ที่มีอยู่

    นี่คือทิศทางการหารายได้ต่อไปของ Robinhood ที่นอกเหนือจากการปล่อยสินเชื่อ ให้ครอบคลุมทุกการทำธุรกิจ เเละจะทำให้ร้านค้าได้ประโยชน์มากขึ้น

    เป็น ‘ก้าวเเรก’ ของฟู้ดเดลิเวอรี่ของคนไทย ที่ต้องติดตามกันต่อไป…

     

     

     

    ]]>
    1319725
    ใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ “6 บิ๊กธนาคาร” ในไทย? https://positioningmag.com/1297995 Mon, 21 Sep 2020 06:18:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1297995 ธนาคารมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเเละเป็นธุรกิจที่อยู่ใกล้ชิดในชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างมาก เมื่อทุกคนต้องใช้เงินทั้งฝากถอนโอนกู้ลงทุนเเละอีกมากมาย

    ผลกระทบของ COVID-19 ตั้งเเต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์อยู่ในทิศทางขาลงโดยภาพรวมยังมีแรงกดดัน จากความกังวลต่อหนี้ NPL ที่อาจสูงขึ้นอีกในอนาคต บวกกับความระอุของการเมืองที่ปลุกกระเเสการเเบน การถอนเงินเเละปิดบัญชีในบางเเบงก์ขึ้นมา ยิ่งทำให้ถูกแนะนำว่าเป็นกลุ่มหุ้นที่ควรเลี่ยงการลงทุน

    จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีธนาคารพาณิชย์อยู่ทั้งหมด 30 แห่ง เเต่บิ๊กเเบงก์ที่มีมูลค่ากิจการเเตะ 1 เเสนล้านบาทนั้นมีอยู่ 6 เเห่งด้วยกัน เรามาดูกันว่า ธนาคารใหญ่ๆ ในประเทศไทย…มีใครเป็นเจ้าของกันบ้าง

    ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB

    เริ่มจากธนาคารที่เก่าเเก่ที่สุดในไทย ที่มีอายุกว่า 115 ปีอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด “มากที่สุด” ในวงการธนาคารไทยที่ 228,353.45 ล้านบาท อัตราเงินปันผลตอบแทนล่าสุด 9.29% โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนี้

    1. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวนหุ้น 793,832,359 คิดเป็น 23.38%
    2. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 392,649,100 คิดเป็น 11.56%
    3. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 392,649,100 คิดเป็น 11.56%
    4. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวนหุ้น 346,262,309 คิดเป็น 10.20%
    5. สำนักงานประกันสังคม จำนวนหุ้น 109,198,100 คิดเป็น 3.22%

    ธนาคารกรุงศรีอยุธยา BAY

    ตามมาด้วย เเบงก์สีเหลืองอย่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 144,908.51 ล้านบาท อัตราเงินปันผลตอบแทนล่าสุด 4.31% โดยในส่วนของ BAY ที่มีเจ้าของคือ MUFG Bank ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ถือหุ้นกว่า 76.88% ถือว่าเป็นทุนต่างชาติที่ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนที่มากกว่าธนาคารอื่นมาก ซึ่งทำให้ BAY มีสัดส่วนผู้ถือหุ้น “รายย่อย” น้อยกว่าธนาคารใหญ่อื่นๆ มากด้วย

    1. MUFG BANK, LTD. จำนวนหุ้น 5,655,332,146 คิดเป็น 76.88%
    2. บริษัท สตรองโฮลด์ แอสเซ็ทส์ จำกัด จำนวนหุ้น 166,536,980 คิดเป็น 2.26%
    3. บริษัท ทุนมหาโชค จำกัด จำนวนหุ้น 166,478,940 คิดเป็น 2.26%
    4. บริษัท จี แอล แอสเซทส์ จำกัด จำนวนหุ้น 166,414,640 คิดเป็น 2.26%
    5. บริษัท บีบีทีวี แซทเทลวิชั่น จำกัด จำนวนหุ้น 166,151,114 คิดเป็น 2.26%

    อีกหนึ่งเเบงก์ใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 192,793.13 ล้านบาท อัตราเงินปันผลตอบแทน 6.93% มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ค่อนข้างกระจายตัว ทั้งบริษัทไทย บริษัทต่างชาติ กองทุนและบริษัทนอมินี โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนี้
    1. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวนหุ้น 448,535,678 คิดเป็น 23.50%
    2. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED จำนวนหุ้น 98,649,920 คิดเป็น 5.17%
    3. สำนักงานประกันสังคม จำนวนหุ้น 85,852,300 คิดเป็น 4.50%
    4. UOB KAY HIAN (HONG KONG) LIMITED – Client Account จำนวนหุ้น 39,837,220 คิดเป็น 2.09%
    5. STATE STREET EUROPE LIMITED จำนวนหุ้น 36,715,127 คิดเป็น 1.92%
    Photo : Shutterstock
    ฝั่งธนาคารทหารไทย มีมูลค่ากิจการตามราคาตลาด 87,732.57 ล้านบาท (ปรับลดจากระดับเเสนล้านบาทในช่วงต้นปีนี้) เงินปันผลล่าสุดเท่ากับ 3.54% ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดย ธนาคาร ING จากเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ ดีลใหญ่วงการธนาคารที่ TMB เข้าควบรวมกับธนาคารธนชาต ทำให้บริษัททุนธนชาตหรือ TCAP เข้ามาถือหุ้นด้วยในสัดส่วน 20.12% โดยตอนนี้ TMB ยังมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนี้
    1. ING BANK N.V. จำนวนหุ้น 22,190,033,791 คิดเป็น 23.03%
    2. บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 19,389,891,967 คิดเป็น 20.12%
    3. กระทรวงการคลัง จำนวนหุ้น 11,364,282,005 คิดเป็น 11.79%
    4. THE BANK OF NOVA SCOTIA จำนวนหุ้น 5,023,611,111 คิดเป็น 5.21%
    5. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 4,926,405,658 คิดเป็น 5.11%
    6. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 4,926,405,657 คิดเป็น 5.11%

    ธนาคารกรุงไทย KTB

    กรุงไทย มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 132,772.58 ล้านบาท อัตราเงินปันผลตอบแทน 7.93% โดยเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ทำให้มีลูกค้าเป็นข้าราชการจำนวนมาก มีโครงการรัฐต่างๆ ผ่านธนาคารนี้ อย่างเช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นต้น

    1. กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวนหุ้น 7,696,248,833 คิดเป็น 55.07%
    2. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวนหุ้น 834,921,543 คิดเป็น 5.97%
    3. STATE STREET EUROPE LIMITED จำนวนหุ้น 362,902,099 คิดเป็น 2.60%
    4. สหกรณ์ออมทรัพย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด จำนวนหุ้น 326,090,300 คิดเป็น 2.33%
    5. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 305,775,658 คิดเป็น 2.19%
    6. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 305,775,657 คิดเป็น 2.19% 
    Photo : Shutterstock

    ธนาคารกสิกรไทย KBANK

    เเบงก์ใหญ่สีเขียวที่มีอายุกว่า 75 ปีอย่าง KBANK มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 192,059.13 ล้านบาท อัตราเงินปันผลตอบแทนล่าสุด 6.24% มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่กระจายตัวทั้งบริษัทไทย กองทุน บริษัทต่างชาติเเละบริษัทนอมินี

    1. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวนหุ้น 443,939,592 คิดเป็น 18.55%
    2. STATE STREET EUROPE LIMITED จำนวนหุ้น 203,656,972 คิดเป็น 8.51%
    3. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED จำนวนหุ้น 142,055,420 คิดเป็น 5.94%
    4. สำนักงานประกันสังคม จำนวนหุ้น 85,905,100 คิดเป็น 3.59%
    5. BNY MELLON NOMINEES LIMITED จำนวนหุ้น 78,949,299 คิดเป็น 3.30%
    6. THE BANK OF NEW YORK MELLON จำนวนหุ้น 55,954,035 คิดเป็น 2.34%
    Photo : Shutterstock
    ข้อมูลจาก : ตลาดหลักทรัพย์เเห่งประเทศไทย (ค่าสถิติสำคัญ ณ วันที่ 18 ก.ย. 2563)
    ]]>
    1297995