หางาน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 02 Mar 2023 05:52:03 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘HR’ จะรับมืออย่างไรในวันที่ ‘พนักงาน’ มั่นใจว่ายังไงก็หางานใหม่ได้ https://positioningmag.com/1421493 Wed, 01 Mar 2023 14:57:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1421493 ดูเหมือนจะหมดยุค กอดงานที่รัก แล้ว เพราะจากการสำรวจของ JobStreet (จ๊อบสตรีท) และ JobsDB (จ๊อบส์ดีบี)ภายใต้กลุ่มบริษัท SEEK (ซีค) ได้จัดทำร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) และ The Network เผยให้เห็นว่า 70% ของผู้ร่วมตอบแบบสอบถามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง เชื่อว่า พวกเขามีอำนาจในการต่อรอง

70% มั่นใจว่าหางานใหม่ได้

ในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 มีทั้งบริษัทที่ได้ผลกระทบในเชิงบวก และก็มีหลายบริษัทที่ได้ผลกระทบในเชิงลบ ทำให้พนักงานประจำหลายคนเลือกที่จะกอดงานที่รักไว้ให้แน่น ๆ เพราะไม่อยากตกงาน แต่หลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายลง แม้เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เห็นการเลย์ออฟพนักงานโดยเฉพาะในบริษัทเทคโนโลยี แต่พนักงานในปัจจุบันกลับพร้อม หางานใหม่ และคนที่กำลัง มองหางาน เขามีความมั่นใจว่า ยังไงก็หางานได้

โดยจากผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามยังคงรู้สึกมั่นใจที่จะมองหาโอกาสใหม่ ๆ แม้จะกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่บ้าง แต่มีสัดส่วนถึง 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มองว่า อำนาจในการเจรจาต่อรองในตำแหน่งงานต่าง ๆ ยังคงเป็นของพวกเขา โดยมีจำนวนผู้สมัครงานทั่วภูมิภาคถึง 74% ที่ได้รับ การติดต่อเรื่องตำแหน่งงานใหม่ ๆ ปีละหลายครั้ง และ 36% ได้รับการติดต่อทุกเดือน ส่วนใน ประเทศไทย ตัวเลขเหล่านี้ค่อนข้างสูงอยู่ที่ 68% และ 34% ตามลำดับ

พร้อมปฏิเสธข้อเสนอหากเจอประสบการณ์ไม่ดีตอนสัมภาษณ์

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ 59% ของผู้สมัครงาน พร้อมจะทำงานกับบริษัทที่มีกระบวนการสรรหาที่ดี และ 39% เลือกจะปฏิเสธข้อเสนอ หากเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีในตอนสัมภาษณ์หรือสรรหาคน ซึ่งสิ่งที่ผู้สมัครอยากมีคือ สามารถเจรจาต่อรอง เปิดใจ มีพื้นที่ให้เขาแสดงความเป็นตัวตน ไม่ได้มองเขาเป็นหุ่นยนต์หรือกระดาษ ความมีการสนทนาเหมือนการทำความรู้จักตั้งแต่เริ่มเลย

อยากเปลี่ยนงาน

Work Life Balance สิ่งที่แรงงานมองหาอีกครั้ง

ผู้ตอบแบบสอบถาม 71% มองว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือ งานที่มั่นคงและความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามในไทยมีสัดส่วนมากถึง 77% ที่มีความเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าปัจจัยอันดับ 1 ในการพิจารณาเมื่อตัดสินใจหางานใหม่ก็คือ เงิน (22%) ตามด้วย ความสมดุลระหว่างชีวิตและงาน (17%) นอกจากนี้จำนวนวันลาหยุดและความมั่นคงของงานเป็นปัจจัยอันดับ 3 ที่ผู้สมัครงานให้ความสำคัญ

ทั้งนี้ 3 เหตุผลแรกที่ทำให้ผู้สมัครงานเริ่มมองหางานใหม่คือ

  1. ต้องการมองหาตำแหน่งที่น่าสนใจกว่าหรือตำแหน่งสูงขึ้นกว่าเดิม (49%)
  2. งานที่ทำอยู่ปัจจุบันมีโอกาสในการเติบโตน้อย (30%)
  3. เงินเดือนและสวัสดิการในปัจจุบันยังไม่น่าพอใจ (27%)

“ความคาดหวังของผู้คนที่มีต่องานเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้สมัครงานส่วนใหญ่ไม่ต้องการใช้ชีวิตเพื่อทำงานอีกต่อไปแต่พวกเขาต้องการทำงานเพื่อใช้ชีวิต” ซาการ์ โกเอล พาร์ตเนอร์และผู้ช่วยผู้อำนวยการ BCG กล่าว

เงินเดือนไม่ช่วยยื้อ

ปัจจุบัน ความมั่นคง ขององค์ไม่ใช่สิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะยื้อให้พนักงานอยู่กับองค์กร แต่เป็น การเรียนรู้ ในที่ทำงานนั้น ๆ เพราะเขามองว่าการเปลี่ยนแปลงมันเร็วมาก ดังนั้น การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เขามองหา องค์กรที่ทำให้เขามีความสามารถมากขึ้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาอยู่กับองค์กรต่อไป ซึ่งผู้ประกอบการต้องเข้าใจว่าอัตราเงินเดือนที่สูงอาจเป็นหนทางหนึ่งในการดึงดูดคนมีความสามารถ อย่างไรก็ตาม เงินเดือนดังกล่าวไม่อาจรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้ในระยะยาว

“ปัจจุบันพนักงานจะอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งนานเฉลี่ย 2 ปีครึ่ง คนที่ทำงานนาน 30-40 ปีในที่เดียวปัจจุบันเป็นอะไรที่ว้าวมาก และในอนาคตคงไม่ได้เห็นอีกแล้ว เพราะตอนนี้คนมั่นใจว่าเขาจะสามารถหางานใหม่ได้ สิ่งที่เขาต้องการคือ Work Life Balance และองค์กรที่เพิ่มสามารถเพิ่มความสามารถให้เขา”

Work Life Balance = Hybrid Work

Work Life Balance เปลี่ยนไปตามตลาดแรงงาน ปัจจุบันก็คือ Hybrid Work โดย 62% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า พวกเขาต้องการทำงานแบบไฮบริด เขาไม่ต้องทำงานในออฟฟิศ 5 วัน/สัปดาห์ มีเพียง 22% ที่ ต้องการเข้าออฟฟิศ 100%

สำหรับประเทศไทย ผู้สมัครงานมากถึง 72% ต้องการการทำงานแบบ Hybrid ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกถึง 18% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง 10%

“คนรุ่นใหม่ไม่ได้ไม่อยากเข้าออฟฟิศเลย เขายังอยากเข้าออฟฟิศบ้างไม่ใช่ทุกวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาอยากมีส่วนร่วมกับองค์กรกับเพื่อนร่วมงาน มีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน แต่เขาแค่ไม่อยากเข้าออฟฟิศ 5 วัน/สัปดาห์”

ตลาดแรงงานไทยกำลังขาดภาคบริการ

ในขณะที่ทั่วภูมิภาคต้องการแข่งงานด้านไอที แต่สำหรับประเทศไทย นางสาวดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ JobsDB Thailand (จ๊อบส์ ดีบี ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สายงานไอทีไม่ใช่อันดับ 1 ที่ตลาดแรงงานไทยต้องการ แต่เป็น สายงานผู้ใช้แรงงาน (58%) และ ภาคธุรกิจบริการ (57%) เนื่องจากการท่องเที่ยวที่กลับมาเติบโตอย่างมาก

ส่วนไอทีตลาดก็ยังมีความต้องการเป็นจำนวนมาก สะท้อนจากจำนวนการเสนองานต่อสัปดาห์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมล้วนปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นในปัจจุบัน

ภาคบริการตอนนี้ต้องไปหาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน คนที่เคยทำงานบริการตอนนี้ก็หันไปทำธุรกิจส่วนตัว หรืออยู่ตัวกับงานใหม่ทำให้เขาไม่กลับมา ซึ่งโจทย์ของผู้ประกอบการตอนนี้คือ ต้องคอยพัฒนาสกิลใหม่ ดังนั้น ธุรกิจบริการเริ่มมีแนวคิดในการจัดอบรม หรือเปิดสถาบันฝึกวิชาชีพให้กับงานภาคบริการ เพื่อให้พร้อมทำงานได้เลย”

6 ข้อองค์กรและ HR ต้องปรับตัว

  1. ก้าวข้ามอคติ เพื่อเพิ่มกลุ่มผู้สมัครงานที่มีความสามารถ เช่น เลือกจากประสบการณ์แม้เรียนจบไม่ตรงสาย
  2. ปรับวิธีในการเข้าถึงผู้สมัครที่แตกต่างกัน
  3. สร้างความประทับใจระหว่างกระบวนการสรรหา ซึ่ง HR เปรียบเสมือนหน้าตาขององค์กร
  4. เลือกใช้เครื่องมือทางดิจิทัลให้เหมาะสม เพราะปัจจุบันผู้สมัครเข้าหาองค์กรผ่านหลายช่องทาง ทั้งเว็บไซต์จัดหางาน ทั้งยื่นตรงที่องค์กร
  5. วัฒนธรรมองค์กรที่ใช่ เพราะนอกเหนือจากการทำงานแบบไฮบริด และค่าตอบแทน วัฒนธรรมองค์กรก็เป็นอีกสิ่งที่ผู้สมัครให้ความสำคัญ
  6. ปลดล็อกผู้ที่มีความสามารถในองค์กร โดยควรมีแผนการเพิ่มศักยภาพ มีสวัสดิการที่ดี เพราะต้นทุนในการหาพนักงานใหม่สูงกว่าการรักษาพนักงานเดิม
]]>
1421493
ทำไมการแสดง “บุคลิก/อุปนิสัย” ของตัวเองในการ “หางาน” จึงสำคัญ และต้องทำอย่างไร? https://positioningmag.com/1417286 Mon, 30 Jan 2023 12:19:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1417286 ทักษะและประสบการณ์เป็นปัจจัยสำคัญในการได้งานทำก็จริง แต่คุณอาจจะแปลกใจที่ได้รู้ว่า “บุคลิก/อุปนิสัย” ของผู้สมัครเป็นเรื่องสำคัญอันดับ 3 ในการพิจารณารับเข้าทำงานของหัวหน้างานหรือฝ่าย HR บางครั้งบุคลิกของผู้สมัครยังสำคัญกว่าการศึกษาหรือศักยภาพด้วยซ้ำ!

อแมนด้า ออกัสติน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพจาก Top Resume บริการเขียนประวัติสมัครงาน กล่าวว่า คนเรามักจะอธิบายบุคลิกหรือนิสัยของเพื่อนร่วมงาน จากมุมมองต่อการทำงานร่วมกันกับคนคนนั้นว่าเป็นอย่างไร

“บุคลิก/อุปนิสัยเป็นเรื่องสำคัญต่อการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร” ออกัสตินกล่าว “มันมีผลกระทบต่อพฤติกรรมการทำงาน เช่น สไตล์การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน วิธีการแก้วิกฤต หรือคุณเป็นคนยืดหยุ่นได้แค่ไหนหากมีการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน คุณต้องเข้ากันได้มากพอที่จะสื่อสารกันรู้เรื่องและบรรลุเป้าหมายการทำงานร่วมกันได้”

หากว่าเพื่อนร่วมงานคนใหม่มีบุคลิกที่ไม่เข้ากับหัวหน้างานหรือพนักงานคนอื่น ในระยะยาวแล้วชีวิตการทำงานร่วมกันจะซับซ้อนมาก “พูดตรงๆ ก็คือการเลือกจ้างคนที่ไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรมาเป็นความผิดพลาดราคาแพง” ออกัสตินกล่าว “คนเราไม่มีใครอยากจะเสียเงินและเวลาหรอก ไม่ว่าจะนั่งอยู่ฝั่งไหนของโต๊ะสัมภาษณ์งานก็ตาม”

ออกัสตินกล่าวต่อว่า เพื่อให้ทั้งผู้สมัครงานและองค์กรได้เจอ ‘คนที่ใช่’ ทั้งสองฝ่าย ฝั่งผู้สมัครไม่จำเป็นต้องรอให้ไปถึงขั้นสัมภาษณ์งานก่อนจะโชว์ความเป็นตัวเอง เพราะบุคลิกของเราสามารถสื่อสารได้ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนหน้านั้น

 

โซเชียลมีเดีย คือพื้นที่บอกบุคลิกของคน

เริ่มจากดิจิทัล ฟรุตปรินท์ของเรา โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่เน้นเรื่องการงานอย่าง LinkedIn จะช่วยได้มากในการเติมบุคลิกของเราลงไปในเรซูเม่

“LinkedIn เพิ่มโอกาสให้เราได้แสดงบุคลิกออกมา ทุกอย่างตั้งแต่รูปโปรไฟล์ไปจนถึงสิ่งที่เขียนในหมวด ‘About’ ของตนเองล้วนเป็นจุดสำคัญทั้งนั้น” ออกัสตินกล่าว

ตัวอย่างเช่น About เกี่ยวกับเรานั้นอาจจะเขียนบรรยายว่าทำไมเราถึงชื่นชอบงานที่ตัวเองทำอยู่ กว่าจะมีวันนี้ได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และเรากำลังตื่นเต้นกับการทำงานอะไรเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงอยากจะร่วมงานกับคนอื่นๆ อย่างไร

“เขียนเรื่องเหล่านี้ในโทนที่ฟังดูสบายๆ เป็นโทนที่ปกติเราจะไม่เขียนในเรซูเม่” ออกัสตินกล่าว “พื้นที่นี้เป็นโอกาสที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าได้คุยกับเราจริงๆ” เธอยังกล่าวด้วยว่าการโพสต์หรือคอมเมนต์ต่างๆ ใน LinkedIn ก็สำคัญเช่นกัน

ส่วนโซเชียลมีเดียอื่นๆ ของเรานั้นแน่ใจได้เลยว่าผู้จ้างงานก็ต้องหาทางเช็กก่อน ดังนั้น เป็นการตัดสินใจของเราว่าต้องการจะเก็บโซเชียลมีเดียอื่นไว้เป็นเรื่องส่วนตัวในกลุ่มคนสนิท หรือจะเปิดเป็นสาธารณะ “ถ้าคุณตัดสินใจว่าโซเชียลมีเดียอื่นของคุณก็จะเปิดเป็นสาธารณะด้วย ต้องให้แน่ใจว่าคอนเทนต์ในนั้นสะท้อนตัวตนและบุคลิกที่เป็นจริงของคุณออกมา” เธอกล่าว

 

อย่ามองข้าม “จดหมายแนะนำตัว”

ออกัสตินกล่าวต่อว่า ผู้สมัครงานไม่ควรมองข้าม “จดหมายแนะนำตัว” ปกติคนมากมายไม่เขียนจดหมายแนะนำตัวแนบไปเพราะมองว่าเป็นขั้นตอนที่น่าเบื่อ และส่วนใหญ่ก็มักจะเขียนเหมือนกับเป็นบทคัดย่อว่าในเรซูเม่เรามีอะไรบ้าง

“แต่จริงๆ แล้วถ้าคุณเขียนอย่างมีกลยุทธ์ คุณจะได้แสดงออกถึงบุคลิกตัวตนออกมา ทำให้เห็นว่าคุณน่าจะเหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรนั้น” เธอกล่าว

ตัวอย่างการเขียนให้มีชั้นเชิง เช่น เล่าเรื่องประสบการณ์ความท้าทายในหน้าที่การงานและคุณสามารถผ่านสิ่งเหล่านั้นมาได้อย่างไร หรืออธิบายว่าคุณชอบและตื่นเต้นกับอาชีพที่ทำอยู่เพราะอะไร

จดหมายแนะนำตัวจะเป็นโทนเสียงที่สะท้อนบุคลิกตัวตน และยังทำให้เห็นทักษะประสบการณ์ได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าเรซูเม่ที่กำลังจะได้อ่าน

 

หมัดเด็ดสุดท้าย “สัมภาษณ์งาน”

แน่นอนว่าการสัมภาษณ์งานคือจุดที่สะท้อนบุคลิกของเราได้ดีที่สุด การพูดคุยสัพเพเหระช่วงต้นก่อนการสัมภาษณ์คือนาทีสำคัญที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้จักบุคลิกของเรามากขึ้น

“เรื่องที่มักจะหยิบมาพูดกันมากที่สุดเวลาที่เพิ่งทักทายกันจบคือ เรื่องดินฟ้าอากาศ แต่คุณสามารถมองหาหัวข้ออื่นมาพูดได้อีก เช่น หยุดยาวนี้กำลังจะไปเที่ยวที่ไหน การเกริ่นเรื่องพวกนี้ทำให้ผู้สัมภาษณ์เข้าใจว่าเวลาว่างเราทำอะไร หรือเราให้ความสำคัญกับอะไรในชีวิต และถ้าหากบังเอิญโชคดี ถ้าคุณกับคนสัมภาษณ์งานมีความสนใจบางอย่างที่ตรงกัน คุณจะได้ใช้ประโยชน์จากมันเพื่อสร้างมิตรภาพ” ออกัสตินกล่าว

“20% ของการสัมภาษณ์งานเป็นการพิสูจน์ทักษะที่คุณมีว่าทำงานได้จริงหรือเปล่า แต่อีก 80% คือคนสัมภาษณ์ต้องการจะรู้ว่าคุณจะเข้ากับทีมได้ไหม” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่า 80% นั้นจะเต็มไปด้วยคำถามเพื่อทำความเข้าใจว่าคุณเป็นคนอย่างไร

คำถามที่ว่า เช่น ทดสอบพฤติกรรมการทำงาน อาจจะถามว่าถ้าคุณเจอสถานการณ์แบบหนึ่ง คุณจะตอบโต้อย่างไร ซึ่งคำตอบก็จะทำให้รู้นิสัยในทันที

ออกัสตินยังแนะนำด้วยว่า เราควรจะแสดงออกแค่ ‘น้ำจิ้ม’ ของบุคลิกตัวตนของเรา ไม่ใช่เปิดตัวเต็มที่หรือพูดเรื่องตัวเองเยอะเกินไป คือแสดงออกเพียงแค่ให้อีกฝ่ายพอจะเดาได้ว่าถ้าทำงานกับคุณจะเป็นอย่างไร

เธออธิบายว่า การสัมภาษณ์งานก็เหมือนไปเดตกับแฟนครั้งแรก หรือไปพบหน้าพ่อแม่แฟนครั้งแรก กฎเดียวกันในเรื่องพวกนี้คือแสดงออกแค่พอประมาณนั่นเอง

Source

]]>
1417286
11 ตำแหน่งงาน IT ที่น่าจับตามองในครึ่งปีหลัง Project Managers นำโด่ง https://positioningmag.com/1397184 Tue, 23 Aug 2022 13:40:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1397184 ประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาขับเคลื่อนสังคมและช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เป็นเหตุให้เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วเริ่มมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการดำเนินการของธุรกิจในทุกแง่มุม ทั้งยังกำลังก้าวเข้ามาทดแทนทักษะการทำงานของคน

อย่างไรก็ตาม “พนักงานยังคงเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของบริษัท” หลายองค์กรจึงมองหาคนที่มีทักษะความรู้ความสามารถเพื่อมาร่วมพัฒนาองค์กร โดยเฉพาะผู้ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี อาทิ ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะการเขียนโค้ดดิ้ง รวมถึงทักษะการพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น

ล่าสุด 𝗘𝘅𝗽𝗲𝗿𝗶𝘀 บริษัทจัดหางานด้านไอทีในเครือของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ได้ทําการสํารวจการตัดสินใจรับพนักงานจํานวน 39,000 คนจาก 40 ประเทศ และได้สัมภาษณ์ผู้นําทีมงานและเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมต่างๆ จํานวน 8 ท่าน ได้เผยผลสำรวจในรายงาน “𝙉𝙚𝙬𝘼𝙜𝙚𝙤𝙛𝙏𝙚𝙘𝙝𝙏𝙖𝙡𝙚𝙣𝙩” หรือ “ยุคใหม่แห่งสายเทคโนโลยี” โดยระบุว่า

  • กว่า 98% ของผู้สมัครงานจะถูกเลือกจากทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และประสบการณ์การทำงานไม่ต่ำกว่า 3 ปี
  • 98% ของผู้สมัครเข้าตําแหน่งวิเคราะห์ข้อมูลวิทยาศาสตร์จะถูกคัดออกโดยผู้ว่าจ้างที่ต้องการทักษะ 4 ด้าน และประสบการณ์ทํางาน 3 ปี
  • 34% ของผู้จ้างงานระบุว่าผู้สมัครงานสายดิจิทัลมีคุณสมบัติตรงกับที่ต้องการไม่เพียงพอ
  • 32% ของผู้จ้างงานระบุว่าผู้สมัครงานมีประสบการณ์ไม่เพียงพอ
  • 32% ของผู้จ้างงานระบุว่ามากกว่า 1 ใน 4 หรือ 27% ของผู้สมัครงานสายดิจิทัลขาดทักษะซอฟต์สกิลที่เหมาะสม

ลิลลี่ งามตระกูลพานิช ผู้จัดการประจำประเทศไทย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยว่า

“ปัจจุบันเทคโนโลยีที่พัฒนาเร็วกว่าคนเริ่มส่งผลให้ตลาดแรงงานมีการแข่งขันที่สูงและเข้มข้นมากขึ้น องค์กรต่างต้องการคนเก่งที่มีศักยภาพ และพร้อมที่จะปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยีแห่งโลกดิจิทัลเพื่อสามารถขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งจากรายงานของเอ็กซ์พีริส พบว่า หลายองค์กรกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะการทำงาน ความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในสายงานดิจิทัล โดยเฉพาะตำแหน่งผู้จัดการโปรเจกต์ IT หรือ IT Project Managers ที่มีสัดส่วนความต้องการมากที่สุดถึง 22%”


บางองค์กรเลือกที่จะแสวงหาพนักงานคนใหม่ เข้ามาทำงานแทนคนเก่าที่ขาดทักษะความเชี่ยวชาญด้านนี้ แต่มักจะพบว่าคนเหล่านี้ยังขาดทักษะในการร่วมพัฒนาองค์กร อย่างไรก็ตาม องค์กรส่วนใหญ่มักเลือกที่จะเพิ่มอัตราภายใน และลงทุนเพิ่มมีศักยภาพภายในมากกว่าที่จะแสวงหาจากภายนอกองค์กร

แม้ว่าองค์กรต่างๆ จะปลูกฝังการเรียนรู้ทักษะอย่างเป็นระบบ แต่มักไม่ตรงกับความต้องการ พนักงานไม่สามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่บริษัทต้องการได้ทันเวลา ส่งผลให้พนักงานยังจะมีความกังวลทั้งเรื่องหน้าที่การงาน และเหนื่อยล้าจากการเรียนรู้เอ็กซ์พีริส (Experis) จึงได้ออกแบบหลักสูตรเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ให้สามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยมี Experis Academy เป็นอีกหนึ่งแหล่งความรู้ที่จะช่วยให้องค์กรนั้นๆ ประสานช่องว่างของตําแหน่งงานผ่านการฝึก การอบรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ นําโดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม พนักงานจะได้เรียนรู้ผ่านทฤษฎีมากมาย เช่น Experis Academy ร่วมมือกับ Scania AB ในด้านการผลิตและพัฒนาระบบการขนส่งจากประเทศสวีเดนเพื่อวิเคราะห์ช่องว่างของทักษะและจัดทําโครงการอบรมนักพัฒนา Front-end ที่ใช้เวลา 12 สัปดาห์เพื่อปรับทักษะพนักงานที่สนใจภายในบริษัทรวมถึงพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องด้าน IT ด้วย

Experis Academy ใช้ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในกระบวนการจ้างงาน ซึ่งจากการวิเคราะห์กระบวนการการจ้างงานด้วยมนุษย์ในสายงานที่มีการเปลี่ยนตําแหน่งสูงกว่า 300,000 งาน พบว่า คนงานที่ถูกจ้างผ่านการวิเคราะห์ของปัญญาประดิษฐ์นั้นทํางานอยู่นานกว่า และขั้นตอนการจ้างงานมีประสิทธิภาพสูงกว่าคนที่ถูกจ้างผ่านการวิเคราะห์โดยมนุษย์อย่างน้อย 25% เพราะเมื่อพนักงานถูกจ้างแล้ว เทคโนโลยีประมวลข้อมูลจะช่วยให้พวกเขาพัฒนาทักษะต่างๆ ได้ โครงการ Career Accelerator ของ Experis มีเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยให้พนักงานตั้งค่าโปรแกรมการพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยการเลือกทักษะ และประเมินงานกับหัวหน้างาน และจัดเป็นหลักสูตรพัฒนาทักษะส่วนตัวได้

นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุว่า กว่า 7 ใน 10 ของพนักงานกล่าวว่าการมีผู้นําที่พึ่งพาและเชื่อถือได้นั้นสําคัญและกว่า 2 ใน 3 อยากทํางานกับองค์กรที่เห็นคุณค่าในตัวพนักงาน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรต้องการ คือ ซอฟต์สกิล หรือทักษะ “ภายใน” ของแต่ละคนที่มีผลต่อการปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน คู่ค้า ลูกค้า เพื่อให้เกิดผลสำเร็จในการทำงานได้ ซึ่งทักษะเหล่านี้ เปรียบเสมือน “𝑷𝒐𝒘𝒆𝒓𝒔𝒌𝒊𝒍𝒍𝒔” อันทรงพลังในการขับเคลื่อนให้งานสำเร็จ และเป็นจุดแข็งของแรงงานที่เทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่สามารถเรียนรู้และเข้ามาทดแทนคนได้ โดยเฉพาะทักษะที่หายากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

  1. ทักษะการใช้เหตุผล การแก้ปัญหา
  2. ทักษะด้านการพึ่งพา ความไว้ใจ และวินัย
  3. ทักษะด้านการคิดเชิงวิพากษ์ และวิเคราะห์
  4. ทักษะด้านความสร้างสรรค์และเป็นต้นฉบับ มีความคิดเป็นของตัวเอง
  5. ทักษะความยืดหยุ่น ความอดทน อดกลั้น และการปรับตัว
]]>
1397184
อัปเดต : คนไทย ‘ว่างงาน’ ลดลงเหลือ 6.3 แสนคน เด็กรุ่นใหม่ 15-24 ปี ตกงานยาวมากสุด https://positioningmag.com/1373142 Mon, 07 Feb 2022 14:18:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1373142 อัปเดตอัตราการ ‘ว่างงานของคนไทย มีเเนวโน้มลดลงเหลือ 6.3 แสนคน เเต่ต้องระวังผู้เสมือนว่างงานที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ผู้ทำงานน้อยกว่า 10 ชั่วโมงเเละ1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ยังมีมากถึง 5.3 แสนคน ขณะที่คนรุ่นใหม่ 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่ตกงานระยะยาวมากที่สุด

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 4 ปี 2564 ระบุว่า โครงสร้างตลาดแรงงานไทย เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงโควิด-19 พร้อมๆ กับการที่ผู้ประกอบการได้ลดการจ้างแรงงานลงและเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น 

แรงงานถูกเลิกจ้างหรือถูกพักงาน โดยไม่มีรายได้หรือลดรายได้ จากการลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน รวมถึงแรงงานที่จบการศึกษาใหม่ มีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น

เเนวโน้มว่างงานลดลง 

จากผลสำรวจพบว่า โครงสร้างกำลังแรงงานไตรมาส 4 ปี 2564 ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 57.2 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 38.6 ล้านคน และในจำนวน 38.6 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 37.9 ล้านคน (ไตรมาส 3 จำนวน 37.7 ล้านคน)

  • ผู้ไม่มีงานทำ 6.3 แสนคน (ไตรมาส 3 จำนวน 8.7 แสนคนและเป็นผู้รอฤดูกาลประมาณหนึ่งแสนคน
  • ผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวน 18.5 ล้านคน โดยอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานไตรมาส 4 ปี 2564 คือ 67.6%

ทั้งนี้ ผู้ชายมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานมากกว่าผู้หญิง (76.0% เเละ 59.7%) และเมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานอายุ 55-64 ปี คือ 68.8% ในขณะที่อายุ 65 ปีขึ้นไป คือ 27.1%

สถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 ปี 2564 มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2564 ภายหลังจากมาตรการด้านโควิดของรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายขึ้น แรงงานมีงานทำมากขึ้น และมีการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับเข้ามาสู่ภาคการบริการและการค้า และภาคการผลิต

อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 66.3% โดยส่วนใหญ่ทำงานในภาคการบริการและการค้า (45.1%) รองลงมาคือ ภาคเกษตรกรรม และภาคการผลิต ตามลำดับ (33.2% และ 21.6%)

อาชีพกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตรป่าไม้ และประมงเป็นกลุ่มอาชีพที่มีอัตราการมีงานทำมากที่สุด รองลงมา คือพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า

Photo : Shutterstock

5.3 แสนคน ยังมีชั่วโมงการทำงานที่น้อยมาก 

เมื่อวิเคราะห์เชิงลึก พบว่า อาชีพกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง มีอัตราการมีงานทำสูงที่สุด

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การทำงานที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานในรอบสัปดาห์ที่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง (49.3%) และน้อยกว่า 1 ชั่วโมง (39.8%) คิดเป็นจำนวนแรงงานกว่า 5.3 แสนคนมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพกลุ่มอื่น

สำหรับกลุ่มอายุที่มีงานทำสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-54 ปี 35-44 ปี และ 25-34 ปีตามลำดับ

โดยอัตราการมีงานทำอยู่ระหว่าง 21 – 24% ในขณะที่การมีงานทำของเยาวชนหรือผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี อัตราการมีงานทำประมาณ 9%

ผู้มีงานทำในไตรมาส 4 ปี 2564 ที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ของผู้มีงานทำน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พบว่า มีจำนวน 6.95 ล้านคน เป็นกลุ่มไม่ประสงค์ทำงานเพิ่ม 6.51 ล้านคน และประสงค์ทำงานเพิ่ม 0.44 ล้านคน สำหรับผู้ที่มีจำนวนชั่วโมงทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และประสงค์ที่จะทำงานเพิ่มนั้น เรียกว่า ผู้ทำงานต่ำระดับด้านเวลา คิดเป็น 1.2 % ส่วนผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (โอกาสเป็นผู้ว่างงานแฝง) คิดเป็น 1.9%

คนรุ่นใหม่ ตกงานยาว 1 ปีขึ้นไป 

สถานการณ์การว่างงานมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น ผลสำรวจพบว่า ผู้ว่างงานลดลงจาก 8.7 แสนคน ในไตรมาส 3 เหลือ 6.3 แสนคนในไตรมาส 4 เป็นผลต่อเนื่องมาจากมาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆรวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศในพื้นที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสำคัญๆ

โดยระยะการว่างงานของผู้ว่างงาน ประมาณ 62% เป็นการว่างงานระยะกลาง และเป็นการว่างงานของเยาวชนมากที่สุด ในจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด แบ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 3.8 แสนคน และไม่เคยทำงานมาก่อน 2.5 แสนคน ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน มีแนวโน้มว่าจะเป็นนักศึกษาจบใหม่

จากสถิติการศึกษาในแต่ละปีมีผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับประมาณสามแสนคน และเมื่อสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมในการหางาน หรือสมัครงานของ ผู้ว่างงานทั้งที่เคยทำงานก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน พบว่าในช่วง 8-30 วันที่ผ่านมา มีการหางานและสมัครงาน ประมาณร้อยละ 50 (ไม่เคยทำงานมาก่อน 54.5% เคยทำงานมาก่อน 46.9%)

ปัญหาการว่างงานระยะยาว หรือ การว่างงานที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนระดับปัญหาการว่างงานของประชากร

โดยในไตรมาส 4 อัตราการว่างงานระยะยาวในสัดส่วนที่สูง คือ 0.4 % ในขณะที่ไตรมาส 3 อยู่ที่ 0.2 % นอกจากนี้ ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่การว่างงานระยะยาวเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี รองลงมา คือ ผู้ที่มีอายุ 25-34 ปี

Photo : Shutterstock

จับตา ‘ผู้เสมือนว่างงาน’ เพิ่มขึ้น 

ขณะเดียวกัน ผู้เสมือนว่างงานก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ที่มีงานทำภาคเกษตรกรรม 0-20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และกลุ่มผู้ที่มีงานทำนอกภาคการเกษตรกรรม 0-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เรียกว่าผู้เสมือนว่างงาน

จากผลสำรวจในไตรมาส 4 ปี 2564 มีจำนวน 2.6 ล้านคน เพิ่มจากไตรมาส 3 ปี 2564 2.6 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอาชีพในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ว่างงานในอนาคตได้

 

]]>
1373142
เยอรมนี ต้องการ ‘แรงงานมีทักษะ’ จากต่างประเทศ ‘4 เเสนคนต่อปี’ เเก้ปัญหาสังคมสูงวัย https://positioningmag.com/1371134 Fri, 21 Jan 2022 08:40:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371134 รัฐบาลผสมชุดใหม่ของเยอรมนี มีความต้องการที่จะดึงดูดเเรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ ปีละกว่า 4 เเสนคน เพื่อจัดการกับความไม่สมดุลทางประชากรเเละการขาดเเคลนเเรงงานในภาคธุรกิจสำคัญ ซึ่งเสี่ยงบั่นทอนการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด

ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ทวีความรุนเเรงมากขึ้นในขณะนี้ ทำให้ชะลอเศรษฐกิจเยอรมนีลงอย่างรวดเร็ว” Christian Duerr ผู้นำพรรคร่วมรัฐบาล Free Democrats (FDP) กล่าวกับนิตยสารธุรกิจ WirtschaftsWoche

เราสามารถแก้ปัญหาแรงงานสูงวัยได้ โดยใช้นโยบายเข้าเมืองยุคใหม่ ที่จะนำแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ 400,000 คนเข้ามาให้ได้โดยเร็วที่สุด

รัฐบาลผสมชุดใหม่ของเยอรมนี ที่นำโดยพรรคโซเชียลเดโมแครตของนายกรัฐมนตรี Olaf Scholz เเละพรรค FDP รวมถึงพรรคกรีน มีความเห็นชอบร่วมกันในหลายประเด็นใหญ่ๆ อย่างการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากประเทศที่อยู่นอกสหภาพยุโรป และเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นชั่วโมงละ 12 ยูโร (ราว 450 บาท) เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาทำงานในเยอรมนี

ด้านสถาบันเศรษฐศาสตร์เยอรมนี ประเมินว่า ในปีนี้กำลังแรงงานจะลดลงมากกว่า 300,000 คน เนื่องจากเเรงงานในวัยเกษียณมีมากกว่าเเรงงานอายุน้อยที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

เป็นเรื่องน่ากังวลเมื่อช่องว่างนี้ อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 650,000 คนในปี 2029 เเละจะส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนคนวัยทำงานในปี 2030 มีจำนวนถึง 5 ล้านคน โดยจำนวนการจ้างงานชาวเยอรมัน เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 45 ล้านคนในปีที่แล้ว แม้จะมีการระบาดของโควิด-19

หลังจากมีอัตราการเกิดต่ำมายาวนานหลายทศวรรษและการย้ายถิ่นฐานที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้กำลังแรงงานหดตัวลงเรื่อยๆ กลายเป็น ‘ระเบิดเวลาของระบบบำเหน็จบำนาญในเยอรมนี เมื่อพนักงานหนุ่มสาวมีจำนวนลดน้อยลง เเต่ต้องแบกรับภาระในการจัดหาเงินบำนาญให้กับผู้เกษียณอายุที่มีจำนวนมากขึ้น เเละเเนวโน้มว่าจะมีอายุยืนยาวมากขึ้นด้วย 

 

ที่มา : Reuters 

]]>
1371134
อังกฤษ ‘Jobs Boom’ คนเเห่ลาออกเพื่อหางานใหม่ บริษัททุ่มเพิ่มค่าจ้าง เเย่งชิงพนักงาน https://positioningmag.com/1370309 Thu, 13 Jan 2022 14:57:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1370309 สหราชอาณาจักรกำลังอยู่ในช่วง ‘Jobs Boom’ เเรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ทยอยลาออกเพื่อ ‘หางานที่มีรายได้ดีกว่า’ ท่ามกลางความต้องการที่พุ่งสูง นายจ้างพร้อมทุ่มโบนัสเเละปรับเงินเดือน

Alan Bannatyne หัวหน้าฝ่ายการเงินของ Robert Walters บอกกับ BBC ว่า ผู้คนกำลังมองหาค่าเเรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นกว่า 15% เเละบางคนก็ต้องการเงินเดือนใหม่เพิ่มขึ้นถึง 50%

เขามองว่า ปี 2022 จะเป็นปีเเห่งโอกาสสำหรับลูกจ้าง โดยตำแหน่งว่างในสหราชอาณาจักร พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เศรษฐกิจเริ่มกลับมาเปิดอีกครั้ง เเละบรรดาเหล่านายจ้างกำลังแย่งชิงเเรงงานที่ขาดเเคลนนี้

ด้าน Robert Walters จากบริษัทจัดหางานที่เน้นแรงงานระดับมืออาชีพ ระบุว่า บริษัทต่างๆ กำลังอยู่ในช่วงที่ต้องแข่งขันอย่างดุเดือด เพื่อเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถ และก็เป็นเรื่องยากที่จะหา ‘คนที่ใช่’

เเม้จะมีนายจ้างจำนวนมากที่ยอม ‘ขึ้นเงินเดือน’ เพื่อดึงดูดเเรงงาน เเต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อมีผู้ชนะก็ต้องมีผู้แพ้ เเละไม่ใช่ทุกบริษัทจะทุ่มจ่ายเงินเช่นนี้ได้ “บริษัทค้าปลีกและสายการบิน ต่างเผชิญกับความยากลำบาก ดังนั้นก็อาจจะไม่จ่ายโบนัสหรือขึ้นค่าแรง”

สวนทางกับกลุ่มธุรกิจอย่างค้าปลีกออนไลน์ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและดิจิทัล และผู้ผลิตสินค้าในครัวเรือน ที่มีการเติบโตสูง

ฝั่งบริษัทจัดหางาน Manpower กล่าวว่า นายจ้างกำลังพยายามมองหาพนักงานที่มี ‘ทักษะสูง’ มากขึ้น โดยผู้ที่มีทักษะตรงกับความต้องการ ก็จะมีอำนาจต่อรอง มีอิสระที่จะเลือกทำงานตามความคาดหวังของพวกเขา

ตามรายงานของ BCL Legal และบริษัทข้อมูล Vacancysoft ระบุว่า การขาดแรงงานทักษะสูง ส่งผลกระทบในหลายอุตสาหกรรม เช่น ด้านกฎหมาย ที่มีอัตราการประกาศหางานเพิ่มขึ้นถึง 131% เมื่อเทียบกันระหว่างตำแหน่งงานว่างเมื่อเดือนมกราคมและพฤศจิกายนปีก่อน

Photo : Shutterstock

ด้านข้อมูลของ Robert Waters ชี้ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เกิดปัญหาการขาดแคลน ‘ทนายความ’ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ท่ามกลางการลาออกของผู้ที่มีประสบการณ์

ทนายความที่ผ่านเกณฑ์เข้าทำงานใหม่ในบริษัทชื่อดัง สามารถได้ค่าจ้างมากถึง 147,000 ปอนด์ต่อปีหรือราว 6.68 ล้านบาท โดยไม่รวมโบนัส ที่คาดว่าจะเป็นเงินก้อนโต

เทียบกับปี 2018 ที่เงินเดือนเฉลี่ยของทนายความที่ทำงานเต็มเวลาอยู่ที่ 62,000 ปอนด์ต่อปี (เพิ่มขึ้นเป็น 88,000 ปอนด์หากทำงานในกรุงลอนดอน)

ส่วนงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำ ก็พบว่ามีอัตราค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกันเช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต Sainsbury’s ที่ประกาศเพิ่มค่าแรงให้กับพนักงานเป็น 10 ปอนด์ หรือราว 450 บาท ต่อชั่วโมง

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะขาดเเคลนเเรงงานก็คือ การที่ผู้คนหันมา ‘ประเมินอาชีพตัวเองใหม่’ ในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้มีการเปลี่ยนงานหรือออกจากตลาดแรงงานไปเลย ซึ่งสถานการณ์นี้ถูกเรียกว่า Great Resignation การลาออกจากงานครั้งใหญ่ ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยสูงขึ้น รวมถึงโบนัสที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย

James Reed ประธานบริษัทจัดหางาน Reed Recruitment กล่าวว่า สหราชอาณาจักรอยู่ท่ามกลาง “jobs boom” ซึ่งเป็นเวลาที่ดีที่สุดในรอบ 50 ปีในการหางานใหม่

 

ที่มา : BBC

 

 

 

]]>
1370309
ผลสำรวจชี้ โควิดทำ ‘วัยรุ่นอาเซียน’ ยิ่งเครียดเรื่องหางาน ‘ธุรกิจส่วนตัว’ อาชีพในฝันอันดับ 1 https://positioningmag.com/1368035 Tue, 21 Dec 2021 12:42:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1368035 หากอ้างอิงภาพรวมตลาดการหางานในไทยจาก จ๊อบส์ ดีบี พบว่าการระบาดระลอก 4 ของ COVID-19 ในไทยทำให้ประกาศงานหายไปเกือบ 50% อัตราการแข่งขันของผู้หางานอยู่ที่ 80 ใบสมัครต่อ 1 ประกาศงาน ขณะที่เด็กจบใหม่ยิ่งลำบาก เนื่องจากบริษัทต้องการเลือกจ้างคนที่มีประสบการณ์มากกว่าเด็กจบใหม่ และจากการสำรวจของ DHL พบว่าไม่ใช่แค่ไทย แต่วัยรุ่นทั้ง อาเซียน ต่างก็มีความกังวลในการหางาน

90% กังวลเรื่องความสามารถในการหางาน

ดีเอชแอล ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ ได้เผยแพร่รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับความสามารถในการหางานของเยาวชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยบริษัทฯ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นทางออนไลน์เป็นเวลา 3 สัปดาห์ และได้รวบรวมคำตอบจากเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปกว่า 950 คนจาก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา และเวียดนาม โดยพบว่า

  • กว่า 90% รู้สึก วิตกกังวล หรือ วิตกกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับความสามารถของตนเองในการหางาน
  • เกือบ 95% ยอมรับว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อกระบวนการหางาน

อย่างไรก็ตาม เยาวชนเหล่านี้ยังคงมีความรู้สึกเชื่อมั่น และมองโลกในแง่ดี โดย 88% เชื่อว่าตนเองมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน และกว่า 70% คาดว่าจะสามารถหางานได้ในระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือนหลังจากที่จบการศึกษา

“คนรุ่นใหม่ในตลาดแรงงานอาจรู้สึกวิตกกังวลกับความไม่แน่นอนของอาชีพการงาน ราว 66% ของคนไทยเผยว่าภาวะการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสาเหตุของความเครียด ขณะที่อีก 62% มองว่าเป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยติดต่อกันเป็นเวลานาน” เฮอร์เบิต วงษ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDC) เผยว่ามีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 870,000 คนในไตรมาสที่สามของปี 2564 และผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุด (3.63%) ตามด้วยผู้จบการศึกษาระดับปวส. (3.16%)

สาธารณสุขและการแพทย์ อาชีพมั่นคงสูง

เยาวชนกว่า 360 คนจากในอาเซียน รู้สึกว่าการทำงานในสายด้านสาธารณสุขและการแพทย์ เช่น แพทย์ หรือพยาบาล เป็นอาชีพที่มั่นคงที่สุดในภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าบุคลากรเหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก

แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เมื่อถามว่างานแรกที่อยากทำมากที่สุดคืออะไร มากกว่า 20% ตอบว่าอยากทำธุรกิจส่วนตัว เปรียบเทียบกับ 14% ที่เลือกสายงานด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ซึ่งที่จริงแล้ว ตำแหน่งงานในภาคการศึกษา และธุรกิจโรงแรม/ท่องเที่ยว ครองอันดับที่สองและสาม ส่วนการแพทย์อยู่ในอันดับที่สี่

ความท้าทายเป็นปัจจัยสำคัญสุดในการเลือกงาน

สำหรับปัจจัยที่วัยรุ่นมองว่าเป็น สิ่งสำคัญที่สุดในการพิจารณาตกลงการเข้าทำงาน คือ โอกาสในการเรียนรู้ และความท้าทาย ตามด้วย ความมั่นคงของงาน โดยผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 20% ระบุว่าปัจจัยนี้มีความสำคัญอย่างมาก และที่ไม่น่าแปลกใจคือ ราว 38% ของเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามมองว่าวิธีการแบบเดิม ๆ เช่น การฝึกงาน เป็นวิธีที่มีประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงาน รวมถึงคำแนะนำจากผู้สอนงานและอาจารย์ก็เป็นตัวช่วยที่สำคัญ

และถึงแม้ว่าแหล่งรวมตำแหน่งงานทางออนไลน์จะเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน แต่ก็ถูกมองว่าเป็นช่องทางที่มีประโยชน์น้อยที่สุด เพราะไม่มีการสร้างความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเหมือนกับการเป็นพนักงานฝึกหัด หรือการที่มีคนช่วยแนะนำในการเข้าทำงาน ทั้งนี้ นอกเหนือจากทักษะด้านเทคนิคและความถนัดเฉพาะทางแล้ว 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลก็มีความสำคัญเช่นกัน ขณะที่ 30% คิดว่าทักษะด้านภาษาจะช่วยในการหางานได้ง่ายขึ้น

]]>
1368035
JobsDB ออกนโยบายไม่จำกัด “เพศ อายุ เชื้อชาติ สถานภาพสมรส” ในทุกประกาศงาน เริ่ม 1 ม.ค. 65 https://positioningmag.com/1367774 Mon, 20 Dec 2021 06:34:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1367774 จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) ประกาศนโยบายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการประกาศรับสมัครงาน โดยไม่ระบุข้อจำกัดทางเพศ อายุ เชื้อชาติ สถานภาพสมรส ฯลฯ เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่เสมอภาค เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

วันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมานี้ นับเป็น ‘วันสิทธิมนุษยชนสากล’ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อให้ความสำคัญกับสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ ด้วยความเป็นธรรมและเสมอภาคกัน จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) จึงขอร่วมเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในตลาดงานประเทศไทย ผ่านการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการประกาศรับสมัครงาน โดยไม่ระบุข้อจำกัดทางเพศ อายุ เชื้อชาติ สถานภาพสมรส ฯลฯ เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่เสมอภาค และทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ในปัจจุบัน หลายบริษัททั้งภาครัฐ และเอกชนได้ร่วมรณรงค์และจัดตั้งนโยบายการจ้างงาน และการทำงานอย่างเป็นธรรมให้กับพนักงาน ทั้งนี้ เพื่อรักษาสิทธิมนุษยชน และสร้างความเสมอภาคในการได้รับโอกาสการจ้างงานให้เกิดขึ้นภายในองค์กร

จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) จึงจัดตั้งนโยบายให้ผู้ประกอบการลงประกาศรับสมัครงานโดยไม่จำกัดอายุ เพศ เชื้อชาติ สัญชาติ สถานภาพสมรส และปัจจัยอื่น ๆ ที่สื่อถึงการเลือกปฏิบัติในประกาศงานทุกตำแหน่งที่เปิดรับ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

Photo : Shutterstock

นโยบายนี้ได้รับการชื่นชมจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สำหรับการแสดงเจตนารมณ์อย่างจริงจังเพื่อช่วยขับเคลื่อนสู่สังคมแห่งความเสมอภาค ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าว นอกจากจะช่วยองค์กรให้ได้ผู้หางานที่มีประสบการณ์ ความรู้ และความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสสู่ความสำเร็จของผู้หางานทุกคนทุกกลุ่มในประเทศไทยที่ล้วนมีความสามารถแตกต่างหลากหลายเฉพาะบุคคล

พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า

“ปัจจุบัน สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถก็เริ่มเข้าสู่ตลาดงานมากขึ้น ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มาพร้อมกับวิถีชีวิตและบทบาทของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนแปลง ผู้คนในปัจจุบันมีความรู้ความเข้าใจ และเปิดรับความหลากหลายและความแตกต่างระหว่างบุคคลมากขึ้น จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) ในฐานะแพลตฟอร์มหางานชั้นนำของเอเชีย เรามุ่งมั่นที่จะเชื่อมต่อผู้ประกอบการและผู้หางาน โดยให้ความสำคัญที่ประสบการณ์ และความรู้ความสามารถของผู้หางานเป็นหลัก เพื่อการหางานที่มีประสิทธิภาพและผลักดันการจ้างงานในระยะยาวโดยคำนึงถึงความเท่าเทียมกัน การขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้มองข้ามข้อจำกัดด้านสถานภาพทางสังคม ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สู่ความเสมอภาคในการจ้างงานอย่างยั่งยืนในอนาคต”

]]>
1367774
ขาดเเรงงาน บริษัทในออสเตรเลีย ทุ่ม ‘โบนัส-ขึ้นเงินเดือน’ เเย่งชิงพนักงานทักษะสูง https://positioningmag.com/1361613 Thu, 11 Nov 2021 11:11:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1361613 หลายธุรกิจในออสเตรเลีย ประสบปัญหาขาดเเคลนเเรงงานอย่างหนัก หลังต้องปิดประเทศมานานเกือบ 2 ปี บริษัทต่างๆ เริ่มใช้กลยุทธ์เสนอโบนัสเเละปรับขึ้นเงินเดือนเพื่อเเย่งชิงพนักงานทักษะสูงที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาด

บรรดาบริษัทด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ ถึงกับต้องเสนอโบนัสให้กับพนักงานใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี เเละใช้งบในการสรรหาบุคลากรเพิ่มขึ้นถึง ‘สองเท่า

โดยต้องออกนโยบายใหม่ ให้มีการพิจารณาเพิ่มเงินเดือนปีละสองครั้ง และปรับเพิ่มฐานเงินเดือนขึ้นถึง 15% เพื่อแย่งตัวพนักงานใหม่และรักษาพนักงานเดิม เพราะสายงานนี้กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในช่วงวิกฤตโควิด

เช่นเดียวกับ บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล ไปจนถึงธุรกิจภาคบริการต่างๆ ที่กำลังเจอปัญหาไม่มีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน หลังออสเตรเลียปิดพรมแดนเป็นเวลานานเกือบ 2 ปี ตามมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้ทั่วโลกต้องหันมาทำธุรกิจออนไลน์ เเละความต้องการเเรงงานด้านเทคโนโลยีที่มีทักษะก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

SEEK เว็บไซต์จัดหางานชื่อดังของออสเตรเลีย เผยว่า โฆษณารับสมัครงานใหม่ตอนนี้ เพิ่มขึ้นถึง 54% จากช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด เเต่จำนวนคนที่มาสมัครงานกลับลดลง

ในกลุ่มสายงานการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ ความปลอดภัยไซเบอร์ และการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ อาจเรียกเงินเดือนเพิ่มได้ถึง 20% เพราะกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด

โดยบริษัทซอฟต์แวร์เเห่งหนึ่งในนครซิดนีย์ เสนอ ‘Sign-on Bonus’ กว่า 10,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 2.4 เเสนบาท) เงินก้อนให้เปล่ากับพนักงานใหม่ที่ได้ตกลงเซ็นสัญญาทำงานด้วย

ขณะที่การเพิ่มค่าจ้างเป็นวิธีหลักในการดึงดูดและรักษาพนักงาน แต่การยืดหยุ่นให้ทำงานที่บ้านหรือ ‘Work from Home’ ได้ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยจูงใจคนทำงาน

แม้ว่าออสเตรเลียจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการเเละเตรียมเปิดพรมแดน หลังประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม เเต่บริษัทจัดหางานในออสเตรเลีย เตือนว่า ภาวะขาดแคลนเเรงอาจจะรุนเเรงกว่าเดิมในปีหน้า เนื่องจากคนทำงานจำนวนมากที่ทนการปิดประเทศมายาวนานไม่ไหวจึงพากันออกไปหางานทำในต่างประเทศเเทน

ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้า ระบุว่า ชาวออสเตรเลีย 2 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 25 ล้านคน ได้เลื่อนการยื่นขอหรือต่ออายุหนังสือเดินทางมา ตั้งแต่ต้นปี 2020 จากสถานการณ์โรคระบาด แต่ปัจจุบันจำนวนผู้สมัครเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสองเท่าทุก ๆ สองเดือน

ความเคลื่อนไหวนี้ สะท้อนให้เห็น ‘ภาวะสมองไหล’ ของเเรงงานทักษะสูง ไปยังตลาดสำคัญๆ ทั่วโลก อย่างเช่น สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวออสเตรเลียที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศ

 

]]>
1361613
ยอดว่างงานพุ่ง 7.3 แสนคน ซ้ำเติม ‘อาชีวะ-ป.ตรี’ จบใหม่ คนตกงาน ‘ยาวเป็นปี’ เพิ่มขึ้น https://positioningmag.com/1348525 Wed, 25 Aug 2021 08:32:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1348525 สภาพัฒน์ เผยตัวเลขอัตราว่างงานของคนไทย ไตรมาส 2 เเตะ 7.3 แสนคน ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ซ้ำหนักนักศึกษาจบใหม่ตกงานลากยาวเป็นปีเพิ่มขึ้น เเนะรัฐหนุนค่าจ้าง ดูเเลกลุ่มคนเเห่กลับภูมิลำเนา 

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เเถลงถึงภาวะสังคมไทยในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจอย่างการว่างงานของประชาชนคนไทยยังอยู่บนความเสี่ยง

โดยล่าสุด อัตราการว่างงาน อยู่ที่ระดับ 1.89% ลดลงเล็กน้อยจาก 1.96% ในไตรมาส 1 ของปี 2564 คิดเป็นผู้ว่างงานทั้งสิ้นราว 7.3 แสนคน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูง

สิ่งที่จะต้องจับตาดูในช่วงนี้คือกลุ่มผู้ว่างงานโดยไม่เคยทำงานมาก่อนหรือผู้ที่จบการศึกษาใหม่ที่มีการว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 10.04% ซึ่งขณะนี้มีอยู่กว่า 2.9 แสนคน ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 4.4 แสนคน ลดลง 8.38%  

เเรงงานทักษะสูง หางานยาก-ตกงานยาว 

เมื่อพิจารณาระยะเวลาของการว่างงาน พบว่า ผู้ว่างงานมีแนวโน้มว่างงานนานขึ้น โดยผู้ว่างงานนานกว่า 12 เดือน มีจำนวน 1.47 แสนคน เพิ่มขึ้น 1.2 เท่าจากช่วงเดียวกันของไตรมาสที่แล้ว

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา มีอัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็น 3.18% และ 3.44% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่า การว่างงานในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะสูง

ภาพรวมตลาดแรงงานเเม้จะปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ

โดยไตรมาสสอง ปี 2564 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการจ้างงานภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น 2.4% จากการเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานของแรงงานที่ว่างงานและถูกเลิกจ้าง และราคาสินค้าเกษตรที่จูงใจ

ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 1.8% โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากได้แก่

  • สาขาก่อสร้าง 5.1%
  • สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร 5.4%
  • สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า 7.1%

ด้านสาขาการผลิต และการขายส่ง/ขายปลีก การจ้างงานหดตัว’ ลง 2.2% และ 1.4% ตามลำดับ

ทั้งนี้ การจ้างงานที่หดตัวในสาขาการผลิต ซึ่งใช้แรงงานเข้มข้นเป็นหลัก ขณะที่สาขาการผลิตเพื่อการส่งออกมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาทิ สาขาเครื่องคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง และยานยนต์ 

Photo : Shutterstock

ชั่วโมงการทำงาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ 41.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 8.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแรงงานที่ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 32%

การว่างงานในระบบ ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวน 3.1 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนต่อผู้ประกันตน 2.8% ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยแต่ยังคงสูงกว่าสถานการณ์ปกติ

ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยมีจำนวน 32,920 คน เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวนเพียง 7,964 คน

ผลกระทบจากการระบาดที่มีความรุนแรงมากขึ้น และมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้ของแรงงาน

กลุ่มที่ทำงาน WFH ได้ยังมีน้อย 

มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงและมีแนวโน้มจะลดลงมากกว่าการระบาดในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อการจ้างงาน/การมีงานทำและรายได้ โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้

ทั้งนี้ ลูกจ้างภาคเอกชนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด มีเพียง 5.5% หรือมีจำนวน 5.6 เเสนคน จาก 10.2 ล้านคนเท่านั้น และมีกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระจำนวน 7.3 ล้านคน ที่จะได้รับผล
กระทบ  

Photo : Shutterstock

“ธุรกิจส่วนใหญ่พยายามคงการจ้างงานเอาไว้ แต่อาจจะมีการลดค่าจ้าง และอาจทำให้มีจำนวนผู้ที่เป็นลักษณะเสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ส่วนแนวโน้มการว่างงานในไตรมาส 3 นั้น จะต้องพิจารณาอีกครั้ง”

เเนะรัฐหนุนค่าจ้าง ดูเเลคนเเห่กลับภูมิลำเนา 

การระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานจะส่งผลให้แรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น ทางสภาพัฒน์เเนะนำว่า ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่ เข้มข้นกว่า การช่วยเหลือจากการระบาดในระลอกที่ผ่านมา เช่น

ช่วยสนับสนุนค่าจ้างบางส่วนให้กับผู้ประกอบการเพื่อรักษาการจ้างงาน

ให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติมแก่แรงงานผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจากมาตรการควบคุมการระบาด หรือมีความจำเป็น ต้องกักตัว เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้าย ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการปรับตัวของแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน และผู้จบการศึกษาใหม่ 

จากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งมีทั้งแรงงานถูกเลิกจ้างและกำลังแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานส่งผลให้ผู้ว่างงานในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันพบว่า ผู้ที่ว่างงานหางานลดลง เนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์และแรงงานที่กลับไปทำงานในภูมิลำเนา มีแนวโน้มประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น จึงควรมีแนวทางการส่งเสริมทักษะอาชีพอิสระที่แรงงานสามารถเข้าถึงได้สะดวก และฝึกฝนได้ด้วยตนเอง

 

]]>
1348525