Pinduoduo ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เล่น E-commerce ในประเทศจีน ล่าสุดขนาดบริษัทสามารถที่จะแซงหน้ายักษ์ใหญ่ที่ครองแชมป์มานานอย่าง Alibaba ลงได้ ขณะเดียวกันการแข่งขันดังกล่าวของบริษัทเทคโนโลยีจีนนั้นอาจไม่ใช่แค่ศึกภายในประเทศ แต่ยังรวมถึงศึกนอกประเทศด้วย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Pinduoduo มีขนาดบริษัทใหญ่กว่า Alibaba ไปแล้วคือ กลยุทธ์ทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศจีนและนอกประเทศจีน ซึ่งในประเทศจีน Pinduoduo ใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เช่น การใช้โมเดลให้ลูกค้าร่วมกันสั่งของเป็นปริมาณมาก และเน้นขายสินค้าราคาถูก เป็นต้น
ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ E-commerce คู่แข่งในประเทศจีนหลายรายที่เคยเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็น Alibaba หรือแม้แต่ JD.com ถึงกับนั่งไม่ติด
ขณะที่กลยุทธ์นอกประเทศจีน Pinduoduo ได้ส่ง Temu ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันลูกของทางบริษัทไปตีตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก โดยการส่งธุรกิจไปตีตลาดต่างประเทศนั้นเมื่อเทียบกับ Alibaba แล้วถือว่าใช้เวลานานกว่ามาก แต่กลับประสบความสำเร็จเนื่องจากกลยุทธ์ของบริษัทคือเน้นขายสินค้าราคาถูก
ขณะเดียวกัน Pinduoduo เองก็มีแผนการขยายธุรกิจ Temu ไปยังหลายประเทศ และอาเซียนเองก็เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งของบริษัทในการตีตลาดของบริษัทเช่นกัน
ตัวเลขล่าสุด (30 พฤษภาคม) จาก Bloomberg นั้น Pinduoduo มีขนาดบริษัท 210,079 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 7.72 ล้านล้านบาท สามารถที่จะโค่นแชมป์เก่าอย่าง Alibaba ที่มีขนาดบริษัทเพียงแค่ 191,182 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 7.03 ล้านล้านบาท ได้ในที่สุด
มาดูทางฝั่งของ Alibaba นั้น บริษัทกลับประสบปัญหานับตั้งแต่การเข้ามาปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีของรัฐบาลจีน สิ่งที่บริษัทโดนทั้งข้อหามีพฤติกรรมผูกขาด จนทำให้บางกรณีบริษัทต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวนมหาศาล จนทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน Alibaba เองก็ยังประสบกับความท้าทายไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะต้องดึงลูกค้ากลับมา เนื่องจากการแข่งขันในแพลตฟอร์ม E-commerce ในจีนที่ดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นกับ Pinduoduo เอง หรือแม้แต่คู่แข่งรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น JD.com หรือแม้แต่ Douyin
ไม่เพียงเท่านี้ธุรกิจต่างประเทศของ Alibaba เอง เช่น Lazada หรือ Aliexpress เองก็ต้องสู้กับคู่แข่งทั้งจากในจีนอย่าง Temu ของ Pinduoduo หรือแม้แต่ TikTok Shop รวมถึงผู้เล่นอย่าง Shopee หรือ E-commerce ที่เป็นผู้เล่นภายในประเทศ
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวทำให้บริษัทมีแผนต้องปรับกลยุทธ์ภายในไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยน CEO คนใหม่ หรือแม้แต่การแยกธุรกิจออกมาเป็น 6 หน่วยธุรกิจ เพื่อที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับหน่วยงานกำกับดูแล ไปจนถึงการปลดล็อกมูลค่าบริษัทให้กับผู้ถือหุ้นเนื่องจากราคาหุ้นที่ตกลงมาเป็นเวลาหลายปี แม้แต่ผู้ก่อตั้งบริษัทอย่าง แจ็ก หม่า เองก็สนับสนุนแผนการดังกล่าว
ในท้ายที่สุดแล้วศึกระหว่าง Pinduoduo กับ Alibaba ย่อมไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน เพราะมีทั้งศึกภายในประเทศจีน หรือแม้แต่นอกประเทศจีน ซึ่งต่างฝ่ายต้องการที่จะทำให้บริษัทเติบโตเพิ่มมากขึ้น ภายใต้ความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ
]]>ตามรายงานโดยหนังสือพิมพ์ The Korea Economic Daily เปิดเผยว่า อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง กําลังจับตามองการลงทุน ครั้งแรกในภาคอีคอมเมิร์ซของเกาหลีใต้ โดยกำลังเจรจาเพื่อลงทุน 72.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อหุ้น 5% ใน Ably Corp แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสินค้าแฟชั่นหญิงของเกาหลีใต้
โดยการลงทุนดังกล่าวหากประสบความสำเร็จ จะช่วยให้อาลีบาบาสามารถตั้งหลักในตลาดเกาหลีใต้ได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน ทั้ง AliExpress, Shein และ Temu กำลังแข่งขันกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง Gmarket และ Coupang
นอกจากนี้ อาลีบาบากำลังเผชิญกับการแข่งขันในตลาดโลกจากแพลตฟอร์มเพื่อนร่วมชาติ ทั้ง Shein และ PDD Holdings’ Temu ซึ่ง Ably จะเข้ามาช่วยเสริมกับกลยุทธ์ของ AliExpress ที่เพิ่งเปิดตัวช่องทางสำหรับขายเสื้อผ้าแฟชั่นผู้หญิงโดยเฉพาะ
Ably ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 ปัจจุบัน แพลตฟอร์มมีมูลค่ามากกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ และเติบโตจนมีจำนวนผู้ใช้มากที่สุดในแพลตฟอร์มแฟชั่นออนไลน์ของเกาหลีใต้ โดยมีผู้ใช้กว่า 8.05 ล้านคน ในเดือนมีนาคม อีกทั้ง Ably ยังเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแฟชั่นเพียงรายเดียวที่ทํากําไรได้ในปีที่แล้ว
สำหรับข่าวการเจรจา AliExpress-Ably เกิดขึ้นหลายสัปดาห์หลังจากมีข่าวลือว่าอาลีบาบากําลังวางแผนการลงทุนประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์ในเกาหลีใต้ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยอาลีบาบาจะใช้เงิน 200 ล้านดอลลาร์ในปีนี้เพื่อสร้างศูนย์โลจิสติกส์และ 100 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางในการขายสินค้าของตนในต่างประเทศ นอกจากนี้ อาลีบาบาจะลงทุนอีก 72.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปรับปรุงการคุ้มครองผู้บริโภค
ปัจจุบัน สินค้าจีนได้รับความสนใจจากนักช้อปชาวเกาหลีใต้ โดยปีที่แล้วการบริโภคออนไลน์เพิ่มขึ้น 121% เป็น 3.3 ล้านล้านวอนจากปีก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการซื้อ e-commerce ในต่างประเทศทั้งหมดของประเทศ
]]>Jack Ma หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Alibaba คนสำคัญ ได้ส่งข้อความภายในบริษัทให้กับพนักงาน ในช่วงการจัดการเสวนาภายในบริษัท โดยจดหมายดังกล่าวนั้นจุดประสงค์นั้นเพื่อที่จะเสริมสร้างกำลังใจในหมู่พนักงาน นอกจากนี้ในจดหมายดังกล่าวยังสนับสนุนในแผนการปรับโครงสร้างองค์กร โดยชี้เรื่องของประสิทธิภาพ
การจัดการเสวนาภายในบริษัทของ Alibaba เกิดขึ้นหลังจากบริษัทประกาศแยกธุรกิจออกมาเป็น 6 หน่วยธุรกิจ ซึ่งระยะเวลานั้นครบรอบ 1 ปี
สำหรับแผนในการปรับโครงสร้างองค์กรนั้น Jack Ma ได้ชี้ว่า “เราเปลี่ยนบริษัทจากองค์กรที่ยุ่งยากให้กลายเป็นองค์กรที่เรียบง่ายและคล่องตัว โดยที่ประสิทธิภาพต้องมาก่อน” และมองว่าบริษัทได้แก้ปัญหาขององค์กรได้
เขายังกล่าวเสริมว่าบริษัทได้ทำผิดพลาดมาตลอด 25 ปี และจะมีความผิดพลาดอีก 77 ปี ภายในระยะเวลา 300 ปี แต่เขายังได้แนะนำพนักงานของ Alibaba ว่าการเผชิญปัญหาไม่ใช่การปฏิเสธอดีต แต่เพื่อค้นหาหนทางที่รับผิดชอบต่ออนาคต
ขณะเดียวกันการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้น Jack Ma มองว่าจะทำให้อุตสาหกรรม E-commerce ในปัจจุบันเกิดความพลิกผัน แต่เขาเองมองว่าการเข้ามาของ AI ยังอยู่ในยุคเริ่มต้นเท่านั้น เปรียบได้กับยุค Internet ช่วงแรกๆ
ในปี 2019 นั้น Jack Ma ได้ประกาศวางมือจาก Alibaba อย่างไรก็ดีในช่วงปลายปี 2020 เขาได้กล่าวพาดพิงถึงหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศจีน จนเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาปราบปรามธุรกิจเทคโนโลยีของรัฐบาลจีน มหาเศรษฐีรายนี้ได้เก็บตัวเงียบและพยายามทำตัวไม่เป็นข่าวมากนัก
ซึ่งผลกระทบจากการเข้ามาปราบปรามธุรกิจเทคโนโลยีของรัฐบาลจีนได้ทำให้มูลค่าบริษัทเทคโนโลยีในจีนหายไปอย่างมาก ซึ่งรวมถึง Alibaba ด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงบริษัทยังโดนค่าปรับจากหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศจีนในกรณีที่บริษัทมีพฤติกรรมผูกขาดตลาด รวมถึงคดีความล่าสุดกับ JD.com นั้นก็ต้องจ่ายค่าปรับให้อีกฝ่ายด้วย
โดยในช่วงที่ผ่านมา Jack Ma ได้ตระเวนไปรอบโลกเพื่อที่จะศึกษาในเรื่องการเกษตร หรือแม้แต่พูดคุยกับนักธุรกิจตามประเทศต่างๆ รวมถึงล่าสุดได้มีการเปิดธุรกิจที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและขายปลีกสินค้าทางการเกษตร ซึ่งเขาเองพยายามทำตัวไม่เป็นข่าวมากนัก
ก่อนในท้ายที่สุดเขาจะได้ออกมาส่งข้อความให้กับพนักงาน Alibaba ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เห็นบ่อยๆ นัก ภายใต้สภาวะความท้าทายที่เกิดขึ้นของบริษัทในช่วงเวลานี้
ที่มา – South China Morning Post, Reuters
]]>สำนักข่าว Bloomberg รายงานข่าว โดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า Alibaba บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของประเทศจีน อาจตัดสินใจขาย InTime ธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่บริษัทได้ซื้อมาในปี 2017 ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวตามมาจากการปรับโครงสร้างองค์กรของบริษัท
สื่อรายดังกล่าวได้รายงานว่า Alibaba ได้ติดต่อสถาบันการเงิน 2-3 แห่ง เพื่อจะหาผู้ที่สนใจซื้อกิจการ InTime และมีผู้สนใจรายหนึ่งเริ่มพูดคุยกับทางบริษัทเทคโนโลยีรายดังกล่าวแล้วเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยบริษัทได้พูดคุยถึงแผนการในการขายห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมาสักพักแล้ว
Alibaba ได้ซื้อห้างสรรพสินค้า InTime ในปี 2017 ด้วยมูลค่ามากถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตัวเลขล่าสุดจากเว็บไซต์ของบริษัทนั้นห้างสรรพสินค้ารายดังกล่าวมีสาขามากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศจีน
และในปี 2020 หลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศจีน หนึ่งในผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศจีนรายนี้ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยหันมาไลฟ์ขายสินค้าจนสามารถฟื้นยอดขายกลับมา หลังจากห้างต้องปิดตัวนานหลายสัปดาห์จากมาตรการล็อกดาวน์
การตัดสินใจขายห้างสรรพสินค้า InTime ยังอยู่ในแผนการของบริษัทในช่วงการปรับโครงสร้างที่มีการแยกธุรกิจของ Alibaba ออกมาเป็น 6 ธุรกิจหลักด้วยกัน และบริษัทต้องการที่จะโฟกัสไปยังธุรกิจหลักนั่นก็คือธุรกิจ E-commerce และธุรกิจ Cloud
นอกจากนี้การปรับโครงสร้างบริษัทและการพิจารณาในการขายห้างสรรพสินค้า InTime ยังแสดงให้เห็นถึงจุดจบของกลยุทธ์ New Retail ซึ่ง Alibaba ชูจุดเด่นมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการค้าปลีกในการเชื่อมโลกออนไลน์เข้าสู่ออฟไลน์
ไม่เพียงแค่ห้างสรรพสินค้า InTime เท่านั้น Alibaba ได้ซื้อหรือแม้แต่ลงทุนใน Sun Art Retail หรือ เหอหม่า (Hema) ซึ่งเป็นธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงธุรกิจค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างซูหนิง (Suning) ด้วย ซึ่งกลยุทธ์ New Retail ในเวลานั้นเป็นโมเดลที่ทำให้คู่แข่งต้องลอกเลียนแบบมาแล้ว
แต่กลยุทธ์ดังกล่าวกลับส่งผลลัพธ์ที่ไม่ดีกับบริษัทในท้ายที่สุด เนื่องจากการเข้ามาปราบปรามและกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยี ทำให้กลยุทธ์ New Retail เป็นเหมือนการผูกขาดธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเวลาต่อมาผู้บริหาร Alibaba ได้พูดถึงกลยุทธ์ดังกล่าวลดลงเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดีในการขายกิจการ InTime ถือว่ามีความท้าทายไม่น้อย และอาจมีความเสี่ยงที่ Alibaba อาจไม่ได้เม็ดเงินมากเท่าที่ควร เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจจีนที่กำลังฟื้นตัว นอกจากนี้ยังรวมถึงปัญหาด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคซึ่งส่งผลทำให้การจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง ซึ่งส่งผลต่อมูลค่ากิจการห้างสรรพสินค้าด้วย
]]>สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวว่า ศาลประชาชนชั้นสูงในกรุงปักกิ่ง (Beijing High People’s Court) ได้ตัดสินคดีความระหว่าง 2 บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ในคดีที่ JD.com ได้ฟ้องว่า Alibaba ผูกขาดธุรกิจ E-commerce หลังบังคับให้ร้านค้าขายสินค้าบนแพลตฟอร์มเดียวเท่านั้น
ทางด้าน Weibo ของ JD.com ได้แจ้งว่าบริษัทชนะคดีความดังกล่าว โดยบริษัทได้กล่าวว่าผลการตัดสินเป็นสิ่งที่ดีต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศจีน และ JD.com ได้ต่อต้านพฤติกรรม “เลือกแพลตฟอร์มเจ้าใดเจ้าหนึ่ง” เพื่อที่จะทำให้เกิดการแข่งขันได้
นอกจากนี้ JD.com จะได้เงินจากการฟ้องร้องคดีความดังกล่าวเป็นเงิน 1,000 ล้านหยวนด้วย หรือคิดเป็นเงินไทย 4,957 ล้านบาท
สำหรับการ “เลือกแพลตฟอร์มเจ้าใดเจ้าหนึ่ง” หรือในภาษาจีน “เลือก 1 จาก 2” เป็นการบังคับให้เจ้าของร้านค้าต่างๆ สามารถลงสินค้าผ่านแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเท่านั้น เช่น ถ้าหากร้านค้าเลือกแพลตฟอร์ม TMall ของ Alibaba ไปแล้ว ก็จะไม่สามารถลงสินค้าผ่าน E-commerce คู่แข่งรายอื่นได้
Alibaba ได้โดนหน่วยงานกำกับดูแลของจีนปรับเงินมาแล้วในการผูกขาดแพลตฟอร์มในช่วงปี 2021 ซึ่งค่าปรับดังกล่าวสูงมากถึง 18,000 ล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยมากถึง 86,400 ล้านบาท คิดเป็น 4% ของรายได้บริษัทในช่วงเวลาดังกล่าว
คดีความดังกล่าว JD.com ยื่นฟ้องต่อศาลประชาชนชั้นสูงในกรุงปักกิ่งตั้งแต่ปี 2017 และใช้เวลาในการพิจารณาข้อกล่าวหาดังกล่าวหลายปี ก่อนในท้ายที่สุดผลการตัดสินจะออกมาในวันนี้ โดยทางตัวแทนของ Alibaba ได้กล่าวว่าน้อมรับคำตัดสินของศาล
]]>CNBC รายงานข่าวว่า Alibaba เริ่มปรับโครงสร้างภายในบริษัทอีกครั้ง ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ Alibaba ได้ประกาศยกเลิกนำธุรกิจ Cloud เข้า IPO โดยบริษัทได้ให้เหตุผลถึงมาตรการแบนการส่งออกชิปของสหรัฐอเมริกา ผลที่เกิดขึ้นทำให้ราคาหุ้นของ Alibaba ลดลงทันที รวมถึงทำให้มูลค่าบริษัทหายไปในระดับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
แหล่งข่าวของ CNBC รายงานว่าสำหรับการปรับโครงสร้างดังกล่าว Alibaba ได้ตั้งทีมผู้บริหารชุดใหม่ที่ดูแลแผนกต่างๆ ของธุรกิจ Cloud ยกชุด ไม่ว่าจะเป็น Weiguang Liu ดูแลแผนกคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) ขณะที่ Jin Li ดูแลแผนกไฮบริดคลาวด์ (Hybrid Cloud)
ผู้บริหารทั้ง 2 รายข้างต้นจะขึ้นตรงกับ Eddie Wu ซึ่งเป็น CEO ของ Alibaba ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ขณะที่ Jiangwei Jiang จะดูแลแผนกโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ (Cloud Infrastructure) จะขึ้นตรงกับ Jingren Zhou ซึ่งเป็น CTO ของธุรกิจ Cloud ของ Alibaba
ก่อนหน้านี้แผนการของ Alibaba คือการแยกธุรกิจออกมาเป็น 6 หน่วยธุรกิจ โดยให้เหตุผลสำคัญคือการปลดล็อกมูลค่าบริษัทให้กับผู้ถือหุ้น เพิ่มเรื่องของการกำกับดูแลองค์กรที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังรวมถึงส่งเสริมให้แต่ละธุรกิจสามารถแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งธุรกิจ Cloud ถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนการเช่นกัน
ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจ Cloud ของ Alibaba เองก็ได้รับแรงกดดันจากทั้งคู่แข่งหลายรายจากบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Tencent หรือแม้แต่ Baidu ขณะเดียวกันก็ยังต้องพบกับแรงกดดันจากคู่แข่งรายสำคัญคือ Huawei ยักษ์ใหญ่อีกรายที่กำลังรุกตลาดอย่างหนักเช่นกัน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา CEO ของ Alibaba ยังได้ประกาศถึงแผนการของธุรกิจ Cloud จะรุกในส่วน Public Cloud ที่เน้นให้บริการกับภาคธุรกิจมากกว่าการเน้นหาลูกค้าในฝั่งของหน่วยงานของรัฐบาลจีน ขณะเดียวกันเขาก็มองถึงการผลักดันเทคโนโลยี AI ซึ่งจะทำให้มีการประมวลผลผ่านระบบ Cloud ของบริษัทเพิ่มขึ้น
]]>Securities Times สื่อธุรกิจในประเทศจีน รายงานข่าวว่า Eddie Wu ซึ่งเป็น CEO ของ Alibaba ได้เปิดเผยในงาน World Internet Conference Summit 2023 ที่จัดขึ้นในเมืองอูเจิ้น ว่าทิศทางในบริษัทในอนาคตจะกลายเป็นบริษัทแพลตฟอร์มเทคโนโลยีแบบเปิดที่ให้บริการนวัตกรรม AI แก่สังคมทั้งหมด
เขาได้กล่าวว่าเมื่อเผชิญกับยุค AI นั้นทาง Alibaba จะกลายเป็นบริษัทแพลตฟอร์มเทคโนโลยีแบบเปิดที่ให้บริการนวัตกรรมด้าน AI แก่ทั้งสังคม โดยการนำเสนอทิศทางของบริษัทนั้นเขาชี้ว่าสะท้อนถึงความคาดหวังของประเทศและความต้องการของสังคมทั้งหมด
สื่อธุรกิจของจีนรายดังกล่าวชี้ว่า CEO รายนี้ได้ออกงานสำคัญนับตั้งแต่การขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่ของ Alibaba เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และยังเป็นครั้งแรกที่บริษัทเทคโนโลยีจีนได้นำเสนอทิศทางขององค์กรว่าจะปรับตัวเป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอย่างชัดเจน
CEO ของ Alibaba รายนี้ยังได้กล่าวว่ายุคแห่งความฉลาดเพิ่งเริ่มต้นขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เขายังชี้ว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ และมีโอกาสในการพัฒนามากมาย เขายังวิเคราะห์ว่าการประมวลผล AI มีความฉลาดในการเข้าใจภาษามนุษย์รวมถึงตรรกะต่างๆ รวมถึงสามารถเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ได้โดยตรง
เพื่อที่จะให้บริการแก่องค์กรต่างๆ รวมถึงนักพัฒนา AI มากขึ้น Alibaba ได้ประกาศว่าจะให้บริการระบบบ AI ที่เสถียรและมีประสิทธิภาพ ผ่าน Cloud ของบริษัท ขณะเดียวกันบริษัทก็จะสร้างระบบนิเวศ AI ที่เปิดกว้าง เพื่อที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม
การประกาศทิศทางบริษัทของ Alibaba ครั้งนี้ถือว่าเป็นทิศทางสำคัญต่อเนื่องหลังจากบริษัทได้ประกาศแยกธุรกิจออกมาเป็น 6 หน่วยธุรกิจด้วยกัน
Eddie Wu เองถือเป็น 1 ในผู้ก่อตั้งที่มีความสำคัญกับบริษัทในช่วงที่ผ่านมา เขาเป็นประธานดูแลธุรกิจ E-commerce ในประเทศจีนอย่าง TMall และ Taobao และเขาเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ไม่ว่าจะเป็น Taobao หรือแม้แต่ Alipay และยังช่วยออกแบบเทคโนโลยีของแพลตฟอร์มต่างๆ ของบริษัทมาแล้ว
]]>เว็บไซต์ Tech in Asia รายงานว่า Alibaba ได้อัดฉีดเงินเข้า Lazada แพลตฟอร์ม E-Commerce รายใหญ่ของบริษัท โดยเม็ดเงินดังกล่าสูงถึง 845 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยเกือบ 29,000 ล้านบาท
สาเหตุสำคัญที่มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้า Lazada เป็นจำนวนมากคือการแข่งขันที่สูงในแพลตฟอร์ม E-Commerce ซึ่งบริษัทมีคู่แข่งสำคัญคือ Shopee รวมถึง TikTok Shop ที่บริษัทแม่อย่าง ByteDance ได้ผลักดันอย่างหนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก Momentum Works ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยในสิงคโปร์ ชี้ว่า Lazada เป็นผู้เล่นอันดับ 2 ของแพลตฟอร์ม E-Commerce ในอาเซียนโดยมียอดขายสินค้าออนไลน์รวมในแพลตฟอร์ม (GMV) 20,100 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรองคู่แข่งอันดับ 1 อย่าง Shopee ของ Sea ซึ่งมี GMV สูงถึง 47,900 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตลาด E-Commerce ในอาเซียนถือว่าเป็นตลาดที่เติบโตมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ข้อมูลจากรายงานของ Bain และ Google รวมถึง Temasek ที่จัดทำขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมปี 2022 ที่ผ่านมาชี้ว่าอัตราการเติบโตสูงถึง 20% ต่อปีจนถึงปี 2025 ทำให้บริษัทเทคโนโลยีทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้นสนใจเข้ามาทำธุรกิจดังกล่าวจำนวนมาก
สำหรับเม็ดเงินที่อัดฉีดเข้า Lazada โดย Alibaba มากที่สุดคือในช่วงปี 2018 ที่ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีจากจีนอัดฉีดเงินมากถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าแพลตฟอร์ม E-Commerce ในอาเซียน รองลงมาคือในปี 2022 อีกราวๆ 913 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในช่วงเวลาปกติจะมีการอัดฉีดเงินไม่เกิน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ
Lazada ปัจจุบันบริษัทอยู่ภายใต้ธุรกิจ E-Commerce นอกประเทศจีน หลังจากที่ทาง Alibaba ได้ประกาศแยกธุรกิจออกเป็น 6 หน่วยธุรกิจ ซึ่งแต่ละยูนิตนั้นจะมีการแต่งตั้งผู้บริหารเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ยังสามารถที่จะระดมทุนเพิ่มเติมหรือเข้าตลาดหลักทรัพย์หลังจากนี้ตามแต่การตัดสินใจได้
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีข่าวว่า Aliababa เตรียมที่จะนำธุรกิจ E-commerce ในต่างประเทศ ซึ่งมีธุรกิจลูกในเครือเช่น Aliexpress และ Lazada ฯลฯ เข้า IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าจะเข้าระดมทุนในช่วงปีหน้า ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นการอัดฉีดเงินในรอบท้ายๆ ก่อนที่ยูนิตดังกล่าวจะเข้า IPO หลังจากนี้
]]>ธุรกิจในต่างประเทศที่ Alibaba กลับมาลุยต่ออีกครั้งคือธุรกิจ E-commerce ในทวีปยุโรป ซึ่ง Michael Evans ประธานของบริษัทได้กล่าวที่กรุงปารีสว่าบริษัทจะขยายธุรกิจดังกล่าวโดยเริ่มต้นที่ประเทศสเปน ซึ่งโมเดลธุรกิจที่จะนำมาใช้ก็คือรูปแบบของ TMall ซึ่งประสบความสำเร็จในจีนมาแล้ว
และแผนการดังกล่าวนี้ยังถือว่าเปลี่ยนรูปแบบทำธุรกิจ E-commerce ของบริษัทอีกครั้ง เนื่องจากปกติแล้วบริษัทจะมีแพลตฟอร์มอย่าง Aliexpress ที่ส่งสินค้าจากประเทศจีนเข้าไปยังทวีปยุโรป หรือทวีปอื่น
ประธานของ Alibaba กล่าวว่า โฟกัสของบริษัทในอนาคตคือการสร้างธุรกิจเหมือน TMall ตามประเทศต่างๆ ในยุโรป ซึ่งโมเดลดังกล่าวจะมีร้านค้าในประเทศนั้นๆ เพื่อที่จะตอบสนองต่อลูกค้าของประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะ และโมเดลธุรกิจดังกล่าวจะขยายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วยุโรปหลังจากนี้
ก่อนหน้านี้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ด้วยการแยก 6 ธุรกิจออกมา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ E-commerce ทั้งในจีนและนอกประเทศจีน ธุรกิจ Cloud ไปจนถึงธุรกิจ Logistics โดยแต่ละธุรกิจจะมีการแต่งตั้งผู้บริหารเป็นของตัวเอง และสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ยังทำให้ลดแรงกดดันของหน่วยงานกำกับดูแลอีกด้วย
ขณะเดียวกันการรุกธุรกิจ E-commerce ในทวีปยุโรปอีกครั้งนั้นประธานของ Alibaba ได้ชี้ว่าทวีปดังกล่าวมีความสำคัญในการขยายธุรกิจของ Alibaba อย่างมากไม่ใช่แค่การรุกแค่ธุรกิจ E-commerce เท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อธุรกิจอื่น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Logistics หรือแม้แต่ธุรกิจ Cloud ของบริษัทด้วย
ทาง Bloomberg เคยวิเคราะห์ว่ารายได้ของธุรกิจ E-commerce ในต่างประเทศของ Alibaba ในปี 2022 อยู่ที่ 9,500 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 7.2% ของรายได้รวมทั้งหมดของบริษัท
]]>ภายในงาน Alibaba Cloud Summit ปี 2023 อาลีบาบา ได้เปิดตัว ถงอี้ เฉียนเหวิน (Tongyi Qianwen) เอไอ แชทบอท ที่มีความสามารถเข้าใจทั้งภาษาจีนและอังกฤษ โดยบริษัทมีแผนจะใช้เอไอดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของอาลีบาบาตั้งแต่การสื่อสารระดับองค์กรไปจนถึงอีคอมเมิร์ซ
เบื้องต้น จะเริ่มใช้งานใน DingTalk ซอฟต์แวร์สื่อสารในที่ทำงานของ Alibaba และ Tmall Genie ผู้ให้บริการเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอัจฉริยะ อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้ระบุถึงช่วงเวลาที่ชัดเจน โดยบอกเพียงว่าจะนำไปใช้ใน อนาคตอันใกล้
“เราอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI และคลาวด์คอมพิวติ้ง” แดเนียล จาง ประธานและซีอีโอของอาลีบาบา กรุ๊ป และซีอีโอของอาลีบาบา คลาวด์ กล่าว
ไม่ใช่แค่ใช้ในองค์กรของตัวเอง แต่สำหรับลูกค้าของอาลีบาบาคลาวด์ก็จะสามารถเข้าถึง Tongyi Qianwen บนคลาวด์ได้ และช่วยให้ลูกค้าสามารถสร้างโมเดลภาษาขนาดใหญ่เพื่อสร้าง แชทบอทของตัวเอง โดยสามารถปรับแต่งได้อย่างละเอียดตามต้องการ ด้วยข้อมูลที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวลูกค้าเอง ซึ่งช่วยลดทรัพยากรและค่าใช้จ่ายสำหรับลูกค้าที่ต้องการพัฒนาเอไอแชทบอทของตัวเอง
“เราหวังว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจจากทุกอุตสาหกรรมด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านข่าวกรอง และท้ายที่สุด จะช่วยเพิ่มผลผลิตทางธุรกิจ ขยายความเชี่ยวชาญและความสามารถของพวกเขา ในขณะที่ปลดล็อกโอกาสที่น่าตื่นเต้นผ่านนวัตกรรม”
ทั้งนี้ อาลีบาบาถือเป็นบริษัทโทคโนโลยีจีนรายล่าสุดที่เปิดตัวเอไอ แชทบอท หลังจาก Baidu เปิดตัว Ernie Bot ในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ก็มี NetEase ได้ ประกาศความ ตั้งใจที่จะเปิดตัวเอไอแชทบอทที่มีรูปแบบ ChatGPT ซึ่งหลังจากที่อาลีบาบาเปิดตัว Tongyi Qianwen หุ้นของบริษัทก็พุ่งขึ้นกว่า 3% ส่วนหุ้นของ Baidu ลดลง 6%
สำหรับ อาลีบาบาในตลาดคลาวด์ ปัจจุบันถือเป็น อันดับ 3 ของโลก และเป็นผู้ให้บริการ IaaS อันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตามข้อมูลของบริษัทวิจัย IDC และ Gartner
]]>