ตามรายงานของที่ปรึกษา Digital Luxury Group ประเมินว่า ตลาดสินค้าหรูหราของจีนคาดว่าจะหดตัวมากถึง 15% ในปีนี้ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของการชะลอตัวจะเป็นไปตามกลไกตลาดบางส่วน แต่ปัจจัยหลัก ๆ มาจากเศรษฐกิจของจีนที่กําลังพยายามฟื้นตัวจากวิกฤตอสังหาฯ แต่ที่ยิ่งน่ากังวลกว่าก็คือ วัยรุ่นชาวจีนเน้นใช้เงินไปกับการซื้อประสบการณ์ เช่น การท่องเที่ยว มากกว่าใช้แบรนด์เนมเพื่อสร้างภาพ
โดย Jessica Gleeson ซีอีโอของ Brighter Beauty บริษัทที่ปรึกษาภาคการค้าปลีกในเซี่ยงไฮ้ มองว่า มีวัยรุ่นจีนบางส่วนที่ไม่ต้องการใช้แบรนด์เนมเป็นตัว กําหนดความสุข หรือเพื่อ แสดงสถานะทางสังคม อีกต่อไป โดยบางคนให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาก็แค่ ทำตามคนอื่น โดยเทรนด์ที่เห็นในปัจจุบันคือ คนต้องการใช้เงินเพื่อลงทุนในด้านการพัฒนาตัวเอง ดูแลสุขภาพ และใช้เพื่อประสบการณ์ความบันเทิง
“การใช้สินค้าราคาแพงไม่จำเป็นอีกต่อไป และผู้บริโภคชาวจีนได้ค้นพบว่า การซื้อของที่อยากได้มากขึ้นไม่ได้ทําให้รู้สึกเติมเต็มหรือมีความสุขมากขึ้น”
ไม่ใช่แค่ในกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้นที่ลดลําดับความสําคัญสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ ผู้มีรายได้ปานกลาง ก็เริ่มมองว่า แบรนด์เนม น่าสนใจน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้เริ่มหันมาใช้เงินกับสิ่งจำเป็นมากกว่าของฟุ่มเฟือย โดยผลสำรวจจาก Luxyrynsight แสดงให้เห็นว่า 1 ใน 4 ของผู้บริโภคชาวจีนระบุว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พวกเขารู้สึกว่า แบรนด์เนมตะวันตกดึงดูดใจน้อยลง
“ในอดีต ฉันแค่ซื้อของฟุ่มเฟือยโดยไม่ได้คิด ตราบใดที่ฉันชอบมัน แต่ตอนนี้ฉันไม่มีอะไรพิเศษที่อยากซื้อ เพราะฉันไม่รู้ว่ารายได้ในอนาคตของฉันจะอยู่ที่ไหน” Coco Li อดีตผู้บริหารในบริษัทข้ามชาติในฮ่องกงวัย 46 ปี ที่เคยใช้เงินเดือน 20% ซื้อของแบรนด์เนม เล่า
นับตั้งแต่ปี 2554-2564 บริษัทสินค้าหรูต่าง ๆ เช่น LVMH และ Kering ได้ทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปยังประเทศจีนเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ตลาดขาขึ้น ส่งผลให้มูลค่าตลาดเติบโตมากกว่า 4 เท่า เป็น 4.71 แสนล้านหยวน (6.6 หมื่นล้านดอลลาร์) ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษา Bain & Co.
แต่ด้วยค่านิยมที่เปลี่ยนไป สะท้อนให้เห็นชัดขึ้นจากผลประกอบการของเหล่าแบรนด์ลักชูรีในจีน โดยเฉพาะผู้นำตลาดอย่าง LVMH ที่ยอดขายในไตรมาส 3 ของภูมิภาคเอเชียรวมถึงจีน (ไม่รวมญี่ปุ่น) ร่วงลง 16% นอกจากนี้ แผนการเปิดตัว Louis Vuitton Flagship Store ที่ตั้งเป้าว่าจะได้ให้ในข่วงกลางปี ปัจจุบันก็ถูกเลื่อนไปไม่มีกำหนด แน่นอนว่ายังมีบางแบรนด์ที่เติบโตได้อย่าง Hermes ที่ยอดขายในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงจีนช่วงไตรมาส 3 โตขึ้น 1% แต่ก็ถือว่าต่ำกว่าที่คาดไว้ว่าจะเติบโตได้ 2.3%
อีกสัญญาณที่เห็นก็คือ การอัดโปรโมชั่น จากเดิมที่ลูกค้าสามารถซื้อได้แบบไม่ต้องคิด แต่ปัจจุบันหลายแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น LVMH, Kering, Burberry Group ที่ต้องงัดกลยุทธ์โปรโมชั่นโดยหวังว่าจะสามารถดึงลูกค้ากลุ่มวีไอพีให้กลับมาซื้อ เพื่อเคลียร์สต็อกสินค้า
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางผู้บริหาร LVMH ให้ความเห็นว่ามาจากเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมอ้างถึงวิกฤตหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ ที่ทำให้การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยของชาวจีนลดลง โดยยอดขายของห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ในจีน ในช่วงเดือนตุลาคมที่มีช่วงหยุดยาว 1 สัปดาห์ กลับลดลง 18% เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ตามรายงานของ Baidu Inc.
จากหลาย ๆ ปัจจัย ส่งผลให้นักลงทุนกําลังจับตามองเพื่อดูว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะช่วยหนุนได้หรือไม่
]]>ล่าสุด เบอร์เบอรี่ (Burberry) แบรนด์สินค้าหรูสัญชาติอังกฤษ ก็ประสบปัญหายอดขายหดเช่นกัน โดยผลประกอบการไตรมาส 1 ประจำปีงบประมาณ 2025 (3 เดือนจนถึง 29 มิ.ย. 2024) มียอดขายลดลง -21% และ Burberry ยังอาจทำกำไรไม่ถึงเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ในปีงบประมาณนี้ได้
ส่งผลให้ Jonathan Akeroyd CEO ของบริษัท ถูกปลดทันที โดยบริษัทได้ Joshua Schulman ที่เคยดํารงตําแหน่ง CEO ที่ Coach และ Michael Kors Akeroyd มาเป็น CEO ของ Burberry แทน โดย Burberry เป็นแบรนด์ที่เปลี่ยน CEO ทุก 4-5 ปี นับตั้งแต่ปี 2018
โดยตลาดสินค้าลักชัวรีปีนี้อาจไม่ได้สดใสเหมือนที่ผ่านมานัก โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และจีน อย่างในตลาดสหรัฐฯ ยอดขายของ Burberry ประจำปีงบประมาณ 2024 ลดลงถึง -12% นอกจากนี้ Burberry ยังออกมาคาดการณ์ว่า กำไรของบริษัทจะลดลง 40% และจะยกเลิกเงินปันผล ส่งผลให้ หุ้นร่วงลง 17%
แม้ทางด้าน CEO จะออกมาพูดถึงความท้าทายของตลาดลักชัวรีในยุคที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่หลายฝ่ายมองว่า อีกปัจจัยที่ทำให้ยอดขายของ Burberry หดตัวก็คือ การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ ทำให้แบรนด์อายุ 168 ปีสิ้นเสน่ห์ โดย Gerry Murphy ประธาน Burberry ยังยอมรับว่า ผลประกอบการ Q1/2025 น่าผิดหวัง
“เราคาดว่าการดําเนินการที่เรากําลังทำอยู่ รวมถึงการประหยัดต้นทุน จะเริ่มเห็นผลในช่วงครึ่งหลังของเรา เพื่อเสริมสร้างตําแหน่งการแข่งขันของเรา และสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว” Gerry Murphy กล่าว
โดย Burberry ซึ่งเป็นที่รู้จักกันจากกระเป๋าหิ้วใบเล็ก ๆ ของผู้หญิง โดยแบรนด์มองว่าจะเปลี่ยนโฟกัสไปที่ลูกค้าระดับไฮเอนด์และนําเสนอสินค้าลักชัวรีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังวางแผนที่จะเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ในเดือนสิงหาคม
]]>ศูนย์การค้าเครือ “เซ็นทรัลพัฒนา” (CPN) เข้ามาลงทุนบนเกาะภูเก็ตครั้งแรกเมื่อปี 2547 เปิดตัว “เซ็นทรัล ภูเก็ต เฟสติวัล” เสนอไลฟ์สไตล์คนเมืองให้กับชาวภูเก็ต ก่อนที่จะขยายพื้นที่ฝั่งตรงข้ามเมื่อปี 2561 เปิดตัวศูนย์การค้า “เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า” เน้นกลุ่มเป้าหมายใหม่ไลฟ์สไตล์ “ลักชัวรี” รวบรวมช็อป “แบรนด์เนม” มาไว้บนเกาะภูเก็ตเป็นครั้งแรก
“6 ปีก่อนกับตอนนี้ถือว่าต่างกันมาก เมื่อ 6 ปีก่อนที่เราไปเชิญร้านค้าแบรนด์เนมมาลง เขาก็สงสัยว่ามันจะไปได้หรือ” ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา กรรมการผู้จัดการ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าว “แต่ CPN เรามีวิสัยทัศน์ว่าภูเก็ตสามารถพัฒนาไปเทียบชั้นกับรีเวียร่าในประเทศฝรั่งเศสหรือฮาวายของสหรัฐฯ คือเป็นแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศชายทะเลระดับไฮเอนด์ รองรับเศรษฐีระดับโลกได้เลย”
ด้าน “วิไลพร ปิติมานะอารี” ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มงานปฏิบัติการสาขาภูเก็ต บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา เสริมว่า ในปีแรกที่ เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า เปิดตัว มีแบรนด์เนมที่กล้าลงทุนพร้อมกับ CPN เพียง 7 แบรนด์ แบรนด์แรกที่มาเปิดช็อปคือ “Hermès”
แต่ผ่านมา 6 ปีขณะนี้มีแบรนด์เนมเข้าศูนย์ฯ แล้วทั้งหมด 14 แบรนด์ และหลายแบรนด์ต้องการขยายพื้นที่ร้าน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้เช่าต่อการเติบโตของภูเก็ตและการทำงานของศูนย์ฯ
วิไลพรกล่าวต่อว่า ปัจจุบันพื้นที่ร้านค้าระดับลักชัวรีหรือ “Luxury Zone” มีทั้งหมด 2,000 ตารางเมตร แต่ศูนย์ฯ ตั้งเป้าจะขยายเป็น 4,000 ตารางเมตรภายในสิ้นปี 2567 และเพิ่มเป็น 8,000 ตารางเมตรภายในปี 2569 หรือขยายเพิ่มขึ้น 4 เท่า
แน่นอนว่าจำนวนแบรนด์จะเพิ่มจาก 14 แบรนด์เป็น 30 แบรนด์ ประเดิมเดือนสิงหาคมนี้ต้อนรับการมาของ “PRADA” ส่วนแบรนด์อื่นๆ อยู่ระหว่างเจรจา แต่แย้มว่าจะมีแบรนด์หรูหมวด “เครื่องประดับ” เข้ามาแน่นอนเพราะปัจจุบันยังเป็นหมวดที่ขาดไปในศูนย์ฯ
การขยายพื้นที่ร้านลักชัวรีของเซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้าจะมีการ ‘relocate’ ปรับการวางร้านค้าในศูนย์ฯ โดยขยับแบรนด์ที่เป็นกลุ่ม ‘Accessible Luxury’ เช่น COACH, Kate Spade ขึ้นไปที่ชั้น 2 ทั้งหมด เพื่อทำให้ชั้น 1 เป็นพื้นของสินค้าระดับลักชัวรีเท่านั้น รวมถึงจะมีการปรับขยายพื้นที่เช่าในศูนย์ฯ ให้ใหญ่ขึ้นด้วย
วิไลพรกล่าวถึงทราฟฟิกของเซ็นทรัล ภูเก็ตรวม 2 ฝั่งมีลูกค้าใช้บริการ 80,000-100,000 คนต่อวัน เฉพาะฝั่งฟลอเรสต้ามีทราฟฟิกถึงวันละ 50,000 คน
ฝั่งฟลอเรสต้าจะเน้นกลุ่มลูกค้าต่างชาติมากกว่า โดย 70% ของยอดขายมาจากต่างชาติที่บินมาพักผ่อนและที่อาศัยอยู่ประจำ (expat) สัญชาติหลัก ได้แก่ รัสเซีย ตะวันออกกลาง จีน ยุโรป อเมริกัน
ส่วนอีก 30% เป็นคนไทย ครึ่งหนึ่งคือคนภูเก็ตเอง และอีกครึ่งหนึ่งคือคนกรุงเทพฯ ที่มีธุรกิจในภูเก็ตหรือมีบ้านพักตากอากาศทำให้บินมาพักบ่อยครั้ง
ถ้าถามว่าทำไมต้องมาช้อปแบรนด์เนมถึงภูเก็ต? นอกจากเป็นกิจกรรมระหว่างพักผ่อนของเศรษฐีแล้ว ทางเซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้ายังมีการเสริมบริการที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดกลุ่ม “วีไอพี” ให้เลือกช้อปกันศูนย์ฯ มากกว่าบินไปกรุงเทพฯ หรือไปประเทศอื่น เช่น มีพนักงาน “Personal Assistant” คอยบริการถือถุงช้อปปิ้ง ช่วยจองสินค้าที่ต้องการไว้ให้ก่อน มีเลาจน์ไว้บริการ ทำให้ได้ประสบการณ์ที่ดี
ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าวีไอพีของ เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า มีประมาณ 2,300 คน มีทั้งลูกค้าที่ได้รับเชิญจากการคัดเลือกโปรไฟล์ และลูกค้าที่เป็น “Top Spender” บางรายมียอดซื้อหลักล้านบาทต่อปี
ตั้งแต่หลังโควิด-19 สงบลง “ภูเก็ต” กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เนื้อหอมยิ่งกว่าที่เคย วิไลพรกล่าวว่าภูเก็ตทำรายได้จากการท่องเที่ยวไป 3.8 แสนล้านบาทเมื่อปี 2566 และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 4.5 แสนล้านบาทในปี 2567 ถือเป็นแหล่งทำเงินด้านการท่องเที่ยวอันดับ 2 ของไทยรองจากกรุงเทพฯ
ในแง่อสังหาริมทรัพย์คือตัวชี้วัดว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามานั้นเน้น “คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ” เพราะระยะหลังภูเก็ตยิ่งเต็มไปด้วย “พูลวิลล่า” ราคาระดับร้อยล้านบาทต่อหลัง สนามกอล์ฟระดับโลก โรงเรียนนานาชาติ ท่าจอดเรือยอชต์ ฯลฯ ที่มีขึ้นเพื่อรองรับกำลังซื้อของมหาเศรษฐี
ดร.ณัฐกิตติ์มองว่า เสน่ห์ของภูเก็ตจะทำให้เอาชนะแหล่งช้อปปิ้งแบรนด์เนมอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ได้เพราะภูเก็ตครบครันกว่าในแง่ความเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีทั้งธรรมชาติ ไนต์ไลฟ์ สนามกอล์ฟ อาหาร บริการแบบไทย การมีศูนย์การค้าที่รวมแบรนด์เนมไว้ให้จึงช่วยเติมประสบการณ์ได้เหนือกว่า
หากมองภาพรวมตลาดสินค้าลักชัวรีทั้งประเทศไทย ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5.62% จนถึงปี 2571 ซึ่งจะทำให้ไทยแซงหน้าสิงคโปร์ในกลุ่มตลาดสินค้าลักชัวรีได้
]]>Leena Nair ผู้บริหารสูงสุดของ Chanel ได้กล่าวว่า เธอได้เดินทางไปยังประเทศจีนและพบว่าวัยรุ่นจีนนั้นยังสนใจในสินค้า Luxury อยู่ ขณะที่ Philippe Blondiaux ซึ่งเป็นผู้บริหารด้านการเงินของบริษัท ก็ได้กล่าวว่าตลาดแดนมังกรยังถือว่าเป็นตลาดสำคัญ
ปัจจุบัน Chanel มีสาขาในประเทศจีน 18 สาขา ซึ่งคู่แข่งบางรายมีหน้าร้านมากกว่าในระดับ 40-50 ร้าน แต่แบรนด์หรูรายนี้ก็เตรียมที่จะเปิดสาขาเพิ่ม ซึ่งหนึ่งในสาขาที่เปิดเพิ่มเติมมีไว้สำหรับลูกค้ากำลังซื้อสูงและต้องการความเป็นส่วนตัว รวมถึงการเปิดศูนย์ซ่อมสินค้าของบริษัทในเซี่ยงไฮ้
ทิศทางของ Chanel นั้นถือว่าสวนทางแบรนด์หรูหลายแบรนด์ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงด้านรายได้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนนั้นเติบโตช้ากว่าคาดไว้ ทำให้กำลังซื้อของเหล่านักช้อปของหรูลดลง หลายบริษัทเริ่มที่จะหารายได้ใหม่ๆ จากประเทศที่มีกำลังซื้อเติบโตสูงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย หรือแม้แต่ ตะวันออกกลาง
สำหรับผลประกอบการในปี 2023 ที่ผ่านมา Chanel มียอดขาย 19,700 ล้านยูโร เติบโต 16% เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมา โดยได้ผลดีจากยอดขายในทวีปเอเชียและยุโรปที่ยังเติบโต แม้ว่ายอดขายในสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัวลงก็ตาม
ตลาดสินค้าหรูนั้นกำลังปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่ลดลงทั่วโลกในข่วงที่ผ่านมา เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ลูกค้าของแบรนด์หรูเหล่านี้ต้องใช้จ่ายอย่างรัดกุม
ที่มา – Reuters
]]>ย้อนไปเมื่อ 7-8 ปีก่อน ถ้าเราไปเดินเล่นในสยามสแควร์จะได้เห็นวัยรุ่นตั้งแต่วัยมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย จนไปถึงคนทำงานกลุ่ม first jobber หอบหิ้ว “ถุงผ้าลายดอก” สีสันสดใสเดินกันเต็มสยาม ถุงผ้าสุดฮิตนั้นมาจากร้าน “Marimekko” (มารีเมกโกะ) แบรนด์ใหม่ในไทยแต่เป็นแบรนด์เก่าแก่ของฟินแลนด์ที่ “ธนจิรา กรุ๊ป” เป็นผู้ได้รับสิทธินำเข้า
“ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท ธนจิรา กรุ๊ป เล่าย้อนความเป็นมาว่า การเลือก “ถุงผ้า” มาเป็น ‘must-have item’ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเป็นกลยุทธ์ของบริษัทแม่ แต่เป็นการวางแผนทางการตลาดของธนจิราเอง
“เราพยายามตีโจทย์ความเป็น Marimekko ที่เด่นด้านลายพิมพ์สนุกสนานให้คนไทยได้เข้าใจก่อน โดยเราเริ่มจากสินค้าราคาไม่แพงมากเพื่อให้คนไทยเห็นแบรนด์ จึงเลือกเป็นถุงผ้าพิมพ์ลาย” ธนพงษ์กล่าว
ที่จริงต้นตำรับ Marimekko ในฟินแลนด์เป็นแบรนด์ที่เด่นเรื่องของใช้ในบ้าน เสื้อผ้าแฟชั่นถือเป็นเรื่องที่ตามมา แต่ในไทยธนจิรามองว่าคนไทย ณ ช่วงเวลานั้นสนใจด้านแฟชั่นมากกว่า จึงเลือกหมวดเสื้อผ้ามาเป็นสินค้าเรือธงในการทำตลาด
ถุงผ้าลายดอกอุนิกโกะของ Marimekko กลายเป็นสินค้ายอดฮิตได้จริงๆ จากความโดดเด่นของลายพิมพ์ที่เห็นที่ไหนก็จำได้ และธนจิรายังกระตุ้นการทำการตลาดแบบบอกต่อด้วยพลังแห่ง User-Generated Content (UGC) ใครที่ได้เป็นเจ้าของต่างก็ถ่ายรูปเจ้าถุงผ้าสุดน่ารักนี้ลงโซเชียลมีเดีย จนทำให้เกิดกระแสในหมู่วัยรุ่น และกลายเป็นประตูเบิกทางไปสู่ของชิ้นอื่นๆ ในร้าน
หลังจากปักหมุดในไทยได้สำเร็จ ขั้นต่อมาที่ธนจิรา กรุ๊ปผลักดันคือ “การเชื่อมโยง Marimekko บนโต๊ะอาหาร” เพราะอย่างที่บอกไปว่า แบรนด์นี้ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้า-กระเป๋าซึ่งฮิตในไทย แต่มีของใช้ในบ้านอีกหลายอย่าง เช่น ถ้วย ชาม แก้วน้ำ หมอนอิง
เมื่อกลางปี 2565 ธนจิรา กรุ๊ป จึงเปิด “Marimekko Kafé” ขึ้นที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เป็นลักษณะ pop-up café ที่มีที่นั่งพร้อมให้คนมาสัมผัสประสบการณ์ข้าวของเครื่องใช้ของแบรนด์ และตกแต่งด้วยบรรยากาศแบบสแกนดิเนเวียเพื่อตอกย้ำความเป็นฟินแลนด์ (ไม่ใช่ญี่ปุ่นที่ผู้บริโภคมักเข้าใจผิด!)
“Marimekko Kafé” แห่งนี้ถือเป็นแห่งแรกในโลก โดยทางธนจิราเป็นผู้นำเสนอไอเดียกับบริษัทแม่ด้วยตนเอง เพราะต้องการจะตอบโจทย์ของประเทศไทยได้ดีขึ้น
“เราจะเป็นธุรกิจที่ทำแค่ซื้อมาขายไปไม่ได้ เราต้องเพิ่มความเข้าใจในแบรนด์ แบรนด์ถึงจะมีคุณค่า ต้องทำให้ลูกค้าพอใจมากๆ ที่จะซื้อ พอใจที่จะเก็บรักษาแบรนด์นี้ไว้ในบ้านของเขา” ธนพงษ์กล่าว “เราจึงเลือกเปิดเป็นคาเฟ่ เพราะอาหารเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์เลี้ยงฉลองวันเกิดคนในครอบครัวไปจนถึงอีเวนต์ธุรกิจ ร้านอาหารจะเป็นมิติที่ทำให้ลูกค้าได้ใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้น”
กลยุทธ์ของธนจิราที่ใช้กับ Marimekko เป็นวิธีที่แบรนด์เนมระดับโลกหลายแบรนด์เคยใช้มาแล้ว เช่น Café Dior ในกรุงโซล หรือ Le Café V ของ Louis Vuitton ในโอซาก้า แบรนด์เหล่านี้ต่างใช้ร้านอาหารเป็นพื้นที่นำเสนอวิถีและไอเดียคอนเซ็ปต์ของแบรนด์นั้นๆ และเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้คนได้เข้ามารู้จักแบรนด์
ธนพงษ์กล่าวต่อว่า 1 ปีที่เปิด “Marimekko Kafé” สาขาแรก ผลปรากฏว่าสินค้ากลุ่ม Home Collection เติบโต ‘อย่างมีนัยสำคัญ’ ปัจจุบันยอดขายของแบรนด์ในไทยมีสัดส่วนมาจากเสื้อผ้า Ready-to-wear มากที่สุด 49% รองมาเป็นกระเป๋าและเครื่องประดับ 30% ตามด้วยเครื่องใช้ในบ้านหรือ Home Collection ที่มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 20% แล้ว
จากความสำเร็จของสาขาแรก ปี 2566 ธนพงษ์จึงประกาศการเปิดสาขาที่สองที่ “เอ็มโพเรียม” โดยครั้งนี้ยกระดับเป็นร้านอาหาร สามารถมาทานเป็นมื้ออาหารหลักได้ จากเดิมเน้นเป็นเครื่องดื่มและขนม รวมถึงเป็นการผนวกร้านอาหารเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของร้านขายสินค้าเลย จากเดิมเป็น pop-up ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าร้าน
ธนพงษ์กล่าวว่า โมเดลการประกบร้านอาหารเข้ากับร้านขายสินค้า เป็นไปได้ที่จะเปิดในสาขาอื่นๆ อีกแต่จะต้องได้พื้นที่อย่างน้อย 200 ตารางเมตรจากทางศูนย์การค้า ดังนั้น จะพิจารณาตามความเหมาะสม
ปัจจุบัน Marimekko มีทั้งหมด 13 สาขาในไทย มีสาขาในต่างจังหวัดสาขาเดียวที่ เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ Marimekko จะเปิดสาขาที่ 14 ที่ เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ แต่จะปรับเป็นสโตร์ขนาดเล็ก 60 ตารางเมตร ซึ่งลงจำหน่ายสินค้ากลุ่มยอดฮิตเป็นหลัก (ไม่มีคาเฟ่)
จากกลยุทธ์ทั้งหมดที่ธนจิรากรุยทางทำให้ขณะนี้ Marimekko ประเทศไทย สามารถทำยอดขายและมีสาขามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากญี่ปุ่น เอาชนะประเทศที่มีกำลังซื้อสูงอื่นๆ ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจีน ฮ่องกง ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้
เหตุนี้ธนจิรา กรุ๊ปจึงได้รับความไว้วางใจรับสิทธิจัดจำหน่ายแบรนด์ Marimekko ในอีกประเทศหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเป็น “สิงคโปร์” อีกหนึ่งประเทศกำลังซื้อสูงในแถบนี้ และเตรียมจะประกาศอย่างเป็นทางการในไตรมาส 4
ธนพงษ์กล่าวว่า รูปแบบร้านที่เป็นไลฟ์สไตล์ผสมผสานระหว่างร้านขายสินค้าที่เน้นแฟชั่นนำเข้ากับร้านอาหาร จะเป็นฟอร์แมตร้านที่นำไปใช้ขยายตัวใน SEA เพราะมองว่าน่าจะเข้ากับไลฟ์สไตล์คนภูมิภาคนี้ซึ่งมีความชื่นชอบและการใช้ชีวิตคล้ายกัน
กลยุทธ์ร้านอาหารนำทางเข้าหาแบรนด์ไม่ได้ใช้กับ Marimekko แบรนด์เดียวในเครือของธนจิรา ปีนี้ธนจิรา กรุ๊ปเพิ่งจะเปิด “Cath Kidston Tea Room” ขึ้นที่เซ็นทรัลเวิลด์ด้วย เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ธนจิราได้รับสิทธิจัดจำหน่าย และต้องการจะสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภคได้คุ้นเคยกันมากขึ้น
ปี 2565 ธนจิรา กรุ๊ป ทำรายได้ไปกว่า 1,200 ล้านบาท ส่วนปี 2566 ยังไม่สามารถเปิดเผยหรือคาดการณ์เป้ารายได้ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างยื่นไฟลิ่งเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยธนจิรา กรุ๊ปเป็นผู้นำเข้าแบรนด์ดัง ได้แก่ Pandora (แพนดอร่า), Marimekko (มารีเมกโกะ), Cath Kidston (แคท คิดสตัน) และเป็นเจ้าของแบรนด์ผ่านการควบรวมกิจการ คือ HARRN (หาญ) และ VUUDH (วุฒิ)
]]>ฮ่องกงเคยเป็นแหล่งช้อปปิ้งแบรนด์เนมยอดฮิตของเอเชีย สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ถึงปีละ 56 ล้านคนในช่วงก่อนเกิดโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันราคาค่าเช่าในย่านจิมซาจุ่ยกลับดิ่งลงถึง 41% เทียบกับก่อนเกิดโรคระบาด ตามข้อมูลของ Cushman & Wakefield บริษัทอสังหาฯ จนทำให้เมื่อปี 2022 ย่านนี้เสียบัลลังแชมป์ย่านรีเทลที่แพงที่สุดในโลกให้กับถนน Fifth Avenue ในเมืองนิวยอร์ก
Savills บริษัทที่ปรึกษาอสังหาฯ อีกรายหนึ่งรายงานว่า Canton Road ถนนช้อปปิ้งชื่อดังในย่านจิมซาจุ่ย มีอัตราพื้นที่ว่างสูงถึง 53%
“ค้าปลีกลักชัวรีส่วนใหญ่ไม่คิดว่าฮ่องกงจะกลับไปสู่จุดสูงสุดเมื่อปี 2014 อีกแล้ว” Simon Smith ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการวิจัยและที่ปรึกษาของ Savills Hong Kong กล่าว
“ถ้าคุณไปเดินย่านช้อปปิ้งวันนี้ในฮ่องกง คุณจะไม่เห็นคนมารอต่อคิวเข้าร้านแบรนด์เนมกันอีกแล้ว หรือถ้ามีก็น้อยมากๆ” Smith กล่าว
หลายแบรนด์เลือกปิดหน้าร้านในจิมซาจุ่ยไปแล้ว เช่น Tiffany, Valentino, Burberry ร้านเหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยแบรนด์อีกแบบหนึ่ง เช่น Adidas แบรนด์กีฬา
การปิดหน้าร้านแบรนด์เนมเกิดขึ้นหลังเหตุประท้วงเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและการปราบปรามของภาครัฐ หลังจากนั้นยอดขายแบรนด์เนมเริ่มตกต่ำลง เพราะจีนสั่งห้ามการเดินทางของคนจีนแผ่นดินใหญ่ไปยังฮ่องกง ซึ่งปกติกำลังซื้อจากจีนคือแรงขับเคลื่อนหลักของตลาดลักชัวรี และสถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีกเมื่อเผชิญกับโควิด-19 เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆ ก็ไม่สามารถเข้ามาช้อปปิ้งได้
ลักชัวรีแบรนด์มากมายขยายตัวเข้าไปเปิดร้านในจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงที่เกิดโควิด-19 โดยเฉพาะเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น “เกาะไห่หนาน” หรือเกาะข้างเคียงอย่าง “มาเก๊า” ก็กลายเป็นปลายทางใหม่ของแบรนด์เนม ทั้งสองหมุดหมายนี้ยังได้ประโยชน์จากนโยบายของจีนที่พัฒนาให้เป็นเกาะ “ปลอดภาษี”
“ฮ่องกงไม่น่าจะกลับไปสู่จุดที่เคยเป็นในทศวรรษที่แล้วได้อีก เพราะขณะนั้นฮ่องกงแทบจะเป็นจุดหมายเดียวที่คนจีนเลือกไปเพื่อช้อปแบบดิวตี้ฟรี” Nicolas Hieronimus ซีอีโอ L’Oreal กล่าวกับ Reuters “วันนี้พวกเขามีทางเลือกอีกมากมาย”
เมื่อโควิด-19 ปิดประเทศจีน และมีการพัฒนาดิวตี้ฟรีขึ้นมาทดแทน ทำให้ร้านค้าดิวตี้ฟรีในเกาะไห่หนานทำยอดขายพุ่งถึง 84% ในปี 2021 จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา Bain & Co ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยยอดขายลักชัวรีทั้งประเทศจีนซึ่งเติบโต 36%
ปี 2021 ประเทศจีนจึงมียอดขายสินค้าลักชัวรีในประเทศแตะ 4.71 แสนล้านหยวน (ประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท) เพิ่มเป็นเท่าตัวจากปี 2019 เทียบแล้วยังมากกว่ายอดขายรีเทลในฮ่องกงที่เคยขึ้นไปสูงสุดเมื่อปี 2013 ด้วยมูลค่า 4.94 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 2.17 ล้านล้านบาท)
เมื่อเข้าไปขายในจีนก็ขายดี ทำให้แบรนด์ลักชัวรีจึงหันมาเลือกเปิดหน้าร้านในจีนแผ่นดินใหญ่แทน เช่น Hermes ที่เปิดไปแล้ว 27 สาขาในจีน ปีนี้เพิ่งจะเปิดหน้าร้านใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมที่เมืองนานจิง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่ Saint Laurent แบรนด์ในเครือ Kering เพิ่งจะเปิดแฟลกชิปสโตร์สองแห่งแรกที่เซี่ยงไฮ้และปักกิ่งเมื่อปี 2019 นี้เอง
อย่างไรก็ตาม มุมมองอีกทิศทางหนึ่งก็เห็นว่า ฮ่องกงอาจจะยังมีความหวังในระยะยาวได้เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกกลับมาปกติ และการท่องเที่ยวกลับมา
อีกทั้งเสน่ห์ของร้านแบรนด์เนมในฮ่องกงยังคงเป็นหน้าร้านแบบแยกตึกเดี่ยวของแบรนด์นั้นๆ ซึ่งเป็นความรู้สึกพิเศษที่หาไม่ได้ในศูนย์การค้าของไห่หนาน จุดนี้อาจจะเป็นจุดที่เอาชนะใจผู้ซื้อได้โดยเฉพาะผู้ซื้อจากจีนแผ่นดินใหญ่เอง
]]>Joelle de Montgolfier หัวหน้าแผนกสินค้าหรูหราของบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ Bain and Company เปิดเผยว่า ก่อนเกิดโรคระบาด นักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวยุโรปเนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดแบรนด์สินค้าลักชัวรี่ โดย ชาวจีนคิดเป็น 1 ใน 3 ของการยอดขายสินค้าลักชัวรี่ในโลก และ ยอดขาย 2 ใน 3 เกิดขึ้นนอกประเทศจีน
โดยการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ทำให้ธนาคาร RBC ปรับคาดการณ์การเติบโตของตลาดลักชัวรี่โลกในปี 2023 ว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 11%
“การเปิดประเทศอีกครั้งของจีนเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สำคัญสำหรับตลาดสินค้าลักชัวรี่ในปี 2023″ ธนาคาร RBC กล่าว
อย่างไรก็ตาม Arnaud Cadart ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของผู้จัดการสินทรัพย์ Flornoy คาดว่า นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาจำนวนมาก แต่จะมีแนวโน้มมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 เพราะปัจจุบันโควิดยังคงแพร่ระบาดอย่างมากในจีน และยังส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก
ย้อนไปปี 2020 ตลาดลักชัวรี่นั้นไม่เติบโต เนื่องจากช็อกจากการระบาดของ COVID-19 แต่ผ่านไปเพียงปีเดียว ตลาดก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้มากกว่าก่อนที่เกิดการระบาด โดยการเติบโตดังกล่าวได้รับแรงหนุนจาก นักท่องเที่ยวสหรัฐฯ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์แข็ง นอกจากนี้ ยังได้แรงหนุนจาก นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนจะมีความสำคัญอย่างมากต่อตลาดลักชัวรี่ หากกระแสนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ชะลอตัวลง
]]>จากการประเมินของ มอร์แกน สแตนลีย์ เปิดเผยว่า ชาวเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเฉลี่ยต่อหัวมากที่สุดในโลก โดยในปี 2022 ที่ผ่านมาการใช้จ่ายในสินค้าหรูเติบโตขึ้นถึง 24% เป็น 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.6 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็น 325 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน (ราว 10,000 บาท) นั่นมากกว่าค่าใช้จ่าย 55 ดอลลาร์สหรัฐ และ 280 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ของชาวจีนและชาวอเมริกันตามลำดับ
การเติบโตของแบรนด์หรูในเกาหลีใต้นั้น เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ในช่วงไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์ของ Morgan Stanley อธิบายว่า ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้ซื้อชาวเกาหลีใต้นั้นได้รับแรงหนุนจากทั้ง กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้ต่อครัวเรือนของคนเกาหลีเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปี 2021 และ 76% ของรายได้ต่อครัวเรือนมาจากมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาสูงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2020
อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเกาหลีใช้เงินซื้อแบรนด์เนมก็คือ การแสดงถึงสถานะทางสังคม โดยในเกาหลีใต้นั้น การแสดงความมั่งคั่งถือเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยจากการสำรวจของ McKinsey พบว่ามีเพียง 22% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวเกาหลีเท่านั้นที่คิดว่า การอวดรวยโดยใช้แบรนด์เนมนั้นนิสัยที่ไม่ดี เทียบกับ 45% ของญี่ปุ่นและ 38% ของจีน
“คนดังในเกาหลีเกือบทั้งหมดต่างก็เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของแบรนด์หรู เพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค เช่น Fendi ที่ใช้ Lee Min-Ho, Chanel ที่ใช้ G-Dragon และ Dior ที่มี Rose แห่งวง Blackpink เป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งก็ช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า”
สำหรับภาพรวมของสินค้าลักชัวรี่ทั่วโลกในปี 2023 นี้ McKinsey คาดการณ์ว่า จะเติบโตประมาณ 5-10% โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการจากสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าปัจจุบัน ผู้บริโภคจีนจะใช้จ่ายกับสินค้าหรูน้อยกว่าเกาหลีใต้ถึง 6 เท่า แต่ตลาดเกาหลีใต้กับจีนนั้นมีความใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยเป็นเครื่องหมายแสดงสถานะ
“เราคาดว่าการเติบโตจะกลับมาหลังจากจีนฟื้นตัวจากโควิดในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะได้เห็นภายในไตรมาสแรก”
]]>เมื่อแฟชั่นไม่ใช่แค่เสื้อผ้า ทำให้แบรนด์ลักชัวรีหลายรายไม่ได้มีแค่ไลน์เสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือเครื่องสำอาง แต่ยังขยายไปเปิด “ร้านอาหาร” ด้วยเช่นกัน เพื่อใช้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสะท้อนนิยามหรือวิถีของแบรนด์
Positioning รวบรวม 5 ร้านอาหาร “แบรนด์เนม” ที่น่าสนใจ และเปิดอยู่ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อเสนอเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางระหว่างการท่องเที่ยวในปีหน้า
เริ่มกันที่ประเทศยอดนิยมของคนไทย “ญี่ปุ่น” มีร้านอาหารแบรนด์ BULGARI เครื่องเพชรชื่อดังจากอิตาลีถึง 2 ร้าน การตกแต่งภายในร้านออกแบบโดย Antonio Citterio สถาปนิกชาวอิตาเลียน และเชฟประจำร้าน Luca Fantin คือเชฟมิชลินสตาร์ 1 ดาว 11 ปีซ้อน
อาหารที่เสิร์ฟจะเป็นอาหารสไตล์อิตาเลียน แต่เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นของญี่ปุ่น เมนูเด็ดแนะนำโดยมิชลินไกด์คือ “ตัลโยลีนีที่ทำจากอูนิกับน้ำแครอต”
ร้านในโตเกียวตั้งอยู่ที่ กินซ่า ทาวเวอร์ นอกจากร้านอาหารแล้วจะมี BULGARI Ginza Bar และ Il Cioccolato ร้านช็อกโกแลตแฮนเมด อยู่ในตึกเดียวกันด้วย
ร้านอาหารและคาเฟ่ของแบรนด์ Louis Vuitton ตั้งอยู่ในชั้น 4 และรูฟท็อปของอาคารแฟลกชิปสโตร์ของแบรนด์ที่โอซาก้า เชฟผู้รับผิดชอบคือ โยสุเกะ ซูงะ อดีตลูกศิษย์ของ Joel Robuchon เชฟมิชลินสตาร์ 32 สมัย
ภายในร้านมีทั้งโซนคาเฟ่ และโซนร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งที่เปิดเฉพาะมื้อเย็น แนะนำควรจองก่อนเข้าไปทานอาหาร เนื่องจากที่นั่งมีจำกัด
คาเฟ่บนตึก Dior สีขาวสุดโดดเด่นที่ย่านกังนัม กรุงโซล ให้บริการโดย Pierre Herme เชฟขนมชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ตกแต่งในธีมที่สื่อถึงแบรนด์ Dior ทั้งร้าน รวมถึงในขนม-เครื่องดื่มบางชิ้นด้วย เช่น ลาเต้อาร์ต ช็อกโกแลต แน่นอนว่าร้านนี้ต้องเสิร์ฟมาการอง ขนมขึ้นชื่อของ Pierre Herme และอีกเมนูไม่ควรพลาดคือครัวซองต์
อีกหนึ่งคาเฟ่แบรนด์เนมในย่านกังนัม กรุงโซล ตั้งอยู่ชั้นล่างในตึก Hermes แฟลกชิปสโตร์ ภายในคาเฟ่จะใช้เครื่องจานชามจาก Hermes ทุกชิ้น ขนมในร้านมาจากฝีมือทีมงานเชฟชาวเกาหลี มีซิกเนเจอร์เมนูคือช็อกโกแลตรูปร่างโลโก้ตัว H ของแบรนด์
คาเฟ่ในธีมของ Vivienne Westwood แบบจัดเต็ม! การตกแต่งแบบผสมผสานสไตล์วินเทจเข้ากับโลกโมเดิร์น และผสมทั้งแฟชั่น ดีไซน์ และอาหารเข้าด้วยกัน ที่นี่เสิร์ฟทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน โดยเน้นอาหารอังกฤษต้นกำเนิดของแบรนด์นี้ คาเฟ่ตั้งอยู่ในย่านจิมซาจุ่ย ฮ่องกง
]]>ยอดขาย สินค้าลักชัวรี ทั่วโลกเติบโตเร็วกว่าที่เคย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย โดยได้แรงหนุนจากความต้องการของลูกค้าที่อั้นตั้งแต่ช่วงการระบาดของ COVID-19 โดยคาดว่ามูลค่าของตลาดลักชัวรีปีนี้จะเติบโต 22% ในปีนี้เป็น 3.53 แสนล้านยูโร (1.3 ล้านล้านบาท) จากปี 2564 ที่มีมูลค่า 2.90 แสนล้านยูโร (1 ล้านล้านบาท) และคิดว่าจะเติบโตเป็น 5.5-5.7 แสนล้านยูโร ภายใน 5 ปีข้างหน้า
“การบริโภคไม่ใช่แค่กลับมาอยู่ในระดับก่อนวิกฤต แต่เป็นการเกิดใหม่ของตลาด เนื่องจากเห็นการเติบโตของฐานผู้บริโภคอายุน้อย” Claudia D’Arpizio ผู้ร่วมวิจัยกล่าว
ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมสินค้าลักชัวรีเติบโตนอกจากที่อั้นมาจาก 2-3 ปีก่อนแล้ว อีกส่วนคือ ฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น โดย อายุเฉลี่ยของนักช้อปสินค้าลักชัวรีลดลงเรื่อย ๆ แม้ปัจจุบัน 50% ของนักช้อปจะมาจากกลุ่มอายุ 25-40 ปี แต่กลุ่ม Gen Z (12-25 ปี) คิดเป็นเกือบ 20% ของยอดขายสินค้าลักชัวรี และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ แบรนด์เองก็พัฒนาด้านการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียจนมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงการมุ่งเน้นประสบการณ์การช้อปปิ้งในช็อปของแบรนด์
ในส่วนของตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นตลาดที่แข็งแกร่งที่สุด แม้จะมีสัญญาณความอิ่มตัว โดยแต่ละตลาดเติบโตขึ้นประมาณ 1 ใน 4 โดยในตลาดสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะสูงถึง 1.13 แสนล้านยูโรในปีนี้ ในขณะที่ยุโรปเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกที่มียอดขาย 9.4 หมื่นล้านยูโร ส่วนตลาดรัสเซียที่กำลังทำสงครามกับยูเครนนั้น แทบจะไม่ส่งผลกระทบเพราะคิดเป็นเพียง 2% ของตลาดรวม
วิถีคนรวย! LVMH ขายดีสวนกระแสเศรษฐกิจ ดีมานด์กระเป๋า-เสื้อผ้าหรูแรงต่อเนื่อง
ส่วนกลุ่ม ผู้บริโภคชาวจีน ยังเป็นตัวขับเคลื่อนที่แข็งแกร่ง แม้ว่ามีผลกระทบจากการล็อกดาวน์ COVID-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ ทำให้น้ำหนักโดยรวมของพวกเขาก็ลดลงจากการเกิดขึ้นของตลาดใหม่ โดยก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่านักช้อปชาวจีนจะคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของตลาดภายในปี 2573 แต่ปัจจุบันคาดว่าจะลดลงเหลือ 40%
สำหรับเทรนด์สินค้าลักชัวรี่ที่มาแรง อาทิ กระเป๋าถือขนาดเล็กที่สำหรับผู้บริโภควัยรุ่น นอกจากนี้ แบรนด์ก็เริ่มทำราคาที่จับต้องได้มากขึ้นเพื่อสร้างความผูกพันกับแบรนด์ อย่างไรก็ตาม ภายในรายงานดังกล่าวไม่ได้ใช้เป็นข้อพิสูจน์ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่ายอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยพุ่งสูงขึ้นก็ตาม
]]>