แรงงาน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 18 Nov 2024 13:18:51 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ภายในปี 2028 “ฮ่องกง” จะขาดแคลนแรงงานกว่า 180,000 คน เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น https://positioningmag.com/1499327 Sun, 17 Nov 2024 09:30:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1499327 สํานักแรงงานและสวัสดิการของฮ่องกงมีการคาดการณ์ว่า เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคที่มีทักษะ เช่น ช่างบันไดเลื่อนและคนงานก่อสร้าง จะคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของการขาดแคลนทั้งหมด

โดยจากการศึกษาและเก็บข้อมูลในปี 2023 ในพื้นที่ 17 ภาคส่วนที่สําคัญ รวมถึงการรวบรวมมุมมองจากเจ้าของธุรกิจในอุตสาหกรรมมากกว่า 1,000 คน เพื่อกําหนดอุปสงค์และอุปทานของกําลังคนในอีก 5 ปีข้างหน้าของฮ่องกง มีการคาดการณ์ว่า

ปริมาณความต้องการด้านกําลังคนในฮ่องกง (อุปทาน) สูงถึง 3.56 ล้านคน และในปี 2028 ปริมาณความต้องการด้านกำลังคนจะสูงถึง 3.75 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้ฮ่องกงขาดแคลนแรงงาน จำนวนกว่า 180,000 คน รวมถึงมีการสันนิษฐานว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะเติบโต 3.2% ในแต่ละปี 

ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 260% เมื่อเทียบกับการขาดแคลนด้านกำลังคน 50,000 คนในปี 2023 สืบเนื่องจาก ฮ่องกงจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยภายในปี 2028 ผู้คนมากกว่า 2 ล้านคน หรือ 28% ของประชากรจะมีอายุ 65 ปีขึ้นไปซึ่งคาดว่าจะคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของผู้อยู่อาศัยในเมือง ทำให้ประชากรที่ทํางานจะลดลงในขณะที่อายุเฉลี่ยของคนงานจะเพิ่มขึ้น

โดยประชากรวัยทํางานที่มีอายุระหว่าง 15 – 64 ปี จะอยู่ที่ 4.6 ล้านคน คิดเป็น 63% ของประชากรทั้งหมดในฮ่องกง และอายุเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 50.2 ในปี 2028 จาก 48.3 ในปี 2023 และมีการตั้งข้อสังเกตว่า จํานวนคนที่มีอายุระหว่าง 35 44 ปีจะเพิ่มขึ้น 20,000 คนในปี 2023 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากนโยบายการสนับสนุนของรัฐบาลที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2022 

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของแรงงาน ได้แก่ การใช้ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ (AI) ระดับการศึกษาของแรงงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นและการปรับโครงสร้าง โดย Roy Chan Kwok-fai หัวหน้าหน่วยวิจัยของสํานักงานฮ่องกงกล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าความต้องการแรงงานจะลดลง 10% – 20% เนื่องจากการใช้ AI ในธุรกิจมากขึ้น

การขาดแคลนคน 180,000 คนรวมถึงช่างเทคนิคที่มีทักษะ คนงานในอุตสาหกรรมบริการ ผู้เชี่ยวชาญและผู้จัดการ และแรงงานด้วยตนเอง คิดเป็นประมาณหนึ่งในสามหรือคนจำนวน 60,000 คน ที่อยู่ในสายงานช่างเทคนิคที่มีทักษะ เช่น คนงานก่อสร้าง ช่างบันไดเลื่อน และช่างเทคนิคการบํารุงรักษาเครื่องบิน เป็นต้น

การขาดแคลแรงงานดังกล่าวทำให้รัฐบาลฮ่องกงวางแผนดึงดูดคนงานจำนวน 10,000 คน ที่มีอายุ 35 ปีหรือต่ำกว่าและไม่มีปริญญามาช่วยอุดช่องว่างด้านแรงงานในประเทศ และจะมีการเรียกร้องให้นายจ้างสํารวจวิธีแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มทักษะให้กับคนงาน ซึ่งการทบทวนกําลังคนในประเทศจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดในปี 2025 

Chau Siu-chung สมาชิกสภานิติบัญญัติภาคแรงงาน กล่าวว่า การนําเข้าแรงงานสําหรับอุตสาหกรรมเฉพาะที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานคน อาจเป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ดี แต่รัฐบาลก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องของปัญหาโครงสร้างที่ผลักดันคนงานในท้องถิ่นออกไปเช่นกัน จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ เช่น หากมีการให้เงินเดือนต่ำแต่ชั่วโมงการทำงานเยอะ และคนงานยังคงอยู่ภายใต้สภาพการทํางานที่ไม่ดี คนงานที่นําเข้าก็แทบจะไม่สามารถอยู่ต่อได้เช่นกัน

และ Chau Siu-chung ยังเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาเสถียรภาพการสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับสหภาพแรงงาน เมื่อมีการประเมินการขาดแคลนและพิจารณาการนําเข้าแรงงาน เนื่องจากจะทําให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจในงานและเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตการขาดแคลนแรงงานได้ดีขึ้น

“สิ่งที่สําคัญที่สุด คือฮ่องกงไม่สามารถพึ่งพาคนนอกได้ในระยะยาว เราต้องหาวิธีที่จะทําให้ธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีการขาดแคลนด้านกำลังคนเหล่านั้น มีข้อเสนอที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสําหรับประชากรที่อายุน้อย” Chau Siu-chung กล่าว

ด้าน Simon Lee Siu-po นักวิชาการด้านการเงินของฮ่องกง กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในเมืองเพียงเท่านั้น เพราะในเมืองก็มีการแข่งขันกับเศรษฐกิจของเมืองอื่นๆเช่นกัน เมื่อมีการนําคนงานเข้ามาแล้วไม่มีผลตอบแทนที่ดีพวกเขาก็อาจไม่อยู่ทำงานในเมืองนั้นต่อ หากพวกเขาพบโอกาสที่ดีกว่าในเมืองอื่น 

จึงเป็นการดีที่สุดที่จะช่วยให้แรงงานเหล่านั้นสามารถตั้งถิ่นฐานในเมืองได้ หากแรงงานเหล่านั้นได้ทํางานที่ฮ่องกงมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มผู้มีความสามารถระดับสูงเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาในกลุ่มและส่วนที่เหลือด้วย มิเช่นนั้นช่องว่างของการขาดกำลังคนกว่า 180,000 คนนี้ อาจคุกคามความสามารถในการแข่งขันของเมืองได้ในระยะยาว เนื่องจากธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนด้านแรงงานที่สูงและต้นทุนจะถูกโอนไปให้ผู้บริโภคแบกรับต่อในอนาคต

ที่มา : South China Morning Post 

]]>
1499327
ประชากรเยอะกว่าแล้วไง! จำนวนแรงงานของ ‘อินเดีย’ ยังตามหลัง ‘จีน’ อีกมาก คาดต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปีถึงตามทัน https://positioningmag.com/1446125 Fri, 29 Sep 2023 04:24:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1446125 แม้บริษัทผู้ผลิตหลายรายจะเริ่มทิ้ง จีน ไปหา อินเดีย สำหรับใช้เป็นฐานการผลิตสินค้า เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันอินเดียจะเป็นประเทศที่มี ประชากรมากที่สุดในโลก แต่กําลังแรงงานยังคงตามหลังจีนอีกเยอะ

ตามรายงานของ Oxford Economics พบว่า แม้ว่า อินเดียจะขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แต่สัดส่วนประชากรวัยทํางานของอินเดีย (อายุระหว่าง 15-64 ปี) คิดเป็นเพียง 51% ของประชากร ซึ่งยังน้อยกว่า จีน ที่มีสัดส่วนประชากรวัยทำงานถึง 76% โดยกว่าจำนวนประชากรวัยทำงานของอินเดียจะใกล้เคียงกับจีน อาจต้องใช้เวลาถึงปี 2040

“แม้ว่าจำนวนแรงงานของอินเดียจะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่การคาดการณ์ในปัจจุบันของเราชี้ให้เห็นว่า กําลังแรงงานของอินเดียจะยังคงน้อยกว่าของจีนจนถึงช่วงปี 2040”

นอกจากนี้ อินเดียยังมีประเด็นเรื่อง การจ้างงานแรงงานหญิง ที่ยังคง ต่ำกว่ากว่าจีน อย่างมีนัยสําคัญ โดยกําลังแรงงานหญิงของจีนอยู่ที่ 71% แต่ในอินเดียมีเพียง 25% เท่านั้น ขณะที่ประเทศกําลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีแรงงานหญิงจํานวนมากขึ้นใน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว ไทย และเวียดนาม ก็มีสัดส่วนมากกว่า 50%

ไม่ใช่แค่อัตราแรงงานที่ต่ำของอินเดียเท่านั้นที่ก่อให้เกิดปัญหา แต่ผลผลิตของแรงงานก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่ง โดยอินเดียยังมีปัญหาเรื่องที่ประชากร ขาดการศึกษาที่เหมาะสม และ มาตรฐานการดูแลสุขภาพของประเทศต่ำ โดยข้อมูลจาก World Economic Forum แสดงให้เห็นว่าอัตราการรู้หนังสือของอินเดียในปี 2018 อยู่ที่ 74% ซึ่งตามหลังจีนคิดเป็น 97%

“แม้ว่านั่นจะไม่ใช่ตัวเลขที่น่าตกใจ แต่คุณภาพการศึกษาของประเทศยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด ทำให้การเรียนการสอนของอินเดียในแถบชนบทหยุดชะงักไป ทําให้ความสามารถในการอ่านและการคํานวณของนักเรียนจํานวนมากของอินเดียล่าช้า”

ในส่วนของด้านสุขภาพ ตามรายงานในปี 2019 พบว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนอินเดียอยู่ที่ 70.9 ปี ในขณะที่ในประเทศจีนอยู่ที่ 77.7 ปี นอกจากนี้ อินเดียยังมีปริมาณแพทย์เพียง 7.3 คนต่อ 10,000 คน เทียบกับ 23.9 แพทย์ต่อ 10,000 คน ในประเทศจีน

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2060 ประชากรของอินเดียจะมีจำนวนราว 1.7 พันล้านคน ส่วนประชากรของจีนจะลดลงเหลือ 1.1 พันล้านคน

Source

]]>
1446125
ผลวิจัยจาก ‘MIT’ ชี้ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ 35% และลดเวลาทำงาน 14% https://positioningmag.com/1430373 Fri, 12 May 2023 09:11:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1430373 จากการประเมินของ World Economic Forum (WEF) ที่คาดว่าภายในปี 2570 ตำแหน่งงานลดลงจาก 83 ล้านตำแหน่ง เหลือ 69 ล้านตำแหน่ง เนื่องจากการมาของ AI ซึ่งจากการวิจัยล่าสุดของ MIT ก็แสดงให้เห็นว่า AI ก็เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้จริง แต่ไม่ใช่กับทุกตำแหน่งงาน

จากการวิจัยล่าสุดของ MIT และ Stanford ที่ประเมินผลลัพธ์ของพนักงานที่ทำงานกับ AI ในช่วงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า AI มีศักยภาพในการเพิ่มการผลิตได้ถึง 35% และลดเวลาที่พนักงานใช้ในการทำงานได้ถึง 14%

นอกจากนี้ การศึกษายังแสดงให้เห็นว่า พนักงานที่มีประสบการณ์การทำงาน 2 เดือนที่ใช้ AI นั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าพนักงานที่มีประสบการณ์ 6 เดือนที่ไม่สามารถเข้าถึง AI ได้ ซึ่งย้ำถึงความจริงที่ว่า AI สามารถสนับสนุนพนักงานที่ไม่มีประสบการณ์ให้บรรลุเป้าหมายด้านประสิทธิภาพการทำงานได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อทดสอบกับพนักงานที่มีประสบการณ์และใช้งานร่วมกับ AI พบว่า ผลบวกของการใช้ AI นั้นน้อยมาก และ งานขั้นสูงส่วนใหญ่ก็ยังเหมาะกับมนุษย์มากกว่า ดังนั้น AI จะเป็นส่วนเสริมในการทำงานซ้ำ ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะที่ซับซ้อน

แต่ด้วยความก้าวหน้าที่รวดเร็วของ AI เราอาจเห็นการเพิ่มขึ้นของการผลิต การประหยัดต้นทุน และผลประโยชน์อื่น ๆ ต่อประสิทธิภาพการทำงาน โดยทางมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียกำลังทำการศึกษาที่พิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของ AI เชิงกำเนิดในตลาดแรงงานและการใช้งานที่เป็นไปได้

เทคโนโลยี AI ดูเหมือนจะมีอนาคตที่สดใสในการผลักดันประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่ขาดประสบการณ์หรือผู้ที่เข้าใกล้ระดับเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือองค์กรต้องไม่มองข้ามความสำคัญของประสบการณ์ของมนุษย์และความเข้าใจในงานที่ทำอยู่

Source

]]>
1430373
ส่องแผนรับมือสังคมสูงวัยใน “เยอรมนี” หันมาใช้ “หุ่นยนต์” ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น https://positioningmag.com/1429137 Mon, 01 May 2023 10:02:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1429137 “เยอรมนี” เป็นประเทศที่มีอัตราผู้สูงวัยสูงที่สุดในสหภาพยุโรป ทำให้ต้องเริ่มนำ “หุ่นยนต์” เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น โดยมีการศึกษาพบว่าคนเยอรมัน “ไม่หวั่น” กับการนำหุ่นยนต์มาช่วยงาน และภาคธุรกิจมองว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาช่วยในลักษณะ “ไฮบริด” มากกว่าทดแทนคนได้ 100%

เมื่อไตรมาส 4 ปี 2022 สำนักงานสถิติรัฐบาลกลางเยอรมนี พบว่ามีแรงงานในระบบอยู่ 45.9 ล้านคน แต่ถึงแม้ว่าตัวเลขคนมีงานทำจะสูงที่สุดที่เคยมีมา แต่หอการค้าเยอรมนีก็ยังพบว่า บริษัทเยอรมันกว่าครึ่งหนึ่งยังหาแรงงานทักษะเข้ามาทำงานได้ยากมาก

“โอลาฟ ชอลซ์” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021 เคยประกาศแผน “Daring More Progress” ไว้แก้ปัญหานี้ โดยเป็นแผนที่จะมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งานในโลกธุรกิจให้มากขึ้น

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของเยอรมนีนั้นไม่น่าแปลกใจ เพราะเยอรมนีเป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยมากที่สุดในยุโรป ทำให้ทางออกของปัญหาก็จะเหมือนกับญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ คือ ต้องนำหุ่นยนต์และการสร้างระบบดิจิทัลเข้ามาทดแทนแรงงานและทำให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์เก็บถาดอาหาร เครื่องชำระเงินด้วยตนเองในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาใช้พูดคุยในการทำงาน ทุกอย่างจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในเยอรมนี

 

คนเยอรมันไม่หวั่น “หุ่นยนต์” แย่งงาน

แล้วการใช้หุ่นยนต์มากขึ้น ทำให้แรงงานเยอรมันกังวลมากแค่ไหน?

มีผลการศึกษาจาก Gallup เมื่อปี 2018 พบว่าคนเยอรมัน 37% เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีจะทำให้ประสิทธิผลในการทำงานเพิ่มขึ้น 62% มองว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีเพียง 1% ที่คิดว่าเทคโนโลยีจะทำให้การทำงานยิ่งแย่ลง

คนเยอรมัน 6% มองว่าการใช้เทคโนโลยีจะทำให้โอกาสการตกงานน้อยลง ในทางตรงข้าม คนเยอรมัน 10% คิดว่าเทคโนโลยีจะส่งผลให้พวกเขาเสี่ยงตกงานมากขึ้น ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่คิดว่าการใช้เทคโนโลยีจะ ‘ไม่มีผลอะไร’ ต่อความเสี่ยงตกงาน เห็นได้ว่าคนเยอรมันไม่ได้หวั่นกลัวเท่าไหร่นักว่า “หุ่นยนต์” จะมาแย่งงานทำ

ความจริงแล้วเยอรมนีเริ่มการใช้หุ่นยนต์มาไม่น้อยแล้ว โดยสต็อกหุ่นยนต์ที่มีในสหภาพยุโรปนั้นประมาณครึ่งหนึ่งนำมาใช้งานอยู่ในเยอรมนีนี่เอง และส่วนใหญ่ถูกใช้งานในภาคอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ แต่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม และผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็มีการใช้งานหุ่นยนต์สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน (ข้อมูลจากรายงานโดย คณะกรรมาธิการยุโรป)

 

นำมาใช้แบบ “ไฮบริด” ไม่ได้แย่งงานคนโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ภาพการทำงานในอนาคตคงไม่ใช่การปล่อยงานให้หุ่นยนต์หรือระบบดิจิทัลทำแบบ 100% เพราะหลายสายงาน ‘ลูกค้า’ ไม่มั่นใจที่จะให้เป็นเช่นนั้น

“ไม่มีใครยอมปล่อยให้หุ่นยนต์ตัวเดียวดูแลคุณย่าแน่นอน” นอร์มา สเตลเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์จาก German Bionic กล่าวกับสำนักข่าว CNBC โดยบริษัทนี้เป็นผู้ผลิตเครื่องมือถ่วงน้ำหนักให้กับแรงงานที่ต้องใช้แรงงานหนัก เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาบาดเจ็บจากการทำงาน

สเตลเลอร์กล่าวว่า ภาคบริการดูแลผู้สูงอายุจะได้ประโยชน์จากการนำหุ่นยนต์มาช่วยงาน เพราะปัจจุบันแรงงานคนในภาคธุรกิจนี้ขาดแคลนอย่างมาก

“เราจะเชื่อมสะพานที่ขาดหายด้วยการนำหุ่นยนต์มาใช้งานร่วมกับมนุษย์ แนวคิดของเราคือมนุษย์จะยังได้ใช้ทักษะของคนในด้านอารมณ์ความรู้สึกเพื่อดูแลผู้สูงวัย” สเตลเลอร์กล่าว

การใช้งานที่ยังต้องมีทั้งหุ่นยนต์และมนุษย์ทำงานร่วมกัน เป็นเพราะฝั่งผู้รับบริการหรือลูกค้าก็ยังไม่มั่นใจในหุ่นยนต์ โดยผลการสำรวจของ Gallup ถามความเห็นจากคนเยอรมัน 1,000 คน พบว่า คนส่วนใหญ่ 70% รู้สึกยังไม่ปลอดภัยที่จะนั่งในรถยนต์ไร้คนขับ

Amazon หุ่นยนต์เดินได้

ขณะที่ “คากรี เปลิแวน” ซีอีโอบริษัทให้บริการหุ่นยนต์ Robot4Work มองว่า การใช้หุ่นยนต์ทำงานจะทำให้มนุษย์มีเวลาไปทำงานที่ซับซ้อนมากกว่าได้

ที่สำคัญคือ หุ่นยนต์จะถูกใช้ทดแทนในตำแหน่งที่ใช้แรงกายหนัก ทำให้พนักงานที่อายุมากหน่อยยังสามารถทำงานต่อได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีระบุว่า ชาวเยอรมันอายุ 55-64 ปีที่ยังทำงานอยู่นั้นมีสัดส่วนถึง 71% ในปี 2021 และประเทศนี้กำลังจะเริ่มขยับอายุรับเงินเกษียณจาก 65 ปี เป็น 67 ปี ในเร็วๆ นี้ ทำให้อายุคนทำงานโดยเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน

“ในท้ายที่สุดแล้ว การนำหุ่นยนต์มาใช้งานในที่ทำงานคือการเพิ่มพูนประสิทธิภาพให้มนุษย์ ไม่ใช่มาแทนที่มนุษย์” เปลิแวนกล่าว

Source

]]>
1429137
‘TSMC’ พร้อมเปย์เงินเดือนกว่า 2 ล้านบาท เพื่อดึง ‘วิศวกร’ 6,000 คนเข้าบริษัท https://positioningmag.com/1422156 Tue, 07 Mar 2023 11:45:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1422156 แม้ว่ารัฐบาลไต้หวันคาดว่ายอดการผลิตชิปของประเทศจะลดลง 5.6% ในปีนี้ แต่บริษัทผู้ผลิตชิปอันดับ 1 ของประเทศและของโลกอย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing Co Ltd หรือ TSMC ยังคงควานหา วิศวกร มาเสริมทัพให้กับบริษัท พร้อมเปย์เงินเดือนกว่า 2 ล้านบาท

จากข้อมูลของบริษัท TSMC ได้เปิดเผยว่า บริษัทต้องการหาวิศกรใหม่ ๆ เข้ามาเสริมแกร่งให้กับบริษัท โดยเฉพาะวิศวกรไฟฟ้าหรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ โดยต้องมีการศึกษาตั้งแต่ระดับ ปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก จำนวน 6,000 คน โดยบริษัทพร้อมเปย์เงินเดือนให้กับวิศวกรที่มีการศึกษาระดับปริญญาโท 2 ล้านเหรียญไต้หวัน หรือกว่า 2.2 ล้านบาท/ปี

นับตั้งแต่ปลายปี 2022 บริษัทชิปหลายแห่งทั่วโลกได้กลับมาลงทุน หลังจากที่ทั่วโลกเจอปัญหาขาดแคลนชิป เนื่องจากมีความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ แต่ปัจจุบันความต้องการได้ลดลงและระดับสินค้าคงคลังสูงเนื่องจากการกักตุนของหลาย ๆ บริษัท ส่งผลให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อาจจะตกต่ำในปีนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ TSMC จึงมีแผนปรับลดการลงทุนในปี 2023 และคาดการณ์ว่ารายได้ในไตรมาสแรกจะลดลง แต่ TSMC ยังคงประกาศรับสมัครวิศวกร พร้อมคาดว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ทั้งนี้ ไต้หวันกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำเริ่มส่งผลกระทบ ทำให้รัฐบาลไต้หวันเริ่มมีแผนที่จะดึงแรงงานต่างชาติกว่า 4 แสนคน เข้าประเทศภายในปี 2573

Source

]]>
1422156
‘ไต้หวัน’ ตั้งเป้าดึงแรงงานต่างชาติกว่า ‘4 แสนคน’ เข้าประเทศภายในปี 2573 หลังเจอปัญหาอัตราเกิดต่ำ https://positioningmag.com/1419136 Tue, 14 Feb 2023 03:16:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1419136 ไต้หวัน ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าสนใจสำหรับตลาดแรงงานต่างชาติเนื่องจากปัจจุบัน ไต้หวันมีรายได้เฉลี่ยที่สูงกว่าเกาหลี เนื่อจากเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้เศรษฐกิจไต้หวันจะเติบโตดี ในขณะที่ประชากรประมาณ 23.4 ล้านคน ก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากอัตราการเกิดที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้รัฐบาลพยายามจะดึงดูดแรงงานต่างชาติเข้ามามากขึ้น

เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมา ไต้หวัน ได้เปิดเผยว่า ต้องการดึงดูดแรงงานต่างชาติ 400,000 คนภายในปี 2573 โดยไต้หวันมองหาแรงงานสำหรับทำงานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ บล็อกเชน การเงิน และพลังงานลมนอกชายฝั่ง โดยไต้หวันต้องการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะในหลายระดับ ตั้งแต่ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษระดับสูง, คนงานด้านเทคนิค รวมถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ 

“การดึงดูดผู้มีความสามารถระดับสูงให้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมของไต้หวันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยถึงมาตรการดึงดูดว่าจะออกมาในลักษณะใด แต่เมื่อเดือนที่แล้วคณะรัฐมนตรีของไต้หวันได้ อนุมัติร่างแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง 52 ฉบับ เพื่อให้แรงงานต่างชาติสามารถพำนักอาศัยได้ง่ายขึ้น ที่ผ่านมา ไต้หวันค่อนข้าง เข้มงวดกับแรงงานต่างชาติเป็นพิเศษ ขณะที่เหล่านักกศึกษาต่างชาติก็หวังว่าจะทำงานในไต้หวันหลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในไต้หวัน

ปัจจุบัน ไต้หวันมีชาวต่างชาติมากกว่า 5,300 คน ที่จัดอยู่ในประเภทผู้มีความสามารถระดับมืออาชีพมีคุณสมบัติภายใต้วีซ่า 3 ปีและโครงการใบอนุญาตทำงานแบบเปิดที่สร้างขึ้นในปี 2561

หนึ่งในสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ไต้หวัน พยายามจะดึงดูดแรงงานต่างชาตินั้นมาจาก จำนวนประชากรของประเทศลดลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้แรงงานในประเทศจะเริ่มหดตัว โดยจำนวนประชากรโดยรวมของเกาะ ลดลง 110,674 คนในปีที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์และการเสียชีวิตมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ขณะที่วัยเจริญพันธุ์ของไต้หวันคาดว่าจะ ลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในโลกภายในปี 2578 ตามที่สภาพัฒนาแห่งชาติระบุเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ภายในปี 2588 ก็ตาม

ไม่ใช่แค่ไต้หวันที่เจอปัญหาด้านแรงงาน แต่ยังมี ฮ่องกง จีนแผ่นดินใหญ่ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ซึ่งต่างก็ประสบปัญหาแรงงานในท้องถิ่นหดตัวเนื่องจากอัตราการเกิดต่ำ โดยฮ่องกงเองเพิ่งจะขยายเวลาการพำนักสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศเป็น 2 ปี พร้อมเสนอวีซ่าใหม่ 2 ปีแก่ผู้ที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านเหรียญฮ่องกง (318,000 เหรียญสหรัฐ) ต่อปี

“ฉันคิดว่าทุกคนกำลังแข่งขันเพื่อสิ่งเดียวกัน” อลิเซีย การ์เซีย-เฮอร์เรโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Natixis Corporate & Investment Banking ในฮ่องกง กล่าว

]]>
1419136
ไม่ต้องยื่น CV! “โรงแรม” ในยุโรปจ้างพนักงานไร้ประสบการณ์ แก้ปัญหา “ขาดคน” อย่างหนัก https://positioningmag.com/1391363 Tue, 05 Jul 2022 09:03:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1391363 สถานการณ์ “ขาดคน” ในอุตสาหกรรม “โรงแรม” และ “บริการ” ฝั่งยุโรปถือว่าสาหัสมาก ทำให้หลายบริษัท/ร้านค้ายอมจ้างพนักงานไร้ประสบการณ์ หรือกระทั่งไม่ต้องมี CV สมัครงาน และเริ่มทำงานได้เลยภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมขึ้นเงินเดือนเพื่อแย่งตัวบุคลากรกลับมาจากอุตสาหกรรมอื่น

เชนโรงแรมดังในยุโรปเริ่มว่าจ้างพนักงานที่ไม่มีประสบการณ์หรือกระทั่งไม่มีประวัติสมัครงาน (CV) เพื่อหาทางเติมคนให้ทันต่อความต้องการ ถือเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ภาคธุรกิจโรงแรมและบริการต้องเผชิญต่อจากวิกฤตโรคระบาด

พนักงานหลายพันคนออกจากอุตสาหกรรมโรงแรมและบริการไปอย่างถาวร นับตั้งแต่มีการล็อกดาวน์ช่วง COVID-19 หลายคนจากไปโดยไม่หันหลังกลับเพราะสามารถหางานในอุตสาหกรรมอื่นได้แล้ว โดยได้รับรายได้ที่ดีกว่าเดิม ทำให้ภาคบริการ “ขาดคน” อย่างรุนแรง

 

ไม่ต้องดู CV ผู้อพยพก็ยินดีรับ

เพื่อแก้ปัญหานี้ “เซบาสเตียน เบซิน” ซีอีโอของ Accor บริษัทด้านโรงแรมและบริการที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป เริ่มทดลองรับคนเข้าทำงานแม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่มีประสบการณ์มาก่อน โดยเขาระบุว่า บริษัทมีการบริหารโรงแรมแบรนด์ต่างๆ เช่น Mercure, ibis, Fairmont อยู่ใน 110 ประเทศทั่วโลก และรวมๆ แล้วทั่วโลกขาดแคลนพนักงานอยู่ถึง 35,000 คน

Mercure Lyon Centre Beaux Arts Hotel

 

“เราเริ่มทดลองแล้วในลียงและบอร์กโดซ์ (ประเทศฝรั่งเศส) เมื่อ 10 วันก่อน สุดสัปดาห์นี้เราจะมีการสัมภาษณ์งานโดยไม่ต้องยื่นประวัติสมัครงาน ไม่ต้องมีประสบการณ์การทำงาน และผู้ที่ได้งานจะเริ่มงานได้เลยภายใน 24 ชั่วโมง” เบซินกล่าวบนเวที Qatar Economic Forum ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2022

ในระยะสั้น Accor ฝรั่งเศสจะเติมคนที่ขาดด้วยกลุ่มหนุ่มสาวและผู้อพยพ ระหว่างที่บริการต่างๆ ก็อาจจะยังมีอย่างจำกัดไปก่อน

“นักเรียนนักศึกษาและผู้อพยพจากทวีปแอฟริกาเหนือ (ที่บริษัทจะจ้างงาน)” เบซินกล่าว “และจะต้องปิดบริการร้านอาหารในช่วงกลางวัน หรือเปิดบริการได้แค่ 5 วันต่อสัปดาห์”

ผู้ที่ได้งานใหม่จะมีเวลาเทรนนิ่งเพียง 6 ชั่วโมงและต้องเรียนรู้จากการทำงานจริงเลย

 

ขึ้นค่าแรง มีที่พักฟรี เพื่อดึงดูดบุคลากร

ในสเปนและโปรตุเกสก็เช่นกัน ช่วงก่อนเกิดโรคระบาดทั้งสองประเทศนี้พึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 13% และ 15% ของจีดีพีตามลำดับ ปัจจุบันภาคบริการกำลังหาทางดึงดูดพนักงานด้วยการให้ค่าแรงเพิ่ม มีที่พักฟรี มีโบนัส และประกันสุขภาพ

โรงแรม ขาดคน
(Photo by Mikhail Nilov / Pexels)

“พนักงานหลายคนตัดสินใจย้ายไปทำงานในธุรกิจอื่นแล้ว ดังนั้นเราต้องเริ่มสร้างอุตสาหกรรมของเราขึ้นมาใหม่จากศูนย์ เราต้องสู้เพื่อดึงทาเลนต์มาให้ได้” เกเบรียล เอสคาร์เรอร์ ซีอีโอของเชนโรงแรม Melia กล่าว บริษัทของเขามีการให้ที่พักฟรี บางครั้งให้พักในโรงแรมเลย เพราะบ้านเช่าใกล้โรงแรมก็เต็มหมดแล้ว

โรงแรมขนาดเล็กกว่าก็ประสบปัญหาเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น Hotel Mundial ในลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ยังขาดพนักงานอีก 59 ตำแหน่ง และเกรงว่าโรงแรมจะรับแขกได้ไม่เต็มอัตรา หรือต้องตัดสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างในโรงแรมออก

“เรื่องนี้น่าเศร้าใจและตึงเครียดมากสำหรับอุตสาหกรรมที่ไม่มีรายได้เลยมาตลอดสองปี” ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ Hotel Mundial กล่าว

 

เปิดได้แค่สุดสัปดาห์ จากการใช้พนักงานพาร์ทไทม์

แรงงานในภาคร้านอาหารและบาร์ก็ขาดหนักเช่นกัน ตัวอย่างเช่นร้าน Tabanco de Jerez บาร์ในเมืองมาดริด ประเทศสเปน เปิดร้านได้แค่วันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะแรงงานที่มีมีแค่เด็กนักเรียนที่ต้องการทำงานเสริมในช่วงวันหยุดซึ่งไม่มีเรียน หรืออาจจะต้องเลือกอีกตัวเลือกหนึ่งคือผู้อพยพ เช่นเดียวกันธุรกิจโรงแรม

สมาคมฮอสพิทาลิตี้แห่งชาติระบุว่า อุตสาหกรรมร้านอาหารของสเปนขาดแคลนคนงานถึง 200,000 คน ส่วนภาคโรงแรมของโปรตุเกสขาดคนถึง 15,000 คนเป็นอย่างน้อย

 

ปัญหาเรื้อรัง โรงแรม-บริการจ่ายน้อยกว่า พนักงานหนีหาย

“ทางออกของเรื่องนี้ แน่นอนว่าเราจะต้องจ้างงานแพงกว่า” โฆเซ่ ลูอิส ซูเอล จากสมาคมภาคบริการเคเทอริ่งในสเปน กล่าวว่า บาร์และร้านอาหารสเปนมีการขึ้นค่าแรงมาเกือบ 60% แล้ว ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 เทียบกับปีก่อนหน้า แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังอยู่ที่ประมาณ 1,150 ยูโรต่อเดือนเท่านั้น (ประมาณ 42,500 บาท)

โรงแรม ขาดคน
(Photo by Rene Asmussen / Pexels)

ในโปรตุเกส เงินเดือนของพนักงานภาคบริการก็คาดว่าจะปรับขึ้น 7% ในปีนี้ จากการสำรวจโดยธนาคารกลางและสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่ก็เช่นกัน แม้จะขึ้นมาแล้วแต่ค่าเฉลี่ยเงินเดือนภาคบริการก็อยู่ที่ 881 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 32,600 บาท) สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำซึ่งอยู่ที่ 705 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 26,000 บาท) ไม่เท่าไหร่

เบซินจาก Accor ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันอัตราเข้าพักยังอยู่ที่ 60-70% ทำให้พนักงานยังพอจะรับมือไหว แต่ว่าถ้าหากโรงแรมถูกจองเต็ม ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงปลายกรกฎาคมถึงต้นสิงหาคมซึ่งเป็นหน้าท่องเที่ยว เมื่อนั้นจะต้องเกิดปัญหา

เบซินยังยอมรับเหมือนกับทั้งอุตสาหกรรมว่า ที่ผ่านมาธุรกิจนี้ไม่ได้พัฒนาบุคลากรมากพอและไม่ได้จ่ายค่าจ้างอย่างเพียงพอ “ครึ่งหนึ่งของปัญหาคือเราหูตามืดบอดมาตลอด เราไม่ได้ให้ความสนใจคนจำนวนมาก และมักจะจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรมานาน” เขากล่าว “ดังนั้น สถานการณ์ปัจจุบันคือสัญญาณปลุกให้เราตื่น”

ไทยเราก็มีปัญหาขาดคนในภาคธุรกิจโรงแรมและบริการเช่นกัน “ดวงพร พรหมอ่อน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจนี้เกิดปัญหาเดียวกับทั่วโลกคือบุคลากรเลือกที่จะทำอาชีพอื่นอย่างถาวร ทำให้ขาดแรงงานอย่างมาก แต่ในมุมกลับกัน นี่คือโอกาสสำหรับเด็กจบใหม่ที่อาจจะยังต้องแข่งขันสูงในธุรกิจสายอื่น แต่ในธุรกิจโรงแรมเปิดกว้างมากที่จะรับเด็กจบใหม่เข้างาน

Source

]]>
1391363
ตลาดแรงงานสหรัฐฯ แข่งเดือด! ‘Amazon’ อัดเงินเดือนเพิ่ม ‘เท่าตัว’ หวังดึงดูดคนเข้าบริษัท https://positioningmag.com/1373159 Tue, 08 Feb 2022 06:18:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1373159 Amazon (อเมซอน) บริษัทค้าปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ กำลังเพิ่มฐานเงินเดือนสูงสุดสำหรับพนักงานในองค์กรจาก 160,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็น 350,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี เนื่องจากตลาดแรงงานในปัจจุบันมีการแข่งขันสูง บริษัทจึงต้องปรับฐานเงินเดือนเพื่อดึงดูด

Amazon เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมปรับฐานเงินเดือนพนักงานออฟฟิศใหม่สูงสุดที่ 350,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากเพดานเดิมที่ 160,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว โดยฐานเงินเดือนดังกล่าว ไม่ใช่ค่าตอบแทนทั้งหมด ของบริษัท ซึ่งยังไม่รวม โบนัส นอกเหนือจากการขึ้นค่าจ้างพื้นฐานแล้ว Amazon ยังจะเพิ่มค่าตอบแทนโดยรวมสำหรับงานส่วนใหญ่ทั่วโลกอีกด้วย

“ปีที่ผ่านมาได้เห็นตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้น เพื่อที่จะคงความสามารถในการแข่งขัน เราจำเป็นต้องดึงดูดและรักษาผู้มีความสามารถระดับสูงไว้ เราจึงตัดสินใจที่จะเพิ่มจำนวนแรงงานของเราให้มากขึ้นอย่างมีความหมาย รวมถึงเพิ่มระดับค่าตอบแทนมากกว่าที่เราทำในปีปกติ” โฆษกของ Amazon กล่าว

จากรายงานของ Business Insider ที่อ้างถึงการสำรวจภายใน Amazon พบว่า การเปลี่ยนแปลงขององค์กรเกิดขึ้นเมื่อพนักงานของ Amazon เริ่มลาออกมาขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพวกเขามองว่า Amazon ให้ค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าตลาด ทำให้ค่าจ้างพื้นฐานได้ถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักสำหรับพนักงานที่ต้องการลาออกจากบริษัท

ยิ่งเมื่อการระบาดของ COVID-19 ทำให้คนงานมีอำนาจในการเรียกร้องผลประโยชน์และการจ่ายเงินที่ดีขึ้น บริษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องเสนอการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อดึงดูด เช่น การจ้างงานทางไกลหรือการทำงานแบบ Hybrid นั่นทำให้ Amazon และบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ยอมรับว่าการไม่เสนอผลประโยชน์เหล่านั้นอาจส่งผลเสียต่อความสามารถในการดึงดูดหรือรักษาผู้มีความสามารถไว้

ทั้งนี้ Amazon นั้นไม่ได้ติดอันดับ 1 ใน 7 ของผู้จ้างงานแรงงานด้านวิศวกรรมในปีที่แล้ว ตามข้อมูลของ Levels.fyi ซึ่งติดตามการจ่ายเงินในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีพบว่า ตำแหน่งวิศวกรระดับบนสุดของ Roblox สามารถทำเงินได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่วิศวกรใน Facebook สามารถทำเงินได้มากกว่า 900,000 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวนับรวมค่าตอบแทนทุกรูปแบบ ไม่ใช่แค่เพียงฐานเงินเดือน

Source

]]>
1373159
เรียกได้ว่า “หายนะ” ILO สรุปผลกระทบ COVID-19 ต่อ “แรงงานภาคท่องเที่ยว” ในเอเชีย https://positioningmag.com/1362927 Fri, 19 Nov 2021 08:51:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1362927 ILO สรุปผลกระทบจาก COVID-19 ต่อ “แรงงานภาคท่องเที่ยว” ในภูมิภาคเอเชีย นับได้ว่าเป็น “หายนะ” เฉพาะ 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และมองโกเลีย มีแรงงานภาคท่องเที่ยวลดลงรวมกันถึง 1.6 ล้านตำแหน่ง UN ระบุภาคท่องเที่ยวมีคนตกงานมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นถึง 4 เท่า

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า 5 ประเทศดังกล่าวคือ ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และมองโกเลีย มีแรงงานภาคท่องเที่ยวตกงานรวมกันถึง 1.6 ล้านตำแหน่ง

ขณะที่องค์การสหประชาติ (UN) ระบุว่า ใน 5 ประเทศนี้ แรงงานภาคท่องเที่ยวที่ตกงานจะคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของแรงงานตกงานทุกภาคธุรกิจรวมกัน สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของประเทศเหล่านี้ และได้รับผลกระทบมากเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไม่ได้

รายงานของ UN ยังระบุด้วยว่า แรงงานที่เกี่ยวกับภาคท่องเที่ยวเผชิญการตกงานมากกว่าแรงงานธุรกิจอื่นถึง 4 เท่า และผู้หญิงมักจะมีโอกาสตกงานมากกว่าผู้ชาย

หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต วันที่ 16 พ.ย. 2564

ชิโฮะโกะ อาซาดะ-มิยาวากะ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ ILO กล่าวว่า ผลกระทบจาก COVID-19 ต่อภาคท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ “ไม่สามารถใช้คำใดที่น้อยกว่าคำว่าหายนะได้”

“แม้ประเทศในภูมิภาคนี้จะเร่งฉีดวัคซีนและออกแบบกลยุทธ์เพื่อทยอยเปิดพรมแดน แต่ชั่วโมงทำงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก็น่าจะยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดต่อไปในปีหน้า” อาซาดา-มิยาวากะกล่าว

 

แรงงานท่องเที่ยวของไทยค่าจ้างลดลงเฉลี่ย 9.5%

ใน 5 ประเทศดังกล่าว บรูไนได้รับผลกระทบมากที่สุดในแง่จำนวนคนทำงานภาคท่องเที่ยวซึ่งลดลงถึง 40% แต่ถ้าวัดที่ชั่วโมงทำงาน ฟิลิปปินส์จะกระทบหนักที่สุด ชั่วโมงทำงานของแรงงานลดลงไป 38% ขณะที่เวียดนามกระทบด้านค่าจ้างแรงงานสูงสุด โดยลดลงเฉลี่ย 18%

ส่วนประเทศไทยนั้น ภาคท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 20% ของจีดีพีประเทศก่อนเกิดโรคระบาด ช่วงที่ผ่านมาเมื่อธุรกิจซบเซา ทำให้ค่าจ้างลดลงเฉลี่ย 9.5%

 

เอเชียฟื้นตัวช้ากว่าฝั่งตะวันตก

เอเชียยังฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาคฝั่งตะวันตกด้วย โดยข้อมูลจาก Capital Economics ระบุ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวขาเข้าของประเทศแถบเอเชียส่วนใหญ่ยังลดลง 99% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ขณะที่เม็กซิโกลดลงไปแค่ 20% และยุโรปใต้ลดลง 65%

สนามบินสุวรรณภูมิ วันที่ 13 พ.ย. 2564

World Economic Forum ระบุข้อมูลปี 2019 ว่า ปีนั้นมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเอเชียแปซิฟิก 291 ล้านคน ซึ่งสร้างเศรษฐกิจให้ภูมิภาคนี้ประมาณ 8.75 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ซาร่า เอลเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก ILO กล่าวว่า การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในอนาคตอันใกล้ จะบังคับให้ประเทศที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวต้องกระจายความหลากหลายในเชิงเศรษฐกิจ

“การฟื้นตัวต้องใช้เวลาและจะมีผลกระทบกับแรงงาน รวมถึงบริษัทต่างๆ ในธุรกิจท่องเที่ยวจะยังต้องการความช่วยเหลือเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป” เอลเดอร์กล่าว “รัฐบาลแต่ละประเทศควรจะยังมีนโยบายช่วยเหลือต่อไป ระหว่างที่มีการปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชากรรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย”

Source

]]>
1362927
The Great Resignation: แรงงาน “อังกฤษ” เกือบ 1 ใน 4 วางแผนลาออกเพราะ “หมดไฟ” https://positioningmag.com/1359430 Mon, 01 Nov 2021 05:42:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1359430 ไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ ที่เกิดกระแส ‘The Great Resignation’ แรงงานลาออกเปลี่ยนงานจำนวนมาก ใน “อังกฤษ” เองก็เช่นกัน โดยผลสำรวจพบว่าแรงงานเกือบ 1 ใน 4 วางแผนลาออกภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า สาเหตุจากตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นแล้ว และพนักงานเกิดอาการ ‘หมดไฟ’ ระหว่างทนทำงานในช่วงโรคระบาดหนัก

Randstad UK บริษัทจัดหางานในสหราชอาณาจักร ทำการสำรวจแรงงานกว่า 6,000 คน พบว่า แรงงาน 69% มีความมั่นใจที่จะเปลี่ยนงานใหม่ในไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยในจำนวนนี้มี 24% ที่วางแผนจะเปลี่ยนงานภายใน 3-6 เดือน

บริษัทกล่าวว่า ปกติแล้วบริษัทจะคาดการณ์การเปลี่ยนงานในแต่ละปีเฉลี่ยเพียง 11% ของแรงงานทั้งหมด ตัวเลขจากการสำรวจนี้จึงสูงกว่าปกติอย่างมาก

การลาออกของพนักงานและต้องหาพนักงานใหม่เป็นต้นทุนต่อผู้ประกอบการ โดยอ้างอิงข้อมูลวิจัยจาก Oxford Economics พบว่า กว่าที่แรงงานมีฝีมือที่จ้างมาใหม่จะทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุด ต้องใช้เวลาถึง 28 สัปดาห์ หากคิดเป็นต้นทุนที่เสียไปในช่วงเปลี่ยนพนักงาน เท่ากับต้นทุน 25,200 ปอนด์ต่อพนักงานหนึ่งคน

บริษัทจัดหางานจึงแนะนำลูกค้าว่า ควรจะเริ่มมองนโยบายการเพิ่มเงินเดือนหรือเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์อื่นๆ เพื่อรั้งตัวพนักงานฝีมือดีให้อยู่กับองค์กรต่อไป

แรงงาน อังกฤษ
(Photo : Shutterstock)

วิคตอเรีย ชอร์ต ซีอีโอ Randstad UK กล่าวว่า พนักงานส่วนหนึ่งที่อยากหางานใหม่เป็นพนักงานที่ไม่มีความสุขกับตำแหน่งที่ทำระหว่างเกิดโรคระบาดขึ้น

ส่วนปัจจัยอื่นๆ คืออาการ “หมดไฟ” และโรคระบาดทำให้คนเราเริ่มเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับชีวิต การงาน และสิ่งที่ตัวเองต้องการจากทั้งสองอย่างนี้ ทำให้คนเริ่มถอยกลับไปคิดทบทวนถึงชีวิตตัวเองมากขึ้น COVID-19 ย้ำเตือนให้พวกเขารู้สึกว่า ชีวิตนั้นสั้นนัก

งานวิจัยนี้ยังพบด้วยว่า มีแรงงานเพียง 16% ที่กังวลกับการพยายามหางานใหม่ โดยเฉพาะแรงงานในภาคการผลิต ก่อสร้าง เทคโนโลยี และโลจิสติกส์ ซึ่งมั่นใจว่าพวกเขามีโอกาสหางานใหม่ได้แน่ๆ

ในบางอุตสาหกรรมของอังกฤษเริ่มจะขาดแคลนแรงงานแล้ว ทำให้บางบริษัทเริ่มมีสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ดึงดูดพนักงาน เช่น เซ็นสัญญารับโบนัส 10,000 ปอนด์เมื่อเข้าทำงาน แต่บางบริษัทก็ยังไม่ขยับตัว ยังไม่มีแผนเพิ่มเงินเดือนใดๆ

หลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นในอังกฤษจนพนักงานมั่นใจหากจะลาออกเปลี่ยนงาน บริษัทถึง 60% ประกาศว่าจะเริ่มดึงพนักงานที่เคยถูกจ้างออกในช่วงโรคระบาดกลับมาทำงานใหม่ทั้งหมด และมี 30% ที่จะดึงกลับมาเกินครึ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้ตลาดแรงงานคึกคักมากในช่วงฤดูหนาวนี้ ข้อมูลจาก Lloyds Bank

Source

]]>
1359430