โออิชิ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 24 Jan 2023 07:55:10 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “โออิชิ” คัมแบ็ก! กำไรเกือบเท่าปี 19 เร่งขยายพอร์ตทั้ง “ชาเขียว-ร้านอาหาร” https://positioningmag.com/1416428 Tue, 24 Jan 2023 07:12:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1416428 หลังจากสถานการณ์ของ COVID-19 เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น ผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตปกติ ส่งผลให้หลายธุรกิจเริ่มฟื้นตัว รายได้เริ่มกลับมาเติบโต บางแห่งรายได้เริ่มกลับมาเท่าปี 2019 หรือช่วงก่อนที่เกิด COVID-19 โดยที่ “โออิชิ กรุ๊ป” มีผลกำไรกลับมาเท่าปี 2019 แล้วเช่นกัน ในช่วงปีที่ผ่านมามีการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ๆ และขยายพอร์ตให้ครบทุกเซ็กเมนต์

“ชาเขียว” ต้องจับทุกเซ็กเมนต์ ดันน้ำตาล 0%

ชาเขียวเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เป็นหัวใจสำคัญของโออิชิ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดมีการหดตัวไปบ้าง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังมีเครื่องดื่มอื่นๆ เข้ามาแย่งแชร์ แย่งความสนใจจากผู้บริโภคไปได้ แต่ในปี 2022 ตลาดเริ่มกลับมาสัญญาณบวกมากขึ้น มีการเติบโต 22% มีมูลค่าตลาดกว่า 13,228 ล้านบาท

สาเหตุที่ตลาดมีการเติบโตมากขึ้น เนื่องจากในตลาดมีการออกนวัตกรรมใหม่ๆ เซ็กเมนต์ใหม่ๆ อย่างชาเขียวระดับพรีเมียม ชาเขียวน้ำตาล 0% และมีทำกิจกรรมการตลาดต่อเนื่องทั้งปี ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่ช่วงฤดูร้อน

รวมไปถึงการเปิดเมือง เปิดเศรษฐกิจ คลายล็อกดาวน์ ผู้บริโภคเริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น หลายบริษัทให้พนักงานกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ เป็นการกระตุ้นการบริโภคมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโออิชิได้พยายามเปิดเซ็กเมนต์ใหม่ตามเทรนด์ผู้บริโภค อย่าง “ชาพรีเมียม” ภายใต้แบรนด์โออิชิ โกลด์ จับเทรนด์ผู้บริโภคที่ทานหวานน้อยลง และต้องการเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น รวมไปถึงเซ็กเมนต์อื่นๆ เพื่อจับผู้บริโภคระดับแมส อย่างชาผสมวุ้นมะพร้าว ชาผสมโซดา และในปีที่ผ่านมาก็ได้เปิดเซ็กเมนต์ “ชาน้ำตาล 0%” เพื่อรับกับเทรนด์ผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพมากขึ้นโดยเป็นการต่อยอดจากชารสชาติดั้งเดิมที่เป็นรสชาติขายดี

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

“ในปีที่ผ่านมาตลาดโตขึ้นจากปีก่อนๆ ส่วนหนึ่งเราพบว่ามีผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากดื่มน้ำเปล่า น้ำอัดลมมาดื่มชาเขียวมากขึ้น และโออิชิได้เปิดเซ็กเมนต์ใหม่น้ำตาล 0% ยิ่งช่วยทำให้ตลาดเติบโต โออิชิยังคงครองแชมป์เจ้าตลาดชาพร้อมดื่มหลังกวาดส่วนแบ่งตลาด 48% (ที่มา : NielsenIQ (ประเทศไทย) ตั้งแต่เดือนตุลาคม – กันยายน 2565) จากที่ 5-6 ปีก่อนเรามีส่วนแบ่งการตลาด 43%”

ในปี 2566 โออิชิได้เตรียม 4 กลยุทธ์หลักดังนี้

1) สื่อสารประโยชน์ของชาเขียว สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของคาเทชินที่มีในชาเขียวโออิชิทุกขวด เนื่องด้วยใบชานั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง มีสารคาเทชิน โดยเฉพาะยอดอ่อนใบชา 3 ใบ จากข้อมูลในหลายๆ งานวิจัยพบว่า คาเทชินทำหน้าที่ป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งสารอนุมูลอิสระนี้เป็นสาเหตุของการเสื่อมเสียต่างๆ และเป็นต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามอายุที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสดชื่น

2) ขยายฐานกลุ่มวัยรุ่น เพิ่มมูลค่าให้กับบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความผูกพันกับกลุ่มวัยรุ่น

3) ขยายเซ็กเมนต์น้ำตาล 0% สร้างการเติบโตให้กับสินค้ากลุ่มน้ำตาล 0% เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพ เช่น โออชิ ฮันนี่ เลมอน น้ำตาล 0% ที่ได้รับการตอบรับดีมากจากผู้บริโภคหลังจากเปิดตัวไปในปีก่อน รวมถึง โออิชิ โกลด์ ก็ยังคงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่รักสุขภาพ ผลิตจากใบชานำเข้าจากไร่ชามัตสึดะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รางวัล The Emperor’s Cup ชารางวัลจักรพรรดิญี่ปุ่นปี 2015 และรางวัลต่าง ๆ มากมาย

4) ขยายตลาดส่งออก โดยเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดหลัก คือ กัมพูชา ลาว และพม่า ตลอดจนสร้างโอกาสการเติบโตในตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน

แตกไลน์ร้านไม่ใช่บุฟเฟต์

ร้านอาหารก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่โออิชิมีมูฟเมนต์ค่อนข้างสูง ในช่วงปี 2565 ได้เปิดแบรนด์ใหม่ถึง 2 ร้าน ได้แก่ “โออิชิ บิซโทโระ” ร้านอาหารญี่ปุ่นจานด่วน และ “ชาบู บาย โออิชิ” ร้านชาบู ชาบูในรูปแบบอะลาคาร์ท รวมถึงมีการรีโนเวต “โออิชิ แกรนด์” โฉมใหม่ที่สายามพารากอน

เหตุผลที่โออิชิเปิดแบรนด์ใหม่เยอะมากขึ้น เพื่อเป็นการบาลานซ์พอร์ตร้านอาหารที่ไม่ใช่บุฟเฟต์ จะสังเกตว่าร้านอาหารในเครือโออิชิแม้จะมีครอบคลุมเกือบทุกเซ็กเมนต์แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบบุฟเฟต์ จนหลายคนมองว่าเป็นเจ้าพ่อร้านบุฟเฟต์ ทั้งโออิชิบุฟเฟต์, ชาบูชิ, โออิชิ แกรนด์ และโออิชิ อีทเทอเรียม

การมีร้านอาหารที่เป็นอาลาคาร์ท จะช่วยทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุมมากขึ้น หลากหลายขึ้น อีกทั้งยังขยายสาขาออกมานอกศูนย์การค้ามากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงถ้าเกิดสถานการณ์ล็อกดาวน์ และยังสามารถเปิดให้บริการได้เต็มที่ด้วย นอกเหนือจากเวลาทำการของศูนย์การค้า

“ในส่วนของธุรกิจร้านอาหารปีที่แล้วเปิดสาขาเพิ่ม 20 ร้าน มีแบรนด์ใหม่ 2 แบรนด์ โออิชิ บิซโทโระ และชาบู บาย โออิชิ เพื่อต้องการบาลานซ์พอร์ตที่ไม่ใช่มีแค่บุฟเฟต์ ในปีนี้ก็จะขยายสาขามากขึ้น ปรับโมเดลหลายอย่าง มีโมเดลไลท์ขึ้น อาจจะไซส์เล็กลง ไม่ต้องเข้าหัวเมืองใหญ่ เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น”

ในปีนี้โออิชิเตรียมขยายสาขาในเครือรวมทั้งหมด 30 สาขา จากแต่เดิมขยายสาขาเฉลี่ยปีละ 12-15 สาขา เนื่องจากบางร้านมีไซส์เล็กลง ทำให้ขยายสาขาได้เร็วขึ้น มีโมเดลที่หลากหลายขึ้น ไปในจังหวัดรองมากขึ้น

ส่วนโออิชิ บิซโทโระจะเป็นแบรนด์แรกในเครือที่จะเริ่มนำร่องในการขายแฟรนไชส์ ด้วยตัวร้านเป็นประเภทร้านอาหารญี่ปุ่นที่เน้นเมนูเข้าถึงง่าย ราคาย่อมเยา ทำให้ขยายสาขาได้ง่าย

ด้านธุรกิจอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน ในช่วงก่อนและหลังสถานการณ์แพร่ระบาด อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงพร้อมทาน ได้เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากขึ้น เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้มีคุณภาพ มีความสะดวกในการบริโภค และมีความหลากหลายของประเภทอาหาร บริษัทฯ จึงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสินค้าอาหารสำเร็จรูปฯ โดยชูจุดแข็งด้านรสชาติ คุณค่าโภชนาการ และคุณภาพ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของฐานตลาดผู้บริโภคและยอดขาย ประกอบกับการพัฒนาสินค้าทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนตามกระแสความต้องการของผู้บริโภค เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มและซอสปรุงรส (รวมทั้งน้ำซุปสุกี้ยากี้เข้มข้น), กลุ่มอาหารพร้อมทาน (ข้าวกล่องพร้อมรับประทาน) และกลุ่มหมูปรุงรส (หมูสับผสมข้าวโพดปรุงรส – แช่แข็ง)

กำไรกลับมาเกือบเท่าปี 2019

ด้านผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565) บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจให้กลับมาแข็งแรงได้ มีรายได้จากการขายทั้งสิ้นจำนวน 12,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,878 ล้านบาท เติบโต 29.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มจำนวน 7,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,042 ล้านบาท เติบโต 16.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และรายได้จากธุรกิจอาหารจำนวน 5,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,836 ล้านบาท เติบโต 51.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ในส่วนของกำไรสุทธิรวมของบริษัทฯ คิดเป็นจำนวน 1,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 654 ล้านบาท เติบโต 120% จากปีที่ผ่านมา มาจากการเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นมากเป็นหลัก และจากการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารที่ทำให้มีผู้บริโภคกลับมาใช้บริการที่ร้านมากขึ้น

นงนุชเผยว่าผลประกอบการในปีที่ผ่านมาเริ่มกลับมาฟื้นตัว มีผลกำไรเกือบเท่าปี 2019 หรือในช่วงก่อนที่มี COVID-19 ที่ตอนนั้นมียอดขาย 13,631 ล้านบาท และกำไร 1,251 ล้านบาท

]]>
1416428
“โออิชิ แกรนด์” พลิกโฉมครั้งใหญ่ จับ “โอมากาเสะ” มาอยู่ในรูปแบบบุฟเฟต์ https://positioningmag.com/1413192 Tue, 20 Dec 2022 08:21:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1413192 “โออิชิ แกรนด์” พอร์ตร้านอาหารญี่ปุ่นพรีเมียมในเครือโออิชิ กรุ๊ป พลิกโฉมครั้งใหญ่ในรอบ 8 ปี จับเทรนด์โอมากาเสะ ซูชิวัตถุดิบพรีเมียมมาอยู่ในไลน์บุฟเฟต์ เน้น Made to order เพื่อความสดใหม่ และลดขยะอาหาร พร้อมรีโนเวตเปลี่ยนโลเคชั่นใหม่

จับเทรนด์โอมากาเสะ อยู่ในไลน์บุฟเฟต์

อาหารญี่ปุ่นยังคงติดท็อปลิสต์อาหารยอดนิยมในดวงใจของคนไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่คนไทยได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว หรืออาหาร ย่อมเป็นที่โปรดปรานอยู่ในอันดับแรกๆ ส่งผลให้ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีผู้เล่นทั้งเชนร้านอาหารรายใหญ่ และร้านเล็กๆ อินดี้ทั้งหลายก็ลงมาจับตลาดนี้

ในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมากินเวลา 2 ปีกว่า ก็มีส่วนทำให้ร้านอาหารล้มหายตายจากไปค่อนข้างมาก ส่วนตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็จะเป็นร้านเล็กๆ ร้านในระดับแมส ส่วนเซ็กเมนต์ในระดับพรีเมียมไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ เพราะยังมีกลุ่มคนที่มีกำลังซื้ออยู่ อีกทั้งในช่วงที่หลายคนยังเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ ก็ใช้จ่ายเงินในการซื้อของ หรือทานอาหารที่พรีเมียมมากขึ้น เพื่อเป็นการให้รางวัลตัวเอง

ในช่วงปีที่ผ่านมาจึงเห็นเทรนด์ของ “โอมากาเสะ” เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในแง่ของผู้บริโภคเองก็ต้องการอาหารที่พรีเมียมขึ้น เลือกจากวัตถุดิบดีๆ อาจจะไม่ได้เน้นที่ความคุ้มค่าอย่างเดียวแล้ว ส่วนในแง่ของร้านอาหาร ก็ได้เห็นการเปิดใหม่มากขึ้นเช่นกัน เพื่อรับกับเทรนด์ผู้บริโภค

“โออิชิ กรุ๊ป” เป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ในตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น ในพอร์ตในร้านอาหารญี่ปุ่นเกือบครบทุกเซ็กเมนต์ ทั้งบุฟเฟต์ ปิ้งย่าง ชาบู ราเมน และข้าวหน้าต่างๆ เป็นต้น ในส่วนของเซ็กเมนต์พรีเมียมโออิชิ กรุ๊ปมี “โออิชิ แกรนด์” เป็นหัวหอกหลัก ยืนหยัดสาขาเดียวที่สยาม พารากอน เพื่อคงคาแร็กเตอร์ความพรีเมียม

โออิชิแกรนด์ทำตลาดมา 23 ปีแล้ว แรกเริ่มเดิมทีได้พื้นที่ตั้งอยู่ที่ “สยามดิสคัฟเวอรี่” หลังจากนั้นได้ทำการรีโนเวต รีแบรนดิ้งใหม่ พร้อมย้ายโลเคชั่นมาอยู่ที่สยามพารากอนได้ราวๆ 8-9 ปีแล้ว ในปีนี้ก็เป็นปีแห่งการโยกย้ายอีกครั้ง ได้ย้ายโลเคชั่นมาอยู่ในโซนฟู้ด พาสสาจ ชั้น 4 อยู่ในชั้นเดิม เพิ่มเติมคือเดินเข้ามาในโซนอาหารด้านในสุด ใช้เวลาปรับปรุงร้านประมาณ 3 เดือน

ทำเลใหม่นี้ทราฟฟิกอาจจะน้องกว่าที่เดิม เพราะต้องเดินเข้ามาด้านในเกือบจะถึงทางออกลานจอดรถ แต่เป็นช่วงที่ทางร้านหมดสัญญากับทางศูนย์พอดี อีกทั้งทางศูนย์ต้องการเพิ่มทราฟฟิกให้โซนฟู้ด พาสสาจ จึงอยากให้โอชิแกรนด์เป็นหนึ่งในแม็กเน็ตในการเพิ่มทราฟฟิกตรงนี้

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เริ่มเล่าว่า

“โออิชิ แกรนด์โฉมใหม่ จะไม่เหมือนแบบเดิม ยังคงเป็นบุฟเฟต์อยู่ แต่จะเป็นแนวอาลาคาร์ทบุฟเฟต์ เน้นที่คุณภาพ และความเป็นญี่ปุ่นแท้ พร้อมกับเราเห็นอินไซต์ของผู้บริโภคพบว่าเน้นอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น อยากกินของดี เน้นความยั่งยืน เลยเอาอินไซต์เหล่านั้นมาปรับปรุงร้านใหม่”

ไฮไลต์ของโออิชิ แกรนด์โฉมใหม่ก็คือ การจับเทรนด์ของโอมากาเสะที่กำลังได้รับความนิยม โดยนำวัตถุดิบเทียบเท่ากับซูชิระดับโอมากาเสะ มาอยู่ในไลน์บุฟเฟต์ นั่นก็คือสามารถสั่งโอมากาเสะได้แบบไม่อั้น

โออิชิ แกรนด์โฉมใหม่มีพื้นที่ 400 ตารางเมตร มีที่นั่งทั้งหมด 130 ที่นั่ง เล็กกว่าที่เดิมประมาณหนึ่ง ที่เดิมมีพื้นที่ 600 ตารางเมตร มีที่นั่งรวม 200 ที่นั่ง แต่ทางผู้บริหารบอกว่าที่ใหม่อาจจะเล็กกว่า แต่จะเทิร์นโอเวอร์ได้ดีกว่า เพราะที่เดิมโต๊ะจะเคลื่อนย้ายไม่ได้ฟิกซ์อยู่กับที่ เวลามีลูกค้ากลุ่มใหญ่ก็จะปรับยาก ส่วนที่ใหม่โต๊ะจะปรับได้สะดวกกว่า

เมนูที่นี่จะเน้นความวาไรตี้มากขึ้น มีเมนูรวมกว่า 200 รายการ โดยมีบุฟเฟต์ 3 ระดับ 3 ราคา

  • ระดับ PREMIUM Buffet : เมนูยอดนิยมรวมกว่า 140 รายการ ในราคา 1,059 บาท++
  • ระดับ PLATINUM Buffet : เมนูพิเศษ อาทิ ซูชิโฮตาเตะย่างซอสอูนิ ยากินิคุเนื้อวากิว หอยเชลล์ซอสมิโสะย่างใบโฮบะ ฯลฯ รวมกว่า 190 รายการ ในราคา 1,659 บาท++
  • ระดับ PRESTIGE Buffet : เมนูพิเศษ อาทิ ซูชิชูโทโร่คาเวียร์ กุนกันอูนิเนกิโทโร่คาเวียร์ ยากินิคุเนื้อวากิวญี่ปุ่น A4 ฯลฯ รวมกว่า 200 รายการ ในราคา 2,659 บาท++

โดยแต่ละระดับนั้นสามารถใช้บริการและรับประทานอาหารได้ไม่จำกัด ภายในระยะเวลาถึง 2 ชั่วโมงเต็ม ราคาเริ่มต้นถือว่าเพิ่มขึ้นจากที่เดิมซึ่งมีราคา 995 บาท เป็นราคาสุทธิแล้ว

Made to Order ลดขยะอาหาร

นอกจากที่โออิชิ แกรนด์ได้วางจุดยืนเป็นโอมากาเสะระดับบุเฟต์แล้ว ยังเป็นอาลาคาร์ทบุฟเฟต์ด้วย นั่นก็คือสามารถสั่งอาหารแบบ Made to Order เพื่อการปรุงอาหารแบบสดใหม่ ลดการวางอาหารที่เคาน์เตอร์บาร์ สามารถลดจำนวนของขยะอาหาร หรือ Food Waste ได้

“โออิชิ แกรนด์ที่เดิมจะเน้นปริมาณ มีความเป็นญี่ปุ่น และอินเตอร์เนชันนอลบุฟเฟต์ ส่วนโฉมใหม่จะเน้นที่คุณภาพ เน้นวาไรตี้ของอาหารของซูชิ และซาซิมิที่หลากหลายขึ้น ลูกค้าสามารถสั่งอาหารได้เมนูต่อเมนู ได้อาหารที่สดใหม่ อีกส่วนหนึ่งสามารถลดขยะอาหารที่เหลือโดยไม่จำเป็นจากบุฟเฟต์ด้วย” 

นงนุชยังเสริมอีกว่า แต่ความเป็นบุฟเฟต์ก็ยังไม่สามารถละทิ้งบาร์อาหารบุฟเฟต์ไปได้ เพราะอินไซต์ของคนที่มาทานบุฟเฟต์คือคนที่หิวจัด ไม่อยากรอนาน จำเป็นต้องมีเคาน์เตอร์วางอาหารบุฟเฟต์ 10% เป็นส่วนของซูชิ และอาหารทานเล่น ขนมหวาน ส่วนซูชิ ซชิมิแบบโอมากาเสะก็สามารถสั่งได้ ยังคงต้องใช้โมเดลแบบไฮบริด ไม่สามารถโละเคาน์เตอร์บุฟเฟต์ออกไปได้เลย

โออิชิ แกรนด์โฉมใหม่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา อาจจะยังประเมินได้ยากถึงเป้าหมายทั้งทราฟฟิกผู้ใช้บริการ และรายได้ อาจจะต้องทดลองตลาดสักพัก แต่ทางผู้บริหารเชื่อว่าคอนเซ็ปต์ใหม่จะได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากมีการปรับปรุงตามเทรนด์ผู้บริโภค อีกทั้งยังเน้นความยั่งยืนมากขึ้น

ปัจจุบันโออิชิ กรุ๊ปมีร้านอาหารในเครือที่ครอบคลุมเกือบทุกเซ็กเมนต์ ได้แก่

ร้านอาหารระดับพรีเมียม (ราคา 1,000 บาทขึ้นไป)

  • SAKAE (ซาคาเอะ)
  • HOU YUU (โฮว ยู)
  • OISHI GRAND (โออิชิ แกรนด์)

ร้านอาหารระดับพรีเมียม แมส (ราคา 700 บาทขึ้นไป)

  • OISHI EATERIUM (โออิชิ อีทเทอเรียม)
  • OISHI BUFFET (โออิชิ บุฟเฟต์)
  • NIKUYA By OISHI (นิกุยะ)
  • SHABU By OISHI (ชาบู บาย โออิชิ)

ร้านอาหารระดับแมส (ราคาไม่เกิน 500 บาท)

  • Shabushi By OISHI (ชาบูชิ)
  • OISHI RAMEN (โออิชิ ราเมน)
  • KAKASHI By OISHI (คาคาชิ)
  • OISHI BIZTORO (โออิชิ บิซโทโระ)

สำหรับผลประกอบการใน 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 มิถุนายน 2565) โออิชิ กรุ๊ปมีรายได้รวมทั้งสิ้น 9,362 ล้านบาท เติบโตเป็นจำนวน 1,724 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22.6% จาก 9 เดือนแรกของปีก่อน โดยเป็นรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่ม 5,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 689 ล้านบาท หรือ 14.6% และรายได้จากธุรกิจอาหาร 3,962 บาท เพิ่มขึ้น 1,035 ล้านบาท หรือ 35.4% ส่วนกำไรสุทธิรวม 1,011 ล้านบาท สูงขึ้นกว่า 485 ล้านบาท หรือ 92% จาก 9 เดือนแรกของปีก่อนจากทั้งธุรกิจเครื่องดื่มและธุรกิจอาหาร

]]>
1413192
“ไพศาล อ่าวสถาพร” บทบาทแม่ทัพ Bistro Asia ผู้พลิกจากขาดทุนเป็นกำไรใน 7 เดือน https://positioningmag.com/1404313 Fri, 14 Oct 2022 09:56:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1404313 ถ้าพูดถึงผู้บริหารในวงการร้านอาหาร ต้องมี “แซม ไพศาล อ่าวสถาพร” อยู่ในท็อปลิสต์อันดับต้นๆ จากเจ้าพ่อ “อาหารญี่ปุ่น” ในเครือโออิชิ ตอนนี้ได้พลิกบทบาทสู่อาณาจักรอาหารนานาชาติกับ Bistro Asia อีกหนึ่งธุรกิจร้านอาหารในเครือไทยเบฟเช่นกัน

เจ้าพ่ออาหารญี่ปุ่น สู่อาหารนานาชาติ

ก่อนอื่นต้องขอเล่าโครงสร้างธุรกิจของไทเบฟก่อนว่า หลักๆ จะมีธุรกิจใหญ่ 2 ส่วน ก็คือ เครื่องดื่ม และอาหาร ในเครื่องดื่มก็จะมีทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ทีนี้เมื่อรายหลักมาจากเครื่องดื่ม ก็ต้องมีธุรกิจอาหารเพื่อเป็นช่องทางในการขายเครื่องดื่มของตนเอง

ไทยเบฟเองมีธุรกิจอาหารภายในชื่อ Food of Asia มีแบรนด์ในเครือยักษ์ใหญ่มากมายทั้งสตาร์บัคส์, เคเอฟซี และโออิชิ กรุ๊ป เป็นต้น กลุ่มนี้มี “นงนุช บูรณะเศรษฐกุล” เป็นแม่ทัพใหญ่ กับตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจอาหาร ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

ทีนี้ไทยเบฟยังมีธุรกิจอาหารอีกกลุ่มก็คือ Bistro Asia เป็นร้านอาหารกลุ่มพรีเมียม เน้นอาหารกลุ่มไทย จีน และตะวันตก มีกลุ่มลูกค้าค่อนข้าง Niche มากๆ มีโลเคชั่นในจุดพรีเมียม เรียกว่าเป็นพอร์ตที่ตรงข้ามกับ Food of Asia ที่เน้นความแมสเป็นหลัก

Bistro Asia ได้ก่อตั้งมาได้ 4 ปีแล้ว ปัจจุบันมีร้านอาหารในเครือ 6 แบรนด์ ได้แก่ บ้านสุริยาศัย (BAAN SURIYASAI), ไฮด์ แอนด์ ซีค แอทธินี (HYDE & SEEK Athenee), หม่าน ฟู่ หยวน (MAN FU YUAN), โซ อาเซียน (SO Asean Café & Restaurant), สโมสรราชพฤกษ์ (Rajpruek Club) บริการจัดเลี้ยง และศูนย์อาหารฟู้ด สตรีท (Food Street)

ไพศาลเข้ามากุมบังเหียน Bistro Asia ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปี 2564 กับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสโตร เอเชีย จำกัด หลังจากอยู่กับโออิชิมาถึง 16 ปี กับตำแหน่งล่าสุดรองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา 1 ปีเต็มกับบทบาทใหม่

หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องช็อกวงการ กับการที่ไพศาลเป็นลูกหม้อของโออิชิมาตั้งแต่สมัยอยู่กับ “ตัน ภาสกรนที” มีภาพลักษณ์เป็นเจ้าพ่อร้านอาหารญี่ปุ่นมาตลอด แต่ได้เปลี่ยนบทบาทมาดู Bistro Asia ที่เป็นร้านอาหารแนวนานาชาติ แต่ไพศาลกลับบอกว่าการมาดูกลุ่มธุรกิจนี้แฮปปี้มาก เพราะจริงๆ แล้วเป็นคนชอบอาหารฝรั่งมากกว่า

“ด้วยความที่อยู่โออิชิมานาน หลายคนก็จะคิดว่าทำเป็นแต่บุฟเฟต์ ทำเป็นแต่อาหารญี่ปุ่น แต่จริงๆ แล้วเป็นคนชื่นชอบอาหารตะวันตกมากกว่า เติบโตมากับสายนี้ การย้ายมาทำตรงนี้เลยสนุกมาก”

ไพศาลยังเล่าต่ออีกว่า จุดเริ่มต้นของ Bistro Asia เกิดจากแนวคิดของคุณหนุ่ม ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหารของไทยเบฟเวอเรจ ที่อยากให้มีร้านอาหารหลากหลายแบรนด์ เพื่อให้มาซัพพอร์ตธุรกิจเครื่องดื่มมากขึ้น แล้วหาคนมาช่วยเติมเต็มดูแลธุรกิจนี้ได้ เลยมอบหน้าที่นี้ให้ไพศาล

ล้างขาดทุน ปั้นกำไรใน 7 เดือน

“ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่เริ่มจากติดลบ”

คนทำธุรกิจหลายคนอาจมองว่าการมาเริ่มทำธุรกิจให้ เป็นการเริ่มจากศูนย์ ต้องปั้นอะไรขึ้นมาใหม่ แต่สำหรับ Bistro Asia แล้ว ไพศาลถึงกับบอกว่าเริ่มจากติดลบ! มีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอด เพราะไม่มีการทำการตลาด สร้างแบรนด์ โปรโมชัน รวมถึงไม่มีทีมงานอีกด้วย

ไพศาลบอกว่าตอนแรกที่มาทำ 2 แบรนด์ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ บ้านสุริยาศัย และ HYDE & SEEK Athenee เพราะไม่มีลูกค้าเลย… ไพศาลใช้เวลาช่วง 3 เดือนแรกอยู่กับ 2 ร้านนี้เป็นหลัก สลับเข้าออก มีออกเมนูใหม่ๆ ทำโปรโมชัน พร้อมกับการตลาดกับ KOL ต่างๆ จนแบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

บ้านสุริยาศัย
บ้านสุริยาศัย

หลังจากที่ดูแลบ้านหลังนี้จนครบ 1 ปีเต็ม ไพศาลได้เผยผลประกอบการว่ามีการเติบโต 76% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อีกทั้งยังสามารถทำกำไรได้ภายในช่วงเวลา 7 เดือนเท่านั้น หลังจากที่มีตัวเลขขาดทุนมาตลอด โดยแบรนด์ที่สร้างรายได้ใหญ่ยังคงเป็นสโมสรราชพฤกษ์ เพราะเป็นธุรกิจค่อนข้างครบวงจรในการจัดเลี้ยง เป็นสโมสร ทำให้เม็ดเงินค่อนข้างสูง รองลงมาคือบ้านสุริยาศัย เป็นร้านอาหารสไตล์ Fine Dining คีย์หลักมาจากการขยายไลน์โปรดักส์ใหม่ๆ เช่น ของพรีเมียม เซตกระเช้าตามเทศกาลต่างๆ

ถามว่าไพศาลทำอะไรบ้างถึงได้พลิกกระดานจากขาดทุนเป็นกำไร มีตั้งแต่ทำเมนูใหม่ ปรับเมนูให้เข้ากับโลเคชั่น และกลุ่มเป้าหมาย ทำโปรโมชันใหม่ เน้นช่องทางเดลิเวอรี่มากขึ้น และเน้นไลน์สินค้าที่นอกเหนือร้านอาหารก็คือ ของขวัญพรีเมียมต่างๆ รวมไปถึงบริหารเชฟเทเบิ้ล จัดเลี้ยง และทำปิ่นโต

อย่างร้าน HYDE & SEEK Athenee ที่ไพศาลเป็นกังวลในช่วงแรก ด้วยโลเคชั่นอยู่กับโรงแรม Plaza Athenee เพลินจิต และอยู่ในโซนออฟฟิศ อีกทั้งโพสิชั่นของร้านไม่ค่อยชัดเจนว่าจะเป็นร้านอาหาร หรือร้านแฮงก์เอาต์ ทำให้ไม่ค่อยมีลูกค้าเท่าไหร่นัก จึงจัดเต็มด้านการตลาด ดึง Influencer เข้าร้าน และจัดโปรโมชัน “Brunch Buffet” ในช่วงวันศุกร์-อาทิตย์ ในราคาหัวละ 599 บาท เพื่อให้เกิดการลองทาน สร้างประสบการณ์ก่อน

ในปีนี้เตรียมขยายแบรนด์ใหม่อีกหนึ่งแบรนด์ เป็นร้านแนวตะวันตกพรีเมียม จะเปิดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

ส่วนแบรนด์อื่นๆ ยังคงมีการขยายสาขาใหม่ แต่ไม่เยอะมาก เพราะเน้นโลเคชั่นพรีเมียม ส่วนใหญ่จึงจะไปกับโครงการใหม่ๆ ของเครือไทยเบฟ ไม่ได้ขยายตามศูนย์การค้า โดยทั้งหม่าน ฟู่ หยวน, SO Asean และ HYDE & SEEK จะมีเปิดโมเดลใหม่ ซึ่ง HYDE & SEEK จะเปิดที่สีลม เอจ และศูนย์สิริกิติ์

ล่าสุดได้เปิดฟู้ด สตรีท สาขาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา บนพื้นที่ประมาณ  900 – 1,000 ตารางเมตร งบลงทุน 50 ล้านบาท มี 600 ที่นั่ง ในคอนเซ็ปต์ของ “ฟู้ด สตรีท” ดึงเอาจุดเด่นของสตรีทฟู้ดของไทย มาไว้บนฟู้ดคอร์ท ร้านอาหารจะมีความหลากหลายตั้งแต่ข้าวราดแกงไปจนถึงหูฉลาม ในราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 55 บาท ขึ้นไป

ที่ฟู้ด สตรีทมีการนำร้านอาหารที่ได้มิชลินสตาร์เข้ามาเปิดจำหน่ายในราคาย่อมเยา เข้าถึงง่าย โดยมีร้านที่ได้มิชลิน สตาร์ 2 ราย คือร้านเพ้ง คั่วไก่ และร้านราดหน้า 40 ปี ศาลเจ้าพ่อเสือที่ได้มิชลินสตาร์มา 2 ปีซ้อน โดยร้านค้าจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือร้านประจำ 18 ร้านค้า และอีก 8 ร้านค้าที่เป็นร้านค้าหมุนเวียนตามฤดูกาลซึ่งจะเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือน

สาขานี้ จะเป็นสาขาแรกที่นำระบบ Digital มาใช้ ผ่านรูปแบบของตู้คีออสก์ สามารถเลือกเมนูอาหาร และสั่งจากตู้แล้วไปรับที่ร้านที่เลือกไว้ได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเข้าคิวสั่งหน้าร้าน ตู้นี้ยังรองรับระบบการชำระเงินได้ทุกระบบทั้งแอปพลิเคชัน คิวอาร์โค้ด หรือระบบการชำระเงินชื่อดังของต่างประเทศทั้งอาลีเพย์ วีแชทเพย์ แรบบิทเพย์ และบัตรเครดิต

ปัจจุบันร้านอาหารในเครือ Bistro Asia มีสาขารวม 22 สาขา ได้แก่ สโมสรราชพฤกษ์ 1 สาขา, บ้านสุริยาศัย 1 สาขา, HYDE & SEEK 1 สาขา, So Asean 11 สาขา, หม่าน ฟู่ หยวน 4 สาขา และฟู้ดสตรีท 4 สาขา

ตอนนี้ไพศาลได้บรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่ง กับการพาบริษัทให้พ้นเส้นแดงกับการขาดทุนไปได้ เป้าหมายต่อไปกับการปั้นมูลค่าของบริษัทให้สูงขึ้น มีรายได้มากขึ้น ไพศาลบอกว่าเป้าหมายใหญ่คือ อยากมีรายได้เท่า “โออิชิ” หรือรายได้สัก 2,000-3,000 ล้านบาท อยากทำให้ได้ภายในปี 2025 ให้ได้

]]>
1404313
“โออิชิ” เปิดสูตร “น้ำตาล 0%” ท่าไม้ตายดึงผู้บริโภคกลับมาดื่มชาเขียว https://positioningmag.com/1386247 Mon, 23 May 2022 10:10:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1386247 เมื่อตู้แช่มีเครื่องดื่มมากขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น การปรับสูตรเพื่อตามเทรนด์ตลาดจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งในการดึงผู้บริโภค “โออิชิ” บุกเซ็กเมนต์ “น้ำตาล 0%” ชูจุดแข็งเรื่องสุขภาพ หวังกระตุ้นตลาดชาพร้อมดื่มให้กลับมาคึกคัก หลังเซอร์เวย์พบคนดื่มชาน้อยลง เพราะกังวลเรื่องน้ำตาล

ดักคนดื่มน้อย กระตุ้นเรื่องสุขภาพ

เมื่อตลาดชาเขียว หรือตลาดชาพร้อมดื่มไม่ได้หวือหวาเหมือนแต่ก่อน ตลาดไม่ได้ถูกไดรฟ์ด้วยโปรโมชันอีกต่อไป แต่ถูกขับเคลื่อนด้วยตัวสินค้า นั่นแสดงว่าผู้ซื้อคือผู้บริโภคที่ดื่มจริงๆ ไม่ได้ซื้อด้วยกลไกการตลาดเหมือนอย่างในอดีตที่ขับเคลื่อนด้วย “หวยชาเขียว”

แต่ก็ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าละเอียดขึ้น ยิ่งการมาของ COVID-19 ยิ่งทำให้ใส่ใจสุขภาพมากขึ้นอีกหลายเท่า ซึ่งนำไปสู่การแจ้งเกิดของเครื่องดื่มเซ็กเมนต์อื่นๆ เช่น น้ำผสมวิตามิน, วิตามินซี, น้ำสมุนไพร หรือเครื่องดื่มที่ชูจุดแข็งเรื่องสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น

ผู้บริโภคมีความคิดที่ว่า อย่างน้อยดื่มแล้วต้องได้คุณประโยชน์ นอกจากความสดชื่น จากเดิมที่แค่เลือกเครื่องดื่มเพื่อดับกระหายอย่างเดียว

ตลาดชาเขียวอาจจะได้ผลกระทบในทางอ้อม พบว่าในปีที่ผ่านมายังมีการเติบโตอยู่ แต่ในแง่ของพฤติกรรมผู้บริโภคมีการคิดเยอะมากขึ้น หลายคนเลือกดื่มน้อยลง เพราะกังวลเรื่องน้ำตาล

แต่เดิมโออิชิมีพอร์ตในกลุ่มของชาพรีเมียมแบรนด์ “โออิชิ โกลด์” ปัจจุบันมี 2 รสชาติ ได้แก่ โออิชิ โกลด์ วาโคฉะ และโออิชิ โกลด์ เก็นไมฉะ จะมีทั้งสูตรน้ำตาลน้อย และสูตรไม่มีน้ำตาล เป็นการจับกลุ่มเป้าหมายที่ชอบชาระดับพรีเมียม และรักสุขภาพ

แต่เมื่อโออิชิได้ทำการเซอร์เวย์แล้วพบว่า ผู้บริโภคเริ่มดื่มชาน้อยลง หรือหันไปดื่มอย่างดื่มมากขึ้น จึงต้องดันไม้เด็ดในการดึงผู้บริโภคเอาไว้ ด้วยการปรับสูตรชาเขียวในกลุ่ม Regular Tea หรือรสชาติปกติ ให้มีสูตรน้ำตาล 0% เพื่อดันตลาดแมสให้มีการเติบโต ประเดิมดึงรสชาติยอดนิยม “ฮันนี่เลมอน” เป็นน้ำตาล 0% ตัวแรก

เจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“สถานการณ์ COVID-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ชาพร้อมดื่มเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนไทย แต่ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้บริโภคดื่มชาน้อยลง จึงต้องปั้นนวัตกรรมใหม่ โดยที่เซ็กเมนต์น้ำตาล 0% เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ มาพร้อมความท้าทายคือ การทำให้ได้รสชาติอร่อยโดยไม่มีน้ำตาล เพื่อให้ดื่มได้อร่อยสดชื่นแบบไร้กังวล” 

ข้อมูลของ AC Nielsen ในเดือนเมษายน 2564 – มีนาคม 2565 พบว่าตลาดชาพร้อมดื่มมีมูลค่า 11,814 ล้านบาท หรือประมาณ 5% ของตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีอัตราการเติบโตสูงถึง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีการเติบโตติดลบ 3.3%

โออิชิ กรีนที ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 45% หรือคิดเป็น 5,443 ล้านบาท เติบโต 13% (ข้อมูลจาก AC Nielsen ไม่รวม on trade เดือนเมษายน 2564 – มีนาคม 2565) ห่างจากเบอร์ 2 อิชิตัน มีส่วนแบ่งตลาดราว 22%

ลุยเซ็กเมนต์ “น้ำตาล 0%”

ในปีนี้โออิชิได้สินค้าใหม่ “โออิชิ กรีนที ฮันนี่เลมอน น้ำตาล 0%” เป็นการประเดิมเซ็กเมนต์น้ำตาล 0% เป็นตัวแรก ได้เริ่มวางจำหน่ายไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พร้อมดึง “ต้าเหนิง กัญญาวีร์ สองเมือง” ตัวแทนคนรุ่นใหม่มาเป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรก

เจษฎากร เล่าเสริมว่า เหตุผลที่นำรสฮันนี่ เลมอนมาปรับสูตรเป็นตัวแรก เพราะเป็นรสชาติที่ขายดีที่สุด ครองสัดส่วน 70% ในกลุ่มของ Regular Tea เป็นรสชาติที่ขายดีตลอดกาล โดยใช้เวลาในการพัฒนาสูตรราว 1 ปี มีความยากตรงที่ในการปรับส่วนผสมให้กลมกล่อม โดยใช้สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล และใส่น้ำผึ้งแท้เฮียกขะมิทสึจากประเทศญี่ปุ่น

อีกทั้งการดึง “ต้าเหนิง” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพราะต้าเหนิงเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ เป็นไอดอลในเรื่องการดูแลสุขภาพ และเป็น Influencer ที่มีคนติดตามเยอะ

รสชาติฮันนี่เลมอนจะเป็นตัวประเดิมก่อนเป็นตัวแรก ถ้าได้รับผลตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี อาจจะปั้นเซ็กเมนต์น้ำตาล 0% เป็นพอร์ตใหญ่เลยก็ได้

ปัจจุบัน พอร์ตชาพร้อมดื่มโออิชิประกอบด้วย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Regular Tea มีสัดส่วน 65% กลุ่ม Fruit Tea มีสัดส่วน 5% กลุ่ม Nata De Coco (วุ้นมะพร้าว) มีสัดส่วน 16% กลุ่ม Sparkling Tea มีสัดส่วน 12% และกลุ่ม Premium Tea มีสัดส่วน 2% (ข้อมูล AC Nielsen เดือนเมษายน 2564 – มีนาคม 2565)

สำหรับผลการดำเนินงานของธุรกิจเครื่องดื่มของโออิชิในครึ่งปีแรกของปี 2564-2565 (วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565) มีรายได้จำนวน 3,443 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18.9% จากช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563-2564 (ข้อมูลจาก บมจ.โออิชิ กรุ๊ป ณ วันที่ 31 มี.ค 2565)

โดยธุรกิจเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์โออิชิยังครองอันดับหนึ่งในตลาดชาพร้อมดื่ม ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 45% (ข้อมูลจาก AC Nielsen ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 – มีนาคม 2565) ในตลาดต่างประเทศเป็นผู้นำตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา

]]>
1386247
โออิชิปั้นแบรนด์ OISHI BIZTORO อาหารญี่ปุ่นจานด่วน เน้นเมนูสั่งง่าย https://positioningmag.com/1377149 Fri, 11 Mar 2022 14:10:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1377149 โออิชิปั้นแบรนด์ใหม่ OISHI BIZTORO (โออิชิ บิซโทโระ) วางจุดยืนเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบริการด่วน เน้นเมนูสั่งง่าย ทานสะดวก ราคาย่อมเยา ประเดิม 2 สาขา

ในยุคของ COVID-19 ทำให้หลายธุรกิจไปต่อไม่ไหว ต้องปิดกิจการกันมากมาย แต่ก็มีบางธุรกิจที่เดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีโอกาสในตลาด อย่างธุรกิจอาหารที่มีการปรับตัว เปิดโมเดลใหม่ๆ เพื่อรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค และบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

“โออิชิ” หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอาหารญี่ปุ่น ยังคงเดินหน้าเปิดแบรนด์ใหม่เสริมพอร์ตร้านอาหาร ล่าสุดได้ปั้นแบรนด์ OISHI BIZTORO เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบริการด่วน เน้นเมนูสั่งง่าย กินสะดวก โดยเมนูแบ่งออกกลุ่มหลักๆ เป็น 3 กลุ่ม 1. เมนูเส้น หรือราเมน 2. เมนูข้าวหน้าญี่ปุ่น หรือดงบุริ 3. เมนูอาหารว่าง และของทานเล่น

ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 2 สาขา ได้แก่ สาขาเซ็นทรัล อยุธยา และสาขาเซ็นทรัล ศรีราชา เบื้องต้นเน้นการเปิดสาขากับศูนย์การค้าที่มีโอกาส เช่น ศูนย์การค้าที่เปิดให้บริการใหม่

ถ้าถามว่า OISHI BIZTORO มีความแตกต่างอย่างไรกับร้าน “โออิชิ ราเมน” และ “คาคาชิ” เนื่องจากมีเนูที่ใกล้เคียงกัน และราคาไม่ต่างกันมาก โดยทางโออิชิได้บอกว่า OISHI BIZTORO เน้นเมนูทานง่ายๆ เน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว ราคาคุ้มค่า

ยกตัวอย่าง ที่โออิชิ ราเมนจะมีเมนูพิเศษหลายเมนู แต่ที่ OISHI BIZTORO จะมีเมนูคลาสิก ราเมนอาจจะมีเพียงแค่เมนูที่ขึ้นชื่อเท่านั้น

ซึ่ง OISHI BIZTORO ก็จะมาเติมพอร์ตร้านอาหารในระดับแมส มีราคาไม่เกิน 500 บาท ปัจจุบันมี 3 แบรนด์ ได้แก่ ชาบูชิ, โออิชิ ราเมน และคาคาชิ

โออิชิเองมีร้านอาหารในเครือที่ครอบคลุมเกือบทุกเซ็กเมนต์ ได้แก่ จำนวนสาขาของร้านอาหารญี่ปุ่น เครือโออิชิ สิ้นสุด ณ ไตรมาส 1 ปีงบฯ 2565 (วันที่ 31 ธันวาคม 2564) ทั้งหมด 258 สาขา

ร้านอาหารระดับพรีเมียม (ราคา 1,000 บาทขึ้นไป)

  • SAKAE (ซาคาเอะ) ร้านชาบู ชาบู และสุกี้ญี่ปุ่น จำนวน 1 สาขา
  • HOU YUU (โฮว ยู) ร้านอาหารญี่ปุ่น ซูชิ/ซาชิมิหรือปลาดิบต่างๆ จำนวน 3 สาขา
  • OISHI GRAND (โออิชิ แกรนด์) ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบพรีเมียม บุฟเฟต์ จำนวน 1 สาขา

sakae oishi ซาคาเอะ

ร้านอาหารระดับพรีเมียม แมส (ราคา 700 บาทขึ้นไป)

  • OISHI EATERIUM (โออิชิ อีทเทอเรียม) ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์ จำนวน 9 สาขา
  • OISHI BUFFET (โออิชิ บุฟเฟต์) ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์ จำนวน 8 สาขา
  • NIKUYA By OISHI (นิกุยะ) ร้านปิ้งย่าง หรือยากินิกุตำรับโอซาก้าแท้ จำนวน 4 สาขา

ร้านอาหารระดับแมส (ราคาไม่เกิน 500 บาท)

  • Shabushi By OISHI (ชาบูชิ) ร้านชาบู-ชาบู ซูชิ บนสายพาน จำนวน 160 สาขา
  • OISHI RAMEN (โออิชิ ราเมน) ร้านราเมน จำนวน 53 สาขา
  • KAKASHI By OISHI (คาคาชิ) ร้านดงบุริ หรือข้าวหน้าญี่ปุ่น จำนวน 17 สาขา
  • OISHI BIZTORO (โออิชิ บิซโทโระ) ร้านอาหารญี่ปุ่น ราเมน และดงบุริ จำนวน 2 สาขา

ตลอดจน Grab & Go ที่มีโมเดลร้านของ “โออิชิ ทู โก” (OISHI to go) เข้ามาเติมเต็มความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่มองหาทางเลือกของอาหารที่รวดเร็ว และสะดวกสบาย และยังมี “โออิชิ ฟู้ด ทรัค” (OISHI Food Truck) สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

ล่าสุด บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2564-2565 (1 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2564) เติบโตทั้งรายได้และผลกำไร

  • รายได้รวม 2,982 ล้านบาท เติบ 11.8%
  • แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่ม 1,694 ล้านบาท เติบโต 14.5%
  • รายได้จากธุรกิจอาหาร 1,288 ล้านบาท เติบโต 8.5%
  • กำไรสุทธิ 389 ล้านบาท เติบโต 73.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
]]>
1377149
จับตา “พรีเซ็นเตอร์ภูธร” เพิ่มพลังแมสให้มากกว่าพรีเซ็นเตอร์ตัวท็อป https://positioningmag.com/1350164 Sat, 04 Sep 2021 13:59:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1350164 พรีเซ็นเตอร์ตัวท็อปของประเทศหลบไปก่อน ยุคนี้ต้อง “พรีเซ็นเตอร์ภูธร” แบรนด์ใหญ่พร้อมใช้เลือกศิลปินลูกทุ่งเป็นพรีเซ็นเตอร์มากขึ้น หวังเจาะใจลูกค้าต่างจังหวัด สร้างภาพลักษณ์ให้แมสมากขึ้น

ดาราเบอร์ใหญ่ไม่ตอบโจทย์ ยุคนี้ต้องเจาะเซ็กเมนต์

ถ้าพูดถึงศิลปิน หรือดารานักแสดงชื่อดังของไทย ที่ขึ้นแท่นพรีเซ็นเตอร์ของแบรนด์สินค้ามากที่สุด คงหนีไม่พ้นชื่อดาราเบอร์ใหญ่ๆ เช่น อั้ม พัชราภา, ชมพู่ อารยา, คิมเบอร์ลี่, ญาญ่า อุรัสยา, ณเดชน์ คุกิมิยะ, แพนเค้ก เขมนิจ, เก้า สุภัสรา, มาริโอ้ เมาเร่อ, ไบร์ท วชิรวิชญ์, ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก, เป๊ก ผลิตโชค, เบลล่า ราณี, เจมส์ จิรายุ และอื่นๆ อีกมากมาย

จะเห็นว่าแบรนด์ยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะแบรนด์ไทย หรือแบรนด์อินเตอร์ ย่อมต้องเคยมีโอกาสใช้พรีเซ็นเตอร์เบอร์ใหญ่ๆ ที่กล่าวมาทั้งสิ้น เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์น่าเชื่อถือ และสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว

แต่ในช่วงในกี่ปีมานี้ หลายแบรนด์เริ่มปรับกลยุทธ์ใหม่ เนื่องจากการทำการตลาดที่เหวี่ยงแห หรือการตลาดแบบแมส ไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าที่ควร ต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่

จึงได้เห็นกลายแบรนด์เริ่มจับพรีเซ็นเตอร์ที่เป็นกระแส ถึงแม้จะไม่เป็นที่รู้จักทั้งหมด แต่ก็สามารถสื่อสารกับคนบางกลุ่มได้อย่างดี เช่น BNK48 รวมไปถึงสินค้ากลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ก็จะเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์ตามกลุ่มเป้าหมาย จึงได้เห็นนักร้องลูกทุ่งเป็นพรีเซ็นเตอร์ในสินค้าระดับแมสมากขึ้น เช่น หญิงลี กับแบรนด์แจ๋ว, ถั่งเช่ายิ่งยง และโสมพลัส ที่เลือกใช้จินตหรา พูนลาภ

หรืออย่างแบรนด์มาร์เก็ตเพลสอินเตอร์อย่าง “ช้อปปี้” ก็ยังเลือกเจาะพรีเซ็นเตอร์ระดับแมสสไตล์ภูธร ในปีที่แล้วได้เลือก “แก๊ง 3 ช่า” หรือหม่ำ เท่ง โหน่ง เป็นพรีเซ็นเตอร์ ตามมาด้วยกิ๊ก สุวัจนี และล่าสุดกับแจ๊ส ชวนชื่น และเฉินหลง

“โออิชิ” ดึง “เบิ้ล ปทุมราช” ขยายฐานวัยรุ่นแดนอีสาน

แต่ไหนแต่ไรเราจะได้เห็นชาเขียว “โออิชิ” ทำตลาดที่จับกลุ่มวัยรุ่นมาโดยตลอด เพราะด้วยคาแร็กเตอร์ของแบรนด์ ทำให้เลือกพรีเซ็นเตอร์ที่มีความแมสยอดนิยมในตอนนั้นอย่างมาก เรียกว่าไม่ให้หลุดกระแสไปได้ ที่ผ่านมาจึงได้เห็นทั้งเป๊ก ผลิตโชค หรือจะเป็นคู่จิ้นคู่วายอย่าง “ไบร์ท-วิน”

รวมไปถึงเมื่อปี 2562 โออิชิได้ออกแคมเปญใหญ่ “โออิชิ รถสุดฮิพ ทริปสุดโอ” ได้กวาดพรีเซ็นเตอร์ถึง 10 คน กับ 10 หนุ่ม GMM ทีน ไอดอล นำทีมโดย คริส-พีรวัส และ สิงโต-ปราชญา ตามด้วย ออฟ-จุมพล อดุลกิตติพร, กัน-อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์, เต-ตะวัน วิหครัตน์, นิว-ฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ นนน-กรภัทร์ เกิดพันธุ์, ชิม่อน-วชิรวิชญ์ เรืองวิวรรธน์, ซิง-หฤษฏ์ ชีวการุณ และลี-ฐานัฐพ์ โล่ห์คุณสมบัติ

ในปีนี้โออิชิได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้ตัวเอง ด้วยการดึง “เบิ้ล ปทุมราช” นักร้องลูกทุ่งจากค่ายอาร์สยามขึ้นแท่นพรีเซ็นเตอร์คนล่าสุด เพื่อต้องการจับกลุ่มวัยรุ่นชาวอีสานให้มากขึ้น เปิดตัวแคมเปญ “โออิชิ พลัสซี x เบิ้ล ปทุมราช” พร้อมกลยุทธ์ Regional Music Marketing

เจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า

“เรายังต้องการเพิ่ม Penetration ขยายฐานกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นอีสานให้ได้มากขึ้น และข้อมูลจาก Youtube Thailand ยังพบอีกว่าเพลงลูกทุ่งอีสานกวาดอันดับ Top Trend VDO ยอดนิยมสูงสุดบนช่องทาง Youtube ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความนิยมของคนอีสานที่ชื่นชอบการฟังเพลงนั่นเอง ดังนั้นการเชื่อมโยงแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงอารมณ์และการเล่าเรื่องคงไม่มีอะไรตอกย้ำกลุ่มเป้าหมายได้ดีเท่าการนำดนตรี หรือมิวสิคมาร์เก็ตติ้งมาช่วยในการทำตลาด

ซึ่งมิวสิกมาร์เก็ตติ้งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่คลาสสิกสำหรับทุกยุค เพียงแค่เรานำมาปรับรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัยและผู้บริโภคโดยแคมเปญอีสานในครั้งนี้ เราเลือกเบิ้ล ปทุมราช นักร้องอันดับหนึ่งจากค่ายอาร์สยามที่มียอดวิวเพลงรวมกว่า 1,000 ล้านวิว และมียอดผู้ติดตามทาง Social Media มหาศาล มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ในครั้งนี้ได้จัดเต็มสื่อเอาต์ออฟโฮมจัดเต็มในพื้นที่อีสานกว่า 10จังหวัด”

แคมเปญนี้มาพร้อมกับเพลง และมิวสิกวิดีโอ พร้อมกับชิงโชคแจกทองคำแท่ง ส่งรหัสใต้ฝาผ่านแอปโออิชิคลับ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

“ไวไว” ก็ต้อง “เบิ้ล ปทุมราช”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ไวไว” เป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ไม่ค่อยได้ใช้กลยุทธ์พรีเซ็นเตอร์เท่าไหร่นัก ถ้าเทียบกับแบรนด์ “ควิก” เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ในเครือ ที่จะมีสีสันที่หวือหวากว่า

ในปีนี้ไวไวได้เปิดเกมหนักตั้งแต่ต้นปี ประกาศดึง “เบิ้ล ปทุมราช อาร์สยาม” เดินเกมพรีเซ็นเตอร์เพื่อสร้างการรับรู้ และกระตุ้นตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปด้วยการเปิดแคมเปญใหญ่ “ไวไวเข้มข้น จนต้องเบิ้ล” ชู 2 รสชาติยอดนิยม “ไวไว รสหมูสับ” และ “ไวไว รสหมูสับต้มยำ” เป็นตัวชูโรง

ยศสรัล แต้มคงคา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย เผยถึงไอเดียการทำตลาดในปี 64 ว่า

“นอกจากจุดแข็งเรื่องเส้นของไวไวที่ถูกปากคนไทย ตามสโลแกนเหนียวนุ่ม…ไม่อืด ไวไวยังมีจุดเด่นเป็นที่พูดถึงกันมาก ในเรื่องของรสชาติที่เต็มไปด้วยความเข้มข้น หอมอร่อยอย่างลงตัว ซึ่งในปีนี้ไวไวจะดึงเอาแนวคิด ความเข้มข้น มาตอกย้ำความชัดเจนด้วยการดึงศิลปินหนุ่มขวัญใจมหาชน เบิ้ล ปทุมราช อาร์สยาม มาร่วมงาน สร้างความเข้มข้นของรสชาติตระกูลหมูสับ หนึ่งในกลุ่มรสชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศ ให้เกิดภาพจำอีกหนึ่งจุดแข็งของไวไว ในสโลแกนใหม่ไวไวเข้มข้น จนต้องเบิ้ล”

เหตุผลที่เลือกเบิ้ล ปทุมราช มาเป็นพรีเซ็นเตอร์นั้น ยศสรัลบอกว่ามีความคล้ายคลึงกันระหว่าง เบิ้ล ปทุมราช อาร์สยาม กับ ไวไว หมูสับทั้ง 2 รสชาติแล้ว เบิ้ลยังมีอีกคาแร็กเตอร์อีกด้านที่ชัดเจนในความเป็นศิลปิน New Gen ที่มีความพยายามมุ่งมั่นตามฝัน ด้วยใจที่ไม่ย่อท้อ จนกลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง เป็นที่รักของชาวอีสาน และใช้ความสามารถสร้างผลงานที่เป็นที่ชื่นชอบของมหาชนทั่วประเทศ ซึ่งภาพลักษณ์เหล่านี้จะช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ ให้พร้อมรับประสบการณ์ความเข้มข้น กับไวไว หมูสับ รสชาติในแบบที่ใครก็ชื่นชอบ และพร้อมที่จะเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยทั่วไทย เหมือนกับ เบิ้ล ปทุมราช

“เลย์” คว้า “ครูเต้ย” เดินหน้าบุกอีสาน

ต้องบอกว่าที่ผ่านมา “เลย์” ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เลือกใช้พรีเซ็นเตอร์ในระดับท็อปๆ ที่อยู่ในกระแสทั้งสิ้น เช่น ณเดชน์-ญาญ่า, ใหม่ ดาวิกา, เป๊ก ผลิตโชค, แพรวา และคู่จิ้นบิวกิ้น-พีพี เป็นต้น

อีกหนึ่งกลยุทธ์ของเลย์ก็คือการออกรสชาติใหม่ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาด และสร้างสีสันให้ผู้บริโภค ในปีนี้เลย์รสชาติใหม่มาในคอนเซ็ปต์ “เลย์ชวนฟินกินสตรีทฟู้ด” จับกระแสเมนูดังที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เน้นรสชาติจัดจ้านถูกปากคนไทย

โดยในไตรมาสแรกเริ่มต้นที่ กลิ่นแจ่วฮ้อนหม้อไฟ และรสมะนาวแซ่บซี๊ด ซึ่งวางจำหน่ายแล้วทั่วประเทศ ทั้ง 2 รสชาติดังกล่าวเป็นรสชาติสไตล์อีสาน ที่ถูกคิดค้นมาเพื่อเอาใจผู้บริโภคชาวอีสานตามแผนโปรโมตในปี 2564

จึงเป็นที่มาของการดึง “เต้ย – อภิวัฒน์ บุญเอนก” หรือ ครูเต้ย มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อเป็นการบุกแดนอีสานอย่างเต็มที่

ศิเรมอร ศุภจรรยา ผู้จัดการอาวุโส ผลิตภัณฑ์เลย์ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า

“ในทุกๆ ปี เลย์จะออกรสชาติใหม่ หรือ Seasoning Flavor เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคที่ชอบลองรสชาติใหม่ๆ โดยในปี 2564 เลย์ได้จับกระแสสตรีทฟู้ด เสมือนนำเมนูเด็ดสุดฮิตจากร้านอาหารมาไว้ในซองเลย์ตลอดทั้งปี อร่อยฟินเหมือนไปกินที่ร้าน โดยได้วางขาย 2 รสชาติแรกแล้วเรียบร้อย นั่นคือ กลิ่นแจ่วฮ้อนหม้อไฟ และ รสมะนาวแซ่บซี๊ด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีถึงรสชาติที่แซ่บจัดจ้าน นอกจากนี้ อีกเป้าหมายสำคัญคือการเจาะกลุ่มผู้บริโภคอีสานอย่างเข้มข้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา โดยมีโฆษณาบนสื่อออนไลน์ที่สื่อสารกับผู้บริโภคชาวอีสานโดยเฉพาะผ่านพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ขวัญใจชาวอีสาน เต้ย – อภิวัฒน์ บุญเอนก หรือ ครูเต้ย ที่จะร่วมแสดงในภาพยนตร์โฆษณาออนไลน์ตลอดทั้งปี 2564”

“แลคตาซอย” จัดทัพเพลง “แลคตาซอยห้าบาท” ชุดใหม่

ถ้าพูดถึงชื่อแบรนด์แลคตาซอย หลายคนคงจะหักห้ามใจได้ยากที่จะไม่ฮัมเพลง “แลคตาซอย 5 บาท 125 มิลลิลิตร ปริมาณคับกล่องเต็มที่ ดื่มได้ดื่มดี ดื่มแลคตาซอย 5 บาท”

ก่อนหน้านี้แลคตาซอยได้วางจุดยืนให้แลคตาซอย 5 บาทจับกลุ่มเด็ก โฆษณาในอดีตจึงมีเด็กๆ ออกมาร้องเพลง หลังจากนั้นก็เริ่มวางภาพให้แมสมากขึ้น ได้ดึง BNK48 มาเป็นพรีเซ็นเตอร์

ทิศทางใหม่ของแลคตาซอยต้องการให้แบรนด์เข้าถึงทุกกลุ่ม ทุกวัย และบุกตลาดขนาด 125 มิลลิลิตรมากขึ้น ในปีนี้จึงได้เปิดตัวแคมเปญ “แลคตาซอยห้าบาท ส่งความสุขทั่วไทย” คว้าตัวศิลปินแม่เหล็กของประเทศ ได้ นิว-จิ๋ว, ลาบานูน, ตรี ชัยณรงค์ และหญิงลี มาร้องเพลงให้กับหนังโฆษณาแลคตาซอยห้าบาทชุดใหม่

จะเห็นได้ว่าศิลปินทั้ง 4 กลุ่มนี้มีความแมสเฉพาะตัว และมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ถ่ายทอดโดยศิลปินที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในทุกภาค ได้แก่ นิว-จิ๋ว ตัวแทนวัยทำงานในกรุงเทพฯ ภาคกลางและภาคเหนือ, ลาบานูน ตัวแทนภาคใต้ ตรี ชัยณรงค์ และ หญิงลี ตัวแทนความสนุกจากภาคอีสาน เพื่อย้ำสร้างความจดจำแบรนด์แลคตาซอย เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกเพศ ทุกวัย

พรรวนา มหาทรัพย์ ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและการตลาดสัมพันธ์ บริษัท แลคตาซอย จำกัด เปิดเผยว่า

“สำหรับการดำเนินธุรกิจในช่วงต้นปีนี้ บริษัทได้จัดแคมเปญการตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาฐานผู้บริโภคเดิมให้แข็งแรง ควบคู่ไปกับการขยายฐานผู้บริโภคกลุ่มใหม่ให้กว้างขึ้น โดยล่าสุดได้จัด แคมเปญแลคตาซอยห้าบาท ส่งความสุขทั่วไทยเพื่อตอกย้ำให้ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยได้รับรู้และจดจำผลิตภัณฑ์แลคตาซอยขนาด 125 มิลลิลิตร ซึ่งจำหน่ายในราคา 5 บาท มาตลอด 16 ปี นับตั้งแต่เริ่มทำตลาดในเดือนมีนาคม 2548”

“แซ็ค ชุมแพ-เบิ้ล ปทุมราช” พรีเซ็นเตอร์ LAMUS

LAMUS (ลามูส) น้ำหอมพลังดนตรี เป็นหนึ่งธุรกิจของนักธุรกิจสาว เจน-วิรสุรางค์ ศศิอานนท์ กรรมการบริหาร บริษัท ศศิอานนท์ (ประเทศไทย) จำกัด และยังเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท บางกอกเพย์ จำกัด ผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ AJ SIM และตู้เติมเงิน AJ

LAMUS ได้เลือก 2 นักร้องลูกทุ่งหนุ่ม แซ็ค ชุมแพ และเบิ้ล ปทุมราช เป็นพรีเซ็นเตอร์ พร้อมกับเป็นหุ้นส่วน เป็นการผลิตน้ำหอมเอาใจคนชอบเสียงเพลง ถือว่าเป็นการสร้างปรากฏการณ์ความหอมครั้งแรกในประเทศไทย โดยคัดสรรกลิ่นหอมในรูปแบบของดนตรีประเภทต่างๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดขายของน้ำหอมที่มีความแตกต่างจากน้ำหอมยี่ห้ออื่น เช่น ใครชอบเพลงลูกทุ่งก็ใช้กลิ่นอินดี้ กลิ่นคาวบอย ใครชอบเพลงแจ๊สก็ใช้กลิ่นแจ๊ส

ประชากรภูธรยิ่งใหญ่ และเติบโตเร็ว

มีบางคำพูดที่ว่า การทำตลาดในยุคนี้ จะยึดแค่พฤติกรรม หรือความชอบของคนกรุงเทพฯ อย่างเดียวไม่ได้แล้ว ซึ่งพฤติกรรม ความชอบของคนเมือง และคนต่างจังหวัดย่อมมีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องวัฒนธรรม รายได้ และการเข้าถึงสื่อต่างๆ

ตัวเลขจำนวนประชากรอัปเดตถึงสิ้นปี 2563 ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประเทศไทยมีประชากรรวม 66.1 ล้านคน แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 5.5 ล้านคน ที่เหลือเป็นต่างจังหวัด โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานมีประชากรมากที่สุด 21.8 ล้านคน รองลงมาภาคกลาง 17.2 ล้าน ภาคเหนือ 12 ล้าน และภาคใต้ 9.4 ล้าน

นั่นเท่ากับว่ากลุ่มคนต่างจังหวัดเป็นกลุ่มใหญ่มาก จึงได้เห็นทิศทางของแบนด์ที่เริ่มจับทิศทางกลุ่มนี้มากขึ้น เพราะการจับกลุ่มคนในเมืองเริ่มแคบ อีกทั้งพฤติกรรมของคนต่างจังหวัดก็เริ่มเข้าถึงสื่อดิจิทัลมากขึ้น

YDM Thailand ดิจิทัลเอเยนซี่เคยประเมินไว้ว่า พฤติกรรมการใช้งานสื่อดิจิทัลของคนในต่างจังหวัด ไม่ได้แตกต่างจากคนในกรุงเทพฯ แล้ว แบรนด์ใหญ่ๆ จึงต้องการใช้สื่อดิจิทัลเข้าเจาะกลุ่มคนภูธร ด้วยมีขนาดที่ใหญ่ประชากร 84% จาก 66 ล้านคนกระจายอยู่ตามภาคต่างๆ

Photo : Shutterstock

ตัวเลขเมื่อ 2 ปีก่อน ตลาดภูธรครอบครองเม็ดเงินด้านการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคของประเทศไว้มากกว่า 60% หรือประมาณ 307,000 ล้านบาท โดยมีข้อมูลบอกว่า มีการใช้เงิน 1,299 บาทไปไฮเปอร์มาร์เก็ตเฉลี่ย 3 ครั้งต่อเดือน หรือไปร้านสะดวกซื้อ 169 บาท ทุกวันหรือทุกสัปดาห์

ความน่าสนใจยังอยู่ที่คนต่างจังหวัดมีอำนาจการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากสินค้าราคาถูกสู่สินค้าที่แพงมากขึ้น แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทายเพราะคนที่มีผลต่อการตัดสินใจเริ่มเปลี่ยน เมื่อก่อนที่เคยเชื่อเจ้าของร้านค้าปัจจุบันนี้ก็เริ่มน้อยลง เพราะรู้ว่าเจ้าของร้านมักดันแบรนด์ที่ตัวเองได้ผลประโยชน์ กลายเป็นว่าโฆษณามีผลน้อยกว่าคำพูดจากปากต่อปาก

จะเห็นได้ว่าการทำโฆษณามีความยากมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการทำโฆษณาจะใช้อินไซต์ของคนกรุงเทพฯ เป็นจุดตั้งต้น การใช้เงินซื้อสื่ออย่างโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ กระจายโฆษณาตัวเดียวกันนี้ไปทั่วประเทศ ในอดีตอาจได้ผล แต่วันนี้ไม่ได้ผลอีกแล้ว เพราะผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีเอกลักษณ์ และไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน

ขณะเดียวกันคนภูธรใช้เวลาอยู่บนออนไลน์ไม่ต่างจากคนในเมืองมากนัก แต่เนื้อหาที่คนภูธรชอบจะแตกต่างออกไปกับคนเมือง อาทิ ฟังเพลงในสไตล์ที่ไม่เหมือนกัน มีนักร้อง หรือศิลปินคนโปรดที่ไม่เหมือนกัน รวมทั้งละคร หรือรายการที่เลือกดูก็มีความแตกต่างกัน

ทั้งหมดทั้งมวล จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมแบรนด์ในยุคนี้ จึงเลือกที่จะทำตลาดจับกลุ่มภูธรคนต่างจังหวัด เพราะยังมีโอกาสมากมายมหาศาล อีกทั้งการจับแค่คนกรุงฯ ก็ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไปแล้วด้วย
]]>
1350164
“โออิชิ” แตกไลน์ “เครื่องปรุงรส” ส่งน้ำจิ้ม/ซอสญี่ปุ่นบุกครัว สร้างรายได้นอกร้าน https://positioningmag.com/1320679 Wed, 24 Feb 2021 07:56:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320679 “โออิชิ” ลุยตลาดเครื่องปรุงรสเป็นครั้งแรก เปิดตัวน้ำจิ้ม และซอสปรุงรสสไตล์ญี่ปุ่น หรือซอสโออิชิ ประเดิม 3 สูตรแรก น้ำจิ้มสุกี้ยากี้ ซอสเทอริยากิ และซอสโชยุ ตอบโจทย์คนรักการทำอาหารกินเองที่บ้าน

ส่งซอสปรุงรส บุกครัวผู้บริโภค

อย่างที่ทราบกันว่าว่าวิกฤต COVID-19 ได้ส่งผลต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างหนักหน่วง ยิ่งการแพร่ระบาดในระลอก 2 ยิ่งซ้ำเติมแผลให้หนักมากขึ้นไปอีก หลายแบรนด์บอกว่าอาจจะหนักยิ่งกว่ารอบแรกอีกด้วยซ้ำ เพราะผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อแล้ว

ร้านอาหารเองจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยง งัดกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการสร้างรายได้นอกร้าน โดยที่ “โออิชิ” ได้แตกไลน์สินค้ากลุ่ม “เครื่องปรุงรส” เป็นสินค้าล่าสุด โดยจับกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมทำอาหารอยู่บ้าน เพราะตอนนี้ผู้บริโภคทานอาหารนอกบ้านลดลง

น้ำจิ้ม และซอสปรุงรสสไตล์ญี่ปุ่น ตราโออิชิ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ซอสโออิชิ” ได้พัฒนา และต่อยอดจากน้ำจิ้ม และซอสปรุงรสต่างๆ ที่มีให้บริการภายในร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ นำมาบรรจุลงในขวดแก้วแบบพาสเจอไรซ์ประเดิมด้วย 3 สูตรแรก ได้แก่

  • น้ำจิ้มสุกี้ยากี้ ขนาด 330 กรัม ราคาขายขวดละ 65 บาท
  • ซอสเทอริยากิ ขนาด 200 มิลลิลิตร ราคาขายขวดละ 67 บาท
  • ซอสโชยุ ขนาด 200 มิลลิลิตร ราคาขายขวดละ 67 บาท

เมขลา เนติโพธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหารสำเร็จรูป บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ โออิชิ เปิดเผยว่า

“ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และการปิดเมือง กระทั่งการแพร่ระบาดระรอกใหม่นี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องและส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ นิสัยการกิน-ดื่ม หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้บริโภครับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง และส่วนใหญ่พอมีเวลาว่าง จึงสนใจหันมาเข้าครัวเตรียมอาหารและปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านบ่อยขึ้น”

Oishi Group

วางขายร้านในเครือก่อน

เบื้องต้นกำหนดวางจำหน่ายผ่านร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิมากกว่า 200 สาขา ประกอบด้วย โออิชิ แกรนด์, โออิชิ อีทเทอเรียม, โออิชิ บุฟเฟต์, นิกุยะ, ชาบูชิ, โออิชิ ราเมน, คาคาชิ, รวมทั้ง โฮว ยู เป็นช่องทางขายหลัก พร้อมกับบริการ โออิชิ เดลิเวอรี่ ตั้งเป้าขยายช่องทางขายเข้าสู่ทั้งโมเดิร์นเทรดและคอนวีเนียนสโตร์ชั้นนำในเร็วๆ นี้

]]>
1320679
“โออิชิ กรุ๊ป” ปี 63 รุ่นฝ่า COVID-19 กำไร 1,066 ล้าน ลดลง 13.3% ปันผล 1.45 บาท https://positioningmag.com/1319582 Wed, 17 Feb 2021 05:01:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319582 บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดผลประกอบการปี 2563 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลง และความตึงเครียดสูงจากวิกฤต COVID-19 มีรายได้ และกำไรลดลง แต่ยังจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลประกอบการปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562 – ก.ย. 2563)

  • มีรายได้รวม 11,007 ล้านบาท ลดลง 19.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
  • กำไรสุทธิ 1,066 ล้านบาท ลดลง 13.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ประกาศจ่ายเงินปันผลที่ 1.45 บาทต่อหุ้นจากผลประกอบการปี 2563

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม อีกทั้งยังสร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้กับทุกธุรกิจและทุกภาคส่วน บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน บริษัทฯ จึงได้มีการปรับกลยุทธ์และแผนงานต่างๆ เพื่อเร่งสร้างรายได้ให้กลับมาให้มากที่สุด และในขณะเดียวกันก็ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ พร้อมควบคุมการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่ดีขึ้นประกอบกับผู้บริโภคมีกำลังซื้อที่ลดลง

ชาเขียวยังเบอร์ 1

ธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวโออิชิยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดได้สูงถึง 48% (ข้อมูล 12 เดือนล่าสุด สิ้นสุด ณ เดือน ก.ย. 2563 จาก บริษัท เดอะนีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด) โดยทิ้งห่างคู่แข่งอย่างชัดเจน และครองตำแหน่งผู้นำตลาดชาเขียวพร้อมดื่มอย่างต่อเนื่อง

เจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม เปิดเผยว่า

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับการชะลอตัวของตลาดชาพร้อมดื่มภายในประเทศที่ปรับตัวลดลง 9.1% (ข้อมูล 12 เดือนล่าสุด สิ้นสุด ณ เดือน ก.ย. 2563 จาก บริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด) ส่งผลกระทบต่อยอดขายของธุรกิจเครื่องดื่มบ้าง แต่บริษัทยังสามารถประคองสถานการณ์ และสร้างผลกำไรที่เติบโตได้ จากการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มชาเขียวที่ดีต่อสุขภาพ เช่น โออิชิ โกลด์ เกียวคุโระ, โออิชิ พลัส ซี ชาเขียวผสมวุ้นมะพร้าวโดยพลัสประโยชน์จากวิตามินซี 200%

ประกอบกับทำการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการขายรูปแบบใหม่ๆ การกระจายสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ ได้ครอบคลุมมากขึ้น การบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเดินหน้าขยายตลาดส่งออก โดยเข้าไปเปิดตลาดใหม่ในประเทศเมียนมา ทำกิจกรรมการตลาดในเขตพื้นที่แถบชายแดน ส่งผลให้ยอดขายในเมียนมาเติบโตต่อเนื่อง ส่วนในประเทศกัมพูชาและลาวยังคงรักษาตำแหน่งยอดขายอันดับหนึ่งไว้ได้อย่างเหนียวแน่น”

ธุรกิจอาหาร ลุยเปิดโมเดลใหม่

ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจร้านอาหาร เผยว่า

“ในปี 2563 เราเน้นปรับตัวรับมือกับผลกระทบจาก COVID-19 และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง และซับซ้อนมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยี และดิจิทัลมาต่อยอดสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ ในร้านอาหารญี่ปุ่นโออิชิ พร้อมพัฒนาช่องทางขาย-เดลิเวอรี่ (Delivery) และซื้อกลับบ้าน (Take Away) มากขึ้น”

มีการปรับรูปแบบร้านให้เหมาะสม และเข้ากับสภาพแวดล้อมทางการตลาดในปัจจุบัน เน้นเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว โดยการขยายธุรกิจ และเปิดตัวร้านอาหารรูปแบบใหม่ เช่น

  • โออิชิ ทู โก (OISHI to Go)
  • โออิชิ ฟู้ด ทรัค (OISHI Food Truck)

  • โออิชิ ราเมน X คาคาชิ บริการ 24 ชั่วโมง เป็นร้านอาหารประเภทไฮบริดสาขาแรกที่ เดอะ สตรีท รัชดา อีกทั้งมีการเฉพาะที่
  • โออิชิ คิทเช่น พัฒนาสูตรอาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ นำเสนอเมนูแบบเอ็กซ์คลูซีฟ สามารถสั่งผ่านบริการจัดส่งอาหารโออิชิ เดลิเวอรี่ หรือแอปพลิเคชันฟู้ด เดลิเวอรี่

sakae oishi ซาคาเอะ

  • ซาคาเอะ (SAKAE : The Signature Taste of Shabu Shabu and Sukiyaki) ต่อยอดสู่ตลาดพรีเมียม ชาบูเมนู a-la-cart ให้บริการในรูปแบบหม้อเดี่ยวส่วนตัว เพื่อสร้างความแตกต่าง และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคจับกลุ่มเป้าหมายระดับบนและกลางเป็นหลัก

อาหารพร้อมทานเติบโตรับเทรนด์

ด้านธุรกิจอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน เมขลา เนติโพธิ์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า

“สถานการณ์การแพร่ระบาดและการปิดเมือง กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการบริโภคและการเติบโตของตลาดอาหารสำเร็จรูป แช่เย็นและแช่แข็ง เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีคุณภาพ สะดวกในการบริโภค และมีความหลากหลาย เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยในช่วงเวลานี้ เราจึงเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน ภายใต้ตราสินค้า “โออิชิ อีทโตะ” (OISHI EATO) โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น โออิชิ อีทโตะ แซนด์วิชผสมธัญพืชไส้อกไก่สลัดไข่ – เวย์โปรตีน พร้อมเร่งขยายช่องทางใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

ตั้งแต่การวางจำหน่ายสินค้าในห้างที่ให้บริการค้าปลีกและค้าส่ง การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของห้างต่างๆ เช่น Tops online, TESCO Lotus online และเครื่อง Vending Machine อีกทั้งมีการสร้างสรรค์หีบห่อบรรจุภัณฑ์ให้โดดเด่นและแตกต่าง นอกจากนั้นยังพัฒนาสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์กลุ่มเดิม เช่น สินค้ากลุ่มซอสและเครื่องปรุงรส”

แม้ผลประกอบการรายได้ และกำไรจะลดลง แต่โออิชิยังคงจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่องที่ 1.45 บาท ในปี 2563 เป็นปีแห่งการต่อสู้ของผู้ประกอบการจริงๆ

]]>
1319582
วิเคราะห์เหตุผล! ทำไม “โออิชิ” ต้องปั้นแบรนด์ SAKAE ชาบูชาบูระดับพรีเมียม https://positioningmag.com/1304509 Thu, 05 Nov 2020 14:00:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1304509 โออิชิ กรุ๊ป แตกแบรนด์ใหม่ระดับพรีเมียมในรอบ 20 ปี ส่งแบรนด์ SAKAE ชาบูชาบู สุกี้ญี่ปุ่น จับกลุ่มลูกค้าระดับบน เปิดสาขาแรกที่อาคาร THE PARQ ทาง Positioning จะพาไปล้วงลึกถึงเหตุผล ทำไมโออิชิต้องปั้นแบรนด์นี้ขึ้นมา

1. รู้จักแบรนด์ SAKAE

แบรนด์ SAKAE (ซาคาเอะ) เป็นแบรนด์ร้านอาหารล่าสุดจากเครือโออิชิ กรุ๊ป ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมานี้เอง ที่โครงการ THE PARQ บนถนนพระราม 4 ไม่ใกล้ไม่ไกลกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

SAKAE เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นประเภทชาบูชาบู และสุกี้ญี่ปุ่น โดยที่ชูจุดเด่นที่สุดยอดวัตถุดิบ เนื้อวากิวระดับพรีเมียม นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ เนื้อวากิว ระดับ A4 (Japanese Wagyu (A4) Beef), เนื้อวากิว ระดับ F1 (Japanese Tokusen Wagyu (F1) Beef) และเนื้อซาคาเอะ ซิกเนเจอร์ (Sakae Signature Beef) หรือเนื้อส่วนสันคอวัว

ร้านนี้จะไม่ได้ทานเป็นแบบบุฟเฟต์ แต่สามารถสั่งเป็นชุดพร้อมเครื่องเคียง หรือจะสั่งเป็นจานๆ แยกก็ได้ มีน้ำซุปให้เลือก 2 สูตร คือ น้ำซุปน้ำใส สำหรับชาบูชาบู หรือน้ำซุปน้ำดำ รสชาติเข้มข้นสำหรับสุกี้ยากี้

ภายในร้านจะมีที่นั่งทั้งหมด 68 ที่นั่ง แบ่งเป็น 3 โซน ที่นั่งจะเป็นเคาน์เตอร์บาร์เป็นวงกลม มีหม้อแยกคนละหม้อ ในส่วนตรงกลางจะมีพนักงานคอยให้บริการจุดละ 2 คน และเป็นจุดที่สไลด์เนื้อสดๆ ให้เห็น และเสิร์ฟให้กับลูกค้า รูปแบบการบริการแบบนี้ทางผู้เขียนเคยเห็นที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ช่วยลดการใช้พนักงานภายในร้านได้ เพียงว่าแต่ละคนจะได้ทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อมีการวางจุดยืนของแบรนด์ที่เป็นระดับพรีเมียม ราคาจึงแรงพอสมควรตามคุณภาพของวัตถุดิบ สำหรับการทานเป็นเซตจะราคาเริ่มต้นที่ 490 บาท เป็นชุดหมูพรีเมียม ไปจนถึงราคาแพงที่สุดคือ 1,400 บาท เป็นชุดเนื้อวากิว ระดับ A4

ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

การเปิดแบรนด์ SAKAE ครั้งนี้เรียกว่าเป็นการบุกตลาดกลุ่มพรีเมียมในรอบ 20 ปี ซึ่งแบรนด์นี้เป็นการพัฒนาเองของในเครือ ไม่ได้นำเข้ามาจากญี่ปุ่น ทางโออิชิจึงได้ศึกษาโมเดลจากประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบร้าน ระบบปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาแบรนด์ให้ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ใช้เวลาในการพัฒนาแบรนด์ราวๆ 1 ปี ซึ่งตอนแรกจะทำการเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2563 แต่เจอการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จึงเลื่อนมาเปิดในช่วงเดือนกันยายน เป็นช่วงเดียวกันกับที่โครงการ THE PARQ เปิดให้บริการด้วย

2. คนไทยชอบชาบู สุกี้

แม้คนไทยจะมีหัวใจ “หมูกระทะ” เราได้เห็นหมูกระทะฟีเวอร์กันทั่วเมือง แต่ตลาดชาบู สุกี้ก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน ต้องบอกว่าในแง่ธุรกิจแล้ว ตลาดชาบู สุกี้ หรือตลาดหม้อต้มมีขนาดใหญ่กว่าตลาดปิ้งย่างอย่างมาก

sakae oishi ซาคาเอะ

ตลาดชาบู สุกี้มีมูลค่าตลาดราว 15,000-20,000 ล้านบาท ตลาดนี้มีผู้ขับเคลื่อนรายใหญ่คือ MK และชาบูชิ ส่วนตลาดปิ้งย่างมีมูลค่าตลาดราวๆ 5,000-6,000 ล้านบาท เรียกว่าสเกลใหญ่ และโอกาสทางธุรกิจมีมากกว่า

จึงเป็นเหตุผลที่ว่า เมื่อไม่นานมานี้เราจึงได้เห็น “บาร์บีคิว พลาซ่า” ประกาศเปิดตัว GON Pot เป็นเตาสำหรับต้ม และปิ้งย่างภายในตัว เป็นการร่วมมือกับ “จุ่มแซ่บฮัท” ภายในเครือ ในการพัฒนาเมนูต้ม อีกทั้งยังเป็นการจับตลาดเดลิเวอรี่มากขึ้นด้วย

3. เซ็กเมนต์พรีเมียม ลูกค้ามีกำลังซื้อ

ตอนนี้เรากำลังเข้าเข้าสู่ยุคที่เซ็กเมนต์พรีเมียมจะสามารถอยู่รอดได้มากกว่าเซ็กเมนต์อื่นๆ เพราะคนกลุ่มระดับบนมีกำลังซื้อมากกว่า ซึ่งการมาของ COVID-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยานั้นเช่นกัน

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค Aging Society เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น หรือมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คาดว่าต่อไปในอนาคต ประเทศไทยจะมีคนสูงวัย Baby Boomer และ Gen X สัดส่วนถึง 60%

sakae oishi ซาคาเอะ

ความสำคัญของคนกลุ่มนี้คือมีกำลังซื้อสูง มีรายได้ต่อหัวเยอะ บางคนอาจจะได้เงินหลังจากการเกษียณอายุ ผ่านร้อนผ่านหนาวในการทำธุรกิจ ทำงานมาทั้งชีวิต ไม่ต้องมีเงินเก็บเผื่อลูกหลานแล้ว เพราะดูแลตัวเองกันได้แล้ว มีความฉลาดในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น จะเลือกว่าอะไรคุ้มค่า ฉะนั้นสินค้ากลุ่มพรีเมียมจะจับตลาดกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างดี

ทั้งนี้การเลือกโลเคชั่นในการเปิดสาขาแรกที่โครงการ THE PARQ นอกจากจะเป็นพื้นที่ในเครือของกลุ่มไทยเบฟด้วยกันเองแล้ว ยังเป็นการเลือกทำเลที่เจาะกลุ่มคนทำงาน เพราะย่านนั้นเป็นอาคารสำนักงาน และค่อนข้างจะมีกำลังซื้อสูงด้วย

4. เสริมพอร์ตครบครัน ตั้งแต่ QSR ยันพรีเมียม

โดยปกติแล้วในธุรกิจร้านอาหารจะมีการแบ่งเซ็กเมนต์ที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการจับกลุ่มลูกค้าที่มากขึ้น ที่ผ่านมาโออิชิเองมีพอร์ตร้านอาหารในเครือค่อนข้างเยอะ แต่ก็ยังไม่ครบทุกเซ็กเมนต์ วันนี้จึงเป็นโอกาสที่ได้ขยายพอร์ตไปให้ครอบคลุมตั้งแต่ QSR ยันร้านอาหารระดับบน

sakae oishi ซาคาเอะ

ทำให้ตอนนี้โออิชิมีร้านอาหาร ดังนี้

ร้านอาหารระดับพรีเมียม (ราคา 1,000 บาทขึ้นไป)

– SAKAE (ซาคาเอะ) ร้านชาบูชาบู สุกี้ญี่ปุ่น

– HOU YUU (โฮวยู) ร้านอาหารญี่ปุ่น ซูชิ ปลาดิบต่างๆ

– Oishi Grand (โออิชิ แกรนด์) ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์

ร้านอาหารระดับพรีเมียม แมส (ราคา 700 บาทขึ้นไป)

– Oishi Eaterium (โออิชิ อีทเทอเรียม) ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์

– Oishi Buffet (โออิชิ บุฟเฟต์) ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์

– Nikuya By Oishi (นิกุยะ) ยากินิกุตำรับโอซาก้า

sakae oishi ซาคาเอะ

ร้านอาหารระดับแมส (ราคาไม่เกิน 500 บาท)

– Shabushi (ชาบูชิ) ชาบูชาบู ซูชิบนสายพาน

– Oishi Ramen (โออิชิ ราเมน) ร้านอาหารกลุ่มราเมน

– Kakashi (คาคาชิ) ร้านอาหารดงบุริ ข้าวหน้าต่างๆ

ร้านขนมญี่ปุ่น

– Oyoki (โอโยกิ) ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟระดับพรีเมียม

5. ขยับจากกลุ่มบุฟเฟต์บ้าง

มีหลายคนบอกว่าคนไทยชอบทานอาหารประเภทบุฟเฟต์ เพราะให้ความรู้สึกถึงความคุ้มค่า ทานได้ไม่อั้น ซึ่งร้านอาหารของโออิชิอยู่ในกลุ่มบุฟเฟต์หลายแบรนด์เช่นกัน จึงต้องการขยับมากลุ่ม A LA CARTE บ้าง

เพราะเชื่อว่าผู้บริโภคในยุคนี้เริ่มเปลี่ยนแนวคิดในการทานอาหาร หลายคนไม่ทานบุฟเฟต์เพราะความคุ้มค่า มองว่าการทานอาหารจริงๆ ไม่ต้องทานให้เยอะก็คุ้มได้ แต่สามารถทานแบบสุขภาพดี ทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ ภายในเซตของ SAKAE จึงมีทั้งเนื้อ ผัก คาร์โบไฮเดรต และของหวาน ให้สามารถทานได้ครบครัน

เรียกได้ว่าตลาดร้านอาหารในไทย แม้จะผ่านพ้นช่วงวิกฤต COVID-19 มา ก็ยังสร้างสีสันให้ตลาดได้ เพียงแต่ต้องมีจุดยืน และคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน ที่สำคัญต้องมองหาโอกาสในตลาดให้เจอ จึงจะเป็นการอยู่รอดในตลาดได้

]]>
1304509
มาตามนัด! “โออิชิ” บุกคลาวด์ คิทเช่น ปักหมุดสาขาแรก “บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า พระราม 4” https://positioningmag.com/1293457 Thu, 20 Aug 2020 05:10:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1293457 ในที่สุดก็มาแล้วเรียบร้อย “โออิชิ” ลุยตลาดคลาวด์ คิทเช่น เปิด “โออิชิ คิทเช่น” แหล่งรวมอาหารญี่ปุ่น รองรับการส่งเดลิเวอรี่ ปักหมุดสาขาแรกที่บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า พระราม 4 และมีแผนขยายอีก 5-10 สาขา

รวม 4 ร้านดังในเครือ ส่งตรงเดลิเวอรี่

กลายเป็นเทรนด์ของธุรกิจร้านอาหารที่ต้องมี “คลาวด์ คิทเช่น” หรือครัวกลาง เพื่อสำหรับรองรับตลาดเดลิเวอรี่ที่กำลังเติบโตในประเทศไทย นอกจากผู้เล่น Food Aggregator ที่รวบรวมร้านเด็ดๆ ที่คนสั่งเยอะๆ แล้ว เชนร้านอาหารใหญ่ๆ ก็ลงมาจับตลาดนี้ด้วย

ล่าสุด “โออิชิ” ขอลุยโมเดลธุรกิจใหม่ คลาวด์ คิทเช่น กับเขาบ้าง เปิดตัว “โออิชิ คิทเช่น” (OISHI KITCHEN) ตอบโจทย์นักกิน ด้วยความหลากหลายของอาหารญี่ปุ่น รวม 4 ร้านดังในเครือ ทั้ง โออิชิ บุฟเฟต์, โออิชิ ราเมน, คาคาชิ และโออิชิ เดลิเวอรี่ รวมกว่า 100 เมนู เพื่อส่งตรงถึงบ้าน

ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า

“คลาวด์ คิทเช่น หรือบ้างก็เรียกว่า โกสต์ คิทเช่น เป็นรูปแบบโมเดลธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมและมาแรงมากๆ ในแวดวงธุรกิจอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงรักษาระยะห่างทางสังคม พบว่าไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ผู้บริโภครับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง (หรือไม่รับประทานอาหารนอกบ้านเลย) แต่สั่งอาหารออนไลน์และใช้บริการฟู้ด เดลิเวอรี่ มากขึ้น”

จากเทรนด์ดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับโอกาสทางการตลาด จึงเดินหน้าพัฒนาต่อยอดรูปแบบการให้บริการ และสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ คลาวด์ คิทเช่น ภายใต้ชื่อ “โออิชิ คิทเช่น” (OISHI KITCHEN) ขึ้น เพื่อเป็นฮับหรือครัวกลาง ศูนย์กลางการปรุงประกอบอาหารสะอาด ปลอดภัย สำหรับร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ ผู้บริโภคสามารถเลือกสั่งเมนูอาหารจากร้านต่างๆ ได้มากกว่า 1 ร้าน แบบรวมออเดอร์ได้ด้วยการสั่งเพียงครั้งเดียว

นำร่องสาขาแรกที่บิ๊กซี พระราม 4

โออิชิ คิทเช่น ตอบโจทย์คนรักอาหารญี่ปุ่น มีเมนูให้เลือกหลากหลาย และเมนูเพื่อสุขภาพ พร้อมอำนวยความสะดวกให้สามารถรวมออเดอร์ด้วยการสั่งเพียงครั้งเดียว ผ่านแอปพลิเคชันฟู้ด เดลิเวอรี่ ได้แก่ foodpanda, GrabFood, LINE MAN

ปักหมุดสาขาแรกบนย่านถนนพระราม 4 บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า พระราม 4 (ในพื้นที่ครัวของ โออิชิ บุฟเฟต์) เป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่รายล้อมไปด้วยอาคารสำนักงานสำคัญๆ สถานศึกษา และที่อยู่อาศัย พร้อมตั้งเป้าขยายพื้นที่เพิ่มเติมอีก 5 – 10 สาขา ภายในปี 2564 โดยเน้นในเขตกรุงเทพฯ และแหล่งชุมชน 

]]>
1293457