BonChon – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 10 Jul 2024 04:01:52 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “Beautrium x Bonchon” คอลแลปข้ามขั้ว ส่งลิปทินต์ “ซอสไก่เกาหลี” จับกระแส “K-Beauty” https://positioningmag.com/1481965 Tue, 09 Jul 2024 07:53:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1481965 “Beautrium x Bonchon” จับมือข้ามขั้วอุตสาหกรรมสร้างผลิตภัณฑ์คอลแลป “Korean Spicy Chicken Tint Oil” ทำการตลาดเรียกเสียงฮือฮาด้วยผลิตภัณฑ์แหวกแนวที่จะเป็นของแถมแบบ Limited Edition ให้กับลูกค้าร้านบิวเทรี่ยม

ตัวผลิตภัณฑ์เป็นลิปสติกแบบเหลวที่ใช้แรงบันดาลใจจาก “ซอสไก่เกาหลี” ของบอนชอน ออกมาเป็น “ลิปทินท์” สีแดงขุ่นเหมือนซอส ทาแล้วทิ้งสเตนบนปากเหมือนเพิ่งรับประทานไก่บอนชอน (Bonchon) แต่ให้กลิ่นหอมหวานเหมือนลิปสติกปกติ พร้อมด้วยสารบำรุงริมฝีปาก

Korean Spicy Chicken Tint Oil เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีวางจำหน่าย แต่จะมอบให้กับลูกค้าร้านบิวเทรี่ยมที่ช้อปในสาขา Siam Square Flagship Store ครบ 999 บาท (มีจำนวนจำกัด) เท่านั้น

Beautrium x Bonchon
Korean Spicy Chicken Tint Oil จะมาในกล่องแพ็กเกจไก่ทอดของจริงของบอนชอน!

“อติโรจน์ โรจน์รัตนวลี” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท บิวเทรี่ยม จำกัด เปิดเบื้องหลังการจับมือคอลแลประหว่างวงการ “อาหาร” กับ “บิวตี้” ครั้งนี้ เกิดจากแคมเปญการตลาดของบิวเทรี่ยมเองที่มีแคมเปญใหญ่แห่งปี “Beautrium K-Beauty Fest” พุ่งเป้าตลาดเครื่องสำอางและความงามแบบเกาหลี นำแบรนด์เครื่องสำอางเกาหลีจัดโปรโมชันมากมายในร้าน

ทำให้บริษัทต้องการจะสร้างแรงกระเพื่อมเพิ่มขึ้นในกลุ่ม K-Beauty จึงใช้กลยุทธ์การตลาด “คอลแลป” สินค้าซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและผู้บริโภคให้ความสนใจสูง โดยเลือกอุตสาหกรรมอาหารเพื่อความแปลกแหวกแนว จึงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ลิปที่ได้แรงบันดาลใจจากอาหาร

ส่วนสาเหตุที่เลือกผนึกกำลังกับ “บอนชอน” เพราะมองว่าเป็นแบรนด์ร้านอาหารเกาหลีที่อยู่มานานในประเทศไทย มีฐานลูกค้าใกล้เคียงกันคือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ และบอนชอนใช้สีแดงเป็นสีหลักเหมือนบิวเทรี่ยม ทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์ไปด้วยกันได้

อติโรจน์กล่าวด้วยว่า กระแส K-Beauty ยังคงเป็นที่นิยมในไทย เฉพาะยอดขายของบิวเทรี่ยมนั้นเมื่อปี 2566 สินค้าบิวตี้ของเกาหลีทำยอดขายเติบโตถึง 200% จากปีก่อนหน้า และคาดว่าปี 2567 น่าจะโตต่อเนื่องอีก 150% เพราะทางร้านมีการจัดแคมเปญการตลาดและมีการนำเข้าแบรนด์เครื่องสำอางเกาหลีใหม่ๆ เข้ามาอีกจำนวนมาก

ตลาดเครื่องสำอางนำเข้าในไทยนั้น “เครื่องสำอางเกาหลี” ถือเป็นเครื่องสำอางจากต่างประเทศอันดับ 3 ที่มีการนำเข้า โดยข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า เมื่อปี 2566 ตลาดเครื่องสำอาง สบู่ และสกินแคร์ 5 อันดับแรกที่ประเทศไทยนำเข้ามามูลค่าสูงสุด ได้แก่ 1.ฝรั่งเศส (สัดส่วน 18.6%) 2.จีน (สัดส่วน 16.1%) 3.เกาหลีใต้ (สัดส่วน 12.1%) 4.สหรัฐอเมริกา (สัดส่วน 9.4%) และ 5.อินโดนีเซีย (สัดส่วน 8.7%)

]]>
1481965
เจาะ Insight ‘ของไหว้ตรุษจีน’ ยอดฮิตที่ถูกพูดถึงมากที่สุดบนโซเชียลฯ https://positioningmag.com/1319123 Fri, 12 Feb 2021 09:37:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319123 ถ้าพูดถึงเทศกาลตรุษจีน หนึ่งในสิ่งที่หลายคนนึกถึงคงหนีไม่พ้น ‘ของไหว้’ แน่นอน แต่ในยุคที่วิกฤต COVID-19 ยังไม่หมดไป ผู้คนต่างปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ อย่างผู้บริโภคก็เริ่มหันมาซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกันหลายแบรนด์ต่างปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น โดยการพัฒนาสินค้าให้มีความแปลกใหม่ ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภค โดย Wisesight ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับของไหว้เจ้าที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ผ่าน ZOCIAL EYE โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 11 ก.พ. 64  ดังนี้

ไก่ไหว้เจ้า Bonchon 31,594 เอ็นเกจเมนต์

ไก่ต้มหลบไป ปีนี้ต้องไหว้ด้วยไก่ทอดไหว้เจ้าจากบอนชอน ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาจากโซเชียลอย่างล้นหลามที่ร้านอาหารบอนชอนได้นำจุดขายอย่างไก่ทอดมาขายเป็นของไหว้เจ้าในตรุษจีนปีนี้

ภาพจาก Facebook Bonchon

เป็ดมงคล MK 13,459 เอ็นเกจเมนต์

พูดถึง MK ก็ต้องนึกถึงเป็ดย่าง ซึ่งตรุษจีนปีนี้ MK ก็ไม่พลาด เปิดเมนูเสริมเฮง ด้วยชุดเป็ดมงคล

ภาพจาก Facebook MK

ชุดไหว้เจ้า เรียกความเฮง Tesco Lotus 11,475 เอ็นเกจเมนต์

ช่วงนี้ออกมาซื้อของข้างนอกก็ลำบาก ห้างสรรพสินค้า Tesco Lotus เลยขอจัดชุดไหว้เจ้า วันตรุษจีนแแบบหลายเซต หลายราคา เรียกความเฮงได้แบบประหยัดงบ

ภาพจาก website tesco lotus

แมสก์กงเต๊ก 7,790 เอ็นเกจเมนต์

ตรุษจีนนี้บรรพบุรุษต้องรอด! มีหลายแแบรนด์ หลายร้านค้า ได้ผลิตแมสก์กงเต๊ก หรือหน้ากากอนามัยสีทองมาวางขาย สื่อถึงความห่วงใยที่เข้ากับสถานการณ์ได้ดีเลยทีเดียว

ภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์

สกินแคร์กงเต๊ก 4,496 เอ็นเกจเมนต์

นอกจากบรรพบุรุษต้องมีสุขภาพกายดีแล้ว สุขภาพผิวต้องเป๊ะปังด้วย ด้วยสกินแคร์กงเต๊ก มีทั้งเซตสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย ให้บรรพบุรุษมีผิวเนียนใสจากสวรรค์ชั้นฟ้า

ภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์

ชุดฮัทเฮงยกกำลัง 3 จาก Pizza Hut 2,127 เอ็นเกจเมนต์

ปีนี้จะไหว้เจ้าด้วยพิซซ่าก็น่าสนใจครับ Pizza Hut ได้ออกชุดพิซซ่าฉลองเทศกาลตรุษจีน เสริมโชคลาภ และแก้ชงไปในตัว

ภาพจาก Facebook Pizza Hut

จักรยานไปซื้อของไหว้เจ้า จาก Louis Vuitton 984 เอ็นเกจเมนต์

แบรนด์ชื่อดัง Louis Vuitton ก็ออกจักรยานรุ่นใหม่ แม้จะไม่ได้ออกมาเกี่ยวกับเทศกาลตรง ๆ เเต่จากสีก็ทำให้เข้ากับช่วงตรุษจีนจนชาวโซเชียลพูดถึงซะงั้น เผื่อใครอยากจะไปซื้อของไหว้เจ้าแบบประหยัดน้ำมัน ก็ลองจับจองกันดูได้ ราคาก็เเค่ประมาณ 9700,000 – 1,100,000 บาทเท่านั้นเอง

ชุดไหว้เจ้าเสริมโชค จาก Big C 809 เอ็นเกจเมนต์

ทางฝั่งห้างสรรพสินค้า Big C เองก็ออกเซตไหว้เจ้าออกมาเช่นกัน ที่จัดเซตเสริมโชค เสริมความมงคลโดย ดร.คฑา ชินบัญชร ไม่ว่าจะเป็นชุดไหว้ไท้ส่วยเอี้ย (แก้ชง) เสริมมงคลโชคดีตลอดปี, ชุดไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ย เสริมเรื่องทรัพย์สิน, ชุดไหว้ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์, ชุดไหว้เจ้าที่ในบ้าน และชุดไหว้บรรพบุรุษครับ

ภาพจาก YouTube BigC

เค้กส้มมงคล Bake a Wish 537 เอ็นเกจเมนต์

ร้านเบเกอรี่ Bake a Wish ก็จัดสินค้าในเทศกาลตรุษจีนกับเขาเช่นกัน โดยนำเสนอเค้กส้มมงคล ของหวานรสชาติดีแถมเพิ่มความโชคดีให้ด้วย

ภาพจาก Facebook Bake A Wish

ชุดไหว้เจ้าหลากหลายจาก CP Freshmart 55 เอ็นเกจเมนต์

ปิดท้ายด้วย ชุดไหว้เจ้าหลากหลาย จัดเซตมาในชื่อจีน ที่เรียกได้ว่าซื้อแล้วมั่นใจว่า เป็นของไหว้ตรุษจีนของแท้ถึงมือบรรพบุรุษแแน่นอน

ภาพจาก Facebook CP Freshmart

จะเห็นได้ว่าของไหว้ตรุษจีนปีนี้นั้นมีความหลากหลาย และใส่ความครีเอทีฟหรือความแปลกใหม่เข้าไปในตัวสินค้ามากยิ่งขึ้น มีการประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ COVID-19 และใส่ใจความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งขายแบบยกเซตทีเดียวได้ครบครัน รวมถึงการเปิดช่องทางการขายทางโซเชียลมีเดีย แม้ของไหว้ตรุษจีนจะเป็นสิ่งที่คนซื้อไปเพื่อไหว้บรรพบุรุษที่จากไปแล้ว แต่คนซื้อคือผู้มีชีวิตอยู่ ดังนั้นยิ่งขายของที่ตรงใจคนเป็น ก็ยิ่งอยู่รอดได้ในตรุษจีนยุคนี้

]]>
1319123
ถอดบทเรียน “ไมเนอร์ ฟู้ด” สู้ตลาดหลังวิกฤต เปิดสาขาไซส์เล็ก ทุ่มเดลิเวอรี่ เพิ่ม Cloud Kitchen https://positioningmag.com/1290392 Mon, 03 Aug 2020 12:00:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1290392 ธุรกิจร้านอาหาร ต้องเผชิญมรสุม COVID-19 โจมตีเเบบไม่ทันตั้งตัว สะเทือนทั้งรายเล็กรายใหญ่ ผู้ประกอบการเเละเเบรนด์ต่างๆ ต้องหาวิธีเอาตัวรอดให้พ้นผ่านสถานการณ์ความไม่เเน่นอนนี้ไปให้ได้

เเม้ว่าปีนี้ตลาดรวมธุรกิจร้านอาหารในไทย ที่มีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท จะไม่กลับมาสดใสได้ดังเช่นช่วงก่อนวิกฤต เเต่การปรับตัวในทุกมิติครั้งนี้ จะเป็นการปูทางไปสู่การเป็นร้านอาหารยุคใหม่ในระยะยาว

หลังคลายล็อกดาวน์ การที่ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตเเละออกทานอาหารที่ร้านได้ตามปกติ จึงเป็นสัญญาณของการค่อยๆฟื้นตัวอีกครั้งเเละก็ยังมีเรื่องที่ต้องระวังในหลายๆ ด้าน

จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่วงการเชนร้านอาหารและฟาสต์ฟู้ดอย่างไมเนอร์ ฟู้ด” เจ้าของเเบรนด์ดัง The Pizza Company, Swensen’s, Sizzler, The Coffee Club, Dairy Queen, thai express , Burger King และ Bonchon ที่มีสาขามากกว่า 2,200 สาขาใน 26 ประเทศนั้น จะงัดกลยุทธ์หมัดเด็ดอะไรมาพลิกเกมวงการร้านอาหาร เเละกระตุ้นยอดขายให้กลับมาอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังนี้

 

3 เเบรนด์ฮีโร่ บูมเดลิเวอรี่ช่วยอุ้มธุรกิจ 

ไมเนอร์ ฟู้ดเป็นยักษ์ใหญ่ที่มี ฐานลูกค้าในไทยกว่า 9 ล้านคน ทำรายได้ในปีที่ผ่านมา เป็นกอบเป็นกำถึง 24,000 ล้านบาท เเต่ด้วยอุปสรรคมากมายในปีนี้ ทำให้ต้องปรับการเติบโตลง เเละหากมองในเเง่ดีสุดๆ เเบบ Best Case Scenario ก็อาจทำได้เท่ากับปีที่แล้ว

ประพัฒน์ เสียงจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มั่นใจว่า บางแบรนด์ของไมเนอร์ ฟู้ด จะทำรายได้ได้มากกว่าเดิม จากอานิสงส์การซื้อกลับบ้านและเดลิเวอรี่ เเต่บางแบรนด์ที่มีรายได้หลักจากการบริการ Dine-in นั่งทานในร้าน ก็คาดว่าคงทำไม่ได้เท่าปีที่แล้ว

ปัจจุบันยอดขายรวมของเครือไมเนอร์ ฟู้ดกลับมาอยู่ที่ 80% ของช่วงก่อน COVID-19 โดยเเบรนด์ยอดนิยมอย่าง The Pizza Company, Swensen’s, Dairy Queen ตอนนี้รายได้กลับมามากว่าช่วงก่อนวิกฤต ขณะที่ด้านสาขา ตอนนี้ราว 95% จาก 1,490 สาขาในไทย ก็กลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้ว

โดยช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ยอดขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี่เติบโตมากถึง 3 เท่า เเละมีเเบรนด์ฮีโร่ที่มาช่วยกอบกู้สถานการณ์ของไมเนอร์ ฟู้ดไม่ให้บาดเจ็บสาหัสมากนัก ได้เเก่ The Pizza Company ตามมาด้วย Burger King และ Bonchon

ส่วนแบรนด์ถือว่าหืดขึ้นคอในการที่จะปรับตัวมาสู่เดลิเวอรี่ตามเทรนด์ของยุคนี้ ผู้บริหารไมเนอร์ยอมรับว่าคือ Sizzler ด้วยพฤติกรรมของลูกค้าส่วนใหญ่ชื่นชอบการนั่งทานในร้าน ชอบบรรยากาศการพูดคุยเเละสลัดบาร์ ที่เเม้การมีเดลิเวอรี่ให้สั่งเเล้ว ก็ยังไม่ตอบโจทย์มากนัก ซึ่งต่อไปจะมีการพัฒนาให้มากขึ้น

ขณะที่ The Coffee Club ที่พึ่งพาลูกค้าชาวต่างชาติเเละมีสาขาในเมืองท่องเที่ยวนับเป็นเเบรนด์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในเครือไมเนอร์ ฟู้ด

เรียนรู้การฟื้นตัวในจีน มาปรับใช้ในไทย 

COVID-19 เป็นเหมือนตัวเร่งให้กลุ่มไมเนอร์ปรับปรุงองค์กรอย่างฉับพลัน โดยบริษัทได้เรียนรู้จากการบริหารสาขาในประเทศจีนที่มีการเเพร่ระบาดของไวรัสก่อนใคร เเละก็เริ่มฟื้นตัวก่อนใคร สิ่งเหล่านี้นำมาสู่การปรับโครงสร้างองค์กร การสร้างกลยุทธ์ การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เล่าว่า ร้านอาหารของไมเนอร์ ฟู้ดในจีนต้องปิดชั่วคราวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และกลับมาเปิดได้อีกครั้งในเดือนมีนาคม จุดนี้ทำให้บริษัทมีประสบการณ์ที่สามารถนำมาใช้กับสถานการณ์ COVID-19 ในไทย เพื่อให้ “ฟื้นตัว” ได้เร็วที่สุด ซึ่งตอนนี้ถือว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปเเล้วตั้งแต่เดือนเมษายน เเละคาดว่ารายได้จะกลับสู่ระดับปกติเหมือนก่อนช่วง COVID-19 ภายในช่วงปลายปีนี้ โดยยังเหลือร้านอาหารในพื้นที่ท่องเที่ยว ที่ยังคงปิดอยู่อีกประมาณ 15 แห่ง

ไมเนอร์ ฟู้ด ต้องใช้ความระมัดระวัง และพิจารณาให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเปิดร้านอาหารแต่ละแห่ง รวมถึงต้องระมัดระวังการลงทุนด้วย โดยจะเน้นไปที่การลงทุนที่ได้ผลในระยะยาว เช่น ระบบดิจิทัล เเละการพัฒนาเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ของตัวเอง

ก่อนหน้านี้ กลุ่มไมเนอร์ได้ดำเนินการผ่านแผน “ลดต้นทุน” ผ่าน 3 วิธีการ 1) การปรับลดพนักงาน ซึ่งบริษัทจ้างพนักงานพาร์ตไทม์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะไมเนอร์ ฟู้ดกว่า 60% เป็นพนักงานพาร์ตไทม์ ดังนั้นจึงลดในส่วนนี้ได้ค่อนข้างมากเเละมีความยืดหยุ่น 2) เจรจาขอลดหรือเลื่อนจ่ายค่าเช่าพื้นที่ร้านอาหารและโรงแรม และ 3) การเจรจากับคู่ค้า เพื่อขอปรับเงื่อนไขการชำระเงินรวมถึงส่วนลด

โดยเเผนครึ่งปีหลังของไมเนอร์ ฟู้ด มีอยู่ 4 กลยุทธ์หลักดังนี้

  • ยกระดับเดลิเวอรี่

ต้องยอมรับว่าบริการเดลิเวอรี่ เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ไมเนอร์ ฟู้ด ผ่านพ้นวิกฤตในช่วงจุดต่ำสุดมาได้ ดังนั้นการต่อยอดพัฒนาแพลตฟอร์มการสั่งอาหารออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้บริโภคให้สามารถสั่งอาหารได้หลากหลายภายในออเดอร์เดียวจึงเป็นเป้าหมายหลักที่จะเสริมความสามารถในการเเข่งขันของบริษัทได้ในตอนนี้

ทั้งนี้ เครือไมเนอร์ มีบริการเดลิเวอรี่มาตั้งเเต่ปี 1989 มีผู้จัดส่งมากกว่า 3,000 คน โดยในช่วง COVID-19 มีสัดส่วนการสั่งซื้ออาหารส่วนใหญ่ของเครือไมเนอร์จะผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ของบริษัทโดยตรงมากกว่าช่องทางฟู้ดเดลิเวอรี่รายอื่น แบ่งเป็นผ่านช่องทางของตัวเอง 60-70% และแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ต่างๆ อีก 30-40% ขึ้นอยู่กับแบรนด์ของร้านอาหาร

“ในอนาคตอาจจะพัฒนาให้แบรนด์อื่นๆ เข้ามาอยู่ในบริการเดลิเวอรี่ของไมเนอร์ด้วย” 

โดยการสั่งจากคอลเซ็นเตอร์ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ เป็นลูกค้าคุ้นชินมานาน ขณะเดียวกันก็มียอดผู้ใช้แอปฯ การสั่งอาหารของ The Pizza Company และ 1112 Delivery ก็เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ไมเนอร์ ฟู้ด ก็ยังคงต้องการเป็นพาร์ตเนอร์กับเเอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่เจ้าอื่นอยู่ ด้วยจำนวนฐานลูกค้า บริการรับส่งอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าได้เข้าถึงในทุกช่องทาง ดังนั้นจึงต้องเดินหน้าพัฒนา 2 กลยุทธ์ ทั้งแพลตฟอร์มของตัวเอง และการไปอยู่บนแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการเดลิเวอรี่ไปควบคู่กัน

  • ออกเมนูใหม่ ๆ 

ตอนนี้ธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้น เมื่อแบรนด์ต่างๆ พร้อมงัดโปรโมชันและส่วนลดมาดึงดูดลูกค้า เชนร้านอาหารรายใหญ่จึงต้องเร่งอัดปรับโมเดลการขายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุค New Normal ไปพร้อมๆ กับการสร้างแบรนด์ให้น่าสนใจ มีความน่าเชื่อถือและมีสุขอนามัยที่ดี

“ไมเนอร์ ฟู้ดจะไม่เน้นการทำโปรโมชัน 1 แถม 1 ไปตลอด เเต่จะมีการพัฒนาให้เกิดเมนูใหม่” 

ยกตัวอย่างเช่น Swensen’s ที่ได้นำเอาเมนูไอศกรีมมะม่วงน้ำปลาหวานมาตอบโจทย์คนไทย แทนที่จะขายแค่ไอศกรีมรสชาติเดิมๆ เเละการนำเมนูที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาทางให้เกิดเมนูใหม่ เช่น การพัฒนาเมนู มะม่วง แบล็ก ดูโอ้ ไอศกรีมมะม่วงอกร่องทองกับเครื่องเคียงอย่างข้าวเหนียวดำที่เป็นเมนูที่ Swensen’s มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ การพัฒนาเมนูอาหารยังต้องตอบโจทย์การส่งเดลิเวอรี่เเละสั่งกลับบ้านให้มากขึ้นด้วย

อ่านเพิ่มเติม : สเวนเซ่นส์” พลิกเกม! ปรับภาพมากกว่าไอศกรีม ขอครอบจักรวาล “ของหวาน”

swensens

  • ลุยโมเดล “คีออส” 

จากนี้ไป ไมเนอร์ ฟู้ดจะเน้นพัฒนาแบรนด์ร้านอาหารในเครือผ่านโมเดลใหม่ เเละมีรูปเเบบการขยายสาขาที่เเตกต่างจากเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเน้นเปิดร้านในพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่หลังจากนี้จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นการเปิดสาขาในร้านขนาดเล็ก คีออส และแกร็บแอนด์โก เจาะพื้นที่ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงานและย่านมหาวิทยาลัย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่และรูปแบบร้านอาหารที่มีอยู่ให้มากที่สุด

อ่านเพิ่มเติม : เปิดแนวคิด Sizzler to go คอนเซ็ปต์ร้านเล็กบน BTS ยุทธการพาร้านเข้าหาผู้บริโภค

ยกตัวอย่างที่ไมเนอร์ ฟู้ดได้ทำมาแล้ว เช่น Sizzler To Go ที่เปิดร้านในรูปแบบคีออสกลางใจเมือง เนื่องจากเมนูอาหารของ Sizzler ยากต่อการส่งเดลิเวอรี่ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี โดยต่อไปจะผลักดันร้านอื่นๆ ในเครือเช่น Swensen’s เเละ The Coffee Club ให้มีบริการแกร็บแอนด์โกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการ “ปรับโฉมแบรนด์” ให้เข้ากับผู้บริโภคในท้องถิ่นมากขึ้น เช่น การเปิดสาขาแฟลกชิพสโตร์ของ Swensen’s ที่จังหวัดน่าน ที่มีการตกแต่งร้านสไตล์บ้านไทลื้อ

  • พัฒนา “Cloud Kitchen” 

เรียกได้ว่าเป็นโมเดล “ครัวกลาง” รูปเเบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงนี้ จากการนำเอาคอนเซ็ปต์ Cloud มาประยุกต์ใช้กับร้านอาหาร เกิดเป็น Cloud Kitchen ช่วยให้ลูกค้าที่สั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ที่สดใหม่เเละใกล้บ้าน ด้วยที่ตั้งสาขาใกล้บ้านในระยะ 3 กิโลเมตร เเละสามารถสั่งอาหารได้หลายแบรนด์ภายในออเดอร์เดียว

ไมเนอร์ ฟู้ดคาดว่า Cloud Kitchen จะช่วยทำให้บริการเดลิเวอรี่ของไมเนอร์ ฟู้ดครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะในย่านชุมชน โดยก่อนหน้านี้บริษัทเคยทดลองใช้โมเดลนี้ในสาขาที่ออสเตรเลียมาเเล้ว

จากการที่ร้าน The Pizza Company สาขานอกห้างมักจะเช่าตึกแถวทั้งตึก มีพื้นที่เหลือหลายชั้น จึงแบ่งพื้นที่ให้เเบรนด์ในเครือได้ไม่ยาก เพราะบุคลากรและเครื่องครัวใช้แยกกันของแต่ละแบรนด์ ปัจจุบันมีการทดลองรวม Cloud Kitchen ของไมเนอร์ไปแล้ว 10 สาขา ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ เเละมีการขยายไปยังเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตเเละเชียงใหม่ เริ่มจากการนำ Bonchon กับ Sizzler เข้าไปใช้พื้นที่ร่วมกับ The Pizza Company 

ตัวอย่างร้าน The Pizza Company นอกห้างที่เป็นตึกแถว บางสาขาอาจมีพื้นที่เหลือให้แบรนด์อื่นเข้ามาใช้ได้ (Photo : Google Maps)

ส่วนการขยายในอนาคต ผู้บริหารไมเนอร์ ตอบว่ายังไม่แน่ว่าจะเปิดกี่สาขา ขอดูตามสถานการณ์ และอาจจะมีการขยายไปควบคู่กับกลยุทธ์การรุกต่างจังหวัดของ Bonchon ที่ยังคงมุ่งผลักดันให้ขยายสาขาแบบมีหน้าร้านปกติอยู่

สำหรับการเปิดสาขาในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทจะเปิด Burger King เพิ่มอีก 4 สาขา และ Bonchon เพิ่มอีกเป็น 90 สาขา จากที่ตอนนี้มีแล้ว 65 สาขา ในจำนวนนี้จะรวมถึงโมเดล Cloud Kitchen ด้วย

โมเดลธุรกิจ Cloud Kitchen ไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุคหลัง COVID-19 เพราะเริ่มมีในต่างประเทศมาก่อนหน้านี้แล้ว อธิบายอย่างง่ายๆ คือการลงทุนทำครัวขนาดใหญ่ มีอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น เตาแก๊ส เตาอบ เตรียมไว้ให้ร้านอาหารมาเช่า และมีสเตชั่นครัวแบบนี้หลายๆ สเตชั่น หลายร้านสามารถมาเช่าทำงานพร้อมกันได้

โดย Cloud Kitchen จะไม่มีหน้าร้านสำหรับนั่งทาน มีแต่ช่องทางให้พนักงานเดลิเวอรี่หรือผู้บริโภคมารับอาหารแบบ take away ดังนั้นจึงตอบโจทย์ตรงที่ทำให้ลูกค้าขยายได้ง่ายกว่า ลงทุนต่ำกว่าและเปิดได้เร็วกว่า เพราะทุกอย่างเตรียมไว้พร้อมหมดแล้ว 

อ่านเพิ่มเติม : จับกระแส 5 บริษัทบุกธุรกิจ “คลาวด์ คิทเช่น” รับเทรนด์ฟู้ดเดลิเวอรี่บูมสุดขีด

ระวังการลงทุน…ปีนี้ต้องเบรกทุ่มก้อนใหญ่ 

ก่อนหน้านี้ กลุ่มไมเนอร์ได้ประกาศแผนระดมทุนแบบเบ็ดเสร็จ 25,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมตัวรับมือกับความไม่เเน่นอน หากการระบาดของ COVID-19 ยืดเยื้อกว่าที่คาด

สำหรับ แผนธุรกิจและการลงทุน ของไมเนอร์ ฟู้ดในปีนี้นั้น ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ MINT เปิดเผยว่า เเผนเดิมที่เคยวางไว้ในระยะ 5 ปีตอนนี้ทำได้ยากขึ้น เพราะความไม่เเน่นอนของสถานการณ์โดยเฉพาะธุรกิจโรงเเรม เเต่ในธุรกิจอาหารนั้นถือว่าฟื้นตัวได้เร็วมาก เเม้รายได้จะยังไม่กลับมาเท่าเดิม เเต่มองว่าอยู่ในช่วงกำลังปรับแผนเเละปรับองค์กร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไประยะยาว

“งบลงทุนใหญ่ๆ ปีนี้ต้องชะลอไว้ก่อน เพราะต้องรักษาสภาพคล่องของบริษัท แต่หากมีโปรเจกต์ในแบรนด์ที่สามารถทำรายได้ให้รีเทิร์นกลับมาได้ ก็จะพิจารณาไปเเต่ละกรณี”

ดังนั้นในปีนี้ งบลงทุนใหญ่ของไมเนอร์ ฟู้ดจึงจะมีการใช้ไปกับการลงทุนเพิ่มในแบรนด์ Bonchon ราว 2.4 พันล้านบาท เพื่อถือสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ 20 ปี ขยายสาขาใหม่ในไทย หลังจากเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้ทุ่มเงิน 2 พันล้านบาท เพื่อซื้อธุรกิจจากเจ้าของเดิม นอกจากนี้ยังมีการลงทุนอีก  1.1 พันล้านบาทเพื่อซื้อหุ้น BreadTalk ในสิงคโปร์ด้วย

 

]]>
1290392
ยุคแห่งการโคแบรนด์ “มาชิตะ x บอนชอน” จับสาหร่ายมารวมร่างกับไก่เกาหลี https://positioningmag.com/1272654 Fri, 10 Apr 2020 08:35:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1272654 “สาหร่ายมาชิตะ” ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์ Collaboration ผนึกพันธมิตรร้านอาหารแบรนด์ดัง ล่าสุดได้รับมือกับ “บอนชอน” ร้านไก่ทอดสไตล์เกาหลี ออกรสชาติใหม่สร้างสีสันให้ตลาด

ตลาดสาหร่ายดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยมีการเติบโตเท่าที่ควร อีกทั้งยังเจอพิษเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวเท่าที่ควร เมื่อดูตัวเลขตลาดสาหร่าย ปี 2019 (ตั้งแต่ พ.ย. 61- ต.ค. 62 ) มีมูลค่า 2,978 ล้านบาท เติบโต -0.9% การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จึงเป็นกลยุทธ์ที่จะกระตุ้นตลาดได้

โดยปกติแล้วผู้เล่นในตลาดสาหร่ายมีการเดินเกมด้วยกลยุทธ์ K-pop กันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเถ้าแก่น้อย และมาชิตะ แต่ในช่วงหลังมาชิตะได้เริ่มหากลยุทธ์ใหม่ๆ ที่สร้างความแตกต่างในตลาดได้มากขึ้น

มาชิตะเริ่มใช้กลยุทธ์การ Collaboration หรือโคแบรนด์กับพาร์ตเนอร์อื่นๆ นอกเหนืออุตสาหกรรม ก่อนหน้านี้โคแบรนด์ร่วมกับ “บาร์บีคิวพลาซ่า” ในการพัฒนาสาหร่ายรสชาติน้ำจิ้มบาร์บีคิว พลาซ่า เป็นการแลกเปลี่ยนฐานลูกค้ากัน และเป็นการขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้มากขึ้นด้วย

ล่าสุดมาชิตะได้เดินเกมจับมือกับร้านอาหารเพิ่มเติม เปิดแคมเปญ “มาชิตะ x ร้านดัง อร่อยปัง ยกกำลังสอง” ได้ทำการโคแบรนด์กับ “บอนชอน ชิคเก้น” (BonChon Chicken) นำรสไก่ทอดซอยการ์ลิคลงซองมาชิตะเป็นครั้งแรก

ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มการตลาดแบรนด์และผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า

“นอกจากเรื่องสินค้าของมาชิตะที่เป็นสูตร 0% ผงชูรส (No Msg) แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การทำการตลาดด้วยแนวคิดใหม่ๆ เพื่อให้ตัวสินค้าและแบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยให้ความสำคัญกับการทำตลาดร่วมมือกับพันธมิตร นำจุดแข็งความอร่อยของทั้ง 2 ฝ่าย มาสร้างความสำเร็จด้านการเติบโตร่วมกัน แคมเปญนี้ สร้างสีสันแปลกใหม่ให้กับตลาดสาหร่ายอีกระลอกต้อนรับในช่วงซัมเมอร์ วางเป้าหมายผลักดันกลุ่มสาหร่ายอบเติบโต 40%”

เหตุผลที่ทางมาชิตะเลือกจับมือกับบอนชอนนั้น เพื่อต้องการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เพราะบอนชอน ชิคเก้นมีฐานแฟนคลับจำนวนมากที่ชื่นชอบไก่ทอด ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน และกลุ่มครอบครัว โดยการร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้เกิดการ Cross ของฐานกลุ่มเป้าหมาย

ช่องการการจำหน่ายในครั้งนี้มีทั้งร้านสะดวกซื้อ, Food Delivery และในร้านของบอนชอน เป็นการขยายหน้าร้านให้มากขึ้น เพิ่มโอกาสการขายได้มากขึ้นเช่นกัน โดยรสชาติใหม่นี้จะมีจำหน่ายแค่ช่วงซัมเมอร์เป้นเวลา 3 เดือนเท่านั้น

]]>
1272654
“ไมเนอร์” ปิดดีล “บอนชอน” 2,483 ล้านบาท รับสิทธิ์เจ้าของแฟรนไชส์แต่เพียงผู้เดียว https://positioningmag.com/1267057 Thu, 05 Mar 2020 06:14:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1267057 หลังจากมีข่าวที่ไมเนอร์ประกาศเข้าลงทุนในร้านไก่ทอดบอนชอนเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ป่านมา ตอนนี้บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (“MINT”) ประกาศเข้าลงทุนในบริษัท Spoonful Pte. Ltd. ในประเทศสิงคโปร์ (“Spoonful SG”) และ บริษัท สพูนฟูล (ประเทศไทย) จำกัด (“Spoonful TH”) สัดส่วน 70% ในโดยใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 2,483 ล้านบาทอย่างเต็มรูปแบบแล้ว

Spoonful SG เป็นเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ของบอนชอนในประเทศไทย ส่วน Spoonful TH เป็นผู้ดำเนินการร้านอาหารบอนชอนที่จะขยายต่อไปในอนาคตในประเทศไทย โดยการเข้าลงทุนในครั้งนี้ ส่งผลให้ MINT เป็นผู้ดำเนินการร้านอาหารบอนชอนในประเทศไทย และเป็นเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ในระยะยาวแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงสิทธิในการให้แฟรนไชส์ต่อ

การเข้าลงทุนในครั้งนี้ ไมเนอร์ได้เห็นในศักยภาพการเติบโตของตลาดไก่ทอด และคอนเซ็ปต์แบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ของบอนชอน ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไมเนอร์ดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ที่มีอยู่และในอนาคต เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่แข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป

โดยที่ไมเนอร์มีแผนที่จะขยายสาขาบอนชอนอีกมากกว่า 150 แห่งทั่วประเทศไทยภายในสิ้นปี 2567 (มีการเติบโตของจำนวนร้านอาหารเฉลี่ยต่อปีใน 5 ปีมากกว่า 25%) โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัด เพราะปัจจุบันบอนชอนมีร้านอาหารเพียง 2 สาขานอกกรุงเทพฯ

พอล เคนนี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมเนอร์ ฟู้ด กล่าวว่า “การลงทุนในสิทธิแฟรนไชส์หลักของแบรนด์บอนชอนในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นการเน้นย้ำถึงกลยุทธ์ของบริษัทในการเพิ่มแบรนด์ในเครือร้านอาหาร และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย และด้วยการดำเนินงานในประเทศไทยมาเกือบ 10 ปี บอนชอนได้นำมาซึ่งฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่ (กลุ่ม Millennials และ Generation Z) ซึ่งมีความภักดีสูงที่บริษัทจะสามารถจะต่อยอดได้” 

]]>
1267057
“บอนชอน” เร่งปั๊มสาขา ปี 59 เพิ่มอีก 8 แห่ง https://positioningmag.com/1093117 Mon, 30 May 2016 04:28:51 +0000 http://positioningmag.com/?p=1093117 ยังคงสร้างกระแสไก่ทอดสไตล์เกาหลีได้อย่างต่อเนื่องสำหรับแบรนด์บอนชอนถือว่าเป็นผู้บุกเบิกเจ้าแรกๆ ที่ปลุกกระแสไก่ทอดให้บูมอีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะทำตลาดในไทยมาแล้ว 5 ปี ความนิยมของแบรนด์ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการรอคิวเข้าร้านที่ได้เห็นอยู่แทบทุกสาขาที่เปิดให้บริการ

บอนชอนได้วางจุดยืนให้แบรนด์ตัวเองว่าเป็นร้านอาหารโมเดิร์น เกาหลี มีความอินเตอร์ ไม่เกาหลีจ๋าจนเกินไป ด้วยการอยู่กึ่งกลางระหว่างอาหารเกาหลี และไก่ทอด ชูเมนูหลักเป็นไก่ทอด เพราะตลาดนี้ยังมีช่องว่างอยู่ และบอนชอนรู้ดีว่าจะลงไปเล่นในตลาดไก่ทอดอย่างเดียวก็มีผู้เล่นรายใหญ่อย่างเคเอฟซีอยู่ ซึ่งมีความแมสมากกว่า ไม่มีทางสู้ได้แน่นอน ส่วนอาหารเกาหลีก็มีผู้เล่นอย่างทัคคาลบี้ (Dak Galbi) อยู่เช่นกัน

โจทย์หลักของบอนชอนในปีนี้ก็ยังคงเป็นการขยายสาขาให้รองรับกับความต้องการของผู้บริโภค โดยที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 22 สาขา แบ่งเป็นที่ทางบริษัทบริหารเอง 18 สาขา แฟรนไชส์ที่สนามบิน 3 สาขา และการร่วมทุนกับคนในท้องถิ่น 1 สาขาที่รอยัลการ์เด้น พลาซ่า พัทยา

ปีนี้ได้ทำการเปิดอีก 8 สาขา เน้นทำเลในกรุงเทพฯ รอบนอกเมือง 5 เดือนที่ผ่านมาได้เปิดไปแล้ว 5 สาขา ได้แก่ ที่สนามบิน 2 สาขา มาบุญครอง เซ็นทรัลบางนา และเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ภายในครึ่งปีหลังจะเปิดอีก 3 สาขาได้แก่ เซ็นทรัลพระราม 2 เดอะมอลล์บางกะปิ และเซ็นทรัลลาดพร้าว ใช้งบลงทุน 7 ล้านบาท/สาขา ภายในพื้นที่ 200-250 ตารางเมตร รองรับได้ 150 ที่นั่ง

ส่วนสาขาในต่างจังหวัดจะเริ่มขยายไปในช่วงปีหน้า และกำลังศึกษาโมเดลแฟรนไชส์อยู่ด้วย

ธัญญา ศรีพัฒนาสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาชิสโสะ จำกัด กล่าวว่าปีนี้เรายังโฟกัสเรื่องการขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ ก่อน เพราะยังมีความต้องการอีกเยอะ ส่วนในต่างจังงหวัดจะเริ่มขยายไปปีหน้า กำลังมองอยู่ว่าขยายในโมเดลทำเอง หรือขายแฟรนไชส์ แต่ตอนนี้ยังเน้นที่การลงทุนเองก่อน เพราว่าสามารถควบคุมทุกอย่างเองได้

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่บอนชอนได้เริ่มใช้เพื่อพัฒนาแบรนด์ให้ดีขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้งแอปพลิเคชั่น QueQ ที่ช่วยบริหารจัดการเรื่องคิวหน้าร้าน และบริการเดลิเวอรี่ที่จับมือกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นแอปพลิเคชั่น Foodpanda, Ginja เป็นต้น ซึ่งรายได้จากเดลิเวอรี่มีสัดส่วนเพียงแค่ 2% เท่านั้น

ปัจจุบันบอนชอนมีเมนูกว่า 20 เมนู เป็นเมนูโลคอลที่มีเฉพาะในประเทศไทยราว 20% ในช่วงไตรมาสที่ 3 จะมีออกเมนูใหม่อีกเพื่อสร้างความแปลกใหม่

รายได้มีปี 2558 ที่ผ่านมาบอนชอนมีรายได้รวม 584 ล้านบาท เติบโตเกิน 100% จาก240 ล้านบาท

1_bonchon 2_bonchon3_bonchonnew

]]>
1093117
บิ๊กเกม บิ๊กไซส์ ศึกชิงตลาดไก่ทอด 1.7 หมื่นล้าน https://positioningmag.com/1092764 Thu, 26 May 2016 00:30:24 +0000 http://positioningmag.com/?p=1092764 ตลาดไก่ทอด “บิ๊กไซส์” สุดคึก เมื่อแมคโดนัลด์ ส่ง “แมคไก่ทอดจัมโบ้” ลงสนามหวังทวงคืนตลาดอีกครั้ง หลังเจอคู่แข่งแบรนด์ดังใช้ขนาดเป็นจุดขาย ด้านฮ็อทสตาร์-บอนซอน-เคเอฟซี ตะลุยปั้นเมนูใหม่ เน้นความหลากหลายและความคุ้มค่า รับศึกใหญ่ไก่ทอดปี 2559 

ตลาดไก่ทอด ถือว่าเป็นเซ็กเมนต์ใหญ่ที่สุดในตลาดร้านอาหารจานด่วน (QSR – Quick Service Restaurants) หรือ ธุรกิจฟาสต์ฟูด ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่มากถึง 40% หรือกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าตลาดของอาหารจานด่วนมูลค่า 3.4 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา

ในปีนี้ ตลาดไก่ทอดยังถูกคาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 13% ถือว่าเติบโตสูงสุดในธุรกิจฟาสต์ฟูด ในขณะที่เบอร์เกอร์และพิซซ่าเติบโตในอัตรา 5-9%

ด้วยตลาดที่มีขนาดใหญ่ และสดใส จึงมีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง จากเดิมทีตลาด “ไก่ทอด” จะอยู่ในมือของผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูด ก็คือ เคเอฟซี ถือว่าเป็นผู้นำในตลาดไก่ทอด เกิน 50%  ตามมาด้วย แมคโดนัลด์ ที่แม้จะแข็งแกร่งในเมนูเบอร์เกอร์มากกว่า แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งไก่ทอด

โดยเฉพาะเมื่อมีแบรนด์น้องใหม่เข้ามาทำตลาดในไทย ไม่ว่าจะเป็น “บอนชอน และเคียวโซน” จากเกาหลี  “ฮ็อทสตาร์” จากไต้หวัน  โดยมีจุดขายที่ “ไซส์ใหญ่” สร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ชอบทดลองของใหม่ ส่งผลกระทบต่อผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดได้ไม่น้อย

ทั้งรายเก่าและรายใหม่ ต่างก็ต้องแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด และสร้างการเติบโตให้ได้มากที่สุด กลยุทธ์ที่ถูกหยิบมาใช้จึงมีสารพัดรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปในเรื่องของความคุ้มค่าของสินค้า และความหลากหลายของเมนูอาหาร นอกเหนือจากรสชาติที่ถือเป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจอาหาร

++แม็คออกไซส์จับโบ้-หั่นราคาสู้

แมคโดนัลด์ ต้องกระโจนลงมาเปิดศึกชิงตลาดไก่ทอด ภายใต้กลยุทธ์ความคุ้มค่าของราคาและความหลากหลายของเมนู ด้วยการเปิดเมนูใหม่ “แมคไก่ทอดจัมโบ้” ที่หวังสร้างการเติบโตในภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเป็นปกติ

1_chicken

โดยตั้งแต่ราคาเริ่มต้นชิ้นละ 37 บาท จากปกติ 40 บาท และยังปรับขนาดไก่ที่ใหญ่กว่าเดิมถึง 40% เพื่อให้ผู้บริโภคควักกระเป๋าได้ง่ายขึ้น พร้อมกับเพิ่มเมนูชุดไก่ทอดให้หลากหลาย เช่น ชุดจัมโบ้ดี๊ดี ราคา 69–99 บาท ชุดจัมโบ้สุดคุ้ม ราคา 129–149 บาท ชุดจัมโบ้เต็มอิ่ม ราคา 199 บาท ชุดจัมโบ้จัดหนัก ราคา 259 บาท และชุดจัมโบ้ใหญ่ใหญ่ ราคา 369 บาท

แมคโดนัลด์ทุ่มงบประมาณทางการตลาด 50 ล้านบาท พร้อมกับการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การสื่อสารแคมเปญผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ไปถึงผู้บริโภค ซึ่งคาดหวังว่าแคมเปญนี้จะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ผลักดันให้ยอดขายของบริษัทในปีนี้เติบโตด้วยอัตราเลขสองหลัก

เพชรัตน์ อุทัยสาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท แมคไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดไก่ทอดในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีมานี้ เนื่องจากมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามา ประกอบกับคนไทยมีการบริโภคเนื้อไก่มากถึง 19.7 กิโลกรัม/ปี จากการบริโภคเนื้อสัตว์ทั้งหมดเฉลี่ย 30 กิโลกรัม/คน/ปี ซึ่งถือว่าสูงกว่าการบริโภคเนื้อสัตว์อื่นๆ ทำให้โอกาสของตลาดไก่ทอดยังมีอีกสูง

เธอมองว่าการเข้ามาของแบรนด์ไก่ทอดจากต่างประเทศ เป็นเพียงแฟชั่นเพื่อสร้างกระแสมากกว่า ไม่ได้อยู่ถาวร แต่ก็ยอมรับว่าเรียกความสนใจของผู้บริโภคไปได้พอสมควร แมคโดนัลด์จึงต้องออกเมนูนี้เพื่อตีตลาดอีกครั้ง ต้องการให้เป็นทางเลือกว่านึกถึงไก่ทอด ให้นึกถึงแมคโดนัลด์ ดึงผู้บริโภคให้กลับมาหาแมคโดนัลด์

ปัจจุบันเมนูที่สร้างรายได้มากที่สุดเป็น 3 อันดับแรกยังคงเป็น แมคฟิช, นักเก็ต และเมนูข้าว แมคโดนัลด์ต้องการที่จะให้เมนูไก่ทอดขึ้นสู่ 3 อันดับแรก เพราะอัตราการบริโภคไก่ของคนไทยสูง มีโอกาสอีกมากมาย

ส่วนแผนในการขยายสาขาในปีนี้ แมคโดนัลด์ขยายสาขาเพิ่มอีก 25 สาขา แบ่งเป็นโมเดลไดร์ฟทรู 50% ล่าสุดมีสาขารวมทั้งหมด 226 สาขา และเป็นโมเดลไดร์ฟทรู 73 สาขา

2_chicken

“ฮ็อทสตาร์” ไก่ทอดน้องใหม่ สร้างกระแสไก่อะไรใหญ่เท่าหน้า

นับเป็นเวลา 1 ปี พอดีที่บริษัทฟู้ดแพชชั่น บริษัทลูกของบาร์บีคิวพลาซ่า นำแบรนด์ฮ็อทสตาร์ จากไต้หวันเข้ามาทำตลาดในไทย

ด้วยการวางจุดยืนเป็นอาหารทานเล่นโดยอาศัยกลิ่นอายของประเทศไต้หวันมาเป็นจุดขาย ซึ่งได้ใช้เมนู “ไก่ทอด XXL” เป็นตัวชูโรงในการแจ้งเกิดในตลาด ถือว่าได้ผลพอสมควร เพราะสามารถทำให้เกิดกระแสในการรับรู้ต่อแบรนด์ และมีการต่อแถวซื้อหน้าร้าน ทำให้มีอยู่ช่วงหนึ่งมีกระแส “ไก่อะไรใหญ่เท่าหน้า” ทั่วโลกโซเชียลเลยทีเดียว

การมาของฮ็อทสตาร์กับไก่ไซส์ใหญ่ ก็ยิ่งเป็นตัวสร้างแรงกระเพื่อมให้ตลาดไก่ทอดคึกคักเข้าไปอีก ถึงแม้ว่าฮ็อทสตาร์จะไม่ลงไปเล่นตลาดไก่ทอดโดยตรงก็ตาม แต่ก็มีส่วนทำให้ตลาดคึกคัก และมีสีสันมากขึ้นในทางอ้อม

ชนินทร์ ชูพจน์เจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบรนด์ HOT-STAR บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ฮ็อทสตาร์ ได้รับกระแสตอบรับที่เหนือความคาดหมาย ตอนแรกที่นำแบรนด์นี้เข้ามาก็มองเห็นโอกาสของแบรนด์ว่าประเทศไต้หวันมีความน่าสนใจในเรื่องอาหารอยู่มาก เพราะมีสตรีทฟูดคล้ายๆ ประเทศไทย ทำให้หลังจากนั้นกลายเป็นเทรนด์ของไต้หวันบูมขึ้นมา ทั้งเรื่องอาหาร และการท่องเที่ยว ถือว่าฮ็อทสตาร์ก็เป็นผู้นำเทรนด์ไปเลย

การวาง “โพสิชันนิ่ง” ก็มีส่วนสำคัญ โดยฮ็อทสตาร์ถูกวางจุดยืนให้อยู่ในตลาด “สแน็ก” หรืออาหารทานเล่น ซึ่งมีขนาดกว้างกว่า และยังมีช่องว่างอยู่มาก สอดคล้องพฤติกรรมคนไทยที่ชื่นชอบทานไก่ทอด หรืออาหารทานเล่น ทานง่ายและสะดวก และที่สำคัญแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ที่เน้นเป็นอาหารมือหลัก โดยใช้ขนาดความใหญ่ของไก่เป็นจุดขาย

รายการอาหารส่วนใหญ่จะเป็น Fun Snack กว่า 20 รายการ เป็นของทานเล่น โดยเมนูซิกเนเจอร์ก็คือไก่ทอดไซส์ XXL ที่เป็นกระแส และมีสัดส่วนรายได้ 50% แต่ก็จะมีเมนูโลคอลผสมไปด้วยเพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมคนไทย อย่างไก่พอดีคำ, ปลาหมึกสดพริกเกลือ และหมูสับทอด

เมื่อวางถูกให้เป็น “อาหารทานเล่น” จึงมุ่งเน้นออกอีเวนต์ ที่นิยมในหมู่วัยรุ่น เช่น คอนเสิร์ตมันใหญ่มาก เพื่อสร้างให้เกิดกระแสการแชร์ ผ่านโลกออนไลน์

ปัจจุบันฮ็อทสตาร์มีทั้งหมด 6 สาขา ในปีนี้มีแผนเปิดอีก 5-10 สาขา ใช้งบลงทุนสาขาละ 2 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่มาก เน้นลักษณะคีออส มุ่งทำเลในห้างสรรพสินค้า และงานอีเวนต์ คอนเสิร์ตต่างๆ รวมถึงกำลังศึกษาการขายแฟรนไชส์

“ความท้าทายในตอนนี้ก็คือ การสร้างประสบการณ์ความเป็นสแน็กแบบไต้หวันให้เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคให้ได้ และต้องมีกิจกรรม มีอีเวนต์ที่เข้าถึงผู้บริโภคตลอด และต้องออกเมนูใหม่เพื่อสร้างความตื่นเต้นตลอดด้วย”

++บอนชอนสานต่อกิจกรรมกินไก่ ปี2

ขณะที่แบรนด์บอนชอน ชิคเก้น จากประเทศเกาหลี ที่บริหารงานโดยบริษัท มาชิสโสะ จำกัด ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดฟาสต์ฟูด โดยขยายสาขาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉพาะในปี 2559 เตรียมขยายสาขา 8-9 แห่ง ใช้งบประมาณการลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 7 ล้านบาท เพื่อไปสู่เป้าหมายยอดขาย 800 ล้านบาท

2_chickennew

กลยุทธ์สำคัญที่ถูกหยิบมาใช้ คือ การเพิ่มเมนูและความหลากหลายของอาหารให้มากขึ้น โดยเตรียมเมนูใหม่อีก 3-4 เมนู ที่จะเปิดตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 20 เมนู และยังมีกลยุทธ์สำคัญที่เน้นสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าได้เกิดการทดลองบริโภค กับแคมเปญการแข่งขันกินไก่ BonChon Chick Challenge : ศึกชิงแชมป์กินไก่แห่งประเทศไทยปี 2 เพื่อเฟ้นหาลูกค้าที่สามารถกินไก่ทอดได้เร็วและมากที่สุดในประเทศไทย ที่จะคว้าเงินรางวัลมูลค่า 1 แสนบาท และสิทธิ์ในการกินไก่ฟรีตลอดปี

แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นเพียงแคมเปญการตลาดที่ออกมากระตุ้นและสร้างสีสัน แต่จะเห็นว่ากิจกรรมนี้สามารถขยายฐานผู้บริโภครายใหม่ให้เกิดการทดลองกินสินค้า

++เท็กซัส ชิคเก้นเพิ่มเมนูเฉพาะในไทยเอาใจลูกค้า

ด้านร้านไก่ทอดแบรนด์เท็กซัส ชิคเก้น ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์มาบริหารเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์สำคัญที่จะเข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาด และดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองไม่แพ้ค่ายอื่น เพราะความได้เปรียบในเรื่องของทำเลที่ตั้ง คือสถานีบริการน้ำมัน ปตท. อยู่ทั่วประเทศ

4_chicken

แม้ว่าแนวทางเริ่มต้นในการขยายสาขา ทางปตท.จะมุ่งเน้นขยายในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์กลางธุรกิจ มากกว่าในสถานีบริการน้ำมันก็ตาม แต่เมื่อใดก็ตามที่แบรนด์เท็กซัส ชิคเก้นเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ การปูพรมสาขาไปตามสถานีบริการน้ำมันก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร

โดยตามแผนธุรกิจภายใน 10 ปีจะมีการขยายสาขาครบ 70 แห่ง เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายยอดขาย 6 พันล้านบาท แต่เฉพาะในปีนี้มีแผนจะขยายสาขาครบ 11 แห่ง โดยใช้งบประมาณการลงทุนเฉลี่ย 15 ล้านบาทต่อสาขา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นไก่ทอดแบรนด์น้องใหม่ในตลาด แต่ด้วยกลยุทธ์ที่สร้างความหลากหลายของเมนูอาหารจานหลัก 8 เมนู และยังเตรียมเมนูอาหารเฉพาะในไทยโดยเฉพาะอีก 3-4 เมนู ก็เป็นไม้เด็ดที่จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าให้สนใจเข้าไปทดลอง นอกเหนือจากรสชาติอาหารที่ถือเป็นต้นตำรับจากสหรัฐอเมริกา

 +++เคเอฟซีเพิ่มเมนูข้าว

สำหรับไก่ทอดแบรนด์เคเอฟซี ของบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ถือว่าเป็นผู้นำตลาดไก่ทอดด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50% ยังคงเดินหน้าทำการตลาดเพื่อรักษาความเป็นผู้นำอย่างต่อเนื่อง

อัลฮูล ซัวฮาน รองประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด–เคเอฟซี ระบุว่า

กลยุทธ์ของเคเอฟซีในปีนี้ ก็ยังคงมุ่งเน้นการในเรื่องนวัตกรรมของเมนูที่หลากหลาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีเมนูที่ได้ออกสู่ตลาดแล้ว เช่น พิซซ่าไก่กรอบชิคซ่า (Chizza) และที่เตรียมจะวางจำหน่ายต่อไป คือ เมนูไก่ทอดรสชาติใหม่ๆ และไก่ทอดในขนาดชิ้นพอดีคำ

5_chickennew

เมื่อเร็วๆ นี้ เคเอฟซี ได้ออก ไรซ์โบว์ล  3 เมนูข้าว ไก่ซี้ดโบว์ล ไก่แซ่บโบว์ล และไก่เขียวหวานโบว์ล เมนูรสจัดจ้านสไตล์ไทยๆ เอาใจคนรุ่นใหม่ที่ชอบความสะดวก รวดเร็ว ในมื้อกลางวันที่เร่งรีบ รวมถึงการปรับปรุงเว็บไซต์ www.kfc.co.th เพื่อให้ลูกค้าเลือกสั่งอาหารได้ง่ายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในร้านเคเอฟซียังเพิ่มบริการไวไฟ เริ่มจากเคเอฟซี สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และมีแผนในการเพิ่มการให้บริการดังกล่าวครอบคลุม90สาขาภายในไตรมาส3ของปีนี้อีกด้วย

++A&W วางเป้าขึ้นแท่นเบอร์ 3

6_chicken

หลังจาก A&W Restaurant Inc. ได้เซ็นสัญญาแฟรนไชส์กับบริษัท นิปปอนแพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้บริหารร้านฟาสต์ฟูดเอแอนด์ดับบลิว (A&W) เป็นระยะเวลา 20 ปี ได้กลายเป็นก้าวสำคัญของร้านเอแอนด์ดับบลิวกลับเข้ามารุกธุรกิจฟาสต์ฟูดอีกครั้ง

บริษัท นิปปอนแพ็คฯ เริ่มต้นด้วยการจัดตั้งบริษัท เอ็นพีพีฟู้ด อิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้ามาบริหารงาน พร้อมเตรียมเงินทุนและทีมบริหารงาน เพื่อขยายธุรกิจให้ได้อย่างน้อย 100 แห่ง ภายในระยะ 5 ปี จากก่อนหน้าที่มีสาขาอยู่ 33 แห่ง ซึ่งหวังจะมีส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากกว่า 10% และขึ้นเป็นผู้นำตลาดในอันดับที่ 3 ของกลุ่มเบอร์และไก่ทอด

กลยุทธ์สำคัญทางการตลาดในปีนี้ คือ การเพิ่มความหลากหลายของเมนูอาหาร เน้นความแปลกใหม่ แม้ว่าความโดดเด่นของเอแอนด์ดับบลิวจะเป็นวาฟเฟิลและรูทเบียร์ แต่เมนูไก่ทอดก็ถือเป็นหนึ่งตัวจักรสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ภาพรวมธุรกิจเติบโตด้วยเช่นกัน เพราะสามารถกินควบคู่กับรูทเบียร์ได้อย่างลงตัว และยังมีเมนูอื่นๆ ที่จะถูกพัฒนาออกมาทำตลาดอย่างต่อเนื่องด้วย

c1

++ชี้ลูกค้ายุคนี้ เบื่อเร็ว ต้องเพิ่มเมนูให้หลากหลาย

ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความเห็นว่า “ตลาดไก่ทอดยังคงมีสีสันอยู่ และการแมคโดนัลด์ที่เป็นรายใหญ่ลงมาทำไซส์ใหญ่บ้างก็เป็นกิมมิกทางการตลาด ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีกลยุทธ์แตกต่างกันออกไป แมคโดนัลด์ได้เลือกใช้คำว่าจัมโบ้ เป็นการมองเรื่องความคุ้มค่าเป็นหลัก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของแมคโดนัลด์เป็นกลุ่มแมสที่มองความคุ้มค่าของราคาเป็นหลัก

แมคโดนัลด์เองก็ไม่ได้พูดเรื่องไก่ทอดมานานแล้วเหมือนกัน การเอามาปรับโฉมใหม่จำเป็นต้องมีอะไรที่แตกต่าง สร้างความน่าสนใจ จึงเล่นเรื่องขนาดและราคา เพราะด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้เบื่อเร็ว ต้องหาอะไรใหม่ๆ เข้ามา การกินเบอร์เกอร์อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอแล้ว ร้านอาหารต้องมีการปรับเมนูให้ครบถ้วน มีวาไรตี้

การปรับเมนูต่างๆ ก็ช่วยในเรื่องภาพลักษณ์ของร้านอาหารฟ้าสต์ฟูดด้วย อาจจะทำให้ผู้บริโภคไม่ได้มองแบรนด์ว่าเป็นฟาสต์ฟูดเกินไป มีอาหารที่หลากหลาย ตรงกับจริตคนไทยด้วยที่ชอบลองของใหม่

]]>
1092764