Brexit – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 25 Dec 2020 08:40:57 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สรุป 10 ข้อสำคัญปิด “ดีล Brexit” อังกฤษ-EU จบมหากาพย์ยืดเยื้อ 4 ปี https://positioningmag.com/1312101 Fri, 25 Dec 2020 07:46:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1312101 โค้งสุดท้ายของมหากาพย์ Brexit สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (EU) ประกาศบรรลุดีลเบื้องต้นก่อนถึงเส้นตายวันที่ 31 ธันวาคมนี้ อ่านสรุป 10 ข้อเนื้อหาสำคัญในข้อตกลงได้ที่นี่

กระบวนการ Brexit หรือการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ของสหราชอาณาจักรยืดเยื้อมานานถึง 4 ปี นับตั้งแต่การลงประชามติในปี 2016 โดยมีเส้นตายการทำข้อตกลงกับ EU ให้ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 มิฉะนั้น อังกฤษจะต้องออกจาก EU โดยไร้ข้อตกลง

มีผลกระทบหลายด้านที่จะเกิดขึ้นทั้งกับอังกฤษและ EU หากเกิด ‘No-deal Brexit’ ขึ้นจริง แต่ในที่สุดประชาชนทั้งสองฝั่งได้รับข่าวดีต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส โดยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2020 ทั้ง “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ “เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ต่างประกาศความสำเร็จในการจับมือทำข้อตกลงกันได้ในที่สุด

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ (Photo by Andrew Parsons-WPA Pool/Getty Images)

โดยข้อตกลงเบื้องต้นที่แจ้งต่อสื่อจากรายละเอียดรวมนับพันๆ หน้า สรุปเป็น “10 ข้อสำคัญปิดดีล Brexit” ดังนี้

1) เขตปลอดภาษีทางการค้า และไม่จำกัดโควตาการนำเข้า-ส่งออก
2) สิ้นสุดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีระหว่างประชาชนในสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป ส่งผลให้ประชาชนชาวอังกฤษไม่สามารถทำงาน เรียนต่อ อยู่อาศัย หรือเริ่มต้นธุรกิจใน EU ได้โดยไม่มีวีซ่า
3) เริ่มการจัดตั้งจุดตรวจชายแดนระหว่าง EU กับอังกฤษ
4) อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการจัดตั้งด่านชายแดนถาวร (hard border) ระหว่างพื้นที่ไอร์แลนด์เหนือกับประเทศไอร์แลนด์
5) น่านน้ำการประมงของอังกฤษจะค่อยๆ ทยอยกลับคืนสู่อังกฤษ 100% ภายในเวลา 5 ปีครึ่ง โดยจะทยอยลดโควตาเรือประมงของ EU ที่เข้ามาจับปลาในน่านน้ำได้ในแต่ละปี เริ่มปีแรกลดลง 15%
6) ยังคงมีสัญญาต่อกันในการสร้างความร่วมมือ ด้านสิ่งแวดล้อม สู้โลกร้อน และลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงความสนใจที่ตรงกันในด้านอื่นๆ เช่น พลังงาน ความปลอดภัย ขนส่งสาธารณะ อย่างไรก็ตาม มีโครงการหนึ่งที่อังกฤษจะไม่มีส่วนร่วมใน EU อีกต่อไปคือโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน Erasmus
7) สัญญาร่วมกันในการปกป้องสิทธิแรงงานและสังคม
8) รักษามาตรฐานความโปร่งใสด้านภาษี
9) สิทธิแรงงานและผู้โดยสารในธุรกิจขนส่ง
10) โปรแกรมต่อเนื่องที่สหราชอาณาจักรมีร่วมกับ EU จนถึงปี 2027 เช่น โครงการ Horizon Europe จะยังคงได้รับเงินสนับสนุนตามส่วนของสหราชอาณาจักรต่อไป

“เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (Photo by Leon Neal/Getty Images)

จอห์นสัน กล่าวถึงดีลในครั้งนี้ว่าเป็น “ดีลที่ดีสำหรับทวีปยุโรปทั้งหมด” และย้ำเตือนถึงแคมเปญ Brexit ในลักษณะชาตินิยมอีกครั้งว่า “เราได้นำสิทธิกำหนดควบคุมกฎหมายและชะตาของเราเองกลับคืนมาอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 เราจะอยู่นอกสหภาพ นอกตลาดเดียว กฎหมายของอังกฤษจะอยู่ในมือรัฐบาลอังกฤษเท่านั้น ถูกตีความโดยผู้พิพากษาอังกฤษ ในศาลของอังกฤษ และการตัดสินใจของศาลแห่งสหภาพยุโรปจะถึงจุดสิ้นสุด”

ด้าน ฟอน เดอร์ เลเยน แถลงเช่นกันว่า EU ได้เซ็นดีลที่สมดุลและยุติธรรม แต่ให้สัญญาณว่า EU ได้เปรียบกว่าในดีลครั้งนี้

“อย่างที่เราทราบกันดี หากว่ามีการออกจาก EU แบบ Hard Brexit จะไม่ส่งผลดีกับทั้งสองฝ่าย แต่จะส่งผลกระทบที่หนักกว่ากับสหราชอาณาจักร เพราะเรามีประชากรถึง 450 ล้านคนใน EU ดังนั้น จากความแข็งแกร่งของเราทำให้เราบรรลุดีลที่ครอบคลุมที่สุดที่เราเคยได้มา” ฟอน เดอร์ เลเยนกล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าหนักใจอย่างต่อไปคือการนำข้อตกลงมาประกาศเป็นกฎหมาย ฝั่งสหราชอาณาจักรจะมีการประชุมสภาในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ โดยพรรคฝ่ายค้านแสดงท่าทีแล้วว่าพรรคจะโหวตผ่านดีลข้อตกลงทางการค้า แต่ฝั่ง EU นั้นมีแนวโน้มที่จะเซ็นกฎหมายไม่ทันก่อนปีใหม่ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 มีความเป็นไปได้ที่บริษัทต่างๆ จะเตรียมตัวไม่ทันรับฐานภาษีที่พุ่งสูงขึ้นชั่วคราว

Source: CNN, BBC

]]>
1312101
7 ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม หากอังกฤษต้องเผชิญ No-deal Brexit https://positioningmag.com/1309946 Thu, 10 Dec 2020 06:40:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1309946 อังกฤษกำลังอยู่ใน “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” โดยสถานะขณะนี้พ้นจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว แต่ยังต้องเจรจาข้อตกลงทางเศรษฐกิจให้จบภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ มิฉะนั้นก็จะเป็น No-deal Brexit อย่างเป็นทางการ และถ้าเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น อังกฤษจะได้รับผลกระทบ 7 ด้าน

วันนี้ (10 ธันวาคม 2020) “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะรับประทานอาหารค่ำกับ “เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม มื้ออาหารนี้ไม่ธรรมดาเพราะจะเป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของจอห์นสัน เพื่อหาข้อตกลงร่วมในการกำหนดความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอังกฤษกับสหภาพยุโรป

จอห์นสันมีความตั้งใจที่จะทำให้ดีลชัดเจนขึ้นภายในสุดสัปดาห์นี้ แต่ก็ยังคงหนักแน่นในจุดยืนว่าอังกฤษจะเป็นชาติอิสระที่ยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ขณะขึ้นเครื่องเพื่อบินไปเจรจากับเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม (Photo : Twitter@BorisJohnson)

แม้ว่าจอห์นสันจะประกาศกร้าวมานานแล้วว่าเขา “พร้อมรับสถานการณ์ No-deal Brexit” แต่เชื่อได้ว่าเขาเองก็ไม่ต้องการให้สถานการณ์นั้นเกิดขึ้น และถ้าหากเกิดขึ้นจริง สำนักข่าว Reuters ได้วิเคราะห์ผลกระทบ 7 ด้านจากการไร้ดีลการค้าเมื่อออกจากการเป็นสมาชิก EU ของอังกฤษ ดังนี้

 

1. เงินปอนด์อ่อนค่า

นักลงทุนและสถาบันการเงินคาดการณ์ไว้นานแล้วว่า ข้อตกลงทางการค้าจะสำเร็จได้ ดังนั้น ถ้าหากผลพลิกผันเป็น No-deal Brexit สถานการณ์จะซ้ำเติมให้ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าลงอีก

เงินปอนด์เคยร่วงลงรุนแรงที่สุดภายในวันเดียวมาแล้ว เมื่อวันประกาศผลการลงประชามติปี 2016 ที่ปรากฏว่าอังกฤษโหวตออกจาก EU ทำให้เงินปอนด์อ่อนค่า 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันค่าเงินปอนด์อยู่ที่ 1 ปอนด์ต่อ 1.34 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2016 ก่อนการลงประชามติอยู่ที่ 1 ปอนด์ต่อ 1.45 ดอลลาร์สหรัฐ

 

2. กำแพงภาษี ส่งออกแข่งขันยาก ของนำเข้าแพงขึ้น

หากไม่มีดีลการค้าใดๆ เลย อังกฤษจะสูญเสียตลาดปลอดภาษีในยุโรปไปในชั่วข้ามคืน โดยตลาดนี้มีประชากรกว่า 450 ล้านคน จึงเป็นฐานการส่งออกสินค้าที่สำคัญมากของอังกฤษ ในทางกลับกัน อังกฤษก็จะตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรปด้วย ทำให้ประชาชนและธุรกิจอังกฤษต้องซื้อสินค้านำเข้าในราคาแพงขึ้น

ในแง่ผู้บริโภคทั่วไป เป็นไปได้ว่าสินค้า “กลุ่มอาหาร” จะกระทบหนักที่สุด อังกฤษอาจจะขาดแคลนอาหารจากยุโรปไประยะหนึ่ง โดยอังกฤษมีการนำเข้าอาหารสดถึง 60% ของที่มีในตลาด

แผนกอาหารสดใน Tesco สหราชอาณาจักร (Photo : Shutterstock)

ทั้งนี้ “จอห์น อัลลัน” ประธานบริษัท Tesco ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของอังกฤษระบุว่า การขาดแคลนอาหารสดอาจจะเกิดขึ้นชั่วคราวเพียง 1-2 เดือน จากนั้นจะเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนราคาอาหารสดนำเข้าโดยเฉลี่ยน่าจะสูงขึ้น 3-5% ขึ้นอยู่กับประเภทอาหาร บางชนิดอาจจะราคาสูงขึ้นมาก เช่น ชีสจากฝรั่งเศสสามารถปรับราคาขึ้นได้สูงสุด 40% ดังนั้น ผลกระทบต่อผู้บริโภคแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นๆ รับประทานของนำเข้ามากแค่ไหน

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่มี EU เป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชน คาดว่าจะมีผลกระทบหลักกับกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ คือ ยานยนต์, อาหารและเครื่องดื่ม, เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย, ยาและเวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

สหภาพยุโรปนั้นเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ โดยมีสัดส่วนถึง 47% ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดในปี 2019 โดยมีมูลค่ารวมราว 7.9 หมื่นล้านปอนด์

 

3.ธุรกิจยานยนต์อ่วมสุด

ในบรรดาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว อุตสาหกรรมที่จะรับเคราะห์หนักที่สุดคือ “ยานยนต์” เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ไปยัง EU จะเผชิญกำแพงภาษี 10% ทันที และสูงขึ้นเป็น 22% สำหรับรถประเภทรถบรรทุกและรถตู้ เมื่อเกิดการขึ้นภาษี เป็นไปได้สูงที่ภาระนี้จะถูกผลักลงในราคารถยนต์ และทำให้ผู้บริโภคยุโรปที่ต้องการซื้อรถอังกฤษต้องจ่ายแพงขึ้น

(Photo by Zhang Peng/LightRocket via Getty Images)

เครือข่ายผู้ผลิตและผู้ค้ายานยนต์แห่งอังกฤษเปิดเผยว่า No-deal Brexit จะทำให้การผลิตรถยนต์ในอังกฤษลดลง 2 ล้านคันในรอบ 5 ปีข้างหน้า และมีผลให้การพัฒนายานพาหนะปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ทำได้ช้าลง

Reuters ยังรายงานเสริมด้วยว่า อีกประเด็นที่จริงๆ แล้วมีผลกระทบกับเศรษฐกิจน้อยแต่มีผลเชิงสังคมสูงคือ “ธุรกิจประมง” การเจรจาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนทำประมงกับฝรั่งเศสจะเป็นเรื่องใหญ่ในข้อตกลง แม้ว่าการประมงจะมีสัดส่วนเพียง 0.03% ในมูลค่าเศรษฐกิจของอังกฤษก็ตาม

 

4.เศรษฐกิจป่วนทั้งสองฝั่ง

สำนักงานตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างรับผิดชอบของอังกฤษ ประเมินว่า หากอังกฤษพ้นสมาชิก EU แบบไร้ข้อตกลงทางการค้า จะทำให้ขนาดเศรษฐกิจอังกฤษลดลง 2% ขณะเดียวกัน จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อัตราว่างงานสูงขึ้น และหนี้สาธารณะสูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ฝั่ง EU ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน บริษัท Allianz ประเมินว่าการออกแบบไร้ดีลจะทำให้สหภาพยุโรปสูญเสียตลาดส่งออกมูลค่า 3.3 หมื่นล้านยูโรไป โดยมีประเทศที่รับผลหนักที่สุดคือ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส รองลงมาคือไอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน โปรตุเกส โปแลนด์ เช็ก ไซปรัส มอลต้า และฮังการี

สถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจ Halle คาดการณ์ว่าบริษัทใน EU ที่ทำการส่งออกไปอังกฤษ เมื่อได้รับผลกระทบจากการไร้ข้อตกลงการค้า จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการว่างงานถึง 7 แสนตำแหน่งในอุตสาหกรรมนี้

 

5.ปัญหาไอร์แลนด์เหนือ

เนื่องจากข้อตกลง Brexit ไม่ได้ออกจาก EU กันหมดทั้งสหราชอาณาจักร เฉพาะไอร์แลนด์เหนือนั้นจะยังอยู่ในระบบตลาดปลอดภาษีของ EU ต่อไป ทำให้ต้องมีข้อตกลงเรื่องการจัดตั้งด่านตรวจและเอกสารระหว่างสองดินแดน แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน

แผนที่สหราชอาณาจักร ดินแดนไอร์แลนด์เหนือนั้นอยู่บนเกาะทางตะวันตกและมีพรมแดนติดกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Photo : ontheworldmap.com)

ถ้าหากอังกฤษออกแบบไร้ดีลการค้า ก็จะยิ่งทำให้ปัญหานี้ซับซ้อนขึ้นอีก เพราะดินแดนไอร์แลนด์เหนืออาจจะกลายเป็นประตูหลังบ้านในการนำเข้าส่งออกสินค้ากับ EU ได้ ส่งผลให้แนวคิดการจัดตั้งด่านชายแดนแบบเข้มงวด (hard border) ในไอร์แลนด์ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอีกครั้ง หลังจากเรื่องนี้ถูกระงับไปตั้งแต่เกิดข้อตกลงสันติภาพ Good Friday Agreement ปี 1998

หากเกิดด่านชายแดนเข้มงวดขึ้นจริง จะมีผลทางสังคมกับคนในพื้นที่ที่เดินทางเข้าออกไปทำงานหรือไปเที่ยวในสาธารณรัฐไอร์แลนด์เป็นประจำ และอาจจะส่งผลต่อเนื่องให้การขอแยกตัวเป็นเอกราชของไอร์แลนด์เหนือปะทุขึ้นมาอีก โดยในอดีตกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ IRA เคยเคลื่อนไหวอยู่นานถึง 30 ปี ก่อนเกิดข้อตกลงสันติภาพดังกล่าว

 

6.ความขมขื่นทางการเมือง

การหย่าร้างของ EU กับอังกฤษยังจะมีผลในแง่ขั้วอำนาจทางการเมืองโลกด้วย ท่ามกลางการแผ่ขยายของมหาอำนาจตะวันออกอย่างจีนและรัสเซีย และการระบาดของ COVID-19 หากมีเรื่องยุ่งยากทางการเมืองโลกเกิดขึ้น เป็นไปได้ว่าต่างฝ่ายต่างจะกลายเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน

ภายใน EU เองก็น่าจะเกิดความปั่นป่วนเช่นกัน เพราะได้สูญเสียหนึ่งในผู้นำทางการทหารและปฏิบัติการสายลับของยุโรป รวมถึงเป็นตลาดเศรษฐกิจอันดับสองทวีป และเป็นเมืองหลวงทางการเงินแห่งเดียวที่พอจะเทียบชั้นกับนิวยอร์กได้ หลังจากนี้ อังกฤษน่าจะหันไปพึ่งพิงพันธมิตรยาวนานอย่างสหรัฐอเมริกามากขึ้นแทน

 

7.”ลอนดอน” เมืองหลวงทางการเงิน?

ดีลการค้านี้แน่นอนว่าจะไม่สามารถช่วยปกป้องอุตสาหกรรมที่แข่งขันสูงที่สุดในโลกอย่าง “ธุรกิจการเงิน” ทำให้บรรดานักลงทุนและธนาคารในลอนดอนต่างเตรียมพร้อมตัวเองเพื่อรับความวุ่นวายจากการ Brexit

โดยปกติลอนดอนคือศูนย์กลางการเงินโลก แหล่งตลาดเงินมูลค่ากว่า 6.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 43% ของโลก ในขณะที่คู่แข่งในยุโรปอันดับสองคือปารีสนั้น ตามมาในสัดส่วนเพียงแค่ 2% อย่างไรก็ตาม กรณี Brexit น่าจะทำให้สหภาพยุโรปพยายามดึงส่วนแบ่งตลาดมาจากลอนดอนมากขึ้น

ย้อนกลับไปในปี 2016 กลุ่มผู้สนับสนุน Brexit เคยมองว่าการออกจาก EU เป็น “เรื่องง่ายๆ” แต่มาถึงวันนี้คงไม่มีใครกล้าพูดเช่นนั้นอีกแล้ว

Source: Reuters, BBC, The Guardian

]]>
1309946
“อังกฤษ” เจอมรสุมไวรัส คนตกงานพุ่ง เผชิญภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” หนักที่สุดในรอบ 300 ปี https://positioningmag.com/1307973 Fri, 27 Nov 2020 06:05:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1307973 รัฐบาลอังกฤษต้องเจอมรสุมหนัก เมื่อวิกฤตโรคระบาดรอบใหม่ ฉุดเศรษฐกิจของประเทศให้เข้าสู่ภาวะถดถอยสาหัสที่สุดในรอบ 300 ปี คนตกงานพุ่งกว่า 2.6 ล้านคนในปีหน้า

Rishi Sunak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า เศรษฐกิจจะติดลบกว่า 11.3% ในปี 2020 นับเป็นภาวะถดถอยร้ายแรงที่สุดในรอบกว่า 300 ปี จากผลกระทบของ COVID-19 ที่ยังเเพร่ระบาดต่อเนื่องในยุโรป

โดยคาดว่า เศรษฐกิจของอังกฤษ จะไม่สามารถฟื้นตัวเท่าระดับก่อนเกิด COVID-19 ได้ไปจนถึงสิ้นปี 2022

เป็นช่วงเวลาวิกฤตอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รัฐบาลต้องตัดสินใจอย่างยากลำบาก ภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น” Sunak กล่าว

ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษทุ่มงบเพื่อรับมือสถานการณ์ COVID-19 ไปทั้งหมด 2.8 แสนล้านปอนด์ (ราว 11.35 ล้านล้านบาท) พร้อมวางแผนจะใช้จ่ายเงินอีก 5.5 หมื่นล้านปอนด์ (ราว 2.23 ล้านล้านบาท) เพื่อต่อสู้กับการเเพร่ระบาดของไวรัสต่อไปในปีหน้า

ส่วนหนี้สาธารณะของสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 3.94 แสนล้านปอนด์ (ราว 15.98 ล้านล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2020/21 หรือราว 19% ของจีดีพี

Sunak เตือนว่า การระบาดใหญ่ครั้งนี้ จะสร้าง รอยแผลเป็นในระยะยาว

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อโครงสร้างเเรงงาน โดยคาดว่า อัตราการว่างงานจะพุ่งสูงแตะ 7.5% ประชาชนต้องตกงานถึง 2.6 ล้านคนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021

โดยรัฐบาลมีเเผนกระตุ้นการจ้างงาน ผ่านการทุ่มงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานราวแสนล้านปอนด์ (ราว 4 ล้านล้านบาท) เเละจะมีการจัดตั้งธนาคารเพื่อโครงสร้างพื้นฐานเเห่งใหม่ ซึ่งจะมีหน้าที่ประสานงานกับภาคเอกชนเเละระดมทุนทำโครงการใหม่ๆ ทั่วประเทศ

ขณะที่ข้อตกลง Brexit ที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปนั้น ทั้งสองฝ่ายเริ่มกลับมาเจรจากันอีกครั้ง เเม้จะมีความคืบหน้าแล้วในบางประเด็น เเต่ก็มีความเห็นแตกต่างกันอยู่มาก ท่ามกลางความกดดันจากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่อาจมีผลต่อ “ทางเลือก” เเละการตัดสินใจ

ด้านสถานการณ์ล่าสุดของอังกฤษ มียอดผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 สะสมเเล้วกว่า 5.5 หมื่นราย ยอดรวมผู้ป่วยสะสมกว่า 1.5 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ผ่อนคลายกฎระเบียบในช่วงคริสต์มาส” เพื่อประชาชนที่กลับจากเยี่ยมญาติในประเทศกลุ่มเสี่ยง เมื่อกลับเข้าสู่สหราชอาณาจักรจะอนุโลมลดวันกักตัวจาก 14 วันเหลือ 5 วัน คาดเริ่มบังคับใช้ 15 หรือ 16 ธันวาคมนี้ โดยนโยบายนี้ เป็นไปเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ซบเซาหนัก และตอบสนองเสียงเรียกร้องของประชาชนด้วย

 

 

ที่มา : AP , Xinhua 

]]>
1307973
อังกฤษ ยกเลิกคืนภาษีขาช้อปต่างชาติ ปลายปีนี้ เเบรนด์ดัง หวั่นกระทบ “ท่องเที่ยว-ค้าปลีก” https://positioningmag.com/1298212 Tue, 22 Sep 2020 12:45:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1298212 อังกฤษ เตรียมยกเลิก VAT-free shopping การช้อปปิ้งสินค้าปลอดภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในช่วงปลายปีนี้ ภาคธุรกิจหวั่นกระทบ “ท่องเที่ยว-ค้าปลีก” ทำให้ประเทศเสียรายได้หลายพันล้านปอนด์ต่อปี 

กระทรวงการคลังของอังกฤษ ระบุว่า หากข้อตกลง Brexit สำเร็จลุล่วงในช่วงปลายปีนี้ ทางสหราชอาณาจักรมีเเผนจะยกเลิกมาตรการ VAT-free shopping เนื่องจากผลประโยชน์ในหลายส่วนของสหราชอาณาจักรที่ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูงและเสี่ยงต่อการฉ้อโกง

ด้านบรรดายักษ์ใหญ่ค้าปลีกเเละเเบรนด์หรูต่างๆ อย่าง Marks & Spencer, Heathrow และ Selfridges ร่วมส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า การยกเลิกดังกล่าว จะสร้างความเสี่ยงกับเเรงงานกว่า 7 หมื่นคน โดยขายสินค้าปลอดภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวนอกสหภาพยุโรปนั้น สามารถทำรายได้กว่า 3.5 พันล้านปอนด์ (ราว 1.4 เเสนล้านบาท) ในเเต่ละปี 

สำหรับโครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ VAT Retail Export Scheme (VAT RES) เป็นสิทธิพิเศษให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ซื้อสินค้าในเเหล่งท่องเที่ยว อย่างในกรุงลอนดอนและเอดินเบอระ รวมถึงย่านช้อปปิ้งยอดนิยมอย่าง Bicester Village เเต่ไม่ได้นำมาใช้หรือบริโภคในสหราชอาณาจักรสามารถขอคืนภาษีได้โดยเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของชาวต่างชาติ

(Photo by Sergei BobylevTASS via Getty Images)

สมาคมการค้าปลีกระหว่างประเทศ (AIR) ที่ร่วมลงนามในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีอังกฤษดังกล่าว มองว่า การยกเลิกมาตรการนี้ จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเเละธุรกิจค้าปลีกที่กำลังเจอมรสุม COVID-19 ยิ่งไปกว่านั้น สหราชอาณาจักรจะกลายเป็นประเทศเดียวในยุโรป ที่จะไม่มีการช้อปปิ้งสินค้าปลอดภาษี

ตอนนี้มาดริด มิลานและปารีส กำลังยินดีกับสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษทำ เพราะถ้านักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายเเพงกว่าในสินค้าประเภทเดียวกัน พวกเขาก็คงไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนใจไปประเทศอื่น

ด้าน Thierry Andretta ผู้บริหารเเบรนด์หรูอย่าง Mulberry ที่ได้ร่วมลงนามในจดหมายร้องเรียนดังกล่าว บอกว่า การตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษ จะทำลายความสามารถการแข่งขันกับประเทศอื่นในยุโรป ทำให้เสียเปรียบทั้งด้านการจ้างงานและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Visit Britain ระบุว่า ในปี 2018 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้เงินราว 6 พันล้านปอนด์ (ราว 2.4 แสนล้านบาท) เพื่อช้อปปิ้งในสหราชอาณาจักรโดยในส่วนนี้กว่า 3.5 พันล้านปอนด์ เป็นการขายแบบไม่ต้องเสียภาษี เเต่มีนักท่องเที่ยวขอคืนภาษีเพียง 2.5 พันล้านปอนด์เท่านั้น

 

ที่มา : BBC , the guardian

]]>
1298212
Brexit ส่งผล “ธุรกิจจัดตั้งใหม่” เเห่ย้ายไปลงทุนในเนเธอร์แลนด์ https://positioningmag.com/1265446 Fri, 21 Feb 2020 13:29:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1265446 จำนวนบริษัทที่เริ่มจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเนเธอร์แลนด์ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากความความกังวลต่อ “Brexit” การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ

ศูนย์ดูแลการลงทุนจากต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ (NFIA) ระบุว่า ในปี 2019 กว่า 78 บริษัทตัดสินใจที่จะเปิดสำนักงานหรือย้ายการดำเนินงานมายัง กลุ่มประเทศ “เบเนลักซ์” หรือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจยุโรปตะวันออก ประกอบด้วย เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก เเละหากนับจากปี 2016 ตั้งเเต่เริ่มมีประเด็น Brexit เป็นต้นมาก็มีบริษัทต่างประเทศย้ายมากว่า 140 บริษัทเเล้ว

แนวโน้มดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในแต่ละปี โดยคาดว่ายอด 140 บริษัทนี้จะสร้างงานในประเทศมากกว่า 4,200 ตำแหน่ง และมีมูลค่าการลงทุนกว่า 375 ล้านยูโร ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ทั้วนี้ อังกฤษเพิ่งถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา เเละกำลังเข้าสู่ช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อดำเนินการเจรจาข้อตกลงความสัมพันธ์เเละการค้าใหม่กับประเทศสมาชิก EU ที่เหลืออีก 27 ประเทศ

“ความไม่แน่นอนยังคงอยู่ เพราะไม่มีใครรู้ว่าการเจรจาต่อรองจะเป็นอย่างไร ซึ่งความไม่แน่นอนนี้กำลังผลักดันให้บริษัทต่างๆมองหาทางเลือกอื่น” Jeroen Nijland หนึ่งในคณะกรรมการของ NFIA กล่าว

NFIA เผยว่าตอนนี้กำลังพูดคุยกับ 425 บริษัทเกี่ยวกับการย้ายมาหรือการขยายธุรกิจในเนเธอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เนเธอร์แลนด์มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดที่มีการค้าต่างประเทศค่อนข้างสูง จึงกลายเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก Brexit

ทั้งนี้ เหล่าบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่ จัดอยู่ในกลุ่มการเงิน เทคโนโลยีสื่อโฆษณา วิทยาศาสตร์เเละธุรกิจสุขภาพ

ที่มา : Reuters / Brexit brings record number of businesses to Netherlands in 2019

]]>
1265446
อังกฤษเล็งเปิด “ท่าเรือปลอดภาษี” 10 แห่ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลัง Brexit https://positioningmag.com/1263821 Mon, 10 Feb 2020 16:26:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1263821 อังกฤษประกาศแผนจัดตั้งท่าปลอดภาษี (free port) สูงสุด 10 แห่งทั่วประเทศ โดยเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจภายหลังจากที่ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู)

คณะรัฐมนตรีอังกฤษเปิดเผยว่า สินค้าที่ถูกส่งเข้ามายังท่าปลอดภาษีจะไม่ต้องผ่านพิธีศุลกากรจนกว่าจะเข้าสู่ตลาดภายในประเทศ และจะไม่ถูกเก็บภาษีหากมีการส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ ส่วนวัตถุดิบที่ถูกนำมาแปรรูปภายในพื้นที่เหล่านี้ก็จะถูกเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย (end product) เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ท่าปลอดภาษีจะช่วยปลดปล่อยศักยภาพของเมืองท่าประวัติศาสตร์ที่เราภาคภูมิใจ ทั้งยังมีส่วนช่วยส่งเสริมและฟื้นฟูชุมชนริชี ซูนัก (Rishi Sunak) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังอังกฤษ ระบุ

ท่าเหล่านี้จะดึงดูดธุรกิจใหม่ๆ ขยายการจ้างงาน การลงทุน และโอกาสนี่คือหนึ่งในภารกิจของเราที่จะทำให้อังกฤษเป็นประเทศที่เปิดกว้าง มองไปข้างหน้า และสนับสนุนการค้าเสรีด้วยท่าปลอดภาษีที่มีชีวิตชีวา

รัฐบาลอังกฤษได้กำหนดระยะเวลาหารือ 10 สัปดาห์ ก่อนจะเปิดรับการเสนอชื่อท่าเรือและท่าอากาศยานต่างๆ เข้าสู่การพิจารณาเพื่อกำหนดสถานะเป็นเขตปลอดภาษี โดยจะประกาศรายชื่อสถานที่ที่ได้รับเลือกในช่วงสิ้นปีนี้

ลอนดอนหวังว่าท่าปลอดภาษีทั้ง 10 แห่งจะสามารถเปิดดำเนินงานได้ภายในปี 2021

อังกฤษและสหภาพยุโรปมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ หลังจากที่สมาชิกภาพของอังกฤษในอียูได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่วันที่ 31 .. ที่ผ่านมา

Source

]]>
1263821
สรุปไทม์ไลน์ “Brexit” มหากาพย์ 3 ปีแห่งความปั่นป่วนก่อน UK พ้นสมาชิกสภาพคืนนี้ https://positioningmag.com/1262784 Fri, 31 Jan 2020 14:07:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1262784 เป็นเวลาสามปีครึ่งหลังการลงประชามติของชาวอังกฤษ เพื่อตัดสินใจให้ประเทศของตนลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความปั่นป่วนทางการเมืองและเศรษฐกิจตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งในที่สุด สหราชอาณาจักรจะพ้นการเป็นสมาชิก EU อย่างเป็นทางการแล้วคืนนี้

สมาชิกรัฐสภายุโรปเพิ่งลงมติรับรองเงื่อนไขข้อตกลง Brexit ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 29 มกราคม 2020 ซึ่งหมายถึงสหราชอาณาจักรกำลังจะได้ออกจากการเป็นสมาชิก EU อย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นสภายุโรปได้ร่วมกันร้องเพลง Auld Lang Syne เพื่อบอกลาสมาชิกจาก UK ทำให้บรรยากาศในรัฐสภายุโรปอึมครึมและโศกเศร้ายิ่ง

ประวัติศาสตร์ 47 ปีของ UK ที่ได้ร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปกำลังจะสิ้นสุด ณ เวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 มกราคม 2020 ตามเวลาท้องถิ่นอังกฤษ (หรือ 6.00 น. ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020 ตามเวลาประเทศไทย) เราขอชวนคุณมาย้อนติดตาม ไทม์ไลน์ของการ “Brexit” ที่ไม่ง่าย และต้องใช้เวลาถึง 3 ปีครึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้

 

มิถุนายน 2016: ลงประชามติ Brexit

เหตุผลหลักๆ ของการเปิดลงประชามติเพื่อ Brexit ของชาวอังกฤษ เกิดจากความรู้สึกประชาชนจำนวนมากที่มองว่า UK เสียมากกว่าได้ ในการอยู่กับ EU เพราะการเป็นสมาชิกทำให้ต้องจ่ายค่าสมาชิกมหาศาล และอังกฤษยังเป็นประเทศที่รับผู้อพยพเข้ามาซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายรวมถึงมีผลต่อวัฒนธรรมความเป็นอยู่

การลงประชามติครั้งนี้นับเป็นแผ่นดินไหวสะเทือนวงการการเมืองอังกฤษในรอบหลายทศวรรษ เมื่อประชาชนโหวตเพื่อลาออกจากการเป็นสมาชิก EU ด้วยคะแนนฉิวเฉียด 52 ต่อ 48 เปอร์เซ็นต์ ส่งให้ “เดวิด คาเมรอน” นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 24 มิถุนายน 2016 เพื่อเปิดทางให้ผู้นำคนใหม่เข้ามานำพาประเทศไปในทิศทางที่ประชาชนเลือก เนื่องจากตัวคาเมรอนเองมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าเขาไม่ต้องการให้ UK ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

กรกฎาคม 2016: เธเรซ่า เมย์ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ

ภายในพรรคอนุรักษนิยมมีการแข่งขันกันภายในอย่างดุเดือดเพื่อคัดเลือกสมาชิกขึ้นเป็นนายกฯ แทนที่คาเมรอน ในที่สุด “เธเรซ่า เมย์” คือผู้ชนะและรับตำแหน่งนายกฯ พร้อมภารกิจสุดหิน นั่นคือการเจรจาเงื่อนไขการลาออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปให้สำเร็จ โดยเงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นที่พอใจทั้งฝั่งรัฐสภายุโรปและรัฐสภาอังกฤษ

เธเรซ่า เมย์ ในวันแรกที่่ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ (Photo by Karwai Tang/Getty Images)

ตุลาคม 2016: แผน Brexit ร่างแรก

ผ่านไปหลายเดือน ในที่สุดนายกฯ เมย์เผยเงื่อนไขร่างแรกของการ Brexit ในที่ประชุมพรรคอนุรักษนิยมที่เบอร์มิงแฮม โดยใจความสำคัญคือสหราชอาณาจักรจะไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมแห่งยุโรปอีกต่อไป และส่งสัญญาณว่าเธอมีความตั้งใจที่จะออกจากระบบตลาดเดียว (*ระบบตลาดเดียวคือระบบที่อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และคนได้อย่างเสรี เช่น การนำเข้า-ส่งออกสินค้าใน EU สามารถส่งข้ามประเทศได้โดยไม่ต้องเสียภาษี)

ต่อมา เมย์ปาฐกถาอย่างชัดเจนในเดือนมกราคม 2017 ว่าเธอต้องการพาอังกฤษออกจากระบบตลาดเดียว และปฏิเสธโมเดลการเป็น ‘กึ่ง’ สมาชิก EU แบบนอร์เวย์ ลิคเทนสไตน์ หรือไอซ์แลนด์ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิก EU แต่ยังอยู่ในระบบตลาดปลอดภาษีกับสหภาพยุโรปอยู่

มีนาคม 2017: เมย์ประกาศใช้มาตรา 50

รัฐสภาอังกฤษโหวตการประกาศใช้มาตรา 50 ตามสนธิสัญญาลิสบอน 2007 เป็นมาตรากฎหมายว่าด้วยการแจ้งเรื่องขอลาออกจากการเป็นสมาชิก EU ทำให้การเจรจาเพื่อ Brexit เริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ โดยโดนัลด์ ทัสก์ ประธานสภายุโรป ยืนยันได้รับการแจ้งจากรัฐบาลอังกฤษและจะเริ่มเปิดการเจรจา พร้อมกับตั้งเดดไลน์การเจรจาจะต้องลุล่วงภายในวันที่ 29 มีนาคม 2019 หรือ 2 ปีนับจากวันได้รับแจ้ง

เมษายน 2017: เลือกตั้งทั่วไป

ด้วยคะแนนเสียงที่ไม่ชนะขาดดังที่เห็นจากผลลงประชามติ ทำให้ UK ตกอยู่ในความแตกแยก เพราะเมื่อเจาะลึกลงในผลโหวต Brexit จะเห็นได้ว่ากลุ่มวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นส่วนใหญ่โหวตให้อยู่กับ EU ต่อไป ขณะที่วัยเบบี้บูมโหวตลาออก รวมถึงในแง่ภูมิศาสตร์ด้วย ประเทศทางตอนเหนืออย่างสก๊อตแลนด์ต้องการอยู่กับ EU แต่ประเทศอังกฤษกลับต้องการลาออก ดังนั้นในรัฐสภาอังกฤษจึงปั่นป่วนเช่นกัน

สภาพการณ์นี้นำไปสู่การตัดสินใจที่น่าตกตะลึงของเธเรซ่า เมย์ โดยเธอประกาศจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป ถือเป็นการตัดสินใจที่นำตำแหน่งทางการเมืองของเธอเข้าเสี่ยงอย่างมาก เพราะผลการเลือกตั้งนั้นไม่มีใครรู้ว่าพรรคอนุรักษนิยมจะได้คะแนนเสียงและจำนวนส.ส.มากขึ้นหรือน้อยลง

แต่เมย์อธิบายการตัดสินใจครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นเพราะส.ส.หลายรายในสภาพยายามขัดขวางแผนการเจรจาเพื่อลาออกจาก EU “ประเทศนี้กำลังเดินไปทางเดียวกัน แต่รัฐสภาไม่เป็นเช่นนั้น” เมย์กล่าว

เธเรซ่า เมย์ ในช่วงหาเสียงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 8 มิถุนายน 2017 (Photo by Carl Court/Getty Images)

การเสี่ยงดวงของเมย์นำไปสู่หายนะ เพราะหลังการเลือกตั้งเดือนมิถุนายน 2017 ผลปรากฏว่าพรรคอนุรักษนิยมได้จำนวนที่นั่งส.ส.น้อยลงไปอีก และพรรคแรงงานซึ่งสนับสนุนการอยู่ใน EU ต่อมาตลอดได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น จนพรรคอนุรักษนิยมมี ส.ส.มากกว่าพรรคแรงงานแค่ 8 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม โชคดีที่พรรคแรงงานเองยังมีเสียงไม่พอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ทำให้พรรคอนุรักษนิยมยังได้เป็นรัฐบาลผสม โดยต้องดึงเสียงจากพรรค DUP มาเข้าร่วม

ธันวาคม 2017: เฟสที่สองของ Brexit

หลังจากนั้นสหราชอาณาจักรเจรจากับ EU อย่างต่อเนื่องและยากลำบาก จนถึงเดือนธันวาคม 2017 เมย์จึงเผยข้อตกลงเบื้องต้นกับ EU เกี่ยวกับ 3 ประเด็นหลักเพื่อ “หย่าขาด” กับสหภาพยุโรป ได้แก่ ประเด็นพรมแดนประเทศไอร์แลนด์ (*ประเทศไอร์แลนด์ยังเป็นสมาชิก EU อยู่ ทำให้ชายแดนที่ติดกับ UK ระยะทาง 500 กม. เป็นปัญหาที่ต้องตกลงกันถ้า UK ออกจาก EU แล้ว) ประเด็นค่าธรรมเนียมการลาออกที่ UK ต้องจ่ายให้ EU และประเด็นสิทธิของประชาชนชาวยุโรป

พรมแดนระหว่างประเทศไอร์แลนด์กับไอร์แลนด์เหนือของสหราชอาณาจักร

ฤดูร้อน 2018: ออกกฎหมาย Brexit + รัฐบาลป่วน

เดือนมิถุนายน 2018 มีความคืบหน้าไปอีกขั้น เมื่อสภาผู้แทนราษฎรผ่านกฎหมายการถอนตัวจากการเป็นสมาชิก EU กฎหมายนี้จะว่าด้วยการโอนย้ายกฎหมายของสหภาพยุโรปมาใช้ในกฎหมายของสหราชอาณาจักรด้วยหลัง Brexit แล้ว แต่รายละเอียดสำคัญๆ ยังต้องอภิปรายกันต่อ

หลังจากนั้นเดือนกรกฎาคม 2018 รัฐบาลมีการจัดประชุมที่บ้านเชคเกอร์ บ้านพักตากอากาศประจำตำแหน่งนายกฯ เหล่ารัฐมนตรีต่างอนุมัติแผน Brexit ของเมย์ที่มุ่งเป้าการคงความสัมพันธ์ในอนาคตกับสหภาพยุโรปไว้ ซึ่งรวมถึงการเจรจาเขตการค้าปลอดภาษี UK-EU ด้วย

แต่แล้วทั้ง “เดวิด เดวิส” เลขาธิการ Brexit และ “บอริส จอห์นสัน” เลขาธิการรัฐด้านกิจการต่างประเทศ กลับประกาศลาออกจากรัฐบาล โดยจอห์นสันกล่าวว่าเป็นเพราะแผนการของนายกฯ เมย์จะทำให้อังกฤษ “มุ่งไปสู่สถานะการเป็นอาณานิคมของ EU อย่างแท้จริง”

แม้จะมีการลงประชามติไปแล้ว แต่การประท้วงเพื่อหยุดยั้งการลาออกจาก EU ยังคงมีขึ้นต่อเนื่องในสหราชอาณาจักร (Photo by Dan Kitwood/Getty Images)

พฤศจิกายน 2018: ร่างแรกเตรียมเข้าสู่รัฐสภา + รัฐบาล (ยังคง) ป่วน

เส้นตายงวดเข้ามาทุกที ในที่สุดร่างแรกของข้อตกลง Brexit ก็ได้รับการยอมรับร่วมกันทั้งจากฝั่งรัฐบาล UK และสภา EU

แต่ระหว่างที่เมย์ก้าวต่อไปสู่การอภิปรายกับคณะรัฐมนตรีถึงเนื้อหารายละเอียดของข้อตกลง คณะรัฐมนตรีของเมย์ต้องเจอความปั่นป่วนแบบฉายซ้ำวนลูป เมื่อ “โดมินิค ราอับ” เลขาธิการ Brexit (คนใหม่) และ “เอสเธอร์ แมคเวย์” เลขาธิการรัฐด้านงานและบำนาญ พร้อมใจกันลาออก โดยกล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ให้เกียรติต่อผลของการลงประชามติ

ท่ามกลางความปั่นป่วนในคณะทำงานของรัฐบาลเองและความเป็นไปได้ที่สภาผู้แทนราษฎรจะคัดค้านแผน Brexit ของเธอ ในเดือนธันวาคม 2018 เมย์ก็ยังตัดสินใจเปิดโหวตครั้งสำคัญในสภาเพื่อตัดสินใจว่า ดีล Brexit นี้จะผ่านหรือไม่ผ่านมติที่ประชุม

ก่อนจะไปถึงการนำแผน Brexit เข้าสภา พรรคอนุรักษนิยมมีการจัดโหวตลับเพื่อลงมติไว้วางใจในความเป็นผู้นำของเธเรซ่า เมย์ ซึ่งเธอชนะไปด้วยคะแนนเสียง 200 ต่อ 117 ทำให้เธอยังคงดำรงตำแหน่งนี้ต่อไป

มกราคม-มีนาคม 2019 : ข้อตกลง Brexit ถูกตีตกแบบยับเยินในสภา

เหลืออีก 2 เดือนกว่าก่อนถึงเดดไลน์ เมย์นำข้อตกลง Brexit เข้ารัฐสภาเป็นครั้งแรก ซึ่งกลายเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญ เพราะส.ส.โหวตค้านข้อตกลงฉบับนี้แบบขาดลอยโดยเสียงค้านชนะไปถึง 230 เสียง แม้แต่ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมข้างฝ่ายรัฐบาลเองก็โหวตค้านเป็นจำนวนมาก

ข้อตกลง Brexit เข้าสู่รัฐสภาเป็นครั้งที่สองในเดือนมีนาคม 2019 และยังคงถูกตีตกเหมือนเดิม ทำให้นายกฯ เมย์ต้องหาทางขอขยายเวลากับ EU ไปถึงเดือนมิถุนายน 2019

ฤดูใบไม้ผลิ 2019 : ขยายเวลาการ Brexit + นายกฯ เมย์ลาออก

หลังหารือกับสภายุโรป EU อนุมัติให้สหราชอาณาจักรขยายเวลาการลาออกจาก EU ไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2019

แต่แล้วเธเรซ่า เมย์ กลับประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในวันที่ 24 พฤษภาคม 2019 หลังการต่อสู้และทนแรงกดดันมาเนิ่นนาน

“ดิฉันจะลาออกจากตำแหน่งเร็วๆ นี้ และรู้สึกเป็นเกียรติของชีวิตที่ได้ปฏิบัติหน้าที่นี้” เธอกล่าว “นี่คือยุคของนายกฯ หญิงคนที่สองแห่งอังกฤษ แต่จะไม่ใช่คนสุดท้ายอย่างแน่นอน ดิฉันลาออกโดยไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่ทำไปเพื่อแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งที่ได้รับใช้ประเทศที่ดิฉันรัก” เมย์กล่าวแถลงการณ์หน้าบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวน์นิ่งด้วยน้ำตา

เธเรซ่า เมย์ แถลงการลาออกจากตำแหน่งทั้งน้ำตา (Photo by Leon Neal/Getty Images)

กรกฎาคม 2019 : บอริส จอห์นสัน ขึ้นเป็นนายกฯ

เธเรซ่า เมย์ ลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และ บอริส จอห์นสัน ชนะคู่แข่งในพรรคอนุรักษนิยม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยเขาแสดงความแข็งกร้าวและประกาศจุดยืนนำอังกฤษออกจาก EU ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2019 แบบ “ไม่มีคำว่าถ้า ไม่มีคำว่าแต่” จอห์นสันกล่าวว่าตนเอง “เชื่อว่าสามารถออกจาก EU โดยดีลข้อตกลงได้สำเร็จ” แต่อย่างไรก็ตาม เขาจะเตรียมตัวสำหรับการออกแบบ No-deal Brexit ไว้ด้วย

บอริส จอห์นสัน โบกมือทักทายหน้าบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวน์นิ่ง ในวันรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (Photo: Wiktor Szymanowicz / Barcroft Media via Getty Images)

ตุลาคม 2019 : ดีลครั้งใหม่

จอห์นสันเริ่มเสนอแผน Brexit อย่างเป็นทางการกับ EU โดยข้อสำคัญคือการหาทางแก้ปัญหาพรมแดนประเทศไอร์แลนด์กับพื้นที่ไอร์แลนด์เหนือของ UK โดยนายกฯ จอห์นสันประกาศว่าดีลครั้งนี้เป็น “ดีลที่ยอดเยี่ยม” และจะทำให้ UK ได้ออกจาก EU ทั้งหมด ประกอบด้วยอังกฤษ สก๊อตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ แต่ดีลของเขาก็ยังไม่ผ่านสภาอังกฤษเสียที จนต้องขอเลื่อนการ Brexit กับ EU อีกครั้งเป็นวันที่ 31 มกราคม 2020

ในที่สุด เพื่อล้างไพ่ให้เสียงในสภาเข้าข้างเขา จอห์นสันพยายามผลักดันการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่เร็วกว่ากำหนดจนสำเร็จ และการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2019

ธันวาคม 2019 : จอห์นสันชนะท่วมท้น ปลดล็อก Brexit

จอห์นสันหาเสียงด้วยการชูนโยบาย “ทำ Brexit ให้สำเร็จ” และเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น โดยมี ส.ส.มากกว่าพรรคแรงงานถึง 80 ที่นั่ง เสียงที่ได้เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้จอห์นสันมีโอกาสดันดีล Brexit ผ่านรัฐสภาอังกฤษมากกว่าในยุคของเมย์ ส่วนพรรคแรงงานซึ่งได้รับผลการเลือกตั้งที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 1935 ส่งผลให้ “เจเรมีย์ คอร์บิน” ต้องลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค

บอริส จอห์นสัน หลังชนะเลือกตั้งทั่วไปด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2019

มกราคม 2020 : Brexit (จริงๆ)

เมื่อได้รับชัยชนะท่วมท้น ทำให้ข้อตกลงยอมรับการ Brexit ของจอห์นสันผ่านสภาสำเร็จ จากนั้นจึงเข้าสู่สภายุโรป และได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 29 มกราคม

ในวันที่ 31 มกราคม 2020 เวลา 23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นอังกฤษ สหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ และเข้าสู่ “ช่วงการเปลี่ยนผ่าน” เป็นเวลา 11 เดือนนั่นคือจนถึง 31 ธันวาคม 2020

ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ สิ่งที่จะเห็นเป็นรูปธรรมของการ Brexit คือชื่อและธงชาติอังกฤษจะถูกปลดออกจากสหภาพยุโรป รวมถึงจะไม่มีผู้แทนของ UK เข้าร่วมกับสหภาพยุโรปอีกต่อไป แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว ช่วงนี้การค้าขาย การเดินทาง และอยู่อาศัยข้ามประเทศจะยังดำเนินไปตามปกติก่อน

UK ได้ออกจาก EU ไปแล้วแบบไม่มีทางหันหลังกลับ แต่ทางเดินยังไม่สิ้นสุดเท่านี้ เพราะในเวลา 11 เดือน บอริส จอห์นสันจะต้องดีลข้อตกลงต่างๆ กับ EU ให้ได้ โดยเฉพาะข้อตกลงทางการค้า มิฉะนั้นแล้วอังกฤษจะต้องออกแบบ No-deal Brexit จริงๆ ซึ่งนั่นหมายถึงกำแพงภาษีของ EU ที่จะเกิดขึ้นทันทีและมีผลกับเศรษฐกิจประเทศอังกฤษ

Source: The Independent, CNN

]]>
1262784
สรุป 10 ข่าวเด่นรอบโลกประจำปี 2019 https://positioningmag.com/1259009 Mon, 30 Dec 2019 19:01:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1259009 ปี 2019 ที่ผ่านพ้นไปมีหลากหลายเหตุการณ์ที่เป็นกระแสข่าวดังในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนหนัก ปัญหาเบร็กซิต การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง รวมไปถึงกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทำให้การเมืองอเมริกันในช่วง 1 ปีก่อนศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ กลายเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

• จีนส่งยาน ‘ฉางเอ๋อ-4’ ไปลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. จีนกลายเป็นชาติแรกในโลกที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศไปลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์ โดยภารกิจของยาน ฉางเอ๋อ-4 ประกอบด้วยการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์, สำรวจภูมิประเทศ, ลักษณะผิวดินและองค์ประกอบแร่ของดวงจันทร์ รวมถึงวัดการแผ่รังสีจากนิวตรอนและอะตอมที่เป็นกลาง เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมด้านมืดของดวงจันทร์

• สหรัฐฯ เล่นงาน ‘หัวเว่ย’

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ทวีความร้อนระอุยิ่งกว่าเก่าเมื่อรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้มาตรการแบน ‘หัวเว่ย’ บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่แดนมังกร หวังตัดวงจรธุรกิจและยับยั้งการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้แจ้ง 23 ข้อหาต่อหัวเว่ยและบริษัทในเครือ รวมถึง เมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินหัวเว่ยซึ่งถูกจับอยู่ในแคนาดา โดยมีทั้งข้อหาขโมยเทคโนโลยี, ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และฉ้อโกงธนาคาร

หน่วยข่าวกรองอเมริกันกล่าวหา หัวเว่ย ว่าได้รับการสนับสนุนจากกองทัพจีน และอ้างความเป็นไปได้ที่อุปกรณ์ของบริษัทนี้อาจกลายเป็นเครื่องมือสอดแนมของปักกิ่ง ขณะที่ปฏิบัติการเล่นงานหัวเว่ยครั้งนี้พลอยทำให้ซัพพลายเออร์ในอเมริกาได้รับผลกระทบ และยังเป็นแรงขับให้จีนลุกขึ้นมาสร้างนวัตกรรมไฮเทคเพื่อปลดแอกตัวเองจากซิลิคอนแวลลีย์

• ความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถาน

กลุ่มติดอาวุธ จาอิช-อี-โมฮัมเหม็ด (JeM) ในปากีสถานก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในพื้นที่ควบคุมของอินเดียในแคชเมียร์เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ซึ่งคร่าชีวิตทหารพรานอินเดียไปอย่างน้อย 40 นาย รัฐบาลเดลีโทษปากีสถานว่าเป็นต้นเหตุและแก้แค้นด้วยการส่งเครื่องบินเข้าไปทิ้งบอมบ์ค่ายฝึกของกลุ่ม JeM ในปากีสถานเมื่อวันที่ 26 ก.พ. นำมาสู่ปฏิบัติการตอบโต้จากอิสลามาบัดจนหวิดเกิดเป็นสงครามเต็มรูปแบบ ทว่าโชคดีที่สถานการณ์คลี่คลายลงได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดได้ปะทุขึ้นอีกระลอกเมื่อนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ประกาศเพิกถอนสิทธิ์ในการปกครองตนเองของ ‘แคชเมียร์’ และนำดินแดนแถบหิมาลัยที่เต็มไปด้วยชาวมุสลิมเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง การกระทำของเดลีคราวนี้เสียงประณามจากจีนและปากีสถานซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองดินแดนแคชเมียร์เช่นกัน

• วิกฤต ‘โบอิ้ง 737 แม็กซ์’

Boeing

โศกนาฏกรรมเครื่องบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์สตกเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ซึ่งเกิดขึ้นเพียง 5 เดือนตามหลังอุบัติเหตุไลอ้อนแอร์อินโดนีเซียดิ่งทะเลชวา ส่งผลให้เครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8 ถูกสั่งระงับการบินทั่วโลก ขณะที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ได้เปิดการสอบสวนและบังคับให้ค่ายอากาศยานแห่งนี้ปรับปรุงระบบควบคุมการบิน ผลกระทบจากคำสั่งระงับบินที่ส่อแววยืดเยื้อไปถึงปี 2020 สร้างความเสียหายแก่โบอิ้งแล้วไม่ต่ำกว่า 9,200 ล้านดอลลาร์

• เปิดภาพถ่าย ‘หลุมดำ’ ครั้งแรก

ภาพหลุมดำมวลยิ่งยวดที่อยู่ในกาแล็กซี M87

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. หอดูดาวซีกฟ้าใต้ยุโรป (European Southern Observatory) ได้เผยภาพแรกของหลุมดำ (black hole) ซึ่งเผยให้เห็นแสงรัศมีอันเจิดจ้ารอบๆ ใจกลางที่ดำมืด นับเป็นภาพแรกที่พิสูจน์ได้ถึงการมีตัวตนของหลุมดำ โดยภาพที่เผยแพร่ออกมานี้เป็นภาพหลุมดำมวลยิ่งยวดที่อยู่ในกาแล็กซี M87 ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 6,500 ล้านเท่า

• ไฟไหม้มหาวิหาร ‘น็อทร์-ดาม’

อาสนวิหาร น็อทร์-ดาม เดอ ปารีส (Notre-Dame de Paris) โบสถ์คาทอลิกเก่าแก่ที่เป็นสัญลักษณ์คู่เมืองหลวงฝรั่งเศสมานานกว่า 850 ปี ถูกทำลายลงในเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 15 เม.ย. สร้างความตกตะลึงต่อชาวเมืองน้ำหอมและผู้คนทั่วโลก เช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์ที่ต่างเศร้าเสียดายกับการสูญเสียสมบัติทางวัฒนธรรมชิ้นเอก ขณะที่ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศสลั่นจะฟื้นฟูมหาวิหารแห่งนี้ให้กลับมางดงามดังเดิมภายในระยะเวลา 5 ปี

• จักรพรรดินารูฮิโตะขึ้นครองราชย์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจักรพรรดินารูฮิโตะแห่งญี่ปุ่น

เจ้าฟ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ที่ 126 ในเช้าของวันพุธที่ 1 พ.ค. หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระราชบิดา ได้ทรงสละราชสมบัติในวันอังคารที่ 30 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของรัชสมัยเฮเซที่ยาวนาน 30 ปี และยังเป็นครั้งแรกในรอบ 200 ปีที่จักรพรรดิญี่ปุ่นสละบัลลังก์ในขณะที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่

ญี่ปุ่นได้ประกาศชื่อรัชสมัยใหม่ว่า “เรวะ” ซึ่งมีความหมายว่า “ความสอดผสานอันปีติ”

• การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง

ชาวฮ่องนับล้านคนออกมาชุมนุมต่อต้านการเสนอร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีในจีนเมื่อเดือน มิ.ย. ซึ่งแม้ว่าต่อมานาง แคร์รี ลัม ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงจะยอมถอนร่างกฎหมายดังกล่าว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อต้านความพยายามลิดรอนอำนาจปกครองตนเองโดยจีน การประท้วงที่ยืดเยื้อมานานถึง 7 เดือนส่งผลให้เศรษฐกิจฮ่องกงช่วงไตรมาส 3 ปีนี้เข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

• อังกฤษเลื่อน ‘เบร็กซิต’

อังกฤษพลาดเส้นตายในการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ในขณะที่ความสับสนอลหม่านทางการเมืองทำให้นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ตัดสินใจสละตำแหน่งในวันที่ 7 มิ.ย. เปิดทางให้ บอริส จอห์นสัน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่

ล่าสุด รัฐบาลจอห์นสันได้ขอเลื่อนเบร็กซิตออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 31 ม.ค. ปี 2020 ซึ่งชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคคอนเซอร์เวทีฟในศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมาคาดว่าจะทำให้ จอห์นสัน สามารถทำตามสัญญา “Get Brexit Done” ได้สำเร็จ

• กระบวนการถอดถอน ‘ทรัมป์’

กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นเปิดการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ก.ย. โดยอาศัยมูลเหตุที่ ทรัมป์ ไปกดดันผู้นำยูเครนให้ตรวจสอบ โจ ไบเดน ผู้สมัครประธานาธิบดีตัวเก็งของพรรคเดโมแครต ซึ่งเข้าข่ายใช้อำนาจมิชอบและแทรกแซงศึกเลือกตั้ง

ต่อมาสภาผู้แทนฯ ได้มีมติถอดถอน ทรัมป์ อย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ธ.ค. ซึ่งทำให้คดีนี้ต้องถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการไต่สวนในช่วงเดือน ม.ค. ว่า ทรัมป์ นั้นมีความผิดจริงและสมควรถูกถอดออกจากเก้าอี้ประธานาธิบดีหรือไม่ แต่เนื่องจาก ส.ว.รีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาจึงมีโอกาสน้อยมากที่ ทรัมป์ จะพ่ายแพ้ในขั้นตอนนี้.

Source

]]>
1259009
อังกฤษกับสหภาพประกาศทำข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่สำเร็จ ลุ้นผลักดันให้สภาเห็นชอบ https://positioningmag.com/1250173 Thu, 17 Oct 2019 18:36:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1250173 อังกฤษกับสหภาพยุโรป สามารถทำข้อตกลง “Brexit” ได้ในวันที่ 17 .. ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการประชุมซัมมิตของพวกผู้นำ EU ในกรุงบรัสเซลส์ อย่างไรก็ดี ยังมีข้อสงสัยกันเป็นอย่างมากว่า ข้อตกลงนี้จะสามารถผ่านการอนุมัติของรัฐสภาแดนผู้ดีได้สำเร็จหรือไม่

เมื่อมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ก็จะทำข้อตกลงกันได้สำเร็จ และตอนนี้เราก็ได้มาอันหนึ่งแล้ว เป็นข้อตกลงที่ยุติธรรมและมีความสมดุลทั้งสำหรับอียูและสำหรับอังกฤษ และมันเป็นข้อพิสูจน์อย่างชัดแจ้งถึงความยึดมั่นผูกพันของเราที่จะค้นหาหนทางแก้ไขปัญหา ฌองโคลด จุงเกอร์ ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู กล่าวในทวิตเตอร์ เพียงแค่สองสามชั่วโมงก่อนที่ซัมมิตอียูจะเริ่มต้นขึ้น

เขากล่าวว่า เขาจะแนะนำให้บรรดาผู้นำของรัฐสมาชิกอื่นๆ ทั้ง 27 ราย อนุมัติรับรองข้อตกลงใหม่นี้

ผมเชื่อว่ามันเป็นเวลาที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับการทำให้กระบวนการหย่าร้างนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ แล้วก็เดินหน้ากันต่อไป อย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ สู่การเจรจาว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนในอนาคตระหว่างสหภาพยุโรปกับอังกฤษ จุงเกอร์ระบุในจดหมายที่แนบมาด้วยฉบับหนึ่ง

ในอีกด้านหนึ่ง นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ก็แถลงว่าเราได้ข้อตกลงเบร็กซิตฉบับใหม่ที่ยิ่งใหญ่

จอห์นสันนั้นกำลังวาดหวังให้รัฐสภาอังกฤษอนุมัติรับรองข้อตกลงฉบับนี้ ในระหว่างการประชุมสมัยวิสามัญวันที่ 19 .. นี้ เพื่อแผ้วถางทางให้อังกฤษถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียูอย่างราบรื่นในวันที่ 31 ตุลาคม

อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งจอห์นสันจำเป็นต้องขอพึ่งพาให้ช่วยโหวต เพื่อให้ข้อตกลงใดๆ ก็ตามผ่านสภาไปได้สำเร็จนั้น ได้แสดงท่าทีแล้วว่าปฏิเสธไม่ยอมสนับสนุนดีลฉบับใหม่นี้ ซึ่งสำเร็จออกมาได้ภายหลังอังกฤษกับอียูเจรจากันอยู่หลายสัปดาห์

ขณะที่ เจเรมี คอร์บิน ผู้นำของพรรคเลเบอร์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านหลักในอังกฤษ แถลงที่กรุงบรัสเซลส์ว่า เขาไม่พอใจกับข้อตกลงใหม่นี้ และจะออกเสียงคัดค้าน พวก ..ในพรรคของเขายังพูดกันว่า พวกเขาได้รับแจ้งให้โหวตเห็นชอบให้จัดการลงประชามติเรื่องเบร็กซิตกันใหม่อีกครั้ง ในการประชุมสภาวันเสาร์นี้

แต่ถึงยังมีความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก ตลาดการเงินก็ขานรับข่าวนี้ โดยที่เงินปอนด์อังกฤษมีมูลค่าสูงขึ้นไปทันทีมากกว่า 1% ส่วนพวกราคาหุ้นในอังกฤษก็ขยับขึ้นเป็นแถว ภายหลังมีการประกาศว่าสามารถทำดีลฉบับใหม่ได้แล้ว

Source

]]>
1250173
‘Brexit’ ไอทีไทยไม่สะเทือน? https://positioningmag.com/1097397 Fri, 15 Jul 2016 00:50:45 +0000 http://positioningmag.com/?p=1097397 นอกจากความตกตะลึงในผลการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษที่เกิดขึ้นไปทั่วโลกแล้ว ปรากฏการณ์ Brexit (British exit) ครั้งนี้ยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีซึ่งอังกฤษเปรียบได้กับศูนย์กลางของอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรป

อัมสเตอร์ดัม แฟรงก์เฟิร์ต เวียนนา ดับลิน ปารีส ลักเซมเบิร์ก วอร์ซอร์ มิลาน และบาร์เซโลน่า เหล่านี้คือชื่อเมืองที่ถูกจัดอันดับขึ้นมาโดยบริษัทอินเด็กซ์ (Index) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี การรวบรวมชื่อเมืองเหล่านี้เกิดขึ้นบนความหวังให้บรรดาเทคสตาร์ทอัปในอังกฤษ ที่กำลังมองหาที่ตั้งสำนักงานใหม่ได้พิจารณา

ทั้งนี้ การมองหาสำนักงานแห่งใหม่ที่ ‘ไม่ใช่ในอังกฤษ’ เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากเป็นลำดับต้น ๆ สำหรับผู้ประกอบการในแวดวงเทคโนโลยีหลังการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพ ยุโรป เนื่องจากการถอนตัวนั้นเท่ากับว่า อังกฤษไม่มีสิทธิ์เข้าสู่ตลาดเดียวกับยุโรปได้อย่างสะดวกอีกต่อไป เพราะไม่ยอมรับกติกาเคลื่อนย้ายเสรีของสหภาพยุโรปนั่นเอง

การสูญเสียสิทธิดังกล่าวเป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของอังกฤษโดยตรง เนื่องจากอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ฝากเอาไว้กับแรงงานต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ โดยต่อจากนี้ วิศวกรฝีมือดีจากโรมาเนีย หรือโปแลนด์จะไม่สามารถเดินทางเข้ามาทำงานในอังกฤษได้อย่างสะดวกอีกแล้ว

สมองอาจไหล

ก่อนหน้าชัยชนะของฝ่ายสนับสนุน Brexit ด้วยคะแนนโหวต 52-48 การสำรวจความเห็นในวงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีพบว่ากลุ่มคนในบริษัทเกิดใหม่ หรือสตาร์ทอัปราว 3 ใน 4 ของอังกฤษเลือกคัดค้าน Brexit ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปอาจลดโอกาสที่สตาร์ทอัปไอที สัญชาติอังกฤษจะได้รับเงินสนับสนุนจากนักลงทุนในสหรัฐฯ

ผลสำรวจของธนาคารซิลิกอนวัลเลย์ (Silicon Valley Bank) สะท้อนว่าสตาร์ทอัปอังกฤษอาจอพยพออกจากบ้านเกิด เพื่อไปตั้งรกรากในดินแดนที่มีปัจจัยเกื้อหนุนที่ดีกว่า วิกฤติสมองไหลนี้เกิดขึ้นในขณะที่ภาคการศึกษาของอังกฤษถูกวิจารณ์ว่าไม่ สามารถผลิตแรงงานคุณภาพในวงการเทคโนโลยีได้มากพอ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความกังวลว่า Brexit จะทำให้อังกฤษสูญเสียหัวกะทิในวงการไอทีไปอย่างน่าเสียดาย

สื่อของอังกฤษอย่าง TheGuardian เคยให้ความเห็นว่า ระบบการศึกษาของอังกฤษลงทุนกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านเทคโนโลยีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และถึงแม้จะเริ่มมีคอร์สสอนเขียนโปรแกรมในโรงเรียนเกิดขึ้นบ้างแล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถผลิตคนได้ทันกับความต้องการของวงการเทคโนโลยีที่เฟื่องฟูสุดขีดในนาทีนี้

ภาพก่อนการลงประชามติ กรุงลอนดอนในฐานะฮับของโลกเทคโนโลยีบนสหภาพยุโรปจึงเต็มไปด้วยมือดีจากทั่วทุกมุมโลกที่เข้ามาหางานทำ และทันทีที่เกิดปรากฏการณ์ Brexit ขึ้น สิ่งที่ผู้ประกอบการบริษัทเทคโนโลยีเรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยเหลืออย่างรวดเร็วก็คือ ‘วีซ่าสำหรับทำงาน’ เพื่อรักษามือดีเหล่านั้นให้อยู่กับบริษัทต่อไป หรือไม่ก็คือการย้ายฐานออกจากอังกฤษนั่นเอง

เรื่องนี้ Taavet Hinrikus ผู้ก่อตั้งฟินเทคชื่อ TransferWise และเป็นผู้คัดค้านการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษถึงกับกล่าวว่า การที่อังกฤษเลือกโหวต Leave คือหายนะอย่างแท้จริง โดย Hinrikus เผยหลังการโหวตว่าการอนุมัติวีซ่าคือทางแก้ปัญหาทางหนึ่งที่วงการเทคโนโลยี ต้องการ เพราะหากไม่สามารถรับคนต่างประเทศเข้ามาทำงานได้แล้ว อังกฤษจะหยุดนิ่ง วีซ่าจึงเป็นชิ้นส่วนสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมและการทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป

ด้าน Damian Kimmelman ผู้ก่อตั้ง DueDil ผู้ให้บริการข้อมูลทางธุรกิจก็ให้ความเห็นในลักษณะเดียวกับ Hirinkus ว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้รับผลกระทบจากการโหวต Leave อย่างแน่นอน เนื่องจากสตาร์ทอัปของอังกฤษอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนจาก VC ต่างชาติ และแรงงานที่มีทักษะที่ต้องการวีซ่าเข้ามาทำงานเพื่อให้บริษัทเติบโตขึ้นไป สู่ระดับโลกได้ แต่ตอนนี้การพัฒนาเหล่านั้นล้วนหยุดชะงัก เนื่องจากติดปัญหาด้านการหาทีมงาน และเงินทุนสำหรับการขยายกิจการไปแล้ว

ขณะที่ Mike Butcher บรรณาธิการจาก TechCrunch ของอังกฤษก็ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยบอกว่าส่วนผสมสำคัญสำหรับสตาร์ทอัป นอกจากไอเดียก็คือ คน และเงิน เมื่อขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ความสำเร็จก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

‘ลองนึกดูว่าถึงคุณสามารถระดมทุนได้ แต่ขาดคนที่มีความสามารถมาร่วมงาน ไอเดียของคุณจะไปได้ถึงไหน’ รายงานระบุ ‘การออกจากอียูคือการโยนความสามารถในการเสาะหาคนดีมีฝีมือจากทั่วยุโรปมาร่วมงานด้วยทิ้งไป โดยเฉพาะวิศวกรมากความสามารถจากโปแลนด์ หรือโรมาเนีย’

อีกทั้งในขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปก็เริ่มจัดแคมเปญเชิญชวนสตาร์ทอัปจากอังกฤษให้ย้ายถิ่นฐานไป อยู่ในประเทศของตนกันบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่น TransferWise ที่เผยว่า ได้รับคำเชิญจากไอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ และอีกหลายประเทศให้ย้ายที่ทำการจากอังกฤษไปยังประเทศเหล่านั้นแทน หรือ ทางบริษัทเอฟดีพี (FDP) ของเยอรมัน ที่ได้มีการว่าจ้างรถโฆษณาขับไปทั่วกรุงลอนดอนพร้อมข้อความว่า ‘Dear startups, Keep calm and move to Berlin’ เพื่อจุดกระแสให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัปพิจารณาการย้ายสำนักงานไปที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี

559000007251203

ยักษ์ไอทีเริ่มขยับ

ไม่เฉพาะสตาร์ทอัป บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่างโวดาโฟน (Vodafone) ก็ถูกจัดชื่อไว้ในกลุ่มบริษัทที่เริ่มมองหาที่ตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่นอกอังกฤษแล้วเช่นกัน เนื่องจากลูกค้ากว่า 462 ล้านคน พนักงานกว่า 108,000 คน และซัปพลายเออร์อีกกว่า 15,000 คนของโวดาโฟนนั้น ‘อยู่นอกอังกฤษ’

แถมรายได้ของโวดาโฟน ยังมาจากในอังกฤษเพียง 11% ส่วนอีก 55% นั้นมาจาก ‘สหภาพยุโรป’ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตของโวดาโฟน ทั้งในเรื่องการย้ายถิ่นของแรงงาน เงินทุน ซึ่งการย้ายสำนักงานนี้หากเป็นจริงจะทำให้เกิดการว่างงานขึ้นประมาณ 13,000 ตำแหน่งเลยทีเดียว

ส่วนบริษัทที่แสดงจุดยืนไม่ย้ายออกจากอังกฤษ สถานการณ์ของบริษัทเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะสวยหรู เนื่องจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปได้ทำให้ค่าเงินปอนด์ดิ่งเหวถึง 14% ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทเทคโนโลยีส่วนหนึ่งที่อิงอยู่กับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ หรือมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ ที่อิงกับดอลลาร์สหรัฐต้องมีการปรับราคาสินค้าของตนขึ้นตั้งแต่ 6.5 – 20%

7 กรกฎาคม เจ้าพ่อไอทีอย่างเดลล์ (Dell) และบริษัท วันพลัส (OnePlus) บริษัทสมาร์ทโฟนจากแดนมังกร ประกาศขึ้นราคาสินค้าที่วางจำหน่ายในอังกฤษเพราะวิกฤติค่าเงินปอนด์ดิ่งเหวจากปรากฏการณ์ Brexit ถือเป็นข่าวระลอกแรกก่อนที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายอื่นจะขึ้นราคาสินค้าไอทีเช่นกัน

ค่าเงินปอนด์ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ในจุดที่ตกลงสูงสุดในรอบ 31 ปี เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 12% เมื่อเทียบกับวันก่อนมีการลงประชามติ

ไม่เพียงคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แต่อุปกรณ์เพื่อการถ่ายภาพ และกล้องดิจิตอลซึ่งมีฐานการผลิตนอกอังกฤษล้วนเข้าคิวปรับเพิ่มราคาสินค้า แม้จะมีกลไกป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินไว้แล้ว กลไกเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้จัดจำหน่ายต้องขึ้นราคาสินค้าโดยไม่จำเป็น แต่กรณีการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปนั้น เป็นเรื่องที่ส่งผลรุนแรงเกินกว่าสถานการณ์ปกติ

หากมองนอกพื้นที่สตาร์ทอัปสัญชาติอังกฤษที่ได้รับผลกระทบจากการ Brexit จะพบว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่างแอปเปิล (Apple) ก็จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ Brexit ครั้งนี้ด้วย เมื่อมีการคาดการณ์จากสถาบันการเงินซิตี้ (Citi) ว่าตัวเลขการเปลี่ยนเครื่องไอโฟนของผู้ใช้งานชาวอังกฤษจะขยายเวลาออกไปจากเดิม เปลี่ยนเครื่องทุก ๆ 2 ปีเป็น 3 ปี ซึ่งอาจส่งผลต่อยอดขายไอโฟนในไตรมาสสองและสามของปีนี้ไปด้วย

ไอทีไทยกระทบ?

แม้การถอนตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรปจะไม่สะท้อนภาพผลกระทบต่อการเติบโตของไอทีไทยมากนัก แต่ต้องยอมรับว่าในมุมที่ไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคม AEC ซึ่งเป็นประชาคมที่มีความแตกต่างทางความคิดไม่ตางจากอียู ก็ต้องมองว่าปรากฏการณ์ Brexit คือบทเรียนสำคัญที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบริษัทสตาร์ทอัปในภูมิภาค

ในมุมนักลงทุนคนไทยที่เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจาก Brexit ครั้งนี้โดยตรงเห็นจะหนีไม่พ้นอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีข่าวว่าได้ลงทุนใน บริษัท เซนทริกส์ อินฟอร์เมชั่น ซีเคียวริตี เทคโนโลยีส์ ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัปเกี่ยวกับความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ต ในประเทศอังกฤษ

ช่วงก่อนการลงคะแนน Brexit ไม่กี่วัน รายงานของสื่ออังกฤษระบุว่าทักษิณได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการบริษัท เซนทริกส์ อินฟอร์เมชั่นฯ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 โดยระบุว่าถือสัญชาติไทยและถิ่นพำนักที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) นอกจากทักษิณ ชินวัตร แหล่งข่าวของสำนักข่าวเทเลกราฟยังระบุว่าเทมาเส็ก กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ก็ได้ลงทุนในบริษัทนี้เช่นกัน

สำหรับ เซนทริกส์ อินฟอร์เมชั่นฯ เป็นบริษัทที่เตรียมระดมทุนครั้งใหม่ บนความหวังให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดตัวโครงสร้างพื้นฐานใหม่เป็นครั้งแรก ปรากฏการณ์ Brexit อาจทำให้การระดมทุนของบริษัทนี้ไม่ราบรื่นอย่างที่นักลงทุนคาดกันไว้ แม้เซนทริกส์ฯ ได้ลงนามทำการค้าเป็นครั้งแรกกับบริษัทผู้ประกอบการรายใหญ่ในสิงคโปร์แล้วก็ตาม

ทั้งนี้ อังกฤษถือเป็นชาติแรกที่ลาออกจากประวัติศาสตร์ 60 ปีของอียู ด้วยการทำประชามติ ซึ่งผลรวมคะแนนทั้ง 382 เขต ประกาศผลการนับคะแนนในทุกเขตครบถ้วน ปรากฏว่า ผู้ออกเสียงที่เลือกแยกตัว ชนะผู้ที่ต้องการคงอยู่ในอียู 51.9% ต่อ 48.1% มีผู้โหวตให้ออกจากอียู 17.4 ล้านคน ส่วนผู้ลงคะแนนให้เป็นสมาชิกต่อไปมี 16.1 ล้านคน

ผลประชามตินี้ทำให้นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลประชามติในครั้งนี้ และยกหน้าที่ในการดำเนินการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน

ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000070212

]]>
1097397