Singha – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 24 Jun 2024 06:59:00 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดแนวคิด ‘น้ำดื่มสิงห์’ x ‘แคร์แบร์’ กับการสร้าง ‘Brand Love’ ด้วยการส่งต่อพลังบวก https://positioningmag.com/1479330 Mon, 24 Jun 2024 06:58:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1479330 ตลาดน้ำดื่มบรรจุขวด 38,000 ล้านบาท ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 นี้คาดว่าจะเติบโตได้ 6.5% ถึงแม้ตลาดน้ำดื่มจะมีการแข่งขันที่รุนแรง แต่ ‘น้ำดื่มสิงห์’ เบอร์ 1 ของตลาดที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด ยังเดินหน้ารักษาตำแหน่งแชมป์ ด้วยการสร้าง “Brand Love” เพื่อเข้าไปอยู่ในใจลูกค้าทุกวัยด้วย ‘แคร์แบร์’ คาแรกเตอร์ใหม่ที่ช่วยสะท้อนถึงตัวตนสิงห์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ทำไมเลือก Collab แคร์แบร์?

เชื่อว่าคนไทยหลายคนต้องเคยเห็นตุ๊กตาหมีหลากสีที่มีชื่อว่า ‘แคร์แบร์’ (Care Bears) กันเป็นอย่างดี เพราะแคร์แบร์เป็นคอลเลกชันตุ๊กตาหมีของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีอายุยาวนานถึง 43 ปี โดยปรากฏขึ้นครั้งแรกจากการเป็นลวดลายบนการ์ดอวยพรของบริษัท American Greetings ในปี 1981 โดย Elena Kucharik เป็นผู้วาดแคร์แบร์

จากความนิยมในการส่งการ์ดอวยพรหากันในโอกาสต่าง ๆ ทำให้แคร์แบร์ได้ถูกนำไปต่อยอดสร้างเป็นแอนิเมชันและผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ ทำให้จากเพียงแค่ภาพการ์ตูนหมีที่เป็นตัวแทนของความรู้สึกห่วงใยบนการ์ด แคร์แบร์ได้กลายเป็นตัวแทนในการสื่อความรู้สึกต่าง ๆ แทนคำพูด เช่น มอบความรัก, มอบกำลังใจ และมอบความสดใส

ดังนั้น ด้วยคาแรกเตอร์ที่มีความ Positive พร้อมส่งมอบสิ่งดี ๆ มอบกำลังใจ และเป็นแรงบวก ซึ่งสอดคล้องกับคาแรกเตอร์ของ น้ำดื่มสิงห์ ที่ต้องการส่งต่อพลังบวกให้ผู้บริโภค และมอบความสุขความสดใสในทุก ๆ วันแก่ผู้คน ทำให้น้ำดื่มสิงห์จึงตัดสินใจเลือก Collab กับแคร์แบร์ภายใต้คอนเซปต์ “ส่งต่อความสดชื่น ด้วยความสดใสที่ใช่”

“คาแรกเตอร์ที่เรา Collab ต้องเป็นที่รู้จักทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่อาจยังไม่มีแบรนด์ในใจ เราก็ต้องการไปอยู่ในใจเด็กเหล่านั้น โดยฉลากจะเป็นจุดดึงดูดให้เลือกสิงห์” ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล Chief Marketing Officer บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าว

ได้มากกว่าสะสมฉลาก

นอกจากจะมีลวดลายฉลากลิมิเต็ด เอดิชั่น ให้สะสมแล้ว พรรณทิพย์ ลีตะชีวะ ผู้อำนวยการกลุ่มการตลาดแบรนด์น็อนแอลกอฮอล์ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด อธิบายต่อว่า คาแรกเตอร์ของแคร์แบร์ยังสามารถนำไปต่อยอดไปยัง Ecosystem ทางการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ ได้อีกด้วย อาทิ สมาชิกสิงห์รีวอร์ด สามารถร่วมสนุกได้อีกต่อจากการ สะสมแต้มจากรหัสใต้ฝา เพื่อแลกสินค้า Merchandise ของแคร์แบร์ที่มีกว่าพันไอเทม เช่น ตุ๊กตา, หมอน และผ้าห่ม

รวมถึงการทำกิจกรรมพิเศษ อาทิ ‘Everyday Is A Care Day Presented by น้ำดื่มสิงห์’ ที่เนรมิตอีเวนท์ ด้วยจุดถ่ายรูปของตุ๊กตาหมี Care Bears ทั้ง 7 วัน 7 สี โดยแฟน ๆ สามารถร่วมกิจกรรม Photo Mission ถ่ายรูปครบทั้ง 7 โซน และสะสมแสตมป์ครบ 7 ดวง เพื่อรับสิทธิ์ในกิจกรรมคีบตุ๊กตา Care Bears, ถ่ายภาพ Photo Booth และกิจกรรมแลกรับไอศกรีมผ่านคะแนน Singha Rewards ณ ศูนย์การค้าเมกา บางนา บริเวณ ชั้น 1,โซนแฟชั่น แกลอเรีย (Fashion Galleria Zone) เมื่อวันที่ 12-18 มิถุนายน 2567

“คาแรกเตอร์ที่เราเลือกจะเป็นการสื่อสารว่าสิงห์เป็นแบรนด์อย่างไร ซึ่งภาพของสิงห์จะดูเป็น Family พร้อมส่งแรงบวกกับคนรอบข้าง” พรรณทิพย์ ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ แคร์แบร์ถือเป็น คาแรกเตอร์ที่ 6 ที่น้ำดื่มสิงห์ Collab ด้วย โดยก่อนหน้านี้จะมีคาแรกเตอร์ระดับโลก ได้แก่ My Little Pony, Mickey Mouse, โดราเอมอน และ Toy Story

7 ลาย 7 สี 7 ความหมาย

สำหรับน้ำสิงห์ที่มีฉลาก แคร์แบร์ ลิมิเต็ด เอดิชั่น จะมีใน 2 ขนาด ได้แก่ 330 มิลลิลิตร และ 750 มิลลิลิตร โดยมีให้สะสมทั้งหมด 7 ลาย 7 สี โดย พรรณทิพย์ อธิบายเสริมว่า แต่ละสีจะส่งต่อความสดชื่น ด้วยความสดใสแตกต่างกัน ตามแต่ละสีของแคร์แบร์ ได้แก่

  • หมีสีฟ้า (Grumpy Bear) สื่อถึงว่าจะไม่โอเคบ้างก็ไม่เป็นไรนะ
  • หมีสีแดง (Love-A-Lot Bear) การส่งต่อความรัก
  • หมีสีเหลือง (Funshine Bear) เป็นความกระฉับกระเฉง สดใสเหมือนพระอาทิตย์ในทุกวัน
  • หมีสีม่วง (Share Bear) การรู้จักแบ่งปันต่อคนรอบข้าง
  • หมีสีส้ม (Friend Bear) ความเป็นมิตรกับเพื่อนรอบข้าง
  • หมีสีชมพู (Cheerful Bear) การแบ่งปันความสุข รอยยิ้ม
  • หมีสีเขียว (Lucky Bear) การส่งต่อความโชคดีให้กันและกัน

นอกจากความสนุกในการตามหาให้ครบ 7 สี 7 ลาย แฟน ๆ สามารถเติมความสดชื่นที่ใช่ ฮีลใจ เพิ่มพลังให้กับตัวเองและคนที่ห่วงใยในทุกวันด้วย ข้อความข้างขวดจากเหล่าแคร์แบร์ ได้อีกด้วย โดยแฟน ๆ สามารถหาซื้อน้ำดื่มสิงห์ขนาด 330 มิลลิลิตร (มล.) ผ่านช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ต และขนาด 750 มล. จำหน่ายผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

]]>
1479330
“น้ำสิงห์ขวดใส” ความท้าทายบทใหม่ ในการบาลานซ์ ‘แบรนดิ้ง’ กับ ‘สิ่งแวดล้อม’ https://positioningmag.com/1463717 Thu, 22 Feb 2024 13:44:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1463717 ทุกวันนี้ปัจจัยที่เราเลือกหยิบน้ำดื่มจากตู้แช่สักขวดคืออะไรบ้าง แบรนด์, ราคา, คุณภาพ หรือพรีเซ็นเตอร์ ถ้าวันหนึ่งน้ำดื่มไม่มีฉลากที่บอกชื่อแบรนด์ จะเลือกหยิบกันถูกหรือไม่ ยังคงเป็นคำถามแก่นักการตลาด และผู้บริโภค

ปัจจุบันเราได้เห็นองค์กรต่างๆ ได้ตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตั้งเป้าหมายในเรื่องการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ การเซ็ต Net Zero ภายในปีต่างๆ หรืออย่างใกล้ตัวขึ้นมาหน่อยก็เป็นการปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งที่ใช้วัสดุที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ง่าย หรือนำไปรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น

singha

อุตสาหกรรมน้ำดื่มเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ “พลาสติก” เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันนิยมใช้ขวดพลาสติก PET เป็นหลัก เพราะเป็นวัสดุที่เบา ใช้งานได้สะดวก รับเทรนด์ความสะดวกสบายของผู้บริโภค ซึ่งพลาสติกที่ว่าก่อให้เกิดขยะหลายชิ้นส่วนทั้งขวด ฉลากผลิตภัณฑ์ ฝา พลาสติกหุ้มแพ็ก จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีขยะจากขวดพลาสติกราว 6,000 ล้านขวด/ปี แต่มีเพียงไม่ถึง 10% เท่านั้นที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

ทางเลือกของแบรนด์ต่างๆ ที่เริ่มเห็นกันมากขึ้นคือ มีการเปลี่ยนไปใช้วัสดุ “อะลูมิเนียม” แม้ต้นทุนจะสูงกว่า แต่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100%

ต้นทุนไม่ลดอย่างที่คิด

ถือว่าเป็นความท้าทายอยู่พอสมควรที่ “น้ำดื่มสิงห์” ผู้นำในตลาดน้ำดื่มลุกขึ้นมาปรับแพ็กเกจจิ้งครั้งใหญ่ ด้วยการปรับเป็นขวดใส เพื่อลดการใช้ฉลากผลิตภัณฑ์ โดยมีเทคนิคการพิมพ์นูนลงบนขวด

ในช่วงแรกถือว่าเรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร แม้สิงห์จะไม่ใช่รายแรกที่ทำขวดใส เพราะก่อนหน้านี้มีแบรนด์น้ำดื่มน้องใหม่อย่าง “ซีทรู (C2)” ก็มีการใช้ขวดใสเช่นกัน มีกระบวนการเดียวกันก็คือพิมพ์นูนบนขวด พร้อมใช้ “แจ็คสัน หวัง” เป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อสร้างการรับรู้ แต่ก็สร้างแรงกระเพื่อมในตลาดได้ไม่น้อย เพราะยักษ์ใหญ่ลงมาจับตลาดนี้

singha

สิงห์เริ่มคิกออฟขวดใสกับน้ำดื่มไซส์ใหญ่ 1.5 ลิตรก่อน และขายยกแพ็กเท่านั้น ไม่มีขายแยกขวด จำหน่ายเฉพาะช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ต เริ่มจากโลตัสเป็นที่แรก เพราะยังมีข้อจำกัดเรื่องข้อมูลสำคัญที่ต้องระบุลงในฉลาก เช่น ตราสินค้า ชื่อแบรนด์ เลข อย. และปริมาตรของสินค้า จากที่เคยพิมพ์ข้อมูลนี้ลงฉลาก ต้องเปลี่ยนมาพิมพ์ลงบนพลาสติกที่หุ้มแพ็กแทน

อีกนัยสำคัญหนึ่งก็คือ ขนาด 1.5 ลิตร เป็นขนาดที่ขายดีที่สุดของสิงห์ มีสัดส่วนยอดขายถึง 49% รองลงมาคือขนาด 600 มิลลิลิตร ในขณะที่ตลาดน้ำดื่ม ไซส์ 1.5 ลิตร มีสัดส่วน 40%

สิงห์จึงเริ่มนำร่องกับไซส์คู่ใจของเขา อีกทั้งไซส์นี้ยังเป็นไซส์สำหรับผู้บริโภคที่ซื้อยกแพ็กไปดื่มที่บ้าน จะเป็นกลุ่มที่มี Loyalty สูง ถึงแม้ไม่มีฉลาก ก็ยังซื้อดื่มเหมือนเดิม

singha

พรรณทิพย์ ลีตะชีวะ ผู้อำนวยการกลุ่มการตลาดแบรนด์น็อนแอลกอฮอล์ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เล่าว่า

“สิงห์ใช้เวลาในการพัฒนาขวดใสราวปีกว่า มีการลงทุนเครื่องจักรเพิ่ม ต้องเปลี่ยนเครื่องโมเป่าขวดจากเรียบเป็นนูน ความยากคือต้องเป่าแล้วให้แข็งแรง เป็นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ PET 1 สามารถรีไซเคิลได้ 100% ทำให้แม้ว่าจะลดการใช้ฉลาก แต่ต้นทุนเราก็ไม่ได้ลดลงอย่างที่คิดเลย เพราะต้องใส่ข้อมูลบนฉลากบนขวด และบนพลาสติกหุ้มแพ็ก แต่สิ่งที่ได้คือลดการใช้พลาสติกมากขึ้น และเป็นเจ้าใหญ่ที่ลงมาเทคแอคชั่นตรงนี้”

ตอนนี้น้ำดื่มสิงห์มี 1 โรงงานที่มีไลน์ผลิตที่สามารถโมเป่าขวดนูนได้ มีการตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 จะมีไลน์ผลิตขวดนูนได้ทุกโรงงาน 5 แห่ง ได้แก่ วังน้อย, สิงห์บุรี, มหาสารคาม, สุราษฎ์ธานี และเชียงใหม่

singha

พรรณทิพย์ บอกว่า มีความสนใจที่จะขยายขวดใสไปแพ็กไซส์อื่นเช่นกัน แต่ต้องดูเรื่องความเหมาะสมของข้อมูลสำคัญบนฉลาก ซึ่งจะสามารถพิมพ์ลงได้มากน้อยแค่ไหน มองว่าถ้าขวดใสไซส์ต่อไป ก็คงต้องเป็นขนาด 600 มิลลิลิตร เพราะเป็นขนาดที่ขายดีรองลงมา

แต่น้ำดื่มขวดที่มีฉลากก็ยังขายอยู่ปกติในทุกช่องทาง มีเพียงช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้นที่ขายแบบขวดใส เพราะเหมาะกับการซื้อยกแพ็กมากกว่า

แบรนด์ได้อะไรจากฉลากที่หายไป?

แน่นอนว่าคำตอบแรกอาจจะบอกว่า “ได้ใจ” ผู้บริโภค

แต่ในระยะยาวอาจจะต้องรอดูว่าผู้บริโภคให้การตอบรับมากน้อยแค่ไหน เพราะฉลากสินค้าที่ลดลง เท่ากับพื้นที่โฆษณาของแบรนด์ก็ลดลงเช่นกัน

พรรณทิพย์ มองในประเด็นนี้ว่า พื้นที่โฆษณาหายไปแน่นอน แต่เป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างเรื่องการตลาด กับเรื่องรักษ์โลก มองว่าในระยะยาวน่าจะดีกว่า และผู้บริโภคก็จะเริ่มปรับพฤติกรรม และเข้าใจมากขึ้น ตอนที่เราเริ่มเอา Cap Seal หุ้มฝาขวดออก ก็ช่วยลดพลาสติกได้มหาศาล

singha

จริงๆ แล้วฉลากอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เตะตาผู้บริโภคเวลาอยู่บนตู้แช่ แต่สุดท้ายแล้วลูกค้าที่มี Brand Loyalty จะสามารถจดจำได้ว่าแบรนด์ทำอะไรบ้าง ยิ่งในปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เริ่มตัดสินใจจากแบรนด์ที่ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาจจะเป็นเรื่องดีที่ทำให้แบรนด์ได้คะแนนมากขึ้นได้

สิงห์ตั้งเป้าว่าน้ำขวดใสนี้ จะสามารถช่วยลดขยะพลาสติกลงได้ราว 16 ตัน/ปี หรือเทียบเท่าระยะทาง 7.8 แสนกิโลเมตร

ทั้งนี้ ตลาดน้ำดื่มในปี 2566 มีมูลค่า 38,000 ล้านบาท เติบโต 8.9% หรือปริมาณ 3,700 ล้านลิตร ส่วนแบ่งการตลาด สิงห์ 20% คริสตัล 18.6% เนสท์เล่ 11.4% น้ำทิพย์ 10.5% และอื่นๆ 39.5%

]]>
1463717
เปิดเบื้องหลัง “เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์” ช้าเเต่ชัวร์…สิงห์ส่งหมัดเด็ด ชิงตลาดน้ำผสมวิตามิน https://positioningmag.com/1304761 Thu, 05 Nov 2020 18:02:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1304761 หอมหวานสุดๆ ตอนนี้ยักษ์ใหญ่ยักษ์เล็ก กระโจนลงมาเล่นตลาดน้ำผสมวิตามินกันไม่หยุด จากปีที่เเล้วตีตลาดเจ้าเดียวมาปีนี้เจอผู้ท้าชิงอีก “7-8 เจ้าปล่อยทีเด็ดส่งเสริมการขายกันอย่างหนัก ตามเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง 

ล่าสุดบิ๊กน้ำดื่มอย่างสิงห์ประเดิมส่งเพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์ ขอลงสนามโตไวนี้ด้วย เล่นเอาเเบรนด์คู่เเข่งต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่เลยทีเดียว

เพราะน้ำแร่เพอร์ร่า” เป็นแบรนด์อันดับ 1 มีส่วนแบ่งทางการตลาดน้ำเเร่ถึง 26% หลังจากเปิดตัวเพียง 8 ปี เเสดงว่าต้องมีฐานเเฟนคลับผู้รักสุขภาพ” อยู่จำนวนมาก เป็นทุนเดิมนั่นเอง ประกอบกับน้ำดื่มสิงห์” ก็ครองเเชมป์ตลาดด้วยมาร์เก็ตเเชร์ 25% (ย้อนหลัง 12 เดือน) ด้วยเช่นกัน

การเสริมพอร์ตด้วยน้ำดื่มผสมวิตามินของสิงห์ จึงน่าจับตาว่าจะสามารถเขย่าตลาดเเข่งดุ” นี้ ได้หรือไม่ ส่วนคำถามที่ว่า “ทำไมออกตัวช้านั้น

เต้ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด บอกกับ Positioning ว่า น้ำดื่มผสมวิตามิน ต้องผ่านกระบวนการคิดค้นหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องคุณประโยชน์ที่ต้องไปให้ได้กับรสชาติที่อร่อย จึงจำเป็นต้องใช้เวลา

“อยู่ที่จังหวะ บางทีการปล่อยสินค้าออกมาเร็วๆ ก็ไม่ใช่ทางเลือกดีที่สุด เเม้ตลาดจะมีไปเเล้ว 7-8 เจ้า เเต่ในที่สุดอาจจะเหลือผู้ที่อยู่ครองตลาดได้เเค่ 2-3 เจ้า ภายใน 2-3 ปีนี้

โดยตลาดน้ำผสมวิตามิน มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2562 มีมูลค่าตลาดราว 1,068 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปี 2563 จะมูลค่าตลาดถึง 3,500 ล้านบาท เเละเป็นเพียงการเติบโตใน “ช่วงเริ่มต้น” เท่านั้น เเละยังมีโอกาสโตไปได้อีกมาก

ต่อยอดด้วยเเบรนด์ “เพอร์ร่า” ไม่ใช่ “สิงห์” ?

ตลอดช่วง 9 เดือนเเรกของปี 2563 ภาพรวมของตลาดน้ำดื่ม ที่มีมูลค่ากว่า 24,750 ล้านบาท หดตัวไปกว่า -12% จากพิษการเเพร่ระบาดของ COVID-19

เช่นเดียวกับ “ตลาดน้ำเเร่” ที่ติดลบไป -9% เเต่ทว่า “น้ำดื่มผสมวิตามิน” กลับเติบโตเป็นเท่าตัวถึง 110% สวนทิศทางเครื่องดื่มทั้งหลาย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่สิงห์ต้องกระโจนเข้ามาสู้ตลาดนี้ หลังเตรียมการมานานหลายเดือน 

ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล Chief Marketing Officer – Brand ของบุญรอดเทรดดิ้ง บอกถึงเหตุผลที่เลือกเปิดตัวน้ำผสมวิตามินตัวใหม่นี้ ผ่านเเบรนด์ “เพอร์ร่า” ว่า กลุ่มลูกค้าที่เลือกซื้อน้ำเเร่ มักจะเป็นกลุ่มเดียวกันกับคนที่ซื้อน้ำผสมวิตามิน 

น้ำแร่เป็นเครื่องดื่มที่ผู้บริโภคหลัก คือวัยทำงานกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนิยม “ดื่มนอกบ้าน” มากกว่าซื้อเป็นแพ็กติดบ้าน เมื่อเกิดล็อกดาวน์และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เปิดประเทศ ทำให้ตลาดน้ำแร่ยิ่งเจ็บหนัก ส่วนเหตุผลรองที่อาจมากระทบคือ เทรนด์ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ หันไปดื่มน้ำเสริมวิตามินแทนน้ำแร่

โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพอายุระหว่าง 25-35 ปี ซึ่งคุ้นเคยกับเเบรนด์เพอร์ร่าดีอยู่เเล้ว

อีกทั้ง “เพอร์ร่า” ยังอยู่ในเซ็กเมนต์ของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ดังนั้นการนำเสนอสินค้าไลน์ใหม่ด้วยภาพลักษณ์เดียวกันนั้น จะทำให้ลูกค้า “จำได้ง่ายกว่า” เเละมองเห็นภาพความ “เฮลท์ตี้” ได้ชัดเจนขึ้น ส่วนข้อสงสัยที่ว่าคนจะจำสับสนกันหรือไม่นั้น ทางบริษัทได้ปรับให้ เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์ มีดีไซน์ของขวด ฉลากเเละสีสัน เเตกต่างจากน้ำเเร่เพอร์ร่าเเล้ว

เปรียบเทียบเเพ็กเกจจิ้งของน้ำเเร่เพอร์ร่า (ซ้าย) เเละเพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์ (ขวา)

เเตกต่างด้วย “ครบจบในขวดเดียว” 

“ความยากคือทำอย่างไรให้ใส่วิตามินเยอะเเล้วยังมีความอร่อย ต้องบาลานซ์คุณภาพของน้ำในขวดตามที่เขียนในฉลาก เเต่รสชาติต้องพอดื่มได้ บางคนลองดมดูเเล้วบอกว่ามีกลิ่นเหมือนยา เเต่เราก็ไม่อยากลดวิตามิน” 

โดยจุดเด่นเเละความเเตกต่างของ เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์ (Purra Vitamin Water) ที่จะเข้ามาเจาะตลาดนี้ คือการชูคอนเซ็ปต์ “ครบจบในขวดเดียว”

“เราเห็นช่องว่างว่า ตอนนี้เเบรนด์ต่างๆ ที่ผลิตน้ำผสมวิตามินออกมาจำหน่าย ส่วนใหญ่จะเเยกขาย เช่น วิตามิน C หนึ่งขวด วิตามิน B อีกหนึ่งขวด ผู้บริโภคอาจจะต้องซื้อหลายขวดหลายเเบรนด์ เเต่เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์ จะมาเเบบเเร่ธาตุครบในขวดเดียว พร้อมใส่ปริมาณของเเต่ละวิตามินเท่ากับที่เเบรนด์อื่นใส่ไปในขวดเดียวด้วย…นี่คือจุดเด่นของเรา” 

โดยเพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์ หนึ่งขวด จะมีวิตามินซีสูง 200% และวิตามินบี 1, 3, 5, 6, 7, 9, 12 รวม 8 ชนิด
ไม่มีน้ำตาล ไม่มีแคลอรี ไม่มีโซเดียม ซึ่งทางเเบรนด์ชูว่า คุณประโยชน์ของวิตามินเหล่านี้จะช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น
เสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย บำรุงระบบประสาทและสมอง มีส่วนช่วยในการบำรุงผิวและเส้นผม
นอกจากนี้ ยังนำเข้าวิตามินส่งตรงจาก “เยอรมนี” ซึ่งมีชื่อเสียงด้านวิตามินต่างๆ ที่นิยมเติมลงในน้ำดื่มเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวัน เป็นอีกจุดขายจุดขายที่สร้างความเเต่างจากคู่แข่ง ที่บางรายนำเข้าวิตามินจากญี่ปุ่น อังกฤษ ฯลฯ 
ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด (ขวา) ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล Chief Marketing Officer-Brand (ซ้าย)

ทำไมเลือกราคาขายที่ 17 บาท ? 

“เมื่อคำนวณจากต้นทุนเเล้ว เราตั้งราคาของเพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์ ให้ต่ำกว่า 15 บาทไม่ได้ เเละจะไม่ตั้งราคาไปไกลถึง 20 บาทเพราะผู้บริโภครับไม่ไหว ดังนั้นเราจึงเลือกจุดตรงกลางที่ 17 บาท ในขนาดบรรจุ 500 มล. เป็นราคาที่เหมาะสม” 

ธิติพร อธิบายต่อว่า ตามปกติเเล้ว หลักเกณฑ์ในการตั้งราคาขายของเเต่ละสินค้า จะดูที่ 3 เเกนหลัก ได้เเก่ 1)ต้นทุน 2)คู่เเข่ง 3) ผู้บริโภครับได้ไหม ดังนั้น เมื่อทางเเบรนด์ใช้วิตามินนำเข้าเเละใส่ไปในปริมาณเยอะ จึงไม่สามารถปรับราคาให้ลดลงกว่านี้ได้

โดยผู้บริหารบุญรอดทั้ง ภูริตเเละธิติพร ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า จะไม่เข้าไปต่อสู้เเบบ “ดัมพ์ราคา” ในตลาดน้ำดื่มผสมวิตามิน ที่บางเเบรนด์อาจจะมีการลดไปถึงหลักสิบบาทต้นๆ อย่างเเน่นอน เพราะไม่ใช่เเนวทางของบริษัทที่มุ่งเน้นไปที่เเบรนดิ้ง คุณภาพ เเละมองว่าเรื่องราคาเป็นเรื่องรอง 

ในขณะที่ลูกค้าหลายคนให้เหตุผลถึงการเลือกซื้อ “น้ำดื่มผสมวิตามิน” ว่าเป็นการบำรุงร่างกายต่างๆ เเต่ก็มีอีกอีกกลุ่มผู้บริโภคที่สงสัยว่าจำเป็นต่อร่างกายจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงกระเเสนิยมเเละการตลาดเท่านั้น ทางเเบรนด์จะมีการสื่อสารต่อโปรดักต์นี้อย่างไร

ธิติพร ตอบว่า วิตามินเป็นสิ่งที่บำรุงร่างกายอยู่เเล้ว เเต่การที่น้ำดื่มผสมวิตามินจะมีเเร่ธาตุเท่ากับการกินผัก ผลไม้เเละอาหารต่างๆ นั้นเป็นไปไม่ได้ จึงต้องมีการสื่อสารกับลูกค้าถึงสรรพคุณตามความเป็นจริง เน้นเข้าถึงผู้คนผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก รองลงมาคือทางออฟไลน์อย่าง กิจกรรมส่งเสริมการขาย จุดขาย ตามแหล่งออฟฟิศต่างๆ เพื่อให้เกิดการทดลองสินค้าไปในวงกว้างที่สุด

นอกจากนี้ ยังสื่อสารผ่านการใช้ “พรีเซ็นเตอร์” ที่ครองใจคนรุ่นใหม่อย่าง “ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก” นักแสดงชื่อดังที่สะท้อนความเป็นคนทันสมัย ที่ไม่ว่างานเยอะแค่ไหน ก็ยังคงใส่ใจรักษาสุขภาพ

เกาะเทรนด์เครื่องดื่มอนาคต : 0 cal – Functional Drink

สิงห์บุกขยายพอร์ตในเครื่องดื่มกลุ่มนอนแอลกอฮอล์มากขึ้น ตลอดช่วงปีที่ผ่านมาตามกระเเสนิยมโลก อีกทั้งยังไม่มีข้อจำกัดด้านโฆษณามากเท่ากับกลุ่มเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์

“สัดส่วนในพอร์ตเครื่องดื่มของสิงห์”

ปี 2562 – alcoholic 85 : 15 non-alcoholic
ปี 2563F – alcoholic 80 : 20 non-alcoholic
ปี 2564F – alcoholic 70 : 30 non-alcoholic

เมื่อกลางปีนี้ เพิ่งออกสิงห์ เลมอนโซดา ซึ่งเป็นนอนแอลกอฮอล์ของสิงห์ตัวแรกที่เจาะหมวดใหม่คือ
น้ำอัดลม จากก่อนหน้านี้จะมีเฉพาะน้ำดื่ม น้ำแร่ และโซดา โดยเปิดผลิตภัณฑ์แรกก็มีเฉพาะแบบ
น้ำตาล 0% เลย ไม่มีแบบใส่น้ำตาลปกติ วางขาย 1 เดือนแรกทำยอดขายเกินเป้า 5 เท่า เเละเตรียมออกรสชาติอื่นเพิ่มภายในปีนี้ 

จากปัจจุบันกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีน้ำตาล คิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% ของตลาดรวมน้ำอัดลม เเบรนด์สิงห์ มองว่าน่าจะโตไปถึง 30% ของตลาดรวมได้ภายใน 3 ปี 

ในอนาคตอันใกล้นี้ ตลาด 0 cal จะโตมาก รวมไปถึงกระเเสนิยมในกลุ่ม Functional Drink เครื่องดื่มที่ดีสุขภาพอื่นๆ เช่น น้ำดื่มผสมวิตามิน ยังจะมีต่อเนื่องไปอีกหลายปี เเละยังเป็นตลาดที่มีช่องว่างให้เติบโตได้อีก

]]>
1304761
เปิดศึกแพ็กเกจจิ้ง! “น้ำดื่มสิงห์” ดึง Mickey Mouse ลงฉลาก กระตุ้นการสะสม เรียงตัวอักษร https://positioningmag.com/1286909 Wed, 08 Jul 2020 06:52:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1286909 น้ำดื่มสิงห์ กระตุ้นตลาดน้ำดื่มครึ่งปีหลัง ใช้แพ็กเกจจิ้งเข้าช่วย เปิดตัวขวดตัวอักษร “Mickey Mouse Collection” กว่า 60 ลาย หวังจับกลุ่มวัยรุ่น เอาใจสาวกดิสนีย์

น้ำดื่มกับกลยุทธ์แพ็กเกจจิ้ง

ตลาดน้ำดื่มในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นแล้ว ยังมีกลยุทธ์ใหม่ๆ ออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่สามารถเล่นเรื่องราคา โปรโมชั่นได้อย่างเดียว กลายเป็นสินค้าที่บางคนอาจจะไม่มี Brand Loyalty เลยก็ได้ เพราะซื้อแบรนด์ที่มีการลดราคา

เราจึงได้เห็นกลยุทธ์ที่หลากหลายทั้งการใช้พรีเซ็นเตอร์ ทำแคมเปญโปรโชั่น Loyalty Program รวมไปถึงการใช้อีโมชันนอลกับการทำฉลากแพ็กเกจจิ้ง เป็นการฉีกกรอบจากการพูดเรื่องฟังก์ชันนอลว่าน้ำดื่มมีประโยชน์อย่างไร

ก่อนหน้านี้ในปี 2561 “น้ำดื่มสิงห์” ได้เคยใช้กลยุทธ์แพ็กเกจจิ้งกับขนาดเล็ก 330 มิลลิลิตร เป็นการใช้คาแร็กเตอร์ “My Little Pony” มาอยู่บนฉลาก เพื่อต้องการสื่อสารกับกลุ่มเด็กให้มากขึ้น เป็นการวางรากฐานให้เป็นแฟนคลับน้ำดื่มสิงห์ตั้งแต่วัยเด็ก

และเมื่อปี 2562 น้ำดื่มสิงห์ได้ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา เคยเปลี่ยนฉลากน้ำดื่มเป็นตามหาเด็กหาย เป็นการสร้างสีสันให้ตลาด และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้ด้วย

ล่าสุดน้ำดื่มสิงห์ได้ขยับการใช้แพ็กเกจจิ้งมาสู่ไซส์ขนาด 750 มิลลิลิตร ครั้งนี้ได้เปิดตัว Mickey Mouse Collection เป็นการจับมือ “เดอะ วอลท์ ดิสนีย์ (ประเทศไทย)” คว้าลิขสิทธิ์คาแร็กเตอร์มิกกี้เมาส์ กว่า 60 ลาย ไม่ซ้ำกัน เอาใจสาวกดิสนีย์ สามารถเรียงขวดด้วยตัวอักษร A-Z และส่งต่อเป็นข้อความได้

แต่ละคนสามารถเลือกใช้ตัวอักษรสื่อสารทั้งการให้กำลังใจ และสร้างแรงบันดาลใจ เติมเต็มความสุขให้กับคนไทยผ่านตัวอักษรง่ายๆ เช่น HAPPY, LUCKY, WELL, ENJOY เป็นต้น หรือจะนำมาเรียงเป็นชื่อตัวเองก็ได้

ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล Chief Marketing Officer – Brand บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า

“น้ำดื่มสิงห์ได้เปิดตัวแคมเปญการตลาดในช่วงครึ่งปีหลังครั้งใหญ่ สร้างสีสันให้กับวงการน้ำดื่ม จับมือร่วมกับ “เดอะ วอลท์ ดิสนีย์ (ประเทศไทย)” นำคาแร็กเตอร์ Mickey Mouse ที่โด่งดังของดิสนีย์และเป็นตัวการ์ตูนที่คนทั่วโลกรู้จัก ร่วมสร้างปรากฏการณ์ตลาดน้ำดื่มในประเทศไทย คว้าลิขสิทธิ์ลาย Mickey Mouse ด้วยคาแร็กเตอร์กว่า 60 แบบไม่ซ้ำกัน เปิดตัวขวดตัวอักษร Mickey Mouse Collection” พร้อมกับชวนคนไทยมาเรียงขวด ส่งต่อความสุขในแบบของคุณ”

น้ำดื่มสิงห์ Mickey Mouse Collection มีด้วยกัน 2 ขนาด สำหรับขนาด 330 มล. ออกแบบมา 4 สี ทั้งสีเหลือง แดง น้ำเงิน และฟ้า และมีตัวอักษร ตั้งแต่ A-Z สำหรับน้ำดื่มสิงห์ ขนาด 750 มล. มีตัวอักษร A-Z ถูกสร้างสรรค์ให้เป็นตัวอักษรสีดำ ตามสีคาแร็กเตอร์ของมิกกี้เมาส์ เพื่อสะท้อนถึงความทันสมัย และปรับภาพลักษณ์ให้ดูวัยรุ่น พร้อมออก Video Online แสดงให้เห็นสีสันความสนุกของน้ำดื่มสิงห์ใน Mickey Mouse Collection อีกด้วย

โดยวางจำหน่ายที่ร้านสะดวกซื้อ, ร้านค้าปลีก, ซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2563 นี้

สำหรับภาพรวมตลาดน้ำดื่มมูลค่า 32,517 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 2.9% โดยเป็นตัวเลขจากเอซี นีลเส็น (AC Neilsen) เดือนมิ.ย. 2562 – พ.ค. 2563 โดยปีนี้น้ำดื่มสิงห์คาดว่าจะเติบโตประมาณ 10% และมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 25%

]]>
1286909
พลิกมุมคิด ปรับตัวรับ “สุขเเบบใหม่” ในยุค New Normal https://positioningmag.com/1284579 Tue, 23 Jun 2020 04:00:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1284579
เเม้ว่าที่ผ่านมาโลกของเราจะมีการเปลี่ยนเเปลงครั้งสำคัญมานับไม่ถ้วน ผ่านการ Disruption ครั้งเเล้วครั้งเล่า เเต่ทว่าก็ยังไม่ได้เเทรกซึมเข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย ทุกสถานะเเละทุกอาชีพ จนกระทั่งต้องมาพบเจอกับ COVID-19 การเเพร่ระบาดของไวรัสที่เราเเทบจะ “ไม่รู้จัก” มาก่อน อีกทั้งยังคาดเดาไม่ได้

การเปลี่ยนเเปลงครั้งใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนนี้ ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมเเละวิถีชีวิต สั่นคลอนความปลอดภัยของมนุษยชาติ ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคนบนโลกใบนี้ ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ อย่าง “หลีกเลี่ยงไม่ได้” เเละจะเป็นที่จดจำไปตลอดกาล

ในยามที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดในเร็ววัน ผู้คนทั่วโลกต้องพยายาม “ปรับตัว” เพื่อให้อยู่รอด จนก่อให้เกิดพฤติกรรมรูปแบบใหม่ของผู้บริโภคขึ้นมา ที่เราเรียกว่า “New Normal” หรือความปกติแบบใหม่นั่นเอง

มีการปรับตัวที่เป็นสิ่งใหม่เกิดขึ้นมากมายในช่วงนี้ ทั้งการทำงานจากที่บ้าน การจำกัดจำนวนคนเข้าร้านอาหาร การเว้นระยะห่าง การที่ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา การถูกจำกัดด้านการเดินทาง งดการท่องเที่ยว รวมถึงความกังวลด้านรายได้เเละค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้หลายคนรู้สึกว่าความสุขของการใช้ชีวิตถูก “ปิดกั้น” ลงไปเยอะ

เเต่เราก็ได้เห็น “โอกาสในวิกฤต” หลายอย่างที่มาพร้อมกับพฤติกรรมใหม่ที่จะยังคงเป็นไปต่อเนื่อง เเม้จะผ่านช่วงวิกฤตไปเเล้วก็ตาม อย่างการช้อปปิ้งออนไลน์ที่มากขึ้น การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ การประชุมทางไกล การเรียนออนไลน์ การชำระเงินดิจิทัล ผู้คนเพิ่มความใส่ใจในสุขภาพและหันมาใช้ Local Brand มากขึ้น รวมถึงมีการสังสรรค์เเบบใหม่ผ่าน Video Call ด้วย

เมื่อปัจจุบันการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน จะต้องมีมาตรการป้องกันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฉากกั้น หรือการนั่งห่างกัน เพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น นอกจากนี้เเล้ว ยังมี Eat & Drink responsibly ในรูปแบบ New normal ที่ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการงดการขับขี่เพื่อความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการใส่ใจเเละให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และสุขอนามัยในด้านของการรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม

นอกเหนือจากมาตรการพื้นฐานในการเว้นระยะห่างแล้ว เรื่องของการไม่ใช้จานชามและแก้วเครื่องดื่มร่วมกับผู้อื่น ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะเป็นการแสดงความรับผิดชอบในรูปแบบใหม่ด้วย อีกทั้งการสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนใหม่ๆ ที่ปรับเปลี่ยนไปได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งนัดเจอกลุ่มเล็กลง หรือจะนัดกันผ่านทางออนไลน์บ้าง ก็เป็นการสร้างความสุขเเบบปลอดภัยได้อีกทาง

เราได้เห็นการขับเคลื่อน Eat & Drink responsibly ในรูปแบบ New Normal ผ่านเเคมเปญการตลาดที่น่าสนใจของเเบรนด์ “สิงห์” ที่ตอกย้ำจุดยืนที่จะช่วย “Lift it up”  ความสุขคนไทย ในช่วงที่มีข้อจำกัดของชีวิต ผ่านโฆษณาชุดใหม่ #SinghaNewNormal

โดยอิงกับสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน นับเป็นการเข้าหาผู้บริโภคเเละสร้างการรับรู้เเบบ “เข้าอกเข้าใจกัน” มากขึ้นในเวลานี้

“แม้ว่าพฤติกรรมต่างๆ ของผู้คนจะเปลี่ยนไป แต่เรายังคงมีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้”

นี่คือหัวใจหลักของ #SinghaNewNormal โดยในโฆษณาชุดใหม่ของสิงห์จะมีการสื่อสารถึงมุมมอง “คิดบวก” เป็นการพลิกความเซ็งให้เป็นความสุข


อย่างการทำงานเเบบ Work from home ที่ไม่ต้องฝ่ารถติดเเละการเดินทางที่ยากลำบากในช่วงเวลาด่วน มีการประชุมออนไลน์ที่ไม่ต้องเเต่งตัวให้เนี้ยบมากนัก (เพียงเเค่หาเสื้อที่ใช่เเละใส่กางเกงสบายๆ )

ส่วนหน้ากากอนามัยที่เป็นไอเท็มจำเป็น ขาดไม่ได้ในช่วงนี้ ก็ทำให้เกิดสไตล์การแต่งตัวและแฟชั่นใหม่ๆ ขึ้น อย่างการ Mix&Match ให้เข้ากับชุดที่ใส่ กลายมาเป็นเทรนด์ “เเฟชั่นหน้ากาก” ที่ทำให้เราสนุกไปกับการเเต่งกายเเบบใหม่ เเก้เบื่อได้เป็นอย่างดี

หรือจะเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงของใครหลายคน เมื่อพวกเขาได้ค้นพบความสามารถหรือ Skill Set ใหม่ๆ ในช่วงกักตัว เช่น การเผยฝีมือด้านการทำอาหาร กลายเป็นเชฟมือใหม่ บางคนถึงขั้นทำอาหารหรือทำขนมขายออนไลน์เพื่อหารายได้กันเลยทีเดียว

โดยเป็นโอกาสอันดีที่พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการ ร้านค้าต่างๆ จะได้ลงสนามสร้างหน้าร้านใหม่ในแพลตฟอร์มออนไลน์เเบบจริงจัง นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

จากข้อมูลของ Nielsen ระบุว่า ช่วงสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ผู้บริโภคเช็กข่าวเฉลี่ย 12 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้โซเชียลมีเดียเเละแอปพลิเคชั่นเเชทได้กลายเป็นช่องรับข่าวสาร ดังนั้นช่วงนี้เป็นจังหวะที่เเบรนด์จะได้โฟกัสกับคนดูมากขึ้น เเละเป็นโอกาสทองที่จะนำโซเชียลมีเดียมาใช้เป็นกลยุทธ์หลัก เพื่อสร้างยอดขายเเละเข้าถึงลูกค้าในวงกว้าง

อีกหนึ่งกิจกรรมที่กำลังมาเเรงเเละไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นก็คือการส่งต่อคำท้า หรือที่เราเรียกว่า Challenge ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในโลกออนไลน์ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ Challenge บูมขึ้นมาในช่วงนี้ จากการสถานการณ์ COVID-19 เมื่อคนต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นเเละมีเวลาว่างมากขึ้น ทำให้โซเชียลมีเดียกลับคึกคักไปด้วยสารพัดการท้าทาย ส่งต่อความสนุกสนานเเละความสุขไปยังเพื่อนฝูงเเละผู้คนจำนวนมาก

“การทำ Challenge ร่วมกันจึงเป็นเหมือนการแสดงออกเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของมนุษย์นั่นเอง”

ยิ่งในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ที่ยังคงถูกจำกัดเรื่องการเดินทาง ทำให้ไม่สามารถออกไป “ท่องเที่ยว” แบบเต็มรูปแบบได้ เเต่เราก็ยังสามารถมีความสุขด้วยกิจกรรมใหม่ๆ เล่นได้เองที่บ้าน ร่วมกิจกรรมผ่านออนไลน์ที่มี challenge ใหม่ๆ มาให้ตลอดเวลา ปลุกพลังสร้างสรรค์ในตัวคุณ ซึ่งอาจอัพสกิลไปถึงขั้นเป็น Vloger , Content Creator ไปเลยก็ถือเป็นโอกาสที่ดีไม่น้อย

นอกจากนี้ ยังเป็นคอมมูนิตี้ที่รวมคนที่ชื่นชอบแบบเดียวกัน สไตล์เดียวกัน ใครที่มีใจรักสายบันเทิงก็ถึงเวลาได้เเจ้งเกิดกันถ้วนหน้า ทั้งการเป็นเเดนเซอร์ โชว์สเต็ปการเต้นเท้าไฟ เล่นตลกฝีมือไม่ธรรมดา เผยสกิลการร้องเเละลิปซิงค์เพลง ผ่านเเอปพลิเคชั่นแชร์วีดีโอยอดนิยมต่างๆ รวมไปถึงการเล่นดนตรี Live online เพื่อสร้างความสุขให้กับผู้คน  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมยามว่างที่ช่วยเยียวยาจิตใจได้เป็นอย่างดี

ยกตัวอย่างกิจกรรมสนุกๆ ที่กำลังฮอตฮิตสุดๆ ในขณะนี้อย่าง #SINGHANewNormalChallenge เป็นอีกหนึ่ง Challenge ที่ให้ทุกคนได้แชร์ความสุขและความคิดสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เราได้พบเจอเเละได้ลองปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ใหม่ในช่วง New normal นี้ เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวที่หลายๆ คนอยากจะเล่า อยากจะเเชร์ประสบการณ์ ผ่านทางภาพถ่ายเเละคลิปสั้นๆ

โดยจะมีโจทย์ให้แชร์กิจกรรม New normal ที่แตกต่างกันในเเต่ละสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็น Travel, Working , Food (การรับประทานอาหาร หรือการทำอาหาร) ในแบบ New normal ผู้ชนะจะได้รับของรางวัลพิเศษจากทางสิงห์ เป็นของรางวัลที่เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ สามารถติดตามกิจกรรมและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ FB page : Singha Life

จะเห็นได้ว่าเเม้ในช่วงวิกฤตก็จะยังมีโอกาสดีๆ คอยเราอยู่เสมอ ปรับตัว เปิดใจ ยิ้มรับความเปลี่ยนเเปลง เเละก้าวผ่านช่วงวิกฤต COVID-19 นี้ไปด้วยกันเเบบ “Lift it up” เพราะ “สุขแบบใหม่”  มีได้ทุกวัน…

]]>
1284579
ยุคแห่งการโคแบรนด์ “มาชิตะ x บอนชอน” จับสาหร่ายมารวมร่างกับไก่เกาหลี https://positioningmag.com/1272654 Fri, 10 Apr 2020 08:35:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1272654 “สาหร่ายมาชิตะ” ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์ Collaboration ผนึกพันธมิตรร้านอาหารแบรนด์ดัง ล่าสุดได้รับมือกับ “บอนชอน” ร้านไก่ทอดสไตล์เกาหลี ออกรสชาติใหม่สร้างสีสันให้ตลาด

ตลาดสาหร่ายดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยมีการเติบโตเท่าที่ควร อีกทั้งยังเจอพิษเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวเท่าที่ควร เมื่อดูตัวเลขตลาดสาหร่าย ปี 2019 (ตั้งแต่ พ.ย. 61- ต.ค. 62 ) มีมูลค่า 2,978 ล้านบาท เติบโต -0.9% การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จึงเป็นกลยุทธ์ที่จะกระตุ้นตลาดได้

โดยปกติแล้วผู้เล่นในตลาดสาหร่ายมีการเดินเกมด้วยกลยุทธ์ K-pop กันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเถ้าแก่น้อย และมาชิตะ แต่ในช่วงหลังมาชิตะได้เริ่มหากลยุทธ์ใหม่ๆ ที่สร้างความแตกต่างในตลาดได้มากขึ้น

มาชิตะเริ่มใช้กลยุทธ์การ Collaboration หรือโคแบรนด์กับพาร์ตเนอร์อื่นๆ นอกเหนืออุตสาหกรรม ก่อนหน้านี้โคแบรนด์ร่วมกับ “บาร์บีคิวพลาซ่า” ในการพัฒนาสาหร่ายรสชาติน้ำจิ้มบาร์บีคิว พลาซ่า เป็นการแลกเปลี่ยนฐานลูกค้ากัน และเป็นการขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้มากขึ้นด้วย

ล่าสุดมาชิตะได้เดินเกมจับมือกับร้านอาหารเพิ่มเติม เปิดแคมเปญ “มาชิตะ x ร้านดัง อร่อยปัง ยกกำลังสอง” ได้ทำการโคแบรนด์กับ “บอนชอน ชิคเก้น” (BonChon Chicken) นำรสไก่ทอดซอยการ์ลิคลงซองมาชิตะเป็นครั้งแรก

ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มการตลาดแบรนด์และผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า

“นอกจากเรื่องสินค้าของมาชิตะที่เป็นสูตร 0% ผงชูรส (No Msg) แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การทำการตลาดด้วยแนวคิดใหม่ๆ เพื่อให้ตัวสินค้าและแบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยให้ความสำคัญกับการทำตลาดร่วมมือกับพันธมิตร นำจุดแข็งความอร่อยของทั้ง 2 ฝ่าย มาสร้างความสำเร็จด้านการเติบโตร่วมกัน แคมเปญนี้ สร้างสีสันแปลกใหม่ให้กับตลาดสาหร่ายอีกระลอกต้อนรับในช่วงซัมเมอร์ วางเป้าหมายผลักดันกลุ่มสาหร่ายอบเติบโต 40%”

เหตุผลที่ทางมาชิตะเลือกจับมือกับบอนชอนนั้น เพื่อต้องการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เพราะบอนชอน ชิคเก้นมีฐานแฟนคลับจำนวนมากที่ชื่นชอบไก่ทอด ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน และกลุ่มครอบครัว โดยการร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้เกิดการ Cross ของฐานกลุ่มเป้าหมาย

ช่องการการจำหน่ายในครั้งนี้มีทั้งร้านสะดวกซื้อ, Food Delivery และในร้านของบอนชอน เป็นการขยายหน้าร้านให้มากขึ้น เพิ่มโอกาสการขายได้มากขึ้นเช่นกัน โดยรสชาติใหม่นี้จะมีจำหน่ายแค่ช่วงซัมเมอร์เป้นเวลา 3 เดือนเท่านั้น

]]>
1272654
“มาชิตะ FUN” การแก้เกมของ “สิงห์” ในวันที่สาหร่ายไม่โต ขอบุกตลาดขนมหมื่นล้าน https://positioningmag.com/1257443 Tue, 17 Dec 2019 17:18:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1257443 เมื่อตลาดสาหร่ายมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ไม่เติบโต ในปีนี้ “มาชิตะ” จึงขอขยับไปบุกตลาดอื่นบ้างเพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นขนมที่หลากหลาย ปั้น “มาชิตะ FUN” ขนมข้าวโพดอบกรอบ หวังชิงแชร์ตลาดหมื่นล้าน

ถึงเวลาขยายมาชิตะให้เป็นมากกว่าสาหร่าย

ตลาดสาหร่ายขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในตลาดขนมที่เป็นเทรนด์ฮิตอยู่พักใหญ่ เพราะด้วยกระแสดูแลสุขภาพด้วย รวมถึงเทรนด์สาหร่ายเกาหลีด้วย ทำให้สาหร่ายเป็นตลาดที่เติบโตมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างน้อยๆ ก็เฉลี่ยปีละ 3-5%

แต่ในปีที่ผ่านมาตลาดสาหร่ายไม่ค่อยสู้ดีนัก มีหลายปัจจัยที่ทำให้ตลาดไม่เติบโต แถมยังติดลบราวๆ 0.9% การแก้เกมของ “สิงห์ คอร์เปอเรชั่น” ในฐานะเป็นบริษัทแม่ของ “มาชิตะ” จึงต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ในการกระจายความเสี่ยงให้มาชิตะเป็นมากกว่าสาหร่าย

ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล ผู้อำนวยการกลุ่มการตลาด ธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เล่าถึงการปั้นแบรนด์น้องในครั้งนี้ว่า

“มาชิตะอยู่ในตลาดมาทั้งหมด 8 ปีแล้ว ครองส่วนแบ่งตลาดเบอร์ 2 รองจากเถ้าแก่น้อย การรับรู้ของแบรนด์ในตลาดถือว่าระดับหนึ่ง อยากทำให้แบรนด์ที่มีแต่สาหร่ายกลายเป็นแบรนด์ที่มีขนมหลากหลาย จึงปั้นแบรนด์น้องออกมาเพิ่มภายใตชื่อ “มาชิตะ FUN” ถ้าถามว่าทำไมไม่สร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมา เพราะต้องใช้งบลงทุนอีกมหาศาล”

มาชิตะ FUN วางจุดยืนเป็นขนมข้าวโพดอบกรอบ ซึ่งโจทย์ใหญ่ของการปั้นแบรนด์นี้มี 3 อย่างด้วยกัน

  1. ต้องการออกสินค้าใหม่ที่ไม่ใช้สาหร่าย แต่ยังอยู่ในตลาดขนม และต้องเป็นตลาดใหญ่ ซึ่งตลาดขนมขบเคี้ยวมีมูลค่ามูลค่า 37,236 ล้านบาท เติบโต 5.8% แบ่งสัดส่วนเป็น
  • มันฝรั่งทอด 32.2% มูลค่า 12,006 ล้านบาท เติบโต 13%
  • ขนมขึ้นรูป 27.4% มูลค่า 10,193 ล้านบาท ติดลบ 0.5%
  • สาหร่าย 8.1% มูลค่า 3,032 ล้านบาท เติบโต 5.2%
  • ถั่ว 12.2% มูลค่า 4,500 ล้านบาท เติบโต 2.1%
  • ปลาเส้น 7.7% มูลค่า 2,800 ล้านบาท เติบโต 14%
  1. ตลาดต้องใหญ่ และไม่มีแบรนด์ครองตลาดชัดเจน มาชิตะ FUN อยู่ในเซ็กเมนต์ขนมขึ้นรูป ซึ่งมีมูลค่าอยู่หมื่นล้าน แมไม่มีการเติบโตแต่ก็มีโอกาสในการตลาดสูง เพราะไม่มีแบรนด์ที่ครองอย่างจริงจัง แบรนด์ในกลุ่มนี้ ได้แก่ คอนเน่มีส่วนแบ่งตลาด 10% แบรนด์อื่นๆ ก็มีส่วนแบ่งตลาดพอๆ กัน ต่างจากสาหร่ายที่เถ้าแก่น้อยครองส่วนแบ่งตลาดไปมากกว่าครึ่งแล้ว
  2. กลุ่มเป้าหมายต้องใกล้เคียงกับมาชิตะ กลุ่มขนมขึ้นรูปมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยรุ่น เด็กนักเรียน นักศึกษาอยู่แล้ว สามารถทำการตลาดใกล้เคียงกันได้

การตลาดของมาชิตะในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา ได้เทงบไปทางออนไลน์เสียส่วนใหญ่ ไม่ได้ทำโฆษณาทางโทรทัศน์แล้ว เพราะต้องการจับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในโลกดิจิทัล เพราะฉะนั้นเส้นทางของมาชิตะ FUN ก็มีการใช้งบออนไลน์ทั้งหมดรวม 10 ล้านบาท มีภาพยนตร์ออนไลน์ที่ทำร่วมกับ YouTuber เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้มากขึ้น

สาหร่ายหืดจับ ตลาดไม่โต ต้นทุนสูง

ในส่วนของตลาดสาหร่ายที่ในปีที่ผ่านมานี้ไม่มีการเติบโต เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งคู่แข่งรายใหญ่อย่างเถ้าแก่น้อยมีการลดการใช้โปรโมชั่นในการกระตุ้นการขาย ตลาดนักท่องเที่ยวลดลง อีกทั้งเรื่องราคาก็มีส่วน เพราะสาหร่ายถือว่าเป็นขนมที่มีราคาสูงกว่ากลุ่มอื่น

เมื่อดูตัวเลขตลาดสาหร่าย ปี 2019 (ตั้งแต่ พ.ย. 61- ต.ค. 62 ) มีมูลค่า 2,978 ล้านบาท เติบโต -0.9% เมื่อเทียบกับปี 2018 มีมูลค่า 3,032 ล้านบาท เติบโต 5.2% มีส่วนแบ่งตลาด

  • เถ้าแก่น้อย 66.5% (เติบโต -2.3%)
  • มาชิตะ 16.6% (เติบโต 1.2%)
  • ซีลิโกะ 2.7% (เติบโต -23.6%)

ประเภทของสาหร่าย แบ่งเป็น สาหร่ายทอด 63.3% สาหร่ายอบ 20.2% สาหร่ายย่าง 15.1% สาหร่ายเทมปุระ 1.4%

ทิศทางของมาชิตะได้เน้นไปทางกลุ่มสาหร่ายอบมากขึ้น เพราะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพได้ดีกว่าแบบทอด ซึ่งตลาดสาหร่ายอบมีสัดส่วน 20% มีการเติบโตถึง 6.3%

มีการประเมินว่าปีหน้าตลาดสาหร่ายก็ยังคงไม่มีการเติบโตมากนัก มาชิตะจึงต้องขยายไปตลาดอื่นเพื่อสร้างการเติบโตให้มากขึ้น ซึ่งตลาดขนมขึ้นรูปนอกจากจะมีมูลค่าใหญ่กว่าสาหร่ายแล้ว กำไรยังสูกว่าอีกด้วย เพราะสาหร่ายถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์พืชผลทางการเกษตร ย่อมมีราคาขึ้นลง

ในปีที่ผ่านมามาชิตะมีรายได้ 500 ล้านบาท สำหรับมาชิตะ FUN มีการตั้งเป้าว่ามีรายได้ 100 บ้านบาทในปีแรก พร้อมกับตั้งเป้าภาพรวมของมาชิตะจะต้องมีรายได้ 1,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี ทำให้ไม่สามารถอยู่แค่กลุ่มสาหร่ายเพียงอย่างเดียว ต้องขยายไปยังขนมอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างการเติบโตได้

]]>
1257443
เปิด 5 เหตุผล “สิงห์” เข้าซื้อ “ซานตา เฟ่” ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจอาหารต้นน้ำ-ปลายน้ำ https://positioningmag.com/1251227 Mon, 28 Oct 2019 09:42:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1251227 เจาะเบื้องหลังฟู้ด แฟคเตอร์ ธุรกิจอาหารในเครือสิงห์ คอร์เปอเรชั่น เข้าซื้อกิจการร้านสเต๊กซานตา เฟ่ ด้วยมูลค่า 1,500 ล้านบาท เป็นการลุยธุรกิจอาหารเต็มสูบ หวังปั้นรายได้ 4,000 ล้านภายใน 3 ปี

รู้จัก ฟู้ด แฟคเตอร์ธุรกิจอาหารในเครือสิงห์

เป็นอีกหนึ่งดีลใหญ่ในวงการอาหาร เมื่อฟู้ด แฟคเตอร์ บริษัทในเครือสิงห์ คอร์เปอเรชั่นที่นำทัพโดยปิติ ภิรมย์ภักดีได้เข้าซื้อกินการร้านสเต๊กซานตา เฟ่ จากบริษัท เคที เรสทัวรองท์ (KT) จำกัด ด้วยมูลค่า 1,500 ล้านบาท เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 88% โดยที่ทาง KT ยังคงร่วมบริหารก่อน 3 ปี จากนั้นค่อยมีข้อตกลงกันใหม่

ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทแม่อย่างบุญรอดบริวเวอรี่ หรือ สิงห์ คอร์เปอเรชั่นได้ให้น้ำหนักกับธุรกิจนอนแอลกอฮอล์มากขึ้น มีการ Diversify ไปยังธุรกิจใหม่ๆ ให้มีความหลากหลาย ทำให้ปัจจุบันมีธุรกิจหลัก 6 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่

  • ธุรกิจเบียร์ โซดา และน้ำดื่ม 
  • ธุรกิจบรรจุภัณฑ์บางกอกกล๊าส 
  • ธุรกิจระดับภูมิภาค (รีจินัล) ภายใต้ สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง 
  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยสิงห์เอสเตท 
  • ธุรกิจซัพพลายเชนภายใต้บุญรอดซัพพลายเชน
  • ธุรกิจอาหาร โดยฟู้ด แฟคเตอร์ 

ในส่วนของธุรกิจอาหารที่แต่เริ่มเดิมทีไม่ได้มีการจัดกลุ่มที่ชัดเจนมากนัก จนเมื่อ 1 – 2 ปีที่ผ่านมาต้องการให้ภาพชัดเจนขึ้น ลงทุนหนักขึ้น ได้เปิดบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ด้วยงบลงทุน 5,000 ล้านบาท หวังเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหารแบบครบวงจร จากต้นน้ำไปยังปลายน้ำ ปัจจุบันมีการแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มการผลิตและผลิตภัณฑ์ (Food Product & Production) 2. กลุ่มเครือข่ายธุรกิจอาหาร (Food Network) 3. กลุ่มร้านอาหาร (Food Retail)

แน่นอนว่าการที่จะสร้างการเติบโตแบบรวดเร็วได้นั้น การซื้อกิจการจึงเป็นคำตอบแรกของการทำธุรกิจในยุคนี้ ฟู้ด แฟคเตอร์เองจึงมองหาพาร์ตเนอร์ที่จะช่วยสร้างการเติบโตนั้น จึงเกิดเป็นดีลซื้อกิจการร้านซานตา เฟ่ นั่นเอง

ถ้าถามถึงเหตุผลในการเข้าลงทุนครั้งนี้ปิติ ภิรมย์ภักดีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ได้เปิดอกอย่างเต็มที่ สามารถสรุปได้ 5 ข้อใหญ่ๆ

1. เสริมพอร์ตธุรกิจอาหาร

ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารในพอร์ตโฟลิโอของฟู้ด แฟคเตอร์ ประกอบด้วยร้านฟาร์ม ดีไซน์ ร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji และ Est33 โดยบริษัท เอสคอมพานี จำกัด ดูแลกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร 

การที่ได้ร้านสเต็กซานตา เฟ่เข้ามาเติมพอร์ตเรียกว่าสามารถสร้างความแข็งแกร่งได้ เพราะซานตา เฟ่เองมีการทำตลาดมาเป็น 10 ปี เป็นร้านสเต๊กในระดับแมสที่ทุกคนเข้าถึงได้ ปัจจุบันมี 117 สาขา

อีกทั้งเคทีฯ ยังมีร้าน เหม็งนัวนัวอีกแบรนด์ที่อยู่ในเครือเป็นร้านอาหารอีสาน ปัจจุบันมี 7 สาขา เรียกว่าได้ทั้งร้านสเต๊ก และร้านอาหารอีสานเข้ามาเติมพอร์ต

อีกทั้งร้านอาหารสเต๊กยังเป็นกลุ่มอาหารที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนไทย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดยังมีไม่มากนัก และคู่แข่งรายใหญ่ๆ ในตลาดมีเพียง 2 – 3 ราย นอกนั้นเป็นแบรนด์เล็กๆ และยังมีโอกาสขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วย หลังจากก่อนหน้านี้นำร่องขยายไปแล้วที่กัมพูชา

2. เคมีตรงกัน คุยกันถูกคอ

ปิติเผยถึงเบื้องหลังของดีลนี้ว่า มีการพูดคุยเจรจากัน 9 เดือน เป็นช่วงจังหวะที่กองทุนที่ถือหุ้นใหญ่ของเคทีฯ​ ได้ถอนตัวออกพอดี ฟู้ด แฟคเตอร์จึงได้จังหวะเข้าลงทุนต่อด้วยสัดส่วน 88% สิ่งที่ทำให้ได้ร่วมทุนกันคือเคมีที่ตรงกัน

จากที่คุยกัน 9 เดือน มีการทำแผนร่วมกันตลอด มองว่าการลงทุนครั้งนี้มองเรื่องความสุขของผู้เกี่ยวข้องทั้งทีมงาน ลูกค้า แฟรนไชส์เป็นหลัก มีการมองถึง Passion ร่วมกัน มีการคุยกันรู้เรื่องถูกคอ มองถึงวัฒนธรรมองค์กรคัลเจอร์ของเคทีที่ต้องเข้ากับสิงห์ที่มีอายุ 86 ปี การทำอาหารให้อร่อย และเหมือนเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา และทรหด ต้องไม่ฝืน ต้องมีเคมีตรงกัน

ทางด้าน สุรชัย ชาญอนุเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด ได้บอกว่า ก่อนหน้าที่จะมาคุยกับทางสิงห์ มีบริษัทให้คุยด้วยถึง 50 บริษัท ให้ PWC เป็นผู้จัดหาให้ เพราะต้องหานักลงทุนหลังจากที่กองทุนจะทำการ Exit ออก จากนั้นได้มีการคัดเลือกจนเหลือ 7 บริษัทและได้ตกลงปลงใจกับฟู้ด แฟคเตอร์ในที่สุดเพราะเคมีตรงกัน ราคาเหมาะสม และมีความใจใหญ่พอ

อีกทั้ง ฟู้ด แฟคเตอร์ มี Infrastructure พร้อม ทั้งเรื่องโรงงาน โลจิสติกส์ R&D และเป็นบริษัทคนไทยด้วยกัน พูดคุยกันง่าย จากที่แต่ก่อนเคทีฯ ไม่มี R&D มาก่อนเลย 

3. ครอบคลุมธุรกิจอาหารตั้งแต่ต้นน้ำปลายน้ำ

การมีร้านซานตา เฟ่เข้ามาจะช่วยทำให้ธุรกิจอาหารครบวงจรขึ้น จากเดิมที่มีโรงงาน มีแบรนด์อาหาร การเติมร้านอาหารเข้ามาช่วยทำให้เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง อีกทั้งยังเข้ามาเสริมเรื่องธุรกิจซัพพลายเชนด้วย

สำหรับแผนในอนาคตเพื่อสร้างซัพพลายเชนธุรกิจอาหารให้ครบวงจร ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการทำ ครัวกลาง (Central Kitchen) เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิต การจัดตั้งศูนย์การกระจายสินค้า (Central Distribution) หลังจากธุรกิจมีมูลค่ามากเพียงพอ โดยร่วมกับกลุ่มเฮสโก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการผลิตอาหาร, กลุ่ม Food innovation Center ศูนย์วิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่ม Bevchain logistics การบริหารจัดการและการกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่จับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากขึ้น

4. ใช้หน้าร้านเป็นเวิร์กช้อปทดลองสินค้า

นอกจากร้านอาหารจะเป็นพื้นที่สำหรับขายอาหารแล้ว ยังเป็นเหมือนพื้นที่รีเทลไว้ขายสินค้าในเครือด้วย แน่นอนว่าจะได้เห็นซอสต๊อด ภายในร้านซานตา เฟ่ อย่างแน่นอน แต่เบื้องต้นจะเป็นการขายเป็นเมนูพิเศษ วางขาย 7 สาขา ยังไม่มีวางขายเป็นขวดเหมือนกับขายในโมเดิร์นเทรด

หน้าร้านถือเป็น Research Center ที่ดี เป็นที่วางสินค้าที่ดี ทำให้ดูผลตอบรับของลูกค้าได้ ถ้าลูกค้าชอบก็มาซื้อใหม่ การทำธุรกิจอาหารเป็นศาสตร์และศิลป์ ไม่มีอะไรลงตัว ต้องมีการทดลองไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ยังมีแผนในการจัดจำหน่ายสินค้าในกลุ่ม เช่น น้ำดื่ม เบียร์ ข้าวบรรจุถุงพันดี ฯลฯ พร้อมร่วมคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกันกับกลุ่มบริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด และบริษัท เฮสโก ฟู้ด จำกัด และยังมี Food innovation Center ศูนย์นวัตกรรมในการวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงพร้อมพัฒนาเมนูและผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับร้านซานตา เฟ่ สเต๊ก และเหม็งนัวนัว

5. สร้างการเติบโตไปถึง 4,000 ล้าน

ปัจจุบันธุรกิจซัพพลายเชน และธุรกิจอาหารที่ปิติดูแลอยู่ ยังมีรายได้รวมกันราว 4,500 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของรายได้ทั้งหมด การได้ซานตา เฟ่เข้ามาเสริมจะช่วยอัพสเกลการเติบโตของรายได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว

ซึ่งในปีนี้ซานตา เฟ่น่าจะมีรายได้ 1,800 ล้านบาท และมีการตั้งเป้าว่าธุรกิจอาหารจะมีรายได้ 4,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี และถ้ารวมธุรกิจซัพพลายเชนด้วยจะมีรายได้ 15,000 ล้านบาท

]]>
1251227
ผ่าเทรนด์คราฟต์เบียร์ โตแรง รายเล็กดาหน้าเปลี่ยน Niche Market ให้เป็นแมส   https://positioningmag.com/1156019 Wed, 07 Feb 2018 23:15:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1156019 แม้รายใหญ่จะกินรวบตลาดเบียร์ แต่หน้าใหม่ก็ไม่กลัว ขอโดดมาแจ้งเกิดในตลาดคราฟต์เบียร์เปิดทางให้เบียร์หน้าใหม่ อย่างบ้านนอกเบียร์เข้าสู่ตลาด และคราวนี้ไม่ใช่แค่ขายในผับหรือร้านอาหาร แต่วางขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ไม่ต่างจากเบียร์แบรนด์ดังเจ้าตลาด

เป็นความตั้งใจของ “ปณิธาน ตงศิริ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านนอกเข้ากรุง จำกัด ต้องการปั้นแบรนด์ “บ้านนอกเบียร์” เจาะนักดื่มกลุ่มแมส

การใช้ชื่อ บ้านนอกเบียร์ เพื่อต้องการความเป็นกันเองกับผู้บริโภค กระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้ง่าย ขณะเดียวกันก็ต้องการทำให้ภาพลักษณ์คราฟต์เบียร์เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย

“ความหมายของแบรนด์บ้านนอก ง่ายๆ ซื่อๆ เป็นคราฟต์เบียร์ที่ผู้บริโภคไม่ต้องยกระดับตัวเองเพื่อไปดื่ม อีกนัยหนึ่ง ต้องการแฝงนัยว่าตลาดเบียร์ในประเทศไทยบ้านนอกที่สุดในโลก ล้าหลังตลาดกัมพูชา ซึ่งมีเบียร์ดำ มีไวเซ่น บริษัทจึงต้องการพาทุกคนไปรู้จักคราฟต์เบียร์มากขึ้น”

สำหรับจุดขายสินค้าที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด คือรสชาติกลิ่นผลไม้ และสมุนไพร ส่วนกลยุทธ์การทำตลาดของบ้านนอกเบียร์ คือ ทุ่มทุ่มงบประมาณ 5 ล้านบาท จัดกิจกรรมบนโลกออนไลน์ให้คิดสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อสังคม เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) เพราะปัจจุบันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยถูกควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า

ปัจจัยดังกล่าวเป็นผลดีต่อแบรนด์เล็ก เพราะทำให้การแข่งขันแบรนด์เล็กและใหญ่เท่าเทียมกัน โดยทุกแบรนด์ต้องไปวัดขุมกำลัง และแลกหมัดการตลาดผ่านออนไลน์แทน

ในปีนี้ บ้านนอกเบียร์ ยังคิดการใหญ่เตรียมลงทุน 500 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตคราฟต์เบียร์เป็นของตัวเอง มีกำลังการผลิตประมาณ 10-30 ล้านลิตรต่อปี ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of scale) ช่วยให้บริษัทสามารถหั่นราคาขายจาก 99 บาท เหลือ 75 บาทภายในปีนี้ และอนาคตจะทำราคาให้ต่ำลงมาอยู่ที่ 60 บาท เพื่อให้ผู้บริโภคระดับแมสจับต้องได้มากขึ้นด้วย     

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเบียร์ 8 แห่ง ของสิงห์ ไทยเบฟ ไฮเนเก้น และซานมิเกล เมื่อบ้านนอกเบียร์เดินเครื่องผลิตจะเป็นโรงงานแห่งที่ 9 ของไทย

อย่างไรก็ตาม บ้านนอกเบียร์ ไม่ใช่คราฟต์เบียร์ยี่ห้อแรกของบริษัท ก่อนหน้านี้ได้ปั้นแบรนด์ “ลำซิ่ง” และ “Stone Head” ขนาด 330 มล. จำหน่ายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต แม็คโคร และขนาดถัง 20 ลิตร ทำตลาดเฉพาะผับบาร์มา 4 ปีแล้ว  

“บริษัทต้องการทำให้ตลาดคราฟต์เบียร์โต และมีสัดส่วนในตลาดเพิ่มเป็น 5% จากปัจจุบันมีไม่ถึง 1% ส่วนยอดขายของบริษัทในปีนี้ตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท”

ความน่าสนใจของบ้านนอกเบียร์ สะท้อนให้เห็นกระแส “คราฟต์เบียร์” มาแรงในตลาดน้ำเมาสีอำพัน ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และสอดคล้องกับเทรนด์ของตลาดโลก เมื่อโกลด์แมน แซคส์ รีเสิร์ช คาดการณ์แนวโน้มตลาดคราฟต์เบียร์จะเติบโตและมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 20% ภายในปี 2563 นอกจากนี้ ยังพบว่าเทรนด์คราฟต์เบียร์ในสหรัฐฯ ปี 2559 เติบโตสูงถึง 13% มีจำนวนผู้ผลิตมากกว่า 4,000 ราย เพื่อตอบสนองความต้องการตลาดที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากในอนาคต

ส่วนตลาดเบียร์หลักมี 2 ประเภทคือ เอล (Ale) และลาเกอร์ (Lager) ซึ่งต่างกันที่วิธีการหมัก โดยในไทยตลาดมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท ถูกขับเคลื่อนโดย “ลาเกอร์เบียร์” มากถึง 99% คราฟต์เบียร์เบียดตลาดได้สัดส่วนไม่ถึง 1% แต่ความนิยมร้อนแรงจนตลาดเติบโตไม่ต่ำกว่า 40-50% ต่อปี มีผู้เล่นรายเล็กในประเทศเริ่มผลิตสินค้าจำนวน 50-60 แบรนด์แล้วเข้าสู่ตลาด เช่น Mahanakorn Brewery, Devanom, Sandport และ Stone Head และยังมีผู้นำเข้าคราฟต์เบียร์กว่า 100 ยี่ห้อจากต่างประเทศมากระตุ้นตลาดด้วย เช่น BrewDog จากอังกฤษ, Pasteur Street Brewing จากเวียดนาม เป็นต้น

อีกปัจจัยที่หนุนตลาดให้โต มาจากจุดเด่นของสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Unique) รสชาติหลากหลาย มีแอลกอฮอล์สูงๆ 7-8% หลุดจากกรอบเบียร์ลาเกอร์แบบเดิมทั้งด้านรสชาติ และปริมาณแอลกอฮอล์นั่นเอง

นอกจากผู้เล่นเล็กรุกตลาดคราฟต์เบียร์ ยังมีกระแสว่าผู้เล่นรายใหญ่อย่าง สิงห์ สนใจจะขยายไลน์การผลิตคราฟต์เบียร์ที่โรงงานปทุมธานีบริวเวอรี่ด้วย เพื่อรองรับความต้องการของผู้เล่นหน้าใหม่รายย่อยที่อยากรวมตัวกัน “จ้างสิงห์ผลิตคราฟต์เบียร์” ให้

เพราะหากรายเล็กจะผลิตเองยังต้องเผชิญอุปสรรคสำคัญด้านกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2543 อนุญาตให้ผลิตเบียร์ได้เพียง 2 ประเภท เท่านั้น

  1. โรงงานขนาดใหญ่ต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี บริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท นั่นหมายถึงผู้เล่นต้องเป็นทุนใหญ่ เหมือนสิงห์ ช้าง ไฮเนเก้น
  2. ผลิตและจำหน่ายในสถานที่หรือเรียกว่า Brew pub ห้ามผู้ผลิตนำไปบรรจุขวดออกขายข้างนอกร้านด้วย ส่วนการผลิตขั้นต่ำอยู่ที่ 1 แสนลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี เช่น โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

นั่นหายความว่า ถ้าทุนไม่หนาพอ ก็ทำไม่ได้ หรือทำได้ ขายแค่ในร้านเล็กๆ ไปตลาดแมสลำบาก การโตก็ยากตามไปด้วย แต่หากอยากทำตลาดนี้จริงๆ ก็ต้องเบนเข็มไปจ้างผลิตในต่างประเทศแล้วนำเข้ามาจำหน่ายแทน

แม้ไลน์ผลิตดังกล่าวยังเป็นโปรเจกต์ในอากาศ แต่ “สิงห์” ทำตลาดคราฟต์เบียร์มานาน ผ่าน “ร้าน EST.33” ที่เปรียบเสมือนห้องทดลองผลิตเบียร์รสชาติใหม่ๆ จำหน่ายในร้านและชิมลางความต้องการของพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย

ขณะที่ “ปริญ มาลากุล ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด (ทีเอพี) ผู้ผลิตและทำตลาดเบียร์ไฮเนเก้น เชียร์ และไทเกอร์ ระบุว่า คราฟต์เบียร์ เป็นเทรนด์ฮอตในไทยหลายปีแล้ว แต่ส่วนใหญ่การผลิตและจำหน่ายอยู่ในรูปแบบ Home Brew Beer มีทั้งถูกและผิดกฎหมาย

ส่วนปัจจัยที่ทำให้คราฟต์เบียร์ได้รับความนิยมสูงขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคมองหาสินค้าที่วาไรตี้มากขึ้น ไม่ต้องการดื่มของซ้ำๆ แต่ด้วยตลาดเบียร์ในบ้านเรายัง “ด้อยพัฒนา” ไม่มีสินค้าใหม่ๆ เพราะรายใหญ่ผูกขาดตลาดผลิตแต่ลาเกอร์วอลุ่มมหาศาล ทำให้เบียร์ท้องถิ่น หรือเบียร์ต่างชาติใหม่ๆ จะเข้ามาตีตลาด ก็ทำได้ยาก บวกกับกฎหมายไม่เอื้อให้การแข่งขัน กลายเป็นอุปสรรค (Barrier) ของหน้าใหม่อย่างมาก

“ผู้บริโภคกินดื่มเบียร์เดิมๆ ทุกวัน พอมีคราฟต์เบียร์ออกมา เลยได้ใจผู้บริโภค” ปริญ กล่าว

ในต่างประเทศการจำกัดความคราฟต์เบียร์ คือสินค้าที่เกิดจากผู้ผลิตอิสระ ผลิตในปริมาณจำกัด ผู้ผลิตรายเล็ก และบางทวีป เช่น ยุโรป เรียกคราฟต์เบียร์เป็น “สเปเชียลเบียร์” ด้วย ในไทยไฮเนเก้นอาจไม่ได้รุกตลาดคราฟต์เบียร์ แต่ในเวทีโลกกลางปี 2560 บริษัทเพิ่งซื้อกิจการคราฟต์เบียร์ในสหรัฐฯ Lagunitas Brewing รับเทรนด์เรียบร้อยแล้ว

แม้คราฟต์เบียร์จะมาแรง แต่เทรนด์ดังกล่าวจะอยู่ยาวไหม ต้องขึ้นกับผู้บริโภคจะ “ยอมรับ” ให้กลายเป็น “ทางเลือกใหม่” อย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าตลาดดังกล่าวมีขนาดเล็ก และอุปสรรคการทำตลาดยังมีอยู่สารพัดปัจจัย ทำเล็กไปตลาดโตช้า แต่พอถ้าทำใหญ่ ก็จะถูกมองว่าไม่ใช่คราฟต์เบียร์ทันที.

]]>
1156019
ได้ทั้งเงินได้ทั้งแบรนด์ ! ศึกลานเบียร์ บิ๊กอีเวนต์ที่ สิงห์-ช้าง-ไฮเนเก้น ไม่ยอมพลาด https://positioningmag.com/1151433 Fri, 22 Dec 2017 10:56:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1151433 ทุกช่วงปลายปี “ลานเบียร์” ถือเป็นหนึ่งใน “บิ๊กอีเวนต์” ที่ค่ายน้ำเมาไทยเทศ ต้องแข่งกันตบเท้ายึดทำเลทองจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ถือเป็นโค้งสุดท้ายที่จะต้องไล่ทำยอดขาย

ถ้าดูจากมูลค่าตลาดเบียร์ราว 1.8 แสนล้าน ปีนี้เติบโต 5.7% มากว่า 30% มาจากช่วง เดือนสุดท้าย

ไม่แปลกที่ทุกแบรนด์จะงัดกลยุทธ์ “ลานเบียร์” เพื่อปั๊มยอดขาย โดยเฉพาะ “แลนด์มาร์ค” ของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศไทย ถ้าในกรุงเทพฯ “ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์” กลายเป็นทำเลทองที่สิงห์-ช้าง-ไฮเกนเก้นไม่พลาดที่จะอวดกิจกรรมประชันกัน

++ค่ายสิงห์ ส่งแบรนด์ในเครือลุยลานเบียร์

ปีนี้ค่าย “สิงห์ รวมแบรนด์เบียร์ทุกยี่ห้อ ทั้งลีโอ สิงห์ไลท์ สิงห์ มาให้บริการ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยจัดแบ่งโซนภายในให้ชัดเจนเพื่อบ่งบอกเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์ พร้อมทั้งดึง “มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง” ที่สิงห์ใช้สร้างอีเวนต์ทั่วไทย มาใช้เพื่อเรียกกลุ่มเป้าหมาย

ขณะเดียวกันลานเบียร์ยังเป็นพื้นที่ “แจ้งเกิด” ให้กับแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งทำตลาดเมื่อปีก่อนคือ “U” เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ “ทดลอง” ดื่มกันมากขึ้นด้วย

รวมทั้งยังได้ส่ง “เบียร์ใหม่” ชื่อ DARK&HANDSOME BY EST.33 เบียร์ดำมาทดลองตลาดอีกด้วย จากก่อนหน้านี้ประเดิมขายที่แรกในเทศกาลสิงห์ปาร์ค เชียงราย ฟาร์ม เฟสติวัล ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สิงห์ยังส่งแบรนด์ลูกกระจายไปหลายพื้นที่ “สิงห์ไลท์” ลงลานเบียร์ที่ อาร์ซีเอ ส่วนลีโอ” ไปเปิดลานเบียร์ตามแหล่งเที่ยววัยรุ่น หน้าฟอร์จูน ทาวน์ รัชดา เมญ่า เชียงใหม่ ฯ “ยู” ที่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เป็นต้น

แน่นอนการทำลานเบียร์ ไม่ได้วัดกันแค่โปรดักต์น้ำเมาสีอำพันเท่านั้น แต่อาหารต้องตีคู่มาด้วย ที่ทุกแบรนด์ดึง “ร้านเด็ดดัง” มาเป็นจุดขาย เพื่อดึงลูกค้า พร้อมทั้งนำเอา “มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง” ที่สิงห์ใช้สร้างอีเวนต์ทั่วไทย มาใช้เพื่อเรียกกลุ่มเป้าหมายด้วย

++ช้างอัพเกรดแบรนด์ ให้พรีเมี่ยม

“ไทยเบฟเวอเรจ” มีพอร์ตโฟลิเบียร์ในประเทศ 2 แบรนด์ หัวหอกคือ “เบียร์ช้าง” พรีเมี่ยมเบียร์คือ “เฟเดอร์บรอย” คัมแบ็กกลับมาทำตลาดเมื่อปีที่แล้ว

กลยุทธ์การทำตลาดลานเบียร์สำหรับช้าง เน้นชู “อาหาร” เป็นจุดขายมากขึ้น จึงระดมร้านอาหารดังมาให้บริการและโปรโมตคอนเซ็ปต์ Full Course of Sense ให้หนักจับกลุ่มเป้าหมาย ขาดไม่ได้เช่นกันต้องมี Music Marketing

ไฮไลต์ของลานเบียร์ช้างปีนี้ เพิ่มความ พรีเมี่ยม ให้มากขึ้น โดยเลือกจัดที่ลานพาร์คพารากอน และเบียร์ช้างยัง “ซีเนอร์ยี” กับธุรกิจค้าปลีกในเครือ เช่น “เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์” ที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนเกือบ 10 ล้านคนต่อปี เดอะสตรีทรัชดา เพื่อเพิ่มขาช้อป (Traffic)

ขณะที่การกลับมาของ เฟอเดอร์บอย ก็ถือว่าท้าทายมาก ที่ต้องแข่งกับไฮเนเก้น ยิ่งเจอข้อจำกัดในเรื่องโฆษณา จึงใช้ลานเบียร์หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในการโปรโมตแบรนด์ไปเต็ม ๆ จึงสร้างจัดเป็นเอาต์ดอร์ป๊อปอัพคลับระดับพรีเมี่ยมเป็นจุดขาย ในคอนเซ็ปต์ Federbräu Red Feather Club: The Club of Perfektion มีการเล่นคำ 6/45° ทุกๆ 06.45 pm หรือ 18.45 น.จะมีเซอร์ไพรส์พิเศษจากแบรนด์ รวมถึงยังใช้เป็นกลยุทธ์การขายอาหารเซต 6 เมนู 450 บาท พ่วงกันไป

++ไฮเนเก้น ปลุกแบรนด์ผ่านเทศกาลดาวแดง

ขณะที่ ไฮเนเก้น ปัดฝุ่น “Behind the Star Experience” นิทรรศการมัลติมีเดียเต็มรูปแบบมาจัด บอกเล่าถึงจุดกำเนิดดาวแดง ควบคู่กับการเนรมิตจุดแฮงเอาต์แบบพรีเมี่ยมที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

“ภัททภาณี เอกะหิตานนท์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์ไฮเนเก้น ในกลุ่มบริษัททีเอพี บอกว่า เบียร์การ์เด้นของไฮเนเก้น จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ตป์ Open Your World และมุ่งสร้างความแตกต่างจากแบรนด์เบียร์อื่น ๆด้วย “นิทรรศการมัลติมีเดีย” เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับแบรนด์ และย้อนรอยรู้จักกับประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการของสื่อโฆษณา โลโก้ ขวดเบียร์ และฉลากของไฮเนเก้นในยุคต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา 144 ปีของแบรนด์ไฮเนเก้นด้วย มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ อย่าง Global VR Journey ให้เดินทางทะลุมิติเข้าสู่โลก Virtual Reality เพื่อดูกระบวนการบรรจุเบียร์ และเส้นทางของเบียร์ไฮเนเก้น

นอกจากนี้ เบียร์น้องใหม่ ยังใช้ลานเบียร์ เป็นเวทีโปรโมตแบรนด์ได้เต็มที่ เช่น “ซานมิเกล” เบียร์ฟิลิปปินส์ เลือกใช้พื้นที่เซ็นทรัลพลาซา แกรนด์พระราม 9 จัดกิจกรรมภายใต้คอนเซ็ปต์ San Miguel Friends Fun Fiesta เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายวัยทำงาน “Hoegaarden” คราฟท์เบียร์ดังจากเมืองนอก ขอยึดคอนเซ็ปต์ “ความสด(ชื่น)” ด้วยแมกไม้ มาไว้ใจกลางเมืองที่ลานดิสคัฟเวอรี่พลาซ่า ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่นั่นเอง

ทุกค่ายจึงต้องคิดคอนเซ็ปต์ หาบิ๊กไอเดียมาใช้เนรมิตลานเบียร์ เพราะนอกจากเป็นอีเวนต์สร้างรายได้ในช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว ยังสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ในตัว ในเมื่อโฆษณาทีวีก็ทำไม่ได้ ก็ต้องใช้บิ๊กอีเวนต์ ลานเบียร์มาช่วยโปรโมต ยิ่งผู้บริโภคยุคนี้นิยมแชะแล้วแชร์ด้วยแล้ว แบรนด์ก็ยิ่งไปได้ไกล.

]]>
1151433