Robinhood – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 15 Nov 2024 01:47:04 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “Robinhood” บทใหม่ภายใต้ “ยิบอินซอย” ขอเก็บ GP 28%  https://positioningmag.com/1499156 Fri, 15 Nov 2024 01:42:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1499156 เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปี 2567 ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่สร้างความตกใจไม่น้อยสำหรับการประกาศยุติการให้บริการของ “Robinhood” แอป Food Delivery ภายใต้การบริหารของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ที่จะหยุดให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป เนื่องจากบรรลุภารกิจช่วยเหลือร้านค้า ไรเดอร์ และคนตัวเล็กในช่วงวิกฤตโควิดได้ตามเป้าประสงค์ 

อีกทั้งตลาด Food Delivery ของไทยมีการแข่งขันสูงเนื่องจากมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดที่ชิงส่วนแบ่งกันอย่างดุเดือด รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ผู้เล่นรายเล็กอย่าง Robinhood ทำผลงานได้ไม่ค่อยดีนัก และบริษัทฯแบกรับภาวะการขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดย

  • ปี 2563 ขาดทุน 87 ล้านบาท
  • ปี 2564 ขาดทุน 1.3 พันล้านบาท
  • ปี 2565 ขาดทุน 1.9 พันล้านบาท 
  • ปี 2566 ตัวเลขการขาดทุนพุ่งสูงกว่า 2.1 พันล้านบาท 

รวม 4 ปีที่ดำเนินกิจการมาบริษัทฯขาดทุนไปแล้ว 5 พันกว่าล้านบาท 

กระทั่งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 มีการรายงานว่า SCBX ออกมาการแจ้ง “เลื่อน” การยุติการให้บริการ Food Delivery บนแอปพลิเคชัน Robinhood แต่บริการอื่นๆ ในแอปอย่าง Travel, Ride, Mart และ Express ยังคงยุติการให้บริการตามกำหนดเดิมคือในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เนื่องจากบริษัทฯ อยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อเสนอเข้าซื้อกิจการทั้งหมดจากผู้ที่สนใจ ที่มีจำนวนมากกว่าที่คาดไว้ 

ซึ่งบริษัทฯที่ขี่ม้าขาวมา คือ “กลุ่มยิบอินซอย” ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ของไทย ผู้อยู่เบื้องหลังและทำงานร่วมกับวงการธุรกิจไทยมาเกือบ 100 ปีแล้ว โดยมีการเซ็นสัญญาปิดดีลซื้อขาย Robinhood ด้วยมูลค่ารวมสูงสุด 2,000 ล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา

“มรกต  ยิบอินซอย” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด และบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส (Robinhood)

ภาคต่อ “Robinhood” ภายใต้การบริหารของ “กลุ่มยิบอินซอย

การที่ SCBX เปลี่ยนใจไม่ปิดบริการแล้ว หากมองดูแบบไม่ลงลึกอะไรมาก “การขายต่อ” ถือเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งเพราะอย่างน้อยยังได้เงินทุนกลับมาอยู่บ้าง แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง คนที่ทำธุรกิจก็ไม่อยากให้สิ่งที่สร้างมากับมือต้องขาดทุนจนล้มหายตายจากไป แต่มุ่งหวังให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง SCBX ได้ใช้เกณฑ์ในการพิจารณาผู้ที่สนใจซื้อกิจการ คือ ผู้ซื้อฯ ต้องเป็นกลุ่มธุรกิจสัญชาติไทย ที่มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ Robinhood เป็นแพลตฟอร์มของคนไทยเพื่อคนไทยต่อไป ซึ่ง “กลุ่มยิบอินซอย” จึงปิดดีลนี้ไปได้ 

เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่ “Robinhood” เข้ามาอยู่ใต้การบริหารงานของ “กลุ่มยิบอินซอย” โดย “มรกต  ยิบอินซอย” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด และบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส (Robinhood) เผยว่า การเข้าซื้อ Robinhood มาบริหารต่อ ถือเป็นก้าวสำคัญในการทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักและมีการเติบโตมากขึ้น เพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าในยุคนี้ “เทคโนโลยี” และ “แพลตฟอร์มออนไลน์” มีบทบาทสำคัญที่ทำให้การใช้ชีวิตมีความสะดวกสบายขึ้น 

การปิดดีลซื้อขาย Robinhood ในครั้งนี้ ยิบอินซอยเล็งเห็นถึงศักยภาพในการให้บริการส่งอาหารของ Robinhood ที่มีฐานลูกค้าที่มีคุณภาพ ไรเดอร์มีความสุภาพและรวดเร็ว อีกทั้งร้านค้าที่เปิดให้บริการมีหลากหลายทั้งร้านชื่อดังชั้นนำและร้านเล็กๆที่มีความเฉพาะตัว ทำให้บริษัทฯ มองว่า Robinhood เป็นแพลตฟอร์มไทยที่มีรากฐานที่ดีและสามารถต่อยอดให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นได้ แม้จะมีการตั้งคำถามต่อการซื้อกิจการที่ขาดทุนเข้ามาบริหาร แต่ยิบอินซอยเชื่อว่า Robinhood ยังสามารถเติบโตต่อไปได้เพราะเป็นแอปที่มีจุดแข็งคือเป็นของคนไทยที่พัฒนามาเพื่อการใช้ชีวิตของคนไทย สามารถสร้างการแข่งขัน สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ปูทางต่อยอดโปรเจ็กต์อื่นๆในอนาคตต่อไปได้  โดยปัจจุบันมีคำสั่งซื้อต่อวันเฉลี่ยเกือบ 40,000 คำสั่งซื้อ ส่งผลให้ตัวเลขผลประกอบการของ Robinhood มีการเติบโตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ 

เก็บ GP 28% น้อยกว่าตลาด

เจ้าของยิบอินซอย กล่าวอีกว่า Robinhood สามารถออกนอกกรอบกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ขยับตัวได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่นจากที่เมื่อก่อนอยู่ในกรอบของการดำเนินงานแบบ CSR เป็นหลักและไม่มีพันธมิตรไม่ยุ่งกับใคร แต่ปัจจุบัน สามารถเข้าไปเป็นพันธมิตรกับ KTC ที่ถือเป็นแบงก์ที่มีโปรโมชั่นในการสะสมคะแนนค่อนข้างเยอะได้ แต่หลักสำคัญอย่างเรื่องความปลอดถภัยเราก็ยังคงยึดเอาไ้ว้ พร้อมกับการก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้ธุรกิจมีกำไรเกิดเป็น Good Business Ecosystem

ปัจจุบันทีมงาน Robinhood ที่เป็นทีมงานเดิมมีทั้งหมด 50 คน ซึ่งยิบอินซอยได้ให้ทีมงานของบริษัทฯ เข้าไปช่วยซัพพอร์ตการดำเนินงานในด้านคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงเทคโนโลยีหลังบ้าน เพื่อผลักดันให้ธุรกิจกลับมาเติบโต โดยบริษัทฯ มีการวางแผนในการพัฒนา Robinhood ให้เป็นมากกว่าแอป Food Delivery ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนในปัจจุบันไปแล้ว ให้พัฒนาต่อยอดไปยังกลุ่มบริการ Mart หรือ บริการเรียกรถ 

แต่ขอเริ่มทำสิ่งที่มีอยู่แล้วอย่างการทำให้บริการ Food Delivery ให้มีรากฐานให้แข็งแกร่งขึ้น ผ่านการดำเนินการต่างๆ ทั้งพูดคุยกับพาร์ทเนอร์เพื่อขอการสนับสนุน หรือชักชวนให้ไรเดอร์ ร้านค้า รวมถึงยูสเซอร์ให้กลับเข้ามา Active ในแอป และได้ตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปี 2567 จะสามารถทำยอดการสั่งซื้อให้ได้ 50,000 ออเดอร์ต่อวัน 

และบริษัทฯตั้งเป้าทำออเดอร์คำสั่งซื้ออาหารรายวันให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการทำรายได้จากการเก็บค่า GP จากร้านค้า 28% (GP 25% และค่าการตลาด 3%) โดยเมื่อก่อนร้านค้าอาจไม่ต้องเสียค่า GP เพราะวิกฤตโควิดแต่การดำเนินในปัจจุบันเป็นรูปแบบของธุรกิจมากขึ้นซึ่งต้องมีรายได้และกำไรทำให้ต้องเก็บค่า GP และ Robinhood ก็ให้ตัวเลือกผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการจ่ายค่า GP แต่ต้องใช้วิธีการเก็บค่าส่งเต็มจำนวน ซึ่งอาจทำให้มีราคาที่แพงกว่าแอปอื่น

ซึ่งค่า GP ที่ Robinhood เก็บจากร้านค้า 28% นี้ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้เล่นอื่นในตลาด ที่มีการเรียกเก็บค่า GP ตั้งแต่ 30% (ไม่รวม VAT 7%) ไปจนถึง 32% (ไม่รวม VAT 7%) และ 32.1%  (รวม VAT 7% แล้ว) 

มรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด และบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน โรบินฮู้ด (คนที่ 2 นับจากซ้ายมือ), อนุวัต บูรพชัยศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอปพลิเคชั่น Paypoint (คนตรงกลาง), ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ควอนตัม เทคโนโลยี ฟาวเดชั่น (คนทรี่ 3 นับจากขวามือ) และคณะพันธมิตร Paypoint

 

เข้าร่วม “Paypoint” ขยายฐานลูกค้า ตั้งเป้ากลับมาแข็งแกร่งใน 2 ปี

ล่าสุด ยิบอินซอย ได้นำเอา “Robinhood” เข้าไปจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับ “Paypoint” แอปพลิเคชั่นรวบรวมรับฝากและแลกคะแนนสะสม ภายใต้การบริหารของบริษัท ศูนย์รับฝากคะแนน (ประเทศไทย) จำกัด ในการต่อยอดธุรกิจ ให้ Robinhood สามารถรวบรวมและแลกคะแนนสะสมในการชำระค่าสินค้าและบริการของร้านค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์ตัวแทนของพันธมิตรได้ทั้งในและต่างประเทศ

ผ่านการทำงานของ ควอนตัม เทคโนโลยี พัฒนาระบบร่วมกับ TPD โดยการสร้างกรอบการทำงานเชิงอัลกอริทึมสำหรับ Paypoint ภายใต้การพัฒนาของบริษัท ควอนตัม เทคโนโลยี ฟาวเดชั่น โดยจะคำนวณการรวมคะแนนสะสมเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนคะแนนสะสมระหว่างพันธมิตรแบบเรียลไทม์ ป้องกันการทำ arbitrage (การซื้อของชนิดเดียวกันในราคาที่แตกต่างกัน แล้วนำไปขายทำกำไรต่อโดยปราศจากความเสี่ยง) เพราะผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนคะแนนไปยังกลุ่มพันธมิตรได้โดยตรง มั่นใจได้ว่าทุกคนจะได้รับความเป็นธรรมด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ขึ้นกับกลไกตลาด 

อาทิ ผู้ใช้ที่มีการสะสมคะแนนจากการใช้บริการของ Robinhood สามารถนำคะแนนสะสมไปแลกหรือใช้จ่ายในบริการที่ต้องการของพันธมิตรได้ เช่น ปั๊มน้ำมันบางจาง หรือ แอร์ เอเชีย ในขณะที่ผู้ใช้ของพาร์ทเนอร์อย่าง แอร์ เอเชีย หรือ บางจาก ก็สามารถรวบรวมคะแนนมาใช้จ่ายบริการของ Robinhood ได้เช่นกัน โดยจะมีการเริ่มใช้ Paypoint ได้ในต้นปี 2568 เป็นต้นไป

ซึ่งปัจจุบัน Paypoint มีพันธมิตรอยู่ 7 บริษัทด้วยกัน ประกอบด้วย 

  •  บริษัท บางจาก  คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท บิ๊กไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Air Asia) 
  • บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (แอพพลิเคชั่นโรบินฮู้ด)
  • บริษัท เฮลท์อัพ จำกัด
  • บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่นแมเนจเม้นท์ จำกัด
  • บริษัท โกลด์เด้น99 จำกัด
  • MAAI BY KTC โดยบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท พริ้นซิเพิลเฮลท์แคร์ จำกัด 

และในอนาคตจะมีพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมงานกันมากขึ้น รวมถึงการขยายแพลตฟอร์มให้ครอบคลุมทั้งประเทศไทยและขยายออกไปยังต่างประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคมีอิสระในการในจ่ายคะแนนมากขึ้น พร้อมพาให้ธุรกิจกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมให้ได้ภายใน 2 ปี

]]>
1499156
รู้จัก ‘ยิบอินซอย’ บริษัทอายุแตะ ‘ร้อยปี’ จากธุรกิจ ‘เหมืองแร่’ สู่ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีในไทย และเป็นเจ้าของใหม่ ‘Robinhood’ https://positioningmag.com/1492341 Tue, 01 Oct 2024 04:57:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1492341 ถือว่าเป็นอะไรที่เข็มขัดสั้น หรือ คาดไม่ถึง เลยทีเดียว สำหรับดีล Robinhood แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ของ SCBX ที่ไม่ได้ถูกซื้อโดยบริษัทที่ทำธุรกิจเดียวกัน แต่กลับได้กลุ่มผู้ลงทุนที่นำโดย ยิบอินซอย (YIP IN TSOI) มาซื้อไปในมูลค่า 2,000 ล้านบาท โดย Positioning จะพาไปรู้จักกับกลุ่มยิบอินซอย บริษัทไทยอายุเกือบร้อยปี ว่าเป็นใคร เคยทำอะไรมาบ้าง

ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีในไทย ที่เริ่มจากธุรกิจเหมืองแร่

แค่บริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับฟู้ดเดลิเวอรี่มาซื้อ Robinhood ก็ถือว่าน่าสนใจแล้ว แต่เมื่อมารู้จักกับ บริษัท ยิบอินซอย ยิ่งน่าสนใจกว่า โดยเฉพาะในแง่ของ การปรับตัวตามยุคสมัย จนปัจจุบันยิบอินซอยเป็นบริษัทไทยที่มีอายุแตะ ร้อยปี เข้าไปแล้ว

โดยจุดเริ่มต้นของบริษัท ต้องย้อนไปไกลถึงพ.ศ. 2469 ถือกำเนิดจากธุรกิจ เหมืองแร่ ที่กำลังเติบโต ทำให้ ยิบ (Yip) อินซอย (In Tsoi) ชายชาวจีนที่มีโอกาสเดินทางมาไทย ได้เห็นโอกาสในธุรกิจนี้ จึงได้เริ่มทำธุรกิจเหมืองแร่ พร้อมก่อตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลยิบอินซอยแอนด์โกขึ้นมาที่หาดใหญ่

หลังจากที่กิจการไปได้ดีจึงเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ยิบอินซอย จำกัด (Yip In Tsoi & Company Limited) ในปี พ.ศ.2473 ด้วยทุนจดทะเบียน 150,000 บาท และได้ขยับขยายจากสำนักงานที่เป็นห้องแถว 2 คูหาที่ชุมทางหาดใหญ่ ไปอยู่ที่บางรัก กรุงเทพฯ ในปีพ.ศ. 2481 และยังคงเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่จนถึงปัจจุบัน

มรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จํากัด

แม้ว่าบริษัทจะเริ่มจากธุรกิจเหมืองแร่ แต่บริษัทก็ปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลง ทำให้บริษัทได้ขยับขยายไปสู่ ธุรกิจนำเข้าผลิตภัณฑ์ระดับโลก อาทิ การนำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม นำเข้ารถแทรกเตอร์ รถบรรทุก เครื่องจักรทอกระสอบ เครื่องปรับอากาศ สินค้าอุปโภคบริโภค โดยยิบอินซอยถือเป็นผู้บุกเบิกการค้าปุ๋ยเคมีเป็นรายแรกของไทย โดยนำเข้าปุ๋ยเคมีคุณภาพสูงจากประเทศเยอรมนี เข้ามาจำหน่าย ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตราใบไม้” เมื่อ พ.ศ.2489

หรือแม้แต่ใน ธุรกิจด้านการเงิน ยิบอินซอยก็ทำ โดยก่อตั้ง บริษัท ยิบอินซอยลงทุนและค้าหลักทรัพย์ จำกัด (YIT Invesment & Securities Ltd.- YISCO) บริษัท ยิบอินซอย เงินทุน (Yipintsoi Finance Limited. – YIPFIN) ทำธุรกิจด้านการเงินและหลักทรัพย์ โดยภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เงินทุนเอกธนกิจ จำกัด

เริ่มเข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีในเจนสอง

จนมาปีพ.ศ.2497 ที่ยิบอินซอยก็เริ่มเข้าสู่ ธุรกิจด้านเทคโนโลยี จากการเป็นตัวแทนจำหน่าย Burroughs Adding Machine เครื่องบวกเลขแบบจักรกลที่ถือเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานระดับสูง จนมาปีพ.ศ. 2506 ทายาทเจนสองอย่าง ธวัช ยิบอินซอย ก็ได้ต่อยอดให้เครื่องคอมพิวเตอร์เบอร์โร่วส์ สามารถพิมพ์ภาษาไทยได้ และได้ขยายธุรกิจเข้าสู่งานจัดจำหน่ายและติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมในอีก 10 ปีต่อมา โดยมี เทียนชัย ลายเลิศ ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินธุรกิจนี้

จนมาถึงพ.ศ. 2540 ยุคที่ระบบเมนเฟรมกำลังถูกแทนที่ด้วย Open system ทำให้ผู้บริหารเจนสามอย่าง นางมรกต ยิบอินซอย และ นายสุภัค ลายเลิศ ก็ได้มุ่งสู่ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร โดยได้การนำเทคโนโลยีใหม่ประสิทธิภาพสูง เช่น เนทแอป (NetApp) และผลิตภัณฑ์ของ SUN microsystem เข้ามาสร้างตลาดกลุ่มใหม่ ๆ ทำให้ยิบอินซอย ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาสู่ประเทศไทย เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง, ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และโซลูชั่นดิจิทัลสำหรับธุรกิจ

ปัจจุบัน บริษัทยิบอินซอย จำกัด อยู่ภายใต้ 3 ตระกูลใหญ่ ได้แก่ ตระกูลยิบอินซอย ตระกูลลายเลิศ และ ตระกูลจูตระกูล มีพนักงาน 1,900 คน มีบริษัทในเครือมีทั้งสิ้น 9 แห่ง ครอบคลุม 4 ธุรกิจ 1.ไอทีดิจิทัลโซลูชัน 2.เทคโนโลยีขั้นสูง 3.การค้าและการผลิต และ 4.ธุรกิจประกันและมีศูนย์บริการกว่า 32 แห่งทั่วประเทศไทยและในเขตประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน Clean Energy & Smart Agri-Tech Solutions และ Nano Bio Technology อีกด้วย อาทิ จากเดิมที่มีอยู่ 3 บริษัท คือ บริษัท โมรีน่า โซลูชั่นส์ จำกัด (Morena) สตาร์ทอัพด้าน BIOTECHNOLOGY, บริษัท อีซีไรช์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด สตาร์ทอัพใช้เทคโนโลยี AI ตรวจสอบพันธุ์ข้าว และ บริษัท โซลารินน์ จำกัด สตาร์ทอัพ ด้านพลังงานสะอาด (EASYRICE) ที่กำลังจะเริ่มผลิต จักรยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์

จับตาก้าวต่อไปหลังได้ Robinhood

ล่าสุด ยิบอินซอยก็ได้นำทีมเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood โดยมูลค่าการซื้อขายคิดเป็นมูลค่ารวมสูงสุด 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วยมูลค่าเบื้องต้นชำระทันที 400 ล้านบาท และส่วนเพิ่มตามผลประกอบการสูงสุดไม่เกิน 1,600 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มผู้ลงทุนที่เหลือประกอบด้วยกลุ่ม Brooker Group ธุรกิจที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน, กลุ่ม SCT Rental Car ที่ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์สำหรับใช้งานส่วนบุคคลและเชิงพาณิชย์ รวมถึงบริษัทย่อยของ Loxley คือ LOXBIT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการไอทีโซลูชั่นของประเทศไทย

ต้องยอมรับว่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ก็ไม่ได้ง่าย เพราะตลอด 10 ปีมีผู้เล่นที่ม้วนเสื่อกลับบ้านก็ไม่น้อย ดังนั้น จากนี้คงต้องจับตาว่า ยิบอินซอยที่ได้ Robinhood จะนำไปต่อยอดกับธุรกิจในเครืออย่างไร เพราะยิบอินซอยมีความพร้อมทั้งด้านไอทีโซลูชั่น ประกัน หรือแม้แต่ธุรกิจมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ก็คงต้องติดตามดูกัน ยาว ๆ ต่อไป

]]>
1492341
มองอนาคตธุรกิจ Food Delivery ทั้งไทยและต่างประเทศ บนการแข่งขันที่ยังดุเดือด แม้จะเหลือผู้เล่นน้อยราย https://positioningmag.com/1480493 Thu, 04 Jul 2024 05:42:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1480493 ธุรกิจ Food Delivery ทั้งในไทยและต่างประเทศกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง แม้ว่าจะเหลือผู้เล่นน้อยรายแล้วก็ตาม ซึ่งต่างกับอดีต แต่ผู้เล่นที่เหลืออยู่ต่างต้องแข่งขันเพื่อกินส่วนแบ่งตลาด หรือหารายได้ใหม่ๆ เนื่องจากแรงกดดันทั้งจากนักลงทุนหรือแม้แต่บริษัทเทคโนโลยีคู่แข่งก็ตาม

อุตสาหกรรมส่งอาหาร (Food Delivery) ทั่วโลกหรือแม้แต่ในประเทศไทยได้เดินทางมาถึงจุดสำคัญอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปิดกิจการของผู้เล่นบางราย การควบรวมกิจการ การเพิ่มรายได้ด้วยธุรกิจส่วนอื่นๆ หรือแม้แต่การขยายไปยังประเทศอื่นๆ

Positioning พาไปวิเคราะห์ถึงทิศทางของอุตสาหกรรม Food Delivery ในประเทศไทยหรือเทรนด์อุตสาหกรรมทั่วโลกว่าจะเป็นยังไงต่อไป

ดูภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อน

ก่อนอื่นต้องยกข้อมูลของ Statista ที่มองว่าตลาด Food Delivery ทั่วโลกในปี 2024 นั้นมีขนาดของรายได้ใหญ่ถึง 1.22 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่ารายได้จากปี 2024 ถึง 2029 จะเติบโตราวๆ 9.49% ต่อปี โดยตลาดที่ใหญ่สุดในโลกยังเป็นประเทศจีน

ทางด้าน Momentum Works ที่ได้ออกบทวิเคราะห์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาชี้ว่าในปี 2023 ผู้เล่นในตลาดบริการส่งอาหารมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Grab ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 47% และ LINE MAN ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 36%

ขณะเดียวกันผู้เล่นรายรองลงมาอย่าง foodpanda ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 8% และ Shopee Food ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 6% ที่เหลืออีก 3% เป็นของ Robinhood เท่านั้น ก่อนที่จะปิดตัวลง

นอกจากนี้ขนาดตลาดของธุรกิจ Food Delivery ในไทยของ Momentum Works เมื่อใช้ตัวเลขยอดขายสินค้าออนไลน์รวมในแพลตฟอร์ม (GMV) ของไทยนั้นปี 2022 มีขนาด 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2023 เติบโตเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถ้าหากมองออกมาในหลายๆ ประเทศในอาเซียนแล้วนั้น ตลาดของธุรกิจ Food Delivery กลับกลายเป็นว่าเวียดนามนั้นมีอัตราการเติบโตมากที่สุด แต่สำหรับ ไทย สิงคโปร์ นั้นธุรกิจดังกล่าวเติบโตช้าลงเรื่อยๆ

Robinhood เป็นอีกผู้เล่นที่ต้องปิดตัวลงไปในอุตสาหกรรม Food Delivery ที่แข่งขันรุนแรง – ภาพจากบริษัท

ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อหารายได้เพิ่มเติม สร้างความได้เปรียบ

ผู้ให้บริการ Food Delivery หลายรายเริ่มมองลู่ทางหารายได้ใหม่ๆ นอกจากธุรกิจส่งอาหารเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในไทย หรือต่างประเทศ

ถ้าหากมองกรณีของผู้ให้บริการ Food Delivery ในทวีปยุโรปหลายรายเองก็ขยายธุรกิจออกไปไม่ว่าจะเป็นการรับส่งอาหารสด เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความใกล้เคียงกัน ใช้พนักงานส่งสินค้าเหมือนกัน และต้นทุนในการบริหารงานแทบจะไม่แตกต่างกันนัก

การโฆษณาภายในตัวแอปฯ หรือแม้แต่บนพาหนะที่ไว้ขนส่งอาหาร ซึ่งผู้เล่นทั้งในไทย อาเซียน หรือแม้แต่ผู้เล่นในธุรกิจนี้ทั่วโลกต่างงัดการหารายได้ในส่วนนี้แทบทั้งสิ้น

หรือแม้แต่การเข้าสู่โลก FinTech ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทางการเงินแบบง่ายๆ อย่าง Wallet ไว้จ่ายเงิน การขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นประกัน การให้บริการด้านสินเชื่อ จนถึงด้านการลงทุน หรือแม้แต่การเข้าสู่ธุรกิจ Buy Now Pay Later อย่างเช่นในกรณีของ GoTo (หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อเดิมอย่าง Gojek) ก็ลงมาเล่นในตลาดนี้เหมือนกัน

ไม่เว้นแม้แต่ผู้เล่น Food Delivery บางรายอย่าง Deliveroo ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในทวีปยุโรป ที่เริ่มรุกเข้ามาในตลาด E-commerce มากขึ้น โดยบริษัทมองถึงขนาดตลาดดังกลล่าวใหญ่มากถึง 700,000 ล้านปอนด์ และเริ่มนำสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่ ดอกไม้ เครื่องสำอาง ไปจนถึงสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง

การหารายได้ทางใหม่ๆ ยังถือเป็นการสร้างป้อมปราการให้กับธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทำธุรกิจ Food Delivery ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคฯ อย่าง TikTok หรือแม้แต่ Shopee รวมถึงผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่อาจรุกเข้ามาในธุรกิจดังกล่าว ส่งผลต่อบริษัทได้ในระยะยาว

บริการส่งอาหารทั่วโลก ในแต่ละประเทศนั้นแต่ละบริษัทต่างมีคู่แข่งรายสำคัญอยู่ – ข้อมูลจาก Presentation ของ Delivery Hero

เมื่อแอปฯ ล้มหายตายจาก หรือขายกิจการนั้นถือเป็นเรื่องปกติ

ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นการเกิดใหม่ของแพลตฟอร์มส่ง Food Delivery ลดลงบ้างแล้ว เนื่องจากผู้เล่นหน้าเก่าสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดได้ และตัวเลขสัดส่วนในการครองตลาดนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีในบางประเทศในอาเซียนที่มีผู้เล่นหลายราย เช่น เวียดนาม ที่ตลาดดังกล่าวยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก

ที่ไทยเองนั้นตลาด Food Delivery เริ่มทรงตัวมากขึ้น เนื่องจากผู้เล่นทั้ง Grab และ LINE MAN เองครองตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้ ขณะเดียวกันในส่วนของ Foodpanda และ Grab นั้นบริษัทตั้งเป้าที่จะทำกำไรให้ได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดีในบางตลาดนั้นกลับมีการซื้อและขายกิจการ อย่างเช่นกรณีของ ไต้หวัน ที่ Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Foodpanda ประกาศขายธุรกิจให้กับ Uber ทำให้ผู้เล่นจากสหรัฐอเมริกาแทบจะครองตลาด Food Delivery แทบทั้งหมดในไต้หวัน

เทรนด์ในการซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการธุรกิจ Food Delivery นั้นยังคงไม่หมดไป แต่เทรนด์ดังกล่าวนั้นจะไปอยู่ในประเทศที่ตลาดดังกล่าวยังคงเติบโต และมีผู้เล่นจำนวนมาก เช่น อินเดีย หลายประเทศในตะวันออกกลาง เป็นต้น หรือแม้แต่ Foodpanda พิจารณาการขายกิจการธุรกิจในอาเซียน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังสร้างความกังวลให้กับหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศสิงคโปร์ด้วย

อีกเทรนด์ที่น่าสนใจคือผู้เล่นในประเทศจีนอย่าง Meituan ที่มีข่าวลือว่าอาจมีการขยายกิจการออกมานอกประเทศจีนนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีข่าวลือว่าเป็นผู้เล่นอีกรายที่สนใจซื้อกิจการของ Foodpanda

นอกจากธุรกิจ Food Delivery นั้นจะมีการควบรวมกิจการ ซื้อกิจการคู่แข่งแล้ว ธุรกิจเหล่านี้ยังสนใจที่จะซื้อการควบรวมกิจการแนวดิ่ง (Vertical Integration) เช่น กรณีในไทย LINE MAN ลงทุนในกิจการของ FoodStory และ Rabbit Line Pay เพื่อที่จะเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในอนาคต

ต้องมาลุ้นกันว่าธุรกิจส่งอาหารจากประเทศจีนอย่าง Meituan เองนั้นจะมีการรุกตลาดนอกประเทศจีนหรือไม่ – ภาพจาก Shutterstock

เส้นทางสู่กำไรที่ยังต้องพิสูจน์ตัวเอง (หรือตั้งคำถาม)

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ผู้เล่น Food Delivery หลายรายเองทั่วโลกยังประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากอุปสรรคสำคัญคือเรื่องของค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายของเหล่า Rider ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบไอทีต่างๆ ซึ่งจุดคุ้มทุนของแต่ละบริษัทนั้นมีความแตกต่างกันไป

บทความของ Financial Times ได้คำนวณตัวเลขของผู้เล่น Food Delivery ในยุโรปและสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่เข้า IPO บริษัทเหล่านี้ขาดทุนรวมกันแล้วมากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันอันดุเดือดของธุรกิจนี้

ขณะเดียวกันหลายบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ อย่างเช่น Sea​ บริษัทแม่ของ Shopee Food รวมถึงผู้เล่นในตลาด Food Delivery อย่าง Uber Grab Deliveroo Doordash รวมถึง Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Foodpanda เป็นต้น ต่างโดนเหล่านักลงทุนบีบให้บริษัทต่างทำกำไรให้ได้ไวที่สุด ซึ่งแตกต่างกับในอดีตที่เน้นการขยายธุรกิจกินส่วนแบ่งทางการตลาดให้ได้มากที่สุด

สิ่งที่นักลงทุนต้องการไม่ใช่แค่กำไรเท่านั้น แต่ยังต้องเลิกเผาเงินสด หรือเลิกยึดครองตลาดที่นักลงทุนมองว่าไม่สามารถทำกำไรต่อไป

การบีบของนักลงทุนนั้นยังทำให้แผนธุรกิจของผู้เล่น Food Delivery หลายรายเริ่มเปลี่ยนจากการหารายได้ที่เน้นการส่งอาหาร การรับส่งลูกค้า ซึ่งรายได้ 2 ส่วนนี้นั้นมากกว่า 50% ของรายได้รวม เริ่มทำให้หลายผู้เล่นต้องปรับตัวให้คล้ายกับซุปเปอร์แอปฯ (Super App) มากขึ้น

คำถามคือในระยะยาวแล้ว การที่แอปเหล่านี้ปรับตัวคล้ายกับ Super App จะสามารถแข่งกับผู้เล่นดั้งเดิม เช่น  การเข้าไปยังธุรกิจ E-commerce หรือแม้แต่ FinTech นั้นแต่ละบริษัทสามารถสร้างจุดแข็งหรือแม้แต่ความได้เปรียบจากผู้เล่นเดิมในธุรกิจเหล่านี้ได้อย่างไร

ไม่เพียงเท่านี้บริษัทเหล่านี้ยังโดนจับตามองจากหน่วยงานกำกับดูแลถึงเรื่องของการแข่งขันด้านธุรกิจ เนื่องจากหลายประเทศ ผู้เล่นในธุรกิจเหล่านี้กำลังเหลือน้อยราย และยังรวมถึงเรื่องของการดูแลสวัสดิภาพของเหล่า Rider รับส่งอาหาร (หรือแม้แต่ Rider คนขับ) โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นใหญ่

ในอนาคตอันใกล้นี้เรากำลังเห็นผู้เล่นในอุตสาหกรรม Food Delivery ต่างเหลือผู้เล่นน้อยรายลงเรื่อยๆ ซึ่งในบางประเทศการต่อสู้ระหว่างผู้เล่นในธุรกิจนี้เหลือไม่เกิน 3-4 รายแล้ว ภายใต้การแข่งขันที่ยังคงดุเดือดทั้งคู่แข่งทางตรง หรือแม้แต่คู่แข่งทางอ้อม

]]>
1480493
ย้อนรอยเส้นทาง Robinhood แอปฯ เพื่อคนตัวเล็ก พร้อมวิเคราะห์เหตุผลก่อนที่ SCBX ประกาศปิดตัวในท้ายที่สุด https://positioningmag.com/1479825 Thu, 27 Jun 2024 11:19:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1479825 พาไปย้อนรอยเส้นทางของแอปพลิเคชันส่งอาหารรวมถึงบริการอื่นๆ อย่าง Robinhood โดยชูจุดเด่นว่าเป็นแอปฯ เพื่อคนตัวเล็ก ก่อนในท้ายที่สุดบริษัทแม่เจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง SCBX จะประกาศปิดตัวแอปฯ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

ถือเป็นข่าวที่สร้างความตกใจไม่น้อย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา SCBX ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ทางคณะกรรมการบริษัทได้แจ้งถึงการยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งจะมีผลภายในวันที่ 31 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

ซึ่งการปิดตัวแอปพลิเคชัน Robinhood ทำให้ผู้บริโภคหลายคนใจหายไม่น้อย เนื่องจากเป็นอีกแพลตฟอร์มที่สามารถสั่งอาหารหรือบริการอื่นๆ ได้

Positioning พาไปย้อนรอยแอปฯ ดังกล่าว และวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าทำไมถึงต้องปิดตัวลง

เปิดตัวแอปฯ เพื่อช่วยคนตัวเล็ก

ในช่วงปี 2020 บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันโรบินฮู้ด (Robinhood) โดยในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นทางกลุ่ม SCB มองว่าเป็นโครงการ CSR เพื่อคืนกำไรให้สังคม ให้ทั้งส่วนของ คนซื้อ คนขาย และคนส่งสินค้าได้ประโยชน์อย่างเต็มที่และเป็นธรรม

Robinhood เกิดขึ้นจากไอเดียของ อาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอของ SCB ตอนที่ต้องกักตัวในช่วงการระบาดโควิด และต้องทำงานจากที่บ้าน ทำให้ต้องสั่งอาหารออนไลน์บ่อยครั้ง และมองเห็นโอกาสว่าธนาคารมีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำได้ จึงต่อยอดด้วยการระดมทีมกว่า 80 คนพัฒนาแอปฯ นี้ขึ้น ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือนก่อนเปิดตัว

จุดเด่นสำคัญคือ Robinhood จึงไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ เช่น ไม่มีค่าสมัคร ไม่คิดค่า GP (Gross Profit) ร้านอาหารจะได้เงินเต็มทุกบาททุกสตางค์ รวมถึงยังช่วยให้ร้านค้ามีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นด้วย

และในช่วงเวลาดังกล่าวทางแอปฯ มองว่ามีช่องทางในการเจาะตลาดลูกค้า โดยมองว่าถ้าหากมีการสั่งอาหารที่ยอด 300 บาทขึ้นไป แอปฯ ดังกล่าวถือว่าตอบโจทย์มากกว่า

ขยายบริการ

นอกจากบริการส่งอาหารแล้ว ในปี 2022 ทาง Robinhood ได้เปิดบริการเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นบริการ จองโรงแรม บริการการท่องเที่ยว บริการจัดส่งเอกสารและพัสดุ หรือแม้แต่บริการเรียกรถ ซึ่งบริษัทได้ขยายธุรกิจเพื่อที่จะหารายได้เพิ่มเติมให้กับแพลตฟอร์ม

ไม่เพียงเท่านี้ในช่วงเวลาดังกล่าว เพอร์เพิล เวนเจอร์ส มีแผนที่จะมีการระดมทุน Series A จากนักลงทุนภายนอกด้วย รวมถึงวางเป้าในการเป็น Super App ในอาเซียน

ขณะเดียวกันทาง Robinhood เองมองว่าในเมื่อทางแอปฯ เองไม่ได้ต้องการที่จะเก็บค่า GP จากทั้งร้านค้า หรือแม้แต่คนขับ ทำให้เกิดไอเดียในการหากำไรเพิ่มเติม เพื่อที่จะทำให้แอปฯ อยู่รอดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโฆษณาภายในแอปฯ หรือแม้แต่การปล่อยสินเชื่อ หรือการทำลีซซิ่ง มอเตอร์ไซค์และรถยนต์ไฟฟ้า

ถ้าหากแผนการดังกล่าวเป็นไปตามคาดจะทำให้ผลประกอบการของ Robinhood นั้นกลับมามีกำไรได้ภายในปี 2025 

Robinhood Ride

การแข่งขันสูง ภายใต้อุตสาหกรรมที่เติบโตช้าลง

อย่างไรก็ดีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันระหว่างบริการส่งอาหารภายในประเทศไทยนั้นมีความดุเดือดไม่น้อย แม้ว่าในช่วงของการแพร่ระบาดโควิดธุรกิจส่งอาหารจะได้รับความนิยมก็ตาม เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่เปลี่ยนไป

ข้อมูลจาก Momentum Works ที่ได้ออกบทวิเคราะห์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาชี้ว่าในปี 2023 ผู้เล่นในตลาดบริการส่งอาหารมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Grab ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 47% และ LINE MAN ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 36%

ขณะเดียวกันผู้เล่นรายรองลงมาอย่าง foodpanda ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 8% และ Shopee Food ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 6% ที่เหลืออีก 3% เป็นของ Robinhood เท่านั้น

ถ้าหากเทียบส่วนแบ่งการตลาดในปี 2022 นั้น Robinhood มีส่วนแบ่งตลาด 6% แต่ปี 2023 กลับมีส่วนแบ่งตลาดเหลือแค่ 3% ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจส่งอาหารในไทยยังมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาคือ Shopee Food ทำให้การแข่งขันนั้นเพิ่มมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อเทียบตัวเลขของ Momentum Works จะเห็นว่าขนาดตลาด เมื่อใช้ตัวเลขยอดขายสินค้าออนไลน์รวมในแพลตฟอร์ม (GMV) ของไทยนั้นปี 2022 มีขนาด 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2023 เติบโตเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

จะเห็นได้ว่าตลาดในประเทศไทยนั้นการเติบโตเริ่มช้าลง แต่ผู้เล่นรายใหญ่นั้นยังมีการแข่งขันที่ดุเดือด ไม่เพียงเท่านี้สภาวะเศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้า โดยบทวิเคราะห์ของ Bernstein ชี้ว่าอุตสาหกรรมส่งอาหารในอาเซียน อย่างเช่นในประเทศไทย (รวมถึงสิงคโปร์) นั้นเติบโตช้าลง

ปัจจัยข้างต้นยิ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมแพลตฟอร์มส่งอาหาร ส่งผลทำให้ผู้เล่นระดับรองๆ นั้นอาจไปต่อไม่ได้ภายใต้สภาวะเช่นนี้

ผู้เล่นในตลาดส่งอาหารในไทยมีหลายราย ภายใต้การเติบโต GMV ที่เริ่มโตช้าลง – ภาพจาก Shutterstock

ประกาศปิดตัว

ถ้าหากไปย้อนดูผลประกอบการของบริษัทแม่เจ้าของแอปฯ Robinhood นี้ โดยปี 2022 บริษัทมีผลขาดทุนราวๆ 1,900 ล้านบาท และปี 2023 มีผลขาดทุนราวๆ 2,100 ล้านบาท  ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้  เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ต้องปิดตัวแอปฯ ดังกล่าวลง

ในบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ชี้ว่า ถ้าหาก SCBX ได้เลิกกิจการของแอปพลิเคชัน Robinhood จะช่วยทำให้บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 800 ล้านบาทในปี 2024 นี้ และมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นอันดับแรก

ขณะที่บทวิเคราะห์จาก UBS ยังชี้ว่าการยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood คาดว่าจะมีการตั้งด้อยค่าเพียง 1 ครั้งในช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปี 2024 นี้และมองว่าการปิดตัวของแอปฯ ยังช่วยยุติการเผาเงินของบริษัท ช่วยให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ SCBX ในปี 2025 ลงได้

UBS ยังมองว่าในปี 2023 นั้น เพอร์เพิล เวนเจอร์ส มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานถึง 2,900 ล้านบาท และเมื่อประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ทำให้ SCBX สามารถนำเงินไปลงทุนในส่วนอื่น หรือแม้แต่ทำให้สามารถมีเงินจ่ายปันผลได้อย่างยั่งยืนขึ้น

และนี่ถือเป็นอีกหนึ่งการปิดฉากแอปฯ ส่งอาหารชื่อดังของไทย ภายใต้สภาวะอันท้าทายเช่นนี้

ที่มา – Tech In Asia, ข้อมูลจาก Momentum Works, บทวิเคราะห์จาก Bernstein, Tisco, UBS

]]>
1479825
“Robinhood Ride” บริการใหม่จากแอปฯ เพื่อคนตัวเล็กที่ยั่งยืน ชูคอนเซ็ปต์บริการเรียกรถที่แฟร์และแคร์คุณ https://positioningmag.com/1439160 Thu, 27 Jul 2023 10:00:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1439160

เกือบ 3 ปีที่แอปฯ “Robinhood” เริ่มต้นจากบริการเดลิเวอรี วันนี้แอปฯ เติบโตจนมีฐานผู้ใช้ทะลุ 3.7 ล้านคน พร้อมไปต่อกับบริการใหม่ “Robinhood Ride” ที่ยังคงวางเป้าหมายทำเพื่อคนตัวเล็ก ด้วยคอนเซ็ปต์ “บริการเรียกรถที่แฟร์และแคร์คุณ” สร้างตัวเลือกบริการเรียกรถราคายุติธรรมกับทั้งผู้โดยสารและคนขับ

ย้อนไปเกือบ 3 ปีก่อน ประเทศไทยเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารเล็กๆ ยากลำบาก ต้องเน้นการขายสินค้าผ่านระบบเดลิเวอรีทดแทนยอดขายหน้าร้านที่ลดลง แต่ด้วยแอปฯ เดลิเวอรีส่วนใหญ่มีการเก็บค่า GP หรือค่าคอมมิชชันจากราคาขาย ทำให้ร้านอาหารขนาดเล็กขาดทุนหรือจำต้องขึ้นราคาสินค้าซึ่งกระทบกับผู้บริโภคปลายทาง

แอปพลิเคชัน Robinhood จึงก่อตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์ “ช่วยคนตัวเล็ก” เป็นระบบเดลิเวอรีที่ “ไม่เก็บค่า GP” เพื่อให้ร้านอาหารเล็กๆ ยังอยู่ได้ และเมื่อร้านอาหารขายผ่านเดลิเวอรีได้ ไรเดอร์คนขับรถส่งอาหารก็จะยังมีงานทำเช่นกัน

(ซ้าย) “กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด และ (ขวา) “สุชานัน ตันติวัฒนวัลลภ” Head of Ride Business บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

“กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ระบุว่าหลังจากแอปฯ Robinhood ก่อตั้งมา 2 ปี 8 เดือน ปัจจุบันระบบมีฐานผู้ใช้รวม 3.7 ล้านคน มีร้านอาหารในระบบ 3 แสนร้านค้า และมีไรเดอร์ร่วม 3 หมื่นคน

ที่ผ่านมาแอปฯ ช่วยเชื่อมโยงสร้างมูลค่าการขายให้ร้านค้าสะสม 17,200 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้ไรเดอร์รวม 3,600 ล้านบาท ช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจให้กับคนตัวเล็กดังที่ตั้งใจไว้เมื่อเกือบ 3 ปีก่อน

มูลค่าที่ Robinhood ช่วยสร้างรายได้ให้กับกลุ่มร้านค้าและไรเดอร์

ต่อมาในปี 2565 แอปฯ Robinhood ยังขยายฟีเจอร์บริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น คือ Robinhood Travel บริการจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน, Robinhood Mart บริการเดลิเวอรีสินค้าจากร้านค้า และ Robinhood Express บริการเรียกรับ-ส่งพัสดุ มาช่วยเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค มีทางเลือกในการใช้งานเพิ่มขึ้น


บริการ “เรียกรถ” ที่แฟร์และแคร์คุณ

กวีวุฒิกล่าวต่อว่า เป้าหมายของ Robinhood ในปี 2566 คือมุ่งมั่นสานต่อการสร้างโอกาสและสนับสนุนคนตัวเล็กภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “แอปเพื่อคนตัวเล็กที่ยั่งยืน” ความหมายคือ Robinhood จะต้องยั่งยืนด้วยตนเองไปพร้อมๆ กับการสร้างงานให้คนตัวเล็ก ดังนั้น แอปฯ จะมีบริการใหม่เพิ่มขึ้นที่คาดว่าจะทำให้บริษัทเริ่มทำกำไรด้วยตนเองได้ใน 1-2 ปี

เริ่มจากการออกบริการใหม่คือ “Robinhood Ride” บริการ “เรียกรถ” ซึ่งบริษัทมองว่าจะเป็นธุรกิจที่สำคัญมาก เพราะปัจจุบันบริการเรียกรถทั่วไปเรียกเก็บค่าโดยสารในราคาค่อนข้างสูง จึงมองว่าการเข้ามาเป็นอีกผู้เล่นหนึ่งในตลาดและทำราคาให้ “แฟร์” ยุติธรรมกับผู้บริโภค ช่วยเรื่องค่าครองชีพให้กับคนกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง

ขณะที่ปลายปี 2566 จะมีบริการใหม่เพิ่มอีก 2 ประเภท คือ “Robinhood Finance” บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ดิจิทัลที่จะเริ่มจากให้กับกลุ่มไรเดอร์และร้านค้าก่อน และ “Robinhood EV” บริการให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยคาดว่าจะมีรถเข้าระบบได้ 1,000 คัน


Robinhood Ride ตัวเลือกใหม่เพื่อคนตัวเล็ก

“สุชานัน ตันติวัฒนวัลลภ” Head of Ride Business บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด อธิบายต่อถึงสภาวะตลาดบริการเรียกรถรับส่งปัจจุบันมีขนาดตลาดใหญ่ถึง 7 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตไปถึง 1.5 แสนล้านบาทได้ในปี 2571

สาเหตุที่บริการเรียกรถจะเติบโต เนื่องจากปัจจุบันตลาดรับรับส่งยังมีการเรียกรถแบบโบกมืออยู่ 35% และเรียกผ่านแอปฯ 65% แต่แนวโน้มการเรียกผ่านแอปฯ จะเติบโตขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์แล้วบริษัทพบว่าตลาดนี้ยังมี ‘pain point’ ทั้งในฝั่งผู้โดยสารและคนขับ 3 ปัญหาใหญ่ คือ

1. ผู้โดยสารถูกเรียกเก็บค่าโดยสารสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน (peak time) อาจถูกเรียกเก็บสูงกว่าปกติ 2-3 เท่า

2. คนขับรถถูกหักค่าคอมมิชชันสูง ค่าเฉลี่ยในตลาดหักค่าคอมมิชชัน 25-30% ซึ่งทำให้คนขับอาจไม่เหลือกำไรจากการขับรถ

3. ระบบ Call Center ไม่เพียงพอในการช่วยเหลือทั้งผู้โดยสารและคนขับ ติดต่อได้ยาก

จากปัญหาทั้งหมดนี้ Robinhood Ride จึงต้องการเข้ามาแก้ไขเพื่อเป็นตัวเลือกที่แฟร์และแคร์คุณมากกว่า ไม่ว่าจะทั้งฝั่งผู้โดยสารหรือคนขับ โดยนำเสนอจุดเด่น 6 ด้าน ได้แก่

1. ราคาเป็นธรรม โดยมีลิมิตเพดานค่าโดยสารที่เรียกเก็บอยู่ในกรอบที่กรมขนส่งทางบกกำหนด

2. คนขับบริการดีมีมาตรฐาน โดยมีการเทรนนิ่งด้านมารยาทการให้บริการ เหมือนกับที่มีการเทรนนิ่งไรเดอร์ขนส่งอาหาร

3. เก็บค่าคอมมิชชันจากคนขับน้อยกว่า โดยกำหนดเพดานเรียกเก็บไม่เกิน 20%

4. คนขับเริ่มงานง่ายไม่ต้องเติมเครดิตก่อนเริ่มงาน ต่างจากแอปฯ อื่นที่ต้องเติมเครดิตไว้ให้เพียงพอสำหรับการหักค่าคอมมิชชันก่อน

5. ประกันเหตุร้ายในช่วง 22:00-04:00 น. ทำให้ทั้งผู้โดยสารและคนขับอุ่นใจในยามค่ำคืน

6. Call Center 24 ชั่วโมง ไม่ใช้ระบบอัตโนมัติ ใช้มนุษย์เป็นผู้สื่อสาร โดยเตรียมบุคลากรไว้อย่างเพียงพอและผ่านการเทรนนิ่ง

ระบบ Robinhood Ride ยังมีจุดเด่นด้านอื่นๆ ถือเป็นส่วนเสริมที่น่าสนใจเช่น ตัวเลือกรถยนต์มีให้เลือก 8 รูปแบบ และหนึ่งในแบบที่เลือกได้คือเรียก “รถยนต์ไฟฟ้า (EV)” ในราคาที่เท่ากับรถบ้านปกติ เพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ปลอดมลพิษ

รวมถึงมีฟังก์ชันให้เลือก “ห้ามรบกวนขณะโดยสาร” (Silent Mode) มาจากอินไซต์ของคนกรุงเทพฯ ที่บางครั้งต้องการสมาธิทำงานระหว่างนั่งรถโดยสาร หรือต้องการความเป็นส่วนตัวขณะโดยสาร

ตั้งเป้าขึ้นเป็น Top 3 ภายใน 3 ปี

ปัจจุบันบริการ Robinhood Ride เริ่มให้บริการครอบคลุมทั้งเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล โดยเริ่มต้นมีรถบริการ 4,500 คัน แต่จะเร่งขยายจำนวนคนขับให้มากขึ้นโดยมีเป้าขยายจำนวนรถในระบบเป็น 10,000 คัน และเป้าให้บริการเฉลี่ย 12,000 ครั้งต่อวันให้ได้ภายในสิ้นปีนี้

สุชานันกล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าระยะกลางภายใน 3 ปีจะขึ้นสู่ “Top 3” ของตลาดแอปฯ เรียกรถ และมีส่วนแบ่งตลาดราว 20%

ส่วนแผนงานการขยายตัวไปให้บริการในต่างจังหวัดนั้นเป็นไปได้ แต่จะรอดูผลตอบรับจากผู้โดยสารในกรุงเทพฯ ก่อน และต้องวิเคราะห์ตลาดต่างจังหวัดในแต่ละหัวเมืองด้วยว่ามีดีมานด์เพียงพอหรือไม่

ทั้งนี้ ในช่วงเปิดตัว Robinhood Ride บริษัทมีสิทธิพิเศษมอบให้ผู้โดยสารเพื่อทดลองใช้งานบริการเรียกรถที่แฟร์และแคร์คุณ เพียงกรอกรหัส “CARE” รับส่วนลดทันที 50 บาท เมื่อเรียกรถค่าโดยสารขั้นต่ำ 100 บาท ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2566

#Robinhood #แอปเพื่อคนตัวเล็กที่ยั่งยืน #RobinhoodRide #บริการเรียกรถที่แฟร์และแคร์คุณ

]]>
1439160
“Robinhood” วางโมเดลธุรกิจ 3 ปีข้างหน้าไว้อย่างไรเพื่อจะเริ่ม “ทำกำไร” ได้จริง!? https://positioningmag.com/1401942 Wed, 28 Sep 2022 05:58:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1401942 Robinhood เริ่มต้นจากการเป็นโครงการ ‘CSR’ ของธนาคารไทยพาณิชย์ จึงเป็นแอปฯ ที่ “ไม่เก็บค่า GP” จากร้านอาหารและโรงแรมบนแพลตฟอร์ม เป้าหมายเพื่อ “ช่วยคนตัวเล็ก” ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เมื่อแอปฯ ได้รับผลตอบรับดีกว่าที่คิด ทำให้ไอเดียการ ‘monetize’ หากำไรเริ่มเข้ามา และคาดว่าจะทำได้เร็วที่สุดในปี 2568

ในงานแถลงข่าวแกรนด์โอเพนนิ่งบริการ ‘Robinhood Mart’ สองผู้บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการ และ “สีหนาท ล่ำซำ” ซีอีโอบริษัท บอกกับสื่อมวลชนว่า Mart จะเป็นบริการรอยต่อเข้าสู่เฟส 2 ของ Robinhood เพราะจะเป็นบริการแรกที่ “ทำกำไร” จากเดิมเป็นโครงการ CSR ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ยินดี ‘เผาเงิน’ เพื่อช่วยสังคม

ย้อนทบทวนประวัติและแผนของ Robinhood กันอีกครั้งหนึ่ง

2564 – เปิดตัวระบบ Food เดลิเวอรีจัดส่งอาหาร
พ.ค. 2565 – เปิดระบบ Travel จองโรงแรม บริการการท่องเที่ยว
ก.ค. 2565 – เปิดระบบ Mart ซื้อและจัดส่งของจากร้านค้า (soft launch)
ธ.ค. 2565 – เปิดระบบ Express จัดส่งเอกสารและพัสดุ
ภายในไตรมาส 4/2565 – เปิดระบบ Ride-hailing บริการเรียกรถรับส่งทั้งแท็กซี่และรถยนต์นั่งทะเบียนขาว

ที่ผ่านมาแอปฯ Robinhood ขาดทุนมาตลอดเพราะไม่มีการเก็บค่า GP ทำให้มีช่องทางเพียง 2 ช่องทางที่ทำเงินได้ ได้แก่ “การเก็บค่าโฆษณา” สำหรับร้านอาหารหรือโรงแรมที่ต้องการทำแบนเนอร์ให้เห็นเด่นชัดบนแอปฯ ส่วนนี้คาดว่าปี 2565 น่าจะสร้างรายได้ได้ 50 ล้านบาท กับอีกช่องทางคือ “ปล่อยกู้สินเชื่อ” ให้กับคนในระบบนิเวศ ซึ่งเพิ่งจะเริ่มได้ 1 เดือน ทำให้ยังประเมินผลตอบรับได้ยาก

แล้ว Robinhood จะทำกำไรได้อย่างไรถ้าไม่แตะ GP ในธุรกิจเดิม? คำตอบคือการเก็บ GP ใน “ธุรกิจใหม่” ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ Mart, Express และ Ride-hailing รวมถึงการแตกไลน์ “ให้เช่า/ลีสซิ่ง” มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อคิดถึงฐานลูกค้า Robinhood ที่วันนี้มีกว่า 3.2 ล้านราย ไรเดอร์อีกกว่า 35,000 ราย ยังไม่รวมร้านอาหาร ร้านค้า โรงแรม และพาร์ทเนอร์ขับรถยนต์โดยสารที่จะเข้ามาในระบบ ทำให้ไม่ยากที่แพลตฟอร์มจะแนะนำบริการใหม่ๆ ให้ทุกคนในระบบนิเวศ และเห็นหนทางทำกำไรข้างหน้า

 

ประเดิมการทำกำไรจาก Mart และ Express

Robinhood Mart
บริการใหม่ Robinhood Mart

Robinhood Mart เป็นรอยต่อเข้าสู่เฟสการสร้างกำไร บริการซื้อ-ส่งของเดลิเวอรีนี้มีการเก็บค่า GP ไม่เกิน 15% (รายเล็กจะไม่เก็บค่า GP หรือเก็บน้อยกว่ารายใหญ่) ทำให้คาดว่าปี 2566 บริการนี้จะทำกำไร 50 ล้านบาท ถือเป็นบริการแรกของแพลตฟอร์มที่จะทำกำไรได้จริง (อ่านรายละเอียดไฮไลต์ธุรกิจ ‘Mart’ ได้ที่)

ต่อด้วย Robinhood Express ที่จะมาช่วงปลายปี บริการนี้เน้นส่งเอกสาร-พัสดุให้บริษัทต่างๆ ทำให้สีหนาทมองว่าแพลตฟอร์มจะสามารถคิดค่าใช้จ่ายที่ทำกำไรได้เช่นกัน เพราะปกติบริษัทเหล่านี้จะมีค่าใช้จ่ายจ้างเมสเซนเจอร์อยู่แล้ว แค่เปลี่ยนมาใช้บริการจาก Robinhood แทน

 

Ride-hailing ตัวจริงในการ “ทำกำไร”

แม้ Mart กับ Express จะเริ่มทำกำไรให้ก่อน แต่ธนามองว่า บริการที่อนาคตจะสร้างกำไรอันดับหนึ่งให้แพลตฟอร์มจะเป็นการ “เรียกรถ” เพราะเห็นบทพิสูจน์จากแพลตฟอร์มอื่นมาแล้วว่าบริการนี้สามารถเลี้ยงระบบได้จริง

ปัจจุบัน Robinhood กับ Grab เป็นเพียงสองแพลตฟอร์มที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกให้เป็น “บริการรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” ที่ถูกกฎหมาย ลูกค้าจะสามารถเรียกได้ทั้งแท็กซี่โดยสารและรถยนต์ป้ายทะเบียนขาวที่ไปจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างสาธารณะแล้ว

Robinhood Ride

แผนของ ‘Robinhood Ride’ กำลังรับสมัครรถยนต์และแท็กซี่ขึ้นระบบ คาดว่าในช่วงเปิดตัวไตรมาส 4 นี้จะมีรถให้เรียก 10,000+ คัน

การปลดล็อกกฎหมายรถยนต์รับจ้างครั้งนี้ยังจะทำให้การแข่งขันถูก ‘รีเซ็ต’ ในแง่ราคาโดยสารด้วย เพราะกฎหมายจะบังคับเพดานราคา ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ หากเจอระบบโก่งราคาสูงมากในช่วงพีคก็จะสามารถร้องเรียนได้

ธนาแย้มว่า Robinhood Ride จะหาทางเข้ามา ‘แก้ pain’ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการเรียกรถ โดยมี 2 ประเด็นที่พบว่าลูกค้าต้องการ คือ 1)Availability ลูกค้าเรียกแล้วต้องมีรถทั่วถึง และเรียกแล้วมีรถตกลงไปยังจุดหมาย และ 2)Safety ความปลอดภัยต้องสูงขึ้น

 

ฉีกไปสู่ธุรกิจ “ให้เช่า/ลีสซิ่ง” EV

อีกหนึ่งธุรกิจที่วางเป้าไว้คือ “ให้เช่า/ลีสซิ่ง” มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้า

Robinhood พิจารณาธุรกิจนี้เพราะไรเดอร์ที่มีในระบบ และอนาคตจะมีพาร์ทเนอร์แท็กซี่-รถยนต์รับจ้างเพิ่มอีก ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะต้องการเช่าหรือผ่อนยานพาหนะ EV ซึ่งประหยัดค่าพลังงานกว่าและดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้เช่าสำหรับไรเดอร์ Robinhood จากสองแบรนด์คือ H SEM และ ETRAN

จริงๆ บริษัทมีการชิมลางไปแล้วผ่านความร่วมมือกับ ETRAN และ H SEM สองแบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยทั้งสองแบรนด์ทำตลาดให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากับไรเดอร์ Robinhood ปัจจุบันมีผู้เช่าอยู่ประมาณ 400-500 คัน

เมื่อเห็นดีมานด์ บริษัทจึงมองว่าอาจจะลงทุนฟลีทรถ EV ให้เช่าด้วยตนเองทั้งแบบมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ โดยขณะนี้กำลังร่างแผนเสนอบอร์ดบริหารอนุมัติ เพราะจะต้องใช้เงินลงทุนราว 4,000-5,000 ล้านบาท ในการจัดซื้อยานพาหนะ EV รวม 30,000 คันภายในปี 2568

Robinhood ยังจะเริ่มจัดซื้อก็ต่อเมื่อราคา EV ลงมาในจุดที่เหมาะสม กล่าวคือรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 900,000 บาทต่อคัน และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 50,000 บาทต่อคัน

“ธนา” สรุปว่า ปี 2566 อย่างไรทั้งแอปฯ Robinhood ก็ยังขาดทุนแน่นอน แต่ในปี 2568 นั้น ‘ไม่แน่’ ถ้าทุกอย่างเป็นใจ คือบริการต่างๆ ที่วางแผนเดินได้ตามเป้า มีผู้ใช้บริการมาก และบริษัทบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปีนั้นก็อาจจะเป็นครั้งแรกที่ ‘ซูเปอร์แอปฯ’ รายนี้มีกำไรก็ได้

]]>
1401942
อ่านเกม “Robinhood” กับการสยายปีกสู่ธุรกิจโฆษณา Robinhood Advertising บนเส้นทางสู่ Super App สัญชาติไทย https://positioningmag.com/1392664 Tue, 19 Jul 2022 09:00:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1392664

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราได้ทำความรู้จักกับชื่อ “Robinhood” ฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทยแท้หนึ่งเดียวในตลาด อีกทั้งยังมีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ เป็นการช่วยเหลือคนตัวเล็กในยามยากลำบากของวิกฤต COVID-19 ทำให้ Robinhood มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากได้ใจทั้งผู้บริโภค ร้านค้า และไรเดอร์

Robinhood ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสCOVID-19 อันหนักหน่วงในประเทศไทย แต่ก็เป็นตัวเร่งให้ตลาด “ฟู้ดเดลิเวอรี” เติบโตอย่างมหาศาลแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่ง Robinhood ได้แจ้งเกิดด้วยจุดยืนที่อยากช่วย “คนตัวเล็ก” ประกาศไม่เก็บ GP ร้านอาหาร ทำให้ได้ใจจากผู้ประกอบการ และผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

หลังจากที่แจ้งเกิดจากผู้ให้บริการ Robinhood Food Delivery เป็นที่เรียบร้อย เส้นทางของ Robinhood ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือ Robinhood ต้องการที่จะเป็น “Super App สัญชาติไทย” แน่นอนว่าได้นำพาไปสู่บริการอื่นๆ ที่จะช่วยดันเป้าหมายให้เป็นจริงได้

บริการแรกที่สยายปีกออกมาก็คือ Robinhood Travel การรุกสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์แบบครบวงจร (all-in-one travel service) ครอบคลุมบริการจองทัวร์และกิจกรรมบริการเช่ารถ และบริการจองตั๋วเครื่องบิน ยังยึดจุดยืนเดิมก็คือไม่เก็บค่าคอมมิชชั่นกับผู้ประกอบการโรงแรม และในปีนี้เตรียมขยายบริการสู่ Robinhood Mart, Robinhood Express และ Robinhood Ride-Hailing เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภค

แต่อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ Robinhood Advertising เป็นธุรกิจโฆษณาดิจิทัล  บนแพลตฟอร์ม Robinhood ที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุด และได้ทดลองใช้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง เป็นอีกหนึ่งบริการที่ต่อยอดด้านข้อมูล และการเข้าถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ


รู้จัก Robinhood Advertising

เมื่อเร็วๆ นี้ Robinhood ได้ประกาศความเคลื่อนไหวสำคัญด้วยการเปิดตัว Robinhood Advertising ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการปูทางสู่การเป็น Super App สัญชาติไทย ในครั้งนี้ได้จับมือกับ Accenture (NYSE: ACN) นำโดย Accenture Song (หรือชื่อเดิมคือ Accenture Interactive) ร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เพื่อช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มในหลากหลายแง่มุม โดยมีหัวใจสำคัญ คือ การนำข้อมูลเชิงลึก และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ มาช่วยสนับสนุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำ Digital Marketing บนแพลตฟอร์ม Robinhood ให้กับแบรนด์ต่างๆ ที่สนใจทำโฆษณา

คำจำกัดความง่ายๆ ของ Robinhood Advertising ก็ตามตัวเลย ก็คือ “โฆษณา” เป็นการนำเสนอโฆษณาดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม Robinhood ถ้าพูดถึงบริการหลักของ Robinhood อย่าง Robinhood Food Delivery เป็นการจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไปแล้ว Robinhood Advertising ก็คือต้องการจับกลุ่มลูกค้าองค์กร แบรนด์ต่างๆ หรือกลุ่ม 2 ที่ต้องการสื่อสารกับผู้บริโภคทั่วไปนั่นเอง

คำถามแล้วทำไม..Robinhood ต้องรุกบริการนี้.?

คำตอบ คือ สื่อโฆษณาดิจิทัลมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 คาดว่าจะมีการเติบโต 9% หรือมีมูลค่ากว่า 270,000 ล้านบาท แน่นอนว่าแบรนด์ต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวเพื่อที่ต้องการเข้าถึงลูกค้าในโลกดิจิทัล อีกทั้งแพลตฟอร์มของ Robinhood เองก็มีดาต้ามากมายมหาศาลที่จะสามารถต่อยอดได้

สีหนาท ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า “Robinhood เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรีในประเทศไทยด้วยจุดยืนทางธุรกิจที่แตกต่าง หลังจากเปิดให้บริการในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี Robinhood สามารถขึ้นอันดับ 2 ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีที่ได้รับความนิยมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ความร่วมมือระหว่าง Robinhood และ Accenture Song ในครั้งนี้จะช่วยขยายการให้บริการของ Robinhood ในการนำเสนอประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ผู้ใช้งานของเรานอกจากนี้เพื่อนำเสนอบริการใหม่แก่กลุ่มนักการตลาดที่มีความสนใจลงสื่อโฆษณาดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม Robinhood”

Robinhood มี Road Map การเติบโตที่ชัดเจน วางแผนงานในการขยายบริการอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนธุรกิจผนึกกับจุดแข็งของ Accenture Song ที่แข็งแกร่งด้านข้อมูล จะยิ่งช่วยให้บริการนี้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ตอบโจทย์ทั้งแบรนด์ และผู้บริโภค

ศรัณย์ ชินสุวพลา หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า “บริการพื้นที่สื่อโฆษณาดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม Robinhood (Robinhood Advertising) จะทำให้เราสามารถช่วยเหลือร้านค้า ไรเดอร์ และกลุ่มลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ด้วยประสบการณ์ของทีมงานจาก Accenture Song ที่มีความแข็งแกร่งด้านการนำข้อมูลและขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการข้อมูลจะช่วยให้เราสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบเฉพาะตัวที่ตรงกับความต้องการได้เป็นอย่างดีแก่กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายของเราได้ และเพื่อเป็นการเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มนักการตลาดที่มีความสนใจ จึงได้แต่งตั้ง 3 มีเดียเอเจนซี่แถวหน้าของเมืองไทย ได้แก่ GroupM (Thailand), dentsu international Thailand และ Entravision MediaDonuts Thailand เป็นตัวแทนจำหน่ายโฆษณาอย่างเป็นทางการของ Robinhood Advertising เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการวางรากฐานสำคัญเพื่อกำหนดนิยามใหม่ของการโฆษณาบนแพลตฟอร์มร่วมกัน”

 โดยความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการเปิดตัวของ “Accenture Song” สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการช่วยสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้แก่ลูกค้า

เบื้องต้นโฆษณาในแพลตฟอร์ม Robinhood จะมี 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ Premium Ads, Native Ads และ Native Delivery ส่วนใหญ่จะเป็นโฆษณาแบนเนอร์ในแอปพลิเคชัน แต่จะอยู่ในช่วงที่แตกต่างกันออกไป เช่น หน้าแรกของแอปฯ, หน้าที่กำลังค้นหาร้านค้า หรือหน้าในช่วงรอคำสั่งเดลิเวอรี เป็นต้น ในอนาคตจะมีโฆษณารูปแบบอื่นๆ อย่างเช่น Interstitial ที่เป็น Pop up Screen


ฐานลูกค้าจริง มีกำลังซื้อสูง

Robinhood เปิดให้บริการได้เกือบ 2 ปี เริ่มเดินเกมด้วยการเน้นพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ต่างจากแบรนด์อื่นที่เน้นขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าบนแพลตฟอร์มกว่า 225,000 ร้านค้า มีลูกค้าลงทะเบียนใช้งานจำนวนกว่า 3 ล้านคน มีไรเดอร์ที่ให้บริการส่งอาหารกว่า 30,000 คน และบริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์แบบครบวงจร มีโรงแรมเข้าร่วมบนแพลตฟอร์มกว่า 16,000 แห่ง


จุดเด่นของ Robinhood Advertising

มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่ คือ 1. เข้าถึงฐานลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง 2. 100% Brand Safe, Fraud Free ลูกค้าของเราเป็นลูกค้าจริง มีการทำ Transaction จริงๆ แบรนด์มั่นใจได้ว่าจะสามารถมาอยู่ใน Walled Garden ที่ปลอดภัย 3. Accurate Target the Right Audiences เข้าถึงลูกค้าได้อย่างตรงจุด วิเคราะห์และคาดเดาได้ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ นอกจากนี้การที่เป็น Super App ที่ให้บริการอย่างครบวงจร เราจะอยู่ในทุกๆ โมเมนต์การใช้ชีวิตของลูกค้า อีกทั้งลูกค้าของเรายังเป็นกลุ่มที่ซื้อบ่อย และซื้อซ้ำ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้ลูกค้าสามารถมองเห็นแบรนด์ได้ทุกครั้งที่ใช้บริการในแต่ละวัน


ฐานข้อมูลลูกค้าบนแพลตฟอร์ม Robinhood  

เมื่อเจาะไปยัง Demographic ของกลุ่มลูกค้า Robinhood ที่มีฐานลูกค้ากว่า 3 ล้านราย ค่อนข้างน่าสนใจไม่น้อย พบว่า 70% เป็นผู้หญิง 30% เป็นผู้ชาย 40% อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี 35% อยู่ในช่วง 30-39 ปี ถ้าเจาะไปถึงรายได้ และพฤติกรรมการใช้งาน พบว่า 49% เป็นกลุ่มที่มีฐานเงินเดือน 50,000 บาทขึ้นไป เรียกว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้ออย่างมาก และ 57% มีการใช้บริการมากกว่า 5 ครั้ง/เดือน แต่ละครั้งมียอดการใช้จ่ายเฉลี่ยมากกว่า 200 บาท ในขณะที่แอปพลิเคชัน อื่นๆ มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 80-120 บาท

เรียกได้ว่า Robinhood เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อนักการตลาด และผู้บริโภคได้อย่างไร้รอยต่อ และเป็นการวิเคราะห์จากข้อมูลของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้งาน ความสนใจ เพื่อนำเสนอโฆษณาได้อย่างตรงใจ


ปรับตัวสู่โลกไร้คุ้กกี้… Super App คือคำตอบ

จากความร่วมมือครั้งนี้ คงไม่พูดถึงพาร์ทเนอร์คนสำคัญอย่าง Accenture Song เลยไม่ได้ อีกหนึ่งผู้แข็งแกร่งด้านขุมพลังข้อมูล โดยที่ Accenture Song ได้เปิดเผยข้อมูลอย่างน่าสนใจ ในการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมไปถึงการปรับตัวของนักการตลาด เพื่อตอบรับกับโลกไร้คุกกี้

ข้อมูลจาก Accenture Song พบว่า การที่โลกธุรกิจต่างเร่งทรานส์ฟอร์มระบบต่างๆ เป็นดิจิทัลทั้งหมด โดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยการใช้ดาต้าต่างๆ แบรนด์ และนักการตลาดยังต้องเผชิญกับปัญหา หนึ่งในนั้นคือการที่เราไม่สามารถเข้าถึง Third Party Data อีกต่อไป และเจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างไรโดยที่ไม่ใช้คุกกี้

เป็นการก้าวสู่การตลาดยุคใหม่ที่ไร้คุกกี้แบบสมบูรณ์ แบรนด์และนักการตลาดต้องเตรียมตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง และการให้ความสำคัญของ Super App คือคำตอบสำคัญ เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่มีการบริการที่หลากหลาย พร้อมให้แบรนด์ และนักการตลาดได้เข้ามาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า

ปัจจัยที่ทำให้ Super App พิเศษไปกว่าแพลตฟอร์มอื่น คือ สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้า ผู้ใช้บริการให้เข้ามาใช้งานเป็นรายวัน ทำให้แบรนด์ และนักการตลาดเข้าถึง insight ของผู้บริโภคในเชิงลึกได้มากขึ้น สามารถปรับกลยุทธ์ในการสื่อสารให้เหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคนั้นๆ อีกทั้ง Super App ยังมีระบบนิเวศข้อมูลปิดที่ทำการเก็บ First Party Data ที่ทางแบรนด์และนักการตลาดสามารถวางใจได้ว่ามีความปลอดภัย และน่าเชื่อถือได้


ผนึก 3 ดิจิทัลเอเยนซี่ ตัวแทนจำหน่ายโฆษณา  

การเปิดตัว Robinhood Advertising ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มนักการตลาดที่มีความสนใจ Robinhood จึงได้แต่งตั้ง 3 มีเดียเอเจนซี่แถวหน้าของเมืองไทย ได้แก่ GroupM (Thailand), dentsu international Thailand และ Entravision MediaDonuts Thailand เป็นตัวแทนจำหน่ายโฆษณาอย่างเป็นทางการของ Robinhood Advertising

จิรัศดา ลิ้มสุวรรณ Managing Director – GroupM Investment, GroupM (Thailand) เริ่มเล่าว่า “สิ่งที่น่าสนใจในยุคนี้ พบว่าคนต่างจังหวัดใช้ Super App มาก ไม่ได้แค่คนเมืองอีกต่อไป เขามองเหมือนโลกใหม่ในการเปิดโลกทัศน์ ค้นพบสินค้าใหม่ๆ เปรียบเทียบสินค้าได้ โดยที่ Super App ก็จะให้ดาต้าแก่แบรนด์ และนักการตลาดได้”

ทางด้าน ชาญชัย พงศนันทน์ Head of Performance Marketing & Head of Digital Investment, Dentsu International Thailand มองว่า “เรื่องดาต้ายังเป็นสิ่งสำคัญที่หลายคนมองหา ถ้าบางแบรนด์ไม่มีความพร้อมเรื่องดาต้า อาจจะมองหาแพลตฟอร์มอื่นๆ หรือพาร์ทเนอร์ในการวางแผนสื่อได้ Super App ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ครบครัน เทรนด์การใช้งานเติบโตมาก ต่อไป Robinhood จะมีบริการครบครันมาก ถ้าโฟกัสกลุ่มมีกำลังซื้อ ก็มีโอกาสได้ข้อมูลลูกค้ามีกำลังซื้อ”

ส่วน ปัญชรี สิทธิเสนี Managing Partner Entravision, MediaDonuts Thailand เห็นด้วยว่า “เทรนด์ยุคนี้ต้อง Super App ตอนนี้แอปฯ ทำได้อย่างเดียวไม่พอแล้ว ต้องได้หลายอย่าง เพราะมันคือความวางใจในการวางธุรกรรมการเงินไว้ใน Super App ถ้าลูกค้าเลือกใช้ก็คือไว้ใจจริงๆ ทำให้มีดาต้าที่เป็นผู้ใช้งานจริงๆ เราก็สามารถรู้ข้อมูลพฤติกรรม เอามาวิเคราะห์ต่อยอดได้”


เปิดทางในการหารายได้!

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวไปนั้น หนึ่งในจุดประสงค์สำคัญที่ต้องยอมรับว่า Robinhood Advertising เป็นโมเดลแรกในการหารายได้ (Monetization) ของ Robinhood คือการนำเสนอบริการพื้นที่สื่อโฆษณาดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งในแผนงานใหม่ของ Robinhood เพื่อช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจแรกเริ่มฟู้ดเดลิเวอรีเป็นธุรกิจที่ไม่สร้างกำไร  แถมยังเบิร์นเงินทุนไปกับการทำโปรโมชั่นต่างๆ แต่มีสิ่งนึงที่ได้กลับมา คือฐานลูกค้าผู้ใช้งานเป็นการวางรากฐานในการขยายสู่บริการอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อเดินหน้าสู่การเป็น Super App สัญชาติไทย” ที่สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในระดับภูมิภาคต่อไป (Regional Player)

เมื่อเดือนมิถุนายนเปิดบริการ Robinhood Travel เริ่มจากบริการจองที่พักโรงแรมก่อน หลังจากนั้นค่อยครอบคลุมถึงบริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์แบบครบวงจร (all-in-one travel service) ไม่ว่าจะเป็นบริการจองทัวร์และกิจกรรม บริการเช่ารถ และบริการจองตั๋วเครื่องบิน

หลังจากนั้นเตรียมเปิดบริการ Robinhood Mart บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าในเดือนสิงหาคม 2565 และบริการ Robinhood Express บริการรับส่งของ ช่วงไตรมาสที่ 3 และบริการ Robinhood Ride-Hailing หรือบริการรถยนต์รับจ้างผ่านแอปฯ ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

โดยทั้งหมดนี้คือ Robinhood Journey Toward Super App ที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

การบริการต่างๆ รวมไปถึงโฆษณาดิจิทัลจะเป็นสปริงบอร์ดชั้นดีที่จะสร้างการเติบโตให้ Robinhood  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโฆษณา เพราะเป็นบริการที่สามารถรับรู้รายได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย นอกจากนี้ Robinhood ยังมองไปถึง Financial Product ซึ่งจะเป็นบริการที่จะช่วย “สร้างกำไร” ในระยะยาว

Robinhood ตั้งเป้ารายได้ในปีแรก 50 ล้าน ในปีต่อไปเพิ่มเป็น 9 หลัก ซึ่งในเฟสแรกจะเป็นการซื้อโฆษณาผ่าน 3 มีเดียเอเจนซี่ จากนั้นในเฟสที่ 2 จะเริ่มจับกลุ่มลูกค้า ร้านค้ารายย่อย สามารถซื้อ “คีย์เวิร์ด” ในแพลตฟอร์มได้ คาดว่าจะเริ่มช่วงไตรมาส 1 ปี 2566

การเปิดตัวบริการของ Robinhood สร้างความน่าสนใจในตลาดอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นผู้ให้บริการสัญชาติไทย และมีจุดยืนสำคัญในการช่วยคนตัวเล็ก ต้องจับตาทิศทางต่อไปในอนาคต พร้อมกับเส้นทางมุ่งสู่การเป็น Super App สัญชาติไทยให้ได้

]]>
1392664
“โรบินฮู้ด” เปิดโครงการ Robinhood Super Rider เสริมความรู้ เพิ่มทักษะขับขี่ให้ไรเดอร์ https://positioningmag.com/1390051 Fri, 24 Jun 2022 14:59:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1390051 “โรบินฮู้ด” ฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการให้บริการของไรเดอร์ควบคู่ไปกับการสนับสนุนและส่งเสริมการขับขี่อย่างปลอดภัยบนท้องถนน ล่าสุดจับมือ 4 พันธมิตรสำคัญ ได้แก่ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด (SCB Protect) และบริษัท ไทเกอร์ บี จำกัด ร่วมสร้างสุภาพบุรุษบนท้องถนน

ภายใต้โครงการ “Robinhood Super Rider” จัดอบรมให้ความรู้ เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในด้านต่างๆ เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อให้โรบินฮู้ดไรเดอร์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงกับการทำงานรับส่งอาหารในแต่ละวัน มุ่งส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีด้านความปลอดภัยบนท้องถนน เคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงการปลูกจิตสำนึกในการช่วยเหลือและรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในกลุ่มไรเดอร์อีกด้วย

สีหนาท ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า

“นอกจากร้านอาหารแล้วอีกหนึ่งแกนสำคัญที่เป็นหัวใจหลักของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี คือ “คนส่งอาหาร” หรือ “ไรเดอร์” ที่ไม่เพียงทำหน้าที่รับส่งอาหาร แต่ยังทำหน้าที่ส่งความสุขผ่านอาหารให้กับลูกค้าโรบินฮู้ดกว่า 3 ล้านคน และเพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีในการสั่งอาหารผ่านโรบินฮู้ด เราจึงให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมการให้บริการของไรเดอร์อย่างเข้มข้น ทั้งด้านมารยาท ความปลอดภัย และสุขอนามัย เพื่อรักษามาตรฐานในการให้บริการ ทำให้โรบินฮู้ดไรเดอร์ได้รับการตอบรับที่ดีและเสียงชื่นชมจากลูกค้าและร้านค้า จนกลายมาเป็นจุดแข็งที่สร้างความแตกต่างให้กับแพลตฟอร์มโรบินฮู้ด”

“นอกจากเรื่องมาตรฐานการให้บริการแล้ว โรบินฮู้ดยังให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนของไรเดอร์ เราจึงได้จัดทำโครงการ “Robinhood Super Rider” ขึ้น เพื่อมุ่งสร้างสุภาพบุรุษบนท้องถนน โดยได้ร่วมกับ 4 พันธมิตร ได้แก่ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด (SCB Protect) และบริษัท ไทเกอร์ บี จำกัด ผู้จัดจำหน่ายหมวกกันน็อค KYT จัดกิจกรรมฝึกอบรมให้ความรู้ พร้อมเสริมทักษะที่จำเป็นบนท้องถนนในด้านต่างๆ โดยมุ่งหวังให้ไรเดอร์สามารถนำเอาความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งมีจิตสำนึกในการช่วยเหลือเพื่อนร่วมทาง เคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่บนท้องถนน” นายสีหนาท กล่าวเสริม

โครงการ “Robinhood Super Rider สร้างสุภาพบุรุษบนท้องถนน” ประกอบด้วย

1. กิจกรรมอบรมการขับขี่ปลอดภัย ร่วมกับ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ภายใต้โครงการ Yamaha Learn to Ride หลักสูตรการขับขี่ปลอดภัย เพื่อเสริมทักษะการขับขี่ เรียนรู้การดูแลรักษารถจักรยานยนต์อย่างถูกวิธี และการเสริมสร้างทักษะเกี่ยวกับการขับขี่รถจักรยานยนต์ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกและเสริมสร้างวินัยจราจร รณรงค์ความปลอดภัยทางถนน การลดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ สามารถขับขี่บนท้องถนนได้อย่างปลอดภัยและถูกต้อง ปฏิบัติตามกฎหมาย

2. กิจกรรมสุภาพบุรุษกู้ชีพ ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อบรมเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เรียนรู้ทักษะ พร้อมฝึกปฏิบัติการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น เช่น ทักษะการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การห้ามเลือด การช่วยฟื้นคืนชีพผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) กรณีพบเจออุบัติเหตุบนท้องถนนที่ไม่คาดคิด สามารถเข้าช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ประสบอุบัติเหตุได้ทันท่วงทีอย่างถูกต้องและปลอดภัย ช่วยบรรเทาอาการเจ็บของผู้ประสบภัย และช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสีย พร้อมปลูกฝังสร้างการมีจิตสาธารณะการเข้าไปมีส่วนร่วม การช่วยเหลือหรือมีน้ำใจซึ่งกันและกันในสังคมด้วยความเต็มใจโดยไม่หวังผลตอบแทน

3. สําหรับ “โรบินฮู้ด ไรเดอร์” ที่เข้าร่วมอบรมกับโครงการ Robinhood Super Rider สร้างสุภาพบุรุษบนท้องถนน ทั้ง 2 กิจกรรม บริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด (SCB Protect) มอบประกันอุบัติเหตุสุดคุ้ม คุ้มครองสูงสุด 90 วัน

4. สิทธิเศษสําหรับ “โรบินฮู้ด ไรเดอร์” ในระบบทั้งหมด บริษัท ไทเกอร์ บี จำกัด ผู้จัดจำหน่าย หมวกกันน็อค KYT มอบโค้ดส่วนลด เพื่อซื้อหมวกกันน็อคในราคาพิเศษ

]]>
1390051
มองตลาด ‘Food Delivery’ ยุค ‘น้ำมันแพง’ เพิ่มโจทย์ใหม่ ‘มัดใจไรเดอร์’ ให้อยู่กับแพลตฟอร์ม https://positioningmag.com/1389897 Thu, 23 Jun 2022 10:02:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1389897 ถือเป็นธุรกิจที่เติบโตสูงแต่ก็มีการแข่งขันที่สูงเช่นกันสำหรับ Food Delivery และหลังจากที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 แต่หลังจากที่การระบาดคลี่คลายลง ปัญหาใหม่ที่ทั่วโลกกำลังเจอก็คือ เงินเฟ้อ และ น้ำมันแพง ทำให้แต่ละแพลตฟอร์มต้องเจอ โจทย์ใหม่ เพราะจำนวนการสั่งที่น้อยลง และ ไรเดอร์ที่ต้องแบกต้นทุนมากขึ้น

ตลาดโตไม่เกิน 5%

จากเครื่องชี้วัดธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือ Food Delivery ของ LINE MAN Wongnai พบว่าในเดือนพ.ค. 65 จำนวนผู้สมัครเป็นไรเดอร์ในระบบเพิ่มสูงขึ้นกว่า 4.7 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 63 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด แต่การเพิ่มขึ้นของไรเดอร์ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ขยายตลาดและพื้นที่บริการครอบคลุมทั่วประเทศจากเดิมที่มีการให้บริการเพียงไม่กี่จังหวัด

อย่างไรก็ตาม จากการระบาดที่ลดลง ส่งผลให้การใช้ชีวิตเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ หลายคนเริ่มกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ส่งผลให้ไรเดอร์ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากปริมาณงานต่อวันเฉลี่ยที่ลดลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า Food Delivery น่าจะขยายตัว 1.7-5% หรือมีมูลค่าประมาณ 7.7 – 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งชะลอลงจากที่เติบโตถึง 46.4% ในปี 2564 และ

Photo : Shutterstock

น้ำมันแพงและจำนวนไรเดอร์ 2 ปัญหาใหญ่

ในส่วนของรายได้จากค่าจัดส่งอาหารของไรเดอร์ในช่วงระหว่างปี 2563-2565 คาดว่ามีหมุนเวียนในระบบเฉลี่ยประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น จากแนวโน้มการสั่งอาหารไปยังที่พักที่ชะลอลง ปริมาณไรเดอร์ในระบบที่มีจำนวนสูง และราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของไรเดอร์ส่วนใหญ่

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจมุมมองและการปรับตัวของไรเดอร์ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน โดยมีมุมมองที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ปัญหาน้ำมันแพง และ จำนวนไรเดอร์ที่เพิ่มขึ้น นับเป็น ปัญหาใหญ่สุด รองลงมา คือ การกลับไปทำงานและการกลับไปเรียนตามปกติ การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มอื่น และการใช้โปรแกรมช่วยเหลือในการรับงาน
  • 94% ของไรเดอร์ระบุว่า ตนเองได้รับผลกระทบจาก ปริมาณออเดอร์ต่อวันเฉลี่ยลดลง จากผลสำรวจ พบว่า ออเดอร์เฉลี่ยต่อวัน อยู่ที่ประมาณ 11–15 งานต่อคน (38%) รองลงมาอยู่ที่ 5–10 งานต่อคน (32%)
  • ปัจจุบัน ราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วกว่า 54% (เทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งปี 2564) ส่งผลให้ไรเดอร์ 42% มีค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันเพิ่มขึ้น 50-70 บาทต่อวัน (ขึ้นอยู่กับจำนวนเที่ยวส่ง ระยะทาง และอัตราการกินน้ำมันของรถแต่ละรุ่น)
Photo : Shutterstock

ไรเดอร์โหมรับงาน แพลตฟอร์มแข่งเพิ่มสิทธิพิเศษ

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักจำเป็นต้องหาวิธีการรับมือ โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 70% ใช้เวลาทำงาน รับออเดอร์ให้มากขึ้น เพื่อให้รายได้กลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้า รวมถึงการเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นแทน หรือหาอาชีพเสริม ขณะที่บางส่วนเลือกลงทะเบียนในแพลตฟอร์มอื่นเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งาน

ด้านแพลตฟอร์ม Food Delivery สัญชาติไทยอย่าง โรบินฮู้ด (Robinhood) ยอมรับว่า นอกจากการแข่งขันเรื่องการทำโปรโมชันเพื่อดึงดูดผู้ใช้แล้ว อีกส่วนที่ผู้บริโภคไม่รู้ก็คือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อแย่งชิงไรเดอร์ เนื่องจากไรเดอร์เป็นอาชีพฟรีแลนซ์ สามารถรับงานได้กับทุกแพลตฟอร์ม ทำให้ทุกแพลตฟอร์มต้องหาทางมัดใจไรเดอร์ อย่างไรก็ตาม โรบินฮู้ดมีจุดแข็งที่ ไม่คิดคอมมิชชั่นจากไรเดอร์ นอกจากนี้กำลังเร่งพัฒนาฟีเจอร์ ทิป เพื่อเป็นรายได้อีกทาง

“เราไม่คิดคอมมิชชั่นไรเดอร์เลย ส่วนแพลตฟอร์มอื่นไรเดอร์ต้องเสีย 15% ดังนั้น เราไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไรให้ไรเดอร์ เพราะผลตอบแทนเราดีกว่าคู่แข่ง” สีหนาท ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

ส่วน แกร็บ (Grab) มีการมอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่าง GrabBenefits จะให้บัตรกำนัลส่วนลดค่าน้ำมันสำหรับไรเดอร์ และมีการให้โบนัสพิเศษ และ การจัดโปรแกรมสินเชื่อ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับ ไลน์แมน (LINE MAN) ที่จับมือกับพันธมิตรในการมอบบัตรเติมน้ำมันฟรีรายเดือนสำหรับไรเดอร์ที่ขับเป็นประจำและเข้าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด ส่วน ลาล่ามูฟ (Lalamove) นอกจากจะมีส่วนลดเงินคืนกับพันธมิตรปั๊มน้ำมันแล้ว จะมีการปรับอัลกอริทึมการรับงาน เพื่อให้ไรเดอร์สามารถรับงานได้คุ้มค่ามากที่สุด เป็นต้น

(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

เสนอ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แก้ปัญหาระยะยาว

อีกส่วนที่หลายแพลตฟอร์มเริ่มหาทางออกให้ไรเดอร์ก็คือ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า อย่างโรบินฮู้ดก็พยายามผลักดันให้ไรเดอร์ใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เนื่องจากช่วยประหยัดต้นทุนได้ 10 เท่า ซึ่งตั้งแต่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ก็เห็นความต้องการใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกันกับ แกร็บ ที่ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพาร์ตเนอร์คนขับ-ผู้จัดส่งอาหารที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ได้ 10% ของจำนวนพาร์ตเนอร์คนขับทั้งหมดภายในระยะเวลา 5 ปี

“ตอนนี้เรามีให้ไรเดอร์ผ่อนซื้อเป็นรายวันตกวันละ 120 บาท ปัจจุบันมีไรเดอร์ที่ใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าราว 400 คัน มียอดจอง 1,900 คัน จากไรเดอร์ทั้งหมด 28,000 ราย ปัญหาตอนนี้คือ พาร์ตเนอร์ทั้ง 2 รายของเราผลิตไม่ทัน เราเองก็ต้องมองหาเพิ่มอีกราย ซึ่งเรามองว่าการใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะช่วยไรเดอร์ในระยะยาว” สีหนาท กล่าว

แนะปรับระบบกระจายงาน

นอกจากสิทธิพิเศษแล้ว ทางศูนย์วิจัยกสิกรได้แนะนำว่าควร ปรับระบบการกระจายงานมาใช้ระบบยิงงาน (Auto assign) ซึ่งเป็นระบบสากลที่ทำให้มีความเท่าเทียมในการกระจายงานให้กับไรเดอร์มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็อยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. … เพื่อเข้ามาช่วยกำกับดูแลผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจดังกล่าว

หรือ การคิดคำนวณค่าธรรมเนียมควรมีความยืดหยุ่น เช่น ในต่างประเทศผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารนำรูปแบบ FuelSurcharge ตามระยะทางมาปรับใช้ในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูง และเมื่อราคาน้ำมันปรับลดลงก็อาจมีการยกเลิกวิธีการคิดดังกล่าว นอกจากการแก้ไขปัญหาเชิงระบบแล้ว ต้องพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการธุรกิจ เช่น การเพิ่มโอกาสในการรับงานมากขึ้นและลดปริมาณการยกเลิกออเดอร์ในช่วง Peak Hour การลดระยะเวลาในการรอรับอาหารที่ร้านอาหาร

ในระยะถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคงจะต้องช่วยกันออกแบบ และสร้างระบบนิเวศของธุรกิจ ภายใต้กฎระเบียบและกฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวสามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการต่าง ๆ อาทิ การเปิดรับลงทะเบียนไรเดอร์เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการได้รับสิทธิต่าง ๆ จากภาครัฐ เป็นต้น

]]>
1389897
ถอดรหัสความสำเร็จ ‘Robinhood’ พร้อมกางโรดแมป ‘4 บริการใหม่’ มุ่งสู่ ‘Alternative Super App’ https://positioningmag.com/1384690 Tue, 10 May 2022 11:56:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1384690 จากแพลตฟอร์มที่ใคร ๆ ก็มองว่า เจ๊งแน่ เพราะคู่แข่งในตลาดมีแต่ต่างชาติเงินถุง แต่กลับกลายเป็นขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ของตลาดได้ในระยะเวลาเพียง 20 เดือน และจากแค่โครงการ CSR ทำไปโดยไม่ได้หวังถึง กำไร แต่กลายเป็นตอนนี้กล้าที่จะเริ่มมองถึงโอกาสการเป็น ยูนิคอร์น! ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ได้มาเผยถึงแนวคิดที่ทำให้ Robinhood เป็นได้มากกว่าโครงการ CSR และพร้อมเป็น Alternative Super App ที่อยู่รอด

Robinhood ที่ก้าวข้าม CSR

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ซูเปอร์แอป เพราะแทบทุกแพลตฟอร์มปักหมุดที่จะไป และที่ผู้เล่นทุกคนต้องการจะเป็นซูเปอร์แอปก็เพื่อเป็นตัวกลาง ยึดบริการทุกอย่าง โดยในตอนแรกนั้น แพลตฟอร์มเหล่านี้จะยอม ขาดทุน เพื่อจะดึงคนให้มาใช้งาน ยิ่งดึงคนได้เยอะ ก่อนจะ ระดมทุน จากนั้นก็ต่อยอดสู่บริการอื่น ๆ ที่สามารถทำ กำไร

เช่นเดียวกับโรบินฮู้ดที่เริ่มเดินในทางนั้น แม้ตอนแรกจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มโรบินฮู้ด เริ่มมาจากที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ให้งบส่วนของ CSR มาพัฒนาแพลตฟอร์ม ฟู้ด เดลิเวอรี่ เพื่อช่วยเหลือร้านอาหารและผู้บริโภคในช่วง COVID-19 โดยแพลตฟอร์มจะ ไม่เก็บค่า GP จากร้านอาหาร รวมถึงค่าธรรมเนียมจากไรเดอร์

ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

แน่นอนว่าการที่โรบินฮู้ดจะไม่มีรายได้เลย แถมยังขาดทุนด้วยซ้ำ แต่นั่นก็มาจากงบ CSR อยู่ดี แต่กลายเป็นว่าในช่วง 20 เดือนที่ให้บริการผลตอบรับที่ได้กลับดีเกินคาด ซึ่ง ธนายอมรับว่า มันคงจะดีกว่าถ้า สามารถหารายได้จากแพลตฟอร์มได้ แทนที่จะเผาเงินทิ้งอย่างเดียว ก่อนจะนำไปสู่เป้าหมายการเป็นซูเปอร์แอป

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โรบินฮู้ดสามารถเดินเกมการเป็นซูเปอร์แอปได้ มาจากการเติบโตที่รวดเร็ว ยิ่งในช่วงกลางปีที่มีการล็อกดาวน์รอบสอง ทำให้โรบินฮู้ดได้ออกมาตรการพิเศษ ส่งฟรีทุกออเดอร์ช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งแคมเปญนี้ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เเพลตฟอร์มเติบโตได้แบบก้าวกระโดดจนเป็นเบอร์ 2 ในตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑล ครองส่วนแบ่งตลาด 21%

  • มีลูกค้าลงทะเบียนใช้งานกว่า 8 ล้านคน
  • ร้านค้าบนแพลตฟอร์ม 225,000 ร้าน
  • ไรเดอร์ ให้บริการส่งอาหารกว่า 30,000 คน
  • ยอดสั่งอาหารเฉลี่ย 180,000 ออเดอร์ต่อวัน

มวยรองต้องเน้นฉีก

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้เล่นทุกรายที่สาดเงินแล้วจะสร้างฐานลูกค้าได้ แต่เพราะความเป็น มวยรอง แถมยัง มาทีหลัง ดังนั้น โรบินฮู้ดเลยต้องเน้นฉีก เริ่มจากแก้ปัญหาให้กับร้านอาหารและไรเดอร์ ซึ่งมีเพนพอยต์จากค่า GP ซึ่งพอไม่เก็บค่า GP ร้านค้าและไรเดอร์ก็อยากจะอยู่บนแพลตฟอร์ม โดยการแย่งชิงร้านค้าและไรเดอร์ถือเป็นส่วนที่มีการแข่งขันสูง เพียงแต่คนนอกมักมองไม่เห็น

นอกจากนี้ โรบินฮู้ดยังวางสังเวียนที่ตัวเองจะแข่งขันชัดเจน คือ ไม่ไป 77 จังหวัด เนื่องจาก ไม่คุ้มเงิน ดังนั้น จะเน้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองท่องเที่ยว รวมถึงโฟกัสที่ร้านอาหารรายย่อย ขณะที่รายใหญ่จะเน้นดีลกับร้านอาหารเชนใหญ่ ที่สามารถดึงผู้ใช้งานได้มากกว่า

สุดท้าย แพลตฟอร์มที่สร้างต้อง พร้อมใช้งาน ไม่มีเวลามาทดลอง แต่ถ้ามีปัญหาตรงไหนต้อง รีบแก้ไข และต้องอยู่ใกล้ชิดลูกค้าที่สุดเพื่อปรับแพลตฟอร์มให้ตรงใจ

Travel ก้าวที่สองสู่ Super Apps

หลังจากสร้างฐานลูกค้าได้ใหญ่จนเป็นที่พอใจแล้ว โรบินฮู้ดก็ปล่อยบริการต่อมาก็คือ Travel ที่ธนาระบุว่าจะเป็นบริการ เท่าทุน แม้ว่าจะไม่มีการเก็บค่า GP กับโรงแรมก็ตาม ต่างจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ในตลาดที่เก็บ GP ประมาณ 30% ซึ่งที่บริการ Travel จะไม่เน้นเผาเงินก็เพราะรายได้จากบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น บริการจองทัวร์, จองกิจกรรมต่าง ๆ, จองรถเช่า ที่จะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน และ บริการจองตั๋วเครื่องบิน ที่จะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคมปีนี้

เบื้องต้น โรบินฮู้ดจะเน้นดึงที่พักระดับ 3-5 ดาวเข้าสู่ระบบ และเน้นลูกค้า Food ให้มาลองใช้บริการ Travel ก่อนที่จะหาลูกค้าใหม่ เนื่องจากมองว่าลูกค้าเดิมมีความ คุ้นเคย ทำให้ ง่าย ต่อการดึงลูกค้า กับแพลตฟอร์ม อีกทั้ง ลูกค้าส่วนใหญ่ค่อนข้าง มีเงิน เพราะกลุ่มลูกค้าโรบินฮู้ดนั้นมีรายได้เฉลี่ย 30,000 บาทขึ้นไป มีอัตราการสั่งอาหารเฉลี่ยครั้งละ 200 กว่าบาทต่อออเดอร์ ขณะที่คู่แข่งที่เฉลี่ยราว 100 กว่าบาท

“เราชัดเจนมากลูกค้าเราคือใคร ซึ่งเราเห็นว่าเขาสั่งอาหารอยู่บ้านจนเบื่อ เขาอยากเที่ยว แล้วคนที่เที่ยวตอนนี้คือคนที่มีเงินทั้งนั้น”

ภายในปีแรกที่เปิดให้บริการ โรบินฮู้ดตั้งเป้าดึงพาร์ตเนอร์โรงแรม 30,000 แห่ง มียอดจองมากถึง 300,000 ทริป มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการผ่านแอปฯ กว่า 200,000 คน และเป็น Top 3 แพลตฟอร์มออนไลน์ทราเวล นอกจากนี้ ตั้งเป้าให้มีเงินหมุนเวียนในภาคการท่องเที่ยว 1 พันล้านบาท และช่วยเซฟค่าคอมมิชชั่นโรงแรม 200 ล้านบาท

“เราคงไม่ชนะคู่แข่งรายใหญ่จากต่างชาติแน่ เพราะเราคงเผาเงินแข่งไม่ได้ แต่เราหวังให้เกิดบาลานซ์ระหว่างแพลตฟอร์มและผู้ประกอบการและลูกค้า ซึ่งเราเห็นตัวอย่างจากตอนทำ Food เมื่อเราไม่เก็บค่า GP ร้านค้าก็เห็นอกเห็นใจลูกค้า ของแพงก็ไม่ขึ้นราคา ไม่ลดปริมาณอาหาร ทำให้คุ้มกว่าที่อื่น ลูกค้าก็จะดูแลไรเดอร์ดี มันจะเกิดเป็นวงจร”

ในสิ้นปีเปิดอีก 3 บริการ มุ่งปั้นรายได้

สำหรับบริการ Food เป็นบริการที่โรบินฮู้ดยอม ขาดทุน เพื่อสร้างฐานลูกค้า ส่วน Travel เป็นบริการที่ เท่าทุน แต่เป็นการต่อยอดจากฐานที่มี และอาจจะช่วยเพิ่มลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาในอนาคต แต่บริการที่จะทำเงินให้กับโรบินฮู้ดจริง ๆ รวมถึงพาโรบินฮู้ดก้าวเป็น ซูเปอร์แอป เต็มตัวก็คือ 3 บริการใหม่ที่จะเกิดจากนี้ ได้แก่

  • บริการซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต (เดือนกรกฎาคม)
  • บริการรับส่งพัสดุ (ไตรมาส 3)
  • บริการไรด์ เฮลลิ่งหรือบริการส่งคน (ไตรมาส 4)

ไม่ใช่แค่สร้างรายได้จาก 3 บริการใหม่นี้ แต่โรบินฮู้ดยังวางบิสซิเนสโมเดลสร้างรายได้จากโฆษณา และบริการปล่อยเงินกู้อีกด้วย

“อีก 3 บริการนี้ ถือเป็นบริการที่สามารถทำกำไรได้มากที่สุด แต่ถ้าเราจะทำโดยไม่มีฐานลูกค้าเลยเราต้องใช้งบเป็นพันล้าน แต่ถ้าเรามีฐานลูกค้า เราใช้งบแค่หลักสิบล้านในการเพิ่มฟีเจอร์เข้าไป นี่เลยเป็นเหตุผลที่เราเพิ่มบริการใหม่รัว ๆ ภายในปีเดียว” สีหนาท ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าว

จากบริการใหม่ที่เพิ่มขึ้น โรบินฮู้ดมั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มลูกค้า และความถี่ในการให้บริการมากขึ้น โดยภายในสิ้นปี โรบินฮู้ดตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเป็น 4 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 2.8 ล้านราย และเพิ่มทราฟฟิกในการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเฉลี่ย 1.7-1.8 แสนรายต่อวัน

ขอเป็น Alternative Super App ผู้อยู่รอด

แน่นอนว่าการแข่งขันของ ซูเปอร์แอป นั้นสูงมาก และมีแต่ผู้เล่นรายใหญ่ แต่ธนามองว่าสุดท้ายแล้วจะเหลือ ผู้เล่นรายหลักแค่ 2 ราย และผู้เล่น ทางเลือก (Alternative Super App) 1 ราย เท่านั้น ซึ่งโรบินฮู้ดของเป็น ซูเปอร์แอปทางเลือก เพราะไม่สามารถไปแข่งเผาเงินสู้ได้ เน้นโฟกัสที่ตลาดที่ถนัด

ทั้งนี้ ธนาเปิดเผยว่า มีธนาคารในอาเซียน สนใจที่จะ ลงทุน กับแพลตฟอร์ม คาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยปัจจุบัน โรบินฮู้ดมีมูลค่าราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม โรบินฮู้ดไม่ได้วางเป้าว่าจะต้องขึ้นเป็นยูนิคอร์น เพราะกลัวจะทำให้เสียตัวตน เนื่องจากต้องไปโฟกัสเพิ่มกำไร ต้องอัดแคมเปญเร่งการเติบโต

ต้องรอดูว่าหลังจากที่ต่อร่างบริการทุกอย่างครบแล้ว โรบินฮู้ด จะมีศักยภาพต่อสู้กับรายใหญ่จากต่างชาติมากน้อยแค่ไหน จะสามารถสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้เหมือนบริการ Food หรือไม่ หลังจากนี้มั่นใจได้เลยว่าตลาดแข่งเดือดกว่าเดิมแน่นอน!

]]>
1384690