ใครที่ชื่นชอบ กันดั้ม ไม่น่าพลาดที่มาของบันได (BANDAI) ธุรกิจขายของเล่นรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งเพจ Power-up mag ได้นำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ของธุรกิจ กว่าจะมายิ่งใหญ่ได้ถึงเพียงนี้
Bandai Ep.6
ปี ค.ศ. 1980 บันไดประกาศจะออกพลาสติกโมเดลของอนิเมะซีรีส์ ที่เมื่ออกฉายครั้งแรกมีเรตติ้งต่ำมาก เนื้อหาซับซ้อน สงครามระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองแม้ฝ่ายหนึ่งจะอยู่บนโลกและอีกฝ่ายจะอยู่บนอวกาศ หุ่นฝ่ายตรงข้ามก็หน้าตาซ้ำเดิมออกมาทุกอาทิตย์ แถมมาทีละหลายๆ ตัว ไม่มาทีละตัวเหมือนซีรีส์อื่นๆ
แต่เพราะความแตกต่างนี่เองที่ทำให้เกิดกระแสขึ้นมาอย่างช้าๆ จนเมื่อฉายจบก็มีเสียงเรียกร้องให้เอากลับมาฉายอีกรอบทันทีหลังจากหนังเพิ่งจบไปทั้งจากคนที่ดูแล้วและยังไม่ได้ดู โปรดอย่าลืมว่านั่นคือโลกที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตช่วยสร้างกระแส และไม่มียูทิวป์ให้คุณดูรายการย้อนหลัง อนิเมะเรื่องนั้นก็คือ กันดั้ม อนิเมะหุ่นยนต์ที่จะนำการ์ตูนหุ่นยนต์สู่เส้นทางใหม่ และจะจุดกระแสอนิเมะหุ่นยนต์บูมขึ้นมาในญี่ปุ่นทศวรรษ 1980
อันที่จริงการออกพลาสติกโมเดลของบันไดก็เหมือนการแก้เกม เมื่อเรื่องเริ่มมีกระแส แต่ไลน์หุ่นเหล็กที่บันไดถนัดก็ตกไปเป็นสิทธิ์ของบริษัทอื่นไปแล้ว (Clover) เพื่อไม่ให้ตกกระแส บันไดต้องหาทางออกโปรดักต์อะไรสักอย่าง ทางเลือกที่ออกมาคือพลาสติกโมเดล แต่คราวนี้บันไดเพิ่มอีกมิติที่ไม่เคยมีมาก่อนในสินค้าพลาสติกโมเดลจากอนิเมะ มันก็คือการให้ความสำคัญกับ “สเกล” ที่เป็นมาตรฐาน
จากก่อนหน้านี้เมื่อออกโมเดลจากอนิเมะ ขนาดของโมเดลถูกจำกัดอยู่ที่กล่อง คือตัวใหญ่เล็กไม่รู้จะออกมาในกล่องไซล์ไล่เลี่ยกัน เช่นเรื่อง A หุ่น A สูง 20 หุ่น B สูง 50 แต่ออกของมาตัวจะพอๆ กัน สเกลตัวแรกอาจเป็น 1/100 ตัวที่สองเป็น 1/200 ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คราวนี้บันไดจะให้หุ่นเกือบทุกตัวออกมาในสเกลเดียวกัน คือ 1/144 ซึ่งสร้างความแตกต่างและช่วยขยายตลาดให้ลูกค้าที่เล่นโมเดลแบบเหมือนจริง (สเกลโมเดล) ได้ด้วย
โมเดลชุดนี้ไปต่อกับตัวอื่นในซีรีส เมก้าคอลเลกชั่นจะเห็นว่ากันดั้มโผล่มาเป็นเบอร์สี่เลย สามตัวก่อนหน้านั้นคือ หุ่นมนุษย์ไฟฟ้า, ก็อดซิกม่า และกอร์เดี้ยน ตามลำดับ ระหว่างออกก็ยังมีเรื่องอื่นๆ มาแทรกเป็นระยะๆ ทั้งยอดมนุษย์และไอ้มดแดง
บันไดเองก็ไม่ได้มั่นใจว่าพลาสติกโมเดลของกันดั้มจะไปได้แค่ไหน แต่กันดั้มก็ยังขายดีจนบันไดขนมาเท่าไหร่ก็ขายหมดเกลี้ยง ไม่ว่าหุ่นตัวประกอบระดับไหน หรือแม้กระทั่งยานในเรื่อง จนหมดเกลี้ยง และขยายออกสเกลใหญ่ 1/100 ก็ยังไม่สาแก่ใจแฟนๆ ที่ให้ชื่อสินค้าชุดนี้ว่า “กันพลา” อันมาจากคำว่า Gundam Plastic Model นั่นเอง
เพื่อสนองความต้องการของตลาดบันไดหันกลับไปหาคนออกแบบแม็กคานิกส์ในเรื่อง โอคาวาระ คุนิโอะ ให้ช่วยออกสีสันและลวดลายใหม่ให้หุ่นในเรื่อง ออกมาเป็นหุ่นที่มีสีสันและลวดลายที่แตกต่างออกไปจากเดิม แม้หน้าตาจะเหมือนเดิมในชื่อ Real Type (งานย้อมครั้งแรกๆ ของกันดั้ม) ก่อนจะตามมาด้วยหุ่นในเรื่องแบบที่ไม่เคยออกในเรื่องมาก่อนในชื่อ MSV (Mobile Suit Variation) ที่บันไดเสริมพลังการขายด้วยคอมิคขายของแบบเนียนๆ (ที่กลายเป็นตำนานไปแล้ว) อย่าง พลาโม เคียวชิโร่ (ชื่อไทยคือ อัศวิน สมองกล) เรื่องของเจ้าหนูเคียวตะ ชิโร่ที่ต่อหุ่นมาประลองกับเพื่อน (คอนเซ็ปต์ที่บันไดยังใช้มาจนทุกวันนี้ในซีรีส์ Build ทั้งหลาย) ผ่านเครื่องซูมิเลชั่น ที่โด่งดังจน หุ่นออริจินอลในเรื่องถูกนำมาผลิดเป็นโมให้คนอ่านได้ซื้อไปเล่นกันอย่าง Perfect Gundam และ Perfect Zeong
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของกันพลาบูม ที่ทำให้กันดั้มกลายเป็นสินค้าอมตะนิรันดร์กาลมาจนทุกวันนี้ ซีรีส์ MSV นี้ช่วยยืดระยะการขายของกันพลาให้ยืดยาวต่อมาจนกระทั่งการมาถึงของภาคต่อของกันดั้ม นั่นก็คือ Z-Gundam หลังจากนั้นเราก็มีกันพลาให้เล่นมาตลอดตราบจนทุกวันนี้.
ที่มา : https://www.facebook.com/pages/category/Magazine/Power-Up-Mag-279183085751638/
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
- เปิดตำนาน การต่อสู้ “บันได” บิ๊กธุรกิจของเล่นรายใหญ่ในญี่ปุ่น
- เปิดตำนาน การต่อสู้ “บันได” Ep.2 สปอนเซอร์รายการทีวีอนิเมะ สู่ของเล่นจากซีรีส์ยอดฮิต
- เปิดตำนาน การต่อสู้ “บันได” Ep.3 ตั้งบริษัทลูก Popy
- เปิดตำนาน การต่อสู้ “บันได” Ep.4 ต้นกำเนิดหุ่นเหล็ก Chogokin
- เปิดตำนาน การต่อสู้ “บันได” Ep.5 ต้นกำเนิด Plastic Model