เปิด “10 ประเด็น” คำสั่ง คสช. มาตรา 44 “มือถือ-ทีวีดิจิทัล” ได้สิทธิอะไร

ประกาศคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ที่ออกมาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยค่ายมือถือ “ทรู เอไอเอส และดีแทค” ขอผ่อนผันการชำระเงินค่าประมูลคลื่นจากเดิมกำหนดให้จ่าย 4 งวด 5 ปี ขณะที่ทีวีดิจิทัลขอให้นำคลื่น 700 MHz ที่กันไว้สำหรับทีวีดิจิทัลมาจัดสรรใหม่ และนำเงินมาเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น

วันนี้ (17 เม.ย.) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญผู้ประกอบการโทรคมนาคม ทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) มาชี้แจงรายละเอียดคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิต่างๆ

1.มือถือยื่นใช้สิทธิภายใน 10 พ.ค.นี้

มาตรา 44 แก้ปัญหากิจการโทรคมนาคม คือ การขยายเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz จากเดิม 5 ปี 4 งวด เป็น 10 ปี โดยต้องยื่นรับจัดสรรคลื่น 700 MHz

การใช้สิทธิตามคำสั่ง คสช. ค่ายมือมือจะต้องยื่นขอใช้สิทธิภายใน 30 วัน คือ ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 โดย กสทช.จะกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่น 700 MHz ทั้งจำนวนใบอนุญาตและราคา ออกมาในปลายเดือนพฤษภาคม 2562 หากค่ายมือถือที่ยื่นใช้สิทธิมาแล้วแต่ไม่พอใจกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว และไม่ขอรับการจัดสรรคลื่น 700 MHz สามารถทำได้ โดยให้กลับไปจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz ตามเงื่อนไขเดิม

2.เงื่อนไขนับเวลาจ่ายค่าประมูล 900 MHz  10 ปี

คำสั่ง คสช. กำหนดขยายเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz ให้ผู้ประกอบการมือถือ “ทรู เอไอเอส และดีแทค” จากเดิม 5 ปี จ่าย 4 งวด ขยายเวลาเป็น 10 ปีนั้น ใช้วิธีคำนวณจำนวนเงินประมูลของผู้ประกอบการแต่ละรายมาหาร 10 เพื่อกำหนดเป็นค่าเฉลี่ยการจ่ายเงินรายปีตลอดระยะเวลา 10 ปีของการขยายเวลา

โดยระหว่างปี 2559-2562 ที่ได้จ่ายเงินค่าประมูลไปแล้ว ค่ายมือถือที่จ่ายเงินไม่ครบตามค่าเฉลี่ยรวม 4 ปี จะต้องจ่ายให้ครบตามจำนวนในปี 2563 จากนั้นจ่ายตามค่าเฉลี่ยรายปีจนครบ 10 ปี

การนับเวลา 10 ปี สำนักงาน กสทช.ชี้แจงว่าเป็นการนับย้อนหลังตั้งแต่เริ่มจ่ายเงินปีแรก โดยทรูและเอเอไอส  ตั้งแต่ปี  2559-2568 ส่วนดีแทค ปี 2561-2570

3.จัดสรรคลื่น 700 MHz 7.5 หมื่นล้าน

สำหรับคลื่น 700 MHz ซึ่งเป็นการใช้งานในในฝั่งกิจการโทรทัศน์และจะนำมาจัดสรรใหม่ในกิจการโทรคมนาคม ตามมาตรา 44 ครั้งนี้ กำหนดให้เป็นการ “จัดสรรคลื่น” ให้ผู้ประกอบการมือถือ 3 ค่าย คือ ทรู เอไอเอส และดีแทค ที่ต้องการได้รับสิทธิขยายเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz

เบื้องต้น กสทช.กำหนดการจัดสรรคลื่น 700 MHz จำนวน 45 MHz ใบอนุญาตละ 15 MHz ราคา 25,000 ล้านบาท จำนวน 3 ใบอนุญาต รวมมูลค่า 75,000 ล้านบาท เงื่อนไขจ่ายค่าใบอนุญาต 10 ปี

หลังหลักเกณฑ์การจัดสรรใบอนุญาต 700 MHz ออกมาในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ หากผู้ประกอบการโทรคมนาคมรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว กสทช.กำหนดให้ใบอนุญาต 700 MHz ในเดือนมิถุนายน 2562 โดยค่ายมือถือจะเริ่มจ่ายเงินค่าใบอนุญาต 700 MHz ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563

กรณีค่ายมือถือ “ไม่ขอรับ” การจัดสรรคลื่น 700 MHz กสทช.จะนำคลื่นดังกล่าวไปประมูลใหม่ ให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่สนใจ

4.ได้เงินโทรคมฯ 2.78 แสนล้าน

จากคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ที่ออกมานี้ กสทช.สรุปการจ่ายเงินจากการประมูลคลื่น 900 MHz ของ 3 ค่ายมือถือ “ทรู เอไอเอส และดีแทค” 10 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2572 รวมมูลค่า 203,317 ล้านบาท และเงินที่ได้จากการจัดสรรคลื่น 700 MHz จำนวน 45 MHz อีก 75,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 278,317 ล้านบาท รวมแล้วรัฐได้เงินมากกว่าเดิม 40%

5. “ทีวีดิจิทัล” แจ้งคืนช่อง 10 พ.ค. ขอยกเลิกได้

ในฝั่งทีวีดิจิทัล คำสั่งมาตรา 44 กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถ “คืนช่อง” ได้โดยให้แจ้ง กสทช.ภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ โดยคณะกรรมการฯ จะกำหนดหลักเกณฑ์การชดเชยอีกครั้งในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากเปิดเผยหลักเกณฑ์แล้ว ทีวีดิจิทัลที่ไม่พอใจกับมูลค่าการชดเชย สามารถแจ้ง “ยกเลิก” คืนช่องได้

6.เปิดสูตรชดเชยทีวีดิจิทัล

สำหรับสูตรคำนวณเงินค่าชดเชยการ “คืนช่อง” ฐากรให้ตัวอย่างว่า ช่องทีวีดิจิทัล ที่ประมูลมาด้วยราคา 600 ล้านบาท ปัจจุบันจ่ายเงินค่าใบอนุญาตมาแล้ว 4 งวด รวม 400 ล้านบาท และใช้ใบอนุญาตไปแล้ว 5 ปี จากทั้งหมด 15 ปี

การคำนวณ คือ 400 (เงินที่จ่ายมาแล้ว) คูณ 5 (จำนวนปีที่ใช้ใบอนุญาต) หาร 15 (ระยะเวลาใบอนุญาตทั้งหมด) ได้เท่ากับ 133  ล้านบาท คือ มูลค่าใบอนุญาตแต่ละปี จากนั้นให้นำ 400 ลบ 133 เท่ากับ 267 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นตัวเลขคร่าวๆ สำหรับทีวีดิจิทัลที่ต้องการ “คืนช่อง” จะได้รับชดเชย “หลักการชดเชย ทีวีดิจิทัลคืนช่อง คือ จะได้คืนไม่มากกว่าที่จ่ายมาแล้ว”

7.เรียกเก็บเงินงวด 4 จ่ายคืนงวด 5

ปัจจุบันมีทีวีดิจิทัลค้างจ่ายเงินค่าประมูลงวดที่ 4 จำนวน 17 ช่องป็นมูลค่า 3,215 ล้านบาท กลุ่มนี้จะต้องมาจ่ายเงินภายในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 หรือหากไม่มีเงินจ่ายสามารถจ่ายดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

โดยเงินประมูลงวดที่ 4 ที่ได้จาก 17 ช่อง จะนำไปจ่ายคืนให้กับทีวีดิจิทัล 3 ช่องที่ได้จ่ายเงินงวดที่ 5 มาแล้ว จำนวน 986 ล้านบาท คือ ช่อง 7 จำนวน 372 ล้านบาท, เวิร์คพอยท์ 395 ล้านบาท และสปริงนิวส์ 219 ล้านบาท

กรณีทีวีดิจิทัล 17 ช่อง มาจ่ายเงินไม่ครบตามจำนวนเงินที่ต้องคืน 3 ช่อง ที่ต้องจ่ายคืนงวดที่ 5 หลักเกณฑ์การจ่ายเงิน กสทช.จะพิจารณาให้ช่องที่มีผลประกอบการต่ำสุดใน 3 ช่อง ได้เงินคืนเป็นลำดับแรก ส่วนเงินที่เหลือจากการคืนจะส่งคืนรัฐ 2,228 ล้านบาท 

8.สนับสนุนทีวีดิจิทัล 3.2 หมื่นล้าน

ตามคำสั่ง มาตรา 44 ได้กำหนดให้ “ยกเว้น” การเก็บเงินค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล งวดที่ 5 และ 6 รวมมูลค่า 13,622 ล้านบาท

พร้อมทั้งกำหนดให้จ่ายเงินค่าโครงข่าย MUX ตลอดใบอนุญาตที่เหลืออยู่ โดย กสทช.จะเริ่มจ่ายค่าเช่า MUX ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ตลอดอายุใบอนุญาตทีวีดิจิทัล รวม 9 ปี 6 เดือน เป็นเงิน 18,775 ล้านบาท รวมเป็นที่ต้องจ่ายสนับสนุนทีวีดิจิทัล 32,397 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรณีที่โครงข่าย MUX มีลูกค้าทีวีดิจิทัลใช้บริการลดลงจากการคืนช่อง หากโครงข่าย MUX หากมีการคืนใบอนุญาต MUX จะพิจารณาเงินชดเชยการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ MUX ด้วยเช่นกัน เพราะมีการคืนคลื่น 700 MHz เพื่อนำไปประมูลเช่นเดียวกับทีวีดิจิทัล

9.จ่ายเงินประเดิมทำเรตติ้ง

นอกจากนี้ กสทช.จะจ่ายเงินสนับสนุนการจัดทำเรตติ้งให้กับทีวีดิจิทัลทุกราย ซึ่งมีการรวมตัวจัดตั้งเป็นสมาคมองค์กรกลางเพื่อจัดทำเรตติ้ง ซึ่งจะจ่ายเงินประเดิมก้อนแรก 431 ล้านบาท  

10.สัดส่วนเหมาะสมคืน 7-8 ช่อง

หากประเมินทีวีดิจิทัล “คืนช่อง” ฐากรมองว่าจะอยู่ในระดับ 4-5 ช่อง ซึ่งค่าใบอนุญาตและค่าโครงข่าย ไม่ใช่ต้นทุนหลัก แต่มาจากต้นทุน “คอนเทนต์” หากทีวีดิจิทัลเห็นว่าไม่สามารถแข่งขันสร้างคอนเทนต์เพื่อหารายได้จากโฆษณาได้ ก็อาจตัดสินใจคืน โดยเฉพาะ “ช่องเด็ก” และ “ช่องข่าว”

“ทีวีดิจิทัลที่ต้องการคืนช่อง หลังมาแจ้งภายในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้แล้ว กระบวนการปิดช่องยุติออกอากาศคือวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เมื่อค่ายมือถือที่ได้รับจัดสรรคลื่น 700 MHz จ่ายค่าใบอนุญาตและเริ่มใช้งาน” 

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มองว่า การคืนช่องที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมน่าจะอยู่ที่ 7-8 ช่อง ซึ่งเอเยนซีโฆษณาจะจัดสรรงบโฆษณาอยู่ใน 10 ช่องแรกที่มีเรตติ้งสูงสุดเป็นหลัก ปัจจุบันช่องวาไรตี้ มีต้นทุนการผลิตคอนเทนต์เฉลี่ยช่องละ 1,000-2,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นการพิจารณาคืนช่องของทีวีดิจิทัล จึงดูที่ต้นทุนคอนเทนต์และโอกาสการหารายได้ในอนาคต

สำหรับ อสมท จะมีการประชุมบอร์ดเพื่อพิจารณาเรื่องการคืนช่องหรือไม่ในวันที่ 23 เมษายนนี้ และประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 25 เมษายนนี้

ข่าวเกี่ยวเนื่อง