The Future 100 เทรนด์อนาคตปี 2022 ที่แบรนด์ต้องศึกษาและไล่ให้ทัน!

The Future 100
“วันเดอร์แมน ธอมสัน” เปิดรายงานประจำปี The Future 100 คาดการณ์เทรนด์ที่น่าสนใจ 100 เรื่องใน 10 หมวดประจำปี 2022 โดย Positioning ขอคัด 10 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคชาวไทยหรือเราอาจนำมาปรับใช้ได้ ดังนี้

(สำหรับรายงานฉบับเต็ม ดาวน์โหลดได้ที่นี่)

วัฒนธรรม Virtual genuinfluencer

Virtual genuiunfluencer คำนี้ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกโดยบริษัทวิจัยและคาดการณ์ตลาด WGSN ยกระดับจาก “อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง” เป็น “อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงที่จริงใจและจับต้องได้สำหรับผู้ติดตาม”

Angie อินฟลูฯ เสมือนจริงที่โด่งดังในประเทศจีน

เทรนด์ของอินฟลูฯ เสมือนจริงนั้นโด่งดังมาจาก “จีน” และท่ามกลางอินฟลูฯ แนวใหม่นี้ “Angie” อินฟลูฯ โลกเสมือนที่ดังในแอปฯ Douyin มีความโดดเด่นกว่าเพื่อนเพราะเลือกที่จะนำเสนอ “ความไม่สมบูรณ์แบบ” เช่น งานผิวที่บางวันก็ผิวแห้งบ้าง มีรอยสิวบ้าง หรือรูปหน้าที่ไม่สมมาตรเท่ากัน ฟันไม่สวย การแต่งตัวเลือกที่จะใส่เสื้อยืดขาวธรรมดามากกว่าเสื้อผ้าแบรนด์เนม

เมื่อเดือนธันวาคม 2021 Angie มีฟอลโลเวอร์มากกว่า 3 แสนคนแล้ว และคนที่ติดตามชื่นชอบ Angie เพราะเห็นว่าเธอ “เรียล” ยิ่งกว่าคนจริงๆ เสียอีก

The Guardian รายงานเมื่อเดือนสิงหาคม 2021 ว่า การเป็นอินฟลูฯ ในยุคนี้เริ่มเปลี่ยนไป “เพราะการเป็นแรงบันดาลใจนั้นเริ่มถูกตีตัวออกห่างเสียแล้ว” คนต้องการความจริงมากขึ้น และแม้แต่อินฟลูฯ เสมือนจริงก็ต้องล้อตามแนวคิดแบบใหม่นี้เช่นกัน

 

เทคโนโลยี – “ซูเปอร์แอปฯ” เรืองอำนาจ

จีนกลายเป็นต้นแบบของการพัฒนา “ซูเปอร์แอปฯ” ไปแล้ว ทำให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างฝันที่จะดันแอปฯ ของตัวเองให้เป็นซูเปอร์แอปฯ ให้สำเร็จ โดยรวมสารพัดฟังก์ชันไว้ในแอปฯ เดียว ตั้งแต่อีคอมเมิร์ซ บริการเรียกรถ แชท ชำระเงิน จนถึงบริการทางการเงิน

Robinhood Travel

ยกตัวอย่างปี 2021 แอปฯ เรียกรถและเดลิเวอรี Gojek ควบรวมกิจการกับ Tokopedia มาร์เก็ตเพลสที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย และมีบริการด้านการเงินและโลจิสติกส์เสริมไว้อยู่แล้ว การรวมกันครั้งนี้ทำให้เกิดแอปฯ ใหม่ชื่อ GoTo และมีผู้ใช้บริการกว่า 100 ล้านราย รายได้จากแอปฯ นี้คิดเป็น 2% ของขนาดเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐของอินโดฯ

Grab ที่มีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ก็กำลังพยายามเป็นซูเปอร์แอปฯ เช่นกัน โดยขยายจากการเป็นแอปฯ เรียกรถและเดลิเวอรี มามีบริการทางการเงินร่วมด้วย โดยได้ใบอนุญาตเป็นดิจิทัลแบงก์ร่วมกับพาร์ทเนอร์ SingTel

ในประเทศไทยเราได้เห็นวิสัยทัศน์ของหลายแอปฯ ที่กำลังกรุยทางไปสู่ซูเปอร์แอปฯ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Line, AirAsia, Robinhood ที่ต่างประกาศศึกเรื่องนี้กันหมด

 

ท่องเที่ยว – ผจญภัยเชิงวิชาการ

การท่องเที่ยวที่ผสมผสานการผจญภัยเข้ากับความรู้วิชาการโดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นไกด์ให้ เทรนด์นี้กำลังเริ่มเป็นที่นิยมในภาคธุรกิจฮอสพิทาลิตี้ และเชื่อมโยงกับแบรนด์ที่ต้องการวางภาพลักษณ์มีสาระความรู้

กิจกรรมดูดาวที่ Hyatt Regency Maui Resort and Spa เกาะฮาวาย ร่วมกับ NASA

ยกตัวอย่างเมื่อปี 2021 โรงแรม Hyatt Regency Maui Resort and Spa บนเกาะฮาวาย ร่วมมือกับ NASA จัดโปรแกรมดูกลุ่มดาว 80 กลุ่ม โดยมี Edward Mahoney แอมบาสเดอร์ของ NASA เป็นไกด์แนะนำการดูดาว ซึ่งทำให้แขกได้ประสบการณ์แบบใหม่ไม่เหมือนใคร

ประสบการณ์เหล่านี้สามารถเลือกหัวข้อได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ดนตรี ไปจนถึงเรื่องสุดเฉพาะเจาะจงอย่างสถานีวิทยุสาธารณะ

 

แบรนด์และการตลาด – สร้างแบรนด์ใน “เกม”

สำหรับคนรุ่นใหม่ “เกม” คือสิ่งที่จะมาทดแทนพื้นที่อย่างสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ เพราะเกมคือที่ที่พวกเขาใช้ชีวิต ทำให้การโฆษณาผ่านเกมจะเติบโตสูงมาก โดย Technavio รายงานว่าโฆษณาในเกมจะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 3,540 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2025 และแบรนด์ที่เข้าโลกแห่งเกมก่อนจะเป็นผู้ชนะ

Vans World ในเกม Roblox

เกมที่เป็นผู้นำในการผสานแบรนด์เข้าสู่เกมได้อย่างแนบเนียนคือ Roblox ซึ่งมีผู้เล่นเฉลี่ยถึงวันละ 46 ล้านคน ดึงดูดให้สารพัดแบรนด์เข้ามาทำแคมเปญ เช่น

  • Ralph Lauren เปิดเทศกาลฤดูหนาวในเกมและมีคอลเล็กชันดิจิทัลให้ซื้อจริงๆ ด้วย
  • Nike เปิด Nikeland ให้ผู้เล่นมาลองสวมใส่สินค้า Nike และมีมินิเกมให้เล่นในเทศกาล
  • Vans เปิดสเก็ตพาร์คในเกมให้ผู้เล่นมาลองเล่นสเก็ตบอร์ด ออกแบบลายสเก็ตบอร์ดและรองเท้า Vans เองได้
  • Hyundai เปิดพาร์คในเกมให้ผู้เล่นมาแข่งรถ เล่นมินิเกม และจะได้รู้จักกับเทคโนโลยีของ Hyundai ไปในตัว

แบรนด์อื่นๆ ก็เคยสร้างเกมผสมผสานกับโลกเสมือนจริง เพื่อให้คนรู้จักแบรนด์และสนุกไปกับองค์ประกอบต่างๆ มาแล้ว เช่น โลกเสมือนของ P&G, Joytopia ของ BMW, เมืองเสมือนจริงของ SK-II เป็นต้น

 

อาหารและเครื่องดื่ม – ทานอาหารแบบคน Blue Zones

Blue Zones กำลังเป็นกระแส นิยามของ Blue Zones คือ พื้นที่บนโลกที่ประชากรมีอายุยืนเป็นพิเศษ ทำให้นักวิจัยพยายามถอดรหัสว่าทำไมคนแถบนั้นจึงอายุยืน เช่น โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น, อิคาเรีย ประเทศกรีซ, โอกลิอัสตรา แคว้นซาร์ดิเนีย, โลมา ลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย, นิโคยา เพนนินซูลา ประเทศคอสตาริกา

แบรนด์ใช้แรงบันดาลใจจาก Blue Zones มาพัฒนาเมนูสินค้า

หนึ่งในปัจจัยสุขภาพดีของ Blue Zones ถูกมองว่าเกิดจาก “อาหาร” ทำให้แบรนด์เริ่มนำเอาเคล็ดลับอาหารจาก Blue Zones มาใช้พัฒนาสูตรสินค้าและโปรโมต เช่น Bush’s Beans โปรโมตถั่วและพืชปรุงสำเร็จรสชาติแบบคน Blue Zones ใช้สำหรับทานกับข้าวหรือใส่ในซุป

เพราะคนเราย่อมอยากจะมีอายุยืนและมีสุขภาพดีแบบองค์รวม ทำให้กระแส Blue Zones กำลังมา ทั้งในด้านอาหาร และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่มีความสุข ใส่ใจชุมชน สิ่งแวดล้อมด้วย

 

บิวตี้ – จุดสิ้นสุดของคำว่า “ปกติ”

คอนเซ็ปต์ One-size-fit-all สำหรับตลาดบิวตี้นั้นถูกโยนลงถังขยะไปแล้ว เป็นอีกปีที่ตอกย้ำกระแสนี้เมื่อผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Unilever ออกแถลงเมื่อเดือนมีนาคม 2021 ว่า บริษัทจะเลิกใช้คำว่า “Normal” หรือ ปกติ ในการอธิบายคุณสมบัติของสินค้า เพราะแบรนด์ต้องการจะต่อสู้กับการสเตอริโอไทป์ การสร้างบรรทัดฐานความงาม และตอบรับความงามในทุกๆ รูปแบบมากขึ้น

แบรนด์เครื่องสำอางและสกินแคร์ Pleasing โฆษณาถึงจุดยืนของแบรนด์ ไม่มีการแบ่งแยกเพศ

ตัวอย่างแบรนด์ใหม่ๆ ที่เปิดตัวมาด้วยคอนเซ็ปต์การทลายสเตอริโอไทป์ เช่น Pleasing แบรนด์ใหม่จากนักร้องดัง Harry Styles ออกสินค้ามาด้วยคอนเซ็ปต์ที่ใช้ได้ทุกเพศ มีการใช้ทั้งนายแบบนางแบบโฆษณาสินค้า ซึ่งมีทั้งยาทาเล็บ ลิป เซรั่มรอบดวงตา เซรั่มสำหรับใบหน้า

ตลาดบิวตี้ปีนี้น่าจะได้เห็นการสร้างความเป็นตัวของตัวเอง การโอบรับความงามในทุกๆ รูปแบบมากยิ่งขึ้น

 

รีเทล – Chat Commerce

ไทยและเวียดนามถือเป็นตลาดผู้นำของการใช้ Chat Commerce หรือการขาย/ติดต่อกับลูกค้าผ่านแอปฯ แชทต่างๆ และเทรนด์นี้กำลังขยายตัวในทุกประเทศ พร้อมกับการหาเทกนิกใหม่ๆ มาดึงดูดลอยัลตี้ของลูกค้า

เมื่อเป็นเพื่อนกันบน WeChat อินฟลูฯ เสมือนจริงจะส่งข้อความโปรโมชันมาให้ และโพสต์เทกนิกแต่งหน้าให้ชมเรื่อยๆ (Photo: Jing Daily)

ยกตัวอย่างเช่น Perfect Diary แบรนด์เครื่องสำอางที่กำลังมาแรงในจีน มีกลุ่มเป้าหมายเป็น Gen Z ทำให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย และในแง่ของแอปฯ แชท แบรนด์ก็เปิดบัญชี WeChat ให้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงของแบรนด์  “Xiao Wanzi” โดยตั้งเป็นกรุ๊ปแชท มีฟอลโลเวอร์ที่ชื่นชอบในแบรนด์เข้ามาคุยพร้อมกัน คนที่เข้ากรุ๊ปนี้จะได้เห็นสินค้าใหม่และโปรโมชันใหม่ก่อนใคร และจะได้แรงบันดาลใจการแต่งหน้าจากคนที่อยู่ในกรุ๊ปด้วยกัน

หลายแบรนด์เริ่มโฟกัสกับการทำ Chat Commerce มากขึ้น แม้แต่ลักชัวรีแบรนด์ก็เริ่มแล้วเช่นกัน ในประเทศไทย ทั้งแบรนด์ Chanel, Burberry, Louis Vuitton มีการเชื่อมต่อกับลูกค้าผ่าน Line พัฒนาสติ๊กเกอร์แบบพิเศษ จัดไลฟ์แฟชั่นโชว์ให้ชม รวมถึงลูกค้าสามารถซื้อสินค้าผ่าน Line Shopping ได้ด้วย

 

ลักชัวรี – ผู้ถือ “คริปโต” คืออีลีทกลุ่มใหม่ของโลก

ยุคก่อนหน้านี้ การแสดงฐานะของเศรษฐีอาจมาพร้อมกับกระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกาหรู หรือรถสปอร์ต แต่ยุคนี้ “อีลีท” กลุ่มใหม่แสดงออกถึงความร่ำรวยด้วยการถือครอง “NFT” เซเลปดารา นักกีฬา นักธุรกิจ เศรษฐีต่างพุ่งตัวเข้าซื้องานศิลปะ NFT ชิ้นดังๆ พร้อมกับความ ‘บูม’ ของตลาดเมื่อปี 2021

NFT
ผลงาน HUMAN ONE จาก Beeple

การนำชิ้นงาน NFT ราคาแพงมาตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดีย เหมือนกับการประกาศความเป็นเศรษฐีคริปโต แสดงสถานะในแบบใหม่ และการได้เป็นเจ้าของ NFT บางชิ้นจะทำให้เจ้าของมีสิทธิเข้าสู่เครือข่ายเศรษฐีคริปโต ได้เข้าคลับเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับนักสะสม

คริปโตและ NFT จึงทำงานในโลกเสมือนจริงเหมือนๆ กับในโลกที่จับต้องได้ นั่นคือการเป็นเจ้าของบางอย่างคือการแสดงฐานะ ในอนาคต เมื่อโลกเมตาเวิร์สบูมมากกว่านี้ “อวาตาร์” ของคนในเมตาเวิร์สจะเป็นจุดสนใจของทุกๆ คน เพราะนั่นคือสิ่งบ่งบอกสถานะความร่ำรวย เป็นความลักชัวรีแบบใหม่ที่เริ่มมีการลงทุนกันแล้ว

 

สุขภาพ – ดูแลสุขภาพจิตของ “เด็กๆ”

ภาวะฉุกเฉินของ “สุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชน” ทำให้แพลตฟอร์มต่างๆ ต้องปฏิรูปข้อจำกัดการเข้าถึงการใช้งานแอปฯ และเกมต่างๆ

(Photo Illustration by Ajay Kumar/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

ในช่วงเกิดโรคระบาด ปัญหานี้ยิ่งหนักข้อขึ้น ยกตัวอย่างในสหราชอาณาจักร พบว่า เคสการเข้าพบจิตแพทย์ของเด็กเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็นกว่า 2 แสนเคส หรือในสหรัฐฯ พบว่า มีเด็กเข้าห้องฉุกเฉินเนื่องจากสภาวะทางจิตเพิ่มขึ้น 24% ในกลุ่มเด็กวัย 5-11 ปี และเพิ่มขึ้น 31% ในกลุ่มเด็กวัย 12-17 ปี (เทียบปี 2019 กับ 2020)

จากเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ยกตัวอย่างโปรเจ็กต์ Instagram Kids ภายใต้บริษัท Meta ต้องหยุดการพัฒนาชั่วคราวเมื่อเดือนกันยายน 2021 เพื่อรับฟังพ่อแม่ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้กำหนดนโยบายรัฐให้มากขึ้น ก่อนจะเปิดตัว แพลตฟอร์มนี้ที่มุ่งหมายจะให้เป็นโซเชียลมีเดียของเด็กวัย 10-12 ขวบโดยเฉพาะ เพื่อให้การกลั่นกรองเนื้อหาทำได้ง่ายขึ้น ผู้ปกครองควบคุมสิ่งที่เด็กๆ รับรู้ได้ดีขึ้น

ในประเทศจีนจะยิ่งเห็นได้ชัด เพราะจีนเริ่มจำกัดเวลาเล่นเกมของเยาวชนมากขึ้นไปอีก และทำให้ ByteDance บริษัทแม่ของ Douyin ต้องทำระบบให้เด็กๆ วัยต่ำกว่า 14 ปี ใช้แอปฯ ได้ไม่เกินวันละ 40 นาทีเท่านั้น

 

การงาน – รับสมัครงานเพื่อลุย “เมตาเวิร์ส”

จากเทรนด์ทั้งหมดที่พูดถึง สิ่งหนึ่งที่คุณคงเห็นได้ชัดคือ โลกเสมือนจริง หรือ เมตาเวิร์ส กำลังมาถึง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ AR, เกม, ร้านค้าดิจิทัล, สินค้าดิจิทัล ทุกสิ่งที่เข้าไปอยู่ในเมตาเวิร์สต้องการคนทำงานเบื้องหลังเพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา

ภาพจาก virtualspatialsystems.com

นั่นทำให้การรับสมัครตำแหน่งงานมาพัฒนาด้านนี้โดยเฉพาะเริ่มขึ้นแล้ว ยกตัวอย่างเช่น Nike เริ่มรับสมัครดีไซเนอร์สินค้าเสมือนจริง เพื่อมาอยู่ในทีมครีเอทีฟสินค้าดิจิทัล ตำแหน่งนี้ถูกบรรยายหน้าที่ว่าจะต้องมา “ริเริ่มการปฏิวัติดิจิทัลและโลกเสมือนจริงที่ Nike”

เป็นไปได้สูงว่าสถานการณ์การรับสมัครคนทำงานเกี่ยวกับเมตาเวิร์สจะกลับไปเหมือนช่วงที่โซเชียลมีเดียบูม เพราะคนทำงานด้านนี้ยังมีจำกัด และบริษัทต่างๆ ต้องเปิดศึกแย่งตัวพนักงานกัน