ธนาคารไทย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 25 Mar 2024 06:43:57 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 SCBX เปิดตัวพันธมิตรอีกรายจากประเทศจีน ‘WeBank’ มองช่วยขยายขอบเขตในการทำธุรกิจ Virtual Bank https://positioningmag.com/1467383 Fri, 22 Mar 2024 14:48:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1467383 SCBX ได้เปิดตัวพันธมิตรอีกรายในการทำธุรกิจ Virtual Bank นั่นก็คือ ‘WeBank’ ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่จากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินรายดังกล่าวมีพันธมิตรที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้อย่าง KakaoBank ซึ่งมาจากเกาหลีใต้

SCBX ได้ประกาศเปิดตัวพันธมิตรอีกรายในการทำธุรกิจ Virtual Bank นั่นก็คือ ‘WeBank’ ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่จากประเทศจีน ซึ่งทางสถาบันการเงินรายใหญ่มองว่าจะช่วยขยายขอบเขตในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการเจาะลูกค้าที่ยังไม่เข้าถึงบริการทางการเงิน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของ SCBX ตามหลังมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศแนวทางการขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ในปี 2022 ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง SCBX ได้เปิดตัวพันธมิตรได้แก่ KakaoBank ซึ่งมาจากเกาหลีใต้

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX กล่าวว่า เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์และมีความคล่องตัวจะเป็นรากฐานที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้ Virtual Bank ประสบความสำเร็จ WeBank ซึ่งเป็นธนาคารดิจิทัลชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SCBX ยังชี้ว่า การร่วมมือกับ WeBank ในครั้งนี้ จะช่วยขยายขอบเขตและศักยภาพทางเทคโนโลยีของ Virtual Bank พร้อมยกระดับประสบการณ์การใช้บริการธนาคารที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า มุ่งหวังที่จะร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการบริการที่ทันสมัยเพื่อตอบสนองความต้องการของคนไทย

ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายนปี 2023 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SCBX ได้กล่าวว่า Virtual Bank จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มโอกาสให้กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบนี้ ให้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และการจัดตั้ง Virtual Bank ให้แข็งแรงนั้น จะต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

สำหรับ WeBank นั้นถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจ Virtual Bank ในประเทศจีน มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดคือ Tencent ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของประเทศจีน เจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง WeChat และ QQ เป็นต้น

การประกาศเป็นพันธมิตรกับ WeBank และ KakaoBank แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการขอใบอนุญาต Virtual Bank ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งคู่แข่งทั้งสถาบันการเงินและบริษัทใหญ่ๆ ในประเทศไทยต่างจับจ้องในการขอใบอนุญาตดังกล่าว

]]>
1467383
UBS คาดกำไรกลุ่มธนาคารไทยปี 2024 เติบโตแค่ 3% รั้งรองบ๊วยอาเซียน ห่วงเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ ความเสี่ยงเศรษฐกิจ https://positioningmag.com/1457646 Thu, 04 Jan 2024 02:14:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1457646 Positioning สรุปประเด็นสำคัญจากบทวิเคราะห์จากยูบีเอส (UBS) ที่ได้ออกบทวิเคราะห์กลุ่มธนาคารในอาเซียนในปี 2024 โดยมองว่ากลุ่มธนาคารไทยยังคงเผชิญความท้าทาย นอกจากนี้ยังกังวลงคุณภาพสินทรัพย์ และความเสี่ยงเศรษฐกิจ

UBS ได้ออกบทวิเคราะห์กลุ่มธนาคารในอาเซียนเมื่อเย็นวานนี้ (3 มกราคม) โดยได้วิเคราะห์ว่ากลุ่มธนาคารไทยนั้นจะมีกำไรในปี 2024 เติบโต 3% เท่านั้น เป็นรองบ๊วยในอาเซียน นอกจากนี้ยังกังวลในเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ ต้นทุนของส่วนของผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ดีคาดว่าปันผลที่สูง จะช่วยไม่ให้ราคาหุ้นลดลงได้

ในบทวิเคราะห์ได้กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2024 นี้ UBS คาดว่าจะเติบโต 3.4% ได้ปัจจัยหลักจากการลงทุน รวมถึงการเบิกจ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยเช่น นักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้า หรือแม้แต่ปัจจัยหนี้ครัวเรือนของไทย

ปัจจัยที่ต้องจับตามองของกลุ่มแบงก์ไทยในปี 2024

  1. อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยถึงจุดสูงสุดหรือยัง ในรายงานของ UBS คาดการณ์ว่า Cycle อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังตามหลัง Cycle อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และมองว่าหุ้นกลุ่มธนาคารไทยจะไม่สามารถเอาชนะผลตอบแทนของดัชนีหุ้นไทยอย่าง SET Index ไปได้
  2. มาตรการของแบงก์ชาติที่หมดลง กับ มาตรการของรัฐบาล UBS กล่าวถึงมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดนั้นได้สิ้นสุดลงในปี 2023 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังมีมาตรการที่ให้ลูกหนี้บัตรเครดิตจ่ายเงินขั้นต่ำเพิ่ม อาจทำให้ NPL นั้นเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่คาดว่าจะออกมาได้ แต่กลุ่มธนาคารไทยยังสามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024
  3. อัตราการปันผลของกลุ่มแบงก์ไทย นอกจากนี้ UBS ยังมองว่าธนาคารไทยบางแห่งเองอาจเพิ่มการปันผลมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ดึงดูดนักลงทุน เนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรที่เริ่มลดลงมา

ตัวเลขคาดการณ์ที่น่าสนใจของกลุ่มธนาคารไทย

  • การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) คาดว่าจะอยู่ที่ 3.6%
  • รายได้รวมของกลุ่มธนาคารไทยคาดว่าจะเติบโต 3.2%
  • ต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อที่ไม่ได้รับการชำระคืนเงินต้น (Credit Cost) คาดว่าจะอยู่ที่ 1.6% (160 bps)
  • NPL อยู่ราวๆ 3.6%

อย่างไรก็ดี UBS แสดงความกังวลด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังคงอยู่ของกลุ่มธนาคารไทย โดยเฉพาะเมื่อโครงการปรับโครงสร้างหนี้สิ้นสุดลงหลังจากนี้ ความเสี่ยงในเรื่องเศรษฐกิจมหภาค หรือแม้แต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงทำให้ต้นทุนทางการเงินของกลุ่มธนาคารไทยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ ในปี 2024 บทวิเคราะห์ของ UBS มองว่ากลุ่มธนาคารไทยถือว่าไม่น่าสนใจถ้าหากเทียบตัวเลขกับกลุ่มธนาคารอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่ในสิงคโปร์

]]>
1457646
สรุปภาพรวมกลุ่มธนาคารไทยปี 2023 ‘ปีแห่งการดิ้นรน’ บนสภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นใจ ทางเลือกมีไม่มาก https://positioningmag.com/1457510 Sat, 30 Dec 2023 11:30:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1457510 Positioning สรุปภาพรวมกลุ่มธนาคารไทยปี 2023 ซึ่งปีนี้สภาวะเศรษฐกิจไทยได้สร้างผลกระทบต่อกลุ่มธนาคารเป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นปีแห่งการดิ้นรนของธนาคารไทย ขณะเดียวกันทางเลือกในการเติบโตนั้นก็เหลือไม่มากนัก เช่น ในธุรกิจ Wealth หรือแม้แต่การหารายได้จากนอกประเทศ

สภาวะเศรษฐกิจไทยที่ไม่เป็นใจ

สาเหตุใหญ่ในปีนี้ที่ทำให้กลุ่มธนาคารไทยต้องดิ้นรนคือ ‘เศรษฐกิจไทย’ ที่ฟื้นตัวจากปี 2022 ได้แย่กว่าคาด แม้ว่าหลายสถาบันการเงินเองจะคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมีการเติบโตอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวจีน ที่หลายฝ่ายเองมองว่าจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง

แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่ใช่เช่นนั้น นักท่องเที่ยวจีนที่น้อยกว่าคาด ขณะเดียวกันภาคการส่งออกของประเทศไทยเองกลับได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก แม้ว่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังก็ตาม ส่งผลทำให้ตัวเลข GDP ไทยที่ออกมาล่าสุดถือว่าแย่กว่าคาด และนักวิเคราะห์ทั้งในไทยและต่างประเทศคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2023 นี้จะเติบโตไม่เกิน 2.5% เท่านั้น

ขณะที่มุมของผู้บริโภคไทยจากรายงานของ UOB นั้นก็ยังมีความกังวลกับเศรษฐกิจไทยไม่น้อย ในช่วง 6-12 เดือนหลังจากนี้ และยังรวมถึงกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น

สัญญาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำยังส่งต่อมาถึงในปี 2024 ถ้าหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวยังไม่ดีอีกรอบ ก็อาจสร้างปัญหาต่อเนื่องต่อกลุ่มธนาคารได้อีก รวมถึงผลเสียในระยะยาวคือศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นผลเสียต่อกลุ่มธนาคารไทย

เมื่อนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยน้อยกว่าคาด – ภาพจาก Shutterstock

ปีแห่งการดิ้นรนของกลุ่มธนาคารไทย

ขณะเดียวกันสภาพคล่องในระบบของไทยเองถือว่าลดลงอย่างมาก ปริมาณเงินในระบบของไทย (M2) ถือว่าเติบโตต่ำสุดในรอบ 15 ปี จากนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ยังซ้ำเติมให้ภาคธุรกิจไทยที่ต้องการสินเชื่อ หรือเงินกู้นั้นมีความยากลำบากมากขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้กลุ่มธนาคารไทยเองได้ระมัดระวังการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในประเทศไทยลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันในส่วนของความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทยที่ลดลง เป็นเรื่องยากที่จะให้กลุ่มธนาคารไทยกลับมาปล่อยสินเชื่อเท่ากับปี 2022

แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยจะช่วยทำให้กลุ่มธนาคารไทยมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากปี 2022 แต่มาตรการต่างๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดนั้นจบลงในปีนี้ ยิ่งทำให้กลุ่มธนาคารไทยเองต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

ผลที่เกิดขึ้นคือในปี 2023 นี้ ‘การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ’ (Loan Growth) ของกลุ่มธนาคารไทยติดลบเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อน ยกเว้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้น

การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ หรือ Loan Growth ของไทยในปี 2023 นั้นถดถอยครั้งแรกในรอบหลายปี – ข้อมูลจาก Jefferies

กลุ่ม Wealth ยังเป็นหัวหอกสำคัญในช่วงเวลาเช่นนี้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มธนาคารไทยยังมองมีความหวังคือในส่วนของธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อกลุ่ม Wealth ซึ่งมีตั้งแต่การแนะนำให้ลูกค้าในด้านการลงทุนต่างๆ ซึ่งในปี 2023 นี้ตลาดหุ้นในหลายประเทศเอง (ยกเว้นจีนกับไทย) ต่างให้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งผลดีที่กลับมาคือรายได้จากค่าธรรมเนียมนั้นเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้กลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่ของไทยเองก็ส่งสัญญาณว่าธุรกิจ Wealth เองจะเป็นหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญที่จะสร้างรายได้หลังจากนี้ ไม่ใช่แค่การพึ่งพาปล่อยสินเชื่อต่อไปเท่านั้น

ขณะเดียวกันทางกลุ่มธนาคารไทยเองก็เริ่มมองเห็นลู่ทางเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โดยเฉพาะการลงทุนต่างประเทศ เพื่อให้บริการกับกลุ่มลูกค้า Wealth มากขึ้น หรือแม้แต่การจับกลุ่มลูกค้าที่มีสินทรัพย์ยังไม่มากนัก จนถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ให้ทัดเทียมกับบริการในต่างประเทศ

กลุ่ม Wealth ในปี 2023 ยังถือเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญของธนาคารไทยในช่วงเวลายากลำบากนี้ – ภาพจาก Shutterstock

อาเซียน น่านน้ำที่เหลือของธุรกิจแบงก์ไทย

ในช่วงเวลาที่รายได้สำคัญของเศรษฐกิจไทยอย่างเช่นประเทศจีนนั้นยังฟื้นตัวไม่ดีนัก อาเซียนถือเป็นหน้าด่านสุดท้ายของกลุ่มธนาคารไทยในการหารายได้ใหม่ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีการเติบโตมากกว่าไทยในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์

ปี 2023 เราเห็นการซื้อ Home Credit ธุรกิจบริการให้สินเชื่อทั้งในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยดีลดังกล่าวมีมูลค่ามากถึง 17,700 ล้านบาท นอกจากนี้ผู้บริหารของ Mitsubishi UFJ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารกรุงศรีอยุธยานั้นไม่ได้หยุดแค่การซื้อธุรกิจเกี่ยวข้องกับการเงินแค่ Home Credit แต่จะหาโอกาสใหม่ๆ ในการซื้อกิจการต่อไปหลังจากนี้ด้วย

ขณะที่ KBank ได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธนาคารแมสเปี้ยนเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ถือหุ้นในสัดส่วน 30% แต่ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาธนาคารได้ถือหุ้นในสัดส่วน 84.55% แล้ว

อย่างไรก็ดีในน่านน้ำดังกล่าว เริ่มจะมีคู่แข่งจากต่างประเทศก็สนใจที่จะลงทุนในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น2 ประเทศเจ้าเดิมอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แม้แต่กลุ่มประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป เองที่นำเม็ดเงินมาลงทุนในอาเซียน รวมถึงจีนเองที่ต้องการลงทุนในภูมิภาคนี้เพิ่มเติมเช่นกัน

อินโดนีเซียถือเป็นอีกประเทศ (รวมถึงเวียดนาม) ที่เหล่าธนาคารไทยต้องการบุกเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด – ภาพจาก Shutterstock

สิ่งที่น่าจับตามองในปี 2024 ของกลุ่มธนาคารไทย

  1. สภาวะเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตอย่างที่เป็น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การปรับขึ้นค่าแรง ของรัฐบาลจะส่งผลดีและเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้หรือไม่
  2. นโยบายการเงินตึงตัวในหลายประเทศ จะเริ่มผ่อนคลายลงหรือยัง อาจเป็นโอกาสให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา
  3. อัตราหนี้ครัวเรือนของไทยจะลดลงมาหรือไม่ในปี 2024
  4. ธุรกิจ Wealth และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น บลจ. ฯลฯ ซึ่งผู้เล่นจากต่างประเทศหลายรายก็สนใจเข้ามาทำธุรกิจในไทย หรืออาจเข้ามาเป็นพันธมิตรกับกลุ่มธนาคารไทย
  5. ความท้าทายในการซื้อกิจการหรือการควบรวมกิจการภายในอาเซียน เนื่องจากคู่แข่งจากต่างประเทศ อาจทำให้ราคาของธุรกิจที่กลุ่มธนาคารไทยหมายปอง มีราคาพรีเมียมเพิ่มมากขึ้น
  6. การเร่งทำ Digital Transformation เพิ่มเติม หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อลดต้นทุนของธนาคาร

นี่คือภาพรวมปี 2023 ของกลุ่มธนาคารไทย ซึ่งถือว่าปีนี้เป็นปีแห่งการดิ้นรน และ Positioning ยังมองว่าในปี 2024 ยังมีโอกาสใหม่ๆ รวมถึงความสดชื่น สมหวัง แม้จะมีความท้าทายก็ตาม เพราะฟ้าหลังฝนนั้นย่อมสวยงามเสมอ

]]>
1457510
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดไตรมาส 2 กลุ่มธนาคารไทยสินเชื่อเติบโตไม่ถึง 1% NPL เพิ่มขึ้นเล็กน้อย https://positioningmag.com/1438429 Thu, 20 Jul 2023 09:25:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1438429 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับกลุ่มธนาคารไทยที่จะมีการประกาศผลประกอบการในไตรมาส 2 นี้ โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อนั้นจะอยู่ในช่วง 0.5-0.7% เท่านั้น ทางด้านของ NPL นั้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ครึ่งหลังของปีนี้ก็มองว่ามีโจทย์ท้าทายรออยู่ข้างหน้า ซึ่งอาจกดดันอัตราการทำกำไรได้

รายงานล่าสุดเกี่ยวกับกลุ่มธนาคารไทยที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งมองภาพรวมของอุตสาหกรรมธนาคารไทยที่กำลังจะมีประกาศผลประกอบการในไตรมาส 2 นี้ โดยคาดการณ์ว่าในไตรมาส 2 นี้กำไรรวมของกลุ่มธนาคารไทยจะอยู่ที่ 64,300-66,300 ล้านบาท และกำไรในช่วงครึ่งปีแรกนั้นอยู่ที่ 119,000-121,000 ล้านบาท

ในไตรมาส 2 นี้รายงานดังกล่าวยังชี้ถึงการเติบโตของสินเชื่อที่ขยายตัวช้าลงอยู่ที่ 0.5-0.7% เท่านั้น รวมถึงต้นทุนของธนาคารที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลทำให้รายได้ดอกเบี้ยและส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของกลุ่มธนาคารไทยขยับเพิ่มขึ้นได้ในกรอบจำกัด โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 2.96-3.00% เท่านั้นในไตรมาส 2 นี้

ขณะที่เรื่องของหนี้เสีย (NPL) รายงานดังกล่าวชี้ว่า คุณภาพหนี้อาจด้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าเปราะบางและกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาเฉพาะ สาเหตุสำคัญคือเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า และลูกค้าบางส่วนทยอยออกจาก มาตรการช่วยเหลือของธนาคาร

บทวิเคราะห์ดังกล่าวยังชี้ถึงอุปสรรคของกลุ่มธนาคารไทยครึ่งปีหลังไม่ว่าจะเป็น

  1. สภาวะเศรษฐกิจไทย ในรายงานชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจท่ีฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึงยังส่งผลกระทบต่อสถานการณ์รายได้และความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้บางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและครัวเรือนรายย่อยที่มีรายรับ ไม่สม่ำเสมอ และกลุ่มลูกหนี้ที่เพิ่งออกจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน
  2. กฏเกณฑ์ กติกา หรือมาตรการของทางการท่ีกาลังจะทยอยปรับเปลี่ยน อาจมีผลจำกัดการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้า เช่น การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ การเข้ามาดูแลโครงสร้างของค่าธรรมเนียมต่างๆ

สำหรับในช่วงท่ีเหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าแม้กำไรของกลุ่มธนาคารไทยจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมา แต่ยังต้องพบกับความท้าทายอีกมากจาก 2 ปัจจัยดังกล่าว

]]>
1438429
รวมมิตร 10 “ธนาคาร” พักชำระหนี้ “ทั้งต้นทั้งดอก” ช่วยลูกค้าธุรกิจ-รายย่อยช่วงล็อกดาวน์ https://positioningmag.com/1343172 Mon, 19 Jul 2021 15:13:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1343172 สารพัดธนาคารทยอยออกนโยบาย “พักชำระหนี้” เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจและรายย่อยช่วงล็อกดาวน์ โดยมี 10 ธนาคารนี้ที่พักชำระแบบ “ทั้งต้นทั้งดอก” ยาว 2-3 เดือน

1.LH Bank

LH BANK พักชำระหนี้นโยบายพักชำระหนี้สำหรับ “สินเชื่อธุรกิจ SME” และ “สินเชื่อรายย่อย” ที่ต้องปิดกิจการตามมาตรการของภาครัฐ (ทั้งในและนอกพื้นที่ควบคุมฯ) ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน

แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. – 15 ส.ค. 64 สำหรับสินเชื่อธุรกิจติดต่อที่เจ้าหน้าที่ดูแลสินเชื่อของท่าน สินเชื่อรายย่อยลงทะเบียนจาก QR Code ในภาพด้านบน สอบถามเพิ่มเติมโทร. 1327

ทั้งนี้ สำหรับลูกค้าที่ยังเปิดกิจการได้แต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐทำให้รายได้ลดลง ธนาคารจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป

 

2.ธนาคารกรุงไทย

ธนาคารกรุงไทย พักชำระหนี้นโยบายพักชำระหนี้ “สินเชื่อธุรกิจ” และ “สินเชื่อรายย่อย” ของลูกหนี้ทั้งที่เป็นเจ้าของกิจการและลูกจ้าง ในสถานประกอบการที่ได้รับคำสั่งให้ปิดกิจการตามคำสั่งภาครัฐ ให้พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน

แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. – 15 ส.ค. 64 ที่หน่วยงานที่ดูแลสินเชื่อของท่าน หรือธนาคารกรุงไทยทุกสาขา สอบถามเพิ่มเติมโทร. 02-111-1111

 

3.ธนาคารออมสิน

ออมสิน พักชำระหนี้

นโยบายพักชำระหนี้ “สินเชื่อธุรกิจ” และ “สินเชื่อรายย่อย” ของลูกหนี้ทั้งที่เป็นเจ้าของกิจการและลูกจ้าง ในสถานประกอบการที่ได้รับคำสั่งให้ปิดกิจการตามคำสั่งภาครัฐ เช่น สปาและนวด สถานเสริมความงาม บริการเพื่อสุขภาพ ร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ให้พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน

ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 64 เวลา 8.00 น. – 15 ส.ค. 64 เวลา 16.00 น. ที่ www.gsb.or.th  สอบถามเพิ่มเติม โทร. 1115

 

4.ธนาคารไทยพาณิชย์

SCB พักชำระหนี้นโยบายพักชำระหนี้ “สินเชื่อธุรกิจ” และ “สินเชื่อรายย่อย” ของลูกหนี้ทั้งที่เป็นเจ้าของกิจการและลูกจ้าง ในสถานประกอบการที่ได้รับคำสั่งให้ปิดกิจการตามคำสั่งภาครัฐ เช่น สปาและนวด สถานเสริมความงาม ร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ให้พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน

ทั้งนี้ สินเชื่อดังกล่าวหมายรวมถึงบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย และสินเชื่อธุรกิจ SME

ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. – 15 ส.ค. 64 สินเชื่อธุรกิจติดต่อที่ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ที่ดูแลท่าน หรือโทร. 02-777-7777 สำหรับสินเชื่อรายย่อยติดต่อผ่านแอป SCB EASY

 

5.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

CIMB THAI พักชำระหนี้นโยบายพักชำระหนี้สำหรับ “รายย่อย” กลุ่มผู้กู้สินเชื่อบุคคลเพอร์ซันนัลแคช สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน ให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ 3 เดือน ผู้ที่สนใจแอดไลน์ @CIMBTHAI และแจ้งความประสงค์ได้

ด้านกลุ่ม สินเชื่อ SME ให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ 2 เดือน โดยติดต่อผ่านพนักงานธนาคารที่ดูแลสินเชื่อของท่าน

ทั้งกลุ่มรายย่อยและธุรกิจ ต้องแสดงข้อมูลว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ เช่น เปิดร้านหรือทำงานในร้านค้าบนห้างสรรพสินค้า โดยแสดงหลักฐานเป็นประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือประกาศของห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

สามารถลงทะเบียนหรือแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. – 15 ส.ค. 64 สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-626-7777 ทุกวัน เวลา 07.00-19.00 น.

 

6.ธนาคารยูโอบี

UOB พักชำระหนี้นโยบายพักชำระหนี้สำหรับลูกจ้างและนายจ้างในกิจการที่ต้องปิดตามมาตรการของภาครัฐ ธนาคารยูโอบีพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน

แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. – 15 ส.ค. 64 สำหรับสินเชื่อธุรกิจติดต่อเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ที่ดูแลสินเชื่อของท่าน สำหรับสินเชื่อรายย่อยดูรายละเอียดเพิ่มที่ www.uob.co.th หรือ โทร. 02-285-1555

ทั้งนี้ สำหรับลูกค้าที่ยังเปิดกิจการได้แต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐทำให้รายได้ลดลง ธนาคารจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป

 

7.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

ธอส. พักชำระหนี้พักชำระหนี้ให้กับลูกค้าทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่สถานประกอบการถูกปิดกิจการตามคำสั่งภาครัฐ ทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ รวมทั้งกลุ่มลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ และกลุ่มที่มีสถานะ NPL ให้พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้ 3 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564

ลงทะเบียนขอพักชำระหนี้ได้ระหว่างวันที่ 19 ก.ค. – 29 ส.ค. 64 (ปิดระบบ 20.00 น.) ลงทะเบียนได้ 3 ช่องทางคือ แอปพลิเคชัน GHB ALL, เว็บไซต์ www.ghbank.co.th และไลน์ GHB Buddy

 

8.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ธกส พักชำระหนี้มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือลูกค้าเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 2 เดือน

สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. – 15 ส.ค. 64 สำหรับลูกค้าเกษตรกรและบุคคล แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. – 15 ธ.ค. 64

ติดต่อได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ ไลน์ BAAC Family, โทร. 02-555-0555 , เว็บไซต์ www.baac.or.th และ ติดต่อที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา

 

9.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)

ไอแบงก์ พักชำระหนี้ไอแบงก์มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการตามมาตรการควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สามารถพักชำระหนี้และกำไรได้ 2 เดือน

ติดต่อแจ้งความประสงค์ได้ที่เจ้าหน้าที่สินเชื่อ หรืออีเมล covidretail@ibank.co.th ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. – 15 ส.ค. 64 สอบถามเพิ่มเติมโทร. 1302

10.ธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทย แบ่งเบาภาระให้ลูกค้า SME และลูกค้ารายย่อยที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ ด้วยมาตรการพักชำระหนี้ โดยเป็นการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ระยะเวลา 2 เดือน เริ่มการพักชำระตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือน ก.ค. 2564 เป็นต้นไป

โดยลูกค้าที่สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ คือ
– ลูกค้าทั้งที่เป็นนายจ้าง และลูกจ้างในสถานประกอบการที่ต้องปิดกิจการในพื้นที่ควบคุมฯ รวมถึงลูกหนี้ที่ต้องปิดกิจการที่อยู่นอกพื้นที่ควบคุมฯ เช่น ร้านนวด-สปา ร้านเสริมความงาม ร้านขายของในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
– ลูกหนี้ไม่เป็น NPL ณ วันที่ลงทะเบียนมาตรการช่วยเหลือ

โดยสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2564
-ลูกค้า SME ติดต่อผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้า หรือ K-BIZ Contact Center 02-8888822
-ลูกค้ารายย่อย ติดต่อ K-Contact Center 02-8888888
LINE KBank Live 👉 https://kbank.co/LINEfriend

 

อ่านข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม

]]>
1343172
กำไร ‘เเบงก์พาณิชย์’ ปี 2563 ลดลง 46% เเต่สินเชื่อโต 5.1% ‘หนี้เสีย’ ทั้งระบบขยับเพิ่มขึ้น https://positioningmag.com/1320360 Mon, 22 Feb 2021 09:23:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320360 เเบงก์ชาติเผยปี 2563 ธนาคารพาณิชย์ในไทย ทำกำไรลดลง 46% อยู่ที่ 1.46 เเสนล้านบาท ผลจากการกันสำรองเพิ่มขึ้นช่วง COVID-19 ภาพรวมสินเชื่อโต 5.1% ด้าน NPL เพิ่มขึ้นที่ 3.12% ลูกหนี้กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวโรงเเรมน่าเป็นห่วงสุด 

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยใน ปี 2563 ว่า มีกำไรสุทธิราว 146,200 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ราว  271,000 ล้านบาท หรือลดลง 46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ปัจจัยหลักๆ มาจากการกันสำรองในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อองรับผลกระทบจาก COVID-19 ต่อคุณภาพหนี้ในระยะต่อไป ประกอบกับผลของฐานสูงจากรายได้จากเงินลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยพิเศษในปีก่อน 

โดยระบบธนาคารพาณิชย์ มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,994.3 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 20.1% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 799.1 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 149.2% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 179.6%

สำหรับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 0.65% จากปีก่อนที่ 1.39% และอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.51% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.73%

ด้านภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ในปีที่ผ่านมา ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.1% จากปีก่อนที่ขยายตัว 2%

สินเชื่อธุรกิจ ขยายตัว 5.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัว 0.8% ปัจจัยหลักจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ส่วนหนึ่งกลับมาใช้สินเชื่อแทนการออกตราสารหนี้ในช่วงไตรมาส 2/63

สินเชื่อ SMEs หดตัวในอัตราที่ลดลงจากผลของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan)

สินเชื่อที่อยู่อาศัย ขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะแนวราบที่ปรับดีขึ้นและแคมเปญการตลาดของผู้ประกอบการ

สินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัว 4.6% ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 7.5% สอดคล้องกับกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด

คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นในทุกพอร์ตสินเชื่อ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

ด้านคุณภาพสินเชื่อลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ Stage3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.233 เเสนล้านบาท คิดเป็น 3.12%

ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม อยู่ที่ 6.62% ส่วนแนวโน้ม NPL นั้นคาดว่าจะทยอยเพิ่มขึ้น จากกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือมีหนี้ที่มีปัญหาที่หลากหลาย

กลุ่มลูกหนี้ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ลูกหนี้ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างหนัก เช่นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเเละโรงเเรม เเม้จะเริ่มฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวในประเทศ เเต่เมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ก็ทำให้คนไทยท่องเที่ยวน้อยลง โดยโรงเเรมหรือธุรกิจที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 100% ก็ยังต้องรอความคืบหน้าในเรื่องวัคซีน

ทั้งนี้ พอร์ตลูกหนี้กลุ่มธุรกิจโรงแรม มีอยู่ประมาณ 4 แสนล้านบาทในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

 

]]>
1320360
“TMB” แชมป์ธนาคาร “เป็นธรรม-รับผิดชอบสังคม” สูงสุด “กรุงไทย” ก้าวกระโดดคว้าอันดับ 2 https://positioningmag.com/1315423 Wed, 20 Jan 2021 13:26:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1315423 Fair Finance Thailand ประกาศผลธนาคารที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อสังคมสูงสุดปี 2563 แชมป์เก่า “TMB” ยังครองแชมป์ต่ออีกสมัย ด้านธนาคาร “กรุงไทย” ก้าวกระโดดขึ้นสู่อันดับ 2 ไฮไลต์การพัฒนาความรับผิดชอบสังคมปีนี้ มีตั้งแต่นโยบายต่อต้านการทุจริต ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ จนถึงการไม่เก็บค่าธรรมเนียมการเปิดบัญชีพื้นฐาน

Fair Finance Thailand จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้วในประเทศไทย โดยการประเมินนี้เป็นเครือข่ายและใช้ดัชนีชี้วัดจาก Fair Finance International (FFI) ซึ่งริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2552 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันมีทั้งหมด
11 ประเทศที่นำดัชนีนี้มาใช้ชี้วัดการทำงานที่รับผิดชอบสังคมของธนาคาร ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เยอรมนี นอร์เวย์ สวีเดน บราซิล อินเดีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม

สำหรับ Fair Finance Thailand มีองค์กรที่มีส่วนร่วมในการประเมินทั้งหมด 5 แห่ง คือ ป่าสาละ, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิบูรณะนิเวศ และ International Rivers โดยการเปิดรายชื่ออันดับปีนี้นำโดย “สฤณี อาชวานันทกุล” หัวหน้าคณะวิจัย Fair Finance Thailand เป็นผู้รายงาน

การวัดผลความเป็นธรรมและรับผิดชอบ มีดัชนีชี้วัด 3 หมวด 13 หัวข้อหลัก ซึ่งจะแตกออกเป็นมากกว่า 200 หัวข้อย่อย หัวข้อหลักที่วัดผล เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ผลกระทบต่อสุขภาพ (ซึ่งเป็นหัวข้อใหม่), สิทธิแรงงาน, ความเท่าเทียมทางเพศ, การคุ้มครองผู้บริโภค, ความโปร่งใสและความรับผิด เป็นต้น การวัดผลทั้งหมดจะมาจากการตรวจสอบนโยบายที่ประกาศเป็นสาธารณะเท่านั้น เช่น รายงานประจำปี ข้อมูลบนเว็บไซต์

ปี 2563 มีธนาคารที่ได้รับการประเมินทั้งหมด 12 แห่ง ไล่เรียงตามขนาดสินทรัพย์ ดังนี้ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารออมสิน (GSB), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารทีเอ็มบี (TMB), ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP), ธนาคารทิสโก้ (TISCO) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank)

ทั้งนี้ ธนาคารที่ออกจากรายชื่อการประเมินปีนี้คือธนาคารธนชาตเนื่องจากได้ควบรวมกับ TMB แล้ว และธนาคาร 4 แห่งที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะจัดอันดับแยกออกไป เนื่องจากภารกิจบางอย่างไม่สอดคล้องกับดัชนีชี้วัด ได้แก่ ธ.ออมสิน ธกส. ธอส. และ SME Bank

ผลสรุป อันดับธนาคารพาณิชย์ใน Fair Finance Thailand 2563 เป็นธรรม-รับผิดชอบสังคมสูงสุด ได้แก่

1) ทีเอ็มบี คะแนน 38.9% (เพิ่มขึ้น +72%)
2) กรุงไทย คะแนน 22.4% (เพิ่มขึ้น +43%)
3) กรุงเทพ คะแนน 21.8% (เพิ่มขึ้น +28%)
4) ไทยพาณิชย์ คะแนน 21.2% (เพิ่มขึ้น +4%)
5) กสิกรไทย คะแนน 20.6% (ลดลง -0.5%)
6) กรุงศรีอยุธยา คะแนน 16.9% (ลดลง -1.9%)
7) เกียรตินาคินภัทร คะแนน 16.1% (เพิ่มขึ้น +0.5%)
8) ทิสโก้ คะแนน 15.9% (ลดลง -0.9%)

(Photo : Fair Finance Thailand)

ผลสรุป อันดับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐใน Fair Finance Thailand 2563 เป็นธรรม-รับผิดชอบสังคมสูงสุด ได้แก่

1) ธกส. คะแนน 22.1%
2) ออมสิน คะแนน 15.4%
3) ธอส. คะแนน 11.0%
4) SME Bank คะแนน 9.0%

สฤณีกล่าวว่า ปี 2563 ธนาคารทีเอ็มบียังคงครองแชมป์ และพัฒนาขึ้นสูงมาก มีหลายดัชนีชี้วัดที่ทีเอ็มบีเป็นธนาคารเดียวในไทยที่มีนโยบาย ส่วนธนาคารกรุงไทยมีการพัฒนาที่สูงไม่แพ้กัน โดยปรับตัวขึ้นจากอันดับ 7 เมื่อปีก่อนมาเป็นอันดับ 2 ในปีนี้

“ภาพรวมค่าเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ของไทยอยู่ที่ 21.7% ซึ่งพัฒนาขึ้นไวมาก จากเมื่อสองปีก่อนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 12% เท่านั้น เห็นได้ชัดว่าเกิดบรรยากาศการแข่งขันที่ดีในหมู่ธนาคารที่จะมีความรับผิดชอบสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 5 อันดับแรก” สฤณีกล่าว

สำหรับหัวข้อที่ธนาคารไทยให้ความใส่ใจสูงสุด คือ “การคุ้มครองผู้บริโภค” ซึ่งทุกธนาคารจะมีนโยบายเกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้ ในทางกลับกัน หัวข้อที่ธนาคารไทยยังมีนโยบายน้อยคือ “สิทธิมนุษยชน” ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทีเอ็มบีได้คะแนนสูง เพราะเป็นธนาคารที่มีนโยบายในด้านนี้มากกว่าธนาคารอื่นอย่างเห็นได้ชัด

 

ไฮไลต์ “นโยบายเพื่อสังคม” ที่โดดเด่นของธนาคารชั้นนำ

สฤณียังนำเสนอไฮไลต์ตัวอย่างนโยบายเพื่อสังคมเด่นๆ ของกลุ่มธนาคาร 5 อันดับแรกที่น่าสนใจ ดังนี้

1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – จัดรายการธุรกิจ “เหมืองถ่านหิน” หรือ “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ให้อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน (exclusion list) –> ธนาคารที่มีนโยบาย : TMB

2) การต่อต้านการทุจริต – ประกาศไม่ทำกิจกรรมใดๆ กับล็อบบี้ยิสต์ –> ธนาคารที่มีนโยบาย : TMB, KTB, SCB

“ความเท่าเทียมทางเพศ” เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมและรับผิดชอบสังคม

3) ความเท่าเทียมทางเพศ – กำหนดเป้าหมายรักษาสัดส่วนผู้บริหาร “หญิง” ไม่น้อยกว่า 40% ของตำแหน่งผู้บริหารทั้งหมด –> ธนาคารที่มีนโยบาย : TMB

4) การขยายบริการทางการเงินมีบัญชีเงินฝากพื้นฐานที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการเปิดบัญชี –> ธนาคารที่มีนโยบาย : KTB, KBANK

5) นโยบายค่าตอบแทน – การจ่ายค่าตอบแทนโบนัสกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานตั้งอยู่บนเกณฑ์อื่นนอกเหนือจากธุรกิจด้วย เช่น ความพึงพอใจของผู้รับบริการ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (เป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้ผู้บริหาร/พนักงานนำกลยุทธ์ความยั่งยืนต่างๆ ไปใช้จริง) –> ธนาคารที่มีนโยบาย : TMB,KTB, SCB, KBANK

 

“แชมป์” TMB มีนโยบายจัดลิสต์ธุรกิจที่ “ไม่ปล่อยกู้”

สำหรับบริษัทที่ได้อันดับ 1 อีกครั้งในปีนี้ มีนโยบายที่น่าสนใจและแตกต่างจากธนาคารอื่น คือการจัดทำ “รายการธุรกิจที่ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน” (exclusion list) ด้วย โดยรายการธุรกิจเหล่านี้ถูกแบนด้วยเหตุผลด้านการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม

ต่อประเด็นนี้ “นริศ อารักษ์สกุลวงศ์” หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีเอ็มบีจัดทำนโยบายนี้ โดยอ้างอิงกรอบการทำงานมาจาก ING ธนาคารที่เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในทีเอ็มบี แบ่งลิสต์ออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

“รายการธุรกิจที่ไม่สนับสนุนทางการเงิน”
1) การพนัน
2) ภาพอนาจาร
3) ธุรกิจที่เกี่ยวพันกับสวัสดิภาพสัตว์
4) อาวุธที่เป็นประเด็นในสังคม (เช่น โดรนโจมตีอัตโนมัติ)
5) พลังงาน
6) การประมง
7) ป่าไม้
8) พันธุวิศวกรรม
9) แร่ธาตุ
10) เหมืองถ่านหิน
11) พื้นที่หวงห้าม

“รายการธุรกิจที่จะพิจารณาอย่างเข้มงวด”
1) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2) อาวุธ เครื่องมือป้องกันตัว
3) พลังงาน เคมีภัณฑ์ ทรัพยากรธรรมชาติ
4) แร่กัมมันตรังสี
5) ยาสูบ

“รายการธุรกิจที่ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน” (exclusion list) ของทีเอ็มบี (Photo : TMB)

นริศกล่าวว่า ลิสต์เหล่านี้จัดทำขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่า ธุรกิจที่ธนาคารสนับสนุนด้วยการให้สินเชื่อจะตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนในภาพใหญ่ที่ธนาคารวางแนวทางไว้ นอกจากกรอบคิดจาก ING แล้ว ในประเทศไทยเอง ทีเอ็มบีก็กำลังพยายามมองโจทย์ของประเทศด้วย เช่น ขณะนี้ทีเอ็มบีกำลังมุ่งเน้นหารือกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “ไร่อ้อย” เพื่อหาความร่วมมือสนับสนุนให้ธุรกิจมีการเผาไร่อ้อยลดลง เพื่อร่วมแก้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเผาไร่ทางการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุของ PM 2.5

การจัดอันดับตามดัชนีชี้วัดของ Fair Finance Thailand ทำให้เห็นว่า “ธนาคาร” สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งการทำงานทางตรงภายในธนาคารเอง และในฐานะที่เป็นแหล่งทุนในการทำธุรกิจ

]]>
1315423
กำไร “แบงก์ไทย” ลดฮวบ คาดไตรมาส 3 หดตัวลึก -66.5% หาย 6 หมื่นล้าน สิ้นปี “ทรุดกว่า” https://positioningmag.com/1300840 Fri, 09 Oct 2020 09:48:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1300840 ธนาคารพาณิชย์ในไทย เจอพิษ COVID-19 ไตรมาส 3 ปีนี้ คาดกำไรสุทธิหดตัวลึก -66.5% หรือลดฮวบลงกว่า 6 หมื่นล้านบาท มองไตรมาสสุดท้าย “ทรุดหนักกว่า” จากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว คุณภาพหนี้แย่ลง หาทางรับมือหลังหมดมาตรการ “พักหนี้”

จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ยังคงกดดันความสามารถในการ “ทำกำไร” ของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2563 โดยรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม มีแนวโน้มลดลงตามการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในหลายๆ ภาคส่วน นอกจากนี้ รายได้ดอกเบี้ยของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ยังได้รับผลกระทบมากขึ้น จากทิศทางขาลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ด้วย

กำไร “เเบงก์ไทย” ลดฮวบ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ ถึงผลประกอบการระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 3 /2563 โดยคาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ จะยังเผชิญแรงกดดันต่อเนื่อง แม้ระดับกำไรสุทธิอาจจะขยับขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563

โดยคาดว่า กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 3/2563 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท หรือ -66.5% YoY เมื่อเทียบกับที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 9.16 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3/2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง มีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทประกันซึ่งธนาคารถือหุ้นอยู่

อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิที่ระดับดังกล่าวขยับขึ้นเล็กน้อยประมาณ 3.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ในไตรมาส 3/2563 ของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอาจชะลอลงบางส่วน หลังจากที่มี
นโยบายการตั้งสำรองฯ เชิงรุกในระดับที่สูงมากในไตรมาส 2/2563 ที่ผ่านมา

ขณะที่ “รายได้จากธุรกิจหลัก” ยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ที่โดนกระทบหนักจากวิกฤต COVID-19

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 4/2563 คาดว่า การประคองทิศทางรายได้และกำไรสุทธิ จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น เนื่องจากต้องรับมือกับการจัดการปัญหาหนี้เสีย การดูแลปรับโครงสร้างลูกหนี้ ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ และอื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นไปพร้อมกัน

Photo : Shutterstock

สินเชื่อ ชะลอตัว – NIM ปรับลด – คุณภาพหนี้แย่ลง

KBANK มองว่า “สินเชื่อ” ของธนาคารพาณิชย์ไทย อาจเติบโตในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 4.5-4.8% YoY ในไตรมาส 3/2563 จาก 5.1% YoY ในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากยังต้องประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าที่มาขอสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง ประกอบกับมีการทยอยชำระคืนสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่บางราย

ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่าหลังจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินทยอยครบกำหนดลง มีลูกหนี้ธุรกิจและรายย่อยบางส่วนเริ่มกลับมาชำระคืนหนี้ในช่วงไตรมาส 3/2563 นี้ด้วยเช่นกัน

โดย NIM ไตรมาส 3/2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.65-2.70% จาก 2.73% ในไตรมาส 2/2563 เป็นผลต่อเนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับสินเชื่อปล่อยใหม่ส่วนใหญ่ รวมถึงสินเชื่อรีไฟแนนซ์ในระยะนี้ เป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง นอกจากนี้ เพดานใหม่สำหรับดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ก็เริ่มมีผลบังคับแล้ว ตั้งแต่เดือนส.ค. 2563 ที่ผ่านมา

ด้าน “คุณภาพสินเชื่อ” ในพอร์ตถดถอยลง ตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจ คาดว่า สัดส่วน NPLs ของระบบธนาคารไทยในไตรมาส 3/2563 จะขยับขึ้นไปที่กรอบประมาณ 3.25-3.35% จากระดับ 3.21% ในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของมาตรการพักชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ประกอบกับคาดว่า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะเร่งจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งด้วยวิธีการตัดขายหนี้ด้อยคุณภาพ และเร่งปรับโครงสร้างหนี้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การตั้งสำรองฯ จะยังอยู่ในระดับสูงในไตรมาส 3/2563 แม้จะมีการตั้งสำรองฯ ก้อนใหญ่ไปแล้วในไตรมาส 2/2563 ดังนั้นสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจชะลอลงเล็กน้อยมาอยู่ในกรอบประมาณ 1.80-1.95% ในไตรมาส 3/2563 เทียบกับ 2.15% ในไตรมาส 2/2563

“ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ คงเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ไว้เพื่อรองรับปัญหาคุณภาพหนี้ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทยอยสิ้นสุดลงหลังในเดือนตุลาคมนี้” 

โจทย์ยาก เมื่อ SMEs หมดมาตรการ “พักหนี้”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เมื่อจบไตรมาส 3/2563 สินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์จะมีสัดส่วนประมาณ 28.5% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงเล็กน้อยจากสัดส่วนประมาณ 31.0% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากลูกหนี้บางส่วนกลับมาชำระคืนหนี้ได้ตามปกติหลังมาตรการช่วยเหลือรอบแรกทยอยสิ้นสุดลง

“การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บุคคลและลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs หลังจากมาตรการพักหนี้สิ้นสุดลง ยังคงเป็นโจทย์ยากและมีความท้าทายสำหรับธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังมีสถานะทางการเงินที่เปราะบาง ขณะที่สัญญาณอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่ลากยาวต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ได้อีกในอนาคต” 

ดังนั้น แม้มาตรการพักชำระหนี้ธุรกิจเป็นการทั่วไปจะทยอยสิ้นสุดลง แต่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะยังคงให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้ทั้งลูกหนี้ธุรกิจและลูกหนี้รายย่อยในรูปแบบอื่นต่อไป ควบคู่ไปกับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวทางของธนาคาร หรือผ่านโครงการ DR BIZ มาตรการรวมหนี้ ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ซึ่งยังสามารถเข้าโครงการได้จนถึงสิ้นปี 2563

โดยหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาความสอดคล้องกันระหว่างกระแสรายได้-ภาระหนี้ ซึ่งแยกตามลักษณะของลูกหนี้แต่ละกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและมีจังหวะและโอกาสในการฟื้นธุรกิจแตกต่างกัน

Photo : Shutterstock

ไตรมาสสุดท้าย “ทรุดหนักกว่า” 

การประคองความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ยังคงมีความท้าทายไม่น้อยไปกว่าหลายๆ ไตรมาสที่ผ่านมา เพราะแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยกลับมาหลังการคลายล็อกดาวน์ แต่ก็เป็นการฟื้นตัวที่เปราะบางมากเพราะแรงขับเคลื่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและท่องเที่ยว ยังไม่สามารถฟื้นกลไกการทำงานกลับมาได้อย่างเต็มที่

“ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะยังเป็นช่วงที่ธนาคารมีค่าใช้จ่ายรวมสูงกว่าไตรมาสอื่นๆ เพราะมีทั้งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ที่น่าจะยังอยู่ในระดับสูง ค่าแคมเปญการตลาด ค่าอุปกรณ์และสถานที่ และรายจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งท้ายที่สุด คาดว่าจะมีผลกดดันให้กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยติดลบ YoY ต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 โดยระดับกำไรสุทธิมีแนวโน้มลดต่ำลงกว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 3/2563 ซึ่งคาดไว้ที่ประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท”

 

]]>
1300840
ใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ “6 บิ๊กธนาคาร” ในไทย? https://positioningmag.com/1297995 Mon, 21 Sep 2020 06:18:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1297995 ธนาคารมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเเละเป็นธุรกิจที่อยู่ใกล้ชิดในชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างมาก เมื่อทุกคนต้องใช้เงินทั้งฝากถอนโอนกู้ลงทุนเเละอีกมากมาย

ผลกระทบของ COVID-19 ตั้งเเต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์อยู่ในทิศทางขาลงโดยภาพรวมยังมีแรงกดดัน จากความกังวลต่อหนี้ NPL ที่อาจสูงขึ้นอีกในอนาคต บวกกับความระอุของการเมืองที่ปลุกกระเเสการเเบน การถอนเงินเเละปิดบัญชีในบางเเบงก์ขึ้นมา ยิ่งทำให้ถูกแนะนำว่าเป็นกลุ่มหุ้นที่ควรเลี่ยงการลงทุน

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีธนาคารพาณิชย์อยู่ทั้งหมด 30 แห่ง เเต่บิ๊กเเบงก์ที่มีมูลค่ากิจการเเตะ 1 เเสนล้านบาทนั้นมีอยู่ 6 เเห่งด้วยกัน เรามาดูกันว่า ธนาคารใหญ่ๆ ในประเทศไทย…มีใครเป็นเจ้าของกันบ้าง

ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB

เริ่มจากธนาคารที่เก่าเเก่ที่สุดในไทย ที่มีอายุกว่า 115 ปีอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด “มากที่สุด” ในวงการธนาคารไทยที่ 228,353.45 ล้านบาท อัตราเงินปันผลตอบแทนล่าสุด 9.29% โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนี้

  1. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวนหุ้น 793,832,359 คิดเป็น 23.38%
  2. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 392,649,100 คิดเป็น 11.56%
  3. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 392,649,100 คิดเป็น 11.56%
  4. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวนหุ้น 346,262,309 คิดเป็น 10.20%
  5. สำนักงานประกันสังคม จำนวนหุ้น 109,198,100 คิดเป็น 3.22%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา BAY

ตามมาด้วย เเบงก์สีเหลืองอย่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 144,908.51 ล้านบาท อัตราเงินปันผลตอบแทนล่าสุด 4.31% โดยในส่วนของ BAY ที่มีเจ้าของคือ MUFG Bank ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ถือหุ้นกว่า 76.88% ถือว่าเป็นทุนต่างชาติที่ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนที่มากกว่าธนาคารอื่นมาก ซึ่งทำให้ BAY มีสัดส่วนผู้ถือหุ้น “รายย่อย” น้อยกว่าธนาคารใหญ่อื่นๆ มากด้วย

  1. MUFG BANK, LTD. จำนวนหุ้น 5,655,332,146 คิดเป็น 76.88%
  2. บริษัท สตรองโฮลด์ แอสเซ็ทส์ จำกัด จำนวนหุ้น 166,536,980 คิดเป็น 2.26%
  3. บริษัท ทุนมหาโชค จำกัด จำนวนหุ้น 166,478,940 คิดเป็น 2.26%
  4. บริษัท จี แอล แอสเซทส์ จำกัด จำนวนหุ้น 166,414,640 คิดเป็น 2.26%
  5. บริษัท บีบีทีวี แซทเทลวิชั่น จำกัด จำนวนหุ้น 166,151,114 คิดเป็น 2.26%

อีกหนึ่งเเบงก์ใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 192,793.13 ล้านบาท อัตราเงินปันผลตอบแทน 6.93% มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ค่อนข้างกระจายตัว ทั้งบริษัทไทย บริษัทต่างชาติ กองทุนและบริษัทนอมินี โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนี้
  1. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวนหุ้น 448,535,678 คิดเป็น 23.50%
  2. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED จำนวนหุ้น 98,649,920 คิดเป็น 5.17%
  3. สำนักงานประกันสังคม จำนวนหุ้น 85,852,300 คิดเป็น 4.50%
  4. UOB KAY HIAN (HONG KONG) LIMITED – Client Account จำนวนหุ้น 39,837,220 คิดเป็น 2.09%
  5. STATE STREET EUROPE LIMITED จำนวนหุ้น 36,715,127 คิดเป็น 1.92%
Photo : Shutterstock
ฝั่งธนาคารทหารไทย มีมูลค่ากิจการตามราคาตลาด 87,732.57 ล้านบาท (ปรับลดจากระดับเเสนล้านบาทในช่วงต้นปีนี้) เงินปันผลล่าสุดเท่ากับ 3.54% ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดย ธนาคาร ING จากเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ ดีลใหญ่วงการธนาคารที่ TMB เข้าควบรวมกับธนาคารธนชาต ทำให้บริษัททุนธนชาตหรือ TCAP เข้ามาถือหุ้นด้วยในสัดส่วน 20.12% โดยตอนนี้ TMB ยังมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนี้
  1. ING BANK N.V. จำนวนหุ้น 22,190,033,791 คิดเป็น 23.03%
  2. บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 19,389,891,967 คิดเป็น 20.12%
  3. กระทรวงการคลัง จำนวนหุ้น 11,364,282,005 คิดเป็น 11.79%
  4. THE BANK OF NOVA SCOTIA จำนวนหุ้น 5,023,611,111 คิดเป็น 5.21%
  5. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 4,926,405,658 คิดเป็น 5.11%
  6. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 4,926,405,657 คิดเป็น 5.11%

ธนาคารกรุงไทย KTB

กรุงไทย มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 132,772.58 ล้านบาท อัตราเงินปันผลตอบแทน 7.93% โดยเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ทำให้มีลูกค้าเป็นข้าราชการจำนวนมาก มีโครงการรัฐต่างๆ ผ่านธนาคารนี้ อย่างเช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นต้น

  1. กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวนหุ้น 7,696,248,833 คิดเป็น 55.07%
  2. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวนหุ้น 834,921,543 คิดเป็น 5.97%
  3. STATE STREET EUROPE LIMITED จำนวนหุ้น 362,902,099 คิดเป็น 2.60%
  4. สหกรณ์ออมทรัพย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด จำนวนหุ้น 326,090,300 คิดเป็น 2.33%
  5. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 305,775,658 คิดเป็น 2.19%
  6. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 305,775,657 คิดเป็น 2.19% 
Photo : Shutterstock

ธนาคารกสิกรไทย KBANK

เเบงก์ใหญ่สีเขียวที่มีอายุกว่า 75 ปีอย่าง KBANK มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 192,059.13 ล้านบาท อัตราเงินปันผลตอบแทนล่าสุด 6.24% มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่กระจายตัวทั้งบริษัทไทย กองทุน บริษัทต่างชาติเเละบริษัทนอมินี

  1. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวนหุ้น 443,939,592 คิดเป็น 18.55%
  2. STATE STREET EUROPE LIMITED จำนวนหุ้น 203,656,972 คิดเป็น 8.51%
  3. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED จำนวนหุ้น 142,055,420 คิดเป็น 5.94%
  4. สำนักงานประกันสังคม จำนวนหุ้น 85,905,100 คิดเป็น 3.59%
  5. BNY MELLON NOMINEES LIMITED จำนวนหุ้น 78,949,299 คิดเป็น 3.30%
  6. THE BANK OF NEW YORK MELLON จำนวนหุ้น 55,954,035 คิดเป็น 2.34%
Photo : Shutterstock
ข้อมูลจาก : ตลาดหลักทรัพย์เเห่งประเทศไทย (ค่าสถิติสำคัญ ณ วันที่ 18 ก.ย. 2563)
]]>
1297995
แบงก์ไทย ดีเดย์ โอนเงินผ่านเบอร์มือถือ-บัตรปชช. 15 ก.ค. https://positioningmag.com/1094633 Wed, 15 Jun 2016 08:25:29 +0000 http://positioningmag.com/?p=1094633 เมื่อต้นทุนการใช้ “เงินสด” เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับประเทศไทยเองก็ต้องใช้ประโยชน์จากโลก “ดิจิทัล” มากขึ้น

สมาคมธนาคารไทยโดยธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง และ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 แห่ง ประกาศความพร้อมให้ประชาชนลงทะเบียน “บริการพร้อมเพย์” อย่างเป็นทางการพร้อมกันทั่วประเทศ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า บริการพร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ของรัฐบาล ที่จะลดการใช้เงินสดในสังคมไทยซึ่งมีต้นทุนสูง เพื่อจะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะยาว

โอนเงินผ่านเลขบัตรประชาชน/เบอร์มือถือ

เป็นบริการรับโอนเงินแบบใหม่ ที่มีการผูกบัญชีของผู้รับเงินโอนกับเลขที่บัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้โอนสามารถโอนเงินให้ผู้รับโดยไม่ต้องระบุธนาคารและเลขที่บัญชีของผู้รับโอน เพียงระบุเลขประจำตัวประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือของผู้รับโอนที่ผูกไว้ก็สามารถทำธุรกรรมได้

 บริการนี้จะเพิ่มความสะดวกในการโอนเงิน เนื่องจากผู้โอนไม่ต้องจำเลขที่บัญชี และผู้รับโอนไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลบัญชีของตน ลดความเสี่ยงจากการพกพาเงินสดอีกด้วย

ธนาคารพาณิชย์ในไทยทั้ง 15 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ร่วมกันพัฒนาบริการพร้อมเพย์ โดยประชาชนลงทะเบียนเพื่อใช้บริการ โดยมีขั้นตอนการตรวจสอบตัวตนและความเป็นเจ้าของบัญชีของผู้ลงทะเบียน รวมทั้งตรวจสอบความเป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์มือถือ ในกรณีการลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วย

บัญชีผูกกับมือถือได้ 4 เบอร์

สำหรับคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ ต้องเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากและเจ้าของเบอร์ โทรศัพท์มือถือที่จะลงทะเบียน เลือกบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีกระแสรายวัน เป็นบัญชีเดี่ยว (ไม่ใช่บัญชีร่วม) ที่จะใช้เป็นบัญชีหลักในการทำธุรกรรมโอนและรับโอน เพื่อนำมาผูกกับเลขประจำตัวประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือภายใต้บริการพร้อมเพย์ โดยบัญชีธนาคารที่นำมาลงทะเบียน 1 บัญชี จะมีหมายเลข หรือ ID เพื่อการผูกบัญชีได้สูงสุด 4 เบอร์ ได้แก่ เลขประจำตัวประชาชน 1 เบอร์ และหมายเลขโทรศัพท์มือถืออีกไม่เกิน 3 เบอร์ ทั้งนี้ หมายเลข หรือ ID ที่นำมาผูกนั้นจะต้องไม่เคยผูกกับบัญชีใดมาก่อน

ธนาคารจะเปิดรับลงทะเบียนผ่านช่องทางต่าง ๆ ตามความพร้อมของแต่ละธนาคาร อาทิ ช่องทางเอทีเอ็ม ธนาคารทางอินเทอร์เน็ต ธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ และสาขา โดยทุกธนาคารจะเปิดรับลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์อย่างเป็นทางการ พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป โดยไม่มีกำหนดสิ้นสุดการรับลงทะเบียน

กรณีที่ผู้ลงทะเบียนมีความประสงค์จะเปลี่ยนธนาคารที่ผูก ID ไว้ ก็สามารถยกเลิกการลงทะเบียนกับธนาคารเดิมที่ใช้บริการอยู่และไปลงทะเบียนกับธนาคารใหม่ หรือในกรณีที่ผู้ใช้บริการพร้อมเพย์ต้องการเปลี่ยนแปลงหมายเลขบัญชีหรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ก็สามารถทำได้เช่นกัน

ค่าธรรมเนียม

การคิดค่าธรรมเนียมของพร้อมเพย์ จะแตกต่างค่าบริการโอนเงินในปัจจุบัน โดยจะ ไม่มีการแยกรายการเป็นแบบในเขต ข้ามเขต หรือรายการในธนาคารเดียวกันหรือต่างธนาคาร แต่จะคิดจากวงเงินในการโอนแต่ละครั้งเป็นหลัก 

วงเงินไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ ฟรีค่าธรรมเนียมทุกรายการ
วงเงินมากกว่า 5,000 – 30,000 บาท คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาทต่อรายการ
วงเงินมากกว่า 30,000 – 100,000 บาท คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาทต่อรายการ
วงเงินมากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ
ทั้งนี้ บริการพร้อมเพย์จะถือเป็นทางเลือกในการโอนเงินระหว่างบุคคลรูปแบบหนึ่ง ลูกค้ายังคงสามารถเลือกทำธุรกรรมโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์ หรือเลือกทำผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ตามปกติเช่นเดิม

เตรียมเปิดบริการจ่ายบิลเพิ่ม

การให้บริการพร้อมเพย์ จะเริ่มให้บริการรับโอนเงินระหว่างประชาชนได้ ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2559 จากนั้นจะขยายไปสู่บริการธุรกรรมอื่น อาทิ การจ่ายบิลต่าง ๆ

]]>
1094633