ธุรกิจสื่อ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 16 May 2024 06:12:36 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 CEO ของ Disney เผย “จะลดการลงทุนคอนเทนต์ในสื่อโทรทัศน์ลง แม้ช่องทางดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญทางการตลาดก็ตาม” https://positioningmag.com/1473896 Thu, 16 May 2024 02:26:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1473896 CEO ของ Disney ได้กล่าวในงานสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อ โดยเขาได้กล่าวถึงแผนการของบริษัทที่จะลดการลงทุนคอนเทนต์ในสื่อโทรทัศน์ลง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณกลายๆ ว่ายุคทองของโทรทัศน์นั้นกำลังใกล้จะจบสิ้นแล้ว ขณะเดียวกันก็จะโฟกัสไปในเรื่องวิดีโอสตรีมมิ่งแทน

Bob Iger ซึ่งเป็น CEO ของ Walt Disney ได้เปิดเผยในงานสัมมนา ธุรกิจสื่อ ธุรกิจอินเทอร์เน็ต ธุรกิจด้านการสื่อสาร ของบริษัทวิจัย MoffettNathanson’s ว่า Disney จะลดการลงทุนคอนเทนต์ในสื่อโทรทัศน์ลดลงอย่างมาก เพื่อที่จะเน้นไปยังธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างวิดีโอสตรีมมิ่ง ซึ่งผู้ชมกำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

เขายังกล่าวเสริมว่า คอนเทนต์ในสื่อโทรทัศน์ จะโฟกัสไปยังกลุ่มผู้ชมสูงอายุซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถที่จะรับชมความบันเทิงผ่าน Disney+ ได้ แต่ CEO ของ Disney เองก็ยังมองว่าโทรทัศน์ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในด้านการตลาดของบริษัทอยู่

ไม่เพียงเท่านี้เขายังมองว่า Disney กำลังรวบรวมผู้ชมให้มีจำนวนมากขึ้น รวมถึงการใช้การตลาดของเครือข่ายโทรทัศน์ เพื่อช่วยในบางกรณี แต่ในขณะเดียวกันบริษัทก็กำลังตัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

ปัจจุบัน Disney มีช่องโทรทัศน์ทั้งแบบฟรีทีวีคือ ABC ในสหรัฐอเมริกา และยังมีช่องโทรทัศน์สำหรับบริการให้เครือข่ายทีวีบอกรับสมาชิก ไม่ว่าจะเป็น Disney ไปจนถึง National Geographic เป็นต้น อย่างไรก็ดีธุรกิจดังกล่าวนั้นได้รับผลกระทบจากทีวีบอกรับสมาชิกนั้นมีจำนวนสมาชิกลดลงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ผลประกอบการธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่งล่าสุดของ Disney ในไตรมาสล่าสุดนั้นอยู่ที่ 5,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% มีกำไรจากการดำเนินงาน 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นกำไรครั้งแรกในรอบ 5 ปีหลังจากเปิดให้บริการ

CEO ของ Walt Disney ยังมองว่ากลยุทธ์ที่เน้นไปยังแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งแล้วนำคอนเทนต์ไปออกอากาศผ่านช่องทางโทรทัศน์จะเป็นการใช้เครือข่ายสถานีโทรทัศน์หรือแม้แต่ช่องทีวีบอกรับสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

การที่ CEO ของ Walt Disney ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณครั้งใหญ่ว่าช่องทางโทรทัศน์แบบเดิมๆ กำลังอาจใกล้หมดอนาคตเข้าไปทุกขณะ

ที่มา – Reuters

]]>
1473896
สำนักข่าว Vice ยื่นขอ “ล้มละลาย” รายได้ไม่โตติดต่อกันหลายปีจนขาดทุน https://positioningmag.com/1430563 Mon, 15 May 2023 09:43:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1430563 จากบริษัทแสนล้าน เหลือเข้าซื้อได้ในราคาไม่ถึงหมื่นล้าน Vice Media Group บริษัทสื่อชื่อดังด้วยสไตล์คอนเทนต์วัยรุ่นนำสมัย ล่าสุดยื่นขอ “ล้มละลาย” ในสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว และพร้อมขายบริษัทให้กับผู้ให้กู้เงิน

บริษัท Vice Media Group เป็นบริษัทผลิตสื่อที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น นำเสนอคอนเทนต์ในสไตล์นำสมัย และทำสื่อหลากหลายทั้งสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ โทรทัศน์ อีเวนต์ งานดนตรี และภาพยนตร์สารคดี ครั้งหนึ่งบริษัทนี้เคยมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 5,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.92 แสนล้านบาท)

แต่ปัจจุบัน Vice Media Group ได้ยื่นขอ “ล้มละลาย” ในสหรัฐอเมริกาแล้ว และจะขายกิจการด้วยมูลค่าเพียงแค่ 225 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น (ประมาณ 7,600 ล้านบาท) โดยหวังว่าจะกลับมาเป็นบริษัทที่มั่นคงทางการเงินได้ภายในเวลา 2-3 เดือนข้างหน้า

Vice Media Group เริ่มต้นธุรกิจสื่อครั้งแรกเมื่อปี 1994 โดยเริ่มจากการทำนิตยสารชื่อ Voice of Montreal มีผู้ร่วมก่อตั้งคือ เชน สมิธ, เกวิน แมคอินเนส และ ซูรูช อัลวี ก่อนบริษัทจะขยายตัวไปอีกหลายแขนงสื่อ และเปิดทำการไปถึง 30 ประเทศ 25 ภาษา เช่น สหรัฐฯ เม็กซิโก อาร์เจนตินา ฝรั่งเศส กรีซ อินเดีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ฯลฯ

แบรนด์ในเครือ Vice Media Group

ผู้ลงทุนกับบริษัทมีหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น Fortress Investment Group, Monroe Capital และ Soros Fund Management บริษัทที่ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐี จอร์จ โซรอส

ในช่วงที่นักลงทุนรายใหญ่มาร่วมลงทุนได้นั้น เป็นช่วงที่นักลงทุนหวังว่า Vice จะได้รายได้สูงจากการดึงดูดผู้อ่านวัยรุ่นจำนวนมากผ่านทางเครือข่ายโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Instagram

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้วรายได้จากโฆษณาออนไลน์กลับแบ่งส่วนแบ่งใหญ่ไปให้กับยักษ์เทคโนโลยีอย่าง Google และ Meta เจ้าของ Facebook

รายได้ของบริษัท Vice จึงไม่เติบโตมาแล้วหลายปี และทำให้บริษัทยากที่จะทำกำไรได้ แม้ Vice พยายามจะดิ้นรนด้วยเข้าสู่ตลาดหุ้น แต่แผนนี้ก็ไม่สำเร็จ เมื่อเดือนก่อน บริษัทจึงจำเป็นต้องเลย์ออฟพนักงานหลังปิดแผนกผลิตรายการโทรทัศน์

เมื่อ Vice Media ยื่นขอล้มละลาย จะได้รับการคุ้มครองให้เลื่อนการชำระเงินกู้ต่างๆ ไปก่อน เพื่อให้มีเวลาปรับโครงสร้างองค์กร ปรับโครงสร้างหนี้ ตัดขายบางส่วนของธุรกิจ

ขณะนี้ผู้ให้กู้ของ Vice อนุมัติเงินกู้ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 675 ล้านบาท) เพื่อเป็นทุนให้บริษัทยังดำเนินธุรกิจอยู่ได้ในช่วงผ่านการยื่นล้มละลาย และในช่วงเวลานี้อาจมีบริษัทอื่นเข้ามายื่นข้อเสนอซื้อกิจการได้เช่นกัน แต่หากไม่มีข้อเสนอที่ดีกว่าหรือตกลงกันไม่ได้ ผู้ให้กู้เงินของ Vice Media จะสามารถเข้าซื้อบริษัทได้ในราคา 225 ล้านเหรียญดังกล่าวข้างต้น

ปัจจุบันไม่ได้มีแค่ Vice ที่เสี่ยงล้มละลาย บริษัทสื่อคนรุ่นใหม่อีกแห่งหนึ่งอย่าง BuzzFeed หนึ่งในผู้บุกเบิกการทำสื่อออนไลน์ ก็กำลังมีปัญหาการเงิน เมื่อเร็วๆ นี้ BuzzFeed เพิ่งจะปิดแผนกข่าวและเลย์ออฟพนักงานไป 15% ของบริษัท เนื่องจากรายได้โฆษณาตกต่ำอย่างมาก

Source

]]>
1430563
“อสมท” กางโรดแมป 4 ปีสู่เป้า “หุ้นยั่งยืน” เค้นรายได้จากสินทรัพย์-ปั้นคอนเทนต์ดิจิทัล https://positioningmag.com/1364771 Wed, 01 Dec 2021 06:13:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1364771 ยุคนายใหญ่คนใหม่ของ “อสมท” วางโรดแมปสู่ปี 2568 เป้าหมายเป็น “หุ้นยั่งยืน” ทำรายได้มั่นคง ยั่งยืน และเติบโต ยังยึดจุดเด่นคอนเทนต์ “ข่าว” ชูโรง เสริมด้วยคอนเทนต์บันเทิง พัฒนาทีมภายในพร้อมหาพาร์ตเนอร์เชิงกลยุทธ์จากภายนอก ต่อยอดสินทรัพย์ที่มีทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ให้สร้างรายได้สูงสุด ปั้นธุรกิจคอนเทนต์ดิจิทัล “The Trusted” และธุรกิจใหม่ สัดส่วนเพิ่มจาก 6% เป็น 22% ใน 3 ปี

2564 นับเป็นปีที่ “อสมท” เริ่มหายใจได้อีกครั้ง หลังขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 โดยผลการดำเนินการสามไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีกำไรแล้ว 100 ล้านบาท และน่าจะจบปีด้วยผลกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี

อย่างไรก็ตาม ไส้ในของการทำกำไรปีนี้ไม่ได้เกิดจากบรรทัดบนที่เพิ่มขึ้น แต่มาจากการตัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงเกินหน้าเพื่อนร่วมอุตสาหกรรม โดยบริษัทมีการเปิดโครงการ “ร่วมใจจาก” มาตั้งแต่ปีก่อน จนพนักงานองค์กรลดลงจากเกือบ 1,400 คนเหลือ 970 คน ณ ขณะนี้

หลังผ่านปีของการตัดต้นทุน เมื่อ 3 เดือนก่อนบริษัทได้นายใหญ่คนใหม่มานั่งตำแหน่ง คือ “รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และลงมือวางโรดแมปและกลยุทธ์อย่างรวดเร็ว

“รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

“เข้ามาถึงผมเหมือนมาทำวิจัยโฟกัสกรุ๊ปอยู่ประมาณ 2 เดือน จึงพบว่าจุดแข็งของเราคือ ‘ข่าว’ จริงๆ” รศ.เกษมศานต์กล่าว “จุดแข็งของ อสมท คือ ‘สำนักข่าวไทย’ ซึ่งคนมองว่าเราค่อนข้างเป็นกลาง ดังนั้นเราควรจะทำตรงนี้ให้ชัดว่าเราเชื่อถือได้ อ้างอิงได้”

นั่นทำให้ปี 2565 ซึ่งจะเป็นปีครบรอบ 70 ปี อสมท จะมีธีมการดำเนินงานเป็น “The Year of Trusted News and Smart Entertainment” ปูทางไปสู่เป้าหมายปี 2568

 

อสมท 2568 เป้าหมายขึ้นแท่น “หุ้นยั่งยืน”

รศ.เกษมศานต์ประกาศวิสัยทัศน์ปี 2568 ของบริษัทว่า ต้องการให้บริษัทขึ้นแท่นเป็น “หุ้นยั่งยืน” นั่นหมายถึงต้องทำกำไรต่อเนื่อง 3 ปี เมื่อถอดสมการย้อนกลับแล้ว ทำให้ อสมท ต้องหาเครื่องยนต์ทำรายได้เพิ่มขึ้น

หลังจากปี 2564 เป็นปีแห่งการ ‘Survival’ เอาตัวรอดได้สำเร็จแล้ว ลดต้นทุนจนคาดว่าปีหน้าจะไม่มีโครงการเลย์ออฟพนักงานอีก

ปี 2565 จะเป็นปีแห่งการสร้างความมั่นคง ต้อง ‘Stable’ และปี 2566-67 จะต้องเป็นปีที่รายได้เดินต่อแบบยั่งยืนและเติบโต ‘Sustainable & Growth’

 

ยกเครื่องเดิม เติมเครื่องยนต์ใหม่

จากโรดแมปดังกล่าว กลยุทธ์จะทำอย่างไร? รศ.เกษมศานต์ และทีม อสมท “สุนทรียา วงศ์ศิริกุล” ซีเอฟโอ และ “ผาติยุทธ ใจสว่าง” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักโทรทัศน์ ร่วมกางกลยุทธ์สำคัญๆ ที่จะใช้เพื่อยกเครื่องภายในและเติมเครื่องยนต์ใหม่ในการทำรายได้ ดังนี้

  • Reskill-Upskill คนในองค์กร – หลังผ่านช่วงที่ภายในองค์กรมี ‘ความเนือยและนิ่ง’ มาพักใหญ่ อสมท จะส่งเสริมให้พนักงานเพิ่มทักษะใหม่ให้ทันสมัย เพิ่มความเร็วมากขึ้นในระดับที่ไม่ใช่แค่ ‘speed’ แต่เป็น ‘sprint’ เหมือนการวิ่ง 100 เมตรก่อนเข้าเส้นชัย
  • จับมือพันธมิตรภายนอกในระดับกลยุทธ์ – เจรจาพันธมิตรที่จะมา ‘collab’ ร่วมกันคิดสร้างสรรค์คอนเทนต์ในช่อง โดยต้องการให้เป็นความร่วมมือระยะยาวและคิดร่วมกัน มากกว่าเป็นพาร์ตเนอร์เช่าออกอากาศเท่านั้น ขณะนี้มีการเจรจาแล้ว 2-3 ราย เพื่อจะทำให้องค์กรโตเร็วจากการใช้กลยุทธ์ outside-in
รายการชัวร์ก่อนแชร์ หนึ่งในรายการชูโรงของ MCOT ที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือ
  • ต่อยอดสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้เป็นธุรกิจใหม่ – สินทรัพย์ของ อสมท ที่ยังสามารถหาผลประโยชน์ (monetize) ยังมีอีกมาก ตัวอย่างเช่น
    แพลตฟอร์ม The Shot ซึ่งจะรวมภาพถ่ายและวิดีโอนับแสนรายการตลอด 70 ปีของ อสมท มาขายลิขสิทธิ์ใช้งาน (แบบเดียวกับ Shutterstock) ขณะนี้เปิดหน้าเว็บไซต์แล้ว แต่จะเสร็จสมบูรณ์ราวไตรมาส 1/65
    รายการชัวร์ก่อนแชร์ ที่ได้รับความเชื่อถือสูง สามารถต่อยอดเป็นหลักสูตรฝึกสอนการตรวจสอบข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต กลายเป็นกิจการเพื่อสังคมในมุมการศึกษาได้
    NFT (non-fungible token) กำลังตั้งทีมศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจนี้ คาดจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 1/65
ย้อนอ่าน >> ธุรกิจทีวีเอาไม่อยู่ อสมท ขอแตกไลน์ ขยายสู่อสังหาฯ นำที่ดิน 70 ไร่ พระราม 9 มูลค่า 7 พันล้าน…
  • ทำรายได้ประจำจากสินทรัพย์จับต้องได้ – ที่ดินในมือ อสมท จำนวนมากทั่วประเทศ มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสร้างแผนแม่บทในการหารายได้ประจำจากการ “ปล่อยเช่า” โดยมีที่ดินทำเลดีที่คาดว่าจะปล่อยเช่าได้ในปี 2565-66 คือ ที่ดินย่านรัชดา-พระราม 9 ขนาด 50 ไร่, ที่ดินบริเวณบางไผ่ 60 ไร่ และที่ดินบริเวณหนองแขม 40 ไร่
  • ผลิตคอนเทนต์ดิจิทัลโดยเฉพาะ – ที่ผ่านมาบริษัทมีการนำคอนเทนต์จากรายการต่างๆ ในสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ตัดต่อขึ้นโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, YouTube ซึ่งสร้างรายได้เติบโตดี แต่ปีหน้าจะได้เห็นสื่อใหม่จากฝีมือสถานี เช่น The Trusted” เป็นการรวมทีมจากทั้งวิทยุ-โทรทัศน์มาผลิตรายการแบบเจาะกลุ่มผู้ชมบนออนไลน์โดยเฉพาะ เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียของ The Trusted เริ่มจากรายการแนวข่าวและสาระก่อน
  • เสริมความบันเทิงในตลาดแมส – ในสถานีโทรทัศน์จะมีการเสริมคอนเทนต์บันเทิงให้เหมาะกับตลาดแมส จากเดิมมีจุดแข็งที่รายการการ์ตูน ขณะนี้มีพันธมิตรเป็นสตรีมมิ่ง ได้แก่ Monomax, WeTV, iQiyi ที่จะนำคอนเทนต์ลงฉาย และมีความร่วมมือผลิตซีรีส์ไทยลิขสิทธิ์ร่วมกัน ฉายในช่อง อสมท และนำไปหารายได้ผ่าน OTT ด้วย

 

คอนเทนต์ดิจิทัล-ธุรกิจใหม่ แรงขับสำคัญ

จากแผนกลยุทธ์ทั้งหมด สุนทรียา ซีเอฟโอองค์กร รายงานตัวเลขสัดส่วนรายได้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนในอนาคต จากปัจจุบัน อสมท มีแหล่งรายได้แบ่งสัดส่วนดังนี้

  • ธุรกิจโทรทัศน์และธุรกิจข่าว 33%
  • ธุรกิจให้บริการโครงข่ายวิศวกรรม 30%
  • ธุรกิจวิทยุ 27%
  • ธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจใหม่ 6%

ภายในปี 2567 ธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจใหม่จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 22% โดยมีแรงขับสำคัญจากการให้เช่าที่ดินที่ทำให้รายได้โตเร็ว ประกอบกับธุรกิจดิจิทัลที่จะเติบโต รวมถึงธุรกิจ Shop Mania ที่เป็นทีวีช้อปปิ้ง

“มีคนถามว่าช่อง 9 เราจะรีแบรนด์ไหม แต่เราพบว่า เราไม่ต้องเปลี่ยนแบรนด์ใหม่ แต่เราต้องทำให้แบรนด์สดชื่นขึ้นใหม่” รศ.เกษมศานต์กล่าว

]]>
1364771
จีนไล่บี้ “แจ็ค หม่า” ไม่หยุด! บีบให้ขาย “ธุรกิจสื่อ” ป้องกันการชี้นำความคิดสังคม https://positioningmag.com/1323611 Tue, 16 Mar 2021 07:53:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1323611 มหากาพย์ “แจ็ค หม่า” เศรษฐีจีนเจ้าของ Alibaba กับการถูกรัฐบาลจีนเข้าควบคุมยังไม่จบง่ายๆ ล่าสุดสำนักข่าว Bloomberg รายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงในว่า รัฐบาลจีนกำลังบีบให้หม่า “ขาย” สื่อบางส่วนในมือออก เพราะกังวลว่าหม่ามีอิทธิพลต่อความคิดสาธารณะมากเกินไป

แหล่งข่าวคนดังกล่าวระบุกับ Bloomberg ว่า รัฐบาลจีนมีการปรึกษากันหลายครั้งในการประชุมเมื่อปีก่อนเกี่ยวกับการถือหุ้นธุรกิจสื่อของ Alibaba กำลังเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับรัฐบาล รัฐบาลมองว่าบริษัทนี้อาจจะอยู่เบื้องหลังข่าวลือบนโลกออนไลน์ และอาจควบคุมความคิดสาธารณะในเรื่องต่างๆ ได้ ดังเช่นปัจจุบันที่สื่อของบริษัทมีส่วนสำคัญในการชี้นำความคิดคนเกี่ยวกับธุรกิจฟินเทค

แจ็ค หม่า และ Alibaba ค่อยๆ สร้างพอร์ตการถือหุ้นสื่อมาอย่างต่อเนื่องหลายปี โดยมีสื่อในมือทั้งสื่อหลักอย่าง South China Morning Post หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชั้นนำในฮ่องกง มีหุ้นส่วนใหญ่ใน Weibo โซเชียลมีเดียสำคัญของจีน และยังถือหุ้นในสื่ออื่นอีกมาก รวมถึงบริษัทโปรดักชั่นผลิตรายการทีวี และบริษัทโฆษณา

(Photo: Shutterstock)

Bloomberg รายงานด้วยว่า หนึ่งในจุดสำคัญที่ทำให้รัฐบาลจีนต้องหันมามองการถือหุ้นสื่อของหม่าอย่างจริงจัง คือเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน 2020 เมื่อ “เจียง ฟาน” หนึ่งในหุ้นส่วนของ Alibaba และเป็นแม่ทัพธุรกิจ Taobao กับ Tmall เกิดศึกข่าวฉาวเชิงชู้สาว ซึ่งเกี่ยวพันถึงบริษัท เพราะ “จาง ต้าอี้” เน็ตไอดอลชื่อดังและภรรยาลับของเจียง ฟาน เป็นหุ้นส่วนสำคัญของบริษัทบริหารทาเลนต์แห่งหนึ่งที่ Alibaba เข้าลงทุน

เมื่อสังคมหยิบเรื่องนี้มาวิจารณ์ ข่าวฉาวต่างๆ ของเจียง ฟานกลับถูกลบออกจาก Weibo อย่างรวดเร็ว ศักยภาพในการควบคุมสื่อของ Alibaba จึงสร้างความกังวลให้กับรัฐบาล

จากนั้นภาครัฐจึงเข้าตรวจสอบโฮลดิ้งของหม่า และพบว่ามีการถือหุ้นสื่อจำนวนมากจนน่าตกใจ กลายมาเป็นแผนบีบให้หม่าลดการถือหุ้นสื่อลงทั้งหมดหรือบางส่วน โดยคาดว่าจุดที่รัฐบาลเพ่งเล็งมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ซึ่งอาจจะบีบให้หม่าขายหุ้นออกทั้งหมด และผู้รับซื้อจะต้องเป็นคนสัญชาติจีน

ดังที่ทราบกันดีว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีนโยบายควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด และใช้สื่อเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ชี้ทิศทางสังคม ดังนั้น อิทธิพลของใครคนใดคนหนึ่งต่อสื่อจึงเป็นเรื่องที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ความสำคัญอย่างจริงจัง (ย้อนอ่านเรื่อง IPO ตกสวรรค์ของ Ant Group เมื่อ “แจ็ค หม่า” มีความเห็นต่อระบบการเงินของจีนได้ที่นี่)

Source

]]>
1323611
Google ขู่ระงับบริการใน ‘ออสเตรเลีย’ หากบังคับใช้กฎหมาย จ่ายค่า ‘คอนเทนต์’ ให้สื่อท้องถิ่น https://positioningmag.com/1315935 Fri, 22 Jan 2021 14:47:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1315935 ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอย่าง ‘Google’ ขู่จะระงับการให้บริการ ‘เสิร์ชเอนจิน’ ในออสเตรเลีย หากรัฐบาลออกกฎหมายให้บรรดาบริษัทแพลตฟอร์มทั้งหลาย ต้องจ่ายค่าจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับสำนักข่าวท้องถิ่น

รัฐบาลออสเตรเลีย เตรียมออกกฎหมายให้บริษัทเทครายใหญ่ เช่น Google เเละ Facebook ต้องแบ่งรายได้ให้กับสื่อท้องถิ่น กรณีนำเนื้อหาข่าวไปใช้ ไม่ว่าจะโดยการสืบค้นข้อมูลหรือทาง News Feed ก็ตาม และหากตกลงกันไม่ได้รัฐบาลก็จะแต่งตั้งผู้เจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อกำหนดราคาเอง

กฎหมายนี้ ยังกำหนดให้เจ้าของแพลตฟอร์มต้องแจ้งต่อบริษัทสื่ออย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนจะทำการเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึม ซึ่งจะมีผลต่อการแพร่กระจายเนื้อหาข่าว และยังมีบทลงโทษในกรณีที่บริษัทเทคเหล่านี้ “บล็อก” ปิดกั้นเนื้อหาเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงิน

Mel Silva ผู้อำนวยการ Google ประจำออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แจ้งต่อคณะกรรมการวุฒิสภา ว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกผ่านและบังคับใช้จริง ก็คง ‘ไม่มีทางเลือกอื่น’ ให้บริษัท นอกจากจะต้องยุติให้บริการ Google Searchในออสเตรเลีย

เธอยังให้สัมภาษณ์เพิ่มกับ The Sydney Morning Herald อีกว่า มีความจำเป็นที่ต้องสรุปผลต่างๆ หลังจากที่ได้ตรวจสอบรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง เรามองไม่เห็นหนทางอื่นๆ เมื่อต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเงิน รวมถึงการที่เราจะให้บริการในออสเตรเลียต่อไป

โดย Google วิจารณ์ร่างกฎหมายของออสเตรเลียฉบับนี้ว่า ‘มีเนื้อหากว้างเกินไป’ และหากไม่มีการปรับแก้ใหม่ ก็จะก่อความเสี่ยงแก่ผู้ให้บริการสืบค้นข้อมูล

ด้าน Scott Morrison นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ตอกกลับคำขู่นี้ทันที โดยบอกว่า เขาไม่ได้สนใจท่าทีหรือปฏิกิริยาตอบโต้ของ Google แต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่าจะต้องดำเนินการต่างๆ ต่อไปตามแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง

ที่มาของรูป : Pixabay/LoboStudioHamburg

การตัดสินใจของรัฐบาลออสเตรเลียครั้งนี้ คาดว่าได้รับปัจจัยจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้เม็ดเงินโฆษณาหดหาย มีการกดดันให้รัฐต้องปกป้องธุรกิจสื่อในประเทศ

รัฐบาลออสเตรเลียตระหนักได้ว่าระเบียบโดยสมัครใจไม่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่ออำนาจการต่อรองไม่เท่าเทียมกัน” ประธานสหพันธ์สื่อบันเทิงและศิลปะกล่าว โดยสหพันธ์นี้เป็นตัวแทนกลุ่มธุรกิจสื่ออาชีพซึ่งเรียกร้องการจัดเก็บค่าคอนเทนต์ดังกล่าวมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน

บางส่วนของ Google และ Facebook เติบโตขึ้นมาได้จากคอนเทนต์ข่าวที่ปรากฏในแพลตฟอร์ม แต่ผู้สร้างคอนเทนต์ตัวจริงคือธุรกิจสื่อข่าวทั้งหลายกลับต้องตกที่นั่งลำบาก ระหว่างที่ยังเป็นคนผลิตข่าวที่สำคัญยิ่งต่อสาธารณะ

บริษัทเทคโนโลยีจะต้องเจรจากับบริษัทสื่อด้วยความรับผิดชอบแล้ว และเริ่มจ่ายค่าคอนเทนต์หลังจากที่ใช้ประโยชน์ฟรีๆ มาตลอด

อ่านเพิ่มเติม : สงครามรีดค่าลิขสิทธิ์ออสเตรเลียสั่ง Google-Facebook จ่ายค่า “คอนเทนต์” ให้สื่อดั้งเดิม

ด้านทางการสหรัฐฯ เรียกร้องให้ออสเตรเลียระงับแผนการออกกฎหมายดังกล่าว และขอให้หันไปใช้หลักปฏิบัติที่เน้นความสมัครใจ (voluntary code) แทน

กฎหมายที่บังคับ Facebook และ Google แบ่งรายได้ให้สื่อท้องถิ่น ถูกเสนอขึ้นมาตั้งเเต่ปีที่แล้ว ถือเป็นมาตรการบังคับขั้นรุนแรงต่อบริษัทเทครายใหญ่จากสหรัฐฯ ที่ในปัจจุบันมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมสื่อเป็นอย่างมาก และออสเตรเลียมองว่าอาจเป็นการบั่นทอนกลไกที่ดีของระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ฝั่งบริษัทเทคกลับมองว่า การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะไม่ส่งผลดีกับอุตสาหกรรมสื่อในประเทศตามที่รัฐบาลคิดไว้ โดยที่ผ่านมา Google ยืนยันที่จะปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัฐ เเละอ้างว่าสร้างรายได้เพียง 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีจากโฆษณาที่เชื่อมโยงข่าวในออสเตรเลียเท่านั้น

 

ที่มา : AP , SMH , AFP , BBC

]]>
1315935
ยื้อไม่ไหว! บางกอกโพสต์ ประกาศขายโรงพิมพ์-สำนักงาน นำเงินชำระหนี้ https://positioningmag.com/1257237 Mon, 16 Dec 2019 11:01:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1257237 ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ยังต้องดิ้นรนหนัก ล่าสุด “บางกอกโพสต์” ประกาศขายโรงพิมพ์ อาคารสำนักงานเเละเครื่องจักร เพื่อนำเงินมาชำระหนี้และทำให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนต่อไป หลังประสบภาวะขาดทุนติดต่อกันหลายปี

วันนี้ (16 ธ.ค.) นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอก โพสต์ (POST) แจ้งมติคณะกรรมการบริษัท วันที่ 13 ธ.ค. 2562 อนุมัติให้ขาย ศูนย์การพิมพ์และจัดจำหน่าย บางนา ซึ่งประกอบด้วยที่ดิน สิ่งปลูกสร้างเครื่องจักรอุปกรณ์ และขายอาคารสำนักงาน (คลองเตย) และให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานคลองเตย ด้วยอัตราค่าเช่าที่เหมาะสม กำหนดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่ออนุมัติทำรายการ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563

ศูนย์การพิมพ์ฯ บางนา มีมูลค่ารวม 424.3- 509.5 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • ที่ดิน 261.2 ล้านบาท
  • อาคารสิ่งปลูกสร้างและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ 107.3 ล้านบาท
  • เครื่องจักรและอุปกรณ์ 55.8 ล้านบาท (มูลค่าบังคับขาย – แยกชิ้นส่วน) หรือ 141.0 ล้านบาท (มูลค่าตลาดตามสภาพการใช้ประโยชน์ปัจจุบันอาคาร

สำนักงาน (คลองเตย) มูลค่ารวม 1,175.0 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • ที่ดิน 859.2 ล้านบาท
  • อาคารสิ่งปลูกสร้างและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ 315.8 ล้านบาท

คิดเป็นมูลค่าการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 1,599.3 – 1,684.5 ล้านบาท โดยอ้างอิงตามราคาประเมิน

คาดจำหน่ายทรัพย์สินได้ในระยะเวลา 1 ปี หลังจากขายได้แล้วจะเจรจากับผู้ซื้อเพื่อขอ “เช่า” พื้นที่อาคารสำนักงานคลองเตยในราคาที่เหมาะสมต่อไป โดยอาจเสนอขายให้กับผู้ลงทุนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท หรือผู้ลงทุนที่เกี่ยวโยงกับบริษัทก็ได้ ซึ่งหลังขายทรัพย์สินโรงพิมพ์และอาคารสำนักงานแล้ว ยังประกอบธุรกิจเช่นเดิมได้

สำหรับมติดังกล่าวเกิดขึ้นหลังบริษัทขาดสภาพคล่อง เเละขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี จากปัจจัยต่างๆ ทั้งพฤติกรรมการบริโภคสื่อเปลี่ยนไป คนไม่นิยมอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ มีสื่อออนไลน์ทางเลือก เเละสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้งบโฆษณาสื่อซึ่งเป็นรายได้หลักของสิ่งพิมพ์ลดลง

ดังนั้นการประกาศขายทรัพย์สินทั้ง 2 รายการใหญ่ของ POST จะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดเพิ่มมากขึ้นทันที เเละสามารถนำไป “จ่ายหนี้” ได้ เเละส่วนที่เหลือก็จะได้นำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนทำธุรกิจต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 2561 ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้รวม 1,230 ล้านบาท ขาดทุนจากการดำเนินงาน 168 ล้านบาท หนี้สินรวมของบริษัทในไตรมาส 2 ของปีนี้อยู่ที่ 1,325 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในระหว่างการดำเนินการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ บริษัทยังมีความจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นจำนวนเงินสูงสุดไม่เกิน 200 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.25% ต่อปี

โดยเป็นที่ทราบกันว่า เมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา POST ได้ประกาศปิดหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับในเครืออย่าง “โพสต์ทูเดย์” หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันอายุ 17 ปี และฟรีก็อปปี้ M2F อายุ 7 ปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายเเละเลิกจ้างพนักงานราว 200 คน เเละหันไปเป็นสื่อดิจิทัลเต็มตัว โดยเหลือพนักงานในกองบรรณาธิการไว้เหลือเพียง 20 คน

เเละในเดือน ก.ย. 2561 POST ได้หยุดพิมพ์นิตยสาร Student Weekly หรือ S Weekly ที่มีอายุเกือบ 50 ปี (ก่อตั้งเมื่อ 30 มิ.ย. 2512)

ย้อนไปเมื่อช่วงปลายปี 2560 สื่อใหญ่อีกเจ้าอย่าง “เนชั่น” ก็อนุมัติขายทรัพย์สินจำนวน 5 รายการ ทั้งมหาวิทยาลัยเนชั่น-ช่อง NOW 26 และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง มูลค่ารวมกว่า 1,403.61 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจกิจ และเดินหน้าธุรกิจหลัก (อ่านรายละเอียด ที่นี่)

ที่มา : set.or.th

]]>
1257237
ทางรอดของสำนักข่าวในยุควิกฤตรายได้? เมื่อ Facebook ยื่นขอเสนอจ่ายเงิน 90 ล้านต่อปี สำหรับดึงข่าวมาขึ้นในแท็บใหม่ https://positioningmag.com/1241890 Fri, 09 Aug 2019 13:00:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1241890 ในยุคที่สำนักข่าวใหญ่ๆ ทั่วโลกกำลังดิ้นรนเพื่อหาทางออก ในยุครายได้ที่เป็นเส้นเลือดหลักอย่าง โฆษณามีแนวโน้มลดลงทุกปี อันเป็นผลมาจากที่ผู้บริโภคเลือกที่จะอยู่ในโลกของออนไลน์ และลืมเลือนมนต์เสน่ห์ของกระดาษหนังสือพิมพ์ไปเสียแล้ว

แต่ข่าวที่ออกมาล่าสุดนี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งในการหารายได้ เพื่อนำพาองค์กรให้อยู่รอดในภาวะยากลำบาก เมื่อ The Wall Street Journal ได้รายงานว่า ตัวแทนของ Facebook ได้เข้ามาเจรจาบอกกับสื่อว่า จะจ่ายเงินสูงถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือราว 92 ล้านบาท สำหรับสิทธิ์ในการขอใบอนุญาต “เรื่องราว – พาดหัวข่าวและตัวอย่างบทความ” โดยมีสัญญาเบื้องต้น 3 ปี

โฆษกของ Facebook ยืนยันกับ CNN Business ว่า อยู่ในช่วงวางแผนที่จะเปิดตัวแท็บใหม่ใน Facebook ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ แต่จะไม่แสดงความคิดเห็นในการรายงานของ Wall Street เกี่ยวกับการยื่นข้อเสนอไปยังสื่อ

ภาพจาก pixabay

ผู้ที่ได้รับการติดต่อจาก Facebook มีทั้ง ABC News, Washington Post, Bloomberg และ Dow Jones ตามที่ระบุไว้ใน Wall Street โดย ABC News ไม่ตอบสนองต่อการร้องขอความคิดเห็นทันที ส่วน Dow Jones, Bloomberg และ The Washington Post ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น

ที่ผ่านมา Facebook ได้กลืนเงินก้อนใหญ่จากการโฆษณาที่เคยถูกใช้ในหนังสือพิมพ์ โดยทั้ง Facebook และ Google ต่างเป็น 2 ยักษ์ที่ครองเม็ดเงินส่วนใหญ่ของการโฆษณาดิจิทัลมาเป็นเวลาหลายปี และตอนนี้ Amazon กำลังเร่งธุรกิจโฆษณาของตัวเองอย่างรวดเร็ว

Source

]]>
1241890
สื่อเก่าสื่อใหม่ทะลัก ระวังหลงทางทุ่มเงินโฆษณา 3 กูรูตลาด ประสานเสียง หมดยุคแบ่ง Off-line Online On ground แล้ว https://positioningmag.com/1159773 Fri, 02 Mar 2018 11:15:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1159773 เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ภูมิทัศน์สื่อต้องปรับตัวตาม ทำให้ปัจจุบันมี “สื่อ” หรือ Media หลากหลายช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ทั้ง Off-line หรือทีวี, Online สารพัดแพลตฟอร์ม และยังต้องมี On ground สร้างกิจกรรมมาช่วยสร้างการรับรู้ การวางแผนซื้อสื่อ จะเทงบไปทางไหน ถึงจะได้ “ผลลัพธ์” คุ้มค่ากับ “การลงทุน”

จึงเป็นที่มาของงานเสวนาของ “สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย” หัวข้อ Future of O to O to O (Off-line to Online to On ground)” ถอดรหัส 3 กูรูแวดวงสื่อและการตลาดแนะเทเงินโฆษณาสื่อไหนให้ได้ใจผู้บริโภค

++ คอนเทนต์ทีวี ต้องตรึงคนดูให้อยู่หมัดใน 30 นาทีแรก

“สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (PPTV) ตัวแทนของสื่อOff-line บอกว่า 10 ปีมานี้ การเปลี่ยนแปลงของ สื่อโทรทัศน์” เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ 3-4 ปีมานี้ เทคโนโลยีเข้ามาDisrupt ซัดธุรกิจทีวีหนักกว่าที่เคยเจอ อดีตคนดูตั้งตารอชมรายการโปรดผ่านหน้าจอที่บ้าน แต่วันนี้รายการข้ามโลกไกลแค่ไหน กลับหาดูได้แค่คลิก! จะเป็นรายการวิทยุของลอนดอน ซีรีส์จากนิวยอร์ก สหรัฐฯ บ่งบอกว่าไลฟ์สไตล์คนดูที่เปลี่ยนไป

สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์

แต่การเปลี่ยนที่ชัดมากคือ “ความอดทนของคนดู” น้อยลงมาก ผู้ผลิตตั้งใจทำ “คอนเทนต์ดีแค่ไหน” ถ้า “ตรึงคนดูไม่อยู่ใน 30 นาทีแรก เตรียมตัวรับความหายนะได้เลย”  เพราะผู้บริโภคพร้อมจะกดรีโมตเปลี่ยนช่อง หรือถึงขั้นปิดทีวี ย้ายไปดูแพลตฟอร์มอื่นแทน

เพื่อสะกดคนดูทีวี ยุคนี้วงการจอแก้วยังยกระดับเทคโนโลยีให้ล้ำขึ้น อย่างมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น คนทั้งโลกจะได้เห็นคอนเทนต์คุณภาพ บนความละเอียดคมชัดแบบ 4K 8K  ถือเป็นประสบการณ์การรับชม (Viewing Experience) ที่หาไม่ได้จากออนไลน์ และออนกราวนด์นั่นเอง

++ ทีวียังผันผวนหนัก เปลี่ยนจาก mass กลายเป็น “นิช”

อนาคต “สุรินทร์” เชื่อว่าทีวียังเป็นสื่อหลักที่ทรงอิทธิพลอยู่ เพราะ “จุดแข็ง” (Core Strength) คือ ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล เช่น รายการข่าว ทีมงานมีความเป็นมืออาชีพ มีผู้ประกาศ นักข่าวภาคสนาม ทำได้ดีกว่าออนไลน์ที่เน้นความเร็ว

“เราได้ยินบ่อยครั้งจากการโดนหลอกบนโลกออนไลน์ ชี้ให้เห็นเส้นแบ่งของ 2 โลก ออฟไลน์กับออนไลน์ คือความน่าเชื่อถือ (trustworthy)”

 เพียงแต่แนวโน้มธุรกิจทีวี จะมีความผันผวนหนักขึ้นเรื่อยๆ และจะกลายเป็นสื่อ “เฉพาะ” หรือ Niche กว่าเดิม เพราะจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังดู รวมถึงช่องทีวีที่หลากหลาย ทำให้แต่ละคนได้รับคอนเทนต์ และ Message แตกต่างกัน ไม่ใช่ Mass เหมือนอดีต

2-3 ปีมานี้ สื่อออนไลน์ หรือ New Media มาแรง เบียดแย่งเม็ดเงินโฆษณาจากทีวี (Traditional Media) ไป นักการตลาดควรตระหนัก ทำความเข้าใจสื่อทั้ง 2 ประเภท แล้วผสานใช้สื่อให้มีประสิทธิภาพ อย่ามองออนไลน์เป็นคู่แข่งออฟไลน์ ที่สำคัญในการซื้อสื่อแต่ละช่องทางต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ว่าจะสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) หรือต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย (Reach)

“อนาคตเอเยนซี่จะทำงานยากขึ้นเพื่อให้โปรโมตสินค้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย และได้ผล เพราะไม่ว่าเทรนด์ สื่อ และผู้บริโภคไปทางไหน สิ่งที่แบรนด์ เจ้าของสินค้าต้องการมากที่สุดคือเทเงินลงไปแล้วได้ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI)”  

++ ผู้บริโภคเอาแต่ใจเหมือนเดิม

แม้ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนมี Off-line Online และ On ground แต่ทั้งหมดไม่ได้แยกจากกัน เพราะอยู่บนโลก หรือ On Earth แบรนด์มีสินค้าและบริการอะไร สามารถป้อน สื่อสารเกาะติดผู้บริโภคทุกคนได้หมด ขึ้นอยู่กับหมวดสินค้า เช่น ถ้าเป็นอาหาร กลยุทธ์ที่ได้ผลเสมอคือแจกสินค้าตัวอย่างเพื่อสร้างประสบการณ์ให้ “ทดลองชิม” เป็นต้น

ตัวอย่างที่ชี้ว่าทุกสื่อแยกกันไม่ขาด คือวันนี้ใครไม่รู้จักป้าที่นำขวานมาทุบรถเพื่อจัดการปัญหากับผู้ที่มาตลาดบ้าง เรื่องราวที่เกิดขึ้นเปรียบเหมือนอีเวนต์ออนกราวนด์ แล้วคนนำมาเล่าต่อบนโลกออนไลน์ เกิด Impact และ Engagement แม้กระทั่งเรื่องของ “ซีอีโออิตาเลียนไทย” เป็นสิ่งที่เกิดบนออนกราวนด์ อออฟไลน์ และสู่ออนไลน์

วิสาส์น สิริจันทานนท์

ขณะที่สื่อเปลี่ยน แต่มีสิ่งที่เหมือนเดิม คือ “ความต้องการผู้บริโภค” เพราะยังเอาแต่ใจตัวเอง ต้องการดูหรือเสพสื่อไหนก็ดู ไม่โดนใจก็เมินหนี ยิ่งมีเทคโนโลยีเข้ามา ทำให้การสับสวิตช์เร็วกว่าเดิมด้วย เมื่อก่อนการทำให้ผู้บริโภครอ 1 นาทีโอดโอยว่านานเหลือเกิน แต่ยุคดิจิทัลรอแค่ 2 วินาทีก็ไม่ไหวแล้ว เป็นโจทย์ยากของนักการตลาดต้องหาสูตรดึงความสนใจคนดูให้เร็วขึ้น  “วิสาส์น สิริจันทานนท์” กรรมการผู้จัดการ Dentsu Agis มองแบบนั้น

++ สูตร ACT เทเงินยิงตรงเป้าหมาย

ปัจจุบันสื่อออนไลน์มีบทบาทต่อผู้บริโภค และนักการตลาดมากขึ้น  แต่การใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาอัดลงทีวี มีให้เห็นต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ขายตรงผ่านจอแก้ว” เยอะมาก จากเดิมแทบไม่มีให้เห็น ถือเป็นโอกาสดึงเงินเข้าสู่ Off-line ได้

แต่ถ้าอยากเทงบโฆษณาลงแต่ละสื่อให้ปัง “วิสาส์น” แนะสูตร ACT ดังนี้

• A Audience 

ยึดคนดู ผู้บริโภคเป็นหลัก ว่าต้องการอะไร ซื้อสินค้าและบริการอะไร ซื้อทีไหน เวลาใด เพื่อยิงโฆษณาขายสินค้าได้ตรงเป้าหมาย

• C Collaborate 

จะใช้สื่อเก่าหรือสื่อใหม่ สื่อไหนก็ตาม นักการตลาดควรผสานพลังทุกสื่อ เพื่อให้เกิดการ “วัดผล” ที่ถูกต้อง เป็นธรรม สร้างผลตอบแทนให้กับเงินลงทุนของลูกค้ามากขึ้น ปัจจุบันทีวีมีเรตติ้งวัดผลก่อนลูกค้าซื้อโฆษณา ส่วนออนไลน์วัด Reach ได้ แต่พอ2 สื่อผสานกัน การวัดผลกลับไม่ชัดเจนทั้งที่อยู่บนอุตสาหกรรมเดียวกัน

• T Test 

ต้องทดลองใช้สื่อใหม่ต่างๆ แล้วเรียนรู้ เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อไม่ให้แบรนด์ต้องย่ำอยู่กับที่

ผมไม่ทิ้งทีวี ไม่ทิ้งดิจิทัล ไม่ทิ้งสื่อโฆษณานอกบ้าน แต่จะมิกซ์การใช้สื่อโฆษณายังไง อย่าหาสูตรสำเร็จ เพราะโลกหมุนเร็ว สูตรสำเร็จ มีใช้สำหรับเมื่อวาน เมื่อวานซืนแล้ว ไม่ใช่สำหรับอนาคต 

 

++ ยุค No line ผู้บริโภคต้องมาก่อน

ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง

นักการตลาดอาจแยกสื่อ เป็น Off-line Online และ On Ground แต่ “ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง” เทรนเนอร์และที่ปรึกษาด้านการตลาด มองว่าทุกคนกำลังเข้าสู่ยุค No line ไม่มีเส้นแบ่งสื่ออีกต่อไป เพราะป้ายโฆษณานอกบ้าน (Out of Home) ถ้าสามารถสื่อโต้ตอบกับผู้บริโภคได้ ก็ถือเป็นสื่อดิจิทัล

แล้วถ้ายังแยกโฆษณาว่า ออนไลน์ โมบาย ต้องมาที่หนึ่ง คือเพ้อ (Jargon) ยุคนี้ไม่มีสื่อไหนที่ Mass เพราะทุกสื่อกำลังเป็น Nicheตัวอย่างคนไทยใช้เฟซบุ๊ก 49 ล้านคน Feed เรื่องราวข่าวสารที่ได้รับแต่ละคนแตกต่างกัน  ไม่ใช่ข้อความเดียวเห็นทั้ง 49 ล้าน ส่วนคนดูทีวี ก็ไม่แมส เพราะมีคนจำนวนมากที่เลิกดูทีวีแล้ว

ดังนั้น การวางแผนทำตลาดและซื้อสื่อยากขึ้นเรื่อยๆ เทเงินลงสื่อเดียวไม่จบ ไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย จึงต้องปูพรม 360องศา (IMC Marketing) เลือกสื่อที่สำคัญ จับกลุ่มเป้าหมายก่อน

“คนวางแผนซื้อสื่อโฆษณา ต้องเริ่มคิดถึง ผู้บริโภคต้องมาก่อน ศึกษาเส้นทางชีวิตของลูกค้า (Customer Journey) หาให้เจอว่าอะไรที่ Impact ให้เขาซื้อสินค้า ไม่ใช่เริ่มจากจะนำเงินไปลงสื่อไหนก่อน เพราะบางครั้งลูกค้าซื้อสินค้าอาจไม่ได้มาจากการเห็นโฆษณาเลยก็ได้”

]]>
1159773
เมื่อ Native Ad ครองตลาด-โฆษณาล็อกเป้าหมายต้องเข้าถึงอารมณ์ เปิดเทรนด์โฆษณาดิจิทัล ปี 2018 ที่นักการตลาดไม่ควรพลาด https://positioningmag.com/1155702 Mon, 05 Feb 2018 08:17:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1155702 2017 ปีที่สื่อถูก disrupt

ซี เย็น อ็อง รองประธานฝ่ายการตลาด Spotify Asia ได้สรุปถึง สภาพของธุรกิจสื่อในปี 2017 ถือว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการโฆษณาสำหรับทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และแพลตฟอร์มต่างๆ

การปรับตัวจากสื่อสิ่งพิมพ์สู่พื้นที่ดิจิทัลเรียกได้ว่าเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทั้งยังมี “การคาดการณ์กันว่างบประมาณโฆษณาของสื่อสิ่งพิมพ์ ยังมีแนวโน้ม “ตกลง” ครั้งใหญ่อีกในปีนี้ ด้านโฆษณาโทรทัศน์เองก็มีการปรับย้ายไปสู่พื้นที่ดิจิทัลในทิศทางเดียวกันเช่นกัน จากการมาของ แอปวิดีโออย่าง Hulu หรือแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากได้ เช่น Facebook YouTube หรือ Snapchat

เว็บไซต์ที่ไม่สามารถนำเสนอประสบการณ์ที่แตกต่างได้ มีโอกาสสูงมากที่เสียทั้งผู้บริโภคและผู้ลงโฆษณาไปให้กับแพลตฟอร์มที่ใหญ่กว่า

ขณะเดียวกัน สื่อวิทยุก็ถูกมองว่ายังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ แต่คาดว่าจะย้ายไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการฟังเพลงในที่สุด ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยียังคงพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง แบรนด์และนักการตลาดจึงจำเป็นจะต้องปรับวิธีการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ให้มีความเกี่ยวข้องกับลูกค้าและอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นที่มาของ 4 เทรนด์การตลาดสำคัญที่ควรให้ความสนใจในปี 2018 และแม้ว่าเทรนด์เหล่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับใครหลายๆ คน แต่อย่างน้อยก็เป็นเรื่องไม่เสียหายในการนำเทรนด์ต่อไปนี้มาพิจารณาระหว่างที่ทำแผนการตลาดสำหรับปี 2018

1. ผลิตโฆษณาที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Add)

โฆษณาดิจิทัล ยังเพิ่มความน่าสนใจได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่มักจะไปขัดจังหวะการดูคอนเทนต์โปรดของผู้บริโภค แทนที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประสบการณ์การรับชมและรับฟัง ซึ่ง Facebook และ Google กำลังประสบความสำเร็จ จากการต่อยอดประสบการณ์การรับชมโฆษณาของผู้บริโภค สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนักการตลาด

โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้นำเสนอ ที่สามารถคาดเดาความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำกว่าตัวผู้บริโภคเองเสียอีก แม้ว่าวิธีการดั้งเดิมอย่างการใช้คุกกี้เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ซื้อเพื่อการเข้าถึงผู้บริโภคอย่างเที่ยงตรง อาจถูกมองว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าการทำการตลาดแบบสุ่มอย่างไร้ข้อมูล

แต่เมื่อแพลตฟอร์มที่กักเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลไว้เหล่านี้ สามารถตีความช่วงเวลาสำคัญๆ บริบทที่หลากหลาย รวมถึงสัญญาณต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความสนใจของผู้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น ก็หมายถึงความสามารถในการขับเคลื่อนและเสาะหาคุณค่าในสายตาผู้บริโภคได้อย่างถูกต้องแม่นยำกว่าเดิมเช่นกัน

2. ปูทางสู่ Native Advertising และ Sponsored Content

Business Insider ของอังกฤษ กล่าวว่า การโฆษณาแบบ Native Advertising (โฆษณาแนวเดียวกับเนื้อหาของเว็บจะขับเคลื่อนรายได้จากการโฆษณาได้กว่า 74% ภายในปี 2021

โดย Native Advertising ถูกมองว่าส่งผลดีในแง่ของความยืดหยุ่นที่ทำให้โฆษณาไปถึงทุกช่องทางที่แพลตฟอร์มเข้าถึง รวมไปถึงคุณภาพของโฆษณาที่ดี และเมื่อโฆษณาถูกวางให้เข้ากับรูปแบบและฟังก์ชันของแพลตฟอร์ม ก็จะสร้างการเปิดรับและการมีส่วนร่วมให้กับโฆษณานั้นๆ ได้มากยิ่งขึ้น

งานวิจัยและที่มาต่างๆ ระบุว่า “…การโฆษณาแบบ Native Advertising มียอดการรับชมพอๆ กับคอนเทนต์ที่ไม่ได้ทำเพื่อจุดประสงค์เชิงพาณิชย์…” ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่แบรนด์ต่างๆ ควรนำมาพิจารณา เนื่องจากผู้ใช้ในปัจจุบันอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์จำนวนมหาศาล โดยนอกจากจะลดการก้าวล้ำพื้นที่ส่วนตัว ทั้งยังน่ารำคาญน้อยกว่าแล้ว Native Advertising ยังสร้างคอนเทนต์ที่ช่วยเติมเต็มประสบการณ์โดยรวมของผู้ใช้ได้อีกด้วย

ข้อมูลจากรายงานของ BI Intelligence อ้างว่า :

  • การโฆษณาแบบ Native-Display Advertisement ซึ่งรวมไปถึง Social Native และ Native Advertisement ที่ปรากฏบนฟีดของเว็บไซต์ จะสร้างรายได้ให้กับการโฆษณาแบบ Native Advertisement ทั้งหมดจากปี 2016 – 2021
  • Sponsored Content จะเป็นรูปแบบการโฆษณาแบบ Native ที่เติบโตเร็วที่สุดใน 5 ปีหลังจากนี้

3. การทำโฆษณาสำหรับแต่ละบุคคล จะต้องไปให้ไกลกว่าการ “ล็อกเป้าหมาย”

มาร์ค พริทชาร์ด ของ P&G เคยกล่าวถึงเรื่องนี้โดยละเอียด เกี่ยวกับปัญหาที่นักการตลาดพบในการลงโฆษณาแบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Programmatic Ad Placement) โดยที่การเข้าใจว่าควรลงโฆษณา ที่ไหน และ เมื่อไร นั้นมีความสำคัญพอๆ กับการเข้าใจว่าควรลงโฆษณา อะไร และ เพื่อใคร

ยกตัวอย่างเช่น คุณไม่ควรขอให้ผู้ใช้กดเข้าไปดูโฆษณาหากว่าพวกเขากำลังขับรถ หรือพุ่งเป้าไปที่ “คนรักการออกกำลัง” และขอให้กรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม ในขณะที่พวกเขากำลังออกกำลังกายอย่างเข้มข้น

ดังนั้น การเข้าใจบริบทและอารมณ์ของผู้บริโภคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการที่จะทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ มีความเป็นไปได้มากขึ้นหากข้อมูลทุกอย่างถูกเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกัน โดย IHS ระบุว่า จำนวนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ที่ถูกเชื่อมต่อไว้ด้วยกัน จะพุ่งสูงขึ้นถึง 30.7 พันล้านเครื่อง ภายในปี 2020

4. รับฟังเพลงและสื่อรูปแบบเสียงดิจิทัลกำลังมาแรง

เมื่อผู้คนหันมาบริโภคสื่อบนอุปกรณ์ต่างๆ มากขึ้น ภูมิทัศน์ทางการตลาดก็ปรับตัวไปสู่การทำการตลาดตามบุคคล (People-based Marketing)

งานวิจัยของ Nielsen ระบุว่า ผู้คนรับฟังเพลงและสื่อรูปแบบเสียงในขณะที่กำลังทำกิจกรรมที่ไม่ต้องรับชมสื่ออื่นๆ ด้วยสายตากว่า 79% ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งออกกำลังบนลู่หลังเลิกงาน หรือการโชว์อินเนอร์ความเป็นดาราร็อกระหว่างอาบน้ำ ปัจจุบัน สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างแรกคือความสามารถในการเข้าถึงคอนเทนต์ต่างๆ มากกว่าการเป็นเจ้าของคอนเทนต์นั้นๆ อย่าง Spotify ที่ผู้ใช้ฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มของตัวเองกว่า 148 นาทีต่อวัน

นักการตลาดที่เชี่ยวชาญจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงในหมู่ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่การโฆษณาด้วยเสียงจะถูกพัฒนาผ่านประสบการณ์บนแพลตฟอร์ม ที่แตกต่างจากการรับฟังสื่อวิทยุแบบดั้งเดิม.

]]>
1155702