หุ้น – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 07 Sep 2022 12:00:58 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ตลาด ‘คริปโตฯ’ ร่วงต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ หลังนักลงทุนแห่ ‘เทขาย’ สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง https://positioningmag.com/1399334 Wed, 07 Sep 2022 11:20:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1399334 หลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า ส่งผลให้ราคาของ ‘Bitcoin’ ร่วงลงเหลือต่ำกว่า 19,000 ดอลลาร์ โดยแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ขณะที่มูลค่าของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมดก็ลดลงต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนแห่เทขายสกุลเงินดิจิทัลทั้งกระดาน

Bitcoin ซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 18,812.36 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงมากกว่า 5% ตามข้อมูลของ CoinDesk Ether ซึ่งการซื้อขายของ Bitcoin นั้นจะสัมพันธ์กับหุ้น ดังนั้น หากหุ้นตกสกุลเงินดิจิทัลก็เช่นกัน ส่งผลให้เกิดการเทขายในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง

ปัจจุบัน Bitcoin ลดลงประมาณ 60% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 68,990.90 ดอลลาร์ ส่งผลให้ตลาดคริปโตฯ จากที่เคยมีมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันมูลค่าตลาดเหลือเพียง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับสาเหตุที่ตลาดหุ้นทั่วโลกตก มาจากธนาคารกลางทั่วโลกกำลังต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงด้วยนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งเป็นจำนวนรวม 2.25% และด้วยนโยบายที่เข้มงวด ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี

“การที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงทั้งหมดตามที่เราเห็น แต่ถ้าค่าเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนค่าลง Bitcoin ก็จะกลับมาอีกครั้ง” Vijay Ayyar รองประธานฝ่ายพัฒนาองค์กรและระดับนานาชาติที่การแลกเปลี่ยน crypto Luno กล่าว

]]>
1399334
รวมกลยุทธ์รับมือความผันผวนสูงในตลาดหุ้น https://positioningmag.com/1374640 Sun, 20 Feb 2022 14:11:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1374640

หากใครติดตามตลาดหุ้นทั่วโลกตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงต้นปี 2565 นี้ จะพบว่าตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงกัน เนื่องจากเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของประเทศมหาอำนาจโลก นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ 

สะท้อนผ่านตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ และตัวเลขการว่างงาน ที่มีผลต่อการส่งสัญญาณจะปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) รวมถึงการประเมินว่าอาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยกี่ครั้งในรอบปีของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ล้วนกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท โดยเฉพาะสินทรัพย์อย่าง ‘หุ้น’ จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนที่สูงกว่า

ดังนั้น เวลาที่เกิดความผันผวนในตลาดหุ้น ลูกค้าจะตั้งคำถามกับผมอยู่ตลอดว่า ตลาดหุ้นมีความผันผวนหนักควรทำอย่างไรดี และโอกาสการลงทุนอยู่ตรงไหนกันแน่?

ผมก็มักตอบว่า โอกาสการลงทุนมีอยู่ทุกช่วงครับ เพียงแต่ไม่มีใครคาดการณ์ได้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น สิ่งที่คุณควรทำคือ การลงทุนอย่างมีหลักการ เพราะผมเคยเห็นหุ้นบางตัวที่ปรับขึ้นสวนทางกับตลาดหรือราคาเป็นขาลง แต่เมื่อความผันผวนที่เกิดขึ้นนั้นผ่านไป ก็พบว่าราคาจะพลิกกลับขึ้นมา หรือฟื้นตัวเร็วกว่าหุ้นอื่นๆ เพราะเป็นหุ้นที่มีธุรกิจพื้นฐานที่ดี ฟันฝ่าวิกฤติได้ดีกว่า หุ้นลักษณะแบบนี้ถือลงทุนระยะยาวได้ ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี

Photo : Shutterstock

เพราะจริงๆ ในโลกแห่งการลงทุน ไม่มีใครที่ลงทุนแล้วได้กำไรทุกปี ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนชื่อดังหลายๆ ท่านของโลก แม้แต่ปู่ Warren Buffett ก็บอกเองว่า ยังไม่เคยได้กำไรทุกปีเลย เพียงแต่ว่า ถ้ามีหลักการลงทุนที่ดีจริง ในปีที่ตลาดหุ้นขึ้นก็อาจจะได้กำไรเยอะกว่าปกติ และในปีที่ตลาดหุ้นลงก็อาจจะขาดทุนได้บ้าง สุดท้ายแล้วการลงทุนระยะยาวจะช่วยทำให้เห็นอัตราเฉลี่ยกำไรของพอร์ตได้ชัดเจนกว่า ซึ่งการเฟ้นหาหุ้นดีๆ มีการเติบโต จะทำพอร์ตให้เติบโตได้ 

แต่ถ้าเมื่อใดที่หลักการลงทุนไม่ถูกต้อง เลือกหุ้นไม่ดี หรือซื้อๆ ขายๆ โดยไม่มีหลักการ พอร์ตของคุณก็จะวูบวาบ อาจจะเห็นการเติบโตได้เพียงปีสองปีในช่วงที่หุ้นขึ้น เมื่อเกิดช่วงหุ้นตก พอร์ตก็จะเสียหายอย่างหนัก

อย่างที่เคยได้ยินว่า “ทุกๆ 10 ปีตลาดหุ้นจะมีขึ้น 6-7 ปี ลง 3-4 ปี” ซึ่งจริงๆ เป็นการวัดแบบหลายๆ ปี ถึงจะเห็นชัดเจนกว่า นักลงทุนเก่งๆ หลายคนบอกว่าการลงทุนเป็นเหมือนบททดสอบความอดทน บางปีอาจกำไร บางปีอาจจะขาดทุน ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะอยู่ได้นานแค่ไหน

ขยายภาพความผันผวนตลาดหุ้นไทย 43 ปี

วันนี้ ผมขอเอากราฟข้อมูลสถิติมาให้ดูเรื่องความผันผวนของตลาดหุ้นไทยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2518-2560 หรือราว 43 ปี ถ้าดูในแต่ละปี ดัชนีจะแกว่งตัวมากเลย แต่ละปีมีกำไรไม่เท่ากัน มีทั้ง 100% หรือ 30% ก็มี บางปีกำไร 70% ส่วนบางปีขาดทุน 30 % หรือขาดทุน 50% ไปเลย หรือติดลบ 40%

ไม่มีใครตอบได้ว่า เราลงทุนแล้วจะเข้าไปอยู่ในปีไหน เพราะบางครั้ง ตลาดหุ้นก็มีความบ้าคลั่งระดับหนึ่ง และเชื่อไหมครับ บางทีเราคิดว่า ‘แพง’ แต่หุ้นก็ยังขึ้นไปได้อีกเยอะ หรือบางทีคิดว่า ‘ถูก’ แล้ว แต่ก็ยังตกลงไปได้อีก

Benjamin Graham ยังบอกเลยว่า ตลาดหุ้นอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องของมูลค่านัก เพราะตลาดหุ้นเป็นที่ที่แสดงออกว่า คนจำนวนมากคิดอย่างไร  อย่างถ้าคนกลัวมาก อยากจะขาย ต่อให้ราคาหุ้นถูกยังไง เขาก็ขาย ราคาหุ้นก็ตกลงได้อีก เพราะฉะนั้น เราจะเห็นภาพความวุ่นวายในตลาดหุ้น

ผมขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมของตลาดหุ้นไทยช่วง 43 ปีที่ผ่านมา จะเห็นภาพปีที่ตลาดหุ้นขึ้น ‘มีมากกว่า’ ปีที่ตลาดหุ้นลง โดยตลาดหุ้นมีกำไรประมาณ 27 ปี และขาดทุนราว 16 ปี

ปีที่ตลาดหุ้นทำกำไรมากกว่า 20% มีถึง 18 ปี คิดเป็นสัดส่วน 41.8% ของตลอดช่วง 43 ปีที่มีตลาดหุ้นไทย ส่วนปีที่ขาดทุนมากกว่า 20% มี 6 ปี หรือสัดส่วน 13.9% นับว่าปีที่กำไรมีมากกว่า ‘เท่าตัว’ เลย

สำหรับปีที่กำไรมากกว่า 50% มี 6 ปี สัดส่วน 13.9% และปีที่ขาดทุนมากกว่า 50% มี 1 ปี หรือสัดส่วน 2.3% เรียกว่ามีโอกาสขาดทุนมากกว่า 50% จะมีแค่ปีเดียวเท่านั้นในรอบ 40 ปี

เพราะฉะนั้น คนที่รู้สึกกลัวว่าเข้าตลาดหุ้นแล้วตลาดตกจะขาดทุนหนัก จริงๆ ต้องบอกว่า คุณอาจจะคิดถูก แต่ความผิดพลาดของการตัดสินใจแบบนี้ คือคุณก็อาจจะพลาดโอกาสทำกำไรมหาศาลในปีที่ตลาดหุ้นขึ้นเช่นเดียวกัน

ติดอาวุธรับมือกับช่วงผันผวนของตลาดหุ้น

สิ่งที่ผมอยากให้นักลงทุนพยายามทำความเข้าใจ คือ “เราอย่าโฟกัสแค่ใบไม้ เราต้องโฟกัสทั้งป่า” หมายความว่า เราอย่าดูแค่การลงทุนระยะสั้น 3-6 เดือน หรือ 1 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูราคาทุกวันหรือดูราคาในระยะสั้น เพราะการลงทุนจะหลอกเราได้มากทีเดียว

Photo : Shutterstock

สิ่งที่นักลงทุนควรทำเพื่อรับมือในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน คือ

  1. การเพิ่มทุน หรือ DCA  (Dollar Cost Averaging) ทุกปี เพื่อเฉลี่ยต้นทุน ถือเป็นกลยุทธ์ที่ดี ถ้ามองผ่านไประยะ 5 ปี ราคาปรับตัวสูงขึ้น แม้ระหว่างทางจะมีความผันผวนและราคาไหลลงบ้าง แต่ผลจากการทำ DCA สุดท้ายก็จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคตได้
  2. ถ้าคุณไม่มีเงินจะเพิ่มทุน ก็แนะนำว่า ‘อยู่เฉยๆ’ และรอดูสถานการณ์ก่อน ตั้งสติ อดทน เพื่อถือผ่านมันไปให้ได้ เพราะว่าตลาดหุ้นมีความผันผวนเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่มีใครคาดการณ์อะไรได้ล่วงหน้า คุณไม่ควรต้องกังวลกับผลกระทบที่เกิดขึ้นระยะสั้น ถ้าคุณมั่นใจว่าได้ลงทุนอย่างมีหลักการที่ดี สุดท้ายมันก็กลับมาที่เดิม แต่คุณเชื่อไหมครับว่า คนส่วนมากที่จะขาดทุนจากตลาดหุ้นลงหนักๆ ก็คือคนที่ไม่สามารถอดทนต่อการสวิงหรือความผันผวนของตลาดหุ้นได้นั่นเอง

การอิงข้อมูลสถิติข้างต้น สะท้อนการลงทุนตลาดหุ้นระยะยาว จะมี ‘แต้มต่อ’ ที่มากกว่าระยะสั้น เพราะว่าคุณมีโอกาสเจอปีที่กำไรมากกว่าปีที่ขาดทุน

อดทนช่วงพอร์ตติดลบหนักๆ คว้าโอกาสลงทุนระยะยาว ‘ได้มากกว่าเสีย’

ผมขอยกตัวอย่างแนวทางการลงทุนระยะยาวแบบ ‘จิตตะ เวลธ์’ ที่พิสูจน์มาแล้วว่าทำผลกำไรได้ในระยะยาว หากคุณมีวินัยการลงทุนที่ดี เพราะฉะนั้นแม้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จะขาดทุนบ้าง แต่ในระยะยาว ผลตอบแทนควรจะต้องเติบโตขึ้นตามดัชนีตลาดหุ้น

ในปี 2564 ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนระดับหนึ่ง ก็ยังถือว่าเป็นขาขึ้น ผลตอบแทนของ ‘จิตตะ เวลธ์’ สามารถทำออกมาได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะกลุ่ม Jitta Ranking ทำผลตอบแทนโตขึ้น 2 เท่าของดัชนีทีเดียว

เมื่อคุณดูนโยบาย Jitta Ranking เช่น หุ้นไทย จะผลตอบแทนอยู่ที่ +17.40% ต่อปี ในช่วงปี 2555-2564 และผลตอบแทนรวม คือ +398.05% แต่ในรอบ 10 ปีนั้น หากคุณเลือกที่จะดูมูลค่าพอร์ตของตัวเองทุกวัน คุณจะเห็นตัวเลข โอกาสขาดทุนสูงสุด (Maximum Drawdown) ได้ถึง -49.55% มันก็คือช่วง Covid-19 ซึ่งทำให้คุณกังวลใจอยู่ไม่น้อย

ตัวเลข Maximum Drawdown มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ถ้าคุณเห็นผลตอบแทนรวม Jitta Ranking ไทย แล้วเทียบกับโอกาสขาดทุนสูงสุดรายวัน คุณจะเห็นว่า ผลตอบแทนที่ได้มันคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น มันคือ Risk Reward นั่นเอง หมายความว่า หากคุณอดทนในช่วงที่พอร์ตติดลบหนักๆ ได้ ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจกำลังรอคุณอยู่ในอนาคต

จากตัวเลขเหล่านี้ หากคุณดูมูลค่าพอร์ตรายวัน ยิ่งเป็นในช่วงตลาดหุ้นผันผวน คุณอาจจะรู้สึกกังวลใจ ทั้งๆ ที่ตัวเลข Maximum Drawdown จะลดลง เมื่อคำนวณในระยะเวลาที่นานขึ้น นั่นหมายความว่า หากคุณไม่ตกใจจนรีบขายสินทรัพย์ที่ดีออกจากพอร์ตในช่วงความไม่แน่นอนไปก่อน โอกาสขาดทุนจะน้อยลง

ยิ่งเมื่อเห็นผลตอบแทนระยะยาวที่ชดเชยการขาดทุนได้ คุณคงยอมเสี่ยงอย่างแน่นอน แต่ในโลกแห่งความจริง ไม่มีใครรู้ว่า หุ้นจะขึ้นจะลงวันไหน จะต้องเผชิญการขาดทุนแค่ไหน ดังนั้น การลงทุนที่อิงสถิติระยะยาวด้วยส่วนหนึ่ง เพราะผ่านการพิสูจน์มาแล้ว การ DCA ทุกปี หรือลงทุนระยะยาวไปเรื่อยๆ จะได้กำไรทบต้นขึ้นมาในระดับที่ดีกว่า กรณีแย่ๆ ก็อาจกำไร 6-8% แต่ถ้าบริหารจัดการพอร์ตดีๆ ได้กำไร 10-15% ต่อปี นี่คือสิ่งที่จะทำให้คุณอยู่ฝั่งผู้ชนะได้

สำหรับคนที่รู้สึกหวั่นไหวกับความผันผวนหรือมูลค่าพอร์ตที่ลดลง ผมแนะนำว่า ควร ‘ลดความถี่ในการดูพอร์ต’ แต่ถ้าคุณมีความเข้าใจถึงความผันผวนในตลาดหุ้นมากขึ้น จะทำให้คุณมีความสุขกับการลงทุนมากขึ้น

จะเห็นว่ากลเม็ดเคล็ดลับไม่ได้ยากอะไรนัก สำหรับการบริหารความผันผวนพอร์ตการลงทุน สิ่งสำคัญคือเราจะต้องมีเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน และมีพอร์ตการลงทุนที่มีหลักการ และกระจายความเสี่ยงที่ดี แต่หากหน้างานแล้วเรายังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ หวั่นไหวกับความผันผวนของตลาดหุ้นที่ประดังประเดเข้ามา คุณอาจจะต้องมองหาตัวช่วย ที่มาบริหารจัดการพอร์ตลงทุนแทนคุณ โดยยึดมั่นในหลักการ และจัดการกับอารมณ์ได้ดีกว่า แล้วคุณก็ไปใช้ชีวิตอย่างสบายใจ เปิดดูพอร์ตลงทุนเติบโตกันแบบยาวๆ 

]]>
1374640
ส่องธีมลงทุนจาก ‘ซิตี้แบงก์’ รับเศรษฐกิจเริ่มฟื้น คาดปีนี้ผลตอบแทนหุ้นทั่วโลก 7-8% https://positioningmag.com/1373792 Sun, 13 Feb 2022 09:27:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1373792 ‘ซิตี้แบงก์ ประเทศไทย’ มองภาพเศรษฐกิจโลกปี 2565 ยังคงไม่กลับไปยังจุดก่อนโควิด-19 แต่จะไม่มีการหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจอีก ต้องจับตานโยบายการเงิน โดยสรุปประเด็นสำคัญจากงานสัมมนาออนไลน์ “Citigold Annual Outlook 2022” ถึงทิศทางเศรษฐกิจและธีมการลงทุนปีนี้ที่น่าสนใจ ดังนี้ 

ประเมินจีดีพีโลกปีนี้โต 3.8%

เคน เพ็ง นักยุทธศาสตร์การลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิกฟิก ธนาคารซิตี้แบงก์ ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2565 มีแนวโน้มชะลอตัว โดยจะขยายตัวอยู่ที่ราว 3.8% เพราะหลายประเทศมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ไม่ว่าจะเป็น มาตรการการชดเชยทางการเงินขนาดใหญ่จากผลกระทบของโควิด-19 ธนาคารกลางในประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังลดทอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE (Quantitative Easing) รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายใน 2 ปีต่อจากนี้  ตลอดจนธนาคารกลางตั้งเป้าที่จะให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นปานกลางในระยะยาว เป็นต้น

ด้านการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ราว 3.5% โดยได้รับอานิสงส์จากภาคบริการที่กลับมามีความแข็งแกร่ง ในขณะที่ภาคการผลิตยังได้รับผลกระทบจากแรงลมหนุนท้าย (tailwind)

ส่วนประเทศจีน คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ 4.5% จากแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง จากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมาตรการควบคุมในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งสินค้าออกไปยังจีน และในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์บางส่วน

คาดผลตอบแทนหุ้นทั่วโลก โดยรวมอยู่ที่ 7-8%

ด้านกำไรต่อหุ้นทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 53% ในปี 2564 น่าจะเติบโตช้าลงเป็น +7 ถึง 8% ภายในปี 2565-2566 ในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี (10-year US Treasuries) จะเพิ่มผลตอบแทนเป็น 2.1% ภายในสิ้นปี 2565 เเม้โควิดอาจทำให้อัตราผลตอบแทนปกติช้าลง

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ซิตี้ ประมาณการ ผลตอบแทนหุ้นทั่วโลกในปี 2565 อยู่ที่ 8% ในขณะที่ผลตอบแทนตราสารหนี้คาดว่าจะอยู่ที่ -1% ถึง 0%” 

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันตลาดเพิ่มเติมได้ เช่น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งความสัมพันธ์สหรัฐฯ – จีน หรือความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซียที่อาจเลวร้ายลง ดังนั้นนักลงทุนควรจับตาประเด็นสำคัญของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาผลประโยชน์พอร์ตลงทุนในระยะยาว

แนะ 3 ธีมลงทุน

ภาพรวมการลงทุนยังคงเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง แต่นักวิเคราะห์ซิตี้มีมุมมองบวกต่อหุ้นวัฏจักรในอุตสาหกรรมที่ได้ผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงเล็งเห็นโอกาส โดยเน้นที่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และใช้ตลาดทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการถือครองเงินสดหรือตราสารหนี้

ดังนั้น แนะนำกระจายการลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลาย โดยกลยุทธ์การลงทุนในปี 2565 สามารถแบ่งเป็น 3 ธีมการลงทุนด้วยกัน ได้เเก่

Long term leaders

เปลี่ยนการลงทุนระยะสั้นเป็นการลงทุนในกลุ่มผู้นำระยะยาว แม้ว่าปีที่ผ่านมาจะมีอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีและสม่ำเสมอมากที่สุด คือ กลุ่มไอทีเทคโนโลยี กลุ่มการดูแลสุขภาพ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

Beat the cash thief!

เอาชนะการถือเงินสดด้วยการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนดี เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้หลายบริษัทต้องมีการจัดการภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก คาดว่ากลุ่มตราสารหนี้ที่น่าจะให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าคือ ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่เอเชีย ตราสารหนี้ไฮยีลด์ พันธบัตรสหรัฐอเมริกา

Unstoppable trends

เทรนด์การลงทุนที่ยังมาแรงคือกลุ่มพลังงานสะอาด รวมถึงความพยายามในการลดต้นทุนอันเห็นได้จากภาครัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำให้โลกเป็นสีเขียว (greening the world) รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยี และเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชันของทั้งบริษัทสหรัฐฯ หรือจีนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนกลุ่มการดูแลสุขภาพที่พบว่ามนุษยชาติจะมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น

คาดเศรษฐกิจไทยโต 3.6% นักท่องเที่ยว 5 ล้านคน 

ด้าน ดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าเติบโตที่ระดับ 3.6% จากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 1% หลังเเนวโน้มภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว บวกกับการส่งออกที่เติบโตจากอานิสงส์เศรษฐกิจโลก รวมถึงการอุปโภคบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวเรื่อยๆ

ทั้งนี้ คาดว่าปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาประเทศไทยจะอยู่ที่ ราว 5 ล้านคน (คิดเป็น 12.5% จากนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562) จากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ

ด้านความคืบหน้าของ ดีลใหญ่วงการธนาคารในตลาดอาเซียน หลังธนาคารยูโอบี (UOB) เข้าซื้อธุรกิจรายย่อย ‘ซิตี้กรุ๊ป’ (Citigroup) ในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซียเเละเวียดนาม ด้วยมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาทนั้น

ผู้บริหารซิตี้แบงก์ เปิดเผยว่า ยังไม่มีผลกระทบกับลูกค้า โดยเมื่อมีประกาศชัดเจนน่าจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าเเละพันธมิตรมากขึ้น โดยจะพยายามทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด 

สำหรับในปี 2565 ซิตี้แบงก์เตรียมนำเสนอกองทุนใหม่ๆ ให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ในปีที่ผ่านมามีการเติบโตเป็นที่น่าพึงพอใจ มีการเติบโตในกลุ่มซิตี้โกลด์ รวมถึงซิตี้ไพรออริตี้ ที่พร้อมให้บริการการลงทุนได้ทั่วโลกกว่า 200 กองทุน จากพันธมิตรที่หลากหลายกับ 5 บลจ.ในประเทศและ 12 บลจ.ต่างประเทศ ซึ่งมีความหลากหลายของกองทุนทั้งประเภทของสินทรัพย์ และภูมิภาคของการลงทุน

ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าซิตี้โกลด์ เช่น บริการผู้ดูแลบัญชีที่พร้อมให้บริการคำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ การลงทุนให้ลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์ พร้อมทั้งให้ลูกค้าสามารถบริหารความมั่งคั่งสะดวกในทุกโอกาสผ่านซิตี้ โมบาย แอปพลิเคชัน

โดยลูกค้าซิตี้โกลด์สามารถทำการซื้อ-ขายกองทุนได้ด้วยตัวเอง ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของพอร์ตการลงทุน การโอนเงินผ่านทางพร้อมเพย์ไปยังต่างธนาคาร หรือโอนเงินไปยังบัญชีต่างประเทศได้ง่าย รวมถึงสามารถเปิดบัญชีสกุลเงินต่างประเทศได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น

]]>
1373792
มองภาพรวมเศรษฐกิจโลก ปี 65 ฟื้นตัว เเต่ตลาดผันผวนมากขึ้น ชูธีมเด่นลงทุนต่างประเทศ  https://positioningmag.com/1371276 Sun, 23 Jan 2022 12:15:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371276 บลจ.กรุงศรี มองเศรษฐกิจโลก ปี 2565 เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป เเละกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชียที่จะทยอยปรับตัวดีขึ้น เเต่ตลาดอาจผันผวนมากขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ เผยธีมลงทุนหุ้นต่างประเทศ “Clean energy -ESG – จีน”  

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เเต่ตลาดยังผันผวนรับเงินเฟ้อ

ศิระ คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี เปิดเผยถึง ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2565 ว่า มีแนวโนมฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในตลาดพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และยุโรป

ด้านความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ อาจมีน้อยลงจากอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การพัฒนาวัคซีนและยารักษา Covid-19 ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่อาจไม่เท่ากัน คาดว่าเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่จะทยอยปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะในเอเชียอย่างประเทศจีน เนื่องจากแนวโน้มการออกมาตรการควบคุมอุตสาหกรรมของทางการจีนจะมีน้อยลง และรัฐบาลจีนได้ส่งสัญญาณว่าจะกลับมาสนับสนุนสภาพคล่องให้เศรษฐกิจอีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม ตลาดโลกอาจมีความผันผวนมากขึ้น โดยปัจจัยที่ต้องจับตามองคืออัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่จะมีความตึงตัวมากขึ้น นำโดยสหรัฐฯ ที่เตรียมยกเลิกโครงการ QE ในเดือนมีนาคมเพื่อเตรียมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในลำดับถัดไป ตลาดมองว่าเฟดอาจมีการขึ้นนโยบายการเงินได้ถึง 4 ครั้งในปี 2565 โดยอาจจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นไป

สำหรับภาพรวมของการลงทุนในตลาดหุ้นโลกนั้น บลจ.กรุงศรี มีมุมมองว่า ความผันผวนของตลาดหุ้นอาจมีมากขึ้น ตามแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อ และการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของทางธนาคารกลางทั่วโลก

ขณะที่การฟื้นตัวของแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกัน โดยเราอาจเห็นกลุ่มหุ้นที่มีราคาสูงอย่างกลุ่มเทคโนโลยีถูกกดดัน ในขณะที่ตลาดที่เป็น laggards ทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะในตลาดเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และจีน  โดยในช่วงที่ตลาดมีความเสี่ยงมากขึ้นการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่ม defensive จะช่วยลดความผันผวนให้กับพอร์ตการลงทุนได้ 

Photo : Shutterstock

3 ธีมใหญ่ ลงทุนต่างประเทศ 

ธีมการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่

  • ลงทุนในกลุ่ม Clean energy เนื่องจากปัจจุบันนโยบายเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน โดยทั้งหมดได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้สำเร็จ และคาดว่าจะเห็นนโยบายสนับสนุนด้าน Clean energy ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง
  • ลงทุนในธีม ESG ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักลงทุน อีกทั้งธีมการลงทุนในส่วนของ cyber securities ที่มีความจำเป็นมากขึ้นในปัจจุบันหลังจากเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นก็เป็นธีมการลงทุนที่น่าสนใจเช่นกัน
  • ลงทุนในตลาดจีน ก็กลับมาน่าสนใจอีกครั้งหลังท่าทีของรัฐบาลจีนที่มีต่อการออกกฎหมายควบคุมในหลายอุตสาหกรรมเริ่มลดลง โดยทางธนาคารกลางจีนได้กลับมาให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนสภาพคล่องให้กับตลาดอีกครั้ง นอกจากนั้นการลงทุนในกลุ่มตลาดที่เป็น laggards อย่างตลาดญี่ปุ่นและตลาดเอเซียก็ยังคงมีความน่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากราคาหุ้นอยู่ในระดับที่ไม่สูงจนเกินไปและมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
Photo : Shutterstock

ท่องเที่ยวไทย เริ่มกลับมา 

ด้านเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และจากอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นจนสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้เป็นปกติ โดยภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะทยอยเริ่มกลับมาหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้มากขึ้น

ส่วนการส่งออกจะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลงเนื่องจากผลของฐานต่ำหมดไป ในขณะที่ภาคบริการจะเติบโตในอัตราสูงจากผลของฐานต่ำในปี 2564 ด้านการบริโภคคาดว่าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น แต่อาจไม่ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทย มีแนวโน้มผันผวนตามตัวเลขเศรษฐกิจและกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงตลอดปี 2565 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ส่วนอัตราผลตอบแทนระยะกลางถึงยาวอาจมีความผันผวนตามตลาดต่างประเทศที่คาดว่าจะถูกกดดันจากการปรับนโยบายการเงินของสหรัฐเป็นหลัก

ในส่วนของตลาดหุ้นไทยนั้น บลจ.กรุงศรีมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในหุ้นไทยในปี 2565 โดยคาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนฯ จะสามารถเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 11.5 จากการกลับมาเปิดประเทศ โดยคาดว่าการลงทุนในหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 12.5

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามเรื่องโอมิครอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือไม่ รวมถึงนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในตลาดมากเพียงใด

“การจัดพอร์ตการลงทุนในปี 2565 นักลงทุนควรให้ความสำคัญต่อการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง แนะนำจัดสรรเงินลงทุนใน ตราสารหนี้ 35% หุ้นไทย 16.5% และหุ้นต่างประเทศ 48.5% 

 

 

 

 

]]>
1371276
จับกระเเสเศรษฐกิจโลก เปิด 5 ธีมการลงทุน รับปี 2022 หุ้นจีนเเละกลุ่ม ESG มาเเรง https://positioningmag.com/1369095 Wed, 29 Dec 2021 07:11:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369095 เตรียมตัวสู่ปี 2022 ประเมินเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว ยังมีความผันผวน ต้องจับตานโยบายการเงินการคลัง หุ้นกลุ่ม ESG เเละจีนแผ่นดินใหญ่มาแรง

วันนี้เราจะมานำเสนอ 5 ธีมการลงทุนโลกที่น่าสนในช่วงปีหน้า จากความเห็นของ ทีมกลยุทธ์การลงทุน TMBAM Eastspring และ Thanachart Fund Eastspring มาให้อ่านกัน

ธีมที่หนึ่ง : รับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 

หลังจากการระบาดของโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา ส่งผลสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าหลายประเทศสามารถประคองให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้ แต่เชื่อว่าในปี 2022 การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะกลับมาชะลอตัวลง จากฐานการเติบโตที่สูงในปีนี้ และความต้องการที่เริ่มชะลอตัวหลังจากการเปิดประเทศในปีหน้า

ดังนั้นการลงทุนในช่วงปี 2022 มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระจายสินทรัพย์ลงทุนตามระดับ “ความเสี่ยงที่รับได้ และไม่ควรเก็งกำไรในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งหรือภูมิภาค/กลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่ง” 

ธีมที่สอง : รับการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงิน

จากการที่ภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด-19 รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นส่งผลให้ในปี 2022 ธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ ต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นเพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อ ทั้งลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างฝั่งของธนาคารกลางสหรัฐฯ

หลังจากการประชุมในเดือนธันวาคม จาก Dot plot มีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3 ครั้งในปี 2022 ซึ่งอาจเริ่มส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นได้

ดังนั้นในช่วงจังหวะที่ผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น อาจต้องกระจายลงทุนในหุ้นกลุ่มอื่นบ้าง แทนที่จะเน้นลงทุนกลุ่มเติบโตหรือกลุ่มเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว

โดยมองว่ากลุ่มหุ้นวัฏจักร เช่น ธนาคาร พลังงาน มีความน่าสนใจเหมาะเอาไว้เพื่อกระจายความเสี่ยงและได้ประโยชน์จากผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้น ในส่วนของตราสารหนี้อาจจะต้องเลือกตราสารที่มีอายุไม่ยาว และเน้นไปยังตราสารประเภท Investment Grade เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้น

Photo : Shutterstock

ธีมที่สาม : นโยบายการคลังที่ลดขนาดลง และการขึ้นภาษี

จากที่กล่าวข้างต้นว่า หลายประเทศมีการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินที่สูงมาก อย่างในสหรัฐฯ ปีนี้มีการใช้วงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 16% ของ GDP แต่กลับพบว่าในปี 2022 วงเงินในด้านการคลังคาดว่าจะมีการใช้งบประมาณไม่ถึง 10% ของ GDP ทำให้เชื่อว่าสหรัฐฯ อาจเริ่มเก็บภาษี ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีนิติบุคคล และภาษีจากการลงทุน ในปีหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการบริโภค กำไรบริษัทจดทะเบียน รวมถึงการลงทุนที่อาจผันผวนเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น สำหรับการลงทุนอาจจะต้องเลือกบริษัทที่มีกระแสเงินสดที่ดี เพื่อรองรับการเติบโตที่อาจจะชะลอตัวลง รวมถึงความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น และอาจเพิ่มการลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่มียอดขายเติบโตน่าสนใจติดพอร์ตไว้บ้าง ซึ่งมองว่าจะได้รับผลบวกในกรณีเกิดการขึ้นภาษีนิติบุคคล

ธีมที่สี่ : ESG

โดยเชื่อว่าในปีหน้าหลายบริษัทจะนำเอา ESG เข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น และในแง่ของการลงทุน ทางผู้จัดการกองทุนทั่วโลกได้มีการตระหนักถึงประเด็น ESG และมีการนำเรื่อง ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่เข้าลงทุน

Bloomberg  มีการคาดการณ์ว่าขนาดของกองทุน ESG ที่เป็น ETF อาจเติบโตขึ้นได้ 3-5 เท่าในช่วง 2020-2025 ซึ่งในปี 2020 กองทุน ESG  ประเภท ETF มีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2020 และอาจโตได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2025

Photo : Shutterstock

ธีมที่ห้า : นโยบายรุ่งเรืองร่วมกันของ สี จิ้น ผิง จะยังดำเนินต่อไป

จีนแผ่นดินใหญ่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ ในปีนี้หลังจากที่ทางการจีนได้มีการประกาศนโยบาย รุ่งเรืองร่วมกัน หรือ Common Prosperity เพื่อจัดการความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี และบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงด้านการผูกขาดตลาด และในปี 2022 นโยบายนี้จะยังคงอยู่แต่ผลกระทบอาจเริ่มจำกัด

และที่สำคัญในปี 2022 จะมีการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึงการเลือกผู้นำคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะยังเป็น สี จิ้น ผิง ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่ 3 และหากไปดูนโยบายต่างๆ จะพบว่าจีนมีการดำเนินนโยบายที่ยังคงเน้นการบริโภคในประเทศเป็นหลัก

“ในด้านการลงทุน ตลาดหุ้นจีนอาจฟื้นตัวไม่เท่ากันระหว่าง ตลาดหุ้นฝั่งที่เป็น H Shares และ China ADR ที่อยู่นอกจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมองว่าจีนแผ่นดินใหญ่มีความน่าสนใจ เพราะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เน้นการบริโภคในประเทศ รวมถึง Valuation ยังไม่แพงมาก และมีโอกาสเกิด Country Rotation ได้เนื่องจากในปี 2022 การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในจีน สามารถเติบโตได้ประมาณ 15%-16% และจากอดีตพบว่าปีใดที่ตลาดหุ้นจีน Underperform มาก ในปีถัดมามีโอกาสที่นักลงทุนจะหมุนการลงทุนไปยังตลาดหุ้นจีน”

 

]]>
1369095
ส่องกลยุทธ์ลงทุนปี 2022 กับธีมธุรกิจแห่งอนาคต จากมุมมอง SCB CIO https://positioningmag.com/1367990 Tue, 21 Dec 2021 08:47:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1367990 ส่องแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนปีหน้า ผลกระทบโควิด “ลดลงแต่ยังไม่หายไป” SCB CIO แนะลงทุนกลุ่มประเทศและธุรกิจที่มีภูมิคุ้มกันสูง เช่น หุ้นสหรัฐฯ ยุโรป โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม quality growth มุ่งเน้น 2 ธีมหลัก Super Investment เเละ Futuristic Investment ส่วนตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็น top pick ในอาเซียน มองหุ้นไทยเป็น neutral

โดยมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2022 ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส SCB CIO ได้ประเมินผ่าน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

โควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนาน

ผลกระทบแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ยังไม่หายไป ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ เริ่มมีความแตกต่างน้อยลง โดยเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วหลังจากฟื้นตัวในปี 2021 จะเริ่มชะลอลงในปี 2022 ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาเริ่มกลับมาฟื้นตัว

“เเต่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการข้อจำกัดต่างๆ เช่น การเดินทางระหว่างประเทศ” 

นโยบายการเงินการคลัง เริ่มตึงตัวขึ้นแบบ ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ 

ธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี 2022 โดยทยอยขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี แต่จะมีการสื่อสารให้ตลาดรับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินโลกแม้จะเกิดขึ้นในช่วงสั้น แต่น่าจะอยู่ในระดับที่จัดการได้

“ธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับ 0.5% ต่อไปอีก 1 ปี เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” 

ส่วนนโยบายการคลังในประเทศพัฒนาแล้ว จะเริ่มเห็นการออกนโยบายเพิ่มรายได้ภาครัฐมากขึ้น เช่น การขึ้นภาษี แต่อาจจะไม่มากพอที่จะชดเชยการขาดดุลขนาดใหญ่ในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้หนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูง

Photo : Shutterstock

ต้นทุนทางการเงินเริ่มสูงขึ้น ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่มาพร้อมความผันผวน

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่น่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามการขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัด

“SCB CIO คาดว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะอยู่ในช่วง 32-33 ในปลายปี 2022 แต่จากการปรับนโยบายการเงินในประเทศต่างๆ และความไม่แน่นอนของการกลายพันธุ์ COVID-19 ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนสูงของ ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (FX hedging strategy) จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ”

เเนะเน้นทุนในหุ้น มากกว่าพันธบัตร

โดยเน้นไปที่กลุ่มประเทศและธุรกิจที่มีภูมิคุ้มกันสูงและเติบโตได้ดีในสภาวะที่ผลกระทบของโควิด-19 ยังไม่หายไป และการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น หุ้นสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม quality growth ตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็น top pickในตลาดหุ้น ASEAN แม้ valuation เริ่มมีการขยับขึ้นก็ตาม แต่ในระยะข้างหน้าเราเชื่อว่าเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดจะเบียนจะมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากภาคส่งออก

SCB CIO คงมุมมองตลาดหุ้นไทยเป็น neutral จาก valuation ที่ตึงตัวกว่าตลาดหุ้นเวียดนาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 เพื่อป้องกันความเสี่ยงของเงินเฟ้อสูงยืดเยื้อกว่าคาด

“ในพอร์ตการลงทุนควรพิจารณา น้ำมัน หุ้นกลุ่ม financial และ consumer ส่วนทองคำน่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ” 

ลงทุนตาม ‘เมกะเทรนด์’ ในอนาคต 

จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันน้อยลง จะทำให้มีการลงทุนใน Thematic investment funds ในอุตสาหกรรมและบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งและธุรกิจเฉพาะทางมากขึ้น รวมทั้งธุรกิจที่สามารถเกาะกระแสการเติบโตของเมกะเทรนด์ในอนาคตได้ จะมีบทบาทและความน่าสนใจมากขึ้นในการจัด Global asset allocation portfolio โดยในปี 2022 SCB CIO แนะลงทุนใน 2 ธีมการลงทุนหลัก ได้เเก่

Super Investment Theme

สำหรับ Super Investment Theme เป็นธีมการลงทุนอุตสาหกรรมระยะยาวที่เติบโตต่อเนื่อง มี 3 ธีมย่อยสำหรับการลงทุนที่มีความน่าสนใจ คือ

  • กลุ่ม Renewable Energy & Decarbonization เช่น ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอน
  • กลุ่ม Healthcare and Healthtech โดยเฉพาะกลุ่ม Medical Technology เช่น อุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ จากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก
  • กลุ่ม Fintech เทคโนโลยีทางการเงินที่เกาะกระแสการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เปิดโอกาสการลงทุนในบริษัทที่มีความหลากหลายในการให้บริการทางการเงิน

Futuristic Investment Theme

ธีมการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพเติบโตสูง มี 3 ธีมย่อยที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่

  • Aerospace & Space Exploration จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจด้านอวกาศและการบิน การท่องเที่ยวอวกาศ รวมถึงเทคโนโลยีจรวด โดรน ดาวเทียม การวัดและพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ และระบบโทรคมนาคมขั้นสูง
  • Metaverse การลงทุนในวิวัฒนาการขั้นต่อไปของอินเทอร์เน็ตในเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง ซึ่งสามารถสร้างโอกาสการเติบโตที่หลากหลายไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจโซเชียลมีเดีย แต่รวมถึงโอกาสในธุรกิจที่เกี่ยวกับวิดีโอเกมและสันทนาการ อีคอมเมิร์ซ อุตสาหกรรมการผลิต

ถ้าเป็นความเสี่ยงปานกลาง ควรจะมีสัดส่วนในหุ้นประมาณ 60-65% โดยให้น้ำหนักหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ ส่วนการถือเงินสด ควรจะถือประมาณ 5-7% ก็พอ เอาไว้เก็บหุ้นเพิ่มตอนที่ปรับฐาน เเละให้น้ำหนักหุ้นต่างประเทศมากกว่าหุ้นไทย โดย 4 ใน 5 ของพอร์ตให้เน้นหุ้นเป็นหุ้นตลาดต่างประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้ว เน้นสหรัฐฯ ยุโรป จีน และเวียดนาม ที่เป็นตลาดเกิดใหม่ โดยหุ้นขนาดกลางเเละขนาดเล็ก มีเเนวโน้มจะสร้างผลตอบเเทนได้ดี

 

]]>
1367990
เปิดเเผน “แม็คโคร x โลตัส” เเท็กทีมเจาะตลาดอาเซียน ลุยค้าปลีก-ค้าส่ง ควบโมเดล O2O https://positioningmag.com/1365379 Fri, 03 Dec 2021 15:19:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1365379 หลังจาก ‘กลุ่มซีพี’ ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ด้วยการโยกกิจการกลุ่มโลตัส (Lotus’s)
ในไทยและมาเลเซีย มูลค่ารวม 217,949 ล้านบาท ไปอยู่ภายใต้กลุ่มแม็คโคร (Makro) ผนึกกำลังขยายธุรกิจไปในระดับภูมิภาค

ล่าสุดทาง บมจ.สยามแม็คโคร เสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering หรือ PO)
ที่ 43.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 62,205 ล้านบาท (รวมมูลค่าของหุ้นส่วนเกิน) โดยทั้งห้ผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO CPALL และ CPF ที่ได้รับสิทธิ และนักลงทุนรายย่อยสามารถจองซื้อระหว่างวันที่ 4 – 9 ธันวาคมนี้ (อ่านรายละเอียดการจอง ที่นี่)

วันนี้ ทางทีมผู้บริหารทั้งฝั่งแม็คโครเเละโลตัส เเถลงถึง กลยุทธ์หลังระดมทุนครั้งใหญ่ เพื่อปรับโครงสร้างทางการเงิน ชำระเงินกู้จากสถาบันการเงินบางส่วน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ พร้อมเผยทิศทางธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกที่จะขยายไปในอาเซียน เเละการพัฒนาเทคโนโลยี เเพลตฟอร์ม O2O รองรับผู้บริโภคยุคใหม่ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายออนไลน์เป็น 15-20% ภายใน 3 ปี

ปักธงอาเซียน ผสมโมเดล O2O

สุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MAKRO กล่าวว่า ตอนนี้แม็คโครและกลุ่มโลตัส มีฐานลูกค้าร่วมกันขนาดใหญ่ สเต็ปต่อไปจะเป็นการร่วมมือกันวางยุทธศาสตร์ที่มุ่งสร้างการเติบโตไปสู่ ‘ระดับภูมิภาค’ ขยายไปในทุกช่องทางทั้งการค้าส่งแบบ B2B (Business to Business) และค้าปลีกแบบ B2C (Business to Consumer)
โดยต่อยอดศักยภาพจากฐานธุรกิจในประเทศไทย ไปยังภูมิภาคเอเชียใต้และภูมิภาคอาเซียน

สำหรับรูปแบบธุรกิจจะเน้นไปที่ 3 กลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ คือ Wholesale ธุรกิจเเบบค้าส่ง นำโดยกลุ่มเเม็คโครในประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจมานาน กว่า 32 ปี กลุ่มที่สองคือ Retail ธุรกิจค้าปลีกในไทยเเละมาเลเซีย เน้นอาหารเเละสินค้าอุปโภคบริโภค นำโดยกลุ่มโลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ตเเละมินิซูเปอร์มาเก็ต เเละกลุ่มที่สาม คือ Malls ธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าในไทยเเละมาเลเซีย โดยเมื่อรวมกันเเล้วสามารถทำยอดขายในปีที่ผ่านมาได้ถึง 4.3 เเสนล้านบาท

ทิศทางต่อไป จะขยายสาขาไปในหลายรูปแบบ เเละนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ พัฒนาระบบนิเวศออนไลน์ของการค้าปลีกรูปแบบใหม่ “ก้าวสำคัญคือเราจะสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ทั้งฝั่งลูกค้า คู่ค้า ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ผลิตสินค้ารายย่อยของไทยโดยจะพัฒนาแพลตฟอร์ม O2O ผสมระหว่างช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ (offline and online หรือ O2O) เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในยุคดิจิทัล”

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 กลุ่มเเม็คโคร มีศูนย์จำหน่ายสินค้ารวม 145 สาขา ประกอบด้วย สาขาในไทย 138 สาขา และต่างประเทศ 7 สาขา ได้แก่ กัมพูชา อินเดีย (ภายใต้แบรนด์ “LOTS Wholesale Solutions”) จีน และเมียนมา มีการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ Makroclick , Makro Application และ Makro Line Official Account

ส่วนกลุ่มโลตัส ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีร้านค้ารวม 2,164 แห่งทั่วประเทศไทย ประกอบด้วย ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 222 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต 192 แห่ง และมินิซูเปอร์มาร์เก็ต 1,750 แห่ง ธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้า 199 แห่ง มีพื้นที่รวมประมาณ 720,000 ตารางเมตร (ไม่รวมศูนย์การค้าที่ลงทุนโดยกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าโลตัสส์ รีเทล โกรท (LPF) รวม 23 แห่ง)

“แผนการขยายสาขาของแม็คโคร จะเดินหน้าขยายเฉลี่ยปีละ 5 สาขา หลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายจะเริ่มขยายสาขาในต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 4-6 สาขา โดยจะโฟกัสการทำตลาดในภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก”

โดยหลังได้รับเงินทุนจากการระดมทุนครั้งนี้ สัดส่วนการนำไปใช้จะเเบ่งเป็นครึ่งหนึ่งจะนำไปขยายธุรกิจเเละใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเเละอีกครึ่งหนึ่งจะนำไปชำระเงินกู้

ที่มา : Facebook แม็คโคร คู่คิดธุรกิจคุณ

โลตัสยุคใหม่ คีพสไตล์ SMART

ด้านแบรนด์ Lotus’s กำลังอยู่ในช่วงที่มีการ ‘ปรับภาพลักษณ์ใหม่’ รีเเบรนด์ให้ทันสมัยเเละถูกใจลูกค้ามากขึ้น
ด้วยการวางโพสิชันนิ่งเป็น “SMART Retailer” สมาร์ทในการช้อปปิ้งเเละการจับจ่ายใช้สอย

สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย เล่าว่า โลตัสมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งผ่านช่องทางที่หลากหลาย หรือ Omni-channel ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเเบบเฉพาะบุคคล รองรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการจะใช้เป็นช่องทางเติบโตไปด้วยกัน

การเปิดสาขา ‘Lotus’s Go Fresh’ ซึ่งเป็นมินิซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่มีสินค้าหลากหลาย
ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ของใช้ในบ้าน เครื่องดื่มเเละสินค้าต่างๆ ก็เป็นเเนวทางหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันจะมีการพัฒนาร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ไปพร้อมๆ ด้วยศูนย์การค้าของบริษัท ทั้งในไทยเเละมาเลเซีย
ให้เป็น Smart Community Hubs มีพื้นที่ให้เช่าเพื่อทำธุรกิจมากกว่า 1 ล้านตรม. (เเบ่งเป็นในประเทศไทยราว 7 เเสนตรม.) โดยมีการปรับให้ร้านเข้าใกล้ชุมชนมากขึ้น อย่างโซนบางใหญ่จะเป็น Family Mall โซนลาดกระบังจะเป็นเเนว Service Mall เป็นต้น

ผู้บริหารโลตัส มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัว หลังจากเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภค เเละการเติบโตของกลุ่มโลตัส ซึ่งอัตราการเช่าพื้นที่ภายในศูนย์การค้าก็ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ คาดว่าจะกลับมาเต็มในระดับที่เคยได้ก่อนโควิดตั้งเเต่ช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป

ทั้งนี้ โลตัสมีเเผนจะเดินหน้าเปิดสาขาในมาเลเซียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีหน้ามีแผนขยายสาขาเฉลี่ย 10 สาขาต่อปี จากปัจจุบันที่มีสาขาอยู่ทั้งสิ้น 60 สาขา ส่วนประเทศอื่นๆ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ซึ่งจะเน้นการลงทุนทั้งออฟไลน์บวกออนไลน์ไปด้วยกัน

Photo : Shutterstock

ตั้งเป้ายอดขายออนไลน์ 20% ใน 3 ปี

ด้าน ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โลตัสส์ เอเชีย-แปซิฟิก (ยกเว้นประเทศจีน) ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจออนไลน์ของเเม็คโครเเละโสตัสกำลังจะพัฒนานั้น ล้วนมาจากความเเข็งเเกร่งของฐาน ‘ออฟไลน์’ ที่มีอยู่เดิม คือใช้กำลังสาขาเเละซัพพลายเชน ผสานธุรกิจทางด้าน B2B และ B2C เข้าด้วยกัน จุดเเข็งคือตอนนี้กว่า 100 สาขาของเเม็คโครกลายเป็นจุดที่ส่งสินค้าออนไลน์ให้ลูกค้า ซึ่งจะได้รับของในเวลาอันสั้นตามเวลาที่จองไว้

โดยธุรกิจออนไลน์ของบริษัทในช่วง 9 เดือนเเรกของปีมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด เพิ่มขึ้นถึง 60% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่เเล้ว โดยในส่วนของเเม็คโครมียอดขายออนไลน์ขยับจาก 1.22 หมื่นล้านบาท มาเป็น 1.83 หมื่นล้านบาท ขณะที่โลตัสทำยอดขายออนไลน์ได้ถึง 3.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่เเล้วที่ 1.5 พันล้านบาท

“จะมีการเปิดปรับปรุงแอปพลิเคชันและเพิ่มบริการใหม่เข้ามาตั้งเเต่ช่วงไตรมาส 1/65 เป็นต้นไป เริ่มจากแอปพลิเคชันของ MAKRO ก่อน และตามมาด้วยการปรับปรุงแอปพลิเคชันโลตัส ‘รูปแบบใหม่’ ซึ่งจะมีทั้ง การขายของออนไลน์ เป็นดิจิทัลทัชพอยต์ของฐานลูกค้าทั้งหมดมาไว้ในที่เดียว เเละใช้สาขาของโลตัสที่มีอยู่ถึง 2 พันสาขา มาส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ภายใน 1 ชั่วโมง นอกจากนี้จะนำผู้ประกอบการ คู่ค้า ขึ้นมาขายบนเเพลตฟอร์มด้วยกัน ตามรูปแบบ B2B2C ecosystem ซึ่งจะได้เห็นในช่วงไตรมาส 2/65”

จากการส่งเสริมช่องทางการขายผ่านออนไลน์อย่างเต็มที่ครั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนยอดขายจากช่องทางออนไลน์ของทั้งเเม็คโครและโลตัสเป็น 15-20% ให้ได้ภายใน 3 ปีนี้ จากปัจจุบันของเเม็คโครที่อยู่ระดับ 11-12%

 

]]>
1365379
OR ทุ่มทุน 192 ล้าน ซื้อหุ้น 25% ในบริษัทเเม่ของร้าน KOUEN เสริมพอร์ตธุรกิจอาหาร https://positioningmag.com/1358865 Wed, 27 Oct 2021 16:19:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1358865 OR ส่งบริษัทลูกลงทุน 192 ล้าน ซื้อหุ้น 25% ในบริษัทเจ้าของเเบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น KOUEN เสริมพอร์ตธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม 

วันนี้ (27 ต.ค.64) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดการ OR (ORMC) มีมติอนุมัติให้ บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OR เข้าลงทุนโดยการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท อิ่มทรัพย์โกลบอล คูซีน จำกัด (ISGC) ในวงเงินไม่เกิน 192 ล้านบาท

ภายหลังการเข้าลงทุนดังกล่าวจะทำให้ Modulus มีสัดส่วนการถือหุ้น 25% และกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ ISGC มีสัดส่วนการถือหุ้น 75% ของหุ้น

สำหรับ ISGC เป็นผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ KOUEN ที่มีสาขาทั่วกรุงเทพฯ 19 แห่ง และแบรนด์อื่นๆ

โดยเหตุผลที่ OR เข้าลงทุนในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เสริมสร้างศักยภาพในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของ OR รวมทั้งสร้างโอกาสในการเติบโตร่วมกันทั้งในและต่างประเทศ

Modulus จะเข้าลงนามในสัญญาจองซื้อหุ้นและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น ในวันที่ 28 ตุลาคม นี้

ก่อนหน้านี้ OR ได้เข้าซื้อหุ้น 20% ของ ‘โอ้กะจู๋’ ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อขยายสาขาผ่านสถานีบริการน้ำมัน ‘PTT Station’ เเละขายอาหาร Grab & Go ผ่าน Café Amazon รวมไปถึงการเข้าลงทุนในบริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด เจ้าของร้านกาแฟชื่อดัง “พาคามาร่า” (Pacamara) สัดส่วน 65% เพื่อขยายขอบเขตธุรกิจกาแฟอย่างครบวงจรด้วย

นอกจากนี้ ธุรกิจสำคัญ Non-Oil ที่สำคัญในเครือ OR ยังมี Café Amazon (OR เป็นเจ้าของเอง) เท็กซัส ชิคเก้น (ได้รับอนุญาตแต่เพียงผู้เดียว) ฮั่งเซ่งฮงติ่มซำ (มาสเตอร์แฟรนไชส์) เเละอื่นๆ

 

ที่มา : SET

 

]]>
1358865
โอกาสตลาดผันผวน เเนะสะสมหุ้นสหรัฐฯ-ยุโรป เน้นกลุ่ม Quality growth รับโลกฟื้นตัว https://positioningmag.com/1355586 Thu, 07 Oct 2021 13:23:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1355586 SCB CIO เเนะนักลงทุนจับโอกาสตลาดผันผวน สะสมหุ้นสหรัฐฯ -ยุโรป รับตลาด DMs ฟื้นตัวได้ดีหลังวิกฤตโควิด เน้นกลุ่ม Quality growth หุ้นญี่ปุ่นน่าสนใจจากเเผนกระตุ้นจากรัฐบาลใหม่ ส่วนหุ้นจีนยังมีความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ของรัฐ โซนตลาดอาเซียน เวียดนามยังเด่นมีหวังฟื้นตัวได้ดี ส่วนหุ้นไทยยังติดลบมองเป็น slightly negative 

ในงานสัมมนา Business of the Future’ มีการวิเคราะห์เเนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จังหวะลงทุนในช่วงตลาดผันผวน เเละโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ พร้อมประเมินอนาคต 3 ธุรกิจโลกยุคใหม่ กับทิศทาง ESG การลงทุนเพื่ออนาคต โดยมีประเด็นสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

ตลาด DMs ฟื้นก่อนใคร 

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ  ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจทั่วโลกว่า จะแตกต่างกันเเละจะนำไปสู่การทำนโยบายเศรษฐกิจทั้งทางด้านการเงินและการคลังที่แตกต่างกันด้วย

โดยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ เริ่มมีความแตกต่างมากยิ่งขึ้น โดยประเทศในกลุ่ม Developed Markets (DMs) เช่น สหรัฐฯ และ อังกฤษ ที่เริ่มส่งสัญญาณถอนคันเร่งนโยบายการเงิน โดยชะลอการเข้าซื้อพันธบัตร (QE tapering) และขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามความพร้อมของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ Emerging Markets ผ่านต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและความผันผวนของกระแสเงินทุน (fund flows)

สำหรับนโยบายการคลังการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา “มีต้นทุนสูง” สะท้อนจากหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นค่อนข้างเร็วในหลายประเทศ และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงที่แม้จะเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่น่าจะใช้เวลาพอสมควรในการชะลอลง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศในกลุ่ม DMs ในระยะข้างหน้าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแท้จริง (real yields) จะยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับในอดีต

“ดังนั้นผลกระทบต่อ valuation หุ้นกลุ่ม Quality growth อยู่ในระดับที่จัดการได้ และยังได้รับแรงหนุนจากกระแสแนวโน้มธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิด”

ทั้งนี้ ความเสี่ยงหลักของหุ้นกลุ่ม  Quality growth คือ ผลกระทบจากการขึ้นภาษี และการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ภาครัฐ (Regulatory risks) แต่คาดว่าการขึ้นภาษีของภาครัฐ เช่น ในกรณีของสหรัฐฯ อาจทำได้ไม่มากเท่ากับที่ประกาศไว้ เนื่องจากการทำมาตรการโครงสร้างพื้นฐานอาจมีการลดขนาดให้เล็กลง

สำหรับหุ้นกลุ่มอื่นๆ SCB CIO เชื่อว่าการมีหุ้นในกลุ่ม Value ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเป็นการป้องกันความผันผวนในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีการขยับขึ้นเร็ว

สะสมหุ้นกลุ่มสหรัฐฯ – ยุโรป เน้นจับกลุ่ม Quality growth 

ด้านจัดสรรการลงทุน SCB CIO ประเมินว่า กลุ่ม Developed markets  มีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดี หรือ หดตัวน้อยในช่วงวิกฤต ทำให้มีการฟื้นตัวของกำไรและความสามารถในการทำกำไรในระยะข้างหน้าของบริษัทจดทะเบียนได้ดีกว่าตามไปด้วย

“ในช่วงที่ภาวะตลาดผันผวน นับเป็นโอกาสที่ดี ในการเข้าสะสมหุ้นกลุ่มสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม  Quality growth ที่ยังมีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง” 

นอกจากนี้ หุ้นญี่ปุ่น ก็มีความน่าสนใจ จากแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ และราคาหุ้นไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาด DMs อื่นๆ

ส่วนการลงทุนในจีน ยังคงมุมมองตลาดหุ้น A-Share ที่ neutral จากนโยบายมุ่งเน้นเติบโตจากภายในประเทศของจีน เช่น นโยบาย  dual circulation และ common prosperity และคงมุมมองตลาดหุ้นจีน H- Share ที่ slightly negative เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ของรัฐที่มีแนวโน้มยืดเยื้ออยู่ค่อนข้างมาก 

เวียดนามมีหวังฟื้นตัวได้ดี ส่วนหุ้นไทย slightly negative

สำหรับตลาดหุ้นอาเซียน เวียดนามยังคงน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจและผลประกอบการ จะชะลอลงในช่วงไตรมาส 3/2021 แต่ตลาดหุ้นได้สะท้อนการรับรู้ไปบ้างแล้ว โดยในระยะข้างหน้า น่าจะมีการฟื้นตัวได้ของภาคการส่งออกตามเศรษฐกิจโลก และความคืบหน้าในการนำเข้าและฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงต่อสายพันธุ์เดลตา ทำให้การเปิดเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาได้  

“ส่วนตลาดหุ้นไทย มองเป็น slightly negative จากแนวโน้มการฟื้นตัวของกำไรที่เสี่ยงถูกปรับลดลง และความตึงตัวของ valuation เมื่อเทียบกับตลาดอาเซียนอื่น” 

โดยมองค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เเละให้น้ำหนักไปทาง 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านราคาน้ำมัน ปรับมุมมองเป็น Neutral จากการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมัน ซึ่งได้อานิสงส์จากการเปิดเมือง และแนวโน้มการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศพัฒนาแล้วดีขึ้น รวมถึงการหันมาใช้น้ำมันมากขึ้นทดแทนก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

นอกจากนี้ ยังมีมุมมอง slightly negative สำหรับทองคำที่จะได้รับผลกระทบจาก QE tapering และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (real yields) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และสำหรับ Asian REITs ที่การปิดเมืองมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้    

หลังโควิด : 3 ธุรกิจรับโลกยุคใหม่

ด้านมุมมองต่อการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Transformation ปัจจุบันเห็นว่ามี 3 กลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ ที่มาพร้อมการเติบโตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

โดยศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office ให้ข้อมูลว่า 

ธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน (Fintech)

เทรนด์การลงทุนใน Fintech กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นทั่วโลก ทำให้กระแสการลงทุนในบริษัท Fintech ใน Centralized และ Decentralized Finance เติบโตอย่างรวดเร็ว

SCB CIO มองว่าการขยายตัวของกระแส Fintech ที่ครอบคลุมและต่อยอดออกไปในหลายอุตสาหกรรม และการมาถึงของ Decentralized Finance การขยายตัวของบริษัทแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน

“พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จะทำให้รูปแบบธุรกิจการเงินเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากในอดีต และเปิดโอกาสการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Fintech และ Blockchain ได้อย่างมาก” 

ธุรกิจด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity)

การใช้งานอินเทอร์เน็ตและระบบออนไลน์เป็นไปอย่างแพร่หลายในทุกองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่มีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่สำคัญ เช่น แบรนด์ ความสัมพันธ์กับลูกค้า นวัตกรรม และข้อมูลความลับทางการค้า ซึ่งผลกระทบด้านลบจากการถูกละเมิดและการโจมตีทางไซเบอร์จะส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของบริษัทโดยตรง

SCB CIO มองว่า การเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของบริษัทและองค์กรทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งในโอกาสการลงทุนในบริษัทที่กำลังเติบโตและเป็นผู้นำด้านการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีไซเบอร์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสหรือมัลแวร์ (Anti-Virus/Anti-Malware) การยืนยันตัวตน (Authentication) และการเข้ารหัสข้อมูล (Encryption)

ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน – รถยนต์ไฟฟ้า- การกักเก็บพลังงาน (Renewable Energy & EV & Energy Storage)

จากกระแสการลดภาวะโลกร้อนสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์สันดาป เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ทั่วโลก รวมถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน แทนการใช้พลังงานจากน้ำมันและถ่านหิน ก่อให้เกิดการเติบโตในหลายอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่เกี่ยวเนื่อง

ทั้งในส่วนของการผลิตแบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตและการกักเก็บพลังงงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ ซึ่งสร้างโอกาสการลงทุนอย่างมากในมุมของห่วงโซ่การผลิตในธุรกิจ EV & Energy Storage โดยเฉพาะในบริษัทที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านพลังงาน

SCB CIO มองว่า นอกจากเทรนด์การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนแล้ว เทรนด์ธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ ได้แก่

ธุรกิจผู้ให้บริการเกี่ยวกับระบบกักเก็บพลังงานและแบตเตอรี่ (Energy Storage System Integrator: ESS) สำหรับการใช้พลังงานทางเลือกซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ เช่น การใช้งานแบตเตอรี่ร่วมกับพลังงานหมุนเวียน การใช้ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบสายส่ง เป็นต้น

โรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Battery Manufacturing) เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานให้เติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเทรนด์การลงทุนในอนาคตที่รองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยมุ่งหน้าสู่การลดการใช้ทรัพยากรและเป็นมิตรกับธรรมชาติ

(Photo : Shutterstock)

ESG การลงทุนเพื่ออนาคต

การลงทุนหุ้นในกลุ่ม ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เป็นอีกธีมการลงทุนยอดนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งแกนในการพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่เข้าลงทุนควบคู่ไปกับ 3 เทรนด์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตข้างต้นได้เป็นอย่างดี

“ในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะในตลาดหุ้น ผู้ลงทุนต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดหุ้นค่อนข้างมาก แต่ตามสถิติ หุ้นในกลุ่ม ESG ค่อนข้างจะเผชิญความผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นทั่วไปในตลาดและมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงตลาดปรับฐาน” 

SCB CIO มองว่า การลงทุนในบริษัทที่คำนึงถึงมาตรฐาน ESG เปรียบเสมือนการลงทุนในบริษัทที่ต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อรักษามาตรฐานอยู่ตลอด สะท้อนการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและนักลงทุน และมีความเสี่ยงโดยรวมต่อประเด็นการผิดจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจค่อนข้างน้อย

การลงทุนที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG จึงมีแนวโน้มสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเกณฑ์อ้างอิงที่ใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนของตลาดโดยรวมได้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เม็ดเงินการลงทุนหุ้นในธีม ESG มีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่องทั้งในปัจจุบันและอนาคต

]]>
1355586
Panasonic เทขายหุ้น Tesla เกลี้ยงพอร์ต ฟาดกำไร ‘เเสนล้าน’ ลดการพึ่งพา ได้เงินลงทุนธุรกิจใหม่ https://positioningmag.com/1338965 Fri, 25 Jun 2021 06:32:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1338965 Panasonic อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เทขายหุ้น ‘Tesla’ ที่ถืออยู่ทั้งหมดออกไป ฟันกำไรกว่า 1.2 แสนล้านบาท เพื่อลดการพึ่งพาเเละหาเงินลงทุนเพื่อการเติบโต เเต่ยืนยันว่ายังเป็นพันธมิตรกันอยู่

โดย Panasonic ได้ทำการขายหุ้นของ Tesla ทั้งหมดในงบการเงินปีล่าสุด (เดือนมี..) เเละได้ทำการบันทึกบัญชีรายการรายได้จากการขายและการไถ่ถอนเงินลงทุนเป็นมูลค่ากว่า 429,900 ล้านเยน (ราวประมาณ 1.23 เเสนล้านบาท)

ย้อนกลับไป เมื่อปี 2009 ทั้งสองจับมือกันเป็นพันธมิตรร่วมกัน เเละร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตเเบตเตอรี่ในสหรัฐฯ โดย Panasonic ถือเป็นผู้ผลิตเเบตเตอรี่รายใหญ่ให้รถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla

หลัง Tesla เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น เมื่อปี 2010 ทาง Panasonic ได้เข้าซื้อหุ้นกว่า 1.4 ล้านหุ้น ในราคาเพียง 21.15 ดอลลาร์ต่อหุ้น จากการเติบโตเเบบพุ่งพรวดในตลาด ปัจจุบันราคาหุ้นของ Tesla มีมูลค่าสูงถึง 679.82 ดอลลาร์ต่อหุ้น

โดยในรายงานประจำปีที่สิ้นสุดในเดือนมี.. 2020 ระบุมูลค่าของหุ้นที่ Panasonic ถือหุ้นไว้ที่ 8.1 หมื่นล้านเยน (ราว 2.3 หมื่นล้านบาท)

ฮิเดกิ ยาสุดะ นักวิเคราะห์จาก Ace Research Institute ให้ความเห็นว่าผลกระทบของสินทรัพย์ดิจิทัล อาจทำให้ราคาหุ้นของ Tesla อยู่เหนือมูลค่าที่แท้จริง ทำให้เป็นตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีในการขาย

อีลอน มัสก์ ประกาศในเดือนก..ที่ผ่านมาว่า บริษัทของเขาจะรับซื้อ ‘Bitcoin’ เเละรับการชำระเงินในการซื้อรถยนต์ด้วยสกุลเงินดิจิทัล เเต่เปลี่ยนใจในภายหลังด้วยเหตุผลทางสิ่งเเวดล้อม โดยการเเสดงความคิดเห็นของเขาบน Twitter มักจะทำให้ราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลผันผวนอยู่เสมอ

ด้านโฆษกของ Panasonic ระบุว่า การเทขายหุ้นครุ้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเป็นพันธมิตรระหว่างกัน โดยบริษัทจะยังเป็นซัพพลายเออร์ให้กับทาง Tesla อยู่

ความสัมพันธ์ของเรากับ Tesla ในฐานะหุ้นส่วนธุรกิจจะไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคต

นับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญของ Panasonic ที่กำลังพยายามลดการพึ่งพาจาก Tesla และหาเงินทุนไปใช้ในการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ อย่างการเข้าซื้อกิจการ Blue Yonder ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ซัพพลายเชนของสหรัฐฯ ด้วยมูลค่า 7.1 พันล้านดอลลาร์ เเละลงทุนเพื่อเพิ่มการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ด้วย 

ขณะที่ Tesla ก็มีเริ่มขยายเครือข่ายเเบตเตอรี่ของตัวเอง โดยได้ทำข้อตกลงกับ LG Energy Solution ของเกาหลีใต้ และ CATL ของจีน ที่กำลังวางแผนสร้างโรงงานในเซี่ยงไฮ้ ใกล้กับฐานการผลิตของรถยนต์ของ Tesla

 

ที่มา : Reuters , CNBC , Nikkei Asia

]]>
1338965