เสื้อผ้า – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 27 Apr 2022 06:18:45 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดมุมคิด 3 เเบรนด์ดัง พลิกวิกฤตอุตสาหกรรม ‘เสื้อผ้า’ คว้าโอกาสปรับตัวสู่ดิจิทัล https://positioningmag.com/1382271 Tue, 26 Apr 2022 04:49:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1382271 ในยุคที่ทุกธุรกิจต้องปรับตัวเเละปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด พร้อมพัฒนาให้ก้าวทันตลาดอยู่ทุกช่วงเวลา เเม้จะต้องเจอวิกฤตที่ไม่คาดฝัน อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็นธุรกิจที่มีการเเข่งขันสูง ทั้งรายใหญ่รายย่อย โดยมีทั้งเเบรนด์ที่ประสบความสำเร็จกลายเป็นที่รู้จักโด่งดัง เเละอีกมุมหนึ่งก็มีเเบรนด์ที่ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก

วันนี้เราจะมาเปิดมุมคิดพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสทองยุคดิจิทัล จาก 3 เเบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังของเมืองไทย อย่างห่านคู่เสื้อยืดที่อยู่คู่กับคนไทยมาหลายทศวรรษ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตามมาด้วยวอริกซ์’ (Warrix) แบรนด์เสื้อผ้า รองเท้ากีฬาที่ท้าชนแบรนด์ระดับโลกด้วยกลยุทธ์ออนไลน์ เเละน้องใหม่ไฟเเรงอย่าง ‘Davie Jones’ เสื้อผ้าแฟชั่นผู้ชาย แบรนด์ไทยที่กำลังเป็นที่นิยม

จากรุ่นสู่รุ่น ‘ห่านคู่’ ยกเครื่องดิจิทัล 

เมื่อพูดถึง ‘เสื้อยืด-เสื้อกล้าม’ คลายร้อน ห่านคู่จะเป็นเเบรนด์อันดับต้นๆ ที่คนไทยรู้จักเเละคุ้นเคยอยู่เสมอ หลังอยู่อยู่ในตลาดมายาวนานกว่า 69 ปี

‘คุณากร ธนสารสมบัติ’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานไทยแลนด์ นิตติ้ง จำกัด เล่าว่า ความท้าทายของธุรกิจนั้นมีอยู่ตลอดเวลา เเละมีอยู่ต่อเนื่องก่อนช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ต้องเจอคู่แข่งจากต่างประเทศ ที่มีรูปแบบการเเข่งขันที่เเตกต่างกันไป

การตัดสินใจปรับเปลี่ยนเข้าสู่ ‘digital transformation’ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์เเต่ละยุคสมัย หลังมีฐานกลุ่มลูกค้ากว่า 5 เจเนเรชัน

“ออนไลน์เป็นเครื่องมือที่จำเป็นมาก ถ้าเราจะอยู่ได้ถึง 100 ปี เราต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้ง 5 กลุ่มนี้ให้ได้”

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เห็นกลุ่มลูกค้าต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น รวบรวมข้อมูลเพื่อทำการประเมินได้รวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้น จากการประเมินด้วยข้อมูลที่เคยเป็น mass สู่การประเมินเเบบฉพาะบุคคลได้อย่างเรียลไทม์ เป็นการปรับตัวเพื่อให้สามารถรองรับลูกค้าได้มากขึ้น

“ในช่วงวิกฤตผู้ประกอบการต้องหัวใจนักสู้ เสี่ยงให้ถูกทาง การลงทุนเทคโนโลยีจึงมีความจำเป็นมาก Digital Platform จะเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งในปัจจุบันและรองรับในอนาคต”

โดยห่านคู่ ได้เข้าร่วมกับโครงการกับ ‘The FinLab Thailand’ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกดิจิทัลของเหล่า SMEs ไทย

ทางเเบรนด์ต้องการมุ่งเน้นที่ e-commerce, social commerce รวมทั้งการมีระบบ backend หลังบ้านที่แข็งแกร่ง โดยได้รับคำแนะนำและทำการติดตั้ง ERP เพื่อเชื่อมต่อกับระบบ supply chain เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในได้ดีขึ้นได้มาก

สำหรับจุดเด่นของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในตลาดไทยนั้น คือการมีอยู่หลาย segment หลายกลุ่มลูกค้า เเละนั่นหมายถึง “การมีโอกาสมากขึ้นตามไปด้วย”

-ร่วมมือกับบาบีคิวพลาซ่า เปิดตัวเสื้อยืดรุ่นลิมิเต็ด “GON X ห่านคู่” ขยายฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่

ขณะที่การแข่งขันในระดับภูมิภาค CLMV และจากประเทศจีนก็ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ เเบรนด์ต้องขยายการลงทุนแข่งขันกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มทประเทศเพื่อนบ้าน ที่สามารถเข้าไปเจาะตลาดได้ผ่านการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีอยู่

ด้านการส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นนั้น แต่ละรุ่นจะมีความท้าทายเป็นของตนเองต่างกันในแต่ละยุค “หลักการคงอยู่ ไม่เปลี่ยน แต่วิธีการและเครืองมือเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงวิธีความคิด การยอมรับการเปลี่ยนแปลงของคนเหล่านี้คือความท้าทาย” 

“เราในฐานะผู้บริหารต้องถอดตรงนี้ออก แล้วลงมือทำไปด้วยกันเลย ตอนนี้องค์กรของเรามีการทำงานเเบบ Flat Organization สามารถที่จะเข้าถึงผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงานได้โดยตรง”

เเม้ว่าเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยที่สำคัญ แต่เรื่องบริหารคนก็สำคัญมากไม่เเพ้กัน การมีวิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะปรับเปลี่ยนองค์กร กล้าลองผิดลองถูก ทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเรียนรู้และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน

“ผู้ประกอบการตระหนักรู้ว่าทุกวันนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง เมื่อคิดแล้วลงมือทำ ต้องประเมินความเสี่ยง แล้วเดินหน้าลุยการตลาดดิจิทัล อย่าคิดว่าสายแล้วเกินจะทำ เพราะถ้าไม่ทำ เราก็จะหายไปเลย”

Warrix ส่งเเบรนด์ไทยสู่ตลาดโลกด้วย ‘ออนไลน์‘ 

‘วอริกซ์’ (Warrix) แบรนด์เสื้อผ้ารองเท้ากีฬาของคนไทยที่ดำเนินธุรกิจมา 8 ปี จากการวางโพสิชันเป็น sportswear มาสู่เสื้อผ้าด้าน ‘healthy active lifestyle’ บริการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและการฟื้นฟู

แม้จะเจอวิกฤตโควิด เเต่ Warrix ก็ยังสามารถทำยอดขายได้สูงสุดเป็นประวัติการของบริษัทได้ จากการปรับสู่ ‘ดิจิทัลแพลตฟอร์ม’ และเข้าเปิดตลาดที่หลากหลาย อย่างเช่น สถานพยาบาล , ที่พักสำหรับผู้สูงวัย ฯลฯ

วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ซีอีโอบริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด บอกเล่าถึงการตัดสินใจทรานฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลว่า
ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งเเต่ช่วงก่อนโควิด ปี 2017 ตั้งแต่ที่หลังชนะงานประมูล sportswear ทีมชาติไทย

จุดนั้นถือเป็นความท้าทายใหม่ เเละถึงเวลาที่จะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทโดยตรง ตัวเขาเองจึงได้ไปลงคอร์สเรียนธุรกิจดิจิทัล เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ทำให้มีวิสัยทัศน์มาช่วยเร่งสปีดในเรื่องการปรับส่วนต่างๆ ในองค์กร

“ถ้าเราไม่ตัดสินใจทุ่มลงทุนในเรื่องออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2017 เราคงไม่ได้มาอยู่ตรงจุดนี้”

โดยเริ่มจากการพัฒนาช่องทางการค้า e-commerce  ทั้ง Inbox Facebook , LineAds, eCommerce เเละ marketplace ชื่อดังต่างๆ อย่าง Lazada ฯลฯ

ทางโครงการ Smart Business Transformation ( SBTP) โดยธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เเละ the FinLab ได้แนะนำให้ Warrix ได้รู้จักกับระบบบริหารกิจกรรมทางการขายบนช่องทางที่หลากหลายให้อยู่บนแพลตฟอร์มเดียว และทำให้เราสามารถพัฒนาต่อยอดจากตรงนั้นได้

เหล่านี้ ทำให้เเบรนด์เห็นความสำคัญของ Data Management การลงทุนกับเว็บไซต์ เเละการนำ AI มาใช้

“เราเริ่มลงทุนกับเว็บไซต์สูงขึ้น ใช้เงินทุนไปหลายล้าน ในส่วนตรงกลางเราก็ลิงก์กับระบบซัพพลายต่างๆ หลังบ้าน เราใช้ SAP B1 ติดตั้งใช้งานเรียบร้อย การเชื่อมต่อได้ดีขึ้น จากนั้นก็กลับมาลงทุนที่หน้าบ้านเราให้ดีขึ้นอีก เเละทำอย่างต่อเนื่อง เพราะเครื่องมือทางการตลาดก็มีออกมาเรื่อยๆ”

เมื่อถามถึงการเข้าสู่เทคโนโลยีโลก Metaverse ของเเบรนด์เสื้อผ้าอย่าง Warrix นั้น เขายอมรับว่ามีความเสี่ยง และยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก เเต่ก็มองเป็น high risk, high return

ดังนั้น ต้องมีการแสวงหาความร่วมมือ จับมือกับผู้เชี่ยวชาญ อย่างการจับมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตและบริษัท อินเด็กซ์ ทำ MOU เพื่อร่วมทุนกันซื้อพื้นที่ใน ‘sandbox’

“เราต้องก้าวไปในอนาคต เพื่อไปจับคนกลุ่มใหม่ พาร์ทเนอร์ และความรู้พื้นฐานถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ควรอัปเดตความรู้อยู่เสมอ เพราะการเรียนรู้ทำได้ไม่มีวันจบ มีเครื่องมือทางการตลาดออกมาใหม่มากมาย”

ปัจจุบัน Warrix มีส่วนออนไลน์คิดเป็น 1 ใน 3 ของช่องทางการตลาดทั้งหมด พร้อมมีการจัดงบโฆษณาออนไลน์ ซึ่งมีส่วนในการกระตุ้นรายได้อย่างมาก รวมถึงการใช้ Data Management ในการกระตุ้นยอดขาย

“มีใจสู้ ไม่ยกธงขาวไปก่อน วิกฤตโควิดถือว่าเป็นช่วงที่หนักที่สุด เเต่ผมรู้สึก down แค่วันเดียว เราต้องตัดสินใจเรื่องธุรกิจบนพื้นฐานความจริง ทั้งปัญหาระยะสั้นและระยะยาว”

สำหรับเป้าหมายของ Warrix คือการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในตลาดอาเซียนและญี่ปุ่น
 การใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทำให้เเบรนด์สามารถที่จะขยายธุรกิจเข้าไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม โดยไม่ต้องพึ่งพาเอเจนท์ เพราะเมื่อลูกค้าสนใจสินค้า ก็สามารถเข้าดูสินค้าได้เอง และสั่งได้เองโดยตรงจากเว็บไซต์ของบริษัท หรือตาม marketplace ต่างๆ

-ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ของ www.warrix.co.th ที่มีฟังก์ชั่นการค้นหาสินค้าผ่านการเลือกสี ไซส์ ราคา ขนาด ฯลฯ เพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น

โดยความท้าทายในการขยายธุรกิจนั้น ก็มีหลายด้าน ทั้งการดิสรัปองค์กร การทำ branding ความท้าทายด้านทรัพย์สินทางปัญญา เเละด้าน digitalization

การสร้างแบรนด์ ให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่งให้ได้นั้นมีความสำคัญมาก เพราะการผลิตสินค้าทุกวันนี้ เอาเข้าจริงก็มักจะมาจากโรงงานเดียวกัน แหล่งวัตถุดิบเดียวกัน แบบก็คล้ายๆ กัน แต่ branding เป็นสิ่งที่จะทำให้เราตั้งราคาได้ต่างกัน เเละได้รับความเชื่อถือจากผู้ซื้อต่างกัน

“ตอนเริ่มทำสินค้าเสื้อผ้า มีแต่คนมาเตือนว่าตลาดเสื้อผ้าอยู่ช่วง sunset ช่วงขาลง แต่ไม่จริงเลย มีโอกาสเกิดใหม่ สร้างโอกาสใหม่ได้มากมาย”

ผู้บริหารต้องสร้างแบรนด์ให้ใหม่ หาทางหนีออกมาจากตลาดที่แข่งขันด้วยราคาให้ได้ หันมาสร้างแบรนด์ให้มี value พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ ตราบใดที่คนเราต้องใส่เสื้อผ้าออกจากบ้าน ก็จะต้องเกิดดีมานด์ขึ้น ต้องเดินให้ถูกทางไปพร้อมความต้องการของลูกค้า สร้างความน่าเชื่อถือในแบรนด์ เป็นจุดมีความสำคัญมากๆ

Davie Jones เจาะอีคอมเมิร์ซเเบบ ‘คีพคาแร็กเตอร์’ 

Davie Jones เเบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นผู้ชาย ที่เริ่มจากการเป็นโรงงานผลิตเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ และเริ่มปรับตัวมาจับตลาดในประเทศ หลังเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2015 ณ ตอนนี้มีการขยายสาขา 50-60 แห่งทั่วประเทศ เน้นช่องทางห้างสรรพสินค้าและทางออนไลน์

ศิพิมพ์ อุ่นวรวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและอีคอมเมิร์ซ บริษัท วี.พี.อาร์.เอส. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เจ้าของแบรนด์ Davie Jones กล่าวว่า ทุกวันนี้ลูกค้าได้เปลี่ยนทางเลือกในการจับจ่าย กำลังการซื้อของลูกค้าบางกลุ่มไม่ได้ลดลง แต่ลูกค้าหันมาช้อปปิ้งออนไลน์เเทน กดซื้อจากไหนก็ได้ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เเบรนด์อยากจะทรานส์ฟอร์มเเละต้องการที่รวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด

เราต้องการรู้จักลูกค้าของเรา รู้ความต้องการ รู้สัดส่วนต่างๆ ในตลาด  ซึ่งเมื่อเรามาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว ก็ทำให้เรารู้จักลูกค้าได้เร็วขึ้น เปลี่ยนจาก fast/mass fashion มาสู่ realtime fashion”

ปัจจุบันมีแบรนด์เสื้อผ้าเกิดใหม่มากมาย แต่เราต้องมีตัวตนที่ชัดเจน มีคุณภาพของสินค้าที่ดี ด้วยความที่ Davie Jones มีโรงงานของตัวเอง ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพการผลิตได้ พร้อมมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่างประกอบกัน เมื่อลูกค้าทำการซื้อแล้ว ก็เกิดการ re- purchase กับมาซื้ออีกกับเเบรนด์เรา

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ทำให้เเบรนด์สื่อสารผ่านเว็บไซต์ของตัวเองได้ ต่อไปก็จะขยายไปสู่ตลาดเพื่อนบ้าน ที่มีภาษาใกล้เคียงกันเเละชื่นชอบสินค้าไทย อย่าง สปป.ลาว

ตลอดออนไลน์เป็นโลกที่ต้องรีบเข้าไป จะช่องทางไหนก็ต้องรีบเข้าไปดู ไม่มีคำว่าช้าไป เพราะการที่จะสร้างให้เป็นแบรนด์ที่หนึ่งในใจได้ ต้องสามารถเข้าถึงลูกค้าแม้ในภาวะที่มีปัญหามากมาย ลูกค้าก็ยังสามารถเข้าถึงสินค้าได้

โดยแพลตฟอร์มการขายทางออนไลน์ช่วยให้ยอดขายของ Davie Jones พุ่งกระฉูดช่วงโควิด เเม้จะมีสัดส่วนออนไลน์ประมาณ 20% เท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็น activewear, casualwear, streetwear เเบรนด์จะต้องมีตัวตนที่ชัดเจน อย่าง Davie Jones มี denim jogger มีแบบขาจัมพ์ เอวจัมพ์ หรือแบบเดินด้ายเขียวสะท้อนแสง เห็นปุ๊บก็รู้ว่าเป็นของเเบรนด์เรา พร้อมมีจุดยืนที่แตกต่างจากเจ้าอื่น และมีความชัดเจนในคาแร็กเตอร์สินค้า มีช่องทางการตลาดแน่นอน เเต่ยืดหยุ่นได้เเละปรับตัวตลอดเวลา

 

]]>
1382271
ล็อกดาวน์ ‘เวียดนาม’ นานเกินไป สะเทือนเเบรนด์ ‘เเฟชั่น’ ยักษ์ใหญ่ทั่วโลก https://positioningmag.com/1354069 Wed, 29 Sep 2021 10:49:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1354069 การล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเเละยาวนานเกินไปของเวียดนามจุดชนวนการขาดแคลนสินค้าเเบรนด์ดังทั่วโลก ตั้งแต่รองเท้า เสื้อกันหนาว ไปจนถึงชิ้นส่วนรถยนต์และกาแฟ

โรงงานเวียดนามต่างๆ ในเวียดนาม เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และสร้างความกังวลต่อเนื่องไปถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

การระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดในเวียดนามที่มีความรุนเเรง ทำให้รัฐบาลต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ทำให้กำลังผลิตของโรงงานต่างๆ ลดลงถึง 50%

เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอเเละเเบรนด์เเฟชั่นยักษ์ใหญ่อย่าง Nike และ Gap ที่ต่างพึ่งพาผู้ผลิตในประเทศเเถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความล่าช้าและข้อจำกัดต่างๆ ในการเดินทาง ทั้งการนำเข้าสินค้าและส่งออก สร้างความปวดหัวครั้งใหญ่ให้กับธุรกิจต่างชาติที่หลายเจ้าได้ย้ายฐานผลิตจากจีน มายังอาเซียนมากขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้าระหว่างจีนสหรัฐฯ

Nike กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปกรณ์กีฬาและได้ปรับลดการคาดการณ์ยอดขายลงมา จากสาเหตุหลักๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโรงงานผลิตในเวียดนามกว่า 80% ในภาคใต้ และเกือบครึ่งหนึ่งของโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่ต้องปิดทำการชั่วคราว

แม้ว่าโรงงานบางเเห่งจะปรับระบบให้พนักงานสามารถกินทำงานและนอนค้างคืน ในพื้นที่โรงงานได้เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดการล็อกดาวน์ เเต่ก็ยังมีกำลังผลิตที่น้อยกว่าเดิมมาก

เเละถึงแม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์จะค่อยๆ คลี่คลายลงเเล้ว เเต่เเบรนด์ต่างๆ ก็ยังกังวลกับผลกระทบระยะยาวต่อการผลิตในเวียดนาม โดย Nike และ Adidas ยอมรับว่าพวกเขาต้องการโรงงานผลิตแห่งอื่นชั่วคราว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปยังซัพพลายของวงการกาแฟด้วย

โดยเวียดนามเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟโรบัสต้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มักใช้ในกาแฟสำเร็จรูปทำให้ตอนนี้ราคากาแฟขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี

ด้านบริษัทรถยนต์ก็มีการปรับลดการผลิตลงเช่นกัน โดยยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้าเพิ่งลดการผลิตประจำเดือน ก..และต..ลง โดยส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโรครบะบาดที่ส่งผลกระทบหนักในเวียดนาม มาเลเซีย รวมถึงไทย

 

ที่มา : AFP , news.com.au 

]]>
1354069
‘Uniqlo’ กลับมาตามหลัง ‘Zara’ หลังตลาดเอเชียสะดุดเพราะเข้าถึงวัคซีนช้ากว่ายุโรป https://positioningmag.com/1336428 Thu, 10 Jun 2021 10:30:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1336428 หลังจากที่มูลค่าบริษัทของ ‘Fast Retailing’ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ‘Uniqlo’ แซงหน้า ‘Zara’ ไปช่วงสั้น ๆ เมื่อช่วงต้นปี แต่ปัจจุบัน Zara ก็พลิกกลับมาแซง Uniqlo เนื่องจากผู้ที่ได้รับวัคซีนในประเทศฝั่งตะวันตกทำให้หน้าร้านกลับมาเปิดได้อีกครั้งหลังจากการล็อกดาวน์

จากที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ Uniqlo เคยแซง Zara เนื่องจากบริษัทได้รับประโยชน์จากจุดแข็งในตลาดเอเชีย ซึ่งทำได้ดีกว่าประเทศตะวันตกในช่วงแรก ๆ ของการแพร่ระบาด แต่การเปิดตัววัคซีนในตลาดหลักได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ส่งผลให้มูลค่าตลาดของ Fast Retailing บริษัทแม่ของญี่ปุ่นของ Uniqlo มีมูลค่ารวม 8.7 ล้านล้านเยน (7.94 หมื่นล้านดอลลาร์) ต่ำกว่า Inditex ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในสเปนของ Zara ซึ่งมีมูลค่า 1 แสนล้านยูโร (1.21 แสนล้านดอลลาร์)

ในสหราชอาณาจักรมีอัตราการฉีดวัคซีนต่อ 100 คนอยู่ที่ 103 โดส ขณะที่สหรัฐอเมริกามีอัตรา 91 โดสต่อ 100 คน ตามการวิเคราะห์โดยนิกเคอิและไฟแนนเชียลไทมส์ ขณะที่ในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ตามหลังด้วยปริมาณยา 20 โดสต่อ 100 คน ตามด้วยญี่ปุ่น 14 โดสต่อ 100 คน และมาเลเซีย 11 โดสต่อ 100 คน

แม้ Fast Retailing ยังคงแข็งแกร่งในตลาดหลักในจีน ซึ่งควบคุมการแพร่ระบาดได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังน่าห่วง เพราะในมาเลเซีย Uniqlo ต้องปิดร้านทั้งหมด 49 แห่งชั่วคราวเนื่องจากการระบาด ส่วนเวียดนามต้องปิดหน้าร้านถึง 5 ใน 8 แห่ง

ส่วนในญี่ปุ่นก็ประสบปัญหากับการดำเนินงานเช่นกัน โดยในเดือนพฤษภาคม ยอดขาย Uniqlo สาขาเดิมลดลง 0.6% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขติดลบครั้งแรกในรอบ 12 เดือน เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2019 ก่อนเกิดโรคระบาด ยอดขายสาขาเดิมลดลง 18.6%

Photo : Shutterstock

ท่ามกลางฉากหลังของการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของ COVID-19 ในเอเชียและตลาดในประเทศที่ชะลอตัว หุ้นของ Fast Retailing อยู่ในแนวโน้มขาลง ในวันพุธที่ผ่านมาราคาหุ้นแตะระดับต่ำสุดในรอบปี โดยล่าสุดปิดที่ 82,500 เยน ลดลง 760 เยนจากการปิดครั้งก่อน

Fast Retailing มีความแข็งแกร่งในด้านเสื้อผ้าในร่มและชุดลำลอง แต่การเปลี่ยนแปลงทั่วโลกไปสู่การเปิดเศรษฐกิจใหม่ได้ฟื้นความต้องการเสื้อผ้ากลางแจ้งแฟชั่นชั้นสูงซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ Inditex” Dairo Murata จาก JPMorgan Securities Japan กล่าว

Inditex รายงานเมื่อวันพุธว่ามีกำไรสุทธิ 421 ล้านยูโรสำหรับไตรมาสแรกสิ้นสุดในเดือนเมษายน สิ่งนี้แสดงถึงการฟื้นตัวจากรายได้ที่ลดลง 409 ล้านยูโรในปีก่อนหน้า โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณของ Inditex เมื่อปีที่แล้ว บริษัทต้องปิดหน้าร้านกว่า 88% ทั่วโลก แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 16% ขณะที่ ยอดขายออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น 67% ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนจากปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นความเชื่อร่วมกันว่าเอเชียจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตระยะกลางถึงระยะยาว โดยเมื่อสิ้นเดือนที่แล้ว Fast Retailing ได้เปิดร้าน Uniqlo จำนวน 818 แห่งในประเทศจีน แซงหน้าร้านค้าในญี่ปุ่นทั้งหมด 810 แห่ง เป็นครั้งแรก โดย Fast Retailing วางแผนที่จะเปิดร้านค้า 100 แห่งในจีน รวมถึงไต้หวันและฮ่องกง ในช่วงปีงบประมาณปัจจุบันจนถึงเดือนสิงหาคม

Source

]]>
1336428
Levi’s เพิ่มคาดการณ์รายได้ครึ่งปีแรก โต 25% กระจายวัคซีนเร็ว กระตุ้นคนมาช้อปปิ้งที่ร้าน https://positioningmag.com/1327604 Fri, 09 Apr 2021 17:31:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1327604 Levi Strauss & Co เเบรนด์ยีนส์รายใหญ่ของโลก ปรับคาดการณ์รายได้ในช่วงครึ่งปีเเรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 25% จากก่อนหน้านี้ตั้งเป้าไว้ที่ 20% หลังการกระจายวัคซีนเร็วกว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เเละยุโรป

Chip Bergh ซีอีโอของ Levi เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของโครงการฉีดวัคซีนทั่วโลก เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทปรับคาดการณ์ยอดขายในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นเพราะผู้บริโภคเริ่มมั่นใจที่จะกลับมาจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง

โดยอัตราของลูกค้าที่เข้ามาซื้อของในร้านตามสาขาต่างๆ ในหลายประเทศ เริ่มกลับมาอยู่ในระดับปกติขณะเดียวกันยอดขายสินค้าทางออนไลน์ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ประเมินว่าธุรกิจของ Levi จะเติบโตได้

เช่นเดียวกับเเบรนด์เครื่องเเต่งกายเจ้าอื่นอย่าง Nike และ Kohl’s Corp ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่าจำนวนลูกค้าที่เข้าชมสินค้าภายในร้านกลับมาอยู่ในระดับปกติ เเม้ว่ายอดขายทางออนไลน์จะพุ่งสูงขึ้นท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดก็ตาม

ด้านผลประกอบการของ Levi ในไตรมาส 1/2021 มีรายได้อยู่ที่ 1.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ก็สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยสาเหตุที่รายได้ลดลงนั้น หลักๆ มาจากผลมาจากการปิดสาขาชั่วคราวในยุโรป ที่มีการเเพร่ระบาดของ COVID-19 หลายระลอก ส่วนรายได้ที่มาจากทางออนไลน์นั้นเพิ่มขึ้นถึง 41%

 

ที่มา : Reuters , CNBC

]]>
1327604
‘Uniqlo’ ขอสวนกระแสออนไลน์ เดินหน้า ‘เปิดสาขา’ ในเอเชียเพิ่มเป็น ‘สองเท่า’ https://positioningmag.com/1327414 Fri, 09 Apr 2021 09:09:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1327414 ท่ามกลางการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่อยู่กับโลกเรามากว่า 1 ปี แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลงบ้างเพราะ ‘วัคซีน’ แต่ผลกระทบจากไวรัสก็ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัวหันไปเน้น ‘ออนไลน์’ มากกว่าที่จะพึ่งพาหน้าร้านที่ไม่รู้ว่าจะถูก ‘ปิด’ เมื่อไหร่ แต่ ‘Uniqlo’ แบรนด์แฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่นกลับสวนกระแสตั้งเป้าเปิดสาขาในเอเชียเพิ่มอีก 2 เท่า

ตั้งเป้าเปิด 100 สาขาต่อปี

‘Fast Retailing’ เจ้าของ ‘Uniqlo’ ต้องการเร่งการขยายตัวในเอเชีย โดยตั้งเป้า เปิดสาขา 100 แห่งต่อปี จากปกติเปิดปีละ 40-50 สาขาต่อปี เพื่อให้เติบโตในยุคหลังการระบาดของ COVID-19 จบลง

“เอเชียเป็นและจะเป็นศูนย์กลางการเติบโตของโลก เราจะเร่งขยายตัวในภูมิภาคเพื่อให้เราเป็น บริษัทอันดับ 1 ในเอเชีย เพราะไม่ช้าก็เร็วการระบาดจะสิ้นสุดลง” ทาดาชิ ยานาอิ ประธานและซีอีโอของ Fast Retailing กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยานาอิ ยอมรับว่าการค้าออนไลน์ยังเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตต่อไป และเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับอีคอมเมิร์ซ บริษัทกำลังสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติในทั่วโลก

ทาดาชิ ยานาอิ ประธานและซีอีโอของ Fast Retailing

ครึ่งปีแรกกำไรโต 23%

ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ (ช่วงเดือน ก.ย. 2563 ถึงเดือน ก.พ. 2564) มีผลกำไรจากการดำเนินงาน 167.9 พันล้านเยน (1.5 พันล้านดอลลาร์) ปรับตัวขึ้น 23% จากปีก่อนหน้า แม้ยอดขายในภูมิภาคส่วนใหญ่จะลดลง แต่ก็ได้ตลาดญี่ปุ่นและจีนช่วยบริษัทสามารถเอาชนะผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ได้

บริษัทระบุว่า รายได้จาก Uniqlo ในญี่ปุ่นทำได้เกินความคาดหมาย โดยเติบโตขึ้น 6.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนปิดที่ 492.5 พันล้านเยน ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 36.6% เป็น 97.8 พันล้านเยน ขณะที่ยอดขายออนไลน์ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 40%

ส่วนรายได้จากต่างประเทศของ Uniqlo มียอดขายลดลง 3.6% เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า ปิดที่ 521.8 พันล้านเยน แต่กำไรเพิ่มขึ้น 25.9% เป็น 67 พันล้านเยน เนื่องจากอัตรากำไรที่ดีขึ้นในเอเชียตะวันออก

ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ผลกำไรจากการดำเนินงานในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดเดือนส.ค. ที่ 2.55 แสนล้านเยน จากคาดการณ์เดิมที่ 2.45 แสนล้านเยน ส่วนกำไรสุทธิปรับตัวขึ้น 5.4% ในช่วงครึ่งแรกของปีงบการเงินปัจจุบัน แตะที่ 1.06 แสนล้านเยน ขณะที่ยอดขายอยู่ที่ 1.20 ล้านล้านเยน ลดลง 0.5%

ปัญหาการเมืองส่งผลต่อการทำธุรกิจ

ทาดาชิ ยานาอิ ยอมรับว่า ความขัดแย้งทางการเมืองกำลังทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจยากขึ้น แต่ปฏิเสธที่จะพูดถึงเกี่ยวกับการใช้ฝ้ายที่ผลิตในซินเจียง เนื่องจากแบรนด์ต่างประเทศบางแบรนด์เลิกใช้ผ้าฝ้ายจากภูมิภาคที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมของจีน เนื่องจากมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงาน

“เราต้องการที่จะเป็นกลางทางการเมือง”

ย้อนไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว Fast Retailing เคยออกแถลงการณ์ว่า “ไม่มีผลิตภัณฑ์ Uniqlo ที่ผลิตในภูมิภาคซินเจียง นอกจากนี้ยังไม่มีพันธมิตรด้านการผลิตของ Uniqlo ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตผ้าหรือโรงปั่นด้ายในภูมิภาคนี้”

สรุปประเด็น ‘แบนฝ้ายซินเจียง’ สู่การแก้แค้นของลูกค้าจีน

ไม่ใช่แค่เรื่องการใช้ฝ่ายซินเจียง แต่บริษัทเพิ่งถูกผลกระทบในเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งโรงงานซัพพลายเออร์ 2 แห่งถูกจุดไฟเผาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยยานาอิมองว่าผลกระทบดังกล่าวส่งผลเพียงเล็กน้อย เนื่องจากบริษัททำธุรกิจกับเมียนมาน้อยมาก

Source

]]>
1327414
Zara เตรียมปิด 1,200 สาขาทั่วโลก วงการ “ฟาสต์แฟชั่น” ปรับเกมใหม่ มุ่ง “ขายออนไลน์” https://positioningmag.com/1283141 Thu, 11 Jun 2020 10:02:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1283141 วงการฟาสต์เเฟชั่นต้องปรับตัวครั้งใหญ่หลัง COVID-19 ล่าสุด Inditex บริษัทแม่ของเเบรนด์ดังอย่าง Zara เตรียมปิดร้านค้าขนาดเล็กประมาณ 1,000-1,200 สาขาทั่วโลก ภายในช่วง 2 ปีนี้ พร้อมโฟกัสเฉพาะสาขาใหญ่หันมาบุกตลาดออนไลน์เต็มสูบ

ผลกระทบจากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผลประกอบการของ Inditex ขาดทุนรายไตรมาสเป็นครั้งแรกในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากการปิดร้านค้าชั่วคราวตั้งเเต่เดือน ก.พ. ถึง เม.ย. เกือบ 90% ของสาขาทั่วโลกมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ

หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา Zara มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเเละมีสาขากว่า 7,500 แห่งทั่วโลกใน 96 ประเทศ แต่การเเพร่ระบาดของไวรัส ทำให้มีเพียง 965 สาขาเท่านั้นที่สามารถเปิดได้ในไตรมาสแรกของปีนี้

ในไตรมาส 1/2020 Inditex มียอดขายลดลง 44% คิดเป็นมูลค่าราว 3.3 พันล้านยูโร (ราว 1.1 แสนล้านบาท) นับตั้งเเต่ 1 ก.พ. ถึง 30 เม.ย. ส่งผลให้มีผลขาดทุนสุทธิ 409 ล้านยูโร (ราว 1.4 หมื่นล้านบาท)

ขณะเดียวกัน ถือเป็นโอกาสขยายเติบโตของอีคอมเมิร์ซ โดยยอดขายออนไลน์ของแบรนด์เพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นกว่า 95% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

โดยล่าสุดพบว่า ยอดขายของร้านค้าในเอเชีย เช่น จีนและเกาหลีใต้ เริ่มกลับมาเกือบเท่าช่วงก่อน COVID-19 แล้ว ซึ่งบริษัทประเมินว่าจะสามารถกลับมาเปิดร้านค้าในตลาดสำคัญได้ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้

จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนี้จึงนำมาสู่การปรับ “เเผนใหม่” ของ Inditex ที่มีเเบรนด์ในเครืออย่าง Zara, Pull&Bear, Bershka และ Massimo Dutti ฯลฯ เพื่อจะหันมาลงทุนด้านขายออนไลน์อย่างเต็มที่

ในช่วง 3 ปีนี้บริษัทวางเเผนจะทุ่มงบ 1 พันล้านยูโร (ราว 3.5 หมื่นล้านบาท) ในการพัฒนาด้านการขายออนไลน์ และอีก 1.7 พันล้านยูโร (ราว 6 หมื่นล้านบาท) พัฒนาร้านค้าเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการช้อปปิ้ง เเละเพิ่มเทคโนโลยีเชื่อมต่อกันทั้งออฟไลน์เเละออนไลน์ โดยจะให้สาขาใหญ่เป็นศูนย์จัดส่งสินค้าเพื่อสนับสนุนการขายออนไลน์

Inditex ตั้งเป้าว่าจะทำยอดขายออนไลน์ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 25% ของยอดรวมภายในปี 2022 เมื่อเทียบกับ 14% ที่สามารถทำได้ในปี 2019

Pablo Isla ซีอีโอของ Inditex ระบุในเเถลงการณ์ว่า เป้าหมายสำคัญที่จะทำให้ได้ภายในปี 2022 คือการเร่งปรับให้ร้านค้ามีความ “ครบวงจร” สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ต่อเนื่อง ไม่ว่าพวกเขาจะใช้ดีไวซ์อะไร หรืออยู่บนเเพลตฟอร์มใดก็ตาม

การตัดสินใจเดินหน้าลุยขายออนไลน์ของบริษัทเเฟชั่นยักษ์ใหญ่ครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าอีคอมเมิร์ซจะมีบทบาทสำคัญในระยะยาว เพราะนอกเหนือจากผู้ครองตลาดฟาสต์แฟชั่นอย่าง Inditex เเล้ว คู่เเข่งสำคัญอย่าง H&M, Uniqlo รวมถึงคู่แข่งออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่าง Asos และ Boohoo ในสหราชอาณาจักร ต่างประสบความสำเร็จในการปรับตัวมาขายออนไลน์ ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์เช่นกัน

โดยผลประกอบการไตรมาสแรกของ H&M ติดลบอย่างหนักเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ โดยเฉพาะในจีนที่เป็นตลาดใหญ่ ทำให้ยอดขายรวมในเดือนมี.ค.ลดลง 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกันยอดขายออนไลน์กลับเติบโตเพิ่มขึ้น 17%

ดังนั้น H&M จึงเตรียมเปิดตัวเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของแบรนด์ H&M ในออสเตรเลียในปลายปีนี้ พร้อมจะส่งแบรนด์ไลฟ์สไตล์อย่าง Arket ไปลุยตลาดเอเชียบนอีคอมเมิร์ซ Tmall ของอาลีบาบาในเดือนส.ค.นี้ เพื่อรับมือกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปหลังผ่านพ้น COVID-19

อย่างไรก็ตาม การหันมาขายออนไลน์ของกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าโดยเฉพาะกลุ่ม “ฟาสต์แฟชั่น” อาจไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะเสื้อผ้าแฟชั่นกลายเป็นสิ่งที่ “ไม่จำเป็น” ในช่วงนี้ ด้วยกำลังซื้อที่ลดลงและผู้คนมีเเนวโน้มจะประหยัดค่าใช้จ่ายและอดออมมากขึ้น

 

ที่มา : businessinsider , reuters , theguardian

 

]]>
1283141
Uniqlo เตรียมขาย “หน้ากากอนามัย” ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับ AIRism เย็น-เเห้งเร็ว-ซักได้ https://positioningmag.com/1280435 Mon, 25 May 2020 06:55:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1280435 หลังจากปล่อยให้เเบรนด์อื่นๆ ผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อวางขายกันมากมาย ถึงคราวของ Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo ผู้ผลิตเสื้อผ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่นประกาศจะวางจำหน่าย ‘หน้ากากผ้า’ ภายในร้าน Uniqlo เเละทางออนไลน์อย่างเป็นทางการเเล้ว

จากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติในเร็ววันนี้ ทำให้ความต้องการ “หน้ากาก” และแอลกอฮอล์เจลยังมีอยู่มาก ขณะที่ในญี่ปุ่นยังคงมีการระบาดรอบ 2 ที่รุนเเรง

Uniqlo (ยูนิโคล่) จึงตัดสินใจประกาศเตรียมจำหน่ายหน้ากากผ้าในช่วงซัมเมอร์ที่ญี่ปุ่น (ระหว่างเดือน มิ.ย. – ส.ค.) ทั้งผ่านหน้าร้านและช่องทางอีคอมเมิร์ซ

จุดเด่นของหน้ากากผ้า Uniqlo นี้คือ จะใช้วัสดุเดียวกับที่ใช้ผลิตเสื้อผ้าในคอลเลกชั่น AIRism ซึ่งมีคุณสมบัติโดดเด่นระบายความร้อนได้ดี ผ้าเนื้อเย็น แห้งเร็วเเละสามารถซักเพื่อใช้ซ้ำได้

ทั้งนี้ คาดว่าราคาหน้ากากผ้าจะมีราคาต่ำกว่า 2,000-3,000 พันเยน (593-890 บาท) โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ AIRism ของ Uniqlo ได้รับความนิยมอย่างมาก มียอดขายต่อปีฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 100 ล้านชิ้นทั่วโลก มีการผลิตส่วนใหญ่มาจากโรงงานในประเทศจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคาดว่าหน้ากากผ้าบางส่วนจะถูกผลิตจากโรงงานเหล่านี้

เเม้ก่อนหน้านี้ Tadashi Yanai ประธานและซีอีโอของ Uniqlo เคยให้สัมภาษณ์ว่า ทางบริษัทไม่มีจุดประสงค์ที่จะผลิตหน้ากากอนามัย เพราะธุรกิจหลักคือการผลิตเสื้อผ้า เเต่จากสถานการณ์ตอนนี้เขามองว่าหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้ามีจำเป็นในหลายประเทศทั่วโลก เป็นสินค้าที่ขาดแคลนเเละมีผู้บริโภคเรียกร้องเข้ามาจำนวนมาก

“Uniqlo มีแผนที่จะบริจาคหน้ากากผ้าจำนวน 5 ล้านชิ้นและชุดสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ให้กับหน่วยงานด้านสาธารณสุขในญี่ปุ่น เพื่อต่อสู้ไวรัส COVID-19 ด้วย” Yanai ระบุ

นอกจากผลิตหน้ากากเชิงพาณิชย์เเล้ว Fast Retailing เคยประกาศว่าบริษัทจะร่วมกับโรงงานพันธมิตรในจีน ผลิตหน้ากากจำนวน 10 ล้านชิ้นเพื่อนำไปแจกจ่ายในหลายประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างรุนแรง

สำหรับในไทย บริษัทได้บริจาคหน้ากากอนามัยจำนวน 5 เเสนชิ้นผ่านทางบริษัท ยูนิโคล่ ประเทศไทย เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 11 โรงพยาบาล เพื่อสนับสนุนความพยายามเพื่อต่อสู้กับการระบาด COVID-19

ที่มา : asia.nikkei

 

]]>
1280435
เวียดนามมาเเรงมาก! Uniqlo บุกเปิดสาขาแรก ใหญ่สุดในอาเซียน ยกเป็นตลาดสำคัญ https://positioningmag.com/1256157 Fri, 06 Dec 2019 13:41:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1256157 ผู้คนนับพันยืนเข้าเเถวรอเข้าร้าน Uniqlo (ยูนิโคล่) ที่เปิดเป็นเเห่งเเรกในเวียดนาม Tadashi Yanai ประธาน Uniqlo กล่าวถึงตลาดเวียดนามว่าเป็น “land of promise” ดินแดนแห่งความหวัง เเละเขาต้องการจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ที่นี่ วางเเผนเพิ่มสาขาเป็น 800 แห่งในอาเซียนอีก 10 ปีข้างหน้า

ร้าน Uniqlo เเห่งใหม่นี้ เป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีพื้นที่รวมกว่า 3,107 ตารางเมตร ครอบครองทั้ง 3 ชั้นของ Parkson Saigon Tourist Plaza ห้างสรรพสินค้าที่คนพลุกพล่านที่สุด บนถนน Dong Khoi เส้นทางหลักสำคัญที่มีชื่อเสียงของโฮจิมินห์ซิตี้ พร้อมตั้งอยู่ตรงข้ามกับแบรนด์แฟชั่นคู่แข่งอย่าง H&M และ Zara

การบริโภคที่เพิ่มขึ้นในเวียดนามและการขยายตัวอย่างรวดเร็วของของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งคาดว่าเวียดนามจะเป็นประเทศที่ช่วยผลักดันการเติบโตของภูมิภาค เหล่าธุรกิจเสื้อผ้าชื่อดังทั้งหลาย กำลังพึ่งพาเวียดนามในการเป็นศูนย์กลางการผลิต และบรรเทาความกดดัน อันเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยืดเยื้อ

“ฉันมาเข้าคิวที่นี่ตั้งแต่ 6 โมงเช้า” วัยรุ่นคนหนึ่งกล่าว “โดยปกติแล้วฉันไม่ใช่ขาช้อปตัวยงหรอกค่ะ แต่วันนี้ฉันต้องการหาชุดที่เข้ากับฉัน”

“ผมคิดว่าเวียดนามมีศักยภาพสูงและจะเป็นหนึ่งในตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก” Yanai กล่าวในการแถลงข่าวในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยประธานและซีอีโอของ Uniqlo กล่าวถึงเวียดนามหลายครั้งว่าเป็น “ดินแดนแห่งความหวัง” เนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงและมีประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก

เวียดนามถือเป็น “key market” ตลาดสำคัญสำหรับ Uniqlo ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าสาขามากกว่า 2,000 แห่งทั่วโลกและ วางแผนที่จะเพิ่มจำนวนสถานที่ตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น 800 สาขาในอีก 10 ปีข้างหน้า พร้อมตั้งเป้าจะเพิ่มยอดขายทุกปีให้ได้ 30% ในอินเดีย หลังเปิดสาขาแรกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ประธาน Uniqlo ยังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวด้วยว่า เขาจะขยายสาขาในเวียดนาม โดยจะเปิดร้านเเห่งที่ 2 ที่เมืองฮานอย “เราไม่ได้พูดถึงการขยายสาขาแค่เพียงหลักร้อย เพราะมันจะมากกว่านั้นอย่างแน่นอน”

นอกเหนือจากการจับตลาดค้าปลีกเเล้ว Uniqlo ยกให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตอันดับ 2 รองจากจีน เเละมีซัพพลายเออร์ในประเทศกว่า 50 ราย

Yanai กล่าวว่า Uniqlo ได้ส่งออกสินค้ามูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเวียดนามเป็นประจำทุกปี โดยคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในเวียดนามมีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับทั่วโลก “เวียดนามกำลังจะมีส่วนเเบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้น” เขากล่าวเสริม

ด้านซัพพลายเออร์ของ Uniqlo ก็หวังว่าตลาดในประเทศที่กำลังเติบโตของเวียดนามและการเข้ามาของแบรนด์ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยธุรกิจของพวกเขาเช่นกัน

“เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เห็นผลิตภัณฑ์ของเราภายใต้แบรนด์ Uniqlo ถูกขายในเวียดนามเเล้ว หลังส่งออกไปยังญี่ปุ่น อาเซียน สหรัฐอเมริกาและยุโรปมาเป็นเวลานาน” Pham Xuan Hong ประธานบริษัทซัพพลายเออร์ท้องถิ่น Saigon 3 Garment ที่กว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตทั้งหมดส่งให้ Uniqlo กล่าว

สำหรับเวียดนาม ขึ้นเเท่นเป็น 1 ใน 5 ของผู้ส่งออกสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดในโลกของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งการส่งออกนี้ถือเป็นรายได้หลักของประเทศ

จากข้อมูลของรองศาสตราจารย์ Sheng Lu ผู้เชี่ยวชาญด้านเเฟชั่นเเละเครื่องนุ่งห่ม ของมหาวิทยาลัย Delaware ระบุว่า จากปัจจัยข้อตกลงการค้าของ สหภาพยุโรปกับเวียดนาม เเละข้อตกลงการค้าอื่นๆ ทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่น่าดึงดูดจากนักลงทุน

โดย Uniqlo ไม่ได้เป็นเพียงเเบรนด์ระดับโลกเพียงเเบรนด์เดียวที่มาลงทุนในเวียดนามเเละกัมพูชา เเต่บริษัทใหญ่หลายเเห่งได้ย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมจากผลิตภัณฑ์ของจีน

ท่ามกลางต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีน ผู้ผลิตต่างลงทุนอย่างหนักเพื่อยกระดับโรงงานของพวกเขา รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเเละคุณภาพของผลิตภัณฑ์

โดยทั้งบริษัทซัพพลายเออร์เวียดนามอย่าง Saigon 3 เเละ Kim Thanh group ที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ให้ Uniqlo บอกว่าพวกเขาอยู่ภายใต้เเรงกดดันในการที่จะต้องยกระดับสายการผลิตเพื่อให้เป็นระบบอัตโนมัติตามมาตรฐานของ Uniqlo เเละรู้สึกถึงการเเข่งขันของผู้ผลิตชาวจีนที่ลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตมากขึ้น

 

ที่มา : Nikkei Asian Review

 

 

]]>
1256157
Fast Fashion ความท้าทายใหม่ของไมเนอร์ กรุ๊ป เดินเกมแบบสตาร์ทอัพ รุกเร็ว (ล้มเร็วก็ได้) แต่ต้องโตเร็วกว่าตลาด https://positioningmag.com/1163564 Wed, 28 Mar 2018 03:29:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1163564 ธุรกิจหลักของไมเนอร์ กรุ๊ป มีสัดส่วนรายได้หลักจากธุรกิจร้านอาหาร และโรงแรมรวมกันมากกว่า 90% ของรายได้รวมกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ทั้งสองกลุ่มธุรกิจมีอัตราเติบโตเพียง 2-3% เทียบไม่ได้กับการเติบโตของธุรกิจจัดจำหน่ายและผลิต ซึ่งบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแฟชั่นและเครื่องสำอางในประเทศไทย

แม้จะเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง จากการมีผู้ประกอบการระดับโลกที่พาเหรดเข้ามาทำธุรกิจในไทยมากขึ้น แต่เป็นกลุ่มธุรกิจของไมเนอร์ที่สร้างอัตราเติบโตได้สูงถึง 17% ในปี 2560 ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเป็นธุรกิจที่ไมเนอร์วางแผนรุกหนักในช่วง 2-3 ปีจากนี้ ด้วยกลยุทธ์ที่ต่างไปจากเดิม

ไมเนอร์เลือกไฮไลต์ที่ธุรกิจฟาสต์แฟชั่น ซึ่งเริ่มด้วยการเป็นพันธมิตรกับฟาสต์แฟชั่นแบรนด์จากอิตาลีอย่าง OVS ที่มีสินค้าเสื้อผ้าครอบคลุมตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงคนหนุ่มสาว เพื่อเข้ามาต่อกรกับฟาสต์แฟชั่นที่มีอยู่หลายแบรนด์ในไทยเป็นแบรนด์แรก ก่อนมีแผนจะดึงฟาสต์แฟชั่นอื่น ๆ ที่คิดว่ามีศักยภาพเข้ามาไว้ในพอร์ตมากขึ้น โดยปรับตัวจากโอลด์แฟชั่นเดิมที่บริษัทเคยทำมา

“ฟาสต์แฟชั่นเติบโตดีไมเนอร์ก็เลยโดดเข้ามา เพราะเราจะใช้กลยุทธ์ที่รุกเร็ว อะไรน่าสนใจลองเลย Fail ได้ เฟลแล้วรีบลุกขึ้นมา โดยเราจะขยายสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ครอบคลุมทุกด้านทั้งแฟชั่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า แอสเซสซอรี่ รวมถึงเครื่องสำอาง” เจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในการเปิดตัวแบรนด์ OVS อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ไมเนอร์นำแบรนด์นี้เข้ามาเปิดสาขาแล้วตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยเปิดเป็นแฟล็กชิพสโตร์ที่ศูนย์การค้าเมกาบางนา และศูนย์การค้าจังซีลอน จ.ภูเก็ต รวมทั้ง OVS KIS ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง

(จากซ้าย) จักร เฉลิมชัย, เจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์, สุทัศน์ อนุวุฒินาวิน และ นิศากร เมสันธสุวรรณ

OVS ก่อตั้งในปี ค.ศ.1972 ที่เมืองเวนิส มียอดขายสูงถึง 1,151 ล้านยูโรในปี 2558 ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 1,300 ร้าน ทั้งในประเทศอิตาลีและต่างประเทศ

สาเหตุที่ทำให้ไมเนอร์โดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้ ถ้าดูจากตลาดรวมเสื้อผ้าในไทยเติบโต 4.4% ในปีที่แล้ว และคาดว่าในปี 2561 นี้จะโตประมาณ 4.1% หรือมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท ขณะที่ตลาดฟาสต์แฟชั่นนั้นก็เติบโตดี มีเข้ามาเปิดในไทยแล้วไม่ต่ำกว่า 10 แบรนด์ มีมูลค่ารวม 30,000 กว่าล้านบาท เช่นยูนิโคล่ เอชแอนด์เอ็มซาร่า ท็อปช็อปท็อปแมน เป็นต้น

ไมเนอร์มองว่า คู่แข่งที่มีจำนวนไม่มากนัก โดยแต่ละแบรนด์มียอดขายเฉลี่ยประมาณ 1,000 ล้านบาท

ยกเว้น 3 แบรนด์แรกที่ทำยอดขายสูงสุด ส่วนแบ่งรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดฟาสต์แฟชั่นมูลค่ารวมประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี

3 อันดับแบรนด์ที่มียอดขายสูงสุดในตลาดฟาสต์แฟชั่นในไทยตอนนี้ ได้แก่ ยูนิดโคล่ มียอดขาย 8,500 ล้านบาท ซาร่า 4,500 ล้านบาท และเอชแอนด์เอ็ม 4,000 ล้านบาท

ไมเนอร์คาดการณ์ว่า รายได้ OVS จากการเปิดตัวปีแรกจะสามารถทำรายได้อย่างน้อย 300 ล้านบาท จากเงินลงทุนที่เตรียมไว้สำหรับเปิดร้าน 200 ล้านบาท ให้ครบ 6 สาขาภายในปี 2561 แล้วหลังจากนั้นจะทยอยเปิดเพิ่มอีกปีละ 2-3 สาขา โดยเชื่อว่าภายในเวลาแค่ 3 ปี ยอดขายของ OVS จะเติบโตเพิ่มถึง 1,000 ล้านบาท

เพราะตลาดขยาย กลยุทธ์จึงต้องเปลี่ยน

“ในส่วนของไลฟ์สไตล์ทั้งหมด เมื่อก่อนเราเล่นแต่ตลาดกลุ่มบน แต่ตอนนี้จะขยายให้ครอบคลุมไปถึงผู้บริโภคกลุ่ม C ในต่างจังหวัด” เจมส์ กล่าว

โดยกลยุทธ์ที่ปรับเปลี่ยนไปนี้ สะท้อนจากการดำเนินงานผ่านแบรนด์ OVS ที่ถือเป็นต้นแบบของกลยุทธ์ใหม่ต่อจากนี้ของไมเนอร์ได้อย่างดี

จากเดิมแบรนด์แฟชั่นรวมถึงไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ที่มีอยู่มักจะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ผลจากการขยายตัวของความเป็นเมือง หรือ Urbanization การจำหน่ายสินค้ากระจายตัวไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งไมเนอร์เองก็มีแบรนด์ที่ขยายไปยังต่างจังหวัดหลายแบรนด์ อีกทั้งยังเป็นผู้ประกอบการจัดจำหน่ายสินค้าอิสระ (Independent Operator) ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศ ที่มีทั้งความเชี่ยวชาญและเครือข่ายที่กว้างขวาง

ด้วยจุดแข็งที่มีอยู่ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้รวดเร็ว โดยสิ่งที่ทำให้ตอบสนองลูกค้าได้ดีส่วนหนึ่ง มาจากระบบสื่อสารกับลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านโปรแกรมบริหารลูกค้าสัมพันธ์ หรือ ไมเนอร์พลัส การ์ด ที่เป็นแหล่งข้อมูลที่ทำให้รู้ความต้องการของลูกค้า

เรียกว่า มีข้อมูลที่พร้อมดึงมาวิเคราะห์เพื่อเดินหน้ากลยุทธ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่กระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ทุกการคาดการณ์จะประสบความสำเร็จไปเสียหมด

“แต่ละแบรนด์ที่เรานำเข้ามาจะตั้งเป้ายอดขายค่อนข้างสูง อะไรที่ไม่เวิร์กไม่เป็นไปตามเป้า หรือถ้าต่ำกว่าเป้ามากเราก็พร้อมจะเอาออกเลย เราเคยทำแบรนด์เครื่องสำอางในช่วงปีที่ผ่านมา ตลาดยังไม่ทันรู้จักแต่เห็นว่าไม่เวิร์ก เราก็เอาออกไปเลย ซึ่งตามแผนไมเนอร์ก็จะบุกซื้อแบรนด์เครื่องสำอางและกีฬาที่มีศักยภาพอยู่แล้วในตลาดไทยเข้ามาไว้ในพอร์ตเพิ่มด้วย”

แนวคิดแบบนี้เกิดขึ้นเพราะไมเนอร์ต้องการสร้างพอร์ตที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง แทนที่การนำแบรนด์ของคนอื่นมาทำตลาด เพราะพบว่าถึงจุดหนึ่งไม่ว่าผลการดำเนินงานจะดีหรือไม่ดีก็มีปัญหาทั้งสิ้น ทำไม่ดีทั้งบริษัทและเจ้าของแบรนด์ก็ไม่แฮปปี้ แต่ถ้าทำดีจนติดตลาดก็เสี่ยงที่เจ้าของแบรนด์จะเข้ามาทำเอง

กลยุทธ์ไว้ 3 แนวทางของไมเนอร์ คือ

1. ขยายพอร์ตโฟลิโอ ในการเป็นดิสทริบิวเตอร์สินค้าจากต่างประเทศ

2. การซื้อหรือควบรวมกิจการ หาโอกาสเป็นเจ้าของแบรนด์ของตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นแค่คนทำตลาดแบรนด์คนอื่นอย่างเดียว โดยเฉพาะแบรนด์ของไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาและมีหลายแบรนด์ที่น่าสนใจ ซึ่งทั้ง 2 กลยุทธ์แรกนี้จะเน้นไปที่สินค้าไลฟ์สไตล์ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า กีฬา แอสเซสซอรี่ เครื่องสำอาง (ซึ่งก่อนหน้านี้เลิกทำไปแล้วหลายแบรนด์)

3. เพิ่มรายได้รวมทั้งกำไรในแบรนด์เดิมที่มีอยู่ให้มากขึ้น เพราะบางแบรนด์มีศักยภาพแต่ยังไม่ได้ทำตลาดเต็มที่ รวมทั้งบางแบรนด์ยังใหม่อยู่ ยอดขายจึงอาจจะยังไม่มากนัก หลัก ๆ ที่ต้องพิจารณา คือ จะดูที่ตลาด คู่แข่งในตลาด ศักยภาพของแบรนด์นั้น ๆ และต้องมียอดขายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบันไมเนอร์มีสินค้าเสื้อผ้า แฟชั่น เครื่องหนัง รองเท้า รวมประมาณ 14 แบรนด์ ซึ่งมีประมาณ 4 แบรนด์ที่เป็นตัวทำรายได้หลักเกินกว่า 500 ล้านบาทต่อปี เช่นเอสปรี ชาร์ลสแอนด์คีธ บอสสินี่ เป็นต้น

ส่วนแบรนด์ที่เติบโตสูงกว่ามาตรฐานของตลาดซึ่งอยู่ที่ 19% คือแบรนด์ อะเนลโล จากญี่ปุ่น วางตลาดเพียง 2 เดือนแรกก็กำไรแล้ว ปีที่แล้วเปิดจุดจำหน่ายมากกว่า 90 แห่ง มียอดขายแบรนด์นี้ประมาณ 400 กว่าล้านบาท อย่างไรก็ตาม มีบางแบรนด์ที่ยอดขายยังน้อยอยู่เช่น บรู้ค บราเธอร์ส ยังไม่ถึง 100 ล้านบาท แต่เพิ่งเริ่ม หรือแบรนด์สวีลลิ่ง ยอดขายน้อยแต่มาร์จิ้นดีมาก

ไมเนอร์ได้วางเป้าหมายอีก 3 ปี หรือภายในปี 2563 จะมียอดขายเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 10,000 ล้านบาท จากปีที่แล้ว (2560) ที่มียอดขาย 4,000 ล้านบาท เติบโต 17% ส่วนปีนี้ตั้งเป้ายอดขายรวม 5,000 ล้านบาท 

ทำไมมาลงตัวที่แบรนด์ OVS

คนไทยรู้จักแบรนด์ OVS แค่ไหน บอกเลยว่าน้อย แต่เพราะอะไร OVS จึงกลายเป็นแบรนด์ที่ไมเนอร์เลือกมาต่อกรกับฟาสต์แฟชั่นอีกหลายแบรนด์ที่คนไทยรู้จักดีอยู่แล้ว

เรื่องนี้เป็นความลงตัวที่ ฝั่งเจ้าของแบรนด์ OVS ต้องการเป็นหนึ่งในผู้นำด้านแฟชั่นในไทย โดยเลือกมาลงทุนไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากในเอเชียโดยเปิดที่จีนไปแล้ว 20 สาขา เป็นที่แรกในเอเชีย โดยมองหาพันธมิตรในฐานะบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจผู้บริโภคท้องถิ่นของไทยอย่างดีอย่างไมเนอร์ พร้อมวางแผนไว้ว่าจะขยายสาขาอย่างน้อย 25-30 สาขาภายใน 5 ปี

ส่วนไมเนอร์ก็กำลังหาแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาตอบสนองความต้องการของลูกค้าไทย และมีตลาดที่ไม่เคยเล่นคือฟาสต์แฟชั่น

“เราทำการบ้านเยอะก่อนเลือกแบรนด์ เราวิเคราะห์แบรนด์ วิเคราะห์คู่แข่งเราเลือก OVS เพราะเชื่อในความมีเอกลักษณ์เฉพาะทั้งในแง่สไตล์ แฟชั่น และมองภาพว่าแบรนด์จะโตได้มากแค่ไหน ซึ่ง OVS มีแนวโน้มเติบโตเยอะมากจากความโดดเด่นของแบรนด์ คุณภาพ และราคาซึ่งเริ่มต้นที่ 399 บาท” เจมส์ กล่าว

ไมเนอร์ เชื่อว่า OVS เป็นแบรนด์สำคัญในพอร์ตที่จะโตเร็วกว่าตลาด ซึ่งจากนี้ไปก็ยังมีแผนจะหาฟาสต์แฟชั่นแบรนด์อื่น รวมถึงแอสเซสซอรี่ กระเป๋า รองเท้าเข้ามาในพอร์ตเพิ่มขึ้น เป็นยุคที่ไมเนอร์จะเปลี่ยนจากที่เคยนำเข้าแบรนด์ประเภท เสื้อผ้าชุดสูทแบบเป็นทางการ เทรดิชั่นแนลสไตล์หลาย ๆ แบรนด์ มาเป็นแบรนด์ใหม่ ๆ ในกลุ่มนี้

ความต่างของ OVS

ถึงแม้ OVS จะถูกจัดอยู่ในเซ็กเมนต์เดียวกับฟาสต์แฟชั่นแบรนด์อื่น แต่ก็มีจุดแตกต่างที่ไมเนอร์เชื่อว่าเป็นข้อได้เปรียบ ตั้งแต่การมีฟอร์แมตที่หลากหลายและยืดหยุ่นในการใช้เปิดสาขา โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเป็นสาขาขนาดใหญ่เสมอไป ทำให้ปรับตัวได้ง่ายกว่าคู่แข่ง เช่น เปิดร้านสำหรับสินค้าเด็กอย่างเดียว เป็นต้น

“ทุกวันนี้ลูกค้านิยมซื้อเสื้อผ้าสวยทันสมัยโดยไม่เน้นของแพง สินค้าราคาสูงเริ่มเสื่อมความนิยม เพราะคนหันมาเน้นหาอะไรที่ใช้ง่ายไม่คิดมาก นี่คือจุดต่างที่กลายเป็นจุดแข็งของ OVS เพราะเราเน้นสินค้าคุณภาพสูงราคาสบาย เจาะกลุ่มเป้าหมายกว้าง ดีไซน์ไม่กรี๊ดแรง มิกซ์แอนด์แมตช์ได้เอง ใส่ง่าย แต่มีดีเทล” นิศากร เมสันธสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไป แบรนด์ OVS กล่าวทิ้งท้ายถึงลักษณะจำเพาะของสินค้า.

]]>
1163564
เม็ดเงินแฟชั่นสะพัด “คนรุ่นใหม่” เกือบครึ่งใส่เสื้อผ้ารอบเดียวแล้วโยนทิ้ง https://positioningmag.com/1150611 Sat, 16 Dec 2017 03:19:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1150611 ภาพจาก : theguardian.com

ไม่ว่าจะทิ้งลงถังขยะหรือทิ้งให้คนอื่น การสำรวจล่าสุดพบว่าคนรุ่นใหม่เกือบครึ่งเมินเสื้อผ้าที่ไม่ถูกใจ ทั้งที่ใส่เพียงครั้งเดียว โดยผลสำรวจชี้ชัดนักช้อปออสซี่กว่า 4 ใน 10 ตัดสินใจไม่รีไซเคิล และไม่ซ่อมดัดแปลง แต่จะทิ้งเสื้อที่ไม่ถูกใจลงถังขยะไปเลย

ผลสำรวจล่าสุดจากบริษัทวิจัยสัญชาติอังกฤษ YouGov สะท้อนความจริงสุดอึ้งในโลกตลาดแฟชั่นที่มาไวไปไวเหลือเกิน จุดนี้ YouGov พบว่า 8 ใน 10 ของกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่าได้ทิ้งสิ่งของประเภทเสื้อผ้าในปีที่ผ่านมา โดยครึ่งหนึ่งของกลุ่มนี้ยอมรับว่าโยนทิ้งเสื้อผ้ามากกว่า 10 ชิ้น 

กลุ่มตัวอย่างของ YouGov ประกอบด้วยผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,137 คน ทำการสำรวจระหว่าง 20-30 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย 82% ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็น baby boomer และ 62% ของกลุ่มที่เป็น millennial กล่าวว่าได้บริจาคเสื้อผ้าที่ไม่ต้องการเพื่อการกุศล โดย 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่าบริจาคเสื้อผ้า 3 ชิ้นที่เคยใส่เพียงครั้งเดียว

เหตุผลที่ทำให้โลกมีมหกรรมทิ้งเสื้อผ้าสูงเช่นนี้ คือเสื้อผ้าที่ดูดีบนราวแขวน หรือการซื้อเสื้อผ้าเพราะเสียงยุของคนรอบข้าง รวมถึงการลองเสื้อแล้วดูดีเฉพาะที่ร้านค้า ซึ่งเมื่อกลับมาถึงบ้าน หลายคนพบว่าเสื้อผ้าที่ซื้อมาไม่เหมาะกับตัวเอง

การสำรวจของ YouGov พบว่า 44% ของกลุ่มตัวอย่างที่ถือเป็นชาว millennial (เกิดระหว่างปี 1978 และ 1998) กล่าวว่า เสื้อผ้า 50% ที่เก็บในตู้เสื้อผ้าปัจจุบัน ล้วนเป็นเสื้อผ้าใหม่ที่ถูกซื้อในช่วงปีที่ผ่านมา ในทางตรงกันข้าม กลุ่ม baby boomer ที่อายุมากกว่า กลับซื้อเสื้อผ้าใหม่ในปี 2017 น้อยกว่า 10% ของเสื้อผ้าที่มีในตู้

ทั้ง millennial และ baby boomer บอกเป็นเสียงเดียวกับ ว่าเหตุผลที่ตัดสินใจทิ้งเสื้อผ้าไปคือความไม่เหมาะหรือเพราะความเสียหาย เหตุผลยอดนิยมรองลงมาคือเบื่อและเป็นเสื้อผ้าสไตล์เก่า (30% ของ millenial และ 11% ของ baby boomer ให้เหตุผลนี้)

ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เราเห็นเม็ดเงิน สะพัดในตลาดแฟชั่นที่หมุนเวียนรวดเร็ว ผลจากวงจรการผลิตและจำหน่ายที่ทันใจตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการส่งไปวางจำหน่าย สามารถพบได้ทุกตลาดทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นจากเครือข่ายค้าปลีกยักษ์ใหญ่เช่น H&M หรือ Forever 21 หรือสินค้าราคาถูกที่ผลิตในประเทศจีนและจำหน่ายในตลาดนัดท้องถิ่น

ผลสำรวจของ YouGov ถูกรายงานในสื่ออย่าง Guardian ว่ากลุ่มตัวอย่างในออสเตรเลียราว 4 ใน 10 นั้นทิ้งเสื้อผ้าที่ไม่ต้องการลงถังขยะ โดยไม่พยายามซ่อมหรือรีไซเคิลเพื่อนำเสื้อผ้ากลับมาใช้ใหม่ เบื้องต้นพบ ชาวออสเตรเลียกลุ่มผู้ใหญ่ 75% โละเสื้อผ้าไปในปีที่ผ่านมา และ 30% ทิ้งเสื้อผ้าไปมากกว่า 10 ชิ้น

พฤติกรรมการทิ้งเสื้อผ้าอาจเป็นปัจจัยสำคัญให้อุตสาหกรรมแฟชั่นออสเตรเลียบูมสุดขีด ล่าสุดมีมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

การสำรวจจาก Ibis World ชี้ว่าวันนี้อุตสาหกรรมแฟชั่นของออสเตรเลียกำลังเฟื่องฟู สถิติล่าสุดบันทึกอัตราเติบโตอยู่ที่ 21% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลจากการรุกตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าราคาประหยัดสัญชาติยุโรป ทั้ง H&M, Uniqlo, Zara และ Topshop/Topman ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มักถูกกว้านซื้อเมื่อนักช้อปเดินทางไปต่างประเทศ ทำให้วันนี้ชาวออสซีรวมถึงชาวไทยสามารถซื้อหาเสื้อผ้าเหล่านี้ได้ตลอดเวลา

รายงานจาก Australia Post ระบุด้วยว่า 22% ของการซื้อสินค้าออนไลน์ของชาวออสซี่วันนี้เป็นสินค้าแฟชั่นที่มีการเติบโตอย่างมากตลอด 3 ปี โดยชาวออสเตรเลียได้รับพัสดุสินค้าแฟชั่นเฉลี่ย 3.2 ชิ้นในปี 2016 ที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้สะท้อนว่านักช้อปส่วนใหญ่มองหาเสื้อผ้าใหม่สำหรับสวมใส่ในวันหยุด และไม่ค่อยคำนึงถึงการใช้งานในระยะยาว

การทิ้งเสื้อผ้าถูกมองเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังหนักข้อขึ้นในออสเตรเลีย มีการบันทึกว่าสิ่งทอและเครื่องหนังกว่า 500,000 ตันถูกส่งไปยังบ่อฝังกลบขยะในประเทศออสเตรเลียเพียงประเทศเดียว เรื่องนี้ Jane Miliburn ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งเพิ่งเปิดตัวหนังสือ Slow Fashion เผยว่าชาวออสเตรเลียซื้อสินค้าสิ่งทอเฉลี่ย 27 กิโลกรัม ต่อปี (รวมทั้งเครื่องหนังและของใช้ในบ้าน) สินค้าที่ส่วนใหญ่เป็นเส้นใยสังเคราะห์เหล่านี้กลายเป็นขยะที่ถูกทิ้งในหลุมฝังกลบราว 23 กิโลกรัม เบ็ดเสร็จแล้ว ปริมาณสิ่งทอชาวออสเตรเลียที่ใช้งานต่อปี นั้นคิดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 13 กิโลกรัมต่อคน

แน่นอนว่าแบรนด์เสื้อผ้าไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาขยะเสื้อผ้าแฟชั่น และพยายามรับผิดชอบด้วยการให้ข้อเสนอเพื่อให้นักช้อปนำเสื้อผ้าที่ไม่ต้องการกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น H&M ที่ส่งเสริมให้ลูกค้านำเสื้อเก่ามารับส่วนลด ซึ่ง H&M จะสามารถนำไปใช้ต่อในธุรกิจเสื้อผ้ามือสอง หรือการนำชิ้นส่วนผ้ากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ยังมีแบรนด์อย่าง Patagonia ที่เสนอซ่อมเสื้อฟรีแก่ลูกค้าทุกคน

ที่มาhttps://www.theguardian.com/fashion/2017/dec/06/landfill-becomes-the-latest-fashion-victim-in-australias-throwaway-clothes-culture

http://www.khaosodenglish.com/life/shopping/2017/12/06/4-10-thai-shoppers-toss-clothes-1-wear-survey/

]]>
1150611