ไฮเปอร์มาร์เก็ต – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 09 Oct 2023 03:20:35 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ระบบชำระเงินด้วยตนเอง (Self-Checkout) ในห้างฯ ส่อแววไม่ได้ช่วยลดการใช้แรงงานตามคาด https://positioningmag.com/1447227 Sat, 07 Oct 2023 10:05:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1447227 ห้างสรรพสินค้าจำนวนมากหันมาใช้ “ระบบชำระเงินด้วยตนเอง” (Self-Checkout) เพื่อหวังจะลดต้นทุนการใช้แรงงาน แต่หลังใช้งานไปได้ระยะหนึ่ง ดูเหมือนห้างฯ ก็ยังต้องพึ่งพิง “พนักงาน” ไปดูแลการใช้งานเครื่องเหล่านี้ของลูกค้า เพื่ออำนวยความสะดวกและป้องกันขโมย

หลังจาก “ระบบชำระเงินด้วยตนเอง” (Self-Checkout) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ปัจจุบันห้างสรรพสินค้าจำนวนมากหันมาใช้ระบบนี้ทดแทนแคชเชียร์บางส่วน ด้วยความหวังว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าแรงงานในห้างฯ ได้

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนความหวังว่าระบบ Self-Checkout จะช่วยปฏิวัติวงการจะยังไม่เกิดขึ้นจริง ในสหรัฐอเมริกา ห้างฯ ค้าปลีกรายใหญ่อย่าง Costco, Walmart และ Kroger เริ่มพิจารณาระบบนี้ใหม่แล้ว เพราะบริษัทพบว่าห้างฯ ก็ยังต้องมีพนักงานควบคุมพื้นที่ Self-Checkout อยู่ดี เพื่อคอยอำนวยความสะดวกในการใช้เครื่องของลูกค้า สอดส่องการขโมยของ และตรวจสอบใบเสร็จรับเงิน

Costco เริ่มกลับมามีพนักงานคอยตรวจตราการกรอกเลขสมาชิกลงในเครื่องชำระเงินด้วยตนเอง และช่วยสแกนสินค้าที่เครื่อง

บริษัทกล่าวว่า บริษัทต้องการทลายพฤติกรรมการใช้เลขบัตรสมาชิกร่วมกันของผู้ซื้อ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมการโกงรูปแบบหนึ่ง เพราะ Costco มีการคิดค่าธรรมเนียมสมาชิกและจุดนี้ถือเป็นจุดทำกำไรของบริษัท

ขณะที่ Walmart ระบุว่า บริษัทมีการยกเลิกระบบ Self-Checkout กลับไปใช้พนักงานปกติ 3 สาขา ในอัลบูเคอร์คี รัฐนิวเม็กซิโก ซึ่งบริษัทไม่ได้อธิบายเหตุผลการเปลี่ยนแปลงนี้ บอกแต่เพียงว่าไม่ได้มีแผนจะยกเลิกระบบชำระเงินด้วยตนเองหมดทุกสาขาแต่อย่างใด

ส่วนห้างฯ Kroger กล้าเสี่ยงมากกว่าใคร ปัจจุบันมีอย่างน้อย 1 สาขาที่บริษัททดลองลงระบบ Self-Checkout ทั้งหมด ไม่มีพนักงานคิดเงินแบบปกติเลย แต่ Kroger ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Retail Dive พบว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ทำให้ต้นทุนแรงงานลดลงเลย เพราะบริษัทก็ยังต้องมีพนักงานในบริเวณนั้นเพื่อช่วยสแกนสินค้าและช่วยหยิบของใส่ถุงอยู่ดี

เทคโนโลยีนี้จึงดูเหมือนว่าจะไม่ได้ช่วยลดการใช้แรงงานอย่างที่คาดหวังกันไว้

 

ห้างฯ ต้องลงทุนเทคโนโลยีป้องกันขโมยเพิ่ม

อุตสาหกรรมค้าปลีกประเมินกันว่า ความเสียหายจากการขโมยหรือความผิดพลาดในการสแกนสินค้าเองของลูกค้า เพิ่มขึ้น 31-60% หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่ามีเคาน์เตอร์ Self-Checkout มากแค่ไหนในสาขา

Matt Kelley ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการสูญเสียที่เคยทำงานอยู่ในแผนกปกป้องทรัพย์สินของ Home Depot กล่าวกับ Insider ว่า เมื่อปีที่แล้ว ระบบ Self-Checkout กดดันให้ห้างฯ ต้องเลือกระหว่างการประหยัดต้นทุนแรงงานกับการขโมยที่เพิ่มมากขึ้น

“เป็นเรื่องธรรมชาติที่ระบบชำระเงินด้วยตนเองหมายถึงการมีสายตามองการทำธุรกรรมน้อยลง” Kelly กล่าว “และโอกาสก็จะมากขึ้นที่คนไม่ซื่อสัตย์จะได้ทำตัวไม่ซื่อสัตย์”

Wallmart และ Kroger หันมาใช้เซ็นเซอร์และวิดีโอมอนิเตอร์เพื่อติดตามการใช้งาน Self-Checkout แต่ลูกค้าบางคนบอกกับสำนักข่าว Insider ว่า พวกเขาก็ยังเห็นคนแอบไม่สแกนสินค้าและไม่มีเสียงเตือนเกิดขึ้นอยู่ดี

การไม่สแกนสินค้าบางครั้งก็ไม่ได้เป็นความตั้งใจ คนและเครื่องสามารถสร้างความผิดพลาดได้เสมอ แต่ทางออกก็ไม่ได้ต่างจากการป้องกันการขโมย คือยังต้องใช้พนักงานมาคอยควบคุมและช่วยเหลือลูกค้า

Christopher Andrews นักสังคมวิทยาจาก Drew University กล่าวกับ CNN เมื่อปีก่อนว่า Self-Checkout ไม่ได้เป็นระบบเก็บเงินอัตโนมัติอย่างที่กลุ่มค้าปลีกคาดหวังไว้เลย แต่กลับกันระบบนี้ต้องใช้พนักงานมาคอยดูแลทั้งพนักงานช่วยเหลือที่เครื่อง พนักงานบำรุงรักษา และพนักงานไอที

ห้างค้าปลีกหลายแห่งยังคงลงทุนกับเทคโนโลยีชำระเงินด้วยตนเองอยู่ แต่บางแห่งก็เริ่มจะพิจารณาใหม่แล้วว่าจะใช้งานระบบนี้อย่างไร และจะดึงมนุษย์มาทำงานร่วมกับเครื่องอย่างไรเพื่อให้ระบบนี้ทำงานได้อย่างลื่นไหล

Source

]]>
1447227
“บิ๊กซี” รีโนเวตไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็น “Big C Place” เริ่ม 2 สาขาแรกที่ “ลำลูกกา” – “รัชดาฯ” https://positioningmag.com/1433372 Wed, 07 Jun 2023 07:05:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1433372 “บิ๊กซี” เตรียมรีโนเวตไฮเปอร์มาร์เก็ตสาขา “ลำลูกกา” และ “รัชดาภิเษก” เป็นรีเทลโมเดลใหม่ Big C Place” เน้นพื้นที่เช่าประเภทแหล่งช้อปปิ้ง-ไลฟ์สไตล์ พร้อมเปิดให้เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง ตอบสนองคนยุคใหม่ชอบใช้ชีวิตในห้างฯ

“อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ BRC เปิดเผยกลยุทธ์การปรับโมเดลรีเทลรูปแบบใหม่ของบริษัทในชื่อ “Big C Place” ที่จะเริ่มเห็นสาขาแรกในปี 2566

คอนเซ็ปต์ของ Big C Place คือการปรับพื้นที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตให้มีพื้นที่เช่ามากขึ้น บรรยากาศเหมาะกับการมาแฮงเอาต์ เดินช้อปปิ้ง ทานอาหาร ซึ่งตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่ไม่ได้มาไฮเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อของที่ต้องการเท่านั้น แต่ต้องการมาใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ ด้วย

ในภาพนำเสนอการปรับเป็น Big C Place ระบุว่าจะมีการเพิ่มพื้นที่ช้อปปิ้ง พื้นที่เล่นเกม พื้นที่ด้านการศึกษาผสานความบันเทิง (Edutainment) บริการสุขภาพและความงาม ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม และพื้นที่ไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่น Co-working Space, Event Space นอกจากนี้ยังจะปรับให้เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง (Pet-Friendly)

อัศวินกล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของการปรับเปลี่ยนจะทำให้ลูกค้าใช้เวลาในพื้นที่นานขึ้น มีการใช้บริการหลากหลาย มียอดใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการมาแต่ละครั้ง

ภาพการออกแบบเบื้องต้น Big C Place สาขารัชดาฯ

แผนงานไฮเปอร์มาร์เก็ต 2 สาขาแรกที่จะรีโนเวตปรับเป็น Big C Place ก่อน ได้แก่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาลำลูกกา และ บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า สาขารัชดาภิเษก ทั้ง 2 สาขานี้มีการสำรวจมาแล้วว่าลูกค้าโดยรอบมีความต้องการไลฟ์สไตล์ในห้างฯ ในลักษณะนี้ คาดว่าจะใช้งบในการรีโนเวตแต่ละสาขาไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยสาขาแรกคือที่ลำลูกกาจะเปิดตัวก่อนภายในปี 2566

สำหรับโมเดลร้านค้าของ “บิ๊กซี” ในไทยปัจจุบันมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ซึ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต “บิ๊กซี มาร์เก็ต” ซูเปอร์มาร์เก็ตเน้นทำเลในชุมชน “บิ๊กซี ฟู้ดเพลส” ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นอาหารสด-ของสด เป็นต้น

ปัจจุบันเฉพาะกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต บิ๊กซีถือเป็นอันดับ 2 ในตลาด มีส่วนแบ่งตลาด 41.9% บริษัทจึงต้องแข่งขันหาโมเดลและกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อดึงลูกค้าเพิ่มขึ้น

]]>
1433372
มาแล้ว! “โลตัส พรีเว่” สาขาแรกกับคอนเซปต์ “พรีเมียมที่จับต้องได้” อัดสินค้านำเข้าดึงลูกค้า https://positioningmag.com/1415185 Wed, 11 Jan 2023 11:39:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1415185 โลตัส พรีเว่ (Lotus’s Prive) สาขาแรกเปิดแล้วที่ ICS เจริญนคร มากับคอนเซปต์ “พรีเมียมที่จับต้องได้” (Premium Inclusive) เปลี่ยนลุคใหม่ยกระดับแบรนด์ เพิ่มสัดส่วนสินค้านำเข้า 4 เท่า แต่ทำราคาเอื้อมถึง แย้มกำลังหาทำเลเปิดเพิ่มอีกในกรุงเทพฯ

“สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย” ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย เปิดตัวโลตัสสาขาใหม่ “โลตัส พรีเว่ (Lotus’s Prive)” ในศูนย์การค้า ICS เจริญนคร ซึ่งถือเป็นโลตัสคอนเซปต์ใหม่สาขาแรก เน้นสินค้าระดับ “พรีเมียม” มากกว่าโลตัสสาขาปกติ

สมพงษ์ให้นิยามว่า โลตัส พรีเว่ เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตแบบ Premium Inclusive คือเป็นสินค้า “พรีเมียมที่จับต้องได้” จับช่องว่างระหว่างค้าปลีกทั่วไปกับค้าปลีกระดับบนซึ่งราคาค่อนข้างสูง เอื้อมถึงยาก

ภายในโลตัส พรีเว่ สาขาเจริญนคร มีพื้นที่ 2,900 ตารางเมตร เล็กกว่าไฮเปอร์มาร์เก็ตปกติเล็กน้อย (ปกติโลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต จะลงพื้นที่อย่างน้อย 3,000 ตารางเมตร) แต่ลงสินค้าได้ถึง 27,000 รายการ พร้อมระบบพรีออร์เดอร์สินค้าบางชนิด เช่น อาหารทะเล

โลตัส พรีเว่
โซนสุขภาพและความงาม ภายในโลตัส พรีเว่ เจริญนคร

ความแตกต่างที่ทำให้โลตัส พรีเว่เกิดความพรีเมียม สมพงษ์กล่าวว่า มาจากดีไซน์ งานบริการ และสินค้า โดยเฉพาะสินค้าจะแตกต่างชัดเจน ด้วยสัดส่วนสินค้านำเข้าเพิ่มเป็น 40% จากปกติมีไม่เกิน 10% หรือเพิ่มมากว่า 4 เท่า ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทอาหารสด เช่น สตรอว์เบอร์รี่จากเกาหลี/ญี่ปุ่น บลูเบอร์รี่จากเปรู แอปเปิ้ลญี่ปุ่น เนื้อวัวออสเตรเลีย เครื่องปรุงรส ชา กาแฟ ขนมจากต่างประเทศ

รวมถึงมีกลุ่มอาหารทะเลที่ส่งตรงจาก จ.ระนอง ทุกวัน และกลุ่มสินค้าออร์แกนิกส์ ไข่ไก่ cage-free ซึ่งเข้ากับไลฟ์สไตล์กลุ่มเป้าหมาย

โลตัส พรีเว่
ตัวอย่างสินค้าในโลตัส พรีเว่ มีความพรีเมียมสูงขึ้น

“เป็นการปรับตัวตามความชอบของลูกค้าซึ่งต้องการของพรีเมียมมากขึ้น แต่ราคาไม่ควรแพงมาก และลูกค้าต้องการประสบการณ์การเดินเลือกชมสินค้า หากไม่มีประสบการณ์ตรงนี้ ลูกค้าจะหันไปสั่งของออนไลน์แทน” สมพงษ์กล่าว

Positioning มีโอกาสเยี่ยมชมโลตัส พรีเว่ เจริญนคร ในวันเปิดตัว จะเห็นได้ว่าดีไซน์จะแตกต่างจากโลตัสปกติ ด้วยการจัดโซนให้มีความสวยงาม วางสินค้าในลักษณะจัดแสดงให้เดินชม งานป้ายมีการออกแบบให้พรีเมียมขึ้น ใช้โทนสีเขียวเข้มตัดเหลืองเข้ม แทนสีปกติที่เป็นสีเขียวอ่อน รวมถึงยูนิฟอร์มพนักงานก็เปลี่ยนสีและแบบชุดด้วยเช่นกัน

ด้วยดีไซน์และสินค้าที่ลงจำหน่าย โลตัส พรีเว่น่าจะเป็นแบรนด์ที่ท้าชนกับซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างท็อปส์ หรือ กูเมต์ มาร์เก็ต ได้

ดีไซน์แตกต่างจากโลตัสปกติ โลตัส พรีเว่จะใช้สีเขียวเข้ม ป้ายและการตกแต่งสวยงาม

สมพงษ์กล่าวว่า จากราคาสินค้าที่มีกลุ่มพรีเมียมเข้ามาขายมากขึ้น จึงคาดหวังว่าการใช้จ่ายต่อบิลของสาขานี้จะอยู่ที่ 600 บาทขึ้นไป จากปกติโลตัสจะมียอดต่อบิลเฉลี่ยที่ 500 บาท

ส่วนการขยายโลตัส พรีเว่สาขาอื่นๆ ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ว่าบริษัทมีการมองหาโลเคชันอยู่เสมอ โดยจะต้องเป็นย่านที่มีลักษณะประชากรไลฟ์สไตล์คนเมือง และคู่แข่งยังมีน้อย โดยโลตัสอาจจะพิจารณาได้ทั้งเปิดสาขาใหม่ หรือปรับปรุงสาขาเดิมให้เป็นโลตัส พรีเว่ เบื้องต้นน่าจะขยายสาขาต่อไปในกรุงเทพฯ ก่อน

ด้านการลงทุนปีนี้ของโลตัส ตั้งงบการลงทุนไว้ 11,000 ล้านบาท ประมาณครึ่งหนึ่งของงบจะเป็นการเปิดสาขาใหม่และการรีโนเวต เป้าเปิดสาขาโลตัสขนาดเล็ก 200 สาขา และโลตัสขนาดใหญ่ 5 สาขา

โดยการลงทุนปี 2566 ของโลตัสถือว่าสูงมากกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะอึมครึมก็ตาม “เรามองภาพระยะยาวว่าค้าปลีกไทยยังโตได้อีกมาก ทำให้เรามั่นใจที่จะลงทุนตั้งแต่ตอนนี้” สมพงษ์กล่าว

]]>
1415185
เปิดแผน 3 ปียกเครื่อง ‘โลตัส’ ใหม่! หมดยุคมุ่ง ‘ขายของ’ แต่เป็น ‘สมาร์ท คอมมูนิตี้ เซ็นเตอร์’ มัดใจ New Gen https://positioningmag.com/1402428 Thu, 29 Sep 2022 10:46:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1402428 ตั้งแต่ปี 2020 ที่ โลตัส (Lotus’s) ได้กลับมาอยู่ในมือ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ อีกครั้งพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Logo ที่สื่อถึงความ Smart มากขึ้น หรือการเปลี่ยนรอยัลตี้โปรแกรมจาก Club Card สู่ My Lotus’s (มายโลตัส) ล่าสุด ก็เตรียม ยกเครื่องสาขาโฉมใหม่ เข้าสู่ New Smart Retail หรือ Retail 5.0

ย้อนดูวิวัฒนาการรีเทล

สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย เล่าถึงเส้นทาง 28 ปีเต็มของโลตัสว่า ในช่วงของ Retail 1.0 นั้น เป็นช่วงเริ่มต้นของ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่ได้รับอิทธิพลมาจากห้างฯ Walmart ที่จะเป็นเป็นพื้นกว้างมี 2 ชั้น จากนั้นรูปแบบดังกล่าวก็ได้รับความนิยมและกระจายไปทั่วประเทศ

จากนั้นก็มาถึงยุค Retail 2.0 ที่มีความเป็น Mall มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และเพิ่มความสะดวกสบายซึ่งตอบโจทย์กับพฤติกรรมคนไทยมากกว่า จนมา Retail 3.0 เป็นการมุ่งสู่ ออนไลน์ รวมถึงมีการขยายในรูปแบบ ร้านเล็ก เพื่อกระจายเข้าสู่ชุมชนได้มากขึ้น

มาถึง Retail 4.0 จะเป็นในลักษณะ Multiformat ซึ่งจะเป็นการเชื่อมออนไลน์สู่ออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นร้านใหญ่ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้บริการลูกค้าแบบ ไร้รอยต่อ ซึ่งปัจจุบัน โลตัสที่มีสาขารวมกว่า 2,700 สาขา สามารถให้บริการออนไลน์ได้ทุกสาขา และสามารถส่งได้ทั้งแบบ On Demand และ Next Day แต่พาร์ทนี้เป็นแค่ เฟสแรก ของการปรับตัวสู่ออนไลน์ของโลตัสเท่านั้น

Retail 5.0 หน้าร้านเป็นแค่คลังสินค้า

หากพิจารณาถึง Retail 4.0 ก็น่าจะเรียกได้ว่าครบทุกความต้องการแล้ว แต่ สมพงษ์ อธิบายว่า ยังไม่ตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด เพราะแม้จะสามารถสั่งสินค้าออนไลน์จากสาขาใกล้บ้านได้ แต่เนื่องจากความท้าทายหลักของธุรกิจรีเทลคือ สต็อกสินค้า เพราะสาขาในพื้นที่ไกลหรือสาขาย่อย ๆ ไม่ได้มีสินค้ามากเท่าสาขาใหญ่ ๆ ดังนั้น โลตัสต้องการอุดช่องว่างดังกล่าวโดยใช้สาขาเป็นจุด รับพรีออเดอร์สินค้าที่ไม่มีสต็อก โดยคาดว่าภายใน 3 ปีจากนี้ สัดส่วนยอดขายออนไลน์จะเพิ่มจาก 5% เป็น 20%

“ยุคนี้คือการแข่งกันไปถึงมือลูกค้าให้เร็วที่สุด ดังนั้น ใครไปถึงเร็วก็ยิ่งได้เปรียบ ซึ่งเรามีสาขากว่า 2,700 แห่ง ซึ่งได้เปรียบในแง่การกระจายสินค้า แต่จากนี้เราจะใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น จะเริ่มทำเซอร์เวย์ความต้องการของลูกค้าในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อหาสินค้าที่ตอบโจทย์”

แปลงโฉมโลตัสเป็นสมาร์ทคอมมูนิตี้เซ็นเตอร์

ไม่ใช่แค่ปรับแนวคิดของหน้าร้าน แต่รูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์แบบเดิม ๆ ก็ต้องปรับเป็น สมาร์ท คอมมูนิตี้ เซ็นเตอร์ ให้เหมาะกับ New Gen เพราะคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น ไม่ได้มาช้อปเน้นแค่ตอบโจทย์ฟังก์ชันนอล โดยจะมีการปรับดีไซน์ทั้งภายในภายนอก เพิ่มพื้นที่สีเขียว มีส่วน In Door – Out Door เพิ่มปริมาณร้านอาหาร เพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรม มีลานกีฬา ลานออกกำลังกาย

“มันเป็นดิสรัปต์ของออนไลน์ ดังนั้น สาขาของโลตัสจะมุ่งแต่การขายของไม่ได้ เพราะออนไลน์ก็ซื้อได้ แต่เราต้องการสร้างประสบการณ์ เป็นพื้นที่ให้คนมาพบปะสังสรรค์ มีร้านค้าที่เทรนด์ดี้มากขึ้น เราหวังว่าพอปรับแล้วลูกค้าจะใช้เวลามากขึ้น จากปกติ 30-40 นาทีเป็น 1-2 ชั่วโมง”

เบื้องต้น โลตัสมีงบลงทุนปีละ 12,000-15,000 ล้านบาท โดยโมเดลสมาร์ท คอมมูนิตี้ เซ็นเตอร์รูปแบบใหม่นี้จะใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยภายใน 3 ปีคาดว่าจะสามารถรีโนเวตได้ 146 สาขา ซึ่งสาขา นอร์ธปาร์คราชพฤกษ์ ที่กำลังจะเปิดช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ จะถือเป็นต้นแบบของโมเดลสมาร์ท คอมมูนิตี้ เซ็นเตอร์

“โลตัสเข้าสู่ปีที่ 29 แล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าเราดูแก่ไปหน่อย ดังนั้น เราจึงเริ่มตั้งแต่ปรับโลโก้ใหม่ให้เทรนด์ดี้มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ การปรับโฉมโลตัส และเพิ่มสินค้าที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้น”

จับตลาดพรีเมียมและอัพเกรดเฮ้าส์แบรนด์

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเริ่มเห็นความต้องการ สินค้าพรีเมียม มากขึ้น ซึ่งจากนี้โลตัสก็จะขยายกลุ่มสินค้าให้ครอบคลุมตั้งแต่ล่าง-กลาง-บน ซึ่งในอดีตอาจไม่ได้เน้นกลุ่มบนมากนัก อีกทั้งจะ อัพเกรดเฮ้าส์แบรนด์ เพื่อลบภาพ Copycat โดยนำข้อมูลลูกค้ามาปรับใช้ให้มีคุณภาพในราคาจับต้องได้

“ที่ผ่านมาเราถนัดในเรื่องการทำราคาสินค้าที่ให้ความรู้สึกคุ้มค่า แต่กลุ่มพรีเมียมเราก็เห็นโอกาสมากขึ้น แต่คงยังไม่ถึงขั้นฟอร์แมทขายของนำเข้า แต่จะเป็นการเพิ่มสินค้าพรีเมียมในสาขาที่เหมาะสม ในแผนขั้นต้นมีไม่ต่ำกว่า 10 สาขา”

มุ่งสู่เพอร์เซอร์นอลไรซ์และความยั่งยืน

เมื่อช่วงต้นปี โลตัสได้ยกเครื่อง รอยัลตี้โปรแกรม จาก คลับการ์ด เป็น My Lotus’s ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 23 ล้านบัญชี โดยโลตัสจะใช้เป็นพื้นที่ศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้ เพื่อนำมาใช้ทำกลยุทธ์การตลาด พร้อมทั้งนำเสนอสินค้าและโปรโมชันให้ตรงความต้องการแต่ละคน รวมถึงการปรับร้านให้เหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ ซึ่งภายใน 3 ปีคาดว่าเครือข่ายของโลตัสจะครอบคลุม 100% ของชุมชน จากปัจจุบันครอบคลุมประมาณ 75%

สำหรับแผน 3-5 ปีข้างหน้า โลตัสจะเน้น ความยั่งยืน มากขึ้น โดยจะเน้น 4 เรื่อง ได้แก่ Health and wellness, Social impact, Circular economy  และ Climate resilience

“ในยุค Retail 1.0 หรือการมาของไฮเปอร์มาร์เก็ต มันเป็นของใหม่ เราทำอะไรมันก็ตอบโจทย์ลูกค้าหมด แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันดีขึ้น ความคาดหวังสูงขึ้น รีเทลก็ต้องปรับตัว”

]]>
1402428
“โลตัส” เปิดโมเดลใหม่สไตล์ Open Air Mall มุ่งสู่การเป็น Smart Community Center https://positioningmag.com/1376383 Tue, 08 Mar 2022 03:35:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1376383

โลตัสสร้างเซอร์ไพร์สแก่วงการค้าปลีกอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวไฮเปอร์มาร์เก็ตโมเดลใหม่ ในสไตล์ Open Air Mall จุดเด่นอยู่ที่การเพิ่มพื้นที่เช่าในส่วนเอาท์ดอร์ พร้อมกับดึงแม็กเน็ตด้วยร้านอาหารใหม่ๆ ที่ไม่เคยเปิดที่โลตัสมาก่อน ประเดิมสาขาเลียบคลอง 2 เป็นที่แรก พิกัดโซนซาฟารีเวิลด์ ใกล้คลองสามวา (Google map : https://goo.gl/maps/dryWBnbt9CSwTbiq8)  ตอกย้ำเป้าหมายในการมุ่งสู่การเป็น Smart Community Center


โมเดลใหม่สไตล์เอาท์ดอร์

ต้องบอกว่าเทรนด์ของค้าปลีกในปัจจุบัน โลเคชั่นสุดปังอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว แต่ต้องมีคอนเทนต์ใหม่ๆ รูปแบบใหม่ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค ยิ่งมีแม็กเน็ตดึงดูดมากเท่าไหร่ ผู้บริโภคยิ่งให้ความสนใจมากขึ้นเท่านั้น

เห็นได้ชัดจากการปรับตัวของ “โลตัส” ไฮเปอร์มาร์เก็ตอันดับหนึ่งในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้โลตัสได้ปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโปรโมชัน ปรับโมเดลร้านค้าใหม่ๆ สรรหาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

ยิ่งไปกว่านั้นคือการสร้างเสียงฮือฮาเมื่อมีการเปิดตัวบิ๊กโปรเจ็คต์อย่าง “โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์” ที่เป็นการพลิกโฉมภาพไฮเปอร์มาร์เก็ตแบบเดิมๆ สู่ภาพโลตัสที่ทันสมัยมากขึ้นในทันที

ล่าสุดโลตัสได้สร้างเซอร์ไพร์สอีกครั้งด้วยการเปิดตัวสาขาใหม่เลียบคลอง 2 เป็นสาขาแรกของปี 2565 ไฮไลท์ของสาขาเรียกว่าเป็นสาขาโมเดลใหม่สไตล์ Open Air Mall นอกจากจะมีดีไซน์ที่โดดเด่น แปลกตาจากสาขาปกติแล้ว มีการเพิ่มพื้นที่เช่าเอาท์ดอร์สำหรับร้านอาหารมากขึ้น พร้อมกับดึงร้านอาหารแบรนด์ดัง และมี Food Truckสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอีกด้วย

นางสาวเบญจวรรณ อ่องศรี ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายศูนย์การค้าและพื้นที่เช่า โลตัส กล่าวว่า

“เป้าหมายของโลตัส คือการเป็น Smart Community Center ที่เป็นจุดศูนย์รวมสำหรับการใช้ชีวิตในแบบสมาร์ทของลูกค้า นอกเหนือจากการเป็นแหล่งช้อปปิ้งสินค้าคุณภาพสูงครบครัน ยังต้องเป็นพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมอื่นๆ ของลูกค้าทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นรับประทานอาหาร จับจ่ายใช้สอย ใช้บริการ รวมถึงเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โลตัส ไม่เคยหยุดนิ่งในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แบบสมาร์ทของลูกค้า รวมถึงการปรับศูนย์การค้าและพื้นที่เช่า”

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลตัสเปิดโมเดลใหม่แบบ Open Air Mall นั้น นอกจากจะเป็นเรื่องของการปรับตัวเรื่องของธุรกิจค้าปลีกแล้ว การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังสร้างแรงกระเพื่อมสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว คำนึงถึงความสะอาด ความปลอดภัยมากขึ้นด้วย

เพราะผู้บริโภคคำนึงถึงเรื่องสุขอนามัย  หลายคนกังวลเรื่องการมาช้อปปิ้งในศูนย์การค้าแล้วต้องเจอกับอากาศปิดในห้องแอร์ การเปิดพื้นที่แบบ Open Air ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งในด้านความปลอดภัยและบรรยากาศที่ผ่อนคลาย

จึงเป็นเหตุผลที่โลตัสนำคอนเซ็ปต์ Open Air Mall มาต่อยอดสำหรับโลตัส สาขาเลียบคลอง 2 ซึ่งเป็นสาขานำร่องในรูปแบบนี้ นอกเหนือจากความแตกต่างด้านการออกแบบ และการจัดสรรพื้นที่แล้ว ยังมีผู้เช่ารายใหม่มาเป็นพันธมิตรและเพิ่มความหลากหลายนอกเหนือจากแบรนด์ยอดนิยม อาทิ Bonchon และ Salad Factory ที่เปิดสาขาแรกในโลตัส

รวมถึงการจัดกิจกรรม Food Truck Market, Artist Market ของคนรุ่นใหม่ สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี เพื่อสร้างสีสันและเติมเต็มประสบการณ์การช้อปปิ้งของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นแพลทฟอร์มแห่งโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ SME ในการเข้าถึงลูกค้าและขยายตลาดผ่านโลตัส


รีเทลสุดสมาร์ท

หลังจากที่เมื่อต้นปี 2564 โลตัสได้มีการรีแบรนด์ครั้งใหญ่จาก Tesco Lotus สู่ Lotus’s เรียกว่าเป็นการก้าวสู่ Retail 4.0 อย่างเต็มตัว ซึ่งตัว s เป็นการสื่อถือ Smart ที่ครอบคุลมทุกด้าน ทั้งอาหาร ช้อปปิ้ง บริการ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันและอนาคต สะท้อนถึงประสบการณ์ช้อปปิ้งที่ทันสมัยยิ่งขึ้นและสดใสกว่าเดิม เพื่อให้ลูกค้า รู้สึกดีดี ทุกวัน ที่โลตัส

โดยเครื่องหมาย ’ ที่ออกแบบแทนเครื่องหมาย Dropped Pin สื่อถึงการเป็นจุดหมายปลายทาง เป็น Food Destination ของผู้บริโภค สะท้อนแนวคิดของแบรนด์โลตัสที่ปรับกลยุทธ์ มุ่งสู่การเป็นห้างรีเทลในแนวคิดสุดสมาร์ท


ไม่ใช่แค่ที่ช้อปปิ้ง แต่ต้องเป็น Smart Community Center

สำหรับโลตัสในโมเดลใหม่นี้ เป็นการตอกย้ำแนวคิด Smart Community Center ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะโลตัสไม่ใช่เป็นแค่แหล่งช้อปปิ้งอีกต่อไป แต่ขอเป็นจุดศูนย์รวมในการใช้ชีวิตในแบบสมาร์ท ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้าในแต่ละพื้นที่ ช้อปปิ้งได้อย่างเพลิดเพลิน เพิ่มเติมจากการเป็น Food Destination

สรุป 11 จุดเด่นของโลตัส สาขาเลียบคลอง 2

  1. โลตัสสาขาแรกที่ถูกออกแบบในสไตล์ Open Air Mall มีพื้นที่ศูนย์การค้าทั้งเอาท์ดอร์ และอินดอร์
  2. ดึงพันธมิตรแบรนด์ดังและได้รับความนิยมจากลูกค้า อาทิ Bonchonและ Salad Factory เปิดตัวสาขาแรกในโลตัส
  3. มี IT Zone รวมร้านค้าชั้นนำ จำหน่ายอุปกรณ์ IT และ Gadget ครบครัน
  4. Food Truck Market เปิดพื้นที่ให้คนตัวเล็กสามารถมาจำหน่ายอาหารนานาชนิด ในรูปแบบ Food Truck โดยสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี
  5. Artist Market เปิดพื้นที่ให้แบรนด์ SME รวมถึงศิลปินท้องถิ่น นำสินค้ามาจัดแสดง และจำหน่ายตลอดทั้งปี
  6. มีพื้นที่ Outdoor โต๊ะและเก้าอี้สำหรับพักผ่อนและรับประทานอาหาร ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
  7. Pet-friendly zone ที่สามารถพาสัตว์เลี้ยงเข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับเจ้าของได้
  8. ไฮเปอร์มาร์เกตขนาด 4,000 ตารางเมตร ที่เสริฟความสดใหม่ และความหลากหลายของสินค้าอุปโภค บริโภคอย่างครบครัน
  9. โลตัส สาขาเลียบคลอง 2 เป็นสาขาใหญ่สาขาแรกที่เปิดในปี 2565
  10. เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิต และความชอบที่หลากหลาย มีร้านที่เปิดบริการตั้งแต่เช้า เช่น Flash coffee และร้านอาหารเปิดให้บริการจนถึงดึก พร้อมด้วยบริการ True 5G
  11. ตอบโจทย์สังคมไร้เงินสด ด้วยบริการรับชำระเงินด้วย e-money wallet และ true money wallet

นอกเหนือจากคอนเซ็ปต์ Open Air Mall แล้ว ต้องเตรียมจับตาดูความเคลื่อนไหวของโลตัสให้ดี เพราเชื่อว่าต้องมีอีกหลายโปรเจ็คต์ที่เรียกเสียงว้าวได้อีกมากมาย โลตัสไม่หยุดยั้งในการพัฒนาศูนย์การค้าในอีกหลากหลายรูปแบบให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และการใช้ชีวิตที่มีความต้องการหลากหลายมากขึ้น ทั้งสำหรับสาขาที่เปิดใหม่และปรับปรุงสาขาเดิม

เพื่อเป้าหมายในการมุ่งสู่การเป็น Smart Community Center รวมถึงบิ๊กโปรเจ็คต์อย่าง “โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์” ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี เชื่อว่าจะสามารถสร้างความตื่นเต้นให้ผู้บริโภคได้มากพอสมควร

]]>
1376383
“โลตัส” บุกโมเดลใหม่ Open Air Mall เพิ่มพื้นที่เช่าเอาท์ดอร์ ประเดิมสาขาเลียบคลอง 2 https://positioningmag.com/1375251 Thu, 24 Feb 2022 14:41:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1375251 ตลาดรีเทลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง “โลตัส” เดินหน้าเปิดตัวสาขาใหม่ภายใต้แนวคิด Smart Community Center จุดศูนย์รวมในการใช้ชีวิตในแบบสมาร์ท จะไม่ได้มีแค่ไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเดียว ล่าสุดเปิดสาขาแรกของปี 2565 ย่านรังสิต คลอง 2 ออกแบบในสไตล์ Open Air Mall มีพื้นที่ร้านค้าเช่าตั้งอยู่นอกอาคารหลัก ดึงร้านอาหารแบรนด์ดังใหม่ๆ เปิดพื้นที่สำหรับ Food Truck

เทรนด์เอาท์ดอร์กำลังมา

เบญจวรรณ อ่องศรี ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายศูนย์การค้าและพื้นที่เช่า โลตัส กล่าวว่า

“เป้าหมายของโลตัส คือการเป็น Smart Community Center ที่เป็นจุดศูนย์รวมสำหรับการใช้ชีวิตในแบบสมาร์ทของลูกค้า นอกเหนือจากการเป็นแหล่งช้อปปิ้งสินค้า ยังต้องเป็นพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมอื่นๆ ของลูกค้าทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นรับประทานอาหาร จับจ่ายใช้สอย ใช้บริการ รวมถึงเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โลตัสจึงต้องปรับศูนย์การค้า และพื้นที่เช่า หนึ่งในเทรนด์ที่มีความสำคัญยิ่งขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ ความใส่ใจในด้านสุขภาพ และความปลอดภัยเมื่อมาช้อปปิ้งหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน พื้นที่แบบ open space ที่มีการถ่ายเทอากาศสะดวก เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งในด้านความปลอดภัยและบรรยากาศที่ผ่อนคลาย”

โมเดลใหม่นี้จึงนำคอนเซ็ปต์ open air mall มาต่อยอดสำหรับโลตัส สาขาเลียบคลอง 2 เป็นสาขานำร่องในรูปแบบนี้ มีความแตกต่างด้านการออกแบบ และการจัดสรรพื้นที่แล้ว ยังมีผู้เช่ารายใหม่มาเป็นพันธมิตร และเพิ่มความหลากหลายนอกเหนือจากแบรนด์ยอดนิยม

อาทิ Bonchon และ Salad Factory ที่เปิดสาขาแรกในโลตัส รวมถึงการจัดกิจกรรม food truck market, artist market ของคนรุ่นใหม่ สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี เพื่อสร้างสีสัน และเติมเต็มประสบการณ์การช้อปปิ้งของลูกค้า

จุดเด่นของโลตัส สาขาเลียบคลอง 2

  1. โลตัสสาขาแรกที่ถูกออกแบบในสไตล์ open air mall มีพื้นที่ศูนย์การค้าทั้ง outdoor และ indoor
  2. ดึงพันธมิตรแบรนด์ดังและได้รับความนิยมจากลูกค้า อาทิ Bonchon และ Salad Factory เปิดตัวสาขาแรกในโลตัส
  3. มี IT Zone รวมร้านค้าชั้นนำ จำหน่ายอุปกรณ์ IT และ gadget ครบครัน
  4. Food truck market เปิดพื้นที่ให้คนตัวเล็กสามารถมาจำหน่ายอาหารนานาชนิด ในรูปแบบ food truck โดยสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี

5. Artist market เปิดพื้นที่ให้แบรนด์ SME รวมถึงศิลปินท้องถิ่น นำสินค้ามาจัดแสดง และจำหน่ายตลอดทั้งปี

6. มีพื้นที่ outdoor โต๊ะและเก้าอี้สำหรับพักผ่อนและรับประทานอาหาร ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย

7. Pet-friendly zone ที่อนุญาตให้สามารถพาสัตว์เลี้ยงเข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับเจ้าของได้

8. ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาด 4,000 ตารางเมตร ที่เสิร์ฟความสดใหม่ และความหลากหลายของสินค้าอุปโภค บริโภคอย่างครบครัน

9. โลตัส สาขาเลียบคลอง 2 เป็นสาขาใหญ่สาขาแรกที่เปิดในปี 2565

10. เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิต และความชอบที่หลากหลาย มีร้านที่เปิดบริการตั้งแต่เช้า เช่น Flash coffee และร้านอาหารเปิดให้บริการจนถึงดึก พร้อมด้วยบริการ True 5G

11. ตอบโจทย์สังคมไร้เงินสด ด้วยบริการรับชำระเงินด้วย e-money wallet และ true money wallet

]]>
1375251
Alibaba รุกหนัก “ค้าปลีกออฟไลน์” ทุ่มเเสนล้าน ถือหุ้นใหญ่ Sun Art เบอร์หนึ่งไฮเปอร์มาร์เก็ตจีน https://positioningmag.com/1302406 Tue, 20 Oct 2020 09:35:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1302406 Alibaba ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ รุกคืบค้าปลีกออฟไลน์ทุ่มเงินกว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.12 แสนล้านบาท) ผงาดขึ้นถือหุ้นใหญ่ใน Sun Art เจ้าของไฮเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ที่สุดในจีน

ตลาดค้าปลีกเเดนมังกรกำลังเฟื่องฟูในปัจจุบัน เเม้จะเจอวิกฤต COVID-19 เเต่ก็กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดย IMF คาดว่าจีนจะเป็นเศรษฐกิจใหญ่ของโลกเพียงแห่งเดียวที่ GDP เป็นบวกได้ในปีนี้ 

ก่อนหน้านี้ Alibaba ถือหุ้นใน Sun Art อยู่ราว 36% เเต่ตอนนี้ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดที่ 72% ตามกลยุทธ์ผสมออนไลน์ออฟไลน์เพื่อรับกระเเสผู้บริโภคเปลี่ยนไป

Daniel Zhang ประธานและซีอีโอของ Alibaba ระบุในเเถลงการณ์ว่า การเเพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยเร่งทำให้ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เเละการดำเนินธุรกิจก็ต้องปรับตัวด้วย โดยมองว่าการร่วมมือกันของฝ่ายออนไลน์อย่าง Alibaba เเละไฮเปอร์มาร์เก็ตออฟไลน์อย่าง Sun Art จะตอบโจทย์ค้าปลีกในยุค New Normal ของลูกค้าได้อย่างดี

เหอหม่า ซูเปอร์มาร์เก็ตที่หลอมรวมออนไลน์และออฟไลน์ของ Alibaba

โดยในช่วงที่ผ่านมา ผู้คนเริ่มหันมาซื้อกลุ่มอาหารสด ของใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ต และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผ่านทางช่องทางอีคอมเมิร์ซกันมากขึ้น จากเดิมที่ต้องเดินทางไปช้อปปิ้งตามร้านค้าปลีก จึงเป็นโอกาสของ Alibaba ที่จะดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ

บริษัทวางเเผนจะพัฒนา SunArt จากไฮเปอร์มาร์เก็ตดั้งเดิม สู่ร้านค้าปลีกที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พร้อมขายหมวดสินค้าอีคอมเมิร์ซให้กว้างขึ้น จะเริ่มจากการเปิดให้บริการเดลิเวอรี่ของชำภายใน 30-60 นาทีหลังจากได้รับคำสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์ม Tmall ของ Alibaba 

นักวิเคราะห์จาก Bloomberg มองว่า การเข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน Sun Art ของ Alibaba ครั้งนี้เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับคู่เเข่งในวงการอีคอมเมิร์ซจีนที่กำลังฟาดฟันกันอย่างดุเดือด ทั้ง JD.com หรือ Meituan ที่มีจุดเด่นด้านการจัดส่งเดลิเวอรี่ รวมไปถึงคู่ปรับตลอดกาลอย่าง Tencent ที่หันมาลงศึกจัดส่งสินค้าสดเช่นกัน

 

ที่มา : AFP , Bloomberg

]]>
1302406
วิเคราะห์ซูเปอร์ดีล ใครมีโอกาสฮุบ “เทสโก้ โลตัส” มากที่สุด https://positioningmag.com/1259317 Sat, 04 Jan 2020 14:57:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1259317 เมื่อพูดถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยในการซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย หากย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อน คงมีหลายรายให้ความสนใจ แม้กระทั่ง “เจ้าสัวธนินท์” ก็เคยออกปากว่าสนใจจะซื้อกลับคืนมา

แต่ในยุคปัจจุบันที่ตลาดออนไลน์เข้ามาดิสรัปต์ร้านค้า ทำให้เทสโก้เองอาจไม่เนื้อหอมเหมือนกับสมัยก่อน และเมื่อดูผลประกอบการทั่วโลก ที่กำลังซื้อฝืด กำไรวูบ การปิดเร็วดิ้นลดต้นทุน ก็ไม่แก้ปัญหา

ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของอังกฤษรายงานผลประกอบการประจำปีสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 1919 ผลการดำเนินการก่อนหักภาษีขาดทุนถึง 6.4 พันล้านปอนด์ หรือ 3.1 แสนล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่กำไรก่อนหักภาษีที่ 2.26 พันล้านปอนด์

และก่อนหน้านั้นบริษัทได้ทยอยขายกิจการในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ ตุรกี ญี่ปุ่น จีน รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา โดยที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงกดดันจากคู่แข่งค้าปลีกในทวีปยุโรป หนี้บริษัทที่มีมหาศาล รวมไปถึงตัวเลขผลประกอบการในปี 2014 ที่ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจในบริษัท เนื่องจากแจ้งกำไรเกินความเป็นจริง

เมื่อวิเคราะห์ว่า CP จะยังสนใจลงทุนหรือไม่? หากเป็นหลายปีก่อนคงจะสนใจ แต่เมื่อดูงบการเงิน ปี 2018 รายได้ Makro : 192,930.09 ล้านบาท Tesco Lotus : 194,165.21 ล้านบาท คงไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายเงินในกิจการที่คาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 272,430 ล้านบาท และยังไม่มีสูตรสำเร็จในการทำกำไรสำหรับโมเดลของเทสโก้ในประเทศไทย และมาเลเซีย ดูแล้วมีโอกาสน้อยที่ CP จะให้ความสนใจ

อย่างไรก็ดี กลุ่ม TCC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ก็อาจต้องคิดหนักหากจะลงทุนเพิ่มในธุรกิจ Hypermarket เพราะในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจของกลุ่ม TCC มีการลงทุนที่ค่อนข้างสูง และยังมี Big C อยู่ในมือ ทั้งนี้เราจะเริ่มเห็นการจัดพอร์ตโฟลิโอของกลุ่ม TCC ไม่ว่าจะเป็นการ Spin-off ธุรกิจออกมา เช่น ธุรกิจเบียร์ หรือการนำธุรกิจเรือธงทยอยเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้นเรื่อยๆ หากกลุ่ม TCC ต้องการที่จะซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัส ก็ต้องมีต้นทุนทางการเงินที่ไม่น้อยจากความ Aggressive ในการซื้อกิจการ

ขณะที่ Central Retail ก็มี Tops อยู่แล้ว การ IPO ของ Central Retail ทำให้เห็นได้ว่าแผนการซื้อเทสโก้ โลตัส ไม่อยู่ในแผนการระดมทุนรอบนี้

สุดท้าย…ไม่ว่าเจ้าไหนจะเข้ามาซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัส อาจต้องเผชิญปัญหาอำนาจเหนือตลาด ทำให้ข่าวการขายกิจการ “อาจผิดเวลา และไม่ง่ายอย่างที่คิด”

Source

]]>
1259317
ตลาดเพื่อนบ้านคึกคัก “บิ๊กซี” ปี 2563 ลงทุน 1,500 ล้าน ระดมเปิดสาขากัมพูชา-ลาว-เวียดนาม https://positioningmag.com/1255880 Wed, 04 Dec 2019 11:00:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1255880
  • บิ๊กซี ชิมลางสาขาแรกในกัมพูชาที่ปอยเปต คาดโตปีละ 5-6% เตรียมขยายต่อพนมเปญ-เสียมเรียบ
  • กัมพูชาเป็นประเทศที่ 3 นอกจากไทยที่เครือทีซีซีขยายอาณาจักรห้างค้าปลีก
  • ปี 2563 บิ๊กซีและเอ็มเอ็ม เมก้ามาร์เก็ต วางงบลงทุนรวม 1,500 ล้านบาท สำหรับขยายสาขาอย่างน้อย 29 สาขาในกัมพูชา ลาว และเวียดนาม
  • ขณะที่ตลาดประเทศไทยมีแผนลงทุนราว 6,000 ล้านบาท แต่เม็ดเงินลงทุนจำนวนนี้ลดลงเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีก่อนที่บิ๊กซีเคยลงทุนปีละกว่า 8,000 ล้านบาท
  • รายได้กลุ่มบีเจซีปี 2562 อาจเติบโตเพียง 5-6% หรือน้อยกว่า หลังพบว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายกำลังซื้อชะลอตัวลงโดยเฉพาะในต่างจังหวัด
  • “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี หนึ่งในอาณาจักรธุรกิจของทีซีซีกรุ๊ป เพิ่งเปิดสาขาใหม่อย่างเป็นทางการที่ตำบลปอยเปต เมืองชายแดนติดกับ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยเปิดเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่อาคารรวม 8,000 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 300 ล้านบาท ถือเป็นสาขาแรกของบิ๊กซีที่ลงทุนในกัมพูชา

    ความสนใจของบิ๊กซีที่ขยายสู่กัมพูชา “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กล่าวว่า เกิดจากบริษัทเล็งเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศที่โตปีละ 7% และคนกัมพูชาในปอยเปตข้ามฝั่งมาซื้อสินค้าในบิ๊กซี อรัญประเทศเป็นประจำ จำนวนประชากรในตำบลปอยเปตและจังหวัดบันเตียเมียนเจยเองก็หนาแน่นพอที่บิ๊กซีจะลงสาขาได้

    บิ๊กซี-กัมพูชา-01
    บิ๊กซีรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตสาขาแรกในกัมพูชาที่ตำบลปอยเปต

    สาขาแรกที่ปอยเปตนี้ บิ๊กซีประมาณการณ์ยอดขายเบื้องต้นวันละ 1 ล้านบาท คาดว่าปี 2563 จะทำยอดขายได้ 365 ล้านบาท และเติบโต 5-6% ต่อเนื่อง 3 ปี

    ด้าน “แกรี่ ฮาร์ดี้” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ สายงานต่างประเทศ บมจ.บิ๊กซีฯ เสริมว่า บริษัทกำลังศึกษาพฤติกรรมลูกค้า เบื้องต้นพบว่าประชากรกัมพูชานั้น “เด็กกว่า” คนไทย โดยอยู่ในวัย 20 กลางๆ ขณะที่ไทยอยู่ในวัย 35-45 ปี ทำให้สินค้าจะปรับมาจำหน่ายกลุ่มขนมและเสื้อผ้าวัยรุ่น และกำลังพิจารณาขยายเวลาปิดทำการอีก 1 ชั่วโมงเป็น 23.00 น. เพราะพฤติกรรมคนกัมพูชามีเวลาช้อปปิ้งช่วงเย็นตั้งแต่หลัง 5 โมง คึกคักมากที่สุดในช่วงค่ำถึงดึก

    บิ๊กซี-กัมพูชา-02

    เศรษฐกิจเพื่อนบ้านคึกคัก “ทีซีซี” เร่งลงทุน

    กัมพูชาเป็นประเทศที่ 3 นอกประเทศไทยที่ เครือทีซีซี ของเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เข้าไปลงทุนห้างค้าปลีก และเป็นประเทศแรกที่ใช้แบรนด์นี้ตั้งแต่ต้น โดยที่ผ่านมา ในลาวจะใช้ กลุ่มบีเจซี รุกตลาด มีการเจวีกับ เอ็มพ้อยท์มาร์ท และเพิ่งเปลี่ยนชื่อสาขาทั้ง 44 สาขาเป็นมินิ บิ๊กซีทั้งหมด ส่วนเวียดนามนั้นเป็นอีกบริษัทในเครือทีซีซีที่เข้าไป ขณะนี้มี 2 แบรนด์คือ เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต 18 สาขา เป็นห้างค้าส่งขนาดใหญ่ และ บีส์ มาร์ท 107 สาขา เป็นร้านสะดวกซื้อ (สิทธิแบรนด์บิ๊กซีในเวียดนามอยู่ในมือเครือเซ็นทรัล)

    อัศวินฉายภาพว่า ประเทศเพื่อนบ้านไทยต่างมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ได้แก่ เวียดนาม จีดีพีโตปีละ 8-10% กัมพูชาโตปีละ 7% และลาวโตปีละ 5-7% ทำให้มีความน่าสนใจในการลงทุน

    บิ๊กซี-กัมพูชา-03
    บรรยากาศในบิ๊กซี ปอยเปต มีร้านค้าแบรนด์ไทยร่วมเปิดในบริเวณพื้นที่เช่า เช่น คาเฟ่ อเมซอน, เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์, ชุดชั้นในวาโก้, ชุดชั้นในซาบีน่า, ร้านเครื่องสำอางนานาบิวตี้มาร์ท

    ด้านแกรี่กล่าวว่า บีเจซีและทีซีซีวางงบปี 2563 ไว้อย่างน้อย 1,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนห้างค้าปลีกใน 3 ประเทศ แบ่งตามประเทศดังนี้

    1. เวียดนาม งบลงทุน 1,000 ล้านบาท สำหรับเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต 3 สาขา และเปิดโมเดลใหม่ เป็นห้างลักษณะฟู้ดเซอร์วิส 5-10 สาขา พื้นที่สาขาละ 2,000-4,000 ตร.ม. ตอบโจทย์ร้านอาหารและโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ฮาลองเบย์ ดานัง
    2. ลาว งบลงทุน 500 ล้านบาท จะเปิดบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 สาขา และมินิ บิ๊กซี 20 สาขา ทั้งหมดในเมืองเวียงจันทน์
    3. กัมพูชา ยังไม่สรุปงบลงทุน เนื่องจากกำลังหาพื้นที่เพื่อลงทุนบิ๊กซีแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตในพนมเปญหรือเสียมเรียบ หากมีการลงทุนจะใช้งบ 200-300 ล้านบาทต่อสาขา

    นอกจากนี้ กลุ่มบีเจซีเพิ่งเปิดสำนักงานใหญ่ใน เมียนมา เพื่อทำธุรกิจเทรดดิ้งสินค้า และจะต่อยอดไปสู่การหาพื้นที่เปิดห้างค้าปลีกเพิ่ม

    ลงทุนในไทยลดลงจาก 2-3 ปีก่อน

    ตัดกลับมาที่ประเทศไทย ปี 2562 นี้บิ๊กซีลงทุนเปิดสาขาเพิ่มแบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 4 สาขา บิ๊กซี ฟู้ดเพลส 1 สาขา มินิ บิ๊กซี 300 สาขา และร้านขายยาเพรียว 5 สาขา

    “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์

    ปี 2563 บิ๊กซีจะลงทุนราว 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนห้างสาขาใหม่ราว 5,500 ล้านบาท และงบไอทีวางระบบแอปพลิเคชั่น-บิ๊กดาต้าของบริษัท 500 ล้านบาท โดยบริษัทจะ เน้นเปิดสาขามินิ บิ๊กซีอีก 300-400 สาขา ซึ่งจะรุกตลาดหัวเมืองใหญ่มากขึ้น รวมถึงมี ไฮเปอร์มาร์เก็ตใหม่อีก 5-7 สาขา อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินลงทุนนี้นับว่าลดลงจากช่วง 2-3 ปีก่อนที่บิ๊กซีเคยลงทุนปีละกว่า 8,000 ล้านบาท

    “การลงทุนก็ลดลงบ้างในไทย” อัศวินกล่าว “แต่เรายังคงเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ตัวเลขที่ลดลงเป็นเพราะเราเน้นเปิดมินิ บิ๊กซีซึ่งสาขาเล็กแบบนี้ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า”

    สำหรับยอดขายบิ๊กซีปี 2562 ค่อนข้าง ‘หืดจับ’ อัศวินมองว่าอาจจะไม่ถึงเป้าเติบโต 5-6% จากรายได้ปีก่อนหน้าอยู่ที่ 1.4-1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังตลาดค่อนข้างฝืดตามสภาวะเศรษฐกิจ

    ครึ่งปีหลังโดยเฉพาะไตรมาส 4 เหนื่อย หลังออกพรรษาแล้วท้าทายมาก เกิดจากกำลังซื้อต่างจังหวัด รายได้ของเขาไม่เป็นไปตามที่คาด ต้องลุ้นช่วงสิ้นปีจะดันให้ได้ตามเป้าหรือไม่

    อัศวินกล่าวปิดท้าย

     

    ]]>
    1255880
    ไฮเปอร์มาร์เก็ตไม่โต! “เทสโก้ โลตัส” ลุยศึกคอนวีเนียนสโตร์ 3 ปีมี Express 2,300 สาขา https://positioningmag.com/1237178 Tue, 02 Jul 2019 11:55:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1237178 ช่วง 5 ปีนี้สมรภูมิการแข่งขันค้าปลีกไทยไซส์ใหญ่ไฮเปอร์มาร์เก็ตออกอาการนิ่ง สวนทางคอนวีเนียน สโตร์ที่เปิดเพิ่มทุกปี แม้มีอยู่ในตลาดแล้วกว่า 20,000 สาขา

    ค้าปลีกทุกรายในตลาดมองว่าประเทศไทยยังเปิด “ร้านสะดวกซื้อ” ได้อีก จากการขยายตัวของประชากรอาศัยในพื้นที่เมืองเมื่อ 25 ปีก่อนอยู่ที่ 30% ปี 2020 สัดส่วนแตะ 50% ทำให้พฤติกรรมการจับจ่ายผู้บริโภคเปลี่ยนไป ต้องการความสะดวก ใกล้บ้าน 24 ชั่วโมง เป็นปัจจัยที่ผู้ค้าปลีกต้องยอมรับและปรับตัวให้ทัน

    สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้าประชากรไทยที่อาศัยในเมืองจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 58% เพิ่มขึ้นจากปี 1994 ที่เทสโก้ โลตัสเข้ามาเปิดสาขาแรกในไทย ขณะนั้นสัดส่วนอยู่ที่ 30% ผู้บริโภคใน “สังคมเมือง” และประชากรไทยที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสัดส่วนกว่า 80% ในวันนี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่าย สินค้า “ราคาถูก” จึงไม่ใช่คำตอบในการเลือกซื้อเพียงอย่างเดียว แต่ต้องตอบโจทย์ความสะดวกและประสบการณ์ช้อปปิ้งที่ดี เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกต้อง “ปรับตัว”

    สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย

    หั่นพื้นที่ไฮเปอร์มาร์เก็ต

    ปัจจุบันเทสโก้ โลตัส มีค้าปลีก 2 ฟอร์แมต รวม 2,100 สาขา คือ ไซส์ใหญ่ ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ต รวม 400 สาขา และไซส์เล็ก คอนวีเนียน สโตร์ 1,600 สาขา ต้องยอมรับว่าไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งอุตสาหกรรมเป็นฟอร์แมตที่ “ไม่เติบโต”

    พฤติกรรมผู้บริโภควันนี้ มีช่องทางเข้าถึงสินค้าหลากหลาย ทั้งสโตร์และออนไลน์ การมาใช้เวลาอยู่ในไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นเวลานาน อาจไม่ตอบโจทย์ ความถี่ในการมาจึงมีแนวโน้มลดลง

       

    เทสโก้ โลตัส จึงปรับทิศทางธุรกิจสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตใหม่ ในสาขาเก่าได้ลดพื้นที่จำหน่ายสินค้าลงราว 2,000 ตร.ม.  เช่น จากเดิมพื้นที่ขาย 6,000 ตร.ม. ก็จะเหลือ 4,000 ตร.ม. โดยยกเลิกขายสินค้าประเภท Non Food เช่น ของเล่น เสื้อผ้าแฟชั่น ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อผ่านช่องทางอื่นๆ ได้

    โดยโฟกัสจำหน่ายสินค้าที่เป็น “จุดแข็ง” ในกลุ่มอาหารสด (Grocery) สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) พื้นที่ขายที่ลดลงปล่อยเป็น “ร้านค้าเช่า” แต่ละทำเลจะมีร้านค้าเช่าแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการแต่ละพื้นที่ หรือบางสาขาดึงโรงภาพยนตร์เข้ามาเปิดให้บริการเพิ่มเติม การปล่อยพื้นที่เช่าจะทำให้มีรายได้ประจำจากค่าเช่าเพิ่มขึ้น

    เทสโก้ อังกฤษ ลงทุนปีละ 5 หมื่นล้าน

    ปีนี้เทสโก้ โลตัส มีแผนเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ต สาขาใหม่ 3 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เมืองรอง โดยสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตที่จะเปิดใหม่หลังจากนี้ จะมีพื้นที่เล็กลง ขนาด 3,000-4,000 ตร.ม. จากเดิมพื้นที่อยู่ที่ 10,000-12,000 ตร.ม.

    เทสโก้ อังกฤษ ยังมีนโยบายลงทุนต่อเนื่อง แต่ละปีใช้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท กระจายการลงทุนไปทั่วโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย ที่มีอัตราการเติบโต 2.6% ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาพรวมเทสโก้ เติบโตเพียง 0.4% ขณะที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตดี

    ลุยศึกคอนวีเนียนสโตร์ 3 ปี เปิด Express 750 สาขา

    นโยบายการขยายธุรกิจค้าปลีกของเทสโก้ โลตัส หลังจากนี้ สมพงษ์ กล่าวว่าจะเน้นไปที่ฟอร์แมต “ร้านสะดวกซื้อ” Tesco Lotus Express เป็นหลัก จากปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศ 1,600 สาขา ภายใน 3 ปีนี้ จะเปิดเพิ่มอีก 750 สาขา หรือเฉลี่ยปีละ 250 สาขา สปีดจะเร็วขึ้นกว่าเดิม 5 เท่าตัว” ที่เปิดปีละ 50 สาขา ดังนั้นภายใน 3 ปีนี้จะมีสาขา Tesco Lotus Express รวม 2,350 สาขา

    แม้ตลาดไทยจะมีร้านสะดวกซื้ออยู่แล้วกว่า 20,000 สาขา แต่หากเทียบกับอัตราการให้บริการต่อสาขากับประชากร ญี่ปุ่นมีร้านสะดวกซื้อมากกว่าไทย 3 เท่าตัว เกาหลีใต้มากกว่าไทย 2 เท่าตัว จึงมองว่าไทยยังมีโอกาสเปิดร้านสะดวกซื้อได้อีกมาก

    ปัจจุบันสาขา Tesco Lotus Express กระจายอยู่ในทำเลชุมชน ตรอกซอย ใกล้ผู้บริโภค เป้าหมายเปิดสาขาอีก 3 ปีข้างหน้าก็ต้องขยับเข้าไปใกล้ผู้บริโภคให้มากขึ้นอีก รวมทั้งทำเลในเมืองริมถนน ก็ต้องขยายด้วย เพราะผู้บริโภคที่อยู่ระหว่างเดินทาง ก็เป็นกลุ่มเป้าหมายเช่นกัน นอกจากพื้นที่ใกล้ที่อยู่อาศัย

    Express เสริมบริการ “ร้านกาแฟ-ไปรษณีย์”

    สำหรับสาขา Tesco Lotus Express ที่มีจำนวน 1,600  สาขา ได้ปรับโฉมใหม่ด้วยคอนเซ็ปต์สินค้า For Now เพิ่มกลุ่มอาหารสดพร้อมรับประทานทันทีเข้ามามากขึ้น พร้อมทั้งให้บริการ “ร้านกาแฟ” Tesco Coffee โดยใช้ผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟจากดอยตุง บริการไปรษณีย์ 24 ชั่วโมง โดยเป็นจุดรับส่งของไปรษณีย์ไทย นอกจากนี้ “แดรี่ ควีน” ได้เข้ามาเข้าพื้นที่ให้บริการอีกด้วย

    ขณะนี้ได้ปรับปรุงร้าน Tesco Lotus Express โฉมใหม่ไปแล้ว 20 สาขา ในช่วง 3 ปีนี้จะทยอยปรับปรุงโฉมใหม่ให้ครบทั้ง 1,600  สาขา

    ในด้านบริการออนไลน์ ได้ให้บริการทั้งแพลตฟอร์มของเทสโก โลตัส และมีช้อปบนมาร์เก็ตเพลส Lazada ปัจจุบันคลอบคลุมสัดส่วนประชากรไทยใช้บริการ 11% ภายใน 3 ปีนี้จะครอบคลุม 100%

    ข่าวเกี่ยวเนื่อง

    ]]>
    1237178