บุคลากร – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 18 May 2023 12:20:15 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ส่องธุรกิจ “พัฒนาคน” ของ “ฟู้ดแพชชั่น” สร้างโอกาสพนักงานได้เรียนต่อ ก้าวหน้าในอาชีพ https://positioningmag.com/1430921 Thu, 18 May 2023 09:37:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1430921 ความจำเป็นของชีวิตทำให้หลายคนไม่ได้ “เรียนต่อ” ต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาทำงานหาเลี้ยงชีพและครอบครัว แต่การมีวุฒิการศึกษาจบเพียงชั้น ม.3 หรือ ม.6 จะกลายเป็นกำแพงกั้นโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน “ฟู้ดแพชชั่น” ซึ่งมีพนักงานร้านอาหารราว 4,000 คนในองค์กร จึงต้องการช่วยแก้ปัญหานี้ ส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนต่อผ่านการตั้งธุรกิจการศึกษา

“ความสุขเริ่มต้นจากพนักงาน” นาฑีรัตน์ บุญรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานทรัพยากรบุคคลและหน่วยธุรกิจพีเพิล คอนเน็ค บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวแนะนำถึงปรัชญาการบริหาร “คน” ในองค์กรนี้ โดยแนวคิดนี้เชื่อว่า หากพนักงานมีความสุข ก็จะบริการลูกค้าได้เป็นอย่างดี ทำให้ลูกค้ามีความสุข และกลับมารับประทานอาหารที่ร้านอีก จนเกิดความยั่งยืนในธุรกิจ

เมื่อต้องการดูแลพนักงานให้ “เก่ง ดี สุข” ฟู้ดแพชชั่นจึงมีนโยบายหลายอย่างในด้านทรัพยากรบุคคล หนึ่งในนั้นคือการ “พัฒนาคน” ซึ่งบริษัทมองเห็นปัญหาได้ชัด เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมร้านอาหารที่ใช้แรงงานมาก เฉพาะร้านในเครือมีพนักงานรวมกันราว 4,000 คน แต่คาดว่าพนักงานธุรกิจร้านอาหารในประเทศนี้น่าจะมีมากกว่า 1 ล้านคน

ปัญหาที่บริษัทพบคือ พนักงานหลายคนเรียนจบเพียงชั้น ม.3 และต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อหางานทำ

ฟู้ดแพชชั่น พัฒนาคน
ศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น

“วิษณุ วงศ์สุมิตร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจากรีเทล จำกัด ผู้ให้บริการร้านกาแฟอินทนิล กล่าวยืนยันในทิศทางเดียวกันว่า พนักงานหลายคนเสียโอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่การงาน เพียงเพราะไม่ได้เรียนต่อ

“ต้องยอมรับว่าวุฒิการศึกษาเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ต้องมีเพื่อจะเติบโตขึ้นไป เพราะการเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์หรือผู้จัดการต้องบริหารเงินและบริหารคน” วิษณุกล่าว “นั่นทำให้ร้านของเราต้องเจอกับสถานการณ์ที่น้องจบ ม.3 ทำงานกับเรามานาน ชงกาแฟไปเป็นหมื่นแก้วแล้วแต่ตำแหน่งตัน ขณะที่น้องจบปริญญาตรี มาชงกาแฟ 500 แก้วก็ได้ขึ้นเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์ สุดท้ายเราต้องเสียน้อง ม.3 ไปทำงานที่อื่นเพราะเราผลักดันเขาให้เติบโตไม่ได้

บางจากรีเทลจึงกลายเป็นพาร์ทเนอร์องค์กรรายแรกที่สนใจร่วมส่งพนักงานเข้าโครงการยกระดับวุฒิการศึกษากับฟู้ดแพชชั่น

 

ศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น การเรียนต้องไม่จบแค่ ม.3

นาฑีรัตน์กล่าวต่อว่า ปัญหาที่บริษัทเล็งเห็น ทำให้เมื่อปี 2560 บริษัทก่อตั้ง “ศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น” ขึ้น โดยมีตั้งแต่หลักสูตรชั้น ม.6 , ชั้น ปวช. , ชั้น ปวส. และสูงสุดคือชั้นปริญญาตรี ทั้งหมดเป็นการเรียนในระบบทวิภาคี

หลักสูตรเหล่านี้ ฟู้ดแพชชั่นออกแบบให้เหมาะกับปัจจัยชีวิตของ “คนทำงาน” คือ สามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยได้ ผ่านการใช้ประสบการณ์ทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองหน่วยการเรียน และการจัดการเรียนการสอนจะผสมผสานทั้งออนไซต์และออนไลน์ ทำให้คนทำงานสะดวกมากขึ้น

ฟู้ดแพชชั่น พัฒนาคน
บรรยากาศการเรียนการสอนในศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น

ในแง่ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนก็จะเน้นให้พนักงานมีภาระน้อยที่สุด แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ

  • อายุไม่เกิน 18 ปี สามารถสมัครรับทุนโครงการ “ทุนสานฝัน” เรียนฟรี ที่พักฟรี แลกเปลี่ยนกับการทำงานในร้านอาหารเครือฟู้ดแพชชั่นในระหว่างเรียน (มีค่าจ้างให้ตามปกติ) โดยไม่ต้องชดใช้ทุนคืนในภายหลัง สำหรับปี 2566 นี้มีโควตามอบทุนสูงสุดไม่เกิน 450 ราย
  • อายุมากกว่า 18 ปี มีค่าธรรมเนียมการเรียน แต่จะคิดค่าใช้จ่ายต่ำสุดที่บริษัทสามารถทำได้ และไม่มีการจำกัดเพดานอายุสูงสุดในการสมัครเข้าเรียน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสกลับสู่ระบบการศึกษา

นาฑีรัตน์กล่าวว่า เหตุที่บริษัทไม่บังคับให้ใช้ทุนคืนเพราะมองว่า บริษัทเองได้ประโยชน์คืนมาแล้วตั้งแต่ที่น้องๆ มาทำงานให้บริษัทในระหว่างเรียน ผลลัพธ์สูงสุดที่บริษัทต้องการไม่ใช่ทุนคืนเป็นตัวเงิน แต่ต้องการให้คนจำนวนมากขึ้นได้ยกระดับตนเอง

นอกจากพนักงานภายในที่มีแต่เดิม บริษัทยังติดต่อโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อขอรับนักเรียนเข้าเรียนผ่านโครงการทุนสานฝันด้วย เช่น โรงเรียนธารทองวิทยา (ป่ารวก) จ.เชียงราย มีการส่งนักเรียนเข้ามาเรียนกับโครงการที่กรุงเทพฯ แล้ว 4 รุ่น ทำให้นักเรียนหลายคนที่มีความฝันต้องการเรียนต่อแต่ขาดกำลังทรัพย์ ไม่ต้องออกจากระบบการศึกษาเมื่อจบ ม.3

(จากซ้าย) นาฑีรัตน์ บุญรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานทรัพยากรบุคคลและหน่วยธุรกิจพีเพิล คอนเน็ค บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด, วิษณุ วงศ์สุมิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจากรีเทล จำกัด และ กวงจักร จันต๊ะคาด ผู้อำนวยการโรงเรียนธารทองวิทยา (ป่ารวก)

หลังจากช่วงปีแรกๆ ฟู้ดแพชชั่นรับสมัครเฉพาะพนักงานในเครือเพื่อทดลองหลักสูตร ในปี 2566 นี้จะเป็นปีที่บริษัทเริ่มเปิดกว้างหลักสูตรสู่คนภายนอกองค์กร โดยปีการศึกษาภาคเรียนที่ 1/2566 มีนักเรียนในโครงการแล้วกว่า 500 คน แบ่งเป็นคนในองค์กรฟู้ดแพชชั่น 450 คน และภายนอกองค์กร 50 คน ส่วนหนึ่งคือพนักงาน “บางจากรีเทล” ที่มีแนวคิดตรงกันในการพัฒนาบุคลากรนั่นเอง

ทางฟู้ดแพชชั่นวางเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 จะขยายจำนวนนักเรียนโครงการนี้เพิ่มเป็น 800 คนต่อปี และหวังเพิ่มสัดส่วนบุคคลภายนอกขึ้นเป็น 300 คนในจำนวนนี้

 

ศูนย์อบรมฟู้ดแพชชั่น พัฒนาร้านอาหาร

อีกหนึ่งโครงการที่เกิดภายใต้ธุรกิจพีเพิลคอนเน็ค คือ “ศูนย์อบรมฟู้ดแพชชั่น” เป็นหลักสูตรอบรมผู้สัมผัสอาหารและผู้ประกอบกิจการ เริ่มต้นในปี 2564 จุดประสงค์เพื่อให้พนักงานฟู้ดแพชชั่นเองและในอุตสาหกรรมอาหาร ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายของกรมอนามัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มร้านอาหาร/เครื่องดื่ม โรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน โรงงาน ศูนย์อาหาร

บรรยากาศการเรียนในศูนย์อบรมฟู้ดแพชชั่น

ปัจจุบันมีผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้สะสม 25,000 คนจาก 400 บริษัท และฟู้ดแพชชั่นวางเป้าจะจัดอบรมสะสมแตะ 50,000 คนได้ภายในปี 2568

นาฑีรัตน์สรุปการทำงานในธุรกิจการศึกษาเหล่านี้ว่า เป้าหมายสูงสุดไม่ใช่การทำกำไรสูงสุดเหมือนธุรกิจแบบอื่น แต่ต้องการให้มีกำไรแค่เพียงเพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

กำไรสูงสุดที่บริษัทจะได้รับคือการมี “Employer’s Branding” เป็นนายจ้างที่ใครๆ ก็อยากร่วมงานด้วยมากกว่า รวมถึงการพัฒนาคนขององค์กรให้มีทักษะสูง ทักษะหลากหลาย ซึ่งทำให้บริษัทได้เปรียบในตลาด ลดการลาออกหรือย้ายงานได้ดีขึ้น

]]>
1430921
“ลาพักร้อนได้ไม่จำกัด” นโยบายที่หลายบริษัทยักษ์สหรัฐฯ นำมาใช้ “ข้อดี-ข้อเสีย” คืออะไร? https://positioningmag.com/1415509 Mon, 16 Jan 2023 05:43:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1415509 Microsoft เป็นบริษัทล่าสุดที่ปรับนโยบายให้พนักงาน “ลาพักร้อนได้ไม่จำกัด” หลังจากหลายบริษัทใหญ่ของสหรัฐฯ วางนโยบายนี้ไปแล้ว เช่น Adobe, Netflix, Salesforce ฯลฯ ไปดูกันว่าทำไมบริษัทถึงยอมสร้างนโยบายเช่นนี้ ข้อดี-ข้อเสีย คืออะไรบ้าง?

วันนี้ (16 มกราคม 2023) เป็นวันแรกที่ Microsoft เฉพาะในสหรัฐฯ เริ่มใช้นโยบาย “ลาพักร้อนได้ไม่จำกัด” โดยเป็นวันลาที่จ่ายเงินเดือนให้ด้วย (PTO: Paid Time-Off) จากปกติพนักงานประจำของบริษัทจะได้โควตาวันลาพักร้อนต่างกัน พนักงานที่เพิ่งเข้าใหม่ ถ้าอยากลายาวๆ ก็มักจะต้องสะสมวันลา แต่นโยบายนี้อนุญาตให้พนักงานใหม่ใช้ได้ทันทีด้วย เรียกว่าเข้ามาปีแรกก็ลายาวได้เลยถ้าอยากทำ

ทั้งนี้ วันหยุดและวันลาด้วยเหตุอื่นๆ ก็ยังมีโควตาให้ตามปกติ เช่น วันหยุดตามเทศกาล, ลากิจ, ลาป่วย, ลาเพื่อทำหน้าที่คณะลูกขุน ฯลฯ การลาหยุดของพนักงานจึงยืดหยุ่นมากนับแต่นี้ไป

Microsoft ไม่ใช่บริษัทแรกที่ใช้นโยบายนี้ ก่อนหน้านี้มีสารพัดบริษัทใหญ่ที่เริ่มใช้ไปก่อนแล้ว เช่น Adobe, LinkedIn, Netflix, Oracle, Salesforce เป็นต้น

Smile Freedom and happiness woman on beach. She is enjoying serene ocean nature during travel holidays vacation outdoors. asian beauty

ข้อดี-ข้อเสียของนโยบาย “ลาพักร้อนได้ไม่จำกัด”

ทำไมนโยบาย “ลาพักร้อนได้ไม่จำกัด” จึงถูกนำมาใช้ในกลุ่มบริษัทใหญ่เหล่านี้ ทั้งที่ฟังดูน่าจะเป็นผลเสียกับบริษัทมากกว่าผลดี

เหตุผลนั้นมาจากความต้องการดึงดูด “ทาเลนต์” ให้มาทำงานกับบริษัท และอินไซต์ของทาเลนต์หรือพนักงานยุคนี้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อ “Work-Life Balance” (สมดุลชีวิตกับการทำงาน) ในสหรัฐฯ มีการศึกษาของ BrightPlan พบว่า 78% ของพนักงานต้องการมี Work-Life Balance

ดังนั้น การมีนโยบายลาพักร้อนได้ไม่จำกัด จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความยืดหยุ่นในการจัดการตนเองได้ว่า เมื่อไหร่ที่อยากทำงาน และเมื่อไหร่ที่อยากลาหยุดไปพักสมองบ้าง

อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่เป็นความเสี่ยง จากการรวบรวมโดย LinkedIn แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมในแวดวงทำงาน ข้อดีข้อเสียของนโยบาย “ลาพักร้อนได้ไม่จำกัด” ได้แก่

ข้อดี

1.สร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน

การออกนโยบายนี้ทำให้พนักงานรู้สึกว่า บริษัท “ไว้ใจ” ในการตัดสินใจของพนักงานเอง และยังให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานทั้งกายและใจ พนักงานสามารถลาหยุดเพื่อพักใจหรือจัดการธุระฉุกเฉินในครอบครัวได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องใช้โควตาวันลาพักร้อน ความไว้ใจ ยืดหยุ่น เคารพต่อความเป็นอยู่พนักงานของบริษัท จะทำให้บรรยากาศในการทำงานอบอุ่นกว่า

2.ใช้เป็นสวัสดิการที่ ‘ดีกว่า’ เพื่อดึงดูดทาเลนต์

ปัจจุบันพนักงานไม่ได้มองแค่ฐานเงินเดือนในการสมัครงานหรือตัดสินใจที่จะอยู่ต่อกับบริษัท สวัสดิการต่างๆ ที่บริษัทให้ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ดังที่กล่าวไปว่า 78% ของพนักงานอเมริกันต้องการความยืดหยุ่นในชีวิต ดังนั้น บริษัทที่มีสิทธิลาพักร้อนได้ไม่จำกัดก็จะกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของพนักงานที่มีความสามารถ

3.ช่วยสร้างประสิทธิภาพการทำงาน

เนื่องจากการพักผ่อนเป็นเรื่องที่ดีต่อตัวพนักงาน เมื่อใดก็ตามที่พนักงานไม่ได้ลาพักร้อน การทำงานหนักติดต่อกันไม่ได้หยุดจะส่งผลต่อวงจรอื่นในชีวิต เช่น ชีวิตครอบครัว สุขภาพจิต และวนกลับมาเป็นชีวิตการงานที่เหนื่อยล้า ขาดแรงบันดาลใจ แถมยังส่งต่อความรู้สึกทดท้อแบบนี้ไปให้คนอื่นในทีมอีก แต่เมื่อมีวันลาพักร้อนได้ไม่จำกัด ทำให้พนักงานได้พักและกลับมาทำงานอย่างมีพลัง สร้างประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น

Photo : Shutterstock
ข้อเสีย

1.พนักงานอาจหาประโยชน์จากนโยบายนี้จนเกินควร

พนักงานส่วนใหญ่มักจะมีความเกรงใจและลาพักร้อนแต่พอดี แต่ทุกที่อาจได้เจอพนักงานที่จ้องหาผลประโยชน์โดยการลาไม่จำกัดจริงๆ ซึ่งทำให้การทำงานในทีมติดขัด ลดประสิทธิภาพงาน และทำให้กำลังใจของทีมทั้งหมดลดลง หากบริษัทใดที่พบว่ามีพนักงานลามากเกินสมควร อาจจะต้องพิจารณาเปลี่ยนนโยบายเพราะนโยบายนี้อาจไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรของคุณ

2.พนักงานอาจเลือกลาในช่วงที่บริษัทต้องการตัวมากที่สุด

คล้ายกับข้อแรกคือ พนักงานบางรายอาจไม่เกรงใจทีมโดยการลาพักร้อนในช่วงที่รู้ว่าบริษัทจะยุ่งมากที่สุด หรือเลือกลาในช่วงเดดไลน์ของโปรเจ็กต์ที่กำลังทำกันอยู่ หากบริษัทพบปัญหาแบบนี้ อาจจะต้องมีกฎเพิ่มเติมในการลาว่าบริษัทสามารถขอให้เลื่อนการลาพักร้อนออกไปหลังจากช่วงที่สำคัญของบริษัท

3.การให้วันลาพักร้อนเพิ่มเป็นรางวัล…จะทำไม่ได้อีกแล้ว

ก่อนนี้หลายบริษัทอาจจะใช้จำนวนวันลาพักร้อนต่อปีเป็นสวัสดิการสำคัญ ใช้ต่อรองแพ็กเกจเพื่อดึงคนเข้าทำงาน ใช้เป็นรางวัลสำหรับการทำงานที่ดีหรือการเลื่อนตำแหน่ง แต่เมื่อทุกคนจะลาเท่าไหร่ก็ได้ทั้งบริษัท สิ่งนี้ก็จะไม่ใช่รางวัลอีกแล้ว บริษัทจะต้องหาสิ่งจูงใจอื่นๆ แทน

โดยสรุปแล้ว นโยบาย “ลาพักร้อนได้ไม่จำกัด” มีทั้งข้อดีข้อเสียซึ่งบริษัทต้องบริหารจัดการ แต่ดูจากจำนวนบริษัทใหญ่ที่หันมาใช้นโยบายนี้มากขึ้นเรื่อยๆ การวางสวัสดิการข้อนี้น่าจะได้ผลจริงในการดึงทาเลนต์ไว้กับตัว

 

Source: The Verge, LinkedIn

]]>
1415509
50% ของพนักงาน ลาออกเพราะ “หัวหน้าแย่” พบกับ 10 นิสัยหัวหน้างานที่ลูกน้องเกลียดที่สุด https://positioningmag.com/1414323 Tue, 03 Jan 2023 05:57:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1414323 คำกล่าวยอดฮิตที่คนมักจะพูดกันคือ “พนักงานลาออกจากหัวหน้า ไม่ใช่ลาออกจากบริษัท” เพราะหลายคนที่ลาออกมักจะเกิดจากสถานการณ์ความสัมพันธ์ของตนกับหัวหน้า แม้ว่าเรื่องอื่นๆ เช่น เนื้องาน เพื่อนร่วมงาน จะดีก็ตาม แต่หัวหน้าแย่ๆ กลับทำให้พนักงานอยากให้เวลาเลิกงานมาถึงเร็วๆ

งานวิจัยของ Gallup จัดสำรวจวัยทำงานในสหรัฐฯ 7,000 คน และพบว่า 50% ของพนักงานที่เคยลาออก ออกเพราะต้องการจะหนีจากหัวหน้า

ในงานวิจัยเดียวกันนี้ยังพบด้วยว่า พนักงานส่วนใหญ่มองว่าหัวหน้าที่เคยเจอมามักจะมีปัญหาเรื่องการพัฒนาความสามารถของลูกน้อง ไม่สามารถให้ feedback การทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ และไม่สามารถตั้งเป้าหมายการทำงานให้ลูกน้องได้ชัดเจนพอ

นอกจากการพัฒนาทักษะให้ลูกน้องแล้ว พนักงานมักจะพบเจอหัวหน้าประเภท ‘toxic’ ด้วย และที่จริงหัวหน้าที่มีนิสัยเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อมการทำงาน มักจะเป็นตัวแปรที่ส่งให้ลูกน้องวิ่งไปเปิดเว็บไซต์หางานใหม่กันทันที

แล้วหัวหน้าที่มีพฤติกรรมแบบไหนที่ทำให้ลูกน้องหางานใหม่ทันที? จากการสำรวจของ Signs.com พบว่า 10 พฤติกรรมของหัวหน้าที่ลูกน้องเกลียดที่สุด มีดังนี้

  • ลำเอียง/มี ‘ลูกรัก’ ในที่ทำงาน
  • ลักลอบนำเงินบริษัทไปใช้ส่วนตัว
  • นำผลงานคนอื่นไปใช้เอาหน้า
  • หาเรื่องเพื่อจะไล่ลูกน้องออก
  • ประจานผลงานที่ไม่ดีให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นทราบ
  • ใช้ตำแหน่งเพื่อหาความสัมพันธ์เชิงชู้สาว
  • ใช้ยาเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์ในที่ทำงาน
  • จัดการบริหารเวลาได้แย่
  • สุขอนามัยไม่ดี
  • เฉื่อยชา

ทั้งนี้ เพศชายกับเพศหญิงมองพฤติกรรม “หัวหน้าแย่” ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว การจัดลำดับหัวหน้าที่แย่ที่สุดมีความแตกต่างระหว่างเพศ เช่น หัวหน้าที่แย่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในมุมมองของเพศชาย คือ “หาเรื่องเพื่อจะไล่ลูกน้องออก” ในขณะที่อันดับ 2 ในมุมมองเพศหญิงกลับเป็นเรื่อง “ลักลอบนำเงินบริษัทไปใช้ส่วนตัว”

แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ “ลำเอียง/มี ‘ลูกรัก’ ในที่ทำงาน” เป็นรูปแบบหัวหน้าที่ลูกน้องเกลียดที่สุดในทั้งสองเพศ นี่คือหัวหน้าที่ ‘toxic’ มากที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นเพราะการมีลูกรักทำให้พนักงานคนอื่นรู้ตัวว่า ไม่ว่าจะทำดีเท่าไหร่ก็ไม่ได้เป็นคนแรกที่ได้เลื่อนขั้น และทำให้บรรยากาศโดยรวมกลายเป็นที่ทำงานของการ ‘เอาใจนาย’ มากกว่าได้ทำงานกันจริงๆ

Source

 

อ่านเรื่องอื่นๆ ต่อ

]]>
1414323
แรงงานไทย Gen Y-Gen Z เกินครึ่ง ‘ใช้ชีวิตเดือนชนเดือน’ อยากสลับทำงานจากบ้านเพื่อประหยัด https://positioningmag.com/1412134 Tue, 13 Dec 2022 08:41:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1412134 ปัญหา ‘ค่าครองชีพ’ คือเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งในใจ Gen Y และ Gen Z จากการศึกษาของ ‘ดีลอยท์ ประเทศไทย’ พบว่า เกือบครึ่งของคนรุ่นใหม่สองเจนเนอเรชันนี้ ‘ใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน’ ทำให้มากกว่าครึ่งมีการทำอาชีพเสริม และสนใจทำงานแบบที่มีวันทำงานจากบ้านบ้างเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อให้นายจ้างดูแลบุคลากรได้ถูกจุด

จากรายงาน The Deloitte Global 2022 Gen Z and Millennial Survey: Striving of Balance, Advocating for Change ซึ่งได้ทำการสำรวจบุคลากรใน Generation Y (Millennials) จำนวน 8,412 คน และ Generation Z อีก 14,808 คน ในจำนวนนี้รวมคนไทยรุ่นใหม่ 300 คน

(*Gen Y ที่สอบถามเกิดระหว่างเดือนมกราคม 1983 – ธันวาคม 1994 และ Gen Z ที่สอบถามเกิดระหว่าง มกราคม 1995 – ธันวาคม 2003)

การสำรวจนี้มีการวัดมุมมองเกี่ยวกับการทำงานและมุมมองต่อโลกในมิติต่างๆ โดยได้ข้อค้นพบ 4 ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

 

ประเด็นแรก คนรุ่นใหม่ต้องดิ้นรนกับค่าครองชีพและวิตกกังวลเรื่องการเงิน

เมื่อถามถึงความกังวลของคนรุ่นใหม่ต่อชีวิต พบว่าคนไทยมีความเป็นห่วงดังนี้

  • คนไทย Gen Y ร้อยละ 36 เห็นว่าประเด็น ค่าครองชีพ ได้แก่ ค่าที่อยู่ ค่าเดินทาง ฯลฯ คือสิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุด
  • คนไทย Gen Z ร้อยละ 33 ห่วงว่าตนเองจะไม่มีงานทำ
  • 3 ใน 4 ของกลุ่ม Gen Y (ร้อยละ 77) และ กลุ่ม Gen Z (ร้อยละ 72) เห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างขึ้นเรื่อยๆ
  • เกินครึ่งของคนไทยในกลุ่ม Gen Y (ร้อยละ 67) และ Gen Z (ร้อยละ 68) มีการ ‘ใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน’ กังวลว่าจะไม่มีเงินไปจ่ายบิลต่างๆ
  • ใน Gen Y ร้อยละ 43 และ Gen Z ร้อยละ 51 ไม่มั่นใจว่าจะเกษียณอายุได้อย่างสะดวกสบาย
  • ร้อยละ 63 ของคนไทย Gen Y และ ร้อยละ 67 ของกลุ่ม Gen Z มีรายได้มากกว่าช่องทางเดียว โดย 3 อันดับของงานเสริมที่นิยมมากที่สุดของคนไทย ได้แก่ การขายของออนไลน์ การเป็นศิลปิน และ การทำงานองค์กรไม่แสวงหากำไร
ภาพจาก Shutterstock

เทียบกับค่าเฉลี่ยโลก: ความกังวลด้านค่าครองชีพของคนรุ่นใหม่ไทยนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับโลก แต่คนที่มีการใช้ชีวิตเดือนชนเดือนนั้นมีสัดส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกในสถานการณ์เดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการหาอาชีพเสริมทำด้วย ส่วนมุมมองการเกษียณนั้นคนไทยจะมองบวกมากกว่าทั่วโลก

 

ประเด็นที่สอง The Great Resignation และโอกาสวิธีการทำงานใหม่ ๆ

แม้ว่าความภักดีต่องานเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในปีก่อนเล็กน้อย แต่ผลจาก The Great Resignation ยังคงคุกรุ่นโดยเฉพาะกับกลุ่ม Gen Z

  • คนไทย Gen Y ร้อยละ 13 วางแผนจะลาออกภายใน 2 ปี ขณะที่ Gen Z มีถึงร้อยละ 39 ที่จะลาออก
  • โดยรวมแล้วทั้งสองเจนมีถึง 2 ใน 3 ที่อาจจะลาออกจากงานโดยไม่มีงานอื่นรองรับ สะท้อนถึงความไม่พอใจต่องาน
คนรุ่นใหม่อยากสลับมีวันทำงานจากบ้านด้วย เพื่อประหยัดเงินและเวลา

ภาคธุรกิจจะทำอย่างไรเพื่อดึงคนรุ่นใหม่ให้อยู่ต่อ ลดอัตราการาออก ต้องทำความเข้าใจวิธีคิดและการให้ความสำคัญของคนรุ่นใหม่ ดังนี้

  • 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ดึงคนรุ่นใหม่ไว้กับองค์กรมากที่สุดก็คือ ค่าตอบแทน แต่ยังมีเหตุผลอื่นด้วยที่สำคัญ คือ ความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตที่ดี และ โอกาสการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง
  • ร้อยละ 64 ของคนไทยในกลุ่ม Gen Y และ ร้อยละ 71 ของ Gen Z อยากทำงานแบบแบบที่จะได้มาเจอหน้าเพื่อนร่วมงานบ้าง แต่ให้มีวันที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ ประหยัดเงิน และ มีเวลาเหลือ

 

ประเด็นที่สาม ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม

แนวคิดของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ร้อยละ 75 ใส่ใจกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม และร้อยละ 88 เชื่อว่าโลกอยู่ในจุดเปราะบางที่อาจไม่คืนสู่สภาพเดิมหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

ด้วยแนวคิดนี้ทำให้คนรุ่นใหม่พยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร้อยละ 94 คนไทยทั้ง Gen Y และ Gen Z จะยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่มีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

Photo : Shutterstock

ในแง่ของการทำงาน มีเพียงร้อยละ 16 ของ Gen Y และร้อยละ 18 ของ Gen Z ที่เชื่อว่านายจ้างของตนมีความมุ่งมั่นในการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่นายจ้างควรให้ความสำคัญ เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการทำงานกับบริษัทที่ให้คุณค่าในแบบเดียวกับตน

 

ประเด็นสุดท้าย สุขภาพจิตในที่ทำงานจะเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ

เรื่องสุขภาพจิตและความเครียดเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นกับการทำงาน เพราะทำให้เกิดภาวะ “หมดไฟ” ขึ้นในหมู่พนักงาน โดยสองเจนคนรุ่นใหม่มีความเครียดสูง

  • คนไทย Gen Y ร้อยละ 42 และคนไทย Gen Z ร้อยละ 60 ระบุว่าตนเองเครียดและวิตกกังวลมากขึ้น (เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกแล้ว คนไทยเครียดมากกว่า)
  • ปัจจัยหลักที่ทำให้เครียดคือด้าน “การเงิน” โดยร้อยละ 67 ของคนไทยตอบเหตุผลของความเครียดว่าเป็นเรื่องนี้
  • ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด “หมดไฟ” ในที่ทำงาน มากกว่าครึ่งระบุว่ามาจาก “การทำงานหนัก” และสภาพแวดล้อมกดดันในที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่ลาออก
  • อย่างไรก็ตาม มากกว่าครึ่งของคนรุ่นใหม่มองว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 นายจ้างหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานมากขึ้นแล้ว

ข้อสรุปจาก “ดีลอยท์” มองว่าการเข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่ไทย จะทำให้นายจ้างสามารถปรับกลยุทธ์การบริหารบุคลากรได้ดีขึ้น และทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืนในอนาคต

ข้อมูลโดย

]]>
1412134
“อิมแพ็ค” ปรับกลยุทธ์ “Employer Branding” แก้ปัญหาธุรกิจ MICE ขาดบุคลากรรุ่นใหม่ https://positioningmag.com/1409811 Thu, 24 Nov 2022 08:28:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1409811 อุตสาหกรรม MICE กลายเป็นธุรกิจที่กำลัง “ขาดแคลน” บุคลากรคนรุ่นใหม่ เพราะไม่ใช่สายอาชีพที่น้องๆ สนใจสูงอีกต่อไป ทำให้ “อิมแพ็ค” พี่ใหญ่วงการของเมืองไทยต้องเร่งปรับกลยุทธ์ด้าน “Employer Branding” เพื่อสร้างความนิยมในฐานะ “นายจ้าง” ที่ดี ดึงคนรุ่นใหม่มาร่วมงาน พร้อมจัดโครงการ “กล้า MICE” ต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 4 เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้รู้จักสายงานนี้มากขึ้น

“อิมแพ็คเราทำงานร่วมกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในสาขา MICE อยู่ตลอด อาจารย์จะบอกกับเราทุกปีว่า มีเด็กมาสมัครเรียนสาขานี้น้อยลงๆ ทุกปีนะ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป อีกหน่อยแรงงานจะหายไปจากตลาด” ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในตลาดงานที่ทำให้บริษัทต้องวางกลยุทธ์เพื่อ ‘ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สนใจงาน MICE และสนใจทำงานกับอิมแพ็ค’

เหตุที่คนรุ่นใหม่ไม่เข้ามาในวงการนั้นมีหลายเหตุผล บ้างไม่รู้จักว่า MICE คืออะไรและทำงานอะไร บ้างได้ยินเสียงเล่าปากต่อปากว่าการจัดการประชุมและแสดงสินค้านั้นเป็นงานที่ ‘หนักมาก’ ในขณะที่ทางเลือกของคนเจนใหม่มีมากขึ้น มีอาชีพที่เป็นที่นิยมสูงเข้ามาแทนอย่างงานสายเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงแนวคิดของคนรุ่นใหม่ไม่ชอบการทำงานประจำที่เข้าออกเป็นเวลา แต่ชอบงานอิสระ หรือเป็นเจ้าของกิจการเองมากกว่า

นั่นทำให้อิมแพ็คเริ่มแก้เกมการดึงบุคลากรเข้าสู่องค์กร โดยจะต้องทำทั้งสองด้าน คือ การปรับองค์กรให้เป็นที่ดึงดูดใจในฐานะนายจ้าง (Employer Branding) และ การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ทำความรู้จักกับอาชีพในสายงาน MICE ผ่านโครงการกล้า MICE

 

3 ด้านปรับ Employer Branding ใหม่ของ “อิมแพ็ค”

ปัจจุบัน “บางกอกแลนด์” บริษัทแม่ของอิมแพ็ค มีพนักงานทั้งหมดกว่า 2,000 คน (รวมทั้ง 6 บริษัทย่อยในเครือ) โดยทมิตาคะเนคร่าวๆ มีคนเจนเอ็กซ์จนถึงบูมเมอร์ราวครึ่งหนึ่งขององค์กร ขณะที่คนเจนวายอยู่ในองค์กรราว 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนคนเจนซีซึ่งมักจะเป็นกลุ่ม first jobber นั้นยังน้อยมาก ไม่เกิน 10%

ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด

กลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยน Employer Branding ครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อจะทำให้คนเจนวายจนถึงเจนซีสนใจร่วมงานกับองค์กรมากขึ้น โดยเราสรุปจากการพูดคุยกับทมิตาว่า อิมแพ็คได้เปลี่ยนอะไรไปแล้วบ้างรวม 3 ข้อ ดังนี้

1.การทำงานที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่

แนวนโยบายใหม่ของอิมแพ็คจะมีการส่งเสริม mindset ในระดับบริหาร ให้เปิดการรับฟังและโอกาสในการทำงานแก่คนเจนใหม่ มอบหมายให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้รับผิดชอบงานและเสนอไอเดียการทำงานมากขึ้น

โดยก่อนหน้านี้บริษัทมีการเปิด “โครงการประกวดนวัตกรรม R2i” (From Routine to Innovation) จัดขึ้นต่อเนื่องมาแล้ว 4 ปี โครงการนี้เป็นทั้งเวทีที่เปิดให้ทุกคนได้แสดงความสามารถ และกระตุ้นให้พนักงานคิดนอกกรอบ สร้างนวัตกรรม เพื่อทำให้งานมีคุณภาพดีขึ้น รวดเร็วขึ้น ซึ่งโครงการที่ได้รับรางวัลจะมีการนำมาใช้ในบริษัท เช่น นวัตกรรมเครื่องปูพรมพื้นฮอลล์จัดแสดงสินค้า เพื่อให้การปูและเก็บพรมรวดเร็ว สวยงาม เป็นฝีมือการออกแบบจากพนักงานหน้างานตัวจริง

อิมแพ็ค
โครงการประกวดนวัตกรรม R2i
2.ปรับการจ้างงานมาเป็น project-based มากขึ้น

จากแนวคิดคนรุ่นใหม่ไม่ชอบการทำงานเป็นเวลาตอกบัตรเข้าออก และไม่ชอบการทำงานประจำที่ใดที่หนึ่ง แต่ชอบการควบคุมการรับงานและปริมาณงานได้เอง ทำให้อิมแพ็คเริ่มทดลองการจ้างงานแบบ project-based และพนักงานระบบชั่วคราว (gig workers) โดยเริ่มจากแผนกทรัพยากรบุคคล (HR) ก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างในองค์กรว่างานบางรูปแบบสามารถยืดหยุ่นได้ในการจ้างงาน

3.การสร้างที่ทำงานที่เป็น ‘Happy Workplace’

อิมแพ็คประกาศนโยบาย LGBTQ-Friendly รับพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศ และให้ความเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกในการทำงาน

“น้องหลายคนที่จะสมัครงาน คำถามแรกๆ ที่ถามกันมากคือ ‘หนูเป็นสาวประเภทสอง สมัครได้ไหมคะ’ เพราะหลายแห่งเขาไม่รับ แต่ที่นี่เราเปิดกว้าง และเราให้แต่งกายได้ตามที่ต้องการ” ทมิตากล่าว

นอกจากนี้ยังปรับเรื่องสวัสดิการสุขภาพซึ่งคนสนใจมากขึ้นหลังผ่านโควิด-19 โดยมีแพทย์ประจำออฟฟิศ และเน้นการทำโครงการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันให้กับพนักงานด้วย

 

“กล้า MICE” เพื่อให้น้องได้รู้จักสายอาชีพนี้

อีกส่วนที่สำคัญในการหาคนทำงาน คือต้องเปิดให้น้องๆ ได้รู้จักกับงานประเภทนี้ก่อน อิมแพ็คจึงจัด “โครงการกล้า MICE” ครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 4 โดยจะเปิดรับสมัครไปจนถึง 18 ธันวาคม 2565

โครงการจะคัดเลือกนักศึกษาทั้งหมด 50 คน โดยไม่จำกัดสาขาวิชาที่เรียนและไม่จำกัดสถาบัน ขอเพียงมีความสนใจที่จะเรียนรู้งาน MICE ก็สามารถเข้ามาร่วมอบรมได้ ผู้ที่ผ่านคัดเลือกจะได้เรียนรู้งานจริงทุกด้านในอิมแพ็ค และทดลองปฏิบัติงานจริงในประเภทงานที่ชื่นชอบ

อิมแพ็ค
ภาพจากโครงการ กล้า MICE

ทมิตากล่าวว่า ตั้งแต่จัดโครงการมา ทำให้มีนักศึกษาจากโครงการสมัครและทำงานต่อกับอิมแพ็คราว 10% จากนักศึกษาทั้งหมด ที่เหลือก็ไม่ได้หายไปไหน หลายคนเข้าทำงานกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งอิมแพ็คไม่ได้ปิดกั้น เพราะถือเป็นโครงการที่มีเป้าหมายเติมบุคลากรให้กับทั้งอุตสาหกรรม

เมื่อถามถึงคนทำงานในสายอาชีพ MICE ว่าควรมีทักษะอย่างไร ทมิตาตอบว่ามี 4 กุญแจสำคัญ คือ เป็นคนยืดหยุ่นได้ แก้ปัญหาหน้างานเป็น, ใช้ทักษะได้หลายอย่าง (multi skills), มีทักษะทางสังคมสูง (social skills) เพราะต้องติดต่อผู้คนหลากหลาย และที่สำคัญที่สุดคือ มีแพสชั่นในการทำงานสายนี้ เนื่องจากธรรมชาติงานทำงานไม่เป็นเวลาแน่นอนและมีความกดดัน ทำให้ต้องการ ‘ใจรัก’ จริงๆ

“เราต้องการคนรุ่นใหม่เข้ามาในสายอาชีพนี้ เพราะคนรุ่นเก่าคือคนที่สามารถสอนงานได้ มีประสบการณ์สูง แต่คนรุ่นใหม่คือคนที่จะมาพัฒนาต่อ ทำให้องค์กรเรายังอยู่ต่อได้อีกสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้า” ทมิตากล่าวปิดท้าย

]]>
1409811
ไม่ต้องยื่น CV! “โรงแรม” ในยุโรปจ้างพนักงานไร้ประสบการณ์ แก้ปัญหา “ขาดคน” อย่างหนัก https://positioningmag.com/1391363 Tue, 05 Jul 2022 09:03:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1391363 สถานการณ์ “ขาดคน” ในอุตสาหกรรม “โรงแรม” และ “บริการ” ฝั่งยุโรปถือว่าสาหัสมาก ทำให้หลายบริษัท/ร้านค้ายอมจ้างพนักงานไร้ประสบการณ์ หรือกระทั่งไม่ต้องมี CV สมัครงาน และเริ่มทำงานได้เลยภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมขึ้นเงินเดือนเพื่อแย่งตัวบุคลากรกลับมาจากอุตสาหกรรมอื่น

เชนโรงแรมดังในยุโรปเริ่มว่าจ้างพนักงานที่ไม่มีประสบการณ์หรือกระทั่งไม่มีประวัติสมัครงาน (CV) เพื่อหาทางเติมคนให้ทันต่อความต้องการ ถือเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ภาคธุรกิจโรงแรมและบริการต้องเผชิญต่อจากวิกฤตโรคระบาด

พนักงานหลายพันคนออกจากอุตสาหกรรมโรงแรมและบริการไปอย่างถาวร นับตั้งแต่มีการล็อกดาวน์ช่วง COVID-19 หลายคนจากไปโดยไม่หันหลังกลับเพราะสามารถหางานในอุตสาหกรรมอื่นได้แล้ว โดยได้รับรายได้ที่ดีกว่าเดิม ทำให้ภาคบริการ “ขาดคน” อย่างรุนแรง

 

ไม่ต้องดู CV ผู้อพยพก็ยินดีรับ

เพื่อแก้ปัญหานี้ “เซบาสเตียน เบซิน” ซีอีโอของ Accor บริษัทด้านโรงแรมและบริการที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป เริ่มทดลองรับคนเข้าทำงานแม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่มีประสบการณ์มาก่อน โดยเขาระบุว่า บริษัทมีการบริหารโรงแรมแบรนด์ต่างๆ เช่น Mercure, ibis, Fairmont อยู่ใน 110 ประเทศทั่วโลก และรวมๆ แล้วทั่วโลกขาดแคลนพนักงานอยู่ถึง 35,000 คน

Mercure Lyon Centre Beaux Arts Hotel

 

“เราเริ่มทดลองแล้วในลียงและบอร์กโดซ์ (ประเทศฝรั่งเศส) เมื่อ 10 วันก่อน สุดสัปดาห์นี้เราจะมีการสัมภาษณ์งานโดยไม่ต้องยื่นประวัติสมัครงาน ไม่ต้องมีประสบการณ์การทำงาน และผู้ที่ได้งานจะเริ่มงานได้เลยภายใน 24 ชั่วโมง” เบซินกล่าวบนเวที Qatar Economic Forum ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2022

ในระยะสั้น Accor ฝรั่งเศสจะเติมคนที่ขาดด้วยกลุ่มหนุ่มสาวและผู้อพยพ ระหว่างที่บริการต่างๆ ก็อาจจะยังมีอย่างจำกัดไปก่อน

“นักเรียนนักศึกษาและผู้อพยพจากทวีปแอฟริกาเหนือ (ที่บริษัทจะจ้างงาน)” เบซินกล่าว “และจะต้องปิดบริการร้านอาหารในช่วงกลางวัน หรือเปิดบริการได้แค่ 5 วันต่อสัปดาห์”

ผู้ที่ได้งานใหม่จะมีเวลาเทรนนิ่งเพียง 6 ชั่วโมงและต้องเรียนรู้จากการทำงานจริงเลย

 

ขึ้นค่าแรง มีที่พักฟรี เพื่อดึงดูดบุคลากร

ในสเปนและโปรตุเกสก็เช่นกัน ช่วงก่อนเกิดโรคระบาดทั้งสองประเทศนี้พึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 13% และ 15% ของจีดีพีตามลำดับ ปัจจุบันภาคบริการกำลังหาทางดึงดูดพนักงานด้วยการให้ค่าแรงเพิ่ม มีที่พักฟรี มีโบนัส และประกันสุขภาพ

โรงแรม ขาดคน
(Photo by Mikhail Nilov / Pexels)

“พนักงานหลายคนตัดสินใจย้ายไปทำงานในธุรกิจอื่นแล้ว ดังนั้นเราต้องเริ่มสร้างอุตสาหกรรมของเราขึ้นมาใหม่จากศูนย์ เราต้องสู้เพื่อดึงทาเลนต์มาให้ได้” เกเบรียล เอสคาร์เรอร์ ซีอีโอของเชนโรงแรม Melia กล่าว บริษัทของเขามีการให้ที่พักฟรี บางครั้งให้พักในโรงแรมเลย เพราะบ้านเช่าใกล้โรงแรมก็เต็มหมดแล้ว

โรงแรมขนาดเล็กกว่าก็ประสบปัญหาเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น Hotel Mundial ในลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ยังขาดพนักงานอีก 59 ตำแหน่ง และเกรงว่าโรงแรมจะรับแขกได้ไม่เต็มอัตรา หรือต้องตัดสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างในโรงแรมออก

“เรื่องนี้น่าเศร้าใจและตึงเครียดมากสำหรับอุตสาหกรรมที่ไม่มีรายได้เลยมาตลอดสองปี” ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ Hotel Mundial กล่าว

 

เปิดได้แค่สุดสัปดาห์ จากการใช้พนักงานพาร์ทไทม์

แรงงานในภาคร้านอาหารและบาร์ก็ขาดหนักเช่นกัน ตัวอย่างเช่นร้าน Tabanco de Jerez บาร์ในเมืองมาดริด ประเทศสเปน เปิดร้านได้แค่วันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะแรงงานที่มีมีแค่เด็กนักเรียนที่ต้องการทำงานเสริมในช่วงวันหยุดซึ่งไม่มีเรียน หรืออาจจะต้องเลือกอีกตัวเลือกหนึ่งคือผู้อพยพ เช่นเดียวกันธุรกิจโรงแรม

สมาคมฮอสพิทาลิตี้แห่งชาติระบุว่า อุตสาหกรรมร้านอาหารของสเปนขาดแคลนคนงานถึง 200,000 คน ส่วนภาคโรงแรมของโปรตุเกสขาดคนถึง 15,000 คนเป็นอย่างน้อย

 

ปัญหาเรื้อรัง โรงแรม-บริการจ่ายน้อยกว่า พนักงานหนีหาย

“ทางออกของเรื่องนี้ แน่นอนว่าเราจะต้องจ้างงานแพงกว่า” โฆเซ่ ลูอิส ซูเอล จากสมาคมภาคบริการเคเทอริ่งในสเปน กล่าวว่า บาร์และร้านอาหารสเปนมีการขึ้นค่าแรงมาเกือบ 60% แล้ว ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 เทียบกับปีก่อนหน้า แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังอยู่ที่ประมาณ 1,150 ยูโรต่อเดือนเท่านั้น (ประมาณ 42,500 บาท)

โรงแรม ขาดคน
(Photo by Rene Asmussen / Pexels)

ในโปรตุเกส เงินเดือนของพนักงานภาคบริการก็คาดว่าจะปรับขึ้น 7% ในปีนี้ จากการสำรวจโดยธนาคารกลางและสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่ก็เช่นกัน แม้จะขึ้นมาแล้วแต่ค่าเฉลี่ยเงินเดือนภาคบริการก็อยู่ที่ 881 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 32,600 บาท) สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำซึ่งอยู่ที่ 705 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 26,000 บาท) ไม่เท่าไหร่

เบซินจาก Accor ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันอัตราเข้าพักยังอยู่ที่ 60-70% ทำให้พนักงานยังพอจะรับมือไหว แต่ว่าถ้าหากโรงแรมถูกจองเต็ม ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงปลายกรกฎาคมถึงต้นสิงหาคมซึ่งเป็นหน้าท่องเที่ยว เมื่อนั้นจะต้องเกิดปัญหา

เบซินยังยอมรับเหมือนกับทั้งอุตสาหกรรมว่า ที่ผ่านมาธุรกิจนี้ไม่ได้พัฒนาบุคลากรมากพอและไม่ได้จ่ายค่าจ้างอย่างเพียงพอ “ครึ่งหนึ่งของปัญหาคือเราหูตามืดบอดมาตลอด เราไม่ได้ให้ความสนใจคนจำนวนมาก และมักจะจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรมานาน” เขากล่าว “ดังนั้น สถานการณ์ปัจจุบันคือสัญญาณปลุกให้เราตื่น”

ไทยเราก็มีปัญหาขาดคนในภาคธุรกิจโรงแรมและบริการเช่นกัน “ดวงพร พรหมอ่อน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจนี้เกิดปัญหาเดียวกับทั่วโลกคือบุคลากรเลือกที่จะทำอาชีพอื่นอย่างถาวร ทำให้ขาดแรงงานอย่างมาก แต่ในมุมกลับกัน นี่คือโอกาสสำหรับเด็กจบใหม่ที่อาจจะยังต้องแข่งขันสูงในธุรกิจสายอื่น แต่ในธุรกิจโรงแรมเปิดกว้างมากที่จะรับเด็กจบใหม่เข้างาน

Source

]]>
1391363