ttb analytics – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 22 Mar 2023 04:27:02 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ttb analytics มอง GDP ไทยโต 3.4% แต่มีความเสี่ยงเรื่องส่งออกหดตัว-หนี้ครัวเรือนสูง https://positioningmag.com/1424343 Wed, 22 Mar 2023 03:35:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1424343 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) คาดการณ์ GDP ไทยเติบโตได้ 3.4% ในปีนี้ แต่สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้นมีความเสี่ยงสำคัญนั่นก็คือภาคการส่งออกในปีนี้อาจหดตัวลงได้ รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนของไทยที่สูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ

นริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ได้กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกว่า เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ไม่รุนแรงมากเท่าที่เคยคาดกันเอาไว้เมื่อปลายปี 2022 ที่ผ่านมา หลังจากข้อมูลทางเศรษฐกิจออกมาดีกว่าที่คาดไว้

และยังรวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้คาดการณ์ปรับเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้เป็น 2.9% ซึ่งดีกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่ 2.7%

สำหรับเศรษฐกิจจีนหลังจากที่มีการเปิดประเทศ ttb analytics มองว่าจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจีนถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าหลัก รวมทั้งเป็นนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคกลุ่มหลักของโลก อย่างไรก็ดี ttb analytics มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกชะลอตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ช้าลง เนื่องจากความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ (เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ไปจนถึงสินค้าเกษตร) ที่เพิ่มมากขึ้นจากจีน

ขณะที่เศรษฐกิจไทย ttb analytics คาดการณ์ว่า GDP ไทยในปี 2023 นั้นจะเติบโต 3.4% จากปัจจัยหลักคือภาคการท่องเที่ยว จากปัจจัยบวกของการเปิดประเทศจีน รวมถึงการบริโภคในประเทศที่ยังเติบโตดี แต่สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คือภาคการส่งออกของไทยที่มีโอกาสหดตัว รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนของไทยที่สูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ

นอกจากนี้ ttb analytics ยังเสนอแนวทางเชิงนโยบายสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้คือ

  • การมองหาตลาดส่งออกสินค้าที่ยังมีศักยภาพเติบโตได้ต่อเนื่องท่ามกลางโลกที่ท้าทาย อาทิ กลุ่มตะวันออกกลาง อินเดียและกลุ่มอาเซียน ฯลฯ
  • มาตรการบรรเทาค่าครองชีพแก่กลุ่มครัวเรือนและดูแลกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่เปราะบาง อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพในหมวดสินค้าจำเป็น มาตรการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟฟ้า มาตรการช่วยผ่อนคลายต้นทุนของธุรกิจ SMEs
  • มาตรการทางการเงินและสินเชื่อจากภาคสถาบันการเงินเพื่อดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเป็นรายกรณี เป็นต้น

ttb analytics ยังมองว่าภาพรวมเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนหนี้สาธารณะของไทยที่ยังไม่สูง ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินไทยที่มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูง รวมถึง NPL ในภาคสถาบันการเงินไทยลดลง

ข้อมูลจาก ttb analytics
]]>
1424343
คนไทยค่าครองชีพ-ต้นทุนสินค้าพุ่ง ttb ประเมิน ‘เงินเฟ้อ’ ไตรมาสแรกปีนี้ แตะสูงสุด 4% https://positioningmag.com/1372884 Fri, 04 Feb 2022 10:11:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1372884 ปัจจัยหลายอย่างยังคงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ อยู่ในระดับสูง ก่อนจะเริ่มแผ่วลงช่วงปลายปี  ttb analytics ประเมินว่า เงินเฟ้อจะเร่งแตะสูงสุด 4% ไตรมาสแรก เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 2% ประชาชนต้องเเบกรับภาระค่าครองชีพที่แพงขึ้น แรงกดดันราคาน้ำมัน-อาหารสดเเละต้นทุนการขนส่ง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า แรงกดดันจากหมวดพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อในปี 2565 ยังคงอยู่ในระดับสูง

โดยในช่วงปลายปี 2564 และต้นปี 2565 มีสภาพภูมิอากาศที่หนาวมากกว่าปกติ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ส่งผลให้ทั่วโลกมีปริมาณความต้องการเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันประเทศผู้ผลิตน้ำมันไม่สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ จึงสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อราคาน้ำมันโดยเฉพาะในช่วงต้นปีนี้ แม้ไทยจะได้รับผลดีจากการที่รัฐบาลเข้าตรึงราคาเชื้อเพลิงบางประเภท แต่ไม่เพียงพอที่จะช่วยลดแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นเร็ว

“ประเมินว่าหลังเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 แรงกดดันด้านราคาพลังงานจะคลี่คลายลงบ้าง แต่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องไป จนกว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะสามารถบริหารจัดการทยอยเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามเป้าหมายในช่วงไตรมาส 3 นี้” 

ต้นทุนอาหารสด-ขนส่งพุ่ง 

สำหรับต้นทุนหมวดอาหารสด มีการปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกที่แพงขึ้น ประกอบกับการเกิดโรคระบาดของสุกรในประเทศไทยในปัจจุบัน ทำให้ต้องใช้มาตรการจำกัดจำนวนการเลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยง

ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสุกรลดลงและราคาเนื้อสุกรในประเทศเพิ่มขึ้นสูง และมีผลกระทบทำให้ราคาเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ เช่น เนื้อไก่ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามซึ่งเคยเกิดปัญหาโรคระบาดเดียวกันในสุกร จึงประเมินได้ว่า ไทยอาจยังต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนในการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงสุกรและทยอยเพิ่มผลผลิตเข้าสู่ท้องตลาด เป็นสาเหตุทำให้แรงกดดันต่อราคาในหมวดอาหารสดจะคงยังลากยาวไปถึงสิ้นปี 2565

อย่างไรก็ดี แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อที่ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน) จะแผ่วลงไปในช่วงต้นปี ตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังเร่งตัวทั้งในและต่างประเทศ แต่เนื่องจากเป็นเชื้อที่แพร่กระจายเร็วและไม่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง จึงประเมินว่าผลกระทบนี้จะอยู่เพียงในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 เท่านั้น ก่อนที่เศรษฐกิจภายในประเทศและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทยอยกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึงสิ้นปี

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกดดันเงินเฟ้อเพิ่มเติมจากปัญหาการตึงตัวในภาคการผลิต (Supply bottleneck) ในบางหมวดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เชื่อมโยงกับผู้ผลิตในประเทศที่กำลังเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะ ยุโรป สหรัฐฯ

หรือปัญหาในการปรับเพิ่มอัตราการจ้างงาน อาทิ สินค้ากลุ่มที่ต้องพี่งพาเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเห็นผลกระทบได้สูงในปัจจุบัน ประกอบกับต้นทุนค่าขนส่งที่แพงจากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างตามท่าเรือ เนื่องจากระดับกิจกรรมท่าเรือและการจ้างงานในหลายประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เพียงพอรองรับการเร่งตัวของกิจกรรมส่งออก

จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้านำเข้าและต้นทุนของผู้ผลิตปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยกรณีของไทย ความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้านำเข้าและราคาผู้ผลิตมีระดับสูงมาก (ค่าความสัมพันธ์อยู่ที่ 0.9)

ในเบื้องต้น ประเมินว่าปัญหาตึงตัวด้านกระบวนการผลิตในหลายสินค้าจะยังมีผลชัดเจนถึงช่วงไตรมาส 3 ขณะที่ปัญหาค่าขนส่งทางเรือที่แพงและได้ทยอยปรับลงมาแล้วนับตั้งแต่ปลายปี 2564 แต่คาดว่าจะใช้เวลานานกว่าจะกลับสู่ระดับราคาปกติได้ราวปลายปี 2567

ดังนั้น ปัญหาการตึงตัวในกระบวนการผลิตและต้นทุนขนส่งทางเรือจะสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าของหมวดที่อยู่ทั้งในและนอกอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอย่างชัดเจนไปจนถึงไตรมาส 3 ก่อนจะเบาลงในช่วงปลายปี

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าระดับการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตที่แพงขึ้นไปยังผู้บริโภคในประเทศจะทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และเป็นลักษณะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องด้วยกำลังซื้อและการจ้างงานในไทยโดยรวมยังคงเปราะบาง

Photo : Shutterstock

‘ปัจจัยเสี่ยง’ ต่อเงินเฟ้ออี่นๆ ที่ต้องจับตา

ปัจจัยกดดันด้านสูงจากฝั่งอุปทาน (cost-push) ทั้งหมดข้างต้น ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากปี 2564 ทำให้ ttb analytics ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ไปจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ในปี 2565 นี้

โดยเร่งตัวสูงสุดในไตรมาสแรก และจะทยอยลดลงตลอดไปจนถึงปลายปี หลังปัจจัยต่างๆ ทยอยคลี่คลาย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.0 โดยปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้อด้านสูงยังมีอยู่จากสาเหตุ ดังนี้

  • ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ความขัดแย้งรัศเซีย-ยูเครน ที่อาจทำให้ราคาพลังงานเร่งขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน
  • ปัจจัยด้านภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลต่อการลดลงของปริมาณผลผลิตการเกษตร
  • ความยืดเยื้อของปัญหาคอขวดในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะหากเกิดการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่อาจรุนแรงจนทำให้กิจกรรมการผลิตต้องสะดุดลงและกระทบกับภาวะการจ้างงาน

ท่ามกลางภาวะที่เงินเฟ้อเร่งตัวเร็วโดยเฉพาะในช่วงแรกของปี 2565 นี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องปรับวิธีการใช้จ่ายให้เหมาะสม ในส่วนภาครัฐที่กำกับดูแลเศรษฐกิจ นอกจากการเร่งออกนโยบายลดต้นทุนค่าครองชีพทั้งการตรึงราคาเชื้อเพลิง และการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ประชาชนแล้ว อาจเข้าไปช่วยจัดการแก้ไขปัญหาด้านปริมาณผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในส่วนที่สามารถทำได้ภายในประเทศ เพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้ออีกทางหนึ่ง

 

]]>
1372884
เเนวโน้ม ‘ธุรกิจเเบงก์’ ปี 65 ฟื้นตัวดี เเรงหนุนสินเชื่อโต เงินฝากชะลอลง คนไทยปรับการลงทุน  https://positioningmag.com/1363737 Wed, 24 Nov 2021 07:50:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1363737 ttb analytics มองเเนวโน้ม ‘ธุรกิจแบงก์’ ในไทย ปี 65 ดีขึ้นต่อเนื่อง จากการเติบโตของ ‘สินเชื่อ’ ทั้งภาคธุรกิจรายใหญ่ SMEs และรายย่อย 
“คาดว่าสินเชื่อโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ราว 5.5% ขณะที่เงินฝาก มีทิศทางเติบโตอัตราชะลอลงจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ และการปรับเปลี่ยนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ” 
 
ด้านคุณภาพสินเชื่อโดยรวมยังทรงตัวอยู่ในระดับ 3.0% ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายการปรับโครงสร้างหนี้ (debt restructuring) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
 
ทั้งนี้ ประเมินอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมคงที่อยู่ในระดับต่ำ จากการปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัวในปี 65
เเรงหนุนสินเชื่อรายย่อย – SMEs 

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในปี 65 จะมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของสินเชื่อ ทั้งภาคธุรกิจและรายย่อย

ในภาพรวมสินเชื่อธุรกิจ พบว่า สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มขยายตัว 4.2% นำโดยสินเชื่อภาคการผลิตและภาคก่อสร้าง ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน EEC มาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI และการค้าระหว่างประเทศที่เติบโตดี

ส่วนสินเชื่อธุรกิจ SMEs คาดการณ์เติบโต 4.5% จากหลายปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ แนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีของธุรกิจภายหลังการเปิดประเทศ ความต้องการสภาพคล่องเพื่อกลับมาดำเนินธุรกิจ รองรับอุปสงค์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

รวมถึงแรงสนับสนุนของสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท.และสถาบันการเงินของรัฐ โดยสินเชื่อ SMEs ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีหน้า ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งออนไลน์ ธุรกิจการผลิตเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านอาหาร สุขภาพ เกษตรแปรรูป และบริการด้านธุรกิจดิจิทัล เป็นต้น

ขณะที่ สินเชื่อรายย่อย มีแนวโน้มฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น คาดการณ์การเติบโตปี 65 ที่ 6.5% จากการฟื้นตัวของสินเชื่อในทุกหมวดหมู่ ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล
  • สินเชื่อที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น 7% จากการฟื้นตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ ที่ได้รับผลบวกจากการผ่อนปรนมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) และกำลังซื้อจากต่างประเทศที่กลับมาพร้อมกับการเปิดประเทศ
  • สินเชื่อรถยนต์ มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุปสงค์คงค้าง (Pend up demand) จากปี 64 โดยเติบโต 4% และในปี 65 การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนจะช่วยสนับสนุนให้สินเชื่อส่วนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 8.5%

คุณภาพสินเชื่อ ttb analytics ประเมินว่า มีแนวโน้มทรงตัวระดับเดิม จากนโยบายส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ของ ธปท. ที่ขยายเวลาการใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นไปจนถึงสิ้นปี 66 เพื่อให้ธนาคารสามารถให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อ จากระยะสั้นเป็นระยะยาวร่วมกับการปรับโครงสร้างหนี้วิธีอื่นๆ โดยคาดการณ์ว่าอัตราส่วนยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ในปี 65 จะอยู่ที่ระดับ 3.0% ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงปี 64 ในระดับ 3.1%

ในส่วนอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมปี 65 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 64 เนื่องจากคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ระดับ 0.50% ต่อเนื่องตลอดปี 65 เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับ ธปท. ได้ขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือ 0.23% จาก 0.46% ต่อปี ออกไปจนถึงสิ้นปี 65 เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านการลดต้นทุน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง

เงินฝากโตชะลอลง คนไทยปรับการลงลงทุน 

ด้านเงินฝากในปี 65 มีแนวโน้มขยายตัวได้ 3.0% ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการที่ 3.5% ในปี 64 โดยปริมาณเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ยังคงเติบโตอยู่ที่ 6.5% แต่ชะลอลงจากปี 64 ที่ขยายตัว 8.5% ตามแนวโน้มการบริโภคที่ฟื้นตัวได้เร็วหลังเปิดประเทศ

ขณะที่ปริมาณเงินฝากบัญชีฝากประจำคาดว่าจะหดตัว 7% ในปี 65 ซึ่งเป็นทิศทางที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 63 จากอัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากประจำที่อยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวที่ 0.50% ตั้งแต่กลางปี 63 เป็นต้นมา ทำให้ผู้ฝากทั้งประชาชนและภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุน และเลือกลงทุนในรูปแบบอื่นๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

“ในภาพรวมแนวโน้มเงินฝากที่ยังคงเติบโตในปี 65 จะทำให้สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับสูงเกือบ 4 ล้านล้านบาท รวมทั้งการที่ยังคงมีเงินกองทุนในระดับสูง จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยได้” 

]]>
1363737
วิเคราะห์เเนวโน้มภาคธุรกิจไทย กับการฟื้นตัวแบบ ‘K-Shape’ เมื่อวิกฤตโควิดลากยาว https://positioningmag.com/1350156 Fri, 03 Sep 2021 06:47:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1350156 การฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้เข้ากับสภาพตลาด

บทวิเคราะห์ล่าสุดของ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มีประเด็นที่น่าสนใจที่สะท้อนให้เห็น การปรับตัวธุรกิจไทยในหลากหลายเซกเตอร์ และการฟื้นตัวระยะปานกลางแบบ K-Shape

จากการศึกษาการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ มาตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ครั้งแรกในไตรมาส 2 ของปี 2563 จนถึงไตรมาส 2 ของปี 2564 ผ่านการคำนวณเป็นดัชนีรายได้ของแต่ละธุรกิจ ข้อมูลรายได้ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกว่า 500 บริษัท เทียบกับรายได้ปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโควิด-19 เป็นปีฐานเริ่มต้นเท่ากับ 100 พบว่า แต่ละธุรกิจมีการฟื้นตัวที่ต่างกัน แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ 

ธุรกิจฟื้นแล้ว (ดัชนีรายได้ > 100) เป็นธุรกิจที่ฟื้นตัว จากการได้รับอานิสงส์จากตลาดส่งออกและตลาดในประเทศดีขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ยางพารา พลังงาน เหล็กและโลหะ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน อาหารและเครื่องดื่ม

ธุรกิจกำลังฟื้น (ดัชนีรายได้อยู่ระหว่าง 60 ถึง 100) เป็นธุรกิจกำลังฟื้นตามกำลังซื้อในประเทศที่เริ่มกลับมา เช่น ค้าปลีก รับเหมาก่อสร้าง เกษตรแปรรูป ไอทีและเทเลคอม ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การแพทย์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน สินค้าอุปโภคและบริโภค เฟอร์นิเจอร์

• ธุรกิจยังไม่ฟื้น (ดัชนีรายได้ < 60) เป็นกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นและได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นภาคบริการ เช่น อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ขนส่งและโลจิสติกส์ (ขนส่งทางน้ำ และทางอากาศ) ท่องเที่ยว (โรงแรมและร้านอาหาร) และการบริการส่วนบุคคล

“ผลของการล็อกดาวน์บางส่วนตามมาตรการของรัฐ ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการในแต่ละธุรกิจลดลง” 

อย่างไรก็ตาม การเร่งฉีดวัคซีนเเละเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จะช่วยให้สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้นทำให้แต่ละธุรกิจทยอยฟื้นตัวนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เป็นต้นไป “รูปแบบการฟื้นตัวจะเป็นไปในลักษณะการทยอยฟื้นตัว และไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก” 

ธุรกิจอ่วม รายได้หด 2 ปีติดต่อกัน 

“กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น” มีความเปราะบางมากที่สุด เพราะรายได้เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด-19) มีการหดตัวมากกว่า 30% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาติดต่อกัน

โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม และร้านอาหาร รายได้ลดลง 66% และ 49% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ ได้แก่ ขนส่งทางอากาศและทางน้ำ รายได้ลดลง 84% และ 51% และกลุ่มบริการส่วนบุคคล ได้แก่ บันเทิงและการกีฬา รายได้ลดลงมากถึง 84%

สำหรับ “กลุ่มธุรกิจกำลังฟื้น” ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน เนื่องจากรายได้ใน 2 ปีที่ผ่านมาลดลง 10-30% ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวอีกครั้ง เพื่อรอคอยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อย ๆ กลับพลิกฟื้นอีกครั้ง

ttb analytics เเนะว่า สิ่งที่สามารถประคับประคองธุรกิจให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจยังไม่ฟื้นและกำลังฟื้นให้อยู่รอดในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ได้เเก่ การทำตลาดในช่องทางออนไลน์มากขึ้น การบริหารจัดการธุรกิจโดยคำนึงถึงความสะดวกของการซื้อสินค้าของผู้บริโภค และสินค้าต้องมีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และหากเป็นโรงงานและธุรกิจบริการควรพิจารณาทำ Bubble & Seal

นอกจากนี้ ควรพิจารณาเข้ารับความช่วยเหลือตามมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น การพักชำระหนี้ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร ฯลฯ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้

Photo : Shutterstock

โควิดอยู่ยาว ธุรกิจปรับตัวเพิ่มทางออนไลน์ 

หากมองออกไปใน 1-2 ปีข้างหน้า (2565-2566) แม้ว่าการระบาดของโรคโควิดมีแนวโน้มบรรเทาลง จากการเร่งฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรของโลกและในประเทศไทยมากขึ้น

แต่ทว่าโรคโควิด ก็ยังไม่หมดไปและอาจกลายพันธุ์เพิ่มเติม ทำให้การแพร่ระบาดดังกล่าวจะยังคงอยู่กับโลกต่อไปหลังจากนี้อย่างน้อย 1 ปี จนกว่าจะมีวัคซีนที่สามารถจัดการไวรัสได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้ต้องพึ่งการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรในทุกปี 

ดังนั้น ภาคธุรกิจจะยังต้องเผชิญกับความท้าทายใน 3 ด้าน ต่อไปนี้

ด้านแรก ธุรกิจยังต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิดต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่ออยู่ด้วยกันด้วยความระมัดระวัง โดยการดำเนินธุรกิจให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อในพนักงานและลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ

ด้านที่สอง ธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม การเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทย สิ่งเหล่านี้จะส่งผลทำให้ความเจริญกระจายไปหัวเมืองในเศรษฐกิจภูมิภาค การผลิตสินค้าที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลาดสินค้าสำหรับผู้สูงอายุจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และสินค้าเพื่อการส่งออกจะมีมูลค่ามากขึ้น เพราะได้รับแรงหนุนจากนโยบายส่งเสริมลงทุนภาครัฐ

ด้านสุดท้าย ธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค อาทิ การเข้าถึงผู้บริโภคจากหลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งธุรกิจต้องผสมผสานอย่างสมดุล หรือที่เรียกว่า Omni-Channel และจะต้องปรับใช้เทคโนโลยี Digital Ecosystem ที่อยู่รอบตัว เช่น E-Commerce, E-Payment, E-Transportation, Inventory Management ฯลฯ มาใช้ในธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค

“ความนิยมในสินค้าของผู้บริโภคมีหลากหลายกลุ่มมากขึ้น เพราะสามารถสืบค้นข้อมูลและเปรียบเทียบสินค้าจากสื่อออนไลน์ได้” 

ฟื้นตัวแบบ K-Shape

จากปัจจัยท้าทายทั้ง 3 ด้าน ttb analytics ประเมินว่าการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจในระยะปานกลางจะแตกต่างกัน กล่าวคือ มีธุรกิจที่ฟื้นและเติบโตดี และธุรกิจที่ไม่ฟื้นและตกต่ำต่อเนื่องจนกว่าโรคโควิดจะหมดไป หรืออยู่ในรูปแบบการฟื้นตัวแบบ K-Shape ดังนี้

  • K-Shape (ขาขึ้น) ได้แก่ ธุรกิจประเภทไอทีและเทเลคอม บริการซอฟต์แวร์ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ยานยนต์และชิ้นส่วน ร้านค้าปลีกที่มีทั้งช่องทางตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การบริการขนส่งสินค้าและการจัดการคลังสินค้า ธุรกิจการแพทย์ และอาหารสำเร็จรูป
  • K-Shape (ขาลง) ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สปา ธุรกิจบันเทิงและสันทนาการ การขนส่งผู้โดยสาร ออฟฟิศให้เช่า ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม

โดยธุรกิจ K-Shape ขาขึ้นจะมีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศและพฤติกรรมผู้บริโภค สนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านี้ฟื้นและเติบโตได้ดีต่อเนื่อง

“K-Shape ขาลง ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจบริการ จำเป็นต้องช่วยกันประคับประคองทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและลูกจ้างให้อยู่รอดใน 1-2 ปีข้างหน้า เเละจำเป็นที่รัฐต้องช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจลุกขึ้นมาให้ได้ เพื่อการฟื้นตัวในระยะต่อไป” 

 

 

 

 

]]>
1350156
พิษเศรษฐกิจ ฉุดกำลังซื้อ เเนวโน้ม ‘ยอดขายรถยนต์’ ปี 64 ซบเซาต่อเนื่อง เหลือ 7.35 แสนคัน https://positioningmag.com/1345601 Fri, 06 Aug 2021 07:19:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1345601 ตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ยังหดตัวต่อเนื่องจากพิษโรคระบาด คาดยอดขายตลอดปีนี้ ลดลงจากปีก่อน 7.1% เหลือ 7.35 แสนคัน กำลังซื้อของผู้บริโภคเปราะบางรถยนต์ส่วนบุคคลกระทบหนักสุด ลุ้นปี 65 กระจายวัคซีนทั่วถึง เศรษฐกิจดีขึ้นอาจกลับมาขายได้ 8.6 แสนคัน

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ที่ลากยาวเเละรุนเเรงกว่าที่คาดทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมรวมกว่าเเล้ว 6.64 แสนคน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2564) ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศให้ชะลอตัวลง รวมไปถึงกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงเรื่อยๆ

เเม้ว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศ ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จะทำยอดขายได้กว่า 373,191 คัน เเละขยายตัว 13.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นที่มาจากฐานที่ต่ำในปี 2563 ที่หดตัวลงถึง 37.3% เป็นผลมาจากกำลังซื้อที่หายไปจากการล็อกดาวน์ติดต่อกัน 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระลอกแรก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินยอดขายรถยนต์ในไทยจะอยู่ที่ 7.35 แสนคันในปี 2564 ลดลง 7.1% จากปีก่อน โดยมีปัจจัยฉุดรั้งต่างๆ เช่น การระบาดของโควิด-19 และกำลังซื้อที่เปราะบางแม้จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นมาช่วยก็ตาม

โดยยอดขายจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาส 3’ อันเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์และกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง

จากนั้นคาดว่าในไตรมาสที่ 4’ ยอดขายจะเริ่มทยอยฟื้น จากอานิสงส์จากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมกว่า 70% ของประชากรรวมในประเทศ หากเป็นไปตามแผนของภาครัฐ ผนวกกับได้แรงพยุงจากการส่งออกที่ฟื้นตัว และรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้นจากราคาและผลผลิตที่ดีขึ้น

ยอดขาย ‘รถยนต์นั่งส่วนบุคคล’ ลดฮวบ

เมื่อเเบ่งเป็นประเภทรถยนต์ จะพบว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลได้รับผลกระทบหนักกว่ารถยนต์เชิงพาณิชย์คาดว่าปีนี้ ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะหดตัว 11.1% ขณะที่รถยนต์เชิงพาณิชย์จะหดตัว 4.1% 

สาเหตุหลักๆ มาจากโรคระบาดจะบั่นทอนกำลังซื้อและความเชื่อมั่นให้ลดลง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งมีความต้องการรถยนต์นั่งส่วนบุคคลสูงกว่ารถยนต์เชิงพาณิชย์

จากสถิติกรมขนส่งทางบก ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ป้ายแดงขยายตัว 4.2% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่หดตัว 24.1% โดยพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังหดตัวต่อเนื่องที่ 1.9%

ขณะที่พื้นที่เศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคธุรกิจการส่งออกและภาคเกษตร ได้แก่ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ เริ่มกลับมาขยายตัวได้ 12.2% 12.1% และ 11.8% ตามลำดับ

หากการแพร่ระบาดบรรเทาลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ พื้นที่เศรษฐกิจที่พึ่งพิงภาคธุรกิจการส่งออกและภาคเกษตร คาดว่าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่า ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวผู้บริโภคส่วนใหญ่ มีความต้องการรถยนต์เชิงพาณิชย์มากกว่า ทำให้ยอดขายจะกลับมาฟื้นได้ก่อนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล

ปัจจัยเสี่ยง-ปัยจัยหนุน ตลาดรถยนต์ในไทย มีอะไรบ้าง ?

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในตลาดรถยนต์ในไทย หลักๆ มาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหากไม่คลี่คลายภายในไตรมาส 3 จะส่งผลต่อให้ยอดขายลดลงได้อีก

ตามมาด้วยกำลังซื้อที่เปราะบางและความเชื่อมั่นด้านสถานะการเงินของผู้บริโภค นอกจาดนี้ยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เเละหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 93% ต่อจีดีพี

อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องจับตามอง ก็คือปัญหาชิปขาดแคลนที่ส่งผลต่อการผลิตรถยนต์ ซึ่งคาดกว่าจะเริ่มผ่อนคลายลงในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 ตามอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตชิปทั่วโลกกลับมาผลิตได้ปกติอีกครั้ง ประกอบกับความต้องการชิปสำหรับอุปกรณ์การทำงานที่บ้าน (Work from home) ทั้งคอมพิวเตอร์ ระบบคลาวด์ลดลง ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์มีชิปสำหรับผลิตรถยนต์ได้เพียงพอ

ด้านปัจจัยบวกขั้นพื้นฐานที่ยังสนับสนุนเป็นแรงส่งให้ยอดขายรถยนต์กลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี ได้แก่
การส่งออกฟื้นตัว รายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น การทำโปรโมชันส่งเสริมการขายจากดีลเลอร์ เเละดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ

Photo : Shutterstock

ส่วนประเด็น ‘อายุรถยนต์’ เฉลี่ยบนท้องถนนที่มากขึ้น (รถยนต์นั่งส่วนบุคคลอายุเฉลี่ย 9.7 ปี รถยนต์เชิงพาณิชย์อายุเฉลี่ย 12.3 ปี) ก็ทำให้เกิดความต้องการเปลี่ยนรถใหม่ รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ของรถยนต์ที่จูงใจผู้ซื้อด้วย

โดยปัจจัยเหล่านี้จะช่วยประคองให้ยอดขายรถยนต์ฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เป็นต้นไป

ttb analytics เสนอเเนะว่า ภาครัฐและภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ควรเตรียมพร้อมด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้แรงงาน และร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาดด้วยการทำ ‘Bubble and Seal’ อย่างเป็นระบบ เพื่อรักษาซัพพลายเชนการผลิตไม่ให้หยุดชะงัก ซึ่งหากสามารถจัดการได้ ผนวกกับปัจจัยบวกพื้นฐานของกำลังซื้อรถยนต์ในประเทศ

ถ้าทำได้ คาดว่ามีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์จะสามารถกลับเข้าสู่ระดับปกติ 8.6 แสนคันได้ในปี 2565”

 

]]>
1345601
จับตา ‘คลัสเตอร์โรงงาน’ หากคุมไม่อยู่ โควิดลุกลาม-ยืดเยื้อ ฉุด ‘ส่งออก’ เสียหาย 1.9 แสนล้าน https://positioningmag.com/1344693 Fri, 30 Jul 2021 10:29:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1344693 โจทย์ใหญ่ ‘คลัสเตอร์โรงงานหากคุมไม่อยู่ โควิดลุกลามยืดเยื้อ เสี่ยงกระทบภาคส่งออกตัวหลักฟื้นเศรษฐกิจไทยต้องสะดุด เสียหายถึง 1.9 แสนล้านบาท ฉุดการเติบโตต่ำกว่า 7%  ชะลอดีมานด์ตลาดอาเซียน เเนะรัฐเร่งทำ Bubble and Sealed ฉีดวัคซีนให้แรงงานภาคการผลิตโดยเร็ว 

ข้อมูลล่าสุดจาก Thai Stop Covid โดยกรมอนามัย ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 มีโรงงานผลิตที่ต้องเผชิญกับปัญหาการติดเชื้อโควิดแล้วมากถึง 1,607 โรงงาน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 67% ซึ่งมีแรงงานจำนวนมาก มีทั้งโรงงานผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศและป้อนตลาดต่างประเทศ 

คลัสเตอร์โรงงาน จึงเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ นอกเหนือไปจากแคมป์ก่อสร้าง

โรงงานส่วนใหญ่ที่พบปัญหาการติดเชื้อจะอยู่ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยางพาราและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ

โดยประเทศไทยมีโรงงานใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้มากถึง 11,637 แห่ง มีแรงงาน 1.96 ล้านคน และมีมูลค่าตลาดต่อปีเท่ากับ 8.87 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนส่งออกกว่า 57% และจากการที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานค่อนข้างมาก เมื่อมีผู้ติดเชื้อจึงมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่กระจายสูง ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้มาตรการปิดโรงงานหยุดกระบวนการผลิตชั่วคราวได้ 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า หากมีการปิดคลัสเตอร์โรงงาน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อควบคุมการระบาด จะก่อให้เกิดการสูญเสียมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4% ของมูลค่าตลาด 

สำหรับอุปทานสินค้าป้อนตลาดจากโรงงานในอุตสาหกรรมอาหารยานยนต์ ยางพาราและพลาสติก จะได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานเร็วที่สุด เพราะมีสินค้าคงคลังน้อยกว่าช่วงปกติ

ดังนั้น หากไม่สามารถควบคุมการระบาดคลัสเตอร์โรงงานได้ ภาครัฐต้องมีการล็อกดาวน์โรงงานเพิ่มขึ้น หรือขยายระยะเวลาปิดโรงงานออกไป คาดว่าจะทำให้ปัญหา Supply Disruption ชัดเจนมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการฟื้นเศรษฐกิจครั้งนี้ 

นอกจากสินค้าส่งออกทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเเล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจอาเซียนได้รับผลกระทบจากการเผชิญกับยอดผู้ติดเชื้อโควิดใหม่เพิ่มสูงขึ้นมากขึ้น โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ส่งผลต่อความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยในช่วงครึ่งปีหลัง

การส่งออกใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกไปตลาดอาเซียน ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท

เเนะทำ ‘Bubble and Sealed’ ในโรงงาน เร่งฉีดวัคซีน สกัดความเสียหาย 

เมื่อพิจารณาประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐฯ จีน และยุโรป ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออกไปตลาดคู่ค้าหลักในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ถึง 23.4% และมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง

เหล่านี้ จะช่วยชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวลงของตลาดอาเซียนที่ในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 11.2% ส่งผลให้การส่งออกรวม 5 กลุ่มอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ประกอบกับ หากสามารถเร่งหยุดยั้งการระบาดของคลัสเตอร์โรงงานได้เร็ว จะหนุนให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยทั้งปี 2564 ขยายตัวได้ในระดับสูงที่ 9.4% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน

เเต่หากไม่สามารถควบคุมคลัสเตอร์โรงงานได้ ทำให้กระบวนการผลิตหยุดไปอีก 2 สัปดาห์ จะเกิดความเสียหาย 1.9 แสนล้านบาท เป็นปัจจัยฉุดการส่งออกทั้งปีโตได้เพียง 6.8%

ttb analytics เเนะว่า เพื่อลดการระบาดและลุกลามของคลัสเตอร์โรงงาน รัฐต้องมีกระบวนการเร่งตรวจหาและคัดแยกผู้ติดเชื้อออกจากโรงงาน เเละการทำ Bubble and Sealed เพื่อควบคุมดูแลรักษาผู้ติดเชื้อในโรงงานไม่ให้แพร่กระจายออกไป

ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานภาคการผลิตที่มีจำนวนมาก ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือดำเนินการ เพื่อให้ภาคการผลิตและส่งออกของไทยยังรักษาอัตราการเติบโตได้ต่อเนื่อง ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว

 

 

]]>
1344693