หมดเวลาเผาเงินทุน GET วางเป้าปี 2563 ดูดผู้ใช้ให้ติดแอปฯ ปั้นกำไรอย่างยั่งยืน

  • GET ประเมินปีหน้าสงครามราคาของแอปฯ บริการร่วมขับขี่ (Ride-hailing) น่าจะผ่อนคลายลง บริษัทต่างมุ่งหน้าหารายได้และกำไรที่ยั่งยืน
  • GET เองก็เช่นกัน โจทย์ใหญ่ของการไปสู่กำไร คือการเพิ่มผู้ใช้และจำนวนครั้งการใช้ รวมถึงหารายได้เสริมอื่นๆ เช่น เปิดพื้นที่ทำการตลาดของร้านอาหาร เป็นตัวกลางด้านดาต้าสำหรับปล่อยสินเชื่อธนาคาร
  • ครึ่งปีแรก 2563 เตรียมเปิด GET Pay สำหรับร้านอาหาร, GET Runner คนเดินส่งอาหาร, แอปฯ สำหรับให้ร้านอาหาร (merchants) ใช้งาน และปรับหน้าตาแอปฯ คนขับ (driver) โฉมใหม่
  • GET ยังไม่สนใจบริการแท็กซี่/รถยนต์ 4 ล้อ แต่หากกฎหมายมีการแก้ไขอาจพิจารณา

ธุรกิจบริการร่วมขับขี่ (Ride-hailing) ขนส่งคน ของ อาหาร ยิ่งดุเดือดขึ้นในปีนี้เมื่อมีหน้าใหม่อย่าง GET เข้ามาลุยตลาดช่วงต้นปี โดยเฉพาะบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ที่กลายเป็นกระแสยอดฮิตในหมู่ผู้ใช้ชาวไทย เราจึงได้เห็นสงครามราคาลดค่าขนส่งเหลือเริ่มต้น 10 บาททั้ง GET และ Grab Food ก่อนจะค่อยๆ หาทางปรับราคาขึ้นบ้างทั้งสองเจ้าในช่วงปลายปี

“ภิญญา นิตยาเกษรวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET เปิดเผยว่ามูลค่าตลาดบริการร่วมขับขี่ในปีนี้เติบโตขึ้นถึง 6 เท่าจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะ GET เริ่มเข้าสู่ตลาดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มีส่วนร่วมทำให้ตลาดโตขึ้น ส่วนในปี 2563 คาดว่าตลาดจะโตขึ้น 2 เท่า แม้อัตราการเติบโตจะน้อยลงแต่เกิดจากฐานตลาดปีนี้ใหญ่ขึ้นมากแล้ว

ทีมผู้บริหาร GET: (จากซ้าย) “ภิญญา นิตยาเกษรวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, “วงศ์ทิพพา วิเศษเกษม” ผู้อำนวยการฝ่ายแพลตฟอร์มโอเปอเรชั่น และ ก่อลาภ สุวัชรังกูร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด

อย่างไรก็ตาม ภิญญามองว่าปีหน้าเรื่องสงครามราคาอาจจะผ่อนคลายลง เพราะแหล่งเงินที่บริษัทสตาร์ทอัพมาใช้อัดโปรโมชันต่างก็มาจากผู้ลงทุนและย่อมมีวันหมด

“จากเหตุการณ์ของ WeWork ทำให้ VC ทุกแห่งคำนึงถึงความยั่งยืนในธุรกิจของบริษัทที่เขาลงทุนด้วย” ภิญญากล่าว “เราต้องแสดงให้เห็นความสามารถในการทำกำไร ไม่ใช่เผาเงินทุนของเขาไปเรื่อยๆ”

 

โจทย์ 2563: ทำให้คนใช้ GET เป็นแอปฯ หลักมากขึ้น

จากประเด็นดังกล่าว โจทย์ปี 2563 ของ GET ก็เช่นเดียวกับทุกเจ้าคือ “การหากำไร” โดย GET จะใช้ 2 แนวทางเพื่อทำกำไรคือ

1.สเกลตัวให้ใหญ่ขึ้น – แปลว่า GET ต้องมีผู้ใช้มากขึ้นและใช้แอปฯ ถี่ขึ้น โดยภิญญากล่าวว่า GET มีผู้ใช้งานเฉลี่ย 6 แสนคนต่อเดือน (ข้อมูลเดือนกันยายน 2562) และมากกว่าครึ่งหนึ่งของฐานลูกค้าใช้แอปฯ GET เป็นหลัก วัดจากพฤติกรรมการใช้เฉลี่ย 6-7 ครั้งต่อคนต่อเดือน ส่วนที่เหลือนั้น เป็นลูกค้าที่อ่อนไหวต่อโปรโมชั่น จะสลับการใช้แอปฯ ต่างๆ ตามโปรโมชั่นที่ได้ ปีหน้าบริษัทจะมุ่งเพิ่มจำนวนลูกค้าและทำให้ลูกค้าใช้แอปฯ GET เป็นหลักมากยิ่งขึ้น

2.หาช่องทางทำรายได้เพิ่ม – จากดาต้าลูกค้าที่ GET ได้มาสามารถนำไปต่อยอด เช่น ปัจจุบันแอปฯ ร่วมเป็นพันธมิตรกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารใช้ดาต้าของ GET สำหรับปล่อยกู้ระดับไมโครไฟแนนซ์ โดยวัดเครดิตของลูกค้าจากดาต้าพ้อยต์ของคนขับหรือร้านอาหารที่ GET มีให้ หรือยกตัวอย่างการจัดแพ็กเกจโฆษณาการตลาดให้กับร้านอาหารแบบเจาะกลุ่ม เพื่อให้การโฆษณากลายเป็นยอดสั่งซื้อจริงให้มากที่สุด

 

สร้างคุณภาพคนขับ-ร้านอาหาร ลดการทุ่มโปรฯ

มีเป้าแล้วจะทำอย่างไร? ภิญญาตอบว่าการทำให้ลูกค้า “ติดแอปฯ” คือต้องทำให้บริการ “มีคุณภาพ” และ “ราคาพื้นฐาน” แข่งขันได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องใช้โปรโมชันช่วย

ทั้งนี้ 80% ของทริปขนส่งในแอปฯ GET เป็นกลุ่มฟู้ดเดลิเวอรี่ ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพบริการจึงขึ้นอยู่กับสองส่วน นั่นคือ “คนขับ” ที่ GET จะพัฒนาอบรมให้บริการดียิ่งขึ้นและให้แรงจูงใจ (incentive) เป็นสวัสดิการสำหรับคนขับที่ทำได้ตามเกณฑ์ อีกส่วนคือ “ร้านอาหาร” จะเน้นความหลากหลายของประเภทร้านในพื้นที่หนึ่งๆ ให้ลูกค้าเปิดแอปฯ มาเจอร้านทุกประเภทที่อยากทาน และเน้นร้านท้องถิ่นที่ไม่ใช่เชนหลายสาขาเพราะราคาอาหารในร้านจะตรงกลุ่มลูกค้ามากกว่า

“ปีนี้คือการสร้างการรับรู้ (raise awareness) แต่จากนี้ไปคือการเติบโตอย่างยั่งยืน” ก่อลาภ สุวัชรังกูร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด GET กล่าวเสริม “ตอนนี้เรายังขาดทุน แต่เราเห็นโอกาสการทำกำไร”

“จริงๆ เรามีกำไรต่อเที่ยวการขนส่งแล้วนะครับ แต่จะคุ้มทุนทั้งหมดที่ลงไปเมื่อไหร่คงยังบอกไม่ได้ ต้องใช้เวลา” ภิญญากล่าว

 

ฟีเจอร์ 2563 จะมีอะไรใหม่?

ส่วนฟีเจอร์ใหม่ๆ ปี 2563 นั้น ภิญญาแจกแจงมาทั้งหมด 4 อย่างที่จะปล่อยในช่วงครึ่งปีแรก คือ

1.GET Pay – จะเพิ่มฟังก์ชันให้ใช้กับร้านอาหารได้ แก้โจทย์คนขับไม่มีเงินทอน หรือลูกค้าให้ฝากอาหารไว้ที่ล็อบบี้อาคาร

2.GET Runner – คนเดินส่งอาหาร ปัจจุบันทดลองตลาดแล้วพบว่าไปส่งได้ด้วยความเร็วเฉลี่ย 19 นาที

3.Merchants App – แอปฯ ฝั่งร้านอาหารเปิดใช้งาน เมื่อมีคนสั่งอาหาร ออร์เดอร์จะยิงตรงไปที่ร้านเพื่อเริ่มเตรียมอาหารได้เลย ไม่ต้องรอคนขับไปสั่ง และมีระบบ PIN 4 หลัก ให้คนขับกรอกยืนยัน ลูกค้าจะมั่นใจได้ว่ารับออร์เดอร์ถูกร้านแน่นอน ไม่มั่ว

4.Drivers App – แอปฯ ฝั่งคนขับจะปรับ UX/UI ใหม่ ใช้งานง่ายกว่าเดิม เติม Heat Maps ดูจุดที่ลูกค้าอยู่เยอะ มีตารางรวมผลรายได้ประจำวันและคาดการณ์รายเดือน

 

รอฟังผลกฎหมายใหม่ “เปิดเสรี” รถร่วมขับขี่

นอกจากนี้ภิญญายังตอบคำถามคาใจหลายๆ คนว่า “ทำไม GET ยังไม่มีบริการรถสี่ล้อเสียที” โดยเขาชี้แจงว่าบริษัทเห็นว่ารถยนต์หรือแท็กซี่ทั้งตลาดมีจำนวนเที่ยวเรียกต่อวันน้อยเกินไป อยู่ที่ 6.5 แสนเที่ยวต่อวัน เทียบกับกลุ่มสองล้อที่มีการเรียก 1.5-2 ล้านเที่ยวต่อวันเพราะสามารถใช้ขนส่งของและอาหารได้ รวมถึงรถยนต์ธรรมดายังไม่ถูกกฎหมายถ้าจะนำมาให้บริการด้วย

แต่เมื่อภาครัฐมีแนวคิดที่จะให้ไฟเขียวกลุ่มรถยนต์ทั่วไปเข้ามาให้บริการได้ถูกต้อง GET ก็อาจพิจารณาตลาดนี้ใหม่อีกครั้ง (ภาครัฐอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาออกกฎหมาย โดยตั้งธงให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนมีนาคม 2563)

ส่วนเรื่องการเปิดเสรีวินมอเตอร์ไซค์ GET เป็นแอปฯ ที่อนุญาตเฉพาะวินมอเตอร์ไซค์ถูกต้องตามกฎหมายเข้ามาร่วมรับส่ง “คน” อยู่แล้ว

ดังนั้นภิญญาจึงมองว่ากฎหมายเปิดเสรีวินมอเตอร์ไซค์ที่อาจจะพิจารณาเป็นฉบับต่อไป ขอแค่เพียงแก้ไขให้พี่วินเสื้อส้มไปรับคนตรงไหนก็ได้โดยไม่ต้องมีสังกัดประจำก็เพียงพอ