ปิดกิจการ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 25 Dec 2023 04:37:49 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ไปไม่ถึงฝัน! “Hyperloop One” เตรียมปิดบริษัทสิ้นปีนี้ หลังพลาดโอกาสทำสัญญาเส้นทางยุโรป-จีน https://positioningmag.com/1457017 Sat, 23 Dec 2023 06:28:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1457017 “อีลอน มัสก์” เปิดตัวคอนเซ็ปต์ “Hyperloop” เมื่อทศวรรษก่อน ด้วยนวัตกรรมใหม่รถไฟท่อสุญญากาศที่ใช้แรงดูดในการเคลื่อนที่ จึงเรียกเสียงฮือฮาจากนักลงทุนและผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่มาถึงวันนี้บริษัทกลับไปไม่ถึงฝั่งฝันและจะปิดตัวลงในช่วงสิ้นปี 2023

หลังจากมัสก์นำเสนอเปิดตัว Hyperloop แล้ว เขาไม่ได้จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ แต่ออก ‘white paper’ อธิบายไอเดียคอนเซ็ปต์ของตัวเอง เอกสารนี้กลายเป็นเหมือนพิมพ์เขียวสิ่งประดิษฐ์นี้และนำมาสู่การจัดตั้งบริษัท Hyperloop One ในปี 2014

บริษัทนี้ตั้งใจจะสร้างรถไฟ Hyperloop เพื่อเชื่อมต่อทวีปยุโรปเข้ากับประเทศจีน ส่งตู้สินค้าผ่านเส้นทางข้ามทวีปได้ภายในวันเดียว จากเดิมที่ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ เริ่มแรก Hyperloop One เข้าไปเจรจากับเมืองมอสโกเพื่อสร้างเส้นทางที่ถูกนำเสนอว่าจะเป็น “เส้นทางสายไหมปฏิรูปใหม่”

แผนดั้งเดิมของเส้นทางจะไม่ได้มีแค่ตู้สินค้า แต่รถไฟจะขนส่งผู้โดยสารได้ด้วย โดยมีการออกแบบ “พ็อด” ที่นั่งโดยสารส่งเข้าไปในท่อ พ็อดนี้จะเดินทางด้วยความเร็วเทียบเท่ากับเครื่องบิน ทำให้ในปี 2017 “ริชาร์ด แบรนสัน” มหาเศรษฐีชื่อดังเข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัท และแปลงชื่อบริษัทเป็น “Virgin Hyperloop One”

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2022 แบรนสันดึงชื่อแบรนด์ Virgin ของเขาออกจากบริษัท เพราะกลุ่มผู้ก่อตั้งเปลี่ยนทิศทางมามุ่งมั่นให้ท่อรถไฟนี้ส่งเฉพาะตู้สินค้าอย่างเดียว ยกเลิกความพยายามที่จะขนส่งผู้โดยสารด้วย

หลังจากนั้น Hyperloop One ก็ยังไม่สามารถคว้าโอกาสทำสัญญาเส้นทางสร้างรถไฟได้จริงเสียที จนนำมาสู่การตัดสินใจ “ปิดบริษัท”

พนักงานส่วนใหญ่ถูกเลย์ออฟจากบริษัทไปแล้วเพื่อเตรียมปิดกิจการ พนักงานที่ยังเหลืออยู่ขณะนี้มีอยู่เพื่อขายสินทรัพย์และเครื่องจักรต่างๆ ในบริษัทออกให้หมด และทุกคนจะถูกเลิกจ้างถาวรหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2023

Source

]]>
1457017
ธุรกิจไทย “รายได้หด” ส่อผิดนัดชำระหนี้พุ่ง กิจการ “ซมไข้ยาวนาน” อีก 2 ปียัง “ฟื้นตัวช้า” https://positioningmag.com/1301564 Thu, 15 Oct 2020 07:18:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1301564 พิษไวรัสซ้ำเเผลเศรษฐกิจ ประเมินยอดขายภาคธุรกิจไทยปี 2563 หดตัวลึก 9% มองอีก 2 ปีข้างหน้ายัง “ฟื้นตัวจำกัด” กดดันความสามารถชำระหนี้ เสี่ยงทำให้มีธุรกิจ “ซมไข้ยาวนาน” เพิ่มจาก 9.5% ของกิจการทั้งหมดในปี 2562 เป็น 26% ภายในปี 2565 จับตา Zombie Firm “โรงแรม-อสังหาริมทรัพย์” น่าห่วงสุด

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาคธุรกิจของไทย โดยเฉพาะผลกระทบจาก COVID-19 สะท้อนต่อรายได้ครึ่งปีแรก 2563 ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ลดลง 13.5% ขณะที่ภาคธุรกิจไทยยอดขายทั้งปี 2563 จะหดตัวถึง 9%

เมื่อรายได้และยอดขายของภาคธุรกิจลดลง เป็นปัจจัยที่สร้างความกดดันต่อความสามารถในการชำระหนี้ และความเสี่ยงทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น

จากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินในระดับรายบริษัทกว่า 2 แสนราย พบว่า อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio : ICR) ซึ่งสะท้อนว่ากิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหนนั้น ในภาพรวมจะลดลงจาก 3.62 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่า ในปี 2563 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม อีกทั้งกิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือมี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า จะมีสัดส่วนมากถึง 28-30% ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

Photo : Shutterstock

“สถานการณ์เศรษฐกิจซบเซาที่มีแนวโน้มลากยาว อาจส่งผลให้กิจการ “ซมไข้ยาวนาน” หรือที่เรียกว่า Zombie Firm ซึ่งเป็นกิจการที่มี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 9.5% ของกิจการทั้งหมด ในปี 2562 เป็น 14% ของกิจการทั้งหมดในปี 2563 และจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 26% ภายในปี 2565”

สำหรับธุรกิจที่เปราะบาง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจสื่อและความบันเทิง, ธุรกิจเครื่องหนังและรองเท้า, ธุรกิจเครื่องสำอาง, ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยกลุ่มธุรกิจที่เปราะบางมีความเสี่ยงที่จะอ่อนแอลงต่อเนื่อง หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ

โดยปัจจัยหลักในการฟื้นตัว ยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและพัฒนาการของเศรษฐกิจโลก แนวโน้มกำลังซื้อในประเทศ ภาวะการมีงานทำ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน 

Krungthai COMPASS มองสถานการณ์เศรษฐกิจไทยว่า ต้องใช้เวลา 2-3 ปีจึงจะฟื้นตัว โดยเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวจะส่งผลต่อการส่งออกยังหดตัวสูง และการว่างงานอาจสูงขึ้น โดยคาดว่าปี 2563 จีดีพีไทยจะหดตัวที่ 9.1% และทยอยปรับตัวดีขึ้นโดยปี 2564 จะอยู่ที่ 4.1% ปี 2565 GDP จะขยายตัวที่ 6% และปี 2566-2568 จะอยู่ที่ 3% 

หากจะมองในมุมมองของนักลงทุนในตลาดทุนจากการสำรวจ พบว่า จากช่วงที่มีสถานการณ์ล็อกดาวน์ดัชนีตลาดหุ้นไทย -28.7% ปัจจุบันอยู่ที่ -21% โดยกลุ่มที่ลดลงมากได้แก่ อุตสาหกรรมการเงิน ทรัพยากร และอสังหาริมทรัพย์และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ฟื้นตัวบ้างหรือติดลบน้อยเป็นกลุ่ม อุปโภคบริโภค เกษตร-อาหาร และเทคโนโลยี

ขณะที่ดัชนีตลาด Nasdaq ช่วงล็อกดาวน์อยู่ที่ -14% ปัจจุบัน +13% กลุ่มที่บวกจะอยู่ในกลุ่มคอนซูเมอร์ เทคโนโลยี ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าการที่ตลาดหุ้นไทยยังไม่ฟื้นหลังคลายล็อกดาวน์แล้ว เพราะมีธุรกิจที่สอดรับกับพฤติกรรม New Normal น้อยกว่า

Photo : Shutterstock

ขณะที่มาตรการรัฐในระยะต่อไปที่ต้องดำเนินนโยบายต่างๆ Krungthai COMPASS มองว่า จากผลกระทบในแต่ละกลุ่มที่รุนแรงไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องมีความเฉพาะเจาะจง ในแต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงและยังมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวยากให้มากขึ้น จากเดิมที่เป็นมาตรการในวงกว้าง เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่จะออกมาไม่ว่าจะเป็นโครงการ “คนละครึ่ง” “ช้อปดีมีคืน” และการต่ออายุมาตรการสนับสนุนท่องเที่ยว ก็ถือว่าตรงจุดในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการป้องกันปัญหา Moral Hazard ที่อาจจะตามมาได้ โดยควรให้การสนับสนุนในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากเงินทุนควบคู่ไปด้วย เช่น การยกเครื่องธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่กับการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสในตลาดศักยภาพใหม่ๆ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดรับกับบริบท New Normal ต่อไป

 

]]>
1301564
จับชีพจร “ตลาดเเรงงานไทย” ตกงานมากสุดในรอบ 11 ปี ธุรกิจ “เจ๊ง” พุ่ง คนอายุน้อยไม่มีงานทำ https://positioningmag.com/1300013 Mon, 05 Oct 2020 10:55:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1300013 วิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดแรงงาน นำไปสู่การ “ตกงาน” ของคนจำนวนมากในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ถึง 7.5 แสนคน คิดเป็นกว่า 1.95% ต่อกำลังแรงงานรวม ถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี เเละยังมีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวจำนวนสูงถึง 2.5 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ คนรุ่นใหม่เสี่ยงตกงานยาว รับค่าจ้างต่ำ ธุรกิจ “ทนไม่ไหว” ปิดกิจการพุ่ง

ตลาดเเรงงานไทย ทรุดซ้ำ “เเผลเก่า” 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ “ประเมิน 4 สัญญาณความอ่อนแอของตลาดแรงงานไทย หลังคลายล็อกดาวน์” ไว้อย่างน่าสนใจ

โดยมองว่า ตลาดแรงงานไทยมีความอ่อนแออยู่แล้วตั้งแต่ก่อนวิกฤต จากจำนวนผู้มีงานทำและจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ย ที่มีแนวโน้มลดลงตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน และการออกจากกำลังแรงงาน ตามแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สะท้อนว่ารายได้จากการทำงานของคนไทยในภาพรวม…ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก

และเมื่อเข้าสู่ช่วงวิกฤต COVID-19 ที่เศรษฐกิจทรุดตัวลงรุนแรงในช่วงครึ่งแรกปี 2020 ตลาดแรงงานที่มีความอ่อนแออยู่เป็นทุนเดิม ยิ่งได้รับแรงกดดันเพิ่มมากขึ้น แม้ล่าสุดตลาดแรงงานจะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นบ้างจากอัตราการว่างงานที่ลดลง แต่สถานการณ์โดยรวมก็ยังถือว่า “ซบเซา” กว่าในอดีตอยู่ค่อนข้างมาก สะท้อนจาก 4 สัญญาณความอ่อนแอที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ 

(1) อัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมยังคงเพิ่มสูงขึ้น
(2) กลุ่มแรงงานอายุน้อย 15-24 ปี ยังมีปัญหาการว่างงานในระดับสูง
(3) จำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวยังสูงกว่าในอดีตมาก
(4) สัดส่วนการทำงานต่ำระดับยังคงเพิ่มขึ้น

Photo by Lauren DeCicca/Getty Images

คนหันไป “ทำงานนอกระบบ-รายได้น้อยลง” มากขึ้น

ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2020 ที่เศรษฐกิจไทยอยู่ ณ จุดต่ำสุดและมีการล็อกดาวน์ในวงกว้าง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากต้องหยุดชะงัก สถานการณ์ในตลาดแรงงานจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในทันที

โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.5 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าถึงเกือบเท่าตัว โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ว่างงานในทุกอุตสาหกรรม ส่งผลให้อัตราการว่างงานในภาพรวมเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 2.0% ต่อกำลังแรงงานรวม จากเพียง 1.0% ในไตรมาสก่อนหน้า ถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี

ทั้งนี้หลังจากที่รัฐบาลได้มีการคลายล็อกดาวน์ หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงได้กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ทิศทางของอัตราการว่างงานในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งผ่านพ้นการล็อกดาวน์ไปแล้วกลับยังคงอยู่ในแนวโน้มถดถอย โดยอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอยู่ที่ 2.2% ด้วยจำนวนผู้ว่างงานสูงถึง 8.3 แสนคน

อัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2020 ลดจากจุดสูงสุดเพียงเล็กน้อย และยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม ยังอยู่ที่ 1.9% ต่อกำลังแรงงานรวม จากจำนวนผู้ว่างงานที่ลดลงมาอยู่ที่ 7.2 แสนคน

อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม ยังถือเป็นอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับที่สูงหากเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต (ช่วงปี 2013-2019) ที่อยู่ที่เพียงราว 1.0% ต่อกำลังแรงงานรวม สะท้อนว่าตลาดแรงงานยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะปกติ

แรงงานในระบบประกันสังคม ปัญหาการว่างงานยังคงเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานตามระบบประกันสังคมในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 3.9% ต่อแรงงานประกันสังคมมาตรา 33 ทั้งหมด เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากอัตราการว่างงานในไตรมาส 2 และเดือนกรกฎาคมปีนี้ที่อยู่ที่ 2.8% และ 3.7% ตามลำดับ

“การสวนทางกันของการว่างงานในระบบที่เพิ่มขึ้นกับการว่างงานภาพรวมที่ลดลงอาจกำลังบ่งชี้ว่า ลูกจ้างในระบบที่ตกงานมีการย้ายไปสู่การเป็นแรงงานนอกระบบมากขึ้น เช่น อาชีพอิสระ งานรับจ้าง หรือธุรกิจส่วนตัว ซึ่งอาจมีรายได้ที่น้อยกว่า ได้รับสวัสดิการที่ครอบคลุมน้อยกว่าหรือไม่มีเลย รวมไปถึงโอกาสในการเข้าถึงการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่น้อยกว่าแรงงานในระบบ” 

คนรุ่นใหม่…เสี่ยงตกงาน ยอมรับค่าจ้างต่ำ  

ความน่ากังวลหนึ่งที่สำคัญคือ การว่างงานของแรงงานอายุน้อย (อายุ 15-24 ปี) ของไทย อยู่ในระดับที่สูงกว่ากลุ่มอายุอื่นมาโดยตลอด

ในวิกฤต COVID-19 ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยอัตราการว่างงานของกลุ่มแรงงานอายุน้อยได้เพิ่มขึ้นไปเป็น 8.6% ต่อกำลังแรงงานอายุน้อยทั้งหมดในไตรมาส 2 ปี 2020 และเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องไปที่ระดับ 9.8% ในเดือนกรกฎาคม สอดคล้องกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอย่าง สหรัฐฯ ที่การจ้างงานของแรงงานอายุน้อย ก็ได้รับผล
กระทบมากกว่าแรงงานกลุ่มอายุอื่น ๆ

“แรงงานอายุน้อย ส่วนใหญ่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานและการว่างงาน จะทำให้เกิดการขาดช่วงของการสร้างทักษะและสั่งสมประสบการณ์จากการทำงาน เสียเปรียบในการแข่งขันหางานกับกลุ่มแรงงานอายุมากกว่าที่มีประสบการณ์การทำงานที่มากกว่า ซึ่งอาจยอมลดค่าจ้างของตนเองเพื่อให้ได้งานโดยเร็ว” 

กลับไปทำงานไม่ได้… ยอด “หยุดงานชั่วคราว” ยังพุ่ง 

จำนวนผู้ที่ยังมีงานทำแต่ต้องหยุดงานชั่วคราว (furloughed workers) ที่มีจำนวนถึง 2.5 ล้านคนในช่วงล็อกดาวน์ลดลงบ้างแต่ยังสูงกว่าระดับปกติ ในไตรมาส 2 ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดแรงงานได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจ มาตรการล็อกดาวน์ และการหยุดชะงักของกิจกรรมการผลิต ทำให้หลายกิจการมีการพักงานลูกจ้าง

“คนทำงานอิสระจำนวนมากไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ ส่งผลให้จำนวนผู้ที่ยังมีงานทำแต่ต้องหยุดงานชั่วคราว (furloughed workers) จึงเพิ่มขึ้นไปอยู่สูงถึง 2.5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 82.4% ระบุว่าไม่ได้รับค่าจ้าง”

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ หลายกิจการได้กลับมาดำเนินการตามปกติ ส่งผลให้จำนวน furloughed workers ก็ลดลงไปอยู่ที่ 7.5 และ 4.4 แสนคน ในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ตามลำดับ

Photo : Shutterstock

แต่จำนวน furloughed workers ในช่วง 2 เดือนล่าสุดก็ยังถือว่าอยู่สูงกว่าหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวนอยู่ที่เพียงราว 1-1.5 แสนคนเท่านั้น ส่วนหนึ่งคาดว่ามีสาเหตุมาจากการที่หลายกิจการยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้เท่าศักยภาพในอดีต จึงยังไม่สามารถดูดซับแรงงานที่ต้องหยุดงานในช่วงล็อกดาวน์ได้หมด

การเพิ่มขึ้นของจำนวน furloughed workers นับเป็นอีกความน่ากังวลของตลาดแรงงานไทย เพราะบางส่วนอาจกลายเป็นคนตกงานได้ในท้ายที่สุด หากกิจการขาดสภาพคล่องจนต้องลดคนหรือปิดกิจการ

ช่วงโมงการทำงานลด – รายได้ลด

แนวโน้มของสัดส่วนการทำงานต่ำระดับที่มากขึ้นจากช่วงล็อกดาวน์ ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ในไตรมาส 2 งานเต็มเวลา (งานที่ทำตั้งแต่ 35 ถึงไม่เกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และงานล่วงเวลา (งานที่ใช้เวลาทำมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไปหรืองานโอที) มีจำนวนลดลงรวมกันสูงถึง 4.8 ล้านคน

ขณะที่จำนวนงานต่ำระดับ (งานที่ทำเกิน 0 ถึงไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) รวมถึงจำนวนการหยุดงานชั่วคราวกลับเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 4.1 ล้านคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม งานเต็มเวลาและล่วงเวลาก็ยังคงลดลง ขณะที่งานต่ำระดับยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยงานเต็มเวลาและล่วงเวลาลดลงประมาณ 2.1 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่งานต่ำระดับเพิ่มขึ้นถึง 1.9 ล้านคน

แนวโน้มดังกล่าวนี้ เป็นอีกหนึ่งเครื่องชี้ที่สะท้อนถึงกำลังในการจ้างงานของภาคเอกชนที่ถดถอยลง จึงไม่สามารถจ้างงานเต็มเวลาและล่วงเวลาในจำนวนที่มากเท่าในช่วงก่อนหน้าได้  รวมถึงอาจเป็นผลของการ “ออกนอกระบบ” ของแรงงานที่เคยทำงานประจำที่มีชั่วโมงทำงานสูงกว่า ไปสู่งานอิสระที่มักมีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวนี้สะท้อนว่ารายได้ของแรงงานมีแนวโน้มลดลง และยังไม่ฟื้นตัว

อนาคตตลาดแรงงานไทย – ธุรกิจแห่ปิดกิจการ 

ปัญหาการว่างงานจะยังคงอยู่ในระดับสูงและ “ฟื้นตัวได้ไม่เร็ว” จากแนวโน้มการปิดกิจการของภาคธุรกิจที่ยังเร่งตัว ในช่วงวันที่ มกราคม – 28 สิงหาคม 2020 มีจำนวนธุรกิจที่แจ้งเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารวมทั้งสิ้นราว 1.4 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 9.1จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ถึงแม้จะมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้ว การปิดกิจการก็ยังเพิ่มในอัตราที่เร่งขึ้น

โดยในช่วงเดือนมิถุนายนกรกฎาคม การปิดกิจการขยายตัวที่ 29.2%YOY และในช่วง 28 วันแรกของเดือนสิงหาคม ก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราเร่งที่ 34.5%YOY

คาดว่าเป็นผลมาจากการขาดรายได้ของกิจการขณะที่สภาพคล่องมีไม่เพียงพอ กิจการที่ปิดตัวลงนี้จะส่งผลทำให้แรงงานในกิจการนั้น ๆ ต้องว่างงานลง ขณะที่กำลังการดูดซับแรงงาน (จ้างงาน) ของภาคธุรกิจมีลดน้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจที่มีส่วนทำให้การเปิดกิจการของภาคธุรกิจก็ลดน้อยลงตามไปด้วย โดยในช่วงวันที่ มกราคม – 28 สิงหาคม 2020 จำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ลดลง -12.5%YOY

สอดคล้องกับข้อมูลประกาศรับสมัครงานบนเว็บไซต์ Jobsdb.com ที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 27 ก.ย.-3 ต.ค.) จำนวนประกาศรับสมัครงานเฉลี่ยยังต่ำกว่าช่วงสัปดาห์ก่อนมีมาตรการปิดเมือง (วันที่ 21-27 มี.ค.) ถึง -20.8%

โดยต่ำกว่าในทุกอุตสาหกรรมและระดับเงินเดือน สะท้อนให้เห็นว่าภาวะการจ้างงานยังคงซบเซาเป็นวงกว้าง แม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์จะถูกผ่อนคลายลงมากแล้วก็ตาม

คาดว่าในระยะข้างหน้ารายได้ภาคธุรกิจยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่พึ่งพารายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ต้องรอความชัดเจนในด้านการพัฒนาวัคซีน และการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้แนวโน้มการเปิด-ปิดกิจการจะยังคงซบเซา และกระทบต่อการจ้างงานในระยะถัดไป

EIC มองว่า ความล่าช้าในการฟื้นตัวของตลาดแรงงานนี้จะส่งผลให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้า กระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ และยังอาจส่งผลให้ศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาวลดลง นโยบายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการในระยะสั้นเพื่อประคับประคองการจ้างงาน และนโยบายเชิงโครงสร้างเพื่อจัดสรรแรงงานที่จะมีการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนอุตสาหกรรม (relocate) เป็นจำนวนมาก รวมถึงพัฒนาทักษะแรงงานให้มีผลิตภาพ (productivity) สูง และสอดคล้องกับความต้องการภาคธุรกิจในอนาคต

“ตลาดแรงงานไทยยังอยู่ในภาวะซบเซา การประคับประคองตลาดแรงงานเป็นสิ่งจำเป็น โดยการเพิ่มทักษะและปรับทักษะ (upskill and reskill) ของแรงงานเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่ เพื่อยกระดับแรงงานไทยในระยะยาว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้”

 

 

]]>
1300013
SCB หั่น GDP หดตัวอีก -7.8% ซ้ำ “แผลเป็น” เศรษฐกิจไทย ระวังปิดกิจการ-ว่างงานพุ่งสิ้นปี https://positioningmag.com/1296786 Mon, 14 Sep 2020 10:22:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1296786 SCB EIC ปรับลดเป้าจีดีพีไทยปี 2563 อีกรอบ ติดลบมากขึ้นเป็น -7.8% จากเดิม -7.3% หลังผลกระทบวิกฤต COVID-19 สร้างแผลเป็นใหญ่ต่อระบบเศรษฐกิจ จับตาปัจจัยความเสี่ยงเพิ่ม ธุรกิจเร่งปิดกิจการมากขึ้น ดันอัตราว่างงานพุ่งสิ้นปี เร่งรัฐดูแลแรงงาน 2.5 ล้านคน ห่วงหนี้ครัวเรือนไต่ระดับเพิ่มเป็น 88% คาดเงินบาทจะอยู่ที่ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลง เป็นไปตามที่คาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากยังมีอุปสรรคต่อการฟื้นตัวอีกหลายประการ เเม้เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 มาเเล้วก็ตาม

จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ ที่ EIC ปรับลดคาดการณ์ลงเหลือเพียง 6.7 ล้านคน ตามนโยบายควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ ที่ยังไม่มีแนวโน้มผ่อนคลาย

อีกทั้งเม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่มีแนวโน้มเข้าสู่เศรษฐกิจในปีนี้น้อยกว่าที่คาด (ประมาณ 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดประมาณ 6 แสนล้านบาท) รวมถึงเม็ดเงินช่วยเหลือที่จะน้อยลงมากในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาหน้าผาทางการคลัง (Fiscal cliff) และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ยังต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง

Photo : Shutterstock

นอกจากนี้ ยังต้องระวังการปิดกิจการในภาคธุรกิจที่เร่งตัวขึ้น ความเปราะบางในตลาดแรงงาน สะท้อนจากตัวเลขอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และจำนวนชั่วโมงการทำงานรวมที่ลดลงมากจนน่าเป็นห่วง

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่เศรษฐกิจยังซบเซาและมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ครัวเรือนมีพฤติกรรมเก็บออม (precautionary saving) มากขึ้นส่งผลต่อการฟื้นตัวของบริโภคภาคเอกชนด้วยเช่นกัน

ปัจจัยเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 เป็น -7.8% จากเดิมคาดติดลบเพียง 7.3% ขณะที่เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะหดตัวที่ -4.0%”

ส่งออกติดลบยาว – ไทยเที่ยวไทย โรงเเรมเล็กฟื้นเร็ว 

จากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ที่หดตัวสูงถึง -12.2% ต่ำสุดในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่วิกฤตต้มยากุ้ง (Q2/1998)  ซึ่งอยู่ที่ -12.5% ทำให้มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวได้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ท่ี่ออกมาเท่านั้น

โดย “ภาคการส่งออก” ของไทยเร่ิมปรับดีข้ึนหลังผ่านจุดต่ำสุด แต่การฟื้นตัวมีความแตกต่างกันในรายประเภทสินค้า เช่น สินค้าที่ขยายตัวได้ดีในจีน ได้เเก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง รถยนต์และส่วนประกอบ เเละผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าที่ขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ ได้เเก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด อาหารทะเลกระป๋อง คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดอีกระลอกของ COVID-19 ในประเทศคู่ค้าหลัก เป็นอีกปัจจัยที่อาจชะลอการฟื้นตัวของการส่งออกไทย โดยในปี 2663 EIC คาดว่ามูลค่าส่งออกจะหดตัวที่ -10.4%

ด้านการท่องเที่ยวจากต่างชาติยังคงซบเซาต่อเนื่อง โดย EIC ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีนี้ เหลือเพียง 6.7 ล้านคน (-83%YOY) ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศจากคนไทย เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวหลังมาตรการปิดเมืองผ่อนคลาย

“โรงแรมขนาดเล็กและราคาถูก จะฟื้นตัวเร็วกว่าโรงเเรมระดับ 4-5 ดาวที่เคยจับกลุ่มลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก โดยอัตราการเข้าพักของโรงแรมในจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงกลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือ มีการฟื้นตัวที่เร็วกว่าพื้นที่อื่น” 

จำนวน “ผู้เยี่ยมเยือน” ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของไทยฟื้นตัวขึ้นชัดเจน ยกเว้นพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กลุ่มจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออกและจังหวัดท่องเที่ยวทางภาคใต้ฝั่งอันดามันยังฟื้นตัวช้า โดยจังหวัดที่ฟื้นตัวเร็วที่สุดคือ เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีกระกระตุ้นการท่องเที่ยวเเบบโลคอลที่น่าสนใจ

ยอดปิดกิจการพุ่ง “เเรงงานอายุน้อย” ตกงาน 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปแบบช้า เนื่องจากยังมีหลายอุปสรรคกดดัน โดยเฉพาะผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจหรือ scarring effects ที่เกิดจากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 

ในช่วงที่ผ่านมา การเปิดกิจการลด แต่การปิดกิจการเพิ่มขึ้นในช่วง 33 สัปดาห์แรกของปีนี้ เเละเพิ่มขึ้น 38.4% ในช่วงเดือน มิ.ย. – ก.ค. 

“การปิดกิจการที่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงจะซ้ำเติมอีกแผลเป็นทางเศรษฐกิจซึ่งก็คือ ความเปราะบางของตลาดแรงงาน” 

จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 2 พบว่า อัตราผู้ว่างงานอยู่ที่ 7.45 แสนคน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่เร่งเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นไปที่ 1.95% นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี นอกจากนั้น รายได้ของแรงงานที่ยังมีงานทำก็มีแนวโน้มหดตัวลงมากจากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง (-11.5%YOY) ตามจำนวนงานเต็มเวลาและงานโอทีที่หายไป

โดยบางส่วนกลายเป็นงานต่ำระดับ (underemployment) ขณะที่มีจำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราว (furloughed workers) เพิ่มขึ้นสูงถึง 2.5 ล้านคน สะท้อนความอ่อนแอของตลาดแรงงานที่มีในระดับสูง

ทั้งนี้ จำนวนการว่างงานขึ้นในทุกอุตสาหกรรม โดยหมวดโรงแรมและร้านอาหาร มีจำนวนเพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานที่สูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพราะได้ผลกระทบจาก COVID-19 ท่ี่รุนแรงกว่า ขณะเดียวกันปัญหาการว่างงานในกลุ่ม “แรงงานอายนุ้อย” ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและอาจนำไปสู่ปัญหาการว่างงานระยะยาว

“หากระดับการปิดกิจการและการว่างงานเพิ่มขึ้นในระดับสูงและยืดเยื้อ ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ การบริโภค และการลงทุน ซึ่งนับเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ” 

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงพฤติกรรม “การออมเพื่อรองรับความเสี่ยง” ในอนาคต (precautionary saving) หลังระดับเงินฝากที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในทุกขนาดบัญชีหลังการระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะในช่วงต้ังแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นมา สะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่มีการเน้นเก็บออมในช่วงเวลาวิกฤต ทำให้ประชาชนจะระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลให้เงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจลดลง

 

ห่วง “หนี้ครัวเรือน” ไต่ระดับเพิ่มเป็น 88%

ด้านรายได้ภาคครัวเรือนที่ “หดตัว” สะท้อนจากวิกฤตในตลาดแรงงาน ขณะเดียวกันยังคงมีหนี้สูง และกันชนทางการเงินต่ำเป็นทุนเดิม

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนจากต้นปี สัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่ 80% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 88-89% ต่อจีดีพี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากรายได้ที่หดตัว และในจำนวนนี้กันชนทางการเงินไม่พอมีมากกว่า 60% ที่มีเงินใช้ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น”

ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นไปอย่างช้าๆ โดยมองว่าการบริโภคเอกชนจะหดตัว -2.3%

ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพในธุรกิจท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากที่สุด ซึ่งในกลุ่มนี้มีรายจ่ายและหนี้ครัวเรือนเกิน 1 ใน 5 ของทั้งหมด และมีความเปราะบางทางการเงิน

“EIC คาดการบริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากรายได้ การจ้างงาน ความเชื่อมั่นที่ลดลงมาก เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชน ที่ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากอุปสงค์ที่ซบเซา ความไม่แน่นอนที่สูง และงบดุลภาคธุรกิจที่แย่ลง”

SME เข้าไม่ถึงสินเชื่อ คาดกนง.คงดอกเบี้ยยาวถึงปี 64

ด้านสภาพคล่องในระบบการเงินโดยรวมยังคงปรับดีขึ้น สะท้อนจากงบดุล ธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เเละยังมีมาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำออกมาสนับสนุน เป็นผลให้ปริมาณเงินในระบบปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินปรับลดลงต่อเนื่องตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ภาวะการเงินผ่อนคลายลงได้บ้าง

อย่างไรก็ดี corporate spread ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ความกังวลของนักลงทุนจะปรับลดลงบ้าง จากมาตรการภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุน นอกจากนี้ปริมาณการออกตราสารหนี้ ภาคเอกชนปรับลดลงอย่างมีนัย และปริมาณการออกตราสารทุนในตลาดแรกปรับลดลงมาก

สินเชื่อธุรกิจ SME ส่วนใหญ่หดตัวลง (โดยเฉพาะขนาดเล็กที่วงเงินต่ำกว่า 20 ล้านบาท) ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญยังขยายตัวได้ดี สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกพอร์ตสินเชื่อ ด้านสินเชื่อด้อยคณุภาพ (NPLs) และสินเชื่อ Stage2 ยังทรงตัวจากไตรมาสก่อนจากมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ

EIC ประเมินว่า แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องผ่านเครื่องมืออื่น ๆ อีก

“กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในช่วงปี 2563-64 หลังเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เพื่อรักษาขีดความสามารถของการดำเนินนโยบายการเงินไว้” 

อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายนโยบายการเงิน ยังมีต่อเนื่องมาตรการที่อยู่อาศัย Balance Sheet ของ ธปท. (เช่น มาตรการ Soft loan and BSF) และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายการเงิน เช่น มาตรการเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้และช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย

ขณะที่แรงกดดันด้านแข็งค่าต่อ “เงินบาท” ยังคงมีอยู่ โดยเงินบาทอ่อนค่าในปีนี้จาก risk-off sentiment ซึ่งเป็นผลกระทบของ COVID-19 อย่างไรก็ดี ดัชนีค่าเงินบาทเทียบกับประเทศคู่ค้า ยังคงแข็งค่าค่อนข้างมากนับจากปี 2557

“EIC คาดเงินบาท ณ สิ้นปี 2563 จะอยู่ที่ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกชะลอลง อย่างไรก็ตาม มูลค่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง ทำให้เงินบาทไม่แข็งค่ามากนัก” 

Photo : Freepik

เศรษฐกิจโลกฟื้นช้า บริษัทแจ้งล้มละลายสูง 

ด้านมุมมองต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในระยะถัดไปนั้น EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุดมาเเล้วในไตรมาสที่ 2 แต่ล่าสุดการฟื้นตัวเริ่มชะลอลงจากการกลับมาปิดเมืองบางพื้นที่ ซึ่งทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป (U-shaped recovery) เนื่องจากยังมีผลกระทบจากการปิดกิจการและตลาดแรงงานที่อ่อนแอ ซึ่งจะสร้างผลกระทบให้กับระบบเศรษฐกิจในอีกหลายประเทศ ทั้งระยะสั้นเเละระยะยาว

“เศรษฐกิจโลกปรับฟื้นตัวในอัตราท่ี่ชะลอลง โดยยอดใช้บัตร เครดิตเเละเดบิตในสหรัฐฯ ปรับชะลอลง การบริโภคภาคบริการในญี่ปุ่นฟื้นตัวช้า และการลงทุนภาคการผลิตของจีนยังคงต่ำ”

การล้มละลายของธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก โดยในสหรัฐฯ พบว่าจำนวนบริษัทขนาดใหญ่ที่แจ้งล้มละลายอยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ GFC ส่วนในญี่ปุ่นพบว่า บริษัทที่แจ้งล้มละลายปรับสูงขึ้นรวดเร็วหลังเกิด COVID-19 แต่ชะลอลงบ้าง หลังมีการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

“ในระยะต่อไปที่การล้มละลายจะยังอยู่ในระดับสูง อัตราการว่างงานทั่วโลกก็มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงเช่นกัน” 

โดยธนาคารกลางหลัก เช่น Fed และ ECB ส่งสัญญาณการเก็บอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน พร้อมผ่อนคลายนโยบายการผ่านมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น มาตรการที่เกี่ยวกับ Balance sheet ของธนาคารกลาง (QE และ Soft loan เป็นต้น)

ความเสี่ยงที่น่าจับตามอง เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ท่ี่เริ่มหมดอายุลงหรือต่ออายุช้าหรือในขนาดเล็กลง ทำให้เกิดหน้าผาทางการคลัง (fiscal cliff) นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงการกลับมาระบาดของ COVID-19 เเละระยะเวลาในการค้นพบและนำมาใช้อย่างทั่วถึงของวัคซีน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

รวมไปถึง ความไม่แน่นอนทางนโยบายมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย. หาก Joe Biden ชนะตามโพลที่นำอยู่ล่าสุด นโยบายการขึ้นภาษีนิติบุคคลและนโยบายการค้ากับจีน จะเป็นนโยบายสำคัญที่มีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินโลกในระยะถัดไป

 

อ่านฉบับเต็ม SCB EIC : Outlook ไตรมาส 3/2020 (ที่นี่)

 

]]>
1296786
ยื้อไม่ไหว ! สายการบินราคาประหยัด “Tigerair Australia” ประกาศเลิกกิจการ หลังเจอมรสุม COVID-19 https://positioningmag.com/1291362 Thu, 06 Aug 2020 07:45:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1291362 โบกมือลาอุตฯการบินไปอีกราย เมื่อสายการบินราคาประหยัดอย่าง “Tigerair Australia” ประกาศหยุดกิจการหลังดำเนินธุรกิจมากว่า 13 ปี สาเหตุหลักมาจากผลกระทบของ COVID-19 ที่สะเทือนการเดินทางของคนทั่วโลก

Tigerair Australia ระบุในเเถลงการณ์ว่า นับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว ด้วยผลกระทบอย่างรุนเเรงจากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้สายการบินมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการ หลังเปิดให้บริการมานาน 13 ปี ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้นำเสนอทางเลือกของการเดินทางราคาประหยัดให้กับลูกค้ามากกว่า 30 ล้านคน เเละขอขอบคุณทุกคนที่คอยให้การสนับสนุนตลอดมา

ความต้องการในการเดินทางของผู้คนลดลงอย่างมาก จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อการเปิดให้บริการต่อได้ โดยคู่เเข่งรายสำคัญอย่าง Jetstar ก็กำลังประสบปัญหานี้เช่นกัน ทั้งนี้ Tigerair Australia ต้องหยุดบินมาตั้งเเต่เดือนมี..

สำหรับสายการบินโลว์คอสต์ Tigerair Australia เป็นบริษัทลูกของสายการบินใหญ่อันดับ 2 ของออสเตรเลียอย่าง Virgin Australia ที่กลายเป็นสายการบินแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียเเปซิฟิก ที่เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย” ในช่วงวิกฤต COVID-19 ตั้งเเต่เดือนเม.. ที่ผ่านมาจึงต้องมีการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่

โดยเเผนการฟื้นฟูกิจการในเครือ Virgin ภายใต้เข้าของใหม่ bain capital จะมีการปลดพนักงานออกราว 1 ใน 3 ของทั้งหมดราว 3,000 คน รวมถึงการยุบธุรกิจย่อยอย่าง Tigerair Australia ด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทจะยังคงเก็บใบอนุญาตทำการบินไว้ เผื่อในอนาคตจะสามารถกลับมาฟื้นกิจการได้อีกครั้ง เมื่อสถานการณ์โลกเข้าสู่ภาวะปกติ เเละการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่

ยังคงมีอีกหลายสายการบินที่ยังมีความเสี่ยงจะล้มละลายเเละปิดกิจการในช่วงนี้ โดยทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ออกมาปรับคาดการณ์ใหม่ว่า ธุรกิจการบินจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เเละต้องรอไปจนถึงปี 2024 กว่าที่จำนวนผู้โดยสารทั่วโลกจะกลับมาเท่าช่วงก่อนโรคระบาด โดยการฟื้นตัวของการเดินทางระยะสั้น จะฟื้นตัวเร็วกว่าการเดินทางระยะไกล เเละคาดว่าจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกจะลดลง 55% เมื่อเทียบกับปี 2019 เเย่กว่าที่คาดไว้ในเดือนเมษายนที่ 46%

ขณะที่ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทราฟฟิกของผู้โดยสารลดลง 86.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าดีขึ้นจากการหดตัวถึง 91% ในเดือนพฤษภาคม หลังได้รับอานิสงส์การเดินทางที่เพิ่มขึ้นบ้างในตลาดจีน เเละเเม้อัตราการเดินทางทางอากาศได้ผ่านจุดต่ำสุดไปเเล้ว เเต่อุตสาหกรรมการบินจะกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ เเละยังถือว่าอ่อนแออยู่มาก

 

ที่มา : Tigerair Australia  , flightglobal

]]>
1291362
ไปต่อไม่ไหว ! “ทอยส์ อาร์ อัส” ปิดกิจการในสหรัฐฯ แล้ว หลังจ่ายหนี้ไม่ทัน https://positioningmag.com/1161799 Thu, 15 Mar 2018 09:34:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1161799 บริษัทขายปลีกของเล่น ทอย อาร์ อัส อินซ์ (Toys ‘R’ Us Inc) กำลังปิดกิจการ 735 แห่งในสหรัฐฯ หลังจากไม่สามารถหาผู้ซื้อต่อหรือบรรลุข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้หลายล้านดอลลาร์ ทำให้ลูกจ้างราว 30,000 คนต้องตกงาน

การปิดกิจการครั้งนี้เป็นความสูญเสียสำหรับลูกค้าหลายรุ่นและผู้ผลิตของเล่นหลายร้อยรายที่ขายผลิตภัณฑ์ให้กับทอย อาร์ อัส รวมถึง แมทเทล อินซ์ ผู้ผลิตบาร์บี, แฮสโบร อินซ์ บริษัทเกมกระดาน และผู้จำหน่ายรายอื่น ๆ อย่างเลโก้

“นี่เป็นความวันที่น่าเศร้าอย่างสุดซึ้งสำหรับพวกเรารวมถึงเด็ก ๆ หลายล้านคนและครอบครัวที่เราให้บริการมาตลอด 70 ปี” เดฟ แบรนดอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าว

เนื่องจากผู้ซื้อหันไปพึ่งพา Amazon.com Inc และเด็กนิยมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากกว่าของเล่น ทอย อาร์ อัส จึงประสบความยากลำบากในการกระตุ้นยอดขายและชำระหนี้ภายหลังการเข้าซื้อกิจการมูลค่า 6.6 พันล้านดอลลาร์โดยกลุ่มบริษัทจัดการกองทุนเมื่อปี 2005

ในวันนี้ (15) ทอย อาร์ อัส กล่าวว่า พวกเขากำลังหาทางสะสางสินค้าคงคลังในร้านค้าของพวกเขาในสหรัฐฯ ซึ่งกลุ่มเจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่าจะปิดลงภายในสิ้นปีนี้

บริษัทนี้ยังระบุว่าด้วยว่า พวกเขากำลังอยู่ระหว่างการหารือกับฝ่ายที่มีผลประโยชน์บางส่วนเรื่องข้อตกลงควบรวมร้านค้าที่มียอดขายดีที่สุด 200 แห่งกับกิจการของบริษัทในแคนาดา

สำหรับกิจการในเอเชียและยุโรปกลางรวมถึงเยอรมนี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ บริษัทจะปรับปรุงองค์กรและกระบวนการขายใหม่ การบริหารกิจการในอังกฤษได้มีการประกาศไปแล้วจะเป็นไปตามนั้น บริษัทนี้ระบุ

ความพยายามต่าง ๆ พังทลายลงในเดือนนี้ หลังจากเจ้าหนี้ตัดสินใจและไม่เห็นถึงแผนการปรับปรุงองค์กรที่ชัดเจน พวกเขาสามารถเก็บหนี้ได้มากกว่าในการชำระบัญชี ปิดร้านค้า และหาเงินจากการขายสินค้า แหล่งข่าวที่รู้เรื่องนี้ บอกกับรอยเตอร์

การหายไปของร้าน ทอย อาร์ อัส กลายเป็นความสูญเสียสำหรับผู้ผลิตของเล่นที่พึ่งพาอาศัยเครือร้านขายของเล่นแห่งนี้ในฐานะลูกค้าหลัก นอกเหนือจาก WalMart Inc และ Target Corp

หุ้นของแมทเทลและแฮสโบรดิ่งลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากข่าวการชำระบัญชีของ ทอย อาร์ อัส รายได้ของทั้งสองบริษัทมาจาก ทอย อาร์ อัส ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ อ้างจากรายงานประจำปี 2016 ของสองบริษัทนี้.

ที่มา : mgronline.com/around/detail/9610000026107

]]>
1161799