โรงงาน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 11 Jun 2024 10:20:18 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 น่าเป็นห่วง! ‘โรงงาน’ ในไทย ‘ปิดตัว’ กว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงาน 42,000 ตำแหน่ง https://positioningmag.com/1477557 Tue, 11 Jun 2024 07:45:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1477557 ในช่วงเดือนที่ผ่านมา น่าจะเห็นข่าวคราวการปิดโรงงานผลิตรถยนต์ชื่อดัง ได้แก่ ซูบารุ และ ซูซูกิ แต่หากนับตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงไตรมาสแรกปี 2567 จะเห็นว่าปัญหาภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีจำนวนโรงงานที่ปิดตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่อัตราการเปิดโรงงานใหม่กลับต่ำลง

โรงงานปิดตัวกว่า 1,700 แห่ง

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ ซึ่งสะท้อนจากทั้งดัชนีการผลิตที่หดตัวลงติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี ยอดปิดโรงงานที่เพิ่มขึ้น และหนี้เสียในภาคการผลิตที่กำลังเร่งตัว โดยจากการสำรวจผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยเผยแพร่โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่า มีการหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565 จนถึงเดือน มี.ค. 2567 หรือต่อเนื่องกันกว่า 1 ปี 3 เดือน ซึ่งนับเป็นการ โตติดลบติดต่อกันที่ยาวนานมากที่สุด ครั้งหนึ่ง แม้ว่าวัฏจักรการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2566 แล้วก็ตาม

ข้อมูลการ ปิดโรงงาน ในภาคอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นชัดเจนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 โดยค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานของไทยอยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือนในปี 2564 และ 83 โรงงานต่อเดือนในปี 2565 ในขณะที่พุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ส่งผลให้หากนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2566 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง

ยอดเปิดโรงงานใหม่ก็ลดลง

แม้ว่าในภาพรวมยอดเปิดโรงงานจะยังเยอะกว่ายอดปิดโรงงาน แต่ตัวเลขการ เปิดตัวโรงงานใหม่ที่ลดลงกว่าในอดีต ย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ดีนัก โดยยอดการเปิดโรงงานสุทธิ (จำนวนโรงงานเปิดหักลบด้วยโรงงานปิด) ในภาพรวมชะลอตัวลงอย่างมาก ลดลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือน จากค่าเฉลี่ยที่เป็นบวกสุทธิประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน

อุตสาหกรรมที่มีทิศทางน่ากังวลเนื่องจากมีการหดตัวของการผลิตและโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นมาก คือ กลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักร ในขณะที่โรงงานเปิดใหม่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ส่วนการปิดตัวที่เกิดขึ้นจากโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลักเป็นภาพสะท้อนว่าปัญหาการปิดตัวโรงงานเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่ที่กระทบกับอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรม

ข้อมูลอีกหนึ่งชุดที่ตอกย้ำความน่ากังวลของสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรม คือ การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในภาคการผลิต ที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนและสะท้อนปัญหาที่รุนแรงในภาคอุตสาหกรรมไทย มากกว่าเป็นการชะลอตัวชั่วคราว ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นต้องปิดโรงงานและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

3 ปัจจัยลบน่ากังวล 

ข้อมูลการเปิด-ปิดโรงงานของอุตสาหกรรมไทยในมุมมองของ KKP Research นับเป็นภาพสะท้อนและผลลัพธ์ของการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่พึ่งพามูลค่าเพิ่มจากภาคอุตสาหกรรมกว่า 35% ของมูลค่าเศรษฐกิจ โดยตั้งแต่หลังช่วงโควิดมากลับกลายเป็นภาคบริการที่ขยายตัวได้ดี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าข้อมูลเดือนล่าสุดของการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาเป็นบวกในรอบมากกว่า 1 ปี และหลายฝ่ายยังหวังว่าจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ปรับดีขึ้นจะกลับมาช่วยภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม KKP Research กลับมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมไทยในระยะยาว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  • การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในบางกลุ่มสินค้าหลัก เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ EV โดยในช่วงที่ผ่านมามีการส่งออกรถยนต์ EV ราคาถูกจากจีนมายังไทยและส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งยอดขายและราคารถยนต์ ICE ในไทย หรือ การเปลี่ยนจากการใช้ HDD เป็น SSD ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อราคา EV และ SSD มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้เข้ามาทดแทนเทคโนโลยีเก่าได้เร็วและกว้างขึ้น
  • การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน โดยในปัจจุบันไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่เพียงแต่เฉพาะสินค้าในกลุ่มยานยนต์ที่เข้ามายังไทย แต่ไทยมีการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายกลุ่มสินค้าเมื่อเทียบกับการนำเข้าทั้งหมด รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในไทย
  • มาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งในกรณีที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง มีแนวโน้มที่จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าจากจีนและโลกเพิ่มเติม ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้การค้าโลกในภาพรวมชะลอตัวลง และมีโอกาสที่สินค้าจากจีนจะทะลักมายัง ASEAN รวมถึงไทยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการระบายสินค้าของจีนไปยังตลาดส่งออกอื่น

Source

]]>
1477557
“จีน” Bubble & Seal สร้างหอพัก “โรงงานกินนอน” ในตัว แก้ปัญหา “ล็อกดาวน์” https://positioningmag.com/1379182 Fri, 25 Mar 2022 08:23:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1379182 มาตรการ Bubble & Seal ที่เราเคยเผชิญในประเทศไทยเกิดขึ้นแล้วใน “จีน” เมื่อแดนมังกรต้องเผชิญกับการระบาดรอบใหญ่ที่สุด ทำให้มีคำสั่ง “ล็อกดาวน์” กระทบ “โรงงาน” ต่างๆ ต้องหาทางแก้วิกฤตการผลิต สร้างหอพักชั่วคราวให้คนงานกิน นอน ทำงานเบ็ดเสร็จภายในบริเวณ

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ เล่นงานแดนมังกรสาหัสที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้จีนมีคำสั่ง “ล็อกดาวน์” หลายเมืองเพื่อสกัดการระบาดตามนโยบาย Zero-Covid ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยเมืองใหญ่ที่กระทบหนักที่สุดคือ “เสิ่นเจิ้น” และเมืองทางใต้หลายแห่ง เพราะเป็นพื้นที่ที่ล็อกดาวน์เข้มงวด งดการเดินรถสาธารณะ ทำให้ “โรงงาน” หลายแห่งต้องปิดสายการผลิตชั่วคราว ขณะที่การขนส่งสินค้าก็ทำได้ลำบาก เพราะคนขับรถจะต้องแสดงผลตรวจ COVID-19 เป็นลบที่ตรวจมาไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างความโกลาหลให้กับภาคการผลิตของจีนอีกครั้ง

เสิ่นเจิ้นและสารพัดเมืองทางใต้เป็นแหล่งโรงงานผลิตสำคัญๆ ทำให้การหยุดผลิตจะทำให้ซัพพลายเชนสินค้าทั่วโลกชะงักไปด้วย ดังนั้น บางโรงงานจึงหาทางฝ่าวิกฤตด้วยระบบ Bubble & Seal

ยกตัวอย่างเช่น Bosch Unipoint บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ และมีโรงงานตั้งอยู่ในเสิ่นเจิ้น สามารถดำเนินการผลิตต่อได้ เพราะมีการสร้างหอพักให้พนักงานกว่า 200 คนอาศัยและทำงานตลอด 1 สัปดาห์ของการล็อกดาวน์ โดยพนักงานจะไม่สามารถออกจากไซต์ได้เลย ตามคำสั่งของรัฐ

“ความร่วมมือของพวกเขา (คนงาน) ที่จะช่วยให้ธุรกิจเราเอาตัวรอดได้ในสัปดาห์นี้เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก” มาร์โก้ โมเรีย ผู้จัดการทั่วไป Bosch Unipoint ประเทศจีน กล่าว

การจะสร้างที่พักที่เหมาะสมให้พนักงานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องมีการเตรียมตัวรับมือมาก่อนจึงจะทำได้ โดย Bosch Unipoint สังเกตการณ์การระบาดของโรค และเริ่มสั่งซัพพลายของใช้จำเป็นมาให้พนักงานตั้งแต่ก่อนล็อกดาวน์แล้ว

บริษัทยังเตรียมสต็อกของใช้จำเป็นแบบเดียวกันนี้ไว้ให้พนักงานกว่า 500 คน สำหรับโรงงานผลิตแป้นเบรกของบริษัทที่เมืองหนานจิงด้วย โมเรียกล่าวว่า สต็อกดังกล่าวจะทำให้คนในโรงงานอยู่ได้สูงสุดถึง 4 สัปดาห์ หากที่หนานจิงมีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดเกิดขึ้น

“เราเตรียมสั่งวัตถุดิบสำหรับการผลิต และเตรียมที่นอนไว้ให้พนักงานแล้ว เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม” โมเรียกล่าว

ไม่ใช่แค่โรงงานบริษัทนี้เท่านั้น บริษัทอื่นๆ ที่ทันสถานการณ์ก็มีการเตรียมการและใช้ระบบเดียวกัน เพราะถ้าหากโรงงานมีที่พักพร้อม สต็อกของกินของใช้ และสั่งวัตถุดิบสำหรับการผลิตมาตุนไว้แล้ว การเดินหน้าผลิตต่อเนื่องก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

การเตรียมตัวเหล่านี้ของบริษัทหลายแห่ง สะท้อนภาพการประเมินของภาคการผลิตว่า การระบาดของ COVID-19 ในจีนจะไม่จบลงง่ายๆ จนถึงอย่างน้อยๆ ก็ปีหน้า

“(โอมิครอน) เป็นไวรัสที่ยากจะควบคุมและระบาดง่าย” ฟาเบียน เบลก กรรมการผู้จัดการ บริษัท AMS Products Assembly ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองฝัวชาน มณฑลกวางตุ้งกล่าว “เป็นไปได้มากที่ทุกเมืองในภาคใต้ของจีนจะเผชิญการล็อกดาวน์กันหมด”

 

ไม่ใช่ทุกแห่งที่ทำได้ตามมาตรฐาน

คนงานหลายคนจากหลายเมืองของจีนถ่ายรูปหรือวิดีโอประสบการณ์ของพวกเขาจากด้านในโรงงานกินนอนระหว่างการล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ชาวเน็ตจีนได้เห็นว่า การใช้ชีวิตของคนงานในบางโรงงานก็อยู่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรเป็น

ยกตัวอย่างเช่น เซี่ยงไฮ้ ซึ่งการล็อกดาวน์ไม่ได้เข้มงวดเท่าเสิ่นเจิ้น แต่เจ้าของโรงงานอาจหวั่นเกรงว่าจะเกิดการยกระดับความเข้มงวด ทำให้โรงงานแห่งหนึ่งมีการบีบให้พนักงานกินนอน โดยให้นอนบนพื้นโรงงาน

อีกเคสหนึ่งเกิดขึ้นที่ Dongguan Fuqiang Electronic เป็นบริษัทไต้หวันที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับ Apple ต้องรีบปลดเตนท์ที่เตรียมไว้ให้คนงานรอบๆ โรงงานออก หลังจากมีกระแสไม่พอใจบนอินเทอร์เน็ตถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ให้พนักงานนอนเตนท์

ร้ายไปกว่านั้นคือพนักงานคนหนึ่งของ Dongguan Fuqiang Electronic ให้ข่าวว่า เธอต้องนอนบนพื้นโรงงานถึง 6 วัน และมีแค่กระดาษลังใช้แทนฟูกนอน ระหว่างรอโรงงานเตรียมเตนท์ให้ที่ด้านนอก

ไม่มีใครรู้ได้ว่าจีนจะล็อกดาวน์ยาวถึงเมื่อไหร่ แต่การล็อกดาวน์ครั้งนี้เริ่มส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจจีนอีกครั้ง เพราะทำให้การผลิต การขยายธุรกิจ การก่อสร้าง การขนส่ง ชะงักงันในหลายเมือง ยอดขายบ้านและรถยนต์ตกลงในเดือนมีนาคม กลายเป็นคำถามว่าจีนจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย Zero-Covid บ้างหรือไม่

Source

]]>
1379182
‘เลโก้’ ทุ่ม 3 หมื่นล้าน เลือกเปิดโรงงานแห่งใหม่ใน ‘เวียดนาม’ รับตลาดเอเชียโตเร็ว https://positioningmag.com/1366209 Thu, 09 Dec 2021 08:38:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1366209 หลังตระเวนหาทำเลในหลายประเทศเเถบอาเซียนมานาน 18 เดือน ในที่สุด ‘เลโก้’ (Lego) เเบรนด์ของเล่นเด็กเจ้าใหญ่จากเดนมาร์ก ก็ตัดสินใจจะสร้างโรงงานเเห่งใหม่ที่ ‘เวียดนาม’ เพื่อรองรับตลาตเติบโตขึ้นอย่างมากจากความนิยมตัวต่อพลาสติกสีสดใสในหมู่เด็กๆ ทั่วเอเชีย พร้อมกับการขยายตัวของผู้บริโภคชนชั้นกลาง

โดยเลโก้ ประกาศจะทุ่มลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.34 หมื่นล้านบาท) เพื่อสร้างโรงงานเเห่งใหม่ในเวียดนาม ซึ่งจะเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ในเอเชีย หลังเปิดโรงงานแห่งเเรกในประเทศจีนไปเมื่อปี 2016 (ในยุโรป 3 แห่ง และเม็กซิโกอีก 1 แห่ง) โดยเลโก้มีอัตราการเติบโตของธุรกิจในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น ‘ดับเบิล-ดิจิต’ มาตั้งเเต่ปี 2019

Carsten Rasmussen ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของเลโก้ บอกกับสำนักข่าว Reuters ว่า
อุปสงค์ในตลาดตอนนี้ใกล้จะมากกว่าอุปทานของโรงงานในจีนเเล้ว ในช่วงระยะกลางถึงระยะยาว

“การเติบโตในจีนและเอเชียนั้นยอดเยี่ยมมาก เเละเราก็ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น”

ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเสริมการเติบโตนี้ คือ การขยายตัวของกลุ่ม ‘ชนชั้นกลาง’ ที่มีกำลังซื้อมากขึ้น เเละอัตราการเกิดของภูมิภาคนี้ที่ยังถือว่าสูงกว่าตลาดยุโรปและอเมริกาเหนือที่เติบโตเต็มที่แล้ว

ภาพจำลองโรงงานเเห่งใหม่ในเวียดนาม (Photo : www.lego.com)

โดยโรงงานแห่งใหม่เวียดนาม จะเริ่มก่อสร้างในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ก่อนจะเดินสายการผลิตในปี 2024
เเละจะมีการขยายกำลังผลิตต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการจากทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยกเว้นจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เลโก้คาดว่าในระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า จะสร้างตำแหน่งงานใหม่ได้กว่า 4 พันตำแหน่ง

Financial Times ระบุว่า เลโก้ใช้เวลากว่า 18 เดือน ในการ ‘หาทำเล’ เปิดโรงงานใหม่ในหลายประเทศโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนจะตัดสินใจเลือกที่เวียดนาม ซึ่งป็นดีลที่ดีมาก อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญในการผลิตและเปิดกว้างด้านความยั่งยืน ตั้งอยู่ใกล้กับตลาดสำคัญที่จะช่วยให้การขนส่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว

โรงงานในเวียดนามเเห่งนี้ จะเป็นโรงงาน Carbon Neutral แห่งแรกเลโก้ โดยวางแผนการใช้พลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงบนหลังคาโรงงานและฟาร์มใกล้เคียง

เลโก้ เป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ที่ได้อานิสงส์ ‘เป็นบวก’ ในช่วงในช่วงวิกฤตโควิด-19 เเละการมีเติบโตต่อเนื่อง
เมื่อเด็กๆ เเละผู้ปกครองต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น โดยช่วงต้นปีนี้เลโก้ทำรายได้เติบโตถึง 46% ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่
เเละเป็นผู้ผลิตของเล่นที่มียอดขายและผลกำไรสูงสุดในขณะนี้ด้วย

 

ที่มา : Reuters , Financial Times , LEGO 

]]>
1366209
‘โตโยต้า’ ปรับลดการผลิต ‘รถยนต์’ ทั่วโลกลง 40% ในเดือน ก.ย. เซ่นวิกฤต ‘ขาดเเคลนชิป’ https://positioningmag.com/1347976 Fri, 20 Aug 2021 12:04:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1347976 วิกฤตขาดเเคลนชิปผสมกับวิกฤตโควิดทำให้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ทั่วโลกสะดุด ล่าสุดยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า’ ต้องปรับลดการผลิตลงถึง 40% จากเเผนเดิมในเดือนก.นี้

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป (Toyota Motor Corp) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกจากญี่ปุ่น จะปรับกำลังการผลิตในช่วงเดือนก..ลดลง 40% จากแผนเดิม เนื่องจากปัญหาการขาดเเคลนเซมิคอนดักเตอร์

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงประมาณการยอดขายและกำลังผลิตทั้งหมดของปีนี้ ไว้ตามเป้าหมายเดิม โดยโตโยต้า คาดว่าจะสามารถผลิตรถยนต์ทั่วโลกได้ตามเป้าหมายที่ 9.3 ล้านคัน เเละหวังจะทำยอดขายให้ได้ 8.7 ล้านคัน ในปีงบประมาณนี้ (เม.. 2021 – มี.. 2022) 

ในช่วงที่ผ่านมา นับว่าโตโยต้าสามารถจัดการปัญหาขาดเเคลนชิปได้ดีกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ เพราะมีการสต็อกของไว้จำนวนมาก เเต่เมื่อสถานการณ์ยังยืดเยื้อ บวกวิกฤตโควิดที่ทวีความรุนเเรงขึ้น ความเสี่ยงในภาคการผลิตก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

โตโยต้า ระบุว่า การลดการผลิตในเดือนก..นี้ จะครอบคลุมโรงงาน 14 แห่งในญี่ปุ่น และโรงงานในต่างประเทศ และบริษัทจะลดการผลิตตามแผนทั่วโลกในเดือนเดียวกันนี้ ลงประมาณ 360,000 คัน

Photo : Shutterstock

บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกต่างปรับลดการผลิตลงในช่วงนี้ หลังจากภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ประกอบกับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงขึ้นในประเทศที่เป็นฐานการผลิตอย่าง ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย ซึ่งมีมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด

โดย Volkswagen ของเยอรมนี เพิ่งประกาศว่า อาจต้องลดการผลิตเพิ่มเติมและคาดว่าซัพพลายของชิปในไตรมาส 3 จะผันผวนและตึงตัวมากเช่นเดียวกัน Ford Motor Co ที่จะปิดทำการโรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองแคนซัสซิตี้ สหรัฐฯ ชั่วคราว เนื่องจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์

ก่อนหน้านี้ Nikkei Asia รายงานว่า โตโยต้า ได้ระงับสายการผลิตที่โรงงานในญี่ปุ่นเเล้วเป็นบางแห่ง ในช่วงปลายเดือนก..ถึงต้นเดือนส.. เพราะขาดแคลนชิ้นส่วนจากเวียดนาม

เเหล่งข่าวในวงการรายหนึ่ง บอกกับ Reuters ว่า โตโยต้า ได้ระงับการผลิตในโรงงานแห่งหนึ่งที่เมืองกวางโจวประเทศจีนด้วย

เมื่อปลายเดือนก..ที่ผ่านมาโตโยต้าต้องหยุดการผลิตโรงงานประกอบรถยนต์ 3 แห่งในไทยชั่วคราว เนื่องจากผู้ป้อนอะไหล่ในท้องถิ่นหยุดการผลิตเพราะสถานการณ์โควิด

ทั้งนี้ โรงงาน 3 แห่งในไทย นับเป็นโรงงานหลักของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นฐานการผลิตในต่างประเทศที่ใหญ่รองจากจีน และสหรัฐฯ สามารถผลิตรถยนต์ได้ราว 750,000 คันต่อปี 

 

ที่มา : Reuters , kyodonews

]]>
1347976
จับตา ‘คลัสเตอร์โรงงาน’ หากคุมไม่อยู่ โควิดลุกลาม-ยืดเยื้อ ฉุด ‘ส่งออก’ เสียหาย 1.9 แสนล้าน https://positioningmag.com/1344693 Fri, 30 Jul 2021 10:29:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1344693 โจทย์ใหญ่ ‘คลัสเตอร์โรงงานหากคุมไม่อยู่ โควิดลุกลามยืดเยื้อ เสี่ยงกระทบภาคส่งออกตัวหลักฟื้นเศรษฐกิจไทยต้องสะดุด เสียหายถึง 1.9 แสนล้านบาท ฉุดการเติบโตต่ำกว่า 7%  ชะลอดีมานด์ตลาดอาเซียน เเนะรัฐเร่งทำ Bubble and Sealed ฉีดวัคซีนให้แรงงานภาคการผลิตโดยเร็ว 

ข้อมูลล่าสุดจาก Thai Stop Covid โดยกรมอนามัย ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 มีโรงงานผลิตที่ต้องเผชิญกับปัญหาการติดเชื้อโควิดแล้วมากถึง 1,607 โรงงาน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 67% ซึ่งมีแรงงานจำนวนมาก มีทั้งโรงงานผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศและป้อนตลาดต่างประเทศ 

คลัสเตอร์โรงงาน จึงเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ นอกเหนือไปจากแคมป์ก่อสร้าง

โรงงานส่วนใหญ่ที่พบปัญหาการติดเชื้อจะอยู่ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยางพาราและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ

โดยประเทศไทยมีโรงงานใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้มากถึง 11,637 แห่ง มีแรงงาน 1.96 ล้านคน และมีมูลค่าตลาดต่อปีเท่ากับ 8.87 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนส่งออกกว่า 57% และจากการที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานค่อนข้างมาก เมื่อมีผู้ติดเชื้อจึงมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่กระจายสูง ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้มาตรการปิดโรงงานหยุดกระบวนการผลิตชั่วคราวได้ 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า หากมีการปิดคลัสเตอร์โรงงาน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อควบคุมการระบาด จะก่อให้เกิดการสูญเสียมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4% ของมูลค่าตลาด 

สำหรับอุปทานสินค้าป้อนตลาดจากโรงงานในอุตสาหกรรมอาหารยานยนต์ ยางพาราและพลาสติก จะได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานเร็วที่สุด เพราะมีสินค้าคงคลังน้อยกว่าช่วงปกติ

ดังนั้น หากไม่สามารถควบคุมการระบาดคลัสเตอร์โรงงานได้ ภาครัฐต้องมีการล็อกดาวน์โรงงานเพิ่มขึ้น หรือขยายระยะเวลาปิดโรงงานออกไป คาดว่าจะทำให้ปัญหา Supply Disruption ชัดเจนมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการฟื้นเศรษฐกิจครั้งนี้ 

นอกจากสินค้าส่งออกทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเเล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจอาเซียนได้รับผลกระทบจากการเผชิญกับยอดผู้ติดเชื้อโควิดใหม่เพิ่มสูงขึ้นมากขึ้น โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ส่งผลต่อความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยในช่วงครึ่งปีหลัง

การส่งออกใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกไปตลาดอาเซียน ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท

เเนะทำ ‘Bubble and Sealed’ ในโรงงาน เร่งฉีดวัคซีน สกัดความเสียหาย 

เมื่อพิจารณาประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐฯ จีน และยุโรป ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออกไปตลาดคู่ค้าหลักในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ถึง 23.4% และมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง

เหล่านี้ จะช่วยชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวลงของตลาดอาเซียนที่ในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 11.2% ส่งผลให้การส่งออกรวม 5 กลุ่มอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ประกอบกับ หากสามารถเร่งหยุดยั้งการระบาดของคลัสเตอร์โรงงานได้เร็ว จะหนุนให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยทั้งปี 2564 ขยายตัวได้ในระดับสูงที่ 9.4% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน

เเต่หากไม่สามารถควบคุมคลัสเตอร์โรงงานได้ ทำให้กระบวนการผลิตหยุดไปอีก 2 สัปดาห์ จะเกิดความเสียหาย 1.9 แสนล้านบาท เป็นปัจจัยฉุดการส่งออกทั้งปีโตได้เพียง 6.8%

ttb analytics เเนะว่า เพื่อลดการระบาดและลุกลามของคลัสเตอร์โรงงาน รัฐต้องมีกระบวนการเร่งตรวจหาและคัดแยกผู้ติดเชื้อออกจากโรงงาน เเละการทำ Bubble and Sealed เพื่อควบคุมดูแลรักษาผู้ติดเชื้อในโรงงานไม่ให้แพร่กระจายออกไป

ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานภาคการผลิตที่มีจำนวนมาก ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือดำเนินการ เพื่อให้ภาคการผลิตและส่งออกของไทยยังรักษาอัตราการเติบโตได้ต่อเนื่อง ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว

 

 

]]>
1344693
กรณี “หมิงตี้” โรงงานเกิดก่อนชุมชน เมื่อบ้านคนตามประชิดรั้ว โรงงานได้อยู่ต่อหรือต้องไป? https://positioningmag.com/1341159 Wed, 07 Jul 2021 12:46:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1341159 ช่วงเช้ามืดของวันที่ 5 ก.ค. 2564 เวลาตี 3 โดยประมาณ โรงงาน “หมิงตี้เคมีคอล” ถ.กิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ขึ้น แรงระเบิดและควันพิษส่งผลให้ประชาชนในระยะ 5 กิโลเมตรรอบโรงงานต้องอพยพด่วน รวมถึงมีนักผจญเพลิงเสียชีวิต 1 ราย  คำถามที่ตามมาหลังเพลิงเริ่มสงบลงคือ “เรามีโรงงานอันตรายอยู่กลางดงหมู่บ้านได้อย่างไร” และหลายคนเริ่มกังวลว่ารอบบ้านของตัวเองอาจจะมีโรงงานอยู่หรือไม่

กรณีของ บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด จุดประเด็นถกเถียงเป็นวงกว้าง โดย Positioning ขอเก็บประเด็นจากวงเสวนา “มุมมองทางผังเมือง กรณีระเบิดโรงงานกิ่งแก้ว เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” จัดโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ภายใต้ศูนย์เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ (CUURP) สมาคมนักผังเมืองไทย สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย Thai PBS และ The Urbanis ความเห็นจากนักวิชาการด้านผังเมืองของไทยจะชำแหละประเด็นนี้ให้เห็นชัดๆ ว่า “จุดบอด” นั้นอยู่ตรงไหน

 

โรงงานฝ่าฝืนผังเมืองหรือไม่?

คำถามแรกที่ทุกคนต้องถามทันทีคือ โรงงานหมิงตี้ฯ ก่อสร้างถูกต้องตามระเบียบผังเมืองหรือไม่ เพราะทุกวันนี้เมื่อดูจากภาพดาวเทียม รัศมีรอบโรงงาน 5 กม.เต็มไปด้วยหมู่บ้านจัดสรรแล้ว

สังเกตได้ว่า รอบข้างโรงงานหมิงตี้เคมีคอล ปัจจุบันเต็มไปด้วยหมู่บ้านจัดสรร

ต่อประเด็นนี้ รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมนักผังเมืองไทย ไล่เรียงให้ฟังอย่างชัดเจนว่า “โรงงานนี้ก่อตั้งก่อนที่จะมีผังเมืองรวมฉบับแรกของสมุทรปราการ” เนื่องจากโรงงานก่อตั้งเมื่อปี 2532 ก่อนที่จะมีกฎกระทรวงผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ.2537 ซึ่งกำหนดให้พื้นที่ระหว่างคลองลาดกระบังกับคลองสลุด ที่ตั้งโรงงานหมิงตี้ฯ ในปัจจุบัน เป็น พื้นที่สีส้ม คือเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง

ผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ.2556 พื้นที่ตั้งโรงงานหมิงตี้เคมีคอล เป็นเขตพื้นที่สีแดง (พ.4) อนุญาตให้ใช้ทำพาณิชยกรรม

ต่อมาในปี 2544 มีการปรับผังเมืองรวมสมุทรปราการฉบับใหม่ เปลี่ยนพื้นที่เดียวกันนี้ให้เป็น พื้นที่สีแดง คือเขตพาณิชยกรรม เนื่องจากสมัยนั้นมีโครงการพัฒนา “เมืองศูนย์กลางการบิน” สุวรรณภูมิ (Aerotropolis) ต้องการให้พื้นที่รอบสนามบินเป็นเขตพาณิชยกรรม ดึงดูดสำนักงานพาณิชย์ งานแสดงสินค้า เขตการค้าเสรี คลังสินค้า ฯลฯ ในลักษณะเดียวกับสนามบินนานาชาติ Schiphol กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อด้วยผังเมืองปี 2556 ของสมุทรปราการก็ยังคงพื้นที่สีแดงไว้เช่นเดิม

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร โรงงานหมิงตี้ฯ ซึ่งก่อตั้งก่อนมีผังเมืองทุกฉบับก็มิได้ทำผิดกฎหมาย หากไม่มีการต่อเติมขยายโรงงานออกไป

 

อยู่มาก่อน แต่จะให้ย้ายออกได้หรือไม่?

คำถามต่อมาที่เกิดขึ้นคือ แม้ว่าโรงงานจะอยู่มาก่อนตั้งแต่ยังไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิและรอบข้างมีแต่ไร่นาท้องทุ่ง แต่เมื่อวันนี้สภาพเมืองขยายจนกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่นไปแล้ว โรงงานซึ่งมีความอันตรายสูงเช่นนี้ ไม่สามารถบังคับให้ย้ายออกจากชุมชนได้หรือ?

คำตอบจาก รศ.ดร.พนิต คือ จริงๆ แล้ว “สามารถทำได้” ผ่านอำนาจตามกฎหมาย พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 ตามมาตราที่ 37 (ดูภาพด้านล่าง)

มาตรา 37 ใน พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562

จะเห็นได้ว่า ปกติแล้วหลักกฎหมายจะไม่ให้เอาผิดย้อนหลัง ดังนั้นสิ่งใดที่สร้างมาก่อนผังเมืองบังคับก็จะยังดำเนินการต่อไปได้ “ยกเว้น” การใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวจะขัดต่อ 4 เรื่องหลัก คือ สุขลักษณะ ความปลอดภัยของประชาชน สวัสดิภาพของสังคม หรือประโยชน์สาธารณะ ให้คณะกรรมการผังเมืองหรือคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดมีอำนาจกำหนดให้ผู้ใช้ที่ดินแก้ไขปรับปรุงหรือระงับการใช้ประโยชน์ที่ดินได้

ดังนั้น เราสามารถประเมินเบื้องต้นได้ว่ากรณีของหมิงตี้ฯ ถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ เนื่องจากเป็นโรงงานที่มีสารอันตรายที่อาจเกิดอุบัติภัย อาจเกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชน ในความเป็นจริงแล้วควรให้คณะกรรมการผังเมืองพิจารณา

 

ให้ระงับหรือย้าย แล้วใครจ่ายค่าชดเชย?

ในตัวบทกฎหมายยังไม่จบเท่านั้น ในมาตรา 37 วรรค 3 ระบุว่า หากเกิดความเสียหายหรือเสื่อมสิทธิแก่ผู้ครอบครองที่ดิน (จากการปรับปรุงหรือระงับการใช้ประโยชน์) ให้มีการกำหนดค่าตอบแทน โดยให้รัฐมนตรีประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการ

ตรงนี้คือจุดสำคัญ รศ.ดร.พนิต ชี้ว่าตัวกฎหมายผังเมืองเปิดช่องทางให้จ่ายค่าชดเชยเพื่อย้ายโรงงานออกจากชุมชนแล้ว แต่ปัญหาคือ “ใครจะเป็นผู้จ่ายงบค่าชดเชย”

เมืองอุตสาหกรรม Yokkaichi จังหวัดมิเอะ ญี่ปุ่น หนึ่งในพื้นที่อุตสาหกรรมเคมีที่สร้างมลพิษในอดีต และเริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลังเห็นปัญหาชัดเจนช่วงทศวรรษ 1960s เป็นต้นมา

กรณีนี้ ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลตัวอย่างจาก “ญี่ปุ่น” ซึ่งเผชิญเหตุโรคมินามาตะอันเกิดจากการปล่อยของเสียของโรงงานผลิตสารตั้งต้นเคมีภัณฑ์ จนญี่ปุ่นแข็งขันในการปรับผังเมืองให้โรงงานไปอยู่รวมกันในนิคมอุตสาหกรรม โดยการย้ายโรงงานดั้งเดิมให้เข้านิคม จะมีนโยบายให้แรงจูงใจทางการเงิน เช่น สิทธิทางภาษี

รศ.ดร.พนิตกล่าวสอดคล้องกันว่า การจูงใจให้โรงงานย้ายออกนั้นเป็น “กลไกทางการตลาด” อย่างหนึ่ง โดยนิคมนั้นเป็นธุรกิจที่มักจะตั้งในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีอยู่แล้ว แต่โรงงานจะต้องจ่ายค่าส่วนกลางในการอยู่ในนิคม เพื่อใช้บำรุงรักษาถนน บำบัดน้ำเสีย จัดการขยะ รักษาความปลอดภัย ฯลฯ ดังนั้น โรงงานจำนวนมากในไทยจึงไม่ต้องการเข้านิคม เพราะตั้งแบบสแตนด์อะโลนอาจปล่อยปละละเลยการดูแลรักษาสิ่งเหล่านี้ได้ ทำให้ประหยัดต้นทุน และทิ้งภาระให้ชุมชนรอบข้างไปแทน

อย่างไรก็ตาม กลไกตลาดจะสมบูรณ์เหมือนญี่ปุ่น หากมีการบังคับจ่ายค่าธรรมเนียมความเสี่ยงภัยและมลภาวะ เมื่อโรงงานตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม ต้นทุนเหล่านี้จะเป็นการผลักดันให้โรงงานยินดีเข้าไปตั้งในนิคมด้วยอีกส่วนหนึ่ง นอกจากการใช้แรงจูงใจทางภาษี

ผู้ร่วมเสวนา : (จากซ้ายบนวนตามเข็มนาฬิกา) ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ, รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมนักผังเมืองไทย และ ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ประธานหลักสูตรสถาปัตยกรรมผังเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

 

สรุป : หลายหน่วยงานต้องร่วมกันทำงาน

สรุปจากวงเสวนานี้ จะเห็นได้ว่า การดึงโรงงานออกจากชุมชนนั้นเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐจำนวนมาก ไล่ตั้งแต่กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องมีแม่งานหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพื่อหาผู้จัดทำเสนองบค่าชดเชยหรือให้ประโยชน์ทางภาษีสำหรับการย้ายโรงงานเหล่านี้

รวมถึง “ประชาชน” เองอาจจะต้องมีความตื่นตัวในการกดดันให้ อปท. ในพื้นที่ของตนดูแลความเสี่ยงให้ดีขึ้น มีการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงในพื้นที่อยู่อาศัย และแผนการอพยพผู้คนเมื่อเกิดภัยพิบัติ อย่างน้อยขอให้ประชาชนได้ทราบว่ามีโรงงานอันตรายอยู่ใกล้บ้านหรือไม่

 

หมายเหตุ: ดร.พรสรร ขยายความว่า ในผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ.2556 ว่ายังเป็นพื้นที่สีแดงแบบพิเศษอยู่ นั่นคืออนุญาตให้โรงงานบางประเภทสามารถดำเนินการบนพื้นที่นี้ได้ โดยมีบัญชีแนบท้ายหลายรายการ ส่วนที่ดร.พรสรรแสดงความกังวล คือการอนุญาตโรงงานประเภทที่มีความเสี่ยงเพลิงไหม้ได้ง่าย เช่น โรงผลิตบรรจุภัณฑ์จากกระดาษ โรงงานเครื่องสำอาง โรงงานทำถุงหรือกระสอบ เป็นต้น ทำให้ตัวผังเมืองนี้เอง มีความ ‘สะเปะสะปะ’ อยู่ในระดับหนึ่ง เนื่องจากอาจมีการตั้งหรือขยายโรงงานอันตรายเพิ่มขึ้นได้

]]>
1341159
TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของไต้หวัน ประกาศทุ่มลงทุน 3 ล้านล้านบาท แก้วิกฤต ‘ชิปขาดตลาด’ https://positioningmag.com/1326515 Sun, 04 Apr 2021 10:45:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1326515 วิกฤตชิปขาดตลาด’ ที่สะเทือนหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกในตอนนี้ มีเเนวโน้มจะลุกลามต่อไปในระยะยาว

ล่าสุด TSMC บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกจากไต้หวัน ที่มีลูกค้าสำคัญอย่าง Apple ประกาศทุ่มเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท) ในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตชิปที่กำลังขาดตลาดอยู่มาก

ในปีนี้ TSMC จะวางแผนจะใช้งบลงทุนราว 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.7 แสนล้านบาท) เพื่อขยายการผลิตและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนไมโครชิปให้ทันกับความต้องการ’ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ TSMC ยังไม่เปิดเผยว่าจะมีการตั้งโรงงานเเห่งใหม่ที่ใดบ้าง

การที่เซมิคอนดักเตอร์เกิดปัญหาขาดตลาดดังกล่าว ส่งผลต่อการผลิตสินค้าหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน เเละอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

โดยอุตสาหกรรม ‘ยานยนต์’ ถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งเจ้าใหญ่อย่าง Volkswagen, Honda, Toyota และ General Motors ต่างก็ต้องลดจำนวนการผลิตลง

ขณะเดียวกัน ฝ่ายผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เจ้าใหญ่ ก็ตัดสินใจส่งสินค้าให้กับบรรดาบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ก่อนที่จะผลิตให้กับค่ายรถยนต์

เพราะช่วงวิกฤต COVID-19 การเดินทางที่น้อยลง ทำให้ตลาดรถยนต์ซบเซา เเละความต้องการซื้อรถยนต์ก็ลดลงตามไปด้วย เเต่สินค้าแกดเจ็ตเเละเครื่องเล่นเกม กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะผู้คนต้องอยู่บ้าน ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) หรือออกกำลังกายที่บ้านกันมากขึ้น

TSMC ประเมินว่า ความต้องการของสินค้าเซมิคอนดักเตอร์จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกระเเส ‘megatrends’ ในโลกเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงเเละการมาของ 5G ขณะเดียวกันการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ก็เป็นตัวเร่งให้สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลเร็วยิ่งขึ้นในทุกๆ ด้าน

ฝั่ง ‘Intel’ ก็ได้ประกาศว่าจะทุ่มเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิปใหม่ 2 แห่งในสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มอีก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ รวมไปถึงเพื่อแข่งขันให้ได้มากขึ้นในตลาดที่จะมีมูลค่าถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2025

“Intel เป็นและจะยังคงเป็นผู้พัฒนาชั้นนำของเทคโนโลยีผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่และเป็นผู้ให้บริการชั้นของโลก” ‘Pat Gelsinger CEO คนใหม่ของ Intel ระบุ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตชิปของไต้หวัน โดยรวมมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอเมริกา ถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ เเต่ปัญหาการจัดการน้ำ ไฟฟ้าเเละเเรงงาน ยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ต้องจับตาในระยะยาว

 

 

ที่มา : BBC , CNN

]]>
1326515
ทำไม “เนสท์เล่” ต้องลงทุนใหญ่ 4,500 ล้าน ขยาย 3 โรงงานในไทย เร่งเสริมพอร์ต “อาหารสัตว์เลี้ยง” https://positioningmag.com/1307826 Thu, 26 Nov 2020 17:18:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1307826 เเม้วิกฤต COVID-19 จะทำให้ผู้คนซื้อสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคมากขึ้น เเต่ภาพรวมของธุรกิจ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย

วันนี้เนสท์เล่” (Nestlé) ผู้ผลิตอาหารเเละเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของโลก ฉายภาพธุรกิจในไทย เทรนด์ผลิตภัณฑ์ที่ยังเติบโต กลยุทธ์รุกตลาดอีคอมเมิร์ซ พร้อมประกาศเเผนลงทุนปีนี้และปีหน้า ด้วยการขยาย 3 โรงงานในไทย เป็นเม็ดเงินถึง 4,500 ล้านบาท เสริมพอร์ตสินค้ากลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง ไอศกรีม เเละยูเอชที

อะไรเป็นเหตุผลที่เนสท์เล่ตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่ในรอบหลายปีกับสินค้าเหล่านี้เราจะมาหาคำตอบกัน

เนสท์เล่เข้ามาทำตลาดไทยได้ 126 ปีเเล้ว ปัจจุบันมีโรงงานในไทยทั้งสิ้น 7 เเห่ง มีพนักงานราว 3,300 คน (จากทั่วโลก 3 เเสนคน) โดยเเผนขยายโรงงาน 3 เเห่งดังกล่าวจะเป็นการสร้างใหม่ 2 เเห่ง เเละขยายจากโรงงานเดิม 1 เเห่ง

วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า ให้สัมภาษณ์ว่า เนสท์เล่ ก็เป็นเหมือนหลายบริษัททั่วโลกที่ต้องปรับตัวเพราะสถานการณ์ COVID-19 โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบหลักๆ คือ สินค้ากลุ่มบริโภคนอกบ้าน อย่างเช่น น้ำดื่ม ไอศกรีมเเละขนม

ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มสินค้าที่เติบโตได้ดี เเละช่วยพยุงรายได้ของบริษัทไว้ได้ คือกลุ่มสินค้าในครัวเรือน เช่น กาแฟ นม ซอสปรุงรส เพราะผู้คนต้องใช้เวลาอยู่บ้านเเละทำอาหารกินเองมากขึ้นนั่นเอง

ผลประกอบการยังเป็นไปตามเป้า ภาพรวมยังเป็นที่น่าพอใจ เพราะเหมือนเป็นการปรับพอร์ตสินค้าในการเติบโต โดยคาดว่ารายได้ของเนสท์เล่ในไทยปีนี้ จะเติบโตราว 1 digit”

วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า

แม้ว่าการทำธุรกิจในช่วงนี้ จะเจอกับความท้าทายหลายด้าน แต่ผู้บริหารเนสท์เล่บอกว่ายังเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย เเละมองว่างบลงทุนกว่า 4.5 พันล้านบาทครั้งนี้ จะเป็นการสร้างการเติบโตในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลดีไปยังธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชา ลาว และเมียนมาด้วย

ประกอบกับเนสท์เล่มีการทำสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค พบว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงใน 5 ด้าน ได้แก่

  • เลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และมองหาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
  • ให้รางวัลกับตัวเองด้วยการมองหาของกินเล่น เพื่อเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างวัน
  • ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของสินค้าจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เเน่นอน
  • ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทั้งด้านบรรจุภัณฑ์ที่ต้องรีไซเคิลได้ มีกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นพิษต่อโลก
  • นิยมใช้บริการอีคอมเมิร์ซ สั่งอาหารเเละซื้อสินค้าเเบบเดลิเวอรี่ เพิ่มขึ้นมากหลังวิกฤต COVID-19

อินไซต์เทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนี้ ทำให้บริษัทต้องออกสินค้าใหม่ เเละขยายกำลังผลิตในสินค้าที่จะเติบโตได้ดี โดยเนสท์เล่เลือกที่จะขยายการลงทุนใน 3 โรงงาน กับ 3 กลุ่มสินค้าด้วยกันคือ อาหารสัตว์เลี้ยง ไอศกรีม เเละยูเอชที

อาหารสัตว์เลี้ยงคนซื้อราคาพรีเมียม เเม้ต้องประหยัด

ปัจจุบันมีคนจำนวนมากหันมาดูเเลสัตว์เลี้ยงเพื่อคลายเหงามากขึ้น ทำให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในไทยเติบโต 9% จากปีที่ผ่านมา

“เเม้ในช่วง COVID-19 ที่หลายครอบครัวเริ่มลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เเต่กำลังซื้อในตลาดสัตว์เลี้ยงยังไม่มีตก” 

สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่พบว่า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงเเบบ “พรีเมียม” ขยายตัวสูงเช่นกัน เเละมีประชากรสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเเมวเเละสุนัข โดยคนไทยนิยมดูเเลสัตว์เลี้ยงเหมือนคนในครอบครัว ซึ่งการที่คนรุ่นใหม่เเต่งงานช้า มีลูกน้อยลงเเละใช้ชีวิตคนเดียวมากขึ้นก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดนี้เติบโต

“ผู้คนยอมตัดค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ เเต่ไม่ยอมตัดค่าใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยง เเถมยังยินดีจ่ายมากขึ้นเพื่ออาหารพรีเมียมให้สัตว์เลี้ยง

จากเเนวโน้มการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพให้กับสัตว์เลี้ยงของตัวเอง เนสท์เล่ จึงตัดสินใจทุ่มลงทุนกว่า 2,550 ล้านบาท “สร้างโรงงานแห่งใหม่” ในนิคมอมตะนคร มีกำหนดเริ่มเดินสายการผลิตในช่วงกลางปี 2021 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และเสริมพอร์ตโฟลิโอในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงของเนสท์เล่ ซึ่งมีเเบรนด์ที่ติดตลาดอยู่ในมือเเล้ว อย่างเพียวริน่า, ฟริสกี้ส์, อัลโป เเละซุปเปอร์โค้ท เป็นต้น

ภาพจำลองโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงเเห่งใหม่ของเนสท์เล่ จะเริ่มเดินสายการผลิตในช่วงกลางปี 2021

ปั้นรสชาติใหม่ๆ ตีตลาดไอศกรีมไทย 

ไอศกรีมยังเป็นสินค้าที่ขายดี “เมื่อคนเครียด” อยากหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคหันมาที่ให้รางวัลกับตัวเองด้วยการมองหาของกินเล่น

เเม้ไอศกรีมของเนสท์เล่จะโดนผลกระทบจาก COVID-19 แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ ยอดขายก็จะกลับมาเหมือนเดิม การทุ่มลงทุน 440 ล้านบาทเพื่อขยายกำลังผลิตไอศกรีม ณ โรงงานบางชันครั้งนี้ จึงเป็นการลงทุนเพื่อตลาดระยะยาว เพื่อออกไอศกรีมรสชาติใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาด

ปัจจุบันสินค้าประเภทไอศกรีมคิดเป็นส่วนแบ่งราว 10% ของเนสท์เล่ มียอดขายเติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้มีการเจาะตลาดคนไทยด้วยการนำ “ไอศกรีมโมจิ” ที่นำเทรนด์จากเกาหลีและญี่ปุ่นมาเปิดตลาดในไทย รวมถึง “ไอศกรีมคิทแคทและโอริโอ” ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังไม่ได้มองหาเเค่ไอศกรีมรสชาติใหม่ๆ แต่ยังมองหาสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้เนสท์เล่ต้องขยับมาทำบรรจุภัณฑ์ไอศกรีมที่ทำจากกระดาษ ไม่มีส่วนผสมของพลาสติก และสามารถรีไซเคิลได้ 100%

ยูเอชที : ต้องดีต่อสุขภาพ พกพาสะดวก

จากผลวิจัยของ Nielson พบว่า เครื่องดื่มยูเอชทีประเภทนมวัวและเครื่องดื่มช็อกโกแลตมอลต์ยูเอสที จะมีการเติบโต 3% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ชี้ให้เห็นว่าคนไทยกำลังมองหาผลิตภัณฑ์ที่ดีกับสุขภาพเเละพกพาสะดวก

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เนสท์เล่หันมาจับเทรนด์รักสุขภาพและต้องพกพาสะดวก โดยการออกผลิตใหม่อย่าง นมตราหมีในรูปแบบกล่อง (จากเดิมเป็นกระป๋อง) เเละออกไมโลรสชาติใหม่ สูตรไม่มีน้ำตาลทราย ตามเเนวโน้มผู้บริโภคคนไทยที่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์น้ำตาล 0% มากขึ้นในอนาคต

โดยโรงงานแห่งสุดท้ายจะใช้งบลงทุนราว 1,530 ล้านบาท ซึ่งจะตั้งอยู่ที่นวนคร 7 เพื่อเพิ่มกำลังผลิตในเครื่องดื่มยูเอชที อย่างไมโลและนมตราหมี

“การลงทุนในครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการและเทรนด์ของผู้บริโภคเป็นหลัก และจะช่วยสร้างการเติบโตในประเทศไทย”

ภาพโรงงานผลิตเครื่องดื่มยูเอชทีของเนสท์เล่ ที่นวนคร 7

ด้านการพัฒนา “อีคอมเมิร์ซ” ของเนสท์เล่นั้น ก่อนหน้าที่จะเกิด COVID-19 ไทยมีอัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 30% แต่ตอนนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 100% ส่งผลให้ยอดขายออนไลน์ของเนสท์เล่โตกว่าเป้าที่ตั้งไว้ถึง 2 เท่า นำมาสู่การทุ่มงบอีก 50 ล้านบาทในปีนี้

“เราเริ่มตั้งทีมอีบิสซิเนส มาตั้งเเต่ปี 2018 ตอนนี้มีทีมงานเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า มีการลงทุนด้านระบบเเละบุคลากรต่อเนื่อง สร้างเทคโนโลยีด้านการตลาดโฆษณา และระบบการจัดการข้อมูลของเราเอง เพื่อนำเสนอสินค้า บริการ และพัฒนาการสื่อสารที่ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้า”

กำลังศึกษา “น้ำผสมวิตามิน” 

อีกหนึ่งเทรนด์เครื่องดื่มที่กำลังมาเเรงในเมืองไทย ตอนนี้บริษัทใหญ่-เล็ก กระโจนลงมาเล่นตลาด “น้ำผสมวิตามิน” กันไม่หยุด จากปีที่เเล้วตีตลาดเจ้าเดียว มาปีนี้เจอผู้ท้าชิงอีก 7-8 เจ้า ปล่อยทีเด็ดส่งเสริมการขายกันอย่างหนัก ตามเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง ทำให้เกิดคำถามว่า ยักษ์ใหญ่ FMCG อย่าง เนสท์เล่ จะลงมาเล่นสนามนี้หรือไม่ 

วิคเตอร์ เซียห์ ตอบว่า เนสท์เล่ยังอยู่ “ระหว่างการศึกษา” ตลาดของน้ำวิตามิน เพราะตลาดนี้ยังมีขนาดเล็กอยู่ไม่ถึง 5% ของตลาดเครื่องดื่ม “ยังไม่รู้ว่าจะเป็นกระแสที่คงอยู่ในระยะยาว หรือจะอยู่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ แล้วหายไป” เเต่มีเเผนจะเปิดตัวสินค้าเพื่อสุขภาพเเนวๆ นี้ อยู่ในช่วงปีหน้า เเต่ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุรายละเอียดที่เเน่ชัดได้

ต้องจับตาดูว่า หลังทุ่มงบสร้างโรงงานในไทยเเล้ว “เนสท์เล่” จะมีความเคลื่อนไหวใหญ่ๆ อะไรออกมาเขย่าตลาดอีก 

 

 

]]>
1307826
50% ของบริษัทญี่ปุ่นเลือก “เวียดนาม” ตั้งโรงงานใหม่ หลังรัฐอัดฉีดเงินหนุนย้ายฐานจากจีน https://positioningmag.com/1288644 Tue, 21 Jul 2020 09:44:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1288644 สื่อเวียดนามรายงานว่า ภายใต้โครงการสนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่นต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปประเทศอื่นนั้น มีบริษัทญี่ปุ่น 15 แห่ง เลือกที่จะย้ายฐานมายังเวียดนาม

15 บริษัทที่ย้ายมาเวียดนามอยู่ในรายชื่อบริษัท 30 แห่ง ที่จะได้รับเงินทุนสนับสนุนสำหรับย้ายการผลิตออกจากจีน และตั้งโรงงานแห่งใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไทย และลาว

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Jetro) กล่าวว่า 6 บริษัทจาก 15 บริษัทที่เลือกเวียดนามนั้น เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ส่วน 9 บริษัทที่เหลือเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกจากนั้น เป็นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์เสริมโทรศัพท์ เครื่องปรับอากาศ และเพาเวอร์โมดูล แต่ยังไม่แน่ชัดว่าบริษัทเหล่านี้จะย้ายการผลิตมาทั้งหมดหรือเป็นบางส่วนจากจีน

หนึ่งในบริษัทของญี่ปุ่นที่ย้ายออกจากจีนคือบริษัทโฮยา (Hoya Corporation) ผู้ผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดไดรฟ์ ที่คาดว่าจะไปตั้งโรงงานทั้งในเวียดนาม และลาว

(Photo by Kiyoshi Ota – Pool/Getty Images)

Jetro ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้เงินทุนช่วยเหลือบริษัทละ 100-5,000 ล้านเยนสำหรับการย้ายฐาน

เงินอุดหนุนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างความหลากหลายให้แก่ซัปพลายเชนของญี่ปุ่น ที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศไว้เมื่อเดือนเม.ย. ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวน 243,500 ล้านเยน เพื่อช่วยเหลือกิจการของประเทศย้ายการผลิตออกจากจีน

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ 2 ถัดจากไต้หวันที่ดำเนินการความเคลื่อนไหวดังกล่าวเพื่อสร้างความหลากหลายของซัปพลายเชนและลดการพึ่งพาจีน โดยเมื่อปีก่อนไต้หวันได้สนับสนุนจูงใจให้บริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตกลับมาที่บ้านเกิด ทั้งเม็ดเงินสนับสนุน ที่ดิน และการลดหย่อนภาษี

ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 4 ของเวียดนาม ในแง่ของทุนจดทะเบียนในปีที่ผ่านมา รองจากเกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์

Source

]]>
1288644
“รัฐบาลญี่ปุ่น” ควัก 7 หมื่นล้านเยน หนุนโรงงานย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังอาเซียน https://positioningmag.com/1288583 Mon, 20 Jul 2020 13:57:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1288583 รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มจ่ายเงินสนับสนุนให้โรงงานญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบซัพพลายเชน และลดการพึ่งพาการผลิตในจีน

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยว่า บริษัทญี่ปุ่น 57 แห่งกำลังจะได้รับเงินรวม 5.7 หมื่นล้านเยน หรือราว 1.6 หมื่นล้านบาทจากรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอีก 30 แห่งที่จะได้รับเงินจากการย้ายโรงงานไปยังเวียดนาม ไทย เมียนมา และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หนังสือพิมพ์นิเคอิระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้เงินทั้งหมดในครั้งนี้กว่า 7 หมื่นล้านเยน หรือราว 2 หมื่นล้านบาท

ภายใต้ความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ สหรัฐฯ เดินหน้ากดดันจีนโดยการพยายามชักจูงให้ชาติต่าง ๆ ถอนการลงทุนออกจากจีน ซึ่งนโยบายของญี่ปุ่นในครั้งนี้คล้ายคลึงกับนโยบายที่ผ่านมาของไต้หวัน ที่ชักจูงให้นักลงทุนของตนหันกลับมาลงทุนในไต้หวันแทนจีน

ที่ผ่านมา จีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และมีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในจีนจำนวนมาก นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นใช้ความพยายามนานหลายปีที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับจีน อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาบั่นทอนความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และยังกระทบต่อภาพลักษณ์จีนในญี่ปุ่นอีกด้วย

Source

]]>
1288583