โรงพยาบาลวิมุต – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 19 Feb 2024 13:47:04 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 จัดองค์กรสำเร็จ! “พฤกษา” มุ่งหน้าตลาด “กลางบน” โตต่อกลุ่มธุรกิจรายได้ประจำ “รพ.วิมุต” ลงทุนเพิ่ม 2 แห่ง https://positioningmag.com/1463238 Mon, 19 Feb 2024 10:32:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1463238
  • “พฤกษา โฮลดิ้ง” ลีนองค์กร-จัดระเบียบเสร็จตามเป้า ปี 2567 วางเป้ารายได้รวมเติบโต 8% เป็น 28,000 ล้านบาท กลุ่มรายได้ประจำเพิ่มสัดส่วนเป็น 9% ของรายได้รวม
  • กลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัยยังมุ่งหน้าในตลาด “กลางบน” จากสภาวะเศรษฐกิจยังอึมครึม ปีนี้เตรียมเปิดใหม่ 30 โครงการ 29,000 ล้านบาท “ครึ่งหนึ่ง” จะเป็นอสังหาฯ​ ระดับพรีเมียม
  • เครื่องยนต์หลักในกลุ่มรายได้ประจำอย่าง “รพ.วิมุต” ตั้งเป้าเติบโต 26% แผนระยะ 3 ปีเตรียมเปิด “เนอร์สซิงโฮม” เพิ่มเป็น 600 เตียง ก่อสร้างโรงพยาบาลสาขาใหม่อีก 2 สาขา
  • นับตั้งแต่กำเนิด “พฤกษา โฮลดิ้ง” ตั้งแต่ปี 2559 บริษัทนี้เริ่มวางทิศทางธุรกิจกระจายความเสี่ยงออกจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขายเพียงอย่างเดียว และดูเหมือนในปี 2567 การวางฐานใหม่มาอย่างต่อเนื่องจะเริ่มเห็นผลชัดเจน

    “อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อปี 2566 พฤกษา โฮลดิ้ง ทำรายได้ไป 26,132 ล้านบาท (ลดลง -9% จากปีก่อนหน้า) และทำกำไรสุทธิ 2,205 ล้านบาท (ลดลง -20% จากปีก่อนหน้า)

    พฤกษา 2567
    ผลการดำเนินงานพฤกษา โฮลดิ้ง ปี 2566

    ขณะที่ปี 2567 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 8% มูลค่าเพิ่มเป็น 28,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนของธุรกิจ “กลุ่มรายได้ประจำ” (Recurring Income) จะเพิ่มเป็น 9% ของรายได้รวม

    กลุ่มรายได้ประจำของพฤกษานั้นมีการวางฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีทั้งหมด 4 แกนหลัก ได้แก่

    • กลุ่มเฮลท์แคร์ ได้แก่ โรงพยาบาลวิมุต, โรงพยาบาลเทพธารินทร์ และธุรกิจเนอร์สซิ่งโฮม (ร่วมทุน 25% กับ เค.พี.เอ็น ซีเนียร์ ฮอสพิตัล กรุ๊ป)
    • กลุ่มอีคอมเมิร์ซ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ซินเนอร์จี โกรท จำกัด ทำรายได้จากการเสนอสินค้าและบริการผ่านแอปพลิเคชัน MyHaus, แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ com และ บริการตกแต่งภายในจาก Zdecor
    • กลุ่มธุรกิจใหม่ ได้แก่ อินโน พรีคาสท์ ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ และ อินโน โฮม คอนสตรัคชั่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบ
    • กลุ่มการลงทุนเพื่อขยายห่วงโซ่ธุรกิจ ได้แก่ การลงทุนในกองทุน CapitaLand SEA Logistics Fund เน้นด้านนวัตกรรมบริหารจัดการคลังสินค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ กองทุน CapitaLand Wellness Fund (C-Well) การลงทุนในอสังหาฯ ที่เน้นด้านการดูแลสุขภาพ
    พฤกษา 2567
    เป้าหมายการดำเนินงานพฤกษา โฮลดิ้ง ปี 2567

    ปัจจุบันกลุ่มเฮลท์แคร์ยังถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่ทำรายได้ประจำให้กับพฤกษา แต่ในกลุ่มอื่นๆ อุเทนมองว่าจะเติบโตขึ้นเช่นกัน เช่น กลุ่มอีคอมเมิร์ซ ที่มีเป้าหมายรายได้ขึ้นไปแตะ 1,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี หรือ กลุ่มธุรกิจอินโน พรีคาสท์และอินโน โฮม คอนสตรัคชั่น ที่ขยายตัวรับผลิตพรีคาสท์และรับจ้างก่อสร้างนอกเครือพฤกษา เป็นโอกาสหารายได้ที่มากขึ้น

    ทั้งนี้ พฤกษา โฮลดิ้ง วางเป้าในอนาคตจะผลักดันให้รายได้ประจำมีสัดส่วนขึ้นมาถึง 25% ในรายได้รวมของบริษัท

    (จากซ้าย) “ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน), “นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด และ “อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

     

    ปี 2566 “พฤกษา” ติดเบรกที่อยู่อาศัยเปิดใหม่อื้อ

    เจาะลงไปในรายละเอียดธุรกิจหลักของพฤกษาคือกลุ่มที่อยู่อาศัย “ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปี 2566 บริษัทมีการเปิดตัวโครงการเพียง 13 โครงการ มูลค่ารวม 14,200 ล้านบาท ทำยอดพรีเซลได้ 18,540 ล้านบาท และสร้างรายได้ 22,357 ล้านบาท (ลดลง -18% จากปีก่อนหน้า)

    การเปิดตัวโครงการใหม่เมื่อปีก่อนยอมรับว่าต่ำกว่าเป้าต้นปีที่เคยตั้งไว้ 22 โครงการ มูลค่ารวม 23,500 ล้านบาท สาเหตุที่ไม่ถึงเป้าเพราะสภาพเศรษฐกิจเมื่อปีก่อนไม่เหมาะกับการเปิดตัวโครงการในระดับกลางล่าง ซึ่งทำให้พฤกษาระงับโครงการทาวน์เฮาส์กลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทไปหลายแห่ง

    13 โครงการที่ได้เปิดจริงของพฤกษาเมื่อปี 2566

    โครงการที่ถูกระงับไปจะมีการนำมาประเมินและเปลี่ยนรูปแบบโครงการแล้วแต่ศักยภาพทำเล ในบางทำเลอาจจะขยับโปรดักส์ขึ้นเป็นกลุ่มบ้านแฝดหรือบ้านเดี่ยวได้ หรือบางทำเลอาจจะเปลี่ยนมาพัฒนาโปรดักส์แนวใหม่ ‘บ้านกรีนเฮ้าส์’ ทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ราคา 1 ล้านต้นๆ ได้พื้นที่ใช้สอยกว้างกว่าคอนโดฯ มีที่ดิน แต่ปรับที่จอดรถเป็นที่จอดรวมเหมือนกับคอนโดฯ

     

    อสังหาฯ ปี 2567 ยังต้องจับ “กลางบน” เป็นหลัก

    ขณะที่แผนธุรกิจที่อยู่อาศัยพฤกษาปี 2567 กลับมาเติบโตต่อ โดยมีเป้าเปิดโครงการใหม่ 30 โครงการ มูลค่ารวม 29,000 ล้านบาท เป้ายอดพรีเซล 27,000 ล้านบาท และเป้ารับรู้รายได้ 25,500 ล้านบาท

    พฤกษา 2567
    แผนธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท 2567

    ที่ผ่านมาในกลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัย พฤกษามีเป้าระยะยาวในการ ‘ลีน’ ตนเองมาโดยตลอด ลดการเปิดโครงการทับซ้อนทำเลและโปรดักส์ ทำให้มีโครงการในมือน้อยลง ซึ่งปิยะมองว่าปีนี้ถือเป็นปีที่พฤกษา ‘รีดไขมัน’ ออกจนอยู่ในระดับเหมาะสม เหลือโครงการระหว่างขาย 144 โครงการ มูลค่ารวม 62,900 ล้านบาท

    อย่างไรก็ตาม การเติมพอร์ตโครงการใหม่ยังคงยึดนโยบายเดิมคือ เน้นตลาด “กลางบน” เป็นหลัก

    โดยการเปิดตัวใหม่ 30 โครงการปีนี้จะแบ่งเป็น ทาวน์เฮาส์ 17 โครงการ บ้านเดี่ยว 10 โครงการ และคอนโดมิเนียม 3 โครงการ ภาพรวม 50% ของโครงการเปิดใหม่จะเป็นสินค้า “พรีเมียม” หมายถึงทาวน์เฮาส์ราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป, บ้านเดี่ยวราคา 7 ล้านบาทขึ้นไป และคอนโดฯ ราคา 4 ล้านบาทขึ้นไป (*ดูรายละเอียดตามกราฟด้านล่าง)

    เมื่อผสมรวมกับพอร์ตโครงการระหว่างขายที่มีอยู่เดิม จะทำให้พอร์ตสินค้าในมือที่พฤกษามีแบ่งได้ดังนี้

    • 30% กลุ่มราคามากกว่า 7 ล้านบาท
    • 30% กลุ่มราคา 3-7 ล้านบาท
    • 40% เป็นกลุ่มต่ำกว่า 3 ล้านบาท

    สัดส่วนนี้ปิยะมองว่าเป็นพอร์ต “สุขภาพดี” ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ต่างจากเมื่อ 5 ปีก่อนที่พฤกษามีสินค้าราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทถึง 70% ของพอร์ต

    “Pine ประชาชื่น” โครงการแบรนด์ใหม่ บ้านแฝด 3 ชั้นเจาะตลาดมัลติเจนเนอเรชัน

     

    “รพ.วิมุต” เปิดใหม่อีก 2 แห่งที่ “ปิ่นเกล้า” “ทองหล่อ”

    ด้านธุรกิจสร้างรายได้ประจำอย่างโรงพยาบาล “นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด ประกาศรายได้ปี 2566 ทำได้ 1,820 ล้านบาท เติบโต 50% และมีผู้ป่วยกลุ่ม non-COVID เพิ่มขึ้น 49%

    ปี 2567 บริษัทมีเป้าเพิ่มรายได้อีก 26% มูลค่าเพิ่มเป็น 2,300 ล้านบาท พร้อมตั้งงบลงทุน 3,500 ล้านบาทเพื่อลงทุนสร้าง “เนอร์สซิ่งโฮม” เพิ่มอีก 2 แห่งที่วัชรพลและแบริ่ง ซึ่งจะทำให้มีเตียงสะสม 240 เตียง, เพิ่มจำนวนเตียง รพ.วิมุต พหลโยธิน เป็น 150 เตียง และการรีแบรนด์รพ.เทพธารินทร์เป็น “รพ.วิมุต เทพธารินทร์”

    โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน

    ขณะที่แผนระยะยาวของกลุ่มวิมุต มีแผนจะเปิดโรงพยาบาลวิมุตใหม่เพิ่ม 2 แห่ง คือ รพ.วิมุต ปิ่นเกล้า จำนวน 59 เตียง และ รพ.วิมุต ทองหล่อ ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ รวมถึงจะลงทุนธุรกิจเนอร์สซิ่งโฮมต่อเนื่องให้ครบ 600 เตียงภายใน 3 ปี

    ต้องติดตามต่อว่ากลุ่มพฤกษาจะเป็นอย่างไรหลังจากจัดโครงสร้างองค์กรเรียบร้อย ได้เวลาเดินหน้าปั๊มรายได้จากทุกเครื่องยนต์ที่มีในปีนี้!

    ]]>
    1463238
    เปิดแล้ว! “วิมุต เวลเนส” สาขาแรก จิ๊กซอว์ธุรกิจ “พฤกษา” ใช้สุขภาพดันอสังหาฯ https://positioningmag.com/1396024 Fri, 12 Aug 2022 05:16:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1396024 ตามแผนดำเนินงานของ “พฤกษา” ที่แตกไลน์ใช้ธุรกิจสุขภาพเข้ามาสร้างรายได้ใหม่ ผลักดันความได้เปรียบในตลาดอสังหาฯ ล่าสุดโรงพยาบาลขนาดเล็กในชุมชน “วิมุต เวลเนส” สาขาแรกเปิดให้บริการแล้ว สาขาที่สองตามมาช่วงปลายปีที่ “คู้บอน” แย้มการลงทุนก้าวต่อไปย่านบางบัวทองและพัฒนาการ ขณะที่ธุรกิจที่อยู่อาศัยเผชิญปัจจัยลบ “ดอกเบี้ยขาขึ้น”

    โรงพยาบาลวิมุตเปิดบริการ “วิมุต เวลเนส” โรงพยาบาลขนาดเล็ก 50 เตียงเป็นแห่งแรกแล้วในย่านชุมชนพฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน ตามแผนงานกระจายบริการทางการแพทย์ไปให้ใกล้บ้าน เพื่อหวังจะเป็น ‘แม่เหล็ก’ ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกหมู่บ้านพฤกษามากขึ้น

    ภายในวิมุต เวลเนสสาขาแรกจะมีแพทย์ตรวจโรคทั่วไป เป็นหวัด ไม่สบาย เจ็บป่วยเล็กน้อย หรือฉีดวัคซีนป้องกันโรค สามารถพบแพทย์ที่นี่ได้ และที่เน้นเป็นพิเศษคือแผนกกายภาพบำบัด ธาราบำบัด เหมาะกับคนทำงานที่มักป่วยเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม รวมถึงแผนกเนิร์สเซอรีสำหรับผู้สูงอายุ บริการรรับดูแลผู้สูงวัยทั้งแบบไปกลับ (day care) และแบบค้างคืน

    วิมุต เวลเนส
    แผนกกายภาพบำบัด

    แนวคิดของรพ.วิมุตในการกระจายศูนย์บริการการแพทย์ขนาดเล็กมาตามชุมชน เพราะมองว่าการเป็นโรคทั่วไปนั้น คนไข้ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลเข้าเมืองเพื่อมาพบแพทย์ และการมีศูนย์รับดูแลผู้สูงอายุยังเหมาะกับสังคมไทยที่เริ่มเป็นสังคมผู้สูงอายุ หลายครอบครัวอาศัยอยู่รวมกันหลายวัย (multi-generation) และลูกหลานจำเป็นต้องหาผู้ดูแลคุณพ่อคุณแม่หรือปู่ย่าตายาย

    ทำเลที่จะเปิดวิมุต เวลเนส แน่นอนว่าต้องเน้นพื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่มีหมู่บ้านของพฤกษาตั้งอยู่ โดยหวังว่าจะเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าเลือกซื้อ ขณะเดียวกันก็สร้างรายได้จากธุรกิจสุขภาพด้วยฐานลูกค้าชุมชนที่แวดล้อม

    วิมุต เวลเนส
    ห้องพักผู้สูงวัยแบบ Shared Room ราคาเริ่มต้น 2,500 บาทต่อวัน รวมอาหาร 3 มื้อ และกิจกรรม

     

    ลงทุนปีละ 3-4 สาขา แย้มแผนที่ “บางบัวทอง” และ “พัฒนาการ”

    “นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า การลงทุนวิมุต เวลเนสวางแผนจะลงทุนปีละ 3-4 สาขา ใช้งบลงทุน 90-150 ล้านบาทต่อแห่ง แล้วแต่จำนวนเตียงและค่าเช่าที่ดิน

    โดยแห่งที่สองนั้นมีการลงทุนไปแล้วที่ Senera Vimut Health Center อยู่ติดกับคอมมูนิตี้ มอลล์ “JAS Green Village” ถ.คู้บอน ซึ่งแห่งนี้เป็นการร่วมทุน 50:50 กับ บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท โดยทางเจเอเอสเป็นเจ้าของพื้นที่และอาคาร สาขาสองคาดว่าจะเปิดบริการได้ช่วงปลายไตรมาส 4/2565

    ห้องสันทนาการภายในวิมุต เวลเนส บางนา-วงแหวน มีกิจกรรมต่างๆ เช่น คาราโอเกะ สวดมนต์

    ส่วนสาขาต่อๆ ไปนั้นกำลังศึกษาทำเล แต่นพ.กฤตวิทย์แย้มว่า บริษัทกำลังเจรจาจับมือกันต่อกับทางเจเอเอสซึ่งมีแผนลงทุนคอมมูนิตี้ มอลล์ JAS Green Village แห่งใหม่ในย่านบางบัวทอง อาจได้เห็นวิมุต เวลเนสอีกในย่านดังกล่าว

    ขณะที่การลงทุนเองทั้งหมดนั้นกำลังเล็งพื้นที่ย่านพัฒนาการซึ่งพฤกษามีที่ดินเหลือ ในบริเวณนั้นพฤกษามีการพัฒนาหมู่บ้านไปแล้วหลายแบรนด์ ทำให้มีฐานลูกค้าจำนวนมากเหมือนกับที่บางนา-วงแหวน

    นอกจากนี้ วิมุตจะมีการลงทุนเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน จะเพิ่มจำนวนเตียงอีก 100 เตียงในปีนี้ จากเดิมมีอยู่ 100 เตียง เนื่องจากเห็นดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีอัตราครองเตียง 78% แล้ว

     

    ไตรมาส 2/65 “พฤกษา” หดตัว รอระดมเปิดโครงการใหม่

    ด้านผลการดำเนินงานของ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง ในช่วงไตรมาส 2/2565 ทำยอดขาย 6,342 ล้านบาท ลดลง -12% YoY ยอดโอนรวมอยู่ที่ 5,101 ล้านบาท ลดลง -19% YoY พฤกษาทำกำไรสุทธิ 527 ล้านบาท ลดลง -16% YoY

    สำหรับผลประกอบการรอบครึ่งปีแรก 2565 พฤกษามีรายได้รวม 11,370 ล้านบาท ลดลง -14.4% และกำไรสำหรับงวดเท่ากับ 1,002 ล้านบาท ลดลง -5.0%

    หากแยกเป็นรายผลิตภัณฑ์พบว่าสัดส่วนใหญ่ในการทำยอดขายของพฤกษายังมาจาก “ทาวน์เฮาส์” รองมาคือ “บ้านเดี่ยว” และปิดท้ายที่ “คอนโดฯ” แต่กลุ่มสินค้าทาวน์เฮาส์กับคอนโดฯ นั้นทำรายได้ลดลง -21.7% และ -30.2% ตามลำดับ มีเพียงบ้านเดี่ยวที่ยังเติบโตได้โดยโตขึ้น 1.9%

    “อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง เปิดเผยว่า แผนงานด้านธุรกิจที่อยู่อาศัยนั้น ครึ่งปีแรก 2565 พฤกษามีการเปิดตัวไปเพียง 8 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 3,600 ล้านบาท แต่ในครึ่งปีหลังนี้ บริษัทมีแผนจะเปิดตัวถึง 23 โครงการ มูลค่ารวม 12,700 ล้านบาท ในจำนวนนี้มี 3 โครงการที่จะเป็นอาคารชุดภายใต้แบรนด์พลัมและเดอะ ไพรเวซี่ เปิดตัวในทำเลรามอินทรา เตาปูน และพระราม 2

     

    ดอกเบี้ยขาขึ้น หาโปรโมชันช่วยลูกค้า

    ด้านปัจจัยลบที่เพิ่มเข้ามาล่าสุดคืออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว 0.25% อุเทนมองว่าเริ่มมีผลกับความกังวลของลูกค้าแล้ว แต่ในแง่กำลังซื้อในการผ่อนสินเชื่อบ้าน ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ยังช่วยดูดซับ ตรึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านรายย่อยให้ แต่เป็นไปได้ว่าปี 2566 อาจจะเริ่มปรับขึ้นจริง ซึ่งการปรับดอกเบี้ยขึ้นทุกๆ 0.25% จะทำให้กำลังผ่อนของลูกค้าลดลง 3-4%

    อุเทนกล่าวต่อว่า ขณะนี้บริษัทกำลังหารือวางกลยุทธ์เพื่อรับมือต่อไป แต่เบื้องต้นเริ่มมีการทดลองโปรโมชันเพื่อช่วยลูกค้าแล้วในแคมเปญ ‘Pruksa Pass ผ่อนตรงกับเรา’ คือให้ลูกค้าที่กู้สินเชื่อบ้านไม่ผ่าน สามารถเช่าอยู่กับพฤกษาไปก่อน 1-3 ปี โดยค่าเช่าทั้งหมดจะคิดเป็นเงินดาวน์ เมื่อถึงเวลากู้สินเชื่อกับธนาคารอีกครั้ง ยอดเงินกู้ที่เหลือจะต่ำลง โอกาสกู้ผ่านมากขึ้น แคมเปญนี้มีทดลองในคอนโดฯ 4 แห่งเท่านั้น คือ พลัมคอนโด ราม 60 อินเตอร์เชนจ์, พลัมคอนโด สุขุมวิท 97.1, เดอะ ไพรเวซี่ เตาปูน อินเตอร์เชนจ์ และเดอะทรี หัวหมาก อินเตอร์เชนจ์ รวมทั้งหมดมากกว่า 100 ยูนิตที่เปิดโปรโมชันมีผู้สนใจเช่าซื้อ

    ในแง่การสร้างความหลากหลายธุรกิจ พฤกษาก็ยังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง ภายใต้งบ CVC ที่จะร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพ 3,500 ล้านบาทในรอบ 3 ปี ขณะนี้ลงทุนไปแล้ว 400-500 ล้านบาท และเมื่อเร็วๆ นี้ มีการจับมือกับ บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดตั้งบริษัทด้านโซลาร์รูฟ “ปัน นิวเอนเนอจี” เบื้องต้นจะบริการติดตั้งให้กับลูกบ้านพฤกษาทั้งรายใหม่และรายเก่า

    ]]>
    1396024
    กำไร “พฤกษา” Q1/65 โต 9.9% ครึ่งปีหลังพร้อมเปิด “Vimut Wellness Services” https://positioningmag.com/1385482 Tue, 17 May 2022 09:19:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1385482 “พฤกษา” ประกาศงบไตรมาส 1/65 แม้ยอดขาย-รายได้ลดจากการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง แต่ทำกำไรโต 9.9% จากการลดต้นทุน เดือนสิงหาคม 2565 พร้อมเปิด Vimut Wellness Services แห่งแรกย่านบางนา-วงแหวน ตามแผนอสังหาฯ พ่วงบริการสุขภาพ ส่วนแห่งที่สองร่วมทุนกับ JAS ลงทุนในย่านคู้บอน

    “อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทช่วงไตรมาส 1/65 เฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สร้างยอดขาย 5,344 ล้านบาท ลดลง -23% YoY รายได้ 5,679 ล้านบาท ลดลง -17.6% YoY แต่กำไรสุทธิอยู่ที่ 639 ล้านบาท เติบโตขึ้น 9.9% YoY

    สาเหตุที่ยอดขายและรายได้ลดลง เนื่องจากไตรมาสแรกพฤกษาเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ทำให้การก่อสร้างเพื่อเปิดโครงการใหม่และเพื่อส่งมอบบ้านให้ได้ตามเป้า ไม่สามารถทำได้ตามแผน

    อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถสร้างกำไรได้มากขึ้นเพราะมีการประหยัดต้นทุนในหลายด้าน ใช้ระบบวิศวกรรมการก่อสร้างที่ช่วยประหยัดปริมาณใช้ซีเมนต์ จัดวางเส้นทางขนส่งให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนพลังงาน และใช้ระบบงานออนไลน์แทนกระดาษ

    พฤกษา กำไร
    ยอดขาย รายได้ และกำไรพฤกษา ช่วงไตรมาส 1/65

    การเปิดตัวโครงการในไตรมาส 2/65 จะมีทั้งหมด 9 โครงการ มูลค่ารวม 5,900 ล้านบาท แบ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 8 โครงการ มูลค่ารวม 5,200 ล้านบาท และบ้านเดี่ยว “ภัสสร จตุโชติ-รามอินทรา” มูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะทำให้เห็นการปรับตัวตามกลยุทธ์ใหม่ของพฤกษา ที่จะเสริมเรื่องการออกแบบบ้านด้วย Universal Design เหมาะกับคนสูงวัย และมีระบบไฟฟ้าพร้อมสำหรับ EV Charger ต้อนรับโลกยุคใหม่

    อุเทนกล่าวว่า เป้าหมายทั้งการเปิดตัว ยอดขาย รายได้ของพฤกษาตลอดปีนี้ยังคงเป้าเดิม แม้จะมีการชะลอตัวไปในช่วงไตรมาสแรก โดยปีนี้พฤกษาจะมีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมถึง 7 แห่งที่จะสร้างเสร็จใหม่ มูลค่าแบ็กล็อกจากคอนโดฯ เหล่านี้รวม 15,200 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะโอนในช่วงไตรมาส 3 นี้

     

    Vimut Wellness Services ใกล้ได้ฤกษ์เปิดตัว

    กลยุทธ์ของพฤกษานับตั้งแต่การก่อตั้งโรงพยาบาลวิมุต คือการ ‘synergy’ ระหว่างธุรกิจอสังหาฯ และสุขภาพให้ได้ ซึ่งตามแผนแล้วจะมีการตั้งศูนย์สุขภาพย่อยไปตามชุมชนเพื่อให้บริการกลุ่มโรคประจำตัว และการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเดือนสิงหาคมนี้ รพ.วิมุตจะพร้อมเปิดบริการ Vimut Wellness Services ด้านหน้าพฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน จำนวน 50 เตียง เป็นศูนย์สุขภาพแห่งแรก

    Vimut Wellness Services
    Vimut Wellness Services เตรียมเปิดให้บริการ

    ดีมานด์ของพื้นที่นี้ เฉพาะหมู่บ้านของพฤกษาเอง อุเทนระบุว่าบริษัทมีการโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 370 หลัง จากที่เปิดขาย 1,577 ยูนิต และพฤกษายังมีพื้นที่เหลือในการเปิดเฟสใหม่ได้เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้มีชุมชนอาศัยอยู่บริเวณนี้มากกว่า 2,000 ครัวเรือน

    ส่วนศูนย์สุขภาพแห่งที่ 2 นั้น มีการร่วมทุนกับ JAS ASSET ก่อตั้งบริษัท Senera Vimut Health Service เพื่อสร้างโครงการ SENERA Senior Wellness ขึ้นบนถ.คู้บอน ติดกับโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ Jas green village โดยจะเป็นศูนย์เมดิคอลบนอาคาร 4 ชั้น 78 เตียง คาดว่าจะเปิดบริการได้ในเดือนธันวาคมนี้

     

    ปูน-เหล็กขึ้นราคา หวัง “อัตราดอกเบี้ย” ยังไม่ปรับขึ้น

    ด้านสภาวะตลาดช่วงนี้ อุเทนกล่าวถึงปัจจัยลบคือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาวัสดุก่อสร้างกลุ่มปูนและเหล็ก คาดว่าจะกระทบกับต้นทุนการสร้างโครงการแนวราบ ขณะที่การสร้างคอนโดฯ บริษัทได้มีการทำสัญญาล็อกราคาล่วงหน้าไว้จึงไม่น่ากังวลมาก

    พฤกษา
    “อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

    “ถ้าสภาวะเงินเฟ้อยังอยู่เท่านี้เราก็จะยังตรึงราคาบ้านได้ถึงสิ้นปี แต่ถ้าอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปมากกว่านี้ก็คงต้องปรับขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ขณะนี้เป็นตลาดของผู้ซื้ออย่างมาก คนที่อยากได้บ้านควรจะรีบตัดสินใจก่อนที่ผู้ประกอบการจะขึ้นราคา” อุเทนกล่าว

    ส่วนปัจจัยบวกนั้น อุเทนมองว่าต้องตั้งความหวังไว้กับสถานการณ์โควิด-19 หากคลี่คลายมากขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐและเอกชนมั่นใจในการลงทุน มีการสร้างงาน ก็จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

    รวมถึง “อัตราดอกเบี้ย” ที่หวังว่ารัฐบาลจะไม่ปรับขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วก็ตาม เพราะหากอัตราดอกเบี้ยขึ้น จะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อน้อยลงในการซื้อบ้าน ซึ่งจากที่ได้พูดคุยกับหลายฝ่ายในวงการการเงิน อุเทนเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยไทยจะถูกตรึงไว้ก่อนในระยะนี้

    ]]>
    1385482
    “นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล” เปิดแผน “รพ.วิมุต” บุกเบิกเส้นทางใหม่แบรนด์ “พฤกษา” https://positioningmag.com/1355168 Wed, 06 Oct 2021 07:15:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1355168 “รพ.วิมุต” เปิดบริการมากว่า 5 เดือนท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นการบุกเบิกธุรกิจใหม่ของเครือ “พฤกษา” อสังหาฯ รายใหญ่ของไทย และจะผสานสองธุรกิจส่งประโยชน์ซึ่งกันและกัน แผนของ รพ.วิมุต จะเข้ามาเจาะตลาดเฮลธ์แคร์ไทยอย่างไร ติดตามจากบทสัมภาษณ์ “นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล” หัวเรือใหญ่ของบริษัท

    โรงพยาบาลวิมุต ในเครือพฤกษา เปิดบริการสาขาแรกบริเวณอารีย์-สะพานควายตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นการเปิดโรงพยาบาลท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งทำให้บริษัทต้องปรับแผนไปบ้างในช่วงที่ผ่านมา

    Positioning มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง จำกัด หลังการเปิดตัว รพ.วิมุต มาแล้ว 4-5 เดือน เพื่อพูดคุยถึงวิสัยทัศน์ต่อจากนี้ จะมีการขยายตัวไปอย่างไร และเกี่ยวข้องกับพฤกษาซึ่งเป็นบริษัทแม่มากน้อยแค่ไหน

    รพ.วิมุตแห่งแรกเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่บนที่ดิน 4 ไร่ สูง 18 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 5 หมื่นกว่าตร.ม. มีเตียงรองรับผู้ป่วย 236 เตียง เป้าหมายต้องการจะเป็นโรงพยาบาลเจาะกลุ่มชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทั้งผู้ป่วยรายบุคคลและลูกค้าแบบรายองค์กร

    “นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง จำกัด

    นพ.กฤตวิทย์กล่าวว่า จุดมุ่งเน้นในเชิงการแพทย์หรือรักษาโรคของ รพ.วิมุต ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ

    • การเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ สามารถรักษาโรคเฉพาะทางได้เทียบเท่ากับโรงพยาบาลชั้นแนวหน้าของไทย โดยเน้นการรักษาโรคที่ต้องการความเชี่ยวชาญ เช่น สมอง หัวใจ กระดูก
    • การรักษาโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลระยะยาว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง ภาวะน้ำหนักเกิน โรคเครียด
    • กลุ่มงานดูแลผู้สูงอายุ โดยต้องการเป็นแพลตฟอร์มดูแลคนไข้ได้ถึงบ้าน กลุ่มงานนี้จะถือเป็นไฮไลต์ เพราะ นพ.กฤตวิทย์มองว่าเป็นตลาดใหม่ ทางโรงพยาบาลจึงมีการรวบรวมแพทย์เฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุมารองรับ รวมถึงเครือวิมุตจะมีแต้มต่อจากโมเดลธุรกิจที่ควบคู่ไปกับธุรกิจที่อยู่อาศัยของพฤกษา

     

    แผนลงทุนโครงข่าย รพ.ขนาดเล็ก เชื่อม รพ.ขนาดใหญ่

    นพ.กฤตวิทย์กล่าวต่อถึงโมเดลธุรกิจเครือวิมุต จะเป็นโครงข่ายที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นแกนกลาง เป็นพื้นที่ให้การรักษาได้ครบครัน แต่จะมีการเปิดโรงพยาบาลขนาดเล็กใกล้ชุมชนในชื่อ “Vimut Health Center” ซึ่งมีเตียงรองรับประมาณ 50 เตียง รพ.เล็กนี้จะเน้นรักษาโรคเจ็บป่วยทั่วไป การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังต่อเนื่อง กายภาพบำบัด และดูแลผู้สูงอายุแบบ Day Care มาเช้าเย็นกลับ

    เมื่อมีรพ.ขนาดเล็กอยู่ใกล้บ้าน จะทำให้ผู้ป่วยเสียเวลาเดินทางน้อยลง แต่ถ้าหากมีอาการที่ต้องส่งต่อไปรพ.ขนาดใหญ่ก็สามารถทำได้

    ภาพเบื้องต้น Health + Commercial Zone จะมีศูนย์สุขภาพวิมุตให้บริการ

    แผนในรอบ 5-8 ปีข้างหน้า นพ.กฤตวิทย์เปิดเผยว่าจะลงทุนรพ.ขนาดใหญ่ 4 แห่ง (รวมแห่งแรกที่เปิดแล้ว) แต่ละแห่งจะเป็นแกนกลางให้กับ Vimut Health Center ได้ 4 แห่ง ดังนั้น คาดว่าจะมี Vimut Health Center ทั้งหมด 16 แห่ง มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท

    ยังไม่นับรวมการควบรวมกิจการหรือเข้าถือหุ้นในโรงพยาบาลแห่งอื่นที่เหมาะสม ดังที่พฤกษาเข้าถือหุ้นรพ.เทพธารินทร์ เพื่อผนึกองค์ความรู้และแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านเบาหวาน

     

    “รพ.หน้าหมู่บ้าน” จุดเปลี่ยนแบรนด์พฤกษา

    Vimut Health Center นี้จะเกาะไปกับโครงการที่อยู่อาศัยของพฤกษา อย่างการพัฒนาแห่งแรกเกิดขึ้นที่หมู่บ้านพฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน ซึ่งมีชุมชนกว่า 1,000 ครัวเรือน และมีชุมชนหมู่บ้านอื่นที่อยู่ใกล้เคียงอีก

    การทำงานของวิมุตและพฤกษาจะศึกษาร่วมกันถึงทำเลที่เหมาะสมในการเปิด Vimut Health Center หากอยู่ในแผนงานแล้ว พฤกษาจะกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เตรียมรองรับอนาคต โดยขณะนี้เครือมีที่ดินเตรียมไว้แล้วอย่างน้อย 4 แห่งเพื่อเป็นตัวเลือกเปิดโครงการแห่งที่ 2

    การมาทำโรงพยาบาลของพฤกษา คือจุดเปลี่ยนที่จะทำให้ผู้บริโภคมองแบรนด์เขาใหม่ คือเห็นได้ว่าเขาไม่ได้มีเฉพาะเรื่องฮาร์ดแวร์หรืออิฐหินปูนทรายแล้ว แต่เป็นโซลูชันในการดูแลชีวิต ความเป็นอยู่ สุขภาพให้ดีขึ้น

    นพ.กฤตวิทย์มองว่า การก้าวเข้าสู่ธุรกิจเฮลธ์แคร์จะเป็นจุดเปลี่ยนของแบรนด์พฤกษาที่ผู้บริโภคสัมผัสได้จริง “การมาทำโรงพยาบาลของพฤกษา คือจุดเปลี่ยนที่จะทำให้ผู้บริโภคมองแบรนด์เขาใหม่ คือเห็นได้ว่าเขาไม่ได้มีเฉพาะเรื่องฮาร์ดแวร์หรืออิฐหินปูนทรายแล้ว แต่เป็นโซลูชันในการดูแลชีวิต ความเป็นอยู่ สุขภาพให้ดีขึ้น”

    หลายคนอาจมีคำถามว่า รพ.วิมุต เข้ามาเป็นน้องใหม่ในธุรกิจเฮลธ์แคร์ จะหาช่องว่างในตลาดอย่างไร แต่ นพ.กฤตวิทย์มองว่า รพ.นี้ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เพราะอยู่ในเครือพฤกษาซึ่งมีดาต้าเกี่ยวกับกลุ่มผู้บริโภคและกำลังซื้ออยู่แล้ว ทำให้การมองหาทำเลและเป้าหมายถูกต้องเหมาะสมขึ้น

    โรงพยาบาลวิมุตเตรียมพร้อมอุปกรณ์บริการทางการแพทย์ไว้ครบครัน

    นอกจากนี้ โรงพยาบาลมีทีมแพทย์ประจำครบทุกสาขาที่ให้บริการ และแพทย์ที่ปรึกษาของโรงพยาบาลเป็นอาจารย์แพทย์จากโรงพยาบาลรัฐที่มีชื่อเสียง ซึ่งทำให้มีบุคลากรทัดเทียมกัน และมีโอกาสได้บริการคนไข้ที่แพทย์ refer มาจากโรงพยาบาลรัฐที่ไม่มีเตียงรองรับเพียงพอ โดยทาง รพ.วิมุต มีการจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ทันสมัยเพื่อพร้อมรับคนไข้ส่งรักษาต่อ

     

    COVID-19 พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

    รอบ 5 เดือนที่ผ่านมา รพ.วิมุตเปิดตัวท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งนพ.กฤตวิทย์มองว่ามีทั้งผลลบและผลบวก ผลเชิงลบคือการระบาดทำให้ผู้ป่วยที่อาการยังไม่หนักจะเลื่อนวันพบแพทย์ออกไปก่อน ทำให้รายได้ส่วนนี้ของโรงพยาบาลไม่เป็นไปตามเป้า

    แต่ผลเชิงบวกคือ รพ.วิมุต ได้เข้าเป็นโรงพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วย COVID-19 และเป็นจุดฉีดวัคซีนของรัฐ คือ ซิโนแวค และ แอสตราเซเนก้า รวมถึงวัคซีนตัวเลือกคือ ซิโนฟาร์ม รวมแล้วรพ.วิมุตฉีดวัคซีนไปกว่า 80,000 เข็ม ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ส่วนนี้ไม่ได้กำไรแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ได้คืนมาคือชื่อเสียงของโรงพยาบาล และให้ประชาชนได้มาสัมผัสบริการและสถานที่โดยตรง

    บรรยากาศในรพ.วิมุต

    “สิ่งที่ได้กลับมาคือ ‘ความคุ้นเคย’ กับโรงพยาบาล เป็นการประชาสัมพันธ์ไปในตัว ถือว่าคุ้มค่าเพราะทำให้คนรู้จักเราทันที” นพ.กฤตวิทย์กล่าว

    อีกส่วนหนึ่งที่ได้อานิสงส์คือการเปิดจองวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา โดยรพ.วิมุตเปิดจองลอตแรกจำนวน 1.5 แสนโดส ส่วนนี้ยังคงรอกำหนดการนำเข้าวัคซีนซึ่งจะมาครบถ้วนไม่เกินไตรมาส 1/65 ขณะที่ลอตที่สองอีกหลักหมื่นโดสจะเริ่มนำเข้าช่วงไตรมาส 1/65 นพ.กฤตวิทย์ระบุว่า รายได้จากการรับจองโมเดอร์นาทำให้ รพ.วิมุต ทำรายได้ได้มากกว่าเป้า 400 ล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะตกเป้าเพราะสถานการณ์ COVID-19

    ห้องพักผู้ป่วย ออกแบบให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น

    สรุปการเปิดโรงพยาบาลมาแล้ว 4-5 เดือน ขณะนี้มีคนไข้ OPD เฉลี่ยมากกว่า 100 คนต่อวัน และมีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 40-50 เตียง (ครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วย COVID-19) หลังจากการระบาดเริ่มคลี่คลาย รพ.วิมุตจะเริ่มเดินหน้าตามแผนงานขยายสาขาโรงพยาบาลต่อไป

    แม้หลายบริษัทจะก้าวเข้ามาในธุรกิจเฮลธ์แคร์ แต่นพ.กฤตวิทย์เชื่อว่าดีมานด์ก็สูงเช่นกัน เพราะธุรกิจสุขภาพคือเทรนด์ของโลกที่กำลังเป็นขาขึ้น “ซัพพลายเยอะแต่ก็ยังไม่พอ เพราะคนอายุยืนขึ้น มีโรคเรื้อรังมากขึ้น ดีมานด์จึงสูง”

    อนาคตในระยะยาวหลังเครือวิมุตขยายโครงข่ายได้ตามเป้า พร้อมกับมีระบบนิเวศอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ในบ้าน Internet of Medical Things (IoMT) เชื่อว่าจะทำให้พอร์ตด้านสุขภาพขึ้นมาทำรายได้สัดส่วน 1 ใน 4 หรืออาจจะแตะ 1 ใน 3 ของเครือพฤกษาเลยทีเดียว!

    ]]>
    1355168
    ซื้อบ้าน “พฤกษา” ได้ส่วนลดค่าหมอ! กลยุทธ์มัดใจผู้ซื้อยุคใส่ใจ “สุขภาพ” และ “สังคมสูงวัย” https://positioningmag.com/1335443 Fri, 04 Jun 2021 12:53:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1335443 “พฤกษา” ชูกลยุทธ์ใหม่ Tomorrow Reimagined วาง 3 เป้าหมายในการพัฒนา ได้แก่ สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ และความยั่งยืน ทำให้มีสินค้าและบริการใหม่ตอบสนอง ที่เห็นเด่นชัด เช่น “โรงพยาบาลวิมุต” ธุรกิจใหม่ในเครือเดียวกัน สร้างแต้มต่อให้ลูกบ้านพฤกษาได้ “ส่วนลดพิเศษ” ค่ารักษาพยาบาล จูงใจคนเจนวาย-เจนเอ็กซ์

    ยุคนี้การขายบ้านไม่ได้ขายแค่ตัวอาคารเท่านั้น แต่แต่ละแบรนด์ต่างพยายามเสริมคุณค่าให้กับบ้านหรือห้องชุดมากขึ้น เพื่อให้สินค้าโดดเด่นในตลาด มีหมัดเด็ดให้ลูกค้าตัดสินใจเลือก โดยกลยุทธ์ของพฤกษาปีนี้จะสร้างนวัตกรรมใหม่มาเสริมทัพ มีโจทย์ตั้งต้นเป็นเมกะเทรนด์ที่บริษัทเล็งเห็น

    ปิยะ ประยงค์ Chief Executive Officer บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงที่มาแนวคิดใหม่ในการพัฒนาสินค้าและบริการคือ “พฤกษา ใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต Tomorrow Reimagined” แนวคิดนี้มาจากที่พฤกษาเล็งเห็น “เมกะเทรนด์” ของชีวิตและการอยู่อาศัย 3 ด้าน คือ

    1.สุขภาพและเวลเนส – คนใส่ใจสุขภาพมากขึ้นและใส่ใจทั้งร่างกายและจิตใจ ต้องการเวชศาสตร์เชิงป้องกัน ไม่รอให้เจ็บป่วยก่อน และต้องการข้อมูลที่รวดเร็ว

    2.ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนแปลง – ขณะนี้เห็นสองเรื่องใหญ่ๆ หนึ่งคือ “สังคมผู้สูงอายุ” ทำให้การออกแบบบ้านต้องเหมาะสม สองคือ “Work from Home” ทำให้คนต้องการพื้นที่ทำงานหรือเรียนในบ้าน

    3.ความยั่งยืน – โลกร้อน ฝุ่นพิษ PM2.5 ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นหลักของคนรุ่นใหม่ ทำให้พฤกษาต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข

    ทีมพฤกษา : (จากซ้าย) สมภพ สันติวัฒนกุล Head of Innovation & Strategy, ปิยะ ประยงค์ ซีอีโอ และ อังคณา ลิขิตจรรยากุล Group Chief Marketing Officer

    เมื่อตั้งแนวทางได้แล้ว ทำให้เราได้เห็นอะไรใหม่ๆ จากพฤกษาในหลายแง่มุม ทั้งที่ออกสู่ตลาดแล้วและที่กำลังจะเปิดตัวเร็วๆ นี้

     

    “พริวิลเลจ” ลูกค้าพฤกษาได้ “ส่วนลด” กับรพ.วิมุต

    เรื่องแรกที่น่าจะเป็นที่สนใจในตลาดคือบริการสุขภาพ โดยพฤกษาออกโปรโมชันพิเศษ ลูกบ้านพฤกษาที่โอนบ้านในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ได้รับ “พริวิลเลจ” กับโรงพยาบาลวิมุต โรงพยาบาลใหม่ในเครือพฤกษาที่เพิ่งเปิดบริการเมื่อเดือนก่อน โดยพริวิลเลจที่น่าสนใจคือ “ส่วนลด” ค่ายา 10% กับค่าห้องพัก 25% ลดค่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์เหลือเข็มละ 500 บาท และยังได้สิทธิ Telemedicine หาหมอทางไกลฟรี 4 ครั้งด้วย (ขณะนี้กำหนดรับสิทธิได้จนถึง 31 ธ.ค. 64)

    การจับคู่หมู่บ้าน/คอนโดมิเนียมกับโรงพยาบาลต่างๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีการจัดโปรโมชันร่วมกับโรงพยาบาลอยู่บ้าง แต่ที่น่าสนใจคือครั้งนี้พฤกษามีโรงพยาบาลในเครือของตนเอง ทำให้การสร้างฐาน “พริวิลเลจ” กับลูกบ้านจะเป็นแผนระยะยาวมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น บัตรระดับแพลทินัมและบัตรระดับอีลีท ที่ให้ส่วนลดกับรพ.วิมุตมากกว่า กำลังจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ (สิทธิเฉพาะบางโครงการ)

    นอกจากนี้ พฤกษายังประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะมีการตั้ง Healthcare Avenue หรือศูนย์สุขภาพขนาดเล็กแบบมีเตียงโรงพยาบาลรองรับ เป็นเหมือนศูนย์แยกของรพ.วิมุต เริ่มทำเลแรกบริเวณ Pruksa Avenue สุขาภิบาล 2 ซึ่งมีหมู่บ้านของพฤกษาอยู่หลายโครงการ ศูนย์นี้สามารถดูแลการเจ็บป่วยเบื้องต้น ตรวจสุขภาพ รับดูแลผู้สูงอายุในช่วงกลางวัน ทำกายภาพบำบัดได้ โดยปิยะแย้มว่า Healthcare Avenue จะมีเพิ่มอีก 2 แห่ง ในย่านรังสิต และคอนโดฯ ย่าน ถ.ประดิพัทธ์

    ศูนย์ดังกล่าวเปิดให้บริการเป็นการทั่วไป ไม่ได้จำกัดเฉพาะลูกบ้านพฤกษา แต่น่าสนใจว่าต่อไปลูกบ้านพฤกษาอาจได้รับ “พริวิลเลจ” ร่วมกับศูนย์เหมือนกับโรงพยาบาลก็ได้

    ภาพเบื้องต้น Health + Commercial Zone จะมีศูนย์สุขภาพวิมุตให้บริการ

    “การมีสุขภาพเข้ามาเหมือนเป็นโซลูชัน เรามองว่าน่าจะทำให้คนตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น และเราคิดว่าน่าจะโดนใจกลุ่มเจนเอ็กซ์และเจนวายซึ่งเป็นกลุ่มที่ตอนนี้มักจะมีทั้งพ่อแม่และมีลูกๆ ที่ต้องดูแล ทำให้ต้องการโซลูชันสุขภาพเยอะขึ้น” อังคณา ลิขิตจรรยากุล Group Chief Marketing Officer กลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าว (ปัจจุบัน กลุ่ม Gen X คือคนวัย 41-56 ปี และเจนวายคือกลุ่มวัย 25-40 ปี)

     

    ไลฟ์สไตล์ “เปลี่ยน” และ “แตกต่าง”

    อีกมุมที่น่าสนใจคือเทรนด์ด้านไลฟ์สไตล์คนที่เปลี่ยนเร็วและแตกต่างด้วย โดย “สมภพ สันติวัฒนกุล” Head of Innovation & Strategy บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ฉายภาพว่ายุคนี้คนที่เข้ามาชมบ้านโครงการเดียวกัน อาจมีไลฟ์สไตล์คนละแบบกัน บางคนเป็นคู่ที่ไม่มีลูก บางคนมีลูก บางคนมีพ่อแม่อาศัยอยู่ด้วย ทำเลและแบบบ้านภายนอกอาจถูกใจแล้ว แต่มาต่างกันที่ฟังก์ชันในบ้าน

    ทำให้พฤกษาเปิดตัวนวัตกรรม Pruksa Flex เป็นการออกแบบบ้านให้ไม่ต้องใช้กำแพงกั้นห้องช่วยรับน้ำหนัก กำแพงเหล่านี้จึงยกย้ายเปลี่ยนฟังก์ชันห้องได้ โดยลูกค้าสามารถแจ้งกับโครงการตั้งแต่ซื้อบ้านว่าต้องการฟังก์ชันแบบไหน เช่น ต้องการมี 1, 2 หรือ 3 ห้องนอน และกำแพงเหล่านี้สามารถเจาะรูได้ตามปกติ พร้อมฉนวนกันเสียง

    สมภพระบุว่า บริการ Pruksa Flex จะเปิดตัวนำร่องปีนี้ก่อน 2 โครงการในทาวน์เฮาส์แบรนด์บ้านพฤกษา ย่านประชาอุทิศกับย่านรังสิต ในแง่ค่าใช้จ่ายจะคิดตามจริง หากปรับเปลี่ยนกำแพงแล้วต้นทุนลดลง พฤกษาจะ ‘มีทอน’ ให้ลูกค้าด้วย

    (*กำแพงดังกล่าว หากลูกค้าอยู่อาศัยไประยะหนึ่งแล้วต้องการปรับแก้ สามารถจ้างช่างหรือผู้รับเหมาดูแลออกแบบและยกย้ายได้เลย เพราะไม่มีผลกระทบกับโครงสร้าง)

    อีกหนึ่งนวัตกรรมที่พฤกษามีเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ คือ แพลตฟอร์ม ASKURP (แอสครัป) เป็นตัวกลางระหว่างลูกบ้านพฤกษาที่ต้องการขายบ้านเก่า ซื้อบ้านใหม่ จับคู่เข้ากับกลุ่มนักลงทุนรีโนเวตบ้านเก่าเพื่อขายใหม่ โดยแอสครัปไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆ ทำให้ลูกบ้านอุ่นใจขึ้นว่าถ้าชีวิตมีความเปลี่ยนแปลง ต้องย้ายบ้าน การขายบ้านเก่าจะง่ายขึ้น

    ปิดท้ายเรื่องความยั่งยืน ดูแลสิ่งแวดล้อม พฤกษามีหลายๆ ฟังก์ชันและโครงการที่เกี่ยวข้อง เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดไฟส่วนกลาง ร่วมมือกับโครงการ “วน” รีไซเคิลพลาสติก นโยบายลดใช้กระดาษในองค์กร เป็นต้น

    ต้องติดตามต่อว่าภายใต้แนวคิดใหม่จับ “เมกะเทรนด์” ของพฤกษา จะมีการพัฒนานวัตกรรมอะไรออกมาอีกบ้าง!

    ]]>
    1335443
    “รพ.วิมุต” เตรียมเปิดจองวัคซีน Moderna เร็วๆ นี้ คาดล็อตแรกเริ่มเข้าไทยตุลา’64 https://positioningmag.com/1332413 Mon, 17 May 2021 05:59:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1332413 รพ.วิมุต เครือพฤกษา แย้มเตรียมเปิดให้จองวัคซีน Moderna เร็วๆ นี้ แม้กำหนดการได้รับวัคซีนยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะเข้ามาเร็วที่สุดได้ในเดือนตุลาคมนี้ ยังไม่กำหนดราคาปลายทาง แต่เปิดเผยต้นทุนโดสละ 1,200-1,500 บาท

    นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง เปิดเผยกับสื่อมวลชนในการแถลงข่าวผลประกอบการเครือพฤกษาไตรมาส 1/64 ว่า ทางโรงพยาบาลได้ติดต่อขอจองวัคซีน Moderna (โมเดอร์นา) กับผู้นำเข้าไว้ก่อนแล้ว และจะเปิดให้องค์กร/ประชาชนทั่วไปเข้าจองกับรพ.วิมุตเร็วๆ นี้

    อย่างไรก็ตาม ทางผู้นำเข้ายังไม่ระบุชัดเจนว่าจะได้วัคซีนเป็นจำนวนเท่าใดและได้รับสินค้าเมื่อไหร่ แต่คาดการณ์คร่าวๆ น่าจะเป็นช่วงไตรมาส 4/64 เร็วที่สุดคือเดือนตุลาคมนี้

    ด้านราคาวัคซีน Moderna ที่จำหน่ายกับผู้รับบริการไทย รพ.วิมุตยังไม่กำหนด ขึ้นอยู่กับความต้องการตลาด ณ ขณะนั้น แต่นายแพทย์กฤตวิทย์เปิดเผยราคาทุนอยู่ที่เข็มละ 1,200-1,500 บาท

    นายแพทย์กฤตวิทย์กล่าวต่อว่า สถานการณ์การนำเข้าวัคซีนทางเลือกมาจัดจำหน่ายในไทยยังถือว่า ‘ฝุ่นตลบ’ และยังไม่ชัดเจน แม้จะมีช่วงเวลาคร่าวๆ ในการนำเข้าแล้วก็ตาม ดังนั้น ขอให้คนไทยเลือกรับวัคซีนจากรัฐบาลไปก่อนเมื่อมีโอกาสเข้าถึงแล้ว ดีกว่ารอวัคซีนทางเลือกที่ยังไม่แน่นอน

    โรงพยาบาลวิมุต เปิดให้บริการแล้ว

    ส่วนวัคซีน Johnson & Johnson ที่ทาง อย.ไทยให้การรับรองแล้วเช่นกัน รพ.วิมุตมีการติดต่อผู้นำเข้า แต่เนื่องจากผู้นำเข้ายังไม่มีกำหนดเวลานำเข้าใดๆ จึงยังไม่มีการรับจอง

    ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวจาก นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนไทย ระบุว่า วัคซีน Moderna ล็อตแรกน่าจะถึงไทยประมาณ 4 ล้านโดส แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาชัดเจน โดยต้นทุนจะอยู่ที่ 37-38 เหรียญสหรัฐต่อโดส (ประมาณ 1,164-1,195 บาทต่อโดส) และได้หารือตกลงกันในกลุ่มสมาชิกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนไทยว่า จะคิดค่าใช้จ่ายผู้รับบริการไม่เกิน 2,000 บาทต่อโดส รวมค่าประกันวัคซีน COVID-19 แล้ว

    สำหรับรพ.วิมุต เป็นโรงพยาบาลใหม่ในเครือพฤกษาโฮลดิ้ง ตั้งอยู่บน ถ.พหลโยธิน ใกล้ BTS สถานีอารีย์และสะพานควาย เปิดบริการแล้วในเดือนพฤษภาคม 2564 ปัจจุบันเป็นหนึ่งในจุดให้บริการฉีดวัคซีน COVID-19 ที่จองมาทางแพลตฟอร์ม “หมอพร้อม”

    ]]>
    1332413
    “พฤกษา” เตรียมเปิด “ศูนย์สุขภาพ” หน้าหมู่บ้าน รับดูแลผู้สูงวัย-ฉุกเฉินได้อยู่ใกล้หมอ https://positioningmag.com/1320344 Mon, 22 Feb 2021 09:39:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320344 หลังก้าวเข้าสู่ธุรกิจสุขภาพ เดือนพฤษภาคมนี้ “โรงพยาบาลวิมุต” จะเปิดให้บริการครั้งแรก และทำให้ “พฤกษา” ลุยธุรกิจสุขภาพเต็มตัว เตรียมเปิดศูนย์บริการสุขภาพด้านหน้าโครงการที่อยู่อาศัย รับดูแลผู้สูงวัย ทำกายภาพบำบัด อุ่นใจกว่าเมื่ออยู่ใกล้หมอ สร้างจุดขายใหม่ให้แบรนด์ ด้านภาพรวมบริษัทปีนี้ยังเน้น “วิชาตัวเบา” ไม่เปิดเพิ่มมากเพื่อลดสต๊อกเดิม จับตลาด 2-5 ล้านบาทที่ยังต้องการซื้อและซื้อไหว

    ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ร่วมกับ นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง แถลงข่าวแผนธุรกิจของเครือพฤกษาโฮลดิ้งปี 2564

    ไฮไลต์ปีนี้ของ “พฤกษา” คือการออกสตาร์ทของ “ธุรกิจใหม่” ในเครือ นั่นคือธุรกิจด้าน “สุขภาพ” ซึ่งเริ่มปักหมุดก่อสร้าง “โรงพยาบาลวิมุต” ริมถนนพหลโยธิน ใกล้ BTS อารีย์ไปเมื่อปี 2560 และจะเริ่มให้บริการเดือนพฤษภาคม 2564 นี้แล้ว

    โรงพยาบาลวิมุต ถ.พหลโยธิน

    แต่ก่อนที่โรงพยาบาลที่พฤกษาก่อสร้างเองจะได้ฤกษ์เปิดบริการ นายแพทย์กฤตวิทย์กล่าวว่า พฤกษาได้บรรลุดีลเข้าถือหุ้น 51% ในบริษัท เทพธัญญภา จำกัด เจ้าของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ บนถนนพระราม 4 มูลค่าซื้อขาย 708.80 ล้านบาท เพิ่มพอร์ตด้านสุขภาพไปก่อนแล้ว โดยรพ.เทพธารินทร์ปัจจุบันให้บริการ 80 เตียง เมื่อรวมกับโรงพยาบาลวิมุตซึ่งมี 236 เตียง จะทำให้เครือพฤกษามีจำนวนเตียงมากกว่า 300 เตียงอย่างแน่นอน

    “เราเลือกรพ.เทพธารินทร์เพราะแม้เราจะมีทุนและมีบุคลากร แต่เราก็ต้องการประสบการณ์เพิ่ม เราเจรจามานาน 1 ปี พบว่าเรามีทุนที่จะกระจายคลินิกไปตามชุมชน ขณะที่ทางเทพธารินทร์มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ทำให้มาเสริมซึ่งกันและกันได้” นายแพทย์กฤตวิทย์กล่าว

     

    ดาวกระจายเป็น “คลินิก-ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย” หน้าหมู่บ้าน

    ด้านปิยะ ซีอีโอพฤกษา กล่าวในส่วนของการนำธุรกิจสุขภาพมาเสริมแกร่งให้กับธุรกิจโครงการที่อยู่อาศัย ระบุว่า ปีนี้จะมีการผนวกบริการจากรพ.วิมุตไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ เริ่มต้นที่โครงการ เดอะ ปาล์ม บางนา-วงแหวน ย่านถนนสุขาภิบาล 2 เป็นโครงการบ้านเดี่ยวหรูราคา 10-20 ล้านบาท ที่จะเปิดขายไตรมาส 3/64

    ภาพเบื้องต้น Health + Commercial Zone จะมีศูนย์สุขภาพวิมุตให้บริการ

    ด้านหน้าโครงการดังกล่าวจะมี Health + Commercial Zone ลักษณะเป็นศูนย์บริการสุขภาพ ขณะนี้กำลังออกแบบแพ็กเกจที่จะเปิดบริการ เช่น แพ็กเกจดูแลผู้สูงอายุทั้งแบบเข้าไปดูแลในบ้าน หรือลูกบ้านมาที่ศูนย์สุขภาพของวิมุต

    นายแพทย์กฤตวิทย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ศูนย์สุขภาพเหล่านี้จะเปรียบเหมือนโรงพยาบาลขนาดเล็ก ด้วยขนาด 30-40 เตียง ทำให้รองรับมีระยะทำการแก่ชุมชนโดยรอบบริเวณนั้นๆ ได้ ภายในจะมีศูนย์บริการดูแลผู้สูงวัยแบบไปเช้า-เย็นกลับ ศูนย์กายภาพบำบัด คลินิกตรวจเช็กสุขภาพ เป็นต้น และอนาคตพฤกษาจะขยายศูนย์สุขภาพวิมุตในลักษณะนี้ไปอีกหลายโครงการอย่างแน่นอน

     

    “สุขภาพ” จุดขายใหม่ของแบรนด์ “พฤกษา”

    ภาพอนาคตของการผนวกบริการสุขภาพ พฤกษามองตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานในบ้าน ปัจจุบันมีการใช้หลัก Universal Design ในการออกแบบบ้าน คือออกแบบให้เป็นมิตรต่อวีลแชร์และผู้สูงอายุ ลำดับต่อไปจะเริ่มใช้เทคโนโลยีสุขภาพเข้ามาในบ้าน เช่น เครื่องวัดความดันโลหิตที่เป็น IoT ส่งข้อมูลคนไข้ให้แพทย์ได้ผ่านระบบดิจิทัล

    การมีศูนย์สุขภาพในโครงการก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการเสริมแบรนด์ โดยลูกบ้านพฤกษาแน่นอนว่าจะมีสิทธิรับแพ็กเกจราคาดีกว่า และการอยู่ใกล้หมอยังทำให้รู้สึกอุ่นใจ หากมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น รวมถึงตอบสนองเรื่องสังคมผู้สูงอายุได้ด้วย

    (ซ้าย) นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง และ (ขวา) ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท

    ปิยะกล่าวว่า นอกจากคนไทยแล้ว จากการพูดคุยกับเอเย่นต์ประเทศจีน พบว่าลูกค้าจีนมีความสนใจโมเดลใหม่นี้เช่นกัน “พอเราบวกบริการ healthcare เข้าไป ต่างชาติค่อนข้างชอบ และเราน่าจะได้เปรียบในโลกยุค COVID-19 แบบนี้” ทั้งนี้ ก่อนเกิดสถานการณ์โรคระบาด พฤกษามียอดขายลูกค้าต่างชาติประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี

     

    ลดภาระให้ตัวเบา ปีนี้เปิดใหม่เพียง 2.66 หมื่นล้าน

    สำหรับธุรกิจที่อยู่อาศัย ย้อนกลับไปปี 2563 เป็นปีแห่งความเปลี่ยนแปลงของพฤกษา จากวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ทำให้พฤกษาต้องปรับการทำงานในหลายส่วน หนึ่งในนั้นคือการ “ลดสินทรัพย์” ให้ตัวเบาขึ้น เปิดโครงการใหม่น้อยลง โฟกัสในจุดที่เปิดแล้วต้องขายได้จริงๆ ดังนั้น จากปี 2562 เคยเปิดโครงการมูลค่ารวมถึง 4.11 หมื่นล้านบาท เมื่อปีก่อนเปิดใหม่เพียง 1.57 หมื่นล้านบาท

    “เมื่อก่อนเราเปิดเหมือนร้านสะดวกซื้อ ทำเลใกล้กันจนแย่งลูกค้ากันเอง และทำให้ ROA ลดเหลือเพียง 5% จากอดีตเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 12%” ปิยะกล่าว

    จากการลดการเปิดตัวใหม่ เทสต๊อกเก่า ทำให้สินทรัพย์รวมของบริษัทลดจาก 8.7 หมื่นล้านบาทเมื่อไตรมาส 1/63 เหลือ 7.8 หมื่นล้านบาท ณ ขณะนี้ และปิยะมองว่า จะคงสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับ 7-8 หมื่นล้านบาทอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ROA ขึ้นมาที่ 10% (อ่านการปรับตัวของพฤกษา : 5 ข้อสำคัญผ่าตัดใหญ่ “พฤกษา” หลัง COVID-19 ไม่เน้นรายได้แต่ขอกำไรยั่งยืน)

    ปีนี้จะยังดูแลการคงระดับสินทรัพย์ การลีนองค์กร และเน้นเปิดเฉพาะ Hero Projects คือโครงการศักยภาพเกาะกลุ่มตลาดกลางเหมือนเดิม ดังนั้นปี 2564 วางแผนเปิดตัวและเป้ายอดขาย-รายได้ ดังนี้

    – เปิดตัวใหม่ 29 โครงการ มูลค่ารวม 2.66 หมื่นล้านบาท
    – เป้ายอดขาย 3.2 หมื่นล้านบาท
    – เป้ารายได้ 3.2 หมื่นล้านบาท

    ทั้งนี้ เมื่อปีก่อนพฤกษาเปิดตัวเพียง 13 โครงการ มูลค่ารวม 1.57 หมื่นล้านบาท ทำยอดขาย 2.2 หมื่นล้านบาท (-38% YoY) และทำรายได้ 2.92 หมื่นล้านบาท (-27% YoY) อัตรากำไรสุทธิรวมทั้งเครือ 9.4%

     

    ตลาดกลางยังเป็นทางรอด

    ในกลุ่มสินค้าที่จะเปิดขายใหม่แบ่งเป็นโครงการทาวน์เฮาส์ 17 โครงการมูลค่า 1.47 หมื่นล้านบาท , บ้านเดี่ยว 8 โครงการมูลค่า 7.56 พันล้านบาท และคอนโดมิเนียม 4 โครงการมูลค่า 4.39 พันล้านบาท เห็นได้ว่าบริษัทยังเน้นตลาดแนวราบเป็นหลัก

    หากแบ่งตามระดับราคา ปีนี้เปิดกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาทมากที่สุดคิดเป็น 35% ของพอร์ต รองมาเป็นกลุ่มราคา 2-3 ล้านบาทคิดเป็น 33% ของพอร์ต เห็นได้ว่าเป็นการเน้นตลาดระดับกลางล่างถึงระดับกลางเป็นหลัก

    โดยปิยะกล่าวว่า เห็นศักยภาพกลุ่มนี้ต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน ผู้ซื้อเป็นผู้มีรายได้อย่างน้อย 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน จึงค่อนข้างมั่นคงทางการเงิน ถูกปฏิเสธสินเชื่อต่ำกว่ากลุ่มที่อยู่ในระดับล่างกว่านี้ ขณะเดียวกันก็มีความต้องการจริง จะต่างกับกลุ่มรายได้สูงซึ่งเริ่มชะลอการซื้อไปหรือต้องการซื้อในราคาที่ดีที่สุด ยกเว้นบ้านเดี่ยวหรูซึ่งยังมีดีมานด์จริงอยู่

    ปัญหา “กู้ไม่ผ่าน” ของลูกค้าระดับล่างซึ่งเคยเป็นพอร์ตหลักของพฤกษาถือเป็นประเด็นสำคัญมาก ปิยะระบุว่าปีก่อนมีลูกค้าถูกปฏิเสธให้สินเชื่อ 10% แต่ถ้านับรวมกลุ่มที่ไม่ผ่านตั้งแต่ขั้นตอนคัดกรองก่อนยื่นเอกสารจริง (พรีแอพพรูฟ) จะสูงถึง 50% นอกจากนี้ยังมีกลุ่มขอยกเลิกการจองอีก 20% เพราะไม่สามารถผ่อนดาวน์ต่อได้ไหว รวมแล้วยูนิตที่ขายได้โอนไม่ได้เหล่านี้ ทำให้ปีนี้พฤกษาขยับลดกลุ่มต่ำกว่า 2 ล้านบาทเหลือ 14% และส่วนใหญ่จะเน้นที่แคมปัสคอนโดฯ ซึ่งเจาะกลุ่มนักลงทุนแทน

    “COVID-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการอสังหาฯ มาก และเราเชื่อว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เข้ามาอีก สำคัญคือเราต้องทำตัวเองให้ทนทานต่อเศรษฐกิจทุกสภาพ และต้องปรับตัวเร็ว พฤกษาเราเคยตัวใหญ่มากเกินไปทำให้ช้า ซึ่งเราได้ปรับลดลงไปมากแล้วตั้งแต่ปีก่อน” ปิยะกล่าวปิดท้าย

    ]]>
    1320344