ไลน์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 27 Sep 2023 11:08:58 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ได้ใช้แน่! ‘LINE’ เตรียมอัปเกรด ‘Group Chat’ ให้ “เก็บไฟล์ได้นานขึ้น” พร้อมเพิ่มฟีเจอร์ใหม่อีกเพียบ https://positioningmag.com/1445639 Wed, 27 Sep 2023 00:41:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1445639 12 ปีที่แพลตฟอร์ม ไลน์ (LINE) ให้บริการในประเทศไทย จนปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 54 ล้านแอคเคาท์ และจากจุดเริ่มต้นเป็น แชทแอปฯ ปัจจุบันไลน์ได้เข้าไปอยู่เกือบทุกการใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน ทั้งเพย์เมนต์, การสั่งอาหาร, บริการเรียกรถ ฯลฯ แต่ที่น่าสนใจคือ ในปี 2023-2024 นี้ ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย ประกาศว่า ฟีเจอร์ แชท โดยเฉพาะ ไลน์กรุ๊ป จะถูกอัพเกรดให้ดีขึ้นในช่วงปี 2023-2024 นี้

ไทยมีไลน์กรุ๊ปกว่า 10 ล้านกลุ่ม

หนึ่งในฟีเจอร์ที่มีมานานของไลน์ก็คือ Group Chat หรือ ไลน์กลุ่ม ที่คนไทยใช้กันจนคุ้นเคยดีอยู่เเล้ว โดย นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ได้เล่าว่า ปัจจุบันกรุ๊ปไลน์ที่แอคทีฟในไทยมีสูงถึง 10 ล้านกลุ่ม เลยทีเดียว ซึ่งถือว่าเติบโตถึง +56% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยหมวดหมู่ยอดนิยม ได้แก่

  • กลุ่มเพื่อน 82%
  • ครอบครัว 80%
  • กลุ่มงาน 77%
  • โรงเรียน 27%
ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยเเล้ว กลุ่มงาน เป็นกลุ่มที่ผู้ใช้มีมากที่สุดเฉลี่ย 9 กลุ่ม/คน ตามด้วย

  • กลุ่มเพื่อน 7 กลุ่ม/คน
  • กลุ่มของนักเรียน, นักศึกษา 5 กลุ่ม/คน
  • กลุ่มครอบครัว 4 กลุ่ม/คน

อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนไทยมีการส่งไฟล์ต่าง ๆ มากกว่าในหลายประเทศ โดย

  • ไฟล์รูปภาพ +68%
  • ไฟล์งาน (PDF, Word) +67%
  • ไฟล์เสียง +33%
  • ไฟล์วิดีโอ +21%

“ต้องยอมรับว่าในช่วงปี 1990-2010 คนอาจใช้อีเมลในการติดต่อการทำงาน เเต่ปัจจุบันไลน์กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้ทำงาน เพราะใช้ง่ายและสื่อสารได้เรียลไทม์”

 

ขณะที่ กลุ่มผู้ใช้ Group Chat มีทุกเจเนอเรชั่น ได้แก่

  • 15 – 19 ปี (45%)
  • 20 – 29 ปี (31%)
  • 30 – 39 ปี (32%)
  • 40 – 44 ปี (33%)
  • 45 – 49 ปี (34%)
  • 50+ ปี (37%)

ทั้งนี้ ในแต่ละกลุ่มก็จะมีช่วงอายุผู้ใช้ที่แตกต่างกันไป อาทิ กลุ่มงานผู้ใช้หลักจะเป็นช่วงอายุ 25-49 ปี แต่ที่แอคทีฟมากสุดเป็นช่วงอายุ 35-39 ปี เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เป็นระดับซีเนียร์ของบริษัทที่ต้องคอยตามงาน ส่วนกลุ่มครอบครัวผู้ใช้ที่แอคทีฟมากสุดจะเป็นผู้สูงอายุและเด็ก

นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ

เตรียมพบฟีเจอร์ใหม่ในไลน์กลุ่มปีหน้า

ด้วยความที่คนไทยมีการประยุกต์ใช้ไลน์กลุ่มในหลายบทบาทการใช้ชีวิต ดังนั้น ในปี 2023-2024 จากนี้ ทีมงานไลน์ก็จะมุ่งไปที่ฟีเจอร์ใหม่สำหรับไลน์กรุ๊ป ซึ่งจะเป็นการเดเวลอปโดยทีมงานไทย สำหรับใช้ในไทย ซึ่งจะได้เห็นกันในปีหน้า

เบื้องต้น อาจจะมีฟีเจอร์ที่ช่วยในการฟีเจอร์ นัดหมาย ฟีเจอร์ คำนวณการแชร์ค่าอาหาร ที่จะเหมาะกับกลุ่มเพื่อน หรือในส่วนของการทำงานก็จะมีการ ยืดอายุการเก็บไฟล์, การบริหารจัดการโฟลเดอร์ เป็นต้น

“เราจะเน้นพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ให้เกิดสมดุลในการทำงาน การใช้ชีวิตและครอบครัวไปพร้อมกัน บางโซลูชันอาจมีลักษณะเป็น B2B2C ที่องค์กรอาจต้องซื้อเพื่อให้พนักงานใช้”

ไลน์สติกเกอร์แบบซับสคริปชั่นใช้ไม่อั้น

ในส่วนของ ไลน์สติกเกอร์ (LINE STICKERS) ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้หลักให้กับไลน์ โดยปัจจุบัน ผู้ใช้ไลน์จะมีสติกเกอร์เฉลี่ยประมาณ 5 ชุด/คน ล่าสุด ไลน์ก็ได้เปิดตัว LINE STICKERS Premium ที่เป็นรูปแบบซับสคริปชั่นโมเดล สามารถใช้สติกเกอร์ได้ไม่อั้นจากทั้งหมด 9 ล้านเซต แต่จะใช้ได้เฉพาะสติกเกอร์ที่วางจำหน่ายแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน

โดย LINE STICKERS Premium จะแบ่งเป็น 2 แพ็กเกจ ได้แก่

  • Basic ราคา 69 บาท/เดือน หรือ 699 บาท/ปี เลือกสติกเกอร์ใช้งานได้สูงสุดรวมไม่เกิน 5 เซ็ต สับเปลี่ยนเข้าออกได้ตลอดเวลา
  • Deluxe ราคา 139 บาท/เดือน หรือ 1,300 บาท/ปี นอกจากใช้สติกเกอร์แล้ว ยังสามารถใช้งานธีมกว่า 1.5 ล้านแบบ และอีโมจิอีก 120,000 อีโมจิ แบบไม่จำกัดจำนวน

 

รัฐธีร์ ฉัตรดำรงศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโฆษณา อธิบายว่า หนึ่งในสาเหตุที่ไลน์เพิ่มโมเดล Subscription เป็นเพราะ พฤติกรรมการใช้งานของ คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z ที่ คุ้นชินกับบริการแบบ Subscription มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการ เพิ่มโอกาสให้ครีเอเตอร์ เนื่องจากผู้ใช้มีโอกาสที่จะได้ลองใช้งานสติกเกอร์ได้มากขึ้น ทำให้สามารถกระจายรายได้ไปสู่ครีเอเตอร์ได้ดีขึ้น โดยสติกเกอร์เซตไหนถูกใช้ รายได้ก็จะแบ่งให้กับครีเอเตอร์คนนั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม ทางไลน์ไม่ได้มองว่าโมเดล Subscription จะทำให้รายได้จากไลน์สติกเกอร์เพิ่มมากขึ้น แต่จะทำให้ รายได้มีความเสถียร ไม่ต้องรอขายสติกเกอร์เป็นเชต ๆ แบบเดิม

“ราคาเริ่มต้น 69 บาท ซึ่งมันไม่ต่างจากซื้อสติกเกอร์เป็นเซตมาก เราเลยไม่ได้คาดหวังว่ารายได้จากสติกเกอร์จะเติบโตมากขึ้น แต่มันจะเสถียรมากขึ้น”

เปิด Open Platform ให้เดเวลอปเปอร์ Plug-In สร้างรายได้

วีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ ได้เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปี จากนี้ LINE จะมุ่งสู่การเป็น แพลตฟอร์มเปิด ให้องค์กรรัฐ เอกชน หรือเดเวลอปเปอร์ สามารถเข้ามา Plug-In เพื่อสร้างบริการและโซลูชันที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานทั้งภาค ธุรกิจ พันธมิตรของไลน์ และผู้ใช้งานทั่วไป ผ่าน 4 กลยุทธ์ ได้แก่

  1. Extensive Plug-Ins เปิดการเชื่อมต่อกับระบบหรือโซลูชันอื่น ๆ อย่างหลากหลาย ทั้งโซลูชันที่คิดค้นเพิ่มเติมโดยไลน์เอง และระบบที่พาร์ตเนอร์หรือนักพัฒนาทั่วไปได้พัฒนาขึ้นมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ชาวไทยในมิติที่กว้างและลึกขึ้น
  2. Data Utilization ส่งเสริมให้พันธมิตรและนักพัฒนาสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างไร้รอยต่อ นำไปสู่การใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตได้อย่างแท้จริง 
  3. Performance Marketing เพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาดบนแพลตฟอร์ม ด้วยศักยภาพการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลที่แข็งแกร่งขึ้น สร้างการเติบโตให้ภาคธุรกิจผ่านโซลูชันต่าง ๆ ของ LINE ได้อย่างยั่งยืน
  4. Privacy Focused คงไว้ซึ่งการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อย่างเคร่งครัด
วีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ ไลน์ได้วาง 3 โรดแมป ยกระดับเทคโนโลยี ได้แก่ 

  1. Customer Data Tools เพิ่มขีดความสามารถในจัดการข้อมูลลูกค้าผ่านเครื่องมือ MyCustomer ในการเก็บรวบรวม 1st Party Data ของผู้บริโภค โดยให้อำนาจร้านค้าในการเข้าถึงและจัดการข้อมูลได้มากกว่าที่เคย โดยมีแผนการเปิดตัว MyCustomer สำหรับกลุ่มธุรกิจรายย่อย (SME) และในอนาคต สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการทำ CRM โดยเฉพาะ
  2. Ads Improvement ปรับปรุงเครื่องมือสำหรับการโฆษณาบน LINE ให้สามารถวิเคราะห์ ประยุกต์ใช้ข้อมูลที่แบรนด์ได้มาเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น อาทิ การเพิ่ม Segment ในการหากลุ่มเป้าหมายผ่าน Persona Targeting ให้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น และการเปิดให้ภาคธุรกิจ ร้านค้า สามารถนำข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคบน LINE SHOPPING มาวิเคราะห์แบ่งกลุ่ม เพื่อการยิงโฆษณาผ่าน LINE ADS ได้แม่นยำและครอบคลุมขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น
  3. API & Plug-In เปิดขยายการเชื่อมต่อ API ให้มีความหลากหลายและตอบโจทย์เฉพาะด้านได้อย่างครอบคลุมขึ้น อาทิ LINE SHOPPING API, Messaging API รวมถึงแผนการเปิดตัว LINE OA Plus Plug-in Store แหล่งรวมโซลูชันสำหรับนักพัฒนานอกองค์กร LINE ในการนำเสนอโซลูชันใหม่ ๆ และยังเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย ในการมองหาโซลูชันให้ตรงกับความต้องการ

“เรามองว่าไลน์คนเดียวไม่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาให้กับลูกค้าหรือพาร์ตเนอร์ได้ทุกเรื่อง ดังนั้น หากมี Plug-In ที่ตอบโจทย์ได้ เราก็จะเติบโตได้เร็วขึ้น ดีขึ้น ส่วนเดเวลอปเปอร์ก็จะมีรายได้จากเรเวอร์นิวแชร์ริ่ง หรือในอนาคตอาจจะมีผลตอบเเทนรูปแบบอื่น ๆ ที่เดเวลอปเปอร์จะคุ้มต่าแน่นอน” วีระ ทิ้งท้าย

]]>
1445639
ผู้บริโภคจะเห็นอะไรใหม่หลัง Rabbit LINE Pay กลายเป็นของ LINE MAN Wongnai และ LINE เต็มตัว https://positioningmag.com/1443484 Tue, 05 Sep 2023 09:04:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1443484 ถือเป็นดีลที่สองของปี หลังจากที่ LINE MAN Wongnai เข้าซื้อกิจการ FoodStory สตาร์ทอัพไทยผู้พัฒนาระบบ POS (Point of sale) ล่าสุด LINE MAN Wongnai และ LINE ได้เข้าซื้อ Rabbit LINE Pay จากผู้ถือหุ้นเดิม สำหรับผู้ที่ใช้งานอยู่แล้วจะได้เห็นอะไรจากนี้บ้าง ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai และ ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย ได้ออกมาอธิบายให้ฟัง

LINE MAN Wongnai ถือหุ้นสูงสุดใน RLP

ถ้าเป็นคนกรุงเทพฯ ที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS บ่อย ๆ เชื่อว่าก็คงจะใช้บริการ Rabbit LINE Pay (RLP) แน่นอน ซึ่ง Rabbit LINE Pay นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดจาก LINE Thailand ร่วมมือกับทาง Rabbit Card และ mPay แพลตฟอร์มบริการทางการเงินของ AIS เข้ามาลงทุนร่วมกันเมื่อปี 2018 โดยทั้ง 3 พาร์ทเนอร์นั้นถือหุ้นเท่า ๆ กัน

โดยจุดเด่นของ Rabbit LINE Pay ก็คือ การใช้งานผ่านแพลตฟอร์ม LINE ได้เลยโดยไม่ต้องโหลดแอปฯ เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตั๋ว BTS, ซื้อสินค้าใน LINE เช่น สติกเกอร์ รวมไปถึงร้านค้าชั้นนำต่าง ๆ ทั้งนี้ ตัวเลข ณ ปี 2022 Rabbit LINE Pay มีจำนวนผู้ใช้กว่า 10 ล้านราย

แม้จะไม่มีการเปิดเผยถึงมูลค่าการเข้าซื้อหุ้น RLP ต่อจาก แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด และ บริษัท แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด แต่ ยอด ชินสุภัคกุล เปิดเผยว่า LINE MAN Wongnai เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยเชื่อว่า RLP นั้นเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจของ LINE MAN Wongnai โดยเปรียบเสมือน น้ำมันหล่อลื่น ให้กับธุรกิจ เพราะในทุกบริการต้องใช้ระบบเพย์เมนต์ นอกจากนี้ ยอด ยังมองว่า ตลาดอีเพย์เมนต์ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

“ทุกบริการของ LINE MAN Wongnai ไม่ว่าจะเป็น Food, Taxi Messengers หรือ LINE เองก็มีบริการอีคอมเมิร์ซอย่าง LINE Shopping และทุกอย่างต้องใช้ระบบเพย์เมนต์ทั้งหมด ดังนั้น RLP จะมาช่วยให้บริการต่าง ๆ มันไร้รอยต่อ (Seamless) มากขึ้น” ดร.พิเชษฐ กล่าวเสริม

จะได้เห็นอะไรใหม่?

ในแง่ขององค์กร RLP ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งออฟฟิศและพนักงาน ในส่วนของผู้ใช้ก็เช่นเดียวกัน บริการไหนที่เคยใช้ได้ก็ยังใช้ได้ตามเดิม ไม่ว่าจะเติมเงินขึ้นรถไฟฟ้า BTS หรือการใช้จ่ายผ่านร้านค้าพันธมิตร ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคอยากรู้คือ บริการใหม่ที่จะได้เห็น

ซึ่ง ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ได้เปิดเผยว่าจะมีบริการใหม่ ๆ เกิดขึ้นแน่นอน อย่างน้อยที่จะได้เห็นก็คือ สิทธิพิเศษที่มากขึ้น หากใช้งาน RLP ผ่าน LINE หรือ LINE MAN รวมถึงความเป็นไปได้ของบริการ กู้เงินออนไลน์ เพราะทาง LINE เองก็มี LINE BK บริการทางการเงินแบบ Social Banking ของบริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (บริษัทในเครือของธนาคารกสิกรไทย) และบริษัท ไลน์ ไฟแนนเชียล เอเชีย (LINE Financial Asia) อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีแผนชัดเจนว่าจะเห็นบริการใหม่ ๆ เร็วสุดเมื่อไหร่

“อาจยังไม่ชัดเจนว่าจะมีบริการอะไรใหม่ ๆ แต่เราจะพยายามดันทรานแซคชั่นของทั้ง LINE MAN Wongnai และ LINE เข้าไปใช้ใน RLP ให้ได้มากที่สุด แต่เราอยากให้คนเข้ามาในแพลตฟอร์มของเราแล้วทำได้ทุกอย่างตั้งแต่สั่งอาหารจนถึงกู้เงิน” ดร.พิเชษฐ กล่าว

ไม่ได้แข่งแค่กับ e-Wallet ด้วยกัน

แม้ว่าตลาดอี-วอลเล็ตปีนี้ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง ดอลฟิน วอลเล็ต จะหายไป แต่การแข่งขันก็ไม่ได้ลดน้อยลง โดย ยอด อธิบายว่า ตลาดอีเพย์เมนต์ยังมีความท้าทายจาก พร้อมเพย์ ที่ทำให้ทุกอย่างใช้งานได้อย่างเปิดกว้าง นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม เป๋าตัง ของรัฐบาล ดังนั้น การแข่งขันจึงกว้างมากเพราะมีทั้งธนาคารและแพลตฟอร์มอีวอลเล็ต ซึ่ง RLP ก็อยากจะเป็นผู้เล่นหลักของตลาดไทย ดังนั้น การมีบริการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคยังใช้งานเป็นโจทย์ที่สำคัญ

“อย่างเป๋าตังเขาก็มีบริการซื้อสลากออนไลน์เพื่อดึงดูดให้ใช้งาน นี่ก็เป็นโจทย์ของเราว่านอกจากบริการที่มีที่ผู้บริโภคใช้อยู่แล้ว เราจะเพิ่มอะไรเข้าไปได้อีก”

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของตลาดอีเพย์เมนต์ มีแต่ขาขึ้นไม่มีทางลง ตลาดจะใหญ่ขึ้นอีกเพราะผู้บริโภคใช้งานชินตั้งแต่เกิดโควิดระบาด คนใช้เงินสดน้อยลง เพียงแต่ตลาดยังไม่มาชัวร์ เพราะยังมีผู้เล่นที่ออกจากตลาดไปและยังมีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามา

ปัจจุบัน แม้บริการ RLP จะยังไม่ทำกำไร โดยในปี 2565 รายได้รวม 319.63 ล้านบาท ขาดทุน 156.65 ล้านบาท แต่ในส่วนของผู้ใช้ยังคงเติบโต โดย ยอด กล่าวว่า ยังไงต้องทำให้ RLP มี กำไร และเติบโตในฐานะ STAND ALONE COMPANY ที่แข็งแกร่ง

]]>
1443484
คุยกับ ‘ไลน์ สติกเกอร์’ กับโจทย์ใหญ่จะ ‘ขาย’ อย่างไรในวันที่คน “ไม่อยากมีสติกเกอร์เพิ่ม” https://positioningmag.com/1422669 Sat, 11 Mar 2023 06:10:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1422669 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด ‘ไลน์ สติ๊กเกอร์’ (LINE STICKERS) ที่ถือเป็น 1 ใน 3 ธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับ ไลน์ (LINE) ซึ่งกำลังอยู่ในช่วง อิ่มตัว แต่พอทุกคนต้องอยู่บ้านเพราะการระบาด การเติบโตของสติ๊กเกอร์ก็พุ่งขึ้นอีกครั้ง และในช่วงที่การระบาดกลับสู่ภาวะปกติ โจทย์เรื่องอิ่มตัวของสติ๊กเกอร์ก็กลับมาอีกครั้งหรือไม่ บี อิสรี ดำรงพิทักษ์กุล หัวหน้าธุรกิจ LINE STICKERS, LINE ประเทศไทย จะมาให้คำตอบ

ผู้ใช้ไลน์มีสติ๊กเกอร์เฉลี่ย 120 ชุด/คน

ปัจจุบัน แพลตฟอร์ม ไลน์ ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้สูงถึง 53 ล้านราย และสิ่งที่ผู้ใช้งานไลน์ทุกคนต้องมีก็คือ สติ๊กเกอร์ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกซื้อกว่า 5.8 ล้านชุด โดยในอดีตนั้นผู้ใช้งานไลน์มีสติ๊กเกอร์ในมือเฉลี่ยเพียง 40 ชุด/คน แต่ปัจจุบันได้เติบโตขึ้นเป็น 120 ชุด/คน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นสติ๊กเกอร์ที่ ซื้อเอง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 ธุรกิจสติ๊กเกอร์ของไลน์ก็เริ่มถึงจุด อิ่มตัว แต่เมื่อทั่วโลกเจอการระบาดของ COVID-19 ผู้บริโภคต้องอาศัยอยู่แต่บ้านทำให้ยอดขายสติ๊กเกอร์เติบโตสูงขึ้นกว่า 20% โดยเฉพาะการสติ๊กเกอร์ที่ จิกกัดสถานการณ์ของโควิด เพราะผู้บริโภคใช้สติ๊กเกอร์เป็นตัวสื่อถึงความรู้สึก

“พอคนอยู่บ้านเยอะ ๆ ไม่มีอะไรทำ เขาก็จะส่งสติ๊กเกอร์บอกความรู้สึกเพราะไม่มีเรื่องจะคุยกัน ดังนั้น แอคชั่นที่ส่งกันเยอะ ๆ ช่วงโควิดจะไม่ใช่สติ๊กเกอร์ที่เป็นคำพูด แต่เป็นสติ๊กเกอร์ที่สื่อถึงความรู้สึก” อิสรี อธิบาย

อิสรี ดำรงพิทักษ์กุล หัวหน้าธุรกิจ LINE STICKERS, LINE ประเทศไทย

ภาวะอิ่มตัวกลับมาอีกครั้ง

แม้ว่าจุดอิ่มตัวกำลังมา แต่โควิดก็ทำให้สติ๊กเกอร์กลับมาเติบโตอีกครั้ง และเมื่อการระบาดของโควิดกลายเป็นเรื่องปกติ ผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ จุดอิ่มตัวของสติ๊กเกอร์ก็กลับมาอีกครั้ง และมาในจุดที่ ผู้บริโภคไม่อยากจะมีสติ๊กเกอร์เพิ่ม เพราะซื้อไปเยอะแล้ว ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดแค่กับประเทศไทย แต่เป็นทั้งในญี่ปุ่นและไต้หวัน

“ความยากของสติ๊กเกอร์ตอนนี้คือ ช่วงโควิดเขาซื้อไปเยอะมาก เหมือนตอนนั้นเขามีความสุขที่ได้กดซื้อ มันเลยกลายเป็นว่า เขารู้สึกว่าสติ๊กเกอร์เยอะแล้ว การจะซื้อเพิ่มมันเลยยากขึ้น”

นอกจากผู้บริโภคจะไม่อยากซื้อ แต่สติ๊กเกอร์ก็ยัง ไม่หลากหลาย แม้ครีเอเตอร์ในระบบจะเพิ่มขึ้นจาก 5 แสนราย กลายเป็น 1 ล้านราย ก็ตาม เนื่องจากคอนเทนต์ถูกจำกัดอยู่กับแค่ไม่กี่เรื่อง เพราะคนส่วนใหญ่อยู่แต่บ้านไม่ได้ใช้ชีวิตจริง ๆ ทำให้แนวทางของคอนเทนต์ออกมาคล้ายกันไปหมด แต่ตอนนี้ต้องพยายามทำคอนเทนต์ให้หลากหลายขึ้น

ดังนั้น โจทย์ของทีมไลน์ สติ๊กเกอร์คือ ต้องทำให้ สติ๊กเกอร์ใหม่รู้สึกว่าน่าใช้กว่าสติ๊กเกอร์เก่า ซึ่งก็คือการ โฟกัสที่ คุณภาพ หรือก็คือสติ๊กเกอร์ที่สามารถ ใช้ได้ง่าย สื่ออารมณ์ได้ชัดเจน ไม่ใช่แค่มีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่น ซึ่งสิ่งที่พยายามจะบอกครีเอเตอร์คือ สไตล์ไกด์ ที่ต้องระบุให้ชัดว่า คาแรกเตอร์ที่ออกแบบมีนิสัยแบบไหน ท่าทางการสื่ออารมณ์เป็นอย่างไร

“เราเห็นเลยว่าพฤติกรรมผู้บริโภคยุคแรกนั้นขอแค่สติ๊กเกอร์มี Wording ตรงใจเขาซื้อเลย แต่หลังจากโควิดตอนนี้เขาคิดเยอะขึ้น เขาดูจริง ๆ ว่าสติ๊กเกอร์ที่จะซื้อมันสื่อถึงสิ่งที่เขาต้องการสื่อหรือเปล่า เราเลยต้องการสติ๊กเกอร์ที่มีคุณภาพ”

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยครีเอเตอร์ เช่น Creator Connect Day หรืองานประกวด LINE Creators Market Sticker Contest เพื่อพาผู้ชนะไปค้นหาแรงบันดาลใจที่ประเทศญี่ปุ่น โดยในปี 2022 ไลน์ก็ได้เพิ่ม ยอดขาย มาเป็นเกณฑ์ตัดสินในปีนี้ด้วย

“ถ้าเทียบกับประเทศญี่ปุ่นครีเอเตอร์ 1 ล้านคนของไทยถือว่าน้อยและครีเอเตอร์ที่ขายได้เยอะ ๆ ของญี่ปุ่นก็มีมากกว่า แต่ไทยก็ถือว่าพัฒนาขึ้นจากครีเอเตอร์ระดับท็อปที่มาประมาณ 5-6 คน ปัจจุบันก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ดังนั้น เราเลยต้องเอายอดขายมาเป็นเกณฑ์ในปีนี้”

ครีเอเตอร์ทั้ง 12 คนที่ชนะงานประกวด LINE Creators Market Sticker Contest

พร้อมดันโกอินเตอร์

ปัจจุบันในจำนวนครีเอเตอร์กว่า 1 ล้านรายก็มีประมาณ 10-20% ที่ทำเป็นอาชีพจริง ๆ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ไลน์พยายามผลักดัน และอีกหมุดหมายที่ไลน์ต้องการคือ ดันครีเอเตอร์ไทยให้ไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยแต่ละประเทศก็จะมีทีมที่คอยหาสติ๊กเกอร์ที่น่าจะดังในประเทศตัวเอง หรือหากทีมในไทยเห็นคาแรกเตอร์ที่คิดว่าน่าจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายในประเทศนั้น ๆ ก็จะเสนอไป ปัจจุบัน มีประมาณ 30 คาแรกเตอร์ของคนไทยที่สามารถไปขายต่างประเทศ จากอดีตมีประมาณ 10 คาแรกเตอร์เท่านั้น

“แน่นอนว่าแต่ละประเทศจะมีความชอบไม่เหมือนกัน อย่าง ไต้หวันจะชอบคาแรกเตอร์ที่เป็นเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชาย มีแอ็คชั่น ส่วนญี่ปุ่นจะเป็นคาแรกเตอร์ที่เป็นสัตว์ ไม่ชอบให้มีข้อความ เน้นแสดงอารมณ์ ดังนั้น อาจมีบางคาแรกเตอร์ที่ไม่ได้โดนคนไทย แต่อาจเติบโตได้ในต่างประเทศ”

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ไลน์พยายามผลักดันคือ Licensing หรือ Merchandise เพราะญี่ปุ่นทำให้เห็นว่าคาแรกเตอร์สามารถต่อยอดเป็นสินค้าอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นของสะสม ของใช้ หรือแม้แต่เมนูอาหาร โดยปัจจุบันไลน์ก็เป็นตัวกลางในการจับคู่ครีเอเตอร์กับแบรนด์ ในการขายลิขสิทธิ์เพื่อไปคอลแลบหรือออกเป็นสินค้า โดยปัจจุบันไลน์มีคาแรกเตอร์ประมาณ 20 ตัวที่ช่วยจับคู่

เลิกพึ่งพาแต่ครีเอเตอร์ต้องใช้ฟีเจอร์เสริม

อิสรี ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ไลน์พึ่งพาความสามารถของครีเอเตอร์ จนไม่ได้เน้นที่เรื่อง ฟีเจอร์ เท่าที่ควร ดังนั้น อีกกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตของสติ๊กเกอร์ก็คือ ฟีเจอร์ที่จะมาเสริมให้ผู้ใช้หาสติ๊กเกอร์เจอง่ายขึ้น แนวคิดการ นำสติ๊กเกอร์เก่ามาเป็นส่วนลดซื้อสติ๊กเกอร์เซตใหม่ หรือ ซื้อเป็นชิ้นที่อยากได้ไม่ต้องซื้อทั้งชุด

รวมไปถึง บิสซิเนสโมเดลใหม่ ๆ โดยเฉพาะโมเดล ซับสคริปชั่น ให้เลือกสติ๊กเกอร์ที่อยากได้แล้วจ่ายเป็นรายเดือนแทนที่จะซื้อขาด โดยโมเดลดังกล่าวได้เริ่มใช้ในไต้หวันและญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งในช่วงแรกที่ออกโมเดลซับสคริปชั่นก็ส่งผลให้ยอดขายสติ๊กเกอร์ลดลง แต่สุดท้ายก็ดีดกลับมาเติบโต เพราะมีผู้บริโภคหลายคนที่ได้ลองใช้สติ๊กเกอร์พอชอบก็ซื้อขาด แต่ในส่วนของโปรโมชันคงจะมีน้อยลง เพราะที่ผ่านมาไลน์ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเสีย เพราะมีการลดราคาบ่อย ทำให้เขาเลิกซื้อสติ๊กเกอร์ราคาเต็ม

“โมเดลซับสคริปชั่น มันเหมือนกับฟีเจอร์ของโปรดักส์ที่กำลังจะตาย เพราะมันเป็นอะไรที่คุณไม่สามารถขายในราคาปกติได้แล้ว แต่สติ๊กเกอร์ยังไม่ได้อยู่ในช่วงนั้นแค่มันอาจไม่ได้โตหวือหวาเหมือนช่วงแรก และโมเดลนี้ตอนแรกเหมือนจะทำให้ยอดตก แต่สักระยะยอดขายก็กลับมา เพราะกลายเป็นว่าเหมือนเขาได้ลองใช้แล้วชอบ”

อย่างไรก็ตาม ในไทยยังไม่ได้กำหนดว่าจะลันช์ฟีเจอร์นี้เมื่อไหร่ เพราะตราบใดที่ขายได้เรื่อย ๆ ก็ยังไม่อยากจะเอาโมเดลซับสคริปชั่นมาใช้ นอกจากนี้ ทีมยังต้องดูความพร้อมของตลาดและความพร้อมของไลน์ โดยเฉพาะต้องทำใจให้ได้เพราะมันจะมีช่วงที่ยอดตกหากฟีเจอร์ถูกปล่อยไป ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะใช้เวลากลับมาเติบโตอีกครั้งตอนไหน เพราะในไต้หวันกับญี่ปุ่นก็ใช้เวลาไม่เท่ากัน

อิสรี ทิ้งท้ายว่า เป้าหมายของไลน์ใน 10 ปีจากนี้ยังคงต้องการรักษาสถานะของสติ๊กเกอร์ให้เป็น 1 ใน 3 ช่องทางสร้างรายได้ให้ไลน์ พร้อมกับ รักษาการเติบโตให้ได้ 2 หลักต่อไปในทุกมิติ ทั้งยอดขายและจำนวนครีเอเตอร์

]]>
1422669
ทิศทาง ‘LINE for Business’ ธุรกิจลักชัวรี่-ภาครัฐมาเเรง ลุยโซลูชันจัดการข้อมูลเเละ NFT https://positioningmag.com/1379204 Fri, 25 Mar 2022 09:10:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1379204 เปิดกลยุทธ์ LINE for Business เเพลตฟอร์มดิจิทัลยอดนิยม พบกลุ่มธุรกิจสินค้าหรูเติบโตก้าวกระโดด ภาครัฐไทยทำรายการดิจิทัลผ่าน LINE API โตถึง 482 % ปีนี้พร้อมบุกโซลูชันจัดการข้อมูล ‘อย่างง่าย’ จับธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก เริ่มทำตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล คว้าโอกาส NFT 

นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย เล่าถึงภาพรวมธุรกิจในปีที่ผ่านมาว่าเป็น ‘ปีเเห่งความท้าทาย’ ที่ต้องปรับตัวอย่างมาก ทั้งวิถีการใช้ชีวิตเเละกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ

ในช่วงเเรกของวิกฤตโควิด-19 ผู้คนปรับตัวเเบบเฉพาะหน้า เเต่เมื่อเวลาผ่านไปมีหลายพฤติกรรมที่ได้กลายมาเป็นเทรนด์กระเเสหลักอย่างการทำงานจากที่บ้าน การใช้บริการส่งของหรือส่งอาหารเเบบเดลิเวอรี่ รวมไปถึงการหารายได้ในรูปเเบบสกุลเงินดิจิทัล

นอกจากนี้ เเรงกดดันจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก เหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ

ลักชัวรี่มาเเรง ภาครัฐใช้ LINE API โต 482%

ประเทศไทย มีการเติบโตในเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอย่างมาก ในปี 2564 โดยมียอดผู้ใช้ LINE ทั้งสิ้น 50 ล้านราย เพิ่มจากสิ้นปี 2563 ที่มียอดผู้ใช้ 47 ล้านราย

ดัชนีชี้วัดของการใช้งานบริการดิจิทัลผ่าน LINE API เติบโตขึ้นถึง 47% จาก 4.6 หมื่นล้านการดำเนินการในปี 2563 สู่ 6.9 หมื่นล้านการดำเนินการในปี 2564

โดยธุรกิจกลุ่มสถาบันการเงินยังคงเป็นผู้นำในการใช้งาน ‘LINE API’ มากที่สุด

ส่วนกลุ่มธุรกิจสินค้าหรู ‘Luxury’ ถือเป็นธุรกิจกลุ่มใหม่ที่มีการบริโภคภายในประเทศสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จากมูลค่าเงินลงทุนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดบน LINE for Business ถึง 200% ในช่วงปี 2562-2564

ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มภาครัฐและบริการสาธารณะ กลายเป็นกลุ่มที่เติบโตทางด้านดิจิทัลมากที่สุดในปี 2564 ด้วยยอดการทำรายการดิจิทัลผ่าน LINE API เติบโตถึง 482% เมื่อเทียบกับปี 2563

ตามมาด้วย กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว และค้าปลีก ที่มียอดการเติบโตของการใช้งานผ่าน LINE API มากกว่า 100%

พัฒนาโซลูชันจัดการข้อมูล ‘อย่างง่าย’ จับธุรกิจกลาง-เล็ก

สำหรับกลยุทธ์ของ LINE ในปี 2565 จะมุ่งเป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับธุรกิจในการปรับตัวสู่ดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กลุ่มธุรกิจไทยให้เเข่งขันในได้ในระดับสากล

นอกจากนี้ จะมีการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องข้อมูล หรือ DATA ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต

ที่ผ่านมา LINE มีโซลูชันจัดการข้อมูลให้แบรนด์ธุรกิจขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อ ‘MyCustome’ โซลูชันในการบริหารจัดการข้อมูลที่ทำให้แบรนด์สามารถเก็บข้อมูลโดยได้รับการอนุญาตจากลูกค้าโดยตรง (1st party data consent)

ทั้งจากภายในแพลตฟอร์ม LINE หรือนำข้อมูลภายในของแบรนด์ หรือที่ได้จากช่องทางอื่นมารวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปใช้งานได้ทั้งในและนอกแพลตฟอร์ม LINE

เเละในปีนี้ LINE พัฒนาโซลูชันใหม่ล่าสุด ‘Business Manager’ ช่วยบริหารจัดการข้อมูลอย่างง่าย ตอบโจทย์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่ได้ต้องการบริหารงานข้อมูลที่ซับซ้อน โดยจะเน้นไปที่การบริหารจัดการข้อมูลที่เกิดขึ้นโดยตรงบนแพลตฟอร์ม LINE ระหว่าง LINE Official Account และ LINE Ads Platform เพื่อให้แบรนด์สามารถนำมาวิเคราะห์ นำเสนอสินค้าบริการที่โดนใจลูกค้า

ด้านการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเเบรนด์ นอกจาก บัญชีรับรอง (Verified Account) เเล้ว ในปีนี้จะมีโปรแกรม BLUE BADGE ให้ความรู้ จัดอันดับ และให้รางวัลแก่แบรนด์ที่ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ทั้งในแง่ของสินค้า บริการ เเละการออกแบบผลิตภัณฑ์ร้านค้า

เดินหน้าลุย NFT for Business

ในปี 2022-2023 นี้ LINE เตรียมความพร้อมเพื่อเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจโลกใหม่ ผ่านการพัฒนาโซลูชันสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ NFT (Non-fungible Token)

โดย LINE ตั้งเป้าที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับองค์กรธุรกิจไทย ที่จะเดินหน้าสู่การทำการตลาดด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งในด้าน การจัดหา creator ให้กับแบรนด์ และเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ในการใช้งาน NFT เพื่อธุรกิจ (NFT for Business) ด้วยการร่วมมือกับ LINE Consumer Business ที่เพิ่งประกาศทิศทางในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรม NFT อย่างเต็มรูปแบบ

โดย LINE เตรียมจะผลักดันให้เหล่าครีเอเตอร์ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 1 ล้านราย สร้างรายได้เพิ่ม ผ่านการสร้างสรรค์ commercial arts ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ Licensing IP Business หรือการขายสินค้า (Merchandising) โดยที่ผ่านมา มีครีเอเตอร์ชาวไทยมากกว่า 28 รายที่กลายเป็นผู้เล่นธุรกิจ IP ผ่านการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ เช่น Uniqlo และ AIS สำหรับปีนี้ LINE ก็มีแผนจะจะเปิดตัว Line Valley สำหรับการขายสินค้าให้กับเหล่าครีเอเตอร์ด้วย

พร้อมออกโปรแกรมพัฒนาครีเอเตอร์ใหม่ จัดตั้ง LINE Creators Academy สร้างความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ NFT ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับสูงสำหรับครีเอเตอร์ที่สนใจ ซึ่งปัจจุบัน LINE ประเทศไทย ได้เป็นพันธมิตรกับตลาด NFT (NFT Marketplace) ชั้นนำ อาทิ EAST NFT, Bitkub NFT, Coral by KASIKORN X และ Zixel by Zipmex  NFT

เมื่อวันพุธที่ 23 มี..ที่ผ่านมา  LINE ประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศเเผนเตรียมเปิดตัว “LINE NFT” ในวันที่ 13 เม.ย.ที่จะถึงนี้ โดยจะเปิดให้ซื้อขาย NFT ได้ครบจบในแอปพลิเคชันเดียว ซึ่งจะมีการจัดแสดงผลงาน NFTs มากกว่า 100 รูปแบบ พร้อมเปิดให้ชมผลงาน NFT limited edition ของบริษัทบันเทิงญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่อย่าง Yoshimoto Kogyo ซึ่ง ณ ตอนนี้จะเปิดให้บริการ “LINE NFT” แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก NFT Nonfungible.com ระบุว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา มียอดขาย NFT ทั่วโลกถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตถึง 21,000% จากปี 2020 ที่มียอดรวมเเค่ 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

]]> 1379204 LINE BK เเข่งตลาดสินเชื่อ ขยับหาลูกค้าทั่วประเทศ สร้างวลีติดหูผ่าน Music Marketing https://positioningmag.com/1374025 Tue, 15 Feb 2022 10:55:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1374025 LINE BK เดินเกมสู้ตลาดสินเชื่อเต็มรูปแบบ ขยับหาลูกค้าคนไทยทั่วประเทศ สร้างการรับรู้ พร้อมวลีติดหูผ่านกลยุทธ์ Music Marketing ดึงกลุ่มอาชีพอิสระเข้ามากู้ในระบบมากขึ้น 

ความยุ่งยากในการเข้าถึงสินเชื่อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนที่ไม่มีรายได้ประจำและคนทำงานอาชีพอิสระไม่ได้รับโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อมากนัก ผลักดันให้พวกเขาเหล่านั้น จำใจต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบที่มีความเสี่ยงสูงเเละไม่ปลอดภัย

นี่เป็นหนึ่งในภารกิจของ ‘LINE BK’ ผู้ให้บริการ Social Banking รายแรกของไทย ที่พยายามจะเพิ่มโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่ออย่างถูกกฎหมายได้มากขึ้น ด้วยบริการสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน LINE ซึ่งเป็นเเอปฯ ยอดนิยมที่คนไทยกว่า 2 ในใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมีสาขา ไม่ต้องไปธนาคาร

ธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK กล่าวว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยเเละเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ทำให้ความต้องการสินเชื่อของภาคครัวเรือน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกประเภท ผู้คนต้องการเงินทุนไปทำธุรกิจ

นั่นก็ทำให้การเเข่งขันในตลาดสินเชื่อดุเดือดตามไปด้วย ซึ่งปัจจุบันก็มีทั้งผู้เล่นรายเล็กรายใหญ่ รวมไปถึงเเพลตฟอร์มอื่นๆ จากต่างประเทศ

บุกตลาดทั่วประเทศ เน้นกลุ่มอาชีพอิสระ 

สำหรับบริการสินเชื่อของ LINE BK ขณะนี้ มีอยู่ 2 ประเภทได้เเก่

  • วงเงินให้ยืม (Credit Line) – สินเชื่อส่วนบุคคล
  • วงเงินให้ยืมนาโน (Nano Credit Line) – สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ

หลังเปิดตัวมาได้ เพียง 15 เดือน LINE BK มีจำนวนผู้ใช้บริการ 4 ล้านราย บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 4.8 ล้านบัญชี เเละมีจำนวนบัตรเดบิต 2.2 บัตร

โดยมีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 5.4 แสนบัญชี ยอดปล่อยสินเชื่อรวมกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ยอดสินเชื่อส่วนบุคคลอนุมัติเฉลี่ย 3.5 หมื่นบาทต่อราย เเละยอดสินเชื่อนาโนเฉลี่ย 1.1 หมื่นบาทต่อราย

ขณะที่ยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ราว 4% ซึ่งเขามองว่า อยู่ระดับที่บริหารจัดการได้ ไม่สามารถเทียบได้ว่าสูงหรือน้อยกว่าในอุตสาหกรรม เพราะ LINE BK ยังคงเป็นผู้บริการสินเชื่อน้องใหม่ในตลาด

ที่น่าสนใจคือ สัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของลูกค้า LINE BK เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระและอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดเกือบ 80% มีรายได้ขั้นต่ำ 5,000 บาทขึ้นไป

ดังนั้น เป้าหมายหลักของ LINE BK ในปี 2565 จึงเป็นการขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้นและครอบคลุมทั่วประเทศทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด เน้นเจาะกลุ่มคนที่ไม่มีรายได้ประจำเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ต้องการเข้าแหล่งเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างโตกว่า 20,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ จากยอดคงค้างในปีก่อนที่ 16,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การที่ LINE BK มีอัตราการอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 10% นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ที่จะต้องเฟ้น หากลุ่มลูกค้าเครดิตดีในกลุ่มเป้าหมายตลาดเเมสให้เจอ ผ่านการเข้าถึงที่เพิ่มขึ้น เป็นธุรกิจการเงินที่กระจายไปทั่วประเทศ เพราะตอนนี้คนไทยยังรู้จักเเอปพลิเคชัน LINE มากกว่า Social Banking อย่าง LINE BK เเละเมื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็หวังว่าอัตราอนุมัติสินเชื่อจะอยู่ที่ราว 20%

โดยในช่วงต้นปีนี้ อาจยังต้องใช้ความระมัดระวังและความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออยู่บ้าง เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดยังไม่แน่นอน

-ธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK

Music Marketing : สร้างวลีติดหู ร้อนเงินเมื่อไหร่ ยืมไลน์ง่ายกว่า’ 

ล่าสุด LINE BK นำกลยุทธ์ ‘Music Marketing’ มาใช้เพื่อสร้างการรับรู้ให้เข้าถึงคนไทยในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น เน้นไปที่ความสนุกสนาน จดจำง่ายเเละการมีส่วนร่วมในโลกโซเชียล

แคมเปญการตลาดผ่านเพลงที่พึ่งทางไลน์ เป็นความร่วมมือกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ RSIAM ในเครือ RS GROUP โดยได้ดึงนักร้องลูกทุ่งชื่อดังอย่าง ใบเตย อาร์สยาม และ URBOYTJ แร็ปเปอร์ขวัญใจวัยรุ่น มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของเพลงในรูปแบบลูกทุ่งผสมแร็ป

ธนา บอกว่า เพลงนี้ตั้งใจจะสื่อสารด้วยเนื้อหาที่ฟังง่าย ติดหู สนุกสนาน และเข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย โดยได้หยิบเอา ‘Pain Point’ จากปัญหาเรื่องเงินของคนไทยมาผสมกับกลิ่นอายของเพลงลูกทุ่งและแร็ป เน้นด้วยคำติดหูอย่างไม่ไหวไลน์มา หรือ ร้อนเงินเมื่อไหร่ ยืมไลน์ง่ายกว่า

โดยที่ผ่านมา ปัญหาที่ผู้คนอาจเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน คือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท มีความซับซ้อน เข้าถึงยาก จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจว่าแต่ละผลิตภัณฑ์เหมาะกับใครและตัวเขาเองนั้นเหมาะกับผลิตภัณฑ์ไหน

ดังนั้นการทำการตลาดให้ติดหูมีท่อนฮิตหรือวลีเด็ดติดปาก พยายามหาคำกลางๆ ที่ไม่ได้ใส่ชื่อแบรนด์หรือทำให้ดูขายมากจนไป รวมถึงมีท่าเต้นติดตาเป็นที่จดจำ ก็เป็นเหมือนการเชื้อเชิญให้ลูกค้าอยากทำความรู้จักกับเเบรนด์มากขึ้น ซึ่งจะต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์เเละบริการอื่นๆ ได้

ด้านกระเเสตอบรับ Brand Awareness หลังปล่อยเพลงที่พึ่งทางไลน์ออกมาได้ 2 สัปดาห์ ผู้บริหาร LINE BK มองว่าน่าพึงพอใจเเละถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

โดยมียอดการรับชมเอ็มวีบนยูทูปอยู่ที่ราว 5 ล้านวิว เเละมีแคมเปญบน TikTok เพื่อให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมมากขึ้นผ่าน #ที่พึ่งทางไลน์Dance ซึ่งมียอดเข้าชมวิดีโอที่ร่วมแคมเปญรวมกว่า 375 ล้านวิว

นอกจากการทำเพลงเเละเอ็มวีที่พึ่งทางไลน์” เพื่อส่งเสริมด้านการตลาดรูปแบบใหม่ แล้ว LINE BK ยังมีแผนการทำตลาดที่จะมาช่วยตอกย้ำภาพ ‘ร้อนเงินเมื่อไหร่ ยืม LINE ง่ายกว่า’ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่าง LINE MELODY เเละสติกเกอร์ LINE ที่เป็นคาแร็กเตอร์เฉพาะของ LINE BK 

ขณะเดียวกัน LINE BK จะเดินหน้าจับมือกับพาร์ทเนอร์รอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากอีโคซีสเต็มภายในก่อน ค่อยขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ โดยจะเน้นหาพันธมิตรในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากต้องการจะจับตลาดคนไทยให้ได้มากที่สุด

โดยปีที่ผ่านมา ได้จับมือกับ DTAC เปิดให้บริการ “ใจดี มีวงเงินให้ยืม” เเละมีลูกค้าประมาณ 10,000 ราย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบต่อไป

เราจะเจาะตลาดไปทางสื่อต่างๆ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้เกิดการสื่อสารไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายแบบครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

 

 

]]>
1374025
คุยกับ “นายต้นไม้” กับอาชีพ “นักออกแบบสติกเกอร์ไลน์” หาเลี้ยงชีพด้วยรายได้หลักแสน! https://positioningmag.com/1348880 Mon, 30 Aug 2021 06:33:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1348880 เชื่อหรือไม่ว่า การออกแบบสติกเกอร์ไลน์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในตอนนี้ ไม่ใช่แค่งานอดิเรก แต่สามารถเป็นอาชีพหลักได้ด้วยรายได้หลักแสนต่อเดือน ทาง Positioning พาไปพูดคุยกับ “ต้นไม้-มนันห์ตชัย ไพรสินธ์” เจ้าของคาแร็กเตอร์ “นายต้นไม้” ออกแบบสติกเกอร์ไลน์มาแล้วกว่า 30 ชุด

ยุคบุกเบิก Sticker Creator

ถ้าพูดถึงแอปพลิเคชัน “LINE (ไลน์)” ได้กลายเป็นแอปฯ แชทที่มีอิทธิพลต่อคนไทยอย่างยาวนาน กลายเป็น Generic Name ในการส่งข้อความต่างๆ หนึ่งในฟีเจอร์ที่ถูกจริตคนไทยอย่างแรงกล้าก็คือ “สติกเกอร์ไลน์” นั่นเอง เรียกว่าถูกใจตั้งแต่กลุ่มเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ

ในช่วงแรกทางไลน์ได้มีสติกเกอร์เซตทั้งแบบฟรี หรือเรียกว่า Official Account ทางสปอนเซอร์ผลิตสติกเกอร์ไลน์เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค และเซตสติกเกอร์การ์ตูนทั่วไป มีทั้งคาแร็กเตอร์ไลน์ และคาแร็กเตอร์ลิขสิทธิ์ต่างๆ

ความนิยมของสติกเกอร์ไลน์สูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2557 ทางไลน์ได้เปิดตัวโครงการ Sticker Creator เปิดโอกาสให้ “คนทั่วไป” ส่งสติกเกอร์เข้าไปขายในแพลตฟอร์มไลน์ได้ เรียกว่าเป็นการบุกเบิกอาชีพ “นักออกแบบสติกเกอร์ไลน์” ในทันที บางคนส่งสติกเกอร์ไปเพื่อหวังรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ บางคนส่งสติกเกอร์ไปเพื่ออยากใช้สติกเกอร์ที่ออกแบบเอง หรือบางคนรับจ้างออกแบบสติกเกอร์ไลน์เลยก็ยังมี

“ต้นไม้-มนันห์ตชัย ไพรสินธ์” เจ้าของคาแร็กเตอร์ “นายต้นไม้” เป็นหนึ่งในผู้ออกแบบสติกเกอร์ หรือครีเอเตอร์ในยุคบุกเบิกเลยก็ว่าได้ ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปีแรกที่เปิดโครงการ ปัจจุบันได้ออกแบบสติกเกอร์ออกมาให้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 30 ชุด สร้างรายได้รวมถึงหลักล้านบาท สติกเกอร์ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก และสร้างรายได้ให้เขาอย่างมาก คือ สติกเกอร์ “นายต้นไม้ ver.2”

ต้นไม้ ครีเอเตอร์หนุ่มวัย 30 ปี อาศัยอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นคนชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก รักการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อจะเข้ามหาวิทยาลัย ตอนแรกต้นไม้อยากเรียนสายนิเทศศิลป์ แต่ด้วยทุนทรัพย์ที่ไม่พร้อมเท่าไหร่นัก จึงต้องเบนเข็มมาเรียนคณะ “จิตรกรรม” ม.ขอนแก่น

จุดเริ่มต้นของการวาดคาแร็กเตอร์นายต้นไม้นั้น เริ่มตั้งแต่ช่วงตอนเรียนปี 3 ได้เริ่มทำเพจ นายต้นไม้ ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 1.6 ล้านยูสเซอร์ ภายในเพจส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพวาดการ์ตูน พร้อมกับคอนเทนต์แนวคู่รัก รวมถึงคอนเทนต์ที่อิงกับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย ทำให้มีคนชื่นชอบ และแชร์กันเยอะ

จากนั้นก็เริ่มมีแฟนเพจเสนอความคิดเห็นว่าให้ทำสติกเกอร์ไลน์ได้ ประกอบกับเจอพี่ที่รู้จักคนหนึ่งก็ให้คำแนะนำเรื่องการทำสติกเกอร์ไลน์ จึงได้เริ่มทำอย่างจริงจัง ในตอนแรกนั้นยังไม่มีทีมงานในประเทศไทยในการอนุมัติสติกเกอร์ของคนไทยด้วยซ้ำ แต่ก็เริ่มมีกลุ่มไลน์ครีเอเตอร์ที่แลกเปลี่ยนความรู้กัน

“นายต้นไม้” คาแร็กเตอร์ผู้ชายธรรมดา

ต้นไม้ได้วาดคาแร็กเตอร์นายต้นไม้ที่สะท้อนตัวตนของตัวเอง เป็นเด็กผู้ชายผมตั้ง มีเครา ซึ่งตรงกับคาแร็กเตอร์ของตัวเขาเอง ต้นไม้บอกว่าตอนนั้นตั้งใจวาดการ์ตูนไปจีบสาว เลยทำเป็นคาแร็กเตอร์ตัวเอง

ถ้าถามว่าความนิยม หรือความสำเร็จอของคาแร็กเตอร์นี้เกิดจากอะไร ต้นไม้ตอบอย่างซื่อๆ ว่า “ความเป็นผู้ชายธรรมดา” นั่นเอง

ต้นไม้เริ่มเล่าถึงกระบวนการในการวาดสติกเกอร์ไลน์ในช่วงแรกว่า “หลังจากที่สมัครโครงการ ก็เริ่มวาดวันนั้นเลย ใช้เวลาวาด 2-3 สัปดาห์ ได้การ์ตูน 40 ตัว ชุดแรกชื่อว่านายต้นไม้กับนายโดโด้ คำว่าครีเอเตอร์จะต่างจากนักวาดรูป นักวาดรูปจะวาดอะไรก็ได้ แต่สติกเกอร์ต้องสื่อสาร มีความหมาย จะใช้คำไหนอะไรยังไง ตอนนั้นยังไม่มีอินไซต์อะไรด้วย ส่งไปตรวจครั้งแรกเกือบ10 เดือน แล้วโดนตีกลับมา พอแก้แล้วส่งไปใหม่ก็รออีก 5-6 เดือน จนได้วางขาย”

หลังจากที่วางขายเดือนแรกมียอดขาย 14,000 บาท จากนั้นเลยทำชุดที่ 2 คาแร็กเตอร์โดโด้ เดือนแรกมียอดขายแค่ 3,000 บาท จึงเกิดอาการท้อ ไม่อยากทำแล้ว จากนั้นก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ว่าสติกเกอร์ต้องมีอะไรบางอย่างที่แตกต่าง และเป็นตัวเอง

จากนั้นจึงได้ทำสติกเกอร์นายต้นไม้กับแฟน ซึ่งต้นไม้บอกว่าตอนนั้นถือเป็นคนแรกที่ทำสติกเกอร์คู่รัก พร้อมกับใส่ข้อความสำหรับคู่รัก เช่น “ยอมแล้วค้าบ” หรือง้อ งอน เป็นต้น ทำให้สติกเกอร์เป็นไวรัล มีดารานำมาใช้ คนแชร์ 60,000-70,000 ครั้ง

ส่วนชุดที่สร้างชื่อ และดังเปรี้ยงที่สุดก็คือ นายต้นไม้ Ver.2 มียอดขายขึ้นอันดับ 1 อยู่ 2 เดือน มีข้อความ คาแร็กเตอร์ที่ถูกจริตคนไทยมากขึ้น กล้าใส่แอคชั่นต่างๆ เช่น หอมแก้ม บีบแก้ม เขย่าตัว ทำให้คนใช้งานได้ในหลายโอกาส

“การวาดสติกเกอร์ไลน์มีความยากตรงที่ จะสร้างคาแร็กเตอร์ยังไงให้เป็นตัวเรามากที่สุด หลายคนเปลี่ยนแนวไปเรื่อย ต้องเกาะตามกระแส พอขายไม่ได้จะไปหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ บางคนก๊อบปี้เลย ทำให้คาแร็กเตอร์ไม่ชัด มันก็ขายยาก ถ้าเรามีคาแร็กเตอร์ชัดเจน แข็งแรง ยังไงคนก็จำได้ ขายได้”

ลงทุนหลักพัน รายได้หลักแสน!

หลายคนอาจจะสงสัยว่า การที่จะออกแบบสติกเกอร์ไลน์ต้องลงทุนอะไรบ้าง แล้วต้องมีอุปกรณ์เยอะหรือไม่ ลงทุนแล้วคุ้มค่ามั้ย ต้นไม้บอกว่าแรกเริ่มเขาลงทุนซื้อแค่ “เมาส์ปากกา” ในงบ 2,000-3,000 บาท เท่านั้น แต่ถ้าใครมีงบขึ้นมาหน่อยก็ถอย iPad สักเครื่องก็ยังได้ แต่สำหรับต้นไม้นั้น การลงทุนหลักพัน แต่ได้ผลตอบแทนหลักแสนต่อเดือนทีเดียวเชียว!

ปัจจุบันต้นไม้มีสติกเกอร์วางขายทั้งหมด 30-40 ชุด รายได้เฉลี่ย 100,000-200,000/เดือน เซตนายต้นไม้ Ver.2 ยังคงติดท็อปอยู่ ต่อไปตั้งเป้าว่าจะออกสติกเกอร์นายต้นไม้ปีละ 1 เซต

“แต่การวาดสติกเกอร์ก็คาดเดาไม่ได้เหมือนกัน บางชุดบทจะมาก็มา บทจะไม่มาก็ไม่มา ต้องรู้คำในกระแส บางทีนึกคำอะไรได้จะพิมใส่โน้ตไว้ก่อน หรือจะใช้วิธีตั้งโพสต์ถามแฟนเพจ”

ไม่ใช่งานอดิเรก แต่คืออาชีพหลัก

ในตอนนี้ต้นไม้พูดได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า การเป็นนักออกแบบสติกเกอร์ไลน์ เป็นอาชีพหลักที่ใช้เลี้ยงชีพ และเลี้ยงครอบครัว ไม่ได้เป็นแค่งานอดิเรก หรืองานเสริมอีกต่อไป

แต่เดิมต้นไม้ค่อนข้างมีฐานะยากจน สมัยเรียนมหาวิทยาลัยมีไปนั่งสเก็ตช์รูปตามถนนคนเดินเพื่อหารายได้เสริม และเป็นนักดนตรีกลางคืนได้รายได้ชั่วโมงละ 300 บาท พอเล่นดนตรีเสร็จก็กลับมาวาดสติกเกอร์ต่อ จนถึงตอนนี้ได้เลิกเล่นดนตรีมา 4 ปีแล้ว

“แต่ก่อนผมเล่นดนตรีกลางคืนได้ชั่วโมงละ 300 บาท เล่นเสร็จตี 2 กลับมาวาดสติกเกอร์ต่อถึง 6 โมงเช้า ถ้าคนอื่นเดิน ผมจะวิ่ง ไม่เคยทิ้งอะไรเลย ดนตรีก็ไม่ทิ้ง วาดสติกเกอร์ก็ไม่ทิ้ง จนตอนนี้เลิกเล่นดนตรีได้ 4 ปี เพราะมีครอบครัว”

แต่ช่วงของวิกฤต COVID-19 ที่กระทบไปทุกอาชีพ ทุกสายงาน ต้นไม้ที่ทำอาชีพหลักคือนักออกแบบสติกเกอร์ไลน์ ก็ทำอาชีพเสริมด้วยการขายอาหาร ต้นไม้บอกว่า ถ้าไม่ได้วาดสติกเกอร์ ตอนนี้คงเป็น “พ่อครัว” อยู่

“ครีเอเตอร์เป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ขอแค่ทำให้สำเร็จ ต้องสม่ำเสมอ อาจจะยากในช่วงชุดแรก เราทุกคนหวังที่จะดังในชุดแรกเสมอ แต่ถ้าเริ่มทำแล้วอย่าท้อ จริงๆ อาชีพนักวาดในเมืองไทยมันไม่ค่อยรุ่งเท่าไหร่ด้วยซ้ำ เพราะคนไทยไม่ค่อยเสพงานศิลปะ มันไม่เห็นทาง แต่ครีเอเตอร์เป็นช่องทางสำคัญสร้างรายได้ให้คนออกแบบ คงไม่รวยใน 1-2 ชุด แต่เป็นค่าขนมได้”

สุดท้ายต้นไม้ได้ฝากถึงคนที่อยากเป็นครีเอเตอร์ อยากให้ลงมือทำเลย อย่ากลัว ไม่มีอะไรน่ากลัว ซื่อสัตย์กับสิ่งที่ทำ กับตัวเอง ทำมันถึงที่สุด วันนึงผลผลิตดอกไม้จะเบ่งบาน ทำจนกว่างานจะไม่ต้องการเราแล้ว วาดจนกว่าร่างกายจะบอกว่าไม่ไหว เกาะกระแสในบางคำ ตามคีย์เวิร์ดให้ทัน ใช้คำที่ใช้ได้ ต้องวางแผนให้ดีด้วย รวมถึงคำนึงเรื่องวัฒนธรรมแต่ละประเทศ อย่างคำว่าอ้วน คนไทยจะชอบ ดูน่ารัก แต่ในต่างประเทศจะไม่ค่อยชอบกัน

]]>
1348880
จากแนวคิดแบงก์ ‘ล่องหน’ สู่ ‘LINE BK’ อาวุธใหม่ KBank ธุรกรรมครบ จบใน ‘LINE’ https://positioningmag.com/1302429 Tue, 20 Oct 2020 13:28:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1302429 หลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อ ‘LINE BK’ กันมาบ้าง เพราะเริ่มมีการเปิดใช้งานไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ลึกซึ้งว่าคืออะไร ทำอะไรได้บ้าง และมันแตกต่างจาก ‘Rabbit LINE Pay’ อย่างไร รวมถึงมันเหมือนหรือต่างจากแอป ‘K-Plus’ หรือเปล่า และเป้าหมายของ LINE BK คืออะไร วันนี้ Positioning จะมาสรุปให้ฟัง

LINE BK ทำอะไรได้

ก่อนจะพูดถึงตัว LINE BK ต้องย้อนไปเมื่อปี 2019 ที่ LINE Corp และ KBank ได้เปิดตัวบริษัทร่วมทุนกันในชื่อ ‘บริษัท กสิกร ไลน์’ และในปี 2020 นี้บริษัทก็ได้คลอด LINE BK บริการ ‘Social Banking’ รายแรกของไทย โดยผู้ใช้ไลน์สามารถใช้บริการ LINE BK ได้ เพียงกดไปที่หน้า Wallet ในแอปพลิเคชัน LINE แล้วกดปุ่ม LINE BK เพื่อเริ่มสมัครบริการได้ฟรีไม่จำเป็นต้องโหลดแอปใด ๆ เบื้องต้นมี 4 บริการหลัก ได้แก่

บริการบัญชีเงินฝาก : ครอบคลุมบริการโอน ถอน จ่าย ทำทุกอย่างได้บน LINE ไม่ต้องสลับแอป สามารถโอนเงินได้ในแชทพร้อมการแจ้งเตือนยอดเงินเข้า-ออก เช็กยอดได้เรียลไทม์ และฟีเจอร์อื่น ๆ เช่น การส่งสลิป, บริการขอเรียกเก็บเงินและการหารค่าใช้จ่ายกับเพื่อนใน LINE รวมไปถึงการถอนเงินสดไม่ต้องใช้บัตรได้ที่ตู้ ATM ของธนาคารกสิกรไทยทั่วประเทศ

บริการบัญชีเงินออมดอกพิเศษ : บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษสูงสุดถึง 1.5% ต่อปี สามารถกำหนดระยะเวลาออมเงินได้เอง ทั้งแบบระยะสั้น 6 เดือน หรือระยะยาว 12 เดือน

บริการบัตรเดบิต : บัตรเดบิตวีซ่า LINE BK ให้เงินคืน 0.5% เมื่อช้อปออนไลน์ 100 บาทขึ้นไป โดยมีบัตรให้เลือก 3 ประเภท ทั้งบัตรเดบิต, บัตรเดบิตออนไลน์ ที่สามารถสมัครและใช้งานได้ทันทีบนแอปไลน์ และบัตรเดบิตคู่วงเงิน ที่พร้อมให้ดึงเงินจากวงเงินให้ยืมมาใช้จ่ายต่อได้

บริการวงเงินให้ยืม : บริการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบดิจิทัล โดยพนักงานประจำรายได้ขั้นต่ำ 7,000 บาท, ฟรีแลนซ์ เจ้าของกิจการรายได้ขั้นต่ำ 9,000 บาท) ก็สามารถขอสินเชื่อได้ โดยมีวงเงินสูงสุดไม่เกิน 800,000 บาท ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 18-25% ต่อปีสำหรับสินเชื่อผ่อนชำระที่ระยะเวลา 12-60 เดือน และอัตราดอกเบี้ย 20-25% ต่อปีสำหรับสินเชื่อให้ยืมพร้อมใช้ที่กำหนดเงื่อนไขการจ่ายขั้นต่ำได้ทุกเดือน

“เราเป็นธนาคาร แอปเราไม่มีวันทำให้คนอยู่ได้ถึง 63 นาทีต่อวันเหมือนไลน์ ดังนั้น ในเมื่อเราเก่งเรื่องทรานแซคชัน เราต้องทำให้มันสะดวกที่สุด ทำให้ลูกค้าแชทด้วยโอนเงินไปด้วยได้ พูดง่าย ๆ เราอยากอยู่ทุกที่ที่ลูกค้าอยู่ เราไปหาลูกค้าเอง ลูกค้าไม่ต้องมาหาเรา ธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด

เพิ่มบริการการลงทุนและประกันใน 2 ปี

หากดูจากบริการต่าง ๆ แล้ว แทบจะเรียกได้เรียกได้ว่าเหมือนยกเอาแอป K-Plus มาไว้ในไลน์ แต่สามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีบางบริการที่ LINE BK ยังไม่มี เช่น บริการด้านการลงทุน และบริการทางด้านประกัน ซึ่งธนาได้ระบุว่า อดใจรออีกนิด เพราะกำลังศึกษาถึงการทำบริการด้านการลงทุนอยู่ รวมถึงจำเป็นต้องขอไลเซ่นจากทางแบงก์ชาติ โดยคาดว่าภายใน 2 ปีจะได้เห็นแน่นอน

ไม่ได้มาแทนที่ Rabbit LINE Pay

แน่นอนว่าหลังจากการมาของ LINE BK ผู้ที่ใช้งานไลน์เป็นประจำคงสงสัยว่าแล้วจะมาแทนที่ ‘Rabbit LINE Pay’ ที่เป็นบริการทางการเงินของไลน์ที่เอาไว้ใช้จ่าย ซื้อสินค้าต่าง ๆ ซึ่งบริการ LINE BK เองก็สามารถใช้ได้ไม่ต่างกับ Rabbit LINE Pay ซึ่ง ธนา ก็ได้อธิบายในส่วนนี้ว่า ไม่ได้มาแทนที่ แต่มาเสริม เพราะ Rabbit LINE Pay จะต้องคอยเติมเงินเพื่อใช้จ่ายซื้อของ ดังนั้น เมื่อมี LINE BK ก็จะสามารถผูกบัญชีกันได้โดยไม่ต้องไปเติมเงิน อีกทั้งมองว่า Rabbit LINE Pay นั้นเน้นใช้ในการซื้อของ แต่ LINE BK จะเน้นที่การโอนเงินระหว่างกันมากกว่า

“เพนพอยต์ของ Rabbit LINE Pay อยู่ที่การเติมเงิน ซึ่งคนไทยอาจมองว่าไม่สะดวก ดังนั้น LINE BK จะมาเสริมในส่วนนี้ อีกทั้งเราไม่ได้เน้นใช้จ่ายเงินร้านค้า แต่เน้นโอนเงินระหว่างกัน”

5 ปีขึ้นผู้นำด้านสินเชื่อ

สำหรับรายได้จาก LINE BK จะมาจากการปล่อยสินเชื่อบุคคล (Personal Loan) ซึ่ง LINE BK ตั้งเป้าที่จะขึ้นเป็นผู้เล่น Top 5 ในตลาดสินเชื่อภายใน 5 ปี ด้วยจุดแข็งที่ความง่าย สะดวก อนุมัติไว และทำผู้ใช้บริการสามารถขอวงเงินสินเชื่อได้ด้วยตัวเองตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะการประเมินความเสี่ยงจากการนำข้อมูลหลายส่วนมารวมกัน อาทิ ข้อมูลจากเครดิตบูโร ข้อมูลจากบัญชีเดินสะพัด และข้อมูลจากการใช้งานต่าง ๆ ของไลน์

อย่างไรก็ตาม ธนายอมรับว่า แม้จะมีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์แล้ว แต่ความเสี่ยงด้าน NPL หรือหนี้เสียนั้น ก็เป็นเรื่องที่กังวล เพราะด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่ยืนยันว่าจะพยายามควบคุมไม่ให้เกินสัดส่วน 5%

“ไม่ใช่ทุกคนจะมีเงินเดือน อีกทั้งคนไทยที่มีเครดิตสกอร์ยังมีเพียง 33% ส่งผลให้ต้องไปกู้นอกระบบ โดยยอมจ่ายดอกเบี้ยที่สูงถึง 20% ต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันเงินกู้นอกระบบคิดเป็น 10% ของสินเชื่อในประเทศไทย ดังนั้น นี่เป็นโอกาสดีที่ LINE BK จะเข้ามาแก้เพนพอยต์นี้”

เป้าใหญ่เปลี่ยนผู้ใช้ไลน์เป็นลูกค้ากสิกร

ไม่ใช่แค่การขึ้นเป็นผู้นำสินเชื่อ แต่การขยายฐานลูกค้าก็เป็นเป้าหมายใหญ่ โดยปัจจุบันฐานลูกค้าธนาคารกสิกรมีทั้งหมด 16.6 ล้านคน ขณะที่แพลตฟอร์มไลน์มีผู้ใช้กว่า 47 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่า 99.9% ของลูกค้ากสิกรใช้งานไลน์ ดังนั้น ที่เหลืออีกกว่า 30 ล้านรายจะเป็นโอกาสที่ LINE BK จะเป็นจุดเปลี่ยนให้ผู้ใช้ไลน์มาเป็นลูกค้าธนาคารกสิกรในอนาคต อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้ LINE BK จะต้องมีผู้ใช้งานอย่างน้อยหลักล้านรายให้ได้

“เราคงไม่ได้มาเปลี่ยนอนาคตฟินเทค แต่มาเปลี่ยนรูปแบบ เพราะบางอย่างไม่ต้องทำกับธนาคารตรงได้ ดังนั้นเราจึงพยายามเข้าไปใกล้และทำให้เขาสะดวกขึ้น ธุรกรรมทางการเงินเป็นแค่ทางผ่านในการทำกิจกรรม ดังนั้น เราแค่ไปอยู่ข้างหลัง ไปช่วยอำนวยความสะดวกให้เขา เราเอาการเงินไปเสียบในชีวิตเขา เป็นแบงก์ล่องหนพร้อมเชื่อมต่อกับทุกกิจกรรมที่ทำ”

]]>
1302429
‘ยอด ชินสุภัคกุล’ เตรียมรับตำแหน่งซีอีโอ ‘LINE MAN Wongnai’ https://positioningmag.com/1291313 Thu, 06 Aug 2020 05:32:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1291313 ถือเป็นข่าวใหญ่ในวงการสตาร์ทอัพของไทยเลยทีเดียว เมื่อ ‘วงใน’ (Wongnai) แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารและข้อมูลด้านไลฟ์สไตล์ ได้ถูก ‘ไลน์แมน’ (LINE MAN) แพลตฟอร์ม on-demand ส่งอาหารและส่งของของ ‘LINE’ เข้าควบรวมกิจการในมูลค่า 3,300 ล้านบาท หลังจากที่ได้งบลงทุนจากบริษัท BRV Capital Management (BRV)

ล่าสุด LINE คอร์ปอเรชั่น ประกาศเลือก ‘ยอด ชินสุภัคกุล’ ผู้ก่อตั้งวงในให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ บริษัท LINE MAN Wongnai บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างไลน์แมนและวงในแพลตฟอร์ม โดยจะมีผลในช่วงเดือนกันยายน 2563 โดย ‘ยอด’ จะรับหน้าที่บริหารจัดการธุรกิจและการปฏิบัติการต่าง ๆ ของบริษัท

“คุณยอด ชินสุภัคกุล เป็นผู้ที่เข้าใจในธุรกิจ O2O อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะด้านฟู้ดเดลิเวอรี ่LINE MAN Wongnai ภายใต้การบริหารของคุณยอด จะเป็นบริษัทที่สร้างโดยคนไทย บริหารโดยคนไทย และดำเนินงานเพื่อคนไทย ซึ่งจะสามารถสร้างสิ่งใหม่ ๆ น่าตื่นเต้นและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง” อึนจอง ลี หัวหน้าฝ่ายบริหารธุรกิจ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น กล่าว

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวว่า “การผนึกกำลังของทั้งสองบริษัทในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างอีโคซิสเต็ม Online-to-offline ที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับทั้งร้านอาหารและผู้ใช้ สามารถสร้างคุณค่าให้กับทุกฝ่ายในธุรกิจ LINE MAN Wongnai เป็นบริษัทที่ก่อตั้งและบริหารโดยคนไทย ด้วยความเข้าใจเรื่องอาหารการกินของคนไทยอย่างแท้จริง เรามั่นใจว่านี่จะเป็นก้าวสำคัญสำหรับเราที่จะดำเนินธุรกิจที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่คนไทย และธุรกิจไทยในประเทศไทยเช่นเดียวกัน”

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ ยอด ชินสุภัคกุล ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Wongnai ได้เคยรับตำแหน่งเป็น Support Manager ที่ Thomson Reuters ยอดจบการศึกษา MBA จาก UCLA Anderson School of Management ในปี 2010 และด้าน Computer Engineering จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2004

]]>
1291313
‘LINE MAN’ ควบรวม ‘Wongnai’ หลังได้เงินทุน 3,300 ล้านบาท https://positioningmag.com/1290132 Thu, 30 Jul 2020 08:48:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1290132 อยู่คู่คนไทยมาถึง 10 ปีสำหรับ ‘Wongnai’ (วงใน) สตาร์ทอัพสัญชาติไทยเจ้าของแพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารและข้อมูลด้านไลฟ์สไตล์ ที่มีฐานข้อมูลร้านอาหารกว่า 400,000 ร้านทั่วไทย และมีผู้ใช้กว่า 10 ล้านรายต่อเดือน กำลังจะถูก ‘LINE MAN’ (ไลน์แมน) แพลตฟอร์ม on-demand ที่ส่งอาหารและส่งของของ ‘LINE’ ควบรวม

ย้อนไปเมื่อปี 2559 LINE MAN ได้ประกาศดึงเอา Wongnai มาเป็นพันธมิตรในการขับเคลื่อนบริการ ‘ส่งอาหาร’ เนื่องจากความแข็งแรงของฐานข้อมูลร้านอาหารของ Wongnai ที่มีกว่า 4 แสนร้านทั่วไทย ดังนั้น LINE MAN ไม่จำเป็นต้องไปหาร้านอาหารเพื่อดึงมาเป็นพันธมิตรเอง ส่วน Wongnai เองก็พร้อมจะให้บริการด้าน O2O (Online-to-Offline) เชื่อมต่อบริการในชีวิตประจำวันกับผู้บริโภค ไม่ใช่แค่หาร้านอาหาร แต่สามารถสั่งผ่าน Wongnai ได้เลย ซึ่งถือว่าเป็นดีลที่ Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย

แต่ดูเหมือนว่า การเป็นพันธมิตรอาจจะไม่มากพอสำหรับการเติบโตของ LINE MAN อีกต่อไป ล่าสุด LINE MAN ได้บรรลุข้อตกลงด้านเงินลงทุนมูลค่า 110 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,300 ล้านบาท) จากบริษัท BRV Capital Management (BRV) เพื่อใช้ในการควบรวมกิจการ Wongnai ทั้งนี้ เงินทุนดังกล่าวนับเป็นการรับเงินทุนครั้งแรกสำหรับธุรกิจดาวรุ่งในกลุ่มธุรกิจต่างประเทศของ LINE Group ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของ LINE MAN ในประเทศไทย และความพร้อมในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจในอนาคต

 

 

ปัจจุบัน LINE MAN มีผู้ใช้กว่า 3 ล้านรายต่อเดือน ผ่าน 6 บริการ ประกอบด้วย ฟู้ดเดลิเวอรี่, บริการซื้อของซูเปอร์มาร์เก็ต, แมสเซนเจอร์, ส่งพัสดุ, เรียกแท็กซี่ และบริการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ โดยปัจจุบันมีพันธมิตรร้านอาหารมากกว่า 100,000 ร้านค้าทั่วกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด อาทิ นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี – เมืองพัทยา และ เชียงใหม่ โดยวางแผนที่จะขยายพื้นที่การให้บริการในประเทศไทยให้ครอบคลุม 15 จังหวัดภายในปีนี้

อึนจอง ลี หัวหน้าฝ่ายบริหารธุรกิจระดับโลก (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า การลงทุนในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทที่ควบรวมใหม่และต่อยอดการพัฒนาในช่วงที่ธุรกิจกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดประเทศไทย

“นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อ 4 ปีก่อน LINE MAN ได้เติบโตจนกลายเป็นแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ยอดนิยมสำหรับคนไทย และนับจากนี้ เงินลงทุนที่ได้รับจาก BRV จะช่วยผลักดันให้ LINE MAN สามารถเติบโตขึ้นไปอีกขั้น”

อึนจอง ลี หัวหน้าฝ่ายบริหารธุรกิจระดับโลก (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น

งานนี้คงต้องจับตาดูกันไปยาว ๆ ว่าหลังจากที่ควบรวมเเล้ว LINE MAN และ Wongnai จะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหน เพราะ Wongnai เองไม่ได้เป็นเเค่เเพลตฟอร์มสำหรับหาข้อมูลและดูรีวิวร้านอาหาร แต่มีการเเตกไปยังไลฟ์สไตล์ด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้าน สุขภาพ, ความงาม, สอนทำอาหาร, ท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีบริษัทในเครืออย่าง Blongnone และ Brand Inside เว็บไซต์ข่าวสาร อีกทั้งยังมีระบบจัดการร้านอาหาร (Restaurant Solutions) ให้เจ้าของธุรกิจอีกด้วย

]]>
1290132
ครบ 1 ปี ‘LINE’ ภายใต้วิสัยทัศน์ของ ‘ดร.พิเชษฐ’ กับการเป็น Life Infrastructure ในยุค Covid-19 https://positioningmag.com/1288172 Thu, 16 Jul 2020 13:39:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1288172 1 ปีผ่านไปสำหรับ LINE (ไลน์) ที่ได้ ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย มากุมบังเหียน ภายใต้วิสัยทัศน์ Life on LINE หรือการเป็น โครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของคนไทย (Life Infrastructure) ผ่านบริการต่าง ๆ เพื่อให้ใช้ไลน์ได้ตลอดวัน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารด้วย LINE, การรับข่าวสารผ่าน LINE To Day, สั่งอาหารผ่าน LINE MAN, เสพคอนเทนต์ด้วย LINE TV ส่งผลให้การใช้งานในไทยเติบโตกว่า 2 ล้านคน เป็น 46 ล้านคนใน 1 ปี และใช้เวลาเฉลี่ยถึง 1/3 ของเวลาที่ผู้ใช้ออนไลน์

Covid-19 ช่วยย้ำภาพ Life Infrastructure

หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตคงหนีไม่พ้นวิกฤติ Covid-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมแบบ New Normal ซึ่งไลน์ถือเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนที่เกิด Covid-19 ส่งผลให้ฟีเจอร์ LINE Call เติบโต 236% ใช้ผ่านคอมพิวเตอร์เติบโต 264% การใช้ VDO Call โต 270% ด้าน LINE Official Account (LINE OA) เพิ่มจาก 3 ล้านเป็น 4 ล้านบัญชี ในส่วนของจำนวนผู้ใช้ LINE MyShop เติบโต 69% ต่อเดือน และออเดอร์เติบโต 334% ต่อเดือน

การซื้อของผ่าน LINE Shopping เติบโต 100% มูลค่าคำสั่งซื้อเติบโต 138% และเพจวิวเติบโต 233% โดยสินค้าใช้ในบ้านและความงามเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสุด และในส่วนของ LINE Sticker พบว่า 70% ของสติกเกอร์ที่ขายดีจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับ Covid-19 และ 80% ของการออกแบบสติกเกอร์ใหม่ก็เกี่ยวกับ Covid-19 เช่นกัน ด้าน LINE MAN ก็เติบโตถึง 300% โดยอาหารไทย อาหารอีสาน และอาหารตามสั่งได้รับความนิยมสูงสุด และที่มาแรงคือ อาหารปิ้งย่าง ส่วนการชม LINE TV ผ่าน TV เติบโต 42% และเนื้อหาของการชม Y Series เติบโต 5 เท่า

Covid-19 กระทบ แต่ผ่านได้ด้วยวัฒนธรรมองค์กร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Covid-19 ส่งผลกระทบกับไลน์แต่ที่ยังเติบโตได้เป็นเพราะวัฒนธรรมองค์กร คือ 1.Mindset ที่เปิดกว้าง ไม่ปิดกั้นความคิด มองปัญหาให้เป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้เสมอ 2.Agility เพราะทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว แบรนด์ องค์กร หรือคนในยุคนี้ จึงต้องมีการปรับตัว รับมือกับการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้เปลี่ยนไปทุกวัน ส่งผลให้ไลน์สามารถรับมือกับ Covid-19 ได้

3.Humanization ศึกษาและทำความเข้าใจในพฤติกรรมผู้ใช้งาน สังคม และวัฒนธรรม และนำมาปรับใช้กับในแต่ละประเทศที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ เพื่อออกแบบบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน และให้บริการอย่างดีที่สุด 4.Elevation ทุกบริการที่ออกมาจะต้องช่วยยกระดับชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้น และที่ขาดไม่ได้ Innovation

“ผลประกอบการเราประกอบด้วย Content Business, Strategic Business และค่าโฆษณายังโตได้ตามเป้า แม้ช่วงเกิด Covid-19 จะทำให้บริษัทใหญ่ ๆ ชะลอการลงโฆษณา แต่หลังจาก Covid-19 ไป เชื่อว่ายังมีช่องให้โฆษณาออนไลน์เติบโตได้ อีกทั้งเราเองมีโปรดักต์ครอบคลุม เชื่อว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของแบรนด์และเข้าถึงผู้บริโภคได้”

ความท้าทายไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นผู้บริโภค

การมีคู่แข่งถือเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยกันขับเคลื่อนตลาด อีกทั้งเชื่อว่าโอกาสเติบโตของตลาดดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งยังมีอีกมาก แต่ความท้าทายของไลน์ไม่ใช่การแข่งขัน แต่เป็นความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนตามความต้องการลูกค้า รวมทั้งจะตอบโจทย์นักโฆษณาอย่างไร และอีกสิ่งที่ท้าทายคือ การสร้างองค์กรที่แข็งแรงพอที่จะแข่งขันกับองค์กรที่ ‘ใหญ่กว่า’ เพื่อดึงคนที่ดีที่สุดมาร่วมงานด้วย อย่างไรก็ตาม ไลน์ยังมั่นใจว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถอยากมาทำงานด้วย

ลงทุนต่อเนื่องและพร้อมทำตามกฎหมายอย่างถูกต้อง

ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 500 คน แต่ยังคงเปิดรับพนักงานเรื่อย ๆ เพราะไลน์ค่อนข้างให้ความสำคัญในการลงทุนในไทย ไม่ว่าจะทางด้านเงินทุน การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และบุคลากร เนื่องจากตลาดไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีโอกาสเติบโตอีกสูงมาก โดยเฉพาะในตลาดดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และ SME ที่ยังมีโอกาสเติบโต ดังนั้นยังมีพื้นที่อีกมากที่น่าสนใจ และในครึ่งปีหลังนี้ ไลน์จะมีอย่างน้อย 3 บริการใหม่ โดยส่วนแรกจะมาตอบโจทย์ลูกค้าองค์กรในการเข้าถึงผู้บริโภค ต่อมาเป็นผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ผู้ใช้ SME ที่ใช้งาน LINE OA และสุดท้าย จะมีโซลูชั่นตอบโจทย์ด้านไฟแนนซ์

นอกจากนี้ ไลน์ยืนยันว่าพร้อมดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบายของรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาก็ทำตามกฎหมายโดยตลอด ดังนั้นหากมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.อีเซอร์วิส หรือการกำหนดให้บริการส่งถึงบ้านหรือดีลิเวอรี (Delivery Service) เป็นสินค้าควบคุม ซึ่งอาจมีผล LINE MAN ถูกควบคุมค่าบริการก็ตาม แต่เชื่อว่าการมีข้อมูลของร้านค้ากว่าแสนร้านค้าจะช่วยให้ไลน์มีศักยภาพในการแข่งขัน

สุดท้าย หากเกิดการระบาดของ Covid-19 รอบ 2 จริง ไลน์ยังเชื่อว่าสามารถรับมือได้และไม่มีการเปลี่ยนแผน เพราะผู้บริโภคยังมีความต้องการใช้ชีวิตประจำวัน และไลน์เองยืนยันว่าจะเป็นผู้เล่นหลักที่จะตอบโจทย์ความต้องการนั้น อีกทั้งยังเชื่อว่าประชาชนชาวไทยเรียนรู้ที่จะอยู่กับ Covid-19

]]>
1288172