เปิดตำนาน การต่อสู้ “บันได” Ep.7 วิวัฒนาการ Gunpla

ใครที่ชื่นชอบ กันดั้ม ไม่น่าพลาดที่มาของบันได (BANDAI) ธุรกิจขายของเล่นรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งเพจ Power-up mag ได้นำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ของธุรกิจ กว่าจะมายิ่งใหญ่ได้ถึงเพียงนี้

Bandai Ep.7

ถ้าถามว่าทำไมกันพลาถึงอยู่ยั้งยืนยงมาจนปัจจุบัน จนเกือบจะมีการวางตลาดต่อเนี่องมาเกือบจะครบ 40 ปีในอีก 2 ปีข้างหน้าแล้ว ก็คงต้องตอบว่ามีหลายปัจจัย หนึ่งคือ กันพลา นั้นมีวิวัฒนาการ 

ถ้าได้เคยสัมผัสกันพลาตัวแรก กันดั้ม 1/144 ราคา 300 เยน แล้วลองมาดูในสเกลเดียวกัน อย่าง HG หรือ RG คุณจะเข้าใจ กันพลาในจุดเริ่มต้น ก็ไม่ได้แตกต่างจากอนิเมะโมเดลทั่วไปในยุคนั้นสักเท่าไร จุดขยับที่จำกัด สีเมื่อต่อเสร็จมีเพียงสีเดียวหรือ 2 สี เวลาต่อก็ต้องทากาวประกบจุดขยับก็ใช้เสียบพลาสติกเข้ากันเพียวๆ ถ้าขยับมากๆ นานเข้าก็จะหลวมโพสท่าไม่อยู่

แต่มันก็มีวิวัฒนาการ เริ่มจากระบบ Polycaps ซึ่งเป็นพลาสติกโพลีเอสทีรินที่มีความยืดหยุ่นและทนทานต่อการเสียดสีสูงกว่าพลาสติกที่ใช้ทำโมเดลทำให้มันมีอายุที่ทนนานกว่า และทำให้สามารถโพสท่าได้แข็งแรงกว่าเดิมแม้จะมีการขยับบ่อย ถ้าจำไม่ผิดกันพลาตัวแรกที่เอาระบบนี้มาใช้คือเพอร์เฟคท์กันดั้ม

หลังจากที่โมจากหนังหุ่นอีกเรื่องคือ Vifam ทดลองใช้ระบบนี้เป็นเรื่องแรก ก่อนที่กันพลาในซีรี่ส์ Z-Gundam จะใช้ระบบนี้เป็นมาตรฐาน และพัฒนาเจ้านี่เป็นระบบ Joint ที่พัฒนาจากแค่ห่วงทรงกลมที่มีรูตรงกลาง เป็นมีรูปร่างต่างๆ มากมาย

ในส่วนของรูปร่างกันพลาก็มีการพัฒนาให้สะโอดสะองสวยงามขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมือ” ที่เป็นปัญหาใหญ่เพราะจะทำกำตันๆ ก็ไม่ได้ ต้องมีช่องว่างเพื่อใส่และถอดเปลี่ยนอาวุธได้ เป็นมีมือที่สวยงามขึ้น มีหลายแบบให้ถอดเปลี่ยนได้

กันพลาซีรี่ส์ Char’s Counter Attack เริ่มฉีดหลายสี

สีสันก็มีเพิ่มขึ้นจาก 1-2 สี แต่ก็ติดปัญหาที่จำนวนแผง เพราะ 1 แผงฉีดได้ 1 สี จะซอยย่อยตามสีสันของหุ่นค่าแม่พิมพ์คงไม่ไหว ในที่สุดบันไดก็คิดวิธีฉีด แผงโม 1 แผง ให้มีหลายสีได้สำเร็จ และใช้มันในการผลิตกันพลาในชุด Char‘s Counter Attack เป็นครั้งแรก ทำให้แก้ปัญหาข้อจำกัดเรื่องสีจากจำนวนแผงหมดไป และสามารถออกแบบกันพลาที่มีลูกเล่นสลับสีได้มากยิ่งขึ้น

ซีรี่ส์ Gundam Sentinel เริ่มต้นใช้ สแน็ปฟิท

กันพลาในชุดนี้เช่นกันที่บันไดหาทางแก้ไขปัญหาอีกข้อ คือการใช้กาวในการต่อ อย่างที่รู้ๆ กันกาวในการเชื่อมต่อพลาสติก อาจทำให้เสพติดได้ บันไดทดลองใช้น็อตยึดชิ้นส่วนเข้าด้วยกันแทนกาว ก่อนที่จะพัฒนาเป็น Snap-Fit ในซีรีส์ที่ออกตามมา Gundam Sentinel ที่คราวนี้แค่คุณบีบขิ้นส่วนเข้าหากันให้แน่น มันก็จะติดสนิทโดยไม่ต้องใช้อะไรช่วยยึดอีกแล้ว

HG ตัวแรก Gundam RX-78-2

ก้าวกระโดดที่สำคัญคือการเปิดตัว HG (High Grade) ฉลอง 10 ปีกันพลา ที่งานนี้บันไดจัดเต็ม เป็นการตั้งมาตรฐานใหม่ของกันพลา เป็นไลน์ที่มีคุณภาพสูงในสเกล 1/144 โดยออกมาเพียง 4 แบบ เฉพาะกันดั้มที่มีอนิเมะ คือ RX-78 , กันดั้ม มาร์คทูเซต้า กันดั้ม และกันดั้ม ดับเบิ้ล เซต้า บันไดออกแบบจอยท์แบบใหม่ เรียกว่า MS. Joint มาใช้กับซีรีส์นี้ ตัวกันดั้ม มีคอร์ไฟท์เตอร์ในตัวในสเกล 1/144 เป็นครั้งแรก มีการแก้แบบจากอนิเมะ จากถือโล่ด้วยมือ เป็นโล่ติดแขน เซต้า และดับเบิ้ลแปลงร่างได้ด้วย แถมคู่มือใบต่อ พิมพ์เป็นเล่มอีกด้วย และนับแต่นั้นมากันพลาก็เริ่มต้นสู่ยุคแห่งการแบ่งเกรดสินค้าออกเป็นหลายระดับ ก่อนที่จะมีเกรดอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามมาในเวลาต่อมา

ยังมีสินค้ากันพลาอีกชุดที่เกิดขึ้นในกลางยุค 80 นั่นคือ SD Gundam โดย SD ย่อมาจาก Super Deformed โดยที่มาของการเอากันดั้ม และตัวละครมาย่อส่วนนั้น ว่ากันว่ามาจากภาพวาดที่แฟนกันดั้ม นักเรียนจากนาโงย่า ชื่อ โคจิ โยโคอิ เขียนส่งมาลงนิตยสาร Model News ของบันได แล้วโดนใจบรรณาธิการ จนได้เอาตัวละครเหล่านี้ไปเขียนการ์ตูนช่องลงในนิตยสารเล่มนี้แล้วได้รับความนิยม 

แต่มีอีกด้านหนึ่งเล่าว่าบันไดผลักดันคาแร็กเตอร์แบบย่อส่วนมารับมือกับ Choro Q Dougram ของบริษัทคู่แข่งอย่างทาการ่า ที่ย่อส่วนตัวละครจากอนิเมะหุ่นดังอีกเรื่อง Dougram (ที่เนื้อหาซีเรียสมากมาเป็นอนิเมะสั้นแล้วได้รับความนิยม อันนี้ก็เล่าสู่กันฟังเฉยๆ ครับไม่ยืนยันว่าจริงแท้ 100%

SD Gundam ตัวแรก ในชุด BB Senshi

เริ่มต้น SD Gundam ไม่ได้ออกเป็นพลาโมหรอกครับ แต่ออกเป็น “ตุ๊กตุ่น” ใส่ไข่ขายผ่านตู้กาชาปอง ข้างใต้มีรู เสียบด้ามดินสอได้ แล้วได้รับความนิยมจนขยายไปทำเกมบนเครื่องแฟมิคอม มังงะ และกลายเป็นโมเดลในที่สุด โดยเริ่มวางตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1987 ในชื่อชุด BB Senshi ที่มีลูกเล่นคือสามารถยิงกระสุน BB ได้ แล้วได้รับความนิยม จนแตกลูกแตกหลานไปอีกหลายซีรีส์ ไม่รวมกับที่แต่งเรื่องเพิ่มเติม เป็นมุชา, สามก๊ก ,ไนท์กันดั้มและอื่นๆ อีก

ช่วงปลายยุค 80 ต่อต้น 90 SD Gundam ได้รับความนิยมอย่างสูง จนเพิ่มยอดขายกันพลาอย่างมหาศาล (ช่วงนั้นมีบันทึกว่าบันไดขายกันพลาได้กว่า 120 ล้านชุด ขณะที่ประชากรญี่ปุ่นมี 120 ล้านคน) ขนาดว่าเทียบยอดกัน SD ทำยอดได้มากกว่า กันดั้มเรียลสเกลกันเลยทีเดียว.

ที่มา : https://www.facebook.com/pages/category/Magazine/Power-Up-Mag-279183085751638/


อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง