ตลาดค้าปลีก – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 23 Feb 2023 13:41:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สรุป 10 ปี “เซ็นทรัล รีเทล” ในตลาด “เวียดนาม” ปฏิบัติการส่งแบรนด์ค้าปลีกยึดทุกมุมเมือง https://positioningmag.com/1420626 Thu, 23 Feb 2023 12:57:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1420626 “เซ็นทรัล รีเทล” เข้าตลาด “เวียดนาม” ครบ 10 ปี จนปัจจุบันเป็น “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ตั้งเป้าขยายจำนวนสาขาอีกเท่าตัวภายในปี 2570 ปักหมุดเป็นผู้นำในตลาดหัวเมืองเทียร์ 3-4 เติบโตไปพร้อมกับความเจริญของเวียดนามที่คาดว่าประชากร ‘ครึ่งหนึ่ง’ จะเข้ามาอาศัยในเขตเมืองภายในอีก 6 ปีข้างหน้า

หนึ่งในพอร์ตสำคัญที่กำลังโตวันโตคืนของ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC คือตลาด “เวียดนาม” หลังเข้าตลาดครบ 10 ปี ปัจจุบันเซ็นทรัล รีเทลกลายเป็นผู้นำตลาดในหลายแง่มุม โดยเป็นอันดับ 1 “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” รายใหญ่ที่สุด มีส่วนแบ่งตลาดถึง 62% พ่วงตำแหน่งบริษัทรีเทลต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

“ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CRC เล่าย้อนถึงก้าวแรกของเซ็นทรัล รีเทลเมื่อปี 2555 เริ่มทดลองตลาดนี้ด้วยการดันสินค้าแฟชันเข้าไปจำหน่ายก่อน ซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักด้วยกำลังซื้อของคนเวียดนามสมัยนั้น แต่ก็ทำให้เซ็นทรัล รีเทลได้เรียนรู้ตลาดและเห็นช่องทาง

(ซ้าย) “โอลิวิเยร์ แลงเล็ต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม และ (ขวา) “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น

กระทั่งปี 2558 เซ็นทรัล รีเทลใช้วิธีเข้าซื้อหุ้นส่วนกิจการท้องถิ่น คือ “เหงียนคิม” (NK: Nguyen Kim) ซึ่งเป็นเชนร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า (ต่อมาจะเทกโอเวอร์ทั้งหมดในปี 2562) กับ “ลานชี มาร์ท” (Lanchi Mart) เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขยายตัวในเขตเวียดนามเหนือ

จุดเปลี่ยนสำคัญต่อเนื่องคือปี 2559 บริษัทเข้าเทกโอเวอร์ “บิ๊กซี เวียดนาม” (Big C) ซึ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต อย่างไรก็ตาม ชื่อห้างฯ “บิ๊กซี” นั้นลิขสิทธิ์ยังอยู่กับกลุ่มบีเจซี เซ็นทรัล รีเทลจึงต้อง ‘รีแบรนด์’ ใหม่ทั้งหมดโดยใช้ชื่อ “GO!” (โก!) ซึ่งปีนี้คาดว่าจะรีแบรนด์บิ๊กซีเปลี่ยนเป็น GO! ได้ครบทุกสาขา

ลำดับการพัฒนาของ CRC ในเวียดนาม

 

แตกกิ่งก้านสู่โมเดลค้าปลีกหลายรูปแบบ

หลังเซ็นทรัล รีเทลลงรากฐานในเวียดนามได้แล้ว สิ่งที่บริษัทพัฒนาต่อคือการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้เหมาะกับตลาด

ในปี 2561 บริษัทเริ่มเปิดโมเดลค้าปลีก “GO! Mall” ลักษณะเป็นศูนย์การค้า 2 ชั้น พื้นที่ประมาณ 4,500 ตร.ม. แบ่งพื้นที่ชั้นล่างเป็นพื้นที่เช่าร้านค้า-ร้านอาหาร ตอบสนองด้านไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง ทานข้าวนอกบ้าน ส่วนชั้นบนเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! โมเดลนี้จะมาตอบโจทย์พื้นที่ชุมชนเมืองที่มีกำลังซื้อสูง

เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม
บรรยากาศด้านใน GO! Mall สาขา Di An ชั้นล่างเป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์ขายสินค้าแฟชั่น และร้านอาหาร

ตามด้วยปี 2563-64 นำโมเดลประเภทซูเปอร์มาร์เก็ต เข้ามาเสริมทัพ โดยแบ่งเป็น “Mini go!” ที่ใช้บุกตลาดหัวเมืองเทียร์ 3-4 วางตนเองเป็นผู้นำโมเดิร์นเทรดของเมืองนั้นๆ และนำแบรนด์ “Tops Market” จากไทยเข้ามาลงทำเลหัวเมืองเทียร์ 1-2 ในจุดที่ลูกค้ามีกำลังซื้อสูง

เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม
Mini go! ซูเปอร์มาร์เก็ตสาขา Tan Uyen

ณ สิ้นปี 2564 เซ็นทรัล รีเทลมีค้าปลีกสะสมกว่า 300 ร้านค้า คิดเป็นพื้นที่ขายรวม 1.2 ล้านตร.ม. ครอบคลุม 40 จังหวัด ทำยอดขายไปมากกว่า 38,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 มีตัวเลขฐานลูกค้าสะสม 66 ล้านคน

สรุปแบรนด์ค้าปลีกหลักๆ ของเซ็นทรัล รีเทลที่เปิดตัวแล้วในเวียดนาม

  • GO! Mall จำนวน 39 สาขา
  • GO! ไฮเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 38 สาขา
  • Tops Market ซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 10 สาขา
  • Mini go! ซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 3 สาขา
  • Lanchi Mart ซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 24 สาขา
  • Nguyen Kim ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 59 สาขา

(*สำหรับ Mini go! จะเน้นตลาดเวียดนามกลางและเวียดนามใต้ ส่วน Lanchi Mart จะเน้นตลาดเวียดนามเหนือที่แบรนด์มีชื่อเสียงอยู่แล้ว)

พอร์ตโฟลิโอแบรนด์ค้าปลีกของ CRC เวียดนาม

 

ทำไม “เวียดนาม” จึงเนื้อหอมมากสำหรับค้าปลีก

นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น หลังจากนี้เซ็นทรัล รีเทลจะทุ่มเม็ดเงินการลงทุนอีกเพราะตลาดนี้มีแนวโน้มเป็น ‘ดาวรุ่ง’ ในการสร้างรายได้ “โอลิวิเยร์ แลงเล็ต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม ชี้ให้เห็นปัจจัยหลัก 4 ข้อที่ทำให้เวียดนามน่าสนใจ ดังนี้

  1. การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะขยายตัวมากกว่าประเทศไทย โดยการคาดการณ์ปี 2568 จีดีพีเวียดนามจะโต 2% ขณะที่ไทยจะโตเพียง 3.5%
  2. ประชากรเวียดนามขนาด 100 ล้านคนครึ่งหนึ่งจะกลายมาเป็น “คนเมือง” โดยคาดการณ์ปี 2572 ประชาชนเวียดนาม 50% จะมาอาศัยในเขตเมือง ส่งให้มีความต้องการจับจ่ายในโมเดิร์นเทรด
  3. มีพื้นที่ให้โมเดิร์นเทรดเติบโตได้อีกมาก โดยปัจจุบันค้าปลีกประเภทโมเดิร์นเทรดมีสัดส่วนเพียง 11% ของค้าปลีกทั้งหมด คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 13% ภายในปี 2570 ซึ่งก็ยังถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก
  4. ประเทศท่องเที่ยวแห่งใหม่ จะทำให้มีกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวเข้ามาเสริมด้วย
เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม
บรรยากาศด้านใน Mini go! ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นเจาะเมืองเทียร์ 3-4 เป็นผู้นำตลาดโมเดิร์นเทรดในพื้นที่นั้นๆ

 

ไปต่อ! ปี 2570 หมุดหมายจำนวนสาขาโตเป็นเท่าตัว

ด้วยความเป็นดาวรุ่งของเวียดนาม ทำให้เซ็นทรัล รีเทลจะโหมตลาดมากยิ่งขึ้น โดยญนน์ประกาศงบการลงทุนในเวียดนามจากนี้จนถึงปี 2570 จะลงทุนเพิ่มอีก 50,000 ล้านบาท และวางเป้าหมายการขยายตัว ดังนี้

  • มีศูนย์การค้าและร้านค้ามากกว่า 600 สาขา
  • ครอบคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 57 จังหวัด (จากทั้งหมด 63 จังหวัด)
  • มีพื้นที่ขายมากกว่า 2 ล้านตร.ม.
  • สร้างยอดขายขึ้นไปแตะ 150,000 ล้านบาท
  • ขึ้นเป็นอันดับ 1 ด้าน Omnichannel ในกลุ่มธุรกิจฟู้ด
  • ขึ้นเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ (เช่น ศูนย์การค้า)

เห็นได้ว่าอีกเพียง 4 ปีจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล เวียดนามจะขยายสาขาเป็นเท่าตัว และต้องการทำยอดขายมากขึ้นเกือบ 4 เท่า!

ปัจจุบันเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม มีสาขาครอบคลุม 40 จังหวัด เป้าหมายปี 2570 ต้องการไปให้ถึง 57 จังหวัด

 

เริ่มปี 2566 ลุยก่อสร้าง-ซื้อที่ดินพรึบ

จากวิสัยทัศน์ภาพใหญ่ดังกล่าว ปี 2566 นี้จะได้เห็น CRC เวียดนามใช้งบลงทุน 6,000 ล้านบาท เร่งการก่อสร้าง รีโนเวตสาขาเดิม และซื้อที่ดินเตรียมพร้อมสู่อนาคต โดยมีแผนงานหลักด้านการขยายสาขา ดังนี้

  • GO! Mall
    – ก่อสร้าง 5-7 สาขา
    – จัดซื้อที่ดินเพิ่ม 5-8 แปลง
  • GO! Hypermarket
    – รีแบรนด์จากบิ๊กซีและรีโนเวตเสร็จสิ้น 10 สาขา
  • Tops Market และ Mini go!
    – ก่อสร้าง 8-10 สาขา
    – จัดซื้อที่ดินเพิ่ม 15-20 แปลง
  • Nguyen Kim (NK)
    – ก่อสร้าง 3-5 สาขา
    – รีโนเวต 10-12 สาขา

นอกจากนี้ จะมี “ธุรกิจใหม่” ที่เปิดตัวทั้งในไทยและเวียดนาม ตามที่เซ็นทรัล รีเทลมีการให้ข่าวไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โอลิวิแยร์ยังกล่าวถึงแผนการสร้าง ‘synergy’ ภายในเวียดนามเอง และระหว่าง CRC ไทย-เวียดนาม ที่จะได้เห็นมากขึ้นในปีนี้ เช่น โมเดลใหม่ของการผนวก Tops กับ NK, การสร้าง Omnichannel ผ่านช่องทางเดียวกันในกลุ่มธุรกิจฟู้ด, การส่งสินค้า private label จาก Tops ประเทศไทยไปมากกว่า 300 SKUs, สั่งซื้อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อมาจำหน่ายทั้งไทยและเวียดนามเพื่อให้ได้ Economy of scale, ส่งออกของสดจากเวียดนามไปประเทศไทย

ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า Nguyen Kim ภายในศูนย์การค้า GO! Mall

ที่สำคัญคือ CRC เวียดนามจะเรียนรู้ระบบ ‘The 1’ จากประเทศไทย นำมาวางระบบ CRM รวมทั้งเครือในเวียดนามด้วย โดยที่ผ่านมาระบบ CRM ของฝั่งเวียดนามจะแยกกันตามแบรนด์ เช่น Big Xu ของลูกค้าบิ๊กซี, GO! App, Tops Online App ต่อไปจะได้เห็นการปรับเพื่อรวมเป็นหนึ่งในแบบเดียวกับ The 1

การแข่งขันด้านค้าปลีกในเวียดนามนั้นมีผู้เล่นหลายรายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ข้อมูลจากสำนักข่าวท้องถิ่น Vietnam Report JSC กล่าวถึงชื่อผู้เล่นรายใหญ่ของเวียดนามเอง เช่น Wincommerce ในเครือ Masan Group บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ และผู้เล่นจากต่างประเทศ นอกจาก CRC ที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มนี้ ยังมีแบรนด์ MM Mega Market จากประเทศไทย, Aeon จากญี่ปุ่น และ Lotte จากเกาหลีใต้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความท้าทายในตลาดเวียดนาม กลับไม่ใช่เรื่องของคู่แข่ง แต่ญนน์มองว่าเป็นเรื่องของ “การหาที่ดินและขออนุญาตก่อสร้าง” มากกว่า กลายเป็นว่าอุปสรรคหลักที่เวียดนามคือความซับซ้อนในการขออนุญาตก่อสร้างที่ทำให้สปีดมากกว่านี้ได้ยาก โดยที่ไทยการสร้างแต่ละสาขาใช้เวลาเพียง 1 ปีสร้างเสร็จ แต่ในเวียดนามอาจต้องใช้เวลาถึง 2-3 ปีเลยทีเดียว

]]>
1420626
ค้าปลีก 2565 ปัจจัย “เงินเฟ้อ” ยังรุมเร้า ผู้บริโภคเน้นซื้อสินค้าจำเป็น แฟชั่น-บิวตี้ยังฟื้นตัวช้า https://positioningmag.com/1389653 Wed, 22 Jun 2022 09:41:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1389653
  • SCB EIC คาดมูลค่าธุรกิจ “ค้าปลีก” 2565 กลับมาโต 11% YoY จากการเปิดเมือง การท่องเที่ยวฟื้น แต่ปัจจัยลบยังรุมเร้าจากค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลต่อราคาสินค้าและกำลังซื้อผู้บริโภค
  • การฟื้นตัวจะไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่มสินค้า กลุ่มของสด (grocery) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นจะฟื้นตัวได้ดี รวมถึงกลุ่มซ่อมแซมตกแต่งบ้านและสวน ยังไปได้ดีจากพฤติกรรมอยู่บ้านมากขึ้น ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยกลุ่มแฟชั่นและบิวตี้ยังฟื้นอย่างช้าๆ
  • ช่องทางค้าปลีกที่ได้อานิสงส์คือกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และอีคอมเมิร์ซ ส่วนห้างสรรพสินค้าและร้านเครื่องสำอางจะยังซบเซา
  • SCB EIC เปิดรายงานคาดการณ์ธุรกิจ “ค้าปลีก” ปี 2565 คาดการณ์ว่า ตลาดจะกลับมาโต 11% YoY หรือคิดเป็นมูลค่า 3.45 ล้านล้านบาท (ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งมีมูลค่าตลาด 3.48 ล้านล้านบาท) เนื่องจากผู้บริโภคมีการเดินทาง ออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ช่วยเสริมกำลังซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564

    อย่างไรก็ตาม EIC มองว่า “ปัจจัยลบยังมีมากกว่าปัจจัยบวก” เพราะราคาพลังงานพุ่งสูง ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า หมวดไฟฟ้า ประปา เชื้อเพลิง ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 14.4% นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งมีผลต่อต้นทุนราคาสินค้าเกือบทุกหมวดปรับราคาขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ ขึ้นมา 15.5% และหมวดการขนส่งและการสื่อสารขึ้นมาแล้ว 10.8%

    เมื่อรวมกับปัจจัยหนี้ครัวเรือนสูง และอัตราว่างงานสูง ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่ำ และจะส่งผลต่อการเลือกจับจ่ายของผู้บริโภค สินค้าแต่ละกลุ่มในธุรกิจค้าปลีกจะฟื้นตัวแบบไม่เท่ากัน

     

    ของสด-แต่งบ้าน สินค้าจำเป็นที่ผู้บริโภคซื้อมากขึ้น

    สำหรับกลุ่มสินค้าที่ EIC คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีคือกลุ่มของจำเป็น ได้แก่ ของสด (grocery) และ สินค้าซ่อมบ้านและตกแต่งบ้าน

    กลุ่มสินค้าของสดนั้นคาดว่าปี 2565 จะโต 12% YoY ทำให้มูลค่าใกล้เคียงกับปี 2562

    ส่วนสินค้าซ่อมบ้านและแต่งบ้านคาดว่าจะโต 4% YoY กลับมาใกล้เคียงปี 2562 เช่นกัน เนื่องจากบ้านที่มีอายุมาก อายุบ้าน 11-20 ปีจะต้องการรีโนเวตครั้งใหญ่ และอายุบ้าน 5-10 ปี จะต้องการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ สองกลุ่มนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 42% ของที่อยู่อาศัย รวมถึงบ้านอายุน้อยกว่า 5 ปีก็มีการตกแต่งบ้านจากเทรนด์ “อยู่บ้าน” มากขึ้น ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้เติบโตได้

     

    บิวตี้-แฟชั่น ยังฟื้นกลับมาไม่เต็มที่

    ด้านสินค้าบิวตี้นั้น EIC เชื่อว่าปีนี้จะโต 13% YoY แต่เนื่องจากสองปีที่ผ่านมาตลาดหดตัวอย่างมาก ทำให้การฟื้นตัวนี้ยังไม่ใกล้เคียงปี 2562 ต้องรอให้การกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติมากขึ้นก่อน

    สินค้าแฟชั่น เครื่องแต่งกาย และรองเท้าก็เช่นกัน คาดว่าจะโต 14% YoY แต่ยังไม่ใกล้เคียงปี 2562 เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายไปกับสินค้าฟุ่มเฟือย ยกเว้นตลาดระดับลักชัวรีซึ่งพยุงตัวได้มากกว่า เพราะถึงแม้ว่าลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติยังกลับมาไม่มากเท่าก่อนเกิดโรคระบาด แต่ในทางกลับกันลูกค้าคนไทยก็หันมาช้อปภายในประเทศแทน เพราะยังไม่สะดวกเดินทางออกต่างประเทศ

    2565 ค้าปลีก

     

    ช่องทางการขายมีทั้งคึกคักและซบเซา

    จากกลุ่มสินค้าที่มีทั้งกลับมาฟื้นตัวสุดขีด และกลุ่มที่ยังฟื้นแบบช้าๆ ทำให้ช่องทางการขายที่จะได้อานิสงส์มากที่สุดปีนี้คือ “ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต” เพราะเป็นช่องทางขายของสด และผู้ประกอบการมีการปรับโมเดลส่งซูเปอร์ฯ ไซส์เล็กเข้าหาแหล่งชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อจากสาขาใกล้บ้าน (กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตจะต้องมีการปรับตัวต่อไป)

    อีคอมเมิร์ซ ยังเป็นช่องทางมาแรงสำหรับธุรกิจค้าปลีก

    ขณะที่ช่องทางที่น่าจะยังซบเซา ฟื้นตัวได้ไม่มาก คือ “ห้างสรรพสินค้า” ซึ่งเป็นแหล่งขายสินค้ากลุ่มแฟชัน-บิวตี้เป็นหลัก รวมถึง “รีเทลขายเครื่องสำอาง” โดยเฉพาะ ยกเว้นร้านกลุ่มดรักสโตร์ที่มีการขายยาและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพด้วย กลุ่มนี้จะยังได้กระแสรักสุขภาพของคนไทยในช่วงที่ผ่านมาช่วยพยุงยอดขายไว้ได้

    ช่องทางที่น่าสนใจอีกช่องทางหนึ่งคือ “อีคอมเมิร์ซ” EIC คาดว่ามูลค่าตลาดการขายผ่านช่องทางนี้จะโต 24% YoY ในปี 2565 เพราะเป็นช่องทางที่ซื้อสินค้าได้หลากหลาย และเติบโตขึ้นมากจากความสะดวกในช่วงเกิด COVID-19 แม้ว่าจะคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่จากการสำรวจความเห็นผู้บริโภคพบว่า 26% จะใช้อีคอมเมิร์ซซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นอีกเทียบกับการสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 และมี 24% ที่จะยังซื้อสินค้าออนไลน์ด้วยความถี่คงเดิม ทำให้ช่องทางนี้จะยังคงความสำคัญต่อไป

    ]]>
    1389653
    สรุปเทรนด์ที่จะเกิดในปี 2565 ของตลาด “บ้าน-คอนโด” และ “โครงการเชิงพาณิชย์” โดย CBRE https://positioningmag.com/1371954 Thu, 27 Jan 2022 09:33:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371954
  • บ้าน-คอนโดฯ ยังต้องพึ่งเรียลดีมานด์ การลงทุนกลุ่มนิชมาร์เก็ต ใกล้สถานศึกษาน่าสนใจ
  • ออฟฟิศ อาคารเก่ายิ่งลำบากเมื่อโลกปรับเป็น “ไฮบริด” และเน้นเรื่อง ESG ในการทำธุรกิจ
  • ค้าปลีก เปลี่ยนระบบเก็บค่าเช่าแบบแบ่ง GP ต้องหาทางดึงคนกลับเข้าห้างฯ
  • โลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซยังเป็นธุรกิจนำฝั่งดีมานด์เช่าพื้นที่คลังสินค้า-ดาต้าเซ็นเตอร์
  • โรงแรม ยังต้องเกาะกลุ่มนักท่องเที่ยวไทย เน้นอัตราเข้าพักมากกว่าขึ้นราคาห้องพัก
  • ซีบีอาร์อี ประเทศไทย (CBRE) เปิดผลวิจัยแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยปี 2565 ยังเป็นปีแห่งความไม่แน่นอน จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะฟื้นตัว 3.4% (คาดการณ์โดยธนาคารแห่งประเทศไทย) แต่ยังขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวและภาคการส่งออก ขณะที่ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนโจมตีประเทศตั้งแต่ต้นปี และพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป ทั้งยังซับซ้อนยิ่งขึ้น

    CBRE แบ่งการวิจัยตลาดเป็น 5 ธุรกิจ ดังนี้

     

    1.ตลาดที่พักอาศัย

    Exterior view of new house under construction and painting.House Painting in morning

    สรุปภาพปี 2564: ตลาดคอนโดมิเนียมมีผลกระทบมากในกลุ่มคอนโดฯ ลักชัวรีใจกลางเมือง เป็นปีแรกที่ไม่มีการเปิดใหม่เลย รวมถึงผู้ซื้อเหลือเฉพาะชาวไทยเกือบทั้งหมด และเป็นเรียลดีมานด์ซื้ออยู่เองหรือลงทุนระยะยาว ทำให้อัตราการขาย (sold rate) เดินช้ากว่าปกติ เพราะผู้ซื้อคิดละเอียดก่อนตัดสินใจ ขณะที่โครงการแนวราบขายดีขึ้น จากความต้องการพื้นที่บ้านมากขึ้นหลังเกิดโรคระบาด

    เทรนด์ปี 2565
    • สถานการณ์น่าจะยังใกล้เคียงกับปี 2564 นั่นคือผู้ซื้อนิยมโครงการแนวราบมากกว่าคอนโดฯ และเป็นเรียลดีมานด์ซื้ออยู่เองมากกว่านักลงทุน แต่เชื่อว่าตลาดคอนโดฯ ซูเปอร์ลักชัวรีกลางเมืองจะเห็นการฟื้นตัวมากกว่าสองปีที่ผ่านมา
    • ตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) อย่างที่พักอาศัยใกล้สถานศึกษา จะมีความต้องการซื้อสูง รวมถึงโครงการที่ใช้เชนโรงแรมบริหาร (branded residence) มีความต้องการสูงเช่นกัน
    • ข้อควรระวังปีนี้ยังเป็น “สถานะการเงินของลูกค้า” เพราะแม้ว่าดอกเบี้ยจะต่ำและมีการผ่อนคลายมาตรการ LTV แล้ว แต่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นมากนัก ทำให้ลูกค้าต้องการดีลที่ดีที่สุด
    • โครงการแนวราบ ลูกค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่น พื้นที่เอนกประสงค์มีมากขึ้น สามารถปรับใช้ได้ตามใจ, พื้นที่สีเขียวรอบบ้านกว้างขึ้น, ครัวฝรั่งในบ้านสามารถใช้ได้จริงเหมือนกับครัวไทย, พื้นที่ส่วนกลางใหญ่และใช้ได้จริง สามารถวิ่งออกกำลัง จูงสุนัขเดินเล่นได้

     

    2.ตลาดพื้นที่สำนักงาน

    สรุปภาพปี 2564: เป็นปีแรกนับตั้งแต่ปี 2541 ที่ตลาดสำนักงานมีอัตราเช่าติดลบ กล่าวคือมีผู้เช่าย้ายออกมากกว่าผู้เช่าใหม่ อัตราพื้นที่ว่างปรับขึ้นสูงกว่า 10% เนื่องจากผลกระทบโรคระบาดทำให้บริษัทปรับสำนักงานเป็นแบบ “ไฮบริด” หรือบางบริษัทอาจเผชิญวิกฤตการเงินจนต้องลดพื้นที่เช่า

    เทรนด์ปี 2565
    • CBRE คาดว่าปี 2565 พื้นที่ว่างจะสูงกว่า 15% เพราะซัพพลายใหม่ที่สูงกว่าดีมานด์ โดยปีนี้จะมีอาคารสำนักงานสร้างเสร็จใหม่อีกมากกว่า 500,000 ตร.ม.
    • ปีนี้บริษัทจะมีความชัดเจนขึ้นเรื่องการทำงานแบบไฮบริด จะมีการประเมินความต้องการใช้ออฟฟิศใหม่ และปรับการใช้ออฟฟิศให้เหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุด บริษัทส่วนใหญ่จะต้องการพื้นที่แบบยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้
    • กฎเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จะมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเช่าอาคารของบริษัท การเป็นอาคารมาตรฐาน LEED หรือ WELL อาจไม่เพียงพอแล้ว แต่แลนด์ลอร์ดต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน ESG ตลอดวงจรชีวิตของอาคาร
    ตลาดอาคารสำนักงานเคยมีอัตราพื้นที่ว่างต่ำกว่า 5% มาตั้งแต่ปี 2558 จนกระทั่งเผชิญวิกฤตโรคระบาด
    • อาคารเก่าจะเผชิญความท้าทาย เพราะมาตรฐานแบบใหม่ทั้งในเชิงโครงสร้าง การใช้งานได้ยืดหยุ่น จนถึงเรื่อง ESG ขณะที่ตัวเลือกอาคารใหม่มีมากขึ้น ทำให้อาคารเก่าต้องเร่งตัวเพื่อแข่งขัน โดยอาคารสำนักงานในย่านซีบีดีเป็นอาคารเก่าถึง 70% และนอกซีบีดีเป็นอาคารสำนักงานเก่า 65%
    • อาคารที่อยู่ระหว่างสร้าง อาจต้องคำนวณโมเดลทางการเงินใหม่ ตั้งราคาเช่าที่เหมาะกับสถานการณ์มากขึ้น
    • คาดว่าอาคารสำนักงานขนาดเล็ก พื้นที่เช่าหลักหมื่นตร.ม. อาจมีการระงับหรือชะลอโครงการไปก่อน แต่อาคารขนาดใหญ่หลักแสนตร.ม. เชื่อว่าจะไม่หยุดการก่อสร้าง

     

    3.ตลาดพื้นที่ค้าปลีก

    สรุปปี 2564: ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ จากการระบาดต่อเนื่องของ COVID-19 ทำให้ร้านค้าต่างชะลอการลงทุนเปิดสาขาใหม่ และยังพิจารณาลดสาขาเดิมด้วยเพื่อลดต้นทุน เป็นผลกระทบเชิงลบต่อพื้นที่ค้าปลีก

    เทรนด์ปี 2565
    • ผู้เช่าต้องการสัญญาที่ยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน การเปลี่ยนมาเก็บค่าเช่าโดยอิงจากยอดขาย (turnover rent) หรือ การเก็บ GP แทนการใช้ค่าเช่าคงที่ จะเป็นเรื่องปกติมากขึ้นในวงการ
    • ผู้เช่ายังระวังการเปิดสาขาเพิ่ม จากการระบาด COVID-19 ที่ยังไม่จบลง รวมถึงการค้าแบบ Omnichannel ที่ได้ผลมากขึ้น ทำให้ร้านเปลี่ยนกลยุทธ์การเปิดสาขาให้สอดคล้องกับเทรนด์นี้
    • ความท้าทายของศูนย์การค้าและร้านค้าคือ จะดึงผู้ซื้อกลับมาที่หน้าร้านจริงได้อย่างไร ในยุคที่ผู้บริโภคคุ้นชินกับการซื้อออนไลน์แล้ว อาจสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้ผู้ซื้อต้องมาที่หน้าร้าน หรือมีเทคโนโลยีลูกเล่นใหม่ในร้าน เช่น AR, VR
    • ข่าวดีคือ ผู้บริโภคเริ่มชินกับการอยู่ร่วมกับ COVID-19 ทำให้ผ่อนคลายมากขึ้นในการมาที่ศูนย์การค้า

     

    4.ตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์

    สรุปปี 2564: การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศฟื้นตัวขึ้นมาในระดับเดียวกับปี 2562 แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการขยายตัวของบริษัทเดิมที่มีการลงทุนอยู่แล้ว แต่โดยรวมนับเป็นข่าวดีของธุรกิจนี้

    เทรนด์ปี 2565
    • เทรนด์ของผู้ผลิตที่ต้องการกระจายซัพพลายเชนให้ยืดหยุ่นขึ้น น่าจะเป็นผลดีต่อประเทศไทย
    • อสังหาฯ ด้านนี้ต้องให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น เพราะเป็นข้อกำหนดที่บริษัทระดับสากลกำลังปฏิบัติตาม
    • ปีที่ผ่านๆ มา มาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศ ทำให้เกิดผลเสียต่อการทำสัญญากับลูกค้ารายใหม่ เพราะผู้เช่าไม่สามารถเดินทางเข้ามาชมไซต์งานจริงได้ ปีนี้ต้องจับตานโยบายการผ่อนคลายการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง
    • อีคอมเมิร์ซยังเป็นธุรกิจสำคัญขับเคลื่อนดีมานด์ ทั้งในส่วนคลังสินค้าและดาต้าเซ็นเตอร์

     

    5.ตลาดโรงแรม

    Photo : Shutterstock

    สรุปปี 2564: หนึ่งในธุรกิจที่อ่วมที่สุดจาก COVID-19 แต่ปี 2564 ถือว่าโรงแรมมีการปรับตัวไปได้มากแล้ว โดยการลดรายได้เฉลี่ยต่อวันต่อห้อง (ADR) เพื่อให้ได้ลูกค้าคนไทยมากขึ้น จนอัตราเข้าพักอยู่ในระดับ 20-30% ซึ่งพอจะหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

    เทรนด์ปี 2565
    • ยังต้องเน้นนักท่องเที่ยวในประเทศต่อไป เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่แน่นอน โรงแรมต้องหากลยุทธ์ดึงคนไทยต่อเนื่อง โดยปีนี้คำว่า ‘Staycation’ จะไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป อาจต้องหาการตลาดรูปแบบอื่นเข้ามา
    อัตราเข้าพักของโรงแรมเริ่มพยุงตัวได้ที่ 20-30%
    • ตลาดโรงแรมกรุงเทพฯ จะมีห้องพักเสร็จใหม่อีก 7,423 ห้อง ซึ่งคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นถึง 6.7% ตลาดนี้จะเกิดความท้าทายต่อเจ้าของโรงแรมว่า จะตัดสินใจเปิดบริการ 100% หรือเปิดเป็นบางส่วน หรือเปิดเฉพาะส่วนร้านอาหาร (F&B) หรือปิดต่อไปสักระยะ
    • อัตราเข้าพักยังสำคัญที่สุด เนื่องจากยังต้องเน้นตลาดคนไทย ADR น่าจะยังไม่ปรับขึ้นมากนัก อาจปรับขึ้นได้เฉพาะหน้าเทศกาลเท่านั้น เพื่อให้อัตราเข้าพักสูงพอที่จะหล่อเลี้ยงธุรกิจต่อได้อีกปี และต้องเสริมการหาโอกาสในกลุ่ม F&B ให้มากที่สุด

     

    อ่านรายงานอื่นๆ เพิ่มเติม

    ]]>
    1371954
    เมื่อ “มูจิ” ลงทุนไม่มินิมัล.. เปิดแต่ไซส์ใหญ่สวนกระแสค้าปลีก ต้องโชว์สินค้าได้ครบ https://positioningmag.com/1340574 Sun, 04 Jul 2021 06:29:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1340574 มูจิเดินหน้าขยายสาขาปีละ 5 แห่ง และต้องเป็นไซส์ใหญ่ ขนาด 1,500 ตารางเมตรขึ้นไป สวนกระแสธุรกิจค้าปลีกที่มีแต่ลดไซส์เหลือขนาดเล็ก เพราะต้องการโชว์สินค้า และบริการมากขึ้น เปิดคอนเซ็ปต์สโตร์เซ็นทรัลชิดลม เพิ่มมุม “บ้านมูจิ” อาหาร เบเกอรี่ ปรับแบรนด์ให้เข้าถึงคนไทยง่ายขึ้น

    ขยายแต่ไซส์ใหญ่ โชว์ของได้จุใจ

    พูดถึงแบรนด์มูจิ (MUJI) แบรนด์ที่ใครต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีความ “มินิมัล” และสะท้อนความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างสุดๆ ด้วยความคลีนๆ คลุมโทน และฟังก์ชันเยอะนี่เอง จึงทำให้แบรนด์ครองใจใครหลายๆ คน แม้บนสินค้าจะไม่มีชื่อแบรนด์ ก็สามารถรู้ได้ว่านี่คือสินค้ามูจิ

    แรกเริ่มเดิมทีมูจิได้เปิดสาขาแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 ตอนแรกเป็นการทำตลาดรูปแบบของร้านแฟรนไชส์ที่กลุ่มเซ็นทรัลได้ซื้อแฟรนไชส์เข้ามาเปิดที่ห้างสรรพสินค้า “เซ็นทรัลชิดลม” จริงๆ ทางมูจิเองก็สนใจในการทำตลาดในไทยอยู่แล้ว แต่ช่วงนั้นที่ประเทศไทยมีกฎระเบียบเรื่อง BOI ทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนยาก หลังจากนั้นได้มีการปรับกฎใหม่ทำให้ต่างชาติลงทุนง่ายขึ้น

    ทำให้ในปี 2556 มูจิได้เดินหน้าลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น จึงเกิดเป็นโมเดลธุรกิจการร่วมทุนกันระหว่าง บริษัท เรียวฮินเคคาขุ จำกัด เจ้าของแบรนด์มูจิ กับกลุ่มเซ็นทรัล เปิดเป็นบริษัทใหม่ในนาม บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้มีการลงทุนทำการตลาดมากขึ้น และขยายสาขามากขึ้นนั่นเอง

    แต่เดิมร้านของมูจิจะมีขนาดไม่ใหญ่มาก เฉลี่ย 400-750 ตารางเมตร เป็นไซส์มาตรฐานของร้านค้าปลีกทั่วไป แต่ต้องบอกว่าวงการค้าปลีกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้ผู้ประกอบการต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ บางเจ้าอาจจะมีการปรับโมเดลใหม่ๆ ลดขนาดพื้นที่ เพื่อให้เข้าถึงได้หลายพื้นที่ แต่กับมูจิกลับมองว่า ต้อง “เล่นใหญ่” เท่านั้น

    เมื่อปี 2562 มูจิได้นำร่องสาขาขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่สามย่าน มิตรทาวน์ มีพื้นที่รวมทั้งหมด 1,925 ตารางเมตร (รวมพื้นที่สต็อกสินค้า) แต่ถ้านับเฉพาะพื้นที่ขาย 1,700 ตารางเมตร มาพร้อมกับมุมร้านกาแฟแห่งแรกในไทยด้วย จากเดิมมีสาขาเซ็นทรัลเวิลด์เป็นสาขาแฟล็กชิพสโตร์ มีพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร

    muji

    หลังจากนั้นมูจิก็ออกอาการติดใจกับสาขาขนาดใหญ่มาโดยตลอด ในช่วงหลังมีการขยายสาขาด้วยพื้นที่มากกว่า 1,000 ตารางเมตร และมีแผนด้วยว่าแต่ละสาขาที่จะขยายต่อจากนี้จะต้องมีพื้นที่มากกว่า 1,500 ตารางมเตร อย่างสาขาที่เพิ่งเปิดในปีนี้ ศูนย์การค้าซีคอนบางแคก็มีพื้นที่ 1,310 ตารางเมตร หรือไอคอนสยามก็พื้นที่ขนาดใหญ่ 1,300 ตารางเมตร

    อกิฮิโร่ คาโมการิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า

    “เหตุผลที่มูจิต้องเน้นเปิดสาขาขนาดใหญ่มากขึ้นนั้น เพราะสาขาที่ประเทศญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่ ถ้าไม่ใหญ่จะไม่สามารถโชว์สินค้า และบริการได้ครบถ้วน ต้องทำให้ลูกค้าเห็นครบทุกอย่าง การเปิดร้านของมูจิในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ จะไม่ได้เน้นที่การขายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีประสบการณ์อื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น มุมร้านกาแฟ มุมหนังสือ หรือโซนเวิร์กช็อป จุดให้บริการตัดขากางเกง ปักผ้า รวมถึงโชว์รูมที่ได้โชว์สินค้าในสต๊อกมากขึ้น”

    ปรับโฉมสาขาเซ็นทรัล ชิดลม อัพไซส์ขึ้น 4 เท่า

    นอกจากจะขยายสาขาใหม่ให้มีขนาดใหญ่แล้ว การปรับสาขาเดิมที่อยู่ในทำเลศักยภาพก็เป็นกลยุทธ์สำคัญ ล่าสุดได้ขยายพื้นที่สาขาเซ็นทรัลชิดลม เพิ่งเปิดให้บริการในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่มูจิจะเปิดสาขาเซ็นทรัลชิดลม ก็ได้ปรับโฉมสาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ เพิ่งเปิดให้บริการ 1 เมษายน ได้ขยายพื้นที่เพิ่มกว่าเดิมมากกว่า 3 เท่า จาก 359 ตารางเมตร เป็น 1,400 ตารางเมตร

    ความสำคัญของสาขาเซ็นทรัลชิดลมนอกจากจะเป็นสาขาแรกในประเทศไทย ยังตั้งอยู่ในทำเลศักยภาพ และอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่ติดอันดับท็อปๆ ของกลุ่มเซ็นทรัล แต่เดิมมูจิตั้งอยู่บริเวณชั้น 3 มีพื้นที่เพียงแค่ 400 ตารางเมตรเท่านั้น ทำให้มูจิตัดสินใจรีโนเวตใหม่ ย้ายขึ้นไปอยู่ชั้น 7 พร้อมอัพไซส์เป็นขนาด 1,800 ตารางเมตร ใหญ่กว่าเดิมถึง 4 เท่า

    อกิฮิโร่ บอกถึงเหตุผลที่รีโนเวตสาขานี้เพราะไม่สาขาโชว์สินค้าได้ครบถ้วน เนื่องจากมีสินค้าใหม่ๆ เข้ามาหมุนเวียนอยู่ตลอด เมื่อพื้นที่เพิ่ม มีสินค้าเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า รวมทั้งหมด 4,600 รายการ รวมถึงมีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 38 คน จากเดิมมีเพียง 10 คนเท่านั้น

    muji

    มูจิสาขาใหม่นี้เรียกว่าเป็น New Concept Store ตั้งแต่แนวคิดการออกแบบร้าน มีคอนเซ็ปต์หลักคือความเรียบง่าย และเป็นธรรมชาติ เลือกใช้ไม้เก่าที่คัดสรรแล้วจากพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาในร้านรู้สึกถึงความง่ายๆ สบายๆ

    สาขานี้ยังมีบริการใหม่ที่มีที่สาขานี้เป็นที่แรก ได้แก่

    • บ้านมูจิ (Showroom) จำลองห้องที่ตกแต่งด้วยสินค้าของมูจิ เหมือนเป็นโชว์รูมที่โชว์สินค้า ทั้งห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ
    • โซนอาหารประจำวัน (Daily Food & Bakery) ทั้งข้าวปั้น เบนโตะ สลัดผัก และขนมเบเกอรี่

    • MUJI IDÉE ของใช้ในบ้าน และเสื้อผ้ารูปแบบใหม่ ที่นำสิ่งของในชีวิตประจำวันมาออกแบบใหม่ ให้มีสีสันมากขึ้นกว่าเดิม
    • มุมหนูๆ ให้เด็กๆ ได้มาแสดงไอเดียสร้างสรรค์ผ่านกระดานดำรูปแบบใหม่ เกิดจากการร่วมมือระหว่างมูจิ และทีมแลป (teamLab) ทีมนักสร้างสรรค์ศิลปะชื่อดังของญี่ปุ่น
    • MUJI Green คือต้นไม้ที่มูจิคัดสรรมาให้เหมาะกับการเลี้ยงในสภาพแวดล้อมภายในบ้าน สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว
    • รวมไปถึงมุมกาแฟ และขนมเค้ก MUJI Labo, ReMUJI, MUJI WALKER, ONE-SIZE และบริการปักลายผ้า

    การขยายไซส์ให้ใหญ่ขึ้นของมูจิ ถือเป็นกลยุทธ์ที่ค่อนข้างจะกลับมุมคิดของตลาดค้าปลีกในช่วงนี้ไม่น้อย เพราะหลายแบรนด์ หลายร้านมีการปรับยุทธ์ศาสตร์ เป็นการขยายร้านในขนาดไซส์เล็กลง เพราะต้องการลดต้นทุนต่างๆ ทั้งค่าที่ ค่าพนักงาน และไปเน้นในส่วนของออนไลน์มากขึ้น

    แต่ดูเหมือนว่ามูจิจะมั่นใจกับการขยายร้านไซส์ใหญ่ อาจจะมองแล้วว่า ยิ่งร้านใหญ่ ยิ่งวางสินค้าเยอะ ยิ่งมีโชว์รูมโชว์สินค้าเยอะเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มโอกาสการขายมากขึ้นเท่านั้น

    ปรับราคารัวๆ จนสูงกว่าญี่ปุ่นแค่ 10%

    อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญของมูจิที่ได้เริ่มมาได้ 1-2 ปีแล้ว คือการ “ปรับลดราคา” เพราะเรื่องราคาเป็นหนึ่งใน Pain Point สำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภค คนไทยรู้จักแบรนด์ และชื่อชอบมูจิอย่างดี เพราะมีความเป็นญี่ปุ่น และสไตล์มินิมัล แต่อาจจะตัดสินใจซื้อได้ยาก เพราะมีราคาค่อนข้างสูง

    เมื่อปี 2560 ซาโตรุ มัทสึซากิ ประธานกรรมการผู้จัดการ และตัวแทนผู้บริหาร บริษัท เรียวฮินเคคาขุ จำกัด ได้เดินทางมาประเทศไทย ได้พูดถึงแผนธุรกิจของมูจิ หนึ่งในโรดแมปสำคัญคือการ “ปรับราคาให้เท่าประเทศญี่ปุ่นภายในปี 2563”

    ทำให้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมามูจิได้ปรับราคาขายปลีกสินค้าลงแบบรัวๆ

    • ปี 2562 ปรับราคาสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า และสินค้ากลุ่มของเครื่องใช้ในบ้าน รวม 264 รายการ
    • ปี 2563 ปรับราคาสินค้ารวม 769 รายการ โดยแบ่งเป็นสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้า จำนวน 127 รายการ และสินค้ากลุ่มของเครื่องใช้ในบ้าน 642 รายการ
    • ปี 2564 ปรับราคาสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า และสินค้ากลุ่มของเครื่องใช้ในบ้าน รวม 217 รายการ

    การปรับราคาสินค้าลงในแต่ละครั้ง จะไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าปรับลดลงเฉลี่ยเท่าไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า เช่น

    สินค้ากลุ่มเสื้อผ้าเบสิก ได้แก่

    • เสื้อเชิ้ต จากราคา 790 บาท เหลือ 690 บาท
    • เสื้อยืดคอกลม จากราคา 1,390 บาท เหลือ 990 บาท
    • กางเกงยีน จากราคา 1,690 บาท เหลือ 1,390 บาท
    • กางเกงชิโน่ จากราคา 390 บาท เหลือ 350 บาท

    กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ เตียง (Bed), เก้าอี้ยาว (Couches) รวมทั้งโต๊ะและเก้าอี้ (Tables & Chairs) เป็นต้น

    • โซฟาทรงสูง จากราคา 12,500 บาท เหลือ 9,900 บาท
    • ที่นอน จากราคา 13,500 บาท เหลือ 9,900 บาท

    เหตุผลที่มูจิได้ปรับราคาสินค้าลง ก็เพราะว่า “ต้นทุนลดลง” ทางแบรนด์มีวิธีบริหารจัดการกระบวนการผลิต และการกระจายสินค้า ทำให้สามารถปรับราคาสินค้าลงได้จึงเลือกที่จะปรับราคาลง แทนที่จะเอากำไรมากขึ้น อีกทั้งยังต้องการให้เข้าถึงคนไทยมากขึ้นด้วย

    จากในอดีตสินค้ามูจิในไทยจะมีราคาสูงกว่าประเทศญี่ปุ่นถึง 20-30% จนตอนนี้มีราคาสูงกว่าแค่ 10% เท่านั้น ประกอบกับในช่วงหลายปีก่อนคนไทยยังได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นบ่อยครั้ง อาจจะมีการซื้อกลับมาใช้ได้ง่าย แต่ปัจจุบันที่มีการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้เดินทางไปซื้อได้ยาก จึงถือเป็นโอกาสที่คนไทยจะซื้อของมูจิในไทยมากขึ้น

    ปัจจุบันมูจิแบ่งสินค้าเป็น 3 กลุ่มใหญ่ มีสัดส่วนรายได้ 50% ของใช้ภายในบ้าน 48% เสื้อผ้า และ 2% อาหาร มองว่าในอนาคตอยากนำสินค้ากลุ่มอาหารเข้ามาเพิ่มจากประเทศญี่ปุ่น แต่บางรายการติดปัญหาเรื่องข้อระเบียบต่างๆ ที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ทำให้นำเข้ามาได้แค่ 50 รายการ จากทั้งหมด 600 รายการ

    อันดับสินค้ายอดนิยมของมูจิ ประเทศไทย ได้แก่

    • หมวดเสื้อผ้า 1. Stretch Chino EZ Wide Pants 2. Way Stretch Chino Pants 3. Water Repellent Sneaker 4. Double Gauze Pajama 5. ORG Line Shirts
    • หมวดของใช้ในบ้าน 1. Smooth Gel Ink Pen 2. Cloth for Glasses 3. PP Box Wide 4. Aroma Diffuser 5. Circulator Fan
    • หมวดอาหาร 1. Mini Ramen 2. Chocolate Coated Strawberry 3. Baumkuchen

    ปัจจุบันมูจิ ประเทศไทยมีทั้งหมด 22 สาขา ในปีนี้จะเปิดเพิ่ม 3 สาขา และวางแผนว่าภายในปี 2567 จะมีสาขาครบ 40 สาขา เท่ากับจะมีการขยายสาขาเฉลี่ยปีละ 5 สาขา จากแต่ก่อนขยายปีละ 2-3 สาขา

    ]]>
    1340574
    ‘เทสโก้ โลตัส’ ปรับเเบรนด์ เปลี่ยนโลโก้ใหม่เป็น Lotus’s ใช้สีโทนพาสเทล หลังกลับสู่อ้อมอก ‘ซีพี’ https://positioningmag.com/1319272 Mon, 15 Feb 2021 05:33:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319272 เทสโก้ โลตัสประเทศไทย ปรับเเบรนด์เปลี่ยนโลโก้ใหม่เป็น ‘Lotus’s’ ตัดคำว่า Tesco ออกพร้อมใช้สีโทนพาสเทลให้ดูเข้าถึงง่ายขึ้น หลังกลับมาอยู่ในอ้อมอกอาณาจักรซีพี

    ช่วงปีปลายที่ผ่านมาซีพี ออลล์ได้เข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสในไทยและมาเลเซีย เปลี่ยนมือเจ้าของจากอังกฤษกลับมาสู่มือคนไทยอีกครั้ง ชนะดีลประมูลไปด้วยมูลค่ากว่า 3.3 เเสนล้านบาท 

    ความเคลื่อนไหวล่าสุดกับการเปลี่ยนเเปลงภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ โดยวันนี้เทสโก้ โลตัสเปลี่ยนโลโก้ใหม่เป็น Lotus’s ตัดคำว่า Tesco ออกเเละเติม ’s เข้าไป โดยการเพิ่มตัว s มาอีก 1 ตัวนั้น มีความหมายแทนคำว่า SMART (Simple, Motivate, Agile, Responsible, transformative เเละ Sustainability) เป็นยุคใหม่ของโลตัสจะผสมผสานระหว่างค้าปลีก ‘ออฟไลน์’เเละ ‘ออนไลน์’ นำสินค้าชุมชนขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล

    พร้อมมีการปรับใช้สีโทนพาสเทลให้ดูทันสมัยเเละดูเข้าถึงง่ายขึ้น เเละเปลี่ยนสโลเเกนจาก ‘เราใส่ใจคุณ’ เป็น ‘รู้สึกดีดี ทุกวัน ที่โลตัส’

    ด้านเสียงตอบรับจากผู้บริโภคก็มีหลากหลาย ทั้งบอกว่าออกแบบมาได้น่ารักดี ดูเด็กลงและ friendly มากขึ้น ขณะที่บางคนก็เห็นว่าสีสันเเสบตาไป เเละเเบบเดิมดู Professional กว่า บางคนสงสัยว่า ‘Lotus’s’ ต้องอ่านออกเสียงอย่างไร ซึ่งก็มีคำคอบว่า Lotus’s จะยังคงอ่านออกเสียงว่าโลตัสเช่นเดิม

    ทั้งนี้ หลังจากการควบรวมกิจการเทสโก้ โลตัสเสร็จสิ้น จะทำให้เครือซีพี ของตระกูลเจียวรนนท์ มีเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมากที่สุดในประเทศไทย

    โดยมีร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา เเละหากรวมกับเทสโก้ โลตัสที่มีอีก 2,046 สาขา จะทำให้เครือซีพีมีจำนวนสาขาร้านค้าปลีกรวมกันประมาณ 14,312 แห่งทั่วประเทศไทย

    อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม :

     

     

    ]]>
    1319272
    CBRE พบสัญญาณ “ค้าปลีก” หลัง COVID-19 ทบทวน “ลดสาขา” เกือบทุกกลุ่มธุรกิจ https://positioningmag.com/1294684 Mon, 31 Aug 2020 07:46:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1294684
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่ำสุดในเดือนเมษายน 2563 ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 50.1 ในเดือนกรกฎาคม 2563
  • ช่วงล็อกดาวน์ศูนย์การค้า ทำให้เจ้าของร้านค้าปลีกคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มออนไลน์ และจะย้ายไปรุกตลาดออนไลน์มากขึ้นหลังวิกฤต รวมถึงวิกฤตครั้งนี้ยังทำให้ร้านค้าปลีกต้องคำนึงถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
  • ส่งผลให้ร้านค้าปลีกทบทวนการลดสาขาหรือลดขนาดพื้นที่เช่าศูนย์การค้าลงเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นกลุ่มค้าปลีกเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาซึ่งมีสัดส่วนผู้ที่ต้องการเพิ่มสาขาสูงกว่าการลดสาขา
  • ซีบีอาร์อี ประเทศไทย (CBRE) อ้างอิงข้อมูลของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงสู่จุดต่ำสุดในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งลดลงมาเหลือ 47.2 เท่านั้น เป็นดัชนีที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2541 หลังจากนั้นทยอยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ขึ้นมาสู่ระดับ 50.1 ในเดือนกรกฎาคม 2563

    CBRE ยังคาดการณ์ว่า การเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (Same-store-sales Growth : SSSG) ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้น่าจะติดลบทั้งธุรกิจค้าปลีกอาหารและธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการล็อกดาวน์ศูนย์การค้า

    หลังจากผ่อนคลายล็อกดาวน์ในช่วงเดือนมิถุนายน ห้างค้าปลีกพยายามกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคหลายแนวทาง เช่น จัดกิจกรรมโปรโมชันยาวนานและบ่อยครั้งขึ้น ห้างค้าปลีกบางแห่งยังยอมปรับเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นขึ้นด้วยสำหรับผู้เช่าเดิม เพื่อช่วยเหลือให้ผู้เช่าฟื้นฟูธุรกิจได้เร็วขึ้น

    อย่างไรก็ตาม CBRE ได้สำรวจตลาดพื้นที่ค้าปลีกในเอเชียแปซิฟิกเมื่อเดือนพฤษภาคมในหัวข้อ “COVID-19 จะส่งผลต่อร้านค้าของคุณอย่างไรในช่วงที่เหลือของปีนี้” พบว่า จากมาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าว ทำให้ช่วงที่ผ่านมาเจ้าของร้านค้าปลีกต่างหันไปใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการทำธุรกิจจนมีความคุ้นเคย และมีแนวโน้มจะใช้ช่องทางออนไลน์ต่อเนื่องหลังผ่านพ้นวิกฤต โดยแยกแนวโน้มการปรับตัวทางธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่มคือ

    1) กลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างยอดขายออนไลน์ให้เติบโต ได้แก่ ธุรกิจสินค้าราคาแพง, ธุรกิจเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา, ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค, ธุรกิจสินค้าไลฟ์สไตล์ และธุรกิจแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย สัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 40-80% จะใช้กลยุทธ์การเพิ่มยอดขายออนไลน์เป็นหลักในการทำธุรกิจครึ่งปีหลัง

    2) กลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการรวมสาขา ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจค้าปลีกอื่นที่เน้นสร้างประสบการณ์ และธุรกิจสุขภาพและความงาม สัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 30-60% จะใช้กลยุทธ์หลักคือการลดสาขา

    ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบเฉพาะคำตอบเรื่องการลดสาขาหรือเพิ่มสาขาในช่วงครึ่งปีหลัง พบว่าทุกกลุ่มธุรกิจมีผู้ตอบว่าจะลดสาขามากกว่าเพิ่มสาขา ยกเว้นธุรกิจเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาซึ่งจะเพิ่มสาขามากกว่าการลดสาขา

    “เมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ การปรับลดขนาดพื้นที่เช่าเดิมจะกลายเป็นแนวทางที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้เช่าจะต้องประหยัดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง ห้างสรรพสินค้าจึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการจัดวางผังร้านค้า และจัดส่วนผสมของผู้เช่าแต่ละประเภท (Tenant Mix) ให้ละเอียดและรอบคอบมากขึ้น” จริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็น

    จริยายังกล่าวด้วยว่า การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จะเร่งให้ค้าปลีกออนไลน์เติบโต และค้าปลีกแบบดั้งเดิมต้องปรับตัว

    ผู้พัฒนาโครงการห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่จะต้องทบทวนแนวคิดการทำโครงการเพื่อให้เหมาะกับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค และมองว่าธุรกิจค้าปลีกไทยยังต้องใช้เวลาก่อนฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ยกเว้นว่าจะมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้เท่ากับช่วงก่อนเกิดการระบาด โดยเฉพาะศูนย์การค้าใจกลางกรุงเทพฯ ที่พึ่งพิงกำลังซื้อต่างชาติสูง

    ]]>
    1294684
    10 ค้าปลีกครองตลาดจีน ไตรมาสที่สอง 61 https://positioningmag.com/1188900 Fri, 21 Sep 2018 04:59:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1188900 รายงานยอดขายช่องทางการค้าสมัยใหม่ (รวมถึงไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ) ในจีน ในช่วง 12 สัปดาห์ที่ผ่านมา สิ้นสุดวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าช่องทางการตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต มียอดขายดีที่สุดในกลุ่มนี้ โดยเติบโต 2.7 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 12 สัปดาห์นี้

    โดยรายงานของบริษัทวิจัย Kantar ยังระบุว่าไฮเปอร์มาร์เก็ตมียอดขายลดลง 1.3% ในไตรมาสนี้

    ในบรรดาผู้ค้าปลีกรายใหญ่ 5 อันดับแรก Sun Art และ Vanguard Group ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำไว้ Walmart และ Yonghui มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาสที่สอง หลังจากประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนรูปแบบแล้ว Walmart ได้ส่วนแบ่งทางการตลาดในการค้าเพิ่มขึ้น 0.6 จุด เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

    Kantar Worldpanel ยืนยันว่ากลุ่ม Walmart มีการขยายตัวที่ดีขึ้นในทุกภูมิภาคในช่วงครึ่งแรกของปี พ.. 2561

    Source

    ]]>
    1188900
    ตลาดค้าปลีกไทยยังโต สวนทาง ตปท. พื้นที่เช่าห้างดังโซนพระราม 1 – สุขุมวิทเต็มยาว ฟิตเนส 24 ชม. แม่เหล็กใหม่ดูดลูกค้า https://positioningmag.com/1182538 Wed, 08 Aug 2018 08:16:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1182538 เน็กซัสฟันธง ตลาดรีเทลหรือค้าปลีกของประเทศไทยยังเติบโต สวนทางกับตลาดรีเทลประเทศอื่นๆ ที่โดนผลกระทบจากตลาดออนไลน์และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของพฤติกรรมผู้บริโภค 

    บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้คาดการณ์ถึง แนวโน้มการเติบโต และการเปลี่ยนแปลงของตลาดรีเทลยังคงเติบโต  เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่อง  ซึ่งอสังหาฯเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

    โดยธุรกิจรีเทลเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจในตลาดอสังหาฯ เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา ตลาดรีเทลของไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับตลาดรีเทลในประเทศอื่นๆ ที่โดนผลกระทบจากตลาดออนไลน์และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของพฤติกรรมผู้บริโภค

    ศูนย์การค้าโซนพระราม 1 ถึงสุขุมวิทตอนกลาง ว่างแค่ 5% ค่าเช่าเพิ่ม ร้านค้าอยากเช่าอาจต้องรอเป็นปี

    ตลาดรีเทลเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ผู้ประกอบการต่างเร่งพัฒนาโครงการใหม่ๆ เพื่อแข่งขันอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดเล็กหรือใหญ่  นับตั้งแต่ศูนย์การค้าอย่าสยามพารากอนเปิดให้บริการเมื่อปีพ.ศ. 2549 เป็นเหตุให้ศูนย์การค้าชั้นนำหลายแห่งทำการปรับปรุงพื้นที่ โดยเฉพาะย่านพระราม 1 ราชประสงค์ เพลินจิต และสุขุมวิท พื้นที่เช่าเฉลี่ยในย่านนี้ ซึ่งคลอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่หัวถนนพระราม1 สยามดิสคอวเวอรี่ ตลอดแนวจนถึงสุขุมวิทตอนกลาง และเอ็มควอเทียร์

    ส่งผลให้ในย่านนี้ มีอัตราว่างของพื้นที่เฉลี่ยน้อยกว่า 5% อีกทั้งค่าเช่ายังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ร้านค้าอาจต้องรอเป็นปีเพื่อให้ได้พื้นที่เช่าในห้างดังหลายๆแห่ง

    ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นธุรกิจหลักในการดึงดูดลูกค้าของห้างโดยใช้สื่อออนไลน์เป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดลูกค้าจากทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้อัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวในประเทศไทยยังเป็นแรงผลักดันที่สำคัญต่อตลาดรีเทลของไทยอีกด้วย โดยในปีที่ผ่านมารายได้จากนักท่องเที่ยวเติบโตร้อยละ 11.66

    เกษร ทาวเวอร์ ดันค่าเช่า 3.9 พันบาท/ตร.ม.

    เกษร ทาวเวอร์เป็นซัพพลายล่าสุดในย่านพระราม1 – สุขุมวิทซึ่งทำการเปิดตัวเมื่อปีที่แล้วด้วยพื้นที่เช่าเชิงพาณิชยกรรมกว่า 10,000 ตารางเมตร ทำให้ตลาดรีเทลในย่านพระราม1-สุขุมวิท มีพื้นที่เช่ารวมที่ประมาณ 660,000 ตารางเมตร ค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,900 บาท/ตารางเมตร/เดือน และมีอัตราการเช่าที่ 96.4%

    แต่อย่างไรก็ตาม ที่ดินขนาดใหญ่ในย่านพระราม 1 ราชประสงค์ต่อเนื่องไปถึงสุขุมวิทตอนกลางในปัจจุบันหาได้ยากมากและราคาที่ดินสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้มีซัพพลายใหม่ๆในย่านนี้เกิดขึ้นอย่างจำกัด ผู้ประกอบการจึงให้ความสนใจในการเช่าที่ดินระยะยาวมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังมองหาทำเลใหม่ๆในโซนอื่นของกรุงเทพฯและปริมณฑลมากขึ้นอีกด้วย

    ทั้งนี้ จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือกับพฤติกกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หลายผู้ประกอบการเริ่มให้ความสนใจในการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

    ธีรวิทย์ ลิ้มทองสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด กล่าวว่า มีหลายธุรกิจที่ต้องการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร โคเวิร์กกิ้ง สเปซ หรือแม้กระทั้ง ศูนย์บริการความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ โดยมองว่าเป็นสิ่งที่น่าจับตามองและเป็นโอกาสที่ดีของหลายธุรกิจ ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบของตลาดรีเทลไทย

    ฟิตเนส 24 ชม. ดึงดูดลูกค้าไม่แพ้แมคโดนัลด์-สตาร์บัคส์

    นอกจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยียังเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะช่วยให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น

    พร้อมกันนี้ ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่หันมาให้ความสนใจกับสุขภาพอย่างจริงจัง โดยจะเห็นได้จากกิจกรรมเพื่อสุขภาพต่างๆที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังต้องการความสะดวกสบายที่จะเข้าถึงสุขภาพที่ดี

    ทำให้เกิดธุรกิจเพื่อสุขภาพเช่นฟิตเนสหรือคลาสสุขภาพต่างๆ โดยสถานที่ออกกำลังกายกระจายอยู่ในแทบทุกอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารที่อยู่อาศัยอย่างคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้าหรือคอมมูนิตี้มอลล์ รวมถึงอาคารสำนักงานต่างๆ

    ธุรกิจฟิตเนสในไทยเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา หลายแบรนด์ดังมีแผนขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ฟิตเนส เชนส่วนมากจับกลุ่มตลาดระดับบนและส่วนมาก ฟิตเนสระดับกลางจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้เกิดช่องว่างทางการตลาดของฟิตเนสระดับกลาง

    เมื่อความสะดวกสบายและเทรนด์สุขภาพมารวมกัน จึงทำให้เกิดโมเดลธุรกิจเพื่อสุขภาพ 24 ชั่วโมง โดยฟิตเนสที่เปิดให้บริการ24 ชั่วโมง อย่างน้อย 3 แบรนด์จากต่างประเทศเล็งเห็นถึงช่องว่างและความเป็นไปได้ทางการตลาดในไทย และได้เข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ในตลาดแต่ละรายพยายามหาพื้นที่เช่าที่แตกต่างออกไปจากฟิสเนสที่เคยเห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยความต้องการหลักคือต้องการเช่าพื้นที่ชั้นล่าง ที่มองเห็น – เข้าออก-เดินทางได้สะดวก แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงความต้องการและยอมรับ

    คงต้องใช้เวลาซักพักที่จะทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการหลายๆรายว่า ฟิตเนสจะสามารถเป็นตัวดูดลูกค้าเข้ามาในพื้นที่ได้เหมือนสตาร์บัคหรือแมคโดนัล 

    ธีรวิทย์ กล่าว

    อนาคตตลาดรีเทลยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีเสน่ห์ที่น่าสนใจ สิ่งที่จะท้าทายผู้ประกอบการคือ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำอย่างไรที่จะดึงจุดเด่นทางเทคโนโลยีเข้ามาสร้างความแตกต่าง เพื่อให้สามารถแข่งขันและตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคได้สูงสุด

    ]]>
    1182538
    เมียงดง มิดิโอะ รีเทลเกาหลีบุกไทย https://positioningmag.com/1157448 Mon, 19 Feb 2018 06:00:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1157448 โมเดิร์นเทรดเริ่มมีสีสันแปลกตามากขึ้น เมื่อทุนเกาหลีเริ่มเข้ามาบุกตลาดค้าปลีกเมืองไทย ต่อยอดจากธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ เครื่องสำอาง และธุรกิจศัลยกรรมความงาม ที่ได้รับความนิยมตามกระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีที่ไหลเข้ามาต่อเนื่อง มีกลุ่มแฟนคลับเกาะติดเทรนด์อย่างเหนียวแน่น

    แม้ขณะนี้ยังไม่มีนักลงทุนเกาหลีเข้ามาบุกเบิกศูนย์การค้าขนาดใหญ่ แต่มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการชิมลางขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทล็อตเต้ (Lotte) ผู้ประกอบกิจการธุรกิจขนาดใหญ่และร้านค้าสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) รายใหญ่ในเกาหลีใต้ โดยเช่าพื้นที่ขนาด 10,000 ตร.. เปิดร้านค้าระดับเวิลด์คลาส เพื่อทดลองใช้ไทยเป็นฐานการลงทุน และทำตลาดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากขยายสาขาดิวตี้ฟรีชอปในประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เนื่องจากกลุ่มล็อตเต้มีธุรกิจในเครือข่ายจำนวนมาก ทั้งธุรกิจอาหาร ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สวนสนุก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจการเงิน ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไอที รวมถึงธุรกิจที่อยู่อาศัย กลุ่มเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์

    ล่าสุด กลุ่มสเปเชียลตี้สโตร์ของเกาหลีเริ่มบุกรีเทลตามมาอีกระลอก อย่าง อาร์โควา (Arcova Korean Lifestyle Stores) ร้านจำหน่ายสินค้าราคาเดียว เริ่มต้นที่ 50 บาท ซึ่งเน้นสินค้าเจาะกลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน คนรุ่นใหม่ มีสินค้ามากกว่า 10,000 เอสเคยู ทั้งกลุ่มเครื่องสำอาง ของใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าแฟชั่น ตุ๊กตา สินค้าจิปาถะ โดยเปิดตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนล่าสุดเปิดแล้ว 5 สาขา ได้แก่ สาขาเอ็มบีเค เซ็นเตอร์พอยท์ โชว์ดีซี จีทาวเวอร์ และซีคอนสแควร์

    ส่วนร้านมิดิโอะ (Midio Korean Selections) ร้านนี้เพิ่งเปิดตัวสาขาแรกในประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ล่าสุดขยายเพิ่มอีก 2 สาขาที่ห้างแฟชั่นไอส์แลนด์และยูเนี่ยนมอลล์ รวมถึงมีแผนเดินสายจัดอีเวนต์สร้างการรับรู้แบรนด์ร่วมกับกลุ่มเดอะมอลล์กรุ๊ปอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

    สุรชัย ปิยวัชรวิจิตร กรรมการผู้จัดการบริษัท ซี.เอ.พี. มิวสิค จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายซีดี ดีวีดี วีซีดี คาราโอเกะ เพลงและภาพยนตร์ต่างประเทศ ภายใต้ชื่อร้าน “CAP” เปิดเผยกับผู้จัดการ 360” ว่า บริษัทตัดสินใจขยายไลน์ธุรกิจใหม่ หลังจากธุรกิจจำหน่ายซีดี ดีวีดี เริ่มชะลอตัวตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของทั่วโลก โดยลงทุนซื้อสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ร้าน “Midio” จากบริษัทร่วมทุนเกาหลีจีนในประเทศจีน โดยถือเป็นแบรนด์ร้านค้าปลีกที่มีความแข็งแกร่งมากในตลาดเซาท์อีสต์เอเชีย มีเครือข่ายสาขาจำนวนมากในประเทศจีน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ จนล่าสุดเข้ามาเปิดสาขาในไทย

    ทั้งนี้ ชื่อ “Midio” เป็นชื่อที่แปลงมาจาก “Myeong-dong” หรือที่นักชอปแฟนคลับเกาหลีเรียกว่าเมียงดงซึ่งถือเป็นย่านชอปปิ้งสุดฮิตและคึกคักมากที่สุดในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ประมาณสยามสแควร์เมืองไทย เป็นทั้งศูนย์กลางของการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เต็มไปด้วยร้านค้าและร้านอาหารนับไม่ถ้วน ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเคยได้รับการจัดอันดับเป็นชอปปิ้งสตรีทที่มีมูลค่าแพงที่สุดด้วย

    สุรชัยกล่าวว่า แบรนด์มิดิโอะมีความเป็นเกาหลีชัดเจนและมีความแข็งแกร่งทั้งรูปลักษณ์และตัวสินค้า ขณะที่แบรนด์คู่แข่งส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น บางแบรนด์เป็นสินค้าจากจีนหรือเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นที่คนไทยทำเอง แต่มิดิโอะเน้นสินค้านำเข้าและรูปแบบสไตล์เกาหลี มีความฟรุ้งฟริ้งมากและลวดลายความน่ารักต่างจากสินค้าสไตล์ญี่ปุ่น มั่นใจว่าจะเป็นจุดแตกต่างที่โดนใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งวัยรุ่น คนรุ่นใหม่และแฟนคลับเกาหลีในไทยที่มีฐานจำนวนมาก

    สินค้ามีทั้งสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ของใช้ส่วนตัว อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ของขวัญ สินค้าที่ระลึก ราคาขายในไทยเริ่มต้นที่ 69 บาท โดยกลุ่มสินค้ายอดนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ ตุ๊กตา น้ำหอม หมอนรองคอ น้ำหอมปรับอากาศ และหน้ากากปิดตา ซึ่งยอดขายหลักในขณะนี้ยังมาจากหน้าร้าน แต่บริษัทจะเร่งขยายฐานลูกค้าผ่านออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ ทั้งขายส่งและขายปลีก โดยเฉพาะการขายผ่านออนไลน์มีโอกาสเติบโตสูงมากเนื่องจากช่วงทดลองตลาด 3 เดือนแรก สินค้าได้รับการตอบรับอย่างดี กลุ่มลูกค้ามองความนิยมสินค้าสไตล์เกาหลีตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ามากกว่าสไตล์ญี่ปุ่น ทั้งในแง่แฟชั่น สีสันความสดใส

    นอกจากนี้ ซี.เอ.พี.มิวสิค อยู่ระหว่างการติดต่อกับบริษัทแม่ เพื่อเพิ่มกลุ่มสินค้าไลเซนส์ตัวการ์ตูนและดาราเกาหลีที่คนไทยรู้จักและชื่นชอบ เพื่อเปิดกลยุทธ์รุกตลาดและสร้างการรับรู้แบรนด์ โดยเฉพาะกลุ่มแฟนคลับแดนกิมจิ

    ด้านแผนการขยายสาขาในปี 2561 บริษัทเตรียมเปิดร้านมิดิโอะเพิ่มอีก 2 แห่งในศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต และเซ็นทรัล พื้นที่เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80 ตารางเมตร งบลงทุนต่อสาขาประมาณ 5 ล้านบาท

    สำหรับการขายแฟรนไชส์ยังต้องรอเวลาอีกระยะ เพื่อให้ระบบต่างๆ มั่นคงก่อน หรืออาจไม่ขายแฟรนไชส์ด้วย เนื่องจากบริษัทเน้นหาลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีที่สนใจซื้อสินค้าไปจำหน่าย โดยใช้จุดขายเรื่องสินค้ามีมาตรฐานและคุณภาพมากกว่าสินค้าราคาเดียวตามท้องตลาดทั่วไป ซึ่งผู้สนใจสามารถซื้อสินค้าและไม่จำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์เหมือนแบรนด์อื่นๆ

    แหล่งข่าวในวงการธุรกิจค้าปลีกระบุว่า ธุรกิจร้านค้าราคาเดียวยังมีแนวโน้มเติบโตสูง เหตุผลสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจที่กดดันให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าในราคาประหยัดและกลุ่มลูกค้าขยายฐานมากขึ้น จากอดีตที่เป็นกลุ่มประชาชนระดับล่างที่เลือกซื้อสินค้าราคาเดียวตามตลาดนัดหรือร้านค้าตามชานเมือง ปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่และมีความต้องการสินค้าไลฟ์สไตล์ ผู้ค้าส่วนใหญ่จึงพยายามสร้างแบรนด์ตามความนิยม โดยเฉพาะแบรนด์ญี่ปุ่นและเกาหลี

    แต่เนื่องจากภาพลักษณ์แบรนด์ญี่ปุ่นถูกนำมาใช้ช่วงระยะหนึ่งทำให้แบรนด์เกาหลีกลายเป็นจุดขายใหม่บวกกับกระแสวัฒนธรรมเกาหลียังมีความแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากศิลปินดารา นักร้อง ซึ่งมีฐานแฟนคลับขนาดใหญ่

    ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทยระบุว่า ตลาดรวมค้าส่งค้าปลีกของไทยมีมูลค่ากว่า 3.1 ล้านล้านบาท แยกเป็นค้าปลีกค้าส่งแบบออฟไลน์ประมาณ 3 ล้านล้านบาท และอีก 1 แสนล้านบาทเป็นค้าปลีกค้าส่งในรูปแบบออนไลน์ หากเปรียบเทียบธุรกิจค้าปลีกทุกรูปแบบพบว่า ซูเปอร์มาร์เกตมีอัตราเติบโตเพียง 7% กลุ่มไฮเปอร์มาร์เกตเติบโต 2% คอนวีเนียนสโตร์เติบโต 3% ห้างสรรพสินค้าเติบโต 3% แต่โมเดลค้าปลีกกำลังมาแรงนับจากนี้ คือร้านค้าเฉพาะทาง หรือสเปเชียลตี้สโตร์ หรือร้านขายสินค้าประเภทราคาเดียว

    เหมือนในสหรัฐอเมริกาที่เกิดกระแสสมรภูมิร้านดอลลาร์สโตร์ ผู้ค้าปลีกรายใหญ่หันมารุกตลาดเซกเมนต์นี้ หวังชิงส่วนแบ่งเม็ดเงินจับจ่ายของเหล่ามิลเลนเนียลที่มีมูลค่าสูงถึง 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

    การรุกธุรกิจรีเทลของกลุ่มทุนเกาหลีจึงไม่ใช่แค่รายสองรายเท่านั้นแน่.

    สนับสนุนข่าวโดย : gotomanager.com

    ]]>
    1157448
    ซีพีเอฟ VS เบทาโกร วัดพลังวันตรุษจีน https://positioningmag.com/1157042 Thu, 15 Feb 2018 04:01:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1157042 ตรุษจีนปีนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าเม็ดเงินสะพัดกว่า 5 หมื่นล้านบาท เติบโตกว่า 3% ก้อนแรกที่สะพัดหนีไม่พ้น “วันจ่าย” ที่บรรดาคนไทยเชื้อสายจีน ต้องหาซื้อสินค้ามาตระเตรียมสำหรับ “วันไหว้” 15 กุมภาพันธ์

    แต่ปีนี้ ดีกรีการแข่งขันเข้มข้นยิ่งขึ้น จากการเปิดเกมรุกของ “เบทาโกร” ยกทัพสินค้าไหว้เจ้า มาจัดโปรโมชั่นกันอย่างคึกคักเพื่อชิงกำลังซื้อผู้บริโภค จากเดิมที่มีรายใหญ่ “ซีพีเอฟ” ครองตลาด

    “ซีพีเอฟ” ยังคงจัดเต็ม ด้วยเมนูไว้เจ้าขนมาเต็มทั้งอาหารคาว หวาน และผลไม้ ภายใต้แบรนด์ “ซีพี” กว่า 10 รายการ เพื่อจำหน่ายในห้างค้าปลีก การมีสินค้าครบทำให้ทำตลาดได้เหนือกว่าคู่แข่งแล้ว “ช่องทางจำหน่าย” ผ่านร้าน “ซีพีเฟรชมาร์ท” กว่า 430 สาขา ยังเป็นอีกกลยุทธ์การทำตลาดที่ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในย่านชุมชน

    ในยุคที่ผู้บริโภครักความสะดวกสบาย ซีพีเอฟ ก็ไม่พลาดเปิดพรีออเดอร์ให้โทรสั่งจองสินค้าล่วงหน้า และสั่งผ่านเว็บไซต์ www.cpfreshmartshop.com เพื่อบริการจัดส่งด้วย

    ขณะที่ “เบทาโกร” แม้เป็นมวยรองที่เข้ามาทำตลาดค้าปลีกเจาะผู้บริโภครายย่อยไม่นานนัก แต่ตรุษจีนปีนี้ ก็ไม่น้อยหน้า สรรหา 4 เมนูไหว้เจ้าภายใต้แบรนด์ “เบทาโกร” มาเกาะกระแสไว้ไม่ให้ตกเทรนด์เทศกาลใหญ่ของคนไทยเชื้อสายจีน เพราะช่วงนี้เป็นจังหวะที่การจับจ่ายใช้สอยพุ่งปรี๊ด

    คู่แข่งมีช่องทางจำหน่ายเป็นของตัวเอง เบทาโกร ก็มีหน้าร้านเหมือนกันในชื่อ “เบทาโกร ช็อป” ประมาณ 200 สาขาทั่วประเทศ ทำให้ลูกค้าที่มองหาแบรนด์นี้จริงๆ จะได้สินค้าตรงกับความต้องการ ซึ่งในร้านดังกล่าจำหน่ายสินค้าครบแบรนด์หลักทั้งเอสเพียว และเบทาโกร

    นอกจากสินค้า โปรโมชั่นที่ทั้ง 2 แบรนด์ทำออกมาแข่งกันแล้ว ยังมี “โฆษณา” ชิงเหลี่ยมการตลาด ด้วยการตั้งตัวเป็น “กูรู” การจัดโต๊ะไหว้เจ้าที่เป็นสิริมงคล เพื่อสื่อสารกับชาวโซเชียลมีเดียด้วย

    ตรุษจีนอาจเป็นแค่หนึ่งสีสันที่ 2 ค่ายทำตลาดแข่งกัน แต่ในสนามใหญ่ธุรกิจอาหารทุกเซ็กเมนต์ เป็นที่รู้กันว่าซีพีเอฟเป็นแบรนด์ผู้นำที่แข็งแรงมาก เพราะมีสินค้าหลากหลายทั้งวัตถุดิบ หมู ไก่ ปลา อาหารพร้อมทาน อาหารแช่แข็ง ของคาว ของหวาน และของทานเล่น (สแนค) ครบ! และความได้เปรียบทางการตลาดที่คู่แข่งเข้ามาเจาะยางยากสักหน่อย คือช่องทางจำหน่าย เพราะแค่อาศัยขุมพลังเครือข่ายแม็คโคร เทสโก้ โลตัส ซีพี เฟรชมาร์ท และเซเว่น อีเลฟเว่น แล้ว ก็กินรวบกลุ่มเป้าหมายได้ทั่วประเทศ

    แต่เบอร์รอง ก็ไม่ได้ลดละ เพราะเมื่อรุกตลาดรายย่อย (Consumer) มีวัตถุดิบไข่ ไก่ หมู มาแข่งแล้ว ของทานเล่นอย่างไส้หรอก ก็มีในพอร์ตโฟลิโอเช่นกัน ด้วยไลน์สินค้ายังน้อย ทำให้การวาง Positioning ของแบรนด์เป็นระดับบน เป็นพรีเมียม ชูจุดขายของแบรนด์ทั้งเรื่องของมาตรฐาน NSF ในอาหารเป็นรายแรก และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อนามัย ซึ่งเมื่อเทียบกับเบอร์ 1 เป็นตลาดแมสที่กินกลุ่มเป้าหมายใหญ่มาก

    เบทาโกร ยังพยายามหาพันธมิตรมาช่วยสร้างจุดแข็งให้ธุรกิจยิ่งขึ้น อย่างล่าสุดการได้ “มิตซูบิชิ คอร์ป” ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ธุรกิจจากญี่ปุ่นและ “อิโตแฮม โยเนะคิวโฮลดิ้ง” มาร่วมลงทุนหลักพันล้านบาทตั้งโรงงานแปรรูปเนื้อไก่เพื่อป้อนให้ตลาดร้านอาหารในญี่ปุ่นด้วย

    อย่างไรก็ตาม ทั้งซีพีเอฟ และเบทาโกร ถือเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอาหารครบวงจรทั้งอาหารคน อาหารสัตว์ มีธุรกิจเกษตร, ธุรกิจอาหาร, ปศุสัตว์ ทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ สามารถทำรายได้แต่ละปีเป็นหลักหมื่นและแสนล้านบาท.

    ]]>
    1157042