ธุรกิจโรงแรม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 14 Mar 2024 11:14:08 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “เซ็นทารา” วางงบลงทุนกว่า 5,600 ล้านบาท ทุ่มสร้าง 2 โรงแรมใน “มัลดีฟส์” – รีโนเวตใหญ่ “พัทยา” https://positioningmag.com/1466111 Wed, 13 Mar 2024 08:50:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1466111
  • “เซ็นทารา” ธุรกิจโรงแรมภายใต้ CENTEL ประกาศรายได้ปี 2566 เติบโตกว่า 50% พลิกทำกำไรหลังผ่านโควิด-19 ได้สำเร็จ
  • ปี 2567 วางงบลงทุนโรงแรมกว่า 5,600 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงแรม 2 แห่งใน “มัลดีฟส์” และรีโนเวตใหญ่ใน “พัทยา” และ “หาดกะรน จ.ภูเก็ต”
  • เตรียมเปิดบริการโรงแรมทั้งหมด 6 แห่ง ในมัลดีฟส์, สปป.ลาว และประเทศไทย ตั้งเป้าปีนี้รายได้โตต่อ 15%
  • “ธีระยุทธ์ จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา และ “กันย์ ศรีสมพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ หรือ CENTEL ร่วมกันแถลงผลการดำเนินงานปี 2566 ที่ถือเป็น “ปีแห่งการฟื้นตัว” ของ “เซ็นทารา”

    ปีที่แล้วธุรกิจโรงแรมในเครือเซ็นทาราทำรายได้รวม 10,900 ล้านบาท (รวมโครงการร่วมทุน) เติบโตกว่า 50% จากปี 2565 และกลับมาทำกำไรได้สำเร็จโดยมีกำไรสุทธิกว่า 760 ล้านบาท หลังจากธุรกิจโรงแรมขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น

    เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า โรงแรมใหม่ที่เปิดบริการในปี 2566

    ความเคลื่อนไหวสำคัญเมื่อปี 2566 เครือเซ็นทารามีการเปิดบริการ “เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า” เป็นโรงแรมแห่งแรกของเครือในประเทศญี่ปุ่น และทำการรีแบรนด์โรงแรมระดับ 3 ดาวของเครือจากเซ็นทรา บาย เซ็นทาราเป็น “เซ็นทารา ไลฟ์” เพื่อให้แบรนด์ดูเด็กลงและทันสมัยมากขึ้น

     

    ปี 2567 ทุ่มทุนกว่า 5,600 ล้านก่อสร้างโรงแรมใหม่-รีโนเวตแห่งเดิม

    ด้านงบการลงทุน (CAPEX) ของปี 2567 เฉพาะส่วนธุรกิจโรงแรมเซ็นทาราวางงบไว้กว่า 5,600 ล้านบาท โดยมีโครงการใช้งบลงทุน ดังนี้

    • ก่อสร้างโรงแรมใหม่ 2 แห่ง คือ “เซ็นทารา มิราจ ลากูน มัลดีฟส์” จำนวน 145 ห้อง และ “เซ็นทารา แกรนด์ ลากูน มัลดีฟส์” จำนวน 142 ห้อง
    • รีโนเวตใหญ่โรงแรม “เซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา” จำนวน 553 ห้อง
    • รีโนเวตใหญ่โรงแรม “เซ็นทารา กะรน รีสอร์ท ภูเก็ต” จำนวน 335 ห้อง
    • ค่าเช่าที่ดินโรงแรม “เซ็นทารา แกรนด์ รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า หัวหิน” ที่ได้ต่อสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
    • งบปรับปรุงซ่อมแซมโรงแรมอื่นๆ ตามรอบ
    เซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา เตรียมรีโนเวตใหญ่ในปี 2567

    กันย์ ซีเอฟโอของ CENTEL กล่าวต่อถึงแผนการลงทุนระยะยาว 3 ปี (2567-69) ของ หรือ CENTEL รวมทั้งฝั่งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจร้านอาหาร วางงบไว้ว่าจะมีการลงทุนรวมระหว่าง 13,000-20,000 ล้านบาท เนื่องจากกลุ่มโรงแรมปีนี้มีการลงทุนใหญ่ในมัลดีฟส์ และจะเริ่มการลงทุนรีโนเวตใหญ่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า หัวหิน ใน 2 ปีข้างหน้า

    ธีระยุทธ์เสริมว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพาร์ทเนอร์ร่วมทุนเพื่อลงทุนขยายเฟส 2 ของโรงแรมเซ็นทารา มิราจ บีช รีสอร์ท ดูไบ อีก 200 ห้อง รวมถึงกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะก่อสร้างโรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ หัวหินในที่ดินที่ได้ต่อสัญญาเช่ากับ ร.ฟ.ท. หากแผนเหล่านี้เป็นไปตามเป้าจะทำให้งบลงทุนใน 3 ปีของ CENTEL ขึ้นไปแตะ 20,000 ล้านบาทได้

    (ซ้าย) “กันย์ ศรีสมพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ หรือ CENTEL และ (ขวา) “ธีระยุทธ์ จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา

     

    พร้อมเปิดบริการใหม่ 6 แห่งในปีนี้ ตั้งเป้าโต 15%

    ด้านโรงแรมใหม่ที่จะก่อสร้างเสร็จและพร้อมให้บริการของเซ็นทาราในปี 2567 มีทั้งหมด 6 แห่ง ดังนี้

    1. เซ็นทารา มิราจ ลากูน มัลดีฟส์ จำนวน 145 ห้อง
    2. เซ็นทารา ไลฟ์ ละไม รีสอร์ท สมุย จำนวน 40 ห้อง
    3. เซ็นทารา ไลฟ์ สุราษฎร์ธานี จำนวน 110 ห้อง
    4. เซ็นทารา วิลลา เกาะพีพี จำนวน 40 ห้อง
    5. เซ็นทารา พลูมเมอเรีย รีสอร์ท ปากเซ
    6. โคซี่ เวียงจันทน์ น้ำพุ

    ธุรกิจโรงแรมเซ็นทาราปี 2567 วางเป้ารายได้ไว้ที่ 12,500 ล้านบาท​ (รวมโครงการร่วมทุน) เติบโตประมาณ 14-15% จากปีก่อนหน้า

    เซ็นทารา
    โคซี่ เวียงจันทน์ น้ำพุ พร้อมเปิดบริการวันที่ 25 มีนาคม 2567

    กันย์กล่าวว่า เป้าหมายบริษัทปีนี้ไม่เน้นการเพิ่มอัตราเข้าพัก (Occupancy Rate) มากนัก โดยวางเป้าไว้ที่ 70-73% แต่จะเน้นการเพิ่มอัตราราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวัน (ADR) ของทั้งพอร์ต จากปีก่อนอยู่ที่ 5,100 บาทต่อวัน ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 5,500-6,000 บาทต่อวัน เพราะเซ็นทาราต้องการมุ่งเน้นลูกค้าในระดับกลางบนถึงไฮเอนด์มากขึ้น สอดคล้องกับเทรนด์การท่องเที่ยวขณะนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าท่องเที่ยวเองมากกว่ากรุ๊ปทัวร์

    “ปีนี้ประเทศไทยตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวแตะ 35 ล้านคน ซึ่ง 2 เดือนแรกมีเข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 3 ล้านคน เทรนด์ในภาคใต้ เช่น ภูเก็ต เกาะสมุย กระบี่ ถือว่าดีมากๆ อาจจะต้องรอลุ้นปลายปีในช่วงไตรมาส 4 ว่าจะดึงนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นหรือไม่” ธีระยุทธ์มองภาพธุรกิจท่องเที่ยวของปีนี้ “ดูไบและโอซาก้าก็ไปได้ดี ส่วนมัลดีฟส์ต้องรอลุ้นการเปิดสนามบินเฟสใหม่ที่จะทำให้มัลดีฟส์รับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 7 ล้านคน คาดว่าปลายปีนี้อาจจะเริ่มเปิดใช้บริการ”

     

    คาดขึ้น “Top 100” เมื่อเปิดครบในไปป์ไลน์

    ณ สิ้นปี 2566 เครือเซ็นทารามีโรงแรมที่เปิดบริการแล้ว 51 แห่ง รวมกว่า 11,600 ห้อง และมีโรงแรมอยู่ในไปป์ไลน์ (ระหว่างก่อสร้างหรือเซ็นสัญญาแล้ว) 44 แห่ง รวมกว่า 9,800 ห้อง ทำให้ในพอร์ตโฟลิโอขณะนี้เครือเซ็นทารามีโรงแรมในมืออยู่ 95 แห่ง รวมมากกว่า 21,000 ห้อง

    กันย์กล่าวต่อว่า เมื่อเปิดบริการโรงแรมครบ 95 แห่งในอนาคต เชื่อว่าจะทำให้เครือเซ็นทาราขึ้นไปติด “Top 100” เชนโรงแรมชั้นนำระดับโลกได้ จากปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 111

    ทั้งนี้ เซ็นทารายังมีเป้าหมายการเซ็นสัญญารับบริหารโรงแรมเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มอีก 10-15 แห่ง ทั้งในไทย เวียดนาม และตลาดใหม่ๆ ที่ต้องการจะเปิดตลาด เช่น ยุโรป แอฟริกา

    สำหรับเป้าหมายรายได้รวมของ CENTEL ปี 2567 รวมทั้งฝั่งโรงแรมและฝั่งร้านอาหาร กันย์ระบุว่าบริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 29,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 15% จากปีก่อนหน้า

    ]]>
    1466111
    “MINT” กำไรปี 2566 โตพุ่ง 3 เท่า! กางแผน 3 ปี เข้าโหมด “Asset-light” เน้นรับจ้างบริหารโรงแรม https://positioningmag.com/1462203 Fri, 09 Feb 2024 08:44:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1462203
  • ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ประกาศกำไรสุทธิปี 2566 ทำสถิติใหม่ที่ 7,100 ล้านบาท เติบโตถึง 3 เท่าจากปีก่อนหน้า ธุรกิจ “โรงแรม” ทำรายได้แซงหน้าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด นักท่องเที่ยวระดับบนยินดีใช้จ่าย
  • ปี 2567 เตรียมงบลงทุน 10,000-13,000 ล้านบาท เน้นการอัปเกรด/รีโนเวตโรงแรม 28 แห่ง มั่นใจปีนี้การท่องเที่ยวบูมต่อเนื่องหลังยอดจองห้องพักไตรมาสแรกยังเติบโต วางเป้ากำไรสุทธิเติบโตอีก 15-20%
  • แผนธุรกิจ 3 ปีข้างหน้า วางเป้าเปิดโรงแรมเพิ่ม 200-500 แห่ง และเปิดร้านอาหารเพิ่ม 1,000 สาขา แต่จะเติบโตด้วยรูปแบบ “Asset-light” เน้นการทำสัญญารับจ้างบริหารโรงแรม และขายแฟรนไชส์ร้านอาหาร มากกว่าการลงทุนเอง
  • “ดิลลิป ราชากาเรีย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และ “ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ร่วมกันประกาศผลการดำเนินงานปี 2566 ของบริษัท ทำกำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่ 7,100 ล้านบาท ถือเป็นสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเติบโตขึ้น 3 เท่าจากปีก่อนหน้า

    ผลการดำเนินงานที่เติบโตสูงเกิดขึ้นจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว โดยตลอดปี 2566 ไมเนอร์ โฮเทลส์ มีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) สูงขึ้น 30% จากปี 2565 และสูงขึ้น 31% หากเทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด-19) ในฟากธุรกิจร้านอาหารของ ไมเนอร์ ฟู้ด มียอดขายรวมทุกสาขาสูงขึ้น 11% จากปี 2565

    “ดิลลิป ราชากาเรีย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT

    “ธุรกิจท่องเที่ยวในปี 2566 พิสูจน์แล้วว่าเป็นธุรกิจที่สามารถต้านแรงเสียดทานจากภาวะเงินเฟ้อ เพราะเรามีการปรับราคาห้องพักเพิ่มตามต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว แต่นักท่องเที่ยวก็ยังจองห้องพักเข้ามา” ดิลลิปกล่าว “ทำให้การดำเนินงานเราดีขึ้นทั้งอัตราการเข้าพัก (occupancy rate) และราคาห้องพัก แม้แต่การใช้จ่ายในโรงแรมก็ปรับเพิ่มขี้นด้วย สะท้อนให้เห็นว่าลูกค้าพร้อมจะใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลางถึงลักชัวรีที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อย”

     

    ปี 2567 ลงทุนอัปเกรดโรงแรม – วางเป้ากำไรโตอีก 15-20%

    ดิลลิปกล่าวต่อถึงสถานการณ์ปี 2567 เชื่อมั่นว่าตลาดท่องเที่ยวจะดีต่อเนื่อง วัดจากรายได้ห้องพักในเดือนมกราคมที่ผ่านมาและยอดจองห้องพักล่วงหน้าในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม รวมแล้วในตลาดประเทศไทยมียอดที่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 39% และในตลาดยุโรปก็ยังเติบโต 20%

    สำหรับการลงทุนปีนี้ MINT มีงบลงทุน 10,000-13,000 ล้านบาท โดยแบ่ง 70% จะลงทุนในกลุ่มไมเนอร์ โฮเทลส์ และอีก 30% ลงทุนในกลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด

    “Sizzler” แบรนด์ที่ไมเนอร์ฯ ได้สิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญามาเมื่อปี 2566

    กลุ่มไมเนอร์ โฮเทลส์ จะเน้นไปที่การอัปเกรดและรีโนเวตโรงแรมให้ดีขึ้น แผนเบื้องต้นจะรีโนเวตโรงแรม 28 แห่ง จำนวนห้องพัก 4,700 ห้อง ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมแบรนด์ NH Hotel ในทวีปยุโรปที่ต้องการปรับปรุงเพื่อให้เรียกราคาค่าห้องพักได้สูงขึ้น นอกจากนี้ จะเป็นงบต่อเนื่องเพื่อก่อสร้างโรงแรมใหม่ให้เสร็จ เช่น อนันตรา อูบุด บาหลี รีสอร์ต ประเทศอินโดนีเซีย ที่สร้างค้างไว้ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 บริษัทตั้งเป้าที่จะเปิดบริการให้ได้ภายในปีนี้

    ส่วนกลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด เงินลงทุนส่วนใหญ่จะนำไปปรับปรุงแบรนด์ร้านอาหาร โดยเฉพาะ “Sizzler” ที่บริษัทได้เป็นเจ้าของแบรนด์ผ่านการเข้าซื้อกิจการบริษัท Singco Trading Pte. Ltd. เมื่อปีก่อน รวมถึงจะเป็นการลงทุนในต่างประเทศ เช่น “แดรี่ควีน” ที่มุ่งผลักดันการเติบโต 10 เท่าในอินโดนีเซีย หรือ “GAGA” ร้านชาไข่มุกที่จะผลักดันเข้าไปเปิดตลาดอินโดนีเซียเช่นกัน รวมถึงไมเนอร์ ฟู้ด มีแผนที่จะรุกเข้าสู่ตลาดใหม่ที่ “อินเดีย” จับโอกาสในประเทศที่มีประชากรสูงอันดับ 2 ของโลก

    ดิลลิปคาดว่าปี 2567 น่าจะยังเป็นปีทองของ MINT ต่อไปจากสัญญาณการท่องเที่ยวที่ยังเป็นขาขึ้น จึงตั้งเป้ากำไรสุทธิเติบโตอีก 15-20% ในปีนี้

     

    แผนธุรกิจ 3 ปี “Asset-light” ลดหนี้สิน

    ด้านแผนธุรกิจ 3 ปีของ MINT ดิลลิปวางแผน 3 หัวข้อใหญ่ ดังนี้

    1. ขยายพอร์ตธุรกิจ
      – กลุ่มไมเนอร์ โฮเทลส์​ ตั้งเป้าเปิดโรงแรมเพิ่ม 200-500 แห่ง รวมเป็น 780 แห่งในอนาคต
      – กลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด ตั้งเป้าเปิดร้านอาหารเพิ่ม 1,000 สาขา รวมเป็น 3,700 สาขาในอนาคต
    2. แนวทางการลงทุนแบบ “Asset-light” ถือสินทรัพย์ด้วยตนเองน้อยลง โดยในกลุ่มโรงแรมจะเน้นการทำสัญญารับจ้างบริหาร ซึ่งจะทำให้พอร์ตในอนาคตมีโรงแรมภายใต้สัญญาจ้างบริหารเพิ่มเป็น 40-50% จากปัจจุบันมีเพียง 18% ขณะที่กลุ่มร้านอาหารเป็นการทำสัญญาแฟรนไชส์เป็นหลัก
    3. ลดอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเหลือ 0.8 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.0 เท่า โดยตั้งเป้าบรรลุผลภายในสิ้นปี 2567 เพื่อให้กำไรของบริษัทเติบโตได้ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง
    MINT
    โรงแรม NH Paris Gare de l’Est ในเครือไมเนอร์ฯ

    ทั้งนี้ ดิลลิปขยายความแผนการ “Asset-light” ว่า บริษัทจะยังมีการลงทุนโรงแรมเองอยู่บ้าง แต่จะลงทุนเฉพาะในโครงการที่ได้ผลตอบแทนการลงทุน (ROI) สูงน่าพอใจและมั่นใจในตลาด ส่วนใหญ่คาดว่าจะเกิดขึ้นในตลาดแถบเอเชีย เช่น ไทย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ ขณะที่การรับจ้างบริหารมีศักยภาพแข่งขันทำสัญญามากขึ้นเมื่อบริษัทมีพอร์ตแบรนด์โรงแรมหลากหลายให้เลือก ส่วนใหญ่คาดว่าจะได้ทำสัญญาในตลาดกลุ่มประเทศยุโรป ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และจีน

    “เราไม่กังวลเรื่องเศรษฐกิจหรือการท่องเที่ยวเท่าไหร่นัก” ดิลลิปกล่าว “แต่ที่กังวลคือเรื่อง บุคลากรเพราะมีคนออกจากอุตสาหกรรมไปตั้งแต่ช่วงเกิดโรคระบาด จนตอนนี้จะต้องมีการเทรนนิ่งคนให้พร้อมต้อนรับแขกเข้าพัก ยิ่งในอีก 3 ปีเมื่อเรามีโรงแรมเพิ่มอีก 200-500 แห่งจะยิ่งต้องการคน และคนต้องเข้าใจการบริการในแต่ละแบรนด์ของเราด้วย”

    ]]>
    1462203
    โรงแรม “ม็อกซี่” บนตึก “เดอะ มาร์เก็ต” เตรียมเปิดตัวต้นปี’67 ดึงฐานลูกค้าแมริออทเติมลูกค้าเข้าห้างฯ https://positioningmag.com/1455795 Fri, 15 Dec 2023 06:22:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1455795 โรงแรม “ม็อกซี่” (Moxy Hotel) แบรนด์ในเครือ “แมริออท” เตรียมเปิดบริการบนตึกศูนย์การค้า “เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก” ภายในไตรมาส 1 ปี 2567 คอนเซ็ปต์โรงแรมฉีกแนวจากย่านราชประสงค์ เน้นลุคอินดัสเทรียลและความสนุกสนาน หวังเจาะตลาดทั้งกลุ่มเอเชียและยุโรป

    บมจ.เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป เตรียมเปิดตัวโรงแรมใหม่ “ม็อกซี่ แบงคอก ราชประสงค์” (Moxy Hotel) จำนวน 504 ห้อง บนชั้น 9 และ 12-32 ด้านบนอาคารศูนย์การค้า เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ภายในไตรมาส 1 ปี 2567 หวังสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับ เดอะ มาร์เก็ต แบงคอกมากขึ้น

    โดยโรงแรม “ม็อกซี่” เป็นแบรนด์ในระดับ Select ของเครือแมริออท ปัจจุบันเปิดไปแล้ว 126 แห่งทั่วโลก และมีเพียง 8 แห่งในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีน) ซึ่ง “ม็อกซี่ แบงคอก ราชประสงค์” ถือเป็นโรงแรมม็อกซี่ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก

    คอนเซ็ปต์ของแบรนด์ม็อกซี่จะเป็นโรงแรมที่เน้นกลุ่มเป้าหมาย “Young at Heart” และ “Fun Hunters” เป็นผู้ที่ชื่นชอบความสนุกสนาน กิจกรรมพบปะสังสรรค์ ชอบบรรยากาศโรงแรมที่มีชีวิตชีวา และมีกิมมิกการบริการที่ไม่เหมือนใคร เช่น เช็กอินเข้าพักได้ที่บาร์ พร้อมเลือกรับ Welcome Drink เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากหน้าบาร์ได้เลย

    ม็อกซี่ เดอะ มาร์เก็ต
    พรีวิวบรรยากาศล็อบบี้ ม็อกซี่ แบงคอก ราชประสงค์ (อยู่ระหว่างตกแต่ง)

    ภายในโรงแรมม็อกซี่ แบงคอก ราชประสงค์ จะเห็นการตกแต่งล็อบบี้ด้วยลุคอินดัสเทรียลปูนเปลือยและเปลือยฝ้าเพดาน เปิดพื้นที่กว้างแบบ Open Space ทะลุถึงกันทั้งส่วนรับประทานอาหาร บาร์ ที่นั่งพักผ่อน พร้อมกับใช้บรรยากาศพื้นที่เข้ามาผสมผสาน เช่น การใช้ธีม ‘Lightbox’ จากโรงหนังสกาล่ามาเป็นธีมออกแบบ, ใช้ประตูเหล็กยืดพับจากตึกแถวในย่านมาตกแต่ง

    แหล่งข่าวจากทีมงานบริหารแบรนด์ “ม็อกซี่” เปิดเผยว่า การเลือกใช้แบรนด์ม็อกซี่เข้ามาแข่งขันในย่านราชประสงค์ เพราะเล็งเห็นว่าเป็นธีมโรงแรมที่แตกต่าง โรงแรมที่เน้นความสนุกสนานในย่านนี้ยังไม่มีในตลาด

    ม็อกซี่ เดอะ มาร์เก็ต
    ห้องแบบสวีทของม็อกซี่ แบงคอก ราชประสงค์ ห้องมุมชมวิวตึกใบหยก

    ความแตกต่างของม็อกซี่น่าจะดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้ทั้งกลุ่มเอเชียที่นิยมพักในย่านนี้อยู่แล้ว เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และกลุ่มนักท่องเที่ยวตะวันตกที่เป็นฐานสำคัญของเครือแมริออท เช่น ยุโรป สหรัฐฯ รวมถึงกลุ่มร้านอาหาร (F&B) อีเวนต์สนุกๆ ของแบรนด์น่าจะช่วยดึงดูดชาวไทยให้มาใช้บริการด้วย

    Positioning สำรวจรอบย่านราชประสงค์ ตั้งแต่แยกราชประสงค์จนถึงแยกประตูน้ำถือเป็นย่านที่โรงแรมแข่งขันสูง นับเฉพาะโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปมีไม่ต่ำกว่า 15 แห่ง ราคาห้องพักมีตั้งแต่ 2,500 บาทต่อคืน ขึ้นไปจนถึงหลักหมื่นบาทต่อคืน

    ม็อกซี่ เดอะ มาร์เก็ต
    ห้องพิเศษ สไตล์เตียง bunk bed ให้บรรยากาศเหมือนอยู่หอพัก เหมาะพักผ่อนกับกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัว

    ด้านราคาห้องพักของ “ม็อกซี่” ทางทีมงานแมริออทยังไม่เปิดราคา แต่หากวัดจากโรงแรมในระดับ Select ด้วยกัน โรงแรมคอร์ทยาร์ด บาย แมริออท กรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ในซอยมหาดเล็กหลวง 1 ปัจจุบันเปิดราคาห้องพักเริ่มต้นที่ 4,400 บาทต่อคืน

     

    โรงแรม-สำนักงานใหม่ ดึงคนเข้า “เดอะ มาร์เก็ต”

    ปี 2566 ถือว่าเป็นปีที่ บมจ.เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ฟื้นกลับมาจากช่วงโควิด-19 แล้ว หลังจากศูนย์การค้าและโรงแรมเปิดให้บริการได้ตามปกติ สถานการณ์การท่องเที่ยวดีขึ้น ทำให้รายได้รอบ 9 เดือนแรกปี 2566 ขึ้นไปแตะ 1,352 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 112 ล้านบาท (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

    “สุฐิตา โชติจุฬางกูร” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการตลาด บมจ.เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ยังให้ข้อมูลผ่านหน้าสื่อหลายสำนักไปก่อนหน้านี้ว่า ศูนย์การค้าแพลทินัมมีการปรับปรุงและให้บริการโซนสินค้าบิวตี้และของฝากชั้น 3 และโซนฟู้ดคอร์ทชั้น 6 เรียบร้อยแล้ว พร้อมเดินหน้าปรับปรุงชั้น 5 ต่อเนื่องเพื่อเปลี่ยนเป็นโซนคาเฟ่และร้านอาหารสไตล์ไทย

    ศูนย์การค้าแพลทินัม

    ด้านทราฟฟิกผู้มาใช้บริการแพลทินัมเฉลี่ย 55,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 65% เทียบกับปีก่อน โดยส่วนใหญ่ 70% เป็นชาวต่างชาติ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และอีก 30% เป็นชาวไทย ในด้านร้านค้าเช่าในแพลทินัมมีอัตราการเช่าถึง 90%

    สำหรับโครงการที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างของแพลทินัม กรุ๊ป คือ โรงแรมม็อกซี่ แบงคอก ราชประสงค์ และ อาคารสำนักงาน “Pier 111” ทั้งหมดตั้งอยู่ในบริเวณโครงการมิกซ์ยูส เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก และนับเป็นการก่อสร้างเฟส 2 ของโครงการ

    ภาพตัวอย่างทางเข้าอาคารสำนักงาน Pier 111

    สำนักงาน Pier 111 เป็นตึกความสูง 32 ชั้น มีพื้นที่เช่าทั้งหมด 38,000 ตร.ม. ออกแบบเป็นสมาร์ท ออฟฟิศ ฝ้าเพดานสูง 3.25 เมตร และที่จอดรถถึง 1,400 คัน ขณะนี้เปิดให้เยี่ยมชมและจองพื้นที่เช่าแล้ว

    ต้องติดตามต่อไปว่า หลังจากโรงแรมม็อกซี่และสำนักงาน Pier 111 เปิดบริการเต็มรูปแบบแล้ว จะช่วยดึงทราฟฟิกเพิ่มเข้ามาในส่วนศูนย์การค้าเดอะ มาร์เก็ต แบงคอกได้มากน้อยเพียงใด

    ]]>
    1455795
    “แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สเปซ พัทยา” ยอดจองแน่นทั้งปี! LHMH ผุดโรงแรมเพิ่ม ต่อยอดคอนเซ็ปต์ “Themed Hotel” https://positioningmag.com/1453116 Thu, 23 Nov 2023 11:02:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1453116
  • LHMH เปิดผลดำเนินงาน “แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์” 6 สาขา ปี 2566 อัตราเข้าพักเฉลี่ยแตะ 90% ทุกสาขา รายได้เฉลี่ยห้องพักต่อห้องเพิ่มกว่า 20% สูงกว่าก่อนโควิด-19
  • เปิดบริการโรงแรมใหม่แห่งที่ 7 แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุรวงศ์” จับกลุ่มลูกค้ายุโรป เอเชีย และงานฟังก์ชันจัดเลี้ยงประชุมของคนไทย
  • แผนลงทุนเดินหน้า 3 โรงแรมใหม่ 3 ทำเล ได้แก่ ลุมพินี, ราชดำริ และ พัทยา โดยจะเป็นโรงแรมแห่งที่ 3 ของเครือในพัทยา หลังแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สเปซ พัทยา ประสบความสำเร็จ อัตราเข้าพัก 80-90% สม่ำเสมอตั้งแต่เปิดตัว
  • “สุวรรณา พุทธประสาท” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด เปิดเผยว่า รายได้ 10 เดือนแรกปี 2566 ของแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ทำได้รวม 3,955 ล้านบาท และประมาณการว่าปี 2566 จะสามารถทำรายได้รวมทั้งปีประมาณ 4,800 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้รายได้รวมในส่วนธุรกิจโรงแรมของเครือเพิ่มขึ้นกว่า “เท่าตัว”

    การเติบโตนี้เกิดขึ้นในทุกสาขาของแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ โดย 4 สาขาในกรุงเทพฯ​ เติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 85% ขณะที่อีก 2 สาขาในพัทยาก็เติบโตได้ต่อเนื่อง

    สำหรับ “แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์” เป็นเครือโรงแรมไทยที่ลงทุนเองและใช้เชนของตนเองบริหาร ปัจจุบันมีโรงแรมทั้งหมด 6 แห่งที่เปิดบริการแล้ว ได้แก่ โรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ เพลินจิต, โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ราชดำริ, โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ เทอร์มินอล 21, โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุขุมวิท 55, โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยา และโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สเปซ พัทยา

    แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์
    (จากซ้าย) “กิตติ วรบรรพต” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด, “ภาคิน เอียงผาสุข” ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุรวงศ์ กรุงเทพฯ และ “สุวรรณา พุทธประสาท” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด

    “กิตติ วรบรรพต” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด กล่าวต่อว่า อัตราเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมทุกสาขาในปีนี้แตะ 90% ทั้งหมด และรายได้เฉลี่ยห้องพักต่อห้องเพิ่มขึ้น 20% เทียบกับก่อนโควิด-19 ถือว่าฟื้นตัวได้ดีกว่าก่อนเกิดโรคระบาด

    ด้านการขยายธุรกิจโรงแรมของ LHMH ในปี 2566 พร้อมแล้วที่จะเปิดบริการโรงแรมแห่งที่ 7 คือ “แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุรวงศ์” เป็นโรงแรมระดับอัปสเกล จำนวนห้องพัก 399 ห้อง ตั้งอยู่บนถนนสุรวงศ์ มูลค่าการลงทุน 2,300 ล้านบาท เปิดแกรนด์โอเพนนนิ่ง 25 พฤศจิกายนนี้

    “ภาคิน เอียงผาสุข” ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุรวงศ์ กรุงเทพฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงแรมนี้จะจับฐานลูกค้าทั้งกลุ่มยุโรปที่ชื่นชอบที่พักริมน้ำ และกลุ่มเอเชียซึ่งเป็นฐานหลักของแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์​ รวมถึงได้คนไทยจัดงานฟังก์ชัน จัดเลี้ยง สัมมนา ประชุม อีกด้วย

    โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุรวงศ์ กรุงเทพฯ

     

    ต่อยอดความปัง “สเปซ พัทยา” เปิดโรงแรมเพิ่ม 1-2 แห่ง

    ส่วนการลงทุนต่อเนื่องในอนาคต กิตติกล่าวว่าบริษัทมีโครงการในไปป์ไลน์แล้ว 3 แห่ง ได้แก่

    • แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ลุมพินี – ทำเลบนถนนพระราม 4 ตรงข้ามวัน แบงค็อก โดยจะเป็นมิกซ์ยูสโรงแรม 512 ห้องและอาคารสำนักงาน ใช้เงินลงทุน 4,500 ล้านบาท เปิดบริการปี 2568
    • แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ราชดำริ 2 – ทำเลแปลงที่ดินเดิมของศูนย์การค้าเพนนินซูล่า เป็นโรงแรมจำนวน 509 ห้อง ใช้เงินลงทุน 5,100 ล้านบาท เปิดบริการปี 2569
    • แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยา 3 – ทำเลติดกับโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สเปซ พัทยา จำนวนห้องพัก 494 ห้อง ใช้เงินลงทุน 4,400 ล้านบาท เปิดบริการปี 2570
    แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สเปซ พัทยา
    โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สเปซ พัทยา โรงแรมที่มาในธีมอวกาศ

    โดยการลงทุนต่อเนื่องในพัทยานั้น กิตติกล่าวว่าเกิดจากผลตอบรับของโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สเปซ พัทยา ที่เพิ่งเปิดบริการเมื่อปีก่อน แต่อัตราเข้าพักสูง 80-90% มาตลอดตั้งแต่เปิดบริการ และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 โรงแรมแห่งนี้ทำรายได้รวมกว่า 1,000 ล้านบาทไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยผู้บริโภคชื่นชอบโรงแรมที่เป็น Themed Hotel ที่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่ ไม่ซ้ำใครแก่แขกผู้เข้าพัก

    “เชื่อไหมว่าลูกค้าที่สเปซ พัทยาเรามีเกิน 1,000 รายแล้วที่มาพักกับเรา 3 ครั้งขึ้นไปในรอบปีเดียว” กิตติกล่าว “คนจะมาพักซ้ำที่เดิมแปลว่าต้องชื่นชอบมาก และเรามีฟาซิลิตี้ที่ใหญ่ บางคนมาพักแค่คืนเดียวก็รู้สึกว่าไม่พอ ต้องมาอีก”

    นอกจากนี้ แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สเปซ พัทยา ยังเป็นโรงแรมที่ได้ราคาห้องพักสูงที่สุดในเครือขณะนี้คือ 7,000 บาทต่อคืน ขณะที่โรงแรมอื่นจะอยู่ในช่วง 4,500-6,000 บาทต่อคืน

    Themed Hotel เป็นโรงแรมแบบที่ถูกใจแขกผู้มาพัก เพราะได้ประสบการณ์ใหม่ ไม่ซ้ำใคร

    จากผลตอบรับที่ดีของ Themed Hotel และโอกาสเจริญเติบโตที่จะสูงขึ้นอีกของพัทยา ทำให้ LHMH มีการลงทุนเพิ่มในโครงการพัทยา 3 ซึ่งจะเป็น Themed Hotel เช่นกัน แต่จะใช้ธีมที่ต่างออกไปเพื่อสร้างความหลากหลายให้ลูกค้า และขนาดโรงแรมจะใหญ่กว่าเดิม คาดเริ่มก่อสร้างปี 2567 พร้อมเปิดบริการปี 2570

    กิตติแย้มด้วยว่า ขณะนี้บริษัทกำลังดีลเจรจาเช่าที่ดินเพื่อขึ้นโครงการพัทยา 4 ในบริเวณเดียวกัน สร้างเป็น Themed Hotel แห่งต่อไป

    ปัจจุบันฐานลูกค้าเฉพาะในพัทยาของแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ เป็นชาวไทย 40% และต่างชาติ 60% เช่น จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น

    สำหรับภาพรวมบริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด นอกจากกลุ่มโรงแรมแล้วยังมีธุรกิจศูนย์การค้าด้วย โดยที่อยู่ในพอร์ตคือศูนย์การค้า Terminal21 ทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ อโศก, พระราม 3 และ พัทยา สุวรรณาระบุว่ารายได้รวมทั้งบริษัทของปี 2566 น่าจะปิดรวมที่ 7,500 ล้านบาท

    ส่วนแนวโน้มปี 2567 สุวรรณาคาดว่ารายได้จากการดำเนินธุรกิจน่าจะโตประมาณ 15% โดยธุรกิจหลักที่จะโตมาจากกลุ่มโรงแรมเป็นหลัก เพราะฟื้นตัวได้ดีมากหลังโควิด-19 ขณะที่ศูนย์การค้าถือว่าร้านค้ายังเพิ่งพ้นวิกฤต อยู่ในช่วงประคับประคองท่ามกลางเศรษฐกิจไทย

    ]]>
    1453116
    “นารายณ์​ฯ” วางแผนขยายพอร์ตโรงแรมเป็น “เท่าตัว” ภายใน 5 ปี เล็งตลาด “ญี่ปุ่น” มาแรง https://positioningmag.com/1446223 Fri, 29 Sep 2023 15:05:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1446223 “นารายณ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป” แย้มเป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้า ต้องการขยายพอร์ตโรงแรมเพิ่มจำนวนเป็นเกือบ “เท่าตัว” จากปัจจุบันมี 15 แห่งทั้งที่เปิดบริการแล้วและอยู่ในไปป์ไลน์ อนาคตต้องการเพิ่มเป็น 26 แห่ง เล็งตลาดหลักหาช่องทางขยายตัวในญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

    เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565 “นารายณ์​ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป” ประกาศทุบตึกโรงแรมนารายณ์ กรุงเทพฯ โรงแรมที่อยู่คู่ถนนสีลมมานาน 54 ปี เพื่อจะสร้างโรงแรมขึ้นใหม่ให้ทันสมัยและอัปเกรดมากขึ้น

    นอกจากการรีโนเวตโรงแรมในตำนานแล้ว ปีที่แล้วนารายณ์ฯ ยังเปิดตัวแบรนด์ใหม่ “มาราสก้า โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ต” (Marasca Hotel & Resort) อีกด้วย เป็นแบรนด์ที่มาจับกลุ่ม ‘แคชชวลลักชัวรี’ โรงแรมระดับ 5 ดาวคอนเซ็ปต์หรูหราแต่เรียบง่าย เป็นกันเอง และผ่อนคลาย

    เห็นได้ว่าปีก่อนเป็นปีที่นารายณ์ฯ มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นหมุดหมายสู่ยุคใหม่ของกลุ่ม

    นารายณ์ โรงแรม
    บรรยากาศแกลมปิ้งใน มาราสก้า เขาใหญ่

    มาถึงปี 2566 ผู้สื่อข่าวมีโอกาสได้พูดคุยกับ “โทมัส เทต” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นารายณ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป โทมัสระบุถึงเป้าหมายระยะยาวของบริษัทว่า นารายณ์ฯ ต้องการจะขยายพอร์ตโฟลิโอโรงแรมขึ้นเป็น “เท่าตัว”

    จากปัจจุบันที่ให้บริการและที่อยู่ในไปป์ไลน์ 15 แห่ง ภายใน 5 ปีต้องการเพิ่มเป็น 26 แห่ง ทั้งนี้ ขอสงวนไม่ระบุตัวเลขการลงทุนหรือมูลค่าโครงการ

    นารายณ์ฯ นั้นเป็นเจ้าของโรงแรม (Owner) ทุกแห่ง และส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารโรงแรมด้วยตนเอง (Management) ในจำนวนโรงแรม 15 แห่งแบ่งออกได้ ดังนี้

    “ใช้ระบบบริหารของตนเอง”
    • หลับดี (Lub D)
      เปิดให้บริการแล้ว 6 แห่ง – สยาม กรุงเทพฯ, หาดป่าตอง ภูเก็ต, เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี, เสียมเรียบ กัมพูชา, มาคาติ ฟิลิปปินส์ และโอซาก้า ญี่ปุ่น
      อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง – เยาวราช กรุงเทพฯ, เกาะเต่า สุราษฎร์ธานี และ ทำเลใน จ.กระบี่
    • มาราสก้า (Marasca)
      เปิดให้บริการแล้ว 1 แห่ง – เขาใหญ่ นครราชสีมา
      อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 แห่ง – เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี
    หลับดี เสียมเรียบ
    “ใช้เชนบริหารจากต่างประเทศ”
    • โรงแรมนารายณ์ (Narai) – อยู่ระหว่างการรีโนเวต วางเป้าเปิดบริการได้ในปี 2571 และคาดว่าจะมีการดึงเชนโรงแรมต่างประเทศเข้ามาบริหารแต่ยังใช้ชื่อโรงแรมนารายณ์เช่นเดิม
    • เลอ เมอริเดียน ภูเก็ต ไม้ขาว บีช รีสอร์ท – เชนโรงแรมในเครือแมริออท
    • Bankside Hotel, Autograph Collection ประเทศอังกฤษ – เชนโรงแรมในเครือแมริออท
    • 25Hours Hotel Paris Terminus Nord ประเทศฝรั่งเศส – เชนโรงแรมจากเยอรมนี
    เลอ เมอริเดียน ภูเก็ต ไม้ขาว บีช รีสอร์ท

     

    “ญี่ปุ่น” มาแรง เล็งเปิดเพิ่มใน “โตเกียว”

    โทมัสกล่าวต่อว่า เป้าหมายเพิ่มเป็น 26 แห่งยังไม่ได้กำหนดชัดว่าจะไปในทำเลไหนบ้าง แต่กรอบคร่าวๆ ที่มองไว้จะเป็นการบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมไทย), ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

    โดยเฉพาะ “ญี่ปุ่น” ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่กำลังเน้นในขณะนี้ หลังจากที่โรงแรมหลับดี โอซาก้า ฮอนมาจิ เพิ่งเปิดบริการในเดือนกันยายนนี้เอง แต่กลับได้อัตราเข้าพักแตะ 80% ภายใน 5 วันแรกที่เปิดตัว สะท้อนดีมานด์นักท่องเที่ยวในญี่ปุ่นที่สูงมาก

    นารายณ์​ โรงแรม
    หลับดี โอซาก้า ฮอนมาจิ

    นารายณ์​ฯ จึงมองหาทำเลลงทุนต่อเนื่องในญี่ปุ่น เมืองต่อไปที่สนใจคือ “โตเกียว” เพราะเป็นเมืองหลวงจุดศูนย์รวมการเดินทางท่องเที่ยว โดยหวังว่าจะมีโอกาสเข้าลงทุนทั้งแบรนด์ “หลับดี” ที่เป็นบัดเจ็ทโฮเทล และแบรนด์ “มาราสก้า” เจาะตลาดแคชชวลลักชัวรี

    โทมัสกล่าวว่า บริษัทพร้อมที่จะลงทุนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาจากที่ดินเปล่า (greenfield) หรือซื้อกิจการจากโรงแรมเดิม (brownfield) รวมถึงจะพิจารณาทั้งการใช้เชนโรงแรมของบริษัทเอง และการใช้เชนบริหารจากบริษัทอื่น ขึ้นอยู่กับทำเลและโครงการที่ได้มาว่าเหมาะสมกับแบรนด์ใด

    สำหรับภาพรวมการดำเนินงานของนารายณ์​ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป ปี 2566 โทมัสกล่าวว่าเป็นที่แน่นอนที่รายได้จะไม่สูงเท่าเดิมเพราะโรงแรมนารายณ์ สีลมอยู่ระหว่างก่อสร้างใหม่ และโรงแรมเลอ เมอริเดียน ภูเก็ต ไม้ขาวฯ ก็ปิดปรับปรุงมา 10 เดือน เตรียมเปิดให้บริการวันที่ 1 ตุลาคมนี้

    แต่ในโรงแรมที่เปิดให้บริการปกติ ส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานดีโดยเฉพาะหลับดี ป่าตอง, หลับดี เกาะสมุย และหลับดี โอซาก้า ซึ่งทั้งหมดได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ขณะที่โรงแรมที่ยังไม่ฟื้นมากนักคือหลับดี เสียมเรียบ เนื่องจากปกติพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก และหลับดี มาคาติ เนื่องจากฟิลิปปินส์เปิดประเทศช้ากว่าทำให้การฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน

    ]]>
    1446223
    กลุ่ม “นารายณ์” อัปเกรดโรงแรมบนหาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต สวมแบรนด์ “เลอ เมอริเดียน” ดึงกลุ่มครอบครัว https://positioningmag.com/1445738 Wed, 27 Sep 2023 09:33:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1445738 “นารายณ์ ฮอสพิทาลิตี้” ทุ่มทุนร่วม 500 ล้านบาท รีโนเวตและอัปเกรดโรงแรมบนหาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต เปลี่ยนแบรนด์จากฮอลิเดย์ อินน์ เป็น “เลอ เมอริเดียน” จับกลุ่มลูกค้าพรีเมียม เดินทางเป็นครอบครัว คาดเพิ่มมูลค่ารายได้ขึ้น 30-40%

    “โทมัส เทต” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นารายณ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป เปิดตัวโรงแรมใหม่ของบริษัทหลังรีโนเวตและรีแบรนด์เสร็จสิ้นที่ “เลอ เมอริเดียน ภูเก็ต ไม้ขาว บีช รีสอร์ท” เนื้อที่ 22 ไร่ จำนวน 244 ห้องพัก ทำเลติดหน้าหาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต

    โรงแรมนี้เป็นสินทรัพย์ในเครือของนารายณ์ฯ​ มาตั้งแต่ปี 2554 แต่เดิมใช้แบรนด์ “ฮอลิเดย์ อินน์” ในเครือ IHG ก่อนจะปิดปรับปรุง 10 เดือนมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 และเปลี่ยนแบรนด์มาใช้ “เลอ เมอริเดียน” ในเครือแมริออท เตรียมเปิดให้บริการวันแรก วันที่ 1 ตุลาคมนี้

    เลอ เมอริเดียน ภูเก็ต นารายณ์
    บริเวณล็อบบี้ประดับด้วยผลงานศิลปะทำจาก “กะลา” ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในภาคใต้

    หลังเปลี่ยนแบรนด์ โรงแรมมีการปรับโครงสร้างใหม่ในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งล็อบบี้ ภายในห้องพัก เพิ่มสระว่ายน้ำสำหรับเด็ก เพิ่มห้องพักที่มี Private Pool และ Pool Access เพิ่มห้องพักขนาดใหญ่พิเศษอีก 2 ห้อง รวมถึงขยายพื้นที่คาเฟ่ในโรงแรมให้รองรับลูกค้าได้มากขึ้น

     

    อัปเกรดเพื่อรองรับดีมานด์ “ครอบครัว” ระดับไฮเอนด์

    โทมัสระบุว่า แม้ฮอลิเดย์ อินน์จะได้อัตราเข้าพักสูงถึง 80% แต่ที่ต้องมีการเปลี่ยนแบรนด์เนื่องจากบริษัทต้องการยกระดับตำแหน่งทางการตลาดของโรงแรมให้สูงขึ้น

    “จิรารัตน์ นิลประดับ” ผู้จัดการทั่วไป เลอ เมอริเดียน ภูเก็ต ไม้ขาว บีช รีสอร์ท กล่าวว่า ทำเลหาดไม้ขาวเป็นทำเลที่ดึงดูดลูกค้ากลุ่ม “ครอบครัว” ของจ.ภูเก็ต เพราะเป็นหาดที่ยังอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จึงมีความสงบและเป็นธรรมชาติ เหมาะกับกลุ่มเด็กมากกว่าหาดอื่นๆ ทำให้โรงแรมส่วนใหญ่จะเจาะเป้าหมายกลุ่มนี้ รวมถึงโรงแรมเดิมที่ใช้แบรนด์ฮอลิเดย์ อินน์ด้วย

    เลอ เมอริเดียน ภูเก็ต นารายณ์
    ห้องพักแบบ Private Pool พร้อมหัวเตียงประดับด้วยผ้าบาติก ศิลปะท้องถิ่น

    อย่างไรก็ตาม ตลอดการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา บริษัทพบว่าห้องพักประเภทที่เต็มเร็วเสมอและมีไม่พอต่อความต้องการของลูกค้า คือ ห้องพักแบบ Private Pool และ Pool Access ซึ่งสะท้อนว่าลูกค้าในทำเลนี้พร้อมจ่ายสำหรับห้องพักที่มีฟังก์ชันพิเศษมากขึ้น ทำให้นารายณ์ฯ​ มองว่าควร “อัปเกรด” โรงแรมไปใช้แบรนด์ที่สูงขึ้นเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

    Positioning สำรวจพอร์ตโฟลิโอแบรนด์ในเครือ IHG แบรนด์ฮอลิเดย์ อินน์นั้นถือเป็นโรงแรมระดับอัปสเกล ซึ่งหากจะปรับระดับขึ้นไปเป็นระดับไฮเอนด์​ IHG จะมีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักคือ “คราวน์ พลาซ่า” ซึ่งเป็นโรงแรมที่เน้นการพักผ่อนระหว่างเดินทางเชิงธุรกิจ จึงอาจจะไม่เหมาะกับโปรดักส์บนหาดไม้ขาวของนารายณ์ฯ

    ขณะที่เครือแมริออทมีแบรนด์ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายมากกว่าคือ “เลอ เมอริเดียน” ซึ่งเป็นแบรนด์สำหรับรีสอร์ตระดับพรีเมียมเพื่อการพักผ่อน

    ห้องแบบ Suite, Oceanfront

     

    หวังรายได้เพิ่ม 30-40% จากการปรับราคา

    จิรารัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเป้าหมายของโรงแรมนี้ 90% เป็นชาวต่างชาติ 10% เป็นชาวไทย เนื่องจากหาดไม้ขาวยังไม่เป็นที่นิยมของชาวไทยมากนัก

    ในช่วงเปิดตัวโรงแรมซึ่งเป็นโลว์ซีซัน น่าจะได้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักผ่อนระยะสั้นจากในเอเชีย เช่น ไทย ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย

    ขณะที่ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไปซึ่งเป็นไฮซีซัน น่าจะได้ต้อนรับกลุ่มนักท่องเที่ยวพักผ่อนระยะยาว เช่น รัสเซีย ออสเตรเลีย ยุโรป (โดยเฉพาะสแกนดิเนเวีย)

    Kid’s Club ใหญ่ 300 ตารางเมตร สะท้อนกลุ่มเป้าหมายของโรงแรมนี้คือกลุ่มครอบครัวที่มีเด็กเล็ก

    ส่วนนักท่องเที่ยวจีนนั้น จิรารัตน์ตั้งความหวังว่ามาตรการ Free Visa ให้ชาวจีนจากรัฐบาล จะช่วยดึงดูดลูกค้า F.I.T จากจีนได้มากขึ้น

    โทมัสกล่าวปิดท้ายถึงการลงทุนและเป้าหมายของโรงแรมนี้ว่า นารายณ์ฯ ลงทุนรีโนเวตไป 400-500 ล้านบาท และหลังรีโนเวตเปลี่ยนแบรนด์แล้วทำให้ราคาห้องพักเพิ่มขึ้นมาเริ่มที่ 5,000 บาทต่อคืน ซึ่งน่าจะทำให้รายได้ของ เลอ เมอริเดียน ภูเก็ต ไม้ขาว บีช รีสอร์ท เพิ่มขึ้นจากเดิม 30-40% และคืนทุนได้ภายใน 5 ปี

    “จิรารัตน์ นิลประดับ” ผู้จัดการทั่วไป เลอ เมอริเดียน ภูเก็ต ไม้ขาว บีช รีสอร์ท และ “โทมัส เทต” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นารายณ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป

    ทั้งนี้ นารายณ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป เป็นเครือบริษัทด้านธุรกิจโรงแรมที่มีสินทรัพย์ในมือ 13 แห่ง ในจำนวนนี้ 10 แห่งบริษัทเป็นผู้บริหารจัดการเองภายใต้เชนโรงแรมนารายณ์ (Narai Hotel), หลับดี (Lub D) และ มาราสก้า (Marasca) ส่วนอีก 3 แห่งบริษัทเป็นเจ้าของสินทรัพย์โดยมีเชนโรงแรมอื่นๆ บริหาร ได้แก่ เลอ เมอริเดียน ภูเก็ต ไม้ขาว บีช รีสอร์ท, 25Hours Hotel Paris Terminus Nord ประเทศฝรั่งเศส และ Bankside Hotel, Autograph Collection ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

    ]]>
    1445738
    SoftBank จับมือบริษัทแม่ OYO เปิดเชนโรงแรมระดับ 4-5 ดาวแบรนด์ใหม่ในชื่อ “Sunday” https://positioningmag.com/1445225 Fri, 22 Sep 2023 07:40:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1445225 SoftBank บริษัทลงทุนจากญี่ปุ่น จับมือ Oravel บริษัทแม่ของเชนโรงแรมบัดเจ็ท OYO จากอินเดีย ลงทุนขยายเชนโรงแรมระดับ 4-5 ดาวแบรนด์ใหม่ในชื่อ “Sunday” เริ่มต้นเจาะตลาดเมืองเทียร์ 2 ของอินเดีย

    การร่วมทุนของ SoftBank และ Oravel จะอยู่ภายใต้บริษัทใหม่คือ “Mountainia” เป็นผู้บริหารโรงแรมเชน “Sunday” เน้นเจาะตลาดเมืองเทียร์ 2 ที่กำลังเติบโตของ “อินเดีย”

    โดย Sunday เริ่มต้นเปิดตัวโรงแรมแห่งแรกแล้วที่เมือง “ชัยปุระ” จำนวนห้องพัก 90 ห้อง พร้อมด้วยร้านอาหาร บาร์ สปา และห้องประชุม

    Mountainia คาดว่าจะเปิดโรงแรม Sunday เพิ่มอีก 4 แห่งได้ภายในสิ้นปีนี้

    “ตลาดการท่องเที่ยวระดับพรีเมียมในอินเดียนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว และลูกค้ากำลังต้องการที่พักระดับไฮเอนด์ โดยเมืองระดับเทียร์ 1 ที่ยังไม่มีรถไฟฟ้าและเมืองระดับเทียร์ 2 นั้นน่าสนใจเพราะเป็นตลาดที่สมดุลในด้านการลงทุน เมืองอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโต ขณะที่กลุ่มโรงแรมระดับพรีเมียมยังแข่งขันไม่สูงนัก รวมถึงสินทรัพย์โรงแรมในเมืองเหล่านี้ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ราคาดี” แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าว Your Story

    บริษัทจอยต์เวนเจอร์แห่งนี้จะดูแลเรื่องการลงทุน ส่วนการบริหารเชนโรงแรม Sunday จะบริหารโดยทีมของ Oravel

    การร่วมทุนครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่สองบริษัทมีการร่วมทุนกัน เพราะก่อนหน้านี้ทั้งคู่เคยจับมือกันเปิดตัวเชนโรงแรม Tabist ในญี่ปุ่นมาแล้ว โดย Tabist จะเน้นจับตลาดบริหารโรงแรมเก่าแก่ (เรียวกัง) และโรงแรมขนาดเล็กในญี่ปุ่น

    นอกจากนี้ SoftBank เองถือเป็นผู้ร่วมลงทุนในเชนโรงแรม “OYO” ของ Oravel ด้วย โดยโรงแรม OYO เป็นเชนโรงแรมบัดเจ็ทที่ใช้กลยุทธ์เจาะตลาดโรงแรมขนาดเล็กให้เข้ามาอยู่ในเชนเพื่อเพิ่มยอดจองห้องพัก เชนโรงแรม OYO เริ่มขยายกิจการเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2019

    Source

    ]]>
    1445225
    ONYX ตั้งเป้ารายได้ปี’66 โตสูงกว่าก่อนโควิด-19! ร่วมลงทุน “อมารี” แห่งใหม่ใน “มัลดีฟส์” https://positioningmag.com/1417866 Fri, 03 Feb 2023 10:33:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1417866
  • “ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป” (ONYX) ธุรกิจโรงแรมในเครือ “อิตัลไทย” ตั้งเป้ารายได้ปี 2566 จะสูงถึง 8,800 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 60% และจะเป็นตัวเลขที่เติบโตสูงกว่าก่อนเกิดโควิด-19 จากการเปิดโรงแรมใหม่และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว
  • แผนเปิดตัวโรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ใหม่อีก 11 แห่งภายใน 2-3 ปี โดยปีนี้จะมีไฮไลต์คือ “อมารี ราญา มัลดีฟส์” รีสอร์ตขนาดใหญ่บนเกาะมัลดีฟส์ที่บริษัทร่วมถือหุ้น 3-5%
  • ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมถือว่าผ่านจุดวิกฤตที่สุดมาแล้ว และปี 2566 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวได้เต็มปี รวมถึงธุรกิจโรงแรมในเครือ “อิตัลไทย” อย่าง “ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป” หรือ ONYX ซึ่งตั้งเป้าจะเติบโตก้าวกระโดด 60% จากปีก่อน

    “ยุทธชัย จรณะจิตต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ONYX กล่าวถึงเป้าหมายรายได้ของเครือในปี 2566 ว่าจะไปแตะ 8,800 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ารายได้ปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) ที่เคยทำได้ 7,000 ล้านบาท

    “ยุทธชัย จรณะจิตต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป

    เหตุที่ปีนี้จะโตแบบก้าวกระโดดมาจากการเปิดโรงแรมแห่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของโรงแรมเดิมที่มีในพอร์ต เมื่อเทียบกับปีก่อนแล้วรายได้จะโตขึ้นมาก เนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก 2565 นั้นถือว่าตลาดยังไม่ฟื้น

    “ปี 2566 เราตั้งเป้าโหดมากกับทุกโรงแรมในเครือ เพราะเราเห็นแล้วว่าไฟลต์บินกำลังทยอยกลับมา ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้น่าจะเห็นภาพชัดเจนว่ามีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น” ยุทธชัยกล่าว

    “ราคาห้องพักเองก็ปรับกลับมาได้แล้วเช่นกัน ขณะนี้ราคาขึ้นมา 25-30% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ยังขยับเพิ่มได้อีก เพราะค่าเฉลี่ย ADR ของเราปัจจุบันยังอยู่ที่ 3,000 กว่าบาทต่อคืน ซึ่งยังไม่เท่ากับปี 2562”

     

    แผนเปิดเพิ่ม 11 แห่งภายใน 2-3 ปี ร่วมลงทุนที่ “มัลดีฟส์”

    ออนิกซ์ฯ นั้นเป็นเครือโรงแรมสัญชาติไทยที่มีแบรนด์หลัก 3 แบรนด์ คือ อมารี (Amari) แบรนด์โรงแรมระดับบนเพื่อลูกค้ากลุ่มลักชัวรี, โอโซ่ (OZO) แบรนด์โรงแรมระดับกลาง เน้นลูกค้าที่ชอบการพักผ่อนอย่างมีสไตล์ และ ชามา (Shama) แบรนด์เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ระดับบนที่รองรับทั้งการพักระยะสั้นจนถึงระยะยาว นอกจากนี้ยังมีโรงแรมที่เป็น White Label คือรับบริหารให้ภายใต้แบรนด์ของลูกค้า

    พอร์ตโฟลิโอแบรนด์ในมือ ONYX

    ปัจจุบันออนิกซ์ฯ มีโรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ในเครือรวม 44 แห่ง ตั้งอยู่ใน 7 เขตการปกครอง คือ ไทย, สปป.ลาว, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, จีน, ฮ่องกง และบังกลาเทศ สัดส่วนโรงแรมที่เป็นเจ้าของเองอยู่ที่ 18% และเป็นโรงแรมที่รับบริหาร 82%

    หากแบ่งตามเป้าหมายรายได้ปี 2566 แต่ละแบรนด์สร้างรายได้ให้ออนิกซ์ฯ ดังนี้

    • 63% แบรนด์ “อมารี”
    • 17% แบรนด์ “ชามา”
    • 12% แบรนด์ “โอโซ่”
    • 8% แบรนด์อื่นๆ เช่น โรงแรมกลุ่ม White Label
    ONYX อมารี
    โรงแรมอมารี ภูเก็ต

    ยุทธชัยกล่าวถึงแผนการเติบโตจากนี้ ตั้งเป้าเปิดตัวโรงแรมใหม่ 11 แห่งภายใน 2-3 ปี ได้แก่

    1.อมารี ราญา มัลดีฟส์ (*)
    2.อมารี นิเซโกะ ญี่ปุ่น
    3.อมารี เวียงจันทน์ ลาว
    4.อมารี โคลอมโบ ศรีลังกา (*)
    5.อมารี เดอะ ไทด์ บางแสน
    6.ชามา ยะโฮร์บาห์รู มาเลเซีย (*)
    7.ชามา เมดินี อิสกันดาร์ มาเลเซีย (*)
    8.ชามา ฮับ ไหโข่ว จีน
    9.ชามา ฮับ เมโทร เซาธ์ ฮ่องกง
    10.ชามา ฮับ เฉียนถัง จีน
    11.โอโซ่ เมดินี อิสกันดาร์ มาเลเซีย (*)
    (* = โครงการที่จะเปิดภายในปี 2566)

    ONYX อมารี

    เกือบทุกโครงการนั้นเป็นโครงการที่ออนิกซ์ฯ รับจ้างบริหาร ยกเว้นเพียง อมารี ราญา มัลดีฟส์ ที่บริษัทลงทุนด้วย 100 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3-5% ของโครงการ

    โรงแรมนี้เป็นรีสอร์ตขนาดใหญ่บนเกาะมัลดีฟส์ ลงทุนโดยบริษัท Panchshil จากเมืองปูเน่ อินเดีย ต้องการจะปั้นให้เป็นรีสอร์ตแบบ ‘One of a Kind’ แห่งมัลดีฟส์ ประกอบด้วยห้องพักแบบไพรเวทวิลล่า 200 ห้อง เตรียมเปิดบริการเดือนพฤษภาคม 2566

    อมารี ราญา มัลดีฟส์

     

    ไม่ใช่แค่แบรนด์ไทย แต่เป็นแบรนด์โรงแรมระดับ “ภูมิภาค”

    ภาพระยะยาวของออนิกซ์ฯ นั้น ยุทธชัยกล่าวว่าบริษัทจะต้องเป็น “The Best Medium-size Hotel Management in SEA” ไม่ใช่แค่เป็นแบรนด์โรงแรมของไทย แต่เป็นแบรนด์โรงแรมระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งยุทธชัยมองว่าต่อจากนี้จะกลายเป็น “ตลาดที่ฮอตที่สุดของโลก” เนื่องจากนักท่องเที่ยวสนใจที่จะมาเยือนสูงที่สุด

    ONYX จะต้องแข่งขันให้ได้กับเชนโรงแรมรายใหญ่ที่เล่นในสนามระดับโลก รวมถึงเชนระดับภูมิภาคด้วยกัน ซึ่งยุทธชัยมองจุดขายของบริษัท คือ

    • เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในแง่การบริหารทาเลนต์และกลุ่มลูกค้า
    • ผู้บริหารและพนักงานเป็นคนในภูมิภาคที่เข้าใจวัฒนธรรมการทำงานของเจ้าของโรงแรม (owner) ทำให้การทำงานราบรื่น
    • สามารถปรับเงื่อนไขให้เข้ากับความต้องการของ owner ได้แบบ tailor-made
    • การเป็นบริษัทขนาดกลาง ทำให้ซีอีโอสามารถเจรจากับ owner ได้ด้วยตนเอง มีความใกล้ชิดในการบริหาร
    โอโซ่ นอร์ธ พัทยา

    ในระยะหลังพ้นโควิด-19 เป็นช่วงที่ owner เริ่มต้องการปรับปรุงโรงแรม รีแบรนด์ ตกแต่งใหม่ เป็นโอกาสที่ดีที่ออนิกซ์ฯ จะปิดดีลการรับบริหาร

    ส่วนในแง่ลูกค้าผู้เข้าพัก ยุทธชัยมองว่าตลาดฟื้นตัวได้ดี “ตอนนี้ชาวรัสเซียเต็มเกาะภูเก็ต หลายประเทศเข้ามาเที่ยวเมืองไทยคึกคัก เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ตะวันออกกลาง ยุโรป ส่วนตลาดจีนขณะนี้ยังต้องเน้นเฉพาะระดับบน มาแบบ F.I.T. เพราะตลาดกลางถึงล่างที่จะมากับคณะทัวร์นั้นยังไม่ฟื้น จากเศรษฐกิจบ้านเขาที่ซบเซามาหลายปี แต่คาดว่าช่วงปลายปีนี้น่าจะเริ่มเห็นทัวร์จีนกลับมา”

    ]]>
    1417866
    CBRE-แอคคอร์ ประเมินภาพรวม “โรงแรมไทย” สดใส ยกเว้นกลุ่มรับกรุ๊ปทัวร์ต้องเร่งปรับตัว https://positioningmag.com/1412654 Thu, 15 Dec 2022 14:29:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1412654
  • CBRE มองสถานการณ์ “โรงแรมไทย” เป็นไปในทางบวก อัตราเข้าพักเฉลี่ย 65% แต่รายได้เฉลี่ยต่อห้องที่ขายได้ต่อวัน (ADR) ในกรุงเทพฯ ขึ้นมาเท่ากับปี 2562 แล้วตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา
  • แอคคอร์มองว่า เกิดจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาปีนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง เฉลี่ยใช้จ่ายเป็น “เท่าตัว” จากช่วงก่อนโควิด-19 ทำให้ราคาห้องปรับขึ้นได้เร็ว
  • อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่เข้ามาช่วงนี้จะเป็นนักท่องเที่ยว F.I.T และลูกค้าองค์กร/ไมซ์ ทำให้โรงแรมที่เคยรับกรุ๊ปทัวร์เป็นหลักจะยังไม่ได้อานิสงส์ แนะเร่งปรับตัวก่อน เพราะจีนน่าจะเปิดประเทศได้อย่างเร็วที่สุดช่วงไตรมาส 3/2566
  • CBRE จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “Reimagining and Future-proofing Your Hotel in Post-pandemic Era” ประเมินสถานการณ์โรงแรมไทยฟื้นตัวดี หลังจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยสะสมมากกว่า 7 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2565) และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวทะลุ 10 ล้านคนตามเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

    “อรรถกวี ชูแสง” หัวหน้าแผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์โรงแรมในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นเดือนที่ไทยเริ่มการเปิดประเทศแบบเต็มที่ ไม่มีข้อจำกัด ไม่มีการตรวจ ATK on arrival ทำให้อัตราเข้าพัก (occupancy rate) ขึ้นมาแตะ 65%

    แม้ว่าอัตราเข้าพักจะยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเคยอยู่ที่ 80% แต่ปรากฏว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องที่ขายได้ต่อวัน (ADR) ขึ้นมาแตะ 3,500 บาท เท่ากับก่อนโควิด-19 ได้สำเร็จ ซึ่งน่าจะเกิดจาก “คุณภาพ” นักท่องเที่ยวสูง ทำให้ขยับราคาขึ้นได้

    “แอนดรูว์ แลงดอน” รองประธานอาวุโส แอคคอร์โฮเทลส์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กล่าวสอดคล้องกันว่า จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยแล้วกว่า 7 ล้านคน แม้จำนวนจะน้อยกว่าปกติมาก แต่กำลังซื้อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เทียบได้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา 20 ล้านคนก่อนโควิด-19 เลยทีเดียว ในกลุ่มของแอคคอร์ประเทศไทย ปัจจุบันแขกที่เข้าพักมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่สูงที่สุดที่เคยมีมา

    Happy female traveling on boat, Krabi Thailand

    F.I.T. และลูกค้าองค์กรมาก่อน กรุ๊ปทัวร์ยังซบเซา

    แลงดอนกล่าวต่อไปว่า ตลาดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาส่วนใหญ่ในขณะนี้จะเป็นกลุ่ม F.I.T. และลูกค้าองค์กรหรือไมซ์ ทำให้มีการใช้จ่ายสูง ส่วนกรุ๊ปทัวร์ยังเป็นตลาดที่ค่อนข้างซบเซา เพราะปกติแล้วกรุ๊ปทัวร์ส่วนใหญ่จะมาจากประเทศจีน และขณะนี้จีนยังไม่เปิดพรมแดน

    ดังนั้น แนะนำโรงแรมที่ยังคงมุ่งเน้นรับลูกค้ากรุ๊ปทัวร์ ควรปรับมาพุ่งเป้าที่กลุ่ม F.I.T. หรือลูกค้าองค์กรก่อน เพราะเชื่อว่าจีนจะเปิดประเทศได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566

    Photo : Shutterstock

    อรรถกวีเสริมด้วยว่า สถานการณ์หลังโควิด-19 นั้นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวคือ “ค่าน้ำมัน” ซึ่งส่งผลต่อ “ค่าตั๋วเครื่องบิน” ทำให้กลุ่มที่เดินทางเข้ามาก่อนจะเป็น “กลุ่มระยะการบินสั้น” สอดคล้องกับข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งพบว่าช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้สัญชาตินักท่องเที่ยวที่เข้ามามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ มาเลเซีย 1.29 ล้านคน, อินเดีย 6.98 แสนคน และสิงคโปร์ 3.81 แสนคน

     

    Bleisure ตลาดมาแรงของยุค

    แลงดอนยังกล่าวถึงเทรนด์หนึ่งที่มาแรงในยุคหลังโควิด-19 ซึ่งโรงแรมสามารถปรับตัวมารับเทรนด์นี้ได้ คือ การท่องเที่ยวแบบ ‘Bleisure’ หรือ Business+Leisure

    เทรนด์นี้เริ่มต้นในยุโรปก่อนโดยพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจะพักตั้งแต่วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จันทร์ มีการพาครอบครัวมาท่องเที่ยวด้วย เพราะหลังโควิด-19 บริษัทจำนวนมากเริ่มให้พนักงาน Work from Anywhere ได้และส่วนใหญ่จะอนุญาตในวันศุกร์และจันทร์ ทำให้พนักงานอาจจะพาครอบครัวไปพักผ่อน ทำงานวันศุกร์กับจันทร์ที่โรงแรม แต่เสาร์-อาทิตย์สามารถเที่ยวได้เต็มที่

    การพักผ่อนแบบนี้จึงทำให้นักท่องเที่ยวจองโรงแรมยาวนานขึ้น ไม่ได้จองเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์คืนเดียว และแลงดอนเห็นว่าเทรนด์นี้เริ่มเกิดขึ้นแล้วที่กรุงเทพฯ

    สรุปได้ว่า อนาคตการท่องเที่ยวและ “โรงแรมไทย” ปีหน้าน่าจะสดใสต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายคาดการณ์เบื้องต้นจากททท.คาดจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 15-20 ล้านคน ยังไม่นับรวมหากว่า “จีน” เปิดประเทศก็จะยิ่งทำให้คึกคักขึ้น โดย CBRE เชื่อว่าโรงแรมไทยจะฟื้นตัวเต็มที่ได้เท่ากับก่อนโควิด-19 ภายในปี 2567

    ]]>
    1412654
    เครือโรงแรมอินเดีย OYO ประกาศ “เลย์ออฟ” 600 ตำแหน่ง ปรับโครงสร้างบริษัทเตรียม IPO https://positioningmag.com/1411082 Mon, 05 Dec 2022 05:37:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1411082 เครือโรงแรม OYO จากอินเดีย ประกาศการ “เลย์ออฟ” 600 ตำแหน่งในสายงานเทคโนโลยี แต่จะมีการจ้างเพิ่ม 250 ตำแหน่งเพื่อเสริมทัพด้านการบริหารความสัมพันธ์กับพาร์ทเนอร์โรงแรม โดยเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ คาดปี 2023 อาจได้เปิด IPO ตามเป้า

    OYO ประกาศการเลย์ออฟ 600 ตำแหน่งในสายงานเทคโนโลยี แต่จะมีการจ้างเพิ่ม 250 ตำแหน่งในกลุ่มงานบริหารจัดการณ์ความสัมพันธ์กับพาร์ทเนอร์โรงแรมและพัฒนาธุรกิจ ทำให้บริษัทจะลดขนาดลงประมาณ 10% จากเดิมที่มีพนักงานกว่า 3,700 คนในบริษัท

    บริษัทระบุว่า การเลย์ออฟครั้งนี้จะเป็นการปรับโครงสร้างองค์กร ทีมงานวิศวกรและผลิตภัณฑ์จะมีการยุบรวมกันเพื่อการทำงานที่ราบรื่นยิ่งขึ้น

    ในทีมเทคโนโลยีที่ถูกเลย์ออฟ บางส่วนมาจากทีมที่เคยพัฒนาโครงการนำร่องต่างๆ เช่น เกมภายในแอปพลิเคชัน, การคัดสรรคอนเทนต์โซเชียล ซึ่งบางตำแหน่งที่ไม่ถูกเลย์ออฟ จะโยกย้ายไปทำงานในทีมอื่นแทน เช่น การกำหนดราคาโดยใช้ AI

    ส่วนการจ้างเพิ่มในกลุ่มบริหารจัดการความสัมพันธ์ เป็นไปเพื่อเพิ่มความพึงพอใจให้กับพาร์ทเนอร์โรงแรมและลูกค้าที่เข้าพัก ขณะที่ทีมพัฒนาธุรกิจจะทำให้บริษัทเพิ่มจำนวนโรงแรมบ้านพักในแพลตฟอร์มได้เร็วขึ้น

    บริษัทบอกด้วยว่า จะมีการช่วยเหลือพนักงานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ได้งานใหม่ที่เหมาะสม และจะต่ออายุประกันสุขภาพให้ต่อเนื่องเฉลี่ย 3 เดือนหลังการเลย์ออฟ

    “โชคไม่ดีที่เราจำเป็นต้องแยกทางกับบุคลากรระดับทาเลนต์จำนวนมากที่เคยได้สร้างคุณค่าให้กับบริษัท” Ritesh Agarwal ผู้ก่อตั้งและซีอีโอกลุ่ม OYO กล่าว “เมื่อ OYO เติบโตขึ้นในอนาคตและต้องการตำแหน่งเหล่านี้อีกครั้ง เราสัญญาว่าจะติดต่อไปที่พวกเขาก่อนเป็นลำดับแรกเพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้กลับมาร่วมงานกับเราอีก”

    OYO นั้นมีแผนจะเปิด IPO ในตลาดหุ้นอินเดียมาตลอด โดยการคาดการณ์เป้าหมายขณะนี้ การ IPO น่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ปี 2023 แต่การประเมินมูลค่าบริษัทนั้นตกต่ำจากที่เคยถูกประเมินไว้สูงถึง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานักลงทุนรายใหญ่อย่าง SoftBank Group มีการลดการประเมินมูลค่าบริษัท OYO ลงถึง 20% จนทำให้ตลาดมองว่ามูลค่าบริษัทน่าจะลงมาเหลือเพียง 6,500 ล้านเหรียญเท่านั้น

    สำหรับการฟื้นตัวของบริษัท เป็นไปตามสภาวะตลาดท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก โดยเฉพาะในอินเดียที่ได้ยอดจองส่วนใหญ่มาจากกลุ่มเดินทางทางธุรกิจและอีเวนต์ต่างๆ

    Source: NDTV, Skift

    ]]>
    1411082