ร้านอาหาร – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 07 Nov 2022 07:21:58 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Louis Vuitton เปิดร้านอาหารที่ “เฉิงตู” ไม่เลือกเมืองหลวง แต่เลือก “เมืองใหม่” ที่คนพร้อมจ่าย https://positioningmag.com/1406951 Mon, 07 Nov 2022 05:45:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1406951 Louis Vuitton สร้างเซอร์ไพรส์ในการเปิด “ร้านอาหารแบรนด์” แห่งที่ 5 ของโลก และเป็นแห่งแรกใน “จีน” โดยเลือกเมือง “เฉิงตู” แห่งมณฑลเสฉวน แทนที่จะเลือกเมืองหลวงอย่างปักกิ่ง หรือเมืองหลวงเศรษฐกิจอย่างเซี่ยงไฮ้

ร้านอาหารใหม่ของ Louis Vuitton ในเฉิงตูใช้ชื่อว่า “The Hall” เพราะตั้งอยู่ในอาคาร “หอประชุมกวางตุ้ง” ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี ภายในโครงการย่านช้อปปิ้งไท่กู๋หลี่ เสิร์ฟอาหารสไตล์ฝรั่งเศส-เมดิเตอเรเนียน ปรุงโดยเชฟระดับมิชลินสตาร์

หลังจากเปิดตัวไป ร้านอาหารได้รับความสนใจจากชาวจีนค่อนข้างมาก โดยมีคิวจองยาวไปถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน และหน้าร้านกลายเป็นจุดเช็กอินที่วัยรุ่นจีนมาถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย

Louis Vuitton ร้านอาหาร
ตัวอย่างอาหารที่จะเสิร์ฟใน The Hall ผ่านฝีมือการปรุงของเชฟระดับมิชลินสตาร์

กลับมาที่ทำไม LV ไม่เลือกเปิดร้านอาหารในเมืองที่เป็น ‘first-tier’ มานานอย่างปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ นักวิเคราะห์มองว่าเป็นเพราะเมืองเหล่านั้นมีการแข่งขันสูงมากในกลุ่มสินค้าลักชัวรี

ขณะที่การมาเปิดในเมืองที่เป็น ‘new first-tier’ คือกลุ่มเมืองที่เจริญทางเศรษฐกิจจนขึ้นมาเป็นเมืองชั้นนำแห่งใหม่ น่าจะมีโอกาสมากกว่า และราคาบ้านในเมืองแบบนี้จะต่ำกว่า ทำให้ประชากรมี ‘เงินเหลือ’ ไว้จับจ่ายกับสินค้าลักชัวรี

ส่วนการเลือกเมือง “เฉิงตู” ท่ามกลางกลุ่มเมืองใหม่ทั้งหลาย ก็ด้วยลักษณะเมืองที่มีความ ‘ชิล’ กว่าที่อื่น คนเฉิงตูชอบการสังสรรค์และมีวัฒนธรรมอาหารแข็งแรง ประกอบกับกำลังซื้อในหมวดสินค้าลักชัวรีก็ดีมาก ยกตัวอย่างเช่น ร้าน Gucci ในเมืองเฉิงตูเป็นสาขาที่ทำยอดขายสูงที่สุดในโลกของแบรนด์นี้เมื่อปีที่แล้ว

Louis Vuitton ร้านอาหาร
บรรยากาศร้านอาหาร Louis Vuitton ในเฉิงตู

ร้านอาหาร LV ทั้ง 4 สาขาก่อนหน้านี้ มี 2 สาขาถาวรในโอซาก้าและโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และ 2 สาขาแบบ pop-up store ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และแซ็ง-ทรอเป เมืองชายทะเลในประเทศฝรั่งเศส

ไม่ได้มีเฉพาะ LV ที่สนใจเปิดร้านอาหารแบรนด์ แบรนด์ลักชัวรีอื่นๆ ก็มีเช่นกัน เช่น Tiffany & Co. , Dior, Gucci, Chanel, Hermes

เพราะพื้นที่ร้านอาหาร/คาเฟ่ทำให้คนมาสัมผัสประสบการณ์ของแบรนด์ได้ในราคาต่ำกว่า แทนที่จะต้องจ่ายหลายหมื่นบาทเพื่อสินค้าสักชิ้น แค่ยอมจ่ายค่ากาแฟแก้วละหลักร้อยก็ได้รูปเก๋ๆ ลงโซเชียลแล้ว และการมีคนแวะเวียนมาถ่ายรูปเหล่านี้เผยแพร่ก็จะยิ่งทำให้แบรนด์น่าสนใจมากขึ้น

ที่มา: South China Morning Post, Jing Daily

]]>
1406951
CRG ลุยปั้นร้านอาหาร Virtual Brand ขายเฉพาะเดลิเวอรี่ ไม่มีหน้าร้าน https://positioningmag.com/1378372 Mon, 21 Mar 2022 07:58:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1378372 เทรนด์ของ Virtual เริ่มไปในทุกอุตสาหกรรมแล้วจริงๆ ไม่ว่าจะค้าปลีก แฟชั่น เทคโนโลยี ล่าสุดกับธุรกิจร้านอาหาร เมื่อ CRG เริ่มบุกทำ Virtual Brand ร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้าน เน้นขายแต่เดลิเวอรี่ ได้รับปัจจัยหนุนจาก ช่วง COVID-19 ลดความเสี่ยงในการลงทุนหน้าร้าน

ไม่ต้องมีหน้าร้าน ขายแต่เดลิเวอรี่

ธุรกิจร้านอาหารได้รับปลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ช่วง COVID-19 ทำให้หลายแห่งต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับกับความไม่แน่นอน ความเสี่ยงทั้งหลาย บางรายต้องกลับมาเน้นเดลิเวอรี่มากขึ้น เปิดโมเดลใหม่ เพื่อลดการพึ่งพิงศูนย์การค้า สามารถเปิดทำการได้แม้เจอล็อกดาวน์

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจก็คือ การทำ Virtual Brand หรือการปั้นร้านอาหารแบรนด์ใหม่ โดยที่ไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่มีสาขา เน้นขายแต่เดลิเวอรี่อย่างเดียว ไม่มีการขายลูกค้าที่นั่งทานในร้าน แต่ก่อนการจะเปิดแบรนด์ใหม่สักแบรนด์ ต้องหาทั้งทำเลทอง พื้นที่ที่เหมาะสม งบลงทุน พร้อมกับการตลาดในการโปรโมต

โจว ข้าวต้มแห้ง

ในปัจจุบันเน้นสื่อสารแค่ช่องทางออนไลน์ จัดโปรโมชันร่วมกับฟู้ด เดลิเวอรี่ต่างๆ สามารถลดงบลงทุนไปได้เยอะ อีกทั้งลดความเสี่ยงในการลงทุนทำร้านใหม่อีกด้วย

CRG ได้ปั้น Virtual Brand ทั้งหมด 4 แบรนด์ ได้แก่ บุกชน ข้าวมันไก่, โจว ข้าวต้มแห้ง, คลั่งกะเพรา และคาโคมิ เป็นแบรนด์ลูกของโอโตยะ โดยมีทั้งโมเดลที่พัฒนาร่วมกับ Grab และ พัฒนาขึ้นมาเอง

คลั่งกะเพรา

ฉัตรชัย อุณหโภคา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายกลยุทธองค์กร บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เล่าว่า

“การทำ Virtual Brand คอนเซ็ปต์คือ ไม่มีหน้าร้าน ขายเฉพาะเดลิเวอรี่โดยเฉพาะ เรามีแนวคิดเกิดจาก CRG มีจุดขาย มีครัวกว่าพันจุด มีคลาวด์ คิทเช่น หรือครัวกลางอีก 11 แห่ง มีระบบอินฟราสตรักเจอร์ภายในร้านรองรับ จึงพัฒนาร้านที่สามารถใช้ครัวของในเครือได้”

ก่อนหน้านี้ CRG ได้พัฒนาร้านอาหารโมเดลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นครัวกลาง การผนึกกำลังกันของแบรนด์ในเครือ การปรับไซส์เล็กลงเพื่อเข้าไปกับพื้นที่ใหม่ๆ ปั๊มน้ำมัน

รวมไปถึงโมเดลร้านแบบใหม่ Shop in Shop การรวมแบรนด์ในเครือมาอยู่ในร้านเดียว โดยเฉพาะแบรนด์ “มิสเตอร์ โดนัท” ที่มีการปรับตัวหลายด้าน เช่น ผนึกเครื่องดื่มอาริกาโตะ การเปิดร้าน Stand Alone ขยายสาขาเจาะสถานีบริการน้ำมัน รวมไปถึงร้านรูปแบบใหม่ ได้แก่ คอนเทนเนอร์ สโตร์ (Container store)

ปัจจุบัน CRG มีร้านอาหารในเครือรวมทั้งหมด 17 แบรนด์ ได้แก่ มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง ราเมน, โคล สโตน ครีมเมอรี่, ไทยเทอเรส, โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ, คัตสึยะ, อร่อยดี, เกาลูน, สลัดแฟคทอรี่, บราวน์ , อาริกาโตะ และส้มตำนัว  มีสาขาให้บริการจำนวน 1,380 สาขา ทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ ธ.ค. 2564)

ในปี 2565 มีการลงทุนขยายสาขาอีกมากกว่า 200 สาขา หรือจุดขาย โดยโฟกัสทำเลในห้างค้าปลีก ศูนย์การค้า และทำเลนอกห้าง ร้าน Stand Alone ในปั๊มน้ำมัน คาดการณ์รายได้ปี 2565 ไว้กว่า 12,100 ล้านบาท เติบโตเกือบ 30% จากปี 2564 มีรายได้ 9,370 ล้านบาท

]]>
1378372
‘สลัดแฟคทอรี่’ ขอโตด้วยโมเดล ‘ไซซ์มินิ’ เข้าถึงง่าย ลิสต์ Plant-based ขึ้นเป็น ‘เมนูประจำ’  https://positioningmag.com/1371499 Wed, 02 Feb 2022 23:54:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371499 ธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวให้ยืดหยุ่นทั้งวิธีคิด เเนวทาง การจัดการเเละเมนูต่างๆ เมื่อโควิด-19 ยังไม่หายไปในเร็ววันเเถมยังต้องเเบกรับภาระต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

สลัดแฟคทอรี่’ (Salad Factory) ก็เป็นอีกหนึ่งร้านอาหารที่มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งการปรับร้านให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้ง่ายต่อการกระจายสาขา ขยายช่องทางเดลิเวอรี่ เพิ่มความสะดวกในการซื้อกลับบ้าน เเละล่าสุดกับการรุกตลาดเมนู Plant-based ที่กำลังเป็นเทรนด์อาหารเเห่งอนาคต

ปิยะ ดั่นคุ้ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ (สลัดแฟคทอรี่) บอกกับ Positioning ว่า ภาพรวมตลาดอาหารสุขภาพมีการเติบต่ออย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่เป็นเพียงเทรนด์ที่มาแล้วไป แต่กลายเป็นตลาดที่ยั่งยืนเพราะคนหันมาใส่ใจดูเเลสุขภาพตัวเองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยอาหารสุขภาพยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงและเข้าถึงกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น เเนวทางของสลัดแฟคทอรี่จึงจะมุ่งไปที่การทำให้อาหารสุขภาพมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ให้เข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มฐานลูกค้ารายใหม่ ๆ

ขยับขยายด้วย ‘ไซซ์มินิ’ 

ปัจจุบันสลัดแฟคทอรี่ มีสาขาอยู่ทั้งหมด 20 สาขา เน้นเจาะกลุ่มวัยทำงาน ชาวออฟฟิศเเละผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ปีนี้ตั้งเป้าจะขยายให้ได้อีกราว 10-15 สาขาหลังสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย ประชาชนเริ่มออกมาทานอาหารนอกบ้านกันปกติ

โดยรูปเเบบการขยายสาขาจะเเตกต่างออกไป ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่โมเดล ‘Mini store’ ในสถานีบริการน้ำมันหรือไฮเปอร์มาร์เก็ตหรือตามโรงพยาบาลมากกว่าการเปิดสาขาสเเตนด์อะโลนเเบบเดิม

ก่อนโควิดเรามีโมเดลเดียวคือเปิด Full-Shop ไปเลย เเต่ตลอดช่วงวิกฤตที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้เเละปรับวิธีคิดใหม่ ว่าไม่ควรมีช่องทางการขายเเค่ช่องทางเดียว การจัดการเเต่ละสาขาต้องมีความยืดหยุ่น เมื่อลงเล็กก็คล่องตัวขึ้น ลดความเสี่ยงไปได้หลายทาง การทำงานก็มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

ทั้งนี้ สัดส่วนการขายเเบบเดลิเวอรี่เเละหน้าร้านของสลัดแฟคทอรี่ เมื่อกลางปีที่เเล้วอยู่ที่ 50 : 50 จากนั้นลดลงเหลือราว 40% เมื่อรัฐผ่อนคลายมาตรการให้นั่งทานที่ร้านได้ เเต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงมาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด

สำหรับโมเดลร้านขนาดเล็ก เขามองว่า เป็นประโยชน์กับทั้งทางร้านเเละอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากขึ้น เพราะสั่งซื้อกลับบ้านได้ง่าย นั่งทานที่เคาน์เตอร์บาร์ได้ เเละจัดส่งเดลิเวอรี่ได้รวดเร็ว โดยจะมีการดีไซน์เมนูใหม่ให้กับกับร้านมินิเรื่อยๆ เเม้จะมีจำนวนเมนูน้อยกว่าที่ร้านใหญ่เเต่ก็จะมีความผสมผสานหลากหลาย เเละสามารถทานคนเดียวได้ง่าย

ยกตัวอย่างเช่น โมเดล ‘Fresh and easy’ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายปีที่เเล้ว ที่นำร่องเปิดที่ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตเเละเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์

โดยได้ทดลองวางจำหน่ายสลัดพร้อมทานแบรนด์สลัดแฟคทอรี่ในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต 5 สาขา ปรากฏว่าผลตอบรับค่อนข้างดี ซึ่งต่อไปจะมีการปรับปรุงเเพ็กเกจจิ้งเเละโปรดักส์ใหม่ คาดว่าจะเปิดตัวแคมเปญได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้

นอกจากนี้ ยังมีการขยายสาขาไปในโรงพยาบาลมากขึ้น เพื่อจับลูกค้ากลุ่มผู้รักสุขภาพเเละบุคลากรทางการเเพทย์ อย่างสาขาในรพ.จุฬาลงกรณ์ โดยวางเเผนจะมีการรังสรรค์เมนูใหม่ๆ เพื่อผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไต หรือผู้ป่วยที่ต้องมีการดูเเลเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ

เมื่อถามว่า ส่วนใหญ่สาขาของสลัดแฟคทอรี่ มักจะอยู่ย่านชานเมืองนั้น มีเเผนจะเข้ามาเปิดในพื้นที่กลางใจเมืองบ้างหรือไม่ ผู้บริหารสลัดแฟคทอรี่ตอบว่ากำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา เนื่องจากค่าเช่าที่ในเมืองค่อนข้างสูง เเละมีความเสี่ยงหากสถานการณ์โควิดกลับมารุนเเรงอีกครั้ง จึงต้องระวังเป็นพิเศษเเละพยายามกระจายความเสี่ยงให้อยู่ในโซนที่จัดการได้ง่าย ยืดหยุ่นได้เมื่อเกิดวิกฤต

ลิสต์ Plant-based ขึ้นเป็น ‘เมนูประจำ’ 

ด้านการรุกตลาดเมนู Plant-based ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สลัดแฟคทอรี่ ให้ความสำคัญในปีนี้ เพราะกำลังเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามอง พร้อมมีการเติบโตต่อเนื่อง เเละยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งได้เป็นการสร้างฐานกลุ่มลูกค้าให้เเข็งเเกร่งมากขึ้นเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ ทางสลัดแฟคทอรี่ได้ทดลองตลาด โดยการเพิ่มเมนู Plant-based เป็นเมนูพิเศษในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งก็มีเสียงตอบรับที่ดี ทั้งจากลูกค้าที่เป็นวีเเกนอยู่เเล้ว เเละลูกค้าใหม่ที่อยากลิ้มลอง

ในปีนี้ บริษัทจึงจะต่อยอดด้วยการเพิ่มเมนู Plant-based 10 เมนู เข้ามาในลิสต์เมนูประจำโดยจะทยอยเพิ่มทีละสาขาจนครบ 20 สาขา ภายในช่วงต้นเดือนก..นี้ หลังกระเเสความนิยมเพิ่มขึ้น หลังคนไทยทานเมนู Plant-based ได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เเค่ช่วงเทศกาลเท่านั้น บางคนทานสัปดาห์ละ 2-3 มื้อ เป็นต้น

ล่าสุด สลัดแฟคทอรี่ มองเห็นโอกาสธุรกิจใหม่ในตลาดนี้ จึงจับมือกับมีท อวตารหนึ่งในซัพพลายเออร์ Plant-based ชื่อดังของไทย พัฒนาโปรดักต์ใหม่มาเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าตลาดเเมส อย่าง น้ำสลัด Plant-based “มาทาน x สลัดแฟคทอรี่” 5 รสชาติ ได้แก่ น้ำสลัดซีซ่าร์, เทาซันไอร์แลนด์, ครีมส้มยูซู, งาญี่ปุ่นและมายองเนสเบส วางโพสิชั่นด้วยราคาที่เข้าถึงได้ เเละรสชาติไม่แตกต่างจากน้ำสลัดสูตรปกติมากนัก ซึ่งตอนนี้มีการวางขายในสาขาของสลัดแฟคทอรี่เเล้ว สเต็ปต่อไปจะมีการวางขายในโมเดิร์นเทรดในเร็วๆ นี้

สำหรับมูลค่าตลาดอาหารกลุ่ม Plant Base ปัจจุบันอยู่ที่ราว 2.8 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปี ถือเป็นตัวเลขการเติบโตน่าจับตามอง โดยมีทั้งผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่ลงมาเล่นในสนามนี้กันคึกคัก

 

 

]]>
1371499
Starbucks เตรียมปรับ ‘ขึ้นราคา’ อีกในปีนี้ เหตุเงินเฟ้อ-ต้นทุนพุ่ง-ขาดเเคลนเเรงงาน https://positioningmag.com/1372711 Wed, 02 Feb 2022 09:48:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1372711 เชนร้านกาเเฟรายใหญ่ของโลกอย่าง Starbucks (สตาร์บัคส์) วางเเผนจะปรับ ‘ขึ้นราคา’ ในปีนี้ เพื่อชดเชยเงินเฟ้อ ต้นทุนที่สูงขึ้น เเถมเจอปัญหาซัพพลายเชนเเละการขาดแคลนแรงงาน

หลังจากที่เคยปรับขึ้นราคาเมนูมาเเล้วเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่เเล้ว และเดือน ม.ค.ปีนี้ ล่าสุดทาง Starbucks ก็เตรียมปรับขึ้นราคาเมนูอีกครั้งในช่วงปี 2022 พร้อมลดใช้จ่ายบางส่วน อย่างด้านการตลาดและการส่งเสริมการขาย เพื่อชดเชยต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบต่างๆ ที่พุ่งสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการเเพร่ะบาดของโควิด-19

โดยปัจจัยต่างๆ ทั้งภาวะเงินเฟ้อ การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน เเละปัญหาขาดแคลนแรงงาน ได้ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

ดังนั้น Starbucks จึงได้ปรับลดคาดการณ์ผลกำไรประจำปีและประจำไตรมาสแรกของปีนี้ลง เนื่องจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนทยังคงระบาดหนักในสหรัฐฯ ทำให้การกลับมาทำงานของผู้คนในออฟฟิศล่าช้าไปด้วย

อีกทั้งในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่และเติบโตเร็วที่สุดของบริษัท ก็ยังคงต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดของรัฐบาล

Photo : Shutterstock

ธุรกิจร้านอาหารต้องเเบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในทุกอย่าง ตั้งแต่เนื้อไก่ เนื้อหมูและน้ำมันปรุงอาหาร ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์และการหยุดชะงักของซัพพลายเชนในช่วงโควิด-19

Kevin Johnson ซีอีโอของ Starbucks กล่าวว่า “หลังเจอการระบาดของโอมิครอน ต้นทุนเงินเฟ้อและการขาดแคลนพนักงานก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายของเรา” อย่างไรก็ตาม ยังไม่เเน่ชัดว่า Starbucks จะปรับขึ้นราคาเป็นเท่าไหร่เเละเมนูใดบ้าง

ทั้งนี้ Starbucks รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 1/2022 (สิ้นสุด 2 ม.ค.2022) ว่ามีผลกำไรที่ 72 เซนต์ต่อหุ้น น้อยกว่าคาดการณ์ของนักเคราะห์วอลล์สตรีทซึ่งคาดไว้ที่ 80 เซนต์ต่อหุ้น โดยบริษัทยังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของผลกำไรต่อหุ้นสำหรับปี 2022 เป็น 8-10% จากเดิมที่คาดว่าจะไม่น้อยกว่า 10%

ขณะที่ยอดขายทั่วโลกเพิ่มขึ้น 13% ในไตรมาส 1/2022 ใกล้เคียงกับตัวเลขที่นักวิเคราะห์จาก Refinitiv IBES ประเมินไว้ว่า Starbucks จะเติบโตที่ 13.2%

สิ่งที่น่าจับตามองคือ ยอดขายของสาขาในจีนนั้น ลดลงถึง 14% สวนทางกับยอดขายของสาขาในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังได้เเรงสนับสนุนจากการเปิดตัวเครื่องดื่มเย็นเมนูใหม่ และจำนวนสมาชิก Starbucks Rewards ที่เพิ่มขึ้น 

 

ที่มา : Reuters , Marketwatch 

]]>
1372711
ทิศทางธุรกิจร้านอาหาร มีหวัง ‘ฟื้นตัว’ ปี 65 เเต่ต้องระวังโอมิครอน-ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูง https://positioningmag.com/1369606 Thu, 06 Jan 2022 06:22:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369606 ธุรกิจอาหารเมืองไทย มีหวังพลิกกลับมาฟื้นตัว 5.0% – 9.9% ในปีนี้ เเต่ยังโตกระจุกเฉพาะประเภท ร้านมีชื่อเสียง ขายในห้างฯ จะเริ่มฟื้นตัวก่อน สตรีทฟู้ดเเข่งดุ เจ้าใหญ่กระโจนลงตลาดเพียบ การระบาดของโอมิครอน-ราคาต้นทุนวัตถุดิบที่เเพงขึ้น ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ

แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารในปี 2565 ยังเป็นปีที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากตลาดยังมีปัจจัยเสี่ยงของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์อื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวดี

เเต่ก็ยังคงมีปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค อย่างมาตรการคนละครึ่งเฟส 4” ที่คาดว่าจะเริ่มในเดือนมีนาคมเมษายนนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2565 ธุรกิจร้านอาหารน่าจะกลับมาเติบโตประมาณ 5.0% – 9.9% (ส่วนหนึ่งเป็นผลของราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นและเงินเฟ้อ) คิดเป็นมูลค่า 3.78-3.96 แสนล้านบาท จากที่ปี 2564 หดตัวถึง 11% อย่างไรก็ตาม จะยังคงเป็นการขยายตัวเฉพาะกลุ่มหรือประเภทร้านอาหาร

ร้านดัง – ร้านในห้าง เริ่มฟื้นตัวก่อน 

ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurants) น่าจะเห็นการเติบโตที่เร่งตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยกลุ่มร้านอาหารที่จะทยอยกลับมาฟื้นตัวก่อน จะเป็นกลุ่มร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารที่มีชื่อเสียงรวมถึงในพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวไทยในฤดูท่องเที่ยว เช่น อยุธยา บางแสน พัทยา หัวหิน นครปฐม ฯลฯ

ส่วนร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในบริเวณอาคารสำนักงานน่าจะฟื้นตัวจำกัด เนื่องสถานที่ทำงานหลายแห่งยังคงการทำงานแบบ Hybrid Working และ Work from home ทำให้ร้านอาหารกลุ่มนี้จึงยังคงต้องพึ่งช่องทางการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเพื่อสร้างรายได้

ประเมินว่าจะมีมูลค่ายอดขายอยู่ที่ประมาณ 1.31 – 1.42 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัว 10.0% – 19.5% โดยเป็นการฟื้นตัวจากฐานที่หดตัวรุนแรงในปีก่อน

ร้านจานด่วน กระตุ้นด้วยเดลิเวอรี่ 

ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service Restaurants) การขยายตัวจะมาจากการขยายสาขาในกลุ่มอาหารจานด่วน และร้านอาหารขนาดเล็กที่คาดว่าจะเปิดตัวมากขึ้นกว่าปี 2564 อาทิ กลุ่มร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้านรวมถึงร้านอาหารรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความคล่องตัวสูง โดยมีพื้นที่เป้าหมายเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยและปั๊มน้ำมันทั้งในกรุงเทพฯ รอบนอก ปริมณฑลและหัวเมืองหลัก

“ในปี 2565 คาดว่าผู้ประกอบการร้านอาหารในกลุ่มนี้น่าจะทำตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายมากขึ้น โดยเฉพาะการร่วมมือกับผู้ให้บริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหาร ซึ่งโดยปกติแล้วช่องทางการจัดส่งอาหารไปยังที่พักจะเป็นช่องทางรายได้ที่สำคัญของร้านอาหารประเภทนี้” 

คาดว่าจะมีมูลค่ายอดขายอยู่ที่ประมาณ 6.4 -6.8 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 4.6% – 11.8%

อย่างไรก็ดี ร้านอาหารกลุ่มนี้ยังมีความท้าทายในด้านการบริหารจัดการ ‘ช่วงเวลาเร่งด่วน’ ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากในหลายช่องทาง เนื่องจากทรัพยากรแรงงานและพื้นที่ที่มีจำกัด ทำให้อาจเกิดภาวะคอขวดในกระบวนการต่างๆ ภายในร้านขึ้นได้

สตรีทฟู้ดเเข่งดุ 

ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) ที่มีหน้าร้าน ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องและกลุ่มร้านอาหารข้างทางยังได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการคนละครึ่งของภาครัฐ มีเมนูพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่าย และราคาไม่สูง

“ร้านอาหารในกลุ่มนี้ มีความหนาแน่นของผู้เล่นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรง และมีการหมุนเวียนเข้าออกของผู้เล่นสูง ประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาขยายฐานการตลาดในเซ็กเมนต์นี้อย่างต่อเนื่อง” 

โดยคาดว่าตลาด Street Food จะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.84 -1.86 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 2.0% – 3.0%

ระวังการปรับเพิ่มราคา เเบกต้นทุนพุ่ง 

ในปี 2565 ทิศทางธุรกิจร้านอาหาร ต้องคำนึงเรื่อง ‘ต้นทุนธุรกิจที่คาดว่าจะทรงตัวสูงต่อเนื่องทั้งปี ขณะที่การปรับเพิ่มราคาขายยังทำได้จำกัด’ สร้างแรงกดดันต่อกำไรสุทธิของผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนวัตถุดิบอาหารและต้นทุนพลังงาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องปรับราคาอาหารเพิ่มขึ้น การปรับตัวของผู้ประกอบการมาใช้โมเดลร้านอาหารขนาดเล็กเพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยง รวมถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาผสานเป็นหัวใจสำคัญในห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหาร

“ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมขยายการลงทุนในธุรกิจร้านอาหารมากยิ่งขึ้น ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกและปริมณฑล รวมถึงในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ทื่มีการกระจุกตัวของที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงของโควิดที่ยังมี ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารจำเป็นต้องรักษาสมดุลของช่องทางการขายและเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ ไปยังสินค้าอื่นๆ มากยิ่งขึ้น”

โดยแม้ภาพรวมทิศทางธุรกิจร้านอาหารในปี 2565 จะกลับมาฟื้นตัว หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องในช่วง 2 ปีก่อนหน้า แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารยังคงต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง เพื่อลดผลกระทบจากทั้งปัจจัยท้าทายในธุรกิจ

]]>
1369606
10 อันดับร้านอาหารระดับ “มิชลิน” ที่แพงที่สุดในโลก ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใน “ญี่ปุ่น” https://positioningmag.com/1369287 Mon, 03 Jan 2022 09:35:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369287 ร้านอาหารที่มีดาว “มิชลิน” การันตีสามารถเรียกราคาเพิ่มขึ้นได้สูงกว่าร้านทั่วไป โดย 10 ร้านเหล่านี้คือร้านระดับมิชลินที่สนนราคาต่อคนต่อมื้อสูงที่สุดในโลก ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศ “ญี่ปุ่น”

ร้านอาหารระดับดาวมิชลินที่ถูกที่สุดในโลกคือ Hawker Chan ร้านข้าวไก่ย่างในสิงคโปร์ที่คิดราคาต่อจานเพียง 2.25 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 75 บาท) (*ปัจจุบันร้านนี้หลุดลิสต์ดาวมิชลินไปแล้ว)

แต่ร้านอาหารที่ได้ดาวมิชลินทั่วไปมักจะชาร์จราคาได้ถึง และมีบางร้านที่คิดราคาสูงยิ่งกว่านี้เสียอีก300 เหรียญสหรัฐต่อหนึ่งมื้อ (ประมาณ 9,900 บาท)

เว็บไซต์ทำอาหาร Chef’s Pencil มีการสำรวจร้านอาหาร 450 แห่งทั่วโลก โดยคิดเฉพาะ Tasting Menus ของร้าน พบว่า ร้านที่ได้ดาวมิชลินหรือมีเชฟที่ได้ดาวมิชลินประกอบอาหาร 10 อันดับแรกที่คิดราคาต่อมื้อต่อคนแพงที่สุดในโลก ดังนี้

1.Sublimotion เมืองอิบิซ่า ประเทศสเปน – 1,740 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 57,700 บาท)

2.Ultraviolet by Paul Pairet เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน – 1,422 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 47,100 บาท)

3.Kitcho Arashiyama Honten เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น – 910 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 30,200 บาท)

4.Azabu Kadowaki กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น – 825 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 27,300 บาท)

5.Masa เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา – 800 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 26,500 บาท)

6.(ร่วม) Joel Robuchon กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น – 637 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 21,100 บาท)

6.(ร่วม) Gion Maruyama เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น – 637 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 21,100 บาท

6.(ร่วม) Kikunoi Honten เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น – 637 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 21,100 บาท)

9. Guy Savoy กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส – 615 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 20,400 บาท)

10.Piazza Duomo เมืองอัลบา ประเทศอิตาลี – 580 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 19,200 บาท)

(*ราคานี้ไม่รวมค่าเครื่องดื่มและเซอร์วิสชาร์จ)

ดังที่เห็นว่าใน 10 อันดับนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่มีร้านอาหารระดับมิชลินราคาแพงระยับมากกว่าหนึ่งแห่ง โดยมีถึง 5 แห่งที่อยู่บนลิสต์ และทุกร้านเสิร์ฟอาหารญี่ปุ่น ยกเว้น Joel Robuchon ที่เป็นร้านอาหารฝรั่งเศส

 

ทำไมร้านอาหารญี่ปุ่นถึงตั้งราคาได้สูง

มาซาฮารุ โมริโมโตะ เชฟชื่อดังของญี่ปุ่นจากรายการเชฟกระทะเหล็ก กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นตั้งราคาได้สูง เป็นเพราะ “วัตถุดิบ” อาหารที่ราคาสูงมาตั้งแต่ต้น

“ร้านอาหารญี่ปุ่นจะนำเข้าปลาตามฤดูกาลมาจากทั่วโลก ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าวัตถุดิบสูง เพราะนอกจากราคาปลาแล้วยังมีค่าขนส่งและจัดเก็บอย่างเหมาะสมสำหรับอาหารทะเลที่มีอายุความสดใหม่สั้น”

ภาพถ่ายโดย Anna Tis จาก Pexels

โมริโมโตะยังกล่าวด้วยว่า เชฟญี่ปุ่นต้องมีทักษะความแม่นยำและศิลปะสำหรับการทำอาหารด้วย ทำให้ค่าตัวสูงสำหรับร้านอาหาร แต่ร้านสไตล์ญี่ปุ่นมักจะมีขนาดเล็ก เพื่อให้ผู้ทานได้รับการเอาใจใส่จากเชฟได้อย่างใกล้ชิด เมื่อจำนวนที่นั่งต่อร้านน้อย ค่าอาหารต่อคนจึงสูงโดยปริยาย

“ร้านอาหารที่มีจำนวนที่นั่งจำกัดมักจะพยายามให้ประสบการณ์การทานอาหารที่ใกล้ชิดและมีความหมายกับแขกผู้มาเยือน ร้านซูชิชื่อดังหลายๆ ร้านจึงมีที่นั่งไม่เกิน 8 ที่นั่ง โดยไม่มีพนักงานเสิร์ฟหรือพนักงานอื่นๆ ช่วยนอกจากเชฟ” โมริโมโตะกล่าว

เขากล่าวเสริมว่า มื้ออาหารในร้านระดับไฮเอนด์ของญี่ปุ่นจะเสิร์ฟอาหารแบบ “โอมากาเสะ” เชฟจะเลือกสรรวัตถุดิบและเมนูมาเสิร์ฟเอง ทำให้ได้การผจญภัยทางอาหารที่ไม่เหมือนกันในแต่ละครั้ง และผู้รับประทานจะได้ทานปลาที่สดที่สุด ได้วัตถุดิบพิเศษในช่วงเวลานั้นๆ ที่เชฟสงวนไว้สำหรับมื้ออาหารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้ทาน

 

ราคาเฉลี่ยร้านมิชลิน “ไทย” ถูกที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ญี่ปุ่นจะมีร้านระดับมิชลินที่แพงที่สุดจำนวนมากที่สุด แต่ถ้าคิดเป็นค่าเฉลี่ยราคาของร้านระดับมิชลินระดับ 2-3 ดาวทั้งประเทศแล้ว ญี่ปุ่นยังไม่ใช่ประเทศที่แพงที่สุด

การสำรวจราคาเฉลี่ยของ Tasting Menus ในร้านระดับมิชลิน 2-3 ดาวทั่วโลกที่จัดโดย Chef’s Pencil เช่นกัน พบว่า 5 อันดับประเทศที่มีราคาเฉลี่ยร้านมิชลินแพงที่สุด ได้แก่

1.เดนมาร์ก ราคาเฉลี่ยต่อมื้อต่อคน 404 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 13,400 บาท)

2.สิงคโปร์ ราคาเฉลี่ยต่อมื้อต่อคน 364 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 12,100 บาท)

3.สวีเดน ราคาเฉลี่ยต่อมื้อต่อคน 327 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,800 บาท)

4.ญี่ปุ่น ราคาเฉลี่ยต่อมื้อต่อคน 322 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,700 บาท)

5.สหรัฐอเมริกา ราคาเฉลี่ยต่อมื้อต่อคน 313 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,400 บาท)

ส่วนกลุ่มประเทศที่ถูกที่สุดในการทานอาหารร้านมิชลิน ได้แก่

1.ไทย ราคาเฉลี่ยต่อมื้อต่อคน 173 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,730 บาท)

2.ไอร์แลนด์ ราคาเฉลี่ยต่อมื้อต่อคน 212 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,025 บาท)

3.(ร่วม) เกาหลีใต้ ราคาเฉลี่ยต่อมื้อต่อคน 213 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,060 บาท)

3.(ร่วม) ไต้หวัน ราคาเฉลี่ยต่อมื้อต่อคน 213 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,060 บาท)

5.โปรตุเกส ราคาเฉลี่ยต่อมื้อต่อคน 217 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,190 บาท)

เห็นได้ว่า “ประเทศไทย” นับได้ว่าเป็นสวรรค์นักกิน ค่าใช้จ่ายในการตามล่าร้านมิชลินถูกกว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับประเทศค่าครองชีพสูงไม่ว่าจะเป็นเดนมาร์ก สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศในโลก

Source

]]>
1369287
เกมใหม่ MBK เปิดเช้าตรู่ยันท่องราตรี ใช้โมเดลค่าเช่าเเบบ GP ลุยถือหุ้นร้านอาหารดังต่างจังหวัด https://positioningmag.com/1367200 Mon, 20 Dec 2021 08:33:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1367200 การเปลี่ยนเเปลงครั้งใหญ่ของศูนย์การค้า MBK Center’ ในรอบ 36 ปี น่าจับตามองไม่น้อย หลังลูกค้าหลักชาวต่างชาติหายวับไปพร้อมมรสุมโควิด โจทย์ใหญ่ต่อไป คือจะทำอย่างไรให้เเปลงร่างมาเป็นห้างฯ สำหรับคนไทยที่จะมาใช้เวลาอยู่ได้ ‘ตลอดทั้งวัน’ เเละยังคงดึงดูดใจชาวต่างชาติเหมือนเดิม

สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) มาอัปเดตความคืบหน้าของเเผนโครงการใหม่ให้ฟังว่าอาหารและเครื่องดื่ม คือหัวใจสำคัญในการปรับโซนนิ่ง รีโนเวทเเละปรับภาพลักษณ์ห้างใหม่ครั้งนี้ เพื่อจับลูกค้าคนไทยโดยเฉพาะ

โดยจะมีบริการต่างๆ มาเสิร์ฟลูกค้าตั้งเเต่ 7 โมงเช้า ไปจนถึงเเฮงเอ้าท์ดึกๆ ยามค่ำคืน ปรับสัดส่วนร้านอาหารและเครื่องดื่ม จากเดิมที่ 16% ให้เป็น 25% พร้อมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์กับซิกเนเจอร์อีเวนต์ (Signature Event) ที่จะมีจัดงาน Idol Exchange ทุกเดือน และการประกวด Cover Dance ด้วย 

พร้อมเสนอทางเลือกให้ผู้ประกอบการจากค่าเช่าพื้นที่เเบบ Fixed Rent สู่ระบบ GP เตรียมถือหุ้นใน “ร้านดังต่างจังหวัด” คุยไว้ 4-5 ร้านในปีหน้า เเละมุ่งขยายอาณาจักร ‘คอมมูนิตี้มอลล์’ บนที่ดินของตัวเอง

พระเอกคือร้านอาหาร อยู่ได้ทั้งวัน เช้าตรู่ยันท่องราตรี 

ศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ เริ่มปรับปรุงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท ทำการปรับโฉมและปรับพื้นที่ เพิ่มร้านค้าใหม่ๆ เข้ามาให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

วางโพสชั่นใหม่เป็น ‘All Day Dining’ ซึ่งจะมีร้านอาหารครอบคลุ่มทั้ง 4 ช่วงเวลา ทั้งเช้า เที่ยง บ่าย เย็นถึงดึก เพื่อรองรับคนทำงาน นักท่องเที่ยวเเละกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษาที่จะมาเรียนกวดวิชา ซึ่งได้วางกิมมิคสำคัญไว้ว่าห้างฯเเห่งนี้ จะมีติวเตอร์มากถึง 25 สถาบันชื่อดัง มารวมไว้ที่เดียว โดยเบื้องต้นเเบ่งจะมีการเปลี่ยนเเปลงเป็น 

  • ชั้น G จะเน้นเป็นโซนร้านอาหารเเละเครื่องดื่ม คาเฟ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ฟาสต์ฟู้ดเเบรนด์ต่างๆ รับกลุ่มลูกค้าตื่นเช้า เปิดทางเข้าใหม่เพื่อความสะดวก ตั้งเเต่ 07.00 น. เป็นต้นไป ขณะเดียวกันก็จะมีร้านค้าเเฟชั่นของไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล (เครือสหพัฒน์) ด้วย
  • ชั้น 2 เน้นร้านอาหารเเละเครื่องดื่มเหมือนกัน เเต่จะเเตกต่างด้วยการเป็น Bar & Restaurant เพิ่มพื้นที่ลาน Sky Walk รับกลุ่มลูกค้าที่จะมาสังสรรค์ยามราตรี เช่น ร้าน Cat on the roof , Secret Chamber , Shinkanzen Sushi , Tim Hortons , Oppa Daek, ลิ้มเหล่าโหงว , Hunter Village เเละหรือร้านสุกี้ตี๋น้อย ที่จะเปิดให้บริการถึงตี 5 รวมไปถึงซูเปอร์ญี่ปุ่นอย่าง DON DON DONKI ขนาด 3,000 ตร.ม. ที่จะมาเปิด 24 ชั่วโมง เป็นแฟลกชิปสโตร์สาขาใหญ่สุดในไทย (แทนโซนห้างโตคิว)
  • ชั้น 3 ยังคงคอนเซปต์เดิมเพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยจะมีโซนเครื่องประดับเพชร-ทอง สินค้าเเฟชั่นที่ชาวต่างชาตินิยมซื้อ ของฝาก ฯลฯ
  • ชั้น 4 อาณาจักรร้านตู้รายย่อยที่ขายมือถือ-แกดเจ็ต บวกกับร้านใหญ่ๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มอย่าง Advice, Mi, JD Central, CSC ฯลฯ
  • ชั้น 5 สถาบันกวดวิชาติวเตอร์ 25 เเห่ง เป็น Learning Hub ที่เปลี่ยนเเปลงมาจากโซนเอ้าท์เล็ต
  • ชั้น 6 และ ชั้น 7 จะเป็นลานกิจกรรมใหม่ มีทั้งโซนร้านอาหารเเละช้อปปิ้งเดินเล่น สินค้าลดราคาจากโรงงาน เเละความบันเทิงอย่างโรงหนัง SF คาราโอเกะ โบว์ลิ่ง เธียเตอร์ BNK48 เเละร้าน Animate

อ่านเพิ่มเติม : โฉมใหม่ MBK “ดองกิ” มาแทนโตคิว ผุดโซนกินดื่มมัดใจคนทำงาน

โดยผู้บริหาร MBK มองว่า ในยุคโควิด ‘ร้านอาหาร’ เป็นกุญเเจสำคัญที่จะดึงให้คนมาที่ศูนย์การค้ามากขึ้น ส่วนสินค้าพวกเเฟชั่นจะเป็นตัวรอง เพราะว่ายามที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก คนเราจะงดซื้อเสื้อผ้าได้ เเต่อาหารเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวัน ผู้คนยังต้องการมีประสบการณ์ทานข้าวนอกบ้าน อยากนั่งทานที่ร้านสลับกับเดลิเวอรี่ นี่จึงเป็นจุดที่จะดึงลูกค้าคนไทยเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

การปรับปรุงใหม่ครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดึงทราฟฟิกปริมาณคนเข้าศูนย์การค้า ในปีหน้าได้ประมาณ 90,000 คนต่อวัน เเบ่งเป็นคนไทย 60% เเละต่างชาติเหลือแค่ 40% จากเดิมปีนี้ที่มีประมาณ 80,000 คนต่อวัน

ทั้งนี้ ช่วงก่อนโรคระบาดทราฟฟิกลูกค้าที่มาเดินมา MBK อยู่ที่ 80,000 คนต่อวัน (เคยไปถึง 120,000 คนต่อวัน) เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 60% เเละคนไทย 40%

– สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)

จาก Fixed Rent สู่ระบบ GP 

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ MBK นำมาใช้เกี่ยวกับการปรับค่าเช่าพื้นที่ใหม่ นั่นก็คือ การเสนอทางเลือกให้กับผู้ประกอบการ ว่าจะเลือก ระบบเก็บค่าเช่าแบบ “Fixed Rent” ตามจำนวนพื้นที่เช่าเท่าๆ กันในเเต่ละเดือน หรือจะหันมาลองใช้ระบบ ระบบ “GP” ที่คิดค่าเช่าตามสัดส่วนยอดขายของร้าน 

สำหรับข้อดีของระบบ GP คือทางร้านไม่ต้องรับความเสี่ยงหากมีลูกค้าน้อยหรือรายได้ไม่ค่อยดีในช่วงวิกฤตโควิดขายได้มากน้อยก็จ่ายตามเปอร์เซ็นต์ที่เจรจาตกลงกันไว้

โดยค่า GP ของศูนย์การค้า  MBK จะเริ่มตั้งแต่ 5 – 35% ของยอดขาย ขึ้นอยู่กับการเจรจา อิงตามหลายปัจจัย อย่างเช่น ชื่อเสียงของแบรนด์ ขนาดกิจการ ขนาดพื้นที่เเละทำเล

อย่างไรก็ตาม ระบบ GP อาจไม่เหมาะกับร้านที่ทำยอดขายได้ดีหรือคนเข้าร้านเยอะอยู่เเล้ว เพราะยอดที่ต้องจ่ายเเทนค่าเช่าตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่ตกลงนั้น อาจจะเเพงกว่าค่าเช่าแบบ Fixed Rent รายเดือนก็ได้

ดังนั้น หน้าที่ของศูนย์การค้า จึงจะต้องมุ่งทำการตลาด โปรโมทโปรโมชั่น ออกแคมเปญส่งเสริมการขาย รวมไปถึงจัดอีเวนท์ต่างๆ กระตุ้นให้ผู้บริโภคมาใช้บริการในพื้นที่มากขึ้น เพื่อเพิ่มยอดขายให้ร้านภายในห้างฯ เมื่อขายดีมากขึ้น ก็ยิ่งได้ค่า GP มากขึ้นนั่นเอง

MBK จะเริ่มนำระบบ GP มาใช้ครั้งเเรกกับกลุ่มร้านอาหารก่อน ทั้งร้านเดิมเเละร้านใหม่ ในสัญญาปี 2565 เเละวางเเผนว่าจะไปจะนำไปใช้กับกลุ่มธุรกิจแฟชั่นต่อไป โดยคาดว่า ไตรมาส 2 ปีหน้า อัตราการเช่าทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเป็น 96% จาก 76% ในปัจจุบัน

การที่เราหันมาเสนอทางเลือกให้ใช้ระบบ GP สัญญา 3 ปี ผู้ประกอบการจะรู้สึกว่าเราไปด้วยกันกับเขา ได้ก็ได้ด้วยกัน เสียก็เสียด้วยกัน ในฐานะ Landlord เราต้องทำมาร์เก็ตติ้งชวนให้คนมาดื่มมากินที่ MBK ได้ตลอดทั้งวัน พยายามหาร้านดังในต่างจังหวัดที่ไม่มีในกรุงเทพ ให้มาเปิดที่นี่ให้ได้

เตรียมถือหุ้นใน “ร้านอาหารดังต่างจังหวัด” 

MBK ต้องการเสริมพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มให้มีความแข็งแกร่งและหลากหลาย จากเดิมที่มีกลุ่มโรงแรม อสังหาฯ ค้าปลีกรีเทล โดยการเติมเต็มโครงการศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ที่เจาะกลุ่มครอบครัว ด้วยธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม นั้นก็เป็นทิศทางที่ดี

โดย MBK กำลังจะใช้โมเดล “ร่วมทุน” เป็นพันธมิตรเข้าไปถือหุ้นใน “ร้านอาหารดังในต่างจังหวัด” ที่มีชื่อเสียงอยู่เเล้ว โดยเบื้องต้นมีการศึกษาและเริ่มเจรจากับ 4-5 ร้านเเล้ว เช่น ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่เเละชานเมืองกรุงเทพ มีทั้งเมนูประเภทสเต็ก อาหารจีน ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ

คาดว่าในปีหน้า อาจจะเจรจาสำเร็จและเปิดตัวได้อย่างน้อยไตรมาสละ 1 ร้าน หรือทั้งปีอาจะจะดีลได้สำเร็จทั้ง 4 ร้าน เน้นเป็นร้านอาหารขนาดเล็กทั่วไป มาสร้างให้เติบโตไปด้วยกัน ทางห้างฯ ได้ Know-How จากผู้ประกอบการ ขณะที่ผู้ประกอบการก็ได้เงินทุน ได้ขยายสาขา

“เราอยากเปลี่ยนแปลง MBK ไม่อยากได้ร้านอาหารที่อยู่ในปั๊มน้ำมัน หรือไปเดินที่ไหนก็เจอ แต่อยากได้ร้านที่ทำให้รู้สึกว่าต้องมาที่นี่ ถึงจะได้ทานร้านนี้” 

ขยายอาณาจักร ‘คอมมูนิตี้มอลล์’ บนที่ดินของตัวเอง 

ล่าสุด บริษัทยังได้ขยายธุรกิจไปในทำเลฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ในโครงการ “เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์” ซึ่งเป็นโมเดิร์น ไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้มอลล์ บนพื้นที่กว่า 30,000 ตร.ม. ใกล้สนามกอล์ฟ ริเวอร์เดล กอล์ฟ คลับ และสนามกอล์ฟบางกอก กอล์ฟ คลับ

โดยมองว่า เป็น ‘ทำเลทอง’ ที่เหมาะจะเจาะกลุ่มครอบครัว เพราะโซนหมู่บ้านที่ผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมาก รวมไปถึงสำนักงานต่างๆ เเละ “การที่ไม่ต้องเช่าที่ ก็ทำให้เราได้ยืนอยู่บนขาของตัวเอง” 

สมพลบอกว่า เเม้ตอนนี้จะมีคอมมูนิตี้มอลล์ผุดขึ้นมามากมาย มีการเเข่งขันสูง เเต่คอมมูนิตี้มอลล์ที่จะอยู่รอดได้นั้น ต้องมีสามารถดึงดูดลูกค้าได้ทั้งวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) เน้นเป็นพนักงานออฟฟิศ เเละวันหยุดสุดสัปดาห์ (เสาร์-อาทิตย์) เน้นเป็นครอบครัว มีร้านอาหารที่คนจะมากินเป็นประจำ มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่ให้คนมาใช้เวลาอยู่ได้นานๆ 

ปัจจุบัน ได้ย้ายพนักงานแอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) บริษัทในเครือเอ็ม บี เค ย่านบางนา ซึ่งเป็นศูนย์ประมูลรถยนต์และรถจักรยานยนต์มือสองครบวงจร เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของบริษัทเป็นที่เรียบร้อย เเละจะทยอยเปิดพื้นที่ให้มีสำนักงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมี ‘โปรเจ็กต์ใหญ่’ ที่จะขยายคอมมูนิตี้เพื่อรองรับธุรกิจครบวงจร พร้อมจะสร้าง “ท่าเรือมารีน่า” ในอนาคตอันใกล้นี้ 

ผู้บริหาร MBK เเย้มว่า ทำเลของคอมมูนิตี้มอลล์เเห่งต่อไป กำลังดูๆ ไว้เเถว ‘จรัญสนิทวงศ์’ ซึ่งก็เป็นที่ดินของบริษัท เช่นเดียวกัน ตามโมเดลที่จะพยายามไม่ต้องเสียค่าเช่า เเละยืนอยู่บนขาของตัวเอง…

 

]]>
1367200
มองตลาด ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่’ ปี 65 เเตะ 7.9 หมื่นล้าน เเรงหนุน Hybrid Work รุกขยายต่างจังหวัด  https://positioningmag.com/1366380 Sat, 11 Dec 2021 08:53:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1366380 ประเมินตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ไทย ปี 65 จะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงแตะ 7.9 หมื่นล้าน หรือ 4.5% จากฐานที่สูงมากในปี 64 ยังมีเเรงหนุนจากผู้ใช้ที่ทำงานแบบ Hybrid Work เเพลตฟอร์มเร่งอัดโปรฯ ขยายตลาดชุมชน-ต่างจังหวัด ราคาหรือยอดสั่งอาหารต่อครั้งในปี 2565 คาดจะเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในอัตราที่จำกัด ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และกำลังซื้อของครัวเรือนที่เปราะบาง

การระบาดของโควิด-19 มาตรการจำกัดการให้บริการร้านอาหาร การทำงานเเบบ Work from Home พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความคุ้นชินกับการใช้แอปพลิเคชันจัดส่งอาหารไปยังที่พัก และมาตรการคนละครึ่งของภาครัฐ ทำให้ทั้งปี 2564 มูลค่าตลาดของฟู้ดเดลิเวอรี่ (ฐานคำนวณใหม่ ได้รวมสินค้าในหมวดเบเกอรี่ และเครื่องดื่ม อาทิ ชา กาแฟ น้ำผลไม้ เป็นต้น) เติบโตกว่า 46.4% จากปี 2563

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ ในปี 2565 โดยประมวลข้อมูลจากความร่วมมือของ LINE MAN Wongnai และข้อมูลในตลาด คาดว่า ปริมาณการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่อาจยังเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนด้านความต้องการของผู้ใช้บริการท่ามกลางการทำงานแบบ Hybrid Work

“กลยุทธ์การปรับตัวของผู้ประกอบการในการขยายฐานรายได้ในพื้นที่ใหม่ และฐานลูกค้าสะสมของผู้ใช้บริการทั้งฝั่งผู้บริโภคและร้านอาหารเร่งตัวขึ้นจากผลของโควิดที่ระบาดรุนแรง แต่การเพิ่มขึ้นน่าจะชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2564”

อานิสงส์ Hybrid Work รุกขยายต่างจังหวัด 

ทิศทางตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ปี 2565 คาดว่า จะปรับขึ้นจากการที่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารไปยังที่พักจัดโปรโมชันกระตุ้นตลาดต่อเนื่อง พร้อมขยายฐานร้านค้าและกลุ่มลูกค้าใหม่ไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น และความคุ้นชินของผู้บริโภค

แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลายและภาครัฐเปิดให้มีการทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 อย่างไรก็ตาม การพบผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอไมครอนในหลายประเทศทั่วโลก สร้างความกังวลรอบใหม่ต่อความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดอีกครั้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เกิดการระบาดที่รุนแรงของโควิดในประเทศอีกในปี 2565 การดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันของประชาชนน่าจะเดินหน้าได้ต่อเนื่อง และเป็นแรงหนุนต่อธุรกิจร้านอาหารที่น่าจะกลับมาดำเนินธุรกิจได้เมื่อเทียบกับในปี 2564

โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจร้านอาหารให้บริการเต็มรูปแบบ หรือ Full-Service Restaurants เช่น สวนอาหาร บุฟเฟ่ต์ เป็นต้น จากการที่ผู้บริโภคมีออกไปใช้บริการนั่งทานในร้านอาหารที่น่าจะเพิ่มขึ้น

แต่หากมองในอีกมุมของธุรกิจนั้น สถานการณ์ดังกล่าวก็อาจจะสร้างความท้าทายต่อตลาดการสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อทิศทางตลาดการสั่งอาหารไปส่งยังที่พักในปี 2565 ดังนี้

Hybrid Work และความคุ้นชิน ประกอบกับการกระตุ้นตลาดโดยใช้โปรโมชั่นของผู้ประกอบการ น่าจะทำให้ลูกค้าผู้ใช้บริการที่เคยใช้อยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน Gen Y และกลุ่มวัยรุ่น Gen Z ยังคงใช้บริการต่อเนื่อง

ร้านอาหารในกลุ่ม Fast Food ให้ความสำคัญกับการทำตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ การปรับรูปแบบธุรกิจร้านอาหารมายัง Cloud kitchen และ Ghost kitchen ของผู้ประกอบการรายใหญ่

เน้นเจาะไปยังชุมชน ชานเมืองและในต่างจังหวัด เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น ก็น่าจะช่วยเพิ่มฐานผู้ใช้ทั้งฝั่งผู้บริโภคและร้านอาหารที่มีคุณภาพให้เข้ามาในระบบมากขึ้น

เจ้าเเพลตฟอร์ม เร่งอัดโปรโมชัน 

จากข้อมูล LINE MAN Wongnai ที่สะท้อนถึงเครื่องชี้กิจกรรมตลาดการสั่งอาหารยังที่พักที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยในไตรมาส 2 ปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดกลับมาระบาดรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจสมัครใช้บริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารไปยังที่พักเร่งตัวขึ้นกว่า 60.9% จากไตรมาสก่อนหน้า

ขณะเดียวกันทางฝั่งของผู้บริโภค ดัชนีจำนวนผู้ลงทะเบียนสะสมในเดือนก.ย. 2564 เพิ่มขึ้นกว่า 110% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2563 (ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิดในประเทศ)

ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายพื้นที่การทำตลาดของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารและการทำโปรโมชันด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง น่าจะผลักดันให้ดัชนีจำนวนครั้งในการสั่งอาหารของผู้บริโภคในปี 2565 จะอยู่ที่ 477 (ฐาน 100 ที่ปี 2561) เพิ่มขึ้น 2.9% ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2564

ยอดสั่งซื้อต่อครั้งเพิ่มขึ้นเป็น 193 บาท 

สำหรับราคาหรือยอดสั่งอาหารต่อครั้งในปี 2565 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ในอัตราที่จำกัด ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และกำลังซื้อของครัวเรือนที่เปราะบาง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2565 ยอดสั่งซื้อต่อครั้งน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 193 บาท เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 190 บาท โดยการเพิ่มขึ้นเป็นผลหลักจากการปรับตัวขึ้นของต้นทุนของร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัตถุดิบอาหาร ต้นทุนแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโควิดที่ยังมีต่อเนื่อง

ขณะที่ประเภทอาหารที่ผู้บริโภคนิยมสั่ง อาจจะยังคงเป็นกลุ่มที่ตอบโจทย์ด้านความคุ้มค่า ความสะดวก และรสชาติที่แตกต่าง โดยจากข้อมูล LINE MAN Wongnai พบว่า ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา อาหารยอดนิยมได้แก่ ร้านเบเกอรี่และเครื่องดื่ม (เช่น กาแฟ ชานมและน้ำผลไม้) อาหารตามสั่ง อาหารอีสาน เป็นต้น

ด้านความหลากหลายและจำนวนร้านอาหารสะสมที่เข้าร่วมในแพลตฟอร์มที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการรุกขยายไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม จากเดิมที่ก็สูงอยู่แล้ว จะทำให้การแข่งขันในตลาดยังมีความรุนแรง และการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดหรือโปรโมชันจะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ก็อาจเป็นแรงกดดันที่ทำให้ราคาอาหารน่าจะปรับขึ้นได้จำกัด

ปี 65 มูลค่าตลาด “ฟู้ดเดลิเวอรี่” โตแตะ 7.9 หมื่นล้าน

จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการสั่งและราคาดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในปี 2565 (ฐานคำนวณใหม่ รวมร้านอาหาร เบเกอรี่และเครื่องดื่ม) จะมีมูลค่าประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 4.5% ชะลอลงจากฐานที่เร่งตัวสูงในปี 2564 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในกรณีที่โอไมครอนมีการระบาดรุนแรง ตลาดการจัดส่งอาหารไปยังที่พักน่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นกว่าคาด

โดยกลุ่มร้านอาหารที่มีโอกาสเติบโตได้มากกว่าภาพรวม ได้แก่ ร้านอาหาร Limited Service (เช่น เบอร์เกอร์ พิซซ่า ไก่ทอด เป็นต้น) และ Street food ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารไปยังที่พักให้ความสำคัญในการทำการตลาดและขยายพอร์ตร้านอาหารบนแพลตฟอร์มของตน

กลุ่มร้านอาหารเต็มรูปแบบ และกลุ่มร้านเครื่องดื่ม เบเกอรี่ อาจเป็นกลุ่มที่ชะลอลง ภายใต้เงื่อนไขที่โควิดยังอยู่แต่ไม่รุนแรง ทำให้ประชาชนบางส่วนออกไปทานนอกบ้านมากขึ้น และบางกิจการทยอยให้พนักงานกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศ อย่างไรก็ตาม รายได้สุทธิของแต่ละร้านอาหาร คงขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะของแต่ละราย

“ผู้ประกอบการร้านอาหารยังจำเป็นต้องพึ่งพาช่องทางฟู้ดเดลิเวอรี่ โดยเน้นไปที่เมนูอาหารที่ชูความคุ้มค่าด้านราคาและคุณภาพ มีเอกลักษณ์ที่หาทานที่อื่นได้ยาก เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เเละยังจำเป็นต้องบริหารจัดการต้นทุนทั้งวัตถุดิบ แรงงาน ครัวกลาง ช่องทางการขาย อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความต่อเนื่องของกระแสเงินสดและมีส่วนต่างกำไรหล่อเลี้ยงกิจการอย่างสม่ำเสมอ” 

 

 

]]>
1366380
OR ทุ่มทุน 192 ล้าน ซื้อหุ้น 25% ในบริษัทเเม่ของร้าน KOUEN เสริมพอร์ตธุรกิจอาหาร https://positioningmag.com/1358865 Wed, 27 Oct 2021 16:19:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1358865 OR ส่งบริษัทลูกลงทุน 192 ล้าน ซื้อหุ้น 25% ในบริษัทเจ้าของเเบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น KOUEN เสริมพอร์ตธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม 

วันนี้ (27 ต.ค.64) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดการ OR (ORMC) มีมติอนุมัติให้ บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OR เข้าลงทุนโดยการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท อิ่มทรัพย์โกลบอล คูซีน จำกัด (ISGC) ในวงเงินไม่เกิน 192 ล้านบาท

ภายหลังการเข้าลงทุนดังกล่าวจะทำให้ Modulus มีสัดส่วนการถือหุ้น 25% และกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ ISGC มีสัดส่วนการถือหุ้น 75% ของหุ้น

สำหรับ ISGC เป็นผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ KOUEN ที่มีสาขาทั่วกรุงเทพฯ 19 แห่ง และแบรนด์อื่นๆ

โดยเหตุผลที่ OR เข้าลงทุนในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เสริมสร้างศักยภาพในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของ OR รวมทั้งสร้างโอกาสในการเติบโตร่วมกันทั้งในและต่างประเทศ

Modulus จะเข้าลงนามในสัญญาจองซื้อหุ้นและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น ในวันที่ 28 ตุลาคม นี้

ก่อนหน้านี้ OR ได้เข้าซื้อหุ้น 20% ของ ‘โอ้กะจู๋’ ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อขยายสาขาผ่านสถานีบริการน้ำมัน ‘PTT Station’ เเละขายอาหาร Grab & Go ผ่าน Café Amazon รวมไปถึงการเข้าลงทุนในบริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด เจ้าของร้านกาแฟชื่อดัง “พาคามาร่า” (Pacamara) สัดส่วน 65% เพื่อขยายขอบเขตธุรกิจกาแฟอย่างครบวงจรด้วย

นอกจากนี้ ธุรกิจสำคัญ Non-Oil ที่สำคัญในเครือ OR ยังมี Café Amazon (OR เป็นเจ้าของเอง) เท็กซัส ชิคเก้น (ได้รับอนุญาตแต่เพียงผู้เดียว) ฮั่งเซ่งฮงติ่มซำ (มาสเตอร์แฟรนไชส์) เเละอื่นๆ

 

ที่มา : SET

 

]]>
1358865
ญี่ปุ่น เร่งเตรียม ‘เปิดประเทศ’ ฝั่งผู้ประกอบการหวั่นใจ ไม่กล้าสต็อกของ-จ้างงานเพิ่ม https://positioningmag.com/1357566 Thu, 21 Oct 2021 15:08:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1357566 กระบวนการ ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ที่ล่าช้า เเละการรุกตรวจโควิดที่จำกัด เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเปิดประเทศของญี่ปุ่นในช่วงสิ้นปีนี้ ผู้ประกอบการเผชิญความไม่เเน่นอน ไม่กล้าสต็อกของ-จ้างงานเพิ่ม

รายได้ยังไม่เพียงพอ บรรดาร้านต่างๆ จึงไม่สามารถจ้างพนักงานที่เคยถูกเลิกจ้างไปเเล้ว เเละไม่สั่งซื้อสต็อกของเพิ่ม จนกว่าพวกเขาจะทราบข้อมูลเเละระยะเวลาที่เเน่ชัด เกี่ยวกับแผนการเปิดประเทศ รวมไปถึงความกังวลว่าโควิด-19 จะกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในช่วงฤดูหนาวที่จะถึงนี้

บทวิเคราะห์ของ Reuters ระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในช่วงไฮซีชั่น ที่จะมีเม็ดเงินมหาศาลเข้ามาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังประเทศสูญเงินไปเป็นจำนวนมากด้วยวิกฤตโควิด

การเปิดประเทศของญี่ปุ่น จึงเป็นเหมือนเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญของ ‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ขึ้นมาดำรงตำเเหน่งต่อจากอดีตนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ที่อำลาตำแหน่งไป พร้อมกับคะแนนนิยมที่ลดลงอย่างมาก เพราะไม่สามารถรับมือกับปัญหาการระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้

(Photo by Carl Court/Getty Images)

ความกังวล ‘ช่วงสิ้นปี’

‘ช่วงสิ้นปี’ เป็นโอกาสวำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว บาร์และร้านอาหารในญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทต่างๆ มักจะจัดงานเลี้ยงขนาดใหญ่ให้กับพนักงานตามธรรมเนียมปฏิบัติ หรือจะมีการนัดสังสรรค์กันระหว่างเพื่อนฝูงเเละญาติมิตร

“ร้านของฉันจะจัดอีเวนต์พิเศษในช่วงสิ้นปีมาตลอด แต่ปีนี้กำลังคิดว่าจะยกเลิกหรือไม่ เพราะผู้เชี่ยวชาญบอกว่าไวรัสโคโรน่าระลอกที่ 6 จะต้องมาแน่นอน” มายูมิ ไซโจ เจ้าของร้าน Beer Bar Bitter ในกรุงโตเกียวกล่าว

การล็อกดาวน์เมื่อปีที่เเล้ว ทำให้ร้านของเธอต้องจำใจทิ้งเบียร์ มูลค่ากว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐที่สั่งซื้อมาจากสาธารณรัฐเช็ก ดังนั้นปีนี้เธอจึงต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในทุกกรณี เพราะสิ่งที่เธอเตรียมไว้มันต้องเสียค่าใช้จ่าย

ตามข้อมูลของบริษัทสินเชื่อเอกชน Teikoku Databank เผยว่า ร้านอาหารในญี่ปุ่น 780 กว่าแห่ง ยื่นขอล้มละลายในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนเมษายนปีนี้ และยังมีอีก 298 แห่งนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

“ร้านอาหารจะได้รับอนุญาตให้เปิดได้จนถึงกี่โมง ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเรื่องนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การสั่งสต็อกของ”

Photo : Shutterstock

วัคซีนพาสปอร์ตที่ล่าช้า 

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า ทำให้ต้องเจอผลกระทบจากสายพันธุ์เดลตาอย่างหนักหน่วง

เเต่ในช่วงหลังๆ ญี่ปุ่นเริ่มมีอัตราฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลสามารถเริ่มดำเนินการที่จะเปิดประเทศได้อีกครั้ง ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนและผลการทดสอบโควิด-19

ปัญหาเกี่ยวกับวัคซีนพาสปอร์ตของญี่ปุ่น คือนอกเหนือจากข้อกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวที่ยังไม่ได้แก้ไขแล้ว หน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็ยังไม่มีฐานข้อมูลที่เป็นหนึ่งเดียวกัน

เทศบาลบางแห่งถึงกับต้องเริ่มดำเนินการเอง อย่างพื้นที่เกาะอิชิงากิ ใช้แอปพลิเคชันมือถือที่ใช้จองวัคซีนเป็นบันทึกการฉีดวัคซีนด้วย นักท่องเที่ยวจึงสามารถแสดงหลักฐานการรับวัคซีน เพื่อที่จะได้ส่วนลดร้านค้าและร้านอาหาร

“ถ้าเราสามารถขยายการใช้งานเพื่อให้เกิดความสบายระหว่างทั้งเจ้าของร้านและลูกค้า เศรษฐกิจของอิชิงากิก็จะฟื้นตัวได้” เทรุยูกิ ทานาฮาระ เจ้าหน้าที่ของเมืองอิชิงากิกล่าว

อีกปัญหาหนึ่งคือ ญี่ปุ่นไม่ได้ทำการรุกตรวจโควิด-19 มากนัก โดยมีอัตราการทดสอบต่อคนน้อยกว่าสหรัฐฯ ถึง 9 เท่า ในช่วงการระบาดใหญ่

ด้านเจ้าหน้าที่คณะรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่รับมือการระบาดใหญ่ บอกกับ Reuters ว่า รัฐบาลกำลังทดลองใช้แพ็กเกจที่เหมาะสมที่สุดในสถานที่ที่มีการชุมนุมของคนจำนวนมากอย่างสนามฟุตบอล สนามกีฬา ร้านอาหารหรือผับบาร์

“เราจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ทั้งธุรกิจส่วนตัวและรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อคิดแผนปฏิบัติการที่เฉพาะเจาะจง และเรากำลังพยายามเร่งให้เร็วขึ้น”

ความคิดเห็นของเจ้าของร้านพิซซ่าและคราฟต์เบียร์ DevilCraft ที่มีพนักงาน 20 คน บอกว่า “โครงการใดๆ ก็ตามที่รัฐบาลจะออกมา อย่างน้อยๆ ควรมีกฎบังคับใช้ที่ชัดเจน”

สถานการณ์การระบาดในญี่ปุ่น เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มียอดผู้ติดเชื้อหลักหมื่นคนต่อวัน เเต่ตอนนี้เริ่มเหลือหลักร้อย ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้ค่อนข้างเป็นปกติ เเต่ก็ยังคงต้องเตรียมพร้อมกับแพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าอาจจะกลับมาอีกครั้งในช่วงฤดูหนาว

]]>
1357566