คว่ำบาตรรัสเซีย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sat, 22 Jun 2024 05:20:37 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 แบงก์เอกชนรายใหญ่ของ “รัสเซีย” เปิดสาขาใน “จีน” แล้ว! สะท้อนสัมพันธ์สองชาติที่แน่นแฟ้นขึ้น https://positioningmag.com/1479095 Thu, 20 Jun 2024 12:33:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1479095 “Alfa Bank PJSC” ธนาคารพาณิชย์ของเอกชนรายใหญ่ที่สุดจาก “รัสเซีย” เข้าไปเปิดสาขาที่ “จีน” ในกรุงปักกิ่งและเมืองเซี่ยงไฮ้แล้ว สะท้อนความสัมพันธ์แน่นแฟ้นของสองชาติในเชิงเศรษฐกิจ

“Alfa Bank” เป็นธนาคารของ “มิคาอิล ฟริดมัน” หนึ่งในโอลิการ์ครัสเซียที่ถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ขึ้นทะเบียน “แบน” การทำธุรกรรมการค้าด้วยในระดับ “เบ็ดเสร็จ” มาตั้งแต่ปี 2022 (**โอลิการ์ค หมายถึง กลุ่มมหาเศรษฐีที่เป็นคนวงในใกล้ชิดกับรัฐบาลและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐ)

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ตั้งแต่นั้นมา Alfa Bank หันไปทำธุรกิจกับฝั่งบริษัทจีนแทน โดยมีการให้บริการบริษัทจีนนับพันราย พร้อมกับมีเว็บไซต์แยกเพื่อบริการลูกค้าจีนโดยเฉพาะ

ล่าสุด Alfa Bank ประกาศว่าธนาคารเริ่มเข้าไปตั้งสาขาในประเทศจีนแล้ว 2 แห่งที่กรุงปักกิ่งและเมืองเซี่ยงไฮ้ โดยเมื่อต้นปีนี้เองธนาคารเพิ่งได้รับเครดิตเรตติ้งระดับ “AA-“ จากบริษัทจัดระดับเครดิตในจีน และเป็นครั้งแรกที่บริษัทได้รับการจัดเรตติ้งในแดนมังกร

ความเคลื่อนไหวของ Alfa Bank เป็นภาพที่เห็นได้ชัดขึ้นว่า รัฐบาลจีนเริ่มอนุญาตให้รัสเซียสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นมากขึ้นกับตนเอง ทั้งคู่กลายเป็นพันธมิตรเชิงเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้นตั้งแต่ที่รัสเซียถูกกีดกันทางการค้าเต็มรูปแบบจากประเทศตะวันตก

จีนและรัสเซียเริ่มเป็นพันธมิตรเศรษฐกิจในระดับ “ไม่มีข้อจำกัด” ทำให้เมื่อปี 2023 ทั้งสองประเทศมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นสถิติใหม่สูงถึง 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และต่างจับมือกันเพื่อวางแผนการลดการพึ่งพิงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

การที่จีนยอมจับมือเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซียนับได้ว่าเป็น ‘ห่วงชูชีพ’ ให้กับรัสเซีย ท่ามกลางการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และยุโรป นับตั้งแต่ที่รัสเซียตัดสินใจบุกประเทศยูเครน รัสเซียก็ถูกกีดกันออกจากตลาดโลกมากยิ่งขึ้น และจีนกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังเป็นคู่ค้ากัน

อย่างไรก็ตาม จีนเองยังเว้นระยะห่างจากรัสเซียอยู่บ้างเพื่อไม่ให้ตนถูกคว่ำบาตรจากตะวันตกเต็มขั้น เช่น ธนาคารของรัฐบาลจีนเริ่มมีนโยบายงดการให้กู้สินเชื่อแก่ลูกค้าชาวรัสเซียมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2023 หลังจากทางสหรัฐฯ ประกาศออกมาว่าจะเริ่มกีดกันธนาคารที่ช่วยรัสเซียในการทำธุรกรรมค้าขายต่างๆ

Source

]]>
1479095
ออกอีกราย! Danone บริษัทนมฝรั่งเศสเตรียมถอนตัวจาก “รัสเซีย” ขายกิจการ 1 พันล้านยูโร https://positioningmag.com/1404537 Tue, 18 Oct 2022 07:58:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1404537 Danone บริษัทผลิตภัณฑ์นมสัญชาติฝรั่งเศส เตรียมตัวถอนทุนออกจาก “รัสเซีย” โดยคาดว่ามูลค่าการขายกิจการอาจไปแตะ 1,000 ล้านยูโร แต่ยังไม่แน่ชัดว่าใครจะเป็นผู้ซื้อกิจการต่อ ขณะที่บริษัทตะวันตกบางรายยังคงดำเนินธุรกิจในรัสเซียต่อไป เช่น Nestle, P&G

บริษัท Danone จะขายกิจการกลุ่มผลิตภัณฑ์นมในรัสเซีย ด้วยมูลค่าดีลที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1,000 ล้านยูโร (ประมาณ 37,480 ล้านบาท) ถือเป็นบริษัทล่าสุดที่ตัดสินใจยอมถอนตัวออกจากรัสเซียหลังเกิดสงคราม

โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์นมนี้คิดเป็นสัดส่วน 90% ของกิจการทั้งหมดที่บริษัทมีอยู่ในรัสเซีย จะเหลือแค่เพียงหน่วยธุรกิจอาหารทารกเท่านั้นที่บริษัทจะยังคงดำเนินกิจการต่อ สำหรับรายได้จากรัสเซีย คิดเป็นประมาณ 5% ของยอดขายรวมของทั้งเครือในช่วง 9 เดือนแรกปี 2022

แหล่งข่าววงในเปิดเผยกับ Reuters ว่า การขายกิจการครั้งนี้ Danone อาจจะยังเหลือสัดส่วนหุ้นไว้บ้างในบริษัท แต่จะเป็นสัดส่วนที่ไม่สามารถมีอำนาจบริหาร ไม่ได้ควบคุมกิจการเองอีกต่อไป และจะถือว่าไม่ใช่บริษัทในเครือ

ขณะนี้บริษัทยังไม่ระบุว่าใครจะเข้าซื้อกิจการ โดย Mikhail Mishchenko หัวหน้าศูนย์วิจัยตลาดผลิตภัณฑ์นมรัสเซีย เชื่อว่าจะมีหลายรายที่ยื่นข้อเสนอ โดยมี 3 บริษัทท้องถิ่นรัสเซียที่มีศักยภาพ คือ Econiva, Komos และ Molvest แต่เขามองว่า Econiva มีภาษีดีที่สุดเพราะเป็นซัพพลายเออร์นมสดก่อนพาสเจอไรซ์รายใหญ่ที่สุดในประเทศอยู่แล้ว และน่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย แต่ก็เป็นไปได้ด้วยว่า ธุรกิจอาจจะถูกแยกส่วนและขายให้ผู้เล่นหลายราย

ตัวอย่างสินค้าโยเกิร์ตแบรนด์ Activia (แบรนด์นี้เคยมีขายในไทยด้วยนะ)

Danone เป็นบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นม, ผลิตภัณฑ์ Plant-based, อาหารทารก ไปจนถึงน้ำแร่ แบรนด์ภายใต้บริษัทนี้ในประเทศไทยที่เรารู้จักกันดี คือ “Dumex ดูโกร” และ “Hi-Q1 Plus” รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำแร่ “Evian” และ “Volvic”

แม้บริษัทตะวันตกมากมายได้ถอนทุนออกจากรัสเซียไปแล้ว แต่บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่บางรายก็ยังอยู่ เช่น Nestle, Procter & Gamble (P&G) ยังคงขายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเวชภัณฑ์อยู่ในรัสเซีย แต่ก็ต้องเผชิญแรงกดดันจากผู้บริโภคและนักกิจกรรมในประเทศบ้านเกิดให้เลิกทำธุรกิจกับรัสเซีย

บริษัทใหญ่รายล่าสุดที่ถอนทุนไปก่อนหน้า Danone นั้นไม่ใช่บริษัทตะวันตก แต่เป็น Nissan บริษัทรถญี่ปุ่นที่ยอมขายสินทรัพย์ออกจากรัสเซีย ซึ่งจะทำให้บริษัทขาดทุนราวๆ 687 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 26,000 ล้านบาท)

 

กิจการกำไรต่ำ สมควรถอนทุน

หลังประกาศถอนทุน หุ้นของ Danone ขยับขึ้นเล็กน้อยที่ 1% เพราะนักวิเคราะห์มองว่า การเปลี่ยนแปลงจุดหมายการลงทุนออกจากรัสเซียไปที่อื่นๆ จะเป็นเรื่องที่ดีกับบริษัทมากกว่า

Pierre Tegner นักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ Oddo BHF มองว่าการตัดสินใจถอนทุนนั้นถูกต้องเพราะรัสเซียเป็นตลาดที่ได้กำไรน้อยและการเติบโตก็ต่ำ

น้ำแร่ Evian อีกหนึ่งแบรนด์ในเครือ

Antoine de Saint-Affrique ซีอีโอคนใหม่ของ Danone ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน 2021 ประกาศวิสัยทัศน์ไว้อยู่แล้วว่าบริษัทจะเลิกกิจการที่ไม่ได้กำไร เพื่อจะเทิร์นอะราวด์รายได้ให้ได้ภายในปี 2022

จากวิสัยทัศน์นี้ Tegner คาดว่าธุรกิจที่บริษัทอาจจะพิจารณาว่า ‘ไม่ใช่ธุรกิจหลัก’ อีกต่อไป ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นมในบราซิล อาร์เจนติน่า เม็กซิโก และโมรอคโก รวมไปถึงผลิตภัณฑ์นมออแกนิกในสหรัฐฯ , อาหารทารกในฝรั่งเศสและอิตาลี ตลอดจนธุรกิจน้ำดื่มที่มีอยู่ในสเปนและโปแลนด์

แม้ว่าจะเพิ่งตัดสินใจขายกิจการในรัสเซียตอนนี้ แต่จริงๆ Danone เริ่มกระบวนการตัดสัมพันธ์มาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยไม่มีการลงทุนเพิ่ม และไม่รับเงินปันผลหรือกำไรคืนมาจากหน่วยธุรกิจที่อยู่ในรัสเซีย

Source

]]>
1404537
อินเดีย-เบลเยียมไม่สนคว่ำบาตร “เพชรรัสเซีย” ธุรกิจยังเดินต่ออย่างเงียบๆ https://positioningmag.com/1400637 Mon, 19 Sep 2022 05:28:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1400637 จากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย บริษัทจำนวนมากในธุรกิจ “เพชร” เลือกที่จะหยุดซื้อ “เพชรรัสเซีย” เพราะกังวลว่าจะถูกแบนการขายสินค้าในตลาดตะวันตก ยกเว้นประเทศอินเดียและเบลเยียมที่ยังซื้อเพชรรัสเซียกันอย่างลับๆ

เหมืองเพชรรายใหญ่ของรัสเซียคือ Alrosa PJSC นั้นได้รับผลกระทบเมื่อสหรัฐอเมริกาดำเนินการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย จนกระทั่งผู้ซื้อในอินเดียและเบลเยียมหวนกลับมาซื้อ “เพชรรัสเซีย” อย่างลับๆ

โดยทั่วไปแล้วซัพพลายเออร์จัดหาเพชรให้กับผู้ผลิตเครื่องประดับจะกังวลมากหากยังรับซื้อเพชรรัสเซียอยู่ เพราะอาจจะสูญเสียสัญญาขายเพชรให้กับผู้ผลิตเครื่องประดับชื่อดังฝั่งตะวันตก เช่น Tiffany & Co. หรือ Signet Jewelers ได้

รวมถึงสหรัฐฯ นั้นเป็นตลาดขายเพชรสำคัญ เพราะ 50% ของเพชรที่เจียระไนแล้วจะขายอยู่ในสหรัฐฯ ตลาดใหญ่ที่ตอบรับเครื่องประดับเพชรทุกระดับตั้งแต่ระดับราคาชิ้นละหลายร้อยล้านบาท ไปจนถึงเครื่องประดับเพชรทั่วไปสนนราคาหลักหมื่นบาท

เมื่อตลาดผู้ซื้ออยู่ในมือสหรัฐฯ เป็นหลัก จึงทำให้ผู้ขายตลอดซัพพลายเชนระวังตัวเมื่อสหรัฐฯ ทำการคว่ำบาตรรัสเซีย

 

แต่ในทางปฏิบัติ…ยากหน่อยถ้าจะบอยคอต “เพชรรัสเซีย”

อย่างไรก็ตาม การที่บางบริษัทไม่กลัวที่จะซื้อเพชรรัสเซียก็สะท้อนให้เห็นภาพว่าการบอยคอตสินค้านี้เป็นเรื่องยากมาก เพราะทุกคนในอุตสาหกรรมต่างรู้ดีว่า เมื่อเพชรหลุดรอดเข้ามาในซัพพลายเชนได้แล้ว ก็เป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะติดตามสืบย้อนว่าแท้จริงแล้วเพชรเม็ดนั้นมาจากไหน

เพชรนั้นจะถูกคัดแยกคุณภาพและขนาดออกมาโดยแยกประเภทได้ถึง 15,000 แบบ และเมื่อมีการซื้อขายต่อ พ่อค้าอาจจะนำไปผสมปนเปกันแม้เป็นเพชรต่างที่มา กว่าจะขึ้นไปอยู่บนตัวเรือนแหวนเพชรหรือบนจี้ห้อยคอก็ยากที่จะบอกได้แน่ชัดแล้วว่าเพชรถูกขุดหรือผลิตมาจากไหน

หนำซ้ำ รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกเพชรรายใหญ่ โดยเพชรของ Alrosa จะโดดเด่นในเวทีโลกเพราะเป็นผู้ผลิตเพชรขนาดเล็กเป็นพิเศษและมีราคาถูกกว่าแหล่งอื่น ทำให้เกิดความกังวลตลอดซัพพลายเชนว่าเพชรจะมีไม่เพียงพอหลังคว่ำบาตรรัสเซียแล้ว

แม้ว่าแบรนด์ลักชัวรีในยุโรปจะร้องขอกับ De Beers ผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ของสหรัฐฯ ให้ช่วยเพิ่มการผลิตและโควตาขายแก่ซัพพลายเออร์ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเพชรในตลาดเพียงพอ แต่ดูเหมือน De Beers ก็เพิ่มการผลิตได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ผลสุดท้ายคือ ประเทศที่มีเพชรเป็นอุตสาหกรรมสำคัญก็จำต้องซื้อเพชรรัสเซียต่อไป อย่างเช่น “อินเดีย” ที่เป็นแหล่งซื้อขายและเจียระไนเพชร แรงงานนับล้านๆ คนในอินเดียต้องพึ่งพิงอุตสาหกรรมนี้ หรือใน “เบลเยียม” ท่าทีของประเทศก็ลังเลที่จะคว่ำบาตรเพชรรัสเซียเต็มตัว เนื่องจากปกติ 80% ของเพชรดิบในโลกนี้จะมีการซื้อขายผ่านเมืองท่าแอนต์เวิร์ปของเบลเยียม ทำให้เลี่ยงยากที่จะสกัดกั้นเพชรรัสเซียออกไป

 

ตลาดตะวันออกไม่มีปัญหากับเพชรรัสเซีย

ก่อนหน้าการคว่ำบาตร Alrosa มีผู้ซื้อสำคัญอยู่ราว 50 ราย บัดนี้ลดเหลือ 10 ราย โดยแหล่งข่าวของสำนักข่าว India Times ระบุว่ามีบริษัทอินเดียสองรายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด คือ Kiran Gems และ Shree Ramkrishna Exports

(Photo: Shutterstock)

สำหรับเพชรรัสเซียที่นำเข้ามาผลิตในอินเดียคาดว่าส่วนใหญ่จะเข้าไปขายต่อที่ตลาดใหญ่ของฝั่งตะวันออกคือ จีน ญี่ปุ่น และในอินเดียเอง ซึ่งสามประเทศนี้รวมกันคิดเป็นตลาดราว 30% ของตลาดเครื่องประดับเพชรทั่วโลก และทั้งสามตลาดไม่ได้มีปัญหากับการใช้เพชรรัสเซียเหมือนอย่างตะวันตกขณะนี้

แต่แน่นอนว่า ด้วยธรรมชาติในการซื้อขายวงการเพชรดังกล่าว ก็เป็นไปได้ที่จะมีเพชรรัสเซียเล็ดรอดไปอยู่ในตลาดตะวันตกด้วย

อินเดียยังเข้าไปมีบทบาทสำคัญกับ Alrosa ในทางการเงินด้วย เพราะการคว่ำบาตรทำให้ธนาคารสหรัฐฯ ยุโรป จนถึงตะวันออกกลางหยุดให้เงินทุนกับ Alrosa และหยุดสนับสนุนการซื้อขายด้วยสกุลเงินดอลลาร์ ธนาคารอินเดียจึงกลายเป็นคนสำคัญในการเป็นตัวกลางซื้อขายให้ผ่านสกุลเงินยูโรและรูปี

ถึงแม้ว่า Alrosa จะกลับมาทำการค้าขายได้ เพราะมีตลาดพร้อมรับซื้อแบบนี้ แต่บริษัทก็ตกอยู่ในสถานะที่ต้องยอมยืดหยุ่นให้ผู้ซื้อมากกว่าเดิม เพราะปกติผู้ขายจะทำการจัดเพชรใส่กล่องไว้ให้แล้ว ผู้ซื้อจะไม่สามารถคัดเพชรได้ แต่ในปัจจุบัน บริษัทต้องยอมให้ผู้ซื้อคัดเพชรเอง ซึ่งเป็นผลดีกับผู้ซื้อที่จะทำการเลือกเพชรที่กำลังขาดแคลนในตลาดหรือเพชรที่จะได้กำไรดีกว่าไว้ก่อน

Alrosa ยังมีนโยบายจะเพิ่มออฟฟิศสาขาใหม่ในอินเดียด้วย เรียกได้ว่า “อินเดีย” เป็นผู้รับผลบวกในตลาดเพชรเต็มๆ หลังจากการคว่ำบาตรของรัสเซียกับตะวันตก

Source

]]>
1400637
“เยอรมนี” กลับลำ! ยังไม่ยกเลิก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” เก็บเป็นแผนสำรองหลังรัสเซียลดส่งก๊าซ https://positioningmag.com/1399246 Wed, 07 Sep 2022 10:09:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1399246 “เยอรมนี” เปลี่ยนแผน “ไม่ยกเลิก” ใช้งาน “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” 2 แห่ง จากเดิมวางเป้าปิดตัวภายในสิ้นปี 2022 เพราะจำเป็นต้องเก็บไว้เป็นแผนสำรองหากเกิดวิกฤตก๊าซธรรมชาติ หลังจากรัสเซียลดการส่งก๊าซให้ยุโรป

เยอรมนีประกาศว่าจะเก็บโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ก่อน เตรียมพร้อมเป็นแผนสำรองหากเกิดวิกฤตพลังงานขึ้น ถือเป็นการกลับลำเปลี่ยนนโยบายจากเดิมที่จะทยอยลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ไปจนหมดในช่วงสิ้นปี 2022

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่งนั้น แห่งหนึ่งตั้งอยู่ในบาเดิน เวิร์ทเทอมแบร์ก รัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ และอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในรัฐบาวาเรียทางตะวันออกเฉียงใต้ จากนโยบายล่าสุด รัฐบาลจะเปลี่ยนมาเปิดทำการต่อไปจนถึงกลางเดือนเมษายน 2023

โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี กล่าวว่า “ประเทศนี้มีความมั่นคงด้านซัพพลายพลังงานไฟฟ้าสูงมาก” แต่ก็กล่าวด้วยว่า “ปีนี้เป็นปีที่พิเศษสำหรับทั่วทั้งยุโรป”

“การที่รัสเซียเข้าโจมตียูเครนได้สร้างสถานการณ์กดดันต่อตลาดพลังงาน และเรากำลังทำทุกทางที่ทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาก๊าซขาดแคลน” ฮาเบคกล่าว

เยอรมนีนั้นพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียคิดเป็น 35% ของการนำเข้าเชื้อเพลิงทั้งหมดของประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเยอรมนีกำลังเผชิญแนวโน้มการขาดแคลนพลังงานในฤดูหนาว หากรัสเซียจะปิดท่อส่งก๊าซมายังเยอรมนี

“ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะมีสถานการณ์วิกฤตหรือกรณีรุนแรงสุดขั้ว” ฮาเบคกล่าว “แต่ในฐานะรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบด้านความมั่นคงของซัพพลายพลังงาน ผมจะทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อรับประกันความมั่นคงนั้นไว้”

ฮาเบคเสริมด้วยว่า เยอรมนีจะยังค่อยๆ ลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ต่อไป โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งสองแห่งนั้นจะถูกใช้งานก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น

กระแสการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเยอรมนีเกิดขึ้นขนานใหญ่ หลังจากเกิดกรณีหายนะโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2011 เป็นประเด็นที่ทำให้กระแสปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จุดติดในประเทศ หลังจากกลุ่มต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์เรียกร้องกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970s แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความไม่แน่นอนเรื่องวิกฤตพลังงาน แม้แต่พรรคกรีนซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตั้งแต่ต้นก็ยังต้องคิดใหม่ โดยฮาเบคนั้นเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคกรีนด้วย

“เราต้องเตรียมตัวรับกรณีที่เลวร้ายที่สุด” ฮาเบคกล่าว “โรงไฟฟ้านั้นจะเปิดทำการก็ต่อเมื่อเราจำเป็นต้องมีพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเท่านั้น”

Source

]]>
1399246
“รัสเซีย” รอดพ้นภาวะเศรษฐกิจโคม่ามาได้ …แต่เลือดก็ยังไม่หยุดไหลในระยะยาว https://positioningmag.com/1397972 Sun, 28 Aug 2022 15:56:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1397972 “รัสเซีย” เปิดฉากรุกทางการทหารเข้าสู่ยูเครน ทำให้ถูกชาติตะวันตกร่วมกันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ 6 เดือนหลังจากนั้นเศรษฐกิจรัสเซียซึ่งพึ่งพิงการส่งออก “น้ำมัน” เป็นหลัก พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสามารถยืนหยัดรับมือการคว่ำบาตร รอดพ้นภาวะเศรษฐกิจพังพินาศมาได้ แต่ในระยะยาวเศรษฐกิจรัสเซียก็อาจหนีไม่พ้นภาวะถดถอยอยู่ดี

“ผมขับรถผ่านกลางกรุงมอสโควก็ยังเจอรถติดเหมือนเดิม” อังเดรย์ เนชาเยฟ อดีตรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัสเซีย ช่วงต้นทศวรรษ 1990s กล่าวกับสำนักข่าว CNN

ตลาดจีนและอินเดียที่พร้อมรับซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซียนั้นช่วยเศรษฐกิจประเทศนี้ไว้ได้มาก แต่ทั้งเนชาเยฟและนักวิเคราะห์อื่นๆ ต่างก็มองว่าเศรษฐกิจรัสเซียเริ่มถดถอยแล้ว และเป็นไปได้ว่าจะเกิดภาวะ ‘stagnation’ ในระยะยาว

ภาพภายนอกดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยน เชลฟ์ขายสินค้าในห้างสรรพสินค้าอาจจะมีแบรนด์ตะวันตกให้เลือกน้อยลง McDonald’s อาจจะเปลี่ยนชื่อเป็น “Vkusno i tochka” และ Starbucks ก็กลับมาเปิดใหม่ในชื่อ Stars Coffee

ธุรกิจตะวันตกที่ถอนตัวออกไป การคว่ำบาตรสินค้ากลุ่มน้ำมันและทำลายระบบการเงิน มีผลกระทบกับรัสเซียแน่นอน แต่ไม่ได้มากเท่าที่ใครต่อใครคาดไว้

เนชาเยฟซึ่งเคยพาเศรษฐกิจรัสเซียฝ่าฟันช่วงที่ตกต่ำที่สุดมาแล้ว มองว่าหัวเรือที่ช่วยให้รัสเซียรอดพ้นได้มากที่สุดคือ ธนาคารกลาง

สกุลเงินรูเบิลร่วงชะลูดสู่จุดต่ำสุดเมื่อต้นปีนี้หลังจากตะวันตกแช่แข็งเงินทุนสำรองของรัสเซียมูลค่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่สุดท้ายแล้วเงินรูเบิลก็สามารถเด้งคืนกลับมาแข็งค่าได้ และแข็งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2018

สาเหตุมาจากการแก้เกมของธนาคารกลางในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยลงจนต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดสงครามแล้ว ธนาคารกลางยังบอกด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อที่เคยขึ้นไปสูงสุดเกือบ 18% เมื่อเดือนเมษายน ปัจจุบันก็ชะลอลงและน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้ลดเหลือ 12-15% เท่านั้น

ธนาคารกลางยังปรับคาดการณ์จีดีพีของปีนี้ด้วย โดยคาดว่าจะหดตัว 4-6% เป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นจากเมื่อเดือนเมษายนที่คาดว่าทั้งปีจะหดตัว 8-10% ขณะที่ IMF ก็คาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวประมาณ 6% เท่านั้น

 

รัสเซียเตรียมตัวรับแรงกระแทกมานานแล้ว

เหตุที่รัฐบาลมอสโควยังรับมือได้ดี เป็นเพราะรัสเซียมีเวลารับมือถึง 8 ปี หลังจากตะวันตกเริ่มมีการคว่ำบาตรบ้างแล้วนับตั้งแต่รัสเซียบุกเข้าสู่ไครเมียเมื่อปี 2014

“การออกจากตลาดของ Mastercard และ Visa แทบไม่มีผลอะไรกับการชำระเงินในประเทศ เพราะธนาคารกลางมีระบบชำระเงินทางเลือกเตรียมไว้อยู่แล้ว” เนชาเยฟกล่าว โดยรัสเซียเริ่มตั้งระบบบัตรเครดิต Mir ไว้ตั้งแต่ปี 2017

ส่วนเหตุผลที่ McDonald และ Starbucks ยังดำเนินธุรกิจต่อได้แม้จะต้องเปลี่ยนชื่อแบรนด์ “คริส วีเฟอร์” หุ้นส่วนผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจข้ามชาติ Macro Advisory กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2014 แบรนด์ตะวันตกจำนวนมากต้องทำตามแรงกดดันจากรัฐบาลที่ต้องการให้ใช้ซัพพลายเชนในประเทศมากขึ้น ดังนั้น เมื่อบริษัทถอนตัวออกไป แต่แฟรนไชซีในรัสเซียก็เพียงแต่ซื้อวัตถุดิบจากบริษัทเจ้าเดิม แค่เปลี่ยนหีบห่อแพ็กเกจจิ้งเท่านั้น

“คนเดิม สินค้าเดิม ซัพพลายเดิม” วีเฟอร์กล่าวให้เห็นภาพ

แต่ก็ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทุกเรื่องเหมือนกัน ตัวอย่างเช่นเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา McDonald ภายใต้แบรนด์ใหม่ก็ต้องเผชิญปัญหามันฝรั่งในรัสเซียขาดแคลน และไม่สามารถหามันฝรั่งจากที่อื่นมาเสริมได้เพราะการคว่ำบาตร

 

“น้ำมัน” รัสเซียจะยังขายดีต่อไปไหม?

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจรัสเซียจะเสถียรแค่ไหนขึ้นอยู่กับธุรกิจ “พลังงาน” ธุรกิจที่ส่งรายได้ให้กับรัฐบาลมากที่สุด และราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นคือฉนวนป้องกันให้กับรัสเซีย

International Energy Agency ระบุว่า รายได้การขายน้ำมันและก๊าซให้กับยุโรประหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคมปีนี้กลับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเทียบกับปีก่อน ทั้งที่การส่งก๊าซให้กับยุโรปลดลง 75% ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา

Oil pump cold winter and snow. Back light, white cloudy and blue sky background, sunlight

ส่วนน้ำมันที่เหลือขายวันละ 3 ล้านบาร์เรลนั้นก็ถูกส่งออกไปที่ตลาดใหม่ในเอเชียแทน Kpler บริษัทที่ปรึกษาด้านสินค้าโภคภัณฑ์ ระบุว่า น้ำมันที่ส่งออกทางทะเลส่วนใหญ่ของรัสเซียนั้นถูกส่งไปเอเชียแทนตั้งแต่เริ่มมีสงคราม

ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคมปีนี้ “จีน” นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่มขึ้นถึง 40% และมีการเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติด้วย แม้ว่าจีนจะพยายามทำตัวเป็นกลางในสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ตาม ส่วน “อินเดีย” นั้นนำเข้าน้ำมันรัสเซียเพิ่มถึง 1,700% ทั้งหมดนี้เป็นเพราะรัสเซียลดราคาน้ำมันอย่างหนัก

แต่จุดที่น่าสนใจคือเมื่อยุโรปตัดการซื้อน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก จะทำให้น้ำมันรัสเซียมีซัพพลายเหลืออีกวันละ 2 ล้านบาร์เรล ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าส่วนใหญ่น้ำมันนั้นจะถูกขายให้ตลาดเอเชีย แต่ดีมานด์จะมากพอที่จะดูดซับน้ำมันรัสเซียทั้งหมดหรือไม่ Kpler ประเมินว่าจีนคงจะไม่ซื้อเพิ่มอีกเพราะเศรษฐกิจในประเทศก็เริ่มชะลอลง

“ราคา” ก็จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ขณะนี้รัสเซียส่งออกน้ำมันได้ไม่ยากเพราะลดราคาได้มาก ทำให้ตลาดใหม่ๆ สนใจซื้อ

“การลดราคา 30% จากราคา 120 เหรียญต่อบาร์เรลนั้นก็เรื่องหนึ่ง” อดีตรัฐมนตรีเนชาเยฟชี้ให้เห็นจุดต่าง “แต่การลดราคาจากราคาตั้ง 70 เหรียญต่อบาร์เรลจะเป็นหนังคนละม้วนเลย”

 

“เศรษฐกิจรัสเซีย” จะถูกกัดกินอย่างช้าๆ

แม้ว่าเงินเฟ้อทั่วโลกจะเป็นผลดีกับภาคพลังงานของรัสเซีย แต่มันก็สร้างความเดือดร้อนให้คนรัสเซียเองด้วย เหมือนๆ กับที่เกิดขึ้นในยุโรป ชาวรัสเซียต่างต้องทนทุกข์กับวิกฤตค่าครองชีพ

“ถ้าเราเทียบมาตรฐานการครองชีพ ถ้าวัดกันด้วยรายได้ที่ได้รับจริงๆ ละก็ ตอนนี้เราเหมือนกับเดินถอยหลังไปประมาณ 10 ปี” เนชาเยฟกล่าว

(Photo : Shutterstock)

รัฐบาลรัสเซียพยายามจะแก้สถานการณ์ด้วยการใช้เงินคลังต่อสู้ เมื่อเดือนพฤษภาคม รัฐบาลประกาศจะเพิ่มเงินบำนาญและเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอีก 10%

รัฐบาลยังมีระบบที่ทำให้ลูกจ้างในบริษัทซึ่ง “จำต้องหยุดการดำเนินกิจการชั่วคราว” สามารถโอนย้ายไปอยู่กับบริษัทอื่นได้โดยไม่ต้องลาออกหรือฉีกสัญญาทำงานกับที่ทำงานเก่า รวมถึงรัฐบาลยังใช้เงิน 1.7 หมื่นล้านรูเบิล เพื่อซื้อหุ้นกู้ของสายการบินรัสเซียต่างๆ เป็นการพยุงภาวะวิกฤตของสายการบินจากการถูกแบนห้ามบินผ่านนานฟ้า และการคว่ำบาตรไม่ให้ซื้ออะไหล่ซ่อมเครื่องบินจากโรงงานผลิตในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม จุดที่หนักที่สุดที่คาดว่าจะซึมลึกในเศรษฐกิจระยะยาว คือการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยี เมื่อเดือนมิถุนายน “จีน่า ไรมอนโด” รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ บอกว่าการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปให้รัสเซียร่วงลง 90% ตั้งแต่เกิดสงคราม ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อการผลิตรถยนต์จนถึงคอมพิวเตอร์ ทำให้รัสเซียเสียความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยีลงไปอีก

“ผลกระทบจากการคว่ำบาตรจะเป็นผลซึมลึกมากกว่าการพังทลายครั้งเดียว” วีเฟอร์ ที่ปรึกษาทางธุรกิจกล่าว “รัสเซียมองเห็นแล้วด้วยว่า เป็นไปได้ที่ประเทศจะต้องเจอภาวะ stagnation”

เนชาเยฟยิ่งฟันธงลงไปมากกว่านั้นอีก “ขณะนี้เศรษฐกิจรัสเซียเริ่มต้นถดถอยแล้ว” เขากล่าวปิดท้าย

Source

]]>
1397972
ปตท. คลายข้อสงสัย ทำไมสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ถึงส่งผลต่อพลังงานโลก https://positioningmag.com/1388729 Wed, 22 Jun 2022 04:00:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1388729

ตอนนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่เจอกับปัญหาราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผลกระทบดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ซึ่งหลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าสถานการณ์ดังกล่าวนั้นทำไมถึงส่งผลต่อตลาดพลังงานทั่วโลก คุณดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. ได้กล่าวถึงประเด็น “สงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” กับพลังงานโลก” ให้คนไทยได้เข้าใจกัน


น้ำมันแพงเพราะผลิตน้อย ไม่ใช่เพราะคว่ำบาตร

หลายคนอาจไม่รู้ว่าทั่วโลกมีความต้องการใช้น้ำมันราว 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน และหลายคนอาจไม่รู้ด้วยว่า รัสเซีย เป็นผู้ผลิต น้ำมันดิบอันดับ 2 ของโลก โดยช่วงก่อนเกิดสงครามสามารถผลิตได้เฉลี่ย 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 11% ของความต้องการทั่วโลก ส่วนผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลกคือ สหรัฐอเมริกา โดยผลิตได้วันละ 11.5 ล้านบาร์เรล ส่วน อันดับ 3 ได้แก่ ซาอุดิอาราเบียโดยผลิตที่ 10.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

หากดูจากตัวเลขคงปฏิเสธไม่ได้ว่า รัสเซียถือเป็นประเทศที่สำคัญต่อพลังงานโลก แต่ตั้งแต่เกิดสงคราม ปริมาณการผลิตของรัสเซียก็ลดลงมาเหลืออยู่ราว 9-10 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น หรือหายไปประมาณ 1-2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ตัวเลขเหมือนจะน้อยแต่ก็ส่งผลกระทบหนักมาก เพราะแค่ประเทศไทยประเทศเดียวก็ใช้น้ำมันวันละ 1 ล้านบาร์เรลแล้ว

ประเด็นคือ ในขณะที่รัสเซียผลิตน้ำมันได้น้อยลง แต่ กลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ที่รวมแล้วคิดเป็นประมาณ 40% ของน้ำมันดิบโลก ไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อมาอุดช่องที่หายไปของรัสเซีย เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มโอเปก ได้พยายามจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันให้อยู่ในจุดที่เพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อให้ราคาน้ำมันไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ที่มีการใช้น้ำมันน้อย กลุ่มโอเปกก็ได้ลดกำลังการผลิตลง เพื่อประคองราคาน้ำมัน

แม้ว่าสหรัฐฯ จะพยายามกดดันให้ประเทศสมาชิกโอเปกพลัสที่เหลือเพิ่มกำลังการผลิต แต่ก็ไม่สามารถกดดันได้ เพราะต้องเกรงใจรัสเซีย ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกโอเปกพลัส ดังนั้น เมื่อรัสเซียผลิตได้น้อยลง กลุ่มโอเปกไม่ผลิตเพิ่ม ราคาน้ำมันก็ลงยาก เนื่องจากที่ผ่านมาปริมาณน้ำมันในตลาดอยู่ในจุดที่ต่ำกว่าความต้องการของตลาดนิดหน่อยอยู่ตั้งแต่แรกแล้ว จากความต้องการใช้น้ำมันที่ฟื้นตัวหลังจากโควิด-19


รัสเซียสำคัญเกินกว่าจะคว่ำบาตร

แม้จะมีการคว่ำบาตรเกิดขึ้นในหลาย ๆ ส่วน แต่ยังไม่มีประเทศไหนคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย 100% โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปที่ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียถึง 90% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ภายในประเทศ

โดยเฉลี่ยแล้ว ยุโรปนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอยู่ที่ราว 25-35% ส่วน ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 45% และ ถ่านหิน 45% โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 ยุโรปมีปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอยู่ที่ 37% และนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่แปรรูปเป็นของเหลวแล้วหรือ LNG อยู่ที่ 23% ซึ่งสาเหตุที่ยุโรปต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียก็เพราะรัสเซียมีท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค

หากประเทศในยุโรปตัดสินใจคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียทั้งหมดนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าจะมีการประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุปก็ตาม เพราะหากประเทศในยุโรปเลือกจะคว่ำบาตรรัสเซีย สิ่งที่ต้องเจอคือ ต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะต้องขนส่งมาทางเรือ อย่างน้ำมันที่เป็นของเหลวอาจจะไม่มีปัญหามาก แต่กับก๊าซธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก

หรือหากจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อรองรับการนำเข้าพลังงานจากประเทศอื่นก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ดังนั้น แค่สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกภาคส่วนอยู่แล้ว เนื่องจากราคาพลังงานที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น หากจะคว่ำบาตรก็จะยิ่งกระทบมากขึ้นไปอีก


ทำไมไทยไม่นำเข้าน้ำมันรัสเซียที่ลดราคา

สำหรับไทยเองนำเข้าน้ำมันกว่า 80% โดยจัดหาน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางประมาณ 55% ส่วนการนำเข้าจากรัสเซียประมาณ 5% เท่านั้น แต่เมื่อยุโรปมีปัญหาจากการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย ความต้องการก็จะหันไปยังภูมิภาคอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ ตะวันออกกลางอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง ไทยเองก็ได้ผลกระทบเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไทยเองก็ไม่สามารถนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียได้ แม้รัสเซียลดราคาน้ำมันดิบลง เพราะราคาไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะใช้ในการตัดสินใจ ยังมีประเด็นด้านคุณสมบัติของน้ำมันและการเมืองมาเกี่ยวข้อง เพราะหากเลือกซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ไทยอาจถูกมองว่าสนับสนุนสงคราม แม้แต่ เกาหลีและญี่ปุ่น ที่แหล่งส่งออกน้ำมันรัสเซียอยู่ติดกับ 2 ประเทศยังเลือกที่จะไม่ซื้อแม้จะได้ราคาที่ดีมากก็ตาม


ราคาน้ำมันไทยแพงเพราะอะไร

สำหรับราคาน้ำมันของบ้านเรา 67% มาจากราคาน้ำมัน 28% มาจากภาษีและกองทุนต่าง ๆ อีก 5% เป็นค่าการตลาด หลายคนคงสงสัยว่าทำไมต้องมีภาษีและหักเข้ากองทุน ซึ่งความจริงแล้วการหักเข้ากองทุนน้ำมันนั้นเป็นความจำเป็นเพื่อเป็นเกราะป้องกันหากเจอราคาน้ำมันที่สูงอย่างไม่คาดคิด ซึ่งส่วนนี้ได้นำมาช่วยเหลือให้สามารถตรึงราคาน้ำมัน รวมถึงอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม

สุดท้าย คุณดิษทัต กล่าวว่า จากมุมมองของนักค้าน้ำมันแล้ว สถานการณ์ของรัสเซีย-ยูเครนคงไม่จบลงเร็ว ๆ นี้ แปลว่าผลกระทบจะยังอยู่ต่อไปอย่างน้อยอีก 6 เดือน ดังนั้น ทั้งประเทศต้องช่วยกันบริหารจัดการเพื่อให้ราคาลดลงได้ รัฐเองต้องพยายามควบคุมราคาเพื่อให้ไม่กระทบต่อต้นทุนสินค้า ภาคประชาชนเองก็ช่วยได้โดยการลดใช้พลังงานในครัวเรือน โดยมีการวิจัยแล้วว่าช่วยให้ลดการใช้น้ำมันถึง 10% เลยทีเดียว

]]>
1388729
‘โอเปก’ เล็งถอด ‘รัสเซีย’ จากข้อตกลงผลิตเพื่อเปิดทางเพิ่มกำลังการผลิต https://positioningmag.com/1387461 Wed, 01 Jun 2022 12:29:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1387461 มีรายงานว่าผู้แทน องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก หรือ โอเปก (OPEC) มีความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในรัสเซีย และเริ่มพิจารณาระงับข้อตกลงการผลิตน้ำมัน เนื่องจากสงครามทำให้รัสเซียขาดความสามารถในการสูบน้ำมันดิบ

จากรายงานของ The Wall Street Journal ได้อ้างตัวแทนของ OPEC ที่ไม่เปิดเผยชื่อระบุว่า สมาชิกของกลุ่มพันธมิตรพลังงาน OPEC+ กำลังพิจารณาว่าจะระงับรัสเซียจากข้อตกลงการผลิตน้ำมันหรือไม่ เนี่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในรัสเซีย รวมถึงความสามารถในกำลังการผลิตน้ำมันดิบ

ที่ผ่านมา กลุ่ม OPEC+ ยังคงยึดมั่นในข้อตกลงเดิม ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 432,000 บาร์เรล/วัน แม้ว่าสหรัฐฯ และหลายประเทศจะเรียกร้องให้กลุ่ม OPEC+ เพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น หลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครน ซึ่งส่งผลต่อกำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศโดยมีการคาดการณ์ว่าการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียทั้งปีจะลดลง 8%

ทั้งนี้ การยกเว้นรัสเซียจากข้อตกลงการผลิตของโอเปกพลัสจะเปิดทางให้ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งสมาชิกรายอื่น ๆ ของโอเปกพลัส สามารถเพิ่มการผลิตน้ำมันได้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการผลิตของโอเปกพลัสและเพื่อชดเชยกำลังการผลิตที่หายไปของรัสเซีย

Source

]]>
1387461
ไม่จ่ายด้วยรูเบิลไม่ขาย! “รัสเซีย” ตัดการส่ง “ก๊าซธรรมชาติ” ให้เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ 4 ในยุโรป https://positioningmag.com/1387213 Tue, 31 May 2022 09:41:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1387213 Gazprom ผู้ขาย “ก๊าซธรรมชาติ” รัสเซียระบุ งดส่งก๊าซให้ “เนเธอร์แลนด์” แล้ว หลังผู้นำเข้าฝั่งดัตช์ไม่ยอมจ่ายด้วยเงินรูเบิลตามคำสั่งรัฐบาลรัสเซีย โดยเป็นประเทศที่ 4 ของยุโรปที่รัสเซียตัดการส่งก๊าซ คาดว่าเป้าหมายต่อไปคือ “เดนมาร์ก”

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซีย “Gazprom” ประกาศเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2022 ว่า บริษัทได้ระงับการส่งก๊าซธรรมชาติให้กับบริษัท GasTerra ผู้นำเข้าก๊าซของฝั่งเนเธอร์แลนด์เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากบริษัทคู่ค้า “ผิดพลาดในการชำระเงินเป็นสกุลเงินรูเบิล”

ตามคำสั่งรัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของ วลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2022 ปูตินออกคำสั่งให้การซื้อก๊าซธรรมชาติรัสเซียจะต้องชำระด้วยเงินรูเบิลเท่านั้น และในรายละเอียดการจ่ายเงินจะต้องเปิดบัญชีกับธนาคาร Gazprombank ในกรุงมอสโก พร้อมสำรองเงินด้วยสกุลเงินยูโรและรูเบิล

“GasTerra จะไม่ทำตามวิธีการชำระเงินที่ Gazprom เรียกร้อง” GasTerra กล่าวในแถลงการณ์ ทั้งนี้ บริษัทนี้มีรัฐบาลดัตช์ถือหุ้นอยู่บางส่วน และถือเป็นตัวแทนการค้าโดยรัฐ

“เหตุที่ไม่ทำตามเพราะเกรงว่าจะเป็นการละเมิดมติการคว่ำบาตรที่ EU กำหนด และเนื่องจากมีความเสี่ยงด้านการเงินและการปฏิบัติการที่มากเกินไป จากเส้นทางการชำระเงินที่คู่ค้ากำหนด” บริษัทระบุในแถลงดังกล่าว ซึ่งประกาศไปเมื่อวานนี้ “ในขณะนี้ การเปิดบัญชีในมอสโควตามกฎหมายรัสเซียและการปกครองของรัสเซียปัจจุบันจะสร้างความเสี่ยงมากเกินไป”

เมืองไอนด์โฮฟเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์

รัฐบาลดัตช์ระบุว่าทางภาครัฐเข้าใจการตัดสินใจของ GasTerra ที่จะไม่ทำตามข้อกำหนดการชำระเงินด้วยเงินรูเบิลของ Gazprom

“การตัดสินใจนี้จะไม่ส่งผลต่อเนื่องต่อซัพพลายก๊าซที่จะส่งให้บ้านเรือนชาวดัตช์” Rob Jetten รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและภูมิอากาศ กล่าวผ่านแพลตฟอร์ม Twitter ทั้งนี้ สำนักข่าว Reuters รายงานด้วยว่า เนเธอร์แลนด์พึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของการใช้ก๊าซทั้งประเทศ

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ระบุว่าประเทศยังมีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติเพียงพอในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวมีแผนจะนำเข้าก๊าซจากประเทศอื่นๆ นอกจากรัสเซียเพิ่มขึ้น

 

“เดนมาร์ก” อาจเป็นรายต่อไป

ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เดนมาร์ก” ก็น่าจะทำตามเนเธอร์แลนด์ เนื่องจาก Orsted บริษัทพลังงานของเดนมาร์ก เริ่มออกมาเตือนแล้วว่า Gazprom น่าจะตัดซัพพลายส่งก๊าซเพราะบริษัทเองก็ปฏิเสธจ่ายเงินในสกุลเงินรูเบิลไปแล้ว

Copenhagen City, Denmark, Scandinavia. Beautiful summer day

“เราไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายที่จะต้องทำตามที่คู่ค้ากำหนด และเราได้บอกกล่าวกับทาง Gazprom Export ไปหลายครั้งแล้วว่าเราจะไม่ทำ” Orsted กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวานนี้

Orsted คาดว่าบริษัทจะสามารถซื้อก๊าซจากตลาดก๊าซของยุโรปได้ ทั้งนี้ ทั้งเนเธอร์แลนด์และเดนมาร์กเป็นประเทศที่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติของตัวเองได้ และรัฐบาลเดนมาร์กเองก็มองว่าประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบจากการตัดการส่งก๊าซกะทันหันของรัสเซีย รวมถึงมีแผนฉุกเฉินสำหรับประเด็นนี้แล้ว

ก่อนจะมาถึงเนเธอร์แลนด์ Gazprom เริ่มตัดการส่งก๊าซให้กับประเทศในยุโรปมาแล้ว 3 ประเทศ คือ โปแลนด์ บัลแกเรีย และฟินแลนด์ เนื่องจากทั้งหมดปฏิเสธชำระเงินเป็นเงินรูเบิล

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทั้งยุโรปจะพร้อมใจกันไม่จ่ายเป็นเงินรูเบิลได้ในขณะนี้ เพราะผู้ซื้อรายใหญ่ เช่น Eni บริษัทของอิตาลี และ Uniper บริษัทของเยอรมนี ต่างก็ยอมตกลงเปิดบัญชี Gazprombank และจ่ายเงินตามข้อกำหนดที่รัสเซียต้องการไปแล้ว

Source

]]>
1387213
ทำได้จริงไหม! ‘อียู’ ประกาศคว่ำบาตร ‘น้ำมันรัสเซีย’ 90% ภายในปลายปีนี้ https://positioningmag.com/1387184 Tue, 31 May 2022 07:21:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1387184 ตั้งแต่ ‘รัสเซีย’ เปิดศึกเริ่มสงครามกับ ‘ยูเครน’ ราคาน้ำมันทั่วโลกก็พุ่งสูงขึ้น แต่ที่ราคาน้ำมันสูงหลายคนคิดว่าเป็นเพราะการ ‘คว่ำบาตร’ จาก ‘อียู’ (EU) หรือ ‘สหภาพยุโรป’ แต่ความเป็นจริงแล้วที่น้ำมันทั่วโลกแพงเป็นเพราะรัสเซียมีกำลังผลิตน้ำมันที่ลดลง จนทำให้ประเทศในยุโรปต้องไปดึงเอาน้ำมันจากประเทศผู้ผลิตอื่น แต่ล่าสุด อียูก็มีมติที่จะคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียจริง ๆ ภายในสิ้นปีนี้

หลังจากที่อียูได้เสนอเข้าร่วมกับสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ในการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซียเมื่อเดือนที่แล้ว ล่าสุดของอียู อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เปิดเผยว่า อียูมีมติในการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 90% ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อลดแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่สำหรับการทำสงครามกับยูเครน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคว่ำบาตรอื่น ๆ อาทิ การตัด Sberbank ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซียออกจากการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ SWIFT, ห้ามผู้แพร่ภาพกระจายเสียงของรัฐรัสเซียอีก 3 ราย และคว่ำบาตรบุคคลที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน

อย่างไรก็ตาม อียูจะยกเว้นมาตรการดังกล่าวกับประเทศ ฮังการี เนื่องจากประเทศไม่มีดินแดนติดทะเล ดังนั้น การขนส่งน้ำมันจึงทำได้ยากกว่าประเทศอื่น ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพิงการส่งน้ำมันดิบจากรัสเซียผ่านทางท่อส่งน้ำมัน

ที่ผ่านมา อียูกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซียมาแล้ว 5 ครั้ง นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เพื่อบีบให้รัสเซียหยุดก่อสงคราม อย่างไรก็ตาม พวกเขาประสบปัญหาในการแบนนำเข้าน้ำมันรัสเซีย เนื่องจากมันก่อความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรป

เนื่องจาก ยุโรปถือเป็นผู้ซื้อพลังงานรัสเซียรายใหญ่ที่สุด โดยในปี 2020 ยอดส่งออกน้ำมันดิบ 27% ของรัสเซียถูกส่งไปยังยุโรป หรือคิดเป็นประมาณ 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ประเทศ ฮังการี, สาธารณรัฐเช็ก และสโลวาเกีย ถือเป็น 3 ประเทศที่พึ่งพาน้ำมันของรัสเซียมากที่สุด โดยคิดเป็น 86%, 97% และ 100% ตามลำดับ

ทั้งนี้ รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 2 ของโลก โดยช่วงก่อนเกิดสงครามสามารถผลิตได้เฉลี่ย 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 11% ของความต้องการทั่วโลก แต่ตั้งแต่เกิดสงคราม ปริมาณการผลิตของรัสเซียก็ลดลงมาเหลืออยู่ราว 9-10 ล้านบาร์เรลต่อวัน เท่านั้น หรือหายไปประมาณ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงเพราะไม่เพียงพอต่อความต้องการ

Source

]]>
1387184
ต่างชาติถอนทุนจาก “รัสเซีย” แล้วกว่า 400 บริษัท แต่หลายแบรนด์ยังหย่าขาดไม่ได้เพราะเหตุนี้… https://positioningmag.com/1378207 Sat, 19 Mar 2022 07:14:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1378207 บริษัทต่างชาติถอนทุนออกจาก “รัสเซีย” แล้วกว่า 400 บริษัท ตามมาตรการร่วมกันคว่ำบาตรตอบโต้การทำสงคราม แต่หลายๆ แบรนด์ตะวันตกก็ยังออกจากรัสเซียไม่ได้ เพราะสัญญาสิทธิแฟรนไชส์ที่ซับซ้อน แบรนด์ใหญ่เหล่านี้ที่ยังต้องอยู่ต่อ เช่น Burger King, Subway, Marks & Spencer

วลาดิเมียร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดีแห่งยูเครน เพิ่งร้องขอสภาครองเกรสของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยขอให้แบรนด์ระดับโลกทั้งหมดหยุดดำเนินการในประเทศรัสเซีย ตลาดที่ ‘เต็มไปด้วยเลือด (ของชาวยูเครน)’ เพื่อสร้างความพยายามต่อเนื่องในการกดดันทางเศรษฐกิจ

ตั้งแต่รัสเซียเริ่มบุกประเทศยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 มีบริษัทมากกว่า 400 แห่งที่ประกาศถอนทุนออกจากรัสเซียแล้ว (ข้อมูลรวบรวมจากลิสต์ของ Yale School of Management)

อย่างไรก็ตาม สำหรับบางแบรนด์แล้ว การตัดขาดจากรัสเซียเป็นเรื่องที่พูดง่ายกว่าลงมือทำจริง

ฟาสต์ฟู้ดเชนใหญ่อย่าง Burger King และ Subway ร้านค้าปลีกจากอังกฤษ Mark & Spencer จนถึงเชนโรงแรม Accor และ Marriott เป็นหนึ่งในตัวอย่างบริษัทที่ไม่สามารถถอนตัวออกจากรัสเซียได้ง่ายๆ เนื่องจากมีการทำสัญญาสิทธิแฟรนไชส์ที่ซับซ้อน

“ไม่เหมือนกับกลุ่มบริษัทที่เข้าไปดำเนินการด้วยตนเอง หลายบริษัทข้ามชาติใช้วิธีทำสัญญาแฟรนไชส์ให้บริษัทที่น่าเชื่อถืออีกแห่งหนึ่งมีสิทธิบริหารในประเทศนั้นๆ โดยเป็นสัญญาที่ผูกพันระยะยาว” Dean Fournaris พาร์ตเนอร์บริษัทบริหารแฟรนไชส์ Wiggin and Dana กล่าวกับสำนักข่าว CNBC

Subway รัสเซีย หนึ่งในแบรนด์ที่ทำสัญญาแฟรนไชส์ ทำให้ปิดสาขาไม่ได้เลย และเจ้าของแบรนด์กำลังถูกกดดันจากผู้บริโภคตะวันตกอย่างหนัก (Photo: Shutterstock)

สัญญาที่เจ้าของแฟรนไชส์อนุญาตให้แฟรนไชซีเช่าแบรนด์ไปบริหารในพื้นที่หนึ่งๆ จะทำให้เจ้าของแบรนด์ขยายธุรกิจได้ง่ายกว่า แต่เมื่อเซ็นไปแล้ว เจ้าของแฟรนไชส์มักจะเหลือสิทธิควบคุมการปฏิบัติการได้น้อยลง

นั่นทำให้แบรนด์ที่บริหารด้วยระบบแฟรนไชส์ถอนตัวหรือปิดสาขารัสเซียได้ยาก ท่ามกลางกระแสเพื่อนๆ แบรนด์ตะวันตกอื่นที่ถอนออกไปแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางสังคมที่ต้องการต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย หรือเหตุผลของบริษัทเองที่เล็งเห็นว่าจะต้องประสบปัญหาการขนส่งซัพพลายต่างๆ

 

ทำได้แค่…หยุดการสนับสนุนจากบริษัท

สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ของเจ้าของแฟรนไชส์ เช่น Burger King ซึ่งมีบริษัท Restaurant Brands International เป็นเจ้าของ เมื่อสัปดาห์ก่อนบริษัทประกาศ “หยุดการสนับสนุนของบริษัท” ให้กับร้านแฟรนไชซี 800 กว่าสาขาในรัสเซีย และบริษัทจะไม่อนุมัติการขยายสาขาเพิ่มเติมในอนาคต แน่นอนว่าสาขาที่เปิดไปแล้วก็ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ ภายใต้การบริหารของบริษัทคู่สัญญาที่เป็นมาสเตอร์แฟรนไชซีในรัสเซีย

Subway ก็เช่นกัน บริษัทไม่มีการเปิดสาขาด้วยตนเองเลยในรัสเซีย แต่มีบริษัทรับแฟรนไชส์ไปบริหาร 450 สาขา ถ้าเทียบกันแล้ว McDonald’s นั้นเป็นเจ้าของสาขาส่วนใหญ่ในรัสเซียโดยตรง ทำให้บริษัทสามารถปิดการดำเนินการ 850 สาขาได้อย่างใจ (การปิดบริการนี้ทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน)

สาขาส่วนใหญ่ในรัสเซียของ McDonald’s บริหารแบรนด์โดยตรงจากบริษัทเอง ทำให้การสั่งปิดสาขาทำได้ง่ายกว่าแบรนด์ที่เปิดสัญญาแฟรนไชส์

“เราไม่มีสิทธิควบคุมแฟรนไชซีเหล่านี้ได้โดยตรง และมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการปฏิบัติการวันต่อวันอย่างจำกัด” Subway ชี้แจงในแถลงการณ์

ด้านร้านค้าปลีกอังกฤษ Mark & Spencer ระบุกับ CNBC ว่า บริษัทหยุดการส่งสินค้าให้กับแฟรนไชซีทั้ง 48 สาขาในรัสเซียแล้ว โดยผู้รับสิทธิส่วนนี้เป็นบริษัทตุรกี FiBA และทั้งสองบริษัทกำลังพูดคุยกันอยู่ว่า จะดำเนินกิจการแบรนด์นี้ต่อไปได้อย่างไร

เช่นเดียวกันกับแบรนด์โรงแรม Accor และ Marriott สิ่งที่บริษัททำได้คืองดการทำสัญญาเปิดโรงแรมใหม่ในรัสเซีย แต่โรงแรมที่เปิดไปแล้วก็ยังใช้แบรนด์ต่อไปได้

 

เสี่ยงถูกฟ้องร้อง vs แบรนด์เสียภาพลักษณ์

ขณะนี้แบรนด์ที่ยังหย่าขาดจากรัสเซียไม่ได้ถือว่าอยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงมาก เพราะหากพยายามที่จะปิดสาขาแฟรนไชส์หรือกระทำสิ่งใดที่ทำให้บริษัทแฟรนไชซีเสียโอกาสทางธุรกิจ ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการฟ้องร้องทางกฎหมายตามมา

ในทางกลับกัน แบรนด์ก็ต้องพยายามรักษาภาพลักษณ์ในระดับโลกไว้ ในช่วงที่คนทั่วโลกต่อต้านสงครามรัสเซีย-ยูเครน

Novotel Moscow Kievskaya ตัวอย่างโรงแรมแห่งหนึ่งในเครือ Accor ที่เปิดอยู่ในรัสเซีย

ทางออกในเชิงกฎหมายของแบรนด์เหล่านี้ อาจจะกล่าวอ้างเรื่องการซัพพลายวัตถุดิบหรือสินค้าเข้าไปยังรัสเซียที่ไม่สามารถทำได้หรือทำได้ลำบาก เนื่องจากการถูกคว่ำบาตรของรัสเซีย ซึ่งจะทำให้เจ้าของแฟรนไชส์ขอยกเลิกสัญญาได้

Craig Tractenberg พาร์ตเนอร์บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย Fox Rothschild ให้ความเห็นว่า แต่สุดท้ายแล้วแบรนด์ต้องมาถามตัวเองด้วยว่า ค่ายกเลิกสัญญาและความยุ่งยากทางกฎหมายทั้งหมด จะคุ้มค่ากับการรักษาแบรนด์ในระยะยาวหรือไม่ ตัดสินใจอย่างไรจึงจะดีกับแบรนด์มากที่สุด

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์นี้อาจจะนำไปสู่การร่างสัญญายุคใหม่ของการให้สิทธิแฟรนไชส์ เป็นไปได้ว่าในอนาคตสัญญาจะมีการระบุถึงความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ เช่น สงครามกลางเมือง การจลาจล หรือเหตุใดๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เจ้าของแบรนด์มีทางเลือกในการดึงแบรนด์ออกจากพื้นที่นั้นๆ

“เจ้าของเครื่องหมายการค้าอาจจะโต้กลับได้ว่า แบรนด์สามารถปิดตัวเองออกจากพื้นที่ดังกล่าว เพราะแบรนด์อาจได้รับความเสียหายหากดำเนินการต่อไป หรือช่วยเหลือสนับสนุนการกระทำที่เป็นอาชญากรรม” Tractenberg กล่าวปิดท้าย

Source

]]>
1378207