ตลาดหุ้นไทย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 21 Apr 2021 06:00:55 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 อ่าน 5 ข้อ ทำความเข้าใจธุรกิจ “เงินติดล้อ” ก่อนตัดสินใจลงทุนซื้อหุ้น TIDLOR https://positioningmag.com/1328451 Tue, 20 Apr 2021 13:09:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1328451 การระดมทุนครั้งใหญ่ของเงินติดล้อดึงความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยได้ไม่น้อยทีเดียว หลังเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เคาะราคาที่ 34.00-36.50 บาทต่อหุ้น เเละเปิดจองแบบ ‘Small Lot First’ ตามรอยหุ้น ‘OR’ ที่มียอดจองซื้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เเต่กรณีของเงินติดล้อจะเเตกต่างไปอย่างไร ต้องติดตาม

บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘TIDLOR’ ให้เปิดให้นักลงทุนสามารถจองซื้อหุ้น TIDLOR ผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวแทนจำหน่ายหุ้นทั้ง 3 ราย ในวันที่ 22-26 เมษายน 2564

จากนั้น TIDLOR จะประกาศราคา IPO และผลการจัดสรรหุ้นแก่นักลงทุนทั่วไปอย่างเป็นทางการวันที่ 28 เมษายน เเละจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรก 10 พฤษภาคม

สำหรับการเเจกจ่ายหุ้นเเบบ Small Lot First นั้นจะเป็นการเเจกจ่ายหุ้นให้ทั่วถึงผู้จองซื้อทุกคน ขั้นต่ำ 1,000 หุ้นในราคาเสนอขายสุงสุดที่ 36.50 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินขั้นต่ำอยู่ที่ 36,500 บาท

จากราคาเสนอขายหุ้น IPO เบื้องต้นที่ 34-36.50 บาท คาดว่าบริษัทจะสามารถระดมทุนราว 35,480-38,089 ล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) นับเป็น IPO ของหุ้นในหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุด 5 อันดับแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย จ่อติดอันดับใน SET50 ทันที 

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นผู้ลงทุนควรศึกษาธุรกิจนั้นๆ ให้รอบคอบ วันนี้ Positioning รวบรวมพื้นฐานธุรกิจ ความท้าทาย กลยุทธ์การเติบโต เเผนลงทุนต่อไป เเละรายละเอียดในการจองซื้อหุ้นของ ‘TIDLOR’ ไว้ดังนี้

รู้จักธุรกิจ ‘เงินติดล้อ’ 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2523 ครอบครัวเเก้วบุตตาเปิดตัวธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในจังหวัดเพชรบูรณ์ ในชื่อบริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ จำกัดเพื่อเจาะลูกค้าเกษตรกรที่ไม่เข้าถึงเเหล่งเงินทุน

จากนั้นกิจการดำเนินไปได้ด้วยดี จนปี 2534 สามารถขยายธุรกิจออกไปในจังหวัดอื่นๆ ราว 130 สาขา เเละเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด

ต่อมาในปี 2550 เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อ AIG Consumer Finance Group, Inc (AIG) จากสหรัฐฯ เข้าซื้อกิจการเเละเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัดเเละปรับโครงสร้างธุรกิจ รีเเบรนด์ใหม่ให้เป็นที่รู้จักในนามศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ

หลังขายกิจการไปเพียงหนึ่งปี (2551) ครอบครัวเเก้วบุตตาผู้ก่อตั้งศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อก็จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจเดียวกัน ในชื่อศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1972’ โดยใช้ชื่อแบรนด์ศรีสวัสดิ์ซึ่งปัจจุบันก็คือ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD นั่นเอง

ขณะเดียวกันในช่วงปี 2551 สหรัฐฯ เจอวิกฤตซับไพรม์ AIG จึงต้องขายหุ้น 100% ของศรีสวัสดิ์ให้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา’ (BAY) เเละต่อมาในปี 2559 บริษัท Siam Asia Credit Access Pte. Ltd. (SACA) เข้าซื้อหุ้น 50% จาก BAY เเละตอนนั้นมีการเพิ่มสาขาเป็นกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ

ในปี 2561 บริษัทตัดสินใจตัดคำว่าศรีสวัสดิ์ออกไป เพื่อป้องกันการสับสนกับคู่เเข่งเเละมุ่งปั้นเเบรนด์เงินติดล้อ’ ให้มีชื่อติดตลาด ปัจจุบันธุรกิจของเงินติดล้อ เเบ่งออกเป็น 2 หมวดหลักๆ ได้แก่

1.ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 

เงินติดล้อ เป็นผู้ให้บริการจำนำทะเบียนรถสินเชื่อจำนำทะเบียนรถรายใหญ่ที่สุดในไทย โดยรายได้รวมในปี 2563 กว่า 83% มาจาก ‘ดอกเบี้ยสินเชื่อ’ มีผลิตภัณฑ์หลากหลายทั้งกลุ่มสินเชื่อมอเตอร์ไซค์-รถยนต์ส่วนบุคคล เเละบัตรกดเงินสด

ล่าสุดมีสาขา 1,076 แห่ง ครอบคลุม 74 จังหวัด ตัวแทนขายมากกว่า 5,000 ราย พนักงานขายทางโทรศัพท์ 500 ราย ดีลเลอร์รถบรรทุกมือสอง 400 ราย เเละผ่านสาขาของ BAY อีก 680 แห่ง (ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563) รวมไปถึงการให้บริการในทุกช่องทางออนไลน์ อย่างเว็บไซต์ แอปพลิเคชันเงินติดล้อ ไลน์เเละเพจเฟซบุ๊ก ฯลฯ

2.ธุรกิจบริการนายหน้าประกันภัย

เเม้จะเปิดตัวมาได้เพียง 3 ปี เเต่ก็มีเเนวโน้มทำรายได้ให้บริษัทได้ดี ด้วยการครองมาร์เก็ตเเชร์ที่ 2% เป็นอันดับ 3 ในตลาดนายหน้าประกันภัยสำหรับรายย่อย มีผลิตภัณฑ์ทั้งประกันภัยรถยนต์ทุกประเภท ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันโรคมะเร็ง ฯลฯ โดยมีบริษัทประกันภัยพันธมิตร 18 ราย

ในปี 2562-2563 เบี้ยประกันวินาศภัยที่จัดเก็บได้มีอัตราเติบโตสูงกว่าการเติบโตของภาพรวมเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งตลาด 12.5 เท่า

โดยฐานลูกค้าของเงินติดล้อ เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท มีเงินหมุนเวียนไม่แน่นอนและประวัติข้อมูลทางการเงินจำกัด

รายได้เเละกำไรของ TIDLOR

  • ปี 2561 รายได้ 7,569 ล้านบาท กำไร 1,306 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 17.3% เงินให้กู้และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ 37,049.4 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้ 9,458 ล้านบาท กำไร 2,202 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 23.3% เงินให้กู้และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ 45,277.3 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้ 10,559 ล้านบาท กำไร 2,416 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 22.9% เงินให้กู้และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ 48,568 ล้านบาท

วีรภัทร์ วิริยะโกวิทยา ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ.เงินติดล้อ ระบุว่า บริษัทมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีของกำไรสุทธิอยู่ที่ 36%

โดยธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันของ TIDLOR มีการเติบโตต่อเนื่อง มียอดสินเชื่อคงค้างปีที่ผ่านมา 5.13 หมื่นล้านบาท จาก 3.97 หมื่นล้านบาท ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปีที่ผ่านมา

สำหรับโครงสร้างรายได้ปี 2563 มีสัดส่วนของรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืม คิดเป็นสัดส่วน 71% รายได้ดอกเบี้ยรับจากลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ คิดเป็น 11% รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการคิดเป็นสัดส่วน 17%

คาดการณ์ว่ารายได้จากดอกเบี้ยรับและค่าธรรมเนียมและบริการรวมในปีนี้จะอยู่ที่ 1.22 หมื่นล้านบาท เติบโต 16% จากปีก่อน และคาดกำไรสุทธิราว 3.45 พันล้านบาท เติบโต 15% ส่งผลให้มีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย 3 ปี ระหว่างปี 2562-2564 เท่ากับ 16%

ขณะที่ธุรกิจนายหน้าประกันภัยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นแรงผลักดันมูลค่าและการเติบโตที่สำคัญ โดยมีค่าเบี้ยประกันวินาศภัยปี 2563 ที่ระดับ 4.01 พันล้านบาท จาก 1.917 พันล้านบาท ในปี 2561

กางเเผน 3 ปี : ขยายสาขา-ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล 

วัตถุประสงค์ในการเปิดขายหุ้น IPO ให้ประชาชนครั้งนี้ เป็นไปเพื่อเพิ่มทุนสำหรับการขยายธุรกิจ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และชำระคืนหนี้สิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงสร้างเงินทุน

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เงินติดล้อ เผยถึงเเผนธุรกิจต่อไปว่า จะมีการขยายสาขาอีก 500 แห่งให้ได้ภายในปี 2566 ครอบคลุมการให้บริการในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มตัวแทนและพนักงานขายทางโทรศัพท์ ขยายสินเชื่อควบคู่ไปกับการบริการผ่านช่องทางออนไลน์ และลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนาแพลตฟอร์มทางการเงินและเปลี่ยนผ่านกระบวนการทำงานต่างๆ สู่ดิจิทัล

นอกจากนี้ เงินติดล้อยังมองหาโอกาสเติบโตจากการ ‘ควบรวมธุรกิจหรือการเข้าซื้อกิจการ’ ในเชิงกลยุทธ์เพื่อขยายผลิตภัณฑ์และการให้บริการ ทั้งในประเทศและตลาดอื่นในภูมิภาคอาเซียน

“บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตเฉลี่ย 15-20% ต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ขณะที่รายได้เสริมที่มาจากธุรกิจนายหน้าขายประกันวินาศภัยรายย่อย จะยังเห็นการเติบโตราว 40% ในช่วง 2-3 ปี”

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR

จัด Small Lot First ซื้อขั้นต่ำ 1,000 หุ้น

หุ้นสามัญ TIDLOR ที่จะเสนอขายจำนวนไม่เกิน 907,428,600 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนรวมกันไม่เกินร้อยละ 39.1 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด แบ่งออกเป็น

  • เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเงินติดล้อ จำนวนไม่เกิน 210,816,700 หุ้น
  • เสนอขายหุ้นสามัญเดิม โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวนไม่เกิน 284,144,300 หุ้น
  • เสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดย Siam Asia Credit Access Pte. Ltd. จำนวนไม่เกิน 412,467,600 หุ้น

สำหรับนักลงทุนรายย่อย TIDLOR จัดสรรหุ้นไว้ 46.5 ล้านหุ้น หรือมูลค่าราว 1,700 ล้านบาท เปิดให้นักลงทุนรายย่อยที่สนใจจองซื้อหุ้นได้ตั้งแต่ เวลา 09.00 น. ของวันที่ 22 เม.ย. 2564 ไปจนถึง เวลา 16.00 น. ของวันที่ 26 เมษายน 2564 (ในระยะเวลาดังกล่าวจองได้ตลอด 24 ชั่วโมง)

ซื้อขั้นต่ำ 1,000 หุ้น จ่ายเงินที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 36.50 บาท ด้วยเงิน 36,500 บาท (ไม่จำกัดจำนวนหุ้นที่จองซื้อต่อหนึ่งใบจอง) ผ่านช่องทางออนไลน์ ของตัวแทนจำหน่ายหุ้น 3 ราย ได้แก่

  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รายละเอียดการจองซื้อ คลิกที่นี่
  • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รายละเอียดการจองซื้อ คลิกที่นี่
  • และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (สำหรับบุคคลที่เป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เท่านั้น) รายละเอียดการจองซื้อ คลิกที่นี่

โดยจะมีประกาศผลผ่านทาง www.settrade.com ในวันที่ 28 เม.ย. เเละจะเข้าเปิดเทรดวันแรก 10 พฤษภาคม 2564

ในกรณีที่ราคาเสนอขาย IPO สุดท้ายต่ำกว่า 36.50 บาทต่อหุ้น นักลงทุนที่จองซื้อแต่ละรายจะได้รับคืนเงินส่วนต่างระหว่างราคา 36.50 บาทต่อหุ้น กับราคาเสนอขายสุดท้าย

(อ่านรายละเอียดและหนังสือชี้ชวนของเงินติดล้อได้ ที่นี่ )

ทั้งนี้ การจัดสรรเเบบ Small Lot First นักลงทุนรายย่อยที่จองซื้อและชำระเงินเเล้วทุกคนจะได้รับจัดสรรหุ้นในรอบแรกเป็นจำนวนขั้นต่ำที่ 1,000 หุ้น จากนั้นมีการจัดสรรหุ้นรอบละ 100 หุ้นต่อรายไปเรื่อย ๆ จนกว่าหุ้นทั้งหมดที่ออกจำหน่ายจะจัดสรรจนหมด โดยเศษที่เหลือในรอบสุดท้ายนั้นจะมีการแจกจ่ายโดยโปรแกรมสุ่ม

ต้องจับตา ‘ความเสี่ยง’ อะไรบ้าง ? 

จากบทวิเคราะห์ของ MGR Online ระบุว่า สิ่งที่น่าสนใจสำหรับหุ้น TIDLOR คือ ค่า P/E หุ้นของบริษัท โดยหากพิจารณากำไรสุทธิในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2563) ที่ 2.41 พันล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด 2.31 พันล้านหุ้น (Fully Diluted) (บนสมมติฐานว่ามีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 212.95 ล้าน หุ้น) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) เท่ากับ 1.04 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) ประมาณ 32.60-35.00 เท่า

โดยความเสี่ยงในธุรกิจของ TIDLOR ก็มีเช่น P/E ของหุ้นถือว่าสูงหากพิจารณากับผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน อย่าง MTC ที่ระดับ 26.63 เท่า ส่วน SAWAD ที่ระดับ 24.90 เท่า และมีที่สูงกว่า TIDLOR คือ SAK ที่ระดับ 40.29 เท่า และ TQM ที่ระดับ 54.91 เท่า

ด้านภาพรวมธุรกิจของบริษัทถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ทั้งธุรกิจให้สินเชื่อ และธุรกิจนายหน้าประกันภัย แม้จะส่วนแบ่งการตลาดในระดับที่สูง แต่ความเสี่ยงสำคัญของบริษัทคือ ‘กลุ่มลูกค้า’ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 10,000 บาท ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ใช้แรงงานและพนักงานบริษัท ทำให้บางส่วนมีรายได้หรือเงินหมุนเวียนที่ไม่แน่นอน และบางรายไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อของธนาคารได้ ทำให้อาจไม่สามารถประเมินความน่าเชื่อถือทางเครดิตของผู้กู้และความเพียงพอของการบริหารความเสี่ยง

ไม่เพียงเท่านี้ บริษัทจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการดำเนินธุรกิจ และดำรงการเติบโต แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจไม่สามารถติดตามทวงหนี้สินเชื่อค้างชำระได้

Photo : Shutterstock

ในช่วงต้นปี 2564 ทริสเรทติ้งประกาศ “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ระดับ A- ของ TIDLOR สืบเนื่องมาจากประกาศของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการออกและจำหน่ายหุ้นสามัญแก่ประชาชนเป็นครั้งแรกและการนำหุ้นสามัญของ TIDLOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายฐานการระดมทุนและเสริมความแข็งแกร่งให้แก่งบการเงินของบริษัททำให้มีเครดิตพินิจแนวโน้ม “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” หมายถึงสถานการณ์ด้านเครดิตดังกล่าวมีโอกาสที่จะส่งผลทั้งในทางบวกและลบต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท หรืออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวอาจคงอยู่ในระดับเดิมเท่ากับในช่วงก่อนการประกาศเครดิตพินิจก็ได้ เพราะคาดว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงมากสุดไม่ต่ำกว่า 30% จาก 50%

ในขณะที่ Siam Asia Credit Access Pte Ltd (SACA) จะลดการถือหุ้นมากสุดไม่ต่ำกว่า 25% จาก 50% หลังจากที่หุ้นของบริษัทมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว แม้ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทคือธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ SACA จะไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 1 ปีหลังจากบริษัทจดทะเบียน และในระยะปานกลาง ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็มีความประสงค์ที่จะคงระดับการถือหุ้นให้ไม่ต่ำกว่า 30% แม้ว่าจะผ่านระยะเวลาห้ามจำหน่ายหุ้นไปแล้วก็ตาม

อ่านฉบับเต็ม : “เงินติดล้อ” แม้แกร่งแต่เสี่ยง ธุรกิจแข่งขันสูง-กลุ่มลูกค้าน่าห่วง

 

ที่มา : sec.or.thngerntidlor.com , tidlorinvestor , MGR Online

 

]]>
1328451
มองโอกาสเเละความเสี่ยง ‘การลงทุน’ ปี 2564 เมื่อ ‘วัคซีน’ ปรับทิศเศรษฐกิจโลก https://positioningmag.com/1323070 Mon, 15 Mar 2021 03:00:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1323070

โลกหลังโควิด-19 ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย ‘วัคซีน’ กลายเป็นตัวชี้วัดสำคัญของทิสทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางตลาดที่ผันผวน ‘นักลงทุน’ ต้องเตรียมรับมือและวางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ให้ตามทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

แนวโน้มเศรษฐกิจ สถานการณ์โรคระบาดและธุรกิจท่องเที่ยวของปี 2564 จะส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร ความร้อนแรง ‘สกุลเงินดิจิทัล’ น่าสนใจเเค่ไหน ‘ทองคำ vs Bitcoin’ เลือกอะไรดี ตลาดหุ้นไทยเเละสินทรัพย์ที่น่าลงทุนในปีนี้มีอะไรบ้าง

วันนี้ Positioning จับประเด็นสำคัญจากงาน ‘THE WISDOM The Symbol of Your Vision: 2021 Economic Outlook & Investment Forum’ โดย  เดอะวิสดอม กสิกรไทย มาฝากกัน


เศรษฐกิจ ‘ฟื้นตัว’ บนความไม่เเน่นอน 

‘ขัตติยา อินทรวิชัย’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เเม่ทัพหญิงเเห่งค่าย KBank มองว่า เเม้สถานการณ์การเเพร่ระบาดโรคระบาดทั่วโลกจะมีเเนวโน้ม ‘ดีขึ้น’ กว่าปีก่อน เเต่ก็ยังเต็มไปด้วย ‘ความไม่เเน่นอน’ จากหลายปัจจัยโดยการเเพร่ระบาดการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในช่วงต้นปี ได้ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัว ทำให้ทิศทางของธุรกิจต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น

“แม้ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเท่ารอบเเรก เเต่ผลกระทบได้ขยายวงกว้าง ผู้ประกอบการเเละร้านค้าในห้าง ยังต้องเเบกต้นทุนเพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ลดลงกว่า 80-90%” 

ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม เเละอสังหาริมทรัพย์ ที่มีรายรับหายไปติดต่อกันนานกว่า 12 เดือน นับเป็นธุรกิจที่ต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพื่อพยุงให้พวกเขาอยู่รอดผ่านวิกฤตนี้ไปได้

โจทย์สำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จึงขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการควบคุมโควิด-19 ความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน เพื่อให้สังคมมี ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (herd immunity) ช่วงเวลาเเละนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การใช้ ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ เเละสิ่งที่ต้องจัดการหลังโควิด-19 ว่าจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาไทย ในปี 2564 จะมีราว 2 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เป็น ‘ไฮซีซั่น’ เเละเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับคนที่ทำงานในภาคท่องเที่ยวไทย จะต้องได้รับวัคซีนเเล้วอย่างน้อย 2.2 แสนโดส ก่อนช่วงเดือนตุลาคม

อ่านเพิ่มเติม : ความหวัง ‘ท่องเที่ยวไทย’ เร่งฉีดวัคซีนให้ทัน ‘ไฮซีซั่น’ รับต่างชาติ 2 ล้านคน ระวัง ‘หนี้ครัวเรือน’ พุ่ง

Photo : Shutterstock

ท่ามกลางความฝืดเคืองของเศรษฐกิจไทย KBank พบว่า เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากลูกค้า โดยประเมินจากความสามารถ  ‘คืนเงินกู้’  ได้ในสัดส่วนที่ดีกว่าที่คาดไว้ มีการกลับมาชำระหนี้ได้ดีขึ้น เเม้จะต้องเจอการเเพร่ระบาดรอบใหม่ในช่วงปลายปี 2563 ก็ตาม ซึ่งทางธนาคารจะยังดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องต่อไป

“ประเด็นวัคซีน และการผลักดันมาตรการต่างๆ ของทางการไทย ย่อมมีผลต่อแนวโน้มผลตอบแทนตราสารหนี้ อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า” 

โดยทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ควรจับตา คือนโยบายของผู้นำสหรัฐคนใหม่อย่าง ‘โจ ไบเดน’ ที่ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อฟื้นฟูประเทศ ซึ่งจะมีผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในระยะยาวปรับขึ้น  “คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะทยอยออกจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในปี 2565”

ส่วนราคาน้ำมันนั้นจะได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ ควบคู่กับการปรับลดกำลังการผลิตของตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อราคาทองคำมากนัก“จากเงื่อนไขเศรษฐกิจเเละปัจจัยความไม่เเน่นอน จะส่งผลต่อราคาสินทรัพย์แต่ละประเภทที่ต่างกัน นักลงทุนจะต้องจับจังหวะการลงทุนอย่างละเอียดเเละรอบคอบมากขึ้น พร้อมทั้งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”


ตลาดยังมีสภาพคล่อง ดอกเบี้ยต่ำ ดัน ‘คริปโต’ มาเเรง เเต่ ‘เสี่ยง’ 

เมื่อเจาะลึกไปที่ประเด็น ‘การลงทุน’ ในยามที่ตลาดมีความผันผวนสูง ‘ธิติ ตันติกุลานันท์’ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย ฉายภาพให้เห็นทิศทางเศรษฐกิจและตลาดเงิน ทั้งในปัจจุบันเเละระยะต่อไปว่า ตอนนี้เริ่มมี ‘ข่าวดี’ เรื่องการกระจายวัคซีน โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจหลักอย่าง สหรัฐฯ ฉีดไปแล้ว 25% ส่วนสหราชอาณาจักร 35% เเละคาดว่าจะครอบคลุม 70% จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

ขณะที่ในไทย คาดว่าจะมีการกระจายฉีดวัคซีนสู่ระดับ 50% ได้ ต้องใช้เวลาถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ ส่วนประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนก็ยังฉีดวัคซีนได้น้อย จึงมองว่า ‘ข่าวดี’ ของเศรษฐกิจไทยจริงๆ อาจจะได้เห็นกันในช่วงปีหน้า 

เเม้ว่าการกระจายวัคซีนของไทยจะยังไม่ถึงขั้นสร้าง ‘herd immunity’ ได้เร็วภายในปีนี้ ก็มองว่ารัฐมีความจำเป็นที่ต้องพิจารณา ‘การเปิดประเทศ’ เพราะไทยเป็นชาติที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงมากกว่า 10% ของ GDP ดังนั้นการเปิดประเทศนานถึง 2 ปี จึงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก

“แม้รายได้ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกจะลดลง แต่ราคาหุ้นกลับไม่ลดลงตามไปด้วย” 

โดยมองว่าการที่สภาพคล่องเยอะเกินไปก็ต้องระวัง เพราะคนจะไม่มองที่ความเสี่ยง เเต่จะไปเน้นหา ‘ผลตอบแทน’ ที่ได้มากขึ้น ยิ่งในช่วงที่ภาวะ ‘ดอกเบี้ยต่ำ’ เรายิ่งจะได้เห็นคนเเห่ไปเอาเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงอย่าง ‘คริปโตเคอเรนซี่’ สกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น

“การลงทุนใน Bitcoin ในช่วงปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 540% เพราะตอนนี้เงินไม่มีที่ไป ปัจจัยหลักๆ มาจากนักลงทุนสถาบันเเละบริษัท เจ้าใหญ่ลงมาเล่นเเบบ ‘ชุบตัว’ ใหม่ ส่งผลให้ราคาขึ้น ต่างจากเดิมที่เคยเป็นรายย่อย การลงทุนก็ต้องมีการกระจายพอร์ตมากขึ้น”

จากการสำรวจความคิดเห็นของเหล่ามหาเศรษฐีเอเชีย ของ Lombard Odier ร่วมกับ KBank Private Banking พบว่า ผู้มั่งคั่งกว่า 78% มองว่าภาวะดอกเบี้ยตํ่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกยุคหลังโควิด-19 และอาจดําเนินต่อเนื่องไปอีกทศวรรษ

อ่านเพิ่มเติม : เปิดความเห็น ‘เศรษฐีเอเชีย’ มองเทค บริหารเงินกงสี ความยั่งยืน ปรับพอร์ตลงทุนในตลาดผันผวน

สำหรับสถานการณ์ของ ‘ตลาดหุ้นไทย’ ตอนนี้ตลาดหุ้นอยู่ที่ราว 1500 จุด โดยปีนี้ประเมินว่า P/E Ratio (กำไรสุทธิต่อหุ้น) น่าจะอยู่ที่ราว 20-22 เท่า ซึ่งถือว่ายังสูงเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต ขณะที่นักลงทุนเองก็ ‘ยอมซื้อ’ ในราคาที่สูงขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในอดีต P/E ratio ของไทยอยู่ที่ 17 เท่า เเละปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 30 เท่า แม้รายได้จะตกลง 36% สะท้อนให้เห็นว่าเหล่านักลงทุนมองว่า เศรษฐกิจไทยจะผ่านวิกฤตนี้ไม่ไปได้ เพราะยังมีหลายบริษัทที่หลายธุรกิจที่ยังมีผลประกอบการที่เเข็งเเกร่ง

Photo : Shutterstock

ปี 2564 ลงทุนอะไรดี ? 

ด้านสินทรัพย์ที่น่าลงทุนเเละประเภทไหนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในปี 2564 นั้น ผู้บริหาร KBank มองว่าปียังเป็นช่วงที่ลงทุนลำบาก เพราะสินทรัพย์มีราคาเเพง ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เองก็ P/E ขึ้นมา 26 เท่า เเต่นักลงทุนก็ยังซื้อเพราะต้องหาผลตอบเเทนที่มากขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง

โดยในตลาดหุ้นไทย ธุรกิจที่จะฟื้นตัวได้ดีก็มี อย่างกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจพลังงาน ฯลฯ ขณะที่สินทรัพย์ที่มองว่ายังสามารถหาจังหวะลงทุนได้ คือ ทองและน้ำมัน

ส่วนคำถามที่ว่า ‘ทองคำ หรือ Bitcoin อะไรน่าจะลงกว่ากันนั้น ส่วนตัวของธิติมองว่า Bitcoin ก็เป็นการลงทุนตามเทรนด์ที่ยังไปต่อได้ เเต่มีความเสี่ยงเเละความผันผวนสูง เพราะทองคำมีสถิติเเละตัวชี้วัดของราคา เเต่ Bitcoin วิเคราะห์ไม่ได้เเละเงินดิจิทัลไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ราคาขึ้นลงตามดีมานด์เเละซัพพลาย

“ผู้ลงทุนต้องทำใจรับความเสี่ยงที่มากกว่า ยอมรับการสูญเสียเกือบทั้งจำนวนได้ จึงควรลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม ต้องมีเงินเย็นมากๆ เพื่อลงทุนระยะยาว เเต่ต้องติดตามความเป็นไปอย่างใกล้ชิด มีวินัยในการลงทุนเเละตัดสินใจตัดขาดทุนได้”

เมื่อโลกเปลี่ยนไป พฤติกรรมผู้คนเปลี่ยนไป เกิดธุรกิจใหม่เเละการปรับตัวของธุรกิจเก่าอย่างมากมาย ผู้ลงทุนจึงต้อง ‘เปลี่ยนวิธีคิดใหม่’ ตามไปด้วย

 

 

]]>
1323070
OR เข้าเทรด ‘วันแรก’ ราคาเปิดตลาด 26.50 บาทต่อหุ้น เหนือจอง 47.22% ปิดตลาดพุ่ง 29.25 บาท https://positioningmag.com/1318980 Thu, 11 Feb 2021 03:34:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1318980 วันนี้ (11 ก.พ.2564) บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ‘วันแรก’ จากราคาที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ 18 บาทต่อหุ้น ซึ่งการจัดสรรหุ้น IPO ให้ผู้ลงทุนทั่วไปจองซื้อเข้ามามีสูงถึง 5.3 แสนรายการ และได้รับการจัดสรรต่อรายสูงสุดไม่เกินคนละ 4,500 หุ้นนั้น

ราคาซื้อขายเปิดตลาดครั้งเเรกเเรก พบว่า ราคาเปิดตลาดที่ 26.50 บาทต่อหุ้น สูงกว่าราคาจอง 8.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 47.22% และมีราคาปิดตลาดที่ 29.25 บาท สูงกว่าราคาจอง 11.25 บาท หรือเพิ่มขึ้น 62.50% สวนทางหุ้นไทยวันนี้ ปิดตลาดบ่ายร่วง 8.59 จุด

โดยราคาสูงสุดของวันที่อยู่ที่ 29.50 บาท ราคาต่ำสุด 22.10 บาท ราคาเฉลี่ย 26.04 บาท ปริมาณซื้อขาย 1,818,768,462 หุ้น มีมูลค่าซื้อขาย 47,360,571.72 บาท ผลักดันให้ OR มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 339,592.50 ล้านบาท ติดอันดับ 11 บริษัทมูลค่าสูงสุดในประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่าราคาที่เหมาะสมจะอยู่ที่ราว 24 บาท ส่วน บล.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ คาดว่าราคาจะอยู่ระหว่าง 19.30-23.10 บาท

OR ประกอบธุรกิจน้ำมัน กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) รวมถึงกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ มีปั๊มน้ำมันเเบรนด์ดังอย่าง PTT Station เเละร้านกาแฟ Café Amazon , Texas Chicken เเละอีกมากมาย

OR ขายหุ้น IPO ให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก จำนวน 2,610 ล้านหุ้น รวมกรีนชูอีก 390 ล้านหุ้น เป็น 3,000 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 18 บาท โดยจัดสรรให้รายย่อย 1,036.94 ล้านหุ้น นักลงทุนสถาบันที่จองซื้อในประเทศไทย 1,213.05 ล้านหุ้น นักลงทุนสถาบันที่จองซื้อในต่างประเทศอีก 450 ล้านหุ้น และผู้ถือหุ้นเดิม ปตท. อีก 300 ล้านหุ้น

ด้านแผนการดำเนินงานของ OR บริษัทตั้งงบลงทุน 5 ปีข้างหน้า (2564-2568) ไว้ที่ 74,600 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนใน 3 ธุรกิจหลัก แบ่งเป็นลงทุนในธุรกิจน้ำมัน 34.6% ธุรกิจค้าปลีกและบริการอื่นๆ (Non-Oil) 28.6% ธุรกิจต่างประเทศ 21.8% และธุรกิจอื่นๆ รวมถึงจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอีก 15% เพื่อเป็นการเปิดโอกาสในธุรกิจใหม่

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : 7 ข้อ ทำความเข้าใจ ‘หุ้น OR’ ไขข้อสงสัย ‘ไม่มีพอร์ตหุ้น’ ก็ลงทุนได้

 

]]>
1318980
เปิดเเผน 3 ปี ‘กรุงศรี’ รุกอาเซียน ทุ่ม 8.5 พันล้านลงทุนดิจิทัล ดัน ‘เงินติดล้อ’ เข้าตลาดหุ้น https://positioningmag.com/1317776 Wed, 03 Feb 2021 13:11:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1317776 เเบงก์กรุงศรีประกาศแผนธุรกิจระยะกลาง 3 ปี รุกหนักลงทุนอาเซียน ไม่หวั่นความไม่เเน่นอนทางการเมือง ทุ่มงบดิจิทัล 8,000-8,500 ล้านบาทต่อปี ตั้งเป้าสินเชื่อโต 3-5% เน้นธุรกิจใหญ่ คุมหนี้เสียไม่เกิน 2.7% คงนโยบายตั้งสำรองสูง เดินหน้าส่ง ‘เงินติดล้อเข้า IPO ตลาดหุ้นไทย

กรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ประกาศแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ปี 2564 – 2566

เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAY กล่าวถึง ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า การเติบโตยังคงชะลอตัว จากผลกระทบของการระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ เเต่ก็ยังมีปัจจัยหนุนให้เติบโตได้ อย่าง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เเละการกระจายวัคซีน

ความท้าทายที่สุดของปีนี้ ยังคงเป็นเรื่อง COVID-19 คาดว่าในช่วงไตรมาส 2 กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะกลับมาเเละฟื้นตัวดีขึ้น

โดยแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ดังกล่าว จะเน้นให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีขึ้น ควบคู่กับการเร่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดใหม่ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ผ่านกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ 5 ประการได้เเก่

1) ปฏิรูปธุรกิจลูกค้ารายย่อยให้เป็นหนึ่งเดียว (One Retail Transformation) โดยอาศัยฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ของกรุงศรี เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้า

2) เสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้านลูกค้าธุรกิจ (Commercial Business Enhancement) ผ่านการเร่งสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับห่วงโซ่ธุรกิจและการให้บริการข้ามกลุ่มลูกค้า

3) สร้างระบบนิเวศของกรุงศรีเองและการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ (Ecosystem and Partnership) เพื่อขยายฐานลูกค้า

4) ขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Expansion) เปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สำหรับกรุงศรีและลูกค้าในตลาดอาเซียน โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการลงทุนและการช่วยเหลือลูกค้าในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในอาเซียน

5) การสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ (New Revenue Stream) โดยอาศัยความแข็งแกร่งและศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของกรุงศรีในการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นใหม่ๆ

เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ทุ่มงบดิจิทัล 8,000-8,500 ล้านบาทต่อปี

ซีอีโอกรุงศรี มองว่า การพัฒนาศักยภาพทางด้านดิจิทัล เป็นหัวใจสำคัญในการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่เเละจะช่วยผลักดันกลยุทธ์ต่างๆ ให้ไปสู่เป้าหมาย เพราะต่อไป ‘องค์กรจะขับเคลื่อนด้วยข้อมูล’

ธนาคารจึงได้ตั้บงบประมาณในการลงทุนด้านไอที ราว 8,000-8,500 ล้านบาทต่อปี โดยส่วนใหญ่จะลงทุนในด้าน ‘Big Data’ พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างระบบนิเวศเทคโนโลยี และต่อยอดการเป็น ‘ดิจิทัลเเบงกิ้ง’ เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดต่างประเทศ

ตั้งเป้าสินเชื่อ 3-5% เน้นธุรกิจใหญ่

สำหรับเป้าหมายทางการเงินในปี 2564 กรุงศรีฯ หวังว่า การเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ระดับ 3-5% ซึ่งจะเน้นไปที่สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ราว 5-6% และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และรายย่อยอยู่ที่ 3-4%

ด้านต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 3.1-3.3% การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา และจะพยายามควบคุมคุณภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้ไม่เกิน 2.7%

ขณะที่การตั้ง ‘สำรองหนี้สงสัยจะสูญ’ ในปีนี้ กรุงศรียังใช้นโยบายการตั้งสำรองในระดับสูงเช่นเดิม เเต่ตัวเลขน่าจะต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ รายงานผลประกอบการในปี 2563 กรุงศรีมีกำไรสุทธิจำนวน 23,040 ล้านบาท ลดลง 14.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ 42.52% สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 2% และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 175.12% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนอยู่ที่ 19.10%

Photo : Shutterstock

ดันขาย IPO เงินติดล้อ 

สำหรับความคืบหน้าการเข้าตลาดหุ้นไทยของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ NTL ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าของธนาคารกรุงศรีที่ถือหุ้นอยู่ 50% และ Siam Asia Credit Access Ple Ltd (SACA) ถือหุ้นอยู่ 50%

ดวงดาว วงศ์พนิตกฤต ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการออกและเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) และจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

“ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอสำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติไฟลิ่ง คาดว่าจะใช้เวลาในการอนุมัติใน 6 เดือน ซึ่งภายหลังการอนุมัติ บริษัทจะดำเนินการภายในเวลาอีก 1 ปี ดังนั้นระยะเวลาปิดรายการแล้วเสร็จ น่าจะเห็นภายในสิ้นปีนี้ หรือกลางปี 2565” 

ด้าน ‘ราคา’ กำลังพิจารณาอยู่นั้น ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะต้องดูความสนใจของตลาดเเละมหาชนเป็นหลัก โดยกรุงศรีจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเป็นไม่ต่ำกว่า 30%

รุกลงทุนอาเซียน ไม่หวั่นการเมือง ‘ไม่เเน่นอน’

สำหรับเศรษฐกิจในอาเซียนนั้น กรุงศรี ประเมินว่า จะมีการฟื้นตัวเร็ว เเละจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่น ด้วยอานิสงส์จากต่างประเทศ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การลงทุนของภาครัฐ และการขยายเศรษฐกิจสู่ระดับภูมิภาค โดยมองว่าตลาดอาเซียนจะเติบโตสูง หลังวิกฤตโรคระบาด

ส่วนเศรษฐกิจโลก จะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ความเสี่ยงในภาคอุตสาหกรรมบริการเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ความแข็งแกร่งของภาคการผลิต ประกอบกับมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะยังคงเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่า ความไม่เเน่นอนทางการเมืองในอาเซียน ส่งผลต่อการลงทุนของธนาคารหรือไม่นั้น ผู้บริหารกรุงศรีตอบว่า

“การลงทุนในประเทศ Emerging Market ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการเมืองที่ไม่เเน่นอน เเต่ไม่ได้ทำให้เป้าหมายใหญ่เปลี่ยนไป เพราะธนาคารเน้นมองในภาพใหญ่และเป็นเป้าหมายในระยะยาวมากกว่า ซึ่งตลาดอาเซียนมีเเนวโน้มเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปเเละเป็นโอกาสสำคัญในการลงทุน” 

เเผนการขยายธุรกิจในอาเซียนของธนาคารกรุงศรีฯ

ในปีที่ผ่านมา กรุงศรีขยายฐานธุรกิจไปยังภูมิภาคอาเซียน เช่น การยกระดับ Hattha Kaksekar Ltd. บริษัทไมโครไฟแนนซ์เครือกรุงศรีในกัมพูชาขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ Hattha Bank Plc. รวมถึงการเข้าซื้อหุ้น 50% ในบริษัท SB Finance Company, Inc. (SBF) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ Security Bank Corporation (SBC) หนึ่งในธนาคารชั้นนำของฟิลิปปินส์ การลงทุนและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับ Grab

โดยจะเน้นไปที่ตลาด ‘สินเชื่อรายย่อย’ เพื่อเข้าถึงประชากรในอาเซียนที่มีจำนวนมาก ในยามที่คู่เเข่งยังไม่เยอะ

 

 

]]>
1317776
อ่าน 8 ข้อ ทำความเข้าใจธุรกิจ “เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น SCGP https://positioningmag.com/1298532 Thu, 24 Sep 2020 11:16:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1298532 บิ๊กธุรกิจบรรจุภัณฑ์อย่าง บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เตรียมระดมทุนในตลาดหุ้นไทยวันแรกเดือน ต..นี้ เพื่อขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เคาะราคาเปิดขายหุ้น IPO ออกมาแล้วเบื้องต้นที่ 33.50-35.00 บาทต่อหุ้น เปิดให้จองซื้อในวันที่ 28 .. – 7 .. (ขึ้นอยู่กับประเภทของผู้จองซื้อ) คาดระดมทุนได้ 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นหุ้นที่น่าจับตามองของปีนี้ ท่ามกลางตลาดที่กำลังซบเซา 

ช่วงนี้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ หรือเเพ็กเกจจิ้งเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเดลิเวอรี่เฟื่องฟูจากอานิสงส์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ อีกทั้งเทรนด์รักษ์โลกเเละการลดใช้พลาสติกที่กำลังเเพร่หลาย ก็สร้างความท้าทายให้เหล่าผู้ผลิตต้องปรับตัวขนานใหญ่ โดย SCGP ถือเป็นเจ้าใหญ่ที่ครองตลาดอาเซียนถึง 36%

Positioning ขอสรุปพื้นฐานธุรกิจ เเผนเเละกลยุทธ์การเติบโต รายละเอียดไทม์ไลน์ของหุ้น IPO เเละภาพรวมอุตฯ บรรจุภัณฑ์ในอาเซียน จากการแถลงของวิชาญ จิตร์ภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้งเเละทีมผู้บริหาร เบื้องต้นไว้ดังนี้

อนาคต เเพ็กเกจจิ้ง “อาเซียน” 

ภาพรวมธุรกิจบรรจุภัณฑ์ทุกประเภทในภูมิภาคอาเซียน มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่ารวมกว่า 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 ซึ่งคาดว่าในช่วง 6 ปี (ปี 2561-2567) จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 6.1% หรือมีมูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์รวมอยู่ที่ 72,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567

อาเซียน ถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคนและมี 4 เมกะเทรนด์ที่จะส่งผลดีต่อปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ อย่าง

  • อัตราการบริโภคบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์จากพอลิเมอร์ที่เพิ่มขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรและไลฟ์สไตล์
  • ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่กำลังเติบโตเฉลี่ย 26% ต่อปี และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
  • การเติบโตของธุรกิจเดลิเวอรี่

ขณะเดียวกัน ปัจจัยหนุนของการเพิ่มขึ้นของประชากร “วัยหนุ่มสาวรายได้ปานกลาง” ในอาเซียน เช่น เวียดนาม ก็เป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้างเเพ็กเกจจิ้งที่มีความเเตกต่างเเละเป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อมมากขึ้น

ส่องธุรกิจ SCGP

เอสซีจี เริ่มต้นธุรกิจเยื่อและกระดาษในปี 2518 ภายใต้บริษัท The Siam Pulp and Paper ช่วง 30 ปีแรก ทำกระดาษบรรจุภัณฑ์ เยื่อกระดาษ บรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก กระดาษพิมพ์เขียน เริ่มขยายธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ไปในอาเซียน โดยประเทศเเรก ฟิลิปปินส์ จากนั้นช่วงปี 2549-2557 ขยายไปยังเวียดนามและอินโดนีเซีย ก่อนจะลงทุนลงทุนบรรจุภัณฑ์วัตถุดิบ Polymer เเละรีแบรนด์เป็น SCG Paper ในปี 2557

จากนั้นตั้งเเต่ปี 2558 ถึงปัจจุบันมีการรีแบรนด์อีกครั้ง จาก SCG Paper เป็น SCG Packaging ครองส่วนแบ่งในตลาดอาเซียน 36% มีบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดราว 120,000 รายการ มีลูกค้าราว 4,000 ราย ผลิตตั้งแต่กล่องกระดาษลูกฟูก กล่องพิมพ์เพื่อแสดงสินค้า ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว บรรจุภัณฑ์แบบคงรูป

โดยสินค้ายอดนิยมตอนนี้ คือ “กระดาษบรรจุภัณฑ์” (Packaging Paper) เเละ “ถุงกระดาษรีไซเคิล” สําหรับสินค้าอุปโภคบริโภค และถุงอุตสาหกรรม

ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2563 มีรายได้จากการขายรวม 45,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากอานิสงส์การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ฟู้ดเดลิเวอรี่ อาหารส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและสุขอนามัย

ขณะที่ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-62) มีรายได้จากการขายเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.1% และมีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ยปีละ 15.2% ในปี 62 มีรายได้จากการขาย 8.9 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5.89 พันล้านบาท ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีรายได้จากการขาย 4.59 หมื่นล้านบาท เติบโต 10.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 4.2 พันล้านบาท เติบโต 45.6% จากงวดปีก่อน

ด้านสัดส่วนรายได้จากยอดขายทั้งหมดของ SCGP จากข้อมูลครี่งปีเเรก 2563 เเบ่งเป็นตามประเทศ ได้เเก่ ไทย 52% ประเทศอื่นในอาเซียน (อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์) 28% เเละประเทศอื่นๆ 20% หากเเบ่งตามสายผลิตภัณฑ์ ได้เเก่ กระดาษบรรจุภัณฑ์ 51% ผลิตภัณฑ์ขั้นปลายน้ำ 33% เเละสายธุรกิจเยื่อกระดาษ 16% 

ขณะที่หากเเบ่งเป็นตามประเภทธุรกิจของบรรจุภัณฑ์ ได้เเก่ อาหารเเละเครื่องดื่ม 42% ธุรกิจอื่นๆ 31% สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการจำหน่ายเร็ว (FMCG) อุปกรณ์เเละอิเลกทรอนิกส์ 13%

SCGP มีหน่วยงาน Inspired Studio ออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยมีนักออกแบบ 36 คน มีนักวิจัยและพัฒนา 90 คน  นักค้นคว้าและวิจัย 12 คนเเละพนักงานขายและบริการลูกค้า 500 คน ปัจจุบันได้จดทะเบียนสิทธิบัตรกับกระทรวงพาณิชย์ 66 รายการ

บุกอาเซียนเต็มสูบ 

กลยุทธ์ต่อไปของ SCGP หลักๆ จะเน้นไปที่การ “ขยายลงทุนอาเซียน” โดยในปี 2563 บริษัทได้ทำการเจรจาและลงนามในสัญญาซื้อหุ้นกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ในเวียดนาม เเละกำลังอยู่ระหว่างขยายกำลังผลิตอีก 4 โครงการใช้งบลงทุนรวมกว่า 8,200 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2563–2564 ทั้งนี้ SCGP มีโรงงานอยู่เเล้ว 40 แห่งใน 5 ประเทศอาเซียน คือ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์เเละมาเลเซีย 

โดยเเบ่งงบลงทุนอย่างละเอียด ได้เเก่

  • เวียดนาม – ขยายกำลังผลิตบรรจุภัณฑ์เเบบอ่อนตัว เงินลงทุน 543 ล้านบาท คาดเเล้วเสร็จไตรมาส 3/2563
  • อินโดนีเซีย – ขยายกำลังผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ เงินลงทุน 1,735 ล้านบาท คาดเเล้วเสร็จไตรมาส 1/2564
  • ฟิลิปปินส์ – ขยายกำลังผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ เงินลงทุน 5,388 ล้านบาท คาดเเล้วเสร็จไตรมาส 2/2564
  • ไทย – ขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์เเบบอ่อนตัว เงินลงทุน 600 ล้านบาท คาดเเล้วเสร็จไตรมาส 3/2564

ที่ผ่านมา SCGP มีการปรับโมเดลธุรกิจของ SCGP จากอุตสาหกรรมการผลิตสู่การเป็น Packaging Solutions Provider มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบ B2B B2B2C และ B2C เน้นเร่งขยายไลน์บรรจุภัณฑ์ให้ครบวงจรมากขึ้นตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ด้วยโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน นำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด เป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้กว่า 95%

ผู้บริหาร SCGP มองตลาดบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยช่วงครึ่งปีหลังว่า จะยังคงมีการเติบโตท่ามกลางความท้าทายของภาวะเศรษฐกิจ โดยภาคธุรกิจต่างๆ เริ่มทยอยกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง

“คาดว่าจะส่งผลดีต่อการอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะสินค้าอาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเพื่อการดูแลสุขภาพ เเต่กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมยานยนต์ จะยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากเป็นสินค้าคงทนและมีมูลค่าสูง” 

เตรียมขึ้นเป็น SET50

ผู้บริหาร SCGP ระบุว่า การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้จะนำเงินเพื่อขยายธุรกิจ ทั้งในรูปแบบการขยายกำลังการผลิต การร่วมทุน การเข้าซื้อกิจการ การชำระคืนเงินกู้ยืม และสำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ

“ประมาณการเบื้องต้นของมูลค่าตลาดของบริษัทจะอยู่ที่ราว 1.4 แสนล้านบาท มีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าไปอยู่ใน SET50 ตั้งแต่วันแรกๆ ที่จะเข้าเทรดตามกฎตลาดหลักทรัพย์” 

SCGP จะเป็นหุ้น IPO ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในเดือนต.ค.2563 ซึ่งจะมีการกำหนดราคาซื้อขายวันสุดท้าย วันที่ 8 ต.ค.ที่จะถึงนี้ โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และมีบล.ไทยพาณิชย์ บล.บัวหลวง เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

เคาะ 33.50-35.00 บาท/หุ้น รายย่อยขั้นต่ำ 1,000 หุ้น 

โดยหุ้น SCGP จะจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หมวด “บรรจุภัณฑ์” ซึ่งจะมีการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ไม่เกิน 1,296.68 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวนไม่เกิน 1,127.55 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.5% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด ส่วนที่เหลือไม่เกิน 169.1 ล้านหุ้น จะเป็นการขายหุ้นส่วนเกิน (Green Shore)

วีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า ช่วงราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ SCGP ที่กำหนดไว้ 33.50-35.00 บาท/หุ้น นับว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ มี P/E ที่ราว 22-23 เท่า เชื่อว่าผลประกอบการของ SCGP ยังมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นต่อไปในอนาคต

สำหรับช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นสำหรับหุ้น IPO ของ SCGP กำหนดที่ 33.50 -35.00 บาทต่อหุ้นนี้ “นักลงทุนรายย่อย” ต้องจองซื้อที่ 35.00 บาทต่อหุ้น ขั้นต่ำที่ 1,000 หุ้น มูลค่า 35,000 บาท และหากช่วงกำหนดราคาซื้อขายวันสุดท้ายวันที่ 8 ต.ค. ต่ำกว่าราคา 35 บาท หรืออาจมีคนเข้ามาจองซื้อมากจนล้นก็จะไม่สามารถจัดสรรให้ได้เต็มจำนวน ซึ่งส่วนเกินดังกล่าวบริษัทจะมีการคืนเงินให้กับผู้จองซื้อหลังจากปิดการจำหน่ายแล้ว

นักลงทุนสถาบัน เซ็นสัญญาซื้อเเล้ว 60% 

การเสนอขายหุ้นของ SCGP ครั้งนี้ ได้รับความสนใจจาก “นักลงทุนสถาบัน” โดยมีกลุ่มนักลงทุนหลักแบบเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) จำนวน 18 ราย ได้ลงนามในสัญญา Cornerstone Placing Agreement รวมทั้งสิ้น 676.53 ล้านหุ้น หรือ ประมาณ 60% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอ IPO

ประกอบด้วย นักลงทุนสถาบันในประเทศ 14 รายรวมทั้งสิ้น 600 ล้านหุ้น ได้เเก่ 1.บลจ.บัวหลวง จำนวน 135 ล้านหุ้น 2.บลจ.กสิกรไทย จำนวน 135 ล้านหุ้น 3.บลจ.ไทยพาณิชย์ จำนวน 81 ล้านหุ้น 4.บลจ.เอ็มเอฟซี จำนวน 63 ล้านหุ้น 5.บลจ.ทิสโก้ จำนวน 42 ล้านหุ้น 6.บลจ.กรุงไทย จำนวน 37 ล้านหุ้น

7.บลจ.ยูโอบี(ประเทศไทย) จำนวน 26 ล้านหุ้น 8.บลจ.ธนชาต จำนวน 25 ล้านหุ้น 9.บมจ.ไทยประกันชีวิต จำนวน 13 ล้านหุ้น 10.บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำนวน 11 ล้านหุ้น 11.บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต จำนวน 8 ล้านหุ้น 12.บลจ.พรินซิเพิล จำนวน 8 ล้านหุ้น 13.บลจ.ภัทร จำนวน 8 ล้านหุ้น 14.บลจ.วรรณ จำนวน 8 ล้านหุ้น

ส่วนที่เหลือ 4 รายเป็นนักลงทุนสถาบันต่างประเทศรวม 76.53 ล้านหุ้น คือ 1.Avanda Investment Management Pte Ltd จำนวน 27 ล้านหุ้น 2.NTAsian Discovery Master Fund จำนวน 23 ล้านหุ้น 3.Ghisallo Master Fund LP จำนวน 13.265 ล้านหุ้น 4. Tydor Systematic Tactical Trading LP จำนวน 13.265 ล้านหุ้น

เเละที่เหลืออีก 15% จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น 15% และอีก 25% จัดสรรให้ผู้มีอุปการคุณของ SCGP และผู้ถือหุ้นกู้ของ SCC และลูกค้าของผู้จัดการจำหน่ายและการรับประกันรวมทั้งหมด 11 แห่ง

ระยะเวลาจองซื้อ

สำหรับกำหนดระยะเวลาจองซื้อของผู้จองซื้อแต่ละประเภท มีดังนี้

  • ผู้ถือหุ้น SCC, ผู้ถือหุ้น SCGP, ผู้มีอุปการคุณของ SCGP รวมถึงผู้ถือหุ้นกู้ SCC สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 28 ก.ย.- 2 ต.ค.2563 (เฉพาะวันทำการ)
  • ผู้จองซื้อรายย่อย สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 1,2 และ 5 ต.ค.2563 โดยจองซื้อขั้นต่ำที่ 1,000 หุ้น มูลค่า 35,000 บาท วิธีการจัดสรรจะเป็นลักษณะ Small Lot First ทุกคนจะได้หุ้นเพียงแต่จะแจกเป็นรอบๆ จนกระทั่งหุ้นหมด
  • บุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 5-7 ต.ค. 2563

คาดระดมทุนได้ 4.3-4.5 หมื่นล้าน

กุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน SCGP กล่าวว่า การระดมทุนครั้งนี้ จะได้เงินมาประมาณ 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท (รวมหุ้นส่วนเกิน) โดยจำนวนเงิน 27,000 ล้านบาท หรือราว 60% ที่จะใช้ในการขยายการเติบโตของธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการเติบโตแบบ Organic ซึ่งได้ลงทุนรวมไปกว่า 8,200 ล้านบาท ในการขยาย 4 โครงการในประเทศอาเซียน ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ด้านความแข็งแกร่งทางการเงิน มีหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.9 เท่า เมื่อได้เงินจากการระดมทุนครั้งนี้ จะใช้เงินบางส่วนในการลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน เพื่อให้งบการเงินมีความแข็งแกร่งที่จะเติบโตต่อไป ซึ่งบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลขั้นต่ำ 20% ของกำไรสุทธิ

ในเมื่อธุรกิจเเพ็กเกจจิ้งมีเเนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่อง เเต่อะไรคือความท้าทายของ SCGP กุลเชฏฐ์  ตอบว่า “ความท้าทายของธุรกิจเรา คือการหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็ว ดังนั้นการปรับตัวขององค์กร ผู้บริหารเเละทีมงานให้ทัน จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ ” 

 

]]>
1298532
“เซ็นทรัล รีเทล” ทุ่ม 1.2 หมื่นล้าน เข้าซื้อ COL บริษัทแม่ OfficeMate-B2S พร้อมเพิกถอนจาก SET https://positioningmag.com/1297041 Tue, 15 Sep 2020 05:21:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1297041 ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง “เซ็นทรัล รีเทล” ขยายธุรกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น ประกาศเข้าซื้อกิจการของ COL บริษัทแม่ของ OfficeMate และ B2S ร้านหนังสือชื่อดัง มูลค่ากว่า 12,160 ล้านบาท หรือหุ้นละ 19 บาท พร้อมเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดเสร็จสมบูรณ์ช่วงไตรมาส 1/64

บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติการเข้าซื้อกิจการ บมจ.ซีโอแอล (COL) โดยบริษัท พีบีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยจะเป็นผู้ทำคำเสนอซื้อ โดยการทำคำเสนอซื้อหุ้น COL ทั้งหมดเพื่อเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งจะเป็นการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด 100% ใน COL ในราคาหุ้นละ 19 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 12,160 ล้านบาท โดยคาดว่ากระบวนการทำคำเสนอซื้อและการเพิกถอนหลักทรัพย์ของ COL จะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงไตรมาส 1/64

โดยเหตุผลการเข้าซื้อ COL ของ CRC นั้นเป็นไปเพื่อรองรับการประกอบธุรกิจค้าปลีกให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทในการต่อยอดความเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจค้าปลีกหลายประเภทผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการเข้าซื้อกิจการ (Inorganic Growth) สำหรับเงินลงทุนอาจมาจากเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ หรือเงินกู้ยืมจากบริษัทในกลุ่มบริษัท หรือสถาบันการเงิน

สำหรับ COL ประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงาน หนังสือ สื่อบันเทิง และสินค้าไลฟ์สไตล์ ผ่านหน้าร้านภายใต้แบรนด์ค้าปลีก “OfficeMate” และ “B2S” และผ่านระบบออนไลน์ และดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน Powerbuy มี 111 สาขา และ B2S มี 122 สาขา

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท ยังอนุมัติการเข้าทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการของ COL (บันทึกความเข้าใจ) กับบริษัท โฮลด์ โคลล์ จำกัด (Hold COL) และนายวรวุฒิ อุ่นใจ โดยบุคคลดังกล่าวตกลงที่จะตอบรับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ โดยการขายหุ้นใน COL ที่ตนถืออยู่ ณ วันที่เข้าทำบันทึกความเข้าใจ ตลอดจนหุ้นที่ตนได้มาภายหลังจากวันที่ทำบันทึกความเข้าใจ (หากมี) และตกลงจะให้ความร่วมมือและจะดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ และการเพิกถอนหลักทรัพย์ของ COL จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เสร็จสมบูรณ์

สำหรับ ณ วันที่เข้าทำบันทึกความเข้าใจ Hold COL ถือหุ้นจำนวน 35.27% และ นายวรวุฒิ อุ่นใจถือหุ้น 9% โดยนายวรวุฒิ อุ่นใจตกลงเพิ่มเติมว่าจะดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นขายหุ้นอีกจำนวน 12 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.87% ตลอดจนหุ้นอื่นทั้งหมด ที่บุคคลดังกล่าวได้มาภายหลังจากวันที่ทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ (หากมี) ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ฯ ด้วย

ทั้งนี้ การทำคำเสนอซื้อ COL จะเกิดขึ้นภายหลังจากเงื่อนไขบังคับก่อนเสร็จสิ้น คือ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ COL มีมติอนุมัติการเพิกถอนหลักทรัพย์ของ COL จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ COL และไม่มีผู้ถือหุ้นคัดค้านการเพิกถอนหุ้นเกิน 10% ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ COL และตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติการเพิกถอนหลักทรัพย์

ด้าน COL แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2563 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 ต.ค. 63 พิจารณาอนุมัติการเพิกถอนหุ้นของบริษัท ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน เนื่องจาก CRC ได้มีหนังสือแจ้งบริษัทว่าประสงค์จะเข้าซื้อกิจการของบริษัท โดยให้บริษัท พีบีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเป็นผู้ดำเนินการเสนอซื้อหุ้นสามัญของบริษัท จากผู้ถือหุ้นทุกรายของบริษัท ราคาหุ้นละ 19 บาท โดยราคาหุ้น COL ปิดตลาดเมื่อวานนี้อยู่ที่ 16.40 บาท

 

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

]]>
1297041
อ่านทิศเศรษฐกิจ-ตลาดหุ้น ธุรกิจไหนจะรอดท่ามกลางวิกฤต COVID-19 วิเคราะห์โดย ASPS https://positioningmag.com/1271211 Wed, 01 Apr 2020 13:02:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1271211
  • เศรษฐกิจโลก 2563 ส่อเค้าหนักกว่ายุคซับไพรม์ แนวโน้มจีดีพีโลกติดลบ ด้านเศรษฐกิจไทยคาดจีดีพี -1.4% หวังนโยบายการเงินการคลังภาครัฐช่วยถม “หลุม” ทางเศรษฐกิจไม่ให้สาหัสเท่ายุคต้มยำกุ้ง
  • SSF ช่วยพยุงตลาดหุ้นไทย คาดการณ์ดัชนี SET Index โอกาสลงต่ำสุด 880 จุด
  • 5 กลุ่มอุตสาหกรรมปัจจัยลบ คาดส่งให้กำไรสุทธิลด : กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี, กลุ่มธนาคาร, กลุ่มขนส่งทางอากาศและโรงแรม, กลุ่มสื่อและโฆษณา และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
  • ชี้เป้าหุ้นเด่น ธุรกิจยังเดินได้ท่ามกลาง COVID-19 : กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง, กลุ่มเกษตรและอาหาร, กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มสื่อสาร
  • บทวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจและตลาดทุน ไตรมาส 2/63 โดยทีมนักวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASPS) หลังเกิดโรคระบาดไวรัส COVID-19 ทำให้เอเซีย พลัสปรับคาดการณ์ใหม่หลายส่วน

    เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มติดลบ

    เริ่มจากจีดีพีโลก IMF คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่าน่าจะเติบโตที่ 3.2% อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ในเดือนนั้นรวมเฉพาะผลกระทบของการระบาดในประเทศจีน แต่ขณะนี้การระบาดได้ลุกลามไปทั่วโลกแล้ว ทำให้เอเซีย พลัสมองว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมากกว่านั้น

    มองย้อนกลับไปในวิกฤตเศรษฐกิจซับไพรม์ปี 2552 ครั้งนั้นจีดีพีโลกถดถอยที่ -0.1% โดยผลกระทบหนักเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา แต่การระบาด COVID-19 ในครั้งนี้มีผลโดยตรงกับเศรษฐกิจทุกภูมิภาค จึงเป็นไปได้ว่าจะสาหัสกว่าช่วงซับไพรม์

    อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางหลายประเทศมีความพยายามพยุงเศรษฐกิจด้วยนโยบายทางการเงิน ผ่านการทำ QE และรัฐบาลต่างๆ มีนโยบายการคลังอัดฉีดเงินเข้าระบบ ซึ่งน่าจะเป็นแรงหนุนช่วยเศรษฐกิจโลกได้มากขึ้น

     

    เศรษฐกิจไทย -1.4% จับตามาตรการรัฐ

    ตัดภาพมาที่เศรษฐกิจไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เช่นกันและแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง ทำให้แบงก์ชาติประกาศคาดการณ์จีดีพีใหม่เป็น -5.3% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ “หนัก” มาก เพราะปีที่เศรษฐกิจประเทศไทยดิ่งลงต่ำสุดคือช่วงวิกฤตปี 2540 ปีนั้นจีดีพีไทยอยู่ที่ -7.1% ทำให้เห็นว่าแบงก์ชาติมองภาพเศรษฐกิจปีนี้จะวิกฤตใกล้เคียงกับยุคต้มยำกุ้ง

    แต่เอเซีย พลัสยังไม่มองภาพลบระดับนั้น โดยประเมินว่าจีดีพีไทยจะอยู่ที่ -1.4% (จากเดิมคาดว่าจะโต 2.8%) โดยมีภาคการส่งออกที่จะติดลบรุนแรง คาดว่าการส่งออกจะ -5.5% ขณะที่สำนักวิเคราะห์ทั้งรัฐและเอกชนอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังมองว่าจีดีพีไทยจะเติบโตได้ แม้จะลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมทุกแห่ง

    ทั้งนี้ หากใช้การประเมินของแบงก์ชาติ การที่จีดีพีถดถอยถึง -5.3% แปลว่ามูลค่าจีดีพีประเทศปีนี้จะลดลงถึง 5.79 แสนล้านบาท นับว่าเป็น หลุมยุบทางเศรษฐกิจ ที่น่ากังวล

    การลดลงของจีดีพีไทยปี 2563F ตามการคาดการณ์ของธปท.

    “เราเห็นว่ารัฐยังมีงบกลางอยู่และอาจจะมีการเกลี่ยงบประมาณเดิมใหม่เพื่อนำมาถมหลุมตรงนี้ เราจึงยังไม่ปรับจีดีพีลงแรงมาก ขอดูการออกมาตรการรัฐเพิ่มเติมก่อน” เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย ASPS กล่าว

    โดยที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีการใช้เครื่องมือทั้งนโยบายการเงินและการคลังไปแล้ว มีการลดอัตราดอกเบี้ยไป 2 ครั้ง และอาจจะลดอีก 1 ครั้ง ส่วนนโยบายการคลัง มีมาตรการชิม ช้อป ใช้ และมาตรการเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 นอกระบบประกันสังคมคนละ 5,000 บาทต่อเดือน ระยะ 3 เดือน ซึ่งเอเซีย พลัสเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมออกมา

     

    ตลาดหุ้นหวัง SSF ช่วยพยุง

    ด้านตลาดทุนไทยซึ่งเผชิญกับช่วงดิ่งลงรุนแรง -33% จนต้องใช้นโยบาย “เซอร์กิต เบรกเกอร์” ไปถึง 3 ครั้ง เนื่องจากเงินทุนไหลออกซึ่งเกิดขึ้นทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

    เอเซีย พลัสหวังว่าการเปิดขายกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ซึ่งจะมาแทนที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อใช้หักลดหย่อนภาษี อาจจะช่วยชะลอการไหลออกของเงินทุนได้บ้าง โดยมองว่าจะมีผลเพียงพยุงไว้ เพราะ SSF สามารถหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเพียง 2 แสนบาท น้อยกว่า LTF ซึ่งหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 แสนบาท ทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการซื้อเท่าที่ผ่านมา

    สำหรับ SET Index ปัจจุบันอยู่ที่ 1,092 จุด (ข้อมูลวันที่ 26 มี.ค. 63) โดยวิเคราะห์ว่ามีโอกาสลงไปต่ำสุดที่ 880 จุด วัดจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาทั้งซับไพรม์ ยุคดอทคอม สงครามอ่าวเปอร์เซีย และ Black Monday ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลดลงระหว่าง -48% ถึง -59% ซึ่งขณะนี้ SET Index ลดลงมา -47.7% จึงมองว่าอาจจะลดลงได้อีก

     

    5 กลุ่มอุตสาหกรรมปัจจัยลบสูง

    เจาะลึกรายอุตสาหกรรมที่มองว่ามีปัจจัยลบส่งผลต่อกำไรสุทธิในปี 2563 ลดลง มีดังนี้

    1)กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงด้วยปัจจัยลบทั้งดีมานด์หดตัวเพราะการระบาดของ COVID-19 และซัพพลายที่เพิ่มขึ้นเพราะกลุ่ม OPEC ไม่บรรลุการเจรจาลดการผลิตน้ำมัน ส่งผลต่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 30-35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสถานการณ์การระบาดดีขึ้นส่งให้ดีมานด์ฟื้นตัว และมีผู้ประกอบการที่ขาดทุนจนต้องหยุดผลิตมากขึ้น น่าจะทำให้ราคาน้ำมันฟื้นมาอยู่ที่ 40-45 เหรียญต่อบาร์เรลได้

    2)กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ ส่งผลโดยตรงต่อรายรับของธนาคาร

    3)กลุ่มขนส่งทางอากาศและโรงแรม อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ทำให้เกิดการปิดประเทศและล็อกดาวน์

    4)กลุ่มสื่อและโฆษณา ผลกระทบทางอ้อมจาก COVID-19 ทำให้บริษัทต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายและค่าใช้จ่ายแรกที่จะถูกตัดออกคือ งบโฆษณา โดยเอเซีย พลัสวิเคราะห์ว่าเม็ดเงินโฆษณาปี 2563 จะลดลงถึง -25% สาหัสกว่าช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งเม็ดเงินโฆษณาลดลง -15% และช่วงถวายความอาลัย 2559-60 ซึ่งเงินโฆษณาลดลง -12% กลุ่มสื่อและโฆษณาที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ สื่อโรงภาพยนตร์ที่ถูกปิดชั่วคราว และสื่อนอกบ้าน (OOH) ที่เคยเป็นดาวรุ่งจะพลิกกลับด้านเพราะประชาชนออกจากบ้านน้อยลงมาก

    ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจนี้มีหุ้นที่มองว่าจะยังโดดเด่นคือ RS เนื่องจากผันโมเดลธุรกิจไปเป็นเป็นสื่อจำหน่ายสินค้าอีคอมเมิร์ซแล้ว และคอนเสิร์ตใหญ่คือ D2B ถูกจัดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์และรับรายได้ไปแล้ว ทำให้งบไตรมาส 1/63 ของ RS น่าจะเป็นไปในทางบวก

    5)กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มรสุมเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ปีนี้ภาคอสังหาฯ ลดการเปิดตัวโครงการใหม่ 2-3% จากปีก่อน มูลค่าโครงการเปิดใหม่ปีนี้อยู่ที่ราว 2.8 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากพิษ COVID-19 ทำให้หลายบริษัทปรับแผนเปิดตัวหรือเตรียมปรับเร็วๆ นี้

    ส่วนแบ็กล็อกรอโอนกรรมสิทธิ์ของอสังหาฯ มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ต้องจับตามอง “คุณภาพ” การโอน เพราะพิษ COVID-19 อาจทำให้อัตราปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น และหากมีลูกค้าต่างประเทศอาจไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์ได้

    ยอดขายรอโอนกรรมสิทธิ์ภาคอสังหาฯ รวบรวมโดย ASPS

     

    ก่อสร้าง เกษตร โรงไฟฟ้า สื่อสาร หุ้นเด่น Q2/63

    สำหรับหุ้นเด่นในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ จากสถานการณ์การระบาดยังมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรือยังทรงตัวได้อยู่ในช่วงนี้ ได้แก่

    1)กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง ในช่วงนี้ไซต์ก่อสร้างยังดำเนินการได้ตามปกติ แม้จะต้องมีมาตรการระมัดระวังการติดเชื้อของแรงงานก่อสร้าง ขึ้นอยู่กับบริษัทต้องรักษาสุขอนามัยให้ดี อย่างไรก็ตาม การประมูลงานใหม่หรืออยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาภาครัฐจะต้องชะลอออกไปก่อน รวมถึงงานโครงการของเอกชนก็น่าจะชะลอตัวเช่นกัน ทำให้แนะนำเลือกหุ้นบริษัทที่มีแบ็กล็อกอยู่แล้วในมือ เช่น SEAFCO, PYLON, UNIQ

    2)กลุ่มเกษตร-อาหาร อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจเด่นเพราะอาหารเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้แม้ในยามวิกฤต ปัจจัยบวกในตลาดเกษตรและอาหารช่วงนี้คือ ราคาสุกรที่สูงขึ้น เพราะเกิดโรคระบาดอหิวาต์ในสุกรที่จีนและเวียดนาม ทำให้ซัพพลายเนื้อหมูขาดแคลน รวมถึงการกักตุนอาหารทำให้ทูน่ากระป๋องขายดีทั่วโลก ยอดขายสูงขึ้น 50% ในช่วงเดือนมีนาคม ส่วนปัจจัยลบคือ การปิดร้านอาหารแบบนั่งทานทำให้อาหารประเภทกุ้งและแซลมอนซึ่งส่งขายในร้านอาหารเป็นส่วนใหญ่มียอดขายตกลง

    หุ้นเด่นในกลุ่มนี้จึงเป็น CPF และ TFG ซึ่งได้อานิสงส์จากราคาเนื้อหมูและการส่งออกไก่ และ TU ซึ่งถึงแม้ว่ายอดขายกุ้งจะลดลงแต่ทูน่ากระป๋องพุ่งสูงขึ้นทำให้รายได้ยังทรงตัว

    3)กลุ่มโรงไฟฟ้า สาธารณูปโภคพื้นฐานที่เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับรัฐระยะยาว ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ไม่กระทบต่อธุรกิจ มีหุ้นที่น่าสนใจ เช่น GULF, BGRIM

    4)กลุ่มสื่อสาร กลุ่มนี้ช่วงต้นปีมองว่าจะพบปัจจัยลบคือการประมูล 5G จะทำให้การลงทุนสูง อย่างไรก็ตาม หลังการประมูลจบลงพบว่าฝั่งเอกชนใช้เงินลงทุนรวม 6.4 หมื่นล้านบาทสำหรับค่าสัมปทานคลื่น 5G ซึ่งต่ำกว่าการประมูล 4G ถึง 3-5 เท่า และพบว่าสล็อตสัญญาณที่แต่ละค่ายได้รับเหมาะสมกับฐานจำนวนผู้ใช้งาน จึงมองว่าในระยะยาวไม่น่าจะเพิ่มการแข่งขันเพื่อแย่งลูกค้าสูงไปกว่าปัจจุบันนี้

    แต่สถานการณ์ระยะสั้นคือ COVID-19 แม้ดูเผินๆ จะทำให้มีการใช้งานดาต้าสูงขึ้น แต่ที่จริงนั้นมีองค์กรขนาดใหญ่ไม่มากที่พร้อมลงทุนค่าแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม ขณะที่บริษัทขนาดเล็กหรือบุคคลทั่วไปน่าจะต้องการปรับลดราคาแพ็กเกจเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มีพื้นฐานมั่นคงน่าจะยังมีรายได้ทรงตัวต่อไปได้ เช่น ADVANC, INTUCH

    รายนามนักวิเคราะห์จาก เอเซีย พลัส: เอนกพงศ์ พุทธาภิบาล, ภราดร เตียรณปราโมทย์, ชาญชัย พันทาธนากิจ, ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์, สุวัฒน์ วัฒนพรพรหม, นลินรัตน์ กิตติกาพลรัตน์, เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, นวลพรรณ น้อยรัชชุกร และประสิทธิ์ รัตนกิจกมล

    ]]>
    1271211
    หุ้นภาคบ่ายดิ่งหนักกว่า 10% ต่ำสุดรอบ 7-8 ปี งัด Circuit Breaker หยุดพักการซื้อขาย https://positioningmag.com/1268023 Thu, 12 Mar 2020 08:37:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1268023 หุ้นภาคบ่ายดิ่งหนักกว่า 10% หรือติดลบกว่า 125.05 จุด ต่ำสุดในรอบประมาณ 7 ปี 8 เดือน นับจากจุดต่ำสุดที่ 1,099 จุด เมื่อเดือน มิ.. 2555 ล่าสุด ตลท. ได้ใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ เพื่อหยุดพักการซื้อขายแล้ว

    หุ้นเปิดตลาดภาคบ่ายดัชนียังคงไหลลงไม่หยุด โดยเมื่อเวลา 14.42 . ดัชนีปรับลงไปที่ระดับ 1,124.84 จุด ติดลบ 125.05 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -10.00% มูลค่าการซื้อขาย 61,326.06 ล้านบาท โดยมีแรงขายหนักทั่วทั้งกระดาน

    ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้หยุดพักการซื้อขายหุ้นชั่วคราวตามมาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ หลังจากดัชนี SET ภาคบ่ายยังดิ่งหนักถึง 10% โดยจะหยุดการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที โดยตลาดหุ้นไทยร่วงแรงเหมือนกับตลาดทั่วโลก จากกความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้การใช้ Circuit Breaker ในตลาดหุ้นไทยวันนี้ ถือเป็นครั้งที่ 4

    โดยการใช้ Circuit Breaker ครั้งแรก วันที่ 19 ธันวาคม 2549 เวลา 11.26 . Set Index ลงไป 10.14 % สาเหตุจาก 18 .. 2549 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศใช้มาตรการกันสำรอง 30% โดยในวันนั้นเกือบต้องใช้ Circuit Breaker ถึง 2 ครั้ง เพราะดัชนีร่วงลงไปถึง 19.52%

    ส่วน Circuit Breaker ครั้งที่ 2 วันที่ 10 ตุลาคม 2551 เวลา 14.35 . ดัชนีลดลง 10.02% สาเหตุผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกจากสหรัฐฯ หรือ HAMBURGER CRISIS เนื่องจากปัญหาสินเชื่อซับไพรม์ และ Circuit Breaker ครั้งที่ 3 วันที่ 27 ตุลาคม 2551 เวลา 16.04 . ดัชนีลดลง 10 % ห่างกันเพียง 17 วัน โดยยังได้รับผลกระทบ HAMBURGER CRISIS

    ถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย ซีมิโก้ ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยร่วงแรงตามตลาดหุ้นทั่วโลก มองว่าเป็นการ Panic จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลกอย่างเร่งตัวขึ้น จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ว่าไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้วิตกผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจโลก

    นอกจากนี้ ยังรับผลกระทบจากราคาน้ำมันร่วงลง ทำให้วิตกความเสี่ยงจากหนี้เสียที่จะมีสูงขึ้นได้ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตน้ำมันมีต้นทุนสูงกว่าซาอุดีอาระเบีย และส่วนใหญ่ก็จะมีการออกหุ้นกู้กันหากค้าขายไม่ดีก็วิตกจะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ทำให้หนี้เสียมีโอกาสที่จะสูงขึ้น ซึ่งก็เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจด้วย

    สำหรับความคาดหวังจากการแถลงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่มีขึ้นในช่วงเช้านี้ตามเวลาไทยก็มีอันต้องผิดหวังเพราะไม่ได้พูดถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่คาดหวังกันไว้เลย ทำให้นักลงทุนตัดสินใจขายหุ้นออกมาก่อน

    ตลาดบ้านเราร่วงแรงส่วนหนึ่งเป็นผลจาก Block Trade ที่ถ่วงตลาด จากที่ถูกบังคับขาย และยิ่งขายก็ยิ่งทำให้ดัชนีปรับตัวลงไป จนดัชนีรูดลงมาแถว 1,146 จุด ต่ำสุดในรอบประมาณ 7 ปี 8 เดือน นับจากจุดต่ำสุดที่ 1,099 จุด เมื่อเดือน มิ.. 2555″

    Source

    ]]>
    1268023
    มาเเรง! Bloomberg ชี้ตลาดหุ้น “อินโดนีเซีย” กำลังจะใหญ่สุดในอาเซียน เเซงหน้าไทย https://positioningmag.com/1260808 Thu, 16 Jan 2020 16:52:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1260808 ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย มาเเรงมาก กำลังจะขึ้นเเท่นมีมูลค่ามากที่สุดในอาเซียน เเซงหน้าไทยเเละสิงคโปร์ จากปัจจัยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

    จากรายงานของ Bloomberg ระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์ของอินโดนีเซีย กำลังจะกลายเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมูลค่ากว่า 5.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ในขณะที่ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น เเต่ค่าเงินดอลลาร์ในอินโดนีเซียเติบโตขึ้นถึง 5.5 % ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พร้อมกันนั้นประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียก็เริ่มดำเนินนโยบายเมกะโปรเจกต์เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานรอบใหม่ รวมไปถึงการปฏิรูปต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก

    อ่านเพิ่มเติม : ผู้นำอินโดนีเซีย สั่งเร่งย้ายเมืองหลวงใหม่ หวังปั้นเป็น “Silicon Valley” พัฒนานวัตกรรม

    ก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์ของอินโดนีเซีย เคยแซงหน้าไทยไปแล้วในปีที่ผ่านมา เเต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้นโดยเมื่อช่วงเดือนมกราคมและเมษายนของปี 2019 ตลาดหุ้นของอินโดนีเซียมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดในอาเซียน
    ทั้งนี้ ตลาดหุ้นของสิงคโปร์ได้ครองตำแหน่งผู้นำมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2003

    Vincent Mortier หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของ Amundi Asset Management กล่าวว่า “นี่คือโอกาสอันยิ่งใหญ่ของอินโดนีเซียในการกระตุ้นเศรษฐกิจ”

    โดยเขาให้คะแนนอินโดนีเซียสูงขึ้น เนื่องจากมีการเติบโตในทุกด้านทั้งการเมือง ภูมิทัศน์และการลงทุน เเต่ประเทศไทยที่เขาให้คะแนนน้อยลง เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจของไทยอยู่ในช่วงอ่อนแอ

    Bloomberg ได้จัดอันดับให้ Bank Central Asia ของอินโดนีเซียเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ตามมาด้วย ธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ ที่มีมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับ 3 คือ บริษัท ปตท. จำกัด ของไทย ที่มีมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

    โดยมูลค่าตลาดหุ้นของอินโดนีเซียใหญ่เป็นอันดับ 21 ของโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทเอกชนระดับโลกอีก 8 บริษัท ที่มีมูลค่ามากกว่าตลาดหุ้นอินโดนีเซียเเละตลาดหุ้นไทย เช่น Saudi Aramco บริษัทน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย บริษัทเทคโนโลยีอย่างแอปเปิลและไมโครซอฟต์ที่มีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

    อ่านเพิ่มเติม : บริษัทน้ำมัน Saudi Aramco ทำสถิติใหม่มูลค่า IPO สูงสุดในโลก เเซง “อาลีบาบา”

    ที่มา : Indonesia to Become Southeast Asia’s Biggest Stock Market

    ]]>
    1260808