หนี้ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 14 Jul 2023 16:00:29 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 UN เตือนหนี้สาธารณะทั่วโลกรวมกันเพิ่มขึ้น 5 เท่าใน 22 ปีที่ผ่านมา ห่วงประเทศกำลังพัฒนาอาจจ่ายหนี้ไม่ไหว https://positioningmag.com/1437790 Fri, 14 Jul 2023 08:30:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1437790 รายงานล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ชี้ถึงปัญหาหนี้สาธารณะทั่วโลกรวมกันล่าสุดนั้นสูงถึง 92 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มมากขึ้น 5 เท่าในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา โดยหนี้ในประเทศกำลังพัฒนานั้นได้เพิ่มสูงขึ้น จนสร้างความเป็นห่วงในความสามารถในการชำระหนี้

รายงานล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ ที่ได้ออกมาเตือนถึงปริมาณหนี้สาธารณะในรอบ 22 ปีนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาได้เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า โดยล่าสุดอยู่ที่ 92 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินเกือบ 3,000 ล้านล้านบาท ซึ่งปริมาณหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นนั้นมาจากหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาเสียเป็นส่วนใหญ่

ในรายงานดังกล่าวชี้ว่า 30% ของปริมาณหนี้สาธารณะมาจากประเทศกำลังพัฒนา โดยมีมากถึง 59 ประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงกว่า 60% ของ GDP ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 22 ประเทศจากในช่วงปี 2011

โดยประเทศที่มีจำนวนหนี้สาธารณะมากที่สุดเรียงตามลำดับคือ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี อินเดีย เยอรมัน

นอกจากนี้ UN ยังชี้ว่าหลายประเทศในแอฟริกาได้จ่ายดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะมากกว่างบประมาณสำหรับการศึกษาหรือแม้แต่งบสำหรับการสาธารณสุขด้วยซ้ำ และหลายประเทศกำลังพบกับสภาวะที่ต้องเลือกระหว่างหนี้ของประเทศหรือใช้งบประมาณในการดูแลประชาชน

แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนามีระดับหนี้สาธารณะน้อยกว่าประเทศพัฒนา แต่หลายประเทศนั้นกลับมีต้นทุนทางการเงินที่มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ในรายงานชี้ว่าหลายประเทศในแอฟริกาต้องชำระหนี้มากกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่า และมากกว่าประเทศในยุโรปถึง 8 เท่าด้วยซ้ำในจำนวนเงินกู้ที่เท่ากัน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้นในรายงานของ UN ก็คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้หลายประเทศไม่สามารถหารายได้ จึงต้องใช้มาตรการในการกู้เงินทั้งในประเทศและนอกประเทศ เพื่อที่จะดูแลประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว

คำนิยามของคำว่าหนี้สาธารณะคือ การกู้ยืมเงินของรัฐบาลเมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งจำนวนหนี้ที่มากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการหนี้ นอกจากนี้จำนวนหนี้สาธารณะเป็นตัวชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลานั้นด้วย

UN ยังชี้ว่าประเทศที่เป็นเจ้าหนี้ควรจะสร้างเครื่องมือบริหารหนี้ให้กับประเทศที่มีหนี้มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้ การยืดอายุหนี้ออกไป รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในปัจจุบัน

โดยประเด็นหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ถูกหยิบยกมาในการประชุมกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเงินและเศรษฐกิจ หรือ G20 และมีความพยายามที่ชักชวนให้จีนเข้าร่วมในการบรรเทาวิกฤตหนี้ที่จีนเป็นเจ้าหนี้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหรือแม้แต่แอฟริกา

ข้อมูลจาก UN
]]>
1437790
ไทยเสี่ยงภาวะ ‘Debt Overhang’ ครัวเรือนสูญเสียรายได้ ดิ้นหา ‘เงินกู้-เงินด่วน’ มาใช้จ่ายประจำวัน https://positioningmag.com/1341610 Fri, 09 Jul 2021 12:41:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1341610 จากเเนวโน้มหนี้ครัวเรือน’ เพิ่มต่อเนื่อง ทำนิวไฮเเตะ 90.5% ไทยเสี่ยงเผชิญภาวะ ‘Debt Overhang’ เมื่อคนตกงาน-สูญเสียรายได้ ดิ้นรนหา ‘เงินกู้-เงินด่วน’ มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน บางส่วนหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น สวนทางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ช้า 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ล่าสุดถึง หนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 1 ปี 2021 แตะระดับ 90.5% ต่อ GDP สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโดยเฉพาะรายได้ภาคครัวเรือนที่เผชิญกับผลกระทบโรคระบาด ยัง ฟื้นตัวช้า

เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนไทยยังมีความต้องการสินเชื่อสูง เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทดแทนสภาพคล่องที่ลดลงในภาวะวิกฤต บางส่วนอาจต้องพึ่งพา ‘หนี้นอกระบบ’ ซึ่งเสี่ยงจะทำให้ปัญหาหนี้มีมากขึ้นในอนาคต

“ไทยมีแนวโน้มประสบภาวะ Debt Overhang หรือ การมีหนี้สูงในภาคครัวเรือน จนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า”

หนี้ครัวเรือนพุ่ง เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง ? 

สำหรับหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวที่ 4.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ซึ่งเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และยังนับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ตามการเติบโตแบบเร่งตัวของการให้กู้ยืมจาก 2 ผู้ให้กู้หลัก ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน (SFI) ที่เติบโตที่ 4.9% และ 5.5% ตามลำดับ โดยเฉพาะอัตราการเติบโตจาก SFI ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือนจาก สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือบริษัทบัตรเครดิต-ลิสซิ่ง-และสินเชื่อส่วนบุคคล มีการเติบโตแบบชะลอตัวลง ส่วนหนี้ครัวเรือนที่กู้ยืมจากโรงรับจำนำยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า

EIC วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทย เป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่

ปัจจัยที่หนึ่ง เมื่อเกิดวิกฤตโควิด ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินต่างๆ ได้มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อย ทั้งในรูปแบบของการพักชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งช่วยลดภาระการชำระหนี้ในระยะสั้น และช่วยป้องกันการเกิดหนี้เสียในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม การชำระหนี้ที่ถูกพักหรือเลื่อนออกไปมีส่วนทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในภาพรวมปรับลดลงช้ากว่าปกติ

ปัจจัยที่สอง วิกฤตโควิดส่งผลทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนขาดรายได้ นำไปสู่การลดลงของสภาพคล่องของคนจำนวนมาก จึงเกิดการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไปของภาคครัวเรือน ดังจะเห็นได้จากการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ในระบบธนาคารพาณิชย์ ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2020 และมีอัตราการเติบโตในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 5.9% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.8% แม้มาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินจะมีแนวโน้มระมัดระวังมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

“แนวโน้มความต้องการสินเชื่อเร่งตัวขึ้นมาก เมื่อเทียบกับการเติบโตที่เกิดขึ้นของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับมาตรฐานการให้สินเชื่อที่มีแนวโน้มระมัดระวังมากขึ้น สะท้อนว่าครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสินเชื่ออาจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้ ทำให้มีแนวโน้มต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ามาก เสี่ยงก่อให้เกิดปัญหาวังวนของกับดักหนี้ได้ในอนาคต” 

ปัจจัยที่สาม ครัวเรือนบางส่วนที่มีกำลังซื้อยังมีการใช้จ่ายซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผู้ประกอบการมีการลดราคา ออกโปรโมชันจูงใจเป็นจำนวนมาก เพื่อลดอุปทานคงค้าง ประกอบกับมาตรการ LTV มีการผ่อนคลายลง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในส่วนนี้เติบโตได้ดีในช่วงวิกฤต สะท้อนจากสินเชื่อผู้บริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ในหมวดที่อยู่อาศัยที่เติบโตได้ค่อนข้างดีที่ 5.9% ณ สิ้นปี 2020 และยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 6.8%

หนี้ครัวเรือนไทย ‘สูงสุด’ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยในเวลานี้อยู่ในระดับสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน โดยข้อมูลจาก Bank of International Settlement (BIS) พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย ณ สิ้นปี 2020 เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 12.0% ต่อ GDP ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงเป็นอันดับ 7 จากทั้งหมด 43 ประเทศ

โดยเป็นผลมาจาก GDP ที่ลดลงมากกว่าและฟื้นตัวช้ากว่า ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยยังคงสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของการพึ่งพาสินเชื่อในการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนไทยในช่วงที่ผ่านมา

EIC มองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2021 มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2021 จะอยู่ในช่วง 88-90% ซึ่งชะลอลงเล็กน้อยจากในไตรมาสที่ 1 ตามการทยอยฟื้นตัวของ GDP

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนภายในปี 2021 อาจปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีก หากผลของการแพร่ระบาดของโควิดมีความรุนแรงและต่อเนื่อง จนทำให้ GDP ลดต่ำลงกว่าที่คาด ขณะที่หนี้ยังสามารถขยายตัวได้ด้วยอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับปัจจุบัน

Debt Overhang อยู่ไม่ไกล 

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะส่งผลให้ภาคครัวเรือนไทยมีความเสี่ยงต่อการเผชิญกับภาวะ Debt Overhang คือ ภาวะของการมีหนี้สูงจนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่ายและการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในด้านต่างๆ ของภาคครัวเรือน เช่น การลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์หรือการลงทุนในด้านการศึกษา เเละภาวะ Debt Overhang จะยังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียที่จะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้อีกด้วย

โดยจากการศึกษาของ BIS พบว่า หากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงกว่าระดับ 80% จะส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

“สถานการณ์หนี้ของภาคครัวเรือนไทยที่เกิดขึ้นจริงอาจแย่กว่าที่สัดส่วนหนี้ต่อ GDP บ่งชี้จากการที่รายได้ภาคครัวเรือนโตช้ากว่า GDP โดยเฉลี่ย และในช่วงโควิดแนวโน้มดังกล่าวนี้ก็น่าจะยังมีต่อเนื่อง จากผลกระทบต่อภาคครัวเรือนที่รุนแรง สะท้อนจากการตกงานและสูญเสียรายได้ของคนทำงานจำนวนมากเป็นประวัติการณ์” 

โดยรายได้ของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 ลดลงถึง -8.8% ขณะที่ Nominal GDP ลดลงเพียง -2.1% ในช่วงเดียวกัน

แม้ในปีนี้เศรษฐกิจไทยยังสามารถได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวดี แต่ภาคการส่งออก โดยเฉพาะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม มีการใช้แรงงานไม่มากนักเมื่อเทียบกับการจ้างงานในภาคบริการ อีกทั้งรายได้จากการส่งออกยังกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่จำนวนไม่มาก

ด้วยเหตุนี้การให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐแก่ภาคครัวเรือน ทั้งในรูปแบบของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจและการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้โดยการปรับและเพิ่มทักษะแรงงาน ยังเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจภาคครัวเรือนยังคงมีความเปราะบางสูง

 

]]>
1341610
หนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้ ซ้ำคนไทยไร้เงินออม ‘หนี้ครัวเรือน’ ทะลุ 14 ล้านล้าน คาดปีนี้เเตะ 91% ต่อจีดีพี https://positioningmag.com/1326143 Thu, 01 Apr 2021 13:28:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1326143 หนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 2563 ทะลุ 14 ล้านล้านบาท ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปี คิดเป็นกว่า 89.3% ต่อจีดีพี KBANK คาดปีนี้พุ่งต่อ เเตะ 89-91% คนไทยมีเงินออมน้อย อยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน ห่วงกังวลหาใช้หนี้คืนไม่ทัน

จากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 ทำให้กระแสรายได้ และสถานะทางการเงินของครัวเรือนบางกลุ่มย่ำแย่ลง ตอกย้ำวังวนปัญหาหนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 4/2563 ระบุว่า หนี้ครัวเรือนของไทยปิดสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา ด้วยภาพของระดับหนี้ครัวเรือนที่ทะลุ 14 ล้านล้านบาท นับเป็นจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปี ตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

หนี้เพิ่ม’ 3 ปีติด สวนทางเศรษฐกิจหดตัว

โดยหนี้ครัวเรือนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 89.3% เมื่อเทียบกับ GDP ในปี 2563 เร่งตัวขึ้นเป็นปีที่ 3 เทียบกับ 78.4% ต่อจีดีพี และ 79.8% ต่อจีดีพีในปี 2561 และปี 2562 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติอัตราการเติบโตของหนี้ พบว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียง 3.9% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี

สะท้อนว่าทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ ต่างก็เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงจากผลกระทบของโรคระบาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตั้งข้อสังเกตว่า สินเชื่อภาคครัวเรือนที่ยังเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจได้นั้น ชี้ให้เห็นถึงสถานะของผู้กู้และวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมที่แตกต่างกันระหว่างผู้กู้สองกลุ่ม 

กลุ่มแรก เป็นการกู้ยืมของครัวเรือนเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย และรถยนต์ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางค่อนไปทางสูง และรายได้ไม่ได้ถูกกระทบมากจาก COVID-19

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้หรือกู้ยืมเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง หรือเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้กู้หรือครัวเรือนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน และสถานะทางการเงินอ่อนแอลงตามทิศทางเศรษฐกิจ

ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้หลายกลุ่ม ถดถอยลง โดยเฉพาะผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจ และผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้

Photo : Shutterstock

สำหรับภาระหนี้หรือ Debt Service Ratio (DSR) ของผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจอยู่ที่ 44.1% ของรายได้ต่อเดือนในช่วงต้นปี 2564 

ส่วน DSR ของผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้อยู่ที่ 43.8% ซึ่งภาระหนี้ของผู้กู้ทั้งสองกลุ่มดังกล่าวอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ภาพรวมของผู้ตอบแบบสอบถามในผลสำรวจรอบนี้ซึ่งอยู่ที่ 42.8% ของรายได้ต่อเดือน

ขณะที่หนี้ครัวเรือนในส่วนอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ก็มีทิศทางขยับขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ซบเซาของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลทำให้ครัวเรือนหลายส่วนต้องรัดเข็มขัด และบริหารกระแสรายรับรายจ่ายของครัวเรือนให้มีความสมดุล

สถานะทางการเงินของประชาชนค่อนข้างตึงตัวมากขึ้น และสถานการณ์รายได้ของประชาชนหลายกลุ่ม เริ่มจะไม่สัมพันธ์กับหนี้สินที่ต้องแบกรับภาระ

 

คนไทยไร้เงินออม กังวลใช้หนี้ไม่ทัน

เมื่อสอบถามถึงความสามารถในการผ่อนชำระคืนหนี้ในอนาคตนั้น ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 3 ใน 4 ของผลสำรวจ แสดงความกังวล เนื่องจากยังคงมีประเด็นรายได้ที่ไม่แน่นอน (45.3% ของผู้ตอบ) และค่าครองชีพและภาระหนี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ (41.4%) รวมถึงการที่ภาระผ่อนหลังมาตรการเยอะและนานขึ้น (12.7%)

ตอกย้ำว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง น่าจะยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในระยะที่เหลือของปี

ส่วนระดับการออมของภาคครัวเรือนลดต่ำลง หากเปรียบเทียบมุมการออมภาคครัวเรือนต่อรายได้จากผลสำรวจฯ ปี 2564 กับการออมภาคครัวเรือนในปี 2562 โดยเฉลี่ยแล้ว สัดส่วนเงินออมต่อรายได้ของครัวเรือนลดลงประมาณ 3.6% จากที่มีสัดส่วนเงินออมประมาณ 16.1% ของรายได้ต่อเดือนในปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 12.5% ของรายได้ต่อเดือนในปี 2564

และเมื่อเจาะลงไปในกลุ่มผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจและกลุ่มที่มีปัญหาด้านรายได้ จะพบว่า สถานการณ์เงินออมเฉลี่ยของ 2 กลุ่มนี้แย่กว่าภาพรวมค่อนข้างชัด โดยมีเงินออมเพียง 11.7% และ 10.8% ของรายได้ต่อเดือนตามลำดับ

นอกจากนี้ หากพิจารณาเฉพาะประชาชนที่มีเงินออมในผลสำรวจฯ ในปี 2564 จะพบว่า มีประชาชนเพียง 38.9% จากประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเป็นผู้ที่มีเงินออม แต่ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีเงินออมไม่สูงมาก

หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีเงินออมในผลสำรวจฯ พบว่า มีเพียง 46.2% เท่านั้นที่มีเงินออมสะสมเพียงพอสามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 3 เดือน (ในกรณีที่ขาดรายได้ หรือตกงาน)

สถานการณ์เงินออมจากผลสำรวจฯ รอบนี้ แย่ลงกว่าผลสำรวจเมื่อปี 2562 อย่างชัดเจน โดยผลสำรวจฯ เมื่อปี 2562 สัดส่วนผู้มีเงินออมสะสมที่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 3 เดือน สูงถึง 75% ของผู้มีเงินออมทั้งหมด

คาดปีนี้หนี้ครัวเรือนพุ่งต่อ เเตะ 89-91%

สำหรับแนวโน้มในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 น่าจะทำให้เงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนปี 2564 มีโอกาสเติบโตขึ้นสูงกว่าปี 2563 ที่เติบโตเพียง 3.9%

ภาพดังกล่าวอาจส่งผลต่อเนื่องให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 89.0-91.0% ต่อ GDP ในปี 2564 เทียบกับระดับ 89.3% ต่อ GDP ในปี 2563 

ทางการไทยคงหันกลับมาดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจัง เมื่อหลังวิกฤตโรคระบาดสิ้นสุดลง โดยอาจกลับมาสานต่อมาตรการดูแลให้การก่อหนี้ของครัวเรือนสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ (Affordability)”

]]>
1326143
KBank ห่วงไทย ‘ฟื้นตัวช้าสุด’ ตามหลังเพื่อนบ้านในอาเซียน โรงแรม 40% เสี่ยงหายจากตลาด https://positioningmag.com/1320011 Thu, 18 Feb 2021 13:11:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320011 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ห่วงเศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัวช้าสุด’ ตามหลังเพื่อนบ้านในอาเซียน เหตุพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง จับตาเร่งกระจายวัคซีน วิกฤตยื้อยาวอาจทำโรงเเรม 30-40% ‘ไม่รอด’ หายออกจากตลาด หนี้ครัวเรือนพุ่ง ฉุดเศรษฐกิจ SMEs อ่วมสารพัดปัญหาไม่สามารถจ่ายหนี้ได้

‘วัคซีน’ คือตัวเเปรสำคัญของเศรษฐกิจไทย 

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้ข้อมูลว่า KBank ยังคงคาดการณ์เป้าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 2.6%

มีหลายประเด็นที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัวช้า’ ตามหลังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวคิดเป็นกว่า 10% ของ GDP

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดการคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2564 มาอยู่ที่ประมาณ 2-4.5 ล้านคน จากเดิมที่คาดไว้ 4.5-7 ล้านคน

ตัวเเปรหลักของเศรษฐกิจไทยคือ ‘วัคซีน’ ต้องติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนการ
กระจายวัคซีนในประชากรหมู่มากจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดแนวทางการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว ณ ขณะนี้มองไว้ว่าน่าจะเป็นช่วงปลายปี 2564

Photo : Shutterstock

ณัฐพร คาดว่า กว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปเท่าที่ระดับก่อนโรคระบาดได้คงใช้เวลาจนถึงปี 2565-2566 เพราะปัญหาจาก COVID-19 ในรอบนี้ กระทบภาคธุรกิจจริงตรงๆ ต่างจากปี 2540 ที่มีจุดกำเนิดจากธุรกิจการเงิน

“การฟื้นตัวของธุรกิจหลังผ่านพ้นช่วง COVID-19 คงไม่ทั่วถึง และยังมีโจทย์เชิงโครงสร้างที่รออยู่ อีกทั้งสังคมสูงอายุ ตลาดผู้บริโภคเล็กลง ปัญหาหนี้ครัวเรือน และปัญหาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ”

โรงแรม 40% เสี่ยงหายออกจากตลาด

ด้าน เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เสริมว่า ภาคท่องเที่ยวในไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ ‘เปราะบางที่สุด’ ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมในจังหวัดที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก เช่นใน 6 จังหวัดอย่าง ภูเก็ต, กระบี่, พังงา, สุราษฎร์ธานี, ชลบุรี เเละกรุงเทพฯ ที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง และการปิดพื้นที่ชั่วคราว

“ปัญหาโควิดในครั้งนี้คงทำให้โรงแรม 30-40% อาจต้องออกจากตลาดไป เน้นไปที่โรงแรมในกลุ่มราคาประหยัด (Budget) หรือราคาระดับกลาง (Midscale) รวมไปถึงธุรกิจค้าปลีก อย่างร้านค้า SMEs ในห้างที่มีสัดส่วนกว่า 30% ของผู้ประกอบการรายย่อยไทยในภาคการค้าทั่วประเทศ” 

เเม้ช่วงที่ผ่านมา คนไทยจะหันมา ‘เที่ยวในประเทศ’ กันมากขึ้น โดยคาดว่า ปี 2564 จะอยู่ที่ราว 90-120 ล้านคนต่อครั้ง แต่ยังไม่สามารถทดแทนการหายไปของรายได้ที่พึ่งพิงจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เคยสร้างรายได้ให้ธุรกิจในภาคโรงเเรมไทยถึง 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 70%

Photo : Shutterstock

สำหรับประเด็นเรื่อง ‘Vaccine Passport’ มองว่า ยังไม่อาจคาดหวังได้มากในขณะนี้ เพราะยังไม่มีหลักฐานการศึกษาว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว จะไม่ติดเชื้อหรือแพร่เชื้ออีกครั้ง ประโยชน์ในเรื่องนี้คงเกิดกับเฉพาะบางประเทศที่รับความเสี่ยงได้ มากกว่าจะเป็นประโยชน์ในระดับโลก

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ‘โจทย์เฉพาะหน้าคือ การดูแลปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจและครัวเรือน’

“ภาคการเงินต้องติดตามสภาพคล่องภาคธุรกิจ SMEs มีปัญหาไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ แม้ว่าตอนนี้ตัวเลขหนี้เสีย (NPL) จะยังไม่สะท้อนมาก เพราะยังอยู่ในช่วงมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ของธปท.ก็ตาม” 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าว เห็นได้จากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินที่คงไต่ระดับขึ้นจากปลายปี 2563 ที่ 27.6% และ 14.7% ของสินเชื่อสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีและลูกค้าบุคคลรายย่อยตามลำดับ

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เปราะบางนั้น คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น Asset Warehousing แต่อาจไม่เร็วพอ เพราะยังต้องรอรายละเอียดในหลายประเด็น ด้านลูกค้าหากมีสัญญาณปัญหาการชำระหนี้ ก็แนะนำให้รีบคุยกับสถาบันการเงิน โดยไม่ต้องรอให้เป็น NPL ก่อน

“ธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป เเต่คาดว่าตลาดจะเล็กลง จากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากปีก่อนที่ 86% ปีนี้น่าจะแตะ 90-91% ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อลดลง เเละการเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทยที่กำลังใกล้เข้ามา ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่มองข้ามไม่ได้”

 

 

]]>
1320011
ธุรกิจไทย “รายได้หด” ส่อผิดนัดชำระหนี้พุ่ง กิจการ “ซมไข้ยาวนาน” อีก 2 ปียัง “ฟื้นตัวช้า” https://positioningmag.com/1301564 Thu, 15 Oct 2020 07:18:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1301564 พิษไวรัสซ้ำเเผลเศรษฐกิจ ประเมินยอดขายภาคธุรกิจไทยปี 2563 หดตัวลึก 9% มองอีก 2 ปีข้างหน้ายัง “ฟื้นตัวจำกัด” กดดันความสามารถชำระหนี้ เสี่ยงทำให้มีธุรกิจ “ซมไข้ยาวนาน” เพิ่มจาก 9.5% ของกิจการทั้งหมดในปี 2562 เป็น 26% ภายในปี 2565 จับตา Zombie Firm “โรงแรม-อสังหาริมทรัพย์” น่าห่วงสุด

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาคธุรกิจของไทย โดยเฉพาะผลกระทบจาก COVID-19 สะท้อนต่อรายได้ครึ่งปีแรก 2563 ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ลดลง 13.5% ขณะที่ภาคธุรกิจไทยยอดขายทั้งปี 2563 จะหดตัวถึง 9%

เมื่อรายได้และยอดขายของภาคธุรกิจลดลง เป็นปัจจัยที่สร้างความกดดันต่อความสามารถในการชำระหนี้ และความเสี่ยงทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น

จากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินในระดับรายบริษัทกว่า 2 แสนราย พบว่า อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio : ICR) ซึ่งสะท้อนว่ากิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหนนั้น ในภาพรวมจะลดลงจาก 3.62 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่า ในปี 2563 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม อีกทั้งกิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือมี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า จะมีสัดส่วนมากถึง 28-30% ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

Photo : Shutterstock

“สถานการณ์เศรษฐกิจซบเซาที่มีแนวโน้มลากยาว อาจส่งผลให้กิจการ “ซมไข้ยาวนาน” หรือที่เรียกว่า Zombie Firm ซึ่งเป็นกิจการที่มี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 9.5% ของกิจการทั้งหมด ในปี 2562 เป็น 14% ของกิจการทั้งหมดในปี 2563 และจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 26% ภายในปี 2565”

สำหรับธุรกิจที่เปราะบาง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจสื่อและความบันเทิง, ธุรกิจเครื่องหนังและรองเท้า, ธุรกิจเครื่องสำอาง, ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยกลุ่มธุรกิจที่เปราะบางมีความเสี่ยงที่จะอ่อนแอลงต่อเนื่อง หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ

โดยปัจจัยหลักในการฟื้นตัว ยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและพัฒนาการของเศรษฐกิจโลก แนวโน้มกำลังซื้อในประเทศ ภาวะการมีงานทำ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน 

Krungthai COMPASS มองสถานการณ์เศรษฐกิจไทยว่า ต้องใช้เวลา 2-3 ปีจึงจะฟื้นตัว โดยเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวจะส่งผลต่อการส่งออกยังหดตัวสูง และการว่างงานอาจสูงขึ้น โดยคาดว่าปี 2563 จีดีพีไทยจะหดตัวที่ 9.1% และทยอยปรับตัวดีขึ้นโดยปี 2564 จะอยู่ที่ 4.1% ปี 2565 GDP จะขยายตัวที่ 6% และปี 2566-2568 จะอยู่ที่ 3% 

หากจะมองในมุมมองของนักลงทุนในตลาดทุนจากการสำรวจ พบว่า จากช่วงที่มีสถานการณ์ล็อกดาวน์ดัชนีตลาดหุ้นไทย -28.7% ปัจจุบันอยู่ที่ -21% โดยกลุ่มที่ลดลงมากได้แก่ อุตสาหกรรมการเงิน ทรัพยากร และอสังหาริมทรัพย์และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ฟื้นตัวบ้างหรือติดลบน้อยเป็นกลุ่ม อุปโภคบริโภค เกษตร-อาหาร และเทคโนโลยี

ขณะที่ดัชนีตลาด Nasdaq ช่วงล็อกดาวน์อยู่ที่ -14% ปัจจุบัน +13% กลุ่มที่บวกจะอยู่ในกลุ่มคอนซูเมอร์ เทคโนโลยี ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าการที่ตลาดหุ้นไทยยังไม่ฟื้นหลังคลายล็อกดาวน์แล้ว เพราะมีธุรกิจที่สอดรับกับพฤติกรรม New Normal น้อยกว่า

Photo : Shutterstock

ขณะที่มาตรการรัฐในระยะต่อไปที่ต้องดำเนินนโยบายต่างๆ Krungthai COMPASS มองว่า จากผลกระทบในแต่ละกลุ่มที่รุนแรงไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องมีความเฉพาะเจาะจง ในแต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงและยังมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวยากให้มากขึ้น จากเดิมที่เป็นมาตรการในวงกว้าง เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่จะออกมาไม่ว่าจะเป็นโครงการ “คนละครึ่ง” “ช้อปดีมีคืน” และการต่ออายุมาตรการสนับสนุนท่องเที่ยว ก็ถือว่าตรงจุดในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการป้องกันปัญหา Moral Hazard ที่อาจจะตามมาได้ โดยควรให้การสนับสนุนในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากเงินทุนควบคู่ไปด้วย เช่น การยกเครื่องธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่กับการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสในตลาดศักยภาพใหม่ๆ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดรับกับบริบท New Normal ต่อไป

 

]]>
1301564
คนไทยหนี้ท่วม! เปิด “หนี้ครัวเรือน” ไตรมาส 2 ทะลุ 83.8% สูงสุดรอบ 18 ปี ห่วงคนตกงานพุ่ง https://positioningmag.com/1299501 Thu, 01 Oct 2020 06:33:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1299501 หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งต่อเนื่อง สวนเศรษฐกิจซบเซา Q2/63 กระฉูด 83.8% ต่อ GDP แตะระดับสูงสุดรอบ 18 ปี ห่วงคนตกงานพุ่ง ประชาชนขาดรายได้ ฉุดคุณภาพหนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูลสถิติ เกี่ยวกับเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือ “หนี้ครัวเรือน” ในไตรมาส 2/2563 พบว่า ปรับตัวมาอยู่ที่ 83.8% ต่อ GDP สูงขึ้นต่อเนื่องจากในไตรมาส 1/2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 80.1% ต่อ GDP 

โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 92,182 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2563 มาอยู่ที่ 13,587,996 ล้านบาท นำโดยหนี้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์ ที่มีจำนวน 3.84 ล้านล้านบาท และ 5.79 ล้านล้านบาท ตามลำดับ

การที่ระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสวนทางเศรษฐกิจไทยที่หดตัว เป็นภาพตอกย้ำวังวนของภาระหนี้สูง ซึ่งมาพร้อมกับฐานะทางการเงินของประชาชนและครัวเรือนที่อ่อนแอลงในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านรายได้และเสี่ยงตกงาน 

Photo : Shutterstock

หนี้ครัวเรือน มีเเนวโน้มพุ่งเเตะ 88-90% ในสิ้นปีนี้ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ต่อกรณีนี้ว่า ทิศทางหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นภาพ 2 ด้านที่แตกต่างกัน เพราะในขณะที่ประชาชนและครัวเรือนบางกลุ่มก่อหนี้เพิ่มขึ้น เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แต่ก็ยังมีประชาชนและครัวเรือนอีกหลายกลุ่มที่ต้องรับมือกับปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องการมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน

โดยหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2/2563 สะท้อนสถานการณ์ของกลุ่มลูกหนี้รายย่อย 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรก คือ กลุ่มครัวเรือนที่ยังพอมีกำลังซื้อ (รายได้ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังมีความสามารถในการชำระหนี้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน) มีการก่อหนี้ก้อนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนจากสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ที่เพิ่มขึ้นราว 1.42 แสนล้านบาทในไตรมาสที่ 2/2563 (สูงกว่ายอดปล่อยใหม่ในไตรมาสแรกที่ 1.38 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ผลักดันแคมเปญออกมาเพื่อจูงใจการตัดสินใจของลูกค้า

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มครัวเรือนที่เผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องจากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านข้อมูลลูกหนี้รายย่อยที่รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการระยะแรกที่มีการพักชำระหนี้และลดภาระผ่อนต่อเดือน ซึ่งจำนวนบัญชีลูกหนี้รายย่อยที่เข้าโครงการระยะแรกมีถึง 11.5 ล้านบัญชี (33% ของบัญชีลูกหนี้รายย่อยทั้งหมด) คิดเป็นภาระหนี้ประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท (28% ของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน) นอกจากนี้ ปัญหาการขาดสภาพคล่องยังทำให้ครัวเรือนบางส่วนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพื่อการดำรงชีพและสำหรับรองรับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะยังเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย โดยหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 88-90% ต่อ GDP ภายในสิ้นปี 2563 จากระดับ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2563” 

คนตกงาน-ขาดรายได้ ฉุดคุณภาพหนี้

จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ที่มีแนวโน้มหดตัวลงในครึ่งปีหลัง ขณะที่สินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ที่คาดว่าจะยังเติบโตในกลุ่มครัวเรือนที่มีกำลังซื้อและมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ อาจทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนยังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะเป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่เติบโต 5.1% ในปี 2562

“ผลกระทบจากเศรษฐกิจทำให้ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของครัวเรือนหลายกลุ่มด้อยลง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง” 

อย่างไรก็ดี มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย (ทั้งมาตรการเฟสสอง และมาตรการรวมหนี้) รวมถึงมาตรการเฉพาะของสถาบันการเงินแต่ละแห่งที่จะดำเนินการเพิ่มเติม และการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ อาจช่วยบรรเทาภาระให้แก่ครัวเรือนในหลายๆ ส่วน ในช่วงที่ยังต้องรอเวลาให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำลง (ทั้งอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี หรือ MRR ตลอดจนการลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ) ยังช่วยให้ภาระทางการเงินของลูกหนี้เบาตัวลงด้วยเช่นกัน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดคุณภาพของหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้

 

]]>
1299501
รวมมิตร 14 ธนาคาร “พักหนี้” ทั้งต้นทั้งดอก 6 เดือน ช่วย SMEs-รายย่อย ฝ่ามรสุม COVID-19 https://positioningmag.com/1273383 Tue, 14 Apr 2020 15:00:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1273383 “เเบงก์พาณิชย์-เเบงก์รัฐ” ขานรับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พาเหรดออกมาตรการช่วยลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ลูกค้ารายย่อยเเละเจ้าของธุรกิจ SMEs ที่กำลังหาข้อมูลมาตรการ “พักชำระหนี้” ของธนาคารต่างๆ Positioning รวบรวมมาให้เเล้วถึง 14 ธนาคาร 

1. ไทยพาณิชย์ (SCB)

เริ่มต้นกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศมาตรการพักชำระสินเชื่อทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือนให้แก่ลูกค้าผู้ประกอบการ SMEsที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาททุกราย โดยจะธนาคารดำเนินการพักหนี้
ให้ลูกค้ากลุ่มนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระทางด้านค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ

“ลูกค้าเอสเอ็มอีมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาททุกราย จะได้รับการพักชำระหนี้ 6 เดือนโดยอัตโนมัติโดยไม่จำเป็นต้องติดต่อธนาคาร”

นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุน “สินเชื่อซอฟต์โลน” อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในระยะ 6 เดือนแรก เนื่องจากรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยในช่วงดังกล่าวแทนผู้ประกอบการ สามารถขอสินเชื่อซอฟต์โลนใหม่ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องทางการเงินสำหรับการดำเนินธุรกิจต่อไป

สำหรับลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อซอฟต์โลนสามารถแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2563 – 30 กันยายน 2563

อ่านเพิ่มเติม : ถาม-ตอบ กรณีลูกค้าสินเชื่อบุคคลและ SMEs ขอรับความช่วยเหลือจากการได้รับผลกระทบ COVID-19

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
? 02-722-2222

2. กสิกรไทย (KBank)

ตามมาด้วย กสิกรไทย ที่ปัจจุบันมีลูกค้าเงินกู้ในระบบที่เป็น SMEs อยู่ถึง 40% ได้ประกาศมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกค้าผู้ประกอบการที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งเเต่ 1 เมษายน 2563-30 กันยายน 2563 รวมถึงพร้อมให้เงินกู้เสริมสภาพคล่องลูกค้าผู้ประกอบการที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยให้ลูกค้าสามารถกู้ได้ 20% ของยอดวงเงินเดิม คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี
และไม่คิดอัตราดอกเบี้ย 6 เดือนแรก

อ่านเพิ่มเติม : รวมมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อทั้งหมดสำหรับลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการของ KBank

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
? ลูกค้าบุคคล 02-8888888
? ลูกค้าผู้ประกอบการ 02-8888822

3. กรุงศรีอยุธยา

ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็ออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือนแก่ลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เริ่มตั้งเเต่ 1 เมษายน 2563 – 30 กันยายน 2563 เช่นกัน พร้อมด้วยมาตรการให้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง (Soft loan) แก่ลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยสามารถกู้ได้สูงสุด 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นปี 2562 ในอัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 2 ปี และไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก

ทั้งนี้ ลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สามารถติดต่อผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ หรือแจ้งขอรับมาตรการความช่วยเหลือได้ที่ โครงการรับเรื่องจากลูกค้าสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 บนเว็บไซต์ krungsri.com

สำหรับลูกค้าสินเชื่อบ้าน จะมีมาตรการพักชำระเงินต้นเเละดอกเบี้ย 6 เดือนเเละพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือน ส่วนสินเชื่อบุคคล (สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคลเเละสินเชื่อกรุงศรี IFIN) พักชำระเงินต้นเเละดอกเบี้ย 6 เดือน ซึ่งเป็นโปรเเกรมสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 เท่านั้นเเละขอสงวนสิทธิ์เเล้วเเต่กรณี

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
?1572
?เว็บไซต์ krungsri.com

กรุงศรีคอนซูมเมอร์ : ลูกค้าบัตรเครดิต

กรุงศรีคอนซูเมอร์ ปล่อยโครงการ “เราจะก้าวผ่านไปด้วยกัน กับกรุงศรี คอนซูมเมอร์” ช่วยเหลือลูกค้าบัตรเครดิตกว่า 6 ล้านบัญชี โดยออก 3 มาตรการพิเศษ ด้วยการลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน และการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน สำหรับ “ลูกค้าทุกราย” โดยไม่ต้องแจ้งความจำนง

รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยเน้นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม การบิน และบริการอื่นที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ เหลือ 12% สำหรับบัตรเครดิต และ 22% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล โดย “ลูกค้าต้องลงทะเบียน” เพื่อขอรับพิจารณาความช่วยเหลือดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชัน UCHOOSE ซึ่งจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี

มีรายละเอียดดังนี้

มาตรการที่ 1 : ลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน สำหรับบัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% ตามรอบบัญชีตั้งแต่ 1 เม.ย. 2563 – 31 ธ.ค. 2564 ส่วนผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลจากเดิม 5% เหลือ 3% ตามรอบบัญชีตั้งแต่ 18 มี.ค. 2563 – 31 ธ.ค. 2563 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง

มาตรการที่ 2 : พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน ให้กับลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทุกรายโดยมิต้องแจ้งความจำนงเป็นระยะเวลา 2 รอบบัญชี สำหรับลูกค้าทุกรายที่มีวันครบกำหนดชำระตั้งแต่ 14 เม.ย. – 12 มิ.ย. 2563 โดยดอกเบี้ยยังคงคำนวณตามอัตราปกติแบบลดต้นลดดอก ทั้งนี้ สถานะบัญชีของลูกค้าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลง

มาตรการที่ 3 : ปรับลดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ เริ่มต้น 12% สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยลูกค้าต้องลงทะเบียนแจ้งความจำนง และจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี ส่วนผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษเหลือ 12% และลดภาระการชำระคืนด้วยการขยายการเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 48 เดือน ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เหลือ 22% และลดการผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือเพียง 3%

โดยมาตรการดังกล่าว สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามประกาศของทางราชการ โดยลูกค้าต้องมีบัญชีสินเชื่อกับบริษัทก่อนเดือน มี.ค. 2563

ทั้งนี้ ลูกค้าจะถูกปรับลดวงเงินสินเชื่อ ให้คงเหลือเท่ากับยอดสินเชื่อคงค้างที่เข้าร่วมโครงการ โดยลูกค้าสามารถลงทะเบียนรับพิจารณาความช่วยเหลือดังกล่าว ผ่านแอปพลิเคชัน UCHOOSE ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 2563 – 30 มิ.ย. 2563 โดยบริษัทจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
?บัตรเครดิตกรุงศรีอยุธยา krungsricard.com
?บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน centralthe1card.com
?บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ firstchoice.co.th
?บัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า tescolotusmoney.com

4. กรุงไทย

ธนาคารกรุงไทย ได้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยประกาศพักชำระหนี้เงินต้นเเละดอกเบี้ย 6 เดือน ให้กับลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อรับมือกับรายจ่ายที่จำเป็นของธุรกิจ เริ่มมีผลเดือนเมษายน – กันยายน 2563 เเละยังสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กลุ่มลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ 31 ธันวาคม 2562 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี

“ธนาคารไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้”

ก่อนหน้านี้ กรุงไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือ “ลูกค้าทุกกลุ่มทุกขนาด” อย่างการพักชำระเงินต้น 12 เดือน ให้กับลูกค้ารายย่อย พักชำระเงินต้น 12 เดือน ขยายระยะเวลาชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อ Trade Finance ออกไป 6 เดือน สำหรับลูกค้าธุรกิจที่มีรายได้ลดลง

มีการพักชำระหนี้ให้ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจที่มีสถานะชำระปกติทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน ทั้งสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท สินเชื่อธุรกิจที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อ “กรุงไทยต้านภัยโควิด-19 ดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 2% ต่อปี คงที่ 2 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม บสย. ค้ำประกัน 4 ปี ทำธุรกรรมโอน รับ จ่าย ไม่คิดค่าธรรมเนียมนาน 1 ปี สำหรับลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม รถเช่า ร้านขายของฝาก ของที่ระลึก เป็นต้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
?02 111 1111
? facebook : Krungthai Care

5. กรุงเทพ

ด้านธนาคารกรุงเทพ ร่วมออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs ให้มีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงานต่อไปโดยมี 2 มาตรการ ดังนี้

1. สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการค้าทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติ ระยะเวลา 6 เดือนและไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต เพื่อช่วยให้มีสภาพคล่องรองรับรายจ่ายจำเป็น

ทั้งนี้ ลูกค้าผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ธนาคารขอแนะนำให้ชำระหนี้ตามปกติเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

2. ธนาคารพร้อมสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (soft loan) เพื่อเป็นเงินกู้เสริมสภาพคล่อง สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการค้าทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกและไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6เดือนแรก ทั้งนี้ลูกค้าต้องมีสถานะผ่อนชำระปกติหรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยแต่ละรายสามารถขอกู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562

ด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่ออเนกประสงค์ที่ใช้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันวงเงิน ขณะอนุมัติไม่เกิน 3 ล้านบาท พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยนาน 3 เดือน เเละวงเงินขณะอนุมัติตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไปขอความช่วยเหลือเป็นรายกรณีตามสถานการณ์

ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทเงินกู้ (Installment Loan) จะพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน

มาตรการปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำมาอยู่ที่ 5% (จากเดิม 10%) จนถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับผู้ถือบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพทุกประเภท และทุกรายได้รับสิทธิอัตโนมัติ โดยไม่ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิปรับลดดอกเบี้ยลงเป็นพิเศษ อยู่ที่ 12% สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงประกอบอาชีพหรือทำงานในธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว สายการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากการที่รัฐบาลประกาศให้หยุดบริการชั่วคราวพักชำระเงินต้น และดอกเบี้ยนาน 3 เดือนยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระ 1 เดือน (ลงทะเบียนที่นี่)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
?1333
?bangkokbank.com

ธนาคารกรุงเทพ

6. LH BANK

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แจ้งลูกค้าผ่านไลน์ ว่า พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs โดยจะพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน สำหรับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท รวมถึงพร้อมปล่อยกู้เสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน ซึ่งกู้ได้ไม่เกิน 20% ของหนี้คงค้าง ณ 31 ธ.ค.2562

สำหรับลูกค้าทุกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 มีมาตรการช่วยเหลือ ได้แก่ ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระ เช่น ปลอดเงินต้นสูงสุด 12 เดือน และขยายระยะเวลาเงินกู้ เพื่อให้ภาระการผ่อนชำระลดลง หลังหมดช่วงปลอดเงินต้น เเละสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมด้วย

“ธนาคารคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าได้ในระดับหนึ่งโดยมาตราการดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงตามผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะต่อไปและตามความเหมาะสมทางธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
?1327

7. ออมสิน

ธนาคารออมสิน ออกมาตรการพักชำระเงินต้น และดอกเบี้ย โดยอัตโนมัติทันที สำหรับลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นเวลา 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2563

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
?1115 หรือ 0-2299-8000

 

8. ธ.ก.ส.

ฝั่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เเละเกษตรกร โดยพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ตั้งเเต่ 1 เม.ย. – 30 ก.ย. 2563 เพื่อเป็นการสนับสนุนเงินกู้เสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าตามร่างพระราชกำหนดให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยมาตรการอื่นๆ จะมีการเเจ้งให้ทราบต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
? 0-2555-0555
? baac.or.th

9. ธพว.

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ระบุว่า ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยเลื่อนชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติให้ลูกค้าเป็นเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2563 สำหรับภาระหนี้ที่พักชำระไว้ ธนาคารจะนำยอดดังกล่าว ไปรวมกับค่างวดในงวดสุดท้าย ซึ่งในช่วงที่ผ่อนปรนนี้ ไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต

โดยลูกค้าที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวจะได้รับสิทธิโดยอัตโนมัติทันที ไม่ต้องแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ หรือลงทะเบียนใดๆ ทั้งสิ้นและหากลูกค้าท่านใด ต้องการชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่เคยได้รับก็สามารถชำระได้ตามปกติ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
?1357
? smebank.co.th

10. EXIM BANK

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK แจ้งว่า ธนาคารได้มีมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน สำหรับลูกค้าทุกรายที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม

พร้อมเงินกู้เสริมสภาพคล่องสำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยให้กู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ 31 ธ.ค. 2562 คิดอัราดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี และ ปลอดดอกเบี้ยช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งลูกค้าสามารถติดต่อขอกู้ได้จนถึง 31 ธ.ค. 2563

นอกจากนี้ยังมี โครงการ “สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน” เพื่อสนับสนุนสถานประกอบการในซัพพลายเชนของการส่งออกไทย โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
? 02-617-2111 ต่อ 3510-2

11. UOB 

ธนาคารยูโอบี (ไทย) ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ปรับลดอัตราการผ่อนชำระคืน ขั้นต่ำและมอบทางเลือกในการพักเงินต้น

โดยลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตของธนาคารที่มีสถานะทางบัญชีปกติ จะได้รับการปรับลดอัตราผ่อนชำระคืนขั้นต่ำจาก 10% เป็น 5% สำหรับบัตรเครดิตยูโอบี และจาก 5% เป็น 2.5% สำหรับบัตรกดเงินสดยูโอบีแคชพลัส โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563

สำหรับลูกค้าบัตรเครดิตยูโอบีและทูมอร์โรว์ บัตรกดเงินสดยูโอบีแคชพลัสสามารถแจ้งความประสงค์ในการขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 รอบบัญชีหรือเปลี่ยนยอดหนี้คงค้างเป็นยอดผ่อนรายเดือนชำระรายเดือนสูงสุด 48 รอบบัญชี สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล i-Cash สามารถแจ้งความประสงค์ในการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 รอบบัญชี

ส่วนลูกค้าสินเชื่อบ้าน สามารถแจ้งความประสงค์เลือกพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 รอบบัญชีหรือพักชำระเงินต้นโดยชำระเฉพาะดอกเบี้ยเป็นเวลา 12 รอบบัญชี

ลูกค้าเอสเอ็มอี สามารถแจ้งความประสงค์ขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือนหรือเลือกพักชำระเงินต้นโดยชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้สูงสุด 12 เดือน หรือยื่นขอสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องกับสินเชื่อโครงการ Soft Loan
ที่อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
? โทร 02 285 1555 , 02 343 3555
? uob.co.th

12-13. TMB & ธนชาต

ด้านธนาคารธนชาตได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อบ้านธนชาต หรือ Thanachart Home Loan ซึ่งประกอบไปด้วย สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ (Refinance), สินเชื่อบ้านมือสอง (Resell house)สินเชื่อปลูกบ้าน (Self built) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (Cash Your Home) และสินเชื่อโฮมพลัส (Home Plus)

ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย นานสูงสุด 3 เดือน และเมื่อครบกำหนดก็ต้องชำระหนี้คืนตามปกติ สำหรับระยะเวลาโครงการนั้นจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2564

สำหรับลูกค้าปัจจุบันสินเชื่อรถยนต์ธนชาต DRIVE ประเภทสินเชื่อรถยนต์ใหม่สินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว และ สินเชื่อรถแลกเงิน สามารถขอพักชำระหนี้ได้สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน (Skip Payment) หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 96 งวด ทั้งนี้ โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด และเมื่อครบกำหนดให้กลับมาชำระหนี้ตามปกติ ส่วนประเภทสินเชื่อเล่มแลกเงิน สามารถขอพักชำระหนี้ได้ไม่เกิน 60 วัน

ด้านธนาคารทหารไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อบ้าน ทีเอ็มบี (TMB Home Loan) ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลาสูงสุด 3 เดือน และเมื่อครบกำหนดก็ต้องกลับมาชำระหนี้ตามปกติ
เช่ยเดียวกันกับธนาคารธนชาต

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
? โทร ธนชาต 1770 – TMB 1558
? thanachartbank.co.th , tmbbank.com

14. ธอส.

ล่าสุด “ธนาคารอาคารสงเคราะห์” ได้ยกระดับความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในมาตรการที่ 5 โดยหลังจากพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 4 เดือนแล้ว ธนาคารจะยกดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ทั้ง 4 เดือนให้กับลูกค้า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลากู้ตามสัญญา

สำหรับกลุ่มลูกค้าทุกวัตถุประสงค์การกู้ที่มีวงเงินกู้ทุกบัญชีรวมกัน ไม่เกิน 3 ล้านบาท และมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 35,000 บาท ครอบคลุมลูกค้า 1.1 ล้านบัญชี ทั้งสถานะบัญชีปกติ และสถานะบัญชีดอกเบี้ยผิดนัดหรือสถานะกฎหมาย และเตรียมกรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท จัดทำมาตรการที่ 6 พักชำระเงินต้นระยะเวลา 4 เดือน พร้อมลดดอกเบี้ยเหลือ 1.00% ต่อปี สำหรับ “บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข”

แจ้งความประสงค์ เข้ามาตรการผ่าน Mobile
Application : GHB ALL ตั้งแต่วันที่ 13 – 30 เมษายน 2563

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
? 0-2645-9000
?ghbank.co.th

หมายเหตุ :รวบรวมข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 14 เมษายน 2563 
ผู้สนใจติดต่อสอบถามทางธนาคารเพื่อการอัพเดตข้อมูลมาตรการอีกครั้ง 

]]>
1273383