บทความโดย ibit ผู้จัดการออนไลน์
เบื้องหลัง“ไทยพาณิชย์” เท “บิทคับ” ตลาดคริปโตฯดิ่งเหว และ ด้วยวีรกรรมของยูนิคอร์นรายนี้เอง ทั้งจากการถูก ก.ล.ต.ลงโทษและถูกปรับกว่า 11 ครั้ง ผู้บริหารขาดธรรมาภิบาล–ระบบงานมีปัญหา ตรวจพบบัญชีม้า นอมินี สร้างดีมานด์เทียม ปั่นราคา ให้คะแนนเหรียญ KUB ตัวเองเวอร์ สองมาตรฐาน อุ้มแต่รายใหญ่ ทิ้งรายย่อย เก็บค่าต๋งแพงลิบ–ค่าธรรมเนียมเอาเปรียบ การตลาดที่ปลุกปั่นต้อนเยาวชน
ดูท่าฝันจะค้างเสียแล้วสำหรับ “กลุ่มบิทคับ” เมื่อยานแม่ “กลุ่มไทยพาณิชย์” ในนาม บริษัท เอสซีบีเอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เริ่มลังเลเปิดตู้เซฟควักเงิน 1.78 หมื่นล้านบาทจ่ายแลกหุ้น 51% ใน บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ Bitkub กระดานเทรดคริปโตเคอร์เรนซี อันดับหนึ่งของไทย จนแวดวงตลาดทุนต่างพากันเชื่อว่า งานนี้ก็คือการบอก “เทแบบสุภาพ” นั่นเอง
ขณะที่แวดวงรายย่อยทั้งสายหุ้นและสายเหรียญต่างก็บ่นอุบเพราะ “โดนแกง” โดย ณ ช่วงเวลานี้หลายฝ่ายมีความเชื่อว่าดีลดังกล่าวมีโอกาสล่มที่สูงมาก เพราะหากพิจารณาจากสำนวนตัวอักษรที่ธนาคารไทยพาณิชย์ออกมาให้ข้อมูลแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 ก.ค.65) พอจะจับประเด็นได้ว่า กำหนดการเดิมที่หมายมั่นจะสู่ขอ Bitkub ขึ้นมาอยู่ในยานแม่ SCBX ไม่สามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในไตรมาสแรกปีนี้ นั่นเพราะ “ดีลดิลิเจนท์” ที่เข้าไปส่องดูบิทคับมานานกว่า 6 เดือนข้อมูลในการตรวจสอบที่ได้รับ น่าจะเป็นที่ไม่น่าพึงพอใจของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะในส่วนสาระสำคัญที่น่าจะเกิดปัญหา หรือไม่เป็นไปตามที่ต่างฝ่ายต่างคาดหวังไว้ระหว่างกัน
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือคำยืนยันจาก “ไทยพาณิชย์” ว่ายานแม่ของกลุ่มอย่าง SCBX จะดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามกฏเกณฑ์และข้อกำหนดของ Regulator ที่เกี่ยวข้อง หรือพูดง่ายๆ ว่าออกมาย้ำจุดยืนของตนเองว่าจะไม่มีการแหกคอกเกิดขึ้น เพียงเพื่อหวังจะคว้าดีลๆ เดียว แต่อาจสร้างผลกระทบให้กับการดำเนินธุรกิจอื่นๆ ของกลุ่ม โดยเน้นย้ำในข้อความชี้แจงว่า ….. “ดีลดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าผลการสอบทานธุรกิจของบิทคับ ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องเป็นที่น่าพอใจและคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน”
ก่อนจะปิดท้ายอย่างสุภาพว่าปัจจุบันยังอยู่ระหว่างกระบวนการสอบทางธุรกิจ และระหว่างการหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยมีการขยายเวลาการเข้าทำธุรกรรมออกไปจากกำหนดการเดิม แบบไม่ขอระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนจนอาจรัดคอตนเอง นั่นทำให้โอกาสรับทรัพย์ก้อนโตของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ใน “บิทคับ” เป็นอันต้องฝันค้างเอาไว้ต่อไป รวมศิริอายุของดีลผ่านพ้นมาแล้ว 8 เดือน จากวันที่เขย่าวงการตลาดทุน หรือตลาดคริปโตฯไทยเมื่อเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 64
ผู้ถือหุ้นโล่งไม่ต้องจ่ายโอเวอร์?
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พบว่า นักลงทุนต่างมีความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยในกลุ่มที่ลงทุนในหุ้นของ SCB ณ ช่วงเวลานี้ส่วนใหญ่พอใจกับข้อมูลที่ชี้แจงออกมา เนื่องจากเชื่อว่าการเข้าลงทุนใน “บิทคับ” ในช่วงเวลานี้มีความเสี่ยงทั้งจากสภาวะตลาดเหรียญคริปโตฯ ที่อยู่ในช่วงขาลงในทุกตลาดทั่วโลกนั่นย่อมส่งผลให้มูลค่าของเหรียญ KUB Coin ลดลงไปในทิศทางเดียวกับเหรียญอื่นๆ และนั่นย่อมส่งผลให้จำนวนผู้เข้ามาลงทุนผ่านกระดานเทรด “บิทคับ ออลนไลน์” อ่อนตัวลงไปด้วย ซึ่งน่าจะมีผลให้มูลค่าในการเข้าซื้อหุ้น 51% ด้วยเม็ดเงิน 1.78 หมื่นล้านบาทไม่สมเหตุสมผล
ขณะเดียวกันบางส่วนยังเชื่อว่า เหตุผลที่ SCB เลื่อนการเข้าลงทุนเป็นเจ้าของกระดานเทรดเหรียญ น่าจะมาจากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เป็นไปตามที่ทั้งสองฝ่ายคาดการณ์ไว้ หรือ “ไม่ตรงปก” อาทิเรื่องของอัตราการเติบโตของธุรกิจ หรือกรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของดีลที่เจรจาร่วมกันไว้
เพราะที่ผ่านมานอกเหนือจากข่าวดีในด้านการขยายตลาดและการเติบโตธุรกิจ Bitkub ข่าวด้านลบออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการถูกกล่าวโทษ หรือถูกปรับจาก regulator อย่างคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลอดจนแผนการตลาดซึ่งเป็นที่ค้านสายตาหลายต่อหลายคน โดยเฉพาะการเชิญชวนเข้ามาลงทุนในเหรียญ KUB ด้วยเม็ดเงินเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับโอกาสของผลตอบแทนในอนาคต “10บาทก็ลงทุนได้” จนถูกใครต่อใครมองว่าเป็นบ่อนพนัน หนำซ้ำยังแทรกซึมเข้าไปในสถานศึกษาต่างๆ เข้ามาลงทุน
“มูลค่าการเข้าลงทุนรอบนี้สูงมาก ช่วงประกาศข่าวออกมาถือว่าเป็นปรากฏการณ์แก่ตลาดทุนและตลาดเหรียญคริปโตฯ เลยก็ว่าได้ แต่เอาเข้าจริงๆ เมื่อเทียบกับ Binance รายใหญ่ระดับโลกที่จับมือกับ Gulf บริษัทจดทะเบียนใหญ่ในตลาดหุ้นร่วมกันจัดตั้งธุรกิจหลายคนเริ่มมองว่าลงทุนได้ฉลาดกว่า และใช้ต้นทุนได้ต่ำกว่ามาก”
ตลาดคริปโตดิ่งเหวมูลค่าลดฮวบ
นอกจากนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า หากดีลดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริงราคาที่ใช้ในการซื้อขายหุ้น 51% ไม่ควรจะเป็น 1.78 หมื่นล้านบาทเหมือนตอนแรก เมื่อเทียบกับสภาวะตลาดคริปโตฯในปัจจุบันที่ดิ่งเหว ดังนั้นหากดันทุรังตัวเลขเดิมในการดีลอาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้ซื้อ
อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ประเมินกันในตอนแรกที่ 1.78 หมื่นล้าน ว่ากันว่า เป็นตัวเลขที่สูงเกินจริงไปมากอยู่แล้ว ขณะนั้นบิทคับได้โชว์ตัวเลขผลประกอบการที่ระบุว่า สามารถทำกำไรได้ปีละกว่า 2 พันล้าน โดยมีอัตราการเติบโตกว่า 1,000% ตลอดสามปีที่ผ่านมา ทว่า นับแต่ค้นปี65 จนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่า ภาวะตลาดคริปโตฯผันผวนตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นทำให้มูลค่า และโอกาสทำรายได้ของบิทคับก็ลดลงตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้ว่าตลาดจะตกต่ำ และแม้ว่า บิทคับ จะมีปัญหาอย่างไร 7-8 เดือนที่ผ่านมา ผู้บริหารไทยพาณิชย์ กลับไม่แสดงท่าทีจะบอกให้ชัดเจนว่า จะไปต่อ หรือ พอกันทีกับดีล บิทคับ ไม่ยอมตอบกระทั่งข้อซักถามของผู้ถือหุ้นในการการประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนปล่อยให้มีข้อสังสัยกันเรื่อยมาว่า เพราะอะไร?
ว่ากันว่า ที่ SCBX ยื้อเวลามานานไม่ปล่อยมือจากบิทคับ มีคำถามว่า นั่นเพราะ นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กับ นายจิรายุส หรือ ท๊อป ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง บิทคับ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันดี ใช่หรือไม่? ซึ่งที่ผ่านมา ทราบกันดีว่า นายอาทิตย์ เป็นผู้ผลักดันดีลนี้มาตั้งแต่ต้น ออกตัวแรงว่าต้องการจะให้ธนาคารซื้อหุ้นของบิทคับ โดยพยายามโน้มน้าวผู้บริหารไทยพาณิชย์คนอื่นๆ ให้เห็นด้วย ทั้งๆ ที่หลายคนก็ฝืนใจโดยไม่เห็นด้วยนัก
ส่วนฝั่งท๊อป จิรายุส ผู้ขาย หากดีลนี้ไม่เกิดขึ้น นอกจากจะฝันค้างถึงเม็ดเงินที่จะไหลเข้ากระเป๋าส่วนตัวหลายพันล้าน ย่อมต้องมีผลกระทบเกิดขึ้นกับพาร์ตเนอร์ธุรกิจรายอื่นๆ ที่เข้ามาแล้ว และกำลังจะเข้ามาร่วมมือในอนาคต
“การได้อยู่ใต้ร่มเงาของ SCBX ย่อมช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้การเรียกร้องราคาความร่วมมือย่อมโก่งราคาได้มากกว่า แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในส่วนหนึ่งของแผนยานแม่ มูลค่าที่พันธมิตรรายอื่นๆ ที่ควักจ่ายไว้อาจต้องมีเงินทอนคืน หรือความน่าสนใจเข้าร่วมมือที่ลดลง นอกจากนี้ ด้วยเงื่อนไขสัญญาที่พันธมิตรจะต้องมีการลงทุนในเหรียญ KUB แม้จะเคยออกมาการันตีรับซื้อคืนในราคาเดิม แต่ระยะเวลาที่ต่างกัน และสถานการณ์ที่ต่างกัน บางทีเงินที่ประกาศรับซื้อคืนในราคาเดิมก็อาจสร้างปัญหาในอนาคตได้เช่นกัน”
วีรกรรมบิทคับทำพิษ
จริงๆ มีหลายฝ่ายเห็นว่า ไทยพาณิชย์ ไม่ควรจะซื้อบิทคับตั้งแต่แรกแล้ว เพราะถ้าไม่นับตลาดคริปโตฯที่ดิ่งนรก ด้วยการกระทำของตัวเองของบิทคับในช่วงที่ผ่านมา และจากการเข้าไปตรวจสอบของธนาคารเองก็น่าจะได้เห็น ว่า ภาพที่สร้าง ไม่เหมือน ภาพจริงที่ปรากฏ ใช่หรือไม่ ป้ายโฆษณาชวนเชื่อมต่อโลกอนาคตของนายท็อปที่ติดอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองอย่างสวยหรู ภาพจริง Bitkub ถูกตรวจสอบ หรือถูกติดตามการกระทำในหลายด้าน ดังที่ “ibit” เคยวิเคราะห์และไล่เรียงให้ฟังดังนี้
สร้างวอลุ่มเทียมเรียกแขกเข้าวง
โดยสามารถสรุปได้ อาทิ 1.ปั่นวอลุ่มเทียมหลอกนักเทรด จากกรณี ก.ล.ต.ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub (ศูนย์ซื้อขาย Bitkub) ของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด โดยให้ผู้กระทำผิดชำระเงินรวม 24.16 ล้านบาท พร้อมกับกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการ หรือผู้บริหาร
เนื่องจาก ก.ล.ต พบเหตุสงสัยว่า อาจมีการสร้างปริมาณเทียมในศูนย์ซื้อขาย Bitkub จึงได้ตรวจสอบโดยพบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดของบุคคล 3 ราย ได้แก่ (1) บริษัท บิทคับ (2) นายอนุรักษ์ เชื้อชัย (Market Maker) ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขาย (3) นายสกลกรย์ สระกวี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัท สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัท บิทคับ กระทำความผิดดังกล่าวในช่วงก.พ.2562
ระบบงานและบริการที่ยังมีปัญหา
ประเด็นถัดมาที่หลายฝ่ายเชื่อว่ามีผลต่อการตัดสินใจดีล SCBX ถูกให้น้ำหนักไปที่ระบบสารสนเทศ และรับงานให้บริการลูกค้าที่เคยมีปัญหาจนถูก ก.ล.ต.สั่งให้ดำเนินการแก้ไข อาทิ ในช่วงเดือนมกราคม 2564 “บิทคับ ออนไลน์” ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รายงานเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบสารสนเทศที่มีความสำคัญ ประเภทระบบหยุดชะงัก (system disruption) ต่อสำนักงานล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด เป็นจำนวน 6 ครั้ง
ถัดมาวันที่ 8 ม.ค. – 7 มี.ค. 2564 “บิทคับ” มีระบบงานในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (compliance) “ไม่รัดกุมเพียงพอ” ที่จะทำให้บริษัท บิทคับ สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก่อนหน้านั้นวันที่ 28 ธ.ค. 2563 – 20 ม.ค. 2564 “บิทคับ ออนไลน์” มีระบบงานที่เกี่ยวกับการรับและจัดการข้อร้องเรียน และการจัดให้มีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า รวมทั้งจำนวนและความรู้ความสามารถของบุคลากรไม่เหมาะสมและเพียงพอให้บิทคับประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading rules) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.
หรือเหตุการณ์ในช่วง วันที่ 2 -21 ม.ค. “บิทคับ ออนไลน์” มีระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย ระบบรับฝากและถอนทรัพย์สิน และระบบการแสดงยอดทรัพย์สินของลูกค้า ไม่เหมาะสมและเพียงพอให้บิทคับประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เป็นต้น จนทำให้ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษ หรือมีคำสั่งปรับเงิน และคำสั่งอื่น ๆ เข้ามาควบคุมอีกมากมาย
ป้ายโฆษณาชวนเชื่อเชื่อมต่อโลกอนาคต ที่ติดตามตอม่อ บนทางด่วน และท้องถนน ยังคงมีให้เห็นเต็มบ้านเต็มเมือง ขณะที่ “SCBX” ประกาศเลื่อนดีลซื้อหุ้น “บิทคับ” ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ตรวจพบ บัญชีม้า –นอมินี
จากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. ยังพบว่า บิทคับเคยมีปัญหาปรากฏเหตุระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทขัดข้องในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 ต่อเนื่องถึงต้นเดือนมกราคม 2564 อันส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายต่อลูกค้าของบริษัทเป็นวงกว้าง
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 3/2564 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 สั่งการให้บริษัทระงับการเปิดรับลูกค้าใหม่ รวมถึงลูกค้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินการยืนยันหรือเพื่อพิสูจน์ตัวตนเพื่อเปิดบัญชี หรือ KYC
มีข้อสังเกตว่า บิทคับตอนนั้นปล่อยผี การเปิดบัญชีไม่เป็นไปตาม ก.ล.ต. กำหนดโดยเฉพาะกรณีลูกค้าที่จัดอยู่ในกลุ่มประเภทที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณารับลูกค้าของบริษัทก่อน
ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ และหากที่ก่อนนี้ ผู้ก่อตั้งบิทคับ ระบุว่า บริษัทมีลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่าจำนวนมากหลัง BX ปิดตัวไปหลายแสนบัญชีที่เข้ามาในช่วงระหว่างนั้น ผ่านระบบ KYC เข้ามาได้อย่างไร? และใครเลยจะรู้ได้ว่า บัญชีกว่า 3 ล้านบัญชีที่บิทคับกวาดมาจะมีบัญชีตัวแทน หรือ “นอมินี” หรือบัญชีม้า อยู่มากน้อยแค่ไหนหลุดลอดมา
ก.ล.ต.ยังระบุว่า การพิสูจน์ตัวตนของลูกค้า และผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้าบิทคับ (“enhanced KYC/CDD”) ของกลุ่มลูกค้าที่เป็น “market maker” จำนวน 17 ราย พบว่า มีจำนวน 4 รายที่ไม่รัดกุม โดยบริษัทยังไม่ได้ enhanced KYC/CDD ซึ่งลูกค้า 4 รายดังกล่าวมียอดทรัพย์สินเป็นเงินสดและเหรียญเป็นจำนวนมากไม่สอดคล้องกับเอกสารหลักฐานที่แสดงศักยภาพทางการเงินของลูกค้าที่นำมา
ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจาก การพิสูจน์ตัวตนไม่ได้ว่าลูกค้าเป็นใคร หรือมีบัญชีม้า หรือนอมินีจำนวนมากในตลาด ย่อมทำให้เปิดช่องในการฟอกเงิน เลี่ยงภาษี ทำราคาซื้อขาย หรือปั่นเหรียญ ทำรายการที่ไม่เหมาะสม หรือธุรกรรมที่กระทำการผิดกฎหมาย
เรื่องนี้มีตัวอย่าง ของ อีลอน มัสก์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทเทสลา และสเปซเอ็กซ์ ที่เพิ่งประกาศ ตัดสินใจยุติการยื่นข้อเสนอมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อซื้อกิจการทวิตเตอร์ เครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อดัง เมื่อวันศุกร์ (8 ก.ค.) เพราะพบว่ามีการละเมิดข้อตกลงหลายอย่าง
โดยมัสก์ระบุว่า สาเหตุที่ไม่ไปต่อกับข้อตกลงซื้อกิจการนี้ก็เพราะทวิตเตอร์ล้มเหลวในการให้ข้อมูลที่เพียงพอเรื่องการ สแปม และบัญชีผู้ใช้ปลอม หรือ บัญชีม้า นั่นเอง
KUB Coin ไม่มีมาตรฐาน
เงื่อนงำของ “บิทคับ” ยังไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะเพียงแค่เมื่อ ก.ล.ต.ประกาศมาตรการลงโทษผู้บริหารของ “บิทคับ” กับ Market Maker ได้ไม่เท่าไรก็มีคำสั่งออกมาอีกฉบับ “บิทคับ ออนไลน์” แก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 โดยให้ Bitkub ประสานกับบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) ซึ่งเป็นผู้ออกเหรียญ KUB ดำเนินการแก้ไขมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจกต์ของเหรียญ KUB ให้เป็นไปตามคะแนนที่ Bitkub ได้พิจารณาไว้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 และให้ Bitkub แสดงหลักฐานอย่างชัดเจนต่อ ก.ล.ต. ว่า มาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจคของเหรียญ KUB เป็นไปตามคะแนนที่ Bitkub ได้พิจารณาไว้
เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เมื่อ Bitkub ได้พิจารณาอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ของ Bitkub โดยที่เหรียญ KUB มีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
นั่นทำให้ ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบการคัดเลือกเหรียญ KUB แล้ว พบว่า Bitkub มีการให้คะแนนการคัดเลือกเหรียญ KUB เพื่ออนุมัติให้เข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ของ Bitkub ไม่เป็นไปตาม Listing Rule ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ขณะเดียวกัน Bitkub ได้ให้คะแนนในเรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจกต์ในระดับที่ “สูงกว่ามาตรฐานและไม่เคยมีมาก่อน” แต่ไม่ปรากฏหลักฐานและเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า เหรียญ KUB มีเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่จริง
ให้คะแนนเหรียญตัวเองเวอร์
นอกจากนี้ Bitkub ยังให้คะแนนในหัวข้อการระดมทุนและหัวข้อส่วนลด Pre-ICO Sale ที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของเหรียญ KUB ด้วย จึงทำให้ ก.ล.ต. เห็นว่า คะแนนการคัดเลือกเหรียญ KUB โดยรวมไม่ถึงเกณฑ์ที่จะอนุมัติเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเมื่อราคาเหรียญ KUB จะดิ่งลงมาต่ำกว่า 100 บาท/เหรียญ หลังจาก ก.ล.ต.มีคำสั่งดังกล่าวออกมา เรียกได้ว่าผลกรรมของ “บิทคับ” กำลังทยอยถูกเปิดเผยออกมาตามกรรมที่ได้กระทำไว้อย่างต่อเนื่อง
แต่สิ่งที่ชวนให้น่าติดตามต่อสำหรับประเด็นดังกล่าว คือ การแก้ไขคะแนนของเหรียญ KUB Coin ให้ต้องกับเงื่อนไขของ ก.ล.ต.จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันได้หรือไม่ และเมื่อแก้ไขได้จะมีผลต่อราคาเหรียญในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด
ขณะเดียวกันหากไม่สามารถแก้ไขได้ เหรียญ KUB จะสามารถซื้อขายบนกระดานเทรดต่อไปได้หรือไม่ รวมไปถึงนักลงทุนที่ถือเหรียญอยู่จะได้รับความยุติธรรมจากผลที่เสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือเปล่า?
ลาก Kub Coin ขึ้นไปถึง 1,833%
Kub Coin เปิดตัวเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2564 แต่ไม่ได้สวยหรูอย่างที่นักเทรดคิด โดยการซื้อขายเปิดด้วยตัวแดงจากการเทขายอย่างหนัก ราคาร่วงจาก 30 บาทไหลรูดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดที่ 12 บาท นักวิเคราะห์มองว่า นั่นคือภาพสะท้อนความเชื่อมั่นและปัจจัยพื้นฐานที่มีต่อ Kub Coin และเจ้ามือถือโอกาสทำกำไรตั้งแต่แรกเลย
แต่ราคา Kub Coin ที่เปิดตัวไม่สวยด้วยแดงเลือดสาดทำให้บรรดานักลงทุนเรียกร้องผ่านโซเชียลทวีตข้อความเรียกร้องให้ท๊อป จิรายุส ที่สร้างตัวตนให้แฟนคลับบนโลกออนไลน์รับรู้ถึงคนที่จะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนชีวิตนักเทรด ให้เชื่อมั่นในเหรียญ Kub ออกมาช่วยเหรียญหน่อย ซึ่ง ท๊อป ก็ขานรับได้โพสต์ลงทวิตเตอร์ว่า “เดี๋ยวคอยดูกัน”
ว่ากันว่า ใน 2 วันแรกที่ KUB Coin สามารถขายได้ 50 ล้านเหรียญ จากนั้นราคาก็ร่วงลงมาเหลือ 13-14 บาท เนื่องจาก ก.ล.ต. มองเห็นสัญญาณอันตราย จึงตั้งกฎว่า ห้ามบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขายออกเหรียญเองเทรดเอง เพราะขัดแย้งผลประโยชน์ แม้จะไม่มีผลย้อนหลัง แต่ทำให้ศูนย์ซื้อขายอื่นๆ ทำไม่ได้จนเกิดเป็นดราม่ากัน
หลังจากนั้น ปรากฏในเวลาต่อมาเพียง 1 เดือน บิทคับต้องออกประกาศไวท์เปเปอร์ V2 ออกมา ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญ คือ การ “เผาเหรียญ” ทิ้ง 89% หรือ จาก 1,000 ล้านเหรียญให้เหลือเพียง 110 ล้านเหรียญ เพื่อดึงราคา และสภาพคล่องให้ Kub Coin
ทว่า จุดเปลี่ยนของ Kub Coin ก่อนที่ราคาถูกปั่นทะลุเมฆต้องบอกว่า มาจากข่าวการเข้ามาซื้อหุ้นของผู้เล่นรายใหญ่ SCBX ค่ำคืนวันที่ 2 พ.ย. 2564 ราคาเหรียญขยับจากเดิมที่ระดับ 30-33 บาทต่อ 1 เหรียญ พุ่งสูงขึ้นถึง 98 บาทต่อเหรียญ หรือกว่า 196%
แต่หลังจากราคา KUB Coin ขึ้นไปทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันที่ 28 พ.ย. 64 ที่ราคา 580 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่าราคาตั้งต้นกว่า 1,833% ได้ไม่นาน ก็มีแรงเทขายอย่างหนักในช่วงเช้าวันที่ 30 พ.ย.2564 ส่งผลให้ราคาเหรียญดิ่งเหวลงไปอยู่ต่ำสุดของวันที่ 150 บาท หรือ ร่วงไป 70%
สองมาตรฐาน รายย่อยตาย อุ้มรายใหญ่
ขณะเดียวกันยังมีข่าวประเภทบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่ไหลออกมาต่อเนื่อง อย่างเช่น ล่าสุด ในกรณีของ บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN และ บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD ลงทุนเหรียญ KUB Coin เข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับ “บิทคับ” เพื่อวัตถุประสงค์การเป็นพาร์ตเนอร์ในการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Validator Node) ในระบบการตรวจสอบธุรกรรมบล็อกเชน (Block chain)
โดย บมจ.โปรเอ็น คอร์ป ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 2.5 แสนเหรียญ ในราคาลงทุนเฉลี่ยเหรียญละ 291 บาท (ประมาณ 72.9 ล้านบาท) เมื่อราคาเหรียญปรับตัวลงมา ล่าสุด ( 31 พ.ค.) ราคาเหรียญเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 112 บาทต่อ 1 เหรียญ นั่นทำให้มูลค่าลงทุนของ PROEN ลดลงไปประมาณ 179 บาท หรือกว่า 159%
ส่งผลให้นักลงทุนที่ถือหุ้น PROEN ตัดสินใจเทขายหุ้นออกมา เนื่องจากกังวลว่าบริษัทจะได้รบผลกระทบจากการลงทุนในเหรียญ KUB ทำให้ผู้บริหารบริษัทต้องออกมาชี้แจง (31 พ.ค.) ว่า การร่วมลงทุนกับ Bitkub นั้นมีข้อตกลงในการยืนยันการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อครบกำหนดภายในวันที่ 31 พ.ค. 2566 ที่ไม่ต่ำกว่าราคาต้นทุน แต่หากราคาซื้อขายสูงกว่าบริษัทจะได้รับส่วนต่างกำไรทั้งหมด
ขณะที่ บมจ.ทีวี ไดเร็ค หรือ TVD ทำสัญญาซื้อเหรียญ KUB Coin ที่ราคา 104.26 บาท/เหรียญ จำนวน 125,000 เหรียญ ใช้เงินทุนราว 13 ล้านบาท โดยทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงรองรับในระดับ 12% หรือจำนวน 15,000 เหรียญ ราคาซื้อคืนที่ 90 บาท ระยะเวลาสัญญา 1 ปี
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 2 กรณี ทำให้เริ่มมีหลายฝ่ายมองว่า เป็นการเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไปหรือไม่? เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องยอมรับความเสี่ยงต่อการขึ้นลง หรือความผันผวนของราคาเหรียญด้วยตนเอง และ “บิทคับ” ก็ไม่มีมาตรการอะไรออกมารับรอง
คำถามก็คือ พฤติการณ์ช่วงโปรโมชัน KUB ราคาดิ่งเหว ช่วยเหลือพันธมิตรด้วยการอุ้มสมประกันราคา โดยที่มีมาตรฐานไม่เท่ากันกับรายย่อยที่อยู่บนดอยสูงของเจ้าของเหรียญ KUB เพื่อดันราคาของ KUB ให้สูงขึ้น เพื่อมิให้มูลค่าของตลาดซื้อขายคริปโตของบิทคับดูราคาต่ำไปด้วย เพียงเพื่อให้ SCBX ไม่ทิ้งดีล
ค่าต๋งแพง โขกค่าธรรมเนียมสูง
บิทคับ เพื่อสร้างรายได้ให้เติบโตสูงเป็นที่ต้องตาของ SCBX นั้น ถูกพบว่า บิทคับ คิดค่าธรรมเนียมในการเทรด 0.25% ไปกลับซื้อ–ขาย เก็บค่าต๋ง 0.50% ถือว่าแพงกว่า กระดานเทรดคริปโตรายอื่นๆ หรือ อย่างไบแนนซ์กว่าเท่าตัว และเมื่อมีการทำรายการถอนบิทคับ จะคิดค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อรายการกับนักลงทุน ซึ่งว่ากันว่าเป็นค่าธรรมเนียมที่ “มหาโหด” ที่คนในวงการการเงินมองว่า บิทคับเอากำไรเกินควร ทั้งๆ ที่แบงก์คิดค่าธรรมเนียมค่าบริการกับบิทคับเพียง 3 บาทต่อรายการ แต่บิทคับเอามาเรียกเก็บจากลูกค้าเพิ่มถึง 17 บาท
ปั่นเยาวชน มอมเมาด้วยการตลาด
สิ่งที่สังคมรับไม่ได้ และ เห็นว่า ไทยพาณิชย์ต้องคิดให้รอบคอบในการเข้าลงทุนเทกโอเวอร์บิทคับ ก็คือ การทำการตลาดของยูนิคอร์นรายนี้ที่ทำทุกวิถีทางที่จะได้ลูกค้ามาเปิดบัญชีเทรดกับตลาดตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่เยาวชนที่อ่อนด้อยประสบการณ์ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ไทยพาณิชย์จะได้รับคือ การซื้อ “บ่อนพนัน”
จากทั้งหมด บทสรุปของบิทคับ จากสตาร์ทอัป อัปเกรดขึ้นมาเป็น “ยูนิคอร์น” ภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยการขี่กระแสขาขึ้นของ “บิตคอยน์” พร้อมกับความพยายามในการสร้าง “ลัทธิ” หรือการสร้างภาพให้ธุรกิจและตัวของ “ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ให้เป็นดั่ง “เจ้าลัทธิ” ที่ปลุกเร้าเจ้าของธุรกิจ ชนชั้นอีลิท และ คนดัง ด้วยการตั้งโปรแกรม “ Chosen1” ทุ่มงบประมาณการตลาดมากมายมหาศาล ชวนเชื่อให้เชื่อไปในแนวทางเดียวกันกับบิทคับ ว่า บิทคับคือผู้ที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกการเงิน และเชื่อมต่ออนาคตด้วยนวัตกรรมใหม่ พร้อมกับการปูพรมกวาดต้อนนักลงทุนหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์ นักเรียนมัธยม เด็กมหาวิทยาลัย ที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเองด้วยแคมเปญเช่น 10 บาทก็ลงทุนได้ สะท้อนให้เห็นว่า บิทคับนั้นเอาการตลาดนำหน้าเพื่อรายได้ เพื่อผลกำไรทางธุรกิจ มากกว่าผลลัพธ์การพัฒนาตลาดคริปโตฯ
ธรรมาภิบาลแบบนี้ ไทยพาณิชย์ ไม่เทไหวหรือ?
อ่านเพิ่มเติม
- ตอนที่ 1 ดีล SCBX ฮุบ Bitkub เริ่มเสี่ยง… ได้ไม่คุ้มเสีย?
- ตอนที่ 2 KUBCOIN เจ้ามือรวย แมงเม่าม้วยมรณา
- ตอนที่ 3 Bitkub ยูนิคอร์น สายพันธุ์อันตราย?!
- ตอนที่ 4 ลัทธิ Bitkub ตัวป่วนวงการ! สวน “ธปท.-ก.ล.ต.” คุมเข้ม
- ตอนที่ 5 Bitkub เทียบ Binance ค่าต๋งแพง-ค่าถอนโหด กับดักแมงเม่า
- ตอนพิเศษ แฉบิทคับเดินสายล้างสมองเยาวชน ผู้บริหาร SCBX พยายามปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ (ตอนพิเศษ)
-
เจาะแผน Bitkub ปั๊มบัญชีลูกค้า แจกฟรีเครดิตเทรดไม่ต่างเว็บพนัน
-
ดีล SCBX-Bitkub ส่อแวว ล่ม–เลื่อน–หลุดราคาคุย ขัดกับมายาภาพที่ “ท๊อป จิรายุส” พยายามสร้าง
-
ให้คะแนนเหรียญตัวเองสุดเวอร์ ก.ล.ต.ชี้เหรียญ KUB ขาดคุณสมบัติเทรด บี้ “บิทคับ” แก้ไขใน 30 วัน