Pattarat – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 26 Apr 2024 11:45:11 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ผู้บริโภคเตรียมตัว! ภัยแล้งกระทบผลผลิต “กาแฟ” เวียดนาม – บราซิล ราคาพุ่งสูงสุดในรอบ 16 ปี https://positioningmag.com/1471281 Fri, 26 Apr 2024 09:22:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1471281 คอกาแฟเตรียมรับแรงกระแทกด้านราคา ภัยแล้งปีนี้กระทบหนักต่อผลผลิต “กาแฟ” ในเวียดนามและบราซิล สองแหล่งปลูกเมล็ดกาแฟโรบัสตาหลักของโลก ราคาเมล็ดกาแฟพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 16 ปี คาดต้นทุนราคาจะถูกส่งต่อเป็นลูกโซ่สู่ผู้บริโภคปลายทาง

“เวียดนาม” เป็นแหล่งเพาะปลูกและส่งออกเมล็ดกาแฟสายพันธุ์โรบัสตาที่ใหญ่ที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของซัพพลายทั่วโลก ตามด้วย “บราซิล” ที่ส่งออกมากไม่แพ้กัน แต่ทั้งสองประเทศนี้กำลังเผชิญภัยแล้งจาก “เอลนีโญ” ซึ่งทำให้ราคาเมล็ดกาแฟในตลาดฟิวเจอร์พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 16 ปี

ปัญหาโลกร้อนกระทบทำให้เกิดภัยแล้งในเวียดนาม จะทำให้การเพาะปลูกกาแฟปีนี้ติดดอกติดผลได้น้อยลง มีผลต่อเนื่องถึงการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟปีหน้าที่จะมีซัพพลายน้อยลงแน่นอน เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนี้ทำให้ราคาเมล็ดกาแฟปรับขึ้นและมีการส่งออกน้อยลง

เมื่อเดือนมีนาคม 2024 สมาคมกาแฟแห่งเวียดนามคาดการณ์ว่า การส่งออกกาแฟของประเทศจะลดลง 20% ในช่วงเดือนตุลาคม 2023 – เดือนกันยายน 2024 เทียบกับช่วงเดียวกันของรอบปีก่อนหน้า

Tran Thi Lan Anh ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริษัท Vinh Hiep บริษัทนำเข้าส่งออกของเวียดนาม นำความเห็นจากเกษตรกรและพ่อค้าคนกลางในตลาดกาแฟมารายงานว่า ราคาเมล็ดกาแฟต่อกิโลกรัมน่าจะปรับขึ้นได้อีก 15% จากราคาปัจจุบัน โดยสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า โอกาสที่กาแฟจะขึ้นราคาได้อีกทำให้เกษตรกรเวียดนามพากัน ‘กักตุน’ กาแฟไว้ก่อนเป็นบางส่วน เพื่อหวังว่าจะขายได้ในราคาที่สูงขึ้นอีกในอนาคต

ฝั่งซัพพลายกาแฟน้อยลง แต่ฝั่งดีมานด์ปรับเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคากาแฟทะยาน ปัจจุบันตลาดที่กำลังมาแรงสำหรับการขายกาแฟคือ “เอเชีย” เพราะเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ประชากรมีรายได้ใช้จ่ายมากขึ้น และ “กาแฟ” คือหนึ่งในสินค้าที่คนนิยม สถิติจากองค์กรกาแฟสากล พบว่า การบริโภคกาแฟในทวีปเอเชียเมื่อปี 2023 ปรับขึ้น 15% เทียบกับปี 2018 และเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากทวีปยุโรป

กาแฟพันธุ์โรบัสตาเป็นกาแฟที่มักจะใช้ในการผลิตกาแฟผงสำเร็จรูป แต่ต้นทุนที่สูงขึ้นนี้คงต้องรออีกสักพักกว่าที่จะกระทบเป็นลูกโซ่ถึงผู้บริโภคปลายทาง

Source

]]>
1471281
“ซับเวย์” เปลี่ยนสู่มือ “พีทีจี” ตั้งเป้าขยาย 500 สาขาใน 10 ปี เปิดโมเดล “ไดรฟ์ทรู” ที่ปั๊มพีที นครชัยศรี https://positioningmag.com/1471172 Thu, 25 Apr 2024 10:41:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1471172
  • “ซับเวย์” (Subway) ในไทยเปลี่ยนมืออีกครั้งหลัง “โกลัค” ได้สิทธิบริหารมาสเตอร์แฟรนไชส์ โดยบริษัทนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างยักษ์พลังงาน “พีทีจี” กับ “เพชรัตน์ อุทัยสาง”​ ผู้บริหารมือเก๋าในวงการ QSR
  • ปัจจุบันซับเวย์ในไทยมีอยู่ 148 สาขา โกลัคจะลงทุนเพิ่มปีละ 50 สาขา รวม 10 ปี 500 สาขา และจะเป็น Top 3 ในธุรกิจ QSR เมืองไทยภายใน 3 ปี
  • โมเดลร้านแบบใหม่จะเปิดร้านแบบ “ไดรฟ์ทรู” ที่ปั๊มพีที นครชัยศรี ภายในไตรมาส 4
  • “บริษัท โกลัค จำกัด” ประกาศได้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์แต่เพียงผู้เดียวของแบรนด์ร้าน “ซับเวย์” (Subway) ในไทยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 โดยบริษัทนี้เป็นบริษัทร่วมทุนของยักษ์ใหญ่พลังงานอย่าง “บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี” (PTG) ถือหุ้น 70% กับ “เพชรัตน์ อุทัยสาง” ถือหุ้น 30% (รวมทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล)

    (ซ้าย) “พิทักษ์ รัชกิจประการ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี และ (ขวา) “เพชรัตน์ อุทัยสาง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลัค จำกัด

    “พิทักษ์ รัชกิจประการ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี กล่าวว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) คือ 1 ใน 8 ธุรกิจหลักที่บริษัทจะเข้าลงทุนตามแผนการกระจายพอร์ตโฟลิโอ (Diversify) โดยพีทีจีมี F&B ที่เป็นเรือธงอยู่แล้วอย่าง “กาแฟพันธุ์ไทย” ที่ขยายไปกว่า 800 สาขาทั่วประเทศ การได้สิทธิร้าน “ซับเวย์” เข้ามาในพอร์ตจะเป็นจุดเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงในการขยายพอร์ตธุรกิจนี้ให้กว้างขึ้น โดยจะใช้โกลัคเป็นบริษัทที่คว้าสิทธิการบริหาร F&B แบรนด์อื่นๆ เข้ามาอีกในอนาคต

    ปัจจุบันธุรกิจกลุ่มที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-Oil) คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ในรายได้รวมของพีทีจี พิทักษ์กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายจะทำให้สัดส่วนกลุ่มนี้ขึ้นไปแตะ 40-50% ภายในปี 2570

     

    โหมขยาย 500 สาขา “ซับเวย์” ภายใน 10 ปี

    “เพชรัตน์ อุทัยสาง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลัค จำกัด กล่าวต่อถึงเป้าหมายของ “ซับเวย์” ในไทยภายใต้การบริหารของโกลัค จะมีการขยายสาขารวม 500 สาขาภายใน 10 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 50 สาขา โดยใช้งบลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 4-5 ล้านบาท

    จากเป้าหมายดังกล่าว เชื่อว่าซับเวย์จะได้ขึ้นเป็น Top 3 ร้านอาหารประเภทจานด่วน หรือ QSR (Quick Service Restaurant) ในไทยภายใน 3 ปี โดยวัดทั้งจากด้านรายได้และจำนวนสาขา

    หากวัดจากจำนวนสาขา Positioning พบว่าถ้าซับเวย์ขยายได้ตามเป้า อนาคตจะเป็นรองแค่เพียง “KFC” ที่เปิดไปมากกว่า 1,000 สาขา (*รวมสิทธิแฟรนไชส์ของทุกบริษัท) และ “แมคโดนัลด์” ซึ่งมีกว่า 220 สาขาในปัจจุบัน

    ซับเวย์
    ตัวอย่างเมนูแซนด์วิชของซับเวย์

    เพชรัตน์กล่าวต่อว่า แผนการเปิดสาขาจะมีการขยายไปทุกจุดที่มีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ โรงพยาบาล สนามบิน ตึกสำนักงาน และสถานีน้ำมัน ซึ่งกรณีสาขาในปั๊มน้ำมันจะไม่มีการจำกัดโอกาสเรื่องที่ตั้ง สามารถเปิดในปั๊มน้ำมันได้ทุกแบรนด์

    นอกจากสถานที่ตั้งแล้ว เพชรัตน์มองว่าซับเวย์จะต้องเจาะตลาดต่างจังหวัดให้มากกว่าเดิม โดยวางเป้าจะบุกตลาดเมืองท่องเที่ยวและหัวเมืองการศึกษาเป็นหลัก เช่น ภูเก็ต เมืองพัทยา ขอนแก่น เชียงใหม่

    ซับเวย์ ภายใต้โกลัคจะเริ่มเปิดสาขาแรกเดือนมิถุนายนนี้ และจะมีโมเดลใหม่เกิดขึ้นช่วงไตรมาส 4 เป็นร้านแบบ “ไดรฟ์ทรู” ครั้งแรกในไทยของซับเวย์ ซึ่งจะเปิดทำการที่ “ปั๊มพีที นครชัยศรี”

    สำหรับสาขาเดิมของซับเวย์ในไทยมีทั้งหมด 148 สาขา ซึ่งโกลัคจะได้สิทธิเฉพาะการเก็บค่าบริหารแฟรนไชส์ ขณะที่รายได้เต็มจากยอดขายอาหารจะมาจากสาขาใหม่ที่โกลัคเป็นผู้ลงทุนเปิดเองเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะทำรายได้เฉลี่ยปีละ 10 ล้านบาทต่อสาขา (*สำหรับสาขาขนาดมาตรฐาน 50 ตร.ม.)

     

    อยู่มานาน 2 ทศวรรษแต่ยังไม่ปัง

    ประวัติการโลดแล่นของ “ซับเวย์” ในประเทศไทยผ่านความเปลี่ยนแปลงมามาก เพราะแบรนด์นี้เข้ามาเปิดในไทยตั้งแต่ปี 2546 แต่ช่วงเริ่มต้น Subway International บริษัทแม่ของซับเวย์ในสหรัฐฯ เลือกบริหารโดยให้สิทธิแฟรนไชส์ในไทยแยกเป็นหลายบริษัท รวมแล้วเคยมีผู้ได้รับสิทธิพร้อมกันกว่า 20 บริษัท ต่างคนต่างบริหารสาขาในมือตามเขตที่ได้รับสิทธิมา

    ด้วยเหตุที่เคยมีหลายบริษัทถือสิทธิ ซับเวย์จึงไม่ค่อยได้ทำการตลาดเพราะไม่มี ‘เจ้ามือ’ ที่แน่ชัด ทำให้กลุ่มลูกค้าหลักมักจะเป็นชาวต่างชาติที่รู้จักแบรนด์นี้อยู่แล้วมากกว่าคนไทย

    จนกระทั่งปี 2562 มี “บริษัท อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป จำกัด” ที่ร้องขอจนได้รับโอกาสจากบริษัทแม่ให้ถือสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ในไทย ทำให้ซับเวย์มีการทำการตลาดถึงคนไทยมากขึ้น และมีการขยายสาขาเข้าพื้นที่คนไทย เช่น ปั๊มน้ำมัน

    แต่เมื่อต้นปี 2567 นี้เอง “เพชรัตน์” ระบุว่า ทาง Subway International มีการเปิดเฟ้นหาผู้รับสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์รายใหม่ในไทย จึงทำให้ “โกลัค” เห็นโอกาสเข้าไปเสนอแผนและสิทธิได้เปลี่ยนมือมาสู่กลุ่มพีทีจี

     

    ยังต้องแก้โจทย์เดิมคือ “สั่งยาก” – “ราคาสูง”

    เพชรัตน์มองว่า ที่จริงแล้วซับเวย์มีจุดแข็งที่ชัดเจน คือการเป็น QSR ที่เหมาะกับ “สุขภาพ” มากที่สุด ด้วยเมนูอาหารมีผักสดให้เลือกหลากหลาย และใช้ขนมปังอบสดใหม่ในร้าน

    ซับเวย์

    เพียงแต่ว่าจุดอ่อนก็มีไม่น้อย จากการวิจัยผู้บริโภคพบว่าส่วนใหญ่รู้สึกว่าร้านซับเวย์ “สั่งยาก” จากการที่ต้องเลือกทั้งชนิดขนมปัง เลือกไส้ เลือกผัก เลือกซอส รวมถึงผู้บริโภคมองว่า “ราคา” ยังแพงกว่าถ้าเทียบกับ QSR แบรนด์อื่น

    ทั้งหมดคือโจทย์ที่ซับเวย์ในไทยจะต้องแก้โจทย์ต่อไป โดยเพชรัตน์วางแผนแก้ไขเรื่องการสั่งอาหารด้วยการจัด “เมนูยอดฮิต” ให้ลูกค้าสั่งได้โดยไม่ต้องเลือกส่วนประกอบต่างๆ เพราะซับเวย์จัดไว้ให้แล้ว รวมถึงจะเริ่มลงระบบ “สั่งอาหารด้วยตนเอง” (Self-Order) ไม่ว่าจะสั่งผ่าน Kiosk หรือผ่าน QR CODE บนมือถือ เพื่อให้ลูกค้าสบายใจขึ้นในการใช้เวลาเลือกและไม่ต้องห่วงว่าจะอ่านออกเสียงชื่อเมนูหรือซอสต่างๆ ผิด

    ส่วนปัญหา “ราคา” เพชรัตน์กล่าวว่าจะแก้โจทย์นี้แน่นอน ขณะนี้กำลังพิจารณาแนวทางต่างๆ เช่น ลดไซส์ เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาชิมง่ายขึ้น หรือ พัฒนาเมนูที่ต้นทุนต่ำลง เพื่อทำราคาให้แข่งขันกับ QSR อื่นได้

    การเปลี่ยนมือครั้งนี้ของสิทธิแฟรนไชส์ “ซับเวย์” เป็นการย้ายเข้ามาอยู่ใต้ร่มหลังคาบ้านขนาดใหญ่ จากเครือข่ายของพีทีจีที่มีสมาชิกบัตร PT Max Card มากกว่า 21 ล้านสมาชิก และมีเครือข่ายสถานีน้ำมันมากกว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ น่าจะช่วยให้ซับเวย์มีแต้มต่อมากขึ้นในการเป็น QSR ในดวงใจของคนไทย

    ]]>
    1471172
    “ซีคอน” หันมารับโปรเจ็กต์ก่อสร้าง “หมู่บ้านจัดสรร” ดันยอดขายไตรมาส 1/2567 โต 15% https://positioningmag.com/1470879 Wed, 24 Apr 2024 07:44:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470879
  • บริษัทรับสร้างบ้าน “ซีคอน” เปิดไตรมาสแรกปี 2567 กวาดยอดขาย 570 ล้านบาท เติบโต 15% อานิสงส์รับโปรเจ็กต์ก่อสร้าง “หมู่บ้านจัดสรร” ให้ดีเวลอปเปอร์อสังหาฯ 2 รายคือ “สิงห์ เอสเตท” และ “เนอวานา”
  • แผนการตลาดกับลูกค้าบุคคลปีนี้ลงทุน “มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง” หยิบเพลง “LIVE and LEARN” มาโปรดิวซ์และขับร้องใหม่ผ่านฝีมือ “บอย โกสิยพงษ์” และ “ปั่นไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” ประกอบโฆษณาครบรอบ 63 ปีซีคอน
  • “มนู ตระกูลวัฒนกิจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 ของบริษัท กวาดยอดขายไปแล้ว 570 ล้านบาท เติบโต 15% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

    ปัจจัยหลักที่ทำให้บริษัทเติบโตได้ดี เกิดจากการรับงานรับเหมาก่อสร้างให้กับบริษัทผู้พัฒนาจัดสรรเสริมเข้ามา จากเดิมธุรกิจหลักคือการรับสร้างบ้านบนที่ดินส่วนตัวรายบุคคล ซึ่งปีนี้บริษัทได้เซ็นสัญญาก่อสร้างแล้ว 2 โครงการ คือ “เนอวานา คอลเล็กชัน กรุงเทพกรีฑา” บ้านระดับอัลตราลักชัวรีราคา 70-150 ล้านบาทของ บมจ.เนอวานา ดีเวลลอปเม้นท์ และ “SHAWN วงแหวน-จตุโชติ” บ้านระดับไฮเอนด์ราคา 20-30 ล้านบาทของ บมจ.สิงห์ เอสเตท

    “มนู ตระกูลวัฒนกิจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด

    “ตอนนี้ปัญหาของภาคอสังหาฯ คือขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ทำให้เราเข้าไปเป็นตัวเลือกในการจ้างงาน” มนูกล่าว โดยนอกจากซีคอนจะมีแรงงานแล้ว ยังมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนเสา-คานกึ่งสำเร็จรูปของตนเอง 2 แห่งที่อ่อนนุชและลำลูกกา มีกำลังผลิตรวมสูงสุดเทียบเท่าการผลิตบ้านได้ 1,000 หลังต่อปี ซีคอนจึงสามารถตอบโจทย์ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบพรีคาสท์ช่วยสร้างบ้านให้กับลูกค้ากลุ่มบริษัทพัฒนาจัดสรรได้

    มูลค่าของโครงการรับเหมาก่อสร้างให้หมู่บ้านจัดสรรที่เซ็นดีลแล้วรวมกว่า 300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15% ของเป้ายอดขายรวมปี 2567 ที่ซีคอนตั้งไว้ 2,200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มนูระบุว่าบริษัทยังเจรจากับบริษัทอื่นๆ ต่อเนื่องเพราะศักยภาพยังสามารถรับลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มได้

     

    ปัจจัยลบ ‘ข่าว’ เศรษฐกิจฝืดทำมู้ดผู้บริโภคหด

    หากมองในกลุ่มลูกค้าหลักคือบุคคลธรรมดาที่จ้างสร้างบ้านบนที่ดินส่วนตัว มนูมองว่าปีนี้ตลาดน่าจะโตแค่ 3-5% ซึ่งปัจจัยลบมาจาก ‘ข่าว’ เศรษฐกิจฝืดที่แพร่สะพัดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน ทำให้ลูกค้าไม่มี ‘sentiment’ หรืออารมณ์ความรู้สึกมั่นใจที่จะสั่งสร้างบ้าน

    “คนไทยเราอยู่ด้วย ‘ข่าว’ ค่อนข้างมาก เช่น ถ้ามีข่าวสงครามเกิดขึ้นที่ไหนแม้จะห่างไกลกับเรา แต่ยอดขายบริษัทผมจะตกทันที” มนูกล่าว “อย่างเรื่องเศรษฐกิจผมคิดว่ามันไม่ได้ไม่ดีไปทุกภาคธุรกิจ ธุรกิจท่องเที่ยวตอนนี้ก็ดีมาก ธุรกิจส่งออกก็เริ่มดีขึ้น แต่เพราะภาพรวมข่าวบอกว่าเศรษฐกิจแย่ มันก็ทำให้ sentiment ในตลาดไม่ดีไปด้วย”

    ซีคอน
    ตัวอย่างบ้านจริงที่ซีคอนก่อสร้าง (แบบบ้าน Loft 372)

    เมื่อถามถึงมาตรการรัฐกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในส่วนธุรกิจรับสร้างบ้านมีมาตรการสนับสนุนคือ ลูกค้าสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 1 หมื่นบาทต่อทุกจำนวนค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 1 แสนบาท เริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2568 มนูมองว่าที่ผ่านมากว่า 2 สัปดาห์ยังไม่เห็นผลชัดเจนต่อการตัดสินใจของลูกค้า แต่อาจจะต้องรออีกสักระยะในการประชาสัมพันธ์

     

    “มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง” ตอกย้ำการรับรู้แบรนด์

    ด้านการทำการตลาดของ “ซีคอน” ในปีนี้ มีการนำกลยุทธ์ มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง มาใช้งาน ด้วยความร่วมมือกับ “บอย โกสิยพงษ์” โปรดิวเซอร์เพลงชื่อดัง นำเพลง “LIVE and LEARN” มา rearrange ใหม่ในสไตล์ดนตรี Drum and Bass ที่ให้ความทันสมัยมากขึ้น และได้รับเกียรติจาก “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” นักร้องในตำนาน กับ “กลม เดอะวอยซ์” (อรวี พินิจสารภิรมย์) นักร้องคนรุ่นใหม่ มาร่วมกันขับร้องเพลงเวอร์ชันใหม่นี้ ประกอบ MV โฆษณาถ่ายทอดชีวิตของคนในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น

    โฆษณาและเพลงนี้ต้องการจะสื่อสารแบรนด์ซีคอน ที่เป็นธุรกิจรับสร้างบ้านอายุยาวนาน 63 ปี ก่อตั้งโดย “วิชัย ซอโสตถิกุล” และปัจจุบันส่งไม้ต่อจนมาถึงผู้บริหารรุ่นที่ 3 คือ “ไปรเทพ ซอโสตถิกุล” และ “มนู ตระกูลวัฒนกิจ” ที่สั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการรับสร้างบ้านต่อเนื่องกันมานาน 6 ทศวรรษ

    ]]>
    1470879
    ตามคาด! “Tesla” กำไร Q1/2024 หดตัว “เกินครึ่ง” หลังผ่านศึกจีนตีตลาด – ดีมานด์ “รถอีวี” ซบเซา https://positioningmag.com/1470853 Wed, 24 Apr 2024 03:57:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470853 “Tesla” รายงานกำไรไตรมาส 1 ปี 2024 หดตัว “เกินครึ่ง” จากปีก่อน เป็นไปตามคาดการณ์หลังถูก “รถอีวี” แบรนด์จีนตีตลาดด้วยราคาถูกกว่า บวกกับดีมานด์ที่เริ่มอ่อนตัวลง โดยบริษัทกำลังปรับตัวลดต้นทุนด้วยการ “เลย์ออฟ” พนักงาน และเตรียมโต้ศึกด้วยโมเดลรถยนต์รุ่นใหม่

    Tesla รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2024 ทำกำไรสุทธิ 1,130 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าตกลงเกินครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2023 ที่เคยทำกำไรถึง 2,510 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลจากการแข่งขันกับรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนที่ทำราคาได้ถูกกว่า ผลกำไรที่ตกลงตามคาดนี้ทำให้ราคาหุ้น Tesla ตกลงมาแล้ว 43% ตั้งแต่เข้าปี 2024

    ขณะที่รายได้ไตรมาสแรกปีนี้เองก็ตกลงเล็กน้อย โดยบริษัททำรายได้ได้ 21,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ตกลงจากไตรมาสแรกปีก่อนที่เคยทำได้ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

    ภาพจาก Shutterstock

    ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวมากมายเกี่ยวกับการปรับตัวของ Tesla กับสงครามรถอีวีจีน ทั้งการลดต้นทุนที่บริษัทเตรียมจะเลย์ออฟพนักงาน 10% ของจำนวนพนักงานทั่วโลกที่มีอยู่ 140,000 คน และคาดว่าจะออกโมเดลรถรุ่นใหม่ภายในไตรมาส 2 ปี 2025 แต่ยังไม่แน่ชัดว่าบริษัทจะออกโมเดลรถในกลุ่มราคาไหน แม้จะมีข่าวสะพัดว่า Tesla อาจจะออกรถรุ่น ‘Model 2’ ที่เป็นรถรุ่นราคาถูกกว่าเพื่อสู้ศึกกับแบรนด์จีน ดึงลูกค้าหน้าใหม่ และดึงดูดใจในตลาดรถอีวีที่ดีมานด์กำลังตกลง

    “ยอดขายในตลาดรถอีวีอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างต่อเนื่อง หลังจากผู้ผลิตรถยนต์หลายเจ้าหันไปเน้นการผลิตและขายรถยนต์ไฮบริดมากกว่าอีวี” Tesla แถลงเพื่อตอกย้ำว่าสถานการณ์ของบริษัทไม่ได้แปลกแตกต่างจากตลาดรวม

     

    เลย์ออฟตามแผน

    ตามแผนที่ Tesla แจ้งไว้ว่าจะมีการปลดพนักงานออก 10% ของจำนวนพนักงานทั่วโลก บริษัทเริ่มประกาศการเลย์ออฟแล้ว 3,332 ตำแหน่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย และ 2,688 ตำแหน่งในโรงงาน ‘gigafactory’ ของบริษัทที่รัฐเท็กซัส โดยจะเริ่มปลดจริงตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ รวมถึงจะมีการปลดพนักงาน 285 ตำแหน่งในนิวยอร์กด้วย

    ท่ามกลางข่าวการปลดพนักงาน Tesla มีประเด็นเดือดอีกอย่างหนึ่งคือ “ค่าตอบแทน” ที่ให้แก่ “อีลอน มัสก์” นายใหญ่ของบริษัท เพราะบริษัทเคยมีการตั้งแพ็กเกจค่าตอบแทนให้มัสก์เป็นมูลค่าสูงถึง 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.06 ล้านล้านบาท) ซึ่งแพ็กเกจค่าตอบแทนนี้ถูกผู้พิพากษารัฐเดลาแวร์ปฏิเสธไป เพราะถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ที่จะต้องดูแลผลประโยชน์ให้กับบริษัทก่อน

    ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน Tesla นำแพ็กเกจค่าตอบแทนนี้กลับมาให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาใหม่ แม้ว่าแพ็กเกจที่อิงตามราคาหุ้นนี้จะทำให้มูลค่าค่าตอบแทนจะลดลงไปเหลือประมาณ 46,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.69 ล้านล้านบาท) แล้วก็ตาม แต่มูลค่าดังกล่าวก็ยังสูงเสียจนมากกว่ามูลค่าจีดีพีของหลายประเทศในโลกด้วยซ้ำ

    นอกจากจะปัดฝุ่นเรื่องค่าตอบแทนขึ้นมาในช่วงนี้แล้ว อีลอน มัสก์ ยังเสนอให้บอร์ดโหวตรับรองเพื่อย้ายที่ทำการบริษัทจากรัฐเดลาแวร์ไปรัฐเท็กซัสแทนด้วย ซึ่งไอเดียนี้เกิดขึ้นมาหลังจากผู้พิพากษาแห่งรัฐปฏิเสธไม่ให้จ่ายค่าตอบแทนให้กับมัสก์

    Source

    ]]>
    1470853
    SCGD ตั้งเป้าโต 2 เท่าภายใน 6 ปี! โหมตลาดกระเบื้อง-สุขภัณฑ์ใน “เวียดนาม” ลุยสร้างโรงงานเพิ่ม https://positioningmag.com/1470826 Tue, 23 Apr 2024 10:05:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470826
  • ผลการดำเนินงาน SCGD ไตรมาส 1/67 รายได้หด -6.1% แต่กำไรเติบโต 28.4% จากการควบคุมต้นทุน และการขายสินค้ากลุ่มกำไรสูงได้มากขึ้น
  • ปี 2567 เคาะลงทุนไลน์ผลิตกระเบื้องเพิ่มที่โรงงานหนองแค จ.สระบุรี และลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มเพื่อลดต้นทุนลงอีก
  • แผนระยะยาวต้องการทำรายได้โต 2 เท่า ภายในปี 2573 โดยจะเร่งยอดขายกระเบื้องและสุขภัณฑ์ในอาเซียน โดยเฉพาะ “เวียดนาม” ที่มีแผนจะสร้างโรงงานเพิ่ม
  • “นำพล มลิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 ของ SCGD ว่า บริษัทมีรายได้จากการขาย 6,784 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทำกำไรได้ 258 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (หากไม่รวมผลกระทบจากการปรับโครงสร้าง และรายการ Non-Recurring อื่นๆ ในปีก่อนหน้า)

    เป็นผลมาจากบริษัทสามารถยืนราคาขายสินค้ากระเบื้องและสุขภัณฑ์ไว้ได้ และยังขายสินค้ากลุ่มที่มีกำไรสูงได้มากขึ้น ประกอบกับมีการลดต้นทุนค่าพลังงานด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์และโครงการ Hot Air Generator รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตมาก่อนหน้านี้ ทำให้มีต้นทุนที่ลดลงในไตรมาสที่ผ่านมา

    “นำพล มลิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD

    เมื่อคำนึงถึงสภาวะตลาดรวมของกระเบื้อง วัสดุปิดผิว และสุขภัณฑ์ ทั้งในไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดหลักของ SCGD มีสภาวะที่ยังอยู่ในระยะติดลบ ยังไม่ฟื้นตัว แต่บริษัทสามารถทำกำไรสวนตลาดได้จึงถือเป็นผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ

    สำหรับเหตุการณ์ที่น่าจับตาในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้คือเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งนำพลระบุว่ามีผลกระทบต่อยอดขายของ SCGD ที่ส่งออกไปเมียนมาอยู่บ้างแต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากช่องทางการกระจายสินค้าผ่านทางเมียวดีและแม่สอดถูกปิด ทำให้บริษัทต้องหาทางกระจายสินค้าผ่านด่านอื่นทดแทน

     

    อนุมัติลงทุนโซลาร์เซลล์-ไลน์ผลิตกระเบื้อง

    ด้านความคืบหน้าการลงทุนที่ได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้ของ SCGD และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ทั้งหมด ได้แก่

    1.โครงการติดตั้ง Hot Air Generator เพื่อลดต้นทุนพลังงานที่โรงงานในประเทศไทยอีก 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้

    2.โครงการปรับปรุงสายการผลิตกระเบื้องไวนิล SPC (กระเบื้องยางลายไม้) โดยจะเริ่มผลิตกระเบื้องไวนิล SPC สำหรับป้อนตลาดในประเทศไทยได้ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ด้วยกำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี

    3.โครงการไลน์ผลิตสินค้ากลุ่มกระเบื้องพอร์ซเลน และ กระเบื้องขนาดใหญ่ อีก 2.2 ล้านตารางเมตรต่อปี ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศเวียดนาม

    4.โครงการการผลิตกระเบื้องพอร์ซเลน 9.1 ล้านตารางเมตรต่อปี ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในช่วงปลายปี 2567

    SCGD
    ตัวอย่างสินค้ากลุ่มกระเบื้องพอร์ซเลนจาก COTTO

    นำพลกล่าวต่อว่า เมื่อไตรมาสที่ 1 ทางบริษัท SCGD มีการอนุมัติการลงทุนมูลค่ารวม 290 ล้านบาท ใน 3 โครงการ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ดังนี้

    1.โครงการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ 5.5 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 140 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568

    2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารคลังสินค้า เงินลงทุน 70 ล้านบาท โดยการติดตั้งระบบบริหารคลังสินค้าและรถยกระบบอัตโนมัติ

    3.โครงการไลน์การผลิตกระเบื้องขนาดใหญ่ที่หนองแค เงินลงทุน 80 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ภายในสิ้นปี 2567

     

    แผนระยะยาว ปี 2573 ตั้งเป้ารายได้โต 2 เท่า

    นำพลประเมินตลาดกระเบื้องและสุขภัณฑ์ในอาเซียนว่า ถึงแม้เมื่อไตรมาสที่ 1 จะยังอยู่ในช่วงซบเซา แต่มองว่าในอนาคตภูมิภาคนี้จะมีเศรษฐกิจที่เติบโตแน่นอน และจะทำให้ตลาดกระเบื้องและสุขภัณฑ์โตได้ปีละ 4-5%

    SCGD จึงตั้งเป้าว่าภายในปี 2573 บริษัทจะทำรายได้โต 2 เท่า หรือขึ้นไปแตะปีละ 60,000 ล้านบาท และจะเติบโตด้วย 4 กลยุทธ์ ดังนี้

    1.ธุรกิจกระเบื้องและวัสดุปูพื้นและผนัง

    – เตรียมขยายการลงทุนโรงงานในพื้นที่ภาคใต้ของเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่สูงนัก

    – เพิ่มสินค้าประเภทกำไรสูงและมีนวัตกรรมให้มากขึ้น เช่น กระเบื้องยางลายไม้ (SPC), กระเบื้องพอร์ซเลน, กระเบื้องทนแรงขูดขีด (X-Strong), กระเบื้องที่เหมาะกับสัตว์เลี้ยง ลดการเสื่อมของข้อเท้าและการลื่นล้ม (Paw & Play)

    – เพิ่มสินค้าวัสดุตกแต่งพื้นและผนังให้มากขึ้น เช่น วัสดุปิดผิวบันได วัสดุตกแต่งผนัง

    – ขยายเครือข่ายช่องทางจัดจำหน่าย

    สินค้าเก็บงานให้ครบวงจร เช่น คิ้วกระเบื้อง จมูกบันได

    2.ธุรกิจสุขภัณฑ์

    – ตั้งเป้ารายได้ที่มาจากธุรกิจสุขภัณฑ์เติบโต 2 เท่าเป็นปีละ 10,000 ล้านบาท

    – เพิ่มตัวแทนจำหน่ายสุขภัณฑ์ในต่างประเทศ ต่อยอดช่องทางจัดจำหน่าย โดยในเวียดนามจากเดิม 17 รายเป็น 39 ราย ฟิลิปปินส์จากเดิม 78 รายเป็น 85 ราย และอินโดนีเซียจากเดิม 28 ราย เป็น 37 ราย

    SCGD
    QUIL by COTTO แบรนด์สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ห้องน้ำระดับพรีเมียม

    3.ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง

    SCGD มีการขายสินค้าที่เกี่ยวเนื่องเพื่อตอบโจทย์ให้ครบวงจร เช่น กาวและยาแนว ประตู หน้าต่าง ชุดเฟอร์นิเจอร์ครัว และอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันสินค้ากลุ่มนี้สามารถทำยอดขายได้มากกว่าปีละ 300 ล้านบาทแล้ว

    4.M&P (Merger & Partnership) ควบรวมกิจการและสร้างความร่วมมือ

    SCGP มีแนวทางธุรกิจที่จะควบรวมกิจการ หรือสร้างความร่วมมือกับเจ้าของกิจการเดิม ในธุรกิจตกแต่งพื้นผิว ธุรกิจสุขภัณฑ์ และธุรกิจผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศ

    อัตราการทำกำไรของ SCGP เป็นประเด็นที่นักลงทุนจับตา เพราะในปี 2566 อัตรากำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 1.64% เท่านั้น แต่จากการลงทุนเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานและปรับปรุงประสิทธิภาพทั้งหมด ทำให้เมื่อไตรมาส 1/67 บริษัทสามารถทำอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 3.80% ได้แล้ว และนำพลเชื่อว่าจากโครงการลดต้นทุนที่ยังมีต่อเนื่องจะทำให้บริษัทลดต้นทุนได้มากกว่านี้ในอนาคต

    ]]>
    1470826
    เริ่มแล้ว! “ฮ่องกง” แบนช้อนส้อม “พลาสติก” ในร้านอาหาร กระตุ้นให้ลูกค้าพกมาใช้เอง https://positioningmag.com/1470573 Mon, 22 Apr 2024 09:11:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470573 ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2024 “ฮ่องกง” เริ่มแบนไม่ให้ร้านอาหารและโรงแรมใช้ช้อนส้อม กล่อง หลอด และอุปกรณ์การทานอาหารที่ทำจาก “พลาสติก” และบังคับให้ร้านเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ย่อยสลายได้ เช่น กล่องกระดาษ รวมถึงต้องคิดค่าอุปกรณ์เหล่านี้กับลูกค้าด้วย เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาพกอุปกรณ์ทานอาหารของตนเอง ลดปัญหาขยะ

    ธุรกิจที่ยังฝ่าฝืนกฎหมายนี้มีบทลงโทษเป็นค่าปรับสูงสุด 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 472,000 บาท) แต่ขณะนี้รัฐบาลยังผ่อนผันให้เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้ธุรกิจได้มีโอกาสปรับตัวก่อน

    กฎหมายนี้จะกระทบโดยตรงกับ “ร้านอาหาร” ที่มีตัวเลือกให้ลูกค้ารับกลับบ้านหรือส่งเดลิเวอรี เพราะธุรกิจลักษณะนี้ใช้หีบห่อและอุปกรณ์พลาสติกเป็นหลัก

    Simon Wong Ka-Wo ประธานสมาพันธ์ร้านอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่องแห่งฮ่องกง กล่าวว่า ประมาณ 70% ของร้านอาหาร 18,000 ร้านภายใต้เครือข่ายของเขายังไม่เริ่มเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์การทานที่ไม่ใช่พลาสติกกันเลย เพราะธุรกิจส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องเคลียร์สต๊อกอุปกรณ์พลาสติกที่ร้านมีอยู่ในคลังให้หมดก่อน ถึงจะเริ่มสั่งอุปกรณ์แบบใหม่ได้

    แบน พลาสติก
    (Photo: Mikhail Nilov / Pexels)

    อย่างไรก็ตาม South China Morning Post (SCMP) ลงพื้นที่เขตช้อปปิ้งในฮ่องกงพบว่า ร้านอาหารหลายร้านเริ่มเปลี่ยนมาใช้กล่องกระดาษและช้อนส้อมทำจากไม้กันแล้ว และจะคิดเงินลูกค้าเพิ่มเซ็ตละ 1 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 4.72 บาท) หากลูกค้าต้องการอุปกรณ์การทาน โดยเฉพาะร้านเชนขนาดใหญ่ เช่น KFC และ McDonald’s เปลี่ยนมาใช้ช้อนส้อมไม้ทั้งการทานในร้านและซื้อกลับบ้าน

    Joyce Chiu ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน Café de Coral Holdings บริษัทเจ้าของเชนร้านอาหารรายใหญ่ที่มีร้านอาหารในเครือรวมทุกแบรนด์กว่า 500 สาขา ระบุว่า บริษัทเริ่มเปลี่ยนมางดใช้อุปกรณ์พลาสติกตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อกลับบ้านน้อยลงมากหากร้านตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อยู่อาศัย จากเดิมสัดส่วนลูกค้าซื้อกลับบ้าน 40% ลดลงมาเหลือ 20% เท่านั้น

    รวมถึงกลุ่มที่ซื้อกลับบ้านนั้นมีเพียง 1 ใน 4 ที่ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อรับอุปกรณ์การทานที่ทำจากไม้และกระดาษไป

    (Photo: ROMAN ODINTSOV / Pexels)

    ในขณะเดียวกัน SCMP สอบถามลูกค้าร้านอาหารกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ พบว่าพฤติกรรมลูกค้าที่เกิดขึ้นมีหลายกลุ่มหลังกฎหมายบังคับใช้ โดยบางคนเลือกไม่จ่ายเงินเพิ่ม และหันมาใช้อุปกรณ์ส่วนตัวของตัวเองที่ล้างใช้ซ้ำได้

    เหตุผลที่เลือกใช้อุปกรณ์ส่วนตัวไม่ใช่แค่เพราะต้องชำระเงินเพิ่ม แต่เพราะบางคนพบแรงกดดันจากเพื่อนร่วมงานรักษ์โลกหากใช้อุปกรณ์แบบใช้แล้วทิ้งให้เห็น และบางคนรู้สึกว่าอุปกรณ์บางอย่าง เช่น ช้อนส้อมไม้ ไม่สะดวกในการใช้งานจริง

    แน่นอนว่ามีลูกค้าบางกลุ่มที่ ‘ลักไก่’ ลูกค้าบางคนยอมรับว่าพวกเขาใช้วิธีไปซื้อช้อนส้อมพลาสติกเหมาโหลมาเก็บไว้ในที่ทำงานเพื่อใช้ทานอาหาร ไม่ต้องการใช้ช้อนส้อมแบบล้างใช้ซ้ำเพราะไม่สะดวกต่อวิถีชีวิต แถมคิดราคาต่อชิ้นแล้วช้อนส้อมพลาสติกยังถูกกว่าช้อนส้อมไม้ที่ร้านชาร์จราคาเพิ่มด้วย

     

    ลูกค้าเตรียมรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

    Simon ประธานสมาพันธ์ฯ บอกด้วยว่า การเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์การทานอาหารจากไม้หรือกระดาษอาจจะกลายเป็นต้นทุนที่ถูกส่งผ่านไปยังลูกค้า เพราะราคาอุปกรณ์รักษ์โลกพวกนี้จะสูงกว่าพลาสติกถึง 30%

    SCMP สัมภาษณ์ Yeung เจ้าของร้านอาหารเล็กๆ ในย่าน Wan Chai เขามองว่าการบังคับใช้กฎหมายในช่วงนี้ไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจในช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอ และในอนาคตร้านคงจะต้องชาร์จราคาเพิ่มกับลูกค้าที่สั่งกลับบ้านถึง 2 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อออร์เดอร์ เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่แพงขึ้น

    ไม่ใช่แค่ร้านอาหารที่ต้องปรับตัว ธุรกิจโรงแรมก็ถูกแบนการใช้พลาสติกด้วยเช่นกัน เช่น น้ำดื่มฟรีในห้องต้องไม่ใช้ขวดพลาสติก หรือเครื่องใช้ในห้องน้ำที่ให้ฟรีต้องไม่ใส่ในถุงที่ทำจากพลาสติกหรือวัสดุย่อยสลายยาก

    นี่เป็นแค่เฟสแรกของกฎหมายแบนพลาสติกของฮ่องกง เฟสที่สองจะตามมาภายในปี 2025 ซึ่งจะแบน    อุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มอีก เช่น ถุงมือพลาสติก ผ้าปูโต๊ะพลาสติก

    Source

    ]]>
    1470573
    วิศวกร “Boeing” แฉต่อหน้าสภาคองเกรส บริษัท “ข่มขู่” ให้ปิดเงียบเรื่องเครื่องบิน “ไม่ปลอดภัย” https://positioningmag.com/1470283 Thu, 18 Apr 2024 07:43:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470283 วิศวกรบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน “Boeing” ขึ้นให้การต่อหน้าสภาครองเกรส ยืนยันตนเองถูกเจ้านาย “ข่มขู่” หลังจากที่เขาแสดงความกังวลเรื่องความปลอดภัยของเครื่องบินของบริษัท

    “Sam Selehpour” วิศวกรและเป็นผู้แจ้งเบาะแสคนสำคัญเกี่ยวกับการทำงานที่หละหลวมและไม่ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของ Boeing ขึ้นให้การต่อหน้าสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2024 ว่า เขาถูกเจ้านายโทรศัพท์มาต่อว่ายาว 40 นาที และรถยนต์ของเขาถูกเจาะยางด้วยตะปู หลังจากเขาแสดงความกังวลในบริษัทว่าขั้นตอนการดำเนินการผลิตเครื่องบิน “ไม่ปลอดภัย”

    หลังจากการไต่สวนโดยสภาคองเกรสครั้งนี้ Boeing มีการออกแถลงการณ์ว่า “พวกเราทราบดีว่าเรายังมีงานต้องทำอีกมาก และเรากำลังลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ไขทั้งบริษัท”

    Boeing เริ่มเผชิญวิกฤตหลังจากเครื่องบินรุ่นใหม่ของบริษัท “737 Max 8” เกิดเหตุ “เครื่องบินตก” ถึง 2 ครั้งในปี 2018 และปี 2019 รวมมีผู้เสียชีวิตถึง 346 คน

    หลังจากนั้นเมื่อเดือนมกราคม 2024 เครื่องบินรุ่น “737 Max 9” ของสายการบิน Alaska Airlines มาเกิดเหตุไม่คาดฝันอีก เมื่อชิ้นส่วนของเครื่องบินหลุดออกระหว่างทำการบิน เป็นโชคดีที่ไม่มีผู้โดยสารคนใดได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต แต่เมื่อเหตุมาเกิดซ้ำทำให้บริษัทถูกจับจ้องและตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง

    การตรวจสอบครั้งนี้มีการนำตัวพยานผู้แจ้งเบาะแสทั้งหมด 3 คนมาให้การต่อสภาคองเกรส หนึ่งในนั้นคือ Sam Salehpour ซึ่งเป็นวิศวกรที่ทำงานกับ Boeing มานาน 17 ปี เขากล่าวว่าเขาได้แจ้งความกังวลต่อหัวหน้าเรื่องการใช้ “ทางลัด” ในการผลิตเครื่องบิน และเขาได้แจ้งเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตลอด 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2020 แต่เขาถูกโต้กลับจากหัวหน้าว่าให้ “หุบปาก”

    “ผมถูกละเลย ผมได้รับคำตอบแค่ว่าอย่าทำให้การส่งมอบล่าช้า” Salehpour กล่าว พร้อมเสริมว่าเวลาต่อมาเขาถูกย้ายงานไปทำตำแหน่งอื่น “นี่ไม่ใช่วัฒนธรรมการทำงานที่ปลอดภัยเลย เพราะคุณจะถูกข่มขู่เมื่อพูดเรื่องที่ขัดแย้งขึ้นมา”

     

    จับตา Boeing 787 อีกหนึ่งรุ่นที่อาจไม่ปลอดภัย

    ความกังวลของ Salehpour ในเวลานี้คือ เครื่องบินรุ่น Boeing 787 ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบลำตัวกว้าง และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุวิกฤต Alaska Airlines หรือวิกฤตปี 2018-19 แต่มีปัญหาเรื่องการผลิตเช่นเดียวกัน

    เขากล่าวว่า ชิ้นส่วนที่ใช้ผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะผิดพลาดได้ในอนาคต

    เขาได้แจ้งเรื่องนี้กับทางองค์การบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ไปแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเผยตัวพร้อมๆ กับ FAA เมื่อหน่วยงานแจ้งเรื่องนี้ต่อสาธารณะเมื่อต้นเดือนเมษายน

    FAA ระบุว่าพวกเขากำลังสืบสวนเรื่องนี้อยู่ ส่วนบริษัท Boeing ปฏิเสธข้อกล่าวหา

    Salehpour ยังเล่ารายละเอียดระหว่างการไต่สวนว่า เขารู้สึกมีแรงบังคับภายในให้ต้องออกมาพูด เพราะเขาเคยมีเพื่อนคนหนึ่งที่ทำงานโครงการกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ เพื่อนคนนั้นไม่ได้รับการตอบสนองเมื่อแจ้งข้อกังวลในการทำงานเช่นกัน และสุดท้ายกระสวยชาเลนเจอร์ก็ระเบิดออกระหว่างขึ้นบินเมื่อปี 1986

    เขากล่าวว่า หลังเขาแจ้งเรื่องข้อกังวลต่างๆ ไปแล้ว บริษัทตอบกลับเขาด้วยแรงกดดันต่างๆ เช่น ทำให้เขาลางานไปพบแพทย์ยากขึ้น ระหว่างการให้การ Salehpour ถึงกับหลั่งน้ำตา และยอมรับว่าเขา “ไม่มีหลักฐาน” ว่าตะปูในยางล้อรถของเขานั้นเกี่ยวกับกรณีนี้หรือไม่ แต่เชื่อว่าเขาถูกเจาะยางระหว่างอยู่ที่ทำงาน พร้อมบอกว่าเขารู้สึก “เหมือนอยู่ในนรก”

    “Richard Blumenthal” วุฒิสมาชิกผู้นำการไต่สวนในครั้งนี้ กล่าวว่าเขาและคณะกรรมการจะสืบสวนประเด็นนี้ต่อไป และแค่เพียงการประกาศว่าจะมีการไต่สวนก็ได้กระตุ้นให้ผู้แจ้งเบาะแสอีกหลายคนกล้าที่จะออกมาให้ข้อมูล

    “เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงจัง ถึงระดับที่น่าตกใจ” Blumenthal กล่าว “มีรายงานข้อกล่าวหาหนักเข้ามาเป็นกองพะเนินว่า Boeing มีการละเมิดวัฒนธรรมความปลอดภัย และมีระเบียบการทำงานที่ยอมรับไม่ได้” พร้อมกับบอกว่าการไต่สวนครั้งต่อไปจะเรียกตัวผู้บริหารจากบริษัทมาให้การด้วย

    ทาง Boeing เองแจ้งว่า การกลั่นแกล้งจากการแจ้งเบาะแสเป็นเรื่องที่ “ต้องห้ามโดยเด็ดขาด” และบอกว่าบริษัทได้รับรายงานจากพนักงาน “เพิ่มขึ้นมากกว่า 500%” นับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา “ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเกิดความคืบหน้าในการสร้างวัฒนธรรมการรายงานเรื่องราวในบริษัทโดยไม่ต้องหวั่นเกรงหรือเกิดการกลั่นแกล้งเอาคืน”

     

    พยานแฉอีก บริษัทช่วยกัน “กลบเกลื่อน”

    ส่วนการสืบสวนเบื้องต้นโดยรัฐบาลสหรัฐฯ พบว่า เที่ยวบินของ Alaska Airlines ที่มีชิ้นส่วนหลุดออก เกิดจากสลักบางส่วนหายไป ขณะนี้บริษัท Boeing กำลังถูกสืบสวนสอบสวนและมีคดีความตามมาอีกมาก

    นอกจากวิศวกร Salehpour แล้ว พยานอีกคนที่เข้ามาแจ้งเบาะแสคือ “Ed Pierson” ซึ่งเป็นอดีตผู้จัดการในบริษัท Boeing แต่ขณะนี้เป็นผู้อำนวยการบริหารให้กับมูลนิธิเพื่อความปลอดภัยการเดินอากาศ Pierson กล่าวหาบริษัทว่ามีการ “กลบเกลื่อนการสร้างอาชญากรรม” และบอกด้วยว่าตัวเขาเองให้เอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสลักที่หายไปของ 737 Max 9 กับหน่วยงานสำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) เรียบร้อยแล้ว

    เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2024 วันเดียวกันกับการไต่สวนที่คองเกรส สายการบิน United Airlines ดำเนินการยื่นฟ้องร้องต่อ Boeing ขอให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยแก่สายการบิน หลังจากเหตุ Alaska Airlines มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ United Airlines

    United Airlines ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ Boeing พวกเขามีฝูงบินที่ใช้เครื่องบินรุ่น 737 Max 9 เช่นกัน ทำให้เมื่อเกิดเหตุกับ Alaska Airlines ฝูงบินนี้ของ United Airlines ถูกระงับสั่งห้ามขึ้นบินไปด้วยและกระทบยาว 3 สัปดาห์ ทางสายการบิน United Airlines ออกมาตำหนิผ่านสื่อเมื่อไม่นานมานี้ว่า ผลกระทบต่อเนื่องนี้ทำให้บริษัทสูญรายได้ไปกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,300 ล้านบาท) เมื่อไตรมาสแรกของปี 2024

    Source

    ]]>
    1470283
    ได้อีก! “ราคาบ้าน” สูงขึ้น 5 ไตรมาสติดต่อกัน “บางพลี-บางบ่อ” แชมป์ทำเลถีบตัวสูงสุดทั้งบ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์ https://positioningmag.com/1470250 Wed, 17 Apr 2024 10:16:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470250
  • REIC เปิดดัชนี “ราคาบ้าน” ไตรมาส 1/2567 พบว่าราคาปรับขึ้น 2.5% เป็นการปรับขึ้น 5 ไตรมาสต่อเนื่อง ปัจจัยจากต้นทุนทุกด้านสูงขึ้นทั้งราคาที่ดิน วัสดุก่อสร้าง ค่าแรง
  • แบ่งตามทำเลพบว่า “บางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง” เป็นทำเลที่มีการปรับราคาบ้านขึ้นสูงสุดทั้งในกลุ่มบ้านเดี่ยวและกลุ่มทาวน์เฮาส์
  • ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC รายงานดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ (บ้านเดี่ยว และ ทาวน์เฮาส์) ที่อยู่ระหว่างการขายในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1/ 2567 พบว่า ดัชนีมีค่าเท่ากับ 131.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยมีการเพิ่มติดต่อกัน 5 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 ถึง ไตรมาส 1 ปี 2567

    ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่าสาเหตุสำคัญที่มีผลให้ดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากต้นทุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากปัจจัยหลายประการ เช่น ราคาที่ดิน ค่าวัสดุก่อสร้าง และค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ออกมาสู่ตลาดที่เปิดตัวโครงการในปี 2565 – 2566 มีราคาเสนอขายเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น

    ราคาบ้าน
    ดัชนีราคาบ้านจัดสรรที่อยู่ระหว่างขาย ตั้งแต่ไตรมาส 1/2560 ถึง ไตรมาส 1/2567 (ข้อมูล: REIC)
    ราคาบ้าน
    อัตราการขยายตัวของดัชนีราคาบ้านจัดสรรที่อยู่ระหว่างขาย (YoY) ตั้งแต่ไตรมาส 1/2560 ถึง ไตรมาส 1/2567 (ข้อมูล: REIC)

    ปริมณฑลราคาขึ้นเร็วกว่ากรุงเทพฯ

    ทั้งนี้ หากแบ่งตามพื้นที่ ราคาบ้านจัดสรรไตรมาส 1/2567 ในเขตกรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 128.3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่สามจังหวัดปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี และ สมุทรปราการ) มีค่าดัชนีเท่ากับ 134.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)

    และถ้าเจาะลึกประเภทสินค้าและพื้นที่ร่วมกัน รายงานชิ้นนี้พบว่า “บ้านเดี่ยว” ในเขตกรุงเทพฯ มีดัชนีราคาลดลง -0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เนื่องจากบ้านเดี่ยวราคาแพงกลุ่มราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปมีการ “ลดราคา” เพื่อระบายสต๊อกมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในโซนราษฎร์บูรณะ-บางขุนเทียน-ทุ่งครุ-บางบอน-จอมทอง รองลงมาในโซนลาดพร้าว-บางกะปิ-วังทองหลาง-บึงกุ่ม-สะพานสูง-คันนายาว และโซนบางเขน-สายไหม-ดอนเมือง-หลักสี่

    เช่นเดียวกับ “ทาวน์เฮาส์” ในเขตกรุงเทพฯ ก็มีดัชนีราคาที่ลดลง -0.1% โดยพบว่ามีการลดราคามากที่สุดในโซนมีนบุรี-หนองจอก-คลองสามวา-ลาดกระบัง ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท รองลงมาในโซนพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ ในระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท และโซนราษฎร์บูรณะ-บางขุนเทียน-ทุ่งครุ-บางบอน-จอมทอง ในระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท เพราะมีการลดราคาเพื่อระบายสต๊อกเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่โครงการยังใช้ต้นทุนเดิมเพราะเป็นโครงการเก่าตั้งแต่ปี 2564 จึงสามารถทำราคาได้

     

    บางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง ทำเลที่ราคาบ้านจัดสรรขึ้นสูง

    หากแบ่งตามพื้นที่ที่ “ราคาบ้านจัดสรรขึ้นสูงที่สุด” ในไตรมาส 1/2567 ทาง REIC สรุปได้ดังนี้

    “บ้านเดี่ยว”

    อันดับ 1 โซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง ในระดับราคา 5.01 – 7.50 ล้านบาท
    อันดับ 2 โซนลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ ในระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท
    อันดับ 3 โซนเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก ในระดับราคา 10.00 ล้านบาทขึ้นไป

    “ทาวน์เฮาส์”

    อันดับ 1 โซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท
    อันดับ 2 โซนลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท
    อันดับ 3 โซนเมืองสมุทรปราการ-พระสมุทรเจดีย์-พระประแดง ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท

    ดร.วิชัยมองว่า ล่าสุดหลังจากรัฐบาลประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองให้กับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท น่าจะทำให้มีการระบายซัพพลายเดิมในตลาดออกไปได้พอสมควร และหลังจากนั้นซัพพลายใหม่ที่เข้ามาเติมในตลาดน่าจะตั้งราคาที่สะท้อนต้นทุนใหม่ที่ปรับขึ้นแล้ว ทำให้ดัชนีราคาบ้านในครึ่งปีหลัง 2567 ก็น่าจะยังปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

    ]]>
    1470250
    การมาของ AI จะแบ่งพนักงานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ “คนที่ทำงานได้ดีขึ้น” กับ “คนที่ตกงาน” https://positioningmag.com/1470173 Tue, 16 Apr 2024 11:52:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470173 รายงานวิจัยจากสหรัฐฯ คาดว่า “AI” จะกระทบพนักงานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ “คนที่ทำงานได้ดีขึ้น” กับ “คนที่ตกงาน” โดยจะมี 20% ของพนักงานที่เสี่ยงตกงานในอนาคต และกลุ่มพนักงานรายได้ต่ำจะเสี่ยงมากที่สุด

    ยังไม่มีอะไรที่แน่นอนนักเกี่ยวกับอนาคตของเทคโนโลยี AI แต่มี 3 อย่างที่ชัดเจนขึ้นแล้วในขณะนี้คือ 1) AI จะมากระทบหรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงานนับล้านตำแหน่งในไม่กี่ปีข้างหน้า 2) AI น่าจะทำให้พนักงานบางส่วนทำงานได้ดีขึ้น และ 3) AI น่าจะมาทดแทนตำแหน่งงานบางตำแหน่งได้

    แต่สุดยอดคำถามของเรื่องนี้คือ ‘จะมีพนักงานมากเท่าไหร่ และอาชีพไหน ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบมากที่สุดจาก AI ?’

    สภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งทำเนียบขาว มีการออกรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า 20% ของพนักงานอเมริกันขณะนี้ อยู่ในตำแหน่งงานที่มี “ความเสี่ยงสูง” ที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากเทคโนโลยี AI

    คนกลุ่ม 20% นี้ไม่ได้จะถูกทดแทนด้วย AI โดยสิ้นเชิง แต่อาจจะถูกทดแทนได้เป็นบางส่วนในเนื้องานที่ทำ ซึ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้ ‘เสี่ยง’ มากกว่าอาชีพอื่นๆ

    รายงานชิ้นนี้สรุปไฮไลต์ไว้ว่า การมาของ AI จะเป็นข่าวดีของพนักงานบางกลุ่มและข่าวร้ายของอีกกลุ่ม เพราะการใช้ AI จะทำให้พนักงานกลุ่มหนึ่งมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ไม่ต้องใช้เวลามากกับงานที่น่าเบื่อ ได้รายได้สูงกว่าเดิม และอาจจะได้ทำงานน้อยลงเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่พนักงานอีกกลุ่มอาจจะต้องแข่งขันสูงขึ้น ถูกกดค่าแรงลง หรือเลวร้ายที่สุดคือใช้ AI ทำแทนพวกเขาได้เลย

     

    งานที่ได้เงินเดือนต่ำมีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะถูก AI ทดแทน

    รายงานนี้ไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าอาชีพไหนหรืออุตสาหกรรมไหนที่จะถูก AI มากระทบในทางลบมากที่สุด

    แต่ทางสภาฯ ระบุเลยว่า พนักงานที่เสี่ยงที่สุดที่จะถูก AI ทดแทน ประกอบด้วย 2 ดัชนีชี้วัด คือ 1) เป็นอาชีพที่ AI สามารถทำแทนได้มาก 2) เนื้องานไม่ต้องการศักยภาพการทำงานที่สูงมากนักเนื่องจากเนื้องานไม่ยากหรือซับซ้อนเท่าไหร่ ทำให้ถูกทำเป็นระบบอัตโนมัติได้

    สภาฯ พบว่ามี 10% ของพนักงานอเมริกันที่ตรงกับดัชนีชี้วัดทั้งสองข้อ และคนกลุ่มนี้มักจะเป็นพนักงานรายได้ต่ำและมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าชั้นปริญญาตรี

    นั่นหมายความว่า AI จะเข้ามาทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก เพราะจะมาทดแทนแรงงานในกลุ่มรายได้ต่ำ แต่กลับทำให้งานที่ได้รายได้สูงยิ่งได้เงินเดือนเพิ่มสูงขึ้นอีก

    อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ยังชี้ด้วยว่า บางครั้ง AI อาจจะมาแทนที่อาชีพหนึ่งได้ แต่อาจจะเกิดเป็นอาชีพใหม่ขึ้นมาด้วย เช่น หากวันหนึ่ง “รถโรงเรียน” สามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติได้เอง จนไม่ต้องมีอาชีพ “คนขับรถโรงเรียน” แต่ในเหตุการณ์จริงโรงเรียนและสังคมย่อมต้องการบุคลากรที่เป็นผู้ใหญ่ทำหน้าที่ “คนดูแลบนรถ” คอยกำกับดูแลนักเรียนอยู่ดี ซึ่งก็เป็นไปได้ที่โรงเรียนจะยังจ้างคนขับรถต่อไปเพียงแต่ต้องเปลี่ยนไปทำหน้าที่แบบอื่น

     

    การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมักจะ ‘ช่วย’ คนหนึ่งแต่ ‘ทำร้าย’ อีกคน

    AI ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งแรกในเชิงเศรษฐกิจ หากย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษ 1980s ในช่วงที่ประเทศจีนเริ่มขึ้นมาเป็นตัวแปรสำคัญในการค้าโลก นักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่า การล้นทะลักเข้ามาของสินค้าจีนต้นทุนต่ำจะเป็นคุณแก่สหรัฐฯ แม้ว่าภาคการผลิตท้องถิ่นของสหรัฐฯ เองต้องพ่ายแพ้ไป

    “คนที่เสียอาชีพการงานไปเพราะสินค้าจีนเข้ามาทุบตลาดย่อมเกิดอาการช็อก แต่คนอื่นๆ จะได้สินค้าราคาถูกจาก Walmart หรือ Target หรือห้างอื่นๆ” Angus Deaton นักเศรษฐศาสตร์ผู้ชนะรางวัล Nobel Memorial Prize กล่าวกับ Business Insider “และทฤษฎียังบอกด้วยว่า คุณค่าที่เราได้รับมากกว่าสิ่งที่เราสูญเสียไป”

    อย่างไรก็ตาม Deaton เองก็เริ่มไม่ค่อยแน่ใจมากขึ้นๆ ว่าการแลกในครั้งนั้นยังถือว่าคุ้มค่าหรือไม่ ดังนั้น การมาของ AI นั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นคุณและคุ้มค่ากับชาวอเมริกันหรือเปล่า

    Source

    ]]>
    1470173
    เปิดวิสัยทัศน์ซีอีโอ “ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” กับอนาคตของ “SC” และ “อสังหาฯ ไทย” ในทศวรรษหน้า https://positioningmag.com/1469923 Thu, 11 Apr 2024 08:44:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1469923 คุยกับหัวเรือใหญ่ของ “SC” เปิดมุมมองจาก “ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” กับการนำบริษัทก้าวสู่ทศวรรษต่อไปด้วยกลยุทธ์​ “มหาศาล มั่นคง สมดุล” ตั้งรับความเปลี่ยนแปลงในตลาด “อสังหาฯ ไทย” ที่รายใหญ่จะแข่งกันดุเดือดยิ่งขึ้น พร้อมแชร์มุมมองเรื่องพฤติกรรม “Generation Rent” ของคนรุ่นใหม่ การผ่อนเกณฑ์ให้ชาวต่างชาติซื้ออสังหาฯ ไทยง่ายขึ้น และปัญหารายได้โตไม่ทันราคาบ้านในวันนี้

     

    Q: กลยุทธ์ของ SC Asset ในทศวรรษที่ 3 ของบริษัทคืออะไร

    A: ทศวรรษที่ 3 ของ SC เราวางกลยุทธ์ที่จะทำอยู่ 3 ด้าน คือ “มหาศาล มั่นคง สมดุล”

    ความหมายของ “มหาศาล” คือ เป้าหมายในด้านรายได้ต้องมหาศาล ใน 5 ปีข้างหน้าบริษัทเราจะมีรายได้สะสมรวม 1.5 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 3 หมื่นล้านบาท

    แต่อสังหาฯ ยุคนี้จะต้อง “มั่นคง” มากด้วยเพราะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ทุนสูงขึ้น แปลว่าเราจะต้องมีจอยต์เวนเจอร์ (JV) เพื่อช่วยกันเติบโต

    รวมถึงเราจะต้อง “สมดุล” ในธุรกิจ นั่นทำให้เรามีเป้าหมายเรื่อง Engine 2 ของบริษัท พอร์ตสินทรัพย์สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) ของเราจะต้องทำกำไรคิดเป็นสัดส่วน 25% ใน EBITDA

    เอสซี แอสเสท

    Q: การสร้าง “สมดุล” ให้บริษัท SC มีการลงทุนธุรกิจอะไรบ้าง และอนาคตจะเน้นหนักในด้านไหน

    A: ขณะนี้เราลงทุนอยู่ 4 ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ คือ โรงแรม คลังสินค้า ออฟฟิศ และอะพาร์ตเมนต์

    ธุรกิจที่เราจะเน้นในช่วงนี้คือ “โรงแรม” และ “คลังสินค้า” เพราะการท่องเที่ยวกำลังกลับมา และอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโต ทุกๆ ปีเรากันงบ 10-15% ของงบลงทุนไว้ลงทุนกับ Engine 2 นี้ โดยจะให้น้ำหนักลงทุนสองธุรกิจนี้ใกล้เคียงกัน แต่จังหวะการลงทุนจะดูตามสถานการณ์

    ปัจจุบันโรงแรมที่เรามีการลงทุนแล้วมีอยู่ 3 แห่ง รวมทั้งหมด 600 ห้อง คาดว่าภายใน 5 ปีน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000-2,000 ห้อง ส่วนคลังสินค้ามีการลงทุนแล้วกว่า 160,000 ตารางเมตร คาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะลงทุนเพิ่มเฉลี่ยปีละ 100,000 ตารางเมตร

    SC Asset
    โรงแรม YAHN (ย่าน) ราชวัตร โรงแรมแรกในเครือ SC Asset โดยปีนี้บริษัทจะลงทุนโรงแรมเพิ่มอีก 2 แห่ง ที่สุขุมวิท 29 และ พัทยา

     

    Q: ในแง่ของการสร้างความ “มั่นคง” ด้วยกลยุทธ์ JV มองในธุรกิจไหน ใครที่จะมาเป็นพาร์ทเนอร์เร็วๆ นี้

    A: การหาพาร์ทเนอร์ JV ของเราต้องการร่วมมือกันในระยะยาว สิ่งที่มองหาคือคนที่ให้ได้ทั้งทุนและนวัตกรรมที่จะมาทำด้วยกัน ที่ผ่านมาเราเคยมี JV แล้วในกลุ่มธุรกิจคอนโดมิเนียม เราร่วมกับทุนญี่ปุ่นอย่าง “Nishitetsu Group” และ “Tokyo Tatemono” ขณะที่ธุรกิจคลังสินค้าเรามีการร่วมทุนกับ “Flash Group”

    ในปีนี้เราจะมีพาร์ทเนอร์ JV รายใหม่เข้ามาในธุรกิจโรงแรม ส่วนธุรกิจอื่นๆ ยังไม่มีที่อยู่ระหว่างเจรจา แต่ก็มีความเป็นไปได้หากต้องลงทุนใหญ่ เช่น โครงการแนวราบ หากจะซื้อที่ดินขนาด 200-300 ไร่ในวันนี้ก็อาจจะต้องมีพาร์ทเนอร์ร่วมทุน

    The Crest Park Residences คอนโดฯ ร่วมทุนของ SC Asset กับ Nishitetsu Group
    Q: ธุรกิจหลักคือการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขาย SC มีแนวคิดอย่างไร

    A: คิดว่าอนาคตคนก็จะยังเลือกซื้อที่อยู่อาศัยด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ ทำเล คุณภาพ และความปลอดภัย ซึ่งเราคิดว่าแบรนด์ SC สามารถส่งมอบทั้งหมดนี้ให้กับลูกค้าได้แล้ว แต่แบรนด์ก็เหมือนคนคือต้องไม่หยุดนิ่งในการพัฒนา

    บริบทโลกยุคนี้เราจะต้องสร้าง “ความหลากหลาย” และ “คุณค่า” ให้กับแบรนด์ ความหลากหลายของสินค้าที่ SC มีให้จะทำให้คนไม่มองว่าแบรนด์เรามีมากกว่าแค่บ้านหรู ส่วนการสร้างคุณค่าคือสร้างคุณค่าให้กับสังคมด้วย

     

    Q: วันนี้ SC มีสินค้าที่หลากหลายเพียงพอแล้วหรือยัง

    A: กลุ่มแนวราบเราวันนี้มีตั้งแต่ราคา 3 ล้านบาทไปจนถึงมากกว่า 100 ล้านบาท แต่ก็ยังมีจุดที่เรายังไม่ได้เข้าไปมากนักคือ “ทาวน์โฮมราคา 2-10 ล้านบาท” กลุ่มนี้เรามีส่วนแบ่งตลาดน้อย และคิดว่าปีหน้าน่าจะได้เห็นบริษัทบุกเข้าไปมากขึ้น

    ส่วนกลุ่มคอนโดฯ เรามีในกลุ่มราคา 100,000 บาทต่อตร.ม. ขึ้นไปจนถึง 1 ล้านบาทต่อตร.ม. คิดว่าครบทุกเซ็กเมนต์ที่เราต้องการพัฒนา

    SC Asset
    Verve รามคำแหง-วงแหวน ทาวน์โฮมในเครือ SC ราคาเริ่ม 3.89 ล้านบาท

     

    Q: 5 ปีข้างหน้า คิดว่าอสังหาฯ ไทยจะมีอะไรที่ไม่เหมือนเดิม

    A: สิ่งที่เปลี่ยนไปคิดว่ามี 3 เรื่องหลัก คือ หนึ่ง การแข่งขัน เพราะจะเหลือแต่รายใหญ่เท่านั้นที่พร้อมทั้งเงินทุน บุคลากร และเทคโนโลยี จากวันนี้รายใหญ่กินตลาดไปแล้ว 70-80% ในอนาคตคิดว่าจะยิ่งมากขึ้นเป็น 80-90%

    สอง รายใหญ่จะทำงานด้านความหลากหลายทางธุรกิจเหมือนๆ กัน เพราะทุกคนต้องการกระจายความเสี่ยง

    สาม เรื่องสิ่งแวดล้อม บริษัทยิ่งใหญ่ยิ่งต้องเน้นเรื่องนี้ เพราะอนาคตสังคมจะกดดันเรามากขึ้นๆ จะมีคำถามว่า ‘สร้างบ้านหนึ่งหลังหรือโรงแรมหนึ่งแห่งคุณปล่อยคาร์บอนฟุตปรินท์เท่าไหร่’ ถ้าเราไม่มีนโยบายด้านนี้เลยก็จะทำให้เราไม่มีคุณค่าต่อผู้บริโภค

    Q: แล้วในแง่พฤติกรรมผู้บริโภคกับที่อยู่อาศัย มีอะไรที่อาจจะเปลี่ยนไปไหม?

    A: คนรุ่นใหม่ Gen Z มีแนวโน้มจะเป็น “Generation Rent” มากขึ้น ทำให้เรากำลังศึกษาโมเดลที่จะตอบโจทย์คนยุคใหม่ เช่น ระบบ “Rent-to-Own” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเงินค่าเช่าเป็นเงินดาวน์บ้าน หรืออาจจะทำ “Subscription Model” เป็นระบบสมัครสมาชิก ทำแพ็กเกจชำระค่าเช่าเท่ากันทุกเดือนแต่มีสิทธิ์ย้ายคอนโดฯ ได้ทุกๆ 6 เดือน ตอบโจทย์คนยุคนี้ที่ต้องการทดลองหาที่อยู่ไปจนกว่าจะเจอทำเลที่ชอบ หรือมีความมั่นคงทางการเงินมากพอที่จะผ่อนซื้อได้แล้ว

     

    Q: ล่าสุดรัฐเปิดเผยว่ามีแนวทางที่จะกระตุ้นภาคอสังหาฯ ด้วยการปรับหลักเกณฑ์ให้คนต่างชาติซื้อบ้านพร้อมที่ดินในไทยได้ง่ายขึ้น มองประเด็นนี้อย่างไร

    A: ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย ข้อดีเรื่องนี้คืออะไร? คือการเพิ่มเม็ดเงินให้ไหลเข้าประเทศ ข้อเสียคืออะไร? เรากลัวว่าจะเกิดการเก็งกำไร ราคาบ้านจะสูงเร็วขึ้นกว่าปกติ หรือวัฒนธรรมของคนที่มาอยู่ใหม่อาจจะขัดแย้งกับคนไทย

    ผมคิดว่า ข้อเสียเหล่านี้สามารถควบคุมได้นะ เช่น มีการจำกัดโควตาการซื้อ จำกัดพื้นที่ ราคาที่ซื้อได้ เราอาจจะกำหนดว่าให้ต่างชาติซื้อได้เฉพาะบ้านเดี่ยว ราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ไม่เกิน 1,000 ยูนิตต่อปี แบบนี้น่าจะไม่กระทบมาก

    แต่ผมว่าเราต้องมีเวทีสาธารณะให้สองฝ่ายได้มาคุยกันอย่างเปิดเผยก่อน ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีการตัดสินใจร่วมกันของสังคม

     

    Q: ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย แบงก์ไม่ปล่อยกู้ รายได้โตไม่ทันราคาบ้าน ในฐานะดีเวลอปเปอร์มีหนทางไหนที่จะช่วยปลดล็อกได้ไหม

    A: ปัญหานี้เราต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกก่อน นั่นคือสินค้าเราที่จะออกสู่ตลาดต้องมั่นใจว่าลูกค้าเข้าถึงในราคานั้นได้จริง และแบรนด์เราจะต้องน่าเชื่อถือเพราะมีส่วนช่วยให้ลูกค้ากู้แบงก์ได้ง่ายขึ้น รวมถึงเราต้องหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยลูกค้า อย่างที่เรากำลังศึกษาเรื่อง Rent-to-Own หรือ Subscription Model อยู่

    แต่นี่คือระดับที่ดีเวลอปเปอร์ทำได้นะ ซึ่งเราเป็นส่วนที่เล็กมาก เรื่องนี้จริงๆ ต้องมองในระดับรัฐบาลที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้ เช่น นโยบายผ่อนปรน LTV (Loan-to-Value) เพื่อให้คนกู้แบงก์ผ่านได้ง่ายขึ้น หรือการจัดการอัตราหนี้ครัวเรือนที่สูงแตะ 91% รัฐบาลต้องทำทั้งการเพิ่มรายได้และแก้ภาระหนี้ ก็ขอให้กำลังใจภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นระยะยาว มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ซึ่งจะช่วยเรื่องความเชื่อมั่น สร้างบรรยากาศดีๆ ให้คนอยากจับจ่ายใช้สอย

    ]]>
    1469923