ธุรกิจ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 30 Mar 2022 09:48:36 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Fjord Trends 2022 : ส่อง 5 เทรนด์โลกธุรกิจ ปรับวิธีคิดใหม่รับความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป https://positioningmag.com/1374718 Mon, 21 Feb 2022 10:12:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1374718 ส่อง 5 เทรนด์เเห่งปี 2022 ที่จะส่งผลต่อสังคม วัฒนธรรมและธุรกิจ ปรับวิธีคิดใหม่เรื่องกลยุทธ์การเติบโต 
เมื่อผู้คนทบทวนความสัมพันธ์ที่มีกับงาน เทคโนโลยี แบรนด์ และโลกของตัวเองมากขึ้น 

จากรายงาน Fjord Trends 2022 ของบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง ‘เอคเซนเชอร์’ ที่ได้สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคมาต่อเนื่องกว่า 15 ปี พบว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา สังคมมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตั้งเเต่ระดับโครงสร้าง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับงาน วัฒนธรรมการบริโภค เทคโนโลยีและโลก

เหล่าพนักงานมีความคาดหวัง แนวคิด และมุมมองที่เปลี่ยนไป ทำให้บริษัทหรือองค์กรต่างๆ จึงต้องปรับตัวและออกแบบแนวการทำธุรกิจรูปแบบใหม่เพื่อหาแนวทางการออกแบบ การสร้างนวัตกรรม และการเติบโตให้กับธุรกิจในอนาคต

ดาวิน สมานนท์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานบริการทางการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า เราไม่ควรมองข้ามเรื่องระดับของความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป หรือบทบาทของธุรกิจที่ต้องปรับตัวตาม การตัดสินใจต่างๆ ของธุรกิจที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ อาจจะส่งผลต่อโลกและโครงสร้างในหลายด้านมากเกินกว่าที่จะจินตนาการได้ และทุกสิ่งจะมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือเรื่องความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปของคน ไม่ว่าจะกับเพื่อนร่วมงาน แบรนด์ สังคม สถานที่ และสิ่งต่างๆ

“จากการสำรวจพบว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีพนักงานแค่ 15% เท่านั้น ที่อยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ 100% เหมือนเดิม”

โดย Fjord Trends 2022 เก็บข้อมูลจากนักออกแบบ และนวัตกรกว่า 2,000 คน จาก 40 แห่งทั่วโลกที่อยู่ในเครือข่าย Accenture Interactive ได้คาดการณ์พฤติกรรมมนุษย์ และ 5 เทรนด์ที่จะส่งผลต่อสังคม วัฒนธรรม และธุรกิจ ประกอบด้วย

1. Come as you are : เป็นอย่างที่ตัวเองเป็น

การที่ผู้คนรู้สึกควบคุมชีวิตตนเอง หรือ sense of agency มีมากขึ้นในช่วง 2 ปีของโควิด ส่งผลกระทบต่อวิธีการทำงาน การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน และการบริโภคทั้งสิ้น

ผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงความสำนึกถึงตัวตน สิ่งที่สำคัญกับชีวิต และความเป็นปัจเจกนิยมมากขึ้นในมุมมองที่เรียกว่า me over we ซึ่งสำคัญต่อองค์กรในแง่ของการบริหาร และการสร้างแรงจูงใจพนักงาน รวมถึงการเสริมสร้างค่านิยมให้พนักงานใหม่ และแนวทางการสานสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับลูกค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โดยพนักงานเลือกที่จะทำงานเเบบ Work From Home เเละมีช่วงเวลาที่ยืดหยุ่น ประเมินจากผลลัพธ์ของผลงาน บริษัทจึงต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างสิ่งที่พนักงาน ลูกค้าเเละบริษัทต้องการ

(Photo : Shutterstock)

2. The end of abundance thinking : หมดยุคเหลือเฟือ

ช่วงปีที่ผ่านมา การขาดแคลนของปัจจัยหลายอย่าง แม้จะเป็นปัญหาระยะสั้น แต่ส่งผลต่อเนื่อง นำไปสู่การเปลี่ยนแนวคิด จากการคิดเผื่อที่อยู่บนฐานของการที่ทุกอย่างมีให้ใช้อย่างเหลือเฟือ สะดวก และรวดเร็ว เปลี่ยนไปเป็นถึงความตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งธุรกิจต้องรับมือกับความกังวลถึงปัจจัยต่างๆ ว่าจะมีพอหรือไม่อย่างที่หลายคนประสบทั่วโลก

3. The next frontier : พรมแดนใหม่

การแตกตัวทางวัฒนธรรมขนานใหญ่กำลังรอเวลาที่จะเกิดขึ้น โดย ‘Metaverse’ จะกลายเป็นพรมแดนใหม่ของอินเทอร์เน็ตที่หลอมรวมเลเยอร์ต่าง ๆ ของข้อมูล อินเทอร์เฟซ และพื้นที่ที่ผู้คนสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็นพื้นที่ใหม่ในการสร้างรายได้ สร้างงาน และสร้างโอกาสที่ไม่สิ้นสุดให้แบรนด์ต่าง ๆ ด้วย

“ผู้คนคาดหวังให้ธุรกิจสร้างสรรค์ และนำพวกเขาไปสู่สิ่งใหม่ โลกจะไม่หยุดที่หน้าจอ และหูฟังเท่านั้น แต่เปิดประตูไปสู่ประสบการณ์ และสถานที่ต่าง ๆ ในโลกจริงที่มีปฏิสัมพันธ์กับโลกดิจิทัล”

4. This much is true : ตอบเร็ว ตอบจริง (This much is true)

ผู้คนคาดหวังที่จะได้รับคำตอบจากการกดปุ่มแค่ครั้งเดียว หรือการสั่งงานด้วยเสียงผ่านระบบ voice assistant ก็ได้คำตอบในทันที หมายความว่าผู้คนจะถามมากขึ้น
“สำหรับแบรนด์สินค้าหมายถึงขอบเขตของคำถามจากลูกค้า และช่องทางการสอบถามจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นการออกแบบวิธีการตอบคำถามจึงเป็นความท้าทาย และเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่พร้อมเสริมสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันในอนาคตด้วย”

5. Handle with care : ใส่ใจมากขึ้น

การดูแลใส่ใจทุกด้านเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างเด่นชัดในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวเอง ดูแลผู้อื่น การบริการดูแลสุขภาพ และช่องทางที่ให้บริการทั้งทางดิจิทัลและโลกออฟไลน์ จึงเป็นทั้งโอกาส และความท้าทายสำหรับนายจ้าง และแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญทางการแพทย์ หรือการดูแลสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบในการดูแลตนเอง และผู้อื่นยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ในชีวิต นักออกแบบ และองค์กรธุรกิจจึงต้องคำนึงเหมือนกันว่าจะการสร้างพื้นที่สำหรับฝึกการดูแลเรื่องต่าง ๆ ในภาคปฏิบัติได้อย่างไร

“แบรนด์จะเผชิญกับความรับผิดชอบสำคัญ 2 เรื่อง คือ การใส่ใจดูแลโลกวันนี้ และต้องคำนึงถึงเรื่องการสร้างอนาคตในทางที่ดีต่อโลก ธุรกิจ และสังคมด้วย”

]]>
1374718
ผลสำรวจ ‘บริษัทใหญ่ญี่ปุ่น’ กว่า 84% มองบวก ปี 2022 เศรษฐกิจจะเติบโตได้ดี https://positioningmag.com/1369285 Mon, 03 Jan 2022 09:04:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369285 บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นกว่า 84% มองว่า เศรษฐกิจของประเทศจะกลับมาเติบโตได้ดีในปี 2022 จากเเรงหนุนการบริโภคที่ฟื้นตัว เเละความหวังว่าการระบาดของโควิด-19 จะบรรเทาลง

Kyodo News สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชนญี่ปุ่น 106 บริษัท ซึ่งรวมไปถึงบริษัทใหญ่อย่าง Toyota Motor Corp , SoftBank Group Corp , ANA Holdings , Seven & i Holdings , Nintendo และ Panasonic Corp

โดยบริษัทกว่า 84 แห่ง คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตได้ในระดับปานกลางตลอดปีนี้ ขณะที่อีก 5 บริษัทมองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ขณะที่ 13 บริษัท ประเมินว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้จะทรงตัว เพราะประชาชนยังระมัดระวังเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด แต่ก็ไม่มีบริษัทไหนเลยที่มองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัว

เมื่อเปิดให้สามารถตอบคำถามได้หลายข้อ พบว่ากว่า 91% มองว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวขึ้นตามเเนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่พุ่งสูงขึ้น ตามมาด้วย 64% ที่คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 จะกลับสู่ภาวะปกติได้ เเละ 35% มองว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และ 19% เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวในปีนี้

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอนให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ในทิศทางที่ดี

อย่างไรก็ตาม เเม้จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในญี่ปุ่น จะคงยังอยู่ในระดับต่ำ หลังจากระลอกที่ 5 จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน แต่รายงานการแพร่กระจายของสายพันธุ์โอมิครอนในชุมชนต่างๆ ก็ทำให้เกิดความกลัวต่อการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอีก

บริษัทแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหาร กล่าวว่ามาตรการรับมือไวรัสโคโรนาของรัฐยังไม่เพียงพอ และต้องใช้เวลานานกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด”

ขณะที่ผู้บริโภคในญี่ปุ่นยังคงรัดเข็มขัดการใช้จ่ายของพวกเขาต่อไป เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภครายวันบางส่วนได้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นและค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง

 

ที่มา : Kyodo News

 

]]>
1369285
มอง ‘ธุรกิจขนส่ง’ ปี 65 กลับมาโต 10.5% เเต่โครงสร้าง ‘ต้นทุนขนส่งไทย’ ยังเเพงกว่าคู่แข่ง https://positioningmag.com/1368223 Wed, 22 Dec 2021 06:50:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1368223 เเนวโน้มธุรกิจขนส่งไทยมีเเววรุ่งในปีหน้า หลังได้รับเเรงหนุนจากภาคการผลิตที่กลับสู่ระดับปกติ ความต้องการสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น เเต่ปัจจัยที่คนทำงานออนไลน์-ท่องเที่ยวไม่ฟื้น ยังกดดันกระแสการเดินทาง ด้านโครงสร้างต้นทุนขนส่งไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง ผู้ประกอบการต้องเเบกต้นทุน

คาดธุรกิจขนส่งปี 65 ขยายตัว 10.5% 

“ธุรกิจขนส่ง” เป็นอีกฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยในช่วง 2 ปีของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจการขนส่งสินค้าในภาคการค้าและภาคการเดินทางได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้ภาคธุรกิจขนส่งชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

สะท้อนได้จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในภาคขนส่งที่หดตัวกว่า 24% และกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.6% ในปี 2564 จากผลของเศรษฐกิจโลกและในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ รวมไปถึงความกังวลต่อการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยลงกว่าปี 2563 การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น และการเปิดประเทศได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้ได้สะท้อนผ่านมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกของไทยที่มีมูลค่าสูงขึ้น 22% ในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นอีก 3.6% ในปี 2565 ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินแนวโน้มภาคการขนส่งไทยในปี 2565 ว่าจะเติบโตกว่า 10.5% โดยได้รับอานิสงส์หลักมาจากการฟื้นตัวของการขนส่งสินค้าที่เติบโตต่อเนื่อง 10.4% ซึ่งเป็นผลจากภาคการผลิตกลับสู่ระดับปกติ และแรงหนุนจากความต้องการสินค้าส่งออก เร่งให้เกิดอุปสงค์การขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมทางการค้าที่สูงขึ้น จึงทำให้ธุรกิจมีรายได้สูงกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 (ปี 2562)

คนทำงานออนไลน์เพิ่ม – ท่องเที่ยวยังฟื้นช้า 

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ต่อในอนาคต สถานการณ์การเปิดประเทศทั่วโลกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ทำงานแบบออนไลน์เพิ่มขึ้น กดดันให้กระแสการเดินทางที่ควรจะเพิ่มขึ้นเป็นไปได้ช้ากว่าที่คาดการณ์

“ภาคการท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ฉุดภาคขนส่งผู้โดยสาร ถึงแม้ว่าจะฟื้นตัวได้ถึง 22.3% ในปี 2565 แต่เป็นผลมาจากฐานต่ำช่วงการระบาดระลอก 1-2 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าระดับรายได้จากการขนส่งจะอยู่ที่ 25% ของรายได้ก่อนโควิดเท่านั้น” 

Photo : Shutterstock

 ‘ขนส่งไทย’ เเพงกว่าคู่เเข่ง ผู้ประกอบการเเบกต้นทุน

แม้ว่าในภาพรวมแนวโน้มจะดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องรับมือ

โครงสร้างต้นทุนขนส่งไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง

ปัญหาโครงสร้างการขนส่งของไทยที่เน้นขนส่งทางถนน ซึ่งมีต้นทุนต่อระยะทางต่อตันต่อกิโลที่สูงกว่าระบบราง และระบบการขนส่งทางน้ำ ส่งผลให้ต้นทุนขนส่งต่อจีดีพีภาพรวมไทย คิดเป็นสัดส่วนที่สูง 14.1% (ปี 2563) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ 12.8%

ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งที่เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมมากขึ้น โดยเฉพาะทางรางและทางน้ำ และยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการให้สูงขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนขนส่งของภาคธุรกิจได้

ต้นทุนขนส่ง ของผู้ประกอบการมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง

 
จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าระวางเรือที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนต้องแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น กลายเป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในระยะต่อไป ผู้ประกอบการควรนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสามารถเชื่อมห่วงโซ่อุปทานเข้าด้วยกันโดยระบบอินเทอร์เน็ต (Internet of Things: IoT)
 
และนำมาประมวลผลจัดการระบบขนส่งและคลังสินค้าแบบเรียลไทม์ (Real Time) ช่วยให้วางแผนการขนส่ง การคาดการณ์ปริมาณสินค้า ประเมินโอกาสในการเชื่อมโยงการขนส่งในรูปแบบ ถนน ราง และทางน้ำ เข้าด้วยกัน ซึ่งในที่สุดจะช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและแข่งขันได้

พฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนและภาคธุรกิจไม่เหมือนเดิม

หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การปรับตัวให้เข้ากับบริบทโลกออนไลน์ทั้งในรูปแบบของการค้าและการทำงาน ที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและปริมาณการใช้ในระบบขนส่ง เป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องทำความเข้าใจและปรับตัวรองรับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนรายได้สูงจากการขนส่งผู้โดยสาร ยิ่งจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับแนวโน้มที่ภาคการขนส่งมีทิศทางสนับสนุนภาคการค้าเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ประสบการณ์และทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

“เป็นความท้าท้ายที่สำคัญในช่วงโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจจำเป็นต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพให้ได้ประโยชน์สูงสุดตามศักยภาพของระบบขนส่งในประเทศและใช้เทคโนโลยีช่วยมากขึ้น จะสามารถทำให้ธุรกิจปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ พร้อมกับการแสวงหาโอกาสในช่วงปัจจัยอุปทานขนส่งที่เพิ่มขึ้นไม่ทันกับความต้องการจากพฤติกรรมของธุรกิจและการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไป”

 

 

]]>
1368223
ประเมินราคาน้ำมันในไทยพุ่ง 25% กระทบธุรกิจ ครัวเรือนเเบกค่าครองชีพเพิ่ม 340 บาท/เดือน https://positioningmag.com/1359177 Fri, 29 Oct 2021 11:51:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1359177 วิเคราะห์สถานการณ์ ‘ราคาน้ำมันดิบโลก’ ปี 64-65 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 65% ดันราคาขายปลีกในไทยพุ่งขึ้น 25% กระทบค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเพิ่มสูงถึง 2 แสนล้าน ภาคธุรกิจเเบกภาระต้นทุนอ่วม ครัวเรือนเตรียมรับค่าครองชีพเพิ่มขึ้น 1.6% หรือราว 340 บาทต่อเดือน

ราคาน้ำมันดิบดูไบ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจ และค่าใช้จ่ายของประชาชนอย่างมาก

บทวิเคราะห์ทิศทางและผลกระทบการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มีประเด็นที่น่าสนใจหลักๆ ได้เเก่

  • แนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกและราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกในประเทศ
  • การประเมินผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

โดยในปี 2564-2565 คาดราคาน้ำมันดิบโลก (ราคาน้ำมันดิบดูไบ อ้างอิงตลาดสิงคโปร์) เฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 65% จากปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเฉลี่ยสูงขึ้น 25%

ราคาน้ำมันดิบดูไบทยอยไต่ระดับพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา และปรับขึ้นที่ระดับราคาเฉลี่ย 72.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนกันยายน 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปี 2563 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 75.8%

ทำไมราคาน้ำมัน ‘เเพงขึ้น’ 

สาเหตุสำคัญของราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น มาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ประกอบกับวิกฤตการขาดแคลนถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ทำให้โรงงานไฟฟ้าหลายแห่งปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าทดแทนจึงทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงขึ้น

ttb analytics ประเมินว่าแม้จะมีแรงกดดันดังกล่าวอยู่บ้าง แต่การปรับขึ้นราคาอย่างรวดเร็วนี้ เกิดจากอุปทานตรึงตัว จากกำลังการผลิตที่ลดลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากความต้องการที่ลดลงจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย ย่อมทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

จากนั้นกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้เกิดสมดุลกับความต้องการที่ฟื้นตัว ทำให้ระดับราคาปรับสู่ดุลยภาพ ซึ่งคาดว่าระดับราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงปี 2564-2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือปรับเพิ่มขึ้น 65% จากระดับราคาเฉลี่ย 42.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2563

Photo : Shutterstock
ค่าใช้จ่ายน้ำมันในไทย เพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาท

จากผลการศึกษาการส่งผ่านราคาน้ำมันดิบดูไบไปสู่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกในประเทศ ผ่านโครงสร้างปริมาณการใช้น้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทย พบว่า “ราคาน้ำมันดิบดูไบที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 65% ในช่วงปี 2564-2565 จะส่งผ่านไปยังราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้น 25%”

ซึ่งจะทำให้ แนวโน้มราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปี 2564-2565 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 27.8 บาทต่อลิตร โดยกลุ่มน้ำมันเบนซินราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 26.7 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 23.8% และกลุ่มน้ำมันดีเซลราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 28.2 บาทต่อลิตร หรือ เพิ่มขึ้น 25.0%

ด้านการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในปี 2564 คาดว่าจะหดตัว 4.2% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการลดลง โดยกลุ่มน้ำมันเบนซินจะลดลง 5.5% จากการจำกัดการเดินทางของประชาชนตามมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 และกลุ่มน้ำมันดีเซลจะลดลง 3.2% จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง โดยเฉพาะการขนส่งโดยสารคนที่ลดลง

ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่สูงขึ้นจะทำให้ค่าใช้จ่ายน้ำมันเพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาท โดยภาคธุรกิจจะเพิ่มถึง 1.83 แสนล้านบาท ขณะที่ภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น 1.7 หมื่นล้านบาท

กระทบภาคธุรกิจ ‘ขนส่ง-โลจิสติกส์’ อ่วมสุด 

สำหรับผลกระทบจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อภาคธุรกิจ โดยวิเคราะห์ผ่านโครงสร้างต้นทุนการใช้น้ำมันต่อต้นทุนรวม และอัตรากำไรขั้นต้นจากงบการเงินเฉลี่ยของธุรกิจ ซึ่งเจาะลึกธุรกิจที่ใช้น้ำมันมาก ได้แก่

1. ขนส่งและโลจิสติกส์ สัดส่วนต้นทุนจากการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 32%
2. ประมง สัดส่วนต้นทุนจากการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 19%
3. เหมืองแร่ สัดส่วนต้นทุนจากการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 11%
4. เคมีภัณฑ์ สัดส่วนต้นทุนจากการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 9%
5. วัสดุก่อสร้าง สัดส่วนต้นทุนจากการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 4%

พบว่า ระดับราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25% ในปี 2564-2565

ทั้งนี้ พบว่าระดับราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25% ในปี 2564-2565 ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่อมาร์จิ้นสูงสุด ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์ ประมง เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เหมืองแร่ ยานยนต์และชิ้นส่วน และวัสดุก่อสร้าง

โดยมาร์จิ้นของธุรกิจจะลดลง 10.4%, 3.6%, 3.2%, 2.6%, 2.2%, 2.0% และ 2.0% ตามลำดับ

“ธุรกิจเหล่านี้พึ่งพิงน้ำมันมาก แต่ความสามารถในการปรับราคาขายตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต้องใช้เวลาส่งผ่านนานและส่วนใหญ่สินค้ามีการควบคุมราคาจากภาครัฐ ทำให้เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ออัตรากำไรของธุรกิจจะลดลง” 

ครัวเรือนไทย แบกค่าครองชีพเพิ่ม 340 บาท/เดือน

ผลการศึกษาค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันสำเร็จรูปของภาครัวเรือนไทย จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2563 พบว่าภาคครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ย 1,361 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนการใช้น้ำมัน 6.4% ของค่าใช้จ่ายรวม

โดยระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น 25% จะส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 340 บาทต่อเดือน คิดเป็นค่าใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นหรือค่าครองชีพเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.6%

และเมื่อพิจารณาแยกเป็นรายภาคจะพบว่า ภาคใต้และภาคกลาง เป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ เนื่องจากมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายน้ำมันสูง โดยสัดส่วนของภาคใต้ และภาคกลาง คิดเป็น 7.5% และ 6.9% ของค่าใช้จ่ายรวม ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายน้ำมันส่งผลให้ค่าครองชีพภาคใต้และภาคกลางเพิ่มขึ้น 1.9% และ 1.7% ตามลำดับ

เเนะรัฐตรึงราคาขายปลีกในประเทศ

การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ปริมาณการใช้ปกติของโลก หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง จะส่งผลทำให้เกิดความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเกินกว่าการคาดการณ์ราคาเฉลี่ยทั้งปี โดยเฉพาะไตรมาส 4 ของปีนี้ที่น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยมีโอกาสขยับขึ้นแตะ 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้ ซึ่งจะส่งผ่านให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีได้

“ในยามที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นจากความไม่สมดุลนี้ ภาครัฐควรพิจารณาตรึงราคาขายปลีกในประเทศ โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาชดเชยราคาให้ลดลง และหากมีความจำเป็นในกรณีราคาพุ่งสูงขึ้นมากอาจพิจารณาลดภาษีน้ำมันลง เพื่อช่วยบรรเทาภาระต้นทุนของภาคธุรกิจและค่าครองชีพประชาชนลงจนกว่าราคาน้ำมันจะปรับเข้าสู่ระดับราคาสมดุลใหม่อีกครั้ง”
]]>
1359177
วิถีมวยรองของ ‘Robinhood’ สู่เป้าหมายการลงทุน 5 พันล้าน เติบโตเป็น ‘ซูเปอร์เเอป’ อาเซียน https://positioningmag.com/1358288 Wed, 27 Oct 2021 12:50:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1358288 เดินทางมาได้ครบ 1 ปีเเล้วกับ Robinhood (โรบินฮู้ด) ฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย ที่มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการช่วยเหลือคนตัวเล็กให้อยู่รอดผ่านวิกฤตโควิด สั่นสะเทือนวงการด้วยการประกาศไม่เก็บค่า GP’ ร้านอาหารเเม้เเต่บาทเดียว

เเละต่อจากนี้ไปคือการขยายบริการไปยังธุรกิจท่องเที่ยว จองโรงแรมตั๋วเครื่องบิน-ทัวร์ ซื้อของเเละส่งของ ตามเป้าหมายการเป็นซูเปอร์แอป’ เตรียมตัวระดมทุนใหญ่ ในปี 2565 เเละจะเพิ่มการลงทุน 4-5 พันล้านในปี 2566

หากคิดว่า Robinhood เป็นเด็กคนหนึ่ง ก็นับเป็นเด็กที่โตเร็วมากเพราะปัจจุบัน หลังทำมาเพียงปีเดียว ก็มีลูกค้าที่ลงทะเบียนใช้งานเเพลตฟอร์มไปเเล้วถึง 2.3 ล้านคน มีร้านอาหารเข้าร่วมกว่า 164,000 ร้าน และมีไรเดอร์ 26,000 คน ออเดอร์ต่อวันเฉลี่ยอยู่ที่ 150,000 ออเดอร์ โดยยอดสั่งออเดอร์มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 750% เมื่อเทียบกับเดือนก..ปีที่ผ่านมา

ยิ่งในช่วงกลางปีที่มีการล็อกดาวน์รอบสอง’ Robinhood ได้ออกมาตรการพิเศษส่งฟรีทุกออเดอร์ช่วงล็อกดาวน์เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้คนในสังคม ซึ่งแคมเปญนี้ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เเพลตฟอร์มเติบโตได้แบบก้าวกระโดด

โดย 5 อันดับเมนูอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว (ขายดีถึง 3.7 ล้านชาม) ชานมไข่มุก อาหารจานเดียว แซลมอน และกาแฟ ส่วนพื้นที่ที่มีการจัดส่งมากที่สุด ได้แก่ จตุจักร ห้วยขวาง บางกะปิ ลาดพร้าว สายไหม บางเขน สวนหลวง ดินแดง ประเวศ และวังทองหลาง

กลุ่มลูกค้าหลักของ Robinhood ขยายจากคนตัวเล็กสู่วงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปสู่การให้บริการอื่นๆ ได้ เช่น ชวนไปเที่ยว ชวนไปช้อป

วิถีมวยรองของ Platform of kindness

ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทลูกในเครือ SCBX ผู้พัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์ม Robinhood เล่าให้ฟังถึง เส้นทางการเรียนรู้เเละลองผิดลองถูก ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สรุปได้เป็นบทเรียนสำคัญคือ

1.ฐานลูกค้า ที่ใช้บริการแพลตฟอร์มจะเป็นพลังสำคัญที่จะนำ Robinhood ก้าวสู่ความเป็นซูเปอร์แอป (super app) ในอนาคต 

2. Platform of kindness จุดเด่นของการแพลตฟอร์มที่ชูความช่วยเหลือและมีน้ำใจ” ต่อกัน มีแรงดึงดูดผู้คนไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ร้านค้า และไรเดอร์ ช่วยเหลือกัน นับเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้แพลตฟอร์มสามารถเติบโตต่อไปได้ 

3.ความสนุกของการได้ลงมือทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นได้ มีความอยากที่จะเรียนรู้พัฒนาไปเรื่อยๆ เเละมีโจทย์ใหม่ๆ มาให้ทดลองอยู่เสมอ

4.มาตรฐานโอลิมปิก คือ การที่เมื่อคิดจะลงมือทำอะไรให้คิดไปถึงมาตรฐานโอลิมปิก เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มาตรฐานระดับสากลสู้กับคู่เเข่งยักษ์ใหญ่ที่มาจากต่างประเทศได้

5. วิถีมวยรอง เล่นเกมธุรกิจที่มีความเเตกต่าง ใช้เงินทุนน้อยกว่า จำนวนคนน้อยกว่า เเละไม่ได้มุ่งหวังจะไปแข่งชิงเบอร์ 1 กับเจ้าตลาดที่แข็งแกร่ง แต่ต้องพยายามหาตำแหน่งทางการตลาดของตัวเองให้ได้ เป็นมวยรองที่มีจุดยืนชัดเจน

-ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

ปรับไซซ์ใหญ่ สู่ ‘ซูเปอร์เเอป’ 

ก้าวต่อไปของ Robinhood จึงถึงเวลาที่จะขยายไปให้กว้างเเละใหญ่ขึ้น หลากหลายมิติมากขึ้น นอกจากธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ เเต่ก็ยังจะต้องคงคอนเซ็ปต์การช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย ช่วยคนไทย

สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บอกว่า Robinhood กำลังจะเดินเข้าสู่ 3 ธุรกิจใหม่ที่เป็น Non-Food  ได้แก่

บริการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน กิจกรรมท่องเที่ยว รถเช่า ประกันภัย (Online Travel Agent) สร้างทางเลือกและช่วยผู้ประกอบการ SME ไทย ให้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ตัวแทนในการขายห้องพักผ่านช่องทางออนไลน์

บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้า (Mart Service) เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการขายและเป็นสะพานเชื่อมให้ผู้ประกอบการได้เจอกับลูกค้าโรบินฮู้ดซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและพร้อมซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ 

บริการรับส่งของ (Express Service) แบบ on-demand เพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังขยายตัวแบบก้าวกระโดด

ชำระเงินข้ามแพลตฟอร์ม เพิ่มฟีเจอร์เเชท-ให้ทิป 

สำหรับธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เป็นธุรกิจเริ่มต้นของ Robinhood นั้นจะมีเเผนการให้บริการสู่ต่างจังหวัด หลังตีตลาดในกรุงเทพฯ เเละปริมณฑลได้สำเร็จเเล้ว

ในปี 2565 เตรียมปักหมุดนำร่องที่ 3 จังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี ก่อนขยายไปหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศต่อไป ซึ่งบริษัทจะมีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่เข้าไปเรื่อยๆ อย่างเช่น

การให้คะเเนนรีววกับร้านค้าและไรเดอร์

รีพอร์ตสำหรับร้านค้าที่จะได้เห็นข้อมูลสถิติการซื้อขายของตัวเอง

ให้ร้านค้าสามารถสร้างโปรโมชันได้เองในหน้า Landing Page ปรับเลือกหน้าเพจได้เอง

โปรเเกรม subscription ฟีเจอร์แชทกับไรเดอร์

ให้ทิปกับไรเดอร์

สำหรับการชำระเงินนั้น ผู้บริหาร Robinhood ยืนยันว่าจะเน้นการเป็น Cashless 100% เพื่อสนับสนุนสังคมไร้เงินสด เเละมีความปลอดภัยเนื่องจากผู้ซื้อเเละไรเดอร์ไม่ต้องจับเงินสดเลย อีกทั้งเงินยังโอนเข้าร้านค้าได้เร็วนำไปหมุนเวียนธุรกิจได้เร็วกว่า

เพื่อให้ผู้บริโภคชำระเงินอย่างสะดวก Robinhood จะจับมือกับผู้ให้บริการ Mobile Banking อีก 2 – 3 ราย รวมถึงกลุ่ม Non-Bank ให้ลูกค้าสามารถชำระเงินข้ามแพลตฟอร์มได้ โดยไม่ต้องใช้บัญชี SCB อย่างเดียว ซึ่งกำลังจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ การมาของยานเเม่ SCBX ที่ปลดล็อกธนาคารร้อยปี เเละ Re-imagine ไทยพาณิชย์ให้เป็นบริษัทเทคยุคใหม่นั้น

Robinhood ก็จะมีผสานพลังความร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ ในกลุ่ม SCBX เช่น Auto X, Card X, Data X, SCB Tech X เป็นต้น เพื่อหาลูกค้า (customer acquisition) พร้อมการนำเอาข้อมูลดาต้ามาต่อยอดด้านสินเชื่อและบริการทางการเงินอื่น ๆ รวมไปถึง การทำโฆษณา ทำโปรโมชันกับลูกค้า เพื่อประโยชน์สูงสุดของร้านค้า และลูกค้า 

เราวางแผนเตรียมระดมทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแพลตฟอร์มและมุ่งพัฒนาบริการ ปูทางสู่การเป็นซูเปอร์แอปสัญชาติไทยอย่างเต็มตัว ที่พร้อมรองรับบทบาทการเป็นผู้ให้บริการในระดับภูมิภาค (regional player)”

-สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

ระดมทุนเพื่อการเติบโต 

จากเงินทุนตั้งต้น 150 ล้านบาทในช่วงเเรกของการเปิดตัว วันนี้ Robinhood เตรียมการระดมทุนกว่า 1,000 – 3,000 ล้านบาท ในช่วงกลางปี 2565 จากนั้นตั้งเป้าจะสู่ 4,000-5,000 ล้านบาท ภายในปี 2566 เพื่อเป้าหมายการเป็นซูเปอร์แอปให้ได้ในเร็ววัน พร้อมขยายไปในตลาดอาเซียน

ธนาบอกว่า ในช่วงกลางปี 2565 Robinhood จะเริ่มโรดโชว์กับเหล่านักลงทุนเพื่อระดมทุนต่อยอดแผนธุรกิจขยายจากธุรกิจอาหารไปยังบริการอื่นๆ เน้นการบริการที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

Robinhood ตั้งเป้าว่าปีหน้าธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัทจะมีการเติบโตต่อเนื่อง เเบ่งเป็นธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ หลังขยายไปยังต่างจังหวัดจะต้องมีผู้ใช้งาน 4 ล้านบัญชี เพิ่มร้านค้าเป็น 3 แสนร้าน

ส่วนธุรกิจท่องเที่ยว ต้องมีโรงแรม ที่พัก และผู้ให้บริการทัวร์ต่าง ๆ ลงทะเบียนกับระบบ 45,000 ราย มีการจองมากกว่า 4.8 แสนครั้งโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น

บริการ Mart Service ต้องมีผู้ใช้งาน 1.5 ล้านราย และมี 8,000-10,000 ร้านค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มใด ๆ อยากมาจำหน่ายสินค้ากับ Robinhood

ส่วนธุรกิจ Express เจากลุ่มอีคอมเมิร์ซ ต้องมีลูกค้าองค์กรมากกว่า 5,000 ราย และมีการใช้บริการอย่างน้อย 4,000 ครั้งต่อเดือน

สำหรับการบุกตลาด Online Travel Agent นั้น ผู้บริหาร Robinhood มองว่าเป็นธุรกิจที่มีความท้าทายสูง การเเข่งขันสูง เเละก็มีศักยภาพสูงเช่นกัน ยิ่งในประเทศไทยที่พึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหัวใจหลัก

การผสานระหว่าง Food และ Travel น่าจะไปด้วยกันได้ดี เช่นอาจจะมีการจองโรงเเรมเเล้วเเถมโปรโมชันส่งอาหารจาก Robinhood ฟรี

ด้านรูปเเบบการการหารายด้ ยังยืนยันว่า จะมีไมีการเก็บค่า GP จากร้านอาหารโรงแรมที่เข้าร่วมบนแพลตฟอร์ม เเต่จะไปหารายได้ผ่านช่องทางอื่น อย่างการ รายได้จากค่าโฆษณา , รายได้จากการเก็บ GP ในธุรกิจ Mart Service, Express และ Non-Travel Services เเละการต่อยอดทำธุรกิจสินเชื่อ (Lending)

ยอมรับว่าปีหน้า เราก็ยังจะขาดทุนเหมือนเดิม เพราะเราไม่เก็บ GP ร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยว เเต่จะมีรายได้เข้ามาจากธุรกิจ Mart – Express ซึ่งเราจะเก็บให้น้อยที่สุดในตลาด คิดว่าจะขาดทุนไปอีกสัก 1-2 ปี เเต่สิ่งสำคัญคือการขาดทุนจะลดน้อยลงเรื่อยๆ นักลงทุนจึงจะพิจารณาจากศักยภาพในการเติบโตในอนาคตมากกว่า

 

]]>
1358288
วิเคราะห์เเนวโน้มภาคธุรกิจไทย กับการฟื้นตัวแบบ ‘K-Shape’ เมื่อวิกฤตโควิดลากยาว https://positioningmag.com/1350156 Fri, 03 Sep 2021 06:47:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1350156 การฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้เข้ากับสภาพตลาด

บทวิเคราะห์ล่าสุดของ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มีประเด็นที่น่าสนใจที่สะท้อนให้เห็น การปรับตัวธุรกิจไทยในหลากหลายเซกเตอร์ และการฟื้นตัวระยะปานกลางแบบ K-Shape

จากการศึกษาการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ มาตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ครั้งแรกในไตรมาส 2 ของปี 2563 จนถึงไตรมาส 2 ของปี 2564 ผ่านการคำนวณเป็นดัชนีรายได้ของแต่ละธุรกิจ ข้อมูลรายได้ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกว่า 500 บริษัท เทียบกับรายได้ปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโควิด-19 เป็นปีฐานเริ่มต้นเท่ากับ 100 พบว่า แต่ละธุรกิจมีการฟื้นตัวที่ต่างกัน แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ 

ธุรกิจฟื้นแล้ว (ดัชนีรายได้ > 100) เป็นธุรกิจที่ฟื้นตัว จากการได้รับอานิสงส์จากตลาดส่งออกและตลาดในประเทศดีขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ยางพารา พลังงาน เหล็กและโลหะ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน อาหารและเครื่องดื่ม

ธุรกิจกำลังฟื้น (ดัชนีรายได้อยู่ระหว่าง 60 ถึง 100) เป็นธุรกิจกำลังฟื้นตามกำลังซื้อในประเทศที่เริ่มกลับมา เช่น ค้าปลีก รับเหมาก่อสร้าง เกษตรแปรรูป ไอทีและเทเลคอม ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การแพทย์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน สินค้าอุปโภคและบริโภค เฟอร์นิเจอร์

• ธุรกิจยังไม่ฟื้น (ดัชนีรายได้ < 60) เป็นกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นและได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นภาคบริการ เช่น อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ขนส่งและโลจิสติกส์ (ขนส่งทางน้ำ และทางอากาศ) ท่องเที่ยว (โรงแรมและร้านอาหาร) และการบริการส่วนบุคคล

“ผลของการล็อกดาวน์บางส่วนตามมาตรการของรัฐ ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการในแต่ละธุรกิจลดลง” 

อย่างไรก็ตาม การเร่งฉีดวัคซีนเเละเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จะช่วยให้สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้นทำให้แต่ละธุรกิจทยอยฟื้นตัวนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เป็นต้นไป “รูปแบบการฟื้นตัวจะเป็นไปในลักษณะการทยอยฟื้นตัว และไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก” 

ธุรกิจอ่วม รายได้หด 2 ปีติดต่อกัน 

“กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น” มีความเปราะบางมากที่สุด เพราะรายได้เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด-19) มีการหดตัวมากกว่า 30% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาติดต่อกัน

โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม และร้านอาหาร รายได้ลดลง 66% และ 49% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ ได้แก่ ขนส่งทางอากาศและทางน้ำ รายได้ลดลง 84% และ 51% และกลุ่มบริการส่วนบุคคล ได้แก่ บันเทิงและการกีฬา รายได้ลดลงมากถึง 84%

สำหรับ “กลุ่มธุรกิจกำลังฟื้น” ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน เนื่องจากรายได้ใน 2 ปีที่ผ่านมาลดลง 10-30% ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวอีกครั้ง เพื่อรอคอยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อย ๆ กลับพลิกฟื้นอีกครั้ง

ttb analytics เเนะว่า สิ่งที่สามารถประคับประคองธุรกิจให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจยังไม่ฟื้นและกำลังฟื้นให้อยู่รอดในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ได้เเก่ การทำตลาดในช่องทางออนไลน์มากขึ้น การบริหารจัดการธุรกิจโดยคำนึงถึงความสะดวกของการซื้อสินค้าของผู้บริโภค และสินค้าต้องมีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และหากเป็นโรงงานและธุรกิจบริการควรพิจารณาทำ Bubble & Seal

นอกจากนี้ ควรพิจารณาเข้ารับความช่วยเหลือตามมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น การพักชำระหนี้ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร ฯลฯ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้

Photo : Shutterstock

โควิดอยู่ยาว ธุรกิจปรับตัวเพิ่มทางออนไลน์ 

หากมองออกไปใน 1-2 ปีข้างหน้า (2565-2566) แม้ว่าการระบาดของโรคโควิดมีแนวโน้มบรรเทาลง จากการเร่งฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรของโลกและในประเทศไทยมากขึ้น

แต่ทว่าโรคโควิด ก็ยังไม่หมดไปและอาจกลายพันธุ์เพิ่มเติม ทำให้การแพร่ระบาดดังกล่าวจะยังคงอยู่กับโลกต่อไปหลังจากนี้อย่างน้อย 1 ปี จนกว่าจะมีวัคซีนที่สามารถจัดการไวรัสได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้ต้องพึ่งการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรในทุกปี 

ดังนั้น ภาคธุรกิจจะยังต้องเผชิญกับความท้าทายใน 3 ด้าน ต่อไปนี้

ด้านแรก ธุรกิจยังต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิดต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่ออยู่ด้วยกันด้วยความระมัดระวัง โดยการดำเนินธุรกิจให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อในพนักงานและลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ

ด้านที่สอง ธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม การเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทย สิ่งเหล่านี้จะส่งผลทำให้ความเจริญกระจายไปหัวเมืองในเศรษฐกิจภูมิภาค การผลิตสินค้าที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลาดสินค้าสำหรับผู้สูงอายุจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และสินค้าเพื่อการส่งออกจะมีมูลค่ามากขึ้น เพราะได้รับแรงหนุนจากนโยบายส่งเสริมลงทุนภาครัฐ

ด้านสุดท้าย ธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค อาทิ การเข้าถึงผู้บริโภคจากหลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งธุรกิจต้องผสมผสานอย่างสมดุล หรือที่เรียกว่า Omni-Channel และจะต้องปรับใช้เทคโนโลยี Digital Ecosystem ที่อยู่รอบตัว เช่น E-Commerce, E-Payment, E-Transportation, Inventory Management ฯลฯ มาใช้ในธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค

“ความนิยมในสินค้าของผู้บริโภคมีหลากหลายกลุ่มมากขึ้น เพราะสามารถสืบค้นข้อมูลและเปรียบเทียบสินค้าจากสื่อออนไลน์ได้” 

ฟื้นตัวแบบ K-Shape

จากปัจจัยท้าทายทั้ง 3 ด้าน ttb analytics ประเมินว่าการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจในระยะปานกลางจะแตกต่างกัน กล่าวคือ มีธุรกิจที่ฟื้นและเติบโตดี และธุรกิจที่ไม่ฟื้นและตกต่ำต่อเนื่องจนกว่าโรคโควิดจะหมดไป หรืออยู่ในรูปแบบการฟื้นตัวแบบ K-Shape ดังนี้

  • K-Shape (ขาขึ้น) ได้แก่ ธุรกิจประเภทไอทีและเทเลคอม บริการซอฟต์แวร์ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ยานยนต์และชิ้นส่วน ร้านค้าปลีกที่มีทั้งช่องทางตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การบริการขนส่งสินค้าและการจัดการคลังสินค้า ธุรกิจการแพทย์ และอาหารสำเร็จรูป
  • K-Shape (ขาลง) ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สปา ธุรกิจบันเทิงและสันทนาการ การขนส่งผู้โดยสาร ออฟฟิศให้เช่า ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม

โดยธุรกิจ K-Shape ขาขึ้นจะมีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศและพฤติกรรมผู้บริโภค สนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านี้ฟื้นและเติบโตได้ดีต่อเนื่อง

“K-Shape ขาลง ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจบริการ จำเป็นต้องช่วยกันประคับประคองทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและลูกจ้างให้อยู่รอดใน 1-2 ปีข้างหน้า เเละจำเป็นที่รัฐต้องช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจลุกขึ้นมาให้ได้ เพื่อการฟื้นตัวในระยะต่อไป” 

 

 

 

 

]]>
1350156
KBANK หั่นเป้าจีดีพีปีนี้ เหลือเเค่ 1% ‘ล็อกดาวน์’ สะเทือนธุรกิจ-จ้างงาน ฉุดกำลังซื้อ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค https://positioningmag.com/1342512 Thu, 15 Jul 2021 08:27:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1342512 KBANK หั่นเป้าจีดีพีปี 2564 เหลือ 1.0% จากเดิมที่ 1.8% หลังการระบาดรุนเเรงกว่าที่คาดล็อกดาวน์กระทบธุรกิจจ้างงานต่อเนื่อง ฉุดกำลังซื้อความเชื่อมั่นผู้บริโภคประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติมีเเค่ 2.5-6.5 แสนคน เงินบาทอ่อนค่ายาว

“แม้มีมาตรการเยียวยา แต่ชดเชยผลกระทบเศรษฐกิจไม่ได้ ฉีดวัคซีนอาจต่ำกว่าเป้าหมาย” 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 อยู่ที่ 1.0% จากประมาณการเดิมที่ 1.8% เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มีความรุนแรงกว่าที่เคยประเมินส่งผลกระทบให้ระบบสาธารณสุขของไทยเผชิญข้อจำกัด

ความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานมีมากขึ้น และผลกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ทรุดตัวไปกว่าเดิม

ขณะที่มาตรการเยียวยาจากทางภาครัฐ คาดว่าจะช่วยประคองการดำรงชีพที่จำเป็นของประชาชนแต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวม

ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัสและจำนวนผู้ติดเชื้อที่กลับมาเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดกรอบประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 ลงมาอยู่ที่ 2.5-6.5 แสนคน จากกรอบประมาณการเดิมที่ 2.5 แสน-1.2 ล้านคน

แม้ว่าจะมีการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์และโครงการสมุย พลัส โมเดล” ก็ตาม

ส่วนแผนการเปิดประเทศในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทย จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการเร่งฉีดวัคซีนเป็นหลัก ขณะที่ในต่างประเทศก็ยังเผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ด้าน ‘เศรษฐกิจโลก’ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าที่คาด ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการส่งออกไทยปี 2564 จะขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 11.5%

ทั้งนี้ ประมาณการส่งออกนี้ได้มีการคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงเชิงลบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือที่สูงขึ้น รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดในประเทศที่อาจจะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

ทิศทาง ‘เศรษฐกิจไทย’ ในช่วงที่เหลือของปี 2564 ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่ยังคงเผชิญความเสี่ยงสูง ทั้งจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนที่อาจต่ำกว่าเป้าหมาย

หากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศยังไม่คลี่คลายลง คาดว่าภาครัฐอาจจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มีแรงส่งมากขึ้น โดยใช้งบประมาณภายใต้ พ...กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่นกัน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ในการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยแล้ว และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจขยายตัวได้ 1.0%”

บาทอ่อน รับความเสี่ยงการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย 

เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางสัญญาณความเสี่ยงที่ชัดเจนมากขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกสามที่มีแนวโน้มยากควบคุม เพราะต้องรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์

โดยเงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 15 เดือน ที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างชั่วโมงการซื้อขายในวันที่ 9 ก.ค. 64 ความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อยังเพิ่มแรงกดดันต่อสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยให้ขาดดุลมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า ปัจจัยพื้นฐานของค่าเงินบาทกำลังอ่อนแอลง พร้อมกับความเสี่ยงต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปี

โดยเงินบาท มีความเป็นไปได้ที่จะอ่อนค่าต่อเนื่องไปทดสอบระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนสิ้นปี 2564 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศยังไม่ลดระดับความเสี่ยงลงมา และเฟดสามารถเริ่มทยอยส่งสัญญาณเตรียมคุมเข้มนโยบายการเงินได้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ตามที่ตลาดประเมินไว้

อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ไม่แรง หรือเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อีกระลอก ก็อาจส่งผลทำให้ตลาดต้องกลับมาประเมินการคาดการณ์ในเรื่องจังหวะการปรับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ใหม่อีกครั้ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า และอาจช่วยหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ โดยเฉพาะหากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลง

 

]]>
1342512
เทียบฟอร์ม Flash VS Kerry ยูนิคอร์นไฟเเรงกับเเบรนด์หุ้น IPO ในสงครามขนส่ง ‘ตัดราคา’ https://positioningmag.com/1335409 Fri, 04 Jun 2021 14:34:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1335409 ธุรกิจขนส่งพัสดุ’ ในไทย เติบโตตามอีคอมเมิร์ซที่พุ่งพรวดในวิกฤตโรคระบาด เเบรนด์เล็กเเบรนด์ใหญ่ งัดสารพัดวิธีครองใจลูกค้า ทั้งทุบราคา ยกระดับบริการ ขยายสาขา เเย่งชิงพนักงาน อัดโฆษณาโหมพรีเซ็นเตอร์

ไม่กี่วันที่ผ่านมา สงครามของธุรกิจนี้ก็ดุเดือดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อน้องใหม่ค่ายสีเหลืองที่เพิ่งเปิดมาได้เพียง 3 ปีกว่าๆ อย่าง ‘Flash Express’ (แฟลช เอ็กซ์เพรส) เขย่าบัลลังก์เจ้าตลาด ด้วยการปิดระดมทุนได้ 4,700 ล้านบาท ขึ้นเเท่นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายแรกของคนไทย

ดีลนี้เป็นหมัดหนักที่สะเทือนคู่เเข่งค่ายสีส้มอย่าง ‘Kerry Express’ (เคอรี่ เอ็กซ์เพรส) ได้ไม่น้อย หลังโดนตีตื้นจนอยู่ไม่สุขมานาน ไปจนถึงสร้างความกังวลใจให้พี่บิ๊กเบอร์หนึ่งอย่างไปรษณีย์ไทย ที่ต่อไปนี้ต้องดิ้นรนหาอะไรมาสู้บ้างเพื่อไม่ให้โดนเเซงไปได้ในที่สุด

เเบรนด์เก๋าติดตลาด ปะทะ ยูนิคอร์นไฟเเรงเฟร่อ 

Kerry ดำเนินกิจการในประเทศไทยมาตั้งเเต่ปี 2549 เพิ่งระดมทุนหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อช่วงปลายปี 2563 ภายใต้ชื่อ KEX มีมูลค่าบริษัทล่าสุดอยู่ที่ราว 75,000 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 13,565.35 ล้านบาท กำไรสุทธิ  1,185.10 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 19,894.60 ล้านบาท กำไรสุทธิ  1,328.55 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 19,010.05  ล้านบาท กำไรสุทธิ  1,405.02 ล้านบาท

ส่วน Flash เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ยังไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาด ก่อตั้งเมื่อปี 2560 เพิ่งระดมทุนซีรีส์ D และ E ได้สำเร็จ เป็นยูนิคอร์นที่มีมูลค่ากิจการเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 31,000 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 47 ล้านบาท ขาดทุน 183 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 2,123 ล้านบาท ขาดทุน 1,666 ล้านบาท
ปี 2563 ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เเต่จากข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุว่า บริษัทมียอดส่งรวมทั้งปี 2563 มากกว่า 300 ล้านชิ้น หรือเติบโตขึ้นกว่า 500% ทำให้คาดว่าจะมีรายได้รวมจะเยอะขึ้นหลายเท่าตัว

ดังนั้น Kerry จึงมีมูลค่าบริษัทมากกว่า Flash กว่าสองเท่า เเต่ตอนนี้กำลังประสบภาวะราคาหุ้นขาลง(วันที่ 4 มิ.ย. อยู่ที่ราว 40 บาท) ผลประกอบการยังทำกำไรสุทธิในช่วงโควิด-19 ได้เพิ่มขึ้น เเต่ในส่วนรายได้ลดลง จากการปรับราคาต่อพัสดุเชิงรุกและการเจาะกลุ่มตลาดจัดส่งราคาประหยัด ชี้ให้เห็นสัญญาณการเเข่งขันในตลาดที่คู่เเข่งกำลังไล่เบียดมาติดๆ

ส่วน Flash กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น’ รายได้พุ่งสูงเเต่ยังขาดทุน ตามเเบบฉบับของสตาร์ทอัพที่ต้องเผาเงินเพื่อเอาฐานลูกค้า โดยมีจุดเเข็งคือการเป็น ‘ดาวรุ่งเนื้อหอม’ ที่มีผู้สนับสนุนเป็นบริษัทระดับท็อปของไทย ต่างมุ่งหวังผลักดัน ยูนิคอร์นตัวนี้ให้มีอนาคตไกล

ชิงเเต้มต่อ ‘เเบ็กอัพใหญ่’ 

คมสันต์ แซ่ลีซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Flash Express ยืนยันว่า ธุรกิจของเขาเป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งและดำเนินงานโดยคนไทยไม่ใช่กลุ่มทุนต่างชาติเเม้ช่วงเเรกๆ จะมีกลุ่มทุนจากจีนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย เเต่ในการระดมทุนซีรีส์ D และ E เป็นนักลงทุนจากไทยมากขึ้น

เมื่อพูดถึงเเบ็กอัพของ Flash ก็ต้องบอกว่าเป็นบริษัททุนหนาที่มีเงินลงทุนในมือหลายหมื่นล้าน มุ่งหา New Business เพื่อขยายเครือข่ายธุรกิจเดิม หลีกหนีการถูกดิสรัปต์ในยุคใหม่

เริ่มจาก SCB 10X บริษัทลูกของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ปลุกปั้นขึ้นมาเพื่อพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีเเละลงทุนในธุรกิจใหม่ มีเป้าหมายลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วโลก การมีส่วนสร้างยูนิคอร์นในไทยคือหนึ่งในภารกิจหลัก ซึ่งการได้ Flash มาเป็นลูกรัก ก็คงจะได้เห็นการต่อยอดร่วมกันอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะบริการทางการเงิน 

ถัดมาคือบิ๊กพลังงานอย่าง OR บริษัทลูกของ ปตท. ที่เพิ่งขายหุ้น IPO สูงสุดเป็นประวัติการณ์ การจับมือกับ Flash จะช่วยขยายอีโคซีสเต็มได้ดี ทำให้ปั๊มน้ำมันที่มีอยู่ทั่วประเทศมาเป็นศูนย์กระจายสินค้าเเละจุดรับส่งพัสดุภายในร้าน Café Amazon เป็นการเพิ่มทราฟฟิกลูกค้าไปในตัว รวมไปถึงการบริการน้ำมันให้กับรถขนส่งของ Flash ที่มีมากกว่าหมื่นคัน

นอกจากนี้ยังมีกรุงศรีฟินโนเวตในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) อีกเเบงก์ที่มอบทุนก้อนใหญ่ให้สตาร์ทอัพ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง E-commerce Ecosystem ที่สมบูรณ์ในเมืองไทยร่วมกัน เเละ Durbell ธุรกิจกระจายสินค้าในเครือกลุ่ม TCP เจ้าของเครื่องดื่มกระทิงแดง สปอนเซอร์ ฯลฯ ที่มาช่วยเสริมเเกร่งกันในด้านโลจิสติกส์ให้พร้อมขยายต่อไปในอาเซียน

ส่วน Kerry Express มีบริษัท เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ถือหุ้นใหญ่ ตามมาด้วย บมจ. วีจีไอ (บริษัทที่แยกออกมาจาก BTS) เเละกัลฟ์ โฮลดิ้งส์ โดย Kerry ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญที่ทำกำไรให้กับเครือ BTS 

สงคราม ‘ตัดราคา’ เปิดสาขาที่ไหน…ไปด้วย 

Kerry Express บุกเบิกตลาดขนส่งพัสดุโดยเอกชนรายเเรก เป็นช่วงโอกาสธุรกิจที่ไปรษณีย์ไทย ณ ขณะนั้น ยังไม่ทรานส์ฟอร์มองค์กร ประเดิมด้วยการจัดส่งแบบ ‘Next Day’ เเละเป็นเจ้าแรกที่ให้บริการรับชำระเงินปลายทาง 

ผู้บริหาร Kerry เคยให้สัมภาษณ์กับ Positioning ว่าต้องการขยายจุดส่งพัสดุให้เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด จากตอนนี้ที่มีจุดให้บริการตามถนนสายหลักต่อไปจะเข้าไปหาลูกค้าตามซอกซอยให้ได้

ทั้งนี้ จุดให้บริการราว 15,000 ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศนั้น เป็นสาขาที่เคอรี่ดำเนินการเองราว 2,000 เเห่ง เป็นการจับมือกับพันธมิตรอีก 3,000 เเห่ง เเละที่เหลืออีกกว่า 1 หมื่นเเห่งเป็นสาขาของ SME รายย่อย มีจำนวนรถรับส่งพัสดุราว 25,000 คัน มียอดจัดส่งราว 1.9 ล้านชิ้นต่อวันทำการ ส่วนในไตรมาส 1/64 ปริมาณพัสดุเพิ่มสูงขึ้น 13% (หากเทียบกับไตรมาส 1/63)

เมื่อถามถึงการเเข่งขันด้านราคาที่หลายคนมองว่า Kerry อาจจะมีค่าบริการที่สูงกว่าเจ้าอื่นในตลาดนั้น ผู้บริหารตอบว่า บริษัทมีการดูเเลเรื่องนี้โดยตลอด เช่นการจัดเรตราคาตามหมวดหมู่ของสินค้า โดยอยากให้ผู้บริโภคเห็นถึงคุณภาพในการจัดส่งว่ามีความชัวร์เเละคุ้มค่า ในราคาที่ไม่เเพงไปกว่ากันมากนัก 

ท่ามกลางคู่แข่งที่เต็มไปหมด การบริการขยับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ Kerry ไม่อาจดำเนินกลยุทธ์เเบบที่เคยทำสมัยบุกเบิกตลาดได้ จึงต้องหาลูกเล่นใหม่ๆ มาทดลองตลาด อย่างการสร้างแบรนด์ให้เป็น Lifestyle & Creative Logistics ขณะที่บริษัทหน้าใหม่ๆ เน้นใช้การ ‘ตัดราคาเป็นตัวนำในการเจาะธุรกิจนี้

Flash Express ก็ใช้กลยุทธ์เรื่องราคา มาจับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ต้องการลดต้นทุนการส่ง ด้วยการเป็นเจ้าเเรกที่ ‘รับพัสดุฟรีถึงที่ตั้งแต่ชิ้นแรก ให้บริการ 365 วันไม่หยุด’ ไม่ว่าลูกค้าจะส่งที่ช็อป หรือเรียกให้ไปรับ ค่าบริการไม่บวกเพิ่ม โดยในปี 2564 บริษัทมีจำนวนพัสดุเฉลี่ยต่อวันประมาณ 2 ล้านชิ้น เติบโตจากเดิมที่มียอดส่งพัสดุเฉลี่ยอยู่ 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน

ตลาดขนส่งพัสดุในปีนี้ยังจะมีการแข่งขันกันใน 3 เรื่องหลัก คือ ราคา คุณภาพ และความคุ้มค่าในการให้บริการ ซึ่งน่าจะเป็น 3 เรื่องหลักที่ผู้เล่นทุกรายในตลาดยังคงต้องโฟกัส รวมไปถึงเรื่องความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้าซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องการที่สุด

เเละตอนนี้ไม่ใช่เเค่คู่ปรับอย่าง Kerry เเละ Flash เท่านั้น ขนส่งเอกชนยังต้องสู้กับ J&T Express , Nim Express , SCG Express , Ninja Van เเละเจ้าอื่นๆ ที่พร้อมตัดราคากันเพื่อเเย่งลูกค้า ไม่เว้นเเม้เเต่ไปรษณีย์ไทย โดยมีราคาเริ่มต้นที่ราว 18-30 บาท

ส่วนใครขยายสาขาไปที่ไหน ก็พร้อมเฮตามกันไปที่นั่น เราจึงได้เห็นร้านข้างๆ กันที่มีทั้งค่ายสีส้ม สีเหลือง สีเเดง ฯลฯ โดยเริ่มขยายเป็นโมเดลแฟรนไชส์ ธุรกิจ Drop-Off มากขึ้น เพราะบริษัทเจ้าของเเบรนด์ไม่ต้องใช้เงินทุนมากนัก

ขณะเดียวกัน Lazada เเละ Shopee ก็เป็นสองคู่เเข่งที่น่ากลัว เมื่อเจ้าของอีมาร์เก็ตเพลส ลงสนามมาเล่นธุรกิจขนส่งด้วยตัวเอง ดังนั้นก็มีเเนวโน้มที่จะ ‘จัดสรรพัสดุ’ ที่สั่งในเเพลตฟอร์มตัวเองมา ‘ส่งเอง’ ได้ด้วย

สตอรี่ ‘นักสู้’ กลายมาเป็นอีกหนึ่งจุดขาย 

ที่ผ่านมาธุรกิจโลจิสติกส์มักเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์มาเพื่อสื่อสารเเบรนด์ เน้นเป็นพระเอกดังที่ผู้คนรู้จักกันดี มีคาเเร็กเตอร์เป็นสายลุย น่าเชื่อถือ อย่าง Kerry Express ที่เลือกเวียร์ศุกลวัฒน์ คณารศ , Flash Express ที่เลือก ติ๊กเจษฎาภรณ์ ผลดี , BEST Express ขนส่งสัญชาติจีนที่เลือก ณเดชน์ คูกิมิยะ หรือ J&T Express ที่เลือกมาริโอ้ เมาเร่อ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์

ตอนนี้มีกิมมิกเล็กๆ เเต่น่าสนใจคือชีวิตของซีอีโอก็มาเป็นจุดขายของเเบรนด์ได้เหมือนกัน อย่างเรื่องราวการสู้ชีวิตของคมสันต์ แซ่ลีนักธุรกิจหนุ่มวัย 29 ปี จากดอยวาวี จังหวัดเชียงราย ผู้ก่อตั้ง Flash Express ด้วยคาเเร็กเตอร์ ‘กล้าคิด กล้าทำ มุ่งมั่น’

การเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถปั้นธุรกิจ 3 ปีกว่าๆ ให้โตไปถึงระดับเป็นยูนิคอร์น กลายเป็นเเรงบันดาลใจให้ใครหลายคน สร้างการรับรู้เเละภาพจำให้คนรู้จักเเบรนด์มากขึ้น นอกจากนี้ ทักษะการนำเสนอที่ดี ความฉลาดเเละการสู้ไม่ถอย ก็มีส่วนที่ทำให้ผู้ลงทุนเชื่อมั่นและยอมให้เงินลงทุนด้วย

เเต่สงครามธุรกิจขนส่งพัสดุยังต้องสู้กันอีกยาวไกล นี่จึงเป็นเเค่การเเข่งขันยกใหม่ พร้อมเงินทุนก้อนใหม่เท่านั้น…ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็ต้องติดตามกันต่อไป

 

 

 

]]>
1335409
จัดการเงิน ‘กงสี’ ยุคใหม่อย่างไร ? KBank ปรับทิศทางบริหารพอร์ตครอบครัวเศรษฐี 1.2 แสนล้าน  https://positioningmag.com/1333029 Thu, 20 May 2021 13:28:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333029 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไทย ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจครอบครัวหรือที่เรามักเรียกว่า ‘ธุรกิจกงสีคิดเป็นรายได้กว่า 80% ของจีดีพี มูลค่ารวมกว่า 3 เเสนล้านบาท

ปัจจัยเร่งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงด้านสุขภาพจากโรคระบาด ทำให้ครอบครัวผู้มีสินทรัพย์สูง เริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบเเละให้ทายาทรุ่นถัดไปเข้ามาจัดการธุรกิจเร็วขึ้น 

เหล่านี้ ทำให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว (Family Wealth Planning Service) ได้รับความสนใจจากลูกค้ามั่งคั่ง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า กว่า 3 ใน 4 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นธุรกิจครอบครัว

จากสถิติพบว่า 75% เป็นธุรกิจครอบครัวไทย ที่อยู่ในการบริหารของรุ่นที่ 2 และมีเพียง 4% เท่านั้น ที่อยู่ในการบริหารของรุ่นที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่ ยังจัดตั้งมาไม่นานและกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในการเริ่มวางแผนเพื่อบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

จากผลสำรวจของ Lombard Odier พบว่า 45% ของครอบครัวที่ยังไม่ได้จัดทำธรรมาภิบาลของครอบครัวมีความสนใจที่จะเริ่มวางแผนบริหารทรัพย์สินครอบครัวในอนาคต 

ขณะเดียวกัน PWC Family Business Survey 2019 พบว่า 64% ของธุรกิจครอบครัวยังไม่ได้เตรียมการรับมือกับการวางแผนการส่งต่อธุรกิจ รวมทั้งเรื่อง Technology Disruption

หลายธุรกิจต้องเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ทำให้ต้องเร่งปรับตัวเข้ากับ ‘New Economy’ ที่จะเปลี่ยนเเปลงไปหลังผ่านวิกฤต เป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่จะต้องเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เเละผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ เข้ามา โดยไม่ต้องรอให้ถึงการส่งต่อสู่รุ่นที่ 3-4

Photo : Shutterstock

ความท้าทายของ ‘กงสี’ ในธุรกิจยุคใหม่ 

พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Chief – Wealth Planning, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อมูลว่า ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ ยังคงเน้นไปที่การขยายธุรกิจมากกว่าการวางแผนและจัดการอย่างเป็นระบบ

โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการล่มสลายของธุรกิจครอบครัว มาจากหลายสาเหตุ เช่น ความขัดเเย้งของสมาชิก การบริหารที่ไม่เป็นระบบ การไม่มีเเผนส่งต่อธุรกิจให้ทายาท

ธุรกิจครอบครัวไทย จึงมีความท้าทายและมีความต้องการที่คล้ายคลึงกัน 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

1) มองหาความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการความเสี่ยง จากการดำเนินธุรกิจและการถือครองทรัพย์สิน โดยเฉพาะการวางแผนด้านภาษีเเละต้นทุนทางภาษีที่ต้องแบกรับ

ปัจจัยเร่งสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศเพื่อการเก็บภาษีที่เข้มงวดขึ้น อย่างกฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) ของสหรัฐอเมริกา หรือระบบ Common Reporting Standard 

2) บริหารจัดการระบบกงสีแบบดั้งเดิมมีความท้าทายมากขึ้นในบริบทปัจจุบัน

ความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมในการตัดสินใจเป็นหลัก หลายครอบครัวจึงเร่งปรับกติกาของกงสีให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ของครอบครัว เช่น การจัดตั้งโครงสร้างที่เป็นระบบโดยใช้กลุ่มบริษัทโฮลดิ้งของครอบครัว หรือการใช้ทรัสต์ที่จัดตั้งในต่างประเทศ เพื่อจัดเก็บและบริหารจัดการกงสีอย่างยั่งยืน

พร้อมทั้งวางแผนการด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน เช่น ในกรณีที่สมาชิกคนใดประสบปัญหาด้านการเงินส่วนตัว ยังมีทรัพย์ที่ได้รับจากกองทรัสต์ เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวต่อไป รวมถึงระบบสวัสดิการสำหรับสมาชิกในครอบครัวได้อีก

3) ทัศนคติและเป้าหมายที่แตกต่างกันของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะทายาทรุ่นที่ 2 และ 3 ที่มีโอกาสได้ไปศึกษาและใช้ชีวิตในต่างประเทศ แนวความคิดใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านได้

สิ่งที่สำคัญที่แนะนำแก่ลูกค้าคือ การเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่และการเปิดให้พวกเขามีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องสำคัญ ส่วนการวางกติกาครอบครัวที่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทุกรุ่น ก็มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยคนกลางที่มีประสบการณ์ในการวางแผนอย่างมีระบบ

จับทางพอร์ตครอบครัวเศรษฐี 1.2 แสนล้าน 

ปัจจุบัน KBank Private Banking ให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวแก่ลูกค้ามาเเล้วทั้งสิ้น 3,600 ราย คิดเป็น 720 ครอบครัว ครอบคลุมทรัพย์สินครอบครัว มีธุรกิจและที่ดินรวมมูลค่าราว 1.2 แสนล้านบาท ชี้ให้เห็นโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก

เราตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีจะให้บริการแก่ลูกค้าอย่างน้อย 6,000 ครอบครัว หรือประมาณ 50% ของพอร์ตจากตอนนี้ที่ให้บริการลูกค้า Family Wealth Planning ไปแล้วประมาณ 32%” 

ปัจจุบัน KBank Private Banking มีจำนวนลูกค้ารวมประมาณ 12,000 ราย สินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมดประมาณ 8 แสนล้านบาท

KBank Private Banking วางกลยุทธ์ใหม่เพื่อยกระดับบริการทั้งในด้านกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบติดตามผล ช่วยให้ครอบครัวสามารถวางแผนและดำเนินการบริหารสินทรัพย์ได้อย่างเป็นขั้นตอนและต่อเนื่อง

ต้องมีเตรียมเสริมบริการในด้านการทำสาธารณกุศลของครอบครัว และการอำนวยความสะดวกในเรื่องบริการสำนักงานครอบครัวด้วย

โดยปัจจุบันมีบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่ 

  • การจัดโครงสร้างการถือครองทรัพย์สินของครอบครัว (Asset Holding Structures)  
  • การบริหารความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของครอบครัว (Financial Asset, Liability and Risk Management)
  • การสร้างกติกาของครอบครัวและการสืบทอดธุรกิจ อย่างเป็นระบบ (Family Continuity Planning)  
  • การวางแผนการส่งต่อทรัพย์สินจากรุ่นสู่รุ่น (Inheritance and Wealth Transfer)  
  • การทำสาธารณกุศล (Philanthropy)
  • การทำหน้าที่เป็นสำนักงานของครอบครัว (Family Office)  

โดยความยากง่ายของบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ก็ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของครอบครัวนั้นๆ รวมไปถึงโครงสร้างของธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่ธุรกิจนั้นอยู่ด้วย

ในช่วงที่ผ่านมา ครอบครัวระดับมหาเศรษฐีที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด-19 อย่างกลุ่มโรงแรมท่องเที่ยว ยังมีสายป่านยาวพอจะประคับประคองธุรกิจไปได้ ในบางธุรกิจก็ใช้ช่วงนี้กลับมาปรับปรุง เปลี่ยนเเปลงเเละหันมาดูแลระบบโครงสร้างภายในของธุรกิจตนเองมากขึ้น

บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ต้องใช้เวลาและความละเอียดในการกำหนดแผนการและข้อกำหนดของแต่ละครอบครัว เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่สมาชิกในครอบครัวทุกรุ่นทุกคน เห็นพ้องต้องกัน

 

]]>
1333029
ตำนาน ‘เจ้าสัว’ ข้าวตังพันล้านจากโคราช รีแบรนด์สลัดภาพ ‘ของฝาก’ สู่ตลาดสแน็ก https://positioningmag.com/1323010 Thu, 18 Mar 2021 11:14:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1323010 ย้อนกลับไปเมื่อปี 2501 บ้านหลังเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองโคราช เริ่มทำหมูหยอง หมูแผ่น กุนเชียง ส่งขายในท้องถิ่นจนเป็นที่เลื่องลือในรสชาติ ได้โอกาสขยายกิจการต่อ ด้วยการเปิดร้านขายของฝากในชื่อว่าเตียหงี่เฮียง

จากความอร่อยที่บอกเล่าปากต่อปาก ทำให้สินค้าของเตียหงี่เฮียง กลายเป็นของเด็ดที่เหล่านักท่องเที่ยวและผู้สัญจรไปมาต้องแวะซื้อ

หลายปีผ่านไป แม้กิจการร้านขายของฝากจะไปได้สวย แต่ก็เริ่มมีคู่เเข่งทำผลิตภัณฑ์เดียวกันออกมา ทำให้ทายาทรุ่นสองต้องคิดหา ‘เมนูชูโรง’ เพื่อสร้างความแตกต่าง จึงนำมาสู่การเปิดตัวข้าวตังหมูหยอง ขึ้นในปี 2531 และเริ่มขยายตลาดไปวางขายในหลายจังหวัด รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศด้วย

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเตียหงี่เฮียงกลายเป็นชื่อจดจำได้ยากและดูไม่ทันสมัย ทางครอบครัวจึงตกลงกันเปลี่ยนชื่อใหม่ให้จำง่ายและคุ้นหูกันมากขึ้น โดยใช้ชื่อแบรนด์ใหม่นี้ว่าเจ้าสัวนับตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา

และวันนี้เจ้าสัวการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัวครั้งสำคัญก็มาเยือนอีกครั้ง ภายใต้การนำของทายาทรุ่นสาม กับการรีแบรนด์ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เปลี่ยนภาพลักษณ์ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ขยายสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น พร้อมใช้พรีเซ็นเตอร์ครั้งแรกในรอบ 63 ปี 

ก้าวออกจาก ‘ของฝาก’ สู่ตลาดสแน็ก

ณภัทร โมรินทร์’ หรือ กิ๊ฟ เริ่มเรียนรู้การทำงานในกิจการของครอบครัว มามากกว่า 10 ปี จากฝ่ายเซลส์ก้าวขึ้นมากุมบังเหียนเป็นซีอีโอ แบรนด์เจ้าสัวท่ามกลางความท้าทาย หลังธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด

เธอยอมรับว่า การที่ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวน้อยลงนั้นมีผลต่อการวางแผนธุรกิจใหม่ในครั้งนี้ไม่น้อย แต่ก็ทำให้รู้ว่าทิศทางต่อไปของ แบรนด์เจ้าสัวจะไม่เป็นแค่ร้านขายของฝากที่รอให้คนมาซื้ออีกต่อไป แต่จะต้องเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

จากไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เร่งรีบ แข่งกับเวลา และคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น แม้จะเป็นอาหารทานเล่นหรือของขบเคี้ยวก็ตาม อีกทั้งตลาดในไทยยังมีของว่างทานเล่น ประเภทเนื้อสัตว์แปรรูป’ ที่อร่อยและมีประโยชน์ทางสารอาหาร สามารถทานรองท้องระหว่างมื้อได้ ‘ไม่มากนัก’ 

จึงเป็นช่องว่างตลาดที่เจ้าสัวจะปรับภาพลักษณ์ใหม่ จากสินค้าของฝากสู่สินค้าอาหารที่ทานได้ทุกวัน ในรูปแบบสแน็ก และ Ready to eat และ Ready to cook meal ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มองหาของว่างเพื่อรองท้อง รวมไปถึงอาหารที่สามารถปรุงง่าย ๆ หรือพร้อมทานได้ที่บ้าน ช่วยประหยัดเวลา และดีต่อสุขภาพ

ณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เตีย หงี่ เฮียง จำกัด เจ้าของแบรนด์เจ้าสัว

นอกจากนี้ ยังมองเห็นโอกาสของตลาดสแน็กในประเทศไทย ที่มีมูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านบาท เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเจาะลึกลงไปในกลุ่มสแน็ก ที่เป็น Meat หรือเนื้อสัตว์นั้น กลับมีมูลค่ารวมตอนนี้เพียง 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น และผู้ประกอบการคู่แข่งยังน้อยจึงมองว่าเป็นโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก

ทั้งนี้ กลุ่มสแน็กที่เป็นเนื้อสัตว์ ตอนนี้มีแบรนด์อองเทร่ของเจ้าใหญ่อย่าง ส. ขอนแก่นครองตลาดอยู่

เบรกขยายสาขา หันมาบุกโมเดิร์นเทรด’

ในปี 2563 ที่ผ่านมา แม้นักท่องเที่ยวจะหายไปอย่างมาก แต่จากการที่แบรนด์ได้ ปรับกลยุทธ์รองรับ โดยเฉพาะการขยายช่องทางจำหน่าย จากเดิมที่เน้นเพิ่มสาขา เปลี่ยนมาเป็นบุกโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำต่างๆ ทำให้ยอดขายรวมของปีที่แล้วเติบโต 15% และมีรายได้รวมเกินหลักพันล้านบาทเป็นครั้งแรก

ปีนี้เราตั้งเป้าจะเติบโตถึง 30% จากการรุกตลาดขนมขบเคี้ยวเต็มตัว ทำตลาดทุกช่องทางเพื่อปั้นแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้ทันสมัย พกพาง่าย ออกสินค้าเละปรับราคาใหม่ ให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยเน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มากที่สุด

ปัจจุบันร้านของฝากเจ้าสัว  มีจำนวนกว่า 100 สาขา แบ่งเป็นร้านค้าของตัวเอง (Stand Alone) ประมาณ 14 สาขา และแฟรนไชส์ 80 กว่าสาขา กระจายอยู่ในปั๊มนำ้มันปตท. ทั่วประเทศ พร้อมช่องทางออนไลน์ในหลายแพลตฟอร์ม ทั้งโซเชียลมีเดียและมาร์เก็ตเพลส โดยมีผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่มไลน์โปรดักต์ ได้แก่ 

กลุ่มขนมทานเล่น สัดส่วนรายได้ 50% 

ของว่างรองท้อง ได้แก่ ข้าวตัง, ข้าวแต๋น ราคาตั้งแต่ 20-60 บาท

ของว่างทานเพลิน ได้แก่ หมูแผ่นกรอบ, หมูแท่งกรอบ และหมูทุบ ราคาตั้งแต่ 30-110 บาท

กลุ่มอาหาร สัดส่วนรายได้ 50%

อาหารพร้อมปรุง ได้แก่ กุนเชียง, หมูยอ, แหนม และไส้กรอกอีสาน ราคาตั้งแต่ 39-209 บาท

อาหารพร้อมรับประทาน ได้แก่ หมูหยอง, หมูแผ่นใหญ่

สำหรับสินค้าขายดีที่สุดของแบรนด์เจ้าสัวก็คือเบอร์หนึ่งอย่างข้าวตังตามมาด้วย หมูหยองและหมูแผ่น

ด้านการส่งออกไปต่างประเทศจะเน้นไปที่ตลาดเอเชียเป็นหลัก เช่น ฮ่องกง จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ฯลฯ ขณะที่ตลาดในยุโรปนั้น ยังติดข้อจำกัดด้านการนำเข้าสินค้าที่ทำจากเนื้อหมู จึงจะหันไปเน้นส่งสินค้ากลุ่มธัญพืชอบกรอบไปทำตลาดแทน

เมื่อถามถึงผลิตภัณฑ์อาหารเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช หรือ Plant-based ที่กำลังเทรนด์อาหารแห่งอนาคต ที่มีผู้ผลิตอาหารหลายเจ้าลงมาเล่นในตลาดนี้ ผู้บริหารแบรนด์เจ้าสัว ตอบว่ามีแผนการจะพัฒนากลุ่มสินค้า Plant-based ในเร็วๆ นี้

ทุ่ม 100 ล้าน พลิกโฉมใหม่รอบ 63 ปี

สิริณัฏฐ์ ชญาน์นันท์ กรรมการผู้จัดการ แบรนด์เจ้าสัว บอกว่า ตลอดทั้งปี 2564 บริษัทตั้งงบประมาณไว้ถึง 100 ล้านบาท เพื่อลุยทำการตลาดและขยับขยายธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ที่สุด ไม่เคยทำขนาดนี้มาก่อน นับตั้งแต่เปิดกิจการมากว่า 63 ปี

โดยจะสื่อสารรอบด้านทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งโปรโมตผ่านหนังโฆษณาถึง 3 เรื่องในปีนี้

จากแผนการโฟกัสไปที่กลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ และครอบครัวสมัยใหม่ จึงเป็นที่มาของการเลือกครอบครัวของ ลีเดีย ศรัณย์รัชต์แมทธิว น้องดีแลนและน้องเดมี่ ดีน มาเป็นพรีเซ็นเตอร์เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่อบอุ่น เข้าถึงง่าย ทันสมัยและใส่ใจในสุขภาพ

“แบรนด์เจ้าสัวเป็นแบรนด์ที่มีลูกค้าคนไทยเป็นหลัก แต่ในอนาคต หลังการท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาปกติ เราก็หวังจะเป็นแบรนด์ที่ชาวต่างชาติหิ้วกลับบ้าน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน

สำหรับกลยุทธ์หลัก ๆ ที่จะนำพาให้แบรนด์เจ้าสัวเติบโตได้แบบก้าวกระโดดในช่วง 3-5 ปีนี้ สิริณัฏฐ์ สรุปให้ฟังว่า

  1. ปั้นแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ผ่านการใช้พรีเซ็นเตอร์ การไปอยู่ในสายตาของผู้บริโภคในช่องทางต่างๆ ทั้ง
    โซเชียลมีเดียและสื่อนอกบ้าน
  2. ออกสินค้าให้หลากหลาย โดยตั้งเป้าจะจะมีสินค้าใหม่ 8-10 ตัวต่อปี เพิ่มปัจจุบันที่มีอยู่ราว 300 SKU พร้อมกับปรับไซส์และราคา ให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นด้วย
  3. ขยายช่องทางการขายเพิ่มขึ้น เน้นเข้าไปกระจายในโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วย โดยปีนี้จะไม่มีการขยายสาขาเพิ่มในประเทศไทย แต่จะมีการเจรจากับพาร์ตเนอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหาโอกาสขยายตลาดในอาเซียนมากขึ้น
  4. ลงทุนขยายโรงงานแห่งใหม่ ในพื้นที่เดิมที่จังหวัดนครราชสีมา นำเครื่องจักรมาใช้มากขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังผลิตมากขึ้นอีก 40% รวมถึงทุ่มงบในระบบหลังบ้านเพื่อให้ทันยุคดิจิทัล

ต้องจับตาดูว่าการรีแบรนด์ของเจ้าสัว จากของฝากท้องถิ่น สู่ตลาดอาหารพร้อมทานอยู่ใกล้ๆ ในชีวิตประจำวัน จะสร้างอิมแพคในใจผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน

 

]]>
1323010