ลงทุนต่างประเทศ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 10 Sep 2024 10:06:31 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 แหวกหลังม่านการลงทุน 10 ปีของ “ศุภาลัย” ใน “ออสเตรเลีย” เกิดอะไรขึ้นบ้าง? https://positioningmag.com/1489338 Tue, 10 Sep 2024 10:06:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1489338 “ศุภาลัย” เริ่มนับหนึ่งการลงทุนใน “ออสเตรเลีย” เมื่อปี 2557 ก่อนจะเติบโตเพิ่มการลงทุนสะสม 12 โครงการ มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท หลังครบรอบหนึ่งทศวรรษ Positioning ชวนไปเจาะลึกหลังม่านการเดินทางของศุภาลัยในแดนจิงโจ้ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง และได้ผลตอบแทนที่ดีตามเป้าหมายหรือไม่

“เมื่อ 10 ปีก่อนคุณประทีป (ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศุภาลัย) สนใจการลงทุนในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงจากเมืองไทย ตอนแรกเราให้ความสนใจเมียนมาก่อน ก่อนที่จะได้เจอวาณิชธนากรจาก Gersh Investment ที่เข้ามาแนะนำว่า ‘ไปลงทุนในออสเตรเลียกับเขาไม่ดีกว่าเหรอ?’ ซึ่งปรากฏต่อมาว่านั่นคือการตัดสินใจที่ถูกต้องที่เราเบนเข็มจากเมียนมามาเป็นออสเตรเลีย” ดร.ประศาสน์ ตั้งมติธรรม Director of Supalai Australia Holdings Pty Ltd กล่าว

วาณิชธนกรผู้นั้นคือ “โจเซฟ เกิร์ช” Executive Chairman ของ Gersh Investment Partners Limited ที่เข้ามาเจรจากับ ดร.ประศาสน์ ด้วยตนเองถึงโรงแรม เดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ และกลายเป็นที่ปรึกษาการลงทุนคนสำคัญที่ช่วย ‘สร้างดีล’ จับคู่ระหว่างศุภาลัยกับพาร์ทเนอร์นักพัฒนาจัดสรรท้องถิ่นในออสเตรเลีย

“โจเซฟ เกิร์ช” Executive Chairman ของ Gersh Investment Partners Limited

“เดือนกันยายน 2556 ทีมงานศุภาลัยเดินทางไปดูทำเลที่ออสเตรเลียเป็นครั้งแรก ก่อนจะเริ่มลงทุนจริงในเดือนตุลาคม 2557” ดร.ประศาสน์เล่าย้อนความหลัง

โจเซฟ เกิร์ชอธิบายความน่าสนใจของตลาดอสังหาริมทรัพย์ “ออสเตรเลีย” ที่โน้มน้าวให้ศุภาลัยมาลงทุนได้ เป็นเพราะตลาดนี้ปกติซัพพลายที่อยู่อาศัยมักจะไม่เพียงพออยู่เสมอ ดีมานด์สูงกว่าซัพพลายเพราะมีผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียจำนวนมาก รวมถึงภาคอสังหาฯ ออสซี่เองมีลักษณะที่พึ่งพิงเงินทุนต่างชาติทั้งจากสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย จึงไม่แปลกหากทุนไทยจะเข้าไปบ้าง

“อธิป พีชานนท์” Director of Supalai Australia Holdings Pty Ltd เสริมว่า ความต้องการหลักของบริษัทพัฒนาจัดสรรในออสเตรเลียคือต้องการ ‘เงินทุน’ เพราะการขอกู้สินเชื่อธนาคารออสซี่เพื่อสร้างโครงการ (พรีไฟแนนซ์) ค่อนข้างเข้มงวดมากและดอกเบี้ยสูง ขณะที่กลไกการออกหุ้นกู้ก็เข้มงวดเช่นกัน ทำให้ทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่งคือการร่วมทุนกับทุนต่างชาติ เป็นโอกาสให้ “ศุภาลัย” เข้ามาเจรจา

 

เป้าหมาย IRR 16-18%

ปัจจุบันศุภาลัยร่วมลงทุนกับบริษัทออสเตรเลียรวมทั้งหมด 6 ราย กระจายอยู่ใน 12 โครงการจัดสรร มูลค่าโครงการเฉพาะในส่วนที่ศุภาลัยถือหุ้นมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท

โครงการ Katalia เมืองเมลเบิร์น โดยร่วมทุนกับ Stockland ที่ดินขนาด 559 ไร่ พัฒนาเป็นที่ดินจัดสรรขายแปลงละ 7.47 – 9.24 ล้านบาท

โครงการส่วนใหญ่ที่ศุภาลัยลงทุนมักจะเป็นที่อยู่อาศัยระดับกลางบนขึ้นไปจนถึงไฮเอนด์ กระจายไปใน 4 เมืองหลัก และมีทุกรูปแบบทั้งที่ดินจัดสรร ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม (*ชาวออสซี่หากจะซื้อบ้านเดี่ยวมักจะซื้อแปลงที่ดินจัดสรรและเลือกผู้รับเหมามาสร้างบ้านเอง ไม่นิยมบ้านเดี่ยวสำเร็จรูป)

อธิปกล่าวว่า วิธีการลงทุนของศุภาลัยไม่ได้เลือกบริษัทจัดสรรเจ้าใดเป็นพิเศษ แต่จะเลือกพิจารณาเป็นรายโครงการมากกว่า โดยเน้นที่ผลตอบแทนการลงทุน ในช่วงแรกๆ ที่เข้าลงทุนออสเตรเลียระบุต้องการ IRR (อัตราผลตอบแทนภายใน) ไม่ต่ำกว่า 18% ส่วนช่วงนี้ลดเกณฑ์ลงมาเหลือ IRR 16% ขึ้นไป เพราะตลาดอสังหาฯ ออสเตรเลียอยู่ในช่วงผันผวน

ศุภาลัย ออสเตรเลีย
โครงการ Arcadia Officer ซึ่งร่วมทุนกับ Satterley Property Group ที่ดินขนาด 814 ไร่ พัฒนาเป็นที่ดินจัดสรร ราคาขาย 4.63 – 13.63 ล้านบาทต่อแปลง ปัจจุบันขายไปแล้ว 96%

หลังลงทุนมา 12 โครงการ พบว่าผลตอบแทนที่ตั้งเป้าไว้ได้ตามเป้าเกือบทุกโครงการ บางโครงการอาจจะมีหย่อนเป้าบ้าง แต่บางโครงการก็ทะลุเป้าเกินคาด ทำให้ถัวเฉลี่ยแล้วประสบความสำเร็จ

เรื่องผลตอบแทนนี้หากเทียบกับอสังหาฯ เมืองไทยแล้ว อธิปมองว่า ผลตอบแทนที่ออสเตรเลียเคยต่ำกว่าไทย แต่ปัจจุบันมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เพราะตลาดเมืองไทยก็เริ่มแข่งขันยากมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจกระจายไข่ไปหลายตะกร้าของศุภาลัยเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

 

เลือกพาร์ทเนอร์เหมือนเลือก ‘คู่แต่งงาน’

การลงทุนของศุภาลัยในออสเตรเลียไม่ใช่ว่าราบรื่นมาตั้งแต่ต้น แต่ตลอดทศวรรษคือการเรียนรู้ทั้งตลาดใหม่และคู่พาร์ทเนอร์ที่อธิปบอกว่าเปรียบเหมือนหา ‘คู่แต่งงาน’ ที่ต้องลงตัวและเข้าใจกัน

ศุภาลัย ออสเตรเลีย
โครงการ Balmoral Quay เมืองจีล่อง รัฐวิคตอเรีย ทาวน์เฮาส์และคอนโดฯ ปัจจุบันราคายูนิตละเกือบ 16 ล้านบาท – 92 ล้านบาท

ยกตัวอย่างโครงการแรกสุดที่ศุภาลัยลงทุนในแดนจิงโจ้คือ “Balmoral Quay” โครงการทาวน์เฮาส์และคอนโดมิเนียมชายทะเลระดับไฮเอนด์ที่เมืองจีล่อง รัฐวิคตอเรีย แรกเริ่มเดิมทีศุภาลัยร่วมทุนกับนักลงทุนรายบุคคล แต่หลังจากพัฒนาเฟสแรกเสร็จเรียบร้อย ผู้ร่วมลงทุนออสซี่ไม่พร้อมเดินหน้าเฟสต่อไป จนสุดท้ายศุภาลัยตัดสินใจดึงมาลงทุนต่อเอง 100% ปัจจุบันกำลังจะ Sold Out ในเฟสที่ 4 พร้อมเปิดขายเฟสที่ 5 ในปี 2568

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นพาร์ทเนอร์ที่ศุภาลัยเลือกล้วนเป็นบริษัทพัฒนาจัดสรรมืออาชีพ เช่น “Stockland” บริษัทจัดสรรรายใหญ่อันดับ 1 ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นออสเตรเลีย “Mirvac” บริษัทพัฒนาจัดสรรอันดับ 2 ของออสเตรเลีย “Satterley Property Group” บริษัทพัฒนาจัดสรรนอกตลาดหุ้นรายใหญ่ รวมไปถึง “ICD Property” บริษัทพัฒนาจัดสรรที่แข็งแกร่งในพื้นที่เมืองเมลเบิร์น

สำนักงานขายโครงการ Smiths Lane เมลเบิร์น ซึ่งศุภาลัยร่วมทุนกับ Mirvac พัฒนาเป็นที่ดินจัดสรรบนที่ดินใหญ่ถึง 1,079 ไร่ ปัจจุบันขายในราคา 8.48 – 15.6 ล้านบาทต่อแปลง

“ข้อดีของพาร์ทเนอร์บริษัทมืออาชีพในออสเตรเลียคือ ส่วนใหญ่ไว้ใจได้และตรงไปตรงมา การชักชวนลงทุนก็จะแสดงผลตอบแทนที่ไม่เกินจริง” อธิปกล่าว

ในทางกลับกัน ฝั่งทุนออสซี่ก็ต้องการความเป็นมืออาชีพจากพาร์ทเนอร์ไทยด้วย โดยโจเซฟ เกิร์ชที่เปรียบเสมือน ‘แม่สื่อ’ ให้คู่พาร์ทเนอร์บอกว่า บริษัทออสเตรเลียปัจจุบันคุ้นเคยกับศุภาลัยมากขึ้น และเห็นว่า “ศุภาลัย” เป็นบริษัทที่ไว้ใจได้ ให้เกียรติซึ่งกันและกันในการทำงาน มีความรู้พื้นฐานด้านตลาดอสังหาฯ ออสเตรเลีย มีความซื่อสัตย์ด้านการรักษาความลับทางการค้า (*เนื่องจากศุภาลัยมีการร่วมทุนพร้อมกันหลายบริษัท) รวมถึงวัฒนธรรมของคนไทยถือว่าเข้ากันได้กับคนออสซี่

ความเข้ากันได้ทำให้การลงทุนมีความต่อเนื่อง โดยล่าสุดศุภาลัยมีการจับมือกับ Stockland Corporation Ltd เพื่อเตรียมจะเข้าเทกโอเวอร์โครงการจัดสรรรวดเดียว 12 โครงการ มูลค่าโครงการในสัดส่วนของศุภาลัยกว่า 1.37 แสนล้านบาท (อ่านข่าวจ่อลงทุนเพิ่ม 12 โครงการของศุภาลัยในออสเตรเลียได้ที่นี่)

โจเซฟกล่าวว่า ถึงแม้ระยะนี้ตลาดอสังหาฯ “ออสเตรเลีย” กำลังอยู่ในช่วงผันผวน เนื่องจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 13 ครั้งในรอบ 2 ปีครึ่ง จนทำให้ผู้ซื้อเข้าถึงสินเชื่อบ้านยากขึ้น กระทบต่อการขายบ้าน แต่คาดว่าปี 2568 ตลาดอสังหาฯ ออสเตรเลียน่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นเพราะทิศทางดอกเบี้ยน่าจะเป็นขาลง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ปรากฏข่าวแบงก์พาณิชย์มากกว่าสิบแห่งในออสเตรเลียพร้อมใจกันปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านลงแล้ว เพื่อบรรเทาปัญหา กู้ไม่ผ่านของประชาชน

]]>
1489338
“ศุภาลัย” ไปต่อใน “ออสเตรเลีย” จ่อลงทุนเทกโอเวอร์ 12 โครงการ มูลค่ากว่า 1.37 แสนล้านบาท https://positioningmag.com/1488444 Mon, 02 Sep 2024 15:22:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1488444
  • หลังลงทุนใน “ออสเตรเลีย”​ มานานกว่า 10 ปี “ศุภาลัย” จ่อลงทุนลอตใหญ่ร่วมกับพาร์ทเนอร์ “Stockland” เทกโอเวอร์รวดเดียว 12 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 137,700 ล้านบาท
  • ชี้ตลาดออสเตรเลียปัจจุบันได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับในเมืองไทย แนะรัฐบาลไทยผ่อนเกณฑ์ LTV สำหรับบ้านหลังที่สอง กระตุ้นอสังหาฯ ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท
  • “ดร.ประศาสน์ ตั้งมติธรรม” Director of Supalai Australia Holdings Pty Ltd เปิดเผยถึงการลงทุนของ บมจ.ศุภาลัย ในประเทศ “ออสเตรเลีย” ว่าเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันมีการพัฒนาโครงการรวม 12 โครงการ โดยใช้เม็ดเงินลงทุนไปแล้วกว่า 9,700 ล้านบาท มูลค่าโครงการรวมในสัดส่วนเฉพาะของศุภาลัยกว่า 50,000 ล้านบาท

    การลงทุนของศุภาลัยในออสเตรเลียนั้นส่วนใหญ่เป็นการจับมือพันธมิตรท้องถิ่นในการพัฒนาโครงการ โดยมีพาร์ทเนอร์รวม 6 รายที่มีการจอยต์เวนเจอร์

    ด้านทำเลการลงทุน มีการลงทุนรวม 4 เมืองใน 3 รัฐ คือ เมลเบิร์น และ จีลอง รัฐวิคตอเรีย, บริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ และ เพิร์ธ รัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย

    ศุภาลัย ออสเตรเลีย
    โครงการ Gen Fyansford เมืองจีลอง ซึ่งศุภาลัยลงทุนร่วมกับบริษัท ICD Property

    ยอดขายสะสมของทั้ง 12 โครงการเฉพาะในส่วนที่ศุภาลัยถือหุ้นคิดเป็นมูลค่า 24,500 ล้านบาท หรือเกือบ 50% ของมูลค่าทั้งหมด ซึ่งโครงการที่ถือว่าได้ยอดขายดีที่สุดขณะนี้คือ “Arcadia Officer” ในเมืองเมลเบิร์น ทำยอดขายได้แล้ว 96% ใกล้ปิดโครงการ

    เฉพาะครึ่งปีแรกปี 2024 ยอดขายโครงการที่ศุภาลัยถือหุ้นใน “ออสเตรเลีย” สร้างยอดขายได้ 1,700 ล้านบาท เติบโต 70% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

     

    ผนึกแน่นพันธมิตรเตรียมเทกโอเวอร์ 12 โครงการใหม่

    ด้านแผนงานในอนาคตนั้น ดร.ประศาสน์กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมา “Supalai Australia Holdings Pty Ltd” ได้จัดตั้งกิจการร่วมค้าชื่อ “SSRCP HoldCo Pty Ltd” กับ “Stockland Corporation Ltd” หนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของออสเตรเลียที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กิจการร่วมค้านี้ได้เตรียมเม็ดเงินลงทุนอีก 1,063 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือราว 25,300 ล้านบาทเตรียมเข้าซื้อโครงการจัดสรรทั้งหมด 12 โครงการ เพื่อนำมาพัฒนาต่อเนื่องและสร้างยอดขายต่อไป

    หากดีลการเข้าซื้อโครงการลอตนี้สำเร็จ จะทำให้ได้โครงการใหม่เข้ามาในพอร์ตโฟลิโอคิดเป็นมูลค่าโครงการในสัดส่วนของศุภาลัยรวมกว่า 137,700 ล้านบาท

    ในจำนวน 12 โครงการใหม่ดังกล่าวที่จะเข้าซื้อ มีบางส่วนที่จะถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ของศุภาลัยในออสเตรเลียอีกด้วย เพราะมีอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเมืองซิดนีย์ และ เมืองวูลลองกอง ซึ่งอยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นการกระจายความเสี่ยงความผันผวนของตลาดอสังหาฯ ออสเตรเลียเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

    “ไมค์ เดวิส” Executive General Manager & Masterplanned Communities, Stockland Corporation Ltd กล่าวถึงดีลการเข้าซื้อ 12 โครงการดังกล่าวว่า เป็นการเทกโอเวอร์จากบริษัท “Lendlease Group” ซึ่งเป็นบริษัทในวงการอสังหาฯ ออสเตรเลียเช่นเดียวกัน ถือเป็นดีลขายพิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในออสเตรเลีย

    เดวิสระบุว่า การตัดขาย 12 โครงการนี้ของ Lendlease เกิดจากการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การลงทุนของทางบริษัทผู้ขายเอง ส่วนโครงการที่นำมาขายไม่ได้ติดปัญหาใด และยังมีความน่าสนใจเพราะหลายโครงการมีการขอใบอนุญาตจัดสรรในระดับมาสเตอร์แพลนจากรัฐเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้การเดินหน้าพัฒนาโครงการต่อทำได้เร็วขึ้น รวมถึงในพอร์ตมีโครงการในเมืองที่มีดีมานด์สูงอยู่ในขณะนี้อีกด้วย เช่น ซิดนีย์ เพิร์ธ

    (ขวา) “ไมค์ เดวิส” Executive General Manager & Masterplanned Communities, Stockland Corporation Ltd

    เดวิสยังกล่าวด้วยว่า เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนร่วมกับ “ศุภาลัย” มาหลายโครงการเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ทำให้สนใจชักชวนศุภาลัยร่วมลงทุนในการเข้าซื้อ 12 โครงการใหม่นี้ด้วย โดยเห็นว่าศุภาลัยเป็นคู่พันธมิตรธุรกิจที่มีคุณภาพ เชื่อถือไว้ใจได้ วิธีและวัฒนธรรมการทำงานสอดคล้องและเข้าใจกัน จึงต้องการจับมือเป็นพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง

    ดีลการเข้าซื้อโครงการลอตนี้ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติจากภาครัฐ ซึ่งเดวิสมองว่าน่าจะมีการอนุมัติได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า และจะเริ่มพัฒนาโครงการต่อพร้อมสร้างยอดขายในปี 2025

     

    อสังหาฯ ไทยชะลอตัว หวังรัฐช่วยกระตุ้น

    “อธิป พีชานนท์” Director of Supalai Australia Holdings Pty Ltd กล่าวถึงการตัดสินใจลงทุนใน “ออสเตรเลีย” ของศุภาลัยเมื่อกว่า 10 ปีก่อนว่า เกิดจากบริษัทต้องการกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย แม้ว่าขณะนั้นผลตอบแทนการลงทุนในออสเตรเลียนับว่ายังต่ำกว่าผลตอบแทนที่ได้ในไทย แต่บริษัทมองถึงอนาคตว่าออสเตรเลียเป็นประเทศที่จะเจริญเติบโตต่อเนื่องด้วยประชากรมีกำลังซื้อสูง และมีผู้อพยพเข้าสู่ประเทศจำนวนมากทุกๆ ปี จะทำให้ดีมานด์ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ผลตอบแทนการลงทุนในไทยกับออสเตรเลียมาสู่ระดับใกล้เคียงกัน หลังจากตลาดอสังหาฯ ไทยชะลอตัวในปี 2567 ซึ่งอาจจะทำให้ภาพรวมทั้งปีนี้ภาคอสังหาฯ ไทยอาจจะติดลบได้หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือ

    โดยอธิปเสนอข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลชุดใหม่ว่า มีหลายมาตรการที่รัฐสามารถเร่งรัดออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาฯ ได้ทันภายในปีนี้ เช่น การผ่อนปรนหลักเกณฑ์ LTV (Loan-to-Value) ในการขอกู้สินเชื่อบ้านสำหรับบ้านหลังที่สอง หรือ นโยบายเงินคืน (cashback) 1% ให้กับผู้ซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อจูงใจให้คนต้องการซื้อบ้านมากขึ้นท่ามกลางความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่ต่ำลง

    “ปกติภาคอสังหาฯ มีสัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อจีดีพีประเทศถึง 4-5% ยังไม่นับผลต่อเนื่องที่เป็นตัวคูณเกี่ยวข้องกับภาคก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ดังนั้น หากมีการกระตุ้นอสังหาฯ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากอย่างแน่นอน” อธิปกล่าว

    ]]>
    1488444
    KBank ลุย “เวียดนาม” ตั้งเป้าปี’66 ดึงลูกค้า 1.2 ล้านราย ส่งบริการ “ดิจิทัล” เป็นหัวหอกบุกตลาด https://positioningmag.com/1395229 Fri, 05 Aug 2022 00:57:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1395229 ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เปิดสาขาแรกใน “เวียดนาม” วางกลยุทธ์ 3 ด้านเพื่อบุกตลาด เน้นการพัฒนาบริการ “ดิจิทัล” เช่น แอปฯ K PLUS ดึงลูกค้าคนหนุ่มสาว พร้อมลงทุนในสตาร์ทอัพเพื่อเปิดบริการทางการเงินแบบใหม่ วางเป้าหมายปี 2566 ลูกค้าบุคคลแตะ 1.2 ล้านราย และปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท มองศักยภาพเวียดนามเป็นตลาดเติบโตเร็ว ขึ้นแท่นอันดับ 2 ในตลาดต่างประเทศของกสิกรไทยรองจากประเทศจีน

    “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงแผนของธนาคารในกลุ่มต่างประเทศ AEC+3 ในรอบ 3 ปีต่อจากนี้ ธนาคารมีการวางงบลงทุนไว้ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยี เสริมทัพทีมงาน ลงทุนในสตาร์ทอัพ และเข้าซื้อกิจการ

    โดยจะใช้ยุทธศาสตร์สำคัญในการทำตลาดต่างประเทศคือ การเป็น Asset-Light Digital Banking Strategy เน้นความร่วมมือกับบริษัทเทคหรือสตาร์ทอัพในท้องถิ่นเพื่อใช้บริการ “ดิจิทัล” เป็นจุดดึงดูดผู้ใช้งาน วาง 3 กลยุทธ์ในการทำงาน ได้แก่

    1. ขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจ (Aggressive Play) ทั้งลูกค้าบริษัทไทย-ต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนและบริษัทท้องถิ่น
    2. ขยายฐานลูกค้าผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรธนาคาร (Mass Acquisition Play) เน้นการให้บริการธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล โดยร่วมมือกับพันธมิตรที่มีฐานลูกค้าเพื่อเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว อนาคตจะเข้าสู่การเป็น Regional Payment Platform
    3. พัฒนาการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ (Disruptive Play) เน้นด้านการให้สินเชื่อดิจิทัล โดยใช้ดาต้าที่ทำให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้า Underbanked ได้

     

    บุกหนัก “เวียดนาม” เดินหมากทั้ง 3 กลยุทธ์พร้อมกัน

    “พิพิธ อเนกนิธิ” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวต่อว่า ล่าสุดธนาคารได้ขยายเข้าสู่เวียดนาม ได้รับใบอนุญาตเปิดสาขาแรกเมื่อต้นปี 2564 และก่อตั้งสาขาแรกที่โฮจิมินห์ ซิตี้สำเร็จช่วงปลายปี 2564 พร้อมกับมีการจัดตั้งทีม KBTG เวียดนาม รองรับด้านการพัฒนาดิจิทัล มีบุคลากร 70-80 คนและจะขยายขึ้นเป็น 200 คนในอนาคต

    ข้อมูลจาก ธนาคารกสิกรไทย

    ตลาดเวียดนามนั้นถือเป็นตลาดที่ KBank คาดหวังและตั้งเป้าสูง เนื่องจากเป็นตลาดที่มีประชากรถึง 98.5 ล้านคน และเศรษฐกิจเติบโตได้ดี แม้แต่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้จีดีพีทั่วโลกติดลบ แต่เศรษฐกิจเวียดนามยังโตได้ 2% รวมถึงเวียดนามเป็นประเทศคนหนุ่มสาว เพราะประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 35 ปี

    พิพิธกล่าวว่า ประเทศเวียดนามยังเป็นตลาดต่างประเทศแห่งแรกที่กสิกรไทยใช้กลยุทธ์ทั้ง 3 ด้านพร้อมๆ กัน จากปกติจะเดินไปทีละกลยุทธ์ เนื่องจากเห็นว่าเวียดนามเป็นตลาดที่พร้อมในทุกด้าน และธนาคารเองมีประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากตลาดต่างประเทศอื่นก่อนหน้านี้

     

    ส่ง K PLUS Vietnam เขย่าตลาด

    ในด้านการบริการดิจิทัล KBank มีการเปิดตัว K PLUS Vietnam เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการต่อยอดโมบายแบงกิ้งในเวอร์ชันไทยมาเป็นเวอร์ชันเวียดนาม เพื่อสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem เน้นการเป็นโซลูชันส์ที่สามารถทำได้ทั้งผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อบุคคล สินเชื่อดิจิทัลสำหรับร้านค้าขนาดเล็ก ระบบรับชำระเงิน ซึ่งพิพิธมองว่าฟีเจอร์เหล่านี้ K PLUS สามารถให้บริการได้ครอบคลุมกว่าธนาคารอื่นที่มีบริการอยู่ในตลาดเวียดนาม และจะเป็นจุดแข็งให้กับกสิกรไทย

    KBank เวียดนาม
    “พิพิธ อเนกนิธิ” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

    ระบบชำระเงินดิจิทัลในกลุ่มลูกค้ารายย่อยในเวียดนามถือว่าอยู่ในระยะเพิ่งเริ่มต้น ทำให้กสิกรไทยจะต้องบุกหนักเพื่อสร้างตลาด พร้อมๆ กับการส่งเสริม Cashless Society ของรัฐบาลเวียดนาม

     

    โอกาสใหม่จากการลงทุนร่วมกับ “สตาร์ทอัพ”

    ด้านกลยุทธ์ ‘Disruptive Play’ นั้นกสิกรไทยมีการลงทุนร่วมกับสตาร์ทอัพ ด้วยการลงทุนของ KASIKORN VISION ซึ่งเริ่มมีการลงทุนแล้วกับ ‘Jio Health’ (จีโอ เฮลธ์) แพลตฟอร์ม Telemedicine ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม

    พิพิธกล่าวว่า การลงทุนกับสตาร์ทอัพจะเป็นใบเบิกทางให้ธนาคารเข้าสู่บริการการเงินในรูปแบบใหม่ได้ โดยธนาคารจะมุ่งเน้นสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจ เช่น EduTech, FinTech, HealthTech, ESG-Tech เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้คาดว่าจะเป็นดาวรุ่งในตลาด AEC+3

    คลินิกออฟไลน์ของ Jio Health

    การเงินรูปแบบใหม่จะเป็นอย่างไร? พิพิธยกตัวอย่างกลับมาที่ประเทศไทย KBank มีความร่วมมือกับ GDH ในการออกเหรียญ ‘Destiny Token’ เพื่อลงทุนกับภาพยนตร์เรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส 2’ เหรียญนี้ทำหน้าที่ระดมทุนจากรายย่อยโดยใช้พื้นฐานเทคโนโลยีบล็อกเชน ถือเป็นตัวอย่างบริการแบบใหม่ที่เกิดขึ้น

     

    ตั้งเป้าปีหน้า 1.2 ล้านราย

    สรุปเป้าหมายในเวียดนามของกสิกรไทย ปี 2566 จะมีลูกค้าบุคคลแตะ 1.2 ล้านราย จากปัจจุบันมีมากกว่า 1 แสนราย และตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อได้รวม 20,000 ล้านบาท

    ปัจจุบันกสิกรไทยมีเป้าหมายทำรายได้จากตลาดต่างประเทศ AEC+3 ได้ในสัดส่วน 5% จากพอร์ตรายได้ทั้งหมด โดยมี “จีน” เป็นตลาดอันดับ 1 แต่ตลาดอันดับ 2 เชื่อว่าในปีหน้าเวียดนามจะแซงกัมพูชาขึ้นมา เพราะขนาดตลาดที่ใหญ่กว่าและเติบโตเร็วกว่า

    พิพิธเชื่อว่าตลาดเวียดนามมีศักยภาพสูงมากในอนาคต เพราะประชากรมี Digital Literacy เข้าถึงสมาร์ตโฟนสูง พร้อม ‘ขี่กระแสดิจิทัล’ เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ได้ทันที สอดคล้องกับกลยุทธ์ธนาคาร รวมถึงมี ‘ทาเลนต์’ ด้านเทคโนโลยีในตลาดพร้อมรับการเติบโต

    ]]>
    1395229
    เทรนด์ WealthTech โตก้าวกระโดด ‘StashAway’ ลุยภารกิจพาคนไทยลงทุนต่างประเทศ https://positioningmag.com/1383543 Sun, 01 May 2022 03:05:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383543 ปัจจุบันการ ‘ลงทุนในสินทรัพย์’ นั้นง่ายเเละรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก ด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงผู้คน ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง สามารถเริ่มลงทุนได้ตั้งเเต่เงินก้อนน้อยๆ พร้อมโอกาสในการเเสวงหาตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ

    เเม้ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศของคนไทย จะเพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เเต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย เเละการมาของ ‘WealthTech’ เหมือนจะเป็น ‘ตัวช่วย’ เเละ ‘ทางเลือก’ ให้ก้าวผ่านกำเเพง
    อุปสรรคการลงทุนเเบบเดิมๆ ที่มีมาในอดีตได้ 

    วันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงภาพรวมของอุตสาหกรรม WealthTech กับ “ทิม – ยศกร นิรันดร์วิชย” CFA กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน สแทชอเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ StashAway แพลตฟอร์มบริหารการลงทุนเจ้าใหญ่ในเอเชีย พร้อมเป้าหมายที่หวังจะเเก้ Pain Point เปิดประตูให้คนทั่วไปเข้าถึงการลงทุน เเละเเผนกลยุทธ์การก้าวสู่ top of mind ในตลาดไทย 

    WealthTech เปลี่ยนเกมการลงทุน 

    ยศกร เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงความสำคัญของ WealthTech ต่อผู้คนทั่วโลกให้ฟังว่า เป็นเทคโนโลยีการลงทุนบริหารความมั่งคั่งที่จะมาดิสรัปวงการผู้จัดการกองทุน โดยมีหน้าที่เเละบทบาทหลักๆ 4 ประการ คือ

    • ทำให้การลงทุนเป็นเรื่องง่าย

    สมัยก่อนผู้คนอาจมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัว รวมถึงการเข้าถึงที่ปรึกษาทางการเงินที่ต้องมีค่าใช้จ่าย เเต่ทุกวันนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเข้าถึงคำเเนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเเละข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้าง ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ทำให้เราเข้าถึงการลงทุนได้จากแอปพลิเคชันมือถือ

    • มีประสิทธิภาพมากขึ้น

    ในยุคที่มีข้อมูลอยู่มหาศาล เทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยทำให้เราสามารถวิเคราะห์การลงทุนได้กว้างเเละลึกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถตัดสินใจลงทุนบนพื้นฐานของข้อมูลได้ เพราะศัตรูที่เลวร้ายที่สุดของการลงทุนคืออารมณ์ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ตัดสินใจลงทุนจากอารมณ์มากกว่าการยึดถือด้านข้อมูลเป็นหลัก

    • ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง

    เเพลตฟอร์ม Wealth Tech ทั่วโลกนั้นจะมีอัตราต่ำกว่าผู้เล่นดั้งเดิม ซึ่งบางเจ้าถูกลงกว่า 10 เท่า โดยค่าธรรมเนียมนั้นมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในระยะยาวที่จะมีผลโดยตรงต่อค่าตอบเเทน

    • เข้าถึงได้มากขึ้น

    เทคโนโลยีทำให้ผู้คนเริ่มลงทุนได้โดยไม่ต้องมีขั้นต่ำ เเละใช้จำนวนเงินที่ไม่สูงมากจึงเข้าถึงคนหมู่มากได้ในเวลาที่รวดเร็ว

    โดยกระเเสของ ‘WealthTech’ เริ่มต้นมาจากโซนสหรัฐอเมริกาเเละเเคนาดา ก่อนที่จะเข้ามายังเอเชีย ซึ่งในช่วงเเรกผู้เล่นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพหรือบริษัทเทคฯ เเต่ปัจจุบันเริ่มเห็นผู้เล่นรายใหญ่อย่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ระดับโลก ขยับมาเข้าซื้อกิจการบริษัท WealthTech มากขึ้น

    อีกเทรนด์ที่มาเเรงก็คือคริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งบริษัท WealthTech ทั้งหลายต่างให้ความสนใจมากขึ้น เเละมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ เกี่ยวกับคริปโตฯ อย่างเช่น StashAway ที่สิงคโปร์ก็มี Crypto Offering มากขึ้น

    ในประเทศไทย เราก็หวังว่าจะเอาเข้ามาได้ในเร็วๆ นี้ เเต่ก็ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการขออนุญาตต่างๆ ก่อน

    Photo : Shutterstock

    เงินทุนไหลเข้า เติบโตอย่าง ‘ก้าวกระโดด’ 

    ภาพรวมอุตสาหกรรม WealthTech มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เเละมีการประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตได้ถึง 15-35%

    บางสำนักข่าวระบุว่า WealthTech ทั่วโลกมีการบริหารเงินทั้งหมดอยู่ราว 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตัวเลขจากทาง CNBC ระบุว่า เเค่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา WealthTech ก็มีการบริหารเงินรวมกว่า 1.1 ล้านล้าน
    เหรียญเเล้ว (คิดเป็นกว่า 2 เท่าของจีดีพีไทยทั้งประเทศ)

    ส่วนในเเง่ของการระดมทุนนั้น เมื่อย้อนไปช่วงทศวรรษก่อนต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะนักลงทุนยังไม่ค่อยเข้าใจใน Business Model เเต่ตอนนี้กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

    โดยในปี 2019 อุตสาหกรรม Wealth Tech มียอดการระดมทุนที่ราว 3.5 พันล้านเหรียญ ต่อมาในปี 2021 มีการเติบโตเเบบก้าวกระโดด ด้วยยอดการระดมทุนกว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์ด้านบวกในวิกฤตโควิด

    ในช่วงเเรก StashAway ระดมทุนได้ยาก เเต่ช่วงหลังๆ มานี้ เรากลายเป็นฝ่ายที่เป็นผู้เลือกนักลงทุน สะท้อนให้เห็นเกมธุรกิจที่เปลี่ยนไป

    ด้านการเเข่งขันนั้น มีผู้เล่นรายใหม่กระโจนเข้ามาในวงการนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย StashAway จะมีคู่เเข่งหลักเฉลี่ยประมาณ 2-5 บริษัทในเเต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ตลาดใหญ่อย่างสิงคโปร์ ก็จะมีผู้เล่นหลัก 3-4 บริษัท ส่วนในไทยมีประมาณ 4-5 บริษัท

    ในทุกวิกฤตใหญ่ของโลก จะเป็นช่วงที่คนเราสนใจเเละพิจารณาวางเเผนการเงินมากที่สุด จากผลกระทบทางรายได้เเละความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต จึงต้องคิดหาทางว่าจะบริหารการเงินอย่างไรเพื่อให้รอดพ้นวิกฤต เเละรองรับเหตุที่ไม่คาดฝันอื่นๆ ที่จะอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย

    StashAway ปักธงเเก้ Pain-Point การลงทุน 

    สำหรับ StashAway เป็นเเพลตฟอร์มบริหารการลงทุนรายเเรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่เกิดขึ้นจาก Pain-Point ของผู้ก่อตั้งอย่าง Michele Ferrario ที่ต้องการมองหาโซลูชันการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง อีกทั้งยังต้องเจอค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างสูงเเละตัวเลือกน้อย

    เขาจึงมีเเรงบันดาลใจที่จะสร้างเเพลตฟอร์มเพื่อเเก้ไขปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา โดยร่วมมือผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คน คือ Freddy Lim และ Nino Ulsamer ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเเละมีประสบการณ์ด้านการบริหารสินทรัพย์ระดับโลก ต่อยอดขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

    StashAway เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มบริหารการลงทุนในรูปแบบแอปพลิเคชัน ที่เปิดให้นักลงทุนเข้าถึงสินทรัพย์ทั่วโลกได้ผ่านการลงทุนใน ETF โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเพียง 4 ปี ซึ่งเร็วกว่าที่แพลตฟอร์มบริหารการลงทุนรายใหญ่ของโลกอย่าง Betterment และ Wealthfront

    เปิดให้บริการแล้วใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เเละมีพนักงานราว 200 คน ผ่านการระดมทุนมาแล้ว 6 รอบ (Series D) โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุน Venture Capital ระดับโลกอย่าง Sequoia Capital India, Eight Roads Ventures และ Square Peg เเละมีทุนชำระแล้ว (Paid-Up Capital) รวม 61.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2021)

    อุตสาหกรรม Wealth Tech นั้นเป็นตลาดที่ใหญ่มากๆ เเค่ใน 5 ประเทศที่เราอยู่ก็มี financial wealth มูลค่ามากกว่า 5.5 ล้านล้านเหรียญเเล้ว จึงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกเยอะมาก เเละนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดย StashAway ตั้งเป้าจะเป็นเเพลตฟอร์มอันดับหนึ่งในเอเชียให้ได้

    วางกลยุทธ์สู่ Top of Mind ของคนไทย 

    StashAway จะเน้นชูจุดเด่นด้าน ‘กลยุทธ์การลงทุน’ ที่พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก การปรับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่เสมอ วิเคราะห์สัญญาณของตลาดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมลงทุนด้วยความเสี่ยงที่เหมาะสม มีความหลากหลาย เเละค่าธรรมเนียมต่ำ

    การที่คนไทยมีสัดส่วนการถือครองเงินสดถึง 47% ขณะที่ในสหรัฐฯ ประชาชนจะถือเงินสดเพียง 14% ก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งในการเข้าถึงการลงทุนของคนไทย โดยการถือเงินสดนั้นมีความเสี่ยงว่าจะมูลค่าลดลง หากต้องเจออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันคนไทยส่วนใหญ่ก็มีเงินไม่เพียงพอกับการเกษียณ เเละมีการลงทุนกระจุกตัวเเค่ในตลาดไทย เหล่านี้จึงต้องมีการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจด้าน wealth management ให้มากขึ้น 

    ตลาดไทยค่อนข้างใหญ่ มูลค่าเฉพาะกองทุนรวมมีถึง 5 ล้านล้านบาท เเละยังมีคนถือเงินสดอยู่อีกกว่า 47% นับเป็นโอกาสของธุรกิจ WealthTech ดังนั้นการเเข่งขันที่ดุเดือดจึงเป็นเหมือนการร่วมกันสร้างตลาดให้ใหญ่ขึ้น มีจุดเด่นที่เเตกต่างกันไป เป็นการเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนมากขึ้น” 

    โดยมีเเนวโน้มที่คนไทยจะหันไปลงทุนหุ้นต่างประเทศมากขึ้น เพราะหากเอาสินทรัพย์มาถือไว้ที่ตลาดไทยจะเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังซบเซา เนื่องจากพึ่งพาภาคท่องเที่ยวเป็นหลักจึงฟื้นตัวยาก อีกทั้งยังไม่มีหุ้นบิ๊กเทคคอมพานีระดับโลก

    หลัง StashAway เปิดให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการมาตั้งเเต่ช่วงเดือนก.ย. 2021 ผลตอบรับดีกว่าที่คาด โดยจากนี้ จะมุ่งกลยุทธ์การตลาดไปที่การสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่น ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา เพราะการลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบ พร้อมให้ความสำคัญกับทีมดูเเลลูกค้าที่จะคอยซัพพอร์ตอยู่เสมอ ทำการตลาดเพื่อเพิ่มการรับรู้ผ่านทางออนไลน์เเละออฟไลน์ไปพร้อมๆ กัน

    เราให้ความสำคัญกับทีมเเละการพัฒนาคนมากๆ เลือกคนที่ถูกเเละใช่ ขั้นต่ำต้องสัมภาษณ์กัน 4 รอบ เราไม่ได้เน้นหาคนที่มีประสบการณ์ตรง เเต่เน้นหาคนเก่ง เชื่อใน mission ของบริษัทเเละมีไฟในการทำงาน พร้อมมี Growth Mindset ที่จะเติบโต ให้ความยืดหยุ่นอย่างการให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ เเละลากี่วันก็ได้ในหนึ่งปี เน้นไปที่ความรับผิดชอบในงานเป็นหลัก

    เป้าหมายของ StashAway ในตลาดไทย คือการได้เข้าไปอยู่ใน top of mind ของคนไทย เป็นเพื่อนคู่คิดช่วยให้คนไทยลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น พร้อมมีการวางเเผนการเงินที่ดีเพียงพอต่อการเกษียณ

    โดยผู้บริหาร StashAway มีคำเเนะนำถึงนักลงทุนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนว่า

    เราต้องตระหนักว่าการลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องทำ ให้เงินของเราทำงานไปพร้อมๆ กับที่เราทำงาน โดยควรจะเน้นไปที่การลงทุนระยะยาว ด้วยพลังของผลตอบเเทนทบต้นซึ่งจะต้องใช้เวลา พร้อมกระจายการลงทุน อย่าเก็บไว้ในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไป เลือกระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม อย่าหลอกตัวเอง ซิ่งหนักก็อาจจะเจ็บได้ เเละต้องรักษาวินัยในการลงทุนอยู่เสมอ

     

     

     

    ]]>
    1383543
    อ่าน 6 ข้อ ทำความเข้าใจ DR DIAMOND โอกาสลงทุน ‘Super Stock’ ตลาดหุ้นเวียดนาม https://positioningmag.com/1378539 Tue, 22 Mar 2022 10:18:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1378539 การลงทุนต่างประเทศในปัจจุบัน ‘ง่ายเเละสะดวก’ กว่าสมัยก่อนมาก ด้วยต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ถูกลง หาข้อมูลได้ง่ายขึ้น ช่องทางการลงทุนที่หลากหลายเเละข้อจำกัดที่ลดลง เปิดโอกาสการเเสวงหาผลตอบเเทนในตลาดที่น่าสนใจทั่วโลก

    หนึ่งในนั้นคือ ‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ ที่กำลังเป็นดาวรุ่งเเห่งเอเชีย หลังในปีที่ผ่านมาพุ่งทะยานสุดขีด ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เเละมีเเนวโน้มการเติบโตในระยะยาว

    วันนี้ Positioning พูดคุยกับ “บรรณรงค์ พิชญากร” กรรมการผู้จัดการอาวุโส กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ถึงโอกาสการลงทุนในหุ้น ‘Super Stock’ ของเวียดนาม ผ่านตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือ DR พร้อมการเปิดตัว DR “DIAMOND”

    DR เเตกต่างจากหุ้นอย่างไร

    โดยทั่วไปเเล้ว หุ้นสามัญ (Common Stock) จะเป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) ที่ต้องการระดมทุนจากประชาชน ผ่านการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เเห่งประเทศไทย

    ส่วน Depositary Receipt หรือ DR จะเป็นตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่เปิดทางเลือกให้กับนักลงทุนไทยให้สามารถซื้อขายหุ้นหรือ ETF ในต่างประเทศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ผ่านการซื้อขาย DR ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

    โดยสำนักงานก... อนุญาตให้ผู้ออก DR ไปซื้อหุ้น หรือ ETF ในต่างประเทศ เเล้วนำมาเสนอขายกับนักลงทุนชาวไทยเป็นเงินบาท เเละใช้บัญชีหุ้นที่มีอยู่เเล้ว ซึ่งผู้ถือ DR จะมีสิทธิต่างๆ เหมือนไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเอง

    ที่ผ่านมา นักลงทุนเมื่อต้องการลงทุนหุ้นต่างประเทศ วิธีเเรกมักจะลงทุนผ่านกองทุนรวมที่บริหารโดยผู้จัดการกองทุน วิธีที่สองคือ ติดต่อผ่านโบรกเกอร์ที่ใช้บริการเพื่อซื้อขายหุ้นโดยตรง เเละวิธีที่สามคือลงทุนผ่าน DR ที่บริษัทหลักทรัพย์ทั้งหลายเป็นผู้ออกซื้อขายได้ในเวลาประเทศไทย

    สมมติว่าเราจะซื้อหุ้นเมืองนอกสักตัว ถ้าซื้อผ่านกองทุนรวมโอนเงินตอน 11.00 . เเต่จะไม่รู้ว่าจะได้ซื้อในราคาของช่วงไหน เพราะอาจจะไปถูกตัดสินว่าเป็นราคาเย็นนี้ พรุ่งนี้ หรืออีกสองวันข้างหน้า ดังนั้นเวลาที่โอนเงินซื้อกับราคาที่ได้จึงไม่เรียลไทม์

    ส่วนวิธีการติดต่อผ่านโบรกเกอร์เพื่อซื้อหุ้นต่างประเทศโดยตรงนั้น มีความรวดเร็ว เเต่จะต้องมีการเเยกพอร์ต เเละเปิดบัญชีใหม่ เเละต้องโอนเงินไปล่วงหน้า

    ขณะที่วิธีลงทุนหุ้นต่างประเทศผ่าน DR จะสามารถติดตามราคาเเละซื้อขายได้แบบ Real-Time ตามราคาเเละเวลาของตลาดนั้นๆ ผ่านแอปพลิเคชัน Streaming เพียงมีบัญชีลงทุนหุ้นที่สามารถซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยกับบริษัทหลักทรัพย์ใดก็ได้

    บางหลักทรัพย์ DR สามารถลงทุนได้ต่อเนื่อง ลงทุนได้ตั้งแต่เวลาตลาดหุ้นไทยเปิดทำการ 10.00 .ไปจนถึงตลาดหุ้นไทยปิดทำการ 16.30 . ส่วนข้อด้อยของ DR นั้น ในปัจจุบันมีตัวเลือกน้อย เพราะในไทยยังมี DR ออกมาไม่มากนัก เมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด 

    Photo : Sutterstock

    เปิดโอกาสลงทุน ‘Super Stock’ เวียดนาม

    ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2561 หลักทรัพย์บัวหลวงเป็นผู้ออกเจ้าแรกของไทย โดยใช้สัญลักษณ์  “E1VFVN3001” ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นกองทุนรวม ETF อ้างอิงดัชนี ‘VN30’ หุ้น30 บริษัทชั้นนำ คิดเป็นกว่า 68% ของตลาดหุ้นเวียดนาม

    นับเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยได้ไปลงทุนในตลาดเวียดนาม ที่มีการเติบโตดี ราคาหุ้นยังไม่เเพงมากนัก เเละได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง

    ตลอดช่วงที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาผลิตภัณฑ์ ไปพร้อมๆ กับการสร้างการรับรู้ให้ผู้คนเข้าใจเเละเข้าถึง DR มากขึ้นเรื่อยๆ

    โดยยอดซื้อ IPO ใน DR ตัวเเรกของหลักทรัพย์บัวหลวง ระดมทุนได้เกือบ 700 ล้านบาท เเละ 3 ปีต่อมาขนาดของ DR ดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า เเละยังคงมีนักลงทุนไทยซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่อง

    หลังจากมีเสียงตอบรับเป็นที่น่าพอใจนักลงทุนไทยเข้าใจการลงทุนต่างประเทศผ่านวิธีนี้มากขึ้น เเละชื่นชอบในความสะดวกเเละรวดเร็ว

    หลักทรัพย์บัวหลวง จึงต่อยอดด้วยการเปิดตัว DR “DIAMOND” โดยใช้สัญลักษณ์ว่า “FUEVFVND01” ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น DCVFMVN DIAMOND ETF (FUEVFVND) ที่ลงทุนอ้างอิงดัชนี VN DIAMOND ที่มีคุณสมบัติหลักประกอบไปด้วยหุ้นที่มีผู้ลงทุนต่างชาติถือหุ้นอย่างน้อย 95% ของสัดส่วนที่ลงทุนได้ (Foreign Ownership Limit หรือ FOL) ออกโดย Dragon Capital VietFund Management (DCVFM) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ชั้นนำ ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) รวมสูงที่สุดในเวียดนาม เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนไปในหุ้น ‘Super Stock’ ของเวียดนาม

    ทั้งนี้ หลักทรัพย์บัวหลวง วางเเผนจะมีการเปิดตัว DR ใหม่จำนวนทั้งหมด 5 ตัวในปี 2565 โดยที่เหลืออีก 4 ตัวจะมี DR ที่อ้างอิงกับ China STAR50 , CSI 300 , Nasdaq-100 เเละ Hang Seng Index 

    ตลาดหุ้นเวียดนาม น่าสนใจเเค่ไหน ? 

    ความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดเวียดนาม หลักๆ มาจากปัจจัยพื้นฐาน มีหลายอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตมีความมั่นคงทางการเมือง เเละทุ่มงบประมาณเพื่อมุ่งดึงดูดการลงทุน วางเป้าหมายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

    โดยวิกฤตโควิด-19 ไม่ได้เป็นปัญหาต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามมากนัก เนื่องจากมีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง และอัตราการฉีดวัคซีนที่อยู่ในระดับสูง

    การเติบโตของเวียดนามได้รับการสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัว การลงทุนจากต่างชาติที่เพิ่มข้ึน เป็นฐานการผลิต และการบริโภคภายในประเทศที่สูง จากการมีประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมากกว่า 30%

    อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเเละมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าจะมาเป็นปัจจัยหนุนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้

    ขณะที่คาดว่าภาคส่งออกจะขยายตัว 30% หลังมีการทำสนธิสัญญาทางการค้ากับหลายประเทศ เเละสามารถคุมอัตราเงินเฟ้อได้ในระดับ 3.5-4% พร้อมการเตรียมตัวเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

    คาดว่า GDP เวียดนามปี 2565 จะโตสูงสุด 9.6% หรือในกรณี worst case จะอยู่ที่ 7.3% YoY สูงกว่าอัตราเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งอัตราการเติบโตในระดับ 7% กว่าๆ นั้นเป็นตลาดทุนที่หาได้ไม่ง่ายนักในช่วงเศรษฐกิจเช่นนี้

    ส่วนความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดเวียดนาม คือต้องดูอัตราเเลกเปลี่ยนว่าเป็นอย่างไรบ้าง ความเสี่ยงของค่าเงินดอง เเต่ก็มีการอิงกับค่าเงินดออลาร์ค่อนข้างเยอะ เเละเรื่องของการเติบโตต่างๆ ว่ามีความเสี่ยงเเฝงอยู่หรือไม่

    นอกจากนี้ ด้วยความที่เวียดนามเป็นตลาด ‘Frontier Market’ จึงมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของการซื้อขายหุ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา โดยอุตสาหกรรมเด่นๆ ของเวียดนาม ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม การเงินเเละอสังหาริมทรัพย์

    จุดเด่น DR “DIAMOND”

    สำหรับจุดเด่นของ DR “DIAMOND” ลงทุนเวียดนามตัวที่สองจากหลักทรัพย์บัวหลวง คือ

    ลงทุนง่ายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และซื้อขายได้เสมือนหุ้นไทยแบบ “Real-Time” ไม่มีพักกลางวัน โดยใช้เงินเริ่มต้นลงทุนไม่มาก 1 หน่วย DR ก็ลงทุนได้ (ราคา ณ วันที่ 9 มี..อยู่ที่ 41 บาทต่อ 1 DR) ออกโดยหลักทรัพย์บัวหลวง ที่ได้รับอันดับเครดิต AA จาก TRIS Rating

    สามารถลงทุนในหุ้นเวียดนามได้ โดยไม่ติดข้อจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากบริษัทเวียดนามหลายแห่งจะมีข้อกำหนดสัดส่วนการถือครองหุ้นโดยผู้ลงทุนต่างประเทศ (FOL)

    โดยนักลงทุนไม่ต้องเสียค่า premium ให้กับหุ้นที่ Foreign room ใกล้เต็มหรือเต็มไปแล้วในเวียดนาม จึงทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติ รวมไปถึงนักลงทุนไทย สามารถลงทุนในหุ้นเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าพรีเมียม ที่ปกติจะมีราคาสูงกว่าในกระดานราว 7-30%

    อีกหนึ่งจุดสำคัญคือ ได้ลงทุนหุ้นเวียดนามชั้นนำ “17 ตัวตามดัชนี VN DIAMOND โดย DR “DIAMOND” ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงิน, หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย, หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี, หุ้นกลุ่มอุตสาหการ และหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์สัดส่วนประมาณ 40% 29% 15% 12% และ 4% ตามลำดับ

    ผู้ออก DR “DIAMOND ไม่เก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการ (Management Fee) โดยมีค่าธรรมเนียมการจัดการเพียงต่อเดียวที่ 0.8% เก็บโดย ETF ต้นทาง

    เรามองว่าการลงทุน DR เป็นทางเลือกให้นักลงทุนไทย ที่จะสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปสู่ตราสารอื่นๆ ที่น่าลงทุน เบื้องต้นไม่ได้ตั้งเป้าหมาย IPO ว่าจะต้องได้เท่าไหร่ เเต่สิ่งที่อยากเห็นมากกว่าคือคนไทยมีความเข้าใจใน DR มากขึ้น การเติบโตเเบบค่อยเป็นค่อยไปจึงเป็นสิ่งที่ดี

    จองซื้อ IPO DR “DIAMOND” ต้องทำอย่างไร ?

    DR “DIAMOND” จะเปิดให้ลูกค้าหลักทรัพย์บัวหลวงจองซื้อไอพีโอ (IPO) ผ่าน 2 ช่องทางคือ www.bualuang.co.th เเละผ่านผู้แนะนำการลงทุน โทรศัพท์บันทึกเทป ได้ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม เวลา 9.00 . ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2565 เวลา 16.00 .

    จำนวนเงินจองซื้อขั้นต่ำอยู่ที่ 20,000 บาท และเพิ่มเป็นทวีคูณของ 1,000 บาท

    โดยผู้จองซื้อชำระเงินค่าจองซื้อตามจำนวนเงินที่ต้องการลงทุน ซึ่งจะได้รับการจัดสรรจำนวนหน่วย DR ตามราคาเฉลี่ยของราคาหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ผู้ออกตราสาร ซื้อได้ รวมค่าธรรมเนียมในการซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศ ปรับด้วยอัตราแลกเปลี่ยน

    บริษัทฯ จะประกาศราคา IPO (Final Price) ผ่านเว็บไซต์หลักทรัพย์บัวหลวงให้ทราบหลังจากนั้น (ราคาโดยประมาณของ DR FUEVFVND01 ณ วันที่ 9 มีนาคม 2565 คำนวณจากหลักทรัพย์ต่างประเทศ FUEVFVND คิดเป็นเงินบาทจะอยู่ที่ 40.94 บาทต่อหน่วย)

    ส่วนผู้ลงทุนทั่วไปที่สนใจจองซื้อ จะต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับหลักทรัพย์บัวหลวงก่อน ผ่านเว็บไซต์หลักทรัพย์บัวหลวง

    Photo : Shutterstock

    ‘กระจายความเสี่ยง’ รับตลาดโลกผันผวน 

    ด้านทิศทางเศรษฐกิจโลก มองว่า ตลาดจะต้องเจอกับความผันผวนอย่างเเน่นอน โดยเฉพาะความผันผวนระดับ geopolitical ที่คาดเดาได้ยาก ในด้านการลงทุนนั้นจะต้องจับตาดูประเด็นเหล่านี้ให้ดี เพราะเป็นได้ทั้งความท้าทาย อุปสรรคเเละโอกาสได้ในเวลาเดียวกัน

    ต้องบริหารจัดการพอร์ตให้ดี มีเก็บเงินสดไว้บางส่วน เพื่อป้องกันความเสียหายหรือการขาดทุนหากตลาดร่วง เเละสามารถกลับเข้าไปเพิ่มน้ำหนักการลงทุนได้ เมื่อสภาวะตลาดดีขึ้น

    นักลงทุนควรจะมีการกระจายการลงทุนหุ้นไปในตลาดทุนทั่วโลก ไม่ควรไปทุ่มลงที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ เช่น หุ้นไทยที่ 10% หุ้นเวียดนาม 15% หุ้นสหรัฐฯ 20% หุ้นจีน 10% เป็นต้น

    สำหรับพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนไทยเปลี่ยนไปอย่างไรในช่วงโควิด-19 นั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ มีจำนวนผู้ลงทุนเข้ามาในตลาดมากขึ้น คนรุ่นใหม่สนใจในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ทั่วโลก

    โดยคนรุ่นใหม่ที่เปิดบัญชีกับหลักทรัพย์บัวหลวง มากกว่า 50% เป็น GEN Y ผู้คนทั่วไปมีความรู้เเละเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น ก็เริ่มคิดหาทางเเสวงหารายได้มากกว่าการใช้เเรงทำงานเพียงอย่างเดียว

    จงลงทุนในสิ่งที่เราเข้าใจ เน้นเรื่องการเเสวงหาความรู้ตามเเหล่งข้อมูลต่างๆ สอบถามกับผู้เชี่ยวชาญเเละมีที่ปรึกษาที่น่าเชื่อถือ พอมีความรู้เเล้วก็จะตัดสินใจการลงทุนได้ว่าเเบบไหนเหมาะกับเรา เเบบไหนลงทุนเเล้วมีความสุขเเละจะอยู่กับมันได้อย่างสบายใจ อยากให้มองว่าการลงทุนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิต

     

    ]]>
    1378539
    รู้จัก Thematic Optimize จัดพอร์ตธีมเมกะเทรนด์ด้วย AI จาก Jitta Wealth หนุนคนไทยกล้าลงทุนต่างประเทศ https://positioningmag.com/1353855 Thu, 30 Sep 2021 14:40:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1353855 การลงทุนเเบบ Thematic เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเหล่านักลงทุนเริ่มเกาะธีมธุรกิจที่เติบโตตามเมกะเทรนด์โลกเป็นโอกาสทองของสตาร์ทอัพไทยอย่าง Jitta Wealth ที่จะเข้ามาเสิร์ฟความต้องการนี้ 

    ล่าสุดกับการเปิดตัว ‘Thematic Optimize’ ตัวช่วยบริหารพอร์ตด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ดูเเลการลงทุนตามธีมธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกที่กำลังเติบโตอยู่ ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างอัลกอริทึมเพื่อวิเคราะห์คริปโตเคอร์เรนซี เเละนโยบายปรับลดวงเงินซื้อขั้นต่ำ เพื่อขยายฐานลูกค้า

    “เราคาดหวังจะนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือนักลงทุน โดยเฉพาะการทำให้นักลงทุนไทยกล้าที่จะไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น”

    ปัจจุบันตลาดการลงทุนไทยในอุตสาหกรรมการบริหารการลงทุน มีเม็ดเงินลงทุนอยู่ประมาณ 6.6 ล้านล้านบาท มีผู้ลงทุนอยู่ประมาณ 7 ล้านบัญชีในประเทศไทย

    เผ่าตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะเวลธ์ จำกัด เล่าว่า ในปัจจุบันการลงทุนในตลาดต่างประเทศ เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เเต่นักลงทุนไทยจำนวนไม่น้อย ยังมีความลังเลเเละไม่เเน่ใจ จุดนี้จึงเป็นที่มาของการพัฒนา Thematic Optimize ขึ้นมาเป็น ‘ตัวช่วย’ เเละในอนาคตก็จะมีการเพิ่มธีมเมกะเทรนด์ใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

    ย้อนไปเมื่อปี 2562 Jitta Wealth (จิตตะเวลธ์) ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (...) ให้เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จิตตะเวลธ์ จำกัด หรือ Wealth Tech รายแรกในไทย

    เเละต่อมาในปี 2563 ได้เปิดให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์ม Jitta Wealth โดยหลักการลงทุนใช้เทคโนโลยี AI จัดการทั้งหมด เเบ่งเป็น 3 โมเดลการลงทุนที่เจาะกลุ่มลูกค้าเเตกต่างกัน ได้เเก่

    Global ETF – การลงทุนความเสี่ยงต่ำ เน้นการทำ Asset Allocation กระจายลงทุนทรัพย์สินทั่วโลก เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, พันธบัตร, หุ้นกู้ วงเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 แสนบาท 

    Thematic – การลงทุนเสี่ยงปานกลาง เน้นธีมการลงทุนสอดรับเมะกะเทรนด์โลก มีให้เลือกทั้งหมด 16 ธีม ล่าสุดกับ Thematic Optimize ที่ใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์การเติบโตเเละความเสี่ยงของธีมเมกะเทรนด์ต่างๆ จากหุ้นกว่า 2,500 หุ้น คัดเลือกออกมาเป็น 4 ธีมที่น่าลงทุนที่สุดในตอนนั้น นำมาจัดพอร์ตในสัดส่วนอย่างละ 25%

    “ยิ่งกระจายความเสี่ยงเยอะ ก็ยิ่งปลอดภัย เเต่ผลตอบเเทนจะน้อยลงไปด้วย เราจึงคิดว่าจำนวน 4 ธีมเหมาะสม”

    โดย Thematic Optimize จะมีการปรับพอร์ตให้โดยอัตโนมัติทุก 3 เดือน วงเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 แสนบาท มีค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ 0.5% ต่อปี

    สำหรับผลตอบแทนย้อนหลัง ระบบดังกล่าวสามารถทำกำไรเฉลี่ยทบต้น 25.22% ต่อปี ชนะดัชนี MSCI World Index (Total Return) ที่มีผลตอบแทน 13.78% ต่อปี (ข้อมูล ณ 31 ส.ค. 64)

    Jitta Ranking – การลงทุนความเสี่ยงสูง เเต่ผลตอบเเทนก็สูงตามไปด้วย โดยจะใช้ AI วิเคราะห์ตัวหุ้นดีราคาถูก จัดสรรหุ้นเข้ามาในพอร์ต และทำการปรับพอร์ตทุกๆ 3 เดือน วงเงินลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนบาท จับกลุ่มลูกค้าผู้ลงทุนที่มีรายได้สูง

    ทั้งนี้ Jitta Wealth ถือว่าเป็นบริษัทมีการบริหารกองทุนส่วนบุคคลมากที่สุดในประเทศไทยกว่า 30,160 กองทุน มีการเติบโตกว่า 1,400% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนฝั่งของแพลตฟอร์ม Jitta Stock Analysis ที่ครอบคลุมการวิเคราะห์หุ้นกว่า 95% ทั่วโลก ปัจจุบันมีผู้ใช้งานค้นหาข้อมูลจากกว่า 5 แสนราย เข้าดูข้อมูลมากกว่า 1.2 ล้านครั้งต่อเดือน

    หุ้นจีโนมิกส์-พลังงานสะอาด มาเเรง 

    ตราวุทธิ์ ให้ความเห็นว่า ในระยะสั้นของเเนวโน้มหุ้นไทย จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มที่จะกระเตื้องขึ้น หลังมีการเปิดเมืองมากขึ้น เเละหากกระจายวัคซีนได้ผลดีก็อาจจะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ โดยกลุ่มหุ้นที่เกี่ยวกับการเปิดเมือง ลงทุนก่อสร้างต่างๆ ที่เคยหยุดชะงักไป น่าจะกลับมาเติบโต

    สำหรับหุ้นในต่างประเทศ ธีมที่มาเเรงก็ยังเกี่ยวข้องกับการเปิดเมืองเช่นเดียวกัน อย่างค้าปลีก ท่องเที่ยว ที่เห็นได้ชัดในสหรัฐอเมริกา เเละหุ้นเทคโนโลยีที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่าง คลาวด์คอมพิวติ้ง ฟินเทค อีคอมเมิร์ซ บล็อกเชน เซมิคอนดักเตอร์ เเละ Internet of Things (IoT) ฯลฯ

    ธีมที่คาดว่าจะขยายตัวได้เร็วมากในช่วง 3 ปีข้างหน้าคือ กลุ่มธุรกิจจีโนมิกส์’ (Genomics) ที่ดิสรัปต์วงการสุขภาพ เเละกลุ่มพลังงานสะอาด โดยเฉพาะในจีน ที่ทั้งสองมีการเติบโตเฉลี่ยกว่า 3 ปีให้หลังกว่า 60% ต่อปี

    นักลงทุนเเห่หา Thematic

    กระแสการลงทุนในธุรกิจที่เป็นธีม โดยเฉพาะในกลุ่มเมกะเทรนด์โลก หรือ Thematic Investment อย่าง กลุ่มเทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีทางการเงิน, ระบบคลาวด์, หุ้นยนต์ AI, เกมและอีสปอร์ต รวมถึงพลังงานสะอาด หรืออาจจะเป็นธีมที่ลงทุนในเทคโนโลยีของประเทศผู้นำในอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐฯ หรือจีน ที่คาดว่าจะเติบโตมีมูลค่ามหาศาลในอนาคตนั้น ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกอย่างมาก และกำลังกลายเป็นการลงทุนกระแสหลัก เนื่องจากการลงทุนดังกล่าว ตอบโจทย์ภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

    “การลงทุนแบบ Thematic จะเน้นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจผ่าน ETF (Exchange Traded Fund) เพื่อกระจายการลงทุนไปยังหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธีมหรือเมกะเทรนด์นั้นๆ” 

    จากรายงาน “Global ETF Investor Survey” ประจำปี 2564 ของ Brown Brothers Harriman & Co. เผยผลสำรวจของนักลงทุนที่ลงทุนใน ETF ทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่า 80% ของนักลงทุนวางแผนจะเพิ่มการจัดสรรเงินลงทุนไปยังกองทุน ETF แบบ Thematic มากขึ้น

    สอดคล้องกับรายงานของ มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ณ เดือน มิ.ย. 64 ที่ระบุว่า มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้กองทุน ETF ทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าวกว่า 5.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่สัดส่วนกว่า 51% ของกองทุนเหล่านี้อยู่ในยุโรป และสหรัฐฯ 

    “สำหรับ Thematic Optimize ต้องรอดูว่าหลังเปิดตัวไปจนถึงสิ้นปีนี้ มีเเนวโน้มอย่างไรบ้าง เเละจะทำให้เราตั้งเป้าหมายของปีหน้าได้ เเต่เมื่อดูจากสถิติการลงทุนใน Thematic ของคนไทยที่ผ่านมา ก็คาดว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดีมากๆ จากนักลงทุน” 

    เดินหน้าปรับลดเงินลงทุนขั้นต่ำ

    นอกจากนี้ Thematic Optimize จะมีโอกาสจะปรับลงเงินลงทุนขั้นต่ำลงจากเดิมที่ 1 เเสนบาท เพื่อให้เข้าถึงฐานลูกค้าได้มากขึ้น หากย้อนกลับไปจะเห็นว่า สมัยก่อนกองทุนส่วนบุคคล จะต้องมีเงินลงทุนเริ่มต้น 10 ล้านบาทขึ้นไป เเต่ Jitta Wealth เปิดตัวเเรกๆ มาด้วย การลดวงเงินลงทุนให้เริ่มต้น 1 ล้านบาท และก็เหลืออยู่ที่ 1 แสนบาทในตอนนี้

    ในอนาคตแน่นอนว่าเราจะลงวงเงินลงทุนซื้อขั้นต่ำให้ลงมาได้อีกหลังจากมี Economy of Scale มากขึ้น และหารือร่วมกับพันธมิตรต่างๆ อย่าง Custodian หรือโบรกเกอร์ต่างๆ ที่ต้องให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน เชื่อว่าในเร็วๆ นี้จะมีข่าวดีออกมา เพื่อให้การลงลงทุนที่ดีเข้าถึงทุกคนได้

    เตรียมสร้างอัลกอริทึม วิเคราะห์ ‘คริปโตฯ’ 

    เมื่อถามว่า ในอนาคตมีเเผนการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อย่างคริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัลที่กำลังเป็นกระเเสอยู่ตอนนี้หรือไม่นั้น

    ซีอีโอ Jitta Wealth ตอบว่า มีความเป็นไปได้ หลังจากรับฟังความเห็นจากลูกค้าอยู่เสมอ นักลงทุนหลายคนเริ่มมีฟีดเเบ็กมาว่า อยากลงทุนในคริปโตฯ จะช่วยได้อย่างไรบ้าง เราก็คิดว่า มีอยู่ 2 ทางเลือกคือ

    1) รอทางก...ของสหรัฐฯ อนุมัติ ETF ที่ลงทุนในคริปโตฯ ก่อน บริษัทก็จะสามารถนำ ETF Crypto มาเป็นส่วนหนึ่งของ Thematic ให้ลงทุนกันได้

    2) Jitta จะสร้างอัลกอริทึมเพื่อไปวิเคราะห์ Crypto และอาจจะนำมาจัดเป็น Jitta Ranking Crypto ได้ผ่านโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้คำนวณคุณภาพและมูลค่าได้ดีที่สุดและสร้างพอร์ตให้นักลงทุนได้เลย

    แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีคำเตือนว่าเการลงทุนคริปโตฯ ยังใหม่มากเเละมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นการวิเคราะห์ต่างๆ จะไม่เหมือนหุ้น หรือพันธบัตรต่างๆ ที่มี Historical Data ให้สามารถนำมาคำนวณได้

    คริปโตฯ ยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะ Unknown Factor ที่ไม่รู้ในอนาคตอีกมาก อย่างการเข้ามาควบคุมกำกับจากรัฐบาลต่างๆ เเต่ก็มีความเป็นไปได้

    สิ่งสำคัญของการลงทุน คือความเข้าใจ

    กลยุทธ์หลักๆ ที่ Jitta Wealth นำมาใช้เพื่อเพิ่มผู้ใช้เเพลตฟอร์มคือการให้ความรู้เพราะเราเชื่อว่าสิ่งสำคัญของการลงทุน คือความเข้าใจ ดังนั้นต้องมีการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ เป็น educational channel ช่องทางต่างๆ เช่น หลักการลงทุนระยะยาว ดอกเบี้ยทบต้น การกระจายความเสี่ยง การวิเคราะห์หุ้น การเลือกธีมต่างๆ เป็นต้น

    “เราเชื่อว่าถ้านักลงทุนเข้าใจ พวกเขาก็จะสามารถลงทุนกับเราได้อย่างสบายใจ ถือครองการลงทุนที่ผ่านทุกข์ ผ่านหนาว ผ่านหุ้นขึ้นหุ้นลงได้ ซึ่งระยะยาวจะนำไปสู่การมีผลตอบเเทนที่ดี ผู้ลงทุนก็จะเป็นคนเเนะนำคนรอบข้างถึงบริการของ Jitta Wealth เอง

    ด้านพฤติกรรมของนักลงทุนไทยในช่วงโควิด ก็มีการเปลี่ยนเเปลงไปพอสมควร โดยในภาพรวม เขามองว่าผู้คนได้เรียนรู้มากขึ้นในช่วงโควิด เเม้จะมีคนจำนวนมากที่เลือกเพิ่มการลงทุนช่วงวิกฤต เเต่คนบางกลุ่มก็รู้สึกไม่กล้าลงทุนเเละหวั่นวิตก

    “สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดในการการลงทุนคือความเข้าใจ ความหนักเเน่นเเละวินัยในการลงทุน ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ลงทุนเเล้วผ่านโควิดปีที่เเล้วมาได้ เขาจะมีความรู้เเละความเข้าใจ ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น มีเเนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาวมากขึ้น”

    ขณะเดียวกัน วิกฤตโควิดก็ทำให้นักลงทุนไทยทั้งหลาย ตระหนักว่า ควรจะเริ่มกระจายความเสี่ยงไปลงทุนให้หุ้นต่างประเทศบ้าง เพราะธุรกิจในประเทศ อาจจะไม่พร้อมรับวิกฤตใหม่ๆ หรืออะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นมาอีกในอนาคต

    ในอีก 3 ปีข้างหน้า เราตั้งเป้าจะช่วยคนไทยไปลงทุนในต่างประเทศให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ทำให้ตลาดนี้คึกคักขึ้น รวมถึงให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจกับนักลงทุนเเละผู้คนทั่วไปที่ยังไม่ได้เข้ามาในตลาด

     

     

    ]]>
    1353855
    ตลาด Wealth โตพุ่ง SCB ปั้น Private Banking สู่เป้าพอร์ต 1 ล้านล้านบาท โอกาสทองจับ ‘เศรษฐีไทย’  https://positioningmag.com/1321958 Fri, 05 Mar 2021 13:10:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1321958 สถาบันการเงิน เร่งเครื่องดันธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง เเย่งลูกค้าเศรษฐีกันดุเดือด ด้วยความที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าการออกสินเชื่อ เเถมยังมีการเติบโตสูง สร้างรายได้ดี เเม้จะเจอวิกฤตเศรษฐกิจ

    SCB เป็นอีกหนึ่งเจ้าใหญ่ในไทยที่ประกาศจะขึ้นเป็นผู้นำในตลาด Private Banking โดยตั้งเป้าภายใน 3 ปีจะมี AUM สู่ระดับ 1 ล้านล้านบาทให้ได้

    สารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธุรกิจ Wealth Management ดูเเลพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้าผู้มั่งคั่งเติบโตขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาท่ามกลางโรคระบาด

    ด้วยสภาพคล่องที่ล้นตลาดทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก การออมเงินฝากหรือพันธบัตร ไม่ได้ให้ผลตอบเเทนที่ดีมากนัก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต้องหาทางลงทุนอื่นๆ ที่ได้ผลตอบเเทนมากขึ้น เเม้จะความผันผวนในตลาดสูง

    โดยกลุ่มผู้มีสินทรัพย์สูง หรือ HNWIs (มีสินทรัพย์ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป) มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้คำเเนะนำการดูเเลพอร์ตมากขึ้น ทำให้ธุรกิจ Private Banking ขยายตัวตามไปด้วย

    ตลาด Wealth โตพุ่ง โอกาสจับ ‘เศรษฐีไทย’ 

    SCB ประเมินว่า ภาพรวม Wealth ทั่วโลกในปี 2024 จะเติบโต 7% เมื่อเทียบกับปี 2018 โดยจะขยายตัวมากที่สุดในจีน เเละเอเชียแปซิฟิก

    สำหรับตลาด Wealth ในประเทศไทย คาดว่าจะเติบโต 5% สูงกว่า GDP ไทยถึง 2 เท่า โดยจำนวนลูกค้า Wealth ทั้งหมดในไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 8.86 แสนคน เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2018 ที่อยู่ราว 7.1 แสนคน

    ประชากร 1% ของคนไทย ถือครองทรัพย์สิน 80% ของทั้งประเทศ

    ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-10 ‘เศรษฐีหลายราย ต้องการพึ่งพาที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ เพราะการเดินทางยังลำบาก เราจึงได้เห็นสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่งเริ่มมาเปิดธุรกิจบริหารความมั่งคั่งร่วมกับสถาบันการเงินท้องถิ่นมากขึ้น

    ไม่ว่าจะเป็น Credit Suisse ที่เปิดตัวในปี 2016 ต่อมาในปี 2018 กลุ่มธุรกิจบริการ Private Banking รายใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์อย่าง Julius Baer ได้เปิดตัวธุรกิจกับพันธมิตรอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB ถือหุ้นใหญ่ 60% ส่วน Julius Baer ถือหุ้น 40%) เเละในปี 2019 สถาบันการเงินจากลิกเตนสไตน์อย่าง LGT ก็ได้มาเปิดสำนักงานในไทย เเละล่าสุด HSBC จากอังกฤษ ก็เตรียมตั้งธุรกิจ Private Banking ในไทย

    ข้อมูลจาก HSBC ระบุว่า สินทรัพย์ที่นักลงทุนกลุ่ม High Net Worth (HNW) ในเอเชียถือครอง จะเพิ่มขึ้นไปสู่ 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ภายในปี 2025 ถือว่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2017

    นี่จึงเป็นโอกาสทอง เเละการเเข่งขันที่สูงมากเช่นนี้ ทำให้ธุรกิจ Private Banking ต้องงัดหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาเพื่อครองใจลูกค้าให้ได้มากที่สุด

    บริหารความมั่งคั่ง คือ New S-Curve 

    ปัจจุบันธุรกิจ Wealth ของไทยพาณิชย์ มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่อยู่ภายใต้การบริหาร (AUM) ราว 8.5 แสนล้านบาท เเละในปี 2024 ตั้งเป้าจะมี AUM สู่ระดับ 1 ล้านล้านบาท ภายใต้แนวคิด BEAT THE BENCHMARK

    โดยมีฐานลูกค้า Wealth จำนวนกว่า 3 เเสนราย (จากราว 7 เเสนรายทั้งประเทศ) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

    • ลูกค้า SCB Prime มีสินทรัพย์ 2-10 ล้านบาท
    • ลูกค้า SCB First มีสินทรัพย์ 10-50 ล้านบาท
    • ลูกค้า SCB Private Banking มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป

    ธนาคารได้เริ่มแผน Wealth Transformation มาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งปีนั้นสร้างรายได้ให้ธนาคารคิดเป็น 7% ของรายได้รวม และ 31% ของรายได้ค่าธรรมเนียม จากนั้นก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2020 สามารถทำรายได้ถึง 15% ของรายได้รวม และ 56% ของรายได้ค่าธรรมเนียม

    ธุรกิจ Wealth Management จึงกลายมาเป็น New S Curve ของไทยพาณิชย์

    โดยคาดว่า AUM ลูกค้ากลุ่ม Wealth ของไทยพาณิชย์จะโตเฉลี่ยปีละ 10-12% และปี 2566 คาดว่าจะมี AUM 1 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมคาดว่าจะเติบโตได้ในอัตราสองหลัก 

    ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมารายได้จากธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของธนาคาร เติบโตกว่า 25% แม้จะเผชิญกับสถานการณ์วิกฤต COVID-19

    ณรงค์ ศรีจักรินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เล่าว่า เมื่อ 4 ปีก่อน ธนาคารได้เฟ้นหาพนักงานหัวกะทิที่โดดเด่นที่สุดของสาขา 1,100 คน มาร่วมทีม Wealth Management โดยมีการจัดเทรนนิ่งอย่างเข้มข้น จนตอนนี้ธนาคารมี RM (Relationship Manager) ที่มีใบรับรองมากที่สุดในไทย

    หลักๆ จะเน้นการสร้างขีดความสามารถในการให้คำปรึกษา (Advisory Capability) ควบคู่ไปกับการปรับ ‘Operating Model’ พัฒนาโซลูชันด้านการลงทุนเเบบ Open Architecture คือการมีผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าเลือกลงทุนจากบริษัทพันธมิตรเเละประกัน (ตอนนี้มีอยู่ 35 แห่ง) ไม่ได้มีเเค่ผลิตภัณฑ์ของ SCB เท่านั้น รวมทั้งมีการนำระบบ AI เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการพอร์ต สร้างเเพลตฟอร์มเฉพาะมาบริการเพื่อช่วยให้ลูกค้าเห็นการลงทุนของตัวเองชัดเจนขึ้น

    โดยทิศทางของกลุ่มธุรกิจ SCB Wealth ในปี 2021 จะโฟกัสและมุ่งเน้นการเติบโตของเซ็กเมนต์ Private Banking เพื่อจับลูกค้าใหม่ที่มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป

    เมธินี จงสฤษดิ์หวัง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Private Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า กลุ่มลูกค้า Wealth ของไทยพาณิชย์ เมื่อดู Investment AUM (ไม่รวมเงินฝาก) จะมีสินทรัพย์อยู่ประมาณ 5.7 แสนล้านบาท จาก AUM ทั้งหมดที่ 8.5 แสนบาท สามารถสร้างผลตอบแทนจากการบริหารพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้าได้ 14.9% ในระยะเวลา 1 ปี (1 .. – 31 .. 2020) 

    มธินี จงสฤษดิ์หวัง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Private Banking ธนาคารไทยพาณิชย์

    โดยในปี 2021 นี้ SCB Private Banking จะดำเนินธุรกิจ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ดังนี้

    • Investment Solutions for Wealth Preservation ต่อยอดความมั่งคั่งให้ลูกค้า โดยจะมีลงทุนทั้งในและต่างประเทศในสินทรัพย์ที่หลากหลายประเภท กว่า 10,000 หลักทรัพย์และกองทุน ทั้ง Public assets หรือ Private assets
    • Business Solutions for Wealth Creation บริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจอย่างรอบด้าน เปิดโอกาสการลงทุนแบบใหม่ๆ เช่น สินเชื่อ SCB Property Backed Loan ที่เปิดตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ให้ลูกค้านำไปเพิ่มกระแสเงินสด
    • SCB Financial Business Group ประสานกับธุรกิจส่วนต่างๆ ทั้งหมดในธนาคารไทยพาณิชย์ให้ครบวงจรเพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้า

    สำหรับข้อเเนะนำในการลงทุนในปีนี้ ผู้บริหาร SCB บอกว่า ควรจะกระจายความเสี่ยงในต่างประเทศ โดยเน้นธุรกิจที่เติบโตในยุค New Normal อย่าง อีคอมเมิร์ซ การขนส่งเเละธุรกิจคลาวด์

    นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการลงุทนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม พลังงานหมุนเวียน ตามที่จะเห็นรัฐบาลใหญ่ๆ ของโลกทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ต่างออกนโนบายเพื่อขับเคลื่อนสิ่งนี้

    ขณะเดียวกันภาวะดอกเบี้ยต่ำที่จะดำเนินต่อเนื่องผู้ลงทุนก็ต้องมองหาผลตอบแทนที่มากกว่า เช่น ตราสารหนี้ , หุ้น เป็นต้น

    โดยในปีนี้เเนะนำแบ่งพอร์ตการลงทุนเป็น 60% ลงทุนในหุ้น และ 40% ลงทุนในตราสารหนี้ เเละช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง ให้ปรับตราสารหนี้เป็น 50-60% เเละเมื่อการกระจายวัคซีนได้ผลดีจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ได้เเล้ว เเนะให้ถือตราสารหนี้ลดลงเหลือ 30% พร้อมกับการติดตามข่าวสารเเละนโนบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด

     

     

    ]]>
    1321958
    สตาร์ทอัพอินโดนีเซีย คึกคัก ‘Traveloka’ เตรียมเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผ่านวิธี SPAC ภายในปีนี้ https://positioningmag.com/1319802 Wed, 17 Feb 2021 07:30:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319802 เหล่าสตาร์ทอัพสัญชาติอินโดนีเซียกำลังรุ่ง ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ล่าสุด ‘Traveloka’ เเพลตฟอร์มด้านท่องเที่ยวออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เตรียมยื่นจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ผ่านวิธี SPAC ภายในปีนี้ 

    Ferry Unardi ซีอีโอของ Traveloka ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ถึงมุมมองต่อ Special Purpose Acquisition Company หรือ SPAC ว่ามีประสิทธิภาพมาก

    ถ้าเรายิ่งทำได้เร็ว ก็จะสามารถมุ่งเน้นไปที่การดำเนินการและการเติบโตของบริษัทได้พร้อมเเย้มว่า Traveloka อาจพิจารณาจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นอินโดนีเซียในอนาคต

    โดยขณะนี้ บริษัทได้หารือกับ JP Morgan เพื่อจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ซึ่งต้องมีการศึกษาเพื่อหาตัวเลือกที่เหมาะสมก่อนที่จะควบรวม หรือซื้อกิจการ หลังการจดทะเบียนต่อไป

    การเข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่านวิธี SPAC มากกว่าจะขายหุ้นให้สาธารณะเเบบ IPO ดั้งเดิม กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่บริษัทสตาร์ทอัพเลือกใช้ เรียกง่ายๆ ว่า SPAC คือบริษัทที่สร้างขึ้นมาเพื่อระดมเงินทุนไปซื้อบริษัทอื่น

    โดย Pwc ให้คำจำกัดความของ SPAC ว่า เป็นบริษัทที่จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ได้ระดมเงินจากนักลงทุนแล้ว แต่ไม่มีแผนธุรกิจแน่ชัด อาจเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในธุรกิจอื่น หรือมีความตั้งใจจะควบรวมเเละเข้าซื้อกิจการอื่น ซึ่งบริษัท SPAC มีเวลา 2 ปีในการหาธุรกิจที่น่าสนใจเพื่อลงทุน หากเลยระยะเวลาดังกล่าวเเล้วบริษัทจะต้องคืนเงินให้แก่นักลงทุน

    ด้านสตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซียอย่าง Gojek และ Tokopedia ก็กำลังอยู่ระหว่างการสรุปเงื่อนไขการควบรวมกิจการ ก่อนที่จะจดทะเบียนนิติบุคคลร่วมกันในอินโดนีเซียและสหรัฐฯ

    โดยทางการอินโดนีเซีย กำลังพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้ถือหุ้นแบบ ‘Dual-Class’ สำหรับหุ้น IPO ของสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น

    Traveloka เริ่มก่อตั้งบริษัทมาตั้งเเต่ปี 2012 ให้บริการจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน ได้รับความนิยมในภูมิภาคอาเซียน เมื่อผู้บริโภคสามารถจองเที่ยวบินและโรงแรมข้ามประเทศได้ง่ายขึ้น มีเเผนจะขยายการให้บริการในด้านไลฟ์สไตล์ให้หลากหลาย ไปจนถึงให้บริการทางการเงิน

    เมืองฮอยอัน ประเทศเวียดนาม (Photo : Photo by Văn Long Bùi from Pexels)

    ปัจจุบัน Traveloka ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทลงทุนใหญ่ๆ อย่าง Expedia Group , กองทุนความมั่งคั่งของสิงคโปร์ GIC และ JD.com ผลักดันให้บริษัทมีมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    จากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก มีรายงานว่า Traveloka เกือบจะตัดสินใจระดมทุน เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าต่ำกว่าการระดมทุนรอบก่อน

    นอกจากนี้ ยังลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ ด้วยการปรับลดตำแหน่งงานในช่วงการเเพร่ระบาด โดยมีการปลดพนักงานในสิงคโปร์ไปราว 80 ตำเเหน่ง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

    อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ Traveloka ยืนยันว่า มีการวางแผนจะลงทุนเพิ่มเติมในผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อดึงดูดนักเดินทางมากขึ้น โดยในส่วนธุรกิจท่องเที่ยวของบริษัท เริ่มกลับมามีกำไรบ้างเเล้ว หลังประเทศต่างๆ ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ แต่ก็ยังไม่มากนัก

     

     

    ที่มา : Bloomberg , nikkei

    ]]>
    1319802
    Panasonic เตรียมปิดโรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในไทย ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม https://positioningmag.com/1279910 Thu, 21 May 2020 07:38:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1279910 Panasonic ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น เตรียมปิดโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในไทย ภายในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ (ราวเดือน ก.ย.) โดยตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปผนวกกับโรงงานในเวียดนาม เพื่อลดต้นทุนการจัดหาชิ้นส่วนเเละเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

    Nikkei Asian Review สื่อใหญ่ญี่ปุ่น รายงานว่า โรงงานของ Panasonic ในไทยเตรียมจะหยุดการผลิตเครื่องซักผ้าในเดือน ก.ย. และหยุดการผลิตตู้เย็นในเดือน ต.ค. ส่วนตัวอาคารโรงงานผลิตจะปิดตัวในเดือน มี.ค. ปี 2021 พร้อมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ใกล้เคียงก็จะปิดตัวลงด้วยเช่นกัน

    ปัจจุบัน Panasonic มีพนักงานประมาณ 800 คนที่ทำงานที่โรงงานในกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงที่จะเสียตำเเหน่งงานที่เคยทำอยู่เเต่จะได้รับการช่วยเหลือด้วยการหาตำแหน่งงานใหม่ภายในกลุ่มบริษัทให้

    การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามครั้งนี้ เนื่องจากโรงงานของ Panasonic ที่ตั้งอยู่นอกกรุงฮานอย เป็นศูนย์กลางการผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนนี้ก็ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ ดังนั้นบริษัทจึงต้องการลดต้นทุนผ่านกระบวนการจัดหาจัดซื้อชิ้นส่วนประกอบที่ผนวกรวมของไทยเเละเวียดนามเข้าไปด้วยกัน

    โดยโรงงานของ Panasonic ในเวียดนาม มีการจ้างงานราว 8,000 คน นอกจากจะเน้นผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่แล้ว ยังมีการผลิตสินค้าอย่าง ทีวี โทรศัพท์ไร้สาย เครื่องชำระเงินด้วยบัตร และอุปกรณ์เครื่องใช้ในอุตสาหกรรม เป็นต้น

    Nikkei Asian Review มองว่าการย้ายฐานการผลิตดังกล่าว สะท้อนถึงบทใหม่ของอุตสาหกรรมภาคการผลิต
    ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งเเต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาที่บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นได้โยกย้ายฐานการผลิตในประเทศ ไปยังสิงคโปร์เเละมาเลเซีย เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น
    เเละการผลิตในญี่ปุ่นก็ไม่สามารถเเข่งขันด้านราคาได้

    หลังจากนั้นฐานการผลิตก็มีการโยกย้ายเข้าสู่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น ประเทศไทย เนื่องจากค่าจ้างเเรงงาน
    ของสิงคโปร์เเพงขึ้นอย่างมาก โดย Panasonic เริ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขนาดใหญ่ในไทยมาตั้งแต่ปี 1979

    เเละปัจจุบันบริษัทเหล่านี้ กำลังมองหาแหล่งผลิตใหม่ที่มีต้นทุนต่ำลงกว่านี้อีก ประกอบกับต้องการนำสินค้าประเภท
    ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ เข้าเจาะตลาดประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรจำนวนมากในอาเซียน อย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เเละเวียดนาม ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเเละค่าเเรงต่ำ

    ขณะเดียวกัน Panasonic กำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กร มีเป้าหมายพื่อลดค่าใช้จ่ายประมาณ 1 แสนล้านเยน (ราว 930 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ให้ได้ภายในปีการเงินที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. ปี 2022 โดยกำลังพิจารณาให้มีปรับเปลี่ยนเเละโยกย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่อไป

     

    ที่มา : Panasonic to move appliance production from Thailand to Vietnam

     

    ]]>
    1279910
    ตลาดบะหมี่ซองโตอืด ‘มาม่า’ อยากโต ต้อง “โก” ประเทศเพื่อนบ้าน  https://positioningmag.com/1213380 Mon, 11 Feb 2019 11:18:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1213380 ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยอยู่ในสภาพโตถดถอยต่อเนื่อง “มาม่า” ซึ่งครองตลาดเกินครึ่งก็ยอมรับว่าอยู่ในภาวะ “อิ่มตัว” มาตลอด  

    พิพัฒ พะเนียงเวทย์ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ มาม่า เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย การเติบโตเริ่มลดน้อยถอยลง และโอกาสที่จะผลักดันให้ตลาดรวมเติบโตมากเหมือนในอดีตคงยาก

    เมื่อตลาดในประเทศไม่เป็นใจ ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ จึงต้องสร้างโอกาสใหม่ๆ ด้วยการขยับไปลงทุนต่างประเทศ ด้วยการลงทุนในสร้างฐานการผลิตใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจและขยายตลาดเพิ่มขึ้น

    โดยเลือกประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง 2 แห่ง อย่าง เมียนมา และกัมพูชา เป็นเป้าหมายหลักในการขยายตลาด

    โดยใช้งบประมาณรวม 660 ล้านบาท เพื่อลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปใหม่อีก 2 แห่ง ที่เมียนมากับกัมพูชา โดยจะสร้างโรงงานใหม่ ที่เมืองมัณฑะเลย์ เนื้อที่โรงงาน 16 ไร่ งบลงทุน 330 ล้านบาท ซึ่งหากโรงงานใหม่นี้แล้วเสร็จ จะเป็นโรงงานที่ 3 ในเมียนมา จากเดิมที่มีอยู่ 2 โรงงานผลิต และจะมีกำลังผลิตใหม่เพิ่มอีก 1 เท่าตัว

    ปัจจุบันอัตราการบริโภคของคนเมียนมาต่ำแค่ 11.1 ซองต่อคนต่อปี เท่านั้นเอง ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับตลาดในประเทศไทย ที่บริโภคเฉลี่ย 49 ซองต่อคนต่อปีแล้ว

    เพราะเป้าหมายหลักของมาม่าในเมียนมา คือการผลักดันให้แบรนด์มาม่ามียอดขายรวมเป็นผู้นำตลาดให้ได้ภายในปี 2563 ซึ่งปัจจุบันมาม่ามีแชร์ประมาณ 30% ในเมียนมา เป็นเบอร์สองรองจากแบรนด์ยำยำจากไทยเช่นกัน

    ส่วนอีกแห่งที่ลงทุนสร้างโรงงานผลิตใหม่คือ ที่พนมเปญ กัมพูชา ด้วยงบลงทุนประมาณ 330 ล้านบาท ขณนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตก่อสร้าง คาดว่าอีกประมาณ 2 เดือนจากนี้จะเริ่มก่อสร้างโรงงานได้

    นอกจากที่เมียนมากับกัมพูชาแล้ว มาม่ายังมีฐานการผลิตในต่างประเทศอีกหลายแห่ง คือที่ ลาว 1แห่ง มีกำลังการผลิตมาม่าประมาณ 40,000 หีบต่อเดือน และยังมีการนำเข้าบะหมี่ซองจากไทยไปด้วยประมาณ 40,000 หีบ และแบบถ้วยอีก 140,000 หีบ และยังมีโรงงานที่บังกลาเทศกับฮังการีด้วย

    บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายปี 62 มียอดขายรวมเติบโต 3.5% เพิ่มขึ้นจากปี 61 ที่มียอดขาย 12,460 ล้านบาท เติบโต 5.49% แบ่งสัดส่วนรายได้มาจากในประเทศ 70% และต่างประเทศ 30%.

    ส่วนฐานการผลิตในไทย ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาได้เริ่มนำระบบเครื่องจักรผลิตอัตโนมัติเข้ามาทดลองใช้ในโรงงานที่ลำพูน 2 แห่งแล้ว และมีแผนที่จะขยายการใช้เครื่องจักรผลิตอัตโนมัตินี้ไปยังโรงงานที่ระยอง และชลบุรี อีกด้วย.

    ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9620000014370

    ]]>
    1213380