ห้างสรรพสินค้า – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 14 Feb 2024 12:26:13 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 กันขโมยไม่ไหว! ห้างสหรัฐฯ “Target” เริ่มจำกัดการใช้ “ช่องชำระเงินด้วยตนเอง” (Self Check-out) https://positioningmag.com/1462735 Wed, 14 Feb 2024 12:11:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1462735 ห้างสรรพสินค้า “Target” ในสหรัฐฯ เป็นรีเทลรายล่าสุดที่เปลี่ยนนโยบายการใช้ “ช่องชำระเงินด้วยตนเอง” (Self Check-out) โดยห้างนี้ใช้วิธีจำกัดชั่วโมงการใช้งานเป็นบางช่วงเวลา และกำหนดให้ใช้เฉพาะลูกค้าที่ชำระเงินไม่เกิน 10 ชิ้น สาเหตุหลักคาดว่ามาจากปัญหาการขโมยของหรือการเนียนไม่จ่ายเงินเป็นบางชิ้น

เมื่อปี 2023 รีเทลหลายรายของสหรัฐฯ ต่างเปลี่ยนนโยบายการใช้ “ช่องชำระเงินด้วยตนเอง” (Self Check-out) เพราะพบว่าช่องนี้ไม่ได้ช่วยลดแรงงานคนลง แถมยังทำให้ขโมยของง่ายขึ้นด้วย

ล่าสุดห้าง “Target” เป็นอีกหนึ่งรายที่เปลี่ยนนโยบายการใช้ช่องชำระเงินด้วยตนเอง โดยอนุญาตเฉพาะลูกค้าที่จะซื้อสินค้าไม่เกิน 10 ชิ้นเท่านั้นที่สามารถใช้ช่องนี้ได้ ทางห้าง Target ให้เหตุผลว่า “เพื่อลดเวลาการรอชำระเงิน และทำให้เราเข้าใจความต้องการของลูกค้ามากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Business Insider มีข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวพนักงานของห้างสรรพสินค้า “Target” หลายคนบอกตรงกันว่า สาขาที่ตนทำงานไม่ใช่แค่ให้จ่ายค่าสินค้าได้ไม่เกิน 10 ชิ้นที่ช่องชำระเงินด้วยตนเอง แต่ห้างยังปิดช่องนี้ในช่วงเวลาก่อน 10 โมงเช้าและหลัง 2 ทุ่มด้วย

ทั้งนี้ การพิจารณาปิดช่องเป็นช่วงเวลาเกิดขึ้นแค่บางสาขาเท่านั้น จากทั้งหมด 2,000 สาขาที่ Target มีในสหรัฐฯ คาดว่าหลักเกณฑ์พิจารณาขึ้นอยู่กับยอดขายสาขาและจำนวนพนักงานในสาขานั้นๆ

พนักงานคนหนึ่งจากสาขาในรัฐมิชิแกนระบุว่า ปกติห้าง Target จะเปิดเวลา 7 โมงเช้าหรือ 8 โมงเช้า และจะปิดเวลา 4 ทุ่มตรง การปิดช่องชำระเงินด้วยตนเองในช่วงเช้าและช่วงดึกน่าจะทำให้ลูกค้าหงุดหงิดมาก และพนักงานคงต้องอธิบายไปตามตรงว่า “ต้องปิดเพื่อป้องกันขโมย”

ก่อนหน้านี้มีการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าอัตราสินค้าที่ไม่ถูกสแกนเมื่อใช้ช่องชำระเงินด้วยตนเองนั้นสูงถึง 6.7% (รวมทั้งที่ตั้งใจไม่สแกนจ่ายและที่เผลอลืมสแกน) ถือว่าสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับอัตราสินค้าที่ไม่ถูกสแกนเมื่อใช้ช่องแคชเชียร์ปกติซึ่งมีเพียง 0.3% เท่านั้น

สต็อกสินค้าที่เหลือกับยอดขายที่ไม่ตรงกัน ทำให้ห้างสรรพสินค้าต่างๆ เริ่มรู้ตัวว่าช่องชำระเงินด้วยตนเองอาจจะก่อปัญหา

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยชิ้นอื่นที่พบว่าการให้ลูกค้าชำระเงินด้วยตนเอง จะทำให้ “แบรนด์ลอยัลตี้” เป็นไปในเชิงลบ โอกาสที่พนักงานจะเสนอโปรโมชันหรือแคมเปญต่างๆ จากทางห้างฯ ก็ยากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น พนักงาน Target สาขาในรัฐโอคลาโฮม่าบอกว่า ขณะนี้ห้างฯ กำลังเน้นให้พนักงานโปรโมตบัตรเครดิต Target Red ของบริษัท ซึ่งแปลว่าถ้าแคชเชียร์ได้เจอลูกค้าก็จะมีโอกาสขายของง่ายกว่า

เมื่อปีที่แล้วรีเทลรายใหญ่ของสหรัฐฯ​ เริ่มเปลี่ยนนโยบาย Self Check-out กันหลายราย เช่น Costco กลับมามีพนักงานประกบที่เครื่องชำระเงินด้วยตนเอง ขณะที่ Walmart กับ Kroger ทดลองนำเครื่องชำระเงินด้วยตนเองออกบางสาขาแล้ว

Source

]]>
1462735
ระบบชำระเงินด้วยตนเอง (Self-Checkout) ในห้างฯ ส่อแววไม่ได้ช่วยลดการใช้แรงงานตามคาด https://positioningmag.com/1447227 Sat, 07 Oct 2023 10:05:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1447227 ห้างสรรพสินค้าจำนวนมากหันมาใช้ “ระบบชำระเงินด้วยตนเอง” (Self-Checkout) เพื่อหวังจะลดต้นทุนการใช้แรงงาน แต่หลังใช้งานไปได้ระยะหนึ่ง ดูเหมือนห้างฯ ก็ยังต้องพึ่งพิง “พนักงาน” ไปดูแลการใช้งานเครื่องเหล่านี้ของลูกค้า เพื่ออำนวยความสะดวกและป้องกันขโมย

หลังจาก “ระบบชำระเงินด้วยตนเอง” (Self-Checkout) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ปัจจุบันห้างสรรพสินค้าจำนวนมากหันมาใช้ระบบนี้ทดแทนแคชเชียร์บางส่วน ด้วยความหวังว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าแรงงานในห้างฯ ได้

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนความหวังว่าระบบ Self-Checkout จะช่วยปฏิวัติวงการจะยังไม่เกิดขึ้นจริง ในสหรัฐอเมริกา ห้างฯ ค้าปลีกรายใหญ่อย่าง Costco, Walmart และ Kroger เริ่มพิจารณาระบบนี้ใหม่แล้ว เพราะบริษัทพบว่าห้างฯ ก็ยังต้องมีพนักงานควบคุมพื้นที่ Self-Checkout อยู่ดี เพื่อคอยอำนวยความสะดวกในการใช้เครื่องของลูกค้า สอดส่องการขโมยของ และตรวจสอบใบเสร็จรับเงิน

Costco เริ่มกลับมามีพนักงานคอยตรวจตราการกรอกเลขสมาชิกลงในเครื่องชำระเงินด้วยตนเอง และช่วยสแกนสินค้าที่เครื่อง

บริษัทกล่าวว่า บริษัทต้องการทลายพฤติกรรมการใช้เลขบัตรสมาชิกร่วมกันของผู้ซื้อ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมการโกงรูปแบบหนึ่ง เพราะ Costco มีการคิดค่าธรรมเนียมสมาชิกและจุดนี้ถือเป็นจุดทำกำไรของบริษัท

ขณะที่ Walmart ระบุว่า บริษัทมีการยกเลิกระบบ Self-Checkout กลับไปใช้พนักงานปกติ 3 สาขา ในอัลบูเคอร์คี รัฐนิวเม็กซิโก ซึ่งบริษัทไม่ได้อธิบายเหตุผลการเปลี่ยนแปลงนี้ บอกแต่เพียงว่าไม่ได้มีแผนจะยกเลิกระบบชำระเงินด้วยตนเองหมดทุกสาขาแต่อย่างใด

ส่วนห้างฯ Kroger กล้าเสี่ยงมากกว่าใคร ปัจจุบันมีอย่างน้อย 1 สาขาที่บริษัททดลองลงระบบ Self-Checkout ทั้งหมด ไม่มีพนักงานคิดเงินแบบปกติเลย แต่ Kroger ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Retail Dive พบว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ทำให้ต้นทุนแรงงานลดลงเลย เพราะบริษัทก็ยังต้องมีพนักงานในบริเวณนั้นเพื่อช่วยสแกนสินค้าและช่วยหยิบของใส่ถุงอยู่ดี

เทคโนโลยีนี้จึงดูเหมือนว่าจะไม่ได้ช่วยลดการใช้แรงงานอย่างที่คาดหวังกันไว้

 

ห้างฯ ต้องลงทุนเทคโนโลยีป้องกันขโมยเพิ่ม

อุตสาหกรรมค้าปลีกประเมินกันว่า ความเสียหายจากการขโมยหรือความผิดพลาดในการสแกนสินค้าเองของลูกค้า เพิ่มขึ้น 31-60% หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่ามีเคาน์เตอร์ Self-Checkout มากแค่ไหนในสาขา

Matt Kelley ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการสูญเสียที่เคยทำงานอยู่ในแผนกปกป้องทรัพย์สินของ Home Depot กล่าวกับ Insider ว่า เมื่อปีที่แล้ว ระบบ Self-Checkout กดดันให้ห้างฯ ต้องเลือกระหว่างการประหยัดต้นทุนแรงงานกับการขโมยที่เพิ่มมากขึ้น

“เป็นเรื่องธรรมชาติที่ระบบชำระเงินด้วยตนเองหมายถึงการมีสายตามองการทำธุรกรรมน้อยลง” Kelly กล่าว “และโอกาสก็จะมากขึ้นที่คนไม่ซื่อสัตย์จะได้ทำตัวไม่ซื่อสัตย์”

Wallmart และ Kroger หันมาใช้เซ็นเซอร์และวิดีโอมอนิเตอร์เพื่อติดตามการใช้งาน Self-Checkout แต่ลูกค้าบางคนบอกกับสำนักข่าว Insider ว่า พวกเขาก็ยังเห็นคนแอบไม่สแกนสินค้าและไม่มีเสียงเตือนเกิดขึ้นอยู่ดี

การไม่สแกนสินค้าบางครั้งก็ไม่ได้เป็นความตั้งใจ คนและเครื่องสามารถสร้างความผิดพลาดได้เสมอ แต่ทางออกก็ไม่ได้ต่างจากการป้องกันการขโมย คือยังต้องใช้พนักงานมาคอยควบคุมและช่วยเหลือลูกค้า

Christopher Andrews นักสังคมวิทยาจาก Drew University กล่าวกับ CNN เมื่อปีก่อนว่า Self-Checkout ไม่ได้เป็นระบบเก็บเงินอัตโนมัติอย่างที่กลุ่มค้าปลีกคาดหวังไว้เลย แต่กลับกันระบบนี้ต้องใช้พนักงานมาคอยดูแลทั้งพนักงานช่วยเหลือที่เครื่อง พนักงานบำรุงรักษา และพนักงานไอที

ห้างค้าปลีกหลายแห่งยังคงลงทุนกับเทคโนโลยีชำระเงินด้วยตนเองอยู่ แต่บางแห่งก็เริ่มจะพิจารณาใหม่แล้วว่าจะใช้งานระบบนี้อย่างไร และจะดึงมนุษย์มาทำงานร่วมกับเครื่องอย่างไรเพื่อให้ระบบนี้ทำงานได้อย่างลื่นไหล

Source

]]>
1447227
ค้าปลีก 2565 ปัจจัย “เงินเฟ้อ” ยังรุมเร้า ผู้บริโภคเน้นซื้อสินค้าจำเป็น แฟชั่น-บิวตี้ยังฟื้นตัวช้า https://positioningmag.com/1389653 Wed, 22 Jun 2022 09:41:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1389653
  • SCB EIC คาดมูลค่าธุรกิจ “ค้าปลีก” 2565 กลับมาโต 11% YoY จากการเปิดเมือง การท่องเที่ยวฟื้น แต่ปัจจัยลบยังรุมเร้าจากค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลต่อราคาสินค้าและกำลังซื้อผู้บริโภค
  • การฟื้นตัวจะไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่มสินค้า กลุ่มของสด (grocery) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นจะฟื้นตัวได้ดี รวมถึงกลุ่มซ่อมแซมตกแต่งบ้านและสวน ยังไปได้ดีจากพฤติกรรมอยู่บ้านมากขึ้น ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยกลุ่มแฟชั่นและบิวตี้ยังฟื้นอย่างช้าๆ
  • ช่องทางค้าปลีกที่ได้อานิสงส์คือกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และอีคอมเมิร์ซ ส่วนห้างสรรพสินค้าและร้านเครื่องสำอางจะยังซบเซา
  • SCB EIC เปิดรายงานคาดการณ์ธุรกิจ “ค้าปลีก” ปี 2565 คาดการณ์ว่า ตลาดจะกลับมาโต 11% YoY หรือคิดเป็นมูลค่า 3.45 ล้านล้านบาท (ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งมีมูลค่าตลาด 3.48 ล้านล้านบาท) เนื่องจากผู้บริโภคมีการเดินทาง ออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ช่วยเสริมกำลังซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564

    อย่างไรก็ตาม EIC มองว่า “ปัจจัยลบยังมีมากกว่าปัจจัยบวก” เพราะราคาพลังงานพุ่งสูง ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า หมวดไฟฟ้า ประปา เชื้อเพลิง ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 14.4% นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งมีผลต่อต้นทุนราคาสินค้าเกือบทุกหมวดปรับราคาขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ ขึ้นมา 15.5% และหมวดการขนส่งและการสื่อสารขึ้นมาแล้ว 10.8%

    เมื่อรวมกับปัจจัยหนี้ครัวเรือนสูง และอัตราว่างงานสูง ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่ำ และจะส่งผลต่อการเลือกจับจ่ายของผู้บริโภค สินค้าแต่ละกลุ่มในธุรกิจค้าปลีกจะฟื้นตัวแบบไม่เท่ากัน

     

    ของสด-แต่งบ้าน สินค้าจำเป็นที่ผู้บริโภคซื้อมากขึ้น

    สำหรับกลุ่มสินค้าที่ EIC คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีคือกลุ่มของจำเป็น ได้แก่ ของสด (grocery) และ สินค้าซ่อมบ้านและตกแต่งบ้าน

    กลุ่มสินค้าของสดนั้นคาดว่าปี 2565 จะโต 12% YoY ทำให้มูลค่าใกล้เคียงกับปี 2562

    ส่วนสินค้าซ่อมบ้านและแต่งบ้านคาดว่าจะโต 4% YoY กลับมาใกล้เคียงปี 2562 เช่นกัน เนื่องจากบ้านที่มีอายุมาก อายุบ้าน 11-20 ปีจะต้องการรีโนเวตครั้งใหญ่ และอายุบ้าน 5-10 ปี จะต้องการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ สองกลุ่มนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 42% ของที่อยู่อาศัย รวมถึงบ้านอายุน้อยกว่า 5 ปีก็มีการตกแต่งบ้านจากเทรนด์ “อยู่บ้าน” มากขึ้น ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้เติบโตได้

     

    บิวตี้-แฟชั่น ยังฟื้นกลับมาไม่เต็มที่

    ด้านสินค้าบิวตี้นั้น EIC เชื่อว่าปีนี้จะโต 13% YoY แต่เนื่องจากสองปีที่ผ่านมาตลาดหดตัวอย่างมาก ทำให้การฟื้นตัวนี้ยังไม่ใกล้เคียงปี 2562 ต้องรอให้การกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติมากขึ้นก่อน

    สินค้าแฟชั่น เครื่องแต่งกาย และรองเท้าก็เช่นกัน คาดว่าจะโต 14% YoY แต่ยังไม่ใกล้เคียงปี 2562 เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายไปกับสินค้าฟุ่มเฟือย ยกเว้นตลาดระดับลักชัวรีซึ่งพยุงตัวได้มากกว่า เพราะถึงแม้ว่าลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติยังกลับมาไม่มากเท่าก่อนเกิดโรคระบาด แต่ในทางกลับกันลูกค้าคนไทยก็หันมาช้อปภายในประเทศแทน เพราะยังไม่สะดวกเดินทางออกต่างประเทศ

    2565 ค้าปลีก

     

    ช่องทางการขายมีทั้งคึกคักและซบเซา

    จากกลุ่มสินค้าที่มีทั้งกลับมาฟื้นตัวสุดขีด และกลุ่มที่ยังฟื้นแบบช้าๆ ทำให้ช่องทางการขายที่จะได้อานิสงส์มากที่สุดปีนี้คือ “ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต” เพราะเป็นช่องทางขายของสด และผู้ประกอบการมีการปรับโมเดลส่งซูเปอร์ฯ ไซส์เล็กเข้าหาแหล่งชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อจากสาขาใกล้บ้าน (กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตจะต้องมีการปรับตัวต่อไป)

    อีคอมเมิร์ซ ยังเป็นช่องทางมาแรงสำหรับธุรกิจค้าปลีก

    ขณะที่ช่องทางที่น่าจะยังซบเซา ฟื้นตัวได้ไม่มาก คือ “ห้างสรรพสินค้า” ซึ่งเป็นแหล่งขายสินค้ากลุ่มแฟชัน-บิวตี้เป็นหลัก รวมถึง “รีเทลขายเครื่องสำอาง” โดยเฉพาะ ยกเว้นร้านกลุ่มดรักสโตร์ที่มีการขายยาและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพด้วย กลุ่มนี้จะยังได้กระแสรักสุขภาพของคนไทยในช่วงที่ผ่านมาช่วยพยุงยอดขายไว้ได้

    ช่องทางที่น่าสนใจอีกช่องทางหนึ่งคือ “อีคอมเมิร์ซ” EIC คาดว่ามูลค่าตลาดการขายผ่านช่องทางนี้จะโต 24% YoY ในปี 2565 เพราะเป็นช่องทางที่ซื้อสินค้าได้หลากหลาย และเติบโตขึ้นมากจากความสะดวกในช่วงเกิด COVID-19 แม้ว่าจะคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่จากการสำรวจความเห็นผู้บริโภคพบว่า 26% จะใช้อีคอมเมิร์ซซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นอีกเทียบกับการสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 และมี 24% ที่จะยังซื้อสินค้าออนไลน์ด้วยความถี่คงเดิม ทำให้ช่องทางนี้จะยังคงความสำคัญต่อไป

    ]]>
    1389653
    เปิดผลสำรวจ ผู้บริหารค้าปลีกฯ 62% เห็นด้วยเปิดประเทศ 1 พ.ย. นี้ https://positioningmag.com/1356966 Mon, 18 Oct 2021 03:30:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1356966 ผลการสำรวจ TRA Poll ในหัวข้อ “ภาคการค้าปลีกและบริการพร้อมเปิดประเทศ ภายใต้เงื่อนไขมิติเศรษฐกิจและสาธารณสุข” จากการสำรวจผู้บริหารกลุ่มค้าปลีก ค้าส่ง และบริการ จำนวน 283 ราย ครอบคลุมทุกภาคของประเทศ ในระหว่างวันที่ 8-12 ตุลาคม 2564

    พบว่า ผู้บริหาร 62.1% มองว่าด้วยมาตรการสาธารณสุขที่เข้มข้น และจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ค่อยๆ ลดลง เห็นควรสนับสนุนให้ภาครัฐ เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

    ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า

    “จากผลสำรวจของ TRA Poll ของผู้บริหารกลุ่มค้าปลีก ค้าส่ง และบริการ จำนวน 283 ราย ชี้ให้เห็นว่านโยบายการเตรียมเปิดประเทศ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ของภาครัฐ ถือเป็นสัญญาณที่ดี เป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติให้เข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว แต่ต้องขอเน้นย้ำรัฐบาลในเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างจริงจังและเข้มข้น พร้อมทั้งเร่งการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศภายในปี 2564 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รวมทั้งต้องจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ และมีจำนวนที่เพียงพอจนถึงปี 2565 และการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงชุดตรวจ ATK ที่สะดวกและราคารับได้”

    ผลสรุปความคิดเห็นของผู้บริหารกลุ่มค้าปลีก ค้าส่ง และบริการ ในหัวข้อ “ภาคการค้าปลีกและบริการพร้อมเปิดประเทศ ภายใต้เงื่อนไขมิติเศรษฐกิจและสาธารณสุข” มีรายละเอียด ดังนี้

    “อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการเปิดประเทศครั้งนี้ นอกเหนือจากการผ่อนคลายมาตรการทางสาธารณสุขแล้ว สมาคมผู้ค้าปลีกไทยยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ ในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงโดยการนำโครงการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้งหนึ่ง และเพิ่มวงเงินเป็น 200,000 บาท เพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว

    สำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SME ให้จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และเป็นแต้มต่อให้ SME ไทยสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป คนไทยควรปรับแนวคิดว่าจะต้องใช้ชีวิตร่วมกับโควิดให้ได้ และต่อจากนี้ไปเราต้องร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยเข้าสู่การฟื้นฟูอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน”

    ]]>
    1356966
    จับตา ‘ค้าปลีก’ โค้งสุดท้ายปี 64 กลับมาฟื้นตัวเป็นบวก เเต่ผู้บริโภคยังระวังใช้จ่าย https://positioningmag.com/1356736 Fri, 15 Oct 2021 05:51:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1356736 ‘ค้าปลีก’ ส่งสัญญาณฟื้นตัวช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี รับคลายล็อกดาวน์ KBANK ประเมินเศรษฐกิจไทยผ่านจุดเเย่สุดของวิกฤตโควิดมาเเล้ว กลุ่มสินค้าจำเป็น ‘อาหาร-เครื่องดื่ม’ ฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนกลุ่ม ‘เสื้อผ้า-รองเท้า’ ยังหดตัวต่อเนื่อง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย แนะเร่งทำโปรโมชันด้านราคาจับโอกาสตลาดหลังเปิดประเทศ ธุรกิจต้องปรับตัวรับกำลังซื้อที่ไม่เเน่นอน 

    เเนวโน้มค้าปลีก Q4 ฟื้นตัวเป็นบวก 

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ถึง ‘ธุรกิจค้าปลีก’ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 64 ว่าจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้ จากสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับการระบาดในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

    โดยสถานการณ์การระบาดของโควิด และการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนที่เริ่มมีสัญญาณบวก จนทำให้ภาครัฐทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์กิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 64 ไม่ว่าจะเป็นแผนการเปิดประเทศเพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว รวมทั้งสัญญาณความเป็นไปได้ในการกลับมาเปิดดำเนินกิจการของบางธุรกิจ เช่น สถานบันเทิง สะท้อนให้เห็น ถึงโอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่น่าจะผ่านจุดที่แย่ที่สุดจากการระบาดของโควิด-19 มาแล้ว

    เมื่อประกอบกับจังหวะการเร่งออกแคมเปญส่งเสริมการตลาดของภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ส่งผลให้ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า

    “ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 64 น่าจะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวที่ประมาณ 1.4% โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น ช้อปดีมีคืน ในช่วงปลายปีไว้แล้วระดับหนึ่ง แต่หากภาครัฐมีการปรับหรือเพิ่มขนาดของมาตรการ ก็อาจจะทำให้ตัวเลขค้าปลีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายขยับสูงขึ้นกว่าที่คาดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่หดตัว -1.2%”

    การคลายมาตรการล็อกดาวน์ น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงเดือนธ.ค. ที่มีเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญอย่างเทศกาลปีใหม่ ซึ่งคาดว่าบรรยากาศของเทศกาลปีใหม่ในปีนี้ น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้วที่เกิดการระบาดคลัสเตอร์สมุทรสาคร

    ในส่วนของผู้ประกอบการค้าปลีก ที่เน้นจำหน่ายสินค้าจำเป็น อย่างอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัว เช่น ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ห้างสรรพสินค้า (โดยเฉพาะในโซนร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ น่าจะทำยอดขายได้ต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 64

    อาหาร-เครื่องดื่มยังขายดี เสื้อผ้า-รองเท้า หดตัวต่อเนื่อง 

    แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ผู้บริโภคยังคงกังวลกับความปลอดภัย และเผชิญกับกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ส่งผลให้ยังคงเลือกใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าที่ยังมีความจำเป็นอย่างอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัว

    ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นอย่างเสื้อผ้า รองเท้า น่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี ส่วนกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่ายอดขายอาจจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกเล็กน้อยในไตรมาส 4 ปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยอดขายทั้งปี 64 น่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อน

    ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เน้นจำหน่ายสินค้าจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ห้างสรรพสินค้า (โดยเฉพาะโซนร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ น่าจะทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น หรือกลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่าผู้ประกอบการค้าปลีกกลุ่มห้างสรรพสินค้า (โซนจำหน่ายสินค้าไม่จำเป็นหรือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า) ร้านค้าเฉพาะอย่าง เช่น ร้านจำหน่ายสินค้าความงาม ร้านวัสดุก่อสร้าง และซ่อมแซมตกแต่งบ้าน (แม้ในบางพื้นที่อาจได้แรงหนุนบ้างจากการซ่อมแซมหลังผ่านอุทกภัย)

    เร่งทำโปรโมชัน สู้ตลาดด้านราคา 

    ภายใต้สถานการณ์ที่ผู้บริโภคยังคงกังวลกับรายได้ และกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ยังคงต้องให้ความสำคัญกับการเร่งทำโปรโมชันการตลาดด้านราคาในช่วงเวลาดังกล่าว ที่เริ่มมีการเปิดประเทศภายหลังสถานการณ์โควิดส่งสัญญาณดีขึ้น

    ควบคู่ไปกับการให้บริการลูกค้าที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และสร้างความประทับใจ รวมถึงผู้ประกอบการจะต้องมีการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อให้ธุรกิจยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้

    Photo : Shutterstock

    ความไม่เเน่นอน กระทบค่าครองชีพ 

    ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่องถึงปี 65 ธุรกิจค้าปลีกยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายอีกหลายประการ ทำให้การดำเนินธุรกิจยังคงยากลำบากต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์น้ำท่วมที่ครอบคลุมพื้นที่ในหลายจังหวัด ซึ่งสร้างความเสียหาย ต่อสินค้าเกษตรและส่งผลต่อราคาตามมา เช่น ผักสด เนื้อสัตว์ และการขนส่งที่อาจจะล่าช้า ราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบกับค่าครองชีพของผู้บริโภค

    ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ หรือมีศักยภาพในการใช้จ่ายยังคงมีจำนวนจำกัด หรือแม้แต่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือเทคโนโลยีในการทำธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจจะเข้ามาเปลี่ยนภาพการทำธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบัน และเกิดผู้เล่นรายใหม่ หรือการปรับตัวของผู้เล่นรายเดิม

    ผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัว หรือรับมือกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้เร็ว ก็น่าจะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ดังนั้นการเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจค้าปลีกก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกในระยะข้างหน้า

    “ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิดในประเทศในระยะข้างหน้า อาจจะมีผลต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจกลับมาของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และการใช้จ่ายของคนในประเทศ รวมถึงภาวะการแข่งขันของธุรกิจที่จำนวนผู้เล่นยังคงทยอยเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้เล่นที่อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์” 

    ]]>
    1356736
    ร้านอาหาร ดิ้นสู้เพื่ออยู่รอด หาพื้นที่เช่าระยะสั้น ทำครัวใหม่นอกห้าง เเก้เกมล็อกดาวน์ https://positioningmag.com/1343270 Tue, 20 Jul 2021 09:29:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1343270 เเบรนด์ดัง ร้านอาหารเล็ก-ใหญ่ในศูนย์การค้าอ่วม ดิ้นรนเเก้เกมผลกระทบจากมาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ ส่งเดลิเวอรี่ไม่ได้ ออกตามหา ‘พื้นที่เช่านอกห้าง’ เพื่อทำครัวชั่วคราวเเห่งใหม่ กระจายตามโซนต่างๆ จะเป็นร้านเก่า ตึกเเถว หรือบ้านที่มีอุปกรณ์ครัวได้หมด !!! 

    จากมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อสกัดการเเพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวานนี้ (20 ..64) รัฐบาลได้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมควบคุมการปิดและเปิดให้บริการในสถานที่ต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าเเละคอมมูนิตี้มอล ทั้ง 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มเป็นเวลา 14 วันตามประกาศ หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

    โดยอนุญาตให้ห้างฯ เปิดให้บริการได้เพียงแค่ 3 กิจการเท่านั้น คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านยา/เวชภัณฑ์ และสถานที่ฉีดวัคซีน

    ดังนั้น ธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ 3 กิจการดังกล่าว จะต้องปิดให้บริการชั่วคราว รวมไปถึงร้านอาหารในห้างฯที่ก่อนหน้านี้ยังเปิดให้บริการได้เเต่ต้องขายเเบบซื้อกลับบ้านและฟู้ดเดลิเวอรี่ เเต่จากมาตรการล่าสุดนั้น ร้านอาหารในห้างฯ จะไม่สามารถขายได้เลยแม้แต่ช่องทางเดลิเวอรี่

    หลังปรับตัวรับวิกฤตโควิดมาหลายรอบ บรรดาร้านอาหารต้องดิ้นรนอีกครั้งเพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้เเละต้องระบายวัตถุดิบที่มีอยู่

    เเบรนด์ต่างๆ จึงตัดสินใจเเก้เกมนี้ ด้วยการประกาศหาพื้นที่เช่าที่มีทำเลอยู่นอกห้างสรรพสินค้า หลากหลายโซนในกรุงเทพฯ เพื่อทำเป็นครัวเเห่งใหม่เนื่องจากตอนนี้ หากเป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่นอกห้าง ยังสามารถเปิดขายเดลิเวอรี่ได้ถึงเวลา 20.00 .

    เริ่มจาก Zen Group เชนร้านอาหารรายใหญ่ ที่มีเเบรนด์ในมืออย่าง ZEN, On The Table และ AKA ระบุว่า

    ท่านใดมีร้านอาหารนอกห้าง ที่มีครัวและอุปกรณ์ครัว โดยไม่ได้เปิดร้าน สนใจอยากให้เช่า โซนดังต่อไปนี้ ลาดพร้าว อนุสาวรีย์ ทองหล่อ สาทร สีลม เพลินจิต พระราม 3 สาธุประดิษฐ์ รามอินทรา (แฟชั่นไอซ์แลนด์) เจริญนคร บางกะปิ สยาม พร้อมพงษ์ รัตนาธิเบศร์ งามวงศ์วาน ปิ่นเกล้า บางแค บางนา พระราม 9 สามารถติดต่อที่ info@zengroup.co.th หรือโทร 084-675-7553”

    ตามมาด้วย อัจฉรา บุรารักษ์ ผู้ก่อตั้ง iberry group เจ้าของร้านอาหารอย่าง กับข้าวกับปลา ทองสมิทธ์ เจริญแกง ฟ้าปลาทาน เบิร์นบุษบา โรงสีโภชนา เเละ รสนิยม โพสต์ข้อความหาพื้นที่เช่าเเห่งใหม่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

    สืบเนื่องมาจาก การถูกสั่งปิดร้านอาหารในห้างทั้งหมด เพื่อนคนไหนมีร้านอาหารนอกห้าง โซนดังต่อไปนี้ มีอุปกรณ์ครัวแต่ไม่ได้เปิดร้าน สนใจอยากให้เช่าระยะสั้นบ้างไหมคะ ทองหล่อ เอกมัย ลาดพร้าว เรียบด่วนเอกมัยรามอินทรา ราชพฤกษ์ บางจาก รบกวน ติดต่อ line add @iberrygroup นะคะ ขอบพระคุณค่ะ

    ด้าน ดุษิตา สถิรเศรษฐ รองประธานกรรมการ Sukishi Inter Group ร้านอาหารเกาหลีและญี่ปุ่นชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ตามหาพื้นที่เช่าทำครัวอาหารนอกห้างเช่นกัน โดยมองหาโซนใกล้ๆ ย่านพระราม 2 พระราม 3 ปิ่นเกล้า เซ็นทรัลพลาซ่า เวสต์เกต แฟชั่น ไอส์แลนด์ พระราม 9 บางกะปิ รังสิต รวมทั้ง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี หาดใหญ่ ติดต่อ inbox ไปโดยตรงได้ที่ https://www.facebook.com/dusita.satiraseth 

    Shinkanzen sushi ร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีสาขาหลายเเห่งในห้างฯ ออกประกาศว่า ทางร้านยังมีพนักงานอีกหลายคนที่ต้องดูเเล เพื่อให้พนักงานยังมีงานและรายได้ จึงขอประกาศตามหาพื้นที่เช่า (ระยะสั้น) ทำครัวชั่วคราวสำหรับขายเดลิเวอรี่ ไม่ว่าจะเป็น ตึกเเถว ร้านอาหารเก่า cloud kitchen หรือเป็นครัวโรงเเรมที่หยุดดำเนินการในช่วงนี้ โดยพื้นที่ที่ต้องการคือ

    • เป็นพื้นที่ขนาด 20-40 ตร.ม. เเละมีส่วนที่สามารถทำครัวได้
    • มีที่จอดรถสำหรับให้ไรเดอร์จอดได้
    • มีน้ำไฟ พร้อมใช้

    ส่งรายละเอียด มาที่ line@: @shinkanzensushi หรือ inbox มาที่เพจ Shinkanzen sushi

    Potato Corner เเบรนด์เฟรนช์ฟรายส์ปรุงรส ก็ประกาศว่า ต้องการหาพื้นที่เช่าด่วน ในช่วง 14 วันนี้ (20 ก.ค. – 2 ส.ค.) โดยไม่จำเป็นต้องมีครัว หรือเป็นร้านอาหาร เพียงแค่มีขนาดพื้นที่มากกว่า 15 ตร.ม. ขึ้นไป ในโซนต่างๆ อย่าง ลาดพร้าว เอกมัย ศรีนครินทร์ บางนา บางใหญ่ ท่าพระ ห้วยขวาง บางกะปิ พระราม 3 เลียบทางด่วนรามอินทรา รังสิต ดอนเมือง รังสิต ปทุมธานี พระราม 2 บางแค คันนายาว ตลิ่งชัน แจ้งวัฒนะ งามวงศ์วาน สำโรง  รัตนาธิเบศร์ สุขสวัสดิ์ ทุ่งครุ

    คุณสมบัติของพื้นที่ ที่จำเป็นต้องมี

    • กำลังไฟ 3 Phase 30 Amp (หากไม่ใช่ไฟตามนี้ รบกวนแจ้งกำลังไฟที่มี)
    • พื้นที่ขั้นต่ำ 15 ตร.ม. หน้ากว้าง 3.8 ม. ลึก 2.5 ม.
    • มีที่จอดสำหรับ Delivery (ขั้นต่ำจักรยานยนต์ 5 คัน)

    คุณสมบัติที่อาจจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
    -อยู่ชั้น 1 และติดถนนใหญ่
    -มีระบบระบายอากาศ
    -มีตู้แช่สินค้า (หากมีรบกวนระบุจำนวนและขนาด)
    -มีระบบ Internet

    ส่งข้อมูลได้ที่อีเมล tattep.r@rocks.co.th และ pransurat.j@rocks.co.th หรือ แชทตรงมาที่ @PotatoCornerTH >> https://lin.ee/b3zbp9R

    บุญตงกี่ ร้านอาหารจีนเเละข้าวมันไก่ชื่อดัง ประกาศหาพื้นที่นอกห้างฯ อาคาร หรือโซนขายสินค้า ให้เช่าระยะสั้น ในโซน ถนนลาดพร้าวช่วงโชคชัย 4 ถนนสุขุมวิทช่วงอ่อนนุช หรืออุดมสุข จรัญสนิทวงศ์ช่วงซอยจรัญ 13, แยกบางพลัด ถนนพหลโยธินช่วงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

    ติดต่อเข้ามายัง inbox ของทางเพจ Boon Tong Kee – Thailand หรือโทร.083-096-0530 (ฝ่ายสรรหาสถานที่) โดยหากพื้นที่มีอุปกรณ์ครัว หรืองานระบบสำหรับร้านอาหารแล้ว จะพิจารณาเป็นพิเศษ

    เรือนเพชรสุกี้ระบุว่า ขณะนี้ทางร้านมีความจำเป็นต้องหาสถานที่นอกศูนย์การค้า เพื่อเปิดให้บริการแบบเพิ่มเติม
    เพราะมีพนักงานที่ต้องดูแล มีค่าใช้จ่ายที่ยังเดินไม่หยุด และมีวัตถุดิบที่ถ้าไม่คิดแก้ปัญหาจะเน่าเสียทั้งหมด

    โดยมองหาอาคารพาณิชย์ที่ต้องการปล่อยให้เช่าชั่วคราว หรือระยะยาว ที่สามารถใช้ประกอบอาหารได้
    หรือพื้นที่ร้านอาหารที่ปิดตัวลงชั่วคราวและสามารถปล่อยให้ทางร้านเช่าเปิดบริการได้ หรือเปิดครัวร้านอาหารอยู่แล้วต้องการลดต้นทุนโดยการหาผู้เช่าร่วม หรือแบ่งพื้นที่ให้เช่าร่วม ในโซนบางนา อ่อนนุช อุดมสุข นนทบุรี เเจ้งวัฒนะ  จรัญสนิทวงศ์ พระราม 3 หรือพื้นที่อื่นๆ

    ติดต่อผ่านทางเพจ เรือนเพชรสุกี้ หรือทางไลน์ @ruenpetch https://bit.ly/rpsklineoa

    นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่น่าสนใจอย่างร้าน Ramenga ราเมงอะ ラーメン เมื่อต้องปิดร้านชั่วคราว 7 สาขาในห้างฯ ต้องหาทางระบายสต๊อกวัตถุดิบที่เตรียมไว้เพื่อทำราเมงถึง 1,600 ชาม

    โดยทางร้านจะนำไปบริจาคให้องค์กรต่างๆ เพื่อดูแลจิตอาสาและผู้เดือดร้อน ซึ่งหากองค์กรไหน หรือที่ไหนต้องการ ราเมงไปสนับสนุน สามารถแจ้งมาทาง inbox เพจ เฟซบุ๊ก หรือ Line Ramenga https://lin.ee/fTeAHcM โดยเริ่มต้นด้วยการเเจกที่ศูนย์เอราวัณ ที่จัดหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด 200 ชาม

    ด้าน Kouen Group ก็ออกประกาศชวนผู้ที่มีความสนใจอยากเพิ่มรายได้จากธุรกิจอาหาร โดยไม่จำเป็นต้องทำอาหารเป็น ซึ่งทางร้านจะมีทีมงานช่วยเทรนให้ทุกขั้นตอน แค่มีบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดย ณ ตอนนี้ กำลังอยู่ระหว่างการวางเเผนรายละเอียดต่างๆ สามารถติดต่อมาได้ตามอีเมล exe.secretary@kouengroup.com , wannalak.d@kouengroup.com

    นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของร้านอาหารจำนวนมากที่ต้อง ‘หาทางรอด’ ต่างๆ เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงมาตรการล็อกดาวน์เเละวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ไปให้ได้ 

    ]]>
    1343270
    ค้าปลีกรวมใจ! เสนอตัวให้ใช้พื้นที่เป็นจุด “ฉีดวัคซีน” หวังกระจายทั่วประเทศ https://positioningmag.com/1329988 Thu, 29 Apr 2021 14:14:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1329988 กลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีก เป็นอีกหนึ่งตัวแทนภาคเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลในการฝ่าวิกฤต COVID-19 ระลอกใหม่อย่างเต็มที่ ได้เสนอตัวให้ใช้พื้นที่ศูนย์การค้า หรือห้างสรรพสินค้าในการเป็นจุดให้บริการฉีดวัคซีน เพื่อให้กระจายเข้าถึงประชาชนได้ทั่วประเทศ

    ตอนนี้มีกลุ่มค้าปลีกได้ออกนโยบายนี้กันมากขึ้น นำร่องโดยกลุ่ม “เซ็นทรัลพัฒนา” หรือ CPN ในการใช้ 23 ศูนย์การค้าเพื่อรองรับการฉีดวัคซีน รวมทั้งบ้านใกล้เรือนเคียง “เซ็นทรัลรีเทล” ก็เสนอให้ใช้พื้นที่ของธุรกิจในเครือกว่า 109 แห่งในการฉีดวัคซีน

    ส่วนไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่าง “บิ๊กซี” และ “โลตัส” ก็เริ่มเปิดโรดแมป นำร่องสาขาที่ให้บริการฉีดวัคซีนบ้างแล้วเช่นกัน

    เซ็นทรัลพัฒนา

    บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล, เซ็นทรัล ภูเก็ต และ เซ็นทรัล วิลเลจ ได้เสนอให้ใช้พื้นที่ศูนย์การค้าของรวม 23 สาขา (จาก 33 สาขาทั่วประเทศ) ในการให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้

    CPN มีต้นแบบการใช้ศูนย์การค้าเป็นพื้นที่ฉีดวัคซีนเป็นแห่งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 21 เม.. 2564 ที่ เซ็นทรัล ระยอง โดยร่วมกับโรงพยาบาลระยอง

    ล่าสุดเซ็นทรัล สมุย” ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 4 จุดที่ให้บริการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กับประชาชนบนเกาะสมุย เมื่อวันที่ 23-27 เม.ย. 64 เตรียมความพร้อมในการดำเนินการในส่วนของจังหวัดนนทบุรี เสนอให้ใช้พื้นที่ 3 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์, เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ และเซ็นทรัล เวสต์เกต

    CPN ยังมีแผนในการสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานบริษัท และร้านค้าในศูนย์การค้า ได้นำร่องฉีดวัคซีนให้พนักงานที่ให้บริการลูกค้าของเซ็นทรัล ภูเก็ตไปแล้ว ซึ่ง 85% ของพนักงานจะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ภายในกลางเดือน พ.ค. 64 นี้ นับเป็นอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่มากกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่กำหนดไว้ที่ 70%

    เซ็นทรัล รีเทล

    ทางด้านเซ็นทรัล รีเทล ร่วมกับสภาหอการค้าไทย ได้ผนึกธุรกิจในเครือในการเสนอต้นแบบ และพื้นที่ในเครือในการให้บริการฉีดวัคซีนเช่นกัน

    รวมพื้นที่ธุรกิจในเครือ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน, ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์, ไทวัสดุ และท็อปส์ พลาซ่า ทั้งหมด 109 แห่งทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับภาครัฐในการกระจายวัคซีนเข้าไปหาคนไทยอย่างทั่วถึง และเป็นต้นแบบสำหรับต่อยอดไปทั่วประเทศ

    พร้อมจัดหาบุคลากร จิตอาสา และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ คอมพิวเตอร์, อุปกรณ์สำนักงาน รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และทีมจิตอาสาที่ทำงานอย่างหนักทุกคน โดยคาดว่าในแต่ละพื้นที่ จะสามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้ประมาณ 1,500 – 2,000 คนต่อวัน

    บิ๊กซี

    กลุ่มของไฮเปอร์มาร์เก็ตก็ขอร่วมด้วย “กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี” สนับสนุนพื้นที่ฉีดวัคซีนในบิ๊กซีทั่วประเทศ จำนวน 54 สาขา และสนับสนุนการจัดเก็บวัคซีนและกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ที่กำหนด

    โดยบีเจซีร่วมสนับสนุน แบ่งเป็น TEAM A: Distribution and Logistics ทีมสนับสนุนการกระจาย และฉีดวัคซีน และ TEAM D: Extra Vaccine procurement ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม

    Photo : Shutterstock

    Team A: Distribution and Logistics  :  บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)

    1. สนับสนุนพื้นที่ฉีดวัคซีนในบิ๊กซีทั่วประเทศ จำนวน 54 สาขา
    2. สนับสนุนพื้นที่ฉีดวัคซีนในศูนย์กระจายสินค้า (ธัญบุรี)
    3. รวบรวมและจำหน่ายวัคซีนหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังสถานที่ฉีดวัคซีน
    4. ตรวจสอบและดูแลการเคลื่อนไหวของวัคซีนและบุคลากร
    5. สนับสนุนชุดอาหารสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลในพื้นที่โครงการ
    6. อำนวยความสะดวกในการกำจัดขยะ
    7. สนับสนุนเต็นท์สำหรับประชาชนที่เข้าคิว
    8. สนับสนุนเจ้าหน้าที่บริษัทอำนวยความสะดวก
    9. สื่อประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเรื่องของโครงการ

    Team D: Extra Vaccine Procurement  :  บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)

    1. สนับสนุนการจัดเก็บวัคซีนในคลังสินค้าที่ได้รับการรับรองจาก GSDP
    2. สนับสนุนการกระจายวัคซีน สำหรับการฉีดวัคซีนไปยังสถานที่ที่กำหนด
    3. เป็นตัวแทนในการนำเข้าวัคซีนที่เป็นตัวเลือกจากหลายบริษัท
    4. อาสาสมัคร เภสัชกร 20-30 คน เพื่อให้ข้อมูล วัคซีน แก่ประชาชน ทางโทรศัพท์ และ สถานที่ฉีดวัคซีน
    5. ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม ในการจัดหา วัคซีน ทางเลือกที่ดี และมีคุณภาพ
    6. ติดต่อโรงงานผลิตวัคซีน และ ขอความช่วยเหลือตัวแทนในประเทศต่าง ๆ ในการจัดหาวัคซีนทางเลือกมาใช้ในประเทศ

    โลตัส

    ทาง “โลตัส” ของเจ้าสัวธนินท์ แห่ง CP ผนึกความร่วมมือภาคเอกชน ร่วมคณะทำงาน “ทีมไทยแลนด์” สนับสนุนการกระจายฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศ โดย “โลตัส สาขามีนบุรี” นำร่องเป็น 1 ใน 14 สถานที่ในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นจุดฉีดวัคซีน สามารถรองรับประชาชนได้ 1,000 คนต่อวัน

    พร้อมเสนอสาขาใหญ่อีก 50 สาขาทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนได้อย่างสะดวก นอกเหนือจากคณะทำงานทีม A สนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีนแล้ว ยังมีคณะทำงานทีม B เพื่อใช้สื่อ และช่องทางทั้งออนไลน์ และในสาขาทั่วประเทศช่วยสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนให้กับลูกค้าและประชาชนอีกด้วย

    ]]>
    1329988
    ไขรหัส Midnight Sale ยังมีมนต์ขลังแค่ไหน? ในยุคที่ใครๆ ก็ช้อปออนไลน์ https://positioningmag.com/1325288 Fri, 26 Mar 2021 16:01:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1325288 ใครเป็นนักช้อปตัวยงคงจะคุ้นเคยกับแคมเปญยักษ์ใหญ่อย่าง Midnight Sale เป็นการขยายช่วงเวลาช้อปปิ้งในศูนย์การค้าถึงเที่ยงคืน แต่คำถามที่ตามมาก็คือ ในยุคนี้ยังมีคนรอคอยกับแคมเปญ Midnight Sale อีกหรือไม่ ในเมื่อใครๆ ก็ช้อปออนไลน์ได้ แถมยังมีดีลลดราคาอยู่ตลอด ไปร่วมหาคำตอบกัน 

    เปิดตำนาน 32 ปี Central Midnight Sale

    ถ้ายุคนี้มีวันคนโสด หรือ 11.11 เป็นวันชาติของการช้อปปิ้งออนไลน์ แคมเปญ Midnight Sale ก็ถือว่าเป็นวันชาติของการช้อปในห้างสรรพสินค้าเช่นกัน ต้องบอกว่าในยุคก่อนหน้านี้ Midnight Sale ถือว่าสร้างสีสัน และกระตุ้นการจับจ่ายของขาช้อปได้อย่างดี เพราะทำให้ผู้บริโภคสามารถช้อปกระหน่ำได้ถึงเที่ยงคืน

    Midnight Sale ได้เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2531 ตอนนั้น “ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล” เป็นผู้บุกเบิกรายแรก เริ่มต้นที่สาขา “หัวหมาก” ไอเดียหลักของผู้บริหารในยุคนั้นที่ว่า เห็นลูกค้าบางคนติดงาน ทำให้ไม่สามารถช้อปปิ้งในช่วงเวลาทำการของห้างฯ ได้ จึงคิดว่าทำไมไม่เปิดห้างฯ ถึงเที่ยงคืน เพื่อให้ลูกค้าได้ช้อปกับโปรโมชันแรงๆ

    Central Midnight Sale

    กลายเป็นว่าเซ็นทรัลได้ทำ Midnight Sale มาเรื่อยๆ ขยายไปกับทุกสาขา จนเป็นแคมเปญ “ซิกเนเจอร์” ที่ต้องทำทุกปี และทุกไตรมาส ถึงตอนนี้ก็เดินทางมา 32 ปีเข้าแล้ว รวมถึงผู้เล่นค้าปลีกในตลาดก็มีแคมเปญ Midnight Sale ด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการขาย และสร้างสีสันในตลาด

    ถ้าย้อนกลับไป 10 ปีก่อน เมื่อมี Midnight Sale ทีไหร่ ภายในห้างฯ จะคึกคักอย่างมาก บางคนไม่ต้องรอว่าห้างฯ ปิดแค่ 4 ทุ่ม แต่ยังเดินช้อปปิ้งได้ต่อ บางคนใส่ชุดนอนมาเดินช้อปก็ยังมี

    แต่การมาของอีคอมเมิร์ซ หรือช้อปปิ้งออนไลน์ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการค้าปลีกอย่างมาก เพราะหลายคนเลือกที่จะช้อปออนไลน์มากขึ้น มีการลดราคาอยู่ตลอด สะดวกสบายไม่ต้องออกจากบ้าน

    คำถามที่ตามมาก็คือ Midnight Sale ยังเป็นแคมเปญที่ขาช้อปรอคอยอยู่หรือไม่ ในเมื่อใครๆ ก็ช้อปออนไลน์ทั้งนั้น

    รวิศรา จิราธิวัฒน์ ประธานบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด

    รวิศรา จิราธิวัฒน์ ประธานบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ให้คำตอบว่า

    “ตอนนี้ Midnight Sale ยังเป็นแคมเปญที่ลูกค้าตั้งตารอคอยอยู่ แคมเปญนี้เป็นซิกเนเจอร์ของเซ็นทรัลที่จัดมาอย่างต่อเนื่อง จริงๆ การช้อปออนไน์ไม่ได้แทนที่หมด ยังมีบางอย่างที่ออนไลน์ให้ไม่ได้ ลูกค้ายังอยากมาเดินห้างฯ เอง อยากได้ของในทันที และมีสิทธิพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย”

    ปัจจุบันรวิศราได้เข้ามาดูแลธุรกิจกลุ่มห้างสรรพสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัลอย่างเต็มตัว รวมยูนิตห้างเซ็นทรัล และโรบินสัน ก่อนหน้านี้เธอร่วมงานกับ JD Central ทำให้มีประสบการณ์ในเรื่องอีคอมเมิร์ซ

    ไม่มีแผ่ว… อัพยอดขายไม่ต่ำกว่าพันล้านตลอด!

    จากคำถามที่ว่า Midnight Sale ยังมีมนต์ขลังแค่ไหน? คำตอบก็คือยังเป็นแคมเปญชูโรงที่กระตุ้นยอดขายได้ถล่มทลายได้จริงๆ

    โดยปกติแล้วเซ็นทรัลจะจัด Midnight Sale ปีละ 4 ครั้ง ทุกๆ ไตรมาส เริ่มต้นตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม, มิถุนายน, สิงหาคม และพฤศจิกายน แต่ละครั้งมีระยะเวลารวม 12-14 วัน โดยที่ช่วงที่ขายดีที่สุดจะเป็นช่วงเดือนมีนาคม และพฤศจิกายน เป็นเพราะส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเทศกาล

    ครั้งล่าสุดที่เซ็นทรัลเพิ่งจัด Midnight Sale ไปเมื่อวันที่ 26 พ.ย.-7 ธ.ค. 2563 ก็สามารถสร้างรายได้ที่ดี แม้จะยังอยู่กับการแพร่ระบาดของ COVID-19 อยู่ มีทราฟฟิกผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 23% มียอดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 28% และยอดขายเพิ่มขึ้น 50%

    รวิศราบอกว่า การจัดแคมเปญ Midnight Sale ในแต่ละครั้ง จะสามารถกระตุ้นยอดขายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเติบโตสูงกว่าที่ตั้งเป้าเสมอ

    5 กลุ่มสินค้าที่ขายดีที่สุดสำหรับแคมเปญนี้คือ สุขภาพ และความงาม, ของใช้ในบ้าน, ชุดชั้นใน, รองเท้า และเครื่องประดับ และเสื้อผ้าผู้ชาย เห็นได้ชัดว่าขาช้อปที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของแคมเปญนี้ก็คือกลุ่มสาวๆ นั่นเอง

    มิดไนท์มีอะไรที่ออนไลน์ก็ให้ไม่ได้

    ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสงครามของช้อปปิ้งออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซมีให้เห็นมากขึ้น จากเดิมจะมีแค่เทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 และ 12.12 กลายเป็นว่าตอนนี้มี Double Day แทบทุกเดือน อีกทั้งยังมีดีลโปรโมชันลดราคารออีกเพียบ เรียกว่าล่อตาล่อใจนักช้อปได้ทุกวัน

    หลายคนมองว่าผู้บริโภคคงหันไปช้อปออนไลน์กันหมดแล้ว มีอะไรจูงใจมากกว่า แต่รวิศรามองอีกมุมหนึ่ง จริงๆ แล้วช้อปออนไลน์ไม่สามารถเติมเต็มทุกอย่างได้ ยังมีหลายอย่างที่มีในช้อปในสโตร์แต่ไม่มีบนออนไลน์

    “จริงๆ ช้อปในร้านออฟไลน์ได้ความคุ้มค่ากว่า มีสิทธิประโยชน์หลายต่อทั้งแคชแบ็กคูปอง, โปรโมชันออนท็อปบัตรเครดิต, สะสมแต้ม The 1 ผู้บริโภคยังรอแคมเปญใหญ่ๆ อยู่เสมอ ช้อปออนไลน์ไม่สามารถแทนที่ออฟไลน์ได้ เพราะคนยังต้องการ Physical Touch จับต้องดูของ และบางคนก็อยากได้ของทันทีไม่ต้องรอ”

    รวิศราบอกถึง “ตัวแปร” สำคัญ ที่ยังทำให้ Midnight Sale มีมนต์ขลังอยู่ ก็คือ ระบบ CRM นั่นเอง ทางเซ็นทรัลมีการทำดาต้า และแบ่งกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจน เพื่อเวลาสื่อสาร และทำโปรโมชันได้ตรงกลุ่ม และมีการเชิญลูกค้าที่เป็น Top Spending มาช้อปก่อนใครเพื่อนด้วย

    พ่วงออนไลน์ครั้งแรก

    หลังจากครั้งล่าสุดที่เซ็นทรัลได้จัด Midnight Sale ไปเมื่อปลายเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา ก็เริ่มเห็นสัญญาณการจับจ่ายที่ดีขึ้น เพราะหลายคนอัดอั้น หรือเก็บกดจากสถานการณ์ต่างๆ มานาน จึงได้เห็นตัวเลขการเติบโตค่อนข้างดี

    ในปีนี้แม้ว่าต้นปีจะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสในระลอกใหม่ ทำเอาอารมณ์การจับจ่ายใช้สอยถึงกับหล่นวูบ รวมถึงกำลังซื้อก็น้อยลง แต่เซ็นทรัลก็ยังต้องอัดแคมเปญใหญ่อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และสร้างบรรยากาศว่ามาห้างฯ ก็ปลอดภัย

    Photo : Pixabay

    Midnight Sale ที่จัดขึ้นในครั้งนี้อยู่ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-6 เม.ย. 64 นอกจากจะเปิดห้างฯ ถึงเที่ยงคืนแล้ว ปีนี้ยังเล่นใหญ่ด้วยการรวมการช้อปทุกช่องทาง เป็น Omni Channel ตั้งแต่ห้างเซ็นทรัล 24 สาขา, แอปพลิเคชัน Central App, เว็บไซต์ Central Online, 1425 Personal Shopper, Chat & Shop และ Facebook เท่ากับว่าปีนี้ช้อปได้ตลอด 24 ชั่วโมง หลังเที่ยงคืนก็ยังช้อปได้

    อัดโปรแรง สินค้าใหม่ลดสูงสุด 30%, สินค้าปกติลดสูงสุด 70% และลด/รับเพิ่มสูงสุด 31% จาก The 1 และบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ ในแอปพลิเคชันมีเก็บโค้ดส่วนลดตามช่วงเวลา และยังมีทำแฟลชดีลล้อกับเทศกาลช้อปปิ้ง 4.4 ด้วย

    จากข้อมูลต่างๆ จึงรวมเป็นคำตอบได้ว่า Midnight Sale ยังคงเป็ญแคมเปญใหญ่ของวงการค้าปลีกในไทย และเป็นภาพจำของเซ็นทรัลที่บุกเบิกรายแรก กลุ่มลูกค้าที่ช้อปมาแต่ไหนแต่ไร ก็ยังคงช้อปต่อไป โลกออนไลน์ไม่สามารถทดแทนได้ ซึ่งกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง ไม่ได้มองที่ราคาถูกเพียงอย่าเดียว แต่ต้องมีสิทธิประโยชน์เพียบด้วย

    สำหรับกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัลในปี 2562 มีรายได้รวม 60,000 ล้านบาท รวมห้างเซ็นทรัล และโรบินสัน ส่วนตัวเลขของปี 2563 มีการลดลงเป็นธรรมดา เพราะมีการปิดห้างฯ ไปหลายเดือน ในปีนี้มีการตั้งเป้าว่าจะต้องมีรายได้กลับไปเท่าปี 2562 ให้ได้

    ปัจจุบันห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลมีทั้งหมด 24 สาขา และโรบินสัน 49 สาขา ในปีนี้มีแผนรีโนเวตห้างเซ็นทรัล 7 สาขา ได้แก่ สาขาชิดลม, พระราม 2, ลาดพร้าว, พัทยา, พระราม 3 ส่วนเมกาบางนา และอุดรธานี ได้ปรับจากโรบินสันเป็นห้างเซ็นทรัล ส่วนโรบินสันมีรีโนเวต 6 สาขา ได้แก่ สาขารังสิต, อุบลราชธานี, ศรีสมาน, ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา และศรีราชา มีเปิดสาขาใหม่ 2 สาขา ได้แก่ สาขาอยุธยา และบ้านฉาง

    ]]>
    1325288
    ‘Sephora’ สวนกระเเสตลาด ‘เครื่องสำอาง’ วูบ เตรียมขยายสาขาอีก 260 เเห่ง มากสุดในรอบ 21 ปี https://positioningmag.com/1321401 Mon, 01 Mar 2021 13:37:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1321401 เเม้ธุรกิจเครื่องสำอางจะได้รับผลกระทบสาหัสจากพิษโรคระบาด เเต่ก็ไม่อาจฉุดร้านมัลติเเบรนด์ชื่อดังอย่าง ‘Sephora’ ได้ ล่าสุดประกาศขยายสาขาเพิ่มอีก 260 เเห่งทั่วอเมริกา นับเป็นการขยายสาขาครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 21 ปี ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ

    ‘Sephora’ เป็นธุรกิจในเครือ LVMH ยักษ์สินค้าลักชัวรีจากฝรั่งเศส ที่กำลังกว้านซื้อเเบรนด์ต่างๆ เข้าพอร์ต โดยเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งเข้าซื้อหุ้น 50% ในแชมเปญหรู ‘Ace of Spades’ ของ Jay-Z เจ้าพ่อแรปเปอร์

    การขยายสาขาครั้งนี้ จะเเบ่งเป็นร้านของ Sephora เอง (freestanding stores) 60 สาขา ในจำนวนนี้กว่า 85% จะตั้งอยู่นอกห้างสรรพสินค้า ส่วนอีก 200 สาขาจะเป็นร้านขนาดเล็ก’ (mini shops) ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า Kohl’s

    ธุรกิจความงามกำลังอยู่ในช่วงการปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ เมื่อการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ลูกค้ามาช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าลดลง เเละอัตราว่างงานในตำเเหน่งที่ทำในห้างฯ พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 10.5%

    ขณะเดียวกัน ความจำเป็นที่ต้องสวมหน้ากากอนามัย เเละการทำงานที่บ้านเเบบ Work from Home ก็ทำให้ยอดขายเครื่องสำอางลดลงอย่างมาก เพราะผู้บริโภคไม่ต้องเเต่งหน้าเพื่อออกสังคม อีกทั้งยังบำรุงรักษาผิวหน้าน้อยลง

    รายงานของบริษัทวิจัยตลาด NPD ระบุว่า ยอดขายเครื่องสำอางลดลง 34% ในปี 2020 เมื่อเทียบกับปีก่อน

    Photo : SEPHORA

    เเม้ตลาดโดยรวมจะไม่เอื้ออำนวย เเต่ ‘Sephora’ ขอลุยต่อ โดยจะเริ่มทยอยเปิดสาขาใหม่ในเมืองต่างๆ เช่น ดัลลัส, ฮูสตัน, ลอสแองเจลิส และเท็กซัส

    Sephora ระบุในอีเมลถึง CNNBusiness ว่า การเลือกทำเลเปิดสาขาใหม่เหล่านี้ ผ่านพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ โดยมุ่งเน้นที่การเติบโตในพื้นที่ชานเมืองและนอกห้างสรรพสินค้า ช่วยให้สามารถเข้าถึงผู้ซื้อสินค้าความงามทั่วประเทศได้มากขึ้น

    พร้อมกันนี้ ยังเป็นการเพิ่มช่องทางการขายเเบบ Omnichannel สั่งออนไลน์เเละรับได้ที่สาขา หรือพ่วงโปรโมชันจัดส่งฟรีและการเสนอคืนสินค้าที่ง่ายดาย โดยยอดขายออนไลน์ของ Sephora ในอเมริกาเหนือ ช่วงโรคระบาด เพิ่มขึ้นใกล้แตะระดับ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

    การขยายสาขานี้ คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อห้างสรรพสินค้า Kohl’s เพราะการมีผลิตภัณฑ์ความงามระดับไฮเอนด์ที่หลากหลาย จะช่วยดึงดูดลูกค้าคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้นด้วย

     

    ที่มา : CNN , Forbes , Yahoo 

    ]]>
    1321401
    ปิดดีล 3.38 แสนล้าน “ซีพี ออลล์” แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ซื้อ “เทสโก้ โลตัส” เสร็จสมบูรณ์แล้ว  https://positioningmag.com/1311169 Fri, 18 Dec 2020 14:27:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1311169 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ “CPALL” แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อ้างถึงสารสนเทศที่บริษัทได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2563 เกี่ยวกับการลงทุนในบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. (ธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชีย)

    โดยการลงทุนดังกล่าว เป็นการลงทุนโดยอ้อมผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน ได้แก่ บริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัดนั้น ในวันที่ 18 ธ.ค. 2563 ธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียได้ “เสร็จสมบูรณ์แล้ว” 

    ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของมาเลเซีย ได้ประกาศผลอนุมัติควบรวมเทสโก้ โลตัส ในมาเลเซีย และมีเงื่อนไขสอดคล้องกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในประเทศไทย

    อ่านรายละเอียด : บอร์ดแข่งขันทางการค้ามาเลย์ อนุมัติให้ CP ควบรวมกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ในมาเลเซีย

    โดยทาง กขค. ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางยาวกว่า 25 หน้า หลังมีมติ 4 ต่อ 3 ให้ “กลุ่มซีพี” ควบรวมธุรกิจ “เทสโก้ โลตัส” ซึ่งกรรมการเสียงข้างมากระบุว่าเป็นการส่งเสริมธุรกิจ สร้างรายได้ให้อยู่ในประเทศ ส่วนกรรมการเสียงข้างน้อยยืนยันว่าเป็นการผูกขาดเเละครอบงำเศรษฐกิจ

    อ่านฉบับเต็ม : ผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรณีซีพีควบรวมธุรกิจเทสโก้ โลตัส 

    ด้าน “เทสโก้ อังกฤษ” แจ้งข่าวดีกับ “ผู้ถือหุ้น” ที่จะได้รับเงินปันผลกว่า 2 แสนล้านบาท แถมตั้งกองทุนบำนาญของบริษัทให้พนักงาน พร้อมปักหลักกลยุทธ์ธุรกิจต่อไปใน “ยุโรป” เท่านั้น

    ]]>
    1311169