Minor Food – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 18 Nov 2020 05:36:07 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ทำไม “ไมเนอร์” ต้องปั้นแอป 1112 Delivery ชิงความได้เปรียบในสังเวียนส่งอาหาร https://positioningmag.com/1306103 Sun, 15 Nov 2020 16:48:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306103 เปิด 10 เรื่องราว 10 เหตุผลของเครือ “ไมเนอร์ ฟู้ด” โหมตลาดเดลิเวอรี่ด้วยการปั้นแอปพลิเคชัน “1112 Delivery” พร้อมปรับโฉมให้ใช้งานง่าย จับจริตคนไทยมากขึ้น การสร้างแอปเองช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้ไมเนอร์ได้อย่างไรได้บ้าง ในวันที่คนไทยนิยมกดฟู้ดเดลิเวอรี่?

1. ผู้บุกเบิกตลาดเดลิเวอรี่

ถ้าย้อนกลับไปในธุรกิจร้านอาหาร ต้องบอกว่าเชนใหญ่ๆ ที่ลงมาทำตลาดเดลิเวอรี่รายแรกๆ ก็คือ “ไมเนอร์ ฟู้ด” หรือ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำร่องด้วยแบรนด์ “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี” ซึ่งกลุ่มอาหารประเภทพิซซ่า พึ่งพาจากการเดลิเวอรี่ค่อนข้างมาก เป็นเทรนด์ที่เห็นได้จากต่างประเทศ

ไมเนอร์ ฟู้ดได้เริ่มทำระบบคอลเซ็นเตอร์ในการสั่งอาหารตั้งแต่ปี 2001 หลังจากนั้นในปี 2010 ก็เริ่มทำเว็บไซต์ เพื่อเพิ่มช่องทางในการสั่ง และในปี 2019 ก็ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน 1112 Delivery อย่างเป็นทางการ เพื่อรวมแบรนด์ในเครือทั้งหมด ให้สั่งได้ในแอปเดียว เป็นช่วงของการเติบโตของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ด้วย

แต่ในตอนนั้น 1112 Delivery ชูจุดเด่นด้วยการสั่งร้านอาหารภายในเครือหลายแบรนด์ได้ภายในการสั่ง 1 ครั้ง ซึ่งพบว่าการสั่งรูปแบบนี้ไม่ค่อยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเท่าไหร่ มีเพียง 3% เท่านั้นที่สั่งหลายแบรนด์ ส่วนใหญ่จะสั่งแค่แบรนด์เดียว

ในปีนี้ไมเนอร์ ฟู้ดจึงได้ปรับโฉมแอปพลิเคชันใหม่ให้ทันสมัยขึ้น ตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์การติดต่อกับพนักงานส่งผ่านการแชท หรือโทร ฟีเจอร์การติดตามสถานะการส่งของออเดอร์แบบเรียลไทม์ บริการติดต่อแผนกลูกค้าสัมพันธ์ และสามารถเลือกชำระเงินด้วยเงินสด หรือบัตรเครดิต บัตรเดบิต

ปัจจุบันภายในแอปพลิเคชันมีร้านอาหารในเครือ รวม 9 ร้าน ได้แก่ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, บอนชอน, เบอร์เกอร์ คิง, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ควีน, เดอะ คอฟฟี่ คลับ และมีร้านน้องใหม่อย่าง S&P และ Bread Talk ก็เข้าร่วมด้วย

2. ต้องคุ้มค่า ค่าส่งถูก อัดโปรแรงส่งฟรี 8 กม.

ในการปรับโฉมแอปครั้งใหม่นี้ ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เล่าถึงเบื้องหลัง และความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ที่ต้องการจากการสั่งอาหาร จนได้ตกผลึกเป็นการดีไซน์แอปใหม่

อย่างแรกที่ผู้บริโภคต้องการคือ เรื่องของความคุ้มค่า ค่าส่งที่ถูก เมื่อรวมกับค่าอาหารแล้วอยู่ในราคาที่รับได้ และจัดส่งรวดเร็ว เพราะความหิวไม่เคยปรานีใคร ยิ่งส่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งได้เปรียบเท่านั้น

ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

1112 Delivery จึงอัดโปรฟรีค่าบริการจัดส่งอาหารใน 8 กิโลเมตรแรก เมื่อมียอดใช้จ่ายถึง 400 บาท แต่ถ้ายอดใช้จ่ายไม่ถึง 400 บาท จะมีค่าส่ง 19 บาท ถือว่าถูกกว่าเดิมที่มีค่าส่งราวๆ 50 บาท ส่วนลูกค้าใหม่จะได้รับส่วนลด 100 บาท เมื่อมียอดใช้จ่ายถึง 300 บาทต่อออเดอร์ เป็นโปรโมชันถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน

การจัดโปรค่าส่งครั้งนี้ เรียกว่าท้าชนเหล่าบรรดา Food Aggregator ทั้งหลาย ที่ส่วนใหญ่มีโปรโมชันส่งฟรีใน 3 กิโลเมตรแรก หรือค่าส่ง 10-15 บาท ในระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตร

พร้อมกับการปรับวิธีการทำงานแบบใหม่ เมื่อได้รับออเดอร์แล้ว ออเดอร์นั้นจะส่งเข้าที่สาขาทันที จากนั้นค่อยส่งไปให้ทางไรเดอร์รับงาน เพื่อเข้ามาที่สาขา ทำให้ประหยัดเวลา และจัดส่งอาหารได้เร็วขึ้น ชูสโลแกนใหม่ว่าเป็น “ส่งแบบเสิร์ฟ” เหมือนเป็นการทานอาหารในร้าน

3. ได้ดาต้าลูกค้า ไม่ต้องเสีย GP ให้เจ้าอื่น

อีกหนึ่งเหตุผลที่ไมเนอร์ทุ่มเทในการผลักดันแอปพลิเคชันของตัวเอง มากกว่าที่จะทำตลาดกับ Food Aggregator ทั้งๆ ที่ผู้บริโภคคุ้นชินกับการกดเข้าแอปเหล่านั้นมากกว่า ก็เพราะว่ามีขุมทรัพย์สำคัญที่เรียกว่า “ดาต้า” นั่นเอง

การทำแอปพลิเคชันของตัวเองทำให้ได้เรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า ชอบเมนูไหน ชอบแบรนด์ไหน มีการสั่งซื้อเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ แล้วทำลอยัลตี้ โปรแกรม หรือส่งโปรโมชันในการสื่อสารต่อไปในอนาคต ในขณะที่การสั่งบน Food Aggregator ทำให้ไมเนอร์ไม่ได้ดาต้าลูกค้าใดๆ เลย ไม่สามารถต่อยอดอะไรในอนาคตได้

Photo : Shutterstock

อีกทั้งยังไม่ต้องเสียค่า GP ให้กับผู้เล่นเหล่านั้นด้วย เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า Food Aggregator ต่างๆ ในไทย มีการเก็บค่า GP กับร้านค้าสูงๆ เพื่อที่ไปจัดโปรโมชันค่าส่งถูกๆ กับลูกค้าแทน

ในปัจจุบันการสั่งอาหารในชอ่งทางเดลิเวอรี่ของไมเนอร์ ฟู้ดยังมีสัดส่วนครึ่งๆ 50% มาจากช่องทางของตัวเองทั้งแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และคอลเซ็นเตอร์ ส่วนอีก 50% มาจาก Food Aggregator

4. ควบคุมคนขับได้เอง

แรกเริ่มเดิมทีการพัฒนาแอปพลิเคชัน 1112 Delivery เมื่อปี 2019 ได้ใช้แบรนด์เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เป็นหัวหอกหลัก เพราะมีทีมเดลิเวอรี่แข็งแกร่งอยู่แล้ว จึงใช้ทีมนี้เป็นผู้จัดส่งให้กับทุกแบรนด์ในเครือของไมเนอร์ฟู้ด

เมื่อเดลิเวอรี่มีการเติบโตนี้ ทำให้ตอนนี้ไมเนอร์ฟู้ดขยับทีม 1112 Delivery ออกมาเป็นอีก 1 ยูนิตใหม่ ไม่ได้อยู่ภายใต้เดอะ พิซซ่าฯ แล้ว ปัจจุบันมีทีมงานทั้งหมด 12 คน เป็นขุมพลที่อยู่ในวงการฟู้ดเดลิเวอรี่ทั้งสิ้น

ปัทม์ พงษ์วิทยาพิพัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป ธุรกิจเดลิเวอรี่ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

พร้อมกับดึง “ปัทม์ พงษ์วิทยาพิพัฒน์” ผู้ดูแลแบรนด์เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ขึ้นแท่น ผู้จัดการทั่วไป ธุรกิจเดลิเวอรี่ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

จุดเด่นของ 1112 Delivery คือการที่สามารถคุมพนักงานจัดส่งของตัวเองได้ เป็นพนักงานของบริษัท 100% ปัจจุบันมีคนขับรวมทั้งหมด 3,000 คน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และยังมีในส่วนที่เป็นพนักงานฟรีแลนซ์อีก เป็นการจ้างเพิ่มเมื่อมีโปรโมชัน หรือช่วงมีออเดอร์เยอะๆ

เพราะปัญหาเรื่องคนขับ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายค่ายต้องเจอ บางค่ายไม่ได้มีพนักงานประจำ เป็นการจ่ายตามค่าคอมมิชชั่น ทำให้ควบคุมลำบาก รวมถึงเรื่องการบริการ มารยาท และการแต่งกาย การที่ควบคุมคนขับได้ทำให้มีการอบรมเรื่องพวกนี้เป็นพิเศษ

5. สังเวียนส่งอาหาร “เขียว” เกลื่อนเมือง

ที่จริงแล้วโทนสีของ 1112 Delivery มาจากแบรนด์เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ที่โทนสีเขียว-แดง แต่ล่าสุดได้มีการปรับโทนสีของแอปพลิเคชัน แบรนด์ และเสื้อของคนขับให้มีความสดใสขึ้น เป็นเขียวสว่างมากขึ้น เพื่อความทันสมัย จากเดิมเป็นสีเขียวเข้ม

ทำให้ตอนนี้สังเวียนของฟู้ดเดลิเวอรี่เต็มไปด้วย “สีเขียว” ทั้งเมือง แบรนด์ใหญ่ต่างใช้สีเขียวกันทั้งสิ้น ในทางจิตวิทยาสีเขียวกับอาหารนั้น สื่อถึงความ Healthy หรือความสุขภาพดีนั่นเอง

(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

6. เป็นผู้เล่นโลคอลต่อกรกับต่างชาติ

ประพัฒน์เสริมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง ยังมีข้อดี และสำคัญอีกข้อ นั่นคือ การเป็นแพลตฟอร์ม “โลคอล” ของคนไทย ที่พัฒนาโดยคนไทย เมื่อมีการใช้งานเงินทองก็ไม่รั่วไหลไปต่างชาติ

ต่างจากแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่อื่นๆ ในตลาด ที่ล้วนเป็นของต่างชาติทั้งสิ้น รายได้ก็ออกจากประเทศไปอยู่ที่เจ้าของแพลตฟอร์ม

การทำแอปนี้จึงเป็นการต่อกรกับต่างชาติได้ ภายในแอปจึงต้องมีดีลพิเศษ หรือโปรโมชันที่หาที่อื่นไม่ได้ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคมาใช้งาน รวมถึงจะมีการเพิ่มจำนวนร้านอาหารให้มากขึ้นด้วย

7. ดันเดลิเวอรี่โต 10 เท่า

ในปี 2019 ตลาดร้านอาหารในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 931,000 ล้านบาท มีการเติบโตเฉลี่ย 5% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมี ในปีนี้คาดว่าตลาดจะมีมูลค่า 966,000 ล้านบาท ยังมีการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 3% ต่อไปในอนาคต

ส่วนตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่มีมูลค่า 61,000 ล้านบาท เติบโตถึง 10% คาดว่าในปีนี้มีมูลค่า 68,000 ล้านบาท ยังคงมีการเติบโตเฉลี่ย 10% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ในส่วนของไมเนอร์ ฟู้ดเอง มีสัดส่วนรายได้จากช่องทางเดลิเวอรี่มากขึ้นทุกปี จากปี 2017 มีสัดส่วน 12.93% ปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 13.82% ปี 2019 มีสัดส่วน 13.95% และในปี 2020 คาดว่าจะมีสัดส่วนถึง 30% เพราะปัจจัยหลักจากช่วงล็อกดาวน์ ทำให้คนสั่งอาหารเยอะขึ้น ส่วนอีก 70% เป็นช่องทาง Non Delivery ได้แก่ ทานที่ร้าน, ซื้อกลับ และไดรฟ์ทรู

3 แบรนด์ที่เป็นดาวรุ่งในตลาดเดลิเวอรี่ ได้แก่ เดอะ พิซซ่าฯ มีอัตราการเติบโต 55% สเวนเซ่นส์ ยอดขายโตขึ้น 300% และบอนชอนก็เติบโต 2 เท่า

ช่องทางการสั่งส่วนใหญ่ 86% สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน 8% เว็บไซต์ และ 6% คอลเซ็นเตอร์

หลังจากที่ปรับโฉมแอปในครั้งนี้ คาดว่าในสิ้นปีช่องทางเดลิเวอรี่จะเติบโต 5 เท่า และในปีหน้าจะเติบโต 10 เท่าให้ได้

8. 1112 ไม่ได้มีแค่พิซซ่า

แม้แอปพลิเคชันนี้จะออกมานานร่วมๆ 2 ปีแล้ว แต่ความท้าทายของไมเนอร์ ฟู้ดยังคงต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค โดยที่ชื่อ 1112 Delivery มีทั้งจุดอ่อน และจุดแข็งซ่อนอยู่ จุดแข็งอยู่ที่คนจดจำเลขได้ดีว่าเป็นเลขของแบรนด์เดอะ พิซซ่าฯ เป็นเลขที่จะโทรสั่งเดลิเวอรี่

แต่จุดอ่อนก็อยู่ที่จะต้องทำอย่างไรให้ผู้บริโภคทราบได้ว่า 1112 Delivery ไม่ได้มีแค่พิซซ่าอย่างเดียว แต่มีแบรนด์อื่นๆ ของไมเนอร์ ฟู้ดรวมอยู่ด้วย

9. ต้องมีร้านอาหารครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์

ในปีที่แล้วตอนที่เริ่มปั้นแบรนด์ใหม่ๆ 1112 Delivery มีทั้งหมด 7 แบรนด์ในเครือ ในปีนี้ได้เพิ่ม 2 แบรนด์ใหม่เข้ามา ได้แก่ S&P และ Bread Talk

ประพัฒน์บอกว่า ตอนนี้พยายามอยากให้มีร้านอาหารทุกกลุ่ม มาเติมพอร์ตให้แน่นขึ้น ได้ S&P เข้ามาเติมกลุ่มอาหารไทย Bread Talk เข้ามาเติมกลุ่มเบเกอรี่ ต่อไปอาจจะมีชาบู ซูชิ อาหารญี่ปุ่น ชานมไข่มุก หรือร้านอาหารที่คนต้องการเข้ามาเติมอีก

ภายในปีหน้าจะได้เห็นแบรนด์ใหม่เข้ามาในแอปอีก 5 แบรนด์ด้วยกัน กำลังอยู่ในช่วงเจรจา จะเป็นร้านอาหารนอกเครือ วิธีการเลือกต้องเป็นเชนร้านอาหารใกล้เคียงกับไมเนอร์ และมีมาตรฐานในการทำงานเหมือนกัน

10. ส่องพฤติกรรมคนไทย กับการสั่งอาหาร

ปัทม์ พงษ์วิทยาพิพัฒน์ ได้เล่าถึงอินไซต์ของผู้บริโภคยุคนี้ กับการสิ่งอาหารเดลิเวอรี่ให้ฟังว่า

สิ่งที่ผู้บริโภคมองหามากที่สุด ได้แก่ 1. ถูกสุขอนามัย 2. ต้องแตกต่าง ไม่เหมือนคนอื่น

ส่วนใหญ่ 43% สั่งร้านอาหารที่เป็นเชนร้านอาหาร ส่วนอีก 57% สั่งร้าน SME ทั่วไป แต่ยังโฟกัสร้านที่น่าเชื่อถือ

ในขณะที่พฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็แตกต่างกัน คนกรุงจะคำนึงถึงความเร็วในการจัดส่งมากที่สุด รองลงมาเป็นเรื่องโปรโมชัน ความคุ้มค่าของราคา ต้องสุขลักษณะ รวมไปถึงคุณภาพของพนักงานส่งอาหาร

ส่วนคนต่างจังหวัดจะคำนึงเรื่องความคุ้มค่าของราคามากที่สุดเป็นอันดับแรก รองลงมาเรื่องค่าบริการจัดส่ง ต้องอยู่ในระดับเอื้อมถึงได้

]]>
1306103
“ไมเนอร์ ฟู้ด” ผุดแบรนด์ใหม่ “Coffee Journey” ปั้นร้านกาแฟบุกปั๊มน้ำมัน ท้าชน Amazon https://positioningmag.com/1298006 Mon, 21 Sep 2020 09:50:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1298006 ไมเนอร์ฟู้ดเปิดตัวแบรนด์ใหม่ Coffee Journey ร้านกาแฟระดับแมส เปิดเซ็กเมนต์ใหม่จับตลาดร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันเป็นครั้งแรก เปิดสาขาแรกที่ปั๊มเอสโซ่รามอินทรา กม. 6.5

ลุยตลาดร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน

ถือว่าเป็นทิศทางใหม่ของ “ไมเนอร์ ฟู้ด” เจ้าของเชนร้านอาหารแบรนด์ดังในไทย ได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่ Coffee Journey วางจุดยืนเป็นร้านกาแฟในระดับแมส ราคาเข้าถึงได้ง่าย เริ่มต้น 35-50 บาท จับตลาดปั๊มน้ำมันโดยเฉพาะ

ซึ่งต้องบอกว่า Coffee Journey เป็นร้านกาแฟแบรนด์แรกของกลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด ที่ผ่านมาในพอร์ตจะมีแต่กลุ่มร้านอาหาร ฟาสต์ฟู้ด ขนมหวาน ยังไม่มีร้านกาแฟโดยเฉพาะอย่างจริงจัง โดยที่ทางไมเนอร์ ฟู้ดได้เริ่มทำแบรนด์นี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว และได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา

จริงๆ แล้วไมเนอร์ ฟู้ดเองได้มีแบรนด์ The Coffee Club อยู่ในเครือ แต่จะเน้นวางจุดยืนเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ในระดับพรีเมียมเสียมากว่า ทำให้ Coffee Journey จับกลุ่มเป้าหมายในระดับแมส

Coffee Journey minor

ที่สำคัญคือการวางโลเคชั่นที่เน้น “ปั๊มน้ำมัน” โดยเฉพาะ เป็นการบุกตลาดร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันอย่างเต็มตัว ต้องบอกว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ตลาด Non-Oil หรือตลาดธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันของกลุ่มปั๊มน้ำมันมีการเติบโตสูงมาก ผู้เล่นปั๊มเล็ก ปั๊มใหญ่ต่างให้น้ำหนักในส่วนร้านค้าปลีก และปั๊มน้ำมันมากขึ้น

ตลาดนี้มีกำไรที่ดีกว่า และเสถียรกว่าธุรกิจน้ำมัน ที่สำคัญคนเดินทางมากขึ้น ใช้บริการปั๊มน้ำมันในการพักผ่อน

ที่สำคัญคือ ไมเนอร์ ฟู้ดได้ปั้น Coffee Journey เพื่อบุกตลาดแฟรนไชส์อย่างชัดเจน ตอนนี้ได้เริ่มขายแฟรนไชส์บ้างแล้วและจะขยายสาขาต่อไปเรื่อยๆ มีการจับกลุ่มโลเคชั่นปั๊มน้ำมัน อาคารสำนักงาน

กระจายความเสี่ยงจากศูนย์การค้า

ต้องจับบตาดูว่าปั๊มน้ำมันจะกลายเป็นหนึ่งในน่านน้ำใหม่ของธุรกิจค้าปลีก และร้านอาหาร ที่จะกระจายความเสี่ยงจากวิกฤตการณ์ต่างๆ รวมถึงเป็นอีกช่องทางในการหารายได้เพิ่มขึ้น

เพราะจากช่วงล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ศูนย์การค้าต้องปิดตัวลงชั่วคราว ร้านอาหารไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ต้องซื้อกลับบ้าน หรือเดลิเวอรี่

Coffee Journey minor

แต่ในปั๊มน้ำมัน อย่างไรแล้วคนก็ยังต้องเดินทาง ถึงแม้จะมีมาตรการล็อกดาวน์ ไม่สามารถนั่งทานที่ร้านได้ แต่เมนูกาแฟยังสามารถซื้อทานบนรถขณะเดินทางได้อยู่ดี เป็นการกระจายความเสี่ยงอีกทางหนึ่ง

เรียกว่าเป็นการปรับตัวรับกับการเปลีย่นแปลงในตลาดได้อย่างดี อีกทั้งตลาดร้านกาแฟในไทยยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าตลาดร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันต้องดุเดือดอย่างแน่นอน…

]]>
1298006
ถอดบทเรียน “ไมเนอร์ ฟู้ด” สู้ตลาดหลังวิกฤต เปิดสาขาไซส์เล็ก ทุ่มเดลิเวอรี่ เพิ่ม Cloud Kitchen https://positioningmag.com/1290392 Mon, 03 Aug 2020 12:00:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1290392 ธุรกิจร้านอาหาร ต้องเผชิญมรสุม COVID-19 โจมตีเเบบไม่ทันตั้งตัว สะเทือนทั้งรายเล็กรายใหญ่ ผู้ประกอบการเเละเเบรนด์ต่างๆ ต้องหาวิธีเอาตัวรอดให้พ้นผ่านสถานการณ์ความไม่เเน่นอนนี้ไปให้ได้

เเม้ว่าปีนี้ตลาดรวมธุรกิจร้านอาหารในไทย ที่มีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท จะไม่กลับมาสดใสได้ดังเช่นช่วงก่อนวิกฤต เเต่การปรับตัวในทุกมิติครั้งนี้ จะเป็นการปูทางไปสู่การเป็นร้านอาหารยุคใหม่ในระยะยาว

หลังคลายล็อกดาวน์ การที่ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตเเละออกทานอาหารที่ร้านได้ตามปกติ จึงเป็นสัญญาณของการค่อยๆฟื้นตัวอีกครั้งเเละก็ยังมีเรื่องที่ต้องระวังในหลายๆ ด้าน

จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่วงการเชนร้านอาหารและฟาสต์ฟู้ดอย่างไมเนอร์ ฟู้ด” เจ้าของเเบรนด์ดัง The Pizza Company, Swensen’s, Sizzler, The Coffee Club, Dairy Queen, thai express , Burger King และ Bonchon ที่มีสาขามากกว่า 2,200 สาขาใน 26 ประเทศนั้น จะงัดกลยุทธ์หมัดเด็ดอะไรมาพลิกเกมวงการร้านอาหาร เเละกระตุ้นยอดขายให้กลับมาอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังนี้

 

3 เเบรนด์ฮีโร่ บูมเดลิเวอรี่ช่วยอุ้มธุรกิจ 

ไมเนอร์ ฟู้ดเป็นยักษ์ใหญ่ที่มี ฐานลูกค้าในไทยกว่า 9 ล้านคน ทำรายได้ในปีที่ผ่านมา เป็นกอบเป็นกำถึง 24,000 ล้านบาท เเต่ด้วยอุปสรรคมากมายในปีนี้ ทำให้ต้องปรับการเติบโตลง เเละหากมองในเเง่ดีสุดๆ เเบบ Best Case Scenario ก็อาจทำได้เท่ากับปีที่แล้ว

ประพัฒน์ เสียงจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มั่นใจว่า บางแบรนด์ของไมเนอร์ ฟู้ด จะทำรายได้ได้มากกว่าเดิม จากอานิสงส์การซื้อกลับบ้านและเดลิเวอรี่ เเต่บางแบรนด์ที่มีรายได้หลักจากการบริการ Dine-in นั่งทานในร้าน ก็คาดว่าคงทำไม่ได้เท่าปีที่แล้ว

ปัจจุบันยอดขายรวมของเครือไมเนอร์ ฟู้ดกลับมาอยู่ที่ 80% ของช่วงก่อน COVID-19 โดยเเบรนด์ยอดนิยมอย่าง The Pizza Company, Swensen’s, Dairy Queen ตอนนี้รายได้กลับมามากว่าช่วงก่อนวิกฤต ขณะที่ด้านสาขา ตอนนี้ราว 95% จาก 1,490 สาขาในไทย ก็กลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้ว

โดยช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ยอดขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี่เติบโตมากถึง 3 เท่า เเละมีเเบรนด์ฮีโร่ที่มาช่วยกอบกู้สถานการณ์ของไมเนอร์ ฟู้ดไม่ให้บาดเจ็บสาหัสมากนัก ได้เเก่ The Pizza Company ตามมาด้วย Burger King และ Bonchon

ส่วนแบรนด์ถือว่าหืดขึ้นคอในการที่จะปรับตัวมาสู่เดลิเวอรี่ตามเทรนด์ของยุคนี้ ผู้บริหารไมเนอร์ยอมรับว่าคือ Sizzler ด้วยพฤติกรรมของลูกค้าส่วนใหญ่ชื่นชอบการนั่งทานในร้าน ชอบบรรยากาศการพูดคุยเเละสลัดบาร์ ที่เเม้การมีเดลิเวอรี่ให้สั่งเเล้ว ก็ยังไม่ตอบโจทย์มากนัก ซึ่งต่อไปจะมีการพัฒนาให้มากขึ้น

ขณะที่ The Coffee Club ที่พึ่งพาลูกค้าชาวต่างชาติเเละมีสาขาในเมืองท่องเที่ยวนับเป็นเเบรนด์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในเครือไมเนอร์ ฟู้ด

เรียนรู้การฟื้นตัวในจีน มาปรับใช้ในไทย 

COVID-19 เป็นเหมือนตัวเร่งให้กลุ่มไมเนอร์ปรับปรุงองค์กรอย่างฉับพลัน โดยบริษัทได้เรียนรู้จากการบริหารสาขาในประเทศจีนที่มีการเเพร่ระบาดของไวรัสก่อนใคร เเละก็เริ่มฟื้นตัวก่อนใคร สิ่งเหล่านี้นำมาสู่การปรับโครงสร้างองค์กร การสร้างกลยุทธ์ การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เล่าว่า ร้านอาหารของไมเนอร์ ฟู้ดในจีนต้องปิดชั่วคราวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และกลับมาเปิดได้อีกครั้งในเดือนมีนาคม จุดนี้ทำให้บริษัทมีประสบการณ์ที่สามารถนำมาใช้กับสถานการณ์ COVID-19 ในไทย เพื่อให้ “ฟื้นตัว” ได้เร็วที่สุด ซึ่งตอนนี้ถือว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปเเล้วตั้งแต่เดือนเมษายน เเละคาดว่ารายได้จะกลับสู่ระดับปกติเหมือนก่อนช่วง COVID-19 ภายในช่วงปลายปีนี้ โดยยังเหลือร้านอาหารในพื้นที่ท่องเที่ยว ที่ยังคงปิดอยู่อีกประมาณ 15 แห่ง

ไมเนอร์ ฟู้ด ต้องใช้ความระมัดระวัง และพิจารณาให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเปิดร้านอาหารแต่ละแห่ง รวมถึงต้องระมัดระวังการลงทุนด้วย โดยจะเน้นไปที่การลงทุนที่ได้ผลในระยะยาว เช่น ระบบดิจิทัล เเละการพัฒนาเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ของตัวเอง

ก่อนหน้านี้ กลุ่มไมเนอร์ได้ดำเนินการผ่านแผน “ลดต้นทุน” ผ่าน 3 วิธีการ 1) การปรับลดพนักงาน ซึ่งบริษัทจ้างพนักงานพาร์ตไทม์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะไมเนอร์ ฟู้ดกว่า 60% เป็นพนักงานพาร์ตไทม์ ดังนั้นจึงลดในส่วนนี้ได้ค่อนข้างมากเเละมีความยืดหยุ่น 2) เจรจาขอลดหรือเลื่อนจ่ายค่าเช่าพื้นที่ร้านอาหารและโรงแรม และ 3) การเจรจากับคู่ค้า เพื่อขอปรับเงื่อนไขการชำระเงินรวมถึงส่วนลด

โดยเเผนครึ่งปีหลังของไมเนอร์ ฟู้ด มีอยู่ 4 กลยุทธ์หลักดังนี้

  • ยกระดับเดลิเวอรี่

ต้องยอมรับว่าบริการเดลิเวอรี่ เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ไมเนอร์ ฟู้ด ผ่านพ้นวิกฤตในช่วงจุดต่ำสุดมาได้ ดังนั้นการต่อยอดพัฒนาแพลตฟอร์มการสั่งอาหารออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้บริโภคให้สามารถสั่งอาหารได้หลากหลายภายในออเดอร์เดียวจึงเป็นเป้าหมายหลักที่จะเสริมความสามารถในการเเข่งขันของบริษัทได้ในตอนนี้

ทั้งนี้ เครือไมเนอร์ มีบริการเดลิเวอรี่มาตั้งเเต่ปี 1989 มีผู้จัดส่งมากกว่า 3,000 คน โดยในช่วง COVID-19 มีสัดส่วนการสั่งซื้ออาหารส่วนใหญ่ของเครือไมเนอร์จะผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ของบริษัทโดยตรงมากกว่าช่องทางฟู้ดเดลิเวอรี่รายอื่น แบ่งเป็นผ่านช่องทางของตัวเอง 60-70% และแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ต่างๆ อีก 30-40% ขึ้นอยู่กับแบรนด์ของร้านอาหาร

“ในอนาคตอาจจะพัฒนาให้แบรนด์อื่นๆ เข้ามาอยู่ในบริการเดลิเวอรี่ของไมเนอร์ด้วย” 

โดยการสั่งจากคอลเซ็นเตอร์ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ เป็นลูกค้าคุ้นชินมานาน ขณะเดียวกันก็มียอดผู้ใช้แอปฯ การสั่งอาหารของ The Pizza Company และ 1112 Delivery ก็เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ไมเนอร์ ฟู้ด ก็ยังคงต้องการเป็นพาร์ตเนอร์กับเเอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่เจ้าอื่นอยู่ ด้วยจำนวนฐานลูกค้า บริการรับส่งอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าได้เข้าถึงในทุกช่องทาง ดังนั้นจึงต้องเดินหน้าพัฒนา 2 กลยุทธ์ ทั้งแพลตฟอร์มของตัวเอง และการไปอยู่บนแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการเดลิเวอรี่ไปควบคู่กัน

  • ออกเมนูใหม่ ๆ 

ตอนนี้ธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้น เมื่อแบรนด์ต่างๆ พร้อมงัดโปรโมชันและส่วนลดมาดึงดูดลูกค้า เชนร้านอาหารรายใหญ่จึงต้องเร่งอัดปรับโมเดลการขายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุค New Normal ไปพร้อมๆ กับการสร้างแบรนด์ให้น่าสนใจ มีความน่าเชื่อถือและมีสุขอนามัยที่ดี

“ไมเนอร์ ฟู้ดจะไม่เน้นการทำโปรโมชัน 1 แถม 1 ไปตลอด เเต่จะมีการพัฒนาให้เกิดเมนูใหม่” 

ยกตัวอย่างเช่น Swensen’s ที่ได้นำเอาเมนูไอศกรีมมะม่วงน้ำปลาหวานมาตอบโจทย์คนไทย แทนที่จะขายแค่ไอศกรีมรสชาติเดิมๆ เเละการนำเมนูที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาทางให้เกิดเมนูใหม่ เช่น การพัฒนาเมนู มะม่วง แบล็ก ดูโอ้ ไอศกรีมมะม่วงอกร่องทองกับเครื่องเคียงอย่างข้าวเหนียวดำที่เป็นเมนูที่ Swensen’s มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ การพัฒนาเมนูอาหารยังต้องตอบโจทย์การส่งเดลิเวอรี่เเละสั่งกลับบ้านให้มากขึ้นด้วย

อ่านเพิ่มเติม : สเวนเซ่นส์” พลิกเกม! ปรับภาพมากกว่าไอศกรีม ขอครอบจักรวาล “ของหวาน”

swensens

  • ลุยโมเดล “คีออส” 

จากนี้ไป ไมเนอร์ ฟู้ดจะเน้นพัฒนาแบรนด์ร้านอาหารในเครือผ่านโมเดลใหม่ เเละมีรูปเเบบการขยายสาขาที่เเตกต่างจากเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเน้นเปิดร้านในพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่หลังจากนี้จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นการเปิดสาขาในร้านขนาดเล็ก คีออส และแกร็บแอนด์โก เจาะพื้นที่ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงานและย่านมหาวิทยาลัย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่และรูปแบบร้านอาหารที่มีอยู่ให้มากที่สุด

อ่านเพิ่มเติม : เปิดแนวคิด Sizzler to go คอนเซ็ปต์ร้านเล็กบน BTS ยุทธการพาร้านเข้าหาผู้บริโภค

ยกตัวอย่างที่ไมเนอร์ ฟู้ดได้ทำมาแล้ว เช่น Sizzler To Go ที่เปิดร้านในรูปแบบคีออสกลางใจเมือง เนื่องจากเมนูอาหารของ Sizzler ยากต่อการส่งเดลิเวอรี่ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี โดยต่อไปจะผลักดันร้านอื่นๆ ในเครือเช่น Swensen’s เเละ The Coffee Club ให้มีบริการแกร็บแอนด์โกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการ “ปรับโฉมแบรนด์” ให้เข้ากับผู้บริโภคในท้องถิ่นมากขึ้น เช่น การเปิดสาขาแฟลกชิพสโตร์ของ Swensen’s ที่จังหวัดน่าน ที่มีการตกแต่งร้านสไตล์บ้านไทลื้อ

  • พัฒนา “Cloud Kitchen” 

เรียกได้ว่าเป็นโมเดล “ครัวกลาง” รูปเเบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงนี้ จากการนำเอาคอนเซ็ปต์ Cloud มาประยุกต์ใช้กับร้านอาหาร เกิดเป็น Cloud Kitchen ช่วยให้ลูกค้าที่สั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ที่สดใหม่เเละใกล้บ้าน ด้วยที่ตั้งสาขาใกล้บ้านในระยะ 3 กิโลเมตร เเละสามารถสั่งอาหารได้หลายแบรนด์ภายในออเดอร์เดียว

ไมเนอร์ ฟู้ดคาดว่า Cloud Kitchen จะช่วยทำให้บริการเดลิเวอรี่ของไมเนอร์ ฟู้ดครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะในย่านชุมชน โดยก่อนหน้านี้บริษัทเคยทดลองใช้โมเดลนี้ในสาขาที่ออสเตรเลียมาเเล้ว

จากการที่ร้าน The Pizza Company สาขานอกห้างมักจะเช่าตึกแถวทั้งตึก มีพื้นที่เหลือหลายชั้น จึงแบ่งพื้นที่ให้เเบรนด์ในเครือได้ไม่ยาก เพราะบุคลากรและเครื่องครัวใช้แยกกันของแต่ละแบรนด์ ปัจจุบันมีการทดลองรวม Cloud Kitchen ของไมเนอร์ไปแล้ว 10 สาขา ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ เเละมีการขยายไปยังเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตเเละเชียงใหม่ เริ่มจากการนำ Bonchon กับ Sizzler เข้าไปใช้พื้นที่ร่วมกับ The Pizza Company 

ตัวอย่างร้าน The Pizza Company นอกห้างที่เป็นตึกแถว บางสาขาอาจมีพื้นที่เหลือให้แบรนด์อื่นเข้ามาใช้ได้ (Photo : Google Maps)

ส่วนการขยายในอนาคต ผู้บริหารไมเนอร์ ตอบว่ายังไม่แน่ว่าจะเปิดกี่สาขา ขอดูตามสถานการณ์ และอาจจะมีการขยายไปควบคู่กับกลยุทธ์การรุกต่างจังหวัดของ Bonchon ที่ยังคงมุ่งผลักดันให้ขยายสาขาแบบมีหน้าร้านปกติอยู่

สำหรับการเปิดสาขาในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทจะเปิด Burger King เพิ่มอีก 4 สาขา และ Bonchon เพิ่มอีกเป็น 90 สาขา จากที่ตอนนี้มีแล้ว 65 สาขา ในจำนวนนี้จะรวมถึงโมเดล Cloud Kitchen ด้วย

โมเดลธุรกิจ Cloud Kitchen ไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุคหลัง COVID-19 เพราะเริ่มมีในต่างประเทศมาก่อนหน้านี้แล้ว อธิบายอย่างง่ายๆ คือการลงทุนทำครัวขนาดใหญ่ มีอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น เตาแก๊ส เตาอบ เตรียมไว้ให้ร้านอาหารมาเช่า และมีสเตชั่นครัวแบบนี้หลายๆ สเตชั่น หลายร้านสามารถมาเช่าทำงานพร้อมกันได้

โดย Cloud Kitchen จะไม่มีหน้าร้านสำหรับนั่งทาน มีแต่ช่องทางให้พนักงานเดลิเวอรี่หรือผู้บริโภคมารับอาหารแบบ take away ดังนั้นจึงตอบโจทย์ตรงที่ทำให้ลูกค้าขยายได้ง่ายกว่า ลงทุนต่ำกว่าและเปิดได้เร็วกว่า เพราะทุกอย่างเตรียมไว้พร้อมหมดแล้ว 

อ่านเพิ่มเติม : จับกระแส 5 บริษัทบุกธุรกิจ “คลาวด์ คิทเช่น” รับเทรนด์ฟู้ดเดลิเวอรี่บูมสุดขีด

ระวังการลงทุน…ปีนี้ต้องเบรกทุ่มก้อนใหญ่ 

ก่อนหน้านี้ กลุ่มไมเนอร์ได้ประกาศแผนระดมทุนแบบเบ็ดเสร็จ 25,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมตัวรับมือกับความไม่เเน่นอน หากการระบาดของ COVID-19 ยืดเยื้อกว่าที่คาด

สำหรับ แผนธุรกิจและการลงทุน ของไมเนอร์ ฟู้ดในปีนี้นั้น ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ MINT เปิดเผยว่า เเผนเดิมที่เคยวางไว้ในระยะ 5 ปีตอนนี้ทำได้ยากขึ้น เพราะความไม่เเน่นอนของสถานการณ์โดยเฉพาะธุรกิจโรงเเรม เเต่ในธุรกิจอาหารนั้นถือว่าฟื้นตัวได้เร็วมาก เเม้รายได้จะยังไม่กลับมาเท่าเดิม เเต่มองว่าอยู่ในช่วงกำลังปรับแผนเเละปรับองค์กร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไประยะยาว

“งบลงทุนใหญ่ๆ ปีนี้ต้องชะลอไว้ก่อน เพราะต้องรักษาสภาพคล่องของบริษัท แต่หากมีโปรเจกต์ในแบรนด์ที่สามารถทำรายได้ให้รีเทิร์นกลับมาได้ ก็จะพิจารณาไปเเต่ละกรณี”

ดังนั้นในปีนี้ งบลงทุนใหญ่ของไมเนอร์ ฟู้ดจึงจะมีการใช้ไปกับการลงทุนเพิ่มในแบรนด์ Bonchon ราว 2.4 พันล้านบาท เพื่อถือสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ 20 ปี ขยายสาขาใหม่ในไทย หลังจากเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้ทุ่มเงิน 2 พันล้านบาท เพื่อซื้อธุรกิจจากเจ้าของเดิม นอกจากนี้ยังมีการลงทุนอีก  1.1 พันล้านบาทเพื่อซื้อหุ้น BreadTalk ในสิงคโปร์ด้วย

 

]]>
1290392
มิติใหม่ของ Sizzler แบบ New Normal สลัดบาร์ที่ต้องสั่งจากพนักงานแทนการตักเอง https://positioningmag.com/1280652 Tue, 26 May 2020 15:53:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1280652 Sizzler เปิดมาตรการความปลอดภัยเมื่อรับประทานอาหารภายในร้าน โดยมีการเปลี่ยนการให้บริการสลัดบาร์จากที่ลูกค้าต้องบริการตัวเอง เป็นการสั่งกับพนักงาน เพื่อลดการสัมผัส พร้อมกับการปรับเมนูให้เข้ากับสถานการณ์ด้วย

ลดการสัมผัส ต้องสั่งจากพนักงาน

หลังจากมีมาตรการคลายล็อกเฟสที่ 2 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ให้ศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าเปิดให้บริการได้ รวมถึงร้านอาหารภายในศูนย์ด้วย แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการความปลอดภัย ซึ่งทำให้แต่ละร้านต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับกับการทำ Social Distancing

ร้าน Sizzler เป็นอีกหนึ่งร้านที่มี “สลัดบาร์” เป็นไลน์อาหารแบบบุฟเฟต์ ทำให้ต้องมีการปรับกลยุทธ์ เพราะยังไม่สามารถเปิดไลน์บุฟเฟต์ได้ เนื่องจากมีการสัมผัสภาชนะต่อๆ กัน จึงต้องใช้วิธีการสั่งกับพนักงาน

กลายเป็นมิติใหม่ของการทานอาหาร ที่ทางร้านเองก็ต้องปรับลดจำนวนโต๊ะ และที่นั่งลง เพราะสามารถรองรับที่นั่งได้สูงสุดแค่ 70 ที่นั่ง จากปกติ 251 ที่นั่ง ให้มีความห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และอาหารทุกอย่างต้องให้พนักงานเสิร์ฟเท่านั้น

นงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด

“ในช่วงที่มีการปิดร้านต้องมีการปรับตัวเยอะมาก เพราะรายได้ส่วนใหญ่ 90% มาจากการทานในร้าน แม้เดลิเวอรี่จะเปติบโตแต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมได้เท่าเดิม พอตอนนี้กลับมาเปิดได้อีกครั้ง ก็ต้องมีการปรับทุกขั้นตอนใหม่หมด ต้องทำตั้งแต่ในครัว เปลี่ยนถุงมือ การทำความสะอาด มีบิ๊กคลีนนิ่งทุกวัน ทำความสะอาดโต๊ะ และเมนูอยู่ตลอด”

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ สลัดบาร์ที่ต้องให้พนักงานเป็นคนตักให้ โดยทางร้านจะวางกระดาษเมนูไว้บนโต๊ะ ให้ลูกค้าเลือกสิ่งที่ต้องการ แล้วพนักงานจะตัมาเสิร์ฟให้ที่โต๊ะ แน่นอนว่าลูกค้าบางคนอาจจะรู้สึกแปลกๆ ไปบ้าง เพราะเวลาตักเองจะสามารถกะปริมาณ และเลือกสิ่งที่ชอบได้ตามใจ

“สลัดบาร์เป็นความท้าทายที่สุดของช่วงนี้ จะมีการปรับปรุงเรื่อยๆ ในตอนแรกจะตั้งไลน์สลัดในครัว แล้วตักมาให้ลูกค้า แต่วันต่อมาก็เริ่มเปลี่ยนมาวางที่บาร์ ช่วงแรกมีปัญหาเรื่องการเสิร์ฟช้าบ้าง แต่ 80 90% ของลูกค้าก็พอใจ ยังมีประมาณ 5% ที่รู้สึกไม่อิสระ อยากได้อย่างอื่นเพิ่ม หรืออยากทานตามสูตรตัวเอง มีการเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ”

เมนูสลัดบาร์จะมีการปรับลดลงไปบ้าง เพราะต้องมีการจัดการสต๊อก จากปกติมี 50 รายการ แต่ตอนนี้มี 30 รายการ แต่เป็นการเลือกจากเมนูที่ลูกค้าชอบมากที่สุด นงชนกได้บอกว่า อาจจะมีการเพิ่มเรื่อยๆ ได้จากการรีเควสของลูกค้าที่อยากได้อันนี้บ้าง อยากเพิ่มอันนี้บ้าง

ปรับเมนูให้เหมาะกับสถานการณ์

ในช่วงปีที่ผ่านมา Sizzler ได้พยายามปรับตัวหลายๆ อย่าง ทั้งเมนูที่ต้องทันกับความต้องการชองผู้บริโภคในยุคนี้ มีทั้งเมนู Plant-based Food ที่ทำจากพืช และมีการออกเมนูเพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างจุดยืนให้เป็นแบรนด์เฮลท์ตี้มากขึ้น

แต่ในช่วงที่มีการปิดร้านเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ ทางร้านก็ได้หันไปโฟกัสที่ตลาดเดลิเวอรี่มากขึ้น และจัดเมนูเพื่อสร้างความคุ้มค่ามากขึ้น และเมื่อเปิดร้านใหม่ก็ได้จัดโปรโมชั่นราคาพิเศษ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่ามากขึ้น

“ช่วงที่ปิดร้านเราไม่ได้อัดโปรโมชั่นมากมาย แต่โฟกัสที่เดลิเวอรี่ ต้องการให้สิ่งที่ลูกค้าต้องการ เพราะบางคนรายได้ลดลง ได้ลดราคาสลัดบาร์เหลือ 139 บาททุกวัน เอาเมนูโปรโมชั่นถูกมาลดอีก และแถมโค้กอีก เราไม่เคยเอาปลากะพงทำเมนูโปรโมชั่น แต่ครั้งนี้เราทำ แถมโค้กรีฟิวอีก ทำให้มื้อนึงคุ้มมาก อยากให้ลูกค้ารู้สึกว่ามาทานแล้วคุ้มค่า”

ทาง Sizzler ก็ได้ดีไซน์เซ็ตเมนูสำหรับเดลิเวอรี่ ที่ทานได้ 1-2 คน มีทั้งสลัด เซตข้าว และซุป กลายเป็นเซ็ตขายดีสำหรับเดลิเวอรี่ พร้อมกับย้ำว่าไม่มีการขึ้นราคาสินค้าอย่างแน่นอน บางเมนูมีการปรับราคาลงด้วย

แบรนด์จะอยู่ได้ ต้องมีจุดยืนที่แข็งแรง

หลังจากที่ศูนย์การค้า และร้านอาหารกลับมาเปิดอีกครั้ง ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ต้องมีวิถีชีวิตใหม่จนกว่าจะมีวัคซีนในการรักษา COVID-19 อย่างจริงจัง ทำให้ร้านอาหารต้องปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับพฤติกรรมของลูกค้ามากขึ้น

นงชนกบอกว่า ความท้าทายต่อจากนี้คือ เรื่องจุดยืนของแบรนด์ ที่ Sizzler ได้ชูความเป็นเฮล์ทตี้แบรนด์ ต้องทานแล้วสุขภาพดี ราคาคุ้ม และต้องอร่อย เป็นโจทย์ที่สำคัญ

“ตอนนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง แบรนด์ที่จะอยู่ได้ต้องมีจุดยืนที่แข็งแรง คนจะกังวลเรื่องสุขภาพมากขึ้น เริ่มมองหาอะไรที่ดีต่อสุขภาพ หรืออะไรที่ทำให้แข็งแรง เพิ่มภูมิต้านทาน เขาจะเลือกทานสิ่งนั้น เรามีอาหารประเภทนั้นอยู่แล้ว ก็ต้องทำให้มีมูลค่า ทำให้แบรนด์ยังอยู่กับลูกค้า อยากให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี บรรยากาศที่ดี ในราคาที่จ่ายได้” 

แม้ศูนย์การค้าจะเปิดตามปกติแล้ว แต่รายได้ยังคงไม่เท่าเดิม เพราะคนเดินห้างยังน้อย และจำนวนโต๊ะก็น้อยลง ทำให้ Sizzler ก็ยังคงต้องผลักดันตลาดเดลิเวอรี่ต่อ จากปัจจับันมีสัดส่วนรายได้ 10% ต้องการมีสัดส่วน 30%

ในส่วนของการลงทุน Sizzler ยังมีแผนขยายสาขาในโมเดล Sizzler to go เป็นโมเดลขนาดเล็ก ในเดือนมิถุนายนจะขยายเพิ่มอีก 4 สาขา เน้นทำเลบนสถานีรถไฟฟ้า อาคารสำนักงาน เพราะมองโอกาสของตลาด Grab & Go ที่จะเติบโตสูงมากขึ้น

]]>
1280652
“สเวนเซ่นส์” ขายเหมา “ลูกชุบมะม่วง” แบบโอเวอร์โหลด 50 ลูก ระบายสต็อกช่วง COVID-19 https://positioningmag.com/1273152 Mon, 13 Apr 2020 17:24:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1273152 สเวนเซ่นส์เอาใจคอลูกชุบมะม่วงจากเมนูไอศกรีมข้าวเหนียวมะม่วง ขายแบบเหมาๆ 50 ลูก 299 บาท เป็นอีกกลยุทธ์ในการระบายสต็อกช่วงไวรัส COVID-19

ยุคนี้ต้องโอเวอร์โหลด เร่งระบายสต็อกสินค้า

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก แน่นอนว่าร้านอาหารต้งอมีการปิดให้บริการในส่วนของการทานในร้าน แต่สามารถให้บริการในส่วนของซื้อกลับบ้านและเดลิเวอรี่ได้ แต่ก็ไม่สามารถทดแทนกันได้ทั้งหมดเสียทีเดียว

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับร้านอาหารหลายแห่งก็คือมีสต็อกวัตถุดิบค่อนข้างมาก ถ้าในสถานการณ์ปกติคงมีการจำหน่ายได้ทัน แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มชะลอลงอย่างในช่วงตอนนี้ ทำให้สต็อกสินค้าเหลือมากมาย

ร้านอาหารจึงเริ่มที่จะจำหน่ายวัตถุดิบแยก แม้แต่ร้านไอศกรีมอย่าง “สเวนเซ่นส์” ก็ขอจำหน่ายท็อปปิ้งแยกเช่นกัน ได้นำ “ลูกชุบมะม่วง” มาจำหน่ายแบบโอเวอร์โหลดจำนวน 50 ลูก ราคา 299 บาท

ราคานี้เป็นราคาที่ลด 70% จากราคาปกติ 1,000 บาท แต่เดิมท็อปปิ้งลูกชุบจะจำหน่ายในราคาปกติลูกละ 20 บาทเลยทีเดียว

ซึ่งลูกชุบมะม่วงเป็นหนึ่งในไอเท็มสำคัญของเมนูตระกูล “มะม่วงอกร่องทองซันเด” เป็นลูกชุบอบควันเทียนรูปมะม่วงที่สั่งทางร้าน “ขนมไทยเก้าพี่น้อง” ผลิตส่งเป็นประจำทุกปีนับล้านลูก เพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลมะม่วงที่จะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี

และถ้าเกิดว่าปีไหนที่ลูกชุบมะม่วงหมดสต็อก ก็จะไม่มีการผลิตเพิ่ม จะเปลี่ยนเป็นท็อปปิ้งอื่นแทน จากประสบการณ์ส่วนตัวที่พบ ในปีก่อนผู้เขียนเคยไปทานเมนูนี้ แล้วสต็อกลูกชุมมะม่วงได้หมดเกลี้ยงแล้ว ทางร้านได้ใส่เชอร์รี่มาให้แทน

สเวนเซ่นส์ได้เริ่มขายเมนูลูกชุบมะม่วง ซูเปอร์ โอเวอร์โหลด ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา แต่จะขายผ่านทาง Food Aggregator หรือผู้ให้บริการ Food Delivery เท่านั้น ยังไม่มีจำหน่ายผ่านแอปพลิเคชัน 1112 Delivery

ลูกชุบมะม่วงมี 2 ขนาดด้วยกัน ขนาด 50 ลูก ราคา 299 บาท และขนาด 8 ลูก ราคา 50 บาท นอกจากนี้ยังมีจำหน่ายท็อปปิ้งอื่นๆ แบบโอเวอร์โหลดเช่นกัน ได้แก่ คิดส์แฟน, อัลมอนด์, ถั่ว, แยมสตรอเบอร์รี่ และอื่นๆ

ร้านในเครือไมนเอร์ฯ ขายวัตถุดิบแยก

จริงๆ แล้วนอกจากร้านสเวนเซ่นส์ ยังมีแบรนด์อื่นๆ ในเครือของ “ไมเนอร์ฟู้ด” ที่นำวัตถุดิบอาหารมาจำหน่ายแยก เพื่อเร่งระบายสต็อกให้เร็วที่สุด เพียงแต่ว่าเริ่มจำหน่ายให้พนักงานภายในเท่านั้น

มีทั้งสเต็ก ผัก กระเทียมดองต่างๆ จากร้าน Sizzler หรือจะเป็นฮอตด็อกจาก Dairy Queen

เหตุผลที่ทางไมเนอร์เลือกที่จำหน่ายให้กับพนักงานภายในเท่านั้น เพราะวัตถุดิบที่นำมาขายในราคาถูกช่วงนี้ ส่วนใหญ่จะหมดอายุในช่วงเดือนมิถุนายน กลัวว่าถ้านำมาจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปจะดูไม่ดีเท่าไหร่นั่นเอง

]]>
1273152
เชนร้านอาหารพร้อมใจไม่คิดค่าส่งเดลิเวอรี่! ผู้ส่งเน้นมาตรการ Contactless ลดการสัมผัส https://positioningmag.com/1269331 Mon, 23 Mar 2020 14:00:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1269331 ร้านอาหารแบรนด์ดังพร้อมใจงดค่าส่งเดลิเวอรี่ เพื่อฝ่าวิกฤต COVID-19 ไปด้วยกัน โดยส่วนใหญ่มีการสั่งขั้นต่ำ 100-200 บาท มีการจัดส่งฟรี พร้อมกับแนะนำการชำระเงินแบบ Cashless ป้องกันการสัมผัสเงิน

งดค่าส่งผ่านเดลิเวอรี่

จากมาตรการกึ่งๆ ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ ทำให้ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าต้องปิดให้บริการชั่วคราว ส่วนร้านอาหารต้องปรับรูปแบบเป็นแบบซื้อกลับบ้าน หรือเดลิเวอรี่เท่านั้น เพื่อป้องกันการรวมตัวกันของคนกลุ่มใหญ่

นี่คือวิกฤตครั้งใหญ่ที่คนไทยต้องเผชิญด้วยกัน!

กลายเป็นการปรับตัวของทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ทางร้านเองก็ลูกค้าหาย รายได้หดแน่นอน เพราะไม่มีลูกค้าทานในร้าน ต้องซื้อกลับบ้านอย่างเดียว ผู้บริโภคเองก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องซื้อกลับบ้านเท่านั้น

หลังจากที่เกิดการล็อกดาวน์ปิดห้าง ปิดศูนย์การค้า แน่นอนว่าร้านอาหารของแบรนด์ใหญ่ๆ ย่อมอยู่ในศูนย์การค้า แม้จะไม่ได้มีมาตรการว่าต้องปิดให้บริการ แต่ก็เป้นการให้ปรับรูปแบบเป็นซื้อกลับบ้าน และเดลิเวอรี่เท่านั้น

หลายแบรนด์ หลายเชนร้านอาหารดังๆ ก็ต่างพร้อมใจในการปรับตัวครั้งนี้ พร้อมกับลุยบริการเดลิเวอรี่กันอย่างเต็มที่ ซึ่งบางแบรนด์ถึงกับออกนโยบายไม่คิดค่าส่งเดลิเวอรี่ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคสั่งอาหารทาที่บ้าน และเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

เครือที่เห็นชัดสุดก็คือ “ไมเนอร์ฟู้ด” ที่ผนึกร้านอาหารในเครืออย่าง เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, เบอร์เกอร์ คิง, ซิซซ์เล่อร์, สเวนเซ่นส์, แดรี่ ควีน และเดอะ คอฟฟี่ คลับสามารถสั่งอาหารได้โดยไม่เสียค่าจัดส่ง เพียงแค่มีขั้นต่ำ 100 บาท โดยสั่งผ่านช่องทาง www.1112delivery.com หรือแอปพลิเคชัน 1112Delivery (ยกเว้นบอนชอนที่ต้องเสียค่าส่ง เพราะยังไม่อยู่ในแอปพลิเคชัน)

ทางด้าน “แมคโดนัลด์” เชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดก็ขอร่วมมาตรการไม่คิดค่าจัดส่งอาหาร เพียงแค่มีการสั่งขั้นต่ำ 200 บาท และชำระเงินผ่านช่องทางบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้ Cashless ลดการสัมผัสเงินสดโดยตรง

MK Restaurants ก็งดค่าบริการจัดส่งด้วยเช่นกัน เมื่อสั่งอาหารขั้นต่ำ 150 บาท ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เฉพาะพื้นที่ให้บริการ สามารถสั่งได้ผ่านช่องทาง www.mk1642.com, Call center 1642 และHotline 02-2485555

ส่วน CRG หรือเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป มีเปิดให้บริการเดลิเวอรี่ในทุกแบรนด์ร้านอาหารทั้งผ่านคอลเซ็นเตอร์ 1312 และผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่

แต่แบรนด์ “อร่อยดี” เป็นแบรนด์ร้านอาหารสตรีทฟู้ดน้องใหม่ ได้เปิดให้บริการแบบซื้อกลับ และบริการจัดส่งเดลิเวอรี่ ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่มีค่าจัดส่ง

สำหรับเชนร้านอาหารอื่นๆ ยังคงเปิดให้บริการเดลิเวอรี่อย่างเช่น “โออิชิ กรุ๊ป” เปิดให้บริการทั้งในช่องทางคอลเซ็นเตอร์ และเว็บไซต์ รวมทั้งกับพันธมิตรฟู้ดเดลิเวอรี่

ผู้ส่งใช้มาตรการ Contactless ลดการสัมผัสโดยตรง

ในส่วนของผู้ให้บริการเดลิเวอรี่ ก็มีการปรับตัว ออกมาตรการเพื่อรองรับการแพ่รระบาดของ COVID-19 เช่นกัน โดยที่บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ต่างใช้มาตรการ Contactless Delivery เพื่อลดการสัมผัสโดยตรง

ได้เห็น Grab และ KFC ได้นำร่องบริการนี้ก่อนใครเพื่อน เพื่อป้องกันความปลอดภัยของทั้งตัวผู้ส่ง และผู้สั่งอาหารเองก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งหมด

พร้อมแนะนำชำระเงินผ่านช่องทาง Cashless หรือบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือ GrabPay เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อโรคโดยเงินสด

ล่าสุดทาง LINE MAN ได้เพิ่มฟีเจอร์ Contactless ให้ลูกค้าได้เลือกเพื่อลดการสัมผัสติดต่อระหว่างพนักงานขับและลูกค้า พร้อมด้วยฟีเจอร์ Self Pick-up ให้สามารถเลือกสั่งอาหารผ่านแอปฯ และไปรับเองที่ร้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งระบบจะทยอยขึ้นให้บริการภายในเดือนเมษายนนี้

ส่วน KERRY Express ได้เปิดบริการรับส่งสินค้าแบบ Door to Door ลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ประกอบการและลูกค้าทั่วไป เป็นบริการจัดการไปรับสินค้าถึงหน้าบ้าน

ช้อปปิ้งออนไลน์ก็ส่งฟรี

ในส่วนของห้างสรรพสินค้าก็ไม่น้อยหน้า แม้จะมีการปิดทำการในช่องทางออฟไลน์ แต่ชอ่งทางออนไลน์ยังเดินหน้าต่อ โดยกลุ่ม CRC หรือเซ็นทรัล รีเทล ได้ผุดการช้อปปิ้งออนไลน์ให้คึกคักมากขึ้น

ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เปิดบริการ “เซ็นทรัล แอท ยัวร์ โฮม” เปิดให้ชอป 3 ช่องทาง ได้แก่ www.central.co.th, ผู้ช่วยส่วนตัวผ่านไลน์ @CentralOfficial (10.00-21.00 น.) และผ่านโทรศัพท์ 0-2793-7555 (09.00-21.00 น.) และประกาศ “ส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำ” ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 เปิดให้ชอปผ่านหน้าจอตลอด 24 ชั่วโมง

ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน เปิดให้ช้อป 2 ช่องทาง ได้แก่ www.robinson.co.th และผู้ช่วยช้อปส่วนตัวผ่านไลน์ @robinson (10.30-20.00 น.)

ยังรวมไปถึงทุกธุรกิจในเครือเซ็นทรัล รีเทล ได้แก่ เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป (CMG), ซูเปอร์สปอร์ต, เพาเวอร์บาย, ไทวัสดุ, บ้านแอนด์บียอนด์, วีฟิกซ์ รวมทั้งท็อปส์ออนไลน์

จะเห็นว่าในวิกฤตต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา แต่ทางด้านผู้ประกอบการก็มีการปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วถ้าทุกคนร่วมมือกัน ป้องกันตัวเองให้มาที่สุด ประเทศไทยจะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี

]]>
1269331