ซื้อกิจการ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 01 Apr 2024 13:40:11 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” แต่งตัวเข้าตลาดหุ้น! “ซื้อกิจการ” ร้านดังเข้าพอร์ต – ส่งรถเข็นบะหมี่ขาย “ฟิลิปปินส์” https://positioningmag.com/1468549 Mon, 01 Apr 2024 11:16:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1468549 กว่า 30 ปีที่ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” เปิดขายอยู่ในเมืองไทย ใช้กลยุทธ์ยึดหัวหาดตามปั๊มน้ำมันและหน้าเซเว่นฯ จนวันนี้มีแฟรนไชซีกำลังลวกบะหมี่อยู่กว่า 4,500 สาขาทั่วประเทศ แต่ถ้าจะโตได้มากกว่านี้ต้องขายมากกว่าบะหมี่! ทำให้บริษัทปรับใหญ่สู่ “ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น” พร้อมล่าซื้อกิจการแบรนด์ร้านอาหารดาวรุ่งเข้าสู่อาณาจักร “สตรีทฟู้ด” ของบริษัท ปั้นให้แมสเพื่อเจาะตลาดทั่วไทยและไปไกลถึงต่างประเทศ

“พูดตรงๆ เพราะผมไม่อยากเห็นลูกๆ ทะเลาะกัน” พันธ์รบ กำลา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวเปิดใจตรงไปตรงมาถึงเหตุผลเริ่มแรกที่ต้องการผลักดัน “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนำมาสู่การปรับโครงสร้างในบริษัทให้ ‘พร้อม’ ที่จะเป็นบริษัทในตลาดหุ้น

พันธ์รบ เป็นหนุ่มอีสานผู้ต่อสู้ฝ่าฟันจากศูนย์ ทำงานมาหลายอย่างก่อนจะมาจับธุรกิจขายบะหมี่เกี๊ยวครั้งแรกที่แยกลำลูกกาเมื่อปี 2535 หลังจากนั้นพันธ์รบคิดพัฒนาเรื่อยมาจนมีสูตรและเครื่องผลิตเส้นบะหมี่ด้วยตนเอง พร้อมต้อนรับญาติพี่น้องจากบ้านเกิดเข้ามาขยายสาขา “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” โกยรายได้ในเมืองกรุง จนทำให้เกิดอาณาจักรบะหมี่เกี๊ยว ขายแฟรนไชส์รถเข็นไปทั่วประเทศ

ปัจจุบันชายสี่ คอร์ปอเรชั่นไม่ได้มีแต่ร้านบะหมี่เกี๊ยว แต่ยังขายแฟรนไชส์แบรนด์อื่นๆ ด้วย เช่น ชายใหญ่ ข้าวมันไก่, ลูกชิ้นทอด โอ้มายก๊อด, พันปีบะหมี่เป็ดย่าง รวมทั้งหมด 7 แบรนด์ในเครือ มีสาขารวมกว่า 4,500 สาขา แต่ชายสี่บะหมี่เกี๊ยวยังเป็นแบรนด์หลักคิดเป็นสัดส่วนเกิน 90% ของรายได้รวม

อาณาจักรของชายสี่บะหมี่เกี๊ยวสนับสนุนด้วยโรงงานผลิตเส้นบะหมี่และฮับกระจายสินค้า 7 แห่งในทุกภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ, ฉะเชิงเทรา, อุดรธานี, มหาสารคาม, พิษณุโลก, ลำปาง และสุราษฎร์ธานี มีรถขนส่งมากกว่า 100 คันที่กระจายวัตถุดิบสำคัญคือ “เส้น” ให้แก่แฟรนไชซีทุกวัน เพื่อไม่ให้มาตรฐานตกเพราะร้านนี้มีจุดขายที่ “เส้นบะหมี่ทำสด” ไม่ค้างหลายวันจนหมดอร่อย

ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว
ข้อมูลผลประกอบการจาก บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ในแง่รายได้ เมื่อปี 2566 บริษัททำรายได้รวม 1,117 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิ 126.6 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิปี 2566 เติบโตถึง 121% จากปีก่อนหน้า เพราะบริษัทเริ่มปรับโครงสร้างธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2565 เริ่มนำผู้บริหารมืออาชีพและทีมงานคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารธุรกิจ เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต บริหารต้นทุนให้ดีขึ้น จนลดต้นทุนได้สำเร็จ

 

จะโตเร็วต้อง “ซื้อ” แบรนด์เข้ามา

“อนุชิต สรรพอาษา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด อธิบายถึงวิสัยทัศน์การเติบโตว่า หากพึ่งพิงการขายเส้นบะหมี่อย่างเดียวคงโตได้ช้า บริษัทจึงปรับตำแหน่งทางการตลาดของตัวเอง ต้องการจะเป็น “เจ้าแห่งสตรีทฟู้ด” ผ่านแบรนด์แฟรนไชส์ที่มีอยู่ 7 แบรนด์ และจะซื้อแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาในบริษัทเพื่อมา ‘ปั้น’ ให้กลายเป็นแบรนด์ ‘ซูเปอร์แมส’ ที่ไปเปิดได้ทั่วไทย

ผลิตภัณฑ์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ “เสือร้องไห้”

ในปี 2567 นี้ชายสี่ฯ ตกลงเข้าถือหุ้นใหญ่ซื้อกิจการแล้ว 2 ร้าน ได้แก่ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ “เสือร้องไห้” จากอยุธยา และ ร้านขนมหวานชื่อดัง “BRIX” จะเป็น 2 ร้านนำร่องที่บริษัทจะร่วมกับผู้ก่อตั้งนำมาปั้นให้แมสขึ้นร่วมกัน เพื่อเป็นโชว์เคสในการไปเจรจาแบรนด์อื่นในอนาคตว่าการร่วมทุนกับชายสี่ฯ จะทำให้ร้านเติบโตในทิศทางใด

“เรามีศักยภาพในการทำร้านรถเข็น ร้านแนวสตรีทฟู้ดมาก่อน อย่างร้านเสือร้องไห้มีจุดเด่นเรื่องรสชาติก๋วยเตี๋ยวเรือที่อร่อยจนคนกรุงเทพฯ ยังต้องไปต่อคิวถึงอยุธยา ก็เป็นไปได้ที่เราจะนำสูตรมาทำเป็นก๋วยเตี๋ยวเรือรถเข็น หรือร้าน BRIX อนาคตก็อาจจะแตกแบรนด์ย่อยมาขายขนมชิ้นละ 60-70 บาท เป็นบูธขายตามห้างฯ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน” อนุชิตกล่าว

ร้านขนมหวาน BRIX

การคัดเลือกแบรนด์ดาวรุ่งที่ชายสี่ฯ สนใจซื้อกิจการ อนุชิตมองว่าไม่จำกัดประเภทอาหาร/ขนม/เครื่องดื่ม เป็นไปได้ทั้งหมดขอเพียงเป็นแบรนด์ที่มี ‘ลายเซ็น’ ของตัวเองที่ชัดเจน เป็นที่รู้จักแล้วในระดับหนึ่ง และผู้ก่อตั้งเดิมยังต้องการจับมือร่วมกันพัฒนาต่อ ไม่ต้องการผู้ร่วมทุนที่ขายขาดและออกจากกิจการ

ภายในปีนี้ชายสี่ฯ ตั้งเป้าจะซื้อกิจการแบรนด์ใหม่อีก 5-10 แบรนด์ โดยเตรียมงบลงทุนไว้ราว 50-100 ล้านบาท

 

ขยายให้ไกลกว่า CLMV สยายปีกเข้า “ฟิลิปปินส์-ญี่ปุ่น”

ขยายพอร์ตโฟลิโอแล้ว ตลาดก็ต้องขยายด้วยเช่นกัน อนุชิตกล่าวว่า ชายสี่ฯ จะเริ่มทำตลาด “ต่างประเทศ” อย่างจริงจัง จากเดิมมีการขายแฟรนไชส์บ้างในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน แต่วันนี้ชายสี่ฯ กำลังจะเริ่มบุกเข้าสู่ “ฟิลิปปินส์” เต็มตัว

โดยบริษัทเข้าไปร่วมทุนกับ Cabalen Group ธุรกิจร้านอาหารสไตล์เอเชียนบุฟเฟต์ที่มีกว่า 60 สาขาในฟิลิปปินส์ สร้างโรงงานผลิตเส้นบะหมี่ที่ฟิลิปปินส์เรียบร้อยแล้ว ภายในสิ้นปีนี้จะเริ่มผลิตเพื่อป้อนเส้นบะหมี่ส่งในร้านของ Cabalen Group ก่อนที่ในอนาคตจะเริ่มเปิดร้าน “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ในศูนย์การค้าและสตรีทฟู้ดของฟิลิปปินส์

ส่วนแผนธุรกิจใน “ญี่ปุ่น” นั้นกำลังทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” จากสูตรของชายสี่บะหมี่เกี๊ยวเองเพื่อขายในแดนปลาดิบ

 

เข้าตลาดหุ้นอีกไม่เกิน 3 ปี

จากการปรับโครงสร้างทั้งหมดนี้ อนุชิตกล่าวว่าบริษัทคาดจะได้ยื่นไฟลิ่งเข้าสู่ตลาดหุ้นภายใน 3 ปี โดยวัตถุประสงค์ของการระดมทุนจะเป็นไปเพื่อใช้ซื้อกิจการแบรนด์ใหม่ ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และลงทุนโรงงานเพิ่มเติม

เมื่อถึงจุดที่พร้อมเข้าสู่ตลาดหุ้น เชื่อว่าโครงสร้างรายได้จะสมดุลมากขึ้น โดยน่าจะทำรายได้จากการขายแฟรนไชส์ราว 70-80% ส่วนที่เหลือ 20-30% จะมาจากการขยายสาขาเองผ่านแบรนด์ที่ซื้อกิจการเข้ามา, การขยายไปต่างประเทศ และสินค้าสำเร็จรูปในซูเปอร์มาร์เก็ต

อนุชิตเชื่อว่าในตลาดร้านอาหารที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ยังมีพื้นที่อีกมากให้ชายสี่ คอร์ปอเรชั่นบุกเข้าไป และบริษัทยังเติบโตได้มากกว่านี้ โดยปี 2567 บริษัทตั้งเป้าแล้วว่ารายได้น่าจะเติบโตไปถึง 1,500 ล้านบาท และคาดว่ากำไรสุทธิจะโต 20%

“ถ้าเราเปรียบบริษัทของเราเป็นวงดนตรี เราก็เหมือนมี ชายสี่ เป็นนักร้องดังติดตลาดแล้ว แต่เราต้องมีนักร้องดังคนที่ 2,3,4 ด้วย หรือมีวงใหม่แนวอื่นเข้ามาด้วย ถึงจะเติบโตได้เร็วกว่านี้ มากกว่านี้” พันธ์รบ ผู้ก่อตั้งอาณาจักร “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” กล่าวปิดท้าย

]]>
1468549
“Warner Bros. Discovery” กับ “Paramount” ระงับดีลควบรวมกิจการ คุยกันมา 2 เดือนยังไม่ลงตัว https://positioningmag.com/1464565 Thu, 29 Feb 2024 12:39:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1464565 ดีลควบรวมกิจการของ “Warner Bros. Discovery” กับ “Paramount Global” ไปไม่ถึงฝั่ง มีรายงานว่าทั้งสองฝ่ายเลือกจะระงับการเจรจาไปก่อน ดับฝันการรวมแอป “Max” (HBO Max) เข้ากับแอป “Paramount+” อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สนใจซื้อรายอื่นตกเป็นข่าวอีกเพียบ

CNBC รายงานจากแหล่งข่าววงในว่า “Warner Bros. Discovery” ขอระงับการเจรจาการควบรวมกิจการ “Paramount Global” ไปก่อน หลังจากคุยกันมานานไม่ต่ำกว่า 2 เดือน

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สนใจซื้อรายอื่นที่ตกเป็นข่าวกับ Paramount Global เช่น “Skydance Media” บริษัทสตูดิโอผลิตรายการทีวีและภาพยนตร์ของ “เดวิด เอลลิสัน” ขณะนี้ยังคงเจรจาความเป็นไปได้ที่จะซื้อกิจการ

รวมถึง “ไบรอน อัลเลน” เจ้าของบริษัทสื่อ “Entertainment Studios” ก็มีข่าวยื่นข้อเสนอซื้อ Paramount Global ทั้งบริษัทไปเมื่อเดือนก่อนด้วยเม็ดเงิน 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ CNBC รายงานด้วยว่าอัลเลนเป็นนักธุรกิจที่มีประวัติเรื่องยื่นข้อเสนอซื้อสินทรัพย์ในวงการสื่อแต่ไม่ซื้อจริงหลายครั้ง

ที่ผ่านมา Paramount Global มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา พร้อมแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินด้วย เพื่อเฟ้นหาและเจรจาการขายกิจการทั้งบริษัทหรือขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป

รายชื่ออื่นที่เคยตกเป็นข่าวกับ Paramount Global เช่น “Comcast” บริษัทเจ้าของสื่อ CNBC ออกมาปฏิเสธแล้วว่าไม่ได้สนใจซื้อสินทรัพย์ใดของบริษัท แต่สนใจที่จะเป็นพันธมิตรเชิงพาณิชย์ร่วมกันมากกว่า ซึ่งอาจจะเป็นการควบรวมหรือทำธุรกิจร่วมกันในกลุ่มบริการสตรีมมิ่งของสองบริษัท คือ Peacock กับ Paramount+ อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า Paramount Global จะสนใจการเป็นพันธมิตรกันหรือไม่ เพราะดูเหมือนบริษัทสนใจที่จะขายบริษัทเลยมากกว่า

“เดวิด ซาสลาฟ” ซีอีโอของ Warner Bros. Discovery และ “บ๊อบ บาคิช” ซีอีโอ Paramount Global ตกเป็นข่าวว่ากำลังเจรจาขั้นต้นในการควบรวมกิจการกันเมื่อเดือนธันวาคม 2023 จากนั้นบริษัทเข้าสู่การเจรจาอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2024 ก่อนที่จะมีข่าวระงับดีลกันเดือนนี้

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ราคาหุ้นของ Warner Bros. Discovery ตกลง 10% หลังผลประกอบการของบริษัทรอบล่าสุดไม่เป็นไปตามที่คาด เมื่อปี 2023 ราคาหุ้นบริษัทตกลง 47% และขณะนี้อยู่ในช่วงราคาตกต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์

ราคาหุ้นของ Paramount Global เองก็ตกต่ำมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสถิติต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์เช่นกัน

ข่าวนี้อาจจะถือเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับสาวกสตรีมมิ่ง เพราะหากการควบรวมสำเร็จ เป็นไปได้ที่บริการสตรีมมิ่ง Max (ชื่อเดิม HBO Max) จะรวมคอนเทนต์เข้ากับ Paramount+ โดยฝั่ง Max นั้นมีรายงานว่าดึงยอดสมาชิกได้ถึง 98 ล้านคนแล้ว ส่วน Paramount+ ก็มีสมาชิกสตรีมมิ่งแตะ 67.5 ล้านคนในปีที่ผ่านมา

Source

]]>
1464565
“PROUD” จ่อเข้าซื้อคอนโดฯ 2 แห่งจาก “NOBLE” ย้ำเป็น “วิน-วิน” ดีล กลยุทธ์ทางการเงินลงตัว https://positioningmag.com/1433939 Tue, 13 Jun 2023 10:51:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1433939
  • “PROUD” ควง “NOBLE” ย้ำดีลการเข้าซื้อขายคอนโดฯ “นิว ครอส คูคต สเตชั่น” และ “นิว ดิสทริค อาร์ 9” ชี้ข้อตกลงนี้เป็น “วิน-วิน” ดีล พราวได้อุดช่องว่างการรับรู้รายได้ในช่วงปี 2567-68 ขณะที่โนเบิลได้ถอนทุนคืนเร็ว
  • PROUD จะระดมทุนส่วนหนึ่งจากการขายหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งทาง NOBLE จะเข้าซื้อหุ้นส่วนนี้ด้วยในอัตราไม่เกิน 5-10% 
  • ตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่ บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PROUD ประกาศการเข้าซื้อคอนโดมิเนียม 2 โครงการ คือ “นิว ครอส คูคต สเตชั่น” และ “นิว ดิสทริค อาร์ 9” ซึ่งทั้งสองโครงการนี้พัฒนาโดยบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE และ บริษัท ทีเอ็นแอล อัลไลแอนซ์ จำกัด หรือ TNLA (*บริษัทนี้อยู่ภายใต้ บมจ.ธนูลักษณ์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่มบีทีเอสกับเครือสหพัฒน์)

    “พสุ ลิปตพัลลภ” กรรมการบริหาร PROUD ชี้แจงที่มาที่ไปของการเข้าซื้อทั้งสองโครงการนี้ว่า เกิดจากไปป์ไลน์การพัฒนาโครงการของบริษัท โครงการส่วนใหญ่ที่กำลังพัฒนาตามแผนอยู่นั้นจะเริ่มโอนได้ในช่วงปี 2569 เป็นต้นไป ขณะที่ในช่วงปี 2567 บริษัทจะมีการรับรู้รายได้จากโครงการบ้านเดี่ยว “VI อารีย์” มูลค่าโครงการ 495 ล้านบาท เพียงโครงการเดียว และในปี 2568 จะมีการโอนคอนโดฯ “เวหา หัวหิน” มูลค่าโครงการ 2,290 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้รายได้เติบโตไม่สม่ำเสมอ

    PROUD NOBLE
    แถบสีน้ำเงินคือมูลค่าโครงการจากคอนโดฯ “นิว” 2 แห่งที่จะเข้ามาเติมช่องว่างการรับรู้รายได้ในปี 2567-68

    เมื่อมีดีลจาก NOBLE เข้ามาจึงพบว่าเป็นดีลที่ลงตัวกับช่องโหว่การรับรู้รายได้ของบริษัท เพราะคอนโดฯ “นิว ครอส คูคต สเตชั่น” จะสร้างเสร็จต้นปี 2567 และ “นิว ดิสทริค อาร์ 9” จะสร้างเสร็จในปี 2568 มูลค่าโครงการ 2 แห่งรวมกว่า 8,600 ล้านบาท หากทำการเข้าซื้อกิจการสองแห่งนี้ บริษัทจะมีรายได้เข้ามาอุดช่องโหว่พอดีในปี 2567-68

    อีกทั้งโครงการนิว ครอส คูคต สเตชั่นยังปิดการขายได้แล้ว 100% ขณะที่นิว ดิสทริค อาร์ 9 ปิดการขายไปแล้ว 83% และมีแนวโน้มที่จะปิดการขายทั้งโครงการได้ในสิ้นปีนี้ จึงมองว่าเป็นโครงการที่ความเสี่ยงต่ำ เหมาะที่จะลงทุน

    นิว ครอส คูคต สเตชั่น

    ขณะที่ “ธงชัย บุศราพันธ์” รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม NOBLE อธิบายการตกลงดีลในครั้งนี้ว่า เกิดจากกลยุทธ์ของบริษัทต้องการหมุนเวียนเงินทุนให้เร็วเพื่อการเติบโตลงทุนในโครงการใหม่ได้เร็วขึ้น สังเกตว่าที่ผ่านมาบริษัทมีการขายคอมมูนิตี้มอลล์หรือพื้นที่พาณิชย์ด้านหน้าคอนโดฯ ต่างๆ ออกไปเพื่อให้บริษัทมีลักษณะ ‘Asset Light’

    ในกรณีของคอนโดฯ 2 แห่งนี้ก็เช่นกัน เนื่องจากเป็นคอนโดฯ ร่วมพัฒนากับ TNLA ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินในบริษัทร่วมทุน และมีเงื่อนไขให้ตั้งแต่แรกเริ่มว่าหากบริษัทสามารถรับรู้รายได้และคืนทุนพร้อมกำไรให้ TNLA ได้เร็วมากขึ้น ทาง NOBLE ในฐานะผู้บริหารโครงการจะยิ่งได้รับ ‘เงินอัดฉีด’ เพิ่มเป็นแรงจูงใจ

    นิว ดิสทริค อาร์ 9 ทำเลนิวซีบีดี ใกล้ MRT พระราม 9

    เมื่อคำนวณดีลการขายคอนโดฯ 2 แห่งนี้ แม้ว่าการขายให้ PROUD จะต้องแบ่งกำไรออกไป แต่เมื่อได้เงินอัดฉีดจูงใจจาก TNLA เพิ่มตามเงื่อนไข ผลลัพธ์คือ NOBLE มองว่าบริษัทจะได้ผลประโยชน์ที่คุ้มค่ากว่า และได้เงินหมุนเวียนไปลงทุนใหม่ได้เร็วขึ้นด้วย

    “หลายคนจะถามว่ามีใครในดีลนี้มีปัญหาทางการเงินหรือเปล่า คำตอบคือ เปล่าเลย ทุกคนต่างก็วิน-วินกันทั้งหมด” ธงชัยกล่าว

     

    NOBLE เตรียมเข้าถือหุ้นใน PROUD

    ด้านมูลค่าการซื้อขายภายใต้ดีลนี้ พสุกล่าวว่า PROUD ตกลงเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท คูคต สเตชัน อัลไลแอนซ์ จำกัด หรือ KK และ ของบริษัท พระราม 9 อัลไลแอนซ์ จำกัด หรือ PA9 ในสัดส่วน 100% ปิดราคาเข้าซื้อที่ 1,735 ล้านบาท

    อย่างไรก็ตามจะต้องมีการหาแหล่งทุนเพิ่มเพื่อก่อสร้างโครงการทั้ง 2 แห่งต่อเนื่องจนเสร็จสิ้น ทำให้เงินทุนที่ต้องการเท่ากับ 2,490 ล้านบาท

    PROUD NOBLE

    ดังนั้น PROUD จะแบ่งการระดมทุนออกเป็น 2 แหล่ง คือ

    • ออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของ PROUD (Right Offering: RO) ในอัตราส่วน 80 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคา 1.75 บาทต่อหุ้น รวมมูลค่าไม่เกิน 624 ล้านบาท
    • เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เพื่อเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ประมาณ 1,890 ล้านบาท

    การดำเนินการออกหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นกระบวนการภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ทำให้ฝั่ง NOBLE จะสามารถบันทึกกำไรพิเศษได้ในไตรมาส 3/2566

    ธงชัยยังกล่าวด้วยว่า NOBLE จะมีการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ PROUD ในเดือนกรกฎาคมนี้ด้วย โดยคาดว่าจะเข้าซื้อเป็นสัดส่วนหุ้นไม่เกิน 5-10% ของบริษัท PROUD

    PROUD NOBLE

    ด้านพสุแย้มว่า ดีลครั้งนี้จะเป็นการเปิดประตูสู่เซ็กเมนต์ใหม่ให้บริษัทด้วย เพราะที่ผ่านมาบริษัทมีพอร์ตโฟลิโอเฉพาะโครงการระดับไฮเอนด์ แต่แบรนด์ “นิว” จะทำให้บริษัทเรียนรู้เซ็กเมนต์ระดับกลางถึงกลางล่าง ได้เริ่มต้นสร้างบุคลากรเพื่อจะบุกตลาดใหม่ๆ ต่อไป

    สำหรับลูกค้าที่จองซื้อห้องชุดในโครงการทั้งสองแห่ง ทาง NOBLE จะยังเป็นผู้บริหารโครงการ ควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามข้อผูกพันในสัญญาจะซื้อจะขาย และผู้รับประกันผลงานการก่อสร้าง ทำให้ลูกค้าไม่ได้รับผลกระทบจากดีลในครั้งนี้

    ]]>
    1433939
    Disney เคยถอยทัพจากดีลเข้าซื้อ Twitter มาแล้ว หลังพบว่ามี ‘บัญชีบอท’ จำนวนมาก https://positioningmag.com/1399576 Fri, 09 Sep 2022 05:08:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1399576 ระหว่างที่ศึกในชั้นศาล Twitter vs อีลอน มัสก์ ดำเนินไป “บ๊อบ อีเกอร์” อดีตซีอีโอ Disney เปิดเผยข่าวว่าบริษัทเคยคิดจะซื้อกิจการโซเชียลมีเดียรายนี้เมื่อปี 2016 แต่สุดท้ายล้มดีลไปเพราะพบจำนวน “บัญชีบอท” มากอย่างมีนัยสำคัญ

    บ๊อบ อีเกอร์ กล่าวว่า Walt Disney Co. และ Twitter Inc เคยเกือบจะเริ่มต้นเจรจาซื้อขายกัน แต่เขาเกิดไม่มั่นใจขึ้นมาเสียก่อน แต่อีเกอร์กล่าวด้วยว่า เป็นเพราะความช่วยเหลือจาก Twitter ทำให้ Disney ทราบได้ว่า “บัญชีผู้ใช้จำนวนมากอย่างมีนัยยะสำคัญ (แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่)” เป็นบัญชี “ปลอม”

    “ผมจำได้ว่าตนเองต้องลดมูลค่าของบริษัทนี้ลง” อีเกอร์กล่าวในงานสัมมนา Code Conference ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2022

    อีเกอร์ไม่ได้บอกอย่างชัดเจนว่า “อย่างมีนัยสำคัญ” นั้นมากแค่ไหน แต่ดีลล่าสุดที่ Twitter เจรจากับอีลอน มัสก์ บริษัทแจ้งว่าโซเชียลมีเดียนี้มีบัญชีบอทหรือสแปมไม่เกิน 5% ของจำนวนผู้ใช้ที่ใช้งานเป็นประจำและสามารถนำมาหารายได้ได้

    บ๊อบ อีเกอร์ อดีตซีอีโอ Walt Disney

    ก่อนหน้านี้อีเกอร์เคยเขียนบันทึกส่วนตัวในชื่อ “The Ride of a Lifetime” เขาเขียนถึงเหตุการณ์พิจารณาเข้าซื้อ Twitter ไว้ด้วย แต่ในบันทึกนี้เขาระบุว่าบริษัทลังเลที่จะซื้อกิจการเพราะพบว่าบทสนทนาบนแพลตฟอร์มมีลักษณะ “น่ารังเกียจ” และเขาเกรงว่าจะเป็นสิ่งที่รบกวนบริษัทต่อไปในอนาคต

    ความคิดเห็นของอีเกอร์เกิดขึ้นท่ามกลางศึกทางกฎหมายระหว่างอีลอน มัสก์และ Twitter โดยแต่เดิมมัสก์เสนอซื้อโซเชียลมีเดียรายนี้ในราค 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนที่มัสก์จะพยายามล้มดีล โดยกล่าวอ้างถึงข้อมูลจาก Twitter เกี่ยวกับสัดส่วนบัญชีบอทที่มีบนแพลตฟอร์ม มัสก์มองว่าบัญชีเหล่านี้มีมากกว่าที่แพลตฟอร์มแจ้งข้อมูลไว้ ทำให้มูลค่าบริษัทจะลดลงเพราะมีผู้ใช้ตัวจริงน้อยกว่าที่คาด มัสก์จึงไม่ต้องการเข้าซื้ออีกแล้ว

    เมื่อมัสก์ถอนตัว Twitter จึงยื่นฟ้องร้องเพราะมัสก์ทำผิดสัญญา การไต่สวนจะเริ่มขึ้นวันที่ 17 ตุลาคมนี้ สำหรับความคิดเห็นของอีเกอร์ บริษัทโซเชียลมีเดียยังไม่มีแถลงการณ์ตอบโต้แต่อย่างใด

    Source

    ]]>
    1399576
    Estee Lauder เข้าเจรจาซื้อบริษัท Tom Ford คาดมูลค่าดีลอาจสูงถึง 3,000 ล้านเหรียญ https://positioningmag.com/1394805 Wed, 03 Aug 2022 05:52:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1394805 ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเครื่องสำอาง “Estee Lauder” เข้าเจรจาซื้อกิจการแบรนด์ Tom Ford คาดการณ์มูลค่าดีลอาจสูงถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงที่สุดที่บริษัทเคยลงทุนเพื่อเทกโอเวอร์ โดยบริษัทมีสัญญาลิขสิทธิ์การพัฒนาและจัดจำหน่ายสินค้ากลุ่มบิวตี้ของแบรนด์นี้มาตั้งแต่ปี 2005

    สำนักข่าว Wall Street Journal รายงานข้อมูลจากแหล่งข่าววงในว่า Estee Lauder Companies กำลังเจรจาดีลเพื่อซื้อกิจการบริษัท Tom Ford อยู่ และมูลค่าดีลนี้อาจสูงถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.08 แสนล้านบาท) ซึ่งมากที่สุดที่บริษัทเคยจ่ายในการซื้อกิจการใดๆ

    ย้อนประวัติความสัมพันธ์ของ Estee Lauder กับ Tom Ford ก่อนว่า ทั้งคู่มีสัญญาลิขสิทธิ์แบรนด์ Tom Ford ในกลุ่มบิวตี้ (รวมทั้งน้ำหอม สกินแคร์ เครื่องสำอาง) ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งทำให้ Estee Lauder เป็นผู้ร่วมพัฒนาสินค้าและเป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับแบรนด์ Tom Ford ในกลุ่มธุรกิจบิวตี้มาตลอด ส่วนธุรกิจแฟชัน เช่น เสื้อผ้าผู้ชาย เสื้อผ้าผู้หญิง เครื่องประดับ จะเป็นสิทธิของบริษัท Tom Ford ทั้งหมด

    สำหรับการเจรจาครั้งนี้จะเป็นการเปิดขายกิจการ Tom Ford ทั้งบริษัท โดยมีรายงานจาก Bloomberg ตั้งแต่เดือนก่อนว่า บริษัทเริ่มว่าจ้าง Goldman Sachs ให้เริ่มเจรจาการขาย

    จากการรายงานของแต่ละสื่อ ดีลครั้งนี้อาจจะออกมาได้ทั้งรูปแบบที่ให้ Estee Lauder ซื้อเฉพาะส่วนธุรกิจบิวตี้ที่ทำงานร่วมกันมาตลอด ส่วนธุรกิจแฟชันก็เปิดให้รายอื่นมาซื้อกิจการ หรือ Estee Lauder อาจจะซื้อทั้งบริษัท จากนั้นจึงทำสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์กลุ่มแฟชันแบรนด์ Tom Ford ให้กับบริษัทอื่นที่สนใจ เพราะบริษัทเครื่องสำอางรายนี้ไม่มีความถนัดในด้านธุรกิจแฟชัน

    Tom Ford Mens Autumn/Winter 2022

    แบรนด์ Tom Ford นั้นเป็นหนึ่งในแบรนด์ระดับลักชัวรีที่มีชื่อเสียง Tom Ford นั้นเป็นดีไซเนอร์อเมริกันที่เคยร่วมงานทั้งกับ Gucci และ Yves Saint Laurent เขาลาออกจากตำแหน่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ที่ Gucci มาก่อตั้งแบรนด์ของตนเองเมื่อปี 2004 โดยเริ่มจากไลน์น้ำหอมและเครื่องสำอางก่อน มีน้ำหอมที่เป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์คือ Tom Ford Black Orchid เปิดตัวเมื่อปี 2006 หลังจากนั้นแบรนด์จึงทยอยออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าแฟชัน

    ฝั่งบริษัท Estee Lauder นั้นเป็นยักษ์ธุรกิจเครื่องสำอาง มีมาร์เก็ตแคปถึง 96,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 3.47 ล้านล้านบาท) มีเครื่องสำอางและน้ำหอมแบรนด์ดังในเครือมากมาย เช่น La Mer, Bobbi Brown, Clinique, Aveda, Jo Malone

    ไลน์น้ำหอมขายดีของ Tom Ford

    ในช่วงที่ผ่านมา Estee Lauder พบว่าน้ำหอมและเครื่องสำอางระดับ “เพรสทีจ” คือธุรกิจที่ทำรายได้ให้บริษัทได้ดีที่สุด และแบรนด์ Tom Ford คือหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ของบริษัทที่สามารถทำยอดขายโตได้แบบ “ดับเบิลดิจิต” ในไตรมาสล่าสุด โดยแบรนด์นี้มีสินค้าหลักก็คือ “น้ำหอม” และมีสินค้ารองที่ทำยอดขายได้ดีเช่นกันคือกลุ่มเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงามของผู้ชาย และสกินแคร์

    Estee Lauder มีการเทกโอเวอร์แบรนด์ต่างๆ ทั่วโลกอยู่เป็นระยะ ย้อนไปเมื่อปี 2019 บริษัทเข้าซื้อแบรนด์สกินแคร์ Dr Jart สัญชาติเกาหลีใต้ และปี 2021 ก็เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ในแบรนด์ Deciem แบรนด์บิวตี้สัญชาติแคนาดา

    เมื่อเดือนมกราคม 2022 Tom Ford ยกเลิกงานแฟชันโชว์คอลเล็กชันฤดูใบไม้ร่วงที่มีกำหนดจัดขึ้นใน New York Fashion Week ปีนี้ โดยอ้างถึงเหตุการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทำให้อาทิลิเยร์ ณ เมืองลอสแอนเจลิสและโรงงานผลิตที่อิตาลีปั่นป่วน คาดว่าไม่สามารถทำงานได้ทันเวลา ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2022 เขาก็ขอลงจากตำแหน่งหัวหน้าสมาพันธ์แฟชันดีไซเนอร์แห่งอเมริกา

    Source: Vogue Business, Forbes

    ]]>
    1394805
    ‘Mukesh Ambani’ มหาเศรษฐีอินเดีย วางเเผนเตรียมซื้อกิจการ ‘Boots’ https://positioningmag.com/1383538 Fri, 29 Apr 2022 15:52:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383538 มหาเศรษฐีชาวอินเดีย ‘Mukesh Ambani’ กำลังวางเเผนจะเข้าซื้อกิจการ ‘Boots’ ร้านขายยาเเละสุขภาพชื่อดัง

    โดย Mukesh Ambani ชายผู้ร่ำรวยสุดในอินเดียเเละรวยเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 2 ในเอเชีย (ตามการจัดอันดับของ Bloomberg) เจ้าของธุรกิจพลังงานน้ำมันและก๊าซ ที่ครอบครองกิจการทั้งค้าปลีกเเละโทรคมนาคมรายใหญ่อย่าง ‘Reliance’

    รายงานของ BBC ระบุว่า Reliance กำลังเตรียมการเพื่อเสนอราคาที่เป็นไปได้ร่วมกับ Apollo Global Management บริษัทด้านการลงทุนในสหรัฐฯ ขณะที่  ‘Walgreens Boots Alliance’ เจ้าของร้าน Boots ในสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศทบทวนธุรกิจ เเละมีกระเเสข่าวว่าบริษัทจะขายกิจการ 

    หากข้อตกลงดังกล่าวสำเร็จ จะทำให้เเบรนด์ ‘Boots’ ขยายตลาดไปสู่อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง รวมถึงการขยายธุรกิจในสหราชอาณาจักรมากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ภายใต้แผนนี้ยังไม่เเน่ชัดว่า Reliance และ Apollo จะถือหุ้นใน Boots ในสัดส่วนที่เท่ากันหรือไม่

    เเบรนด์ Boots มีร้านขายยา ร้านสุขภาพและความงามมากกว่า 2,200 แห่งในสหราชอาณาจักร มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 6 พันล้านปอนด์ หรือราว 7.5 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ Financial Times

    Boots เเบรนด์เก่าเเก่ที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 173 ปี ต้องประสบปัญหาต่อเนื่องมาหลายเดือน โดยเมื่อเดือนม..ที่ผ่านมา Walgreens Boots Alliance เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่มทบทวนทิศทางเเละกลยุทธ์ของ Boots เพื่อให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญของตลาดสุขภาพในสหรัฐฯ มากขึ้น

     

    ที่มา : BBC 

     

     

    ]]>
    1383538
    สู้เต็มที่! บอร์ด Twitter ออกกลยุทธ์ “ยาพิษ” ป้องกัน “อีลอน มัสก์” เทกโอเวอร์บริษัท https://positioningmag.com/1381630 Sat, 16 Apr 2022 07:06:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1381630 บอร์ดบริษัท Twitter ประกาศผ่านข่าวแจกว่าบริษัทเตรียมเปิดแผนสิทธิผู้ถือหุ้นแบบจำกัดเวลา หรือแผน “ยาพิษ” ที่จะต่อต้านการควบรวมกิจการ แม้ว่าบริษัทจะไม่เอ่ยชื่อ “อีลอน มัสก์” โดยตรง แต่เห็นได้ชัดว่าบริษัทกำลังพยายามป้องกันไม่ให้มหาเศรษฐีรายนี้เข้าเทกโอเวอร์สำเร็จ

    ขณะนี้ “อีลอน มัสก์” ถือหุ้นใน Twitter เป็นสัดส่วน 9.2% และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในบริษัท เมื่อวานนี้เอง (15 เมษายน 2022) มัสก์ระบุว่าเขาเสนอเข้าซื้อหุ้น 100% ของบริษัท ตามที่ได้ยื่นเอกสารกับ SEC ไปแล้ว มัสก์ระบุว่าเขาพร้อมรับซื้อหุ้นหน่วยละ 54.20 เหรียญสหรัฐ และจะจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด หากมัสก์เข้าซื้อสำเร็จจะทำให้โซเชียลเน็ตเวิร์กบริษัทนี้มีมูลค่าถึง 4.34 หมื่นล้านเหรียญ (ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท)

    แม้ตัวเลขนี้จะดูสูงมาก แต่ข้อเสนอของมัสก์ก็ใช่จะเรียกได้ว่าเป็นข้อเสนอที่ดี เพราะหุ้นของ Twitter เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 60 เหรียญสหรัฐแค่เพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้เอง แน่นอนว่าปัจจุบันหุ้นสายเทคกำลังประสบปัญหาถูกเทขายกัน แต่ธุรกิจของ Twitter ก็ดูจะยังทรงตัวอยู่ได้

    “ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องมีสนามที่ตอบรับทุกคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้เสรี (free speech) ดังนั้น มันจึงสำคัญจริงๆ ที่ผู้คนจะต้องมีทั้งสถานที่แห่งความเป็นจริงและมุมมองว่าพวกเขาสามารถพูดได้อย่างเสรี ภายในขอบเขตของกฎหมาย” มัสก์กล่าวในงานแถลงข่าววานนี้ “ผมไม่ได้สนใจเรื่องเศรษฐกิจเลย” เขากล่าวเสริมระหว่างให้สัมภาษณ์นักข่าวถึงมุมมองว่าทำไมเขาต้องการเป็นเจ้าของ Twitter 100%

    (Photo by Justin Sullivan/Getty Images)

    สำนักข่าว TechCrunch กล่าวถึงกลยุทธ์ “ยาพิษ” ว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อตอบโต้ความพยายามเข้าเทกโอเวอร์ เป้าหมายของกลยุทธ์นี้คือการไดลูทหุ้นของมัสก์

    กรณีของ Twitter ได้ตั้งกฎขึ้นมาให้ผู้ถือหุ้นบริษัทสามารถซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ในราคาถูกกว่าปกติ แต่ถ้าหากบุคคล นิติบุคคล หรือกลุ่มใดๆ ก็ตามข้ามเส้นจำกัดสัดส่วนหุ้นที่ 15% ไป ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ จะมีสิทธิซื้อหุ้นมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นแต่ละรายซื้อหุ้นมากกว่า 15% ของทั้งหมดไม่ได้

    “The Rights Plan ของเราจะลดความเป็นไปได้ที่บุคคล นิติบุคคล หรือกลุ่มใดๆ เข้าควบคุม Twitter ได้ผ่านการกว้านซื้อหุ้นในตลาดเปิด และไม่ได้ให้โอกาสคณะกรรมการบริษัทได้มีเวลากระทำการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นทุกราย” Twitter ระบุในข่าวแถลง

    แน่นอนว่า ช่องโหว่ของแผนนี้ยังอยู่ที่คณะกรรมการบริษัทยังมีสิทธิโหวตเพื่อรับรองข้อเสนอเข้าซื้อกิจการ หรือโหวตเพื่ออนุญาตให้มีการถือครองหุ้นเกิน 15% ได้ ทั้งนี้ กลยุทธ์ “ยาพิษ” จะยังดำเนินต่อไปจนถึง 14 เมษายน 2023 หรืออีกราว 1 ปีจากนี้

    Source

    ]]>
    1381630
    ส่อง 107 ดีลซื้อกิจการของ ‘3 บิ๊กเทคคอมปานี’ ตลอดปี 2021 ที่เย้ยกฎหมายการ ‘ผูกขาดตลาด’ https://positioningmag.com/1371296 Mon, 24 Jan 2022 08:05:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371296 หากไม่ใช่ดีลใหญ่จริง ๆ หลายคนคงจะไม่รู้ว่า 3 บิ๊กเทคคอมปานีระดับโลกอย่าง Amazon, Microsoft และ Alphabet ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทในปี 2021 รวมกันถึง 107 ดีลเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ สหรัฐฯ เองก็กำลังพยายามควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการ ‘ผูกขาดตลาด’

    ตามข้อมูลที่รวบรวมโดย Dealogic พบว่าในปี 2021 Alphabet บริษัทแม่ของ Google ได้เข้าซื้อกิจการไป 22 ดีล รวมมูลค่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วน Microsoft ปิดไป 56 ดีล รวมมูลค่า 2.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Amazon ปิดที่ 29 ดีล รวมมูลค่า 1.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวนับเฉพาะมูลค่าของ ข้อตกลงที่เปิดเผยต่อสาธารณะเท่านั้น

    จากปริมาณดีลการเข้าซื้อกิจการของทั้ง 3 บริษัทถือว่ามี จำนวนมากที่สุดในรอบ 10 ปี ในขณะที่ปี 2022 นี้ก็เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวใหญ่จาก Microsoft ที่เตรียมซื้อ Activision Blizzard บริษัทผู้ผลิตวิดีโอเกมชื่อดังอย่าง Call of Duty, World of Warcraft และ Candy Crush ในมูลค่า 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

    จากจำนวนดีลดังกล่าวกำลังแสดงให้เห็นว่า เหล่าบริษัทใหญ่ไม่ได้เกรงกลัวการปราบปรามการผูกขาดที่จะเกิดขึ้น หรือก็คือพวกเขาไม่เชื่อว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะสามารถดำเนินคดีในศาลหรือปิดกั้นการเข้าซื้อกิจการได้

    อย่างไรก็ตาม Lina Khan ประธานคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission : FTC) ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2021 ได้กล่าวว่า “หน่วยงานของเธอต้องการบังคับใช้นโยบายต่อต้านการผูกขาดอย่างจริงจัง” โดยที่ผ่านมาเธอได้ยื่นคำร้องแก้ไขต่อ Facebook แล้ว โดยอ้างว่าการเข้าซื้อกิจการ Instagram และ WhatsApp มีส่วนทำให้สถานะปัจจุบันของบริษัทนั้นผูกขาดเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media)

    จนถึงตอนนี้ FTC ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Khan นั้นใช้กลยุทธ์ในการยับยั้งการเข้าซื้อกิจการของบริษัท โดยหนึ่งในการดำเนินการดังกล่าวคือ FTC จะดำเนินการตรวจสอบข้อตกลงของดีลต่อไป แม้ว่าจะเลยระยะเวลาตามกฎหมายก็ตาม โดย FTC จะส่งจดหมายเตือนว่า ธุรกิจสามารถควบรวมกิจการได้โดยยอมรับความเสี่ยง เพราะ FTC อาจยื่นฟ้องในภายหลังเพื่อให้เลิกทำธุรกรรมได้

    Lina Khan ประธานคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ ภาพจาก Reuters

    อย่างไรก็ตาม องค์กรดังกล่าวกำลังเจอกับความท้าทายด้านเวลาเพื่อให้ทันกับการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และสิ่งที่ยังมองไม่เห็นคือ หน่วยงานเต็มใจที่จะทำการต่อต้านการผูกขาดได้แค่ไหน เพราะด้วยงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณงาน

    “การต่อสู้กับ Big Tech ต้องใช้ความกล้าหาญ เพราะบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่มีทรัพยากรมหาศาล และพวกเขาไม่อายที่จะปรับใช้ทรัพยากรเหล่านั้น เรากำลังแสดงบริษัทเหล่านี้ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ถอยเพียงเพราะแค่บริษัทเหล่านี้พยายามข่มขู่เรา” Lina Khan กล่าว

    ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่มักจ่ายเงินให้ทนายความหลายสิบคน ทั้งภายในและนอกที่ปรึกษา เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับโอกาสในการอนุมัติข้อตกลงเข้าซื้อกิจการไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Amazon, Meta (Facebook), Alphabet และ Apple ซึ่งบริษัททั้งหมดมีมูลค่ารวมเกือบ 9.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน

    ทั้งนี้ การออกมาปราบปรามการผูกขาดจากบริษัทใหญ่มาจากนโยบายของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน โดยที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลการต่อต้านการผูกขาดที่เขาเลือกได้มีการฟ้องร้องการเข้าซื้อกิจการของ Simon & Schuster สำนักพิมพ์คู่แข่งของ Penguin Random House ในเดือนพฤศจิกายน และ FTC ก็ได้ฟ้องการเข้าซื้อกิจการ Arm ผู้ให้บริการออกแบบชิปในสหราชอาณาจักรมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ของ Nvidia ในเดือนธันวาคม

    Source

    ]]>
    1371296
    ย้อนชมดีลแห่งปี 2564 “ปลาใหญ่” ในไทยล่ากิจการ ขยายน่านน้ำทางธุรกิจ https://positioningmag.com/1369162 Wed, 29 Dec 2021 12:54:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369162 ปี 2564 เป็นปีที่น่าจับตามองของบริษัท/องค์กรขนาดใหญ่ในไทย ในแง่ของการเข้าซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นลงทุนในบริษัทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบริษัทขนาดใหญ่/กลางที่อยู่ในตลาดมานานแบบ “ปลาใหญ่กินปลาใหญ่” ทำให้อาณาจักรองค์กรขยายใหญ่ทันที หรือการขยายไปลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพที่กำลังโตแรงหรือธุรกิจขนาดเล็กแต่มีศักยภาพ ช่วยเสริมพอร์ตให้ปลาใหญ่เกิดทางลัดทางธุรกิจ ปีที่ผ่านมามีดีลอะไรที่น่าสนใจบ้าง Positioning ขอรวบรวมมาไว้ที่นี่

     

    “บิ๊กดีล” ปลาใหญ่ฮุบปลาใหญ่

    รวมดีลที่น่าสนใจ เมื่อองค์กรขนาดใหญ่ที่เข้าไปซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นเป็นสัดส่วนสำคัญในธุรกิจขนาดใหญ่/กลางที่อยู่ในตลาดมานาน โดยทำให้เกิดการขยายน่านน้ำทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ หรือการขยายไปยังธุรกิจอื่น

    “กัลฟ์” เข้าซื้อ “อินทัช”

    แต่เดิมนั้น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ถือหุ้นใน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH อยู่แล้ว 18.93% แต่ปีนี้ กัลฟ์ได้ทำการ Tender Offer ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. 64 – 4 ส.ค. 64 จนในที่สุดเมื่อปิดระยะเวลา กัลฟ์เพิ่มการถือหุ้นในอินทัชขึ้นเป็น 42.25% โดยใช้เงินลงทุนไปราว 48,600 ล้านบาท

    ทั้งนี้ INTUCH เป็นบริษัทผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ใน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เจ้าของเครือข่าย AIS โดยถือหุ้นสัดส่วน 40.44% น่าสนใจว่าการเพิ่มการลงทุนของธุรกิจสายพลังงานลงในธุรกิจโทรคมนาคม จะเกิดการ synergy ทางธุรกิจอย่างไรต่อไป

     

    “เซ็นทรัลพัฒนา” เข้าซื้อ “สยามฟิวเจอร์”

    เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 64 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ประกาศเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 30.36% ใน บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF โดยเป็นการซื้อหุ้นจาก บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป (MAJOR) ใช้เงินลงทุนไป 7,765.9 ล้านบาท รวมแล้วทำให้ CPN ถือครองหุ้นสัดส่วน 31.57% ใน SF ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1

    การเข้าซื้อ SF ของ CPN จะทำให้พอร์ตธุรกิจยิ่งแข็งแกร่งขึ้น เพราะจะได้ครอบครองศูนย์การค้าเพิ่มอีก 18 แห่ง รวมพื้นที่เช่า 4.3 แสนตร.ม. และมีทำเลทองที่น่าสนใจคือ “เมกา บางนา” รวมอยู่ในนี้ ซึ่งจะส่งให้ CPN เป็นเจ้าของ Super Regional Mall เพิ่มเป็น 2 แห่ง คือทั้งเซ็นทรัล เวสต์เกต และ เมกา บางนา

     

    กลุ่ม “BTS” ซื้อหุ้นใน “JMART-SINGER”

    เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่ม BTS ประกาศดีลเข้าลงทุนใน บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART และ บมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย (SINGER) โดยทางใช้วิธีขายหุ้นเพิ่มทุนให้บริษัทในเครือของ BTS สองแห่ง ได้แก่

    • บมจ.วีจีไอ (VGI) ใช้เงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นเพิ่มทุน 15% ใน JMART
    • บมจ.ยูซิตี้ (U) ใช้เงินลงทุนราว 4,500 ล้านบาท ซื้อหุ้นเพิ่มทุนสัดส่วน 9.9% ใน SINGER และยูซิตี้ยังมีวงเงินอีก 7,000 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงใน SINGER สัดส่วน 24.9% ด้วย

    ทำให้ดีลนี้รวมแล้วกลุ่ม BTS ใช้งบไปทั้งหมด 18,500 ล้านบาท

    ดีลนี้ถือว่าวิน-วินกันทั้งสองฝ่าย เพราะฝั่ง JMART ก็ต้องการเงินลงทุนเพิ่มเพื่อนำไปใช้ชำระหนี้และต่อทุนกิจการ ส่วน BTS ก็ต้องการขยายการลงทุนในธุรกิจอื่น ในที่นี้คือการขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือของ JMART และธุรกิจสินเชื่อของ SINGER

     

    “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” เข้าซื้อ “พอร์ตธุรกิจรายย่อยของธนาคารซิตี้แบงก์”

    แม้จะเป็นพอร์ตธุรกิจขาหนึ่งของธนาคารซิตี้แบงก์ในไทย แต่เป็นพอร์ตที่มีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่วนที่น่าสนใจคือธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งบัตรซิตี้แบงก์มีลูกค้าชั้นดีที่ถือครองบัตรของบริษัทจำนวนมาก หลังจากซิตี้กรุ๊ปประกาศจะถอนตัวออกจากธุรกิจรายย่อยในประเทศไทย ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่าใครจะเป็นผู้ชนะการประมูลซื้อพอร์ต

    ตามการรายงานข่าวของ Bloomberg ระบุเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 64 ว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ชนะการประมูล โดยมีกระแสข่าวก่อนหน้านั้นว่านอกจากแบงก์กรุงศรีฯ แล้ว ยังมีธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยที่สนใจยื่นประมูลด้วยเช่นกัน

     

    ปลาใหญ่ลงทุนใน “ปลาโตไว” ช่วยขยายน่านน้ำ

    รวมดีลที่ “ปลาใหญ่” เข้าไปลงทุนกับสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตแรง หรือบริษัทขนาดเล็กแต่มีศักยภาพสูง ช่วยสร้างทางลัดในธุรกิจให้กับปลาใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว

    “SCBX” เข้าซื้อ “Bitkub”

    ดีลที่เรียกเสียงฮือฮาแห่งปีเมื่อเดือนพฤศจิกายน กลุ่ม SCBX ประกาศใช้เงินลงทุนถึง 17,850 ล้านบาท เข้าถือหุ้นสัดส่วน 51% ใน บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ Bitkub ส่งให้สตาร์ทอัพด้านสินทรัพย์ดิจิทัลรายนี้เป็น “ยูนิคอร์น” ตัวใหม่ของเมืองไทยทันที

    สำหรับฝั่ง SCBX เห็นได้ชัดว่านี่คือการขยายน่านน้ำอย่างรวดเร็วเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่ง Bitkub กรุยทางธุรกิจหลักมาแล้วในฐานะศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ในไทย

    “OR” เข้าซื้อหุ้นใน โอ้กะจู๋, Kouen, Kamu Tea

    ตลอดปีนี้ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR มีการซื้อหุ้นในบริษัทอาหารและเครื่องดื่มหลายแห่งเพื่อขยายพอร์ตของตนเองให้หลากหลายตามแนวทางธุรกิจ โดยใช้บริษัทในเครือคือ บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) เข้าไปถือหุ้นบริษัทรายเล็กอื่นๆ ดังนี้

    • โอ้กะจู๋ – OR ใช้งบลงทุนไม่เกิน 500 ล้านบาท เข้าถือหุ้น 20% ใน บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด เจ้าของเชนร้านอาหารโอ้กะจู๋ 14 สาขา โดยโอ้กะจู๋มีจุดเด่นเป็นแบรนด์ร้านอาหารผักเกษตรอินทรีย์ที่อร่อย สดใหม่ ทำรายได้ปี 2562 ไป 643 ล้านบาท กำไรสุทธิ 79 ล้านบาท
    • Kouen – OR ใช้เงินลงทุนวงเงินไม่เกิน 192 ล้านบาท เข้าลงทุนซื้อหุ้นสัดส่วน 25% ในบริษัท อิ่มทรัพย์ โกลบอล คูซีน จำกัด (ISGC) เจ้าของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น Kouen จำนวน 19 สาขา
    • Kamu Tea – OR ใช้งบลงทุนไม่เกิน 480 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 25% ในบริษัท คามุ คามุ จำกัด เจ้าของแบรนด์ชานมไข่มุก Kamu Tea ร้านชานมไข่มุกที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบันขยายไปมากกว่า 100 สาขา เมื่อปี 2563 บริษัทรายงานรายได้ 362 ล้านบาท กำไรสุทธิ 97 ล้านบาท

     

    นอกจาก “ดีล” เด่นๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีบิ๊กดีลที่ทั้งสองบริษัทแจ้งว่าเป็นการ “ควบรวมกิจการ” นั่นคือ TRUE กับ DTAC เนื่องจากไม่ใช่การที่บริษัทหนึ่งเข้าซื้อกิจการในอีกบริษัท แต่ทั้งคู่จะจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยมีการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ให้กับแต่ละบริษัท ซึ่งผลสุดท้ายแล้วจากมูลค่าหุ้นน่าจะทำให้ TRUE ได้ถือหุ้นบริษัทใหม่ 58% และ DTAC จะได้ถือ 42%

    อย่างไรก็ตาม ผลต่อผู้บริโภคนั้นก็จะทำให้ผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย ทั้งนี้ ต้องติดตามรายละเอียดการควบรวมกิจการกันต่อไป เพราะข่าวที่ออกมาเบื้องต้นยังเป็นการเซ็น MOU กันเท่านั้น

    ส่วนดีลอื่นๆ ที่เป็นการประสานความร่วมมือของสองบริษัทหรือมากกว่าผ่านการจัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมกันนั้น ปี 2564 ก็มีดีลลักษณะนี้ให้เห็นเพียบ เพราะธุรกิจยุคใหม่หากจะโตให้เร็วหรือโตกว้าง หลายบริษัทเล็งเห็นแล้วว่าจะทำได้ผ่านการจับมือกับบริษัทอื่นโดยนำเอาความเชี่ยวชาญหรือแหล่งเงินทุนมาประสานพลังกันนั่นเอง

    ]]>
    1369162
    กลยุทธ์ใหม่ “เสนา” เทกโอเวอร์คอนโดฯ ปี’64 ไล่ซื้อ 6 โครงการ ลงทุนกว่า 4,000 ล้าน https://positioningmag.com/1356751 Fri, 15 Oct 2021 08:14:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1356751 ในวิกฤตมีโอกาส! “เสนา” เปิดกลยุทธ์ใหม่ผนึกพันธมิตรฮันคิว ฮันชิน “เทกโอเวอร์” คอนโดฯ ที่ไปต่อไม่ได้ ลดความเสี่ยง ลดระยะเวลาพัฒนาโครงการ ชี้ปีนี้คอนโดฯ มากถึง 70% หยุดการขาย เป็นโอกาสในการซื้อกิจการ เทกโอเวอร์มาแล้ว 3 แห่ง ย่านเจริญนคร รัตนาธิเบศร์ และเตาปูน มีเป้าซื้อต่ออีก 3 แห่ง งบลงทุนรวมมากกว่า 4,000 ล้านบาท

    “ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดกลยุทธ์ใหม่ของบริษัทปีนี้ มีการ “เทกโอเวอร์” คอนโดมิเนียมหลายแห่งเพื่อนำมาพัฒนาต่อ โดยยินดีรับซื้อทั้งโครงการที่วางแบบแล้ว ผ่าน EIA แล้ว จนถึงระยะก่อสร้างแล้ว แต่เสนาฯ จะดูความเหมาะสมในการทำราคาขาย เป็นโครงการที่น่าสนใจ สามารถปรับแบบให้เข้ากับ DNA ของเสนาฯ

    ขณะนี้บริษัทซื้อกิจการไปแล้ว 3 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งหมดจะนำมารีแบรนด์ใหม่ภายใต้แบรนด์ “Flexi” (เฟล็กซี่) เน้นจับกลุ่มคนรุ่นใหม่วัยสร้างตัว มีทำเลที่จะเปิดขาย ดังนี้

    1.ธนบุรี-เจริญนคร ราคาเริ่ม 2.19 ล้านบาท พร้อมอยู่ธันวาคม 2564 (เทกโอเวอร์จากโครงการ Hype สาทร-ธนบุรี ของภัทรนันท์ แอสเซท)
    2.รัตนาธิเบศร์ ราคาเริ่ม 1.89 ล้านบาท มีห้องฟังก์ชันพิเศษเพดานสูง 3.6 เมตร
    3.เตาปูน (ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด แต่แบรนด์ Flexi ราคาเริ่มต้นจะไม่เกิน 2.5 ล้านบาท)

    โครงการ Hype สาทร-ธนบุรี พัฒนาโดย ภัทรนันท์ แอสเซท ซึ่งเสนาฯ เข้าเทกโอเวอร์ จะเปลี่ยนชื่อเป็น Flexi หลังปรับแบบบางส่วนและเปิดขายพร้อมอยู่ได้เลย ธันวาคมนี้

    ขณะที่ไตรมาส 4 คาดว่าจะสามารถซื้อกิจการได้อีก 3 โครงการ ใช้งบลงทุนอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท รวมแล้วทั้งปีใช้งบเทกโอเวอร์กว่า 4,000 ล้านบาท

     

    พันธมิตรญี่ปุ่นสร้างความแข็งแกร่ง

    ดร.เกษรากล่าวว่า การเทกโอเวอร์โครงการถือเป็นข้อดีในระยะนี้ เพราะลดความเสี่ยงในการทำงาน เช่น หากเข้าซื้อโครงการที่ผ่าน EIA แล้ว จะไม่ต้องกังวลกับการยื่น EIA ให้ผ่านอีก รวมถึงลดระยะเวลาการรับรู้รายได้ จากเดิมต้องรอหลายปีกว่าที่โครงการจะสร้างเสร็จ

    โดยเสนาฯ เข้าซื้อกิจการทั้งหมดด้วย “เงินสด” ซึ่งต้องขอบคุณพันธมิตรญี่ปุ่น “ฮันคิว ฮันชิน” ที่แข็งแกร่งทางการเงินและมีวิสัยทัศน์ตรงกัน เนื่องจากฮันคิวใช้กลยุทธ์ซื้อโครงการอยู่แล้วในญี่ปุ่น รวมถึงพันธมิตรธนาคารที่อนุมัติวงเงินเพิ่มเติมให้ ทั้งนี้ ยืนยันว่ากระแสเงินสดของเสนาฯ ยังมีเพียงพอ และไม่ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้นมากนัก

    ด้านการลดต้นทุนเทียบกับการซื้อที่ดินเปล่า ดร.เกษรากล่าวว่าประเมินในภาพรวมได้ยาก เพราะราคาเข้าซื้อของแต่ละโครงการไม่เท่ากัน แต่ทุกโครงการถือว่าลดต้นทุนได้มากกว่าการพัฒนาตั้งแต่เป็นที่ดินเปล่า

    อย่างไรก็ตาม มองว่าการลดต้นทุนไม่ใช่จุดสำคัญ สิ่งสำคัญคือโครงการที่ซื้อมาต้องทำราคาได้ดีที่สุดในย่านนั้นๆ เพื่อจูงใจผู้ซื้อ และทำให้ผู้ซื้อกู้สินเชื่อบ้านผ่าน ท่ามกลางความยากลำบากในการกู้ยุคนี้ที่ทำให้รีเจ็กต์เรตพุ่งไปกว่า 50% แล้ว

     

    ปี’64 คอนโดฯ หยุดขายถึง 70%

    โอกาสในการเข้าซื้อของเสนาฯ มีสูงมาก โดยดร.เกษราอ้างอิงข้อมูลจาก AREA พบว่า ณ ครึ่งปีแรกของปี 2564 มีคอนโดมิเนียมหยุดการขายไปถึง 70% ของตลาดรวม ยูนิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มราคา 1-3 ล้านบาท

    “คนที่ปล่อยขายโครงการ บางทีเขาอาจจะไม่ได้ลำบากเรื่องเงินนะ แต่เขาอาจจะไม่อยากทำต่อแล้ว ไม่อยากอยู่ในธุรกิจนี้แล้วก็ได้” ดร.เกษรากล่าว พร้อมย้ำว่าเสนาฯ ยังเปิดรับซื้อต่อเนื่อง เจ้าของโครงการอื่นๆ ที่สนใจสามารถติดต่อเสนอขายได้

    ]]>
    1356751