ราคาคอนโด – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 07 Dec 2021 13:44:02 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “ราคาอสังหาฯ” อาจลดลงอีก รอลุ้นฟื้นตัว Q2/65 ดีมานด์ “บ้านเดี่ยว” ทั้งซื้อและเช่ายังมาแรง https://positioningmag.com/1365680 Tue, 07 Dec 2021 13:04:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1365680 “ดีดีพร็อพเพอร์ตี้” ประเมินสถานการณ์ “อสังหาฯ” กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ราคายังลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ซัพพลายพุ่งสูง คาดราคายังลงต่อจนถึงสิ้นปี ลุ้นฟื้นตัวไตรมาส 2 ปีหน้า อย่างไรก็ตาม โปรดักส์ที่ยังชนะในตลาดคือ “บ้านเดี่ยว” ทั้งดีมานด์ซื้อและเช่ามาแรง

“กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ รายงานสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ จากผลสำรวจของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ พบว่า “ราคาอสังหาฯ” กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ดัชนีราคาลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 178 จุด ในช่วงไตรมาส 3/64 โดยคิดเป็นราคาที่ลดลง -14% เทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 หรือลดลง -11% YoY

ราคาอสังหาฯ

อย่างไรก็ตาม หากแยกตามประเภทอสังหาฯ จะพบว่า “คอนโดมิเนียม” คือประเภทสินค้าที่ราคาลดลงมาก โดยลดลง -13% เทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 หรือลดลง -11% YoY

รองลงมาคือ “ทาวน์เฮาส์” ที่ราคาลดลงเล็กน้อย -2% เทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 หรือลดลง -1% YoY

สินค้ากลุ่มเดียวที่โตดีสวนตลาดคือ “บ้านเดี่ยว” ราคาเพิ่มขึ้นถึง +10% เทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 และโตขึ้น +6% YoY

ซัพพลายของตลาดโดยรวมยังเพิ่มขึ้น +19% YoY แต่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของซัพพลายบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ที่มีดีมานด์ ส่วนคอนโดฯ ยังมีซัพพลายทรงตัวเท่ากับไตรมาส 2/64 เนื่องจากดีเวลอปเปอร์ชะลอการเปิดตัวใหม่ และเร่งระบายสต๊อกออกไปได้พอสมควร

กมลภัทรมองว่า ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ เป็นไปได้ที่ราคาอสังหาฯ อาจยังปรับลดลงอีก เพราะเป็นช่วงระบายสต๊อกก่อนจบสิ้นปี และอาจจะยังคงราคาต่ำไปจนถึงไตรมาส 1 ปีหน้า ส่วนไตรมาส 2/2565 อาจมีลุ้นได้เห็นการปรับขึ้นของราคาอสังหาฯ หลังผ่านจุดต่ำสุด เพราะเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น การระบายสต๊อกอสังหาฯ ทำไปมากแล้ว ทำให้ปีหน้าผู้ประกอบการจะกลับมาเปิดคอนโดฯ ใหม่และปรับราคาขึ้น

 

“บ้านเดี่ยว” ยังคงเป็นผู้ชนะในทุกมุม

เมื่อต้นปี 2564 นี้ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้รายงานว่าเทรนด์ “บ้านเดี่ยว” กำลังมาแรง และช่วงท้ายปีนี้ก็ยังคงแรงต่อเนื่อง ดังที่เห็นจากราคายังคบปรับขึ้นได้

(ที่มา: ดีดีพร็อพเพอร์ตี้)

ฝั่งดีมานด์ก็เช่นกัน โดยวัดจากการค้นหาในเว็บไซต์ของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ พบว่าไตรมาส 3/64 มีผู้ค้นหา “ซื้อบ้านเดี่ยว” เพิ่มขึ้น 69% YoY และมีผู้ค้นหา “เช่าบ้านเดี่ยว” เพิ่มขึ้น 59% YoY

“คนเช่ากลุ่มนี้ (บ้านเดี่ยว) มักจะเป็น ชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย มีศักยภาพในการจ่ายสูง เป็นระดับผู้บริหารที่อยู่อาศัยกันทั้งครอบครัว จึงต้องการบ้านเดี่ยวที่มีความสะดวก สะอาด” กมลภัทรกล่าว “อีกกลุ่มจะเป็น ผู้เช่าคนไทยที่อาจจะเคยเช่าคอนโดฯ หรูในเมือง แต่เมื่อตอนนี้ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน จึงหันมาเลือกบ้านเดี่ยวที่ห่างเมืองหน่อยแต่ยังเข้าเมืองได้สะดวก ทำให้โยกค่าเช่าคอนโดฯ หรูมาเป็นการเช่าบ้านแทน”

ส่วนเทรนด์การลงทุนของนักลงทุนปล่อยเช่า เห็นว่ามีการลงทุนบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น แต่อาจจะไม่หวือหวาอย่างที่คิด เพราะบ้านเดี่ยวนั้นต้องลงทุนสูงต่อหนึ่งยูนิต และมีค่าบำรุงรักษาสูง รวมถึงทำเลอาจจะเดินทางไปดูแลยากกว่า กลยุทธ์การหาผู้เช่าก็แตกต่าง จึงไม่ใช่นักลงทุนทุกคนจะเปลี่ยนมาลงทุนบ้านแทนคอนโดฯ

 

ดีมานด์ตลาดกลางและตลาดบนยังเติบโต

สำหรับกลุ่มราคาอสังหาฯ ที่มีดีมานด์ ในตลาดซื้อขาดพบประเด็นที่น่าสนใจคือ การค้นหาอสังหาฯ ราคามากกว่า 15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 54% YoY รองลงมาเป็นกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% YoY สะท้อนให้เห็นว่าตลาดบนมีความต้องการสูงมาก และตลาดกลางก็ยังมีดีมานด์ที่ดี

(ที่มา: ดีดีพร็อพเพอร์ตี้)

ส่วนอสังหาฯ สำหรับเช่า พบว่าค่าเช่า 20,000-30,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่เติบโตสูงสุด 54% YoY สอดคล้องกับตลาดบ้านเดี่ยวให้เช่าที่ดีมานด์สูง รองลงมาคือกลุ่มค่าเช่าไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน เติบโต 50% YoY

ประเด็นความเคลื่อนไหวในตลาดอสังหาฯ ปีนี้จนถึงปี 2565 ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการประกาศ ผ่อนคลายมาตรการ LTV ทำให้อสังหาฯ ราคามากกว่า 10 ล้านบาท และผู้กู้บ้านสัญญาที่ 2-3 สามารถกู้ได้เต็ม 100% แล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี

อย่างไรก็ตาม ต้องรอลุ้นว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการต่ออายุมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองหรือไม่ และจะยอมให้ครอบคลุมถึงมูลค่าอสังหาฯ 3 ล้านบาท “แรก” กรณีที่ราคาเกินกว่า 3 ล้านบาทหรือไม่

ส่วนปัจจัยบวกที่ต้องจับตาปีหน้า คือการเปิดใช้ครั้งแรกของรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง สำโรง-ลาดพร้าว ที่น่าจะสร้างความคึกคักให้กับตลาดในทำเลนั้นได้มาก

]]>
1365680
ลดลงอีก! ราคาอสังหาฯ ร่วงหนักสุดในรอบเกือบ 4 ปี คนดูบ้านตัดสินใจซื้อนานเกิน 1 ปี https://positioningmag.com/1333813 Tue, 25 May 2021 12:05:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333813
  • “ดีดีพร็อพเพอร์ตี้” เปิดข้อมูลอสังหาฯ รอบไตรมาส 1/64 พบดัชนีราคาอสังหาฯ ลดลงต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาสหรือเกือบ 4 ปี
  • ดัชนีซัพพลายปรับเพิ่มขึ้นอีกแต่ยอดขายชะลอตัว น่ากังวลในกลุ่มราคา 1-3 ล้านบาทซึ่งอุปทานปรับขึ้นสูง
  • ความสนใจซื้อและเช่าฟื้นตัว แต่การตัดสินใจซื้อยากขึ้น จากเดิมใช้เวลา 8 เดือน เป็น 1-2 ปี
  • อสังหาริมทรัพย์ไทยยังซบเซา ต้องรอความหวังหลังฉีดวัคซีน “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซซื้อขายอสังหาฯ ในไทยและมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เปิดเผยข้อมูลอัปเดตตลาดอสังหาฯ ไทยใน 3 ด้าน คือ ราคา ซัพพลาย และดีมานด์

    ทั้งนี้ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้เก็บข้อมูลจากในแพลตฟอร์มของตนเอง ซึ่งมีทั้งอสังหาฯ มือหนึ่งและมือสอง มีรายการประกาศหมุนเวียนประมาณ 4-6 หมื่นรายการต่อเดือน และมีผู้เยี่ยมชมมาร์เก็ตเพลซเดือนละ 3.5 ล้านราย

    ด้านราคา ไตรมาส 1/64 ดัชนีราคาปรับตัวลงอีกอยู่ที่ 190 จุด ลดลงต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส หรือเกือบ 4 ปี เทรนด์ราคาเป็นขาลงมาตั้งแต่ไตรมาส 4/62 (ก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19) แต่ดัชนีราคาเคยปรับขึ้นได้เล็กน้อยเมื่อไตรมาส 3/63 ช่วงที่การระบาดรอบแรกคลี่คลายแล้ว ก่อนจะกลับตกลงอีกครั้ง

    หากแยกเป็นประเภทอสังหาฯ กลุ่มที่ราคาตกมากที่สุดคือ “คอนโดมิเนียม” ราคาลดลง -8% YoY และ -3% QoQ ขณะที่กลุ่มแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ราคาค่อนข้างทรงตัว

     

    ซัพพลายเพิ่มอีก กลุ่ม 1-3 ล้านบาทน่ากังวล

    ดัชนีซัพพลายไตรมาส 1/64 เพิ่มเป็น 399 จุด เพิ่มขึ้น 19% YoY หรือ 10% QoQ โดยกมลภัทรให้ความเห็นว่าในภาพรวมยังไม่ถึงจุดที่น่ากังวล และซัพพลายที่เพิ่มอาจเป็นเพราะช่วงก่อนหน้าเกิดการระบาดรอบสาม ดีเวลอปเปอร์หลายรายเริ่มกลับมาเปิดตัวโครงการตามปกติ จากที่เลื่อนมาจากปี 2563 แต่เชื่อว่าจากนี้บริษัทอสังหาฯ อาจเริ่มชะลอการเปิดโครงการใหม่เพราะเห็นเทรนด์ยอดขายที่ช้าลง และสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่ดีขึ้น

    แบ่งตามประเภทอสังหาฯ กลุ่มแนวราบมีซัพพลายที่เติบโตสูงมาก บ้านเดี่ยวเติบโต 34% YoY หรือ 12% QoQ ทาวน์เฮาส์เติบโต 37% YoY หรือ 12% QoQ ขณะที่กลุ่มคอนโดฯ เติบโตไม่สูงเท่าแต่ยังคงเพิ่มขึ้น 17% YoY หรือ 10% QoQ

    ส่วนถ้าแบ่งตามระดับราคา กลุ่มที่ซัพพลายเหลือเป็นสัดส่วนเยอะที่สุดคือกลุ่ม 5-10 ล้านบาท แต่ซัพพลายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือกลุ่มต่ำกว่า 1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67% YoY อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกลุ่มนี้มีซัพพลายค่อนข้างน้อยอยู่แล้วและความต้องการสูง กลุ่มที่น่ากังวลจึงเป็นราคา 1-3 ล้านบาทซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 23% ของตลาด มีการปรับเพิ่มขึ้นมา 47% YoY โดยที่ความต้องการอาจจะน้อยกว่ากลุ่มราคาอื่น (*วัดจากในดีดีพร็อพเพอร์ตี้ อ่านข้อมูลดีมานด์ต่อด้านล่าง)

     

    ดีมานด์ดีขึ้นแล้ว แต่การตัดสินใจซื้อช้าลง

    ในแง่ของความต้องการโดยวัดจากการคลิกเข้าชมรายการนั้นๆ (ไม่ได้สื่อถึงการตัดสินใจซื้อจริง) พบว่า เดือนพฤษภาคม 2564 มีความสนใจสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าผู้ซื้อเริ่มกลับมาสนใจอสังหาฯ แม้ว่าจะยังอยู่ท่ามกลางการระบาด

    โดย “กลุ่มราคาที่สนใจซื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุด” เทียบกับเดือนก่อน ได้แก่

    • น้อยกว่า 1 ล้านบาท (+20%)
    • มากกว่า 10 ล้านบาท (+18%)
    • 5-10 ล้านบาท (+16%)
    • 1-3 ล้านบาท (+12%)
    • 3-5 ล้านบาท (+10%)

    ส่วน “กลุ่มราคาที่สนใจเช่าเพิ่มขึ้นมากที่สุด” เทียบกับเดือนก่อน ได้แก่

    • ค่าเช่า 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน (+33%)
    • ค่าเช่ามากกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน (+19%)
    • ค่าเช่า 1-2 หมื่นบาทต่อเดือน (+7%)
    • ค่าเช่าน้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน (+5%)

    กมลภัทรชี้ให้เห็นว่า กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง สามารถจ่ายค่าเช่าได้ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน มีความต้องการเช่าเพิ่มขึ้นสูง สวนทางกับอสังหาฯ ราคา 3-5 ล้านบาทที่กลุ่มนี้สามารถซื้อได้ กลับมีความต้องการซื้อต่ำลง สะท้อนภาพว่ากลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลางยังมีกำลังซื้อที่จะใช้จ่าย แต่อาจกังวลถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้เลือกจะเช่ามากกว่าลงทุนซื้อ

    ด้านการตัดสินใจซื้อโดยรวม กมลภัทรระบุด้วยว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มตัดสินใจซื้อช้าลง จากเดิมระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีความต้องการซื้อบ้าน ศึกษาโครงการต่างๆ จนถึงตัดสินใจซื้อ มักจะใช้เวลาราว 8 เดือน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1-2 ปี เพราะผู้ซื้อไม่มั่นใจกับเศรษฐกิจและฐานะการเงินของตนว่าจะมั่นคงพอหรือไม่

    “ภาพรวมทั้งปีของอสังหาฯ น่าจะทรงตัวเท่ากับปีก่อนหรือดีขึ้นเพียงเล็กน้อย” กมลภัทรกล่าว “ไตรมาสสองน่าจะไม่ดีไปกว่านี้ ไตรมาสสามน่าจะยังเหมือนเป็นไข้อยู่ ไตรมาสสี่จะเป็นช่วงที่เราฉีดวัคซีนไปได้มากแล้ว ซึ่งน่าจะทำให้ธุรกิจหลายประเภทฟื้นตัวได้ สำหรับอสังหาฯ อาจจะยังไม่ได้ดีดตัวในไตรมาสสี่ทันที แต่ราคาน่าจะกลับมาได้อย่างน้อยในช่วงปลายปีนี้”

    ]]>
    1333813
    เปิดวิเคราะห์ ‘ราคาคอนโดฯ’ กลุ่ม Hi-End เเพงต่อเนื่อง เเม้เจอโควิด ทำเลรอบนอกร่วง 4-6% https://positioningmag.com/1328001 Fri, 16 Apr 2021 12:20:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1328001 เปิดวิเคราะห์ราคาคอนโดมิเนียมเมืองไทย ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ในปี 2564 ที่มีการระบาดระลอกใหม่ พบคอนโดฯ Hi-End ยังเเพงต่อเนื่อง ย่านใจกลางธุรกิจราคาลง 2% ส่วนทำเลรอบนอกราคาร่วงหนัก 4-6%

    TMB Analytics ประเมินว่าปัจจัยเสี่ยงในการระบาดระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เเละราคาคอนโดมิเนียม

    จากการวิเคราะห์ข้อมูลผ่าน web scraping ราคาเสนอขายคอนโดฯ ในแต่ละพื้นที่กว่า 2,000 โครงการ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำเลที่ตั้งมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง จากเเต่เดิมที่คอนโดมิเนียมค่อนข้างกระจุกตัวในเขตย่านใจกลางธุรกิจ (Central Business District : CBD) และในเมือง ซึ่งถือเป็น ‘ทำเลทอง’ ของภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย

    ต่อมาโครงการใหม่ ๆ เริ่มมีการขยายและกระจายตัวในพื้นที่ ‘วงแหวนรอบนอก’ (Outer Ring) มากขึ้น โดยราคาคอนโดฯ ในแต่ละพื้นที่มีการปรับตัวต่อสถานการณ์โรคระบาด ‘ในอัตราที่ต่างกัน’

    กรุงเทพ สีลม สาทร ภาพมุมสูง
    พื้นที่สีลม-สาทร

    คอนโดฯ Mass ราคาลด – High-End ราคาปรับเพิ่ม

    หากประเมินจากทำเลที่ตั้งพบว่า ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ราคาคอนโดมิเนียมในพื้นที่เขตย่านใจกลางธุรกิจ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดการระบาดทำให้ราคาปรับลดลง 2% และยังไม่เห็นการปรับขึ้นสู่ระดับก่อนหน้า ส่วนคอนโดมิเนียมพื้นที่ในเมืองที่อยู่นอก CBD ราคาลดลง 3.7% พื้นที่วงแหวนรอบนอกราคาลดลง 5.8%

    โดยในช่วงปี 2561-2563 หากแบ่งกลุ่มคอนโดมิเนียมตามระดับราคาต่อตารางเมตรจะเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

    • กลุ่ม Mass ที่มีราคาต่ำกว่า 100,000 บาทต่อตารางเมตร
    • กลุ่ม Upper-End ราคาระหว่าง 100,000-150,000 บาทต่อตารางเมตร
    • กลุ่ม High-End ราคาสูงกว่า 150,000 บาทต่อตารางเมตร

    “คอนโดมิเนียมในกลุ่ม Mass มีราคาลดลงในทุกพื้นที่ ต่างจากกลุ่ม High-End ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ สะท้อนถึงความต้องการและกำลังการซื้อที่มีอย่างต่อเนื่องของกลุ่มรายได้สูง เเละไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากนัก” 

    หากประเมินจากปัจจัยด้านอายุของคอนโดมิเนียม และความสะดวกในการเดินทาง พบว่า คอนโดมิเนียมที่อยู่ในรัศมีจากรถไฟฟ้าไม่เกิน 1 กิโลเมตร และมีอายุไม่เกิน 5 ปี ราคามีการปรับลดลงในช่วงสถานการณ์ COVID-19 โดยในพื้นที่วงแหวนรอบนอกปรับลงกว่า 13%

    ขณะที่ย่านใจกลางธุรกิจ และในเมืองราคาปรับลดลงราว 6% ส่วนราคาคอนโดมิเนียมในพื้นที่ย่านใจกลางธุรกิจที่มีรัศมีจากรถไฟฟ้าไม่เกิน 1 กิโลเมตร แต่อายุเกิน 5 ปี มีแนวโน้มราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

    ต่างจากคอนโดมิเนียมในพื้นที่ในเมืองและวงแหวนรอบนอก ที่อายุเกิน 5 ปี ดัชนีราคาจะปรับตัวลดลงถึง 8% และ 12% ตามลำดับ

    ขณะที่คอนโดมิเนียมที่อยู่นอกรัศมีรถไฟฟ้าเกิน 1 กิโลเมตร ในพื้นที่ย่านใจกลางเมืองธุรกิจ ดัชนีราคาคอนโดมิเนียมมีแนวโน้มเป็นทิศทางบวก

    “หากมีความต้องการซื้อคอนโดมิเนียม ไม่ว่าเป็นรูปแบบการลงทุนเพื่อการอยู่อาศัยหรือการเก็งกำไรในระยะยาว คอนโดมิเนียมในเขตย่านใจกลางเมือง อาจเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ด้านความคุ้มค่ากว่าเขตในเมือง และวงแหวนรอบนอก” 

    จากภาพรวมของดัชนีราคาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งระดับราคาต่อตารางเมตร อายุของคอนโดมิเนียม และความสะดวกในการเดินทาง สามารถสรุปได้ว่า ราคาคอนโดมิเนียมในพื้นที่ย่านใจกลางธุรกิจ จะค่อนข้างทรงตัว โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มากนัก และมีแนวโน้มของดัชนีราคาในภาพรวมที่เป็นบวก

    อย่างไรก็ตาม เเม้ในเขตพื้นที่ในเมือง และวงแหวนรอบนอก ราคาของคอนโดมิเนียมมีการปรับลดลงเป็นอย่างมากในช่วง COVID-19 แต่ก็มีทิศทางที่จะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต

     

     

    ]]>
    1328001
    ปี 2563 ตลาดบ้าน-คอนโดหดแรง 35% ปี 2564 อึมครึม ลุ้นกำลังซื้อฟื้น-ราคายังปรับขึ้นยาก https://positioningmag.com/1311005 Thu, 17 Dec 2020 13:05:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1311005
  • LPN ประเมินโครงการบ้าน-คอนโดทั้งตลาดเปิดใหม่ 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัว 35% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน CBRE ประเมินเฉพาะตลาดคอนโดฯ มีการเปิดใหม่ลดลงถึง 57% และลดราคาหนัก สูงสุดที่พบคือ 20-25%
  • มองภาพปี 2564 การเปิดตัวโครงการใหม่น่าจะกลับมาเติบโตได้ราว 5% แต่ฝั่งกำลังซื้อยังน่าห่วง น่าจะยังทรงตัวหรือโตได้เพียงเล็กน้อย จากอัตราการว่างงานที่เสี่ยงเพิ่มขึ้น และธนาคารเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อบ้าน ลูกค้ากู้ไม่ผ่านสูงสุด 50-60%
  • ศุภาลัยมองต่างมุม ปี 2564 การเปิดตัวโครงการใหม่อาจไม่เติบโตเลย และผู้บริโภคจะยังต้องการโปรโมชันลดราคา
  • ประมวลทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 และคาดการณ์ตลาดปี 2564 “ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom) เปิดเผยผลวิจัยตลาดอสังหาฯ ในเขตกรุงเทพฯ – ปริมณฑล พบว่า ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 มีโครงการเปิดตัวใหม่ 58,087 หน่วย ลดลง 36% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หากคิดเป็นมูลค่าจะอยู่ที่ 2.31 แสนล้านบาท ลดลง 35% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

    โดยถ้าแบ่งสัดส่วนตามประเภทสินค้า 65% ของที่เปิดขายจะเป็นกลุ่มโครงการแนวราบ บ้านเดี่ยว-บ้านแฝด-ทาวน์เฮาส์ ขณะที่อีก 35% เป็นคอนโดมิเนียม

    ปีนี้เป็นปีที่คอนโดฯ เปิดใหม่ลดน้อยลงมาก จากข้อมูลโดย “รัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ” หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย (CBRE) พบว่าตลาดคอนโดฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มีการเปิดตัวเพียง 18,630 ยูนิต ลดลงถึง 57% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

    การหดตัวของตลาดนั้นเกิดจากเศรษฐกิจฝืดเนื่องจากโรคระบาด COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการต่างชะลอการเปิดโครงการ โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดฯ นั้น CBRE วิเคราะห์ว่า COVID-19 ทำให้ผู้อยู่อาศัยเปลี่ยนพฤติกรรม หลายบริษัทอนุญาตให้ทำงานที่บ้านได้มากขึ้น คนจึงมีความต้องการคอนโดฯ ในเมืองน้อยลง ประกอบกับผู้ซื้อต่างชาติซึ่งเคยเป็นลูกค้าสำคัญ ก็ไม่สามารถบินเข้ามาซื้อห้องชุดได้ ทำให้ตลาดคอนโดฯ สะดุดแรง

     

    2564 โครงการเปิดใหม่อาจติดล็อก เพราะธนาคารเข้มการให้สินเชื่อ

    สำหรับปี 2564 ทางศูนย์วิจัย LPN Wisdom คาดการณ์ว่าจะมีโครงการเปิดใหม่ 72,000-80,000 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 10-20% เทียบกับปี 2563 แต่ถ้าหากคิดเป็นมูลค่าจะอยู่ที่ 3.0-3.15 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 5% เทียบกับปี 2563

    สาเหตุที่มองว่าตลาดจะกลับมาโตได้ มาจากการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ว่า จีดีพีไทยปี 2564 น่าจะฟื้นกลับมาโตที่ 3.5-4.5% เทียบกับปีนี้ที่ติดลบ 7-8% ทำให้เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น รวมถึงเห็นเทรนด์การเปิดโครงการใหม่ในตลาดช่วงไตรมาส 4/63 เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นแล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มระบายสต๊อกไปได้มาก และจำเป็นต้องเปิดตัวใหม่เพื่อให้มีแบ็กล็อกสำหรับทำรายได้ต่อเนื่อง

    ปี 2564 กรุงเทพฯ อาจมีโครงการเปิดใหม่เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ไม่มากนัก (Photo : Phong Bùi Nam / Pixabay)

    อย่างไรก็ตาม “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย มองต่างมุมว่า การเปิดตัวโครงการใหม่ปี 2564 น่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2563 วัดจากการยื่นขออนุมัติการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่มีโครงการใหม่เข้ายื่นขอน้อยลง ทำให้โครงการที่จะเปิดตัวปีหน้าอาจจะไม่สูงอย่างที่คาดการณ์กัน โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียมที่น่าจะเปิดตัวน้อยกว่าปี 2563

    นอกจากเหตุผลดังกล่าว ไตรเตชะยังฉายภาพอุปสรรคด้านแหล่งเงินทุนด้วย โดยช่วงหลังจากเกิดการระบาดของ COVID-19 ธนาคารเริ่มเข้มงวดการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาฯ (pre-finance) มีการปรับสัดส่วนลงจากเดิมให้กู้สูงสุดที่ 70% ของมูลค่าการลงทุน เหลือเพียง 40% ของมูลค่าการลงทุน ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีเงินทุนในบริษัทเพียงพอเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ อุปสรรคนี้เชื่อว่าจะทำให้ผู้ประกอบการที่พึ่งพิงเงินกู้ธนาคารเป็นหลักจะเปิดตัวโครงการใหม่ได้น้อยลง

     

    ขายยาก กู้ไม่ผ่าน ผู้ประกอบการลดราคาสู้

    นอกจากปี 2563 จะเปิดขายใหม่กันน้อยลงแล้ว การขายสต็อกเดิมก็ยากลำบากมากขึ้นด้วย โดย LPN Wisdom พบว่า จำนวนหน่วยเปิดขายทั้งหมดช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 มีอัตราการขายเพียง 19% เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการขาย 26%

    ตัวอย่างโปรโมชันอสังหาฯ 2563 ลดราคากระหน่ำ

    นอกจากนี้ ผู้ซื้อที่ตัดสินใจซื้อแล้วก็ยังมีสิทธิ “กู้ไม่ผ่าน” ซึ่งจะทำให้ยูนิตนั้นต้องวนกลับมาขายใหม่ โดยปี 2563 นั้น LPN Wisdom พบว่า ภาระหนี้ครัวเรือนสูงเกือบ 90% แล้ว และฝั่งธนาคารก็เข้มงวดการให้สินเชื่อบ้านมากขึ้นอีก ผลก็คือลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้น โดยแบ่งตามระดับราคา ดังนี้

    • กลุ่มที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราปฏิเสธสินเชื่อ 50-60%
    • กลุ่มที่อยู่อาศัยราคา 3-7 ล้านบาท อัตราปฏิเสธสินเชื่อ 30-40%
    • กลุ่มที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 7 ล้านบาท อัตราปฏิเสธสินเชื่อ 10-15%

    สภาวะ “ขายยาก” ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดราคาทำโปรโมชัน โดย CBRE พบว่า คอนโดฯ มีการลดราคาสูงสุดที่ 20-25% เพราะผู้ประกอบการต้องการหมุนเงินสดเข้ามาให้เร็วที่สุดในช่วงเวลาที่ท้าทายของปีนี้ สอดคล้องกับข้อมูลจาก ไตรเตชะ เอ็มดีศุภาลัย กล่าวว่า สภาวะตลาดปีนี้เป็นตลาดของผู้ซื้ออย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ประกอบการ แข่งขันกันทำโปรโมชันสูง ทำให้ลูกค้าคาดหวังการลดราคาอย่างน้อย 20-30% จากผู้ขาย

     

    ปีหน้า “กำลังซื้อ” จะเป็นอย่างไร?

    จากสถานการณ์ตลาดปีนี้ที่ “โหด” กับนักพัฒนาอสังหาฯ ปีหน้าจะดีขึ้นหรือยัง? LPN Wisdom มองว่า กำลังซื้อที่อยู่อาศัยปี 2564 น่าจะทรงตัวเท่ากับปี 2563 หรือสถานการณ์ที่ดีที่สุดคือเติบโต 3-5%

    โดยปัจจัยบวกที่มองเห็นคือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้น เนื่องจากข่าวการวิจัย “วัคซีน” สำเร็จและน่าจะนำมาใช้ในไทยช่วงกลางปี 2564 ส่งผลให้กำลังซื้ออาจกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

    ประกอบกับ “การก่อสร้างรถไฟฟ้า” โดยสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคตและรถไฟฟ้าสายสีทอง กรุงธนบุรี-คลองสาน เสร็จสิ้น เปิดใช้บริการเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 63 และอีกสองเส้นทางคือรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สำโรง-ลาดพร้าว และสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ตามกำหนดการจะก่อสร้างเสร็จปี 2564 ทำให้น่าจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความต้องการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าที่สร้างเสร็จสูงขึ้น

    รถไฟฟ้าสายสีทอง กรุงธนบุรี-คลองสาน

    อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบก็ยังคงเป็นเรื่อง “ภาระหนี้ครัวเรือน” และ “ความเสี่ยงจากการเลิกจ้าง” โดยสภาพัฒน์ประเมินว่าอัตราว่างงานของปี 2563 อยู่ที่ 1.9% หรือเท่ากับ 7.4 แสนคน อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 2-3% ในปี 2564 หรือเท่ากับ 2 ล้านคน ความเสี่ยงนี้จะทำให้กำลังซื้อในตลาดต่ำลง และทำให้ผู้ซื้อบางรายเลื่อนแผนการซื้ออสังหาฯ ออกไปก่อนเพราะไม่มั่นใจเรื่องความมั่นคงทางการงาน

    ไตรเตชะกล่าวสอดคล้องกันว่า กำลังซื้อของลูกค้าปี 2564 น่าจะดีขึ้นบ้างตามภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ลูกค้ายังคงคาดหวังกับโปรโมชันลดราคาหนักแบบเดียวกับปีนี้ ทำให้การพัฒนาอสังหาฯ ให้ได้ราคาตามต้องการ และทำตลาดให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่า จะยังเป็นโจทย์ต่อเนื่อง

    ]]>
    1311005
    ปาดเหงื่อ! “อสังหาฯ” ราคาติดลบ -9% กลุ่มระดับกลางถึงล่างอ่วมสุด ราคาลงต่ำกว่าปี 2559 https://positioningmag.com/1281755 Tue, 02 Jun 2020 12:08:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1281755 ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ประเมินตลาดอสังหาฯ ช่วงไตรมาส 1-2 ของปีนี้ พบดัชนีราคาและซัพพลายลดลงทั้งตลาด ดีมานด์การซื้อเริ่มฟื้นแต่ตลาดเช่ายังซบเซา พร้อมคาดการณ์อนาคตท่ามกลาง COVID-19 ติดตามรายละเอียดได้ด้านล่าง

    “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ รายงานข้อมูลการวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 มีผลกระทบในประเทศไทย สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในตลาดดังต่อไปนี้

     

    ดัชนีราคาลดต่อเนื่อง ตลาดแมสอ่วมสุด

    ดัชนีราคาลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ โดยราคาอสังหาฯ ไตรมาสนี้ลดลง -1% QoQ และ -9% YoY สะท้อนภาพวิกฤต COVID-19 ซ้ำเติมภาคธุรกิจที่เริ่มแย่ลงมาตั้งแต่ไตรมาส 2/62

    หากแบ่งตามกลุ่มราคาพบว่า ตลาดระดับกลางถึงล่างราคาไม่เกิน 3.5 ล้านบาทซึ่งเป็นตลาดแมส คือกลุ่มที่ดัชนีราคาลดลงหนักที่สุดโดยราคาลดลง -8% YoY เป็นราคาที่ลดลงไปต่ำกว่าช่วงไตรมาส 4/59 หรือกว่า 3 ปีก่อนแล้ว

    สาเหตุเกิดจากสินค้าในกลุ่มราคานี้มักจะเป็นคอนโดมิเนียม และจะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการเร่งระบายสต๊อกคอนโดฯ ด้วยการลดราคาหรือทำโปรโมชันหนักๆ เช่น ผ่อนให้/อยู่ฟรี 2-3 ปี ทำให้ภาพรวมราคาลดลงแรง

    สำหรับกลุ่มสินค้าราคาสูงกว่า 3.5 ล้านบาท พบว่าดัชนีราคาลดลงเล็กน้อยเทียบกับไตรมาส 4/62 ไม่ลดลงรุนแรงเท่ากับกลุ่มตลาดแมส โดยเฉพาะอสังหาฯ ลักชัวรีราคามากกว่า 15 ล้านบาท ยังทรงตัวใกล้เคียงกับราคาของปี 2562

    หากแบ่งดัชนีราคาตามทำเล Top 5 ทำเลที่ราคาขึ้นสูงที่สุด คือ ป้อมปราบศัตรูพ่าย ดินแดง จตุจักร บางคอแหลม และ พระโขนง ส่วน Top 5 ทำเลที่ราคาลดลงหนักที่สุด คือ คันนายาว บางกะปิ บางบอน บางกอกใหญ่ และ บางนา

    เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายนั้นเป็นที่ตั้งของสถานีวัดมังกรฯ บนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ราคาอสังหาฯ เขตนี้ปรับขึ้นถึง 23% QoQ สวนทางกับตลาด ส่งให้ราคาเฉลี่ยไปแตะ 219,048 บาทต่อตร.ม.แล้ว

     

    ซัพพลายหดทั้งตลาด

    ซัพพลายโครงการเปิดตัวใหม่ทุกกลุ่มสินค้าลดลงเทียบไตรมาสต่อไตรมาส กลุ่มคอนโดฯ ซัพพลายลดลง -10% ทาวน์เฮาส์ลดลง -4% บ้านเดี่ยวลดลง -3%

    กมลภัทรชี้ให้เห็นว่า ซัพพลายโครงการแนวราบที่ลดลงเพิ่งเกิดขึ้นในรอบ 2 ปี ซึ่งค่อนข้างน่าแปลกใจเพราะปกติแล้วโครงการแนวราบจะมีการก่อสร้างสม่ำเสมอ ซัพพลายลดลงไม่มาก สะท้อนว่าผู้ประกอบการระมัดระวังตัวสูง

     

    ดีมานด์การซื้อเริ่มฟื้น แต่ตลาดเช่ายังไม่ฟื้น

    ด้านดีมานด์ในตลาด ดีดีพร็อพเพอร์ตี้วัดจากยอดวิวของผู้ซื้อที่เข้ามาชมในเว็บไซต์ ddproperty.com เห็นได้ว่าช่วงเดือนมีนาคม’63 ยอดวิวการค้นหาเพื่อซื้อบ้านลดลง แต่เมื่อถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ยอดวิวกลับเพิ่มขึ้น 22% เทียบช่วงก่อนเกิดโรคระบาด COVID-19 โดย Top 3 เขตที่มีคนคลิกหาซื้อบ้านมากที่สุด คือ ทวีวัฒนา สาทร และ บางกะปิ

    ในทางกลับกัน การค้นหาที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าลดลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และยิ่งลดลงอย่างมากในเดือนเมษายน เทียบกับเดือนมกราคม’63 ยอดวิวการค้นหาห้องเช่าลดไปกว่า -20% ซึ่งกมลภัทรมองว่า สอดคล้องกับการใช้ชีวิตช่วง COVID-19 ที่ขณะนี้บริษัทส่วนใหญ่ยังให้สลับกันเข้าที่ทำงาน และหลายคนยังไม่กลับจากต่างจังหวัด ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเช่าที่อยู่อาศัยในเมือง

     

    ไตรมาส 2 ราคายังลงต่อ หวังครึ่งปีหลังดีขึ้น

    ดัชนีราคาที่ลดลงในไตรมาส 1/63 กมลภัทรมองว่าไตรมาส 2/63 จะยังลดลงต่อเนื่อง เพราะการลดราคาและโปรโมชันยังคงมีอยู่ตลอดจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน

    “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้

    หากมองระยะสั้น กมลภัทรคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ การทำโปรโมชันน่าจะเริ่มลดลงเพราะตลาดเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง จากสถานการณ์โรคระบาดที่ดีขึ้น มียอดผู้ติดเชื้อลดลง ประเทศไทยเริ่มเปิดรับชาวต่างชาติ ทำให้เศรษฐกิจเริ่มหมุนเวียน แต่ตลาดอสังหาฯ จะกลับมาเติบโตยั่งยืนได้เหมือนเก่าเมื่อไหร่คงตอบยาก เพราะต้องรอการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวม นั่นหมายความว่า ต้องมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสำเร็จและการดำเนินชีวิตกลับมาเป็นปกติ

    โดยสรุปแล้ว “บ้าน” ก็ยังเป็นปัจจัยสี่ที่เหมาะกับการลงทุน เพียงแต่ต้องจับตาว่าโรคระบาด COVID-19 จะทำให้สมการการเลือกซื้อบ้านของคนเปลี่ยนไปแค่ไหน โดยเฉพาะในแง่ “ทำเล” เพราะบางบริษัทเริ่มพิจารณาการปรับมา Work from Home ระยะยาวแล้ว ทำให้ทำเลใจกลางเมืองอาจจะมีความจำเป็นน้อยลงก็ได้ในอนาคต

    ]]>
    1281755
    อาจเป็นโอกาส “ช้อนซื้อ” เมื่อราคาบ้าน-คอนโดฯ “ปรับลง” แรง 6% ช่วงไตรมาส 4/62 https://positioningmag.com/1267341 Sat, 07 Mar 2020 12:41:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1267341 ดีดีพร็อพเพอร์ตี้รายงานดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ย้อนหลังไปช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 พบว่าเป็นไตรมาสที่ราคาอสังหาฯ ลดลงแรงที่สุดในรอบ 8 ไตรมาส โดยราคาปรับลง 6% QoQ ขณะที่เข้าปี 2563 ผู้ประกอบการยังจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม และราคายังค่อนข้างทรงตัว แนะนำผู้ซื้อ-นักลงทุนที่มีความพร้อม เป็นจังหวะที่ดีในการซื้ออสังหาฯ ในราคาต่ำ

    “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์สื่อกลางสำหรับซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ เปิดข้อมูลจากการสำรวจของบริษัทพบว่า ราคาอสังหาฯ ช่วงไตรมาส 4/62 มีการปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ถึง 6% ซึ่งเป็นการปรับลดที่มากที่สุดในรอบ 8 ไตรมาส และถ้าหากวัดการปรับลดของราคาเทียบไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) ราคาอสังหาฯ เฉลี่ยลดลง 3%

    แต่ถ้าหากเจาะกลุ่มสินค้าที่ราคาลดลง จริงๆ แล้วคือกลุ่ม “คอนโดมิเนียม” ซึ่งราคาปรับลดลงไป 5% (QoQ) ขณะที่กลุ่มบ้านเดียวและทาวน์โฮมยังปรับราคาขึ้นได้อยู่ โดยเพิ่มขึ้นมา 2% (QoQ) และเทรนด์ราคามีการปรับขึ้นต่อเนื่องมาตลอด 2 ปี เนื่องจากผู้ซื้อส่วนใหญ่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองมากกว่าลงทุน ทำให้ราคาโครงการแนวราบค่อนข้างสม่ำเสมอ

    ดัชนีราคาอสังหาฯ โดยดีดีพร็อพเพอร์ตี้

    การปรับตัวของราคาอสังหาฯ จะเห็นได้ว่าเทรนด์อยู่ในช่วงขาลงมาตั้งแต่ไตรมาส 2/62 ซึ่งเป็นช่วงที่มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เข้มงวดการให้อัตรา LTV (Loan to Value) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มบังคับใช้แล้ว ส่งผลให้ตลาดอสังหาฯ โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดฯ ที่ดึงดูดนักลงทุน มีดีมานด์ลดลงทันที และราคาก็ตกลงไปด้วย

     

    ตลาดลักชัวรี 15 ล้านบาทขึ้นไป ไม่ได้รับผลกระทบ

    ส่วนถ้าหากเจาะเป็นระดับเซ็กเมนต์สินค้า ดีดีพร็อพเพอร์ตี้พบว่ากลุ่มอสังหาฯ ลักชัวรีราคามากกว่า 15 ล้านบาท ยังมีการเติบโตของราคาอยู่ โดยปรับราคาขึ้นอีก 2% (QoQ) เนื่องจากไม่ใช่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากทั้งเศรษฐกิจและการควบคุม LTV ส่วนกลุ่มราคาที่มีผลกระทบมากที่สุดคือราคา 3.5-8.5 ล้านบาท ซึ่งปรับราคาลง 5% (QoQ)

    รวมถึงกลุ่มราคาต่ำกว่า 3.5 ล้านบาทก็มีการปรับราคาลงเช่นกัน โดยกมลภัทรมองว่าเกิดจากผู้ประกอบการต้องการเร่งระบายสต็อกออก จึงต้องลดราคาให้จับต้องได้มากขึ้น มีการทำโปรโมชั่นดึงดูดใจมากขึ้น

     

    แนะลงทุนคอนโดฯ ใกล้สถานศึกษา

    กมลภัทรสรุปว่า ไตรมาส 1/63 นี้ดีเวลลอปเปอร์ยังคงลดราคาและจัดโปรโมชันสินค้าเพื่อระบายสต็อกอยู่ ทำให้โอกาสอยู่ในมือของผู้ซื้อหรือนักลงทุนที่พร้อม เนื่องจากจะได้สินค้าในราคาไม่สูงจนเกินไป อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนหากจะเลือกช้อนซื้ออสังหาฯ ก็ต้องเลือกในทำเลที่เหมาะสม

    โดยเธอชี้ว่า การลงทุนคอนโดฯ ที่เหมาะสมควรอยู่ในจุดที่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า หรือใกล้แหล่งงาน หรือใกล้แหล่งสถานศึกษา โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั้นน่าสนใจมาก เพราะเป็นทำเลที่มีผู้เช่าอยู่เสมอและผู้เช่าหมุนเวียนตลอดเวลา แต่ไม่ใช่ว่าจะเลือกสถานศึกษาใดก็ได้ ควรเลือกทำเลสถานศึกษาที่มีคุณภาพดี และอยู่ในเมือง เดินทางง่าย ระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อจะตั้งราคาค่าเช่าไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือนได้

    ส่วนถ้าหากนิยมลงทุนในบ้านหรือทาวน์เฮาส์ก็เป็นโอกาสที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการลงทุนบ้านมือสอง นำมารีโนเวต แล้วปล่อยเช่าหรือขายต่อ เพราะสามารถทำราคาได้ดี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงคือลูกค้าบางกลุ่มอาจไม่มีความมั่นใจในการซื้อต่อบ้านมือสองเนื่องจากกังวลเรื่องประวัติของบ้าน ทำให้สภาพคล่องอาจจะไม่สูงมาก

    ]]>
    1267341
    ศุภาลัย “มองบวก” อสังหาฯ ปี’63 ฟื้นตัว เปิดใหม่ 3 หมื่นล้าน เทน้ำหนักให้โครงการแนวราบ https://positioningmag.com/1262239 Tue, 28 Jan 2020 12:23:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1262239
  • ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในมุมมองศุภาลัย ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2562 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ไม่เป็นไปตามเป้า
  • ปี 2563 คาดว่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัวหลังรัฐผ่อนคลายมาตรการ LTV อัตราดูดซับคอนโดฯ เติบโต 5-10% อย่างไรก็ตาม คอนโดฯ ไฮเอนด์ที่พึ่งพิงกำลังซื้อต่างชาติจะยังซบเซาและอาจเห็นการลดราคา
  • แผนกลยุทธ์ศุภาลัย 2563 เปิดตัวโครงการมูลค่าลดลงเหลือ 3 หมื่นล้านบาท เน้นหนักโครงการแนวราบ-คอนโดฯ ระดับกลาง เพิ่มเป้าพรีเซลเป็น 2.6 หมื่นล้านบาท เป้าหมายรายได้ 2.4 หมื่นล้านบาท
  • “ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ฉายภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยปี 2563 มองว่ามีปัจจัยบวกจากมาตรการรัฐที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อน ทั้งโครงการบ้านดีมีดาวน์และมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองเหลือรายการละ 0.01% สำหรับอสังหาฯ มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท รวมถึงหนี้ครัวเรือนของไทยมองว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงอย่างที่รัฐกังวล

    ด้าน “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) มองว่า ตลาดอสังหาฯ ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2562 ปีนี้น่าจะเป็นปีที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น สำหรับบริษัทเอง ยอดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2562 ยอมรับว่าไม่เป็นไปตามเป้า และอาจจะต่ำกว่าปี 2561 หลังจากอัตราปฏิเสธสินเชื่อ (reject rate) ของบริษัทเพิ่มจากปกติ 10% เป็น 15% เมื่อปีก่อน ทำให้ลูกค้าหลายรายไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้

    “ปีก่อนคอนโดฯ กระทบสูงเพราะแต่เดิมลูกค้าบางส่วนเป็นนักเก็งกำไร หลังมีมาตรการเข้มงวด LTV และภาษีที่ดินทำให้ตลาดชะงัก รวมถึงกำลังซื้อต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจีน กลุ่มนี้เคยเข้ามามากเมื่อปี 2561 แต่ปี 2562 ลดลงไปกว่าครึ่งจากภาวะค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ตลาดคอนโดฯ มีดีมานด์ลดลง” ไตรเตชะกล่าว

    ศุภาลัยชี้ว่า กำลังซื้อคอนโดฯ ส่วนใหญ่ที่หายไปในปี 2562 คือกลุ่มลูกค้าต่างชาติ เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ สหรัฐฯ โดยหายไปกว่าครึ่งเนื่องจากเงินบาทแข็งค่า

    อย่างไรก็ตาม ปี 2563 เห็นปัจจัยบวกหลายด้าน เรื่องแรกคือแบงก์ชาติคลายความเข้มงวดอัตรา LTV สินเชื่อบ้านแล้วซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เรื่องต่อมาคือซัพพลายในตลาดโดยเฉพาะกลุ่มคอนโดฯ ดีเวลอปเปอร์มีการปรับตัวลดจำนวนการเปิดโครงการใหม่ลง และหันมาระบายสต๊อกเก่าก่อน

    ดังนั้นปีนี้ไตรเตชะเชื่อว่าตลาดโครงการแนวราบจะฟื้นตัว ขายได้ดีขึ้น “แนวราบดีขึ้นแน่นอน ส่วนคอนโดฯ ถ้าดูรายโครงการอัตราดูดซับน่าจะเพิ่มขึ้น 5-10% แต่ถ้ามองตัวเลขทั้งตลาดอาจจะดูลดลงไปเพราะมูลค่าเปิดตัวใหม่น้อยลง มูลค่ายอดขายใหม่ก็จะลดลงตาม”

     

    คอนโดฯ ทองหล่อ-เอกมัยล้นหนัก

    แม้คอนโดฯ ส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะทำยอดขายได้ดีขึ้นปีนี้ แต่บางทำเลก็โอเวอร์ซัพพลายจนกลายเป็นทำเลเสี่ยง ไตรเตชะชี้ว่า จากกำลังซื้อชาวต่างชาติที่ยังไม่กลับมา คอนโดฯ ในทำเลที่พึ่งพิงดีมานด์ต่างชาติจะกระทบสูง ทำเลดังกล่าวคือย่านสุขุมวิทโดยเฉพาะทองหล่อ-เอกมัยในกลุ่มไฮเอนด์ ตร.ม.ละ 2-2.5 แสนบาท อาจได้เห็นการลดราคาเพื่อเร่งระบายสต๊อกกันปีนี้

    โครงการศุภาลัย โอเรียนทัล สุขุมวิท 39 หนึ่งในโครงการของ บมจ.ศุภาลัย ที่อยู่ในทำเลและระดับราคา “ขายยาก” ของปีนี้ หลังกำลังซื้อต่างชาติลดลง

    นอกจากย่านดังกล่าว คอนโดฯ แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง และคอนโดฯ ในต่างจังหวัด ยังคงล้นตลาด โดยการขายยังเป็นไปอย่างช้าๆ “ประทีป” เสริมว่า คอนโดฯ สายสีม่วงระบายได้ช้าเนื่องจากเปิดราคาสูงเกินไป คาดว่าปีนี้จะยังไม่มีเจ้าไหนเติมซัพพลายเพิ่ม

     

    ศุภาลัยเปิดขายใหม่ 30 โครงการ 3 หมื่นล้าน

    ด้าน กลยุทธ์ศุภาลัยปี 2563 มีการเปิดโครงการจำนวนมากขึ้นแต่มูลค่ารวมลดลง โดยวางแผนเปิด 30 โครงการ มูลค่ารวม 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 25 โครงการ และคอนโดฯ 5 โครงการ เทียบกับปีก่อนมีการเปิดตัวรวม 24 โครงการ มูลค่ารวม 3.4 หมื่นล้านบาท ส่วนเป้ายอดขายวางไว้ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อน เป้าหมายรับรู้รายได้ 2.4 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงปีก่อน

    “ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม” ประธานกรรมการบริหาร และ “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กับโลโก้ใหม่ของบริษัท เปลี่ยนจากโลโก้ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้อ่านง่ายและสื่อสารง่ายขึ้น

    ปีนี้จำนวนโครงการที่เพิ่มขึ้นเป็นโครงการแนวราบ กลุ่มราคาส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 2-5 ล้านบาท และสูงสุดเป็นกลุ่ม 10-20 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการในกรุงเทพฯ 13 โครงการ และต่างจังหวัด 12 โครงการ มีจังหวัดใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาในพอร์ตคือ พิษณุโลก อยุธยา และฉะเชิงเทรา

    “จังหวัดท่องเที่ยวใหญ่ๆ ยังไปได้ดี และภาคตะวันออกเขตอีอีซีไปได้ดีมาก 5 จังหวัดที่ขายดีที่สุดของเราคือ ภูเก็ต ชลบุรี สงขลา เชียงใหม่ และระยอง” ไตรเตชะกล่าว “ประเด็นไวรัสโคโรนายังไม่เห็นผลกระทบ และเชื่อว่าถ้าควบคุมได้ภายในระยะสั้น 3-4 เดือนน่าจะไม่เกิดผลอะไรกับเศรษฐกิจในจังหวัดท่องเที่ยว ตอนนี้เรายังจะเปิดโครงการตามปกติ”

    โครงการศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท จรัญ 91 ราคาเริ่มต้น 1.39 ล้านบาท บริษัทตั้งเป้ายอดขาย 30% ภายในปีนี้

    ด้านคอนโดฯ ใหม่ 5 แห่งจะอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งหมดเป็นคอนโดฯ ระดับกลางถึงกลางล่าง ราคาเฉลี่ย 6-8 หมื่นบาทต่อตร.ม. สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาทต่อตร.ม. โครงการแรกที่จะเปิดตัวคือ ศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท จรัญ 91 ทำเลห่างจากสถานีบางอ้อ 190 เมตร มูลค่าโครงการ 2.1 พันล้านบาท ราคาเริ่มต้น 1.39 ล้านบาทต่อยูนิต เฉลี่ยทั้งโครงการ 59,900 บาทต่อตร.ม.

    “เรามองว่าคอนโดฯ เป็นโอกาสของเรา ด้วยความได้เปรียบด้านการเงิน บริษัทเรามี D/E Ratio เพียง 0.4 และ Cost of Fund 2.31% น้อยกว่าครึ่งหนึ่งถ้าเทียบกับดีเวลอปเปอร์หลายรายในตลาด ทำให้เราพร้อมเปิดคอนโดฯ ใหม่และเชื่อว่าจะทำราคาได้ดีกว่า” ไตรเตชะกล่าวปิดท้าย

    ]]>
    1262239
    ขึ้นสุดก็ลงสุด! อัตราเติบโตของ “ราคาคอนโดฯ” ปี 62 ลดลงรุนแรง จับตา “สมุทรปราการ” โตสุด https://positioningmag.com/1260080 Fri, 10 Jan 2020 10:04:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1260080
  • REIC เปิดข้อมูลดัชนีราคาอสังหาฯ เปิดใหม่ พบการเติบโตของราคาในปี 2562 ลดฮวบ เหลือ 4.3% เท่านั้น
  • อย่างไรก็ตาม มี 5 ทำเลเด่นที่ราคาคอนโดฯ ยังเติบโตได้สูงกว่าตลาดมาก ได้แก่ สมุทรปราการ, สีลม-สาทร, ยานนาวา-บางคอแหลม, หลักสี่-ดอนเมือง และ ลาดพร้าว-บางกะปิ
  • ฝั่งโครงการแนวราบ (บ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์) อัตราเติบโตของราคา YoY เติบโตช้าลงเช่นกัน ปรับราคาเพิ่มขึ้น 2.8%
  • ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC เปิดข้อมูลดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ ปริมณฑล ปี 2562 โดยเป็นข้อมูลเฉพาะโครงการเปิดใหม่มือหนึ่งที่ยังอยู่ระหว่างขาย แยกเป็นดัชนีราคาคอนโดมิเนียม และราคาโครงการแนวราบ (บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์)

    ราคาคอนโดฯ เคยขึ้นสุด…ก็ลงสุด

    สำหรับ คอนโดฯ ดัชนีราคา ณ ไตรมาส 4/62 อยู่ที่ 153.8 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% เทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) แม้จะปรับเพิ่มขึ้นแต่เป็นอัตราที่น้อยลงอย่างต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน

    ราคาคอนโดฯ

    เมื่อดูจากกราฟการขยายตัวของดัชนีราคา จะเห็นได้ว่าช่วงปี 2561 ราคาคอนโดฯ ปรับเพิ่มขึ้นจนเส้นกราฟชัน โดยมีการขยายตัวของราคาเฉลี่ยตลอดปี 2561 ที่ 11.3% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับราคาคอนโดฯ ช่วงปี 2558-2560 ที่ปรับราคาเพิ่มเฉลี่ย 5-8% ต่อปี เมื่อมาถึงปี 2562 กราฟการขยายตัวของราคาดิ่งลงตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นมา โดยราคาเติบโตทั้งปีอยู่ที่ 4.3% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นภาวะตลาดชะลอตัวอย่างชัดเจน

    ราคาคอนโดฯ

    5 ทำเลโอกาสในวิกฤต

    อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตกลับมีโอกาส เนื่องจากคอนโดฯ 5 ทำเลเหล่านี้กลับปรับราคาขึ้นได้สูงกว่าตลาดรวมมาก โดยเป็นข้อมูลราคา ณ ไตรมาส 4/62 ปรับขึ้นแบบ YoY

    1.เมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ ปรับขึ้น 18.7% พื้นที่นี้ได้อานิสงส์จากส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ซึ่งเปิดเดินรถตลอดสายแบบไม่ต้องเปลี่ยนขบวน (ยกเว้นช่วงเวลาเร่งด่วน) ตั้งแต่เดือนพ.ค.62

    2.สีลม-สาทร-บางรัก ปรับขึ้น 16.4% พื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจที่มีทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลมและรถไฟฟ้าใต้ดินผ่าน รวมถึงพื้นที่ริมน้ำฝั่งถนนเจริญกรุงด้วย

    3.ยานนาวา-บางคอแหลม ปรับขึ้น 14.1% พื้นที่เชื่อมต่อจากย่านสาทร ถนนเส้นหลักคือพระราม 3 ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งชุมชนเก่า เช่น ถนนนางลิ้นจี่ ถนนจันทน์

    4.หลักสี่-ดอนเมือง-บางเขน-สายไหม ปรับขึ้น 9.7% อานิสงส์จากส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-คูคต ปัจจุบันเปิดบริการเดินรถจนถึงสถานีม.เกษตรศาสตร์ และส่วนที่เหลือกำลังเร่งก่อสร้าง รวมถึงมีรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างเช่นกัน

    5.ลาดพร้าว-วังทองหลาง-บางกะปิ ปรับขึ้น 9.4% ย่านขอบเมืองซึ่งเป็นแหล่งชุมชนหนาแน่นอยู่แล้ว ได้อานิสงส์จากการก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 สายคือ สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ที่ตัดผ่าน ถ.รามคำแหง และสายสีเหลือง สำโรง-ลาดพร้าว ซึ่งตีขนานไปกับถ.ลาดพร้าว

    ราคาคอนโดฯ-03
    (ที่มา: REIC)

    บ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์ ชะลอตัวเช่นกัน

    สำหรับดัชนีราคา โครงการแนวราบ รวมทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ ณ ไตรมาส 4/62 ดัชนีราคาอยู่ที่ 127.6 ตลอดปี 2562 ราคาขยายตัว 2.8% เทียบกับปี 2561 ที่ราคาขยายตัว 4.0%

    หากดูจากกราฟการขยายตัวของราคา จะเห็นได้ว่าราคาบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์เริ่มเติบโตลดน้อยลงก่อนหน้ากลุ่มคอนโดฯ โดยราคาเริ่มขยายตัวช้าลงตั้งแต่ไตรมาส 3/61 แล้ว มาถึง ปี 2562 บ้านเดี่ยวเริ่มกลับมามีอัตราเติบโตของราคาสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3/62 ขณะที่ราคาทาวน์เฮาส์ยังเติบโตลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

    ช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา บรรดาโบรกเกอร์อสังหาฯ และนักพัฒนาจัดสรรต่างกล่าวตรงกันว่าตลาดอสังหาฯ เกิดอาการสะดุดโดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดฯ เนื่องจากมาตรการเข้มงวดอัตรา LTV สำหรับสินเชื่อบ้านโดยแบงก์ชาติ ทำให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น และยังมีประเด็นสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวเข้ามากระทบ

    ต้องมาลุ้นกันว่าปีนี้แบงก์ชาติจะทบทวนและผ่อนคลายเกณฑ์ LTV สินเชื่อบ้านหรือไม่ เพื่อให้ความสามารถในการซื้อของลูกค้าอสังหาฯ กลับมา

    ]]>
    1260080
    ยังไม่ฟื้น! “เน็กซัส” ประเมินตลาดคอนโดฯ ปี 2563 ช้ำต่อเนื่อง ราคาอาจติดลบบางทำเล https://positioningmag.com/1258492 Wed, 25 Dec 2019 13:40:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1258492
  • ภาพรวมตลาดคอนโดฯ ปี 2562 จำนวนยูนิตหดตัวทั้งฝั่งซัพพลายและดีมานด์ ราคาปรับขึ้นเพียง 0.9%
  • ตลาดเปลี่ยนจากกลุ่มไฮเอนด์มาสู่ตลาดระดับกลางทำเลขอบเมืองจนถึงนอกเมือง เน้นขายผู้ซื้ออยู่จริงเป็นหลัก
  • ผลจากมาตรการเข้มงวด LTV ที่กระทบทั้งเรียลดีมานด์และนักลงทุนปล่อยเช่า รวมถึงเงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้ซื้อต่างชาติลดลง
  • ปี 2563 ปัจจัยลบยังไม่หมด เน็กซัสประเมินซัพพลายและดีมานด์ยังทรงตัวเท่ากับปีนี้ ขณะที่ราคาเฉลี่ยอาจลด 0.24% เนื่องจากตลาดใจกลางเมืองซึ่งเป็นกลุ่มคอนโดฯ แพง ราคาอาจจะไม่โตขึ้น
  • ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ – ปริมณฑลบูมมากในช่วงปี 2557-2560 ก่อนจะเริ่มส่งสัญญาณลบเมื่อปี 2561 แต่ยังได้กลุ่มตลาดลักชัวรีมาช่วยฉุดภาพรวมให้เติบโต จนมาถึงปี 2562 จึงนับได้ว่าตลาดนี้เข้าสู่ช่วง “เผาจริง” ที่ทุกเซ็กเมนต์ไม่มีคำว่าขาขึ้น และดูเหมือนไฟจะยังลุกต่อไปถึงปีหน้า

    “นลินรัตน์ เจริญสุพงษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด วิเคราะห์ตลาดคอนโดฯ กรุงเทพฯ ปี 2562 พบภาพรวมตลาดมีซัพพลายใหม่ 43,000 ยูนิต ลดลง 29% จากปี 2561 ขณะที่ดีมานด์หรือยอดขายที่เกิดขึ้นอยู่ที่ 43,200 ยูนิต ลดลง 17% จากปี 2561 ทำให้ปีนี้มีสต็อกเหลือขายในตลาดอยู่ 62,700 ยูนิต อัตราขายรวมในตลาดยังอยู่ที่ 90%

    อย่างไรก็ตาม สภาพตลาดฝืดก็ทำให้ราคาไม่เติบโตเท่าไหร่นัก โดยปี 2562 ราคาคอนโดฯ เติบโตเพียง 0.9% เทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาคอนโดฯ ขึ้นเฉลี่ยปีละ 8% เนื่องจากปีนี้ตลาดทำเลใจกลางเมืองซึ่งเป็นคอนโดฯ กลุ่มลักชัวรีขึ้นไปนั้น ราคาไม่สูงขึ้น อยู่ที่เฉลี่ย 231,300 บาทต่อตร.ม. ส่วนตลาดรอบใจกลางเมืองปรับขึ้น 1% อยู่ที่เฉลี่ย 114,400 บาทต่อตร.ม. ขณะที่ตลาดรอบนอกเมืองปรับเพิ่มมากที่สุด 3% อยู่ที่เฉลี่ย 76,000 บาทต่อตร.ม.

    เมื่อเจาะลึกรายทำเล มีจุดที่ราคาไม่ปรับขึ้นเลยคือ “ย่านวัฒนา” และ “พื้นที่ริมน้ำ” และจุดที่ราคาคอนโดฯ เปิดใหม่กลับลดลงจากปีก่อนคือ “ย่านสาทร”

    ดีเวลอปเปอร์ปรับตัวพัฒนาคอนโดฯ ระดับกลางแทน

    ปัจจัยลบที่ทำให้ตลาดหดตัวรุนแรงมาจากมาตรการเข้มงวดอัตรา LTV สินเชื่อบ้าน ซึ่งแบงก์ชาติประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ทำให้กระทบทั้งผู้ซื้ออยู่จริงและนักลงทุนปล่อยเช่าจะกู้บ้านได้ยากขึ้น กำลังซื้อจึงลดลง รวมถึงค่าเงินบาทแข็ง ทำให้กลุ่มผู้ซื้อต่างชาติที่เคยเข้ามาลดลงไป

    จากปัจจัยเหล่านี้ นลินรัตน์ชี้ให้เห็นว่าตลาดปี 2562 จึงมีการปรับตัวไปสู่กลุ่มผู้ซื้ออยู่จริงทดแทนกลุ่มนักลงทุน คอนโดฯ ใหม่ๆ เลือกเกาะกลุ่มตลาดระดับกลาง ราคา 75,000-110,000 บาทต่อตร.ม. หรือยูนิตละ 2.5-6 ล้านบาท โดยคิดเป็น 50% ของซัพพลายใหม่ในปีนี้ เพิ่มขึ้นชัดเจนจากปีก่อนกลุ่มนี้มีสัดส่วนเพียง 27% คอนโดฯ กลุ่มนี้จะเลือกพัฒนาในพื้นที่ขอบเมืองซึ่งรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายกำลังก่อสร้าง เช่น ฝั่งธนบุรี-เพชรเกษม, ลาดพร้าว, พระโขนง-สวนหลวง เป็นต้น

    ส่วนคอนโดฯ ไฮเอนด์ ราคา 110,000-190,000 ตร.ม. หรือยูนิตละ 6-15 ล้านบาท ซึ่งเคยเป็นกลุ่มหลัก 41% ของซัพพลายใหม่ปี 2561 ปีนี้ตลาดนี้ปรับลดซัพพลายลงไป

     

    ปี’63 ตลาดยังทรงตัว ราคาทรุด 0.24%

    สำหรับตลาดคอนโดฯ กรุงเทพฯ ปี 2563 เน็กซัสมองว่าจะยังเป็น “ปีปรับสมดุล” ต่อเนื่องอีกปีหนึ่ง โดยมีซัพพลาย-ดีมานด์ใกล้เคียงกับปีนี้ เนื่องจากปัจจัยบวกปัจจัยลบยังใกล้เคียงเดิม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ LTV ที่ยังคงเข้มงวดหรือค่าเงินบาทแข็งซึ่งเป็นลบกับตลาด ส่วนปัจจัยบวกยังต้องหวังพึ่งการเปิดรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ทั้งสายที่เปิดบริการใหม่และที่กำลังก่อสร้าง

    “นลินรัตน์ เจริญสุพงษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด

    นลินรัตน์กล่าวว่า ซัพพลายใหม่ปีหน้าน่าจะอยู่ที่ราว 42,000-45,000 หน่วย ส่วนดีมานด์อยู่ที่ราว 43,000-48,000 หน่วย อัตราขายน่าจะอยู่ที่ 90% เช่นเดิม ทำให้ปริมาณจำนวนห้องชุดคงเหลือจะลดลงเล็กน้อยที่ 60,000 หน่วย

    ที่น่าสนใจคือ “ราคา” ซึ่งเน็กซัสประเมินว่าทั้งตลาดอาจเกิดเหตุราคาลดลง 0.24% เนื่องจากคอนโดฯ พื้นที่ใจกลางเมือง เช่น สาทร-บางรัก ปทุมวัน สุขุมวิท ราคาจะไม่เติบโตคือ 0% ส่วนพื้นที่ขอบเมือง เช่น คลองสาน ลาดพร้าว ธนบุรี-เพชรเกษม น่าจะโตได้ 1% และพื้นที่นอกเมือง เช่น ติวานนท์-รัตนาธิเบศร์ แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด ราคาน่าจะเติบโต 2% เนื่องจากคอนโดฯ ใจกลางเมืองมักจะเป็นกลุ่มราคาสูง ฉุดภาพรวมตลาดจนอาจจะติดลบ

    “คอนโดฯ เดิมอาจจะไม่ได้ลดราคาลง แต่คอนโดฯ เปิดใหม่จะเลือกย้ายไปเปิดในซอยมากขึ้นเพื่อให้ราคาลดลง ทำให้ภาพรวมราคาคอนโดฯ ใหม่ถูกลงกว่าปีก่อนหรือไม่เติบโต” นลินรัตน์กล่าว

    อย่างไรก็ตาม บางทำเลก็ยังคงเป็นดาวรุ่ง ราคาเติบโตสวนทางตลาดได้ เช่น ทำเลสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงถนนเพชรเกษม ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนอิสรภาพ ช่วงปีที่ผ่านมาราคาเติบโต 5-10% เนื่องจากเป็นย่านชุมชนเก่าหนาแน่นและรถไฟฟ้าทยอยเปิดใช้บริการ เชื่อว่าปีหน้าน่าจะยังได้อานิสงส์หลังรถไฟฟ้าเส้นนี้เปิดทำการสมบูรณ์

     

    ]]>
    1258492