โครงการมิกซ์ยูส – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 03 Sep 2024 05:41:47 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต” รุกขยายโครงการใหม่ ปักธงใจกลางภูเก็ต สร้างโกลบอลเดสติเนชั่นแห่งใหม่ พร้อมเปิดให้บริการปี 2569 https://positioningmag.com/1488368 Mon, 02 Sep 2024 20:28:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1488368

บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างสองผู้นำแห่งวงการค้าปลีกระดับโลก ได้แก่ สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารโกลบอลเดสติเนชั่นชั้นนำของไทย กับ ไซม่อน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของโครงการระดับโลกที่เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการช้อปปิ้ง ไดน์นิ่ง ความบันเทิง และโครงการมิกซ์ยูส จากสหรัฐอเมริกา ประกาศแผนการลงทุนขยาย “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต”  แห่งที่ 2 ของประเทศไทย โดยปักธงใจกลางจังหวัดภูเก็ตเมืองแห่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก เพื่อสร้างจุดหมายปลายทางของการช้อปปิ้งและการท่องเที่ยวแห่งใหม่แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ  ช่วยส่งเสริมและเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย  โดยตั้งเป้าเปิด “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต ภูเก็ต” ภายในปี 2569

บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการเปิด “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ” แห่งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2563  ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนกรุงเทพ-ชลุบรีสายใหม่ (ทางหลวงหมายเลข 7) ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ  โดยเป็นการนำประสบการณ์พรีเมี่ยม เอาท์เล็ตอย่างแท้จริงสู่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกและแห่งเดียวเท่านั้น ประกอบด้วยร้านค้าที่นำเสนอแบรนด์มากกว่า 300 แบรนด์ ทั้งร้านค้าลักชัวรี่แบรนด์ แบรนด์ของดีไซเนอร์ที่เป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยมสูงสุด รวมถึงแบรนด์ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล และแบรนด์ไทยต่างๆ  โดยมีไฮไลท์แบรนด์ที่มีเฉพาะที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น อาทิ Balenciaga, Burberry, Versace, Marc Jacobs, Karl Lagerfeld, Rebecca Minkoff, Longchamp, Boss, Montblanc, Swiss Watch Gallery, Fred Perry, Nike United SPO, Pomelo, Siam Takashimaya เป็นต้น   นับเป็นสุดยอดจุดหมายปลายทางแห่งการช้อปปิ้งที่สำคัญอีกแห่งของประเทศไทย ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

โดยผลประกอบการของ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ” ในปี 2566 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้งมีจำนวนผู้เข้าใช้บริการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องโดยตลอด และปัจจุบันอัตราการเช่าพื้นที่ของโครงการเต็ม 100%

จากความสำเร็จอย่างสูงและการมีวิสัยทัศน์เดียวกันของสยามพิวรรธน์และไซม่อน บริษัทฯ จึงมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจในการพัฒนาโครงการจุดหมายปลายทางที่สำคัญระดับโลก จึงตัดสินใจเดินหน้าขยายการลงทุนเปิดโครงการ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต” แห่งใหม่ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองยอดนิยมของทัวร์ริสต์อันดับที่ 2 รองจากกรุงเทพฯ และเป็นหนึ่งใน Global Destination ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วโลก  และเป็น location จุดหมายสำคัญที่กลุ่มผู้ประกอบการทั้งผู้เช่าเดิมในโครงการ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ”  และผู้เช่าใหม่จำนวนมากต่างแสดงความต้องการและให้ข้อเสนอแนะให้บริษัทฯ ลงทุนขยายโครงการใหม่

โดยโครงการ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต ภูเก็ต” จะถูกรังสรรค์ภายใต้คอนเซ็ปต์พิเศษที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสําหรับพื้นที่จังหวัดภูเก็ต  โดยคํานึงถึงการตอบสนองความต้องการในปัจจุบันและรองรับการเติบโตของภูเก็ตในอนาคตอีกสิบปีข้างหน้า

สำหรับโลเคชั่นของ โครงการ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต” แห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ใจกลางจังหวัดภูเก็ต  มุ่งรองรับการเติบโตของเมืองที่มีการขยายตัวทุกทิศทาง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่จังหวัดภูเก็ตต่อปีไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคน รวมถึงคนไทยในพื้นที่และชาวต่างชาติที่มาพำนักอยู่เป็นระยะเวลานาน (Expat) มีกำลังซื้อสูง โดยพบว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวในภูเก็ตอยู่ในระดับค่อนข้างสูงคือ 8,355 บาทต่อคนต่อวัน

สำหรับศักยภาพความพร้อมด้านกำลังซื้อของจังหวัดภูเก็ต สามารถสะท้อนจากจำนวนห้างค้าปลีกที่มีมากถึง 14 แห่ง และไฮเปอร์มาร์เก็ตอีก 19 แห่ง รวมถึงโรงเรียนนานาชาติที่มีมากถึง 15 แห่ง นอกจากนี้ภูเก็ตยังมีจุดแข็งในด้านความสะดวกสบายในการเดินทางทั้งรถสาธารณะที่หลากหลายพร้อมให้บริการ รวมถึงถนน และทางหลวงที่เชื่อมต่อไปยังสถานที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย อีกทั้งยังมีสนามบินที่สามารถรองรับผู้โดยสารทั้งได้ถึง 20 ล้านคนต่อปี และโครงการสนามบินนานาชาติอันดามัน จ.พังงา ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ส่งผลให้วันนี้จังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพเต็มที่ในการรองรับการลงทุนใหม่ๆ และนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามาจากทั่วทุกมุมโลก

บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด เป็นการผนึกกำลังระหว่างสองผู้นำแห่งวงการค้าปลีก  ที่จะสามารถนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญระดับโลก สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่อันน่าตื่นเต้นเร้าใจให้กับวงการค้าปลีกภูเก็ตอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน   และสร้างจุดหมายปลายทางของการช้อปปิ้งและการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของประเทศไทยอีกด้วย

]]>
1488368
เปิดตึก “ศุภาลัย ไอคอน สาทร” จากอดีตสถานทูตออสฯ สู่คอนโดฯ ไฮเอนด์และออฟฟิศ https://positioningmag.com/1472879 Thu, 09 May 2024 11:39:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1472879 “ศุภาลัย ไอคอน สาทร” เมกะโปรเจ็กต์ 20,000 ล้านบาทของศุภาลัยบนที่ดินเก่าของสถานทูต “ออสเตรเลีย” สร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่แล้ว ยอดขายคอนโดฯ​ ปิดการขายได้ 30% ขณะที่ส่วนออฟฟิศทำสัญญาแล้ว 20%

“ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) แถลงเปิดตึกสร้างเสร็จของโครงการมิกซ์ยูส “ศุภาลัย ไอคอน สาทร” มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท พร้อมให้ลูกบ้านโอนกรรมสิทธิ์ และลูกค้าที่สนใจเข้าชมตึกจริง

โดยโครงการนี้ออกแบบเป็นมิกซ์ยูสบนที่ดิน 8 ไร่ สูง 56 ชั้น พื้นที่แบ่งเป็นส่วนคอนโดมิเนียม 61% เซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ 10% และ ส่วนออฟฟิศ-รีเทลอีก 29%

ศุภาลัย ไอคอน สาทร
ประติมากรรมจิงโจ้ 5 ตัวกระโดด ด้านหน้าตึกศุภาลัย ไอคอน สาทร เป็นสัญลักษณ์ว่าที่ดินนี้เคยเป็นสถานทูตออสเตรเลียมาก่อน

ที่ตั้งของศุภาลัย ไอคอน สาทรถือเป็นที่ดินที่มีประวัติ เพราะเป็นที่ตั้งของสถานทูตออสเตรเลียนาน 39 ปี ก่อนที่ทางสถานทูตฯ จะเปิดประมูลขายที่ดินเพื่อย้ายที่ทำการสถานทูตฯ ทำให้ศุภาลัยใช้การออกแบบที่เก็บประวัติของสถานทูตออสเตรเลียไว้ เช่น ใช้สีโทนทอง-น้ำตาล-ทองแดง เพื่อสื่อถึงภูมิทัศน์ของประเทศออสเตรเลีย, มีประติมากรรมรูปสัตว์ในออสเตรเลีย ได้แก่ จิงโจ้ โคอาล่า นกอีมู ตุ่นปากเป็ด

โดยส่วนคอนโดฯ​ ปัจจุบันเปิดขายราคาเริ่ม 8.9 ล้านบาทต่อยูนิต (ห้องชุดพื้นที่ใช้สอย 42 ตร.ม.) หรือเฉลี่ยทั้งโครงการ 2.2-2.3 แสนบาทต่อตร.ม.

ผู้บริหารศุภาลัย: (ซ้าย) “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ และ (ขวา) “ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม” ประธานกรรมการบริหาร

 

คอนโดฯ ขายได้ 30% เน้นห้องใหญ่อยู่เป็นครอบครัว

“ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า ในส่วนคอนโดมิเนียม 720 ห้อง ศุภาลัยทำยอดขายได้แล้ว 30% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้จะทำยอดขายแตะ 50% ของตึก

สัดส่วนที่ขายได้ ณ ช่วงที่ตึกสร้างเสร็จอาจจะดูไม่สูงมาก แต่ไตรเตชะชี้ว่าเกิดจากศุภาลัย ไอคอน สาทร เน้นห้องชุดขนาดใหญ่แบบ 2 ห้องนอนขึ้นไปถึง 3 ใน 4 ของตึก ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่ต้องการอยู่จริงและอยู่เป็นครอบครัว กลุ่มนี้จึงมักจะรอให้ตึกสร้างเสร็จก่อนเพื่อชมห้องจริงวิวจริงก่อนตัดสินใจ เห็นได้จากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาหลังตึกพร้อมให้เข้าชมได้ ยอดขายถือว่าวิ่งได้เร็วขึ้นกว่าเดิม

ศุภาลัย ไอคอน สาทร
บรรยากาศล็อบบี้โซนที่พักอาศัยศุภาลัย ไอคอน สาทร

 

เชื่อมั่น “สาทร” เป็นสุดยอดซีบีดี ที่ดินแพงอันดับ 3 ของกรุงเทพฯ

ไตรเตชะมองว่า ห้องชุดที่เหลือจะสามารถทำยอดขายได้ดีหลังจากนี้ เพราะโครงการที่ยังอยู่ระหว่างขายมีน้อย ปัจจุบันมีเหลือ 6 โครงการ (ไม่รวมศุภาลัย ไอคอน สาทร) และเหลือเพียง 315 ยูนิต ส่วนที่ดินฟรีโฮลด์ในเขตสาทรก็เหลือไม่มากเช่นกัน ทำให้โอกาสที่คอนโดฯ สร้างใหม่จะมีเข้ามาในตลาดได้ยาก

ขณะที่ที่ดินย่าน “สาทร” ไตรเตชะอ้างอิงข้อมูลราคาประเมินจากกรมธนารักษ์ พบว่า เป็นย่านที่ที่ดินราคาสูงอันดับ 3 ของกรุงเทพฯ โดยราคาประเมินอยู่ที่ 8 แสนบาทต่อตร.ว. เป็นรองแค่เพียง “ศาลาแดง” และ “ชิดลม” ที่ที่ดินราคาสูงสุด 8.75 แสนบาทต่อตร.ว.

ราคาที่ดินย่านสาทร ประเมินโดย AREA

ส่วนเทรนด์การปรับขึ้นราคาของที่ดินย่านสาทร อ้างอิงจาก AREA พบว่า ในช่วงปี 2554-2567 ที่ดินย่านนี้ราคาตลาดปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 8% ปัจจุบันขึ้นมาถึง 2.5 ล้านบาทต่อตร.ว.แล้ว

ทำให้ทางศุภาลัยค่อนข้างเชื่อมั่นว่าด้วยซัพพลายที่น้อย และความเป็นซีบีดีของสาทรจะช่วยดันยอดขายให้โครงการขายได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนฝั่งออฟฟิศและรีเทลซึ่งเป็นตึกด้านหน้าสูง 14 ชั้น มีพื้นที่รวม 24,063 ตารางเมตร ปัจจุบันมีผู้เช่าทำสัญญาส่วนออฟฟิศแล้ว 20% ส่วนรีเทล 15% ซึ่งไตรเตชะยอมรับว่าสถานการณ์ตลาดออฟฟิศขณะนี้ค่อนข้างท้าทาย จากซัพพลายออฟฟิศสร้างเสร็จใหม่ทะลักเข้าตลาด ขณะที่ดีมานด์ทรงตัวถึงลดลงเพราะหลายบริษัทเปลี่ยนมาปรับลดพื้นที่ออฟฟิศจากนโยบายเข้าทำงานแบบไฮบริด แต่เชื่อว่าด้วยค่าเช่าที่ 1,000 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือนจะช่วยให้ตึกสำนักงานนี้สามารถแข่งขันได้ในตลาด

]]>
1472879
“เซ็นทรัลพัฒนา” เตรียมงบอีก 121,000 ล้านบาท ลงทุนต่อเนื่องใน 5 ปี ผุดมิกซ์ยูสอีก 5 โครงการ พลิกโฉมรีเทลสู่ระดับ The World’s New Magnitude https://positioningmag.com/1468189 Fri, 29 Mar 2024 09:22:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1468189

แรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่จริงๆ สำหรับ “เซ็นทรัลพัฒนา” เบอร์หนึ่งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในไทย ได้ประกาศแผนการลงทุนต่อเนื่อง 5 ปี ด้วยงบลงทุน 121,000 ล้านบาท เตรียมผุดโครงการมิกซ์ยูสอีก 5 โครงการ ทำให้ในปีหน้าเซ็นทรัลพัฒนาจะมีโครงการมิกซ์ยูสรวม 25 โครงการ พร้อมพลิกโฉมรีเทลครั้งยิ่งใหญ่เป็นโครงการระดับ The World’s New Magnitude เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในฟันเฟืองใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศก็ว่าได้

ทุ่ม 121,000 ล้านบาท สร้างเมือง สร้างย่าน สร้างเศรษฐกิจ

ในยุคปัจจุบันนี้ จะใช้คำว่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวคงไม่พอที่จะอธิบายคำจำกัดความของ “เซ็นทรัลพัฒนา” เพราะทุกวันนี้ได้มุ่งมั่นพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการอัดงบลงทุนอย่างต่อเนื่อง และไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการเพื่อขับเคลื่อนประเทศ

ล่าสุดเซ็นทรัลพัฒนาได้ประกาศทุ่มงบลงทุน 121,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2567-2571) โดยต่อยอดความสำเร็จจากโมเดลธุรกิจ The Ecosystem for All เชื่อมโยงทุกธุรกิจทั้ง Retail-Residence-Hotel-Office เดินหน้าแผนพัฒนาโครงการ สร้างย่าน สร้างเมืองหลัก-เมืองรอง  ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทั่วประเทศ ทั้งสร้างโครงการใหม่ และยกระดับโครงการปัจจุบันแบบเต็มรูปแบบ

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวว่า

“ในช่วงปีที่ผ่านมา เราวางรากฐานและสร้างความสำเร็จให้ The Ecosystem for All ซึ่งเป็นโมเดลที่มี Retail-Led เป็นหัวใจสำคัญในการ Synergy ทุกธุรกิจ ปีนี้เรายังคงมุ่งมั่นสร้างความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น พร้อมยืนหยัดเป็นแรงขับเคลื่อนผลักดันเศรษฐกิจประเทศ โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา (2560-2566) ลงทุนต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 15,000-22,000 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จสร้าง New High ด้านผลประกอบการประจำปี 2566 มีรายได้ 46,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 26% รวมถึงด้านทราฟฟิกศูนย์การค้าและยอดขายร้านค้าที่ดีกว่าเป้าหมาย สามารถมอบเงินปันผลสูงที่สุด อีกทั้งการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPNREIT ทำรายได้เพิ่มขึ้น 16% และให้อัตราผลตอบแทน (Yield) 10% อีกด้วย”

โดยที่ในปี 2567 นี้ จะมีโครงการที่เปิดให้บริการใหม่ทั้งสิ้น 13 โครงการ ได้แก่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครสวรรค์ มูลค่า 5,800 ล้านบาท และเซ็นทรัล นครปฐม มูลค่า 8,200 ล้านบาท, โครงการที่อยู่อาศัย 10 โครงการ และโรงแรมแห่งใหม่ที่ระยอง จับมือกับ International Chain ระดับโลก ทำให้ในภายในปี 2567 จะมีโครงการศูนย์การค้า 42 โครงการ, คอมมูนิตี้ มอลล์ 17 โครงการ, ที่อยู่อาศัย 43 โครงการ, โรงแรม 10 โครงการ, และออฟฟิศ 10 โครงการ และปี 2568 เตรียมเปิด “เซ็นทรัล กระบี่” มูลค่า 4,500 ล้านบาท เติมเต็ม Retail Lifestyle ให้เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

Asset Enhancement อัดงบ 23,000 ล้านบาท รีโนเวท 6 โครงการ

นอกจากการลงทุนโครงการใหม่แล้ว เซ็นทรัลพัฒนายังให้ความสำคัญกับโครงการศูนย์การค้า ที่เป็นหัวใจของแต่ละย่าน ให้สามารถเติบโตไปพร้อมกับวิถีชีวิตของผู้คน ไลฟ์สไตล์ และกำลังซื้อที่สูงขึ้น โดยเตรียมแผนที่จะปรับโฉม 6 โครงการ เทียบเท่าการพัฒนาศูนย์การค้าใหม่เลยทีเดียว

ในการปรับศูนย์การค้าครั้งนี้จะเป็นการปรับแบบ turnaround ทั้งหมด 6 ศูนย์การค้า ปักหมุดรอบทิศกรุงเทพฯ-ปริมณฑล คือ “เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า” เติมเต็มไลฟสไตล์โซนปิ่นเกล้า รองรับกำลังซื้อที่สูงขึ้น, “เซ็นทรัล บางนา” District Transformation จับกลุ่มลูกค้า Top Tier ย่านบางนา, “เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ” สร้าง Concept Mall ใหม่ตอบโจทย์ Eco Art Lifestyle และ “เซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์” Build New Lifestyle Landmark ยิ่งใหญ่ ครบครันที่สุดในย่านสำหรับเมื่องท่องเที่ยวใหญ่ เตรียมปรับโฉม “เซ็นทรัล พัทยา” รองรับกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก และ “เซ็นทรัล มารีน่า” ปรับเป็นรูปแบบ Outlet เพราะมองเห็นโอกาสจากพฤติกรรมการช้อปของนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มหนึ่ง

ปั้น 5 มิกซ์ยูส พลิกโฉมรีเทลสู่ The World’s New Magnitude 

ในช่วงหลายปีมานี้ ยุทธศาสตร์ของเซ็นทรัลพัฒนาเน้นพัฒนาโครงการใหม่ในโมเดล “มิกซ์ยูส” เป็นหลัก โดยสร้างอาณาจักรที่รวมทั้งศูนย์การค้า โรงแรม ที่อยู่อาศัย และอาคารสำนักงานไว้ในที่เดียว เพื่อเป็นการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้อย่างครบวงจร

ปัจจุบันเซ็นทรัลพัฒนามีโครงการมิกซ์ยูสรวม 20 โครงการ ปีที่ผ่านมาได้ขยายเพิ่มที่อุบลราชธานี, อยุธยา, ชลบุรี, ศรีราชา, หาดใหญ่ และในอนาคตเตรียมขยายทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ อาทิ นครสวรรค์, นครปฐม, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี และจะเตรียมเปิดในปี 2568 ที่จังหวัดกระบี่ เป็นต้น

ซึ่งจะทำให้ปี 2568 จะมีโครงการมิกซ์ยูสเป็น 25 โครงการ โดยวิสัยทัศน์ในการสร้าง The Ecosystem for All ที่มี Retail-Led Synergy ช่วยสนับสนุนให้ทุกธุรกิจเชื่อมโยงกันและเติบโตแข็งแกร่ง

ทุกองค์ประกอบในมิกซ์ยูสของเรา เป็น Best of the Best ในแต่ละธุรกิจทั้งศูนย์การค้า, โรงแรม, ที่อยู่อาศัย, ออฟฟิศ และอื่นๆ โดยที่การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ จะยิ่งช่วยสร้าง Impact ในวงกว้างได้ สร้างเงินสะพัด ยกระดับคุณภาพชีวิต ช่วยกระจายรายได้ในจังหวัด

โครงการมิกซ์ยูสอีก 5 โครงการนี้จะเป็นโมเดลเดียวกับเมืองใหญ่ทั่วโลก มีพื้นที่รวมกันกว่า 2.2 ล้าน ตร.ม. และทั้งหมดนี้ อยู่บน Super Prime Locations รอบกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนถนนใหญ่ และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า แต่ละโครงการจะเป็น Flagship ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในอนาคต และจะเป็น Landmark ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เริ่มโครงการแรก ‘ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค’ พบโรงแรมดุสิตธานีโฉมใหม่เดือน ก.ย. ปีนี้ และในส่วนอาคารสำนักงานและศูนย์การค้า Central Park เปิดกลางปี 68

เติบโตไปพร้อมกับทุกฝ่ายด้วย Holistic Partnership

จุดแข็งของเซ็นทรัลพัฒนา นอกจากการพัฒนาโครงการแล้ว อีกหนึ่งจุดแข็งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการดูแลพันธมิตรร้านค้า และการเข้าถึงแพลตฟอร์ม The 1 ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นระบบ CRM ขนาดใหญ่ที่สุดในไทยด้วยฐานสมาชิกกว่า 20 ล้านราย สั่งสมประสบการณ์กว่า 20 ปี

เซ็นทรัลพัฒนาได้เปิดตัวโปรแกรม The 1 BIZ – Marketing Intelligence Solutions เป็นการดึงจุดแข็งของ Ecosystem เป็นตัวช่วยปั้นธุรกิจคู่ค้า เพื่อช่วยยกระดับการเข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

The 1 BIZ  จะเป็น The Most Powerful CRM Tool ยุคใหม่พร้อมใช้งานสำหรับแบรนด์ทุกระดับ ช่วยแบรนด์ประหยัดต้นทุนและเวลาในการทำ CRM โดยมี Database มากที่สุดในประเทศไทย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี มีครบทุกพฤติกรรมจับจ่ายใช้สอยแบบ 360 องศา จากฐานข้อมูล The 1 ช่วยให้แบรนด์สร้างโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด, รักษาลูกค้า Loyalty, ดึงดูดลูกค้าใหม่, และเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ร้านค้าจะได้รับก็คือ ได้อินไซต์ข้อมูลของลูกค้าที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้ เป็นข้อมูลเชิงลึกถึงพฤติกรรมการซื้อ (Purchasing Behavior) ที่เกิดขึ้นจริง ถ้าร้านค้าพัฒนาระบบ CRM ของตัวเอง ก็จะเห็นข้อมูลแค่ร้านค้าของตนเองแค่อย่างเดียว แต่ The 1 BIZ ช่วยให้ร้านค้าเห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคได้แบบ 360 องศา

นอกจากนี้ เซ็นทรัลพัฒนายังมีการดูแลทำงานใกล้ชิดกับคู่ค้าในทุกมิติ ด้วย Retail Expertise เข้าใจตลาด ทั่วประเทศ ช่วยคู่ค้าตัดสินใจเลือกเจาะตลาดได้ถูกต้องตามจุดแข็งของแบรนด์ และยังเชี่ยวชาญในการวาง Masterplan ของศูนย์การค้า มีการ Zoning อย่างมีกลยุทธ์ทำให้ traffic เข้าถึงร้านต่างๆได้อย่างทั่วถึง

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ขับเคลื่อนสู่อนาคตภายใต้เจตจำนงค์ของแบรนด์ Imagining better futures for all ด้วยการสร้างและพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและชุมชน รวมถึงสิ่งแวดล้อมให้เติบโตควบคู่ไปกับการเดินหน้าทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนประเทศไทย ปัจจุบัน บริษัทฯ มีการจ้างงานกว่า 120,000 คนทั่วประเทศ และทุกการขยายโครงการใหม่จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นหลายพันคนโดยเฉลี่ยมากกว่า 80% เป็นคนท้องถิ่นของเมืองนั้นๆ ด้านแผนงานความยั่งยืนยังคงเดินหน้าตามเป้าหมาย NET Zero 2050 ร่วมกับทุกฝ่ายใน The Ecosystem for All

 

]]>
1468189
“วัน แบงค็อก” เคาะเปิด “ออฟฟิศ” อาคารแรกกลางปี 2567 พร้อมโชว์ศักยภาพ “สมาร์ท ซิตี้” ระดับโลก https://positioningmag.com/1446496 Tue, 03 Oct 2023 07:01:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1446496
  • เลื่อนไทม์ไลน์เล็กน้อยสำหรับ “วัน แบงค็อก” (One Bangkok) อภิมหาโปรเจ็กต์ 1.2 แสนล้านบาท เตรียมเปิด “ออฟฟิศ” Tower 4 ฝั่งถนนวิทยุเป็นอาคารแรกช่วงกลางปี 2567 และจะทยอยเปิดจนครบ 70% ของโครงการภายในสิ้นปีหน้า
  • โชว์ศักยภาพความเป็น “สมาร์ท ซิตี้” มาตรฐานโลก โครงสร้างพื้นฐานวางระบบที่ช่วยประหยัดน้ำ ประหยัดไฟฟ้า สร้างคุณภาพชีวิต และใช้ศูนย์บัญชาการกลาง ดูแลทั่วถึงครอบคลุมทั้ง 108 ไร่
  • หนึ่งในโครงการที่คนไทยจับตามองว่าจะได้เผยโฉมของจริงเมื่อไหร่ วันนี้ใกล้ถึงจุดหมายแล้วสำหรับ “วัน แบงค็อก” โปรเจ็กต์ยักษ์ในมือตระกูลสิริวัฒนภักดี บนพื้นที่ 108 ไร่หัวมุมถนนวิทยุตัดถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี มูลค่ารวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท

    “อุรเสฏฐ์ นาวานุเคราะห์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการลงทุน โครงการ วัน แบงค็อก เปิดเผยไทม์ไลน์การเปิดตัวโครงการว่า เฟสแรก จะเปิดให้บริการอาคารสำนักงาน Tower 4 ซึ่งเป็นออฟฟิศที่อยู่ฝั่งถนนวิทยุก่อนเป็นตึกแรก โดยคาดว่าจะเปิดได้ในช่วงกลางปี 2567

    จากนั้นโครงการจะทยอยเปิดใช้อาคารจนครบ 70% ของโครงการภายในสิ้นปี 2567 เมื่อถึงเวลานั้นจะมีองค์ประกอบครบในโครงการ ทั้งส่วนออฟฟิศ โรงแรม เซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ รีเทล และที่พักอาศัย

    วัน แบงค็อก
    Tower 4 อาคารแรกที่จะสร้างเสร็จใน “วัน แบงค็อก”

    ขณะที่ไทม์ไลน์การก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทั้งโครงการจะเป็นเมื่อไหร่ อุรเสฏฐ์กล่าวว่าขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณา

    ภายในโครงการวัน แบงค็อกนั้นตามผังมาสเตอร์แพลน จะประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก คือ

    1.อาคารสำนักงาน 5 อาคาร

    2.โรงแรมและเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ 5 อาคาร

    3.รีเทลและอาคารเอนกประสงค์ 4 โซน พื้นที่รวม 190,000 ตร.ม.

    4.ที่พักอาศัย 3 อาคาร

    ไทม์ไลน์เดิมที่เคยประกาศไว้ของวัน แบงค็อก มุ่งเป้าเปิดเฟสแรกในช่วงปลายปี 2566 แต่ต้องขยับกำหนดการออกไป รวมถึงเป้าเดิมคาดว่าจะสร้างเสร็จทั้งโครงการปี 2569 ก็อาจจะขยับออกไปด้วยเช่นกัน โดยอาคารในโครงการที่ถือเป็นไฮไลต์ที่ทุกคนรอคอยและน่าจะสร้างเสร็จเป็นอาคารสุดท้ายก็คือ “Signature Tower” เพราะเมื่อสร้างเสร็จจะกลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย ด้วยความสูง 437 เมตร หรือมากกว่า 90 ชั้น

     

    โชว์มาตรฐาน “สมาร์ท ซิตี้” ระดับโลก

    เมื่อวัน แบงค็อกสร้างเสร็จสมบูรณ์ อุรเสฏฐ์คาดว่าโครงการนี้จะรองรับคนเข้ามาในพื้นที่ถึงวันละ 200,000 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มลูกบ้านในตึกพักอาศัยและพนักงานประจำในออฟฟิศประมาณ 60,000 คน ส่วนที่เหลืออีก 140,000 คนจะเป็นกลุ่มผู้สัญจรเข้ามาชั่วคราว เช่น ลูกค้าโรงแรม ผู้มาใช้บริการส่วนรีเทล ผู้มาติดต่อ

    การบริหารอาคารที่มีพื้นที่รวมกว่า 1.9 ล้านตารางเมตร และคนที่จะเข้าออกวันละ 200,000 คน ย่อมต้องมีการจัดการที่ดีตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน และการบริหารหลังสร้างเสร็จ

    Linear Park บริเวณด้านหน้าโครงการ อาคารจะเว้นระยะถอยร่นจากถนน 35-45 เมตร เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวสาธารณะเป็นแนวยาว

    สำหรับส่วนโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยอนุรักษ์พลังงานและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนในโครงการ วัน แบงค็อก ตั้งเป้าที่จะได้รับมาตรฐาน 2 รายการ คือ มาตรฐาน “LEED” for Neighborhood Development ระดับ Platinum และ มาตรฐานรับรองอาคาร “WELL” ในระดับ Platinum

    ในแง่ของการบริหารโครงการ อุรเสฏฐ์ระบุว่า วัน แบงค็อก เป็นโครงการแรกในไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน “WiredScore” ระดับ Platinum มาตรฐานนี้จะให้กับโครงการที่บริหารในลักษณะ “สมาร์ท ซิตี้” เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ

    ระบบอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมในวัน แบงค็อก

    โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการบริหารโครงการให้เป็นสมาร์ท ซิตี้ที่วัน แบงค็อกเตรียมไว้ เช่น

    • ใช้ระบบ Central Utility Plant (CUP) สาธารณูปโภค เช่น การจ่ายไฟฟ้า การบำบัดน้ำ ระบบปรับอากาศ จะรวมศูนย์ส่วนกลางและกระจายออกสู่อาคารต่างๆ
    • ติดตั้งกล้องวงจรปิด 5,000 จุดในโครงการ
    • ติดตั้งระบบ Smart Sensor กว่า 250,000 ตัว เพื่อตรวจสอบอุปกรณ์ส่วนกลาง และวัดทราฟฟิกการใช้งานพื้นที่ของคนในโครงการ
    • ใช้เสาแบบ Smart Pole เป็นเสาไฟฟ้าแสงสว่างและกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในเสาเดียว
    • ระบบ Traffic Control ตรวจสอบและรายงานสภาพการจราจรในโครงการ
    • ทั้งหมดจะบริหารโดย District Command Center ศูนย์บัญชาการส่วนกลาง ใช้ทั้งมนุษย์และ AI ในการดูแลให้ระบบเป็นไปอย่างราบรื่น และตรวจสอบความผิดปกติ
    วัน แบงค็อก
    District Command Center ศูนย์บัญชาการส่วนกลาง

    การขอมาตรฐานรับรองทั้งหมดนี้ อุรเสฏฐ์มองว่ามีผลตอบโจทย์ธุรกิจโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มอาคารสำนักงานนั้นลูกค้าที่กำลังมองหาพื้นที่เช่าออฟฟิศ มักจะมองการรับรองมาตรฐานต่างๆ เป็นส่วนสำคัญก่อนตัดสินใจเช่า เพราะส่งผลกับคุณภาพชีวิตของพนักงาน และในบางกรณี บริษัทบางสัญชาติจะได้รับ ‘Tax Benefit’ ผลประโยชน์ทางภาษีในประเทศต้นทางของบริษัทด้วยหากออฟฟิศช่วยอนุรักษ์พลังงาน

    ]]>
    1446496
    “สหพัฒน์” เตรียมเปิดมิกซ์ยูส “KingSquare” โครงการมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ย่านพระราม 3 https://positioningmag.com/1436190 Fri, 30 Jun 2023 10:02:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1436190 รุกเข้าสู่วงการอสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง “สหพัฒน์” เตรียมเปิดโครงการมิกซ์ยูสใหม่ “KingSquare” ย่านพระราม 3 ติดกับโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพฯ โดยจะมีทั้งคอนโดฯ ระดับลักชัวรี คอมมูนิตี้มอลล์ และเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ มูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท

    “วรยศ ทองตัน” กรรมการบริหารและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานลงทุนและยุทธศาสตร์องค์กร บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) เปิดเผยแผนการลงทุนปีนี้ในเครือ “สหพัฒน์” จะมีการเปิดตัวโครงการ “KingSquare” เป็นมิกซ์ยูสมูลค่าโครงการรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท บนที่ดิน 20 ไร่ บนถนนรัชดาภิเษก-พระราม 3 ติดกับ โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพฯ

    โดยโครงการนี้จะประกอบด้วย คอนโดมิเนียม KingSquare Residences ที่พักอาศัยระดับลักชัวรีบนอาคารสูง 52 ชั้น, คอมมูนิตี้มอลล์ และ เซอร์วิสอพาร์ทเมนต์

    เฉพาะส่วนคอนโดฯ และคอมมูนิตี้มอลล์ จะเริ่มงานก่อสร้างภายในไตรมาส 4 ปีนี้ และจะสร้างเสร็จภายใน 30 เดือน หรือราวกลางปี 2569 ขณะที่เซอร์วิสอพาร์ทเมนต์จะก่อสร้างเป็นเฟสถัดไป

    KingSquare สหพัฒน์
    แผนที่โครงการ KingSquare

    รายละเอียดของ KingSquare Residences จะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 3 ขณะนี้ยังไม่เปิดเผยราคา แต่จะเป็นคอนโดฯ หรูที่ตอบโจทย์นักเรียน ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ และบุคลากรในโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพฯ เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันคิงส์คอลเลจมีนักเรียนศึกษาอยู่ประมาณ 1,200 คน และครูอาจารย์มีจำนวนมากที่เป็นชาวต่างชาติ (*สหพัฒน์ถือหุ้นราว 10% ในโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพฯ และเป็นผู้ให้เช่าที่ดินแก่โรงเรียน)

    คอนโดฯ แห่งนี้มีการร่วมลงทุนกับ Tokyu Corporation จากญี่ปุ่น เข้าถือหุ้นเป็นสัดส่วน 40% โดย Tokyu จะเป็นพาร์ทเนอร์หลักที่แบ่งปันองค์ความรู้ด้านการก่อสร้างให้กับโครงการอีกด้วย

    KingBridge Tower คาดก่อสร้างเสร็จ ไตรมาส 4 ปี 2567

    ก่อนหน้านี้สหพัฒน์มีการลงทุนอสังหาฯ ในย่านพระราม 3 มาแล้ว โดยลงทุนโครงการตึกออฟฟิศ “KingBridge Tower” ริมถนนพระราม 3 ติดกับสะพานภูมิพล ใกล้ BRT วัดด่าน

    โครงการ KingBridge Tower เป็นอาคารสำนักงานเกรด A สูง 52 ชั้น พื้นที่เช่ากว่า 44,000 ตร.ม. มูลค่าโครงการ 6,000 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างเสร็จไตรมาส 4 ปี 2567 และหลังสร้างเสร็จจะใช้พื้นที่ 50% เป็นสำนักงานของเครือสหพัฒน์ ขณะที่อีก 50% จะปล่อยเช่าทั่วไป ปัจจุบัน JLL เอเย่นต์โครงการระบุราคาเช่าไว้ที่ 999 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน

    วรยศกล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนของสหพัฒน์ในระยะหลัง ต้องการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตเข้าสู่ธุรกิจประเภทธุรกิจบริการมากขึ้น โดยขณะนี้มีการลงทุนหลายกลุ่ม บางโครงการลงทุนด้วยตนเอง และหลายโครงการมีการจอยต์เวนเจอร์หรือถือหุ้นบางส่วน เช่น

    • กลุ่มการศึกษา – โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพฯ, โรงเรียนบุนกะแฟชั่น, โรงเรียนภาษาญี่ปุ่นวาเซดะ
    • กลุ่มการแพทย์ – โรงพยาบาลนวเวช เกษตรนวมินทร์
    • กลุ่มอสังหาฯ – โครงการออฟฟิศ KingBridge, โครงการมิกซ์ยูส KingSquare, โครงการทิวทะเลเวิลด์ และ ศศรา หัวหิน, โครงการ J-Town ศรีราชา, การลงทุนร่วมกับ NOBLE รวม 7 โครงการ

    “เร็วช้าหนักเบาในการลงทุนต่างๆ อยู่ที่จังหวะที่เหมาะสม” วรยศกล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุนด้านบริการหลังจากนี้ ไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ขึ้นกับโอกาส ทั้งนี้ ในแง่ของแลนด์แบงก์กรุงเทพฯ ยังมีที่ดินเหลือบางส่วนในย่านพระราม 3 ที่อาจพัฒนาเพิ่มเติมอีกในอนาคต

    ]]>
    1436190
    เปิดครบ! “มิกซ์ยูส” แห่งแรกของ CPN ที่ “โคราช” เดินหน้าต่อตามแผนที่ อุบล-อยุธยา-ระยอง https://positioningmag.com/1400081 Wed, 14 Sep 2022 03:58:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1400081 “เซ็นทรัลพัฒนา” (CPN) เปิดตัว “มิกซ์ยูส” แห่งแรกอย่างเป็นทางการที่ “โคราช” มีครบทั้งศูนย์การค้า คอนโดฯ และโรงแรม พร้อมผลักดันการเป็น MICE City อีก 3 แห่งต่อไปกำลังก่อสร้างโรงแรมที่อุบลราชธานี อยุธยา และระยอง พร้อมอัปเดตสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมในพอร์ต “เซ็นทารา” คาดไตรมาส 4 นี้อัตราเข้าพักเฉลี่ยขึ้นไปแตะ 60%

    ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการสำหรับโครงการ “มิกซ์ยูส” ของ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) แห่งแรกที่มีครบตามแผนคือ “นครราชสีมา” โดยต่อจิ๊กซอว์ครบเมื่อ “โรงแรมเซ็นทารา โคราช” แกรนด์โอเพนนิ่งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ทำให้มิกซ์ยูสบริเวณนี้มีครบทั้งศูนย์การค้าเซ็นทรัล โคราช คอนโดมิเนียม Escent โคราช และโรงแรม มูลค่ารวมทั้งหมด 10,000 ล้านบาท

    “สุรางค์ จิรัฐิติกาลโชติ” Head of Hotel Development บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวถึงวิสัยทัศน์การเลือกเปิดโรงแรมใหม่ในโคราชและทำให้เกิดมิกซ์ยูสแห่งแรกของ CPN ว่า เนื่องจากโคราชเป็น 1 ใน 7 เมือง MICE City ที่ได้รับการส่งเสริม และมีโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมที่กำลังก่อสร้างทั้งมอเตอร์เวย์และรถไฟความเร็วสูง ทำให้เมืองนี้มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการจัดอีเวนต์ระดับภูมิภาค

    มิกซ์ยูส CPN โคราช
    Rooftop Pool บนเซ็นทารา โคราช ชั้น 20

    เซ็นทรัลพัฒนาจึงมีโปรเจ็กต์ที่สอดคล้องโดยการจัดพื้นที่หอประชุมขนาดกว่า 3,200 ตร.ม.ในเซ็นทรัล โคราช และห้องประชุมในโรงแรมเซ็นทารา โคราชอีกกว่า 1,000 ตร.ม. ทำให้มีพื้นที่จัดอีเวนต์ขนาดใหญ่ได้ ที่ผ่านมาตั้งแต่เปิดซอฟต์โอเพนนิ่งโรงแรมมาเกือบ 1 เดือน มีอีเวนต์งานสัมมนาต่อเนื่องทุกสัปดาห์โดยแต่ละงานมีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 300 คน

    “ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา” Head of Marketing บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวต่อว่า หลังจากนี้บริษัทจะร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEP) เพื่อดึงงานอีเวนต์เข้ามาในโคราชให้มากขึ้น โดยเชื่อว่าพื้นที่ของเซ็นทรัลพัฒนาจะตอบโจทย์ได้ดีเพราะมีที่พักกับสถานที่จัดประชุมในบริเวณเดียวกัน และเป็นโรงแรมในระดับมาตรฐานสากล

     

    ไปต่อตามแผนอีก 3 จังหวัดที่กำลังก่อสร้าง

    สำหรับโปรเจ็กต์ถัดไปของแผนมิกซ์ยูส CPN “ภูมิ จิราธิวัฒน์” Head of Hotel Property บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ระบุว่ายังเป็นไปตามแผน คือการสร้างโรงแรมประกบในโครงการศูนย์การค้าและคอนโดฯ ในเครือ ที่เริ่มก่อสร้างแล้วและมีกำหนดการเปิด ดังนี้

    • เซ็นทารา อุบลราชธานี เปิดตัวกลางเดือนธันวาคม 2565 โดยจะเป็นโรงแรมแบบโลว์ไรส์ จำนวนห้องพัก 180 ห้อง
    • เซ็นทารา อยุธยา เปิดตัวปี 2566
    • เซ็นทารา วัน ระยอง เปิดตัวปี 2566

    นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคมนี้บริษัทคาดว่าจะสามารถเปิดแผนโครงการโรงแรมระดับพรีเมียมแมส Go! Hotel แห่งแรกได้ว่าจะปักหมุดทำเลแรกที่ไหน (อ่านรายละเอียดแผน 5 ปีสร้างมิกซ์ยูส 37 แห่งของ CPN ได้ที่นี่)

    (จากซ้าย) “ภูมิ จิราธิวัฒน์” Head of Hotel Property บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา, “ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา” Head of Marketing บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา, “สุรางค์ จิรัฐิติกาลโชติ” Head of Hotel Development บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา, “ธีรยุทธ์ จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา และ “กันย์ ศรีสมพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา

     

    ธุรกิจ “โรงแรม” กำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง

    ปิดท้ายสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมกับ “ธีรยุทธ์ จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา ซึ่งปัจจุบันบริหารโรงแรมอยู่ 49 แห่ง รวมกว่า 10,000 ห้องพัก ใน 6 ประเทศ

    เทรนด์การฟื้นตัวของโรงแรมเครือเซ็นทาราดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อไตรมาส 2 ปีนี้อัตราเข้าพักอยู่ที่ 50% ขยับมาในไตรมาส 3 บริษัทคาดว่าจะปรับขึ้นเป็น 53% และในไตรมาส 4 เชื่อว่าจะขึ้นไปถึง 60% โดยมีโรงแรมที่คึกคักโดดเด่นในช่วงนี้คือโรงแรมในกรุงเทพฯ และดูไบ ส่วนมัลดีฟส์ที่เคยมาแรง ขณะนี้อยู่ในช่วงโลว์ซีซันทำให้อัตราเข้าพักอาจจะลดต่ำลงบ้าง

    โดยสรุปแล้วรวมทั้งปี 2565 อัตราเข้าพักคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 50% อย่างไรก็ตาม ถือว่ายังไม่ฟื้นตัวได้เท่ากับปี 2562 ก่อนเกิดโรคระบาด ซึ่งมีอัตราเข้าพักที่ดีกว่านี้ราว 20-30%

    ธีรยุทธ์วิเคราะห์สถานการณ์ว่าขณะนี้ธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มเป็นบวกจากการเปิดประเทศ และโรค COVID-19 เริ่มกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ปัจจัยลบก็มีเช่นกัน จากปัจจัยด้านเงินเฟ้อทำให้ค่าใช้จ่ายสูง และสายการบินยังระมัดระวังการเปิดเที่ยวบินเพิ่ม ทำให้ตัวเลือกการเดินทางของนักท่องเที่ยวมีน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด มีผลต่อเนื่องถึงปริมาณแขกที่เข้าพักในโรงแรม

    ]]>
    1400081
    ส่องโครงการ “ไวส์พาร์ค มีนบุรี” มิกซ์ยูส 33 ไร่ ปลุกกระแสทำเลจุดตัดรถไฟฟ้าส้ม-ชมพู https://positioningmag.com/1397476 Wed, 24 Aug 2022 12:44:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1397476
  • แอสเซทไวส์ (ASW) เปิดคอนเซ็ปต์โครงการ “ไวส์พาร์ค มีนบุรี” มิกซ์ยูสบนเนื้อที่ 33 ไร่ รวมคอมมูนิตี้ มอลล์, คอนโดฯ, ออฟฟิศ ไว้ในแห่งเดียว
  • โครงการนี้จะมีพื้นที่สีเขียวเพื่อชุมชน ทางจักรยานสาธารณะ เว้นพื้นที่เพิ่มท่าเรือคลองแสนแสบในอนาคต และเปิดห้องชุดแบบใหม่ ‘For All Gens’ สร้างมาเพื่อให้อยู่อาศัยได้จนถึงวัยชรา
  • ASW หวังจะปลุกกระแสพัฒนาทำเลมีนบุรี node เศรษฐกิจชานเมืองกรุงเทพฯ แห่งใหม่บริเวณจุดตัดปลายสายรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ชมพู
  • ก่อนหน้านี้โครงการคอนโดมิเนียม “แอทโมซ โฟลว์ มีนบุรี” เริ่มเปิดจองไปก่อนแล้ว โดยคอนโดฯ นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “ไวส์พาร์ค มีนบุรี” ที่มีเนื้อที่รวม 33 ไร่ ซึ่งทาง บมจ.แอสเซทไวส์ (ASW) เจ้าของโครงการ เพิ่งจะได้ฤกษ์เปิดภาพการพัฒนาที่ดินทั้งผืนว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง

    “กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอสเซทไวส์ เล่าถึงแผนการพัฒนา ไวส์พาร์ค มีนบุรี มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท โครงการนี้ตั้งอยู่บนถนนสีหบุรานุกิจ ระยะ 350 เมตรจากสถานีตลาดมีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นที่ดินแปลงลึกเข้าไปจนติดคลองแสนแสบ ทำให้ต่อไปจะเดินทางได้ทั้งทางรถ ราง เรือ

    แปลงที่ดินไวส์พาร์ค มีนบุรี มุมขวาบนคือสถานีตลาดมีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีชมพู

    เมื่อเป็นที่ดินผืนค่อนข้างใหญ่ จึงมองว่าควรจะพัฒนาให้เป็นชุมชนขนาดย่อม มีฟังก์ชันและแบบตึกหลายแบบ รวมถึงตอบรับกับชุมชนเดิมให้ได้มีพื้นที่สาธารณะเพิ่มด้วย

    คอนเซ็ปต์ของ ไวส์พาร์ค มีนบุรี ภายใต้แนวคิด “WISECOLOGY” แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนคือ
    – ที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม 3 อาคาร แบ่งเป็นคอนโดฯ ตึกเตี้ย 2 อาคาร และตึกสูง 1 อาคาร
    – มิกซ์ยูส คอนโดมิเนียมและออฟฟิศ 1 อาคาร สูง 45 ชั้น (ออฟฟิศมีสัดส่วน 10-15% ของตึก)
    – คอมมูนิตี้ มอลล์ “มิงเกิ้ล มีนบุรี” พื้นที่อาคาร 8,800 ตร.ม.
    – ไวส์พาร์ค พาวิลเลียน พื้นที่สวนสาธารณะด้านหน้าโครงการ (ปัจจุบันเป็นเซลส์ แกลลอรี)

    ไวส์พาร์ค มีนบุรี

    รวมถึงโครงการจะตัดถนนขนาด 16 เมตร ความยาว 500 เมตรจากหน้าโครงการไปถึงด้านหลังติดคลองแสนแสบ พร้อมเลนจักรยาน-วิ่งออกกำลังกาย เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน คนภายนอกมาใช้งานได้ และในอนาคตเมื่อมีชุมชนใหญ่ขึ้น โครงการจะขออนุมัติสร้างท่าเรือคลองแสนแสบเพิ่มเติม

    คอมมูนิตี้ มอลล์ “มิงเกิ้ล มีนบุรี” นั้นจะเป็นส่วนแรกของโครงการที่สร้างเสร็จก่อนในปี 2566 เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงทราฟฟิก ปัจจุบันมีผู้เช่าที่ยืนยันแล้วคือ โลตัส โก เฟรช ส่วนที่เหลือจะเน้นร้านค้า-ร้านอาหารที่มีชื่อเสียง ขณะที่ทั้งโครงการจะใช้เวลาทยอยก่อสร้างรวม 6 ปีจากนี้

    มิงเกิ้ล มีนบุรี กำหนดเปิดปี 2566

    โซนออฟฟิศเล็กๆ เจาะกลุ่ม SMEs

    ที่น่าสนใจอีกส่วนคือ “ออฟฟิศ” ซึ่งจะเป็นห้องชุดขายขาดในตึกมิกซ์ยูสด้านหลังคอมมูนิตี้ มอลล์ มีลิฟต์แยกโซนกับที่พักอาศัย และจดทะเบียนเป็นพื้นที่พาณิชย์ สามารถเปิดเป็นที่อยู่บริษัทได้

    กรมเชษฐ์มองว่า ออฟฟิศแบบนี้มีดีมานด์ในย่าน เพราะเหมาะกับ SMEs ขนาดเล็ก พนักงานไม่เกิน 10 คน หรือเน้นทำงานออนไลน์ ปกติ SMEs ลักษณะนี้จะเช่า/ซื้อตึกแถวหรือทาวน์เฮาส์มาดัดแปลงเป็นออฟฟิศอยู่แล้ว ทำให้มองว่าโปรดักส์ลักษณะนี้ทำได้ในตลาดย่านมีนบุรี

     

    ห้องชุด “For All Gens” ออกแบบล่วงหน้าให้ “ผู้สูงวัย” ก็อยู่ได้

    อีกประเด็นหนึ่งที่แอสเซทไวส์จะมีการปรับคือ การออกแบบห้องแบบใหม่ ‘For All Gens’ มาจากแนวคิดจากการสำรวจตลาดพบว่า ผู้ซื้อคอนโดฯ วันนี้ไม่ได้ต้องการอยู่อาศัยแค่ชั่วคราว แต่หลายคนต้องการอยู่อาศัยจนถึงวัยสูงอายุ ทำให้มีการเปิดยูนิตแบบพิเศษเป็นห้องชุดขนาด 31 ตร.ม. ที่มีฟังก์ชันแบบ Universal Design ได้แก่

    • ประตูห้องกว้าง 100 ซม. (จากปกติ 90 ซม.) เพื่อให้รถเข็นเข้าออกสะดวก
    • กั้นห้องเฉพาะส่วนครัวกับห้องน้ำ บริเวณห้องนอน นั่งเล่น โต๊ะทำงาน เปิดโล่งเพื่อให้ปรับเปลี่ยนการใช้งานง่ายในแต่ละช่วงวัยของชีวิต
    • พื้นห้องน้ำไม่มีเนินสะดุด ห้องน้ำขนาดใหญ่พิเศษ และเป็นประตูบานเลื่อน เพื่อให้รถเข็นเข้าได้
    • ติดตั้งปุ่มเรียกฉุกเฉินจาก DoCare by SCG ไว้ในห้องน้ำ (*ต้องสมัครแพ็กเกจการใช้บริการเพิ่มเองในภายหลัง)
    กั้นห้องน้อยลงเพื่อให้ปรับเปลี่ยนฟังก์ชันง่ายขึ้น
    ห้องน้ำไม่มีเนินกั้นเปียกแห้ง และมีขนาดใหญ่ขึ้น

    ห้องพิเศษนี้จะเปิดขายสัดส่วน 10% ในคอนโดฯ แอทโมซ โฟลว์ มีนบุรี เพื่อทดลองตลาดก่อน หากได้รับผลตอบรับดี ก็จะเปิดในคอนโดฯ ตึกอื่นในไวส์พาร์ค มีนบุรีต่อไป

     

    “มีนบุรี” node เศรษฐกิจแห่งใหม่ย่านชานเมือง

    “สุรเชษฐ์ กองชีพ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวถึงศักยภาพของมีนบุรีที่เปลี่ยนแปลงจากการมาถึงของรถไฟฟ้า 2 สาย คือสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี (กำหนดเปิด 2567) และสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (กำหนดเปิด 2568) รวมถึงผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ที่กำลังจะขยายพื้นที่พาณิชยกรรมให้กินวงกว้างขึ้น

    ปัจจัยเหล่านี้จะส่งให้มีนบุรีเป็น sub-center คือเป็นย่านความเจริญทางเศรษฐกิจในเขตชานเมืองตะวันออกของกรุงเทพฯ คล้ายกับที่เกิดขึ้นแล้วในย่านบางแคทางฝั่งตะวันตก

    ในแง่ของที่พักอาศัย เดิมมีนบุรีเป็นย่านหมู่บ้านแนวราบ แต่เมื่อมีรถไฟฟ้าทำให้ที่ดินริมถนนใหญ่ของมีนบุรีราคาพุ่งขึ้นไปกว่า 200,000 บาทต่อตร.ว. ซึ่งเป็นราคาที่ทำให้ที่พักอาศัยต้องเปลี่ยนรูปเป็นคอนโดฯ เพื่อให้เข้าถึงง่ายขึ้น แม้ปัจจุบันคอนโดฯ ที่ขอใบอนุญาตก่อสร้างแล้วจะมีเพียงกว่า 6,000 ยูนิต แต่คาดว่าอนาคตจะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    “ในอีก 1-2 ปีนี้อาจจะยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ระยะยาวแล้วมีนบุรีจะเปลี่ยนไปจากเดิมมาก” สุรเชษฐ์กล่าว “เพราะคนมีนบุรีจนถึงหนองจอกหากจะพึ่งพาระบบขนส่งทางราง จะต้องมารวมกันที่นี่”

    ]]>
    1397476
    ลุยที่อยู่อาศัยเต็มตัว! “CPN” ปักหมุดบ้าน-คอนโดฯ 27 จังหวัด ชูจุดขาย “ติดห้าง” ทำเลทอง https://positioningmag.com/1393434 Thu, 21 Jul 2022 07:48:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1393434 “เซ็นทรัลพัฒนา” (CPN) หลังจากชิมลางในตลาดที่อยู่อาศัยมา 8 ปี ตั้งแต่ปีนี้จะเริ่มลงสนามแข่งขันเต็มตัว ตั้งเป้าเปิดเพิ่ม 50 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 40,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ครอบคลุม 27 จังหวัดทั่วไทย ชูจุดขาย “ติดห้าง” ลูกบ้านสะดวก ทำเลทองมูลค่าไม่ตก เลือกดึงลูกค้าระดับ ‘ครีม’ ของจังหวัด กลุ่ม B ขึ้นไปที่มีกำลังซื้อสูง

    บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เริ่มเปิดส่วนงานธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเมื่อ 8 ปีก่อน และเริ่มเปิดตัวคอนโดมิเนียม 3 แห่งแรกพร้อมกันเมื่อปี 2559 โดยเน้นทำเล ‘ติดห้าง’ ลงทุนควบคู่ไปกับศูนย์การค้า

    ปรากฏว่าโมเดลธุรกิจนี้ไปได้ดี สร้างยอดขายได้ต่อเนื่อง พร้อมกับที่ CPN มีแผนพัฒนาด้วยโมเดลมิกซ์ยูส สร้างโครงการที่มีทั้งศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย โรงแรม ออฟฟิศ ในบริเวณเดียวกัน ทำให้กลุ่มที่อยู่อาศัยกำลังจะขึ้นมาเป็น ‘พระเอก’ อีกรายหนึ่งในพอร์ตบริษัท

    CPN ที่อยู่อาศัย
    “วัลยา จิราธิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา

    “วัลยา จิราธิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา เปิดเผยแผนการลงทุนของบริษัท ตั้งเป้าเปิดตัวโครงการบ้านและคอนโดฯ เพิ่ม 50 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 40,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (2565-2570) ครอบคลุม 27 จังหวัดทั่วไทย และจะทำให้รายได้ส่วนที่อยู่อาศัยเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ใน 5 ปีข้างหน้า

    ปัจจุบันพอร์ตที่อยู่อาศัยทำรายได้ให้เซ็นทรัลพัฒนาคิดเป็นสัดส่วน 7-8% ของบริษัท แต่เมื่อเร่งขยายพอร์ตเพิ่มจะทำให้รายได้ ณ ปี 2570 น่าจะมีสัดส่วนถึง 15% ของบริษัท

    ที่อยู่อาศัย CPN
    แผนงาน 5 ปีของเซ็นทรัลพัฒนาในกลุ่มที่อยู่อาศัย

     

    จุดขาย “ติดห้าง” ทำเลทองของจังหวัด

    จุดเด่นที่แข็งแกร่งของที่อยู่อาศัยเซ็นทรัลพัฒนา คือ การอยู่ในมิกซ์ยูสติดกับศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล เช่น เซ็นทรัล, โรบินสัน ไลฟ์สไตล์, ศูนย์การค้าพิเศษของเซ็นทรัล กรุ๊ป ซึ่งมักจะเป็นทำเลทองของจังหวัดนั้นๆ อยู่แล้ว

    “ร.อ.กรี เดชชัย” President, Residential Business บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวว่า ปกติเมื่อเซ็นทรัลเปิดศูนย์การค้าที่จังหวัดใด ก็มักจะมีดีเวลอปเปอร์ตามมาเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นการการันตีว่าเป็นจังหวัดที่มีกำลังซื้อ และยิ่ง CPN มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยติดห้างด้วยตนเอง ก็ยิ่งคาดการณ์ได้ว่าพื้นที่บริเวณนั้นจะเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ตามความเจริญที่เกิดจากการสร้างศูนย์การค้า

    C
    “ร.อ.กรี เดชชัย” President, Residential Business บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา

    เป็นเหตุให้บ้านและคอนโดฯ ของเซ็นทรัลพัฒนาขายได้ดี เพราะลูกค้าเชื่อมั่น การซื้ออยู่อาศัยก็สะดวกสบายเพราะติดกับศูนย์ฯ หรือจะเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานก็จะมีมูลค่าเพิ่ม และยังได้สิทธิประโยชน์จากศูนย์ฯ ด้วยในฐานะลูกบ้าน เช่น ส่วนลดร้านค้า ที่จอดรถพิเศษ

    “เราเพิ่งเปิดคอนโดฯ เอสเซ็นท์ หาดใหญ่ ติดกับเซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ ไปเมื่อต้นปี 2564 มีทั้งหมด 660 ยูนิต แต่ขายหมด Sold Out ในเวลาไม่ถึง 1 ปี ทั้งที่เปิดตัวในช่วงโควิด-19 ยังระบาดอยู่” ร.อ.กรีกล่าว

     

    แบ่ง 5 แบรนด์เกาะลูกค้าระดับ B ขึ้นไป

    ด้านแบรนด์อสังหาฯ ที่มีในพอร์ตของ CPN แบ่งเป็น 5 แบรนด์ ดังนี้

    • Phyll (ฟีล) คอนโดฯ ราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป
    • Escent (เอสเซ็นท์) คอนโดฯ ราคา 2-3 ล้านบาท
    • Niyham (นิยาม) บ้านเดี่ยวราคา 25 ล้านบาทขึ้นไป
    • Ninya (นินญา) บ้านเดี่ยวราคา 10-25 ล้านบาท
    • Nirati (นิรติ) ทาวน์โฮม บ้านแฝด ราคา 5-10 ล้านบาท
    5 แบรนด์ที่อยู่อาศัยในเครือเซ็นทรัลพัฒนา

    จะเห็นได้ว่ากลุ่มราคาจะเจาะกลุ่มลูกค้าระดับ B ขึ้นไป ถ้าเป็นตลาดต่างจังหวัดที่เป็นเป้าหมายหลักของ CPN ก็นับได้ว่าจับกลุ่ม ‘ครีม’ ของจังหวัด ผู้มีกำลังซื้อสูงและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยในช่วงที่ผ่านมา

    “การเลือกจังหวัดไหนนั้น เราจะใช้กลยุทธ์ ‘Retail-led’ นั่นคือจะนำรีเทลไปเปิดตัวก่อนสักระยะหนึ่ง เพื่อศึกษากำลังซื้อผู้บริโภคในจังหวัดนั้นว่ามีมากน้อยแค่ไหน ไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไร ชื่นชอบที่อยู่อาศัยแบบใด แนวราบหรือแนวสูง ก่อนที่จะนำที่อยู่อาศัยเข้าไปลงทุน” วัลยากล่าว

    “การเลือกจังหวัดไหนนั้น เราจะใช้กลยุทธ์ ‘Retail-led’ นั่นคือจะนำรีเทลไปเปิดตัวก่อนสักระยะหนึ่ง เพื่อศึกษากำลังซื้อผู้บริโภคในจังหวัดนั้นว่ามีมากน้อยแค่ไหน ไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไร ชื่นชอบที่อยู่อาศัยแบบใด แนวราบหรือแนวสูง ก่อนที่จะนำที่อยู่อาศัยเข้าไปลงทุน”

    CPN ได้เปรียบมากในข้อนี้ เพราะทุกจังหวัดที่เริ่มเปิดตัวศูนย์การค้าจะทำให้ได้ฐานสมาชิก The 1 ทราบกำลังซื้อและโปรไฟล์ของลูกค้าได้อย่างชัดเจน

    ส่วนการแข่งขันในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลจะค่อนข้างสูงกว่าเพราะที่ดินมีจำกัด ทำให้ CPN จะเน้นโครงการแนวราบในระยะใกล้ศูนย์ฯ “แต่ไม่ใช่ว่าเราปิดโอกาสทั้งหมด ถ้าเราสามารถหาที่ดินได้ ทำได้ในกรุงเทพฯ เราจะไม่หยุดในการพัฒนาคอนโดฯ” วัลยากล่าว

     

    ปี’65 เปิด 6 โครงการ 6 จังหวัด

    สำหรับแผนระยะใกล้ของปี 2565 ร.อ.กรีระบุว่าบริษัทมีแผนเปิดตัวทั้งหมด 6 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 6,500 ล้านบาท ทั้งหมดจะเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ได้แก่

    แผนการเปิดโครงการในปี 2565
    • เอสเซ็นท์ สุราษฎร์ธานี ติดกับเซ็นทรัล สุราษฎร์ธานี
    • เอสเซ็นท์ สุพรรณบุรี ติดกับโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ สุพรรณบุรี
    • เอสเซ็นท์ ฉะเชิงเทรา ติดกับโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ฉะเชิงเทรา
    • เอสเซ็นท์ ตรัง ติดกับโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ตรัง
    • นินญา ราชพฤกษ์ ใกล้กับเซ็นทรัล เวสต์วิลล์
    • นิรติ เชียงใหม่ ใกล้กับเซ็นทรัล เชียงใหม่

    ด้านเป้าหมายยอดขายปีนี้วางไว้ที่ 5,500 ล้านบาท และเป้ารายได้ 3,000 ล้านบาท จากโครงการที่อยู่ระหว่างขายต่างๆ เช่น นิรติ เชียงราย, นิยาม บรมราชชนี, นินญา กัลปพฤกษ์, เอสเซ็นท์ พาร์ควิลล์ เชียงใหม่, เอสเซ็นท์ ระยอง 2, ฟีล ภูเก็ต เป็นต้น

    “นี่คือการเปิดตัวครั้งใหญ่ว่า CPN จะลุยตลาดที่อยู่อาศัยอย่างจริงจัง เราหวังว่าในปี 2570 รายได้ธุรกิจที่อยู่อาศัยของเราจะขึ้นไปแตะ 10,000 ล้านบาทสำเร็จ” ร.อ.กรีกล่าวปิดท้าย

    ]]>
    1393434
    CPN ลุยสร้าง “โรงแรม” ประกบศูนย์การค้า 37 แห่ง เปิดแบรนด์ใหม่ “Centara One – Go! Hotel” https://positioningmag.com/1388312 Thu, 09 Jun 2022 10:10:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1388312
  • “เซ็นทรัลพัฒนา” (CPN) กางแผนลุยธุรกิจ “โรงแรม” เต็มตัว จากเดิมมีเพียง 2 แห่งในพอร์ต อีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มอีก 37 แห่ง รวม 4,000 ห้อง ใน 27 จังหวัด มูลค่าการลงทุน 10,000 ล้านบาท
  • ทั้งหมดจะประกบกับ “ศูนย์การค้า” ทั้งเซ็นทรัล-โรบินสัน ตามแผนงาน “มิกซ์ยูส” และจะทำให้พอร์ตโรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 10% ของบริษัท
  • ผนึก “เซ็นทารา” เข้ามาบริหาร 3 แบรนด์ ได้แก่ Centara, Centara One และ Go! Hotel สำหรับสองแบรนด์หลังคือแบรนด์ใหม่ “เอ๊กซ์คลูซีฟ” ให้กับเซ็นทรัลพัฒนาเท่านั้น เจาะตลาดโรงแรมระดับกลางและพรีเมียมแมส
  • ปัจจุบัน บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) มีโรงแรมเพียง 2 แห่งในพอร์ต คือ โรงแรมฮิลตัน พัทยา และ โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี โดยรายได้จากกลุ่มโรงแรมคิดเป็นเพียง 2% ในพอร์ต เพราะดังที่ทราบกันว่าเซ็นทรัลพัฒนาเน้นหนักด้านศูนย์การค้าเป็นหลัก แต่นับจากนี้ CPN จะกระโดดเข้ามาในตลาดโรงแรมเต็มตัวแล้ว

    “วัลยา จิราธิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ประกาศแผนของบริษัท “5 ปี ขยายโรงแรม 37 แห่ง รวม 4,000 ห้อง ใน 27 จังหวัด มูลค่าการลงทุน 10,000 ล้านบาท” เริ่มตั้งแต่ปีนี้เป็นปีแรก

    (จากซ้าย) โรงแรม Centara Ayutthaya, Centara One Rayong และภาพจำลอง Go! Hotel

    การลงทุนครั้งนี้ เซ็นทรัลพัฒนาจะประกบโรงแรมเข้ากับศูนย์การค้าในเครือไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัลหรือโรบินสัน ตามนโยบายการดำเนินโครงการแบบ “มิกซ์ยูส” มีทั้งศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียมในบริเวณเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การทำธุรกิจ ‘synergy’ กันได้ ลูกค้ามีความสะดวกสบาย เสริมโอกาสทางการค้าให้กันและกัน

    วัลยายังกล่าวด้วยว่า กลยุทธ์การบุกตลาดโรงแรมครั้งนี้ของ CPN จะตอบโจทย์ทั้งลูกค้าพักผ่อน ธุรกิจ ทำงาน รวมถึงจะมีครบทุกเซ็กเมนต์ และยังเน้นการจ้างงานคนในชุมชน เน้นอัตลักษณ์อาหารและการออกแบบจากท้องถิ่นด้วย เพราะหวังให้โรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนาเป็นมาตรฐานใหม่ทั้งในเมืองหลักและเมืองรองของประเทศ

    “วัลยา จิราธิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา

    “ภูมิ จิราธิวัฒน์” Head of Hotel Property บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวขยายความการตัดสินใจพัฒนาโรงแรมมากขึ้นของบริษัท นอกจากนโยบายมิกซ์ยูสแล้ว ยังเกิดจากบริษัทเล็งเห็นว่าการท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวได้ดีกว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเดือนเมษายนที่ผ่านมา คนไทยเที่ยวในไทยถึง 30 ล้านคน เทียบกับเมษายน 2562 คนไทยเที่ยวไทย 38 ล้านคน

    นอกจากนี้ยังมีกระแส workation คนย้ายที่ทำงานไปทำงานทางไกลจากจังหวัดที่ได้พักผ่อน รถไม่ติด อากาศบริสุทธิ์ ทำให้ค่าเฉลี่ยการเข้าพักหลัง COVID-19 เพิ่มเป็น 3-5 วัน จากก่อนเกิดโรคระบาดจะเฉลี่ยที่ 2-3 วัน

    CPN โรงแรม
    ภูมิ จิราธิวัฒน์” Head of Hotel Property บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา

    เมื่อรวมกับศักยภาพของเครือเซ็นทรัล ทางเซ็นทรัลพัฒนามีที่ดินใจกลางเมืองจากการพัฒนาศูนย์การค้าอยู่แล้วโดยไม่ต้องจัดซื้อเพิ่ม และมีเซ็นทาราเป็นผู้บริหารโรงแรมที่เชี่ยวชาญ การขยับมาพัฒนาโรงแรมจึงเป็นทิศทางที่เหมาะสม

     

    เปิดแบรนด์ใหม่ ‘Centara One’ และ ‘Go! Hotel’

    ภูมิกล่าวต่อว่า การเปิดตัวโรงแรมทั้งหมด 37 แห่ง ภายใน 5 ปี จะแบ่งเป็น 3 เซ็กเมนต์ครบทุกระดับ ได้แก่

    • Centara แบรนด์ระดับฟูลเซอร์วิส ราคาห้องพักประมาณ 2,000 บาทขึ้นไป โดยจะเปิดทั้งหมด 4 แห่ง เช่น Centara Korat, Centara Ayutthaya, Centara Ubon
    • Centara One แบรนด์ผสมผสานไลฟ์สไตล์และธุรกิจ (Bleisure) ในระดับกลาง ราคาห้องพักประมาณ 1,500-1,700 บาท จะเปิดทั้งหมด 8 แห่ง เช่น Centara One Rayong
    • Go! Hotel แบรนด์โรงแรมระดับพรีเมียมแมส โรงแรมขนาด 79 ห้อง ราคาห้องพักประมาณ 1,000 บาท จะเปิดทั้งหมด 25 แห่ง มีแผนเปิดแล้ว 7 ทำเล คือ โคราช, อุบลราชธานี, อยุธยา, ระยอง, ศรีราชา, ชลบุรี และเชียงราย
    โรงแรม CPN
    แผนการเปิดโรงแรมของ CPN แบ่งตามแบรนด์

    สำหรับแบรนด์ใหม่คือ Centara One และ Go! Hotel นั้น วัลยากล่าวว่าเกิดจากทางเซ็นทรัลพัฒนาที่ต้องการจะเปิดโรงแรมในหัวเมืองต่างๆ แต่ต้องการแบรนด์ในระดับกลางและพรีเมียมแมสที่จะเข้าถึงตลาดเหล่านั้นได้ ทำให้นำไปพูดคุยกับเซ็นทาราเพื่อวางคอนเซ็ปต์แบรนด์ใหม่ขึ้นมา และจะเป็นแบรนด์ “เอ๊กซ์คลูซีฟ” สำหรับโครงการที่พัฒนาโดย CPN เท่านั้น (ทั้งนี้ Go! Hotel จะเป็นลิขสิทธิ์ของเซ็นทรัลกรุ๊ป เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่เซ็นทรัลดูแลตั้งแต่เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เวียดนาม)

     

    ประเดิมแห่งแรก ‘Centara Korat’

    จากแผนงานดังกล่าว แห่งแรกและแห่งเดียวที่จะเปิดตัวในปี 2565 คือโรงแรม Centara Korat อยู่ในโครงการมิกซ์ยูสร่วมกับเซ็นทรัล โคราช และคอนโดฯ Escent โคราช มูลค่าทั้งโครงการมิกซ์ยูส 10,000 ล้านบาท

    Centara Korat เปิดแกรนด์โอเพนนิ่ง กันยายน 2565

    ภูมิกล่าวถึงโรงแรมนี้ว่า จะเป็นโรงแรมขนาด 218 ห้อง มีไฮไลต์เด่น เช่น ร้านอาหาร House of Kin (เฮาส์ ออฟ กิน) ร้านที่ทานได้ทุกเจนเนอเรชัน มีตั้งแต่ส้มตำถึงเฟรนช์ฟรายส์ สามารถจัดเลี้ยงในโอกาสพิเศษได้, ร้านอาหาร Rooftop ให้คนท้องถิ่นได้มีที่แฮงต์เอาต์พร้อมชมวิวเมืองโคราช, ห้องประชุมพื้นที่ 930 ตารางเมตร รองรับการเป็นจังหวัด MICE City ทั้งหมดนี้จะเปิดบริการกันยายน 2565

     

    ดันพอร์ตโรงแรมขึ้นมาเป็น 10%

    ดังที่กล่าวว่าโรงแรมเป็นสัดส่วนที่น้อยมากในพอร์ตรวมของ CPN ขณะนี้ แต่หลังการเพิ่มแผนงานด้านโรงแรม วัลยามองว่า เมื่อเปิดครบ 37 แห่งใน 5 ปีข้างหน้า พอร์ตโรงแรมจะขึ้นมามีสัดส่วน 10% ของบริษัท

    “เรามั่นใจในการลงทุนเพราะการพักโรงแรมยุคนี้คนไม่ได้ไปเพื่อการท่องเที่ยว แต่มีการไปติดต่อธุรกิจ และการ workation” วัลยากล่าว

    “เราเห็นตัวอย่างจากเมืองนอก แม้เราจะไปเมืองรองของเขาแต่ก็ยังมีโรงแรมที่มีมาตรฐานให้เข้าพัก เราก็อยากจะทำให้ได้เหมือนกัน ยกระดับมาตรฐานโรงแรมในเมืองรองขึ้นมา” ภูมิกล่าว

    ]]>
    1388312
    “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ดึงเศรษฐีไทยซื้อห้องชุดเพิ่ม หลังแผนโรดโชว์ลูกค้าต่างชาติสะดุด https://positioningmag.com/1376718 Tue, 08 Mar 2022 08:36:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1376718 ความคืบหน้ามิกซ์ยูสทำเลทอง “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ส่วนคอนโดมิเนียมปรับแผนเพิ่มสัดส่วนดึงเศรษฐีไทยซื้อเพิ่ม หลังการระบาดของ COVID-19 กระทบแผนโรดโชว์เสนอลูกค้าต่างชาติ เปิดเซลส์แกลลอรีกว่าครึ่งปี ทำยอดขายแล้ว 40% คนไทยยอมรับการซื้อห้องชุดลีสโฮลด์มากขึ้น ด้านการก่อสร้างขยับไทม์ไลน์เปิดส่วนโรงแรมช่วงต้นปี 2567

    ถือเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ที่น่าจับตามอง สำหรับโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” โครงการมิกซ์ยูสร่วมทุนระหว่าง บมจ.ดุสิตธานี (60%) กับ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (40%) ตั้งอยู่บนที่ดินเดิมของโรงแรมดุสิตธานีหัวมุมถนนสีลมตัดถนนพระราม 4 แต่มีการขยายการเช่าที่ดินเพิ่มจนมีเนื้อที่รวม 23 ไร่

    ภายในโครงการใหม่จะประกอบด้วย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ, อาคารสำนักงาน, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค และส่วนที่พักอาศัย คอนโดมิเนียมดุสิต เรสซิเดนเซส กับ ดุสิต พาร์คไซด์ รวมถึงมีพื้นที่สีเขียวส่วนกลาง “รูฟพาร์ค” ขนาด 7 ไร่ มูลค่าลงทุนรวมทั้งโครงการ 46,000 ล้านบาท

    “ละเอียด โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ผู้บริหารโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค

    ล่าสุด “ละเอียด โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ผู้บริหารโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการ โดยเฉพาะส่วนที่พักอาศัยซึ่งเริ่มเปิดการขายอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ปัจจุบันทำยอดขายได้แล้ว 40% ตั้งราคาขายเฉลี่ย 349,000 บาทต่อตร.ม.

    รายละเอียดของโครงการคอนโดฯ ดุสิต เรสซิเดนเซส และ ดุสิต พาร์คไซด์ ตั้งอยู่บนอาคารเดียวกันสูง 69 ชั้น หรือ 299 เมตร เป็นตึกที่สูงที่สุดในมิกซ์ยูสแห่งนี้ และความสูงเมื่อสร้างเสร็จจะเป็นหนึ่ง 1 ใน 5 อาคารที่สูงที่สุดของไทย ทั้งอาคารจะเป็นคอนโดฯ ระดับ ‘ซูเปอร์ลักชัวรี’ แต่มีการแยกชื่อและบริเวณโครงการเป็น 2 ส่วนเนื่องจากคอนเซ็ปต์และกลุ่มเป้าหมายจะแตกต่างกัน ดังนี้

    • ดุสิต เรสซิเดนเซส – ตั้งอยู่บนชั้น 30-69 ของอาคาร จำนวนห้องชุด 160 ยูนิต ตกแต่งแบบคลาสสิก ลักชัวรี เน้นห้องชุดขนาดใหญ่สำหรับครอบครัวขยายอยู่ร่วมกันได้หลายเจนเนอเรชัน โดยมีแบบ 2-4 ห้องนอนและเพนท์เฮาส์ พื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 120-750 ตร.ม.
    ห้องตัวอย่างดุสิต เรสซิเดนเซส แบบห้องดูเพล็กซ์ เพดานสูง 6.6 เมตร
    • ดุสิต พาร์คไซด์ – ตั้งอยู่บนชั้น 9-29 ของอาคาร จำนวนห้องชุด 246 ยูนิต ตกแต่งแบบไลฟ์สไตล์ ลักชัวรี ห้องชุดขนาดย่อมลงมา เหมาะกับนักธุรกิจ/ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ต้องการแยกครอบครัว โดยมีแบบ 1-2 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 55-115 ตร.ม.
    ห้องตัวอย่างดุสิต พาร์คไซด์ แบบ 1 ห้องนอน

     

    เพิ่มสัดส่วนคนไทย ต่างชาติมุ่งเจาะ “ตะวันออกกลาง”

    ละเอียดกล่าวต่อว่า สำหรับยอดขาย 40% ที่ทำได้ เกือบทั้งหมดขณะนี้เป็นลูกค้าคนไทย และจากการประเมินสถานการณ์ COVID-19 ทำให้บริษัทปรับเป้าหมายสัดส่วนการขาย จากเดิมคนไทย 60% ต่างชาติ 40% เป็น คนไทย 65% และต่างชาติ 35%

    เนื่องจากการเปิดประเทศเดินทางระหว่างกันยังทำได้ไม่เต็มที่ ทำให้แผนโรดโชว์ต่างประเทศอาจไม่เป็นไปตามคาด โดยกลุ่มลูกค้าหลักที่คาดหวังเดิมจะเป็น กลุ่มชาวจีนและฮ่องกง ซึ่งขณะนี้ยังมีนโยบายกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศถึง 21 วันทำให้ไม่สะดวกในการจัดงาน

    โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค

    ส่วนกลุ่มลูกค้าต่างชาติอื่นที่เป็นเป้าหมายจะเน้นฝั่งเอเชียซึ่งรู้จักแบรนด์ “ดุสิตธานี” มากกว่าฝั่งตะวันตก เช่น สิงคโปร์ ตะวันออกกลางอย่าง UAE หรือ ซาอุดีอาระเบีย ที่ไทยเพิ่งจะฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกัน

    “แต่กลุ่มตะวันออกกลางจะต้องใช้การจูงใจมากขึ้น เพราะโดยปกติแล้วนักลงทุนตะวันออกกลางจะนิยมลงทุนในฝั่งตะวันตก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป มากกว่าเอเชีย เราจะต้องนำเสนอให้เห็นว่าการลงทุนในเอเชียมีการเติบโตที่ดีเช่นกัน” ละเอียดกล่าว

     

    พลิกจุดด้อยเป็นจุดเด่น “ลีสโฮลด์” ราคาตั้งต้นถูกกว่า

    โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค นี้ตั้งอยู่บนที่ดินเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ระยะ 30+30 ปี ทำให้ดุสิต เรสซิเดนเซส และ ดุสิต ปาร์คไซด์ จะเป็นสัญญาลีสโฮลด์เช่าระยะยาว โดยทำสัญญาเช่า 58 ปี (แบ่งเป็น 2 สัญญา 29+29 ปี) ไม่ใช่โครงการฟรีโฮลด์ที่โอนกรรมสิทธิ์ขาด

    ที่ผ่านมาการขายโครงการลีสโฮลด์ในไทยนั้นจะมีโจทย์ยากคือคนไทยไม่คุ้นชินกับการเช่าลีสโฮลด์มากนัก แต่ละเอียดกล่าวว่า กลุ่มลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูง (High-Net-Worth Individual: HNWI) ในไทยเริ่มเข้าใจและยอมรับลีสโฮลด์มากขึ้น มองเห็นข้อเด่นและโอกาสจากมูลค่าที่จะเพิ่มขึ้น

    “รูฟพาร์ค” ขนาด 7 ไร่ ที่มีลักษณะเป็น Infinity Garden มองเห็นเชื่อมต่อกับสวนลุมพินีเป็นเนื้อเดียวกัน อีกหนึ่งหมัดเด็ดในการจูงใจลูกค้าเลือกโครงการลีสโฮลด์ที่ออกแบบพิเศษมากกว่า

    ละเอียดอธิบายว่า โครงการลีสโฮลด์จะมีราคาตั้งต้นถูกกว่าฟรีโฮลด์ 20-30% ขณะที่โครงการในทำเลทองแบบดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จะทำให้ราคายังปรับขึ้นได้เมื่อมีการขายต่อ ไม่ได้ตกลงตามกาลเวลาอย่างที่เข้าใจกัน ประกอบกับแบรนด์ “ดุสิตธานี” ซึ่งจะเข้ามาให้บริการในส่วนที่พักอาศัยด้วย เป็นแบรนด์ที่คนไทยรักและไว้วางใจ จึงทำให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

    นอกจากนี้ สัญญาของดุสิต เรสซิเดนเซส และ ดุสิต ปาร์คไซด์ ให้เช่าระยะยาวถึง 58 ปี เปรียบได้กับการอยู่อาศัยได้สองเจนเนอเรชันต่อเนื่อง ทำให้ได้เปรียบกว่าโครงการลีสโฮลด์อื่นๆ ที่อาจจะยาวเพียง 30 ปี หรือต่ออายุครั้งละ 10 ปี

     

    ขยับไทม์ไลน์เพิ่ม จากการปิดแคมป์คนงาน

    ด้านการก่อสร้างปัจจุบันเริ่มเจาะใต้ดินและทำฐานรากแล้ว แต่เนื่องจากปี 2564 มีช่วงปิดแคมป์คนงานเพื่อยับยั้งการระบาดของ COVID-19 ทำให้ไทม์ไลน์การก่อสร้างล่าช้า ละเอียดกล่าวว่า บริษัทต้องปรับตารางการเปิดตัวส่วนต่างๆ ของโครงการ ดังนี้

    • โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ – ไตรมาส 1 ปี 2567
    • ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค และอาคารสำนักงาน – ปลายปี 2567
    • ที่พักอาศัย ดุสิต เรสซิเดนเซส และ ดุสิต ปาร์คไซด์ – กลางปี 2568

    สำหรับส่วนอื่นๆ ของโครงการ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ จะออกแบบให้คงเอกลักษณ์โดดเด่นของอาคารเดิม และเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ห้องพักจำนวน 259 ห้อง ขณะที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค สูง 4 ชั้น จะมีพื้นที่กว่า 80,000 ตารางเมตร ถัดมาเป็นอาคารสำนักงานเกรด A เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส สูง 40 ชั้น พื้นที่รวม 90,000 ตารางเมตร อาคารทั้งหมดออกแบบให้ตั้งเหลื่อมกันเพื่อรับวิวสวนลุมพินีได้ทุกตึก

    ]]>
    1376718