ออสเตรเลีย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 18 Nov 2024 13:15:29 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “ออสเตรเลีย” บังคับร้านค้า “รับเงินสด” เผื่อรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉิน หลังคนจ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้น ร้านรับเงินสดน้อยลง https://positioningmag.com/1499562 Mon, 18 Nov 2024 10:24:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1499562 ปัจจุบัน ผู้คนทั่วโลกหันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์กันมากขึ้น โดยเฉพาะกับการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ ที่มีความสะดวกและรวดเร็วตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในยุคดิจิทัล

เช่นเดียวกับ “ออสเตรเลีย” ที่ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่สนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล โดยมีการเข้าร่วมกับประเทศต่างๆ ตั้งแต่สเปนไปจนถึงเดนมาร์ก ข้อมูลของธนาคารกลางแสดงให้เห็นว่า อัตราการใช้ธนบัตรสําหรับการทําธุรกรรมมีการลดลง 

ในขณะเดียวกัน มูลค่าของธุรกรรมกระเป๋าเงินมือถือ (E-Wallet) ในออสเตรเลียเติบโตที่ 93,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (60,000 ล้านดอลลาร์) ในปี 2022 เพิ่มขึ้นจาก 746 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในปี 2018 เพิ่มขึ้นมากกว่า 12,000% ตามการวิเคราะห์โดย RBA

Jim Chalmers รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออสเตรเลีย กล่าวว่า แม้การทำธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลจะเพิ่มขึ้น แต่ยังมีชาวออสเตรเลียกว่า 1.5 ล้านคนยังคงใช้เงินสดในการทำธุรกรรมทางการเงินมากกว่า 80% แต่จํานวนธุรกิจร้านค้าที่รับการชำระเงินแบบเงินสดกลับมีน้อยลง

แต่เงินสดก็เป็นทางเลือกสำรองที่เข้าถึงได้ง่ายในช่วงที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและเหตุขัดข้องทางออนไลน์ ทำให้รัฐบาลฯมีการหารือและต้องการทําให้แน่ใจว่า ประชาชนจะยังสามารถใช้จ่ายซื้อสิ่งของจำเป็นต่อการใช้ชีวิตได้ ภาคธุรกิจร้านค้าต่างๆ ทั่วออสเตรเลียจึงจำเป็นจะต้องยอมรับการชำระเงินสดสำหรับสินค้าจำเป็น เช่น ของชำและเชื้อเพลิง โดยอาจได้รัการยกเว้นในบางกรณีสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก

ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อกําหนดทางกฎหมายสําหรับธุรกิจในออสเตรเลียที่จะต้องรับการชำระเงินแบบเงินสด โดยรายละเอียดสุดท้ายของคำสั่งดังกล่าว จะประกาศให้ทราบภายในปี 2025 และจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2026 เป็นต้นไป

อีกทั้งรัฐบาลฯ มีแผนจะหยุดออกเช็คภายในเดือนมิถุนายน 2028 โดยจะให้ลูกค้ารวมถึงธุรกิจต่างๆ ปรับตัวให้เข้ากับวิธีการชำระเงินแบบอื่น และจะหยุดรับเช็คภายในเดือนกันยายน 2029

ที่มา : Bloomberg

]]>
1499562
5 เรื่องน่ารู้หมู่บ้าน “คนออสซี่” ซื้อขายกันแบบไหน? วางผังอย่างไรให้เป็นระเบียบ? https://positioningmag.com/1490136 Sat, 14 Sep 2024 05:35:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1490136 Positioning มีโอกาสได้ไปเยือน “ออสเตรเลีย” ร่วมกับ “ศุภาลัย” บริษัทไทยที่ไปลงทุนในแดนจิงโจ้ พร้อมข้อมูลจาก “Gersh Investment” ที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ เก็บตก 5 เรื่องน่ารู้ของหมู่บ้าน “คนออสซี่” มีวิธีซื้อขายกันแบบไหน? และภาครัฐควบคุมอย่างไรให้ผังหมู่บ้านเป็นระเบียบ?

1. เน้นขาย “ที่ดินเปล่า” ลูกค้าจะหารับเหมามาก่อสร้างบ้านเอง

ศุภาลัย ออสเตรเลีย
บ้านตัวอย่างของบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านที่มาจัดแสดงข้างเซลส์แกลลอรีโครงการ Gen Fyansford เมืองจีล่อง

ปูพื้นฐานกันก่อนว่าหมู่บ้านจัดสรรที่เป็น “บ้านเดี่ยว” ในออสเตรเลียส่วนมากไม่นิยมก่อสร้างแบบบ้านสำเร็จรูปตามที่ผู้พัฒนาโครงการกำหนดไว้แล้วเหมือนเมืองไทย ส่วนใหญ่นักพัฒนาโครงการจะจัดสรรขายเป็น “ที่ดินเปล่า” จากนั้นลูกค้าจะเลือกผู้รับเหมาพร้อมแบบบ้านที่ถูกใจและถูกงบประมาณในกระเป๋าด้วยตนเอง

ดังนั้น ถ้ามองไปในหมู่บ้านออสเตรเลียที่เป็นบ้านเดี่ยว แบบบ้านจะหน้าตาไม่เหมือนกัน บางหลังมีชั้นเดียว บางหลัง 2 ชั้น ทรงโมเดิร์นบ้าง ทรงวินเทจบ้าง (อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการสร้างทาวน์เฮาส์หรือคอนโดมิเนียม บริษัทจัดสรรจะก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำเร็จรูปเหมือนที่เมืองไทย)

บริเวณเซลส์แกลลอรีขายที่ดินจัดสรรในโครงการจึงรายล้อมไปด้วยบ้านตัวอย่างของบริษัทรับเหมาสร้างบ้าน ประมาณว่าเลือกที่ดินเสร็จแล้ว ข้ามถนนไปดูแบบบ้านกันต่อได้เลย

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการซื้อที่ดินเก็บไว้แล้วปล่อยร้างว่างเปล่าจนทำให้หมู่บ้านไม่น่าอยู่ บริษัทจัดสรรจะมีการทำสัญญากับลูกค้าที่ซื้อที่ดินด้วยว่าจะต้องเริ่มก่อสร้างบ้านภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ภายใน 6 เดือน หากละเมิดสัญญาก็จะส่งฟ้องศาลกันต่อไป

2. จัดสรรมีหน้าที่วางผังสร้างหมู่บ้านที่มีสาธารณูปโภคครบ

หมู่บ้าน คนออสซี่
สาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน เสาไฟ สวน ในโครงการ Arcadia Officer เมลเบิร์น

เมื่อไม่ต้องสร้างบ้านทุกหลังขึ้นมา แล้วบริษัทจัดสรรออสเตรเลียทำอะไร? หน้าที่ของบริษัทจัดสรรเปรียบเสมือนมา “สร้างเมือง” เมืองหนึ่งขึ้นมา เพราะจะต้องวางผังหมู่บ้านให้ครบถ้วนทุกแง่มุมในการใช้ชีวิตอยู่อาศัย

เริ่มตั้งแต่การเลือกทำเลที่เหมาะสมของทั้งหมู่บ้าน เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ จากนั้นในผังหมู่บ้านต้องมีสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ ถนน ประปา ไฟฟ้า แม้กระทั่ง “พื้นที่หน่วงน้ำ” เพื่อป้องกันน้ำท่วม

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงสถานที่อำนวยความสะดวกที่ทำให้คนใช้ชีวิตได้จริงด้วย เช่น สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น โรงเรียน พื้นที่พาณิชยกรรม สิ่งเหล่านี้ต้องเตรียมไว้เพื่อรองรับลูกบ้านได้เพียงพอ

เมื่อต้องเนรมิตเมืองใหม่ขึ้นมาทำให้โครงการจัดสรรของออสเตรเลียมักจะ “เล็ก ๆ ไม่ ใหญ่ ๆ ทำ” ส่วนใหญ่จะพัฒนาโครงการในระดับ 500 ไร่ขึ้นไป

3. “เทศบาล” มีอำนาจสั่งการว่าผังหมู่บ้านยังขาดอะไร

หมู่บ้าน คนออสซี่
ชายหาดสาธารณะโครงการ Balmoral Quay ที่ต้องถมสร้างขึ้นมาใหม่ตามที่เทศบาลกำหนด

ผังหมู่บ้านที่บริษัทจัดสรรออกแบบขึ้นจะต้องนำไปขออนุญาตกับหน่วยงาน “Council” ของท้องที่ เปรียบคล้าย ๆ กับ “เทศบาล” ของเมืองไทย

หน่วยงานเทศบาลจะตรวจผังและสั่งการหากมีสิ่งที่ต้องปรับปรุง เช่น โรงเรียน หากยังมีไม่เพียงพอทางเทศบาลจะกำหนดให้มีการกันพื้นที่ไว้ให้เทศบาลเป็นผู้จัดซื้อที่ดินจากบริษัทจัดสรรตามราคาตลาดและสร้างโรงเรียนรัฐบาลขึ้น

บมจ.ศุภาลัย เองเคยมีประสบการณ์ตรงกับการตรวจสอบของเทศบาลในโครงการ Balmoral Quay ที่เมืองจีล่อง ซึ่งเป็นโครงการคอนโดฯ-ทาวน์เฮาส์ตากอากาศชายทะเล ทางเทศบาลมีการสั่งการให้บริษัทต้องสร้างชายหาดสาธารณะ 2 แห่ง และสวนสาธารณะเพิ่ม 2 แห่งในผังจึงจะอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการ เพราะเห็นว่าในการใช้ชีวิตจริงเมื่อมีประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยจะต้องมีพื้นที่สาธารณะเหล่านี้

4. “โบราณสถาน” ต้องอนุรักษ์

ผังหมู่บ้านโครงการ Smiths Lane จุดที่วงสีแดงบริเวณขวาล่างคือที่ตั้งคฤหาสน์บริติชโคโลเนียลโบราณซึ่งจะต้องอนุรักษ์ไว้ตามกฎหมาย

อีกหนึ่งข้อกฎหมายที่น่าสนใจของออสเตรเลียที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหมู่บ้านจัดสรร คือ ถ้าหากภายในพื้นที่โครงการมีการค้นพบ “โบราณสถาน” อายุมากกว่า 100 ปี กฎหมายจะคุ้มครองมิให้ทุบทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพ แม้ว่าเอกชนจะเป็นเจ้าของพื้นที่ก็ตาม

ยกตัวอย่างโครงการหนึ่งที่ศุภาลัยพบความท้าทายนี้ คือ โครงการ Smiths Lane ทางตะวันออกของเมืองเมลเบิร์น โครงการขนาด 1,079 ไร่นี้ค้นพบว่ามีคฤหาสน์สไตล์บริติชโคโลเนียลอายุ 150 ปีอยู่ในที่ดิน ทำให้ที่ดินที่ตั้งบ้านหลังนี้จะไม่สามารถนำมาจัดสรรได้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ ผู้พัฒนาจัดสรรจะต้องเสนอแผนกับเทศบาลว่าบ้านเก่าหลังนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร เช่น อาจให้เช่าทำธุรกิจร้านอาหาร/คาเฟ่ หรือถ้าหากมีผู้สนใจซื้อ บริษัทจัดสรรสามารถขายต่อได้ โดยที่เจ้าของใหม่ก็จะต้องไม่ทุบทำลายบ้านที่เป็นโบราณสถานแห่งนี้ตามกฎหมายเช่นกัน

5. เมื่อสร้างสาธารณูปโภคเสร็จครบ 2 ปี จะโอนไปอยู่ในการดูแลของเทศบาล

หมู่บ้าน คนออสซี่
สนามเด็กเล่นโครงการ Arcadia Officer ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของเทศบาลเรียบร้อยแล้ว

หลังการพัฒนาเดินหน้าไประยะหนึ่ง มีการก่อสร้างสาธารณูปโภคไปจนครบ 2 ปี สาธารณูปโภคเหล่านี้จะถูกโอนย้ายไปอยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาล ไม่ว่าจะเป็นถนน สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ ฯลฯ

ดังนั้น หมู่บ้านจัดสรรของออสเตรเลียส่วนใหญ่มักจะไม่มีนิติบุคคล เพราะไม่มี “พื้นที่ส่วนกลาง” ของหมู่บ้านให้ดูแล ทุกอย่างจะไปอยู่ภายใต้การดูแลโดยรัฐ และประชาชนมีหน้าที่เสียภาษีให้กับเทศบาลเพื่อนำมาบริหารจัดการดูแลเหล่านี้

หน้าตาหมู่บ้านของออสเตรเลียโดยมากจึงไม่มีรั้วโครงการบอกอาณาเขตชัดเจน ไม่มีประตูทางเข้าพร้อมไม้กั้น เพราะทรัพย์ส่วนกลางจะกลายเป็นสาธารณะที่ทั้งคนในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้านสามารถขับรถผ่านได้ และเข้ามาใช้บริการได้

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

]]>
1490136
“ออสเตรเลีย” เตรียมกำหนดอายุผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย ขั้นต่ำ 16 ปี หลังมีความเสี่ยงกระทบร่างกาย และจิตใจ https://positioningmag.com/1489390 Tue, 10 Sep 2024 10:40:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1489390 ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน สื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อพัฒนาการและอารมณ์ของเด็กเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ค่านิยมเรื่อง Beauty Standard อาชญากรรม และสื่อลามกต่างๆ ที่เข้าถึงได้ง่าย จึงเห็นได้ว่าแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ Youtube เริ่มออกกฎจำกัดการเข้าถึง vdo เกี่ยวกับสุขภาพและการออกกำลังกายของวัยรุ่น เนื่องจากค่านิยม Beauty Standard แบบผิดๆ 

ล่าสุด รัฐบาลกลางของประเทศออสเตรเลียเตรียมออกกฎหมายจำกัดอายุผู้ใช้งานและเข้าถึงโซเชียลมีเดีย ซึ่งปัจจุบันมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นคนหนุ่มสาวเข้าขั้นวิกฤต โดยอายุขั้นต่ำสำรับผู้ที่จะเข้าสู่ระบบเว็บไซต์ต่างๆ เช่น Facebook, Instagram และ TikTok มีแผนกำหนดไว้ที่ 16 ปีเป็นขั้นต่ำ รวมถึงแผนการตรวจสอบอายุเพื่อทดสอบแนวทางต่างๆ กําลังอยู่ในขั้นตอนการดําเนิน

Peter Dutton ผู้นําฝ่ายค้านอนุรักษ์นิยมของออสเตรเลียกล่าวว่า เป็นเรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าวิธีการตรวจสอบอายุในปัจจุบันไม่น่าเชื่อถือ หรือเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลกําลังทดลองมาตรการการจำกัดอายุ จึงรู้สึกเห็นด้วยในการจํากัดอายุการเข้าถึงโซเชียลมีเดียของวัยรุ่น เพราะทุกวันนี้โซเชียลมีเดียมีส่วนทําให้เด็กมีความเสี่ยงต่ออันตรายทั้งทางกายและทางจิตใจมากเกินไป

ปัจจุบัน จีน ฝรั่งเศส และหลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกา ได้ผ่านกฎหมายจำกัดการใช้โซเชียลมีเดียในกลุ่มเยาวชนเนื่องจากความวิตกเรื่องภัยอันตรายในโลกออนไลน์ ทั้งการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต (cyberbullying) ไปถึงมาตรการความงามที่ไม่แท้จริง (unrealistic beauty standard) และอาจสร้างค่านิยมที่ผิดๆ

ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มโจมตีความเคลื่อนไหวฯดังกล่าวโดยชี้ว่า จะกระทบต่อสิทธิการแสดงออกของเยาวชน และคุกคามความเป็นส่วนตัว

“การห้ามจะกีดกั้นเยาวชนออกจากการได้เข้าร่วมที่สร้างสรรค์ในโลกดิจิทัล และปิดกั้นช่องทางสำคัญในการเข้าร่วมเครือข่ายสังคม” ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารดิจิทัล นาย Daniel Angus อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งควีนส์แลนด์ กล่าว

Source : The Australian

]]>
1489390
แหวกหลังม่านการลงทุน 10 ปีของ “ศุภาลัย” ใน “ออสเตรเลีย” เกิดอะไรขึ้นบ้าง? https://positioningmag.com/1489338 Tue, 10 Sep 2024 10:06:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1489338 “ศุภาลัย” เริ่มนับหนึ่งการลงทุนใน “ออสเตรเลีย” เมื่อปี 2557 ก่อนจะเติบโตเพิ่มการลงทุนสะสม 12 โครงการ มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท หลังครบรอบหนึ่งทศวรรษ Positioning ชวนไปเจาะลึกหลังม่านการเดินทางของศุภาลัยในแดนจิงโจ้ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง และได้ผลตอบแทนที่ดีตามเป้าหมายหรือไม่

“เมื่อ 10 ปีก่อนคุณประทีป (ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศุภาลัย) สนใจการลงทุนในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงจากเมืองไทย ตอนแรกเราให้ความสนใจเมียนมาก่อน ก่อนที่จะได้เจอวาณิชธนากรจาก Gersh Investment ที่เข้ามาแนะนำว่า ‘ไปลงทุนในออสเตรเลียกับเขาไม่ดีกว่าเหรอ?’ ซึ่งปรากฏต่อมาว่านั่นคือการตัดสินใจที่ถูกต้องที่เราเบนเข็มจากเมียนมามาเป็นออสเตรเลีย” ดร.ประศาสน์ ตั้งมติธรรม Director of Supalai Australia Holdings Pty Ltd กล่าว

วาณิชธนกรผู้นั้นคือ “โจเซฟ เกิร์ช” Executive Chairman ของ Gersh Investment Partners Limited ที่เข้ามาเจรจากับ ดร.ประศาสน์ ด้วยตนเองถึงโรงแรม เดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ และกลายเป็นที่ปรึกษาการลงทุนคนสำคัญที่ช่วย ‘สร้างดีล’ จับคู่ระหว่างศุภาลัยกับพาร์ทเนอร์นักพัฒนาจัดสรรท้องถิ่นในออสเตรเลีย

“โจเซฟ เกิร์ช” Executive Chairman ของ Gersh Investment Partners Limited

“เดือนกันยายน 2556 ทีมงานศุภาลัยเดินทางไปดูทำเลที่ออสเตรเลียเป็นครั้งแรก ก่อนจะเริ่มลงทุนจริงในเดือนตุลาคม 2557” ดร.ประศาสน์เล่าย้อนความหลัง

โจเซฟ เกิร์ชอธิบายความน่าสนใจของตลาดอสังหาริมทรัพย์ “ออสเตรเลีย” ที่โน้มน้าวให้ศุภาลัยมาลงทุนได้ เป็นเพราะตลาดนี้ปกติซัพพลายที่อยู่อาศัยมักจะไม่เพียงพออยู่เสมอ ดีมานด์สูงกว่าซัพพลายเพราะมีผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียจำนวนมาก รวมถึงภาคอสังหาฯ ออสซี่เองมีลักษณะที่พึ่งพิงเงินทุนต่างชาติทั้งจากสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย จึงไม่แปลกหากทุนไทยจะเข้าไปบ้าง

“อธิป พีชานนท์” Director of Supalai Australia Holdings Pty Ltd เสริมว่า ความต้องการหลักของบริษัทพัฒนาจัดสรรในออสเตรเลียคือต้องการ ‘เงินทุน’ เพราะการขอกู้สินเชื่อธนาคารออสซี่เพื่อสร้างโครงการ (พรีไฟแนนซ์) ค่อนข้างเข้มงวดมากและดอกเบี้ยสูง ขณะที่กลไกการออกหุ้นกู้ก็เข้มงวดเช่นกัน ทำให้ทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่งคือการร่วมทุนกับทุนต่างชาติ เป็นโอกาสให้ “ศุภาลัย” เข้ามาเจรจา

 

เป้าหมาย IRR 16-18%

ปัจจุบันศุภาลัยร่วมลงทุนกับบริษัทออสเตรเลียรวมทั้งหมด 6 ราย กระจายอยู่ใน 12 โครงการจัดสรร มูลค่าโครงการเฉพาะในส่วนที่ศุภาลัยถือหุ้นมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท

โครงการ Katalia เมืองเมลเบิร์น โดยร่วมทุนกับ Stockland ที่ดินขนาด 559 ไร่ พัฒนาเป็นที่ดินจัดสรรขายแปลงละ 7.47 – 9.24 ล้านบาท

โครงการส่วนใหญ่ที่ศุภาลัยลงทุนมักจะเป็นที่อยู่อาศัยระดับกลางบนขึ้นไปจนถึงไฮเอนด์ กระจายไปใน 4 เมืองหลัก และมีทุกรูปแบบทั้งที่ดินจัดสรร ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม (*ชาวออสซี่หากจะซื้อบ้านเดี่ยวมักจะซื้อแปลงที่ดินจัดสรรและเลือกผู้รับเหมามาสร้างบ้านเอง ไม่นิยมบ้านเดี่ยวสำเร็จรูป)

อธิปกล่าวว่า วิธีการลงทุนของศุภาลัยไม่ได้เลือกบริษัทจัดสรรเจ้าใดเป็นพิเศษ แต่จะเลือกพิจารณาเป็นรายโครงการมากกว่า โดยเน้นที่ผลตอบแทนการลงทุน ในช่วงแรกๆ ที่เข้าลงทุนออสเตรเลียระบุต้องการ IRR (อัตราผลตอบแทนภายใน) ไม่ต่ำกว่า 18% ส่วนช่วงนี้ลดเกณฑ์ลงมาเหลือ IRR 16% ขึ้นไป เพราะตลาดอสังหาฯ ออสเตรเลียอยู่ในช่วงผันผวน

ศุภาลัย ออสเตรเลีย
โครงการ Arcadia Officer ซึ่งร่วมทุนกับ Satterley Property Group ที่ดินขนาด 814 ไร่ พัฒนาเป็นที่ดินจัดสรร ราคาขาย 4.63 – 13.63 ล้านบาทต่อแปลง ปัจจุบันขายไปแล้ว 96%

หลังลงทุนมา 12 โครงการ พบว่าผลตอบแทนที่ตั้งเป้าไว้ได้ตามเป้าเกือบทุกโครงการ บางโครงการอาจจะมีหย่อนเป้าบ้าง แต่บางโครงการก็ทะลุเป้าเกินคาด ทำให้ถัวเฉลี่ยแล้วประสบความสำเร็จ

เรื่องผลตอบแทนนี้หากเทียบกับอสังหาฯ เมืองไทยแล้ว อธิปมองว่า ผลตอบแทนที่ออสเตรเลียเคยต่ำกว่าไทย แต่ปัจจุบันมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เพราะตลาดเมืองไทยก็เริ่มแข่งขันยากมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจกระจายไข่ไปหลายตะกร้าของศุภาลัยเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

 

เลือกพาร์ทเนอร์เหมือนเลือก ‘คู่แต่งงาน’

การลงทุนของศุภาลัยในออสเตรเลียไม่ใช่ว่าราบรื่นมาตั้งแต่ต้น แต่ตลอดทศวรรษคือการเรียนรู้ทั้งตลาดใหม่และคู่พาร์ทเนอร์ที่อธิปบอกว่าเปรียบเหมือนหา ‘คู่แต่งงาน’ ที่ต้องลงตัวและเข้าใจกัน

ศุภาลัย ออสเตรเลีย
โครงการ Balmoral Quay เมืองจีล่อง รัฐวิคตอเรีย ทาวน์เฮาส์และคอนโดฯ ปัจจุบันราคายูนิตละเกือบ 16 ล้านบาท – 92 ล้านบาท

ยกตัวอย่างโครงการแรกสุดที่ศุภาลัยลงทุนในแดนจิงโจ้คือ “Balmoral Quay” โครงการทาวน์เฮาส์และคอนโดมิเนียมชายทะเลระดับไฮเอนด์ที่เมืองจีล่อง รัฐวิคตอเรีย แรกเริ่มเดิมทีศุภาลัยร่วมทุนกับนักลงทุนรายบุคคล แต่หลังจากพัฒนาเฟสแรกเสร็จเรียบร้อย ผู้ร่วมลงทุนออสซี่ไม่พร้อมเดินหน้าเฟสต่อไป จนสุดท้ายศุภาลัยตัดสินใจดึงมาลงทุนต่อเอง 100% ปัจจุบันกำลังจะ Sold Out ในเฟสที่ 4 พร้อมเปิดขายเฟสที่ 5 ในปี 2568

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นพาร์ทเนอร์ที่ศุภาลัยเลือกล้วนเป็นบริษัทพัฒนาจัดสรรมืออาชีพ เช่น “Stockland” บริษัทจัดสรรรายใหญ่อันดับ 1 ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นออสเตรเลีย “Mirvac” บริษัทพัฒนาจัดสรรอันดับ 2 ของออสเตรเลีย “Satterley Property Group” บริษัทพัฒนาจัดสรรนอกตลาดหุ้นรายใหญ่ รวมไปถึง “ICD Property” บริษัทพัฒนาจัดสรรที่แข็งแกร่งในพื้นที่เมืองเมลเบิร์น

สำนักงานขายโครงการ Smiths Lane เมลเบิร์น ซึ่งศุภาลัยร่วมทุนกับ Mirvac พัฒนาเป็นที่ดินจัดสรรบนที่ดินใหญ่ถึง 1,079 ไร่ ปัจจุบันขายในราคา 8.48 – 15.6 ล้านบาทต่อแปลง

“ข้อดีของพาร์ทเนอร์บริษัทมืออาชีพในออสเตรเลียคือ ส่วนใหญ่ไว้ใจได้และตรงไปตรงมา การชักชวนลงทุนก็จะแสดงผลตอบแทนที่ไม่เกินจริง” อธิปกล่าว

ในทางกลับกัน ฝั่งทุนออสซี่ก็ต้องการความเป็นมืออาชีพจากพาร์ทเนอร์ไทยด้วย โดยโจเซฟ เกิร์ชที่เปรียบเสมือน ‘แม่สื่อ’ ให้คู่พาร์ทเนอร์บอกว่า บริษัทออสเตรเลียปัจจุบันคุ้นเคยกับศุภาลัยมากขึ้น และเห็นว่า “ศุภาลัย” เป็นบริษัทที่ไว้ใจได้ ให้เกียรติซึ่งกันและกันในการทำงาน มีความรู้พื้นฐานด้านตลาดอสังหาฯ ออสเตรเลีย มีความซื่อสัตย์ด้านการรักษาความลับทางการค้า (*เนื่องจากศุภาลัยมีการร่วมทุนพร้อมกันหลายบริษัท) รวมถึงวัฒนธรรมของคนไทยถือว่าเข้ากันได้กับคนออสซี่

ความเข้ากันได้ทำให้การลงทุนมีความต่อเนื่อง โดยล่าสุดศุภาลัยมีการจับมือกับ Stockland Corporation Ltd เพื่อเตรียมจะเข้าเทกโอเวอร์โครงการจัดสรรรวดเดียว 12 โครงการ มูลค่าโครงการในสัดส่วนของศุภาลัยกว่า 1.37 แสนล้านบาท (อ่านข่าวจ่อลงทุนเพิ่ม 12 โครงการของศุภาลัยในออสเตรเลียได้ที่นี่)

โจเซฟกล่าวว่า ถึงแม้ระยะนี้ตลาดอสังหาฯ “ออสเตรเลีย” กำลังอยู่ในช่วงผันผวน เนื่องจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 13 ครั้งในรอบ 2 ปีครึ่ง จนทำให้ผู้ซื้อเข้าถึงสินเชื่อบ้านยากขึ้น กระทบต่อการขายบ้าน แต่คาดว่าปี 2568 ตลาดอสังหาฯ ออสเตรเลียน่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นเพราะทิศทางดอกเบี้ยน่าจะเป็นขาลง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ปรากฏข่าวแบงก์พาณิชย์มากกว่าสิบแห่งในออสเตรเลียพร้อมใจกันปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านลงแล้ว เพื่อบรรเทาปัญหา กู้ไม่ผ่านของประชาชน

]]>
1489338
“ศุภาลัย” ไปต่อใน “ออสเตรเลีย” จ่อลงทุนเทกโอเวอร์ 12 โครงการ มูลค่ากว่า 1.37 แสนล้านบาท https://positioningmag.com/1488444 Mon, 02 Sep 2024 15:22:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1488444
  • หลังลงทุนใน “ออสเตรเลีย”​ มานานกว่า 10 ปี “ศุภาลัย” จ่อลงทุนลอตใหญ่ร่วมกับพาร์ทเนอร์ “Stockland” เทกโอเวอร์รวดเดียว 12 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 137,700 ล้านบาท
  • ชี้ตลาดออสเตรเลียปัจจุบันได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับในเมืองไทย แนะรัฐบาลไทยผ่อนเกณฑ์ LTV สำหรับบ้านหลังที่สอง กระตุ้นอสังหาฯ ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท
  • “ดร.ประศาสน์ ตั้งมติธรรม” Director of Supalai Australia Holdings Pty Ltd เปิดเผยถึงการลงทุนของ บมจ.ศุภาลัย ในประเทศ “ออสเตรเลีย” ว่าเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันมีการพัฒนาโครงการรวม 12 โครงการ โดยใช้เม็ดเงินลงทุนไปแล้วกว่า 9,700 ล้านบาท มูลค่าโครงการรวมในสัดส่วนเฉพาะของศุภาลัยกว่า 50,000 ล้านบาท

    การลงทุนของศุภาลัยในออสเตรเลียนั้นส่วนใหญ่เป็นการจับมือพันธมิตรท้องถิ่นในการพัฒนาโครงการ โดยมีพาร์ทเนอร์รวม 6 รายที่มีการจอยต์เวนเจอร์

    ด้านทำเลการลงทุน มีการลงทุนรวม 4 เมืองใน 3 รัฐ คือ เมลเบิร์น และ จีลอง รัฐวิคตอเรีย, บริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ และ เพิร์ธ รัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย

    ศุภาลัย ออสเตรเลีย
    โครงการ Gen Fyansford เมืองจีลอง ซึ่งศุภาลัยลงทุนร่วมกับบริษัท ICD Property

    ยอดขายสะสมของทั้ง 12 โครงการเฉพาะในส่วนที่ศุภาลัยถือหุ้นคิดเป็นมูลค่า 24,500 ล้านบาท หรือเกือบ 50% ของมูลค่าทั้งหมด ซึ่งโครงการที่ถือว่าได้ยอดขายดีที่สุดขณะนี้คือ “Arcadia Officer” ในเมืองเมลเบิร์น ทำยอดขายได้แล้ว 96% ใกล้ปิดโครงการ

    เฉพาะครึ่งปีแรกปี 2024 ยอดขายโครงการที่ศุภาลัยถือหุ้นใน “ออสเตรเลีย” สร้างยอดขายได้ 1,700 ล้านบาท เติบโต 70% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

     

    ผนึกแน่นพันธมิตรเตรียมเทกโอเวอร์ 12 โครงการใหม่

    ด้านแผนงานในอนาคตนั้น ดร.ประศาสน์กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมา “Supalai Australia Holdings Pty Ltd” ได้จัดตั้งกิจการร่วมค้าชื่อ “SSRCP HoldCo Pty Ltd” กับ “Stockland Corporation Ltd” หนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของออสเตรเลียที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กิจการร่วมค้านี้ได้เตรียมเม็ดเงินลงทุนอีก 1,063 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือราว 25,300 ล้านบาทเตรียมเข้าซื้อโครงการจัดสรรทั้งหมด 12 โครงการ เพื่อนำมาพัฒนาต่อเนื่องและสร้างยอดขายต่อไป

    หากดีลการเข้าซื้อโครงการลอตนี้สำเร็จ จะทำให้ได้โครงการใหม่เข้ามาในพอร์ตโฟลิโอคิดเป็นมูลค่าโครงการในสัดส่วนของศุภาลัยรวมกว่า 137,700 ล้านบาท

    ในจำนวน 12 โครงการใหม่ดังกล่าวที่จะเข้าซื้อ มีบางส่วนที่จะถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ของศุภาลัยในออสเตรเลียอีกด้วย เพราะมีอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเมืองซิดนีย์ และ เมืองวูลลองกอง ซึ่งอยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นการกระจายความเสี่ยงความผันผวนของตลาดอสังหาฯ ออสเตรเลียเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

    “ไมค์ เดวิส” Executive General Manager & Masterplanned Communities, Stockland Corporation Ltd กล่าวถึงดีลการเข้าซื้อ 12 โครงการดังกล่าวว่า เป็นการเทกโอเวอร์จากบริษัท “Lendlease Group” ซึ่งเป็นบริษัทในวงการอสังหาฯ ออสเตรเลียเช่นเดียวกัน ถือเป็นดีลขายพิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในออสเตรเลีย

    เดวิสระบุว่า การตัดขาย 12 โครงการนี้ของ Lendlease เกิดจากการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การลงทุนของทางบริษัทผู้ขายเอง ส่วนโครงการที่นำมาขายไม่ได้ติดปัญหาใด และยังมีความน่าสนใจเพราะหลายโครงการมีการขอใบอนุญาตจัดสรรในระดับมาสเตอร์แพลนจากรัฐเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้การเดินหน้าพัฒนาโครงการต่อทำได้เร็วขึ้น รวมถึงในพอร์ตมีโครงการในเมืองที่มีดีมานด์สูงอยู่ในขณะนี้อีกด้วย เช่น ซิดนีย์ เพิร์ธ

    (ขวา) “ไมค์ เดวิส” Executive General Manager & Masterplanned Communities, Stockland Corporation Ltd

    เดวิสยังกล่าวด้วยว่า เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนร่วมกับ “ศุภาลัย” มาหลายโครงการเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ทำให้สนใจชักชวนศุภาลัยร่วมลงทุนในการเข้าซื้อ 12 โครงการใหม่นี้ด้วย โดยเห็นว่าศุภาลัยเป็นคู่พันธมิตรธุรกิจที่มีคุณภาพ เชื่อถือไว้ใจได้ วิธีและวัฒนธรรมการทำงานสอดคล้องและเข้าใจกัน จึงต้องการจับมือเป็นพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง

    ดีลการเข้าซื้อโครงการลอตนี้ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติจากภาครัฐ ซึ่งเดวิสมองว่าน่าจะมีการอนุมัติได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า และจะเริ่มพัฒนาโครงการต่อพร้อมสร้างยอดขายในปี 2025

     

    อสังหาฯ ไทยชะลอตัว หวังรัฐช่วยกระตุ้น

    “อธิป พีชานนท์” Director of Supalai Australia Holdings Pty Ltd กล่าวถึงการตัดสินใจลงทุนใน “ออสเตรเลีย” ของศุภาลัยเมื่อกว่า 10 ปีก่อนว่า เกิดจากบริษัทต้องการกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย แม้ว่าขณะนั้นผลตอบแทนการลงทุนในออสเตรเลียนับว่ายังต่ำกว่าผลตอบแทนที่ได้ในไทย แต่บริษัทมองถึงอนาคตว่าออสเตรเลียเป็นประเทศที่จะเจริญเติบโตต่อเนื่องด้วยประชากรมีกำลังซื้อสูง และมีผู้อพยพเข้าสู่ประเทศจำนวนมากทุกๆ ปี จะทำให้ดีมานด์ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ผลตอบแทนการลงทุนในไทยกับออสเตรเลียมาสู่ระดับใกล้เคียงกัน หลังจากตลาดอสังหาฯ ไทยชะลอตัวในปี 2567 ซึ่งอาจจะทำให้ภาพรวมทั้งปีนี้ภาคอสังหาฯ ไทยอาจจะติดลบได้หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือ

    โดยอธิปเสนอข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลชุดใหม่ว่า มีหลายมาตรการที่รัฐสามารถเร่งรัดออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาฯ ได้ทันภายในปีนี้ เช่น การผ่อนปรนหลักเกณฑ์ LTV (Loan-to-Value) ในการขอกู้สินเชื่อบ้านสำหรับบ้านหลังที่สอง หรือ นโยบายเงินคืน (cashback) 1% ให้กับผู้ซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อจูงใจให้คนต้องการซื้อบ้านมากขึ้นท่ามกลางความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่ต่ำลง

    “ปกติภาคอสังหาฯ มีสัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อจีดีพีประเทศถึง 4-5% ยังไม่นับผลต่อเนื่องที่เป็นตัวคูณเกี่ยวข้องกับภาคก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ดังนั้น หากมีการกระตุ้นอสังหาฯ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากอย่างแน่นอน” อธิปกล่าว

    ]]>
    1488444
    “ศุภาลัย” อัดเปิดโครงการ 5 หมื่นล้านปี 2567 มองบวก “ดอกเบี้ย” ขาลง – อัตรา “กู้ไม่ผ่าน” น่าจะดีขึ้น https://positioningmag.com/1460291 Thu, 25 Jan 2024 07:39:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1460291
  • “ศุภาลัย” เลื่อนโครงการปลายปี 2566 มาอัดเปิดตัวในช่วงไตรมาสแรกปี 2567 ทำให้ปีนี้จะโหมเปิดมากที่สุด 42 โครงการ 50,000 ล้านบาท เพิ่มน้ำหนักบ้านเดี่ยวระดับบน (10 ล้านบาทขึ้นไป) มากขึ้น 56%
  • เชื่อมั่นปี 2567 ตลาดอสังหาฯ กระเตื้องขึ้น จากอัตรา “ดอกเบี้ย” ที่น่าจะเข้าสู่ขาลงหรือไม่ขึ้นไปมากกว่านี้ รวมถึงอัตรา “กู้ไม่ผ่าน” ของลูกค้าน่าจะดีขึ้นด้วย
  • ตอกย้ำการลงทุนใน “ออสเตรเลีย” เทเม็ดเงินเพิ่ม 12,600 ล้านบาท ร่วมทุนอสังหาฯ ท้องถิ่นซื้อโครงการพัฒนาขายต่อ เก็บกำไรยาว 8-10 ปี
  • ขึ้นปี 2567 กับเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ยังต้องลุ้นว่าจะออกหัวหรือออกก้อย แต่สำหรับ “ศุภาลัย” ดูจะมองตลาดในแง่บวกไปก่อนในช่วงต้นปีนี้

    “ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) แจงปัจจัยบวกหลายข้อที่เชื่อว่าจะส่งผลให้ตลาดมีทิศทางที่ดีขึ้น ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่อาจได้ลุ้นเป็นขาลง, ภาพรวมบริษัทอสังหาฯ พร้อมใจกันลดเปิดตัวคอนโดฯ ทำให้ตลาดจะไม่เกิดวิกฤตโอเวอร์ซัพพลาย, โครงสร้างพื้นฐานสำคัญหลายอย่างสร้างเสร็จหรือจวนเปิดใช้ เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเหลือง มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน, การท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง, แนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศสูงขึ้น

    แน่นอนว่าปัจจัยท้าทายยังคงมีอยู่ เช่น อัตราหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง แต่หากดอกเบี้ยปรับลดลงได้อย่างที่คาด ก็น่าจะบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนลงได้บ้าง

    ศุภาลัย วิลล์ สามพราน-เพชรเกษม

    “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมในประเด็นอัตราดอกเบี้ยว่า การขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเมื่อปีก่อนทำให้ลูกค้าหลายรายมีความกังวลเรื่องความสามารถของตนในการผ่อนบ้านในอนาคต จนอาจจะตัดสินใจชะลอการซื้อบ้านออกไปก่อน ขณะที่ปีนี้อัตราดอกเบี้ยน่าจะขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้วจึงน่าจะทำให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้น

    “ขอแค่แบงก์มองว่าดอกเบี้ยน่าจะไม่ขึ้นไปมากกว่านี้แล้วก็พอ จะทำให้ลูกค้ามั่นใจขึ้นในการกู้ซื้อบ้านเพราะมองว่าดอกเบี้ยจะไม่ขึ้นสูงไปกว่านี้” ไตรเตชะกล่าว

    ขณะเดียวกันปัญหาอัตรากู้ไม่ผ่านของลูกค้าหรือ ‘รีเจ็กต์เรต’ เพราะแบงก์เข้มงวดในการตรวจความสามารถในการผ่อนชำระ ไตรเตชะเห็นว่าปีนี้มีแนวโน้มจะต่ำลงบ้างหลังจากปีก่อนรีเจ็กต์เรตพุ่งสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทปีก่อนมีอัตรากู้ไม่ผ่านสูงถึง 50%

    “รีเจ็กต์เรตที่สูงเพราะแบงก์จะดูประวัติทางการเงินของลูกค้าย้อนไป 3 ปี ซึ่งแปลว่ามีการย้อนไปดูถึงปี 2563 ปีแรกที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ลูกค้าหลายคนมักจะมีประวัติเสียในช่วงที่เกิดวิกฤตพอดีจึงทำให้กู้ไม่ผ่าน ปีนี้จึงน่าจะเริ่มดีขึ้นเพราะย้อนไป 3 ปีจะเป็นช่วงที่คนเริ่มกลับมาตั้งหลักได้แล้ว” ไตรเตชะกล่าว

     

    เลื่อนมาเปิดปี 2567 สัญญาณดีกว่า

    จากภาพรวมปี 2567 ที่น่าจะดีกว่าเดิม ทำให้ศุภาลัยมีการเลื่อนแกรนด์โอเพนนิ่งหลายโครงการที่เดิมจะเปิดในไตรมาส 4 ปี 2566 มาอัดเปิดในไตรมาส 1 ปี 2567 แทน

    ผลการดำเนินงานปี 2566 สรุปศุภาลัยมีการเปิดตัวรวม 26 โครงการ มูลค่ารวม 29,640 ล้านบาท และทำยอดขายไป 28,864 ล้านบาท

    ส่วนปี 2567 วางแผนเปิดตัวรวม 42 โครงการ มูลค่ารวม 50,000 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 36,000 ล้านบาท และเป้ารับรู้รายได้ 36,000 ล้านบาท ตั้งงบซื้อที่ดินอีก 8,000 ล้านบาท

     

    เพิ่มน้ำหนัก “บ้านหรู” – “ต่างจังหวัด” เพิ่ม 3 จังหวัดใหม่

    แผนการเปิดตัวปีนี้แบ่งเป็น กลุ่มแนวราบ 38 โครงการ มูลค่ารวม 43,500 ล้านบาท และคอนโดฯ 4 โครงการ มูลค่ารวม 6,500 ล้านบาท นับว่าเป็นอีกปีที่ศุภาลัยยังทุ่มให้แนวราบต่อ ส่วนคอนโดฯ ไม่ได้เร่งการเปิดมากนัก

    ในแง่ของเซ็กเมนต์การเปิด ไตรเตชะระบุว่าปีนี้มีการเปิดขายบ้านเดี่ยวระดับบน (10 ล้านบาทขึ้นไป) มากขึ้น 56% เทียบกับปีก่อน ทำให้มีสัดส่วนราว 20% ในพอร์ตเปิดขายใหม่ เพราะมองว่าตลาดบ้านเดี่ยวระดับบนแม้จะ ‘เลยจุดพีค’ ไปแล้วแต่ก็ยังไปต่อได้ ด้วยเทรนด์ของคนระดับบนนิยมเปลี่ยนที่อยู่อาศัยหรือซื้อเพิ่ม อีกทั้งรายใหญ่ยังมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการเงินมากกว่ารายเล็กในตลาดนี้ด้วย

    ศุภาลัย ไพร์ม วิลล่า กรุงเทพกรีฑาตัดใหม่-มอเตอร์เวย์ บ้านเดี่ยวระดับบนที่จะเปิดตัวปีนี้

    ส่วนทำเลการเปิดตัวศุภาลัยยังเน้นตลาดต่างจังหวัดเช่นเคย ปีนี้จะได้เห็นการเปิดตัวในต่างจังหวัดราวครึ่งหนึ่งในพอร์ตเปิดใหม่ และจะมีจังหวัดใหม่ๆ ที่เข้าไปบุก ได้แก่ ลำปาง ลพบุรี และราชบุรี รวมถึงปีนี้จะมีการเปิดคอนโดฯ ในหัวเมืองภูมิภาค 2 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ ‘หัวหิน’ หลังโครงการ ศุภาลัย บลูเวล หัวหิน ทำยอดขายได้ดี

     

    ลงทุนต่อใน “ออสเตรเลีย” อีก 12 โครงการ

    สำหรับตลาดต่างประเทศของศุภาลัย บริษัทนี้เริ่มเข้าไปลงทุนที่ออสเตรเลียมานาน 10 ปี ช่วงทศวรรษแรกใช้เม็ดเงินลงทุนไปแล้ว 9,700 ล้านบาท สะสมครบ 12 โครงการ มูลค่ารวม 50,000 ล้านบาท

    เข้าสู่ปีที่ 11 ศุภาลัยยังไปต่อกับตลาดแดนจิงโจ้ โดยดร.ประทีปประกาศเรื่องการเซ็นดีลร่วมทุนกับ “Stockland Communities Partnership HoldCo Pty Ltd” บริษัทอสังหาฯ ท้องถิ่นสัญชาติออสซี่ เพื่อตั้งกิจการร่วมค้า “SSRCP HoldCo Pty Ltd” ศุภาลัยถือหุ้น 49.9% และทาง Stockland ถือหุ้น 50.1%

    12 โครงการใหม่ที่ศุภาลัยเข้าลงทุนในออสเตรเลีย

    กิจการร่วมค้า SSRCP ได้เข้าซื้อโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขายทั้งหมด 12 โครงการ มูลค่ารวม 137,700 ล้านบาท ใน 5 เมืองสำคัญของออสเตรเลีย ในดีลนี้ศุภาลัยลงเม็ดเงินไป 12,600 ล้านบาท และโครงการที่ได้มาทั้งหมดสามารถพัฒนาขายได้ในระยะประมาณ 8-10 ปีข้างหน้า

    เท่ากับปัจจุบันศุภาลัยมีการลงทุนในออสเตรเลียสะสม 24 โครงการ มูลค่ารวม 187,700 ล้านบาท โดยใช้เงินลงทุนรวม 22,300 ล้านบาท กระจายพอร์ตไปในเมืองสำคัญ ได้แก่ เมลเบิร์น บริสเบน เพิร์ธ จีลอง ซิดนีย์ และวูลลองกอง

    ]]>
    1460291
    ซีอีโอสายการบิน “Qantas” เกษียณก่อนกำหนด ท่ามกลางข่าวฉาว “ขายตั๋วไฟลท์บินที่ยกเลิกไปแล้ว” https://positioningmag.com/1443549 Tue, 05 Sep 2023 10:50:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1443549 Reuters รายงานข่าวซีอีโอ “Qantas” สายการบินสัญชาติออสเตรเลีย ชิงขอเกษียณก่อนกำหนด 2 เดือน ท่ามกลางข่าวฉาวการขายตั๋วเครื่องบินผิดกฎหมาย จนทำให้ภาพลักษณ์สายการบินตกต่ำอย่างมาก

    “Alan Joyce” นั่งตำแหน่งซีอีโอ Qantas มานานถึง 15 ปี และมีคิวจะเกษียณอายุในเดือนพฤศจิกายน 2023 ทว่า ล่าสุดเขาประกาศว่าจะเกษียณก่อนกำหนด 2 เดือน เนื่องมาจาก “การมุ่งความสนใจมาที่ Qantas และเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต” โดยไม่ได้แจกแจงชัดเจนว่าหมายถึงเหตุการณ์ใด

    เมื่อ 5 วันก่อนหน้านี้ กลุ่มเฝ้าระวังผู้บริโภคของออสเตรเลียรวมตัวกันฟ้องร้อง Qantas จากเหตุการณ์เมื่อกลางปี 2022 ที่สายการบิน Qantas จงใจ “ขายตั๋วเครื่องบิน” ในไฟลท์บินประมาณ 8,000 เที่ยวบิน ที่สายการบินทราบดีว่า “ถูกยกเลิกไปแล้ว” ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ หลังจากนั้น Qantas ออกแถลงการณ์ขออภัย 2 ครั้ง

    สายการบิน Qantas ระบุว่า การลงจากตำแหน่งของ Joyce จะช่วยให้สายการบินสามารถ “เร่งการเปลี่ยนแปลงใหม่” ได้เร็วขึ้น เป็นการให้สัญญาณว่าบริษัทกำลังโค้งคำนับขอโทษแก่สาธารณะ

    กว่าทศวรรษครึ่งที่ Joyce ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด ก่อนหน้าที่จะมีเหตุการณ์ขายตั๋วไฟลท์บินที่ไม่มีอยู่จริงนี้เสียอีก ข่าวฉาวเรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวดังคือ Qantas เข้าไปล็อบบี้รัฐบาลกลางออสเตรเลียจนสำเร็จ เพื่อป้องกันไม่ให้คู่แข่งอย่าง Qatar Airways เพิ่มจำนวนเที่ยวบินเข้าออกออสเตรเลียได้

    ต่อมาสายการบินก็ถูกวิจารณ์อีก เพราะเหตุเรื่อง “เครดิตเงินคืน” ที่คืนให้ลูกค้าที่จองเที่ยวบินในช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 สายการบินออกนโยบายวางกำหนดหมดอายุของเครดิตเหล่านี้ภายในสิ้นปี 2023 มูลค่าความเสียหายรวมเกือบ 500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 11,300 ล้านบาท) แต่ต่อมาหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลดำเนินการฟ้องร้องจนสายการบินต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายให้เครดิตเงินคืนเหล่านั้นสามารถเคลมได้โดยไม่มีวันหมดอายุ

    เมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง Qantas เพิ่งจะประกาศว่าบริษัทกลับมาทำกำไรได้แล้ว หลังจากผ่าน 3 ปีที่ขาดทุนเนื่องจากโควิด-19

    การนำทัพของ Joyce เป็นที่พึงพอใจของกลุ่มนักลงทุนเสมอมา เพราะเขาเน้นทำผลกำไรให้กับบริษัทเป็นหลัก แต่ล่าสุดข่าวฉาวที่ทับซ้อนครั้งแล้วครั้งเล่าก็เริ่มทำให้นักลงทุนกังวล ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2023 ราคาหุ้น Qantas ร่วงลงมาแล้ว 13% เพราะนักลงทุนเริ่มมองว่าบริษัททำกำไรสูงสุดได้ก็จริงแต่สร้างขึ้นจากการกัดกร่อนชื่อเสียงระยะยาวของตัวเอง

    “มรดกของ Alan Joyce ที่ Qantas นั้น เปรียบเสมือนแบรนด์ที่หมายถึงการจ่ายเงินเดือนต่ำ, การงานไม่มั่นคง, เลย์ออฟผิดกฎหมาย และขูดเลือดขูดเนื้อผู้บริโภค” Tony Sheldon สมาชิกวุฒิสภาออสเตรเลีย และอดีตหัวหน้าสหภาพแรงงานขนส่ง กล่าว “คณะกรรมการบริษัทหนุนหลังพฤติกรรมของ Joyce มาทุกย่างก้าว พวกเขาควรจะต้องร่วมรับผิดชอบไปเท่าๆ กันด้วย”

    Qantas ไม่อนุญาตให้ Reuters สัมภาษณ์ “Richard Goyder” ประธานกรรมการบริษัท แต่เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Australian Financial Review ว่า “นี่เป็นห้วงเวลาของการอ่อนน้อมถ่อมตน และผมคิดว่าคุณจะได้เห็นสิ่งเหล่านั้นมากมายจากนี้”

    การเกษียณก่อนกำหนดของ Joyce จะมีผู้บริหารคนใหม่ “Vanessa Hudson” ขึ้นเป็นซีอีโอแทน และถือเป็นซีอีโอหญิงคนแรกของสายการบินที่มีอายุร่วมศตวรรษแห่งนี้

    Source

    ]]>
    1443549
    หวั่นถูกเจาะข้อมูล! “ออสเตรเลีย” สั่งถอดกล้อง CCTV “จีน” ออกจากอาคารด้านความมั่นคง https://positioningmag.com/1418526 Thu, 09 Feb 2023 05:59:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1418526 “ออสเตรเลีย” สั่งถอดกล้อง CCTV สัญชาติ “จีน” ออกจากอาคารราชการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติทั้งหมด หวั่นบริษัทเจ้าของเครื่องส่งต่อข้อมูลลับให้รัฐบาลจีน

    หลังจากออสเตรเลียสำรวจพบว่า หน่วยงานราชการด้านความมั่นคงมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดจากบริษัทจีน เช่น Hikvision, Dahua อยู่ถึง 900 ตัว ล่าสุดรัฐบาลออสซี่สั่งการให้ “ถอด” กล้องจีนทั้งหมดออกทันที

    ถือเป็นประเทศที่สามที่สั่งการเกี่ยวข้องกับกล้องวงจรปิดจีน หลังจากปีก่อน สหรัฐอเมริกา และ อังกฤษ มีคำสั่งในลักษณะคล้ายกันมาแล้ว

    Hikvision มีการแถลงการณ์ตอบโต้ว่าบริษัทไม่มีการส่งต่อข้อมูลของลูกค้า ส่วน Dahua ยังไม่ออกความเห็น

    กล้องทั้ง 900 ตัวจากจีนนั้นถูกติดตั้งกระจายอยู่ในอาคารราชการกว่า 200 หลัง แม้แต่ในหน่วยงานอ่อนไหว เช่น ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็มีติดตั้งเช่นกัน

    ริชาร์ด มาร์ลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งออสเตรเลีย เปิดเผยว่า กล้องจีนทุกตัวจะถูกนำออกเพื่อ “ความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์”

    “ผมคิดว่าเราไม่ควรจะกังวลจนเกินไป แต่ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพิจารณา ดังนั้น เราก็จะแก้ไขมัน” มาร์ลส์กล่าว

    ส่วนการขยายผลไปถอนการติดตั้งในหน่วยราชการอื่น ทางรัฐบาลออสเตรเลียจะพิจารณาต่อไป

    ก่อนหน้านี้รัฐบาลออสเตรเลียเริ่มตรวจสอบกล้องวงจรปิดในหน่วยราชการ เพราะเกิดความกังวลว่ารัฐบาลจะ “ไม่มีทางรู้ได้เลย” ว่าดาต้าที่อุปกรณ์เหล่านี้จัดเก็บไป จะถูกส่งต่อให้กับหน่วยงานสืบราชการลับของจีนหรือไม่

    เนื่องจากกฎหมายด้านความมั่นคงของจีนนั้นมีข้อบังคับให้องค์กรหรือประชาชนจีน “จะต้องให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และให้ความร่วมมือกับงานด้านความมั่นคงของชาติ”

    Hikvision มีการตอบโต้คำสั่งของออสเตรเลียว่า เป็นความผิดพลาดที่มองบริษัทนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และยืนยันว่าบริษัทไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลปลายทางของผู้ใช้งานได้ตั้งแต่แรกแล้ว จึงไม่สามารถส่งต่อให้หน่วยงานอื่นใดได้

    เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่สั่ง “แบน” การติดตั้งกล้อง CCTV จากบริษัท Dahua และ Hikvision เพิ่มเติมในอาคารที่ “มีความอ่อนไหว” ต่อความมั่นคงของชาติ และบอกด้วยว่ารัฐบาลจะเริ่มตรวจสอบอุปกรณ์ของบริษัทเหล่านี้ที่ถูกติดตั้งไปแล้วว่าควรจะต้องนำออกหรือไม่

    ไม่กี่วันถัดมา สหรัฐฯ ออกคำสั่งแบนการขายและนำเข้าอุปกรณ์ด้านการสื่อสารจากบริษัทจีน 5 แห่ง สองบริษัทในจำนวนนั้นปรากฏชื่อของ Dahua และ Hikvision ด้วย

    แอนโธนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า เขาไม่มีความกังวลต่อท่าทีของรัฐบาลจีนที่อาจเกิดขึ้นหลังออสเตรเลียมีคำสั่งดังกล่าว “เราสั่งการในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชาติออสเตรเลีย เรากระทำอย่างโปร่งใสและจะทำเช่นนี้ต่อไป” อัลบานีสกล่าวกับผู้สื่อข่าว

    ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับออสเตรเลียนั้นระอุขึ้นมานับตั้งแต่ปี 2018 ที่รัฐบาลออสซี่สั่งแบน Huawei ออกจากเครือข่าย 5G ของประเทศ หลังจากนั้นจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีและกีดกันสินค้าจากแดนจิงโจ้หลายรายการ เช่น ถ่านหิน ไวน์ กุ้งล็อบสเตอร์ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์เมื่อเร็วๆ นี้ดูเหมือนจะดีขึ้นบ้างหลังรัฐบาลที่อยู่ในขั้วสายกลางซ้ายเข้าสู่ตำแหน่งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2022

    source

    ]]>
    1418526
    โดนอีก! “ออสเตรเลีย” ฟ้อง Facebook ข้อหาปล่อยให้มี “โฆษณาหลอกลวง” อ้างชื่อคนดัง https://positioningmag.com/1379846 Thu, 31 Mar 2022 04:40:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1379846 “ออสเตรเลีย” เดินหน้าฟ้องร้อง Meta บริษัทแม่ของ Facebook ข้อหาปล่อยให้สแกมเมอร์ยิง “โฆษณาหลอกลวง” ให้ลงทุนบนแพลตฟอร์ม โดยแอบอ้างใช้ชื่อคนดังออสซี่ เหยื่อบางรายสูญเงินคิดเป็นเงินไทยถึง 16 ล้านบาท

    คณะกรรมการการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) หน่วยงานกำกับควบคุมผู้ยื่นฟ้องมองว่า ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Meta มีส่วนเกี่ยวข้องในการ “กระทำการหลอกลวง ฉ้อฉล ให้ข้อมูลที่ผิด” โดยเจตนา จากการอนุญาตให้โพสต์ชวนลงทุนสกุลเงินคริปโตที่มีลักษณะหลอกลวง สามารถทำการโฆษณาบนแพลตฟอร์มได้

    บทลงโทษของบริษัทอเมริกันรายนี้น่าจะเป็นการปรับเงินจำนวนหนึ่ง หรืออาจมีบทลงโทษอื่นๆ เพิ่มเติม

    Meta ยังไม่ให้ความเห็นใดๆ แต่ก่อนหน้านี้บริษัทเคยกล่าวมาแล้วว่า บริษัทจะดูแลไม่ให้มีสแกมเมอร์ใช้งานแพลตฟอร์ม

    ACCC กล่าวว่า โฆษณาที่มีปัญหาบน Facebook มีการใช้อัลกอริธึมเพื่อหาเป้าหมายที่หลงเชื่อได้ง่าย และมีการใช้โควตคำพูดปลอมจากคนดังของออสเตรเลียเพื่อชักจูงใจ

    คนดังออสซี่ที่ถูกนำชื่อและหน้าไปใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น Mike Baird อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐนิวเซาธ์เวลส์, David Koch พิธีกรชื่อดัง, Dick Smith เศรษฐีนักธุรกิจ

    “แก่นหลักในการฟ้องคดีนี้คือ Meta ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับโฆษณาที่ปรากฏบนแพลตฟอร์ม” Rod Sims ประธาน ACCC กล่าว

    Photo : Shutterstock

    คดีนี้ถูกฟ้องร้องผ่านศาลรัฐบาลกลางแห่งออสเตรเลีย ยื่นข้อกล่าวหาว่า Meta กระทำการให้โฆษณาโดยทราบดีว่าเป็นโฆษณาหลอกลวง รวมถึงไม่สามารถป้องกันการหลอกลวงได้ ถึงแม้ว่าคนดังที่ถูกแอบอ้างชื่อจะคัดค้านการโฆษณาแล้ว

    “มีกรณีตัวอย่างหนึ่งคือ ผู้บริโภครายหนึ่งสูญเงินไปกว่า 650,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 16.2 ล้านบาท) เพราะหลงเชื่อสแกมเมอร์ที่โฆษณาโอกาสการลงทุนปลอมบน Facebook สิ่งนี้ถือว่าเป็นการกระทำเสื่อมเกียรติ” Sims กล่าว

    ไม่ใช่แค่คดีนี้คดีเดียวที่ Meta ถูกฟ้อง เมื่อเดือนก่อน Andrew Forrest มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของออสเตรเลียก็ฟ้องร้องบริษัทเทคแห่งนี้เช่นกัน จากการปล่อยให้มีโฆษณาปลอมที่ใช้ภาพของเขาหลอกลวง และคดีของ Forrest ฟ้องร้องในคดีอาญาด้วย โดยใช้กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการฟอกเงิน จะต่างกับ ACCC ที่ใช้กฎหมายเกี่ยวกับการปกป้องผู้บริโภค

    Meta หรือ Facebook ในขณะนั้น ยังคงมีคดีพัวพันในชั้นศาลกับออสเตรเลีย ในคดีข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนออสเตรเลียราว 3 แสนคนถูกละเมิดเมื่อปี 2018 ซึ่งเกี่ยวพันกับบริษัท Cambridge Analytica ล่าสุดเดือนนี้เองศาลชั้นอุทธรณ์ก็ยังคงยืนตามศาลชั้นต้นว่า Facebook มีความผิดฐานเก็บข้อมูลส่วนตัวและนำไปเผยแพร่ต่อให้บุคคลที่สามโดยไม่ได้รับอนุญาต

    รายได้ของ Meta ในปี 2021 ทำเงินจากค่าโฆษณาทั่วโลกไปกว่า 1.15 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 3.83 ล้านล้านบาท

    Source

    ]]>
    1379846
    ออสเตรเลีย ส่งสัญญาณเปิดรับ ‘นักท่องเที่ยว’ ต่างชาติ ในเร็วๆ นี้ https://positioningmag.com/1372982 Sun, 06 Feb 2022 10:45:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1372982 นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันเริ่มส่งสัญญาณถึงการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติว่ามีเเนวโน้มจะทำได้ในเร็วๆ นี้

    ออสเตรเลีย ปิดพรมแดนมาตั้งเเต่เดือนมี..ปี 2020 เพื่อสกัดการเเพร่ระบาดของโควิด-19 เเละเริ่มผ่อนปรนมาตรการเข้าเมืองมาเป็นระยะในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยอนุญาตให้เฉพาะพลเมืองและผู้อยู่อาศัยถาวร แรงงานต่างชาติที่มีทักษะ นักศึกษาต่างชาติ และคนงานตามฤดูกาลเท่านั้น

    ล่าสุดนายกรัฐมนตรีมอร์ริสัน กล่าวว่า รัฐบาลกำลังจะตัดสินใจเรื่องเปิดพรมแดนและต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เเละต้องเป็นไปอย่างปลอดภัย ซึ่งเขาเชื่อว่าจะทำได้ในเร็ว ๆ นี้

    ทั้งนี้ รัฐสภาจะเปิดการประชุมสมัยแรกของปี 2021 ในวันจันทร์นี้ และจะนำเรื่องเปิดประเทศมาอภิปรายเป็นวาระแรกๆ

    ความนิยมของสกอตต์ มอร์ริสัน ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากการรับมือกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กลับมาระบาดหนักอีกครั้ง รวมถึงต้องเผชิญกับแรงกดดันที่ต้องจัดการเลือกตั้งภายในเดือนพ.ค.ปีนี้

    ออสเตรเลีย นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อยู่ในระดับสูง โดยประชากรวัย 16 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเกือบ 95% และมีคนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันแล้วเกือบ 9 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดเกือบ 26 ล้านคน ขณะที่ยอดติดเชื้อสะสม 2.72 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,200 คน

    อย่างไรก็ตาม มีประชาชนจำนวนหนึ่ง ประท้วงรัฐบาล เพื่อต่อต้านคำสั่ง ‘บังคับฉีดวัคซีน’ โดยออสเตรเลียกำหนดให้ผู้เดินทางเข้าประเทศต้องฉีดวัคซีน ครบโดส หรือมีใบรับรองทางการแพทย์หากมีความจำเป็นต้องยกเว้นการฉีดวัคซีน 

     

    ที่มา : Reuters 

     

    ]]>
    1372982